แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พูดกันเป็นครั้งแรกนี่ จะพูดโดยหัวข้อว่า เรื่องควรทราบก่อนลงมือปฏิบัติ หมายความว่า เราจะปฏิบัติธรรมะวิปัสสนานี้ มีเรื่องที่ควรจะทราบก่อนหน้านั้น ให้เข้าใจกันให้เป็นที่ถูกต้อง มันจะได้มีความพอใจความตั้งใจความพากเพียร คือ มันต้องรู้ว่าดีอย่างไร มีประโยชน์อย่างไรเสียก่อน มันถึงจะปฏิบัติ ไม่อย่างนั้นมันก็ไม่มีจิตใจไหนมาปฏิบัติ ถ้ารู้ว่ามีประโยชน์อย่างไร ดีอย่างไร แล้วมันก็ชวนให้พอใจที่จะปฏิบัติ นี่เรียกว่า รู้ว่าทำไปทำไมเสียก่อน แล้วจึงค่อยรู้ว่า จะทำกันอย่างไรถ้าไม่เช่นนั้นมันก็เป็นเรื่องงมงาย ทำไปโดยไม่รู้ว่าทำทำไม เป็นไสยศาสตร์ไปเลย เป็นขลัง เป็นศักดิ์สิทธิ์ ทำนองนั้น
ขอให้ตั้งใจดีที่สุด ก็จะเข้าใจแน่ชัดว่า ทำทำไม จะได้ประโยชน์อะไร ทีนี้ก็ให้รู้ว่าเรามีเดิมพันหรือทุนรอนก็ได้ ที่ธรรมชาติให้มาในเรา มันจะใช้อะไรได้หลาย ๆ อย่าง หลาย ๆ อย่าง มีประโยชน์นี่ จะได้ใช้ให้มันมีประโยชน์ถึงที่สุด ไม่เป็นหมัน
แต่เดี๋ยวนี้มันก็เป็นเรื่องที่สูงขึ้นไป เป็นเรื่องทางจิตทางวิญญาณธรรมชาติให้จิตใจมา ชนิดที่จะรู้อะไรได้ แล้วก็ทำอะไรได้ ป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาได้ เรียกว่า จงพยายามใช้เดิมพันธรรมชาติของจิต ที่มันทำอะไรได้ดี ให้เป็นประโยชน์ อย่าให้มันเป็นหมันเสียเลย เรื่องนี้ควรจะทราบว่าปฏิบัติธรรมะดับทุกข์นี่ มันเป็นเรื่องเก่าแก่ จนพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า ท่านก็เดินตามรอยพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ โน้นพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ ได้ปฏิบัติกันมาอย่างไร ดับทุกข์ได้อย่างไร ท่านก็ว่างหายไปพักหนึ่ง เดี๋ยวท่านก็ค้นพบใหม่ พบรอยนี้ใหม่ ก็เดินตามรอยนั้นอีก นี่ เป็นของเก่ามากถึงขนาดนี้ มันก็ไม่ควรจะพูดว่าเก่าหรือใหม่ คือมันเป็นอย่างเดียวอย่างนี้ ใช้ได้ตลอดไป ไม่มีเก่าและมันก็ไม่มีอะไรใหม่ที่จะแปลกออกไป มันก็ไม่มี คือมันจะเก่าจนใช้ไม่ได้มันก็ไม่มี ธรรมมะนี่เป็นอย่างนี้ ก็ควรจะรู้ไว้ เดี๋ยวนี้เราจะศึกษาอานาปานสติ คือการปฏิบัติเพื่อควบคุมการหายใจเข้าออกให้ถูกต้อง ให้เกิดประโยชน์ที่สุด แล้วก็ดับทุกข์ ป้องกันการเกิดทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง นี่ก็เก่าเหลือประมาณแล้ว มนุษย์ช่วงดึกดำบรรพ์นี่ก็รู้ ก็ค้นพบวิธีหายใจ หายใจอย่างไร จะได้เอาชีวิตที่เรียกว่าปราณปราณที่มีอยู่ตามธรรมชาตินี่สูดเข้าไปให้มาก อย่างเดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ นี้ก็จะพูดว่า จะหายใจอย่างไร ที่จะสูดเอาออกซิเจนเข้าไปให้ได้มากที่สุด ให้เป็นประโยชน์ได้มากที่สุดนะ สมัยโน้น เขาก็พูดว่า จะหายใจอย่างไรจึงจะสูดเอาสิ่งที่เรียกว่าปราณ ปราณเข้าไปได้ให้มากที่สุด นี่ทำกันมาได้นมนาน ก่อนพุทธกาลนานไกลนั่น ก็รู้จักทำกันมาเรื่อย ๆ ละประชาชนในถิ่นนั้น ในอินเดียสมัยนั้น รู้จักหายใจให้เป็นประโยชน์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ ฉะนั้น ขอให้รู้ว่าเป็นวิธีที่ สืบกันมาเก่าแก่โบราณนานไกลทีเดียว หายใจทีเดียว จนกระทั่งว่านะ ฝึกดีแล้ว ดีแล้ว จนกระทั่งหายใจทีเดียวจิตเกลี้ยง ไม่มีความหม่นหมองอะไรใด ๆ เหลืออยู่ในจิต
คุณต้องรู้กันล่วงหน้าไว้ว่า ฝึกการหายใจตามระบบแบบที่วางไว้เป็นลำดับ ๆ ๆ ๆ จนถึงที่สุด จนหายใจอยู่ด้วยจิตที่เกลี้ยงไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์รบกวน พอความทุกข์เกิดขึ้นมา กิเลสเกิดขึ้นมา หายใจที่เดียว ไล่ไปหมดเลย สามารถจะขับไล่กิเลส ขับไล่ความทุกข์ออกไปจากจิต ด้วยการหายใจครั้งเดียวนั้นละ ทีเดียวเท่านั้นละฝึกกันจนถึงอย่างนี้ คิดดูมันเป็นอย่างไร มันก็ไม่ใช่เรื่องเล็กเด็ก ๆ แต่มันก็ไม่เหลือวิสัย นี่ขอให้ทุกคนรู้ไว้ว่า เราจะฝึกวิธีการหายใจที่เรียกว่าอานาปานสตินี่เรื่อยไป เรื่อยไป จนถึงขนาดที่ว่า หายใจทีเดียวจิตเกลี้ยง หายใจทีเดียวจิตเกลี้ยง ให้สิ่งร้ายกาจที่จะมารบกวนจิตใจ นี่มันควรจะรