แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายครั้งที่ 2 นี้ ก็ยังไม่พูดถึงการทำอานาปานสติ อย่างไร แต่จะพูดถึงเรื่องที่ควรทราบก่อน อีกบางอย่าง ในวันนี้จะพูดด้วยหัวข้อว่า ผู้ที่มีความสมควรแก่การทำจิตตภาวนา ก็หมายความว่า บางผู้ บางพวกไม่สมควร บางพวกสมควร
พูดถึงพวกที่สมควรแก่การ ทำ จิตตภาวนา ข้อนี้ก็อาศัยพระพุทธภาษิตโดยตรง ไม่ต้องคิดเอาเอง เมื่อคิดก็จะเห็นว่า เป็นเช่นนั้นจริง
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปพฺพสรมิททํ ชิตะเวจตฺตํ ตนฺจโข อาคันตุเกหิ อุปตฺตียทฺธํภัสรมิทธัง (นาทีที่01.37) ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ประภัสสร แต่ว่าจิตนั้น เศร้าหมองแล้ว เพราะอุปกิเลสที่จรเข้ามา แปลว่า ปพฺพสรเมธํ ภิกขเม จตฺตํ กญฺจโข อาคนฺตุเก หิอุปิติเร เกหิ วิปมุตตํ (นาทีที่02.00) จิตนี้ประภัสสร แต่ว่าจิตนั้น และจิตนั้นหลุดพ้นแล้วจาก อุปกิเลสที่จรมา สังสุตวา ปุตุจจะโน ยะถา ภูตัง มะตะกานาติ (นาทีที่02.20-02.30) ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมไม่ทราบข้อนี้ตามที่เป็นจริง ตัสมา อสุตตวโต ปุถุจนสฺส จิตตภาวนา นัตถี ติวฐามิ (นาทีที่02.39) ดังนั้นเราจึงกล่าวว่า จิตภาวนาย่อมไม่มีแก่ปุถุชนชนิดนี้
ทีนี้ฝ่ายตรงกันข้ามก็ว่า ตํ สุตวา อริยสาวโก ยถาภูตัง ปชานาติ(นาทีที่02.55) อริยสาวกผู้มีการสดับแล้ว ย่อมรู้ข้อนี้ตามที่เป็นจริง ตสฺสมา สุตตวาโต อริยสาวก สจตฺต ภาวนา อธีติ วถามิ (นาทีที่03.06) เพราะฉะนั้น จิตภาวนาย่อมมีแก่อริยสาวก ผู้ได้สดับแล้วอย่างนี้
ใจความสำคัญมันก็คือว่า ถ้าผู้ใดรู้ลักษณะเดิมธรรมชาติเดิมของจิตในลักษณะที่ว่านี้แล้ว ผู้นั้นควรแก่การทำจิตตภาวนา รู้กับไม่รู้นี่มันต่างกันมากอย่างตรงกันข้าม เพราะฉะนั้น ขอให้ทำความเข้าใจกันให้ดี ๆ จิตประภัสสร คือจิตเดิม ก่อนแต่ที่จะเกิดกิเลส เมื่ออยู่ในท้องของมารดา หรือออกมาแล้วก็ตาม ก่อนแต่ที่มันจะเกิดกิเลสใด ๆ นั่นละ เรียกว่า จิตประภัสสร ไม่มี ไม่มีอุปกิเลส ไม่มีกิเลส แต่ มีคนเข้าใจผิดคิดไปว่า ในจิตประภัสสรนั้น มีกิเลส แต่ไม่มีอุปกิเลส มันพิลึกกึกกือ เขามีความเข้าใจของเขาว่า ถ้าไม่มีกิเลสมันก็ไม่เกิดมา ไม่มาเกิด ก็คิดว่า มาเกิดด้วยกิเลส ขอให้เข้าใจว่า จิตประภัสสร ไม่มีกิเลส ไม่มีอุปกิเลส ไม่มีอะไร ดูกันให้ดีอีกที คำว่า จิตประภัสสรนั้น มันคืออะไรกันแน่
คำว่าประภัสสร นี่แปลว่า เรืองแสง หรือเรืองรัศมี เป็นสิ่งที่มีรัศมีเรืองแสงอยู่ในตัวมัน จนกว่าจะมีกิเลส คือของสกปรกเข้ามาครอบงำ ที่จิตประภัสสรมันไม่มีกิเลส เพราะนั้น มันจึงมีธรรมชาติรู้ รู้อะไรได้ตามสมควร แก่สิ่งที่เรียกว่า จิต หรือธาตุของจิต หรือวิญญาณธาตุ วิญญาณธาตุ หรือจิตที่ไม่มีกิเลสครอบงำ มันรู้อะไรได้อย่างถูกต้องตามปรกติของจิต แต่พอมามีกิเลสครอบงำแล้วมันรู้อะไรไม่ได้ เพราะมันรู้ไปรู้เป็นกิเลสเสีย คือรู้ผิด ขอให้สนใจเรื่องนี้กันให้ดีๆ เมื่อเข้าใจเรื่องนี้ดีจึงจะควรแก่การทำจิตตภาวนา ฉะนั้น รู้ให้ชัดเจนลงไปว่า จิตประภัสสรตามธรรมชาตินั้น มันเรืองแสง มันทำหน้าของจิตได้เอง ลักษณะที่บางคนก็เรียกกันว่ากายจิต พิลึกกึกกือ อธิบายไม่ถูก มันทำอะไรได้บ้างหรือทำอะไรได้มาก เป็นธรรมชาติของจิตเองตามธรรมชาติ
อุปกิเลสคืออะไรดูกันอีกที อุปกิเลสคืออะไร ข้อนี้ มันก็มีพระบาลีชัดเจนอยู่แล้ว คือบาลี ติลกฺขทุกขขนฺธสูตร มูลปณาฐ มัชฌิมนิกาย (นาทีที่06.28-6.35) มีคำกล่าวว่า โลโภ จิตตสฺส อุปกิเลโส โลภะเป็นอุปกิเลสของจิต โทโส จิตตสฺส อุปกิเลโส โทสะ เป็นอุปกิเลสของจิต โมโห จิตตสฺส อุปกิเลโส โมหะ เป็นอุปกิเลสของจิต (นาทีที่06.37-06.57) นี่เขาไม่เข้าใจ บางคนเขาว่า กิเลสกับอุปกิเลสนั้น เป็นคนละอัน กิเลสหรืออุปกิเลสก็ตามเป็นกิเลสทั้งนั้นละ ถ้ามันอยู่เฉย ๆ ไม่ทำหน้าที่เข้ามารุกรานที่ไหน ก็เรียกว่ากิเลส ถ้ามันเกิดขึ้นเพื่อแทรกแซงที่ไหน ก็เรียกว่าอุปกิเลส แปลว่ากิเลสที่เข้าไป หรือกิเลสที่เกิดขึ้น เรียกว่าโลภะ โทสะ โมหะ นี่ หมายถึงว่า กิเลสที่ไม่ได้รุกรานอะไร ถ้าเป็นอุปกิเลส ก็รุกรานที่นั่นที่นี่ ในชื่อต่าง ๆ กัน ละเอียดอย่างยิ่ง ตามที่มันจะเกิดอย่างไร มีหลายสิบชื่อ ชื่อของอุปกิเลส คือ กิเลสที่ทำหน้าที่รุกราน อย่าได้เข้าใจว่า อุปกิเลสนั้นไม่ใช่กิเลสมันก็คือกิเลส ก็เหมือนกับว่า ของบางอย่าง เมื่อวางไว้เฉย ๆ มันก็เป็นอย่างนั้น เมื่อเอาไปใช้เป็นประโยชน์ ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เหมือนกับปืน วางไว้เฉย ๆ มันก็เป็นอย่างนั้น เอาไปใช้ มันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่มันก็คือปืนนั่นเองละ กิเลสก็เหมือนกัน ถ้ามันอยู่เฉย ๆ มันก็เป็นกิเลส พอมันเข้าไปทำหน้าที่แทรกแซงในอะไร ก็เรียกว่า อุปกิเลส ข้อนี้จะผิดจากที่เขารู้ หรือเขาพูด หรือเขาสอนกันอยู่ตามศาลาวัด ขอให้เข้าใจไว้ด้วย ขอให้สังเกตดูให้ดี ๆ จนรู้จักความจริงข้อนี้ ศึกษาเอาจากจิตของตนเองว่า ตามธรรมชาติ มันมีลักษณะอย่างนี้ เราอาจจะสังเกตดูว่า บางเวลาเราก็มีจิตผ่องใส แม้มันจะไม่ค่อยจะมี แต่บางเวลามันก็กลัดกลุ้ม ข้อที่ควรสังเกตอย่างยิ่งอีกข้อหนึ่งก็คือว่า เวลาที่จิตไม่เป็นบวก ไม่เป็นลบ คือไม่รัก ไม่โกรธ หรือไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ นั่นละ เมื่อนั้นละ มันไม่มีอุปกิเลส มันไม่มีกิเลส มันก็มี ไม่ใช่ไม่มี แต่เราไม่สังเกต เราไม่สนใจ และเราไม่รู้ว่ามันดีอย่างไร ก็ไม่สนใจ บางเวลาจิตใจมันก็ไม่มีกิเลส ไม่มีอุปกิเลส มันมีไม่ใช่ไม่มี เวลานั้นละ จะสบายที่สุด ขอให้สังเกตดูให้ดี ๆ เมื่อดีใจมันก็ไปอย่าง เมื่อเสียใจไปอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ความสงบ เป็นความวุ่นวาย เป็นความพลุ่งพล่านทั้งนั้น ขอให้สังเกตจนรู้ความจริงข้อนี้ ดีใจก็ฟุ้ง กินข้าวไม่ค่อยลง นอนไม่ค่อยหลับ เสียใจ กินข้าวไม่ค่อยลง นอนไม่ค่อยหลับ ต่อเมื่อ ไม่ ไม่ ทั้งสองอย่าง คือไม่ดีใจและไม่เสียใจ เป็นจิตปกติ จะสบายที่สุด นอนหลับสบาย กินข้าวสบาย พักผ่อนสบาย อะไรก็สบายไปหมด ถ้ามันไม่มีกิเลสรบกวน เราไม่ค่อยสนใจ เราก็ไม่รู้เรื่องนี้ เราก็เข้าใจผิดไปว่า มันเป็นอย่างนั้น แก้ไขไม่ได้ มันเป็นอย่างนี้ แก้ไขไม่ได้ เดี๋ยวนี้เรารู้กันเสียชัดเจนว่า กิเลสมันเป็นของใหม่ ของเดิมแท้นั้น มันไม่มีกิเลส จิตไม่มีกิเลส บางพวกเขาเรียกกันเป็นอุปมา น่าขบขันว่า หน้าตาดั้งเดิม ที่จิตเมื่อไม่มีกิเลสนั้น มันหน้าตาเป็นชนิดหนึ่ง เมื่อมันมีกิเลสแล้ว จะหน้าตาอีกชนิดหนึ่ง หน้าตาดั้งเดิม เมื่อไม่เกิดกิเลส พยายามทำความเข้าใจ พยายามกำหนด ทำความเข้าใจให้ได้ ธรรมชาติมันมีธรรมชาติอย่างนี้ มีลักษณะอย่างนี้ ศึกษาจากที่อื่นไม่ดี ไม่ถูก ไม่จริง ศึกษาจากความรู้สึกของเราจริง ๆ วันนี้ควรจะถือเป็นเรื่องใหญ่ จิตไม่เป็นบวก จิตไม่เป็นลบ เดี๋ยวนี้ไม่มีใครชอบที่ว่า จะจิตไม่เป็นบวก จิตไม่เป็นลบ เขาชอบให้มันเป็นบวกเสมอ อบรมกันมาแต่อ้อนแต่ออก ชอบฝ่ายบวก ฝ่าย Positive เอร็ดอร่อย สนุกสนาน ได้ ไม่มีเสีย แล้วก็หมายมั่นกันอย่างนั้นทั้งโลก ทั้งโลก ไม่มีใครต้องการที่จะให้อยู่เหนือไอ้ความรู้สึกอันนี้ หรือขจัดความรู้สึกอันนี้ออกไปเสีย ให้มันอยู่ตรงกลาง หรืออยู่เหนือ ดีกว่าอยู่ตรงกลาง ยังไม่ค่อยจะปลอดภัย ซ้าย ขวา ยังเป็นบวก เป็นลบ ถ้าอยู่ตรงกลาง เดี๋ยวแอบเป็นบวก เป็นลบ เมื่อไรก็ไม่รู้ ถ้าอยู่เหนือไปเลยนั่นละปลอดภัย
พุทธศาสนาต้องการอย่างนี้ ให้จิตอยู่เหนือเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่ง เหนือบวกเหนือลบ เหนือบุญเหนือบาป เหนือดีเหนือชั่ว เหนือสุขเหนือทุกข์ ไม่รู้กี่สิบคู่ เป็นคู่ คู่ คู่ คู่ คู่ คู่ อย่างนี้มีมากมาย อย่าไปเอากับมัน อยู่เหนือ เหนือความเป็นคู่ ที่เขาเรียกว่าดี มันก็ยุ่ง ไปตามแบบดี บ้าดี เมาดี หลงดีก็ได้ ชั่วมันก็ยุ่งไปตามแบบชั่ว แต่เหนือดี ดีกว่ามาก จนไม่รู้จะเรียกว่าอะไร ก็ดี ดีกว่านั่นละ และเค้าก็สอนให้ยึดมั่นดี ทำดี นี่ มันก็ได้ตั้งแต่ลูกเด็ก ๆ ควรจะสอนมันไปอย่างนั้นก่อน แต่พออายุมาก อยากจะมีความพักผ่อนแล้ว ก็อย่าบูชามันเลย อย่าไปบ้าดี เมาดี หลงดี อย่าไปบ้าบุญ เมาบุญ หลงบุญ แม้แต่ความสุขก็อย่าไปหลงกับมัน แม้มันจะเป็นแง่บวก ก็อย่าไปหลงกับมัน ไม่เมาสุข บ้าสุข หลงสุข แต่เรื่องบาป เรื่องชั่ว เรื่องทุกข์นั้น ไม่ต้องหรอก เราไม่ชอบอยู่แล้ว แต่เดี๋ยว ดี ดี ดี นี่ มันห้ามกันยาก ไอ้ความดี ดีของไอ้คนธรรมดานี่ ไม่จริงหรอก มันดีที่มันได้ พอมันไม่ได้ มันก็ว่าไม่ดี มันได้สนุกสนาน เอร็ดอร่อย มันก็ว่าดี พอมันไม่ได้ มันก็ว่าไม่ดี เพราะฉะนั้น ดี ดีแบบนี้ มันยังไม่จริง มันยังอยู่ อยู่ใต้ปัจจัยปรุงแต่ง เราเรียกว่า ภาษาธรรมะเรียกว่า มันอยู่ใต้ปัจจัยปรุงแต่ง ที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าดี สุขใจ สบาย ก็บ้าดี เมาดี ไป