แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยาย ครั้งที่ ๓ ก็ต้องบรรยายเกี่ยวกับความรู้รอบตัวของอานาปานสติ ต่อไปอีกครั้งหนึ่งก่อน อีกครั้งหนึ่งนี่ เพราะว่าจะต้องบรรยายการปฏิบัติโดยตรงในหมวดที่ ๑ กับพระภิกษุที่เขาจะเริ่ม มันเหมือนกัน ซึ่งไม่สามารถจะทำสองอย่างซ้อนกัน เหมือนกันสองอย่างได้ วันนี้จึงไม่บรรยายการปฏิบัติโดยตรงเกี่ยวกับอานาปานสติหมวดที่ ๑ ยังไม่บรรยาย ขอพูดเรื่องที่ควรทราบเกี่ยวกับอานาปานสติในชั้นลึก หรือพิเศษออกไปอีกสักครั้งหนึ่งก่อน ซึ่งจะเรียกว่า ข้อเร้นลับเกี่ยวกับอานาปานสติ ขอให้ตั้งใจฟังให้ดี ไว้พรุ่งนี้จะบรรยายพร้อมกัน ทั้งแก่ภิกษุ และแก่ท่านทั้งหลาย ในการปฏิบัติโดยตรงหมวด ๑
ข้อเร้นลับนี้ก็มีหลายอย่างที่ควรทราบ ทราบแล้วก็มีประโยชน์ บางคนก็ยังเข้าใจผิดอยู่บางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำสมาธิแบบนี้ ไม่ใช่ไสยศาสตร์ ไม่เป็นไสยศาสตร์ ไม่เป็นของขลังของศักดิ์สิทธิ์เหนือเหตุผลอะไร ไม่เป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ไสยศาสตร์ แต่ว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์ หรือมันเป็นพุทธศาสนา ไสยะ แปลว่า หลับ พุทธะ แปลว่า ตื่น เราจะต้องกระทำกันอย่างที่ว่ามันเป็นเรื่องของคนตื่น ไม่ใช่คนหลับ ไสยะ แปลว่า หลับ เป็นเรื่องของคนหลับ คือไม่ต้องมีเหตุผล จะงมงายกันเท่าไรก็ได้ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร นี่มันเป็นสิ่งที่ควรทราบ เพราะว่ามีบางหมู่ บางคณะ เขาทำอย่างกับไสยศาสตร์ ต้องจุดธูปจุดเทียน ทำพิธีรีตอง บูชาอ้อนวอน ขอร้องให้มาโปรด ให้มาช่วย ให้สำเร็จโดยเร็ว ครั้งโบราณเขาก็ทำกันเหมือนกัน ลักษณะอย่างนี้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้อง เพราะสมัยแรกจึงจะทำอย่างนั้น ขออย่าได้คิดไปในแง่ไสยศาสตร์ (คนตรวจ: แก้จากที่ท่านกล่าวว่าแง่วิทยาศาสตร์) จะให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช่วยให้สำเร็จนี้ไม่ต้อง ทำถูก ทำมันตรง แล้วมันก็ได้ผลทันที ในลักษณะที่เหมือนกับวิทยาศาสตร์ชนิดหนึ่ง หากแต่มันไม่ใช่ทางวัตถุ มันเป็นเรื่องทางจิตใจ แต่วิธีการของมันก็อย่างเดียวกัน คือ ต้องทำด้วยเหตุผล ด้วยความถูกต้อง ด้วยพิสูจน์ ค้นคว้าทดลอง จนพบความสำเร็จ ประโยชน์ นี่ ขออย่าได้เอาเรื่องทางไสยศาสตร์มาปะปน อย่าได้คิดแม้แต่ว่าเป็นเรื่องขลัง เรื่องศักดิ์สิทธิ์ เรื่องปาฏิหาริย์ ไม่ต้องมี มันเป็นเรื่องที่ทำตามธรรมชาติ ถูกต้องตามธรรมชาติ แล้วความทุกข์มันก็ไม่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง อย่าเอาความหมายของไสยศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง
ทีนี้ก็อยากจะให้ทราบถึงประวัติ เรียกว่าประวัติก็แล้วกัน ของการกระทำที่เรียกว่าอานาปานสตินี่ เป็นของมีมาแต่ดึกดำบรรพ์ จนไม่รู้ว่าครั้งไหน ก่อนพระพุทธเจ้ากาลนานไกล เขาก็รู้วิธีที่จะจัดการกับลมหายใจ ให้เป็นประโยชน์ที่สุด สิ่งที่เรียกว่า ปานะ หายใจเข้า อาปานะ หายใจออก ปานะ ปานะ คำนี้เป็นภาษาไทย เดี๋ยวนี้ เขาก็เรียกว่า ปราณ ปานะเป็นบาลี ปราณเป็นสันสกฤต เรื่องเกี่ยวกับปราณนี่เขารู้กันมานานแล้ว และก็เกิดเป็นความเชื่อขึ้นมาในหมู่คนเหล่านั้นว่า มันเป็นตัวชีวิต ชีวิตที่เรียกว่าปราณ ชีวิตของธรรมชาติที่มีอยู่ทั่วไป แล้วเราก็สูดหายใจเข้าไป หายใจชีวิตเข้าไป ก็คือไปเพิ่มชีวิต ทำให้ชีวิตสดชื่น ให้เข้มแข็ง เมื่อถูกวิธี ดูดูมันก็น่าหัว มันคล้ายกับที่เรารู้จักกันในสมัยนี้ว่า ออกซิเจน เป็นธาตุชนิดหนึ่ง หรือเป็นแก๊ซชนิดหนึ่งที่ช่วยการหายใจ ช่วยให้เกิดการบำรุงร่างกายอย่างดี ถ้าสูดออกซิเจนเข้าไปมาก มันก็ได้ผลดี แล้วก็มีวิธีสูด นี่ดูจะล้าหลังคนสมัยโน้นเป็นพันๆปี พวกที่เขารู้กันแต่ก่อนโน้น ในนามว่าปราณ แล้วก็สอนกัน ในเรื่องจะสูดเข้าไปอย่างไร จะทำอย่างไร จะควบคุมอย่างไรให้ได้ผลดีที่สุด ให้มีกำลังมากที่สุด กระทั่งเป็นกำลังแก่จิตใจ มีกำลังแก่จิตใจ ทีแรกมันก็จะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา เป็นเรื่องธรรมดา ๆ ที่มนุษย์ ก็รู้จักว่าอทำอย่างนั้นก็สบายดี สบายดียิ่งขึ้นไป แล้วก็ทำกันมา ต่อมามันก็สูงขึ้นไป สูงขึ้นไปจนเป็นเรื่องแปลกประหลาด เป็นศักดิ์สิทธิ์ กายสิทธิ์ เป็นฤทธิ์ เป็นเดชไปก็ได้ ถ้าว่า ต่อมา มาเป็นเรื่องของศาสนา มันก็หมดความเป็นอย่างนั้น เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ เมื่อทำได้แล้วมันก็มีความสงบ สงบกาย สงบใจ สงบทุกอย่าง มีร่างกายที่ดี มีระบบประสาทที่ดี มีจิตใจที่ดี ก็เรียกกันอย่างนี้ว่า อานาปานสติ ความหมายของคำ ๆ นี้มันอยู่ที่ว่า ถ้าระลึก หรือกำหนดอะไรก็ตาม อยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออกแล้ว ก็เรียกว่าอานาปานสติได้ทั้งนั้น คุณอยู่ที่นี่ คิดถึงบ้านที่กรุงเทพ คิดอยู่ ทุกหายใจเข้าออก ตอนนั้น ก็เรียกว่า คุณทำอานาปานสติเหมือนกัน มันอยู่ที่ว่า ทำทุกครั้งที่หายใจเข้าออก จะกำหนดอะไรก็ได้ กำหนดลมหายใจเองก็ได้ กำหนดสิ่งอื่นก็ได้ ถ้าเป็นการกำหนดอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก แล้วมันก็เป็นอานาปานสติ ควรจะรู้จักกันเป็นอย่างดีที่สุด คิดถึงคนรักทุกลมหายใจเข้าออก ก็เป็นอานาปานสติ คิดถึงคนเกลียด ศัตรูคู่อาฆาต อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ก็เป็นอานาปานสติ ไม่ว่าจะคิดอะไร หรือกำหนดอะไรอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก ก็เรียกว่าอานาปานสติได้ทั้งนั้น แต่เดี๋ยวนี้มันก็มาเป็นเรื่องทางศาสนา เรื่องทางดับทุกข์ โดยพระพุทธเจ้าท่านปรับปรุงขึ้น ให้ถึงขนาดสูงสุด จนดับทุกข์ ดับกิเลส ป้องกันกิเลสของมนุษย์ได้ ในระบบของพุทธศาสนา และก็เรียกว่า อานาปานสติ โดยทั่วไปในอินเดียเขาก็มีใช้กันทุกลัทธิละ ไม่ได้แตกต่างกันโดยวิธีอะไรบ้าง ก็เรียกว่า การบังคับลมหายใจเรียกวา ปราณายามะ ปราณะ+อายามะ เป็น ปราณายามะ การควบคุมบังคับปราณ ปราณก็คือลมหายใจ ลัทธิอื่นก็มีใช้ แต่ใช้ไปโดยหลักการ หรือวิธีการของของเขา แล้วแต่เขาต้องการอะไร ความมุ่งหมายก็คล้าย ๆ กัน ก็เพื่อจะดับทุกข์ แต่ทีนี้เรามีแบบของเราที่สมบูรณ์แบบตามที่พระพุทธเจ้าได้กำหนดไว้ และสอนไว้ พระพุทธเจ้าเองก็จะได้ศึกษามาจากที่เขามีอยู่ในเวลานั้น เป็นของธรรมดาสามัญ ประชาชนรู้จักทำ คนหนุ่มทั้งหลายก็จะต้องทำเป็น มันเกี่ยวกับไอ้ความสุขภาพอนามัย หรือฤทะิ์ปาฏิหาริย์อะไรก็ตาม พวกคนหนุ่มเหล่านั้น ถ้าเป็นนักเลงหน่อย เขาก็ยิ่งต้องการ ข้อความเขามีว่า พระพุทธเจ้านี่ ทำอานาปานสติ ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ เขาพาไปในงานแรกนาขวัญ ประทับนั่งใต้ต้นหว้า เจริญอานาปานสติ ทำให้เงาของต้นไม้นั้นหยุด ไม่หมุนไปตาม ไม่เคลื่อนไปตามแสงอาทิตย์ ถึงขนาดนี้แล้ว ก็แปลว่ามันแพร่หลายมากแล้ว พระพุทธเจ้าก็เข้าใจดี ทำได้ตั้งแต่เป็นเด็ก ๆ เมื่อตรัสรู้แล้ว ก็ปรับปรุงขยับขยายให้สูงขึ้นไป สูงขึ้นไป ตามความประสงค์ มันจึงเกิดเป็นระบบอานาปานสติ ชนิดที่เรากำลังจะปฏิบัติกันอยู่ หรือทำความเข้าใจกันอยู่ แยกเป็น ๔ หมวด หมวดละ ๔ ขั้นเป็น ๑๖ ขั้นด้วยกัน สมบูรณ์แบบที่สุดนี้ เรียกว่า “อานาปานสติในพระพุทธศาสนา” เป็นพุทธศาสนาไม่ใช่ไสยศาสตร์ มีหลักการ หรือวิธีการอย่างเดียวกับวิทยาศาสตร์ หากแต่ว่าเป็นเรื่องทางจิตใจ นี่ ขอให้เข้าใจอย่างนี้ เพื่อความถูกต้อง หรือไม่หลงทาง
ทีนี้มันมีพิเศษที่ว่า อานาปานสตินี้ ได้เปรียบ ไม่ต้องการอะไร นอกออกไปจากตัว มีทุกอย่างพร้อมอยู่ในตัว ที่จะใช้ปฏิบัติ ใช้ศึกษา ถ้ากรรมฐานแบบอื่นมันต้องการอุปกรณ์อย่างนั้น อย่างนี้ อย่างนู้น ก็มี ก็นอกไปจากตัว บางที ก็ต้องเที่ยวหอบ เที่ยวหิ้ว ไปก็มี นี่ไม่ต้องมันอยู่ที่เนื้อที่ตัว ซึ่งก็รู้อยู่แล้วว่า ลมหายใจอย่างหนึ่ง แล้วก็เวทนา ความรู้สึกนี้อย่าง แล้วจิตนี้อย่าง และก็ธรรมะ ที่จะศึกษาเอาจากสิ่งเหล่านั้น ทุกอย่างมันล้วนมีอยู่ในตัว ไม่ต้องหาอะไรมาเพิ่มเติม ไม่ต้องเที่ยวหอบเที่ยวหิ้วให้รุงรัง จะทำที่ไหนก็ได้ ถ้าเราเดินไปที่ตรงไหน มันก็พร้อมที่จะทำที่ตรงนั้น ไม่ต้องพิเศษไปหาสถานที่อะไร ไปนั่งที่ตรงไหนก็พร้อมที่จะทำที่ตรงนั้น อย่างนี้เรียกว่า ไม่จำกัดสถานที่ ไม่ต้องการอุปกรณ์อะไรต่าง ๆ เหมือนกับทำกสิณ ที่ต้องเที่ยวหิ้วหอบดวงกสิณ พวกชฎิล เขาก็มีบริขารมาก ในการทำสมาธิภาวนาตามแบบของเขา ยิ่งมีบริขารมาก เครื่องประกอบมาก เราไม่ต้องอย่างนั้น ไม่ต้องอย่างนั้น แต่ว่าจะทำชนิดที่ค้น ค้นคว้าสังเกตศึกษาจากข้างใน จะเป็น research ก็ได้ เป็น experiment ก็ได้ มันค้น มันค้น มันคว้า มันคั้นออกมา คั้นเอาความจริงออกมา จากข้างใน คือภายในจิตใจ ออกมาจากภายในทั้งสิ้น ขอให้รู้ว่า เราพร้อมแล้ว ที่จะค้น จะคิด จะเค้น จะเน้น อะไรก็ตาม ออกมาจากภายใน เพื่อให้รู้ความจริงออกมาจากภายใน นี่ก็ควรจะเข้าใจไว้ จะได้แน่ใจ จะได้เบาใจ มันจะได้ง่ายขึ้นอีกมาก ทีนี้อานาปานสตินี่มุ่งหมายนิพพานผลสุดท้าย คือนิพพานเป็นจุดมุ่งหมายสุดท้ายของพุทธศาสนา การทำอานาปานสติมุ่งหมายที่นั่น จะเป็นนิพพานชั่วคราว เป็นนิพพุติ (15:15) ชั่วเวลาที่ ในบ้านในเรือนตามธรรมดานี่ก็ได้ นิพพานจริงเป็นพระอรหันต์ก็ได้ เราทำอานาปานสตินี่ เพื่อบรรลุจุดสูงสุด จุดหมายปลายทางของพุทธศาสนา หรือว่าเพื่อความสะอาด สว่าง สงบ ซึ่งเป็นความหมายของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ได้ ขอให้รู้จักว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั่น มีหัวใจเหมือนกันเลย มีความสะอาดจากกิเลส สงบจากความทุกข์ และก็สว่างจากอวิชชาความโง่ พระพุทธท่านเป็นอย่างนั้น และท่านก็สอนความเป็นอย่างนั้นให้ผู้อื่นคือพระธรรม แล้วก็สงฆ์ ปฏิบัติได้ ก็เป็นอย่างนั้นละ หัวใจพระพุทธ หัวใจพระธรรม หัวใจพระสงฆ์เหมือนกัน คือมีความสะอาด สว่าง สงบ อานาปานสติก็มุ่งหมายอย่างนั้น มุ่งหมายที่จะถึง ความสะอาด สว่าง สงบ เป็นพระพุทธ เป็นพระธรรม เป็นพระสงฆ์โดยหัวใจ และที่น่าหัวก็ว่า ไม่ต้องลงทุนซื้อหาเป็นเงินเป็นทอง มันได้มาเปล่า ๆ ตามความหมายของคำว่า “นิพพาน” ว่านิพพานน่ะ ให้เปล่า ไม่ต้องลงทุนซื้อ ปฏิบัติถูกต้องแล้วก็ได้มาเปล่าๆ ของอะไรอะไรที่เรามี ต้องไปซื้อไปหามา ต้องลงทุนซื้อ แต่มีนิพพานนี่ ไม่ต้องซื้อ เป็นของให้เปล่า ให้ฟรี มีแต่ว่าจะต้องสละออกไป สละไอ้ความยึดมั่น ถือมั่น อุปาทาน ออกไป ออกไป ออกไป จนไม่มีอุปาทานเหลือ ก็ไม่มีกิเลส ก็ไม่มีทุกข์ ขอให้ตั้งใจให้ถูกตรง ว่า นิพพานนี้ให้เปล่า หรือ เอาละ คุณจะเรียกว่าลงทุนก็ได้ ลงทุนในอานาปานสติ มันเหนื่อยบ้าง หรือเสียเวลาบ้าง แต่ก็ยังเรียกว่าให้เปล่าอยู่นั่นละ ให้ถือกันไว้ว่า มันมีความมุ่งหมายกันอย่างนี้ เราจะได้กำไร ได้กำไรล้วน ไม่ต้องลงทุน มันลงทุนเท่าที่มีอยู่แล้ว เท่าที่มันมีอยู่แล้ว ชีวิตต้องลงทุนอยู่ในตัวแล้ว มันก็เป็นชีวิตธรรมดาอยู่แล้ว ทีนี้ สวมทับลงไปด้วยการกระทำ ที่มันจะได้กำไรมหาศาลออกมา เป็นมรรคผลนิพพาน ทีนี้ที่ควรจะทราบไว้เลยก็ว่า มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอริยสัจ หรือ ปฏิจจสมุปบาท ท่านก็เคยศึกษามาแล้วเรื่องอริยสัจ และเข้าใจว่า เคยอ่านกันมาแล้ว เรื่องอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์ คือ ความทนทรมาน สมุทัย คือ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกขนิโรธ นิโรธนั้น ดับเหตุนั้นเสีย แล้วก็มรรค ก็ได้เป็นการเป็นอยู่ หรือเป็นการปฏิบัติไปเป็นเช่นนั้น ดับทุกข์เสีย และก็มีวิธีที่จะดับทุกข์นั้น เรียกว่ามรรค อานาปานสตินี้ เป็นตัวดับทุกข์ หรือเป็นมรรคอยู่ในตัว สรุปสั้นที่สุดเหลือแต่สมาธิ กับ ปัญญา ศีลนั้น แฝงตัวอยู่ในนั้น โดยที่ไม่ต้องแสดงหน้าตาอะไรออกมา ถ้าทำอานาปานสติได้ มันก็ปิดกั้นกิเลสตัณหาได้ หรือจะให้ชัดลงไป ก็ว่าจะสกัดกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ไม่ให้ปรุงไปในทางจะเป็นทุกข์ แต่ปรุงไปในทางที่จะดับทุกข์ เพราะว่ามันมีสติมานี่ ได้สติมาจากการปฏิบัติ แล้วเอาสติมาควบคุมผัสสะ ผัสสะเมื่อมีผัสสะในชีวิตประจำวันนี้ไง เรามีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจที่เรารู้สึก ภายนอกมี ๕ ภายในมี ๑ พอสัมผัสด้วยอายตนะนี้ ถ้าไม่มีสติ ไม่มีปัญญา หรือโง่ไปในตอนนั้นแล้ว มันปรุงไปในทางเป็นทุกข์ทั้งนั้น ผัสสะให้เกิดเวทนาโง่ๆ ที่น่ารัก ก็หลงรัก ที่น่าเกลียด ก็หลงเกลียด ที่เป็นสุขก็หลงรัก ที่เป็นทุกข์ก็หลงเกลียด มันก็เกิดตัณหาอุปาทาน ถ้ามีสติ ตอนที่ผัสสะ ไม่เกิดเวทนาโง่ ๆ อย่างนั้น มันรู้ดีว่า สักว่าเวทนา มันไม่หลงใหลในเวทนา แม้จะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ นี่ไม่เกิดกิเลสตัณหา ก็ไม่เกิดทุกข์ กระแสปฏิจจสมุปบาทก็เอียงไปทางดับทุกข์ ไม่เป็นทุกข์ มันจะช่วยให้เรารู้จักวิธีที่จะอยู่เหนืออิทธิพลของสิ่งที่มีอยู่ในโลก ที่มันเป็นบวก และเป็นลบ เรามีสติรู้สึกตัว ไม่ไปหลงบวก หลงลบก็เช่นเดียวกับที่ในผัสสะน่ะไม่หลง มันก็ไม่หลงเวทนาที่เป็นบวกหรือเป็นลบ นี่ควรจะมีไว้ให้มาก เป็นเรื่องนอกออกไปก็ได้ ไม่เกี่ยวกับคำว่าอานาปานสติ เกี่ยวกับผู้ที่อยากจะมีชีวิตเหนือบวกเหนือลบไม่ต้องเป็นทุกข์ มายึดถือบวกลบให้เป็นทุกข์ เหนือบวกเหนือลบ เหนือสุขเหนือทุกข์ เหนือดีเหนือชั่ว เหนือบุญเหนือบาป อย่างที่เรียกกันเป็นภาษาวิทยาศาสตร์ว่า positive หรือ negative นั่นละ ยุ่งทั้งนั้นละ positive ก็ยุ่งไปตามแบบ positive negative ก็ยุ่งไปตามแบบ negative อยู่เหนือจะดีกว่า จะอยู่เหนือได้ก็เพราะมีสติเท่านั้นละ ฉะนั้น จงรู้ไว้เถิด ว่า อานาปานสตินี้ ช่วย ช่วยให้มีสติชนิดที่สามารถจะอยู่เหนือบวก หรือเหนือลบ จิตใจไม่มีความเป็นบวกไม่มีความเป็นลบ ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่มองอะไรในแง่ร้ายหรือในแง่ดี แต่มองอะไรในแง่ที่ว่าไม่ใช่ “ตน” มันว่างเปล่า ไม่ต้องมองมันในแง่ร้าย ไม่ต้องมองมันในแง่ดี มันยุ่งทั้งสองแง่ นี่เป็นเหตุให้เราได้รับประโยชน์สูงขึ้นไปอย่างนี้ ทีนี้มันก็ยังสูงไปกว่านั้นอีก คือ อานาปานสตินี่ เมื่อเจริญอยู่ เจริญอยู่ เจริญอยู่ มันจะมองเห็นอนัตตา อนัตตาของสิ่งทั้งปวงซึ่งไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน เรื่องนี้เป็นหัวใจของความรู้ทั้งหมดของพุทธศาสนาจะเห็นอนัตตา มันไม่ใช่ตัวตน มันจะมีตัวตนมันก็ไม่ใช่ตัวตน มันเป็นตัวตนโดยสมมุติ เรื่องนี้ให้จำไว้เป็นหลักว่า ไอ้ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าตัวตน ไม่ใช่ตัวตนนั้นถูกต้อง มีตัวตนก็หลงยึดผิดมาก ไม่มีตัวตน อะไรเสียเลย มันก็ มันก็ไม่มีเรื่องอะไรเลย มันก็ไม่ดับทุกข์อะไรได้ แต่ว่ามีตัวตนที่มิใช่ตัวตนนี้ มันอยู่ตรงกลาง ข้างนี้มีตัวตน ข้างนี้ไม่มีตัวตน ตรงกลางนี้มีตัวตน ซึ่งมิใช่ตัวตน นี้เรียกว่า “อนัตตา” อนัตตา เห็นอนัตตาแล้ว มันไม่เกิดการปรุงแต่งที่เป็นกิเลส ไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลงเกิดขึ้นได้ เราต้องการเห็นอนัตตาอย่างละเอียด ที่ลึก อย่างที่ลึก เราเห็นผิว ๆ มันไม่พอ เห็นให้ลึก จนไม่เกิดความยึดมั่นถือมั่น นับตั้งแต่อานาปานสติขั้นที่ ๑ เห็นลมหายใจเป็นไปตามธรรมชาติ อย่างนั้นก็อนัตตา ลมหายใจจะเปลี่ยนเป็นอย่างไร ก็อนัตตา มันจะสงบลงไป ก็อนัตตา เวทนา เป็นปีติก็ดี เป็นสุขก็ดีก็เห็นเป็นอนัตตา จะเห็นเป็นอนัตตาได้ทุกครบทุกขั้นทั้ง ๑๖ ขั้น แล้วยังจะเห็นว่า ในสรุปหมวดเป็นหมวด ๆ นั้น จะยิ่งเห็นชัดเลย ทั้งหมวดเอามาพิจารณาแล้ว กายเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา จิตเป็นอนัตตา ธรรมะเป็นอนัตตา อานาปานสติมีประโยชน์สูงสุด ช่วยได้มากที่สุดในการที่จะให้เห็นสิ่งที่เรียกว่า “อนัตตา” ถ้าเห็นอนัตตา คือเห็นธรรมะ เห็นความจริงในพระพุทธศาสนา ทำให้กลายจากปุถุชน เป็นพระอริยะเจ้า เห็นอนัตตามากขึ้นไปก็เลื่อนเป็นพระอริยะเจ้าขั้นสูงขึ้นไป เห็นอนัตตา ในระดับหนึ่งก็เป็นโสดาบัน มากขึ้นไปอีกก็เป็นสกิทาคามี มากขึ้นไปอีกก็เป็นอนาคามี มากขึ้นไปอีกก็เป็นอรหันต์ การเห็นอนัตตามันพิเศษอย่างนี้ คือ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง เห็นอนัตตาชัดเจน ชัดเจน
เราจะศึกษา ฝึกฝน การเห็นอนัตตาอย่างละเอียดถี่ยิบไปทีละขั้น ทีละขั้น บางคนก็สอนให้เห็นเพียงนามรูป นามรูปไม่ใช่ตัวตน ก็ได้เหมือนกัน แต่สู้เห็นเป็นอนัตตาไปเลยไม่ได้ เพราะนามรูปก็เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน เห็นในความหมายของการเป็นอนัตตาเสียนั้น จะประเสริฐที่สุด มันก็มีเบื้องต้นก่อนเห็น ก็เห็นอนิจจัง ทุกขัง คงจะได้เคยได้ยินกันมาแล้วทั้งนั้น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ๓ คำนี้แพร่หลายมาก ก็ควรจะศึกษาว่ามันจะเกี่ยวกันอย่างไร เห็นอนิจจังก็คือเห็นไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงเรื่อย ไปตามเหตุตามปัจจัยเรื่อย รั้งไว้ไม่อยู่ ทีนี้ ด้วยความที่มันไม่ฟังเสียง มันเปลี่ยนแปลงเรื่อย มันจึงเกิดปัญหาคือ ความทุกข์ขึ้นมา เพราะมันเปลี่ยนแปลงเรื่อย ที่นี้ ต่อต้านมันไม่ไหว ที่มันเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง ต่อต้านมันไม่ไหว นั่น คือความเป็นอนัตตาชั้นต้น เห็นได้อย่างง่าย ๆ เด็ก ๆ ก็พอจะมองเห็นได้ ถ้าว่าเห็นลึกลงไป ลึกลงไป จนตัวมันไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่วิญญาณเจตภูตอย่างที่เข้าใจกัน ถ้านอกพุทธศาสนาไปก็มีอัตตา อัตตาที่เรียกว่าตัวตนเรียกเป็นอาตมันก็มี ในภาษาสันสกฤตเรียกว่าเจตภูตก็มี เรียกว่าวิญญาณก็มี เรียกว่าบุรุษก็มี หลาย ๆ ชื่อแต่ความหมายก็คือ อัตตา พวกฮินดู พวกพราหมณ์ เขามาสอนกันอย่างนี้ เขามาสอนไว้ในหมู่คนไทยเรา ก่อนพุทธศาสนามา ยังเหลืออยู่ ความเป็นอัตตา เป็นชนิดเจตภูตเวียนว่ายตายเกิดเข้าๆ ออก ๆ กับร่างกายนี้ มันก็มีนั่นไม่ใช่พุทธศาสนา แต่เอามาปนกัน จนแยกกันไม่ออก แล้วก็ถือกันอย่างนั้น เดี๋ยวนี้มารู้เสียใหม่ ศึกษาอานาปานสติให้ดี คือว่า ไม่มีอัตตาชนิดนั้น ไม่มี จิตที่มันคิดนึกได้ ที่มันทำอะไรได้ ตามธรรมชาติของจิต กับร่างกายที่มันอยู่ใต้อำนาจของจิต จิตใช้ทำอะไรก็ทำได้ คิดนึกก็ได้ รู้สึกก็ได้โดยไม่ต้องมีสิ่งที่เรียกว่าอัตตา ถ้าเป็นอย่างลัทธิโน้น เขามีอัตตานะ มีอัตตานะ คือตัวตน ตัวตน เจตภูตวิญญาณ อะไรก็แล้วแต่ หลายชื่อ แต่ตัวเดียวกันละ สำหรับจะเข้ามาสิงอยู่ในชีวิตนี้ พอชีวิต พอร่างกายนี้ตาย ก็จะไปหาที่สิงใหม่ กายใหม่ไปภพหน้าใหม่ ตลอดเวลาที่อยู่ที่นี่ ก็เข้า ๆ ออก ๆ อย่างที่เขาพูด เด็ก ๆ งง พอนอนหลับนี่ อัตตา เจตภูตนี่ออกไปเที่ยว กลับมา ตื่น จึงจะรู้สึกเหมือนอย่างเดิมอีก ถ้าเจตภูตไม่กลับมาแล้ว ตื่นไม่ได้ เจตภูตออกไปเที่ยวเวลาหลับนี่ไม่ใช่เรื่องพุทธ ไม่ใช่พุทธ แต่ก็มีพูดมีสอนกันอยู่ แต่โบราณนี้คนไทยที่ถือพุทธอย่างคนเป็นอิทธิพลฮินดู คนแก่คนเฒ่าก็ถือกันอย่างนี้ หนังสือธรรมะเล่มยุคก่อน ๆ โน้น ก็เคยพูดอย่างนี้ พูดว่า เจตภูตออกมาทำหน้าที่เห็นทางตา เห็นด้วยตา ออกมาทำหน้าที่ฟังทางหู ออกมาทำหน้าที่ดมกลิ่นทางจมูก มารู้รสทางลิ้น มาสัมผัสผิวหนังทางกาย นี่คือเจตภูตออกมาทำ อย่างนี้ในพุทธศาสนาไม่มีไม่มี มันรู้ได้โดยผัสสะโดยระบบประสาท โดยที่ของมันมีอยู่ตามธรรมชาติในตัวมันเอง ไม่มีเจตภูตชนิดนั้น เมื่อพวกนั้น มีอัตตาอย่างนั้นเราก็ไม่มีอัตตาอย่างนั้น มีสิ่งที่ทำอะไรได้แต่ไม่ใช่อัตตา นี่ ช่วยให้รู้จักสิ่งนี้ได้ง่ายขึ้น ถ้าสังเกตให้ดี นี่บอกไว้ล่วงหน้าเลยนะ ถ้าสังเกตให้ดี ทุกขั้นตอนที่ทำอานาปานสติ จะเข้าใจเรื่องนี้ จะมองสิ่งนี้ว่า ไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่เจตภูต ไม่ใช่วิญญาณ อัตตา อะไรที่ไหน นี่ เตรียมตัวไว้ ถ้าเราจะรู้สึกอย่างนี้ ในทุกขั้นตอนที่ทำอานาปานสติต่อไปนี่ ประโยชน์นี้ มันสูงสุดนะ ที่จะทำให้ได้ความรู้เรื่องอนัตตา อนัตตา
ข้อต่อไปที่อยากให้ทราบ เป็นความรู้ว่า เป็นสติปัฏฐาน เป็นที่ตั้งแห่งสติ อานาปานสติอย่างที่เราจะปฏิบัติ ให้เป็นสติปัฏฐานที่แท้จริง เราถูกมองข้ามด้วยเหตุอะไร ก็เหลือที่จะกล่าว ในสมัยนี้ ไปเอาสติปัฏฐานอย่างอื่น อย่างเฟ้อ อย่างมากมาย ในมหาสติปัฏฐานสูตร มากมายมหาศาล ไม่รวบรัดอย่างในอานาปานสตินี้ ที่เขาพูดกันว่าทำสติปัฏฐาน สติปัฏฐานนะ เรียกชื่อนี้แต่ทำอย่างอื่นก็มี แม้ที่กรุงเทพ หรือที่ไหน ที่จังหวัดไหนก็มี เรียกว่าสติปัฏฐาน แต่ไม่ได้เอาอานาปานสติ ที่นี่ ขอยืนยันเฉพาะอานาปานสติ ว่าเป็นสติปัฏฐานที่พระพุทธองค์ทรงประสงค์ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ชัดๆว่าเมื่ออานาปานสติสมบูรณ์ คือสมบูรณ์ทั้ง ๔ หมวด คือทั้ง ๑๖ ขั้น สติปัฏฐาน ๔ ก็จะสมบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ สมบูรณ์ โพชฌงค์ก็จะสมบูรณ์ โพชฌงค์สมบูรณ์ อริยมรรคก็จะสมบูรณ์ และก็บรรลุมรรคผล เราถือเอาสติปัฏฐานแบบอานาปานสติ ไม่เยิ่นเย้ออะไร เพียง ๔ หมวด หมวดละ ๔ ขั้นเป็น ๑๖ ขั้น นี่ก็บอกให้รู้ไว้ด้วยว่า อานาปานสติเป็นตัวสติปัฏฐานแท้ แต่บางพวกก็ไม่ยอมรับ ก็ไปเอาสติปัฏฐานแบบมหาศาล เฟ้อเหลือประมาณที่เรียกว่า “มหาสติปัฏฐาน” ไปยึดถือกันอย่างนั้น เราไม่ไปเถียงกันแล้ว ว่าถูกผิดอย่างไร แต่เดี๋ยวนี้ จะขอยืนยันว่าอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านแนะนำ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “ตถาคตก็อยู่ในอานาปาสติ เมื่ออยู่ในอานาปานสติเป็นวิหารเครื่องอยู่ ก็ได้ตรัสรู้ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระพุทธเจ้า” สติปัฏฐานแบบอานาปานสตินี่ เป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำ และทรงยืนยันว่า ตัวเองก็ใช้วิธีนี้ จนได้สำเร็จประโยชน์ในการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า อาจจะมีคนถามเรา เราตอบไปเขาก็ไม่เห็นด้วย แล้วเขาก็จะหาว่าผิด ขอบอกไว้ว่า ไม่ต้อง ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจอะไร ยืนยันสติปัฏฐานแบบอานาปานสตินี้ ว่าถูกต้องตามพระพุทธประสงค์