ก็เลยคิดว่าเป็นของถูกต้อง มันถูกต้องครึ่งเดียว ส่วนละชั่ว แล้วก็มาอยู่ที่ดี แต่ยังไม่ดับทุกข์สิ้นเชิง ต้องเหนือดี จึงจะดับทุกข์สิ้นเชิง จำง่าย ๆ ก็ว่า จากชั่วมาถึงดี จากดีไปถึงว่าง ว่าง คือ ไม่ชั่วและไม่ดี คำว่าว่างนี่ มีความหมายพิเศษมาก ไม่มีมิติ ไม่มีอะไรทุกอย่าง เพราะมันไม่มีการปรุงแต่ง มันไม่มีเกิด มันไม่มีดับ ขอให้เราศึกษากันไว้บ้าง คือความที่อยู่เหนืออิทธิพลของ ของเป็นคู่ ๆ ขอให้ใคร่ครวญให้มาก ดีคู่กับชั่ว นี่ก็อยู่เหนือชั่วเหนือดี สุขคู่กับทุกข์ ก็อยู่เหนือสุขเหนือทุกข์ บุญคู่กับบาป ก็อยู่เหนือบุญเหนือบาป แพ้คู่กับชนะ ก็อยู่เหนือแพ้เหนือชนะ ได้คู่กับเสีย ก็อยู่เหนือได้เหนือเสีย เอาเปรียบกับถูกเอาเปรียบ นี่เหมือนกัน ไม่ ไม่ทั้งสองอย่าง คอยคิดเอาว่า จะเป็นกี่คู่ กี่คู่ กี่คู่ ก็จะต้องอยู่เหนืออิทธิพลของความหมายนั้น ในที่สุด แม้ว่าคู่เป็นหญิงเป็นชาย ยิ่งอยู่เหนือความเป็นหญิงเป็นชาย สบายกว่า ความเป็นชายก็ยุ่งไปตามแบบชาย ความเป็นหญิงก็ยุ่งไปตามแบบหญิง เหนือความเป็นหญิง เหนือความเป็นชาย จิตจะสงบ ว่าง เสรี ไม่ถูกผูกพันหรือไม่เป็นทาสของสิ่งใด
พุทธศาสนาสอนเรื่องไม่ยึดมั่น พอไม่ยึด มันก็ไม่มี ไม่มีที่จะเป็นคู่ ถ้าชั่วก็ยึดมั่นว่าชั่ว ดีก็ยึดมั่นว่าดี พอมันเหนือชั่วเหนือดี มันก็ไม่มีความยึดมั่น เมื่อไม่ยึดมั่นก็ไม่มีของหนัก ไม่มีของหนักแก่จิตใจมันก็ไม่มีความทุกข์ นี่ เราให้รู้กันไว้ว่า ไอ้เรื่องจิตประภัสสร จิตประภัสสรนั้น มันไม่มีกิเลส มันไม่มีความโง่ ไม่มีความหลงใด ๆ มีแต่ความรู้สึกตามธรรมชาติ ตามธรรมชาติโดยแท้จริง ที่มันไปหลงรักหรือหลงเกลียดนั้น มันเป็นของใหม่ หน้าตาอันใหม่ จิตที่ประกอบด้วยอวิชชา จึงไปแยก นี่เป็นน่ารัก นี่เป็นน่าเกลียด แล้วมันก็เลยต้องเป็นปัญหา มีความยากลำบาก เพราะสิ่งที่รัก สิ่งที่เกลียด แม้จะมองกันคู่ไหนก็ตาม กลัวหรือไม่กลัว รัก โกรธ เกลียด กลัว ตื่นเต้น วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อย่างที่เคยพูดให้ฟังวันก่อน ไม่มีสิ่งเหล่านั้น มันจึงจะว่าง มันจึงจะเป็นอิสระ
รู้จักจิตประภัสสร ก่อนแต่ที่จะเกิดกิเลส หน้าตาดั้งเดิม ทีนี้ มันก็รู้ว่าโอ้ มันก็ไม่ลำบากยุ่งยากอะไรมากมายนัก เพียงแต่รักษาไว้ อย่าให้อะไรเข้ามาทำลายความประภัสสร ความเป็นประภัสสร รักษาไว้ให้ดี จะทำอะไร จะรักษามันได้ ก็ต้องปฏิบัติจิตตภาวนา อบรมจิตเสียใหม่เป็นจิตชนิดที่รักษาความเป็นประภัสสรไว้ได้ประภัสสรตามธรรมชาติเดิมเดิม นี่ ยังไม่พ้นที่ว่ากิเลสจะเข้าครอบงำได้ จะพ่ายแพ้แก่กิเลส เดี๋ยวนี้มาปฏิบัติจิตตภาวนา รู้ถึงที่สุดจนป้องกันไว้ได้ด้วยประการทั้งปวง ไม่มีทางเกิดกิเลส หรือไม่ให้กิเลสเข้ามา เพราะสิ่งที่เรียกว่า สติสัมปชัญญะ เป็นต้น ซึ่งเป็นผลของการเจริญอานาปานสติ รู้ดีว่ากิเลสเกิดขึ้น มันมีเหตุ มีปัจจัย พอหมดเหตุหมดปัจจัยมันก็ดับของมันเอง แม้เราจะไม่ดับ มันก็ดับของมันเอง จริง ๆ เหตุ ปัจจัย เกิดขึ้น นี่ เป็นของชั่วขณะทั้งนั้น แต่ว่ากิเลสมันเกิดแล้ว ก็เป็นทุกข์ ไม่ให้เกิดดีกว่า ดีกว่าให้เกิดแล้วดับ ดับกิเลสนั้น มันเหมือนกับเอาไม้สั้นไปรันขี้ มันเลอะเทอะหมด ไม่ต้องดับ คือไม่ให้มันเกิด แล้วมันก็ไม่ต้องดับ คำว่าดับทุกข์นั้น ความหมายแท้จริงคือ ไม่ให้มันเกิดนั่นเอง ไม่ให้มันเกิดทุกข์ นี่ เรียกว่า เรารู้จักธรรมชาติของจิตประภัสสร กิเลสเกิดทุกทีก็เป็นทุกข์ทุกที มันจะสูญเสียไอ้ความสงบสุขตามธรรมชาติ เพราะว่าถ้าไม่เกิดกิเลส มันเป็นความเยือกเย็น พอกิเลส เกิดมันก็สูญเสียความเยือกเย็น เรามองความข้อนี้เป็นหลัก และก็มุ่งทำจิตไม่ให้สูญเสียความเป็นประภัสสร ประภัสสรนะสมบัติเดิมมีค่ามากสูงสุด เพียงแต่ว่ามันยังไม่สามารถต้านทานการเกิดแห่งกิเลส หรือให้โอกาสแก่การเกิดกิเลส มาอบรมกันเสียใหม่ ด้วยจิตตภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เราเรียกกันว่า อานาปานสติ อานาปานสตินี่ ทำให้ดีให้สำเร็จประโยชน์แล้ว อานาปานสติก็จะอำนวยให้จิตนั้น เป็นจิตที่เกิดกิเลสไม่ได้อีกต่อไป เรารู้ว่าประภัสสรเดิมแท้ๆที่มากับจิตนั้น มันยังเปลี่ยนเป็นไม่ประภัสสร อบรมใหม่ อบรมใหม่ อบรมใหม่ให้ถูกวิธี ประภัสสรตายตัวจะสูญเสียความเป็นประภัสสรไม่ได้อีกต่อไป ก็เรียกว่าเป็นพระอรหันต์ก็แล้วกัน ปุถุชนมีจิตประภัสสรชั่วขณะ เดี๋ยวก็สูญเสียความประภัสสร เดี๋ยวก็มี เดี๋ยวก็สูญเสีย เมื่อเวลาที่สูญเสียมันมากนัก ถ้าอบรมจิตเสียใหม่ ให้ถูกต้องแล้ว ก็รักษาจิตประภัสสรไว้ได้ ไว้ได้เป็นถาวร เป็นประภัสสรถาวร มันต่างกันอยู่ว่า ก่อนนี้ไม่ถาวร เปลี่ยนเป็นกิเลสครอบงำได้ เดี๋ยวนี้ เปลี่ยนเป็นถาวรกิเลสครอบงำไม่ได้
มันมีอยู่ ๒ ประภัสสร ประภัสสรตามธรรมชาติเดิมแท้นะ มันเปลี่ยนได้ ประภัสสรที่อบรมใหม่ถึงที่สุด โดยจิตตภาวนาแล้ว เปลี่ยนไม่ได้ เปลี่ยนเป็นไม่ประภัสสรไม่ได้ ก็ประภัสสรเรื่อยไป เช่นจิตของพระอรหันต์นี่ ไม่มีกิเลสเกิดขึ้นได้อีกต่อไป ขอให้สนใจคำว่าประภัสสร หรือไม่ประภัสสรนี่ให้ดี ให้ดีที่สุด สมบัติเดิมมีมาอย่างหาค่ามิได้ ก็รักษาไว้ให้ได้ รักษาไว้ไม่ได้ ก็ต้องมีความทุกข์อย่างที่ช่วยไม่ได้
ทีนี้เราจะดูกันง่าย ๆ หยาบ ๆว่า อะไรที่ทำให้จิตปลอดภัยจากกิเลสได้บ้าง อย่างง่าย ๆ อย่างต่ำ ๆ ก็คือศีลนั่นละ อยู่ในศีลให้ดีเถิด จิตสูญเสียความประภัสสรได้ยาก เพราะมันคุ้มครองให้เราได้บ้างแต่ไม่มากนักหรอก ศีลนั้นช่วยได้บ้าง ใช้คำว่าช่วยได้บ้าง
ทีนี้พอมาถึงสมาธิ การทำสมาธินี่ ช่วยได้เต็มที่เลย ช่วยรักษาความเป็นประภัสสร เพราะว่าในสมาธินั่นคือความเป็นประภัสสร ตามลำดับกัน ปฐมฌาน ก็ประภัสสรตามปฐมฌาน ทุติยฌานก็มากกว่านั้น สูงกว่านั้น ตติยฌานก็มากกว่านั้น สูงกว่านั้น กระทั่งจตุตถฌาน นั่น หมดเรื่อง รูปฌาน เข้าไปสู่อรูปฌาน อากาสานัญจายตนะ เป็นต้น มันก็สูงขึ้นไปลำดับ ตามลำดับ เป็นประภัสสรสูงสุด ได้ที่หมดกิเลส หมดความทุกข์สิ้นเชิง แม้แต่อากาสา แม้แต่เนวะสัญญานาสัญญาญตะนะ ก็ยังไม่สิ้นเชิง ต้องพ้นไปจากนั้น ไปเป็นสัญญาเวชิตะนิโรธ ที่ไม่มีอาสวะโน่น จึงจะประภัสสรสิ้นเชิงเด็ดขาดตายตัว นี้ ความลับของสิ่งที่เรียกว่าประภัสรสร สมาธิช่วยได้เต็มที่ ปัญญาช่วยได้สูงสุดเด็ดขาดถึงกับตัดรากเหง้าเพราะมันทำให้เกิดญาณที่รู้แจ่มแจ้งถูกต้องเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ธัมมถิตตา ธัมนียามตา อิทัปปจยตา สุญญตา ตถาตา อตัมยตา......(นาทีที่24.22) ในที่สุด นั่นเรื่องของปัญญา ขอทบทวนอีกที ฟังให้ดีนะ ศีลช่วยได้บ้างให้เป็นประภัสสร สมาธิช่วยได้เต็มที่ ปัญญาช่วยได้เด็ดขาด เพราะตัดรากเหง้าของกิเลส ของความเศร้าหมองนั่นเลย นี่ เดี๋ยวนี้เราก็มีศีล สมาธิ ปัญญากันอยู่ พยามให้ดีมีศีลเป็นพื้นฐาน แล้วก็มีสมาธิอย่างที่กำลังจะทำนี้ สำเร็จแล้วก็มีปัญญา จึงมีวิปัสสนา ต้องสำเร็จในสมาธิก่อนแล้วก็จะทำปัญญา หรือวิปัสสนาได้โดยง่าย นี่เรียกว่าครบถ้วน ต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา การที่จะทำอานาปนสตินี่ เป็นพวกสมาธิก่อน แล้วก็สูงขึ้นไปจนถึงปัญญา แล้วก็มีศีลเป็นเครื่องรองรับหล่อเลี้ยงไว้ ถ้าไม่มีศีล ทำสมาธิหรือวิปัสสนาลำบากยุ่งยาก มีสิ่งยุ่งยากเข้ามาแทรกแซงเสมอ ซึ่งต้องมีศีลให้ดี ๆ มีศีลให้ดี ๆ เมื่อรู้ความจริงอย่างนี้แล้ว มันก็ง่ายที่จะทำจิตตภาวนา นี่เราพูดกันถึงเรื่องผู้ที่สมควรแก่การเจริญจิตตภาวนา ท่านทั้งหลายตั้งใจจะเจริญจิตตภาวนา มีอานาปานสติ เป็นต้น ต้องทำตนให้เป็นผู้ควร สมควรแก่การกระทำ คือรู้ความลับเรื่องจิตประภัสสร ดังที่พระพุทธเจ้าท่านได้กล่าวแล้ว เมื่อผู้ใดรู้เรื่องจิตประภัสสร ผู้นั้นจะสามารถทำจิตตภาวนา ซึ่งเป็นเรื่องของจิตว่าจิตเป็นอย่างไร เมื่อรู้กำพืด รู้ธรรมชาติ รู้สัญชาติอะไรของจิตดีแล้ว มันก็อบรมได้ดี ถ้าไม่รู้เรื่องจิตเสียเลย มันก็ทำไม่ได้ ถ้ารู้ผิด รู้ผิด ยิ่งไม่ได้ใหญ่ ไม่รู้มันก็ไม่ได้ รู้ผิดมันก็ไม่ได้เหมือนกัน มันพอๆกัน จึงขอแนะนำว่า ตั้งจิตกำหนดดูว่า จิตเดี๋ยวนี้เป็นประภัสสรหรือไม่ ที่อยู่เป็นปกตินี่ ถ้ามันไม่ประภัสสร มีอะไรเกิดขึ้น รบกวนกลุ้มรุม มันก็ดูรู้ว่ามันเป็นเพราะเหตุอะไร มันมีเหตุของมันเสมอ จากภายนอกก็คือว่า ได้เห็นรูป ได้ฟังเสียง ได้ดมกลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส อะไรก็ตาม พอโง่กับมัน พอโง่กับมัน ก็ต้องไปหลงรักอย่างหนึ่ง ไปหลงเกลียดอย่างหนึ่ง ยินดีอย่างหนึ่งยินร้ายอย่างหนึ่งเสมอไปละ นี่ ขอให้เรารู้เรื่องจิตมันจะสูญเสียความเป็นประภัสสรในลักษณะอย่างไร และรักษาไว้ได้ในลักษณะอย่างไร ที่จะทำอานาปานสตินี้ก็เพื่อจะให้เกิดเครื่องมือที่ดีที่สุด คือสติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ ที่พูดเรียงลำดับมันตามที่มันทำหน้าที่ ก็พูดอย่างนี้ สติ สำหรับที่จะเกิดก่อนทั้งหมดเลย รู้สึกตัวเมื่อมีสิ่งมากระทบ แล้วก็วิ่งไปเอาปัญญามา คือระลึกถึงปัญญา ความจริง ความถูกต้องมีอยู่อย่างไรที่ได้ศึกษาอบรมเล่าเรียนไว้ ที่เก็บไว้นั่นเอามาใช้กันเดี๋ยวนี้ เอาปัญญามา แล้วก็เอามาโดยตรงกับเรื่องที่มันเกิดขึ้น ไม่ใช่ทั้งหมดละ เอามาทำสำหรับต่อต้านอารมณ์ที่มันมาเกิดขึ้นเป็นปัญหาในขณะนั้น ก็เปลี่ยนหน้าที่ เรียกว่าสัมปชัญญะ สัมปชัญญะ รู้ครบถ้วน ทั่วถึง เฉพาะในกรณีนี้ เรียกว่าสัมปชัญญะ มันก็คือปัญญา ปัญญานั่นละ แต่เอามาใช้เฉพาะกรณีนี้ ก็เรียกว่าสัมปชัญญะ เปรียบเทียบก็คือว่า เรามียาทั้งตู้ใหญ่ ก็เรียกว่ายา ทั้งตู้ แต่พอจะกิน กินขวดเดียว กินอย่างเดียว ตามแต่โรคอะไรมันจะเกิดขึ้น ปัญญาเราสะสมไว้มาก เล่าเรียนมาด้วยการฟัง ด้วยการคิด อะไรก็ตาม สะสมไว้มาก พอเกิดเรื่อง มันจะใช้เฉพาะส่วน เฉพาะอย่าง เฉพาะที่ ตรงกับเรื่องที่มันเกิดขึ้น สติ มันไปเอามาจากคลังมาทำเป็นสัมปชัญญะ เผชิญหน้ากับสิ่งที่มารบกวน ถ้าแรงมันน้อย กำลังมันน้อย ก็เพิ่มมาด้วยสมาธิ สมาธิกำลังหนัก เพิ่มเข้าไปเพิ่มเข้าไป มันก็สามารถจะกำจัด ขจัดปัดเป่าสิ่งเลวร้ายเหล่านั้นออกไปได้ นี่ ความลับที่มันมีอยู่ มันต้องการสิ่งเหล่านี้ เราจึงต้องมาทำอานาปานสติ ถ้าไม่ต้องการสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่ต้องก็ได้ มันมีผลมากอยู่ที่ตรงนี้ เราจะเป็นผู้ที่มีสติเพียงพอ มีปัญญาเพียงพอ มีสัมปชัญญะเพียงพอ มีสมาธิเพียงพอ ๔ อย่างนี้เอาไปใช้ที่อื่น ที่ไหน อย่างไรก็ได้ ในการศึกษาเล่าเรียน ในการทำงาน ในการอะไรก็ได้ ให้จำกันไว้ด้วยว่าไอ้ 4อย่างนี้ สำคัญที่สุด สติ ระลึกได้ทันท่วงที ปัญญาความรู้ ไปเอามา แล้วมาเอาใช้เฉพาะเรื่องนั้น ๆ เรียกว่า สัมปชัญญะ นี่ ปัญญา อยู่เฉย ๆ ก็เรียกว่าปัญญา แต่พอเผชิญหน้ากับข้าศึก ก็เรียกว่าสัมปชัญญะ แล้วก็มีสมาธิ เป็นกำลังให้หนัก ให้ถึงที่สุด เพิ่มจนที่ว่ามันสู้กับกิเลส หรืออารมณ์ของกิเลสได้ นี่ รู้ธรรมชาติของจิตทั่วไป จิตประภัสสร จิตไม่ประภัสสร อย่างนี้ดี แล้วการทำจิตตภาวนา อานาปานสติจะง่าย จะสะดวก จะเข้ารูปโดยง่าย จะเป็นไปได้โดยง่าย เหมือนกับเรารอบรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เราจะจัด จะทำ แล้วก็ทำได้ดี ไม่รู้อิโหน่อิเหน่แล้วมาทำ ทำก็ทำไปคลำไปอย่างงมงาย หรือทำไปตามคำบอก ก็ไม่สำเร็จถึงที่สุดได้ เรารู้เรื่องสิ่งที่เป็นต้นเหตุเป็นตัวการแห่งปัญหาให้เพียงพอ เรียกว่า รู้เรื่องจิตให้เพียงพอ รู้ธรรมชาติของจิตให้เพียงพอ มันจะไม่ประภัสสรได้ด้วยเหตุใด มันจะรักษาประภัสสรไว้ได้ด้วยเหตุใด ถ้าคำนี้มันแปลกสำหรับท่านทั้งหลาย ก็ไปทำเสียให้มันคุ้นเคย ฟังดูมันก็เพราะดี ประภัสสร
ประภัสสร คือ ประภา กับ สะระ มาบวกกันเข้า ประภา แปลว่า รัศมี หรือ แสง สะระ นี่ แปลว่า ซ่านออกไป ประภัสสร แปลว่าซ่านรัศมี คือเรืองแสง จิต หรือ แสง เช่นเดียวกับเพชร มันเรืองแสง แต่ถ้ามันมีอะไรมาหุ้มเสีย มันเรืองไม่ได้ มันยังเป็นก้อนที่ไม่ได้เจียระไน มันมีอะไรอยู่ข้างนอก ปิดไว้มันเรืองแสงไม่ได้ ต้องเจียระไน เจียระไนออกไปให้หมด แล้วก็เพชรมันก็เรืองแสงได้ แต่แล้วถ้ามีอะไรเข้ามาปะอีก ขี้โคลนมาปะ สกปรกอะไรมาปะ มันก็ไม่เรืองแสงอีกเหมือนกัน เพชรมันไม่ต้องมีอะไรมาปิดบัง มันก็เรืองแสง จิตนี่ก็เหมือนกัน ถ้าว่ากิเลสไม่เข้ามาครอบงำปิดบัง มันก็เรืองแสง เรืองแสง แล้วมันก็สูญเสียเรืองแสง เพราะถ้ามีของมาครอบงำ ที่มาฝึกจิต ฝึก ฝึกกันจนให้ครอบงำไม่ได้ ทำอย่างไรก็ครอบงำไม่ได้ ไม่ให้มีอะไรมาครอบงำจิตได้ ความเรืองแสงก็ถาวร ต้องทำเป็นสมาธิ เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน อะไรขึ้นมา ไอ้ความเรืองแสงก็เข้มแข็งขึ้น เข้มแข็งขึ้น ต่อต้านสิ่งที่เข้ามาครอบงำได้มากขึ้น มากขึ้น สูงขึ้นไปตามลำดับ ทำอานาปานสติมันมีความหมายอย่างนี้ ในขั้นแรกก็ป็นสมาธิ พอสมควรแล้วก็เป็นมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น รักษาความเรืองแสงไว้ได้ ทีนี้ พอไปถึงขั้นปลายเป็นวิปัสสนา เป็นปัญญา แล้วรู้ต้นเหตุ ที่มาทำให้เศร้าหมอง ก็ตัดต้นเหตุนั้นเสียด้วยปัญญา ทีนี้ปัญหาที่ต้องมาควบคุมให้เรืองแสงก็หมดไป เพราะมันตัดต้นเหตุที่จะทำให้ไม่เรืองแสงเสียได้แล้ว
นี่เรียกว่าเรื่องของจิต ความลับของจิต เรามีจิตชนิดนี้มา เป็นของคู่กันมากับชีวิต เรียกว่าเป็นเดิมพันก็ได้ สมบัติเดิมติดตัวมาก็ได้ รักษาไว้ไม่ได้ มันก็ไม่มีประโยชน์ รักษาไว้ถูกต้อง ก็มีประโยชน์ที่สุด เหลือที่จะกล่าว การที่มีนิพพานที่เยือกเย็น ความเยือกเย็นแห่งจิต มันก็มีอยู่ที่จิตเป็นประภัสสร เมื่อใดจิตประภัสสรเมื่อนั้นก็เยือกเย็น พอกิเลสครอบงำ ร้อนมันก็ร้อน ศึกษาไอ้ที่มันเป็นมาแล้วจริง ๆ อย่างนั้นให้มาก ให้เข้าใจเถิด แล้วจะเข้าใจเรื่องที่จะทำต่อไปได้ง่ายขึ้น และง่ายขึ้น นึกถึงความจริงที่ได้เคยผ่านมาแล้ว ว่าจิตมันเศร้าหมองด้วยเหตุอะไร มันเคยเศร้าหมองมาแล้วเพราะเหตุอะไร โง่เมื่อไร ที่ไหน เวลาไหน มันก็เป็นเรื่องเศร้าหมอง ไม่เผลอ ไม่เผลอสติ มันก็ไม่โง่ มันก็ไม่เศร้าหมอง เอ้า..เราก็มาทำในส่วนนี้ ให้ไม่โง่ ให้ไม่เผลอ นี่เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องสำคัญ ให้ได้ความรู้ที่คมเฉียบสำหรับจะต่อต้านกับสิ่งที่จะเข้ามาทำให้เศร้าหมอง สิ่งใดเข้ามาทำให้เศร้าหมอง ก็ต่อสู้รับหน้ามันด้วยสติปัญญาที่สูงสุดที่คมเฉียบนั่นละ มันก็สู้ได้ มันไม่มาทำให้เศร้าหมองได้ เพราะฉะนั้น เขาจึงเปรียบว่าปัญญาเหมือนกับอาวุธสูงสุด ไม่มีอาวุธใดเสมอ อาวุธคือปัญญา เหมือนกับเพชร มีความคม ตัดสิ่งที่มันเข้ามา รบกวนได้ นี่ปัญญาคืออาวุธ อาวุธคือปัญญา จะมาทำอานาปานสติ นี้ ก็เพื่อสร้างอาวุธ นี้ให้มันมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น ใช้ป้องกันก็ได้ ใช้แก้ไขก็ได้ แล้วแต่จะใช้ แต่ว่าอย่าลืมว่า มันต้องมาเป็นเกลอ มาเป็นทีม คือ ๔ นะ ๔ สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ ต้องมาเป็นทีมอย่างนี้ มันจึงจะทำหน้าที่ได้ ถ้ามีแต่ปัญญา ไม่มีการเอามาใช้ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ต้องมีสติ จึงจะเอาปัญญามาใช้ แล้วก็เอามาใช้ให้ถูกเรื่อง ให้ถูกเรืื่อง ไม่ใช่เอามาทั้งหมด เอามาเฉพาะที่มันจะต่อสู้ข้าศึกได้ เมื่อเรามีอาวุธหลาย ๆ อย่าง ประจำไว้ที่บ้าน ที่เรือน ไม่ใช่เราจะใช้มันทีเดียวทั้งหมด เราจะต้องใช้อาวุธนั้น อาวุธนี้ให้เหมาะกันกับเรื่องที่เกิดขึ้น โจรผู้ร้ายมันมาในลักษณะอย่างไร ศัตรูมาในลักษณะอย่างไรจะใช้อาวุธอะไร มันก็เป็นเรื่องของสัมปชัญญะ ใช้กันให้ถูกวิธี และใช้กำลัง กำลัง กำลังให้มันหนัก หนัก หนัก หนัก ให้มันเพียงพอกับกำลังของข้าศึก แล้วข้าศึกมันก็จะสูญหายไป
ฉะนั้น ขอให้สนใจทำตนให้เป็นผู้สมควรแก่การทำจิตตภาวนา อย่าได้ทำด้วยความงมงาย ตามๆกันมา เห่อ ๆ ตาม ๆ กันมา เขาว่าดี ก็เอาด้วย โดยที่ไม่รู้ว่าทำทำไม ขอให้รู้ว่า ทำทำไม จะได้อะไรเสียก่อน จึงค่อยทำ จะดีกว่า เมื่อวานก็ได้พูดไปแล้วในข้อนี้ว่า รู้เสียก่อนว่าทำทำไม จึงค่อยทำจะดีกว่า
ทีนี้ก็มารู้ว่าควรทำตัวอย่างไรจึงจะมีความเหมาะสมที่สุด เหมาะสมที่สุดในการที่จะทำให้การปฏิบัตินั้น เป็นไปโดยสะดวก เหมือนกับว่า ชั้นเตรียม มันต้องมีชั้นเตรียม คือเตรียมประถม เตรียมมัธยม เตรียมอุดม อะไรก็ตาม มันต้องมีการเตรียมเพื่อความเหมาะ เข้าไปศึกษาตามชั้นนั้นๆ มันก็เป็นไปได้โดยง่าย เดี๋ยวนี้ก็พูดนี้เพื่อให้มีการเตรียม ที่ถูกต้องที่ถูกต้องกับเรื่องที่จะทำ ขอเน้นอีกทีหนึ่งว่า เตรียมตัวเป็นผู้รู้ธรรมชาติของจิต ว่าจิตมีประภัสสรตามธรรมชาติ มันเศร้าหมองเพราะกิเลสจรเข้ามาครอบงำ มันผ่องแผ้วได้จากกิเลสเหล่านั้น ไม่ใช่ว่ามันจะต้องเศร้าหมองไปเสียเรื่อย มันผ่องแผ้วได้จากกิเลสเหล่านั้น เวลาที่มันผ่องแผ้วก็มี เวลาที่มันเศร้าหมองก็มี เราก็ศึกษาให้รู้ว่าเศร้าหมองด้วยเหตุอะไร และผ่องแผ้วได้โดยวิธีใด ก็ป้องกันไม่ให้มันเศร้าหมอง และรักษาให้มันผ่องแผ้ว ให้เกิดความผ่องแผ้ว นี่ เป็นผู้ฉลาดในเรื่องของจิต ฉลาดในเรื่องของจิตตภาวนา ด้วยการทำความเจริญให้แก่จิต เราต้องเป็นผู้ฉลาด ฉะละ แปลว่า ผู้ฉลาด ฉลาดในการเจริญภาวนา ขอให้เข้าใจอย่างนี้ มันก็ดี ดีกว่ากันมากมายเลย ดีกว่ากันมากมายเลย ดีกว่าที่จะไม่ฉลาด คุณก็รู้อยู่แล้วว่า ความไม่รู้เรื่อง ความไม่ฉลาด มันงุ่มง่ามสักเท่าไร เดี๋ยวนี้มันจะไม่มีเลย จะไม่มีความงุ่มง่าม จะไม่มี หลับตา หรือว่างมงาย ไม่มี มันก็เลยไปถึงกับว่า เรามีความฉลาด ในการที่จะดำรงชีวิต ที่มาแสวงหานี่ ก็หาเครื่องมือที่จะไปดำรงชีวิตให้ดีที่สุด อย่าคิดว่ามาทำให้มันเกิดอำนาจศักดิ์สิทธิ์ วิเศษ กายสิทธิ์ มีฤทธิ์ มีเดช เหาะเหินเดินอากาศ บางคนมาทำวิปัสสนานี่ เพื่อจะได้มีตาทิพย์ จะได้เห็นเลข ๓ ตัว อย่างนี้ก็ยังมี มันไม่ใช่เรื่อง มันไม่ใช่เรื่อง ไม่มีความประสงค์อย่างนั้น แม้แต่จะเห็นนรก เห็นสวรรค์ก็ไม่มี เรื่องบ้า ๆ บอ ๆ มันไม่ดับทุกข์ มันต้องเห็นความจริงที่ว่า สิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไปหลงโง่เข้าว่าเป็นของเที่ยง ของสุข ของอัตตาแล้วมันก็เป็นทุกข์ ทุกคนจะต้องมีการลืมตา ไม่หลับตาเข้ามาตั้งแต่เริ่มแรกทีเดียว ตั้งแต่จะเริ่มทำอไรต่ออะไร ลืมตา จะมาทำอานาปานสติแล้ว ก็ยิ่งต้องการมากที่สุด ที่จะให้ลืมตา ลืมตา ไม่มีเรื่องงมงาย ไม่มีเรื่องฝากไว้กับผู้อื่น ไม่ต้องฝากไว้กับตามบุญตามกรรม ไม่มี ต้องถูกต้อง ต้องชัดเจน ต้องเหมือนกับวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ถูกต้อง ไม่มีเรื่องงมงาย ไม่มีเรื่องคาดคะเน ไม่มีเรื่องฝากไว้ ไม่มีเรื่องคำนวณอะไร เป็นเรื่องจริงทั้งนั้น เป็นเรื่องจริง นี้ รู้เสียด้วยเลยว่า พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ ศาสนาอื่นเค้าจะเป็นไสยศาสตร์ไป ก็ตามใจเขาเถิด แต่ว่าพุทธศาสนาต้องเป็นวิทยาศาสตร์ มีวิธีการศึกษาอย่างวิทยาศาสตร์ มีวิธีการปฏิบัติอย่างวิทยาศาสตร์ มาทำอานาปานสติ มันก็กลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ในทางจิตไปทันที ฉะนั้น งมงายไม่ได้ เลื่อนลอยไม่ได้ เป็นนักวิทยาศาสตร์ในทางจิตมาจัดการกับจิต เหมือนกับเขาจัดการทางวิทยาศาสตร์กับแร่ธาตุ สิ่งของอะไรก็ตาม หรือว่าหมอจัดการกับคนไข้ คนเจ็บ จัดการแบบนั้นละ จัดการกับจิตในลักษณะอย่างนั้น จะเป็น เรียกว่าผ่าตัดก็ได้ ศึกษาให้ทั่วถึง แล้วก็ทำให้มันถูกต้อง ให้มันเป็นจิตที่มีความถูกต้องตลอดไป จะเรียกว่าเป็นยารักษาโรคก็ได้ ก็ต้องกินให้มันถูกต้องกับเรื่อง อย่าให้มันคาดคะเน เราก็จะได้รับประโยชน์อย่างแน่นอน นี่ เรียกว่าเตรียมตัว เตรียมตัว สำหรับเป็นผู้กระทำจิตตภาวนา
จิตตภาวนา แปลว่า ทำความเจริญโดยอาศัยจิต บางทีก็เรียกว่าสมาธิภาวนาก็ได้ ทำความเจริญด้วยการอาศัยสมาธิ ทำภาวนาเฉย ๆ ก็ได้ คือวามเจริญให้แก่จิตใจ พระพุทธเจ้าท่านนิยมเรียกว่าสมาธิภาวนา ทำความเจริญด้วยสมาธิ มันก็ต้องทำให้สมาธิเกิดขึ้นมาก่อน มันก็ได้อาศัยสมาธินั้น เป็นเครื่องมือสำหรับทำความเจริญ สมาธิที่มีอยู่ตามธรรมชาตินั้นไม่พอ มันน้อยเกินไป ปัญญาที่มีอยู่ตามธรรมชาติมันก็ไม่พอ มันน้อยเกินไป แม้แต่ความมีสติ สตินี้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติก็น้อยเกินไป ไม่พอ ต้องมาฝึกกันมาให้ดีกว่านั้น ให้เร็วกว่านั้น ให้มากกว่านั้น สตินั้น มันเร็ว มีความเร็วในการขนส่งเอาปัญญามาอย่างรวดเร็ว ปัญญาก็รอบรู้ในสิ่งที่ควรจะรู้ ไม่ต้องรู้ทุกอย่าง รู้แต่ที่ควรจะรู้จะดับทุกข์ มันก็มีหลายชั้น หลายระดับ หลายแง่ หลายมุม เอามาใช้ให้ถูกเรื่องถูกเวลา ก็เป็นสติสัมปชัญญะขึ้นมา และสมาธิเป็นตัวหนุนส่งตลอดเวลา เรียกว่า สมาธิภาวนาทำความเจริญ โดยอาศัยสมาธิเป็นเครื่องมือ
ท่านทั้งหลาย จะเข้ามาสู่ขอบเขตอันนี้ ขอบเขตของความเป็นนักสมาธิภาวนาก็ได้ จิตตภาวนาก็ได้ เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งความทุกข์ คือไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้นได้อีกต่อไป อย่างนี้ก็ได้ มีความพอใจในการเป็นอย่างนี้ มีฉันทะ พอใจที่จะเป็นอย่างนี้มากพอ แล้วมันก็จะเกิดความพากเพียรขึ้น มากพอ ถ้าฉันทะมีไม่พอ ความเพียรก็มีไม่ได้ จะไม่มีหรือมีน้อยเกินไป ในชั้นแรกนี่ต้องสร้างความพอใจ คือฉันทะ ให้มากพอ ในสิ่งที่เราจะทำ เหมือนเราหาเงิน เราพอใจที่จะได้เงิน เราก็ทำสนุกไป อย่างนี่ จะทำสมาธิ จะดับทุกข์ ก็ต้องมีฉันทะสร้างความพอใจการจะดับทุกข์ให้พอ ต้องการจะมีนิพพานในชีวิตประจำวัน ให้ชีวิตประจำวัน มีแต่ความเยือกเย็น ต้องเข้าใจให้พอ มีฉันทะให้พอ พอใจที่จะเป็นอย่างนั้นถ้ากิเลสไม่เข้ามาชีวิตนี้เป็นของเย็นเป็นนิพพาน นิพพานแปลว่าเย็นไม่ได้แปลว่าตาย ถ้านิพพานแปลว่าตายจะเอาไปทำอะไร จะเอาไปใช้ประโยชน์อะไร นิพพาน แปลว่า เย็น ไม่ตาย ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรออีกหมื่นชาติแสนชาติ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ เป็นนิพพานน้อย ๆ กันไปก่อนเถิด พอเริ่มลงมือทำอานาปานสติ มันก็เริ่มได้รับความเย็นตัว อย่างนิพพานน้อยเรื่อย ๆ ไป แล้วมันก็มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น มีความหวังอย่างนี้ ไม่มีทางผิด อย่าไปหวังฤทธิ์เดช ปาฏิหาริย์ อย่าไปเห็นโลกหน้า อย่าไปเห็นปู่ย่าตายายที่ตายไปแล้ว เห็นนรก เห็นสวรรค์ อย่า อย่าเลยเสียเวลาเปล่า มันไม่ดับทุกข์ การเห็นอย่างนั้น