ทีนี้ก็อยากแนะถึงความพิเศษ หรืออานิสงส์พิเศษ หรือความหมายพิเศษ เมื่อเราได้ฝึกการหายใจตามอานาปานสติ ๑๖ ขั้นแล้ว สำเร็จแล้วนะ ฝึกสำเร็จแล้วนะ จะกลายเป็นมีสิ่งพิเศษ มีเครื่องมือพิเศษป้องกันทุกข์ ปัดเป่าทุกข์ ขับไล่ความทุกข์ จนพูดสรุปว่า หายใจทีเดียว ความทุกข์ที่มีอยู่ออกไปหมด ไม่มีเหลือ หายใจทีเดียว ป้องกันความทุกข์โดยสิ้นเชิง ก็นึกถึงอารมณ์ร้าย ที่เราเคยพูดกันเมื่อคืนก่อน ว่าอารมณ์ร้าย ๆ ความรักก็ดี ความโกรธก็ดี ความเกลียดก็ดี ความกลัวก็ดี ความตื่นเต้นก็ดี ความวิตกกังวลก็ดี ความอาลัยอาวรณ์ก็ดี ความอิจฉาริษยาก็ดี ความหวงความหึงก็ดี กลุ้มกลัดอยู่ในจิตใจ ถ้าทำอานาปานสติสำเร็จ ก็ไล่มันออกไปได้ ด้วยการหายใจเพียงครั้งเดียวเท่านั้น การหายใจที่ถูกต้อง มีผลลัพธ์อย่างนี้ ที่จริงตามธรรมดา การหายใจยาว หายใจละเอียดนี่ มันก็ขจัดสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว ถึงแม้ไม่รู้เรื่องอานาปานสติ ตามธรรมชาติ คนเราทั่วไปโดยเฉพาะเด็ก ๆ พอมันขัดใจ อึดอัดอะไรขึ้นมา มันก็ถอนหายใจยาว ถอนหายใจใหญ่ ถอนหายใจเฮือกเยือกหนึ่งแล้ว หลังจากนั้นก็สบาย ก็สบาย นั่นแหละอานาปานสติโดยไม่รู้สึกตัว การหายใจพิเศษขับไล่อารมณ์ร้ายออกไปหมด เดี๋ยวนี้พิเศษกว่านั้น เพราะอบรมกันมากกว่านั้น อบรมสูงสุดกว่านั้น หายใจทีเดียวอารมณ์ร้ายๆออกไปหมด นี่หมายถึงว่าทำได้สำเร็จนะ ถ้าทำไม่ได้สำเร็จ มันก็ไม่ได้เป็นอย่างนี้ หายใจทีเดียวมันไม่ไล่ไปได้ มันต้องต่อสู้กันหลายที ถ้าเก่ง สามารถถึงที่สุดแล้ว เราสามารถหายใจทีเดียว อารมณ์ร้ายออกไปหมด ความทุกข์โศกออกไปหมด ความหม่นหมองออกไปหมด ดีกว่านั้นอีก ก็ว่าหายใจทีเดียว ความคิดแจ่มใส ความคิดที่มืดมัวไม่แจ่ม ก็แจ่มใส คิดนึกอะไรไม่ออก อึดอัดขัดใจ หายใจทีเดียวใจโล่ง คิดออกสบาย อานาปานสติที่ถูกวิธี จะใช้ได้ถึงขนาดนี้ ความจำที่นึกไม่ออก ทำให้นึกออก การอึดอัดขัดใจ ทำให้หมดไป ตัดสินใจ อะไรไม่ค่อยจะถูก ก็ตัดสินใจได้ถูก เพราะจิตเป็นปกติ ผ่องใส แจ่มใสอย่างยิ่ง ด้วยการหายใจอย่างนี้ เพราะการหายใจอย่างนี้ มันขับไล่สิ่งมืดมัว หม่นหมอง เลวร้าย ออกไปหมดนี่ เป็นจิตใจที่เกลี้ยง เป็นจิตใจที่เยือกเย็น เป็นจิตใจที่อิสระ ด้วยการหายใจครั้งเดียว นี่หมายถึงว่าทำได้ ทำได้สำเร็จแล้วนะ ไม่ใช่เริ่มทำงุ่มง่ามอยู่ เมื่อทำได้สำเร็จแล้วก็จะมีการหายใจสูงสุดอย่างนี้ สารพัดนึกอำนาจสูงสุดนะ ที่ในภาษาฝรั่งมันเรียกกันว่า Almighty Almighty มีอิทธิฤทธิ์ทุกชนิด Almighty มันจะมีอาการอย่างนั้นขึ้นมา มีการหายใจที่มีฤทธิ์ มีเดช ประหลาด มหัศจรรย์ ป้องกันกิเลสก็ได้ ขับไล่กิเลสก็ได้ ขับไล่อารมณ์ร้ายก็ได้ เตรียมจิตให้ผ่องใส จะคิดนึกอะไร จะทำงานทำการ อะไรก็ได้ดี จะขับไล่ความโกรธก็ได้ ไอ้คนขี้โกรธน่ะ ช่วยจำไว้เถอะ ถ้าเอาความโกรธออกจากจิตใจไม่ได้ โมโหโทโสเผาผลาญจิตใจอยู่เรื่อย ก็หายใจด้วยวิธีอานาปานาสตินี่ ไอ้คนที่ขี้อิจฉาริษยาก็เหมือนกัน เพราะมันเป็นกันมากนะโรคริษยา ขับไล่มันออกไปเสีย ด้วยการหายใจอย่างถูกต้อง ด้วยวิธีอานาปานสติที่ทำได้จริง นี่ ประโยชน์อย่างยิ่ง ประโยชน์ที่จะใช้ได้สารพัดนึกรอบตัวในชีวิต บ้านเรือน ขจัดความทุกข์ออกไปได้ ด้วยการหายใจเพียงครั้งเดียวเรียกความสุขเข้ามาได้ ด้วยการหายใจเพียงครั้งเดียว แล้วคุณจะเอาอะไรอีก จะหาว่านี่ โฆษณามากไปแล้ว ก็ตามใจ ก็ได้ จะคิดอย่างนั้นก็ได้ แต่ขอให้ลองดู ขอให้ลองดู ให้ทำไปให้สำเร็จเถอะ มันจะเป็นไปอย่างที่ว่านี่ละ ไล่อารมณ์ร้ายหรือความทุกข์ออกไปได้ เรียกอารมณ์ดี หรือความสงบแห่งจิตใจ เข้ามาได้ทันที ด้วยการหายใจเพียงครั้งเดียว อย่ากลัวว่ามันเป็นเรื่องทำให้บ้า มีคนมาถามบ่อยว่า ทำอานาปานสติ โดยไม่ต้องมีอาจารย์ควบคุมแล้ว จะเป็นบ้าใช่ไหม บอกว่าไม่ ไม่ นั่นมันเป็นพิเศษอย่างอื่น มันจะบ้าอยู่แล้วมันมาทำ มันจะบ้าอยู่แล้ว คนโน้นมันจะบ้าอยู่เองแล้ว แล้วก็มา มันก็บ้าได้เหมือนกัน แล้วอีกอย่างก็ว่า มันจะมาทำอานาปาสติ เพื่อมีฤทธิ์มีเดช จะเหาะเหินเดินอากาศได้ อย่างนี้เป็นต้น มันจึงมาทำ ก็เคยได้ยินเขาเล่ากันอยู่บ่อย ๆ ว่ามันทำแบบนี้ มันก็เหมือนเป็นคนครึ่งบ้ามาแล้ว แล้วมันก็ทำ ๆ ๆ แล้วมันก็คิดว่า ได้แล้ว จะเหาะได้แล้ว ก็เปิดหน้าต่าง กระโดด จะบินไป มันก็ตกลงแอ่ก นอนแอ่กอยู่ตรงนั้น อย่างนี้ ก็เคยมีคนเล่าให้ฟัง ได้ยินสมัยก่อนนี้ก็มี นี่มันจะบ้ามาแล้ว มันจะบ้ามาจากบ้านแล้ว มาทำเข้ามันก็เป็นบ้าได้ อย่ามีความคิดอย่างนั้น อย่ามีความหวังอย่างนั้น จะทำเพื่อดับกิเลสดับทุกข์อย่างเดียว แล้วก็ไม่มีบ้า เจตนาจะให้สงบ ให้สงบอย่างเดียว ไม่มีบ้า อย่าไปคิดว่า จะเหาะได้แล้วโว้ยอย่างนั้นนะ มันบ้า ถ้ามันไม่สงบมันก็ไม่สงบเท่านั้น มันก็มีเท่านั้น คือมันไม่สงบ ทำจนให้มันสงบให้ได้ ไม่แจ่มใสก็ทำจนแจ่มใสขึ้นมา อย่างนี้ไม่บ้าแม้ว่าจะไม่มีอาจารย์คอยควบคุมก็ไม่บ้าละ พระพุทธเจ้าท่านทีแรกใครเป็นอาจารย์ท่านเล่า ไม่ต้องมีใครมาเป็นอาจารย์ควบคุม ท่านก็ทำได้ ก็ตรัสไว้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด ไม่ต้องมีอาจารย์มาควบคุม มันจะบอกในตัวของมันเอง บอกให้หายใจยาวอย่างสม่ำเสมอ ออกก็สม่ำเสมอ หายใจสั้นให้ระงับก็ระงับ ถ้าไม่ระงับ ไม่ระงับก็ทำให้จนระงับ มันจะบ้าได้อย่างไร เดี๋ยวนี้มันจะทำอานาปานสติ เห็นเลข ๓ ตัวโน่น แล้วมันจะไม่บ้า ทนไหวหรือ มันจะไปเห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นอะไร แล้วจะไปเที่ยวหลอกคน อย่างนี้มันจะบ้ากันทั้งสองฝ่าย บ้าอานาปาน มันไม่ซื่อตรง มันเข้ามาปฏิบัติด้วยอำนาจของกิเลส เข้ามาปฏิบัติธรรมะ ปฏิบัติธรรมะนี้ มันเข้ามาปฏิบัติด้วยกิเลส ไม่ใช่เข้ามาปฏิบัติด้วยจิตอันซื่อตรงต่อธรรมะ คิดว่าจะมีฤทธิ์เดช แล้วก็จะได้เปรียบ จะเหาะเหินเดินอากาศ แล้วก็จะหายตัวได้อย่างนี้ จะเอาไปใช้เอาเปรียบ ในทางหาสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทำอย่างนี้บ้า สมน้ำหน้า ไม่ต้องสงสาร มีเจตนาบริสุทธิ์ ตั้งใจทำ ทำไม่ได้ ก็ทำต่อไป ไม่ได้ก็ทำต่อไป จนมันได้ ก็ไม่มีบ้า นี่อย่ากลัวว่าจะเป็นบ้าเพราะการทำอานาปานสติ เคยอ่านหนังสือไตรภูมิพระร่วง ได้พบการกล่าวถึงอานาปานสตินี้เรื่อยๆไปเหมือนกัน เข้าใจว่าในยุคสมัยแต่งหนังสือไตรภูมิพระร่วงนี้ เขาเข้าใจกันดีรู้จักกันดีว่าอานาปานสตินี้ถูกต้อง ไม่ได้เอ่ยชื่อเป็นสติปัฏฐานหรอก เอ่ยชื่อเป็นอานาปานสติเลย เข้าใจว่าแพร่หลายและทำกันเป็นหลักเป็นฐานประจำ แต่แล้วมันก็ค่อยหาย ๆ ๆ ๆ ไป เมื่อไรก็ไม่รู้ พอมาถึงยุคปัจจุบันนี้ เหลือแต่สติปัฏฐาน อานาปานสติไม่รู้จัก เขาพูดกันแต่เรื่องสติปัฏฐาน แล้วก็ไปคว้าเอาสติปัฏฐานเฟ้อ ในสูตรยาว ๆ ฑีคะนิกายมา (44:25) ไม่สนใจเรื่องอานาปานสติสูตร ซึ่งเป็นสูตรสั้น ๆ ที่เราเอามาใช้เป็นหลักสูตรนี้ พุทธบริษัทไทย เคยพอใจ เคยรู้จัก เคยปฏิบัติกัน อย่างแพร่หลายในอานาปานสติ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย แล้วคงจะได้เปลี่ยนแปลง เรื่อยมา เรื่อยมา จนถึงสมัยนี้ บอกไม่ได้ว่ามันเปลี่ยนแปลงตรงไหน ยุคไหน แต่ว่า พอมาถึงเดี๋ยวนี้ มันยืนยัน เห็นได้ชัดว่า สมัยนี้ นิยมสติปัฏฐาน แถมมหาสติปัฏฐานเสียด้วย เราไม่ต้องการ เราต้องการสติปัฏฐานธรรมดา ๆ เท่านี้ คืออานาปานสติ
สติปัฏฐานคำนี้ เข้าใจให้ดี ๆ มันเป็นการตั้งไว้ซึ่งสติก็ได้ เป็นบาทฐานแห่งสติก็ได้ มีสติเป็นบาทฐานก็ได้ ถ้าเราจะทำอะไรให้สูงขึ้นไป ในทางปัญญา ก็มีสติเป็นบาทฐาน ก็ได้เหมือนกัน แต่ถ้าเรามาพูดอย่างที่เราจะฝึกอย่างนี้ ก็คือทำให้เกิดสติ สติปัฏฐานนี่ ทำให้เกิดสติ เราจะใช้สติต่อไปข้างหน้า เดี๋ยวนี้ก็ปฏิบัติ ๆ นี่เป็นเหตุให้เกิดสติ ก็เรียกว่า “ปัฏฐานะแห่งสติ” ที่ตั้งแห่งสติก็ได้ ความหมายเหล่านี้ แม้จะต่างกันบ้าง ก็ไม่เป็นไร ใช้ได้ทั้งนั้น ทำให้เกิดสติขึ้นมาให้สตินี้สมบูรณ์ที่สุด นั่นละ จะสำเร็จประโยชน์
ไอ้สติ สตินี้ ธรรมดามันก็มีตามธรรมชาติโดยสัญชาติญาณมันก็มีไม่ใช่ไม่มี แต่มันน้อยมันไม่พอ และก็ไม่เข้มแข็ง และก็ไม่รวดเร็ว เอามาฝึกกันใหม่ให้เข้มแข็ง ให้รวดเร็ว ให้รวดเร็วเหมือนกับฟ้าแลบ หรือเร็ว เหมือนกับความเร็วแสง ความเร็วไฟฟ้า ให้มันเร็วขนาดนั้น นึกอยู่แป๊บเดียวออกมาหมด สติโดยพื้นฐานต้องมี ถ้าไม่มีก็ตาย มันอยู่ไม่ได้ มันทำอะไรไม่ได้ มันต้องมีสติโดยพื้นฐาน ที่จะให้ชีวิตรอดอยู่ได้ จะเดินได้ ยืนได้ นั่งได้ กินอาหารได้ ทำอะไรได้ ก็โดยสติพื้นฐานนั่นละ มันน้อย อย่างน้อยมันก็ต้องมีสติ ถ้าไม่มีสติ มันก็ไม่รู้จะกินข้าวทางปากหรือทางจมูก ก็ยุ่งกันใหญ่ มีสติที่จะให้ปรกติ มีชีวิตปรกติ อย่างนี้มันก็มี แม้แต่สุนัข สัตว์เช่นสุนัข มันก็มีบ้างเหมือนกัน แต่มันไม่พอ นี่เราเป็นมนุษย์ ต้องมีมากกว่านั้น นี่เราเป็นมนุษย์ที่ต้องการจะมีสันติภาพสันติสุขมากกว่านั้น ก็ต้องฝึกสติให้มีมากกว่านั้น มีมากกว่าเดิม เรียกว่าหลายเท่าหลายสิบเท่า สติที่มีอยู่ตามธรรมชาตินั้น มันก็พออยู่ได้เท่านั้น จะให้เอาชนะความทุกข์ ชนะกิเลส เป็นนิพพาน ก็ต้องเพิ่มมากกว่านั้นหลายเท่าทีเดียว ถ้าจะใช้คำว่าหลายสิบเท่าก็ไม่ผิดหรอก สติสมบูรณ์ที่สุดคือความเป็นพระอรหันต์ ปุถุชนเราคนธรรมดาสตินั้น ไม่สมบูรณ์ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ คือ มาช้า มาอืดอาด แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์นั้น สมบูรณ์ ๆ และก็ไม่ขาดตอน มันเป็นปกติวิสัยเสียเอง เพราะความรู้บางอย่าง มันทำให้ไม่ต้องการสติ ก็มี เมื่อมันเห็นอนัตตาเสียแล้ว มันเกิดกิเลสไม่ได้ ก็ไม่ต้องมีสติมาช่วย อย่างนี้ก็เรียกว่า สติสมบูรณ์ได้เหมือนกัน พระอรหันต์เป็นเช่นนั้น ถ้าเรามีสติสมบูรณ์มันก็ป้องกันได้ ช่วยได้ แต่อย่าลืมว่าได้พูดกันคืนก่อนแล้วว่า