มันไม่ดับทุกข์ ต้องมาเห็นความจริงว่า อะไรเป็นอะไร ประภัสสรเป็นอย่างไร ไม่ประภัสสรเป็นอย่างไร ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นอย่างไร กิเลสเป็นอย่างไร มาทางไหน เกิดได้อย่างไร มารู้อย่างนี้กันดีกว่า แล้วมันดับทุกข์ ขอก้าวไกลไปถึงว่า เดี๋ยวนี้ โลกนี้มันศึกษากันมากมายมหาศาล กลายเป็นไม่ดับทุกข์ ความทุกข์ในโลกก็ยังมีมากขึ้น มากขึ้น ไม่มีสันติภาพในโลก เพราะว่าการที่เรียน เรียนกันนั้น มันไม่ดับทุกข์ มหาวิทยาลัยเป็นไปทั้งโลก เรื่องบ้า ๆ บอ ๆ คือเรียนให้ฉลาด ฉลาด ฉลาด ฉลาดเหลือประมาณ ฉลาดจนไปเที่ยวโลกพระจันทร์ ได้เหมือนกับไปเที่ยวหลังบ้าน อย่างนี้ มันก็ยังไม่ดับทุกข์ เห็นไหม เดี๋ยวนี้ ความทุกข์ยังมากขึ้น ตามความเจริญในโลก เพราะกิเลสมันครอบงำโลก ความเห็นแก่ตัวมันครอบงำโลก ถ้าเอาความเห็นแก่ตัว หรือกิเลสออกไปไม่ได้ ไม่มีหวังที่จะโลกนี้จะมีสันติภาพ ให้เรียนกันมากกว่านี้ร้อยเท่า พันเท่า ปริญญายาวเป็นหาง ตั้งเส้น ตั้งโยชน์ ก็ไม่มีทางจะดับทุกข์หรอก เพราะมันไม่เรียนเรื่องดับทุกข์ มันเรียนเรื่องฉลาด ฉลาด สำหรับจะเห็นแก่ตัว ฉลาด ฉลาด เพื่อจะกอบโกย เพื่อจะเห็นแก่ตัว ไม่มีอะไรควบคุมความฉลาด หรือฉลาดเพื่อจะเอาเปรียบ ฉลาดเพื่อจะครองโลก
นี่ เราอย่าไปเสียเวลา มุ่งแต่เฉพาะจะดับทุกข์ มีความเยือกเย็นแห่งชีวิตกันที่นี่และเดี๋ยวนี้ สงบเย็นแล้วก็สะอาดบริสุทธิ์ แล้วก็เสรี อิสระเสรี ไม่มีความทุกข์ครอบงำ ไม่มีกิเลสครอบงำ นี่ละเสรี เสรีภาพในด้านจิต ในด้านวิญญาณ แต่แล้วก็ต้องยินดีพอใจ ที่จะว่าอยู่เหนือ เหนือของคู่นะ ทั้งอร่อยและไม่อร่อย ฉันจะอยู่เหนือ ไม่ยอมอยู่ใต้ ทั้งสุขและทุกข์ จะอยู่เหนือ ไม่ยอมอยู่ใต้ ทั้งดีใจและเสียใจ จะอยู่เหนือไม่ยอมอยู่ใต้ นั่นละผลของการรู้จักจิตประภัสสร จิตที่มีเสรีภาพ ไม่อยู่ภายใต้บวก ไม่อยู่ภายใต้ลบ เดี๋ยวนี้ทั้งโลกมันบูชาบวก มันบูชา Positive Positivism อะไรนี่ บูชากันนัก ทำอะไรก็มุ่งไป Positive รู้ไหมว่ายิ่งหลงไปเท่าไร มันก็ยิ่งกัดเอาเท่านั้น ยิ่งผูกพันเท่านั้น ไอ้ที่ว่าดี ดี ดี อย่าไปบ้าอย่าไปหลงกับมัน มันจะกัดเอา มันจะกัดเจ้าของ มันเป็นความสุขชนิดที่กัดเจ้าของ เพราะมันทำไปด้วยกิเลส ต้องการด้วยกิเลส มีไว้ด้วยกิเลส ใช้มันด้วยกิเลส มันก็กัดเจ้าของ เพราะมันเป็นกิเลส ขอให้สนใจที่จะได้ความสุขชนิดที่ไม่กัดเจ้าของ ถ้ารักษาจิตประภัสสรไว้ได้ มันไม่กัดเจ้าของ ขึ้นอยู่ที่จิตประภัสสรมีชีวิตแบบจิตประภัสสร ไม่มีกิเลสครอบงำย่ำยี ให้มีความสามารถที่จะมีจิตประภัสสร ถ้าฝึกอานาปานสติสำเร็จแล้วจะมีจิตประภัสสรตลอดเวลา พอมีอะไรเข้ามาครอบงำย่ำยีหายใจครั้งเดียว ตะเพิดออกไป หายใจอย่างถูกวิธีของอานาปานสติ ขับไล่กิเลสออกไปหมด มีความสุขได้ทันทีด้วยการหายใจเพียงครั้งเดียว อานาปานสติจะช่วยได้มากอย่างนี้
หวังว่าท่านทั้งหลายทุกคน จะได้เข้าใจข้อความอันนี้ที่มันเกี่ยวกับเรื่องจิตประภัสสร ไม่ประภัสสร ได้เพียงพอ แล้วกระทำตนให้เป็นผู้เหมาะสม หรือสมควร หรือเป็นไปได้ในการที่จะฝึกอานาปานสติภาวนา และจะได้เครื่องมือดังกล่าวคือสติปัญญา สัมปชัญญะ และสมาธิ เอาไปใช้เพื่อความเป็นสุขในชีวิต ฝึกไว้ หรือจะใช้หน้าที่อื่น ๆ การงานใด ๆ ก็ได้ แม้แต่เรื่องทำการทำงาน หาเลี้ยงชีวิต ถ้ามีธรรมมะ ๔ ข้อนี้แล้ว ทำได้ดี จำไว้เถิดว่า สติปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ จำกันไว้ทุกคน ไม่หลอกหรอก เพราะเคยศึกษา เคยค้นคว้า เคยนั่นกันมาเป็นสิบสิบปี มารวมอยู่ที่นี่ คือเป็นองค์ประกอบของอานาปานสตินั่นเอง เจริญอานาปานสติสำเร็จแล้วจะรวยด้วยสติ ด้วยปัญญา ด้วยสัมปชัญญะ ด้วยสมาธิที่ไม่มีความทุกข์ มีจิตประภัสสรอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าคำว่า ประภัสสร จะเป็นคำใหม่ไม่เคยได้ยิน ก็ขอให้รู้แต่ว่า จิตที่ไม่มีความทุกข์ จิตที่ความทุกข์ครอบงำไม่ได้ จิตที่ป้องกันไว้ได้โดยไม่ต้องมีความทุกข์ ด้วยอำนาจที่เรามีธรรมมะสำหรับขับไล่กิเลส ป้องกันกิเลส เมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็เกิดความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะทำอานาปานสติภาวนา
หวังว่าท่านทั้งหลายจะปรับปรุงตัวเองให้เข้ารูปเข้ารอย ในการมีความเหมาะสมที่จะเจริญอานาปานสติภาวนาแล้วประสพความสำเร็จไปตามลำดับตามลำดับ สมประสงค์จุดมุ่งหมายทุกๆประการเทอญ
ขอยุติการบรรยายในวันนี้