สตินี้ต้องทำงานเป็น teamwork กับปัญญา สัมปชัญญะ และสมาธิ ไอ้ ๔ เกลอนั้นละ สติไปค้นเอาปัญญามา กลายรูปเป็นสัมปชัญญะ เผชิญหน้ากับอารมณ์ที่เข้ามากระทบ แล้วมีสติ เพิ่มกำลังให้มาก ๆ ๆ ก็ข่มอารมณ์ ชนะอารมณ์ ควบคุมอารมณ์ได้ ตามที่ต้องการ นี้ละ สติที่ฝึกดีแล้ว มันก็เป็นอย่างนี้ ถ้ารู้ด้วยปัญญาสูงสุดแล้ว สติมันก็ใช้น้อยเข้าละ เพราะปัญญา มันทำให้ไม่เกิดปัญหา แต่อย่าลืมว่าปัญญานี้ต้องมีสติค้นเอามาเสมอ เราจะมีปัญญา ความรู้ เลิศลอยเท่าไร มันก็แค่อยู่ในที่เก็บ ไม่มีอะไรเอาออกมาใช้ คือไม่มีสติเอาออกมาใช้ มีศาสตราวุธเก็บไว้ แต่ไม่มีการเอามาใช้ทำลายศัตรู ต่อสู้ศัตรู มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร สะสมปัญญาไว้ พร้อมกันไปกับฝึกสติ แล้วมันมีอารมณ์ร้ายอะไรเข้ามา ก็ต่อสู้มันด้วยปัญญา ส่วนนั้นแหละที่เรียกว่า “สัมปชัญญะ” เราฝึกสมาธิจิตให้เข้มแข็ง เข้มแข็ง ให้หนักหน่วง แน่วแน่ ไว้ด้วย ปัญญามันก็คมก็มีน้ำหนัก ปัญญามันก็ความคม สมาธิเหมือนกับน้ำหนัก คงจะเข้าใจได้กระมัง แม้จะคมเหมือนมีดโกน ถ้าไม่มีน้ำหนักกดลงไป มันก็ไม่ตัด มันตัดอะไรไม่ได้ นี่ ความคมมันก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้ามันไม่มีน้ำหนัก ก็มีสมาธิเป็นน้ำหนักให้มันลงไป แล้วสติน่ะ เป็นผู้ใช้ เป็นเครื่องใช้ สัมปชัญญะนั้น ใช้ให้ถูกเวลา ใช้ให้ถูกสัดส่วน ใช้ให้ถูกเหตุการณ์ กรณีต่าง ๆ นี่ ๔ เกลอนี่ ช่วยได้มากอย่างนี้ ทำงานเป็น teamwork มีแต่ปัญญาอย่างเดียว ไม่มีสติ ก็สอบไล่ตก ไม่ต้องสงสัย จะเรียนมากเท่าไร ๆ ถ้ามีแต่ปัญญา ไม่มีสติ มันก็สอบไล่ตกอยู่นั่น ฝึกฝนสติไว้ให้มากพอ แม้แต่เด็กเล็ก ๆ ที่เป็นนักเรียน ก็ฝึกสติไว้ให้มากพอเถิด มันจะจำเก่ง คิดเก่ง ตัดสินใจเก่ง ระลึกอะไรได้ครบถ้วน ถูกต้อง สุขุม รอบคอบ มีประโยชน์มหาศาลอย่างนี้ เป็นสารพัดนึก มาใช้ในทุกกรณี ไม่ว่ากรณีอะไร จะเป็นกรณีป้องกัน กรณีต่อสู้ กรณีแก้ไข กรณีเก็บรักษา กรณีใช้สอย ก็ต้องใช้สติให้ถูกต้อง ๆ มีสติแล้วก็จะปลอดภัย และมีความเจริญ ฉะนั้น เราจงมีสติ ฝึกมีสติทุกครั้งที่หายใจเข้า หายใจออก มีสติทุกครั้งของการหายใจ เราฝึก ๆ ๆ ที่จะฝึก เราฝึกไปตามสมควรมันก็เปลี่ยนนิสัยเป็นมีสติ มีสติทุกครั้งที่หายใจเข้าออกได้จริงเหมือนกัน กลายเป็นนิสัยไปเลยตอนนี้จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฝึก นั่นคือ เป็นผู้มีสติมากพอ มากพอเพียงพอที่จะดำเนินชีวิต ปัญญามีคุณค่า ทำหน้าที่ แต่ถ้าไม่มีสติ ก็ไม่ได้มีโอกาสจะได้เอามาใช้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปัญญาดับทุกข์ หรือแก้ปัญหาอะไรก็ได้ ปัญญานะ ตรัสว่าปัญญานะ แต่รู้ด้วยว่า ปัญญาถ้าไม่มีสติ มันไม่ได้โอกาสเอามาใช้หรอก มันไม่มีผู้ใช้เสียอีก ฉะนั้น ฝึกให้มีผู้ใช้ ให้มี teamwork อย่างว่า ในการฝึกอานาปานสติตามแบบนี้นะจะเป็นการฝึกคราวเดียวครบถ้วนทั้ง ๔ อย่าง สติก็มากขึ้น ปัญญาก็มากขึ้น สัมปชัญญะก็ไวขึ้น รอบคอบขึ้น สมาธิก็หนักแน่นมากขึ้น ครบทั้ง ๔ อย่าง ได้สิ่งที่มีประโยชน์สูงสุด ที่มนุษย์ควรได้ครบทั้ง ๔ อย่าง ขอให้สนใจ ขอให้ทบทวนว่า อย่าเห็นเป็นไสยศาสตร์นะ ไม่ใช่เรื่องไสยศาสตร์ ไม่ต้องบวงสรวงอ้อนวอน ไม่ต้องมอบกายถวายชีวิต แก่ครูบาอาจารย์ อะไรหรอก ขอให้ทำให้ถูกต้องเถิด นี่ร่วมเป็นวัฒนธรรมสุดยอดที่มนุษย์ก็เคยมีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์โน้น เดี๋ยวนี้มันสูงสุดแล้ว ในโลกที่แสนจะยุ่งยาก คือโลกปัจจุบันนี้ จำเป็นที่สุด ที่จะต้องมีสติ ปัญญา สัมปชัญญะ และสมาธิ โลกที่ยิ่งเจริญ ก็ยิ่งยุ่งยาก ยิ่งลำบาก ยิ่งสับสน การศึกษาที่ไม่มีธรรมะเข้ามาด้วยนี้ มันไม่พอ มีความรู้เท่าไร มันก็แก้ปัญหาไม่ได้ ดับทุกข์ไม่ได้ เพราะมันไม่มีสติ
เอาละ เป็นอันว่า ได้บอกให้รู้อีกอย่างหนึ่งว่า ความลับหรือเงื่อนที่เร้นลับบางอย่าง บางประการ ที่มีอยู่ เกี่ยวกับอานาปานสตินั้น ได้เอามาพูดให้ฟังครบถ้วนแล้ว ครบถ้วนแล้ว และก็พูดมาตั้ง ๓ ครั้ง ๓ วันแล้วด้วย ยิ่งครบถ้วนในหลายแง่ หลายมุม พรุ่งนี้ ก็จะได้พูดกันถึงเรื่องทำอย่างไร ได้พูดถึงเรื่องว่า ทำ ทำไม หรืออะไร คืออะไร มาพอสมควรแล้ว ทีนี้ก็จะได้พูดกันถึงว่าทำอย่างไร นี่ ก็จะต้องขอโอกาสพูดคราวเดียว ทั้งคณะคุณ และภิกษุ ที่เขาจะฝึกด้วย ไม่อย่างนั้นต้องพูด ๒ หนแล้วก็พูดไม่ไหวและก็พูดไม่ได้
วันนี้ขอยุติการบรรยาย ด้วยการบอกถึงสิ่งเร้นลับบางประการ เกี่ยวกับอานาปานสติ ที่ควรทราบ
ขอยุติการบรรยายไว้พียงเท่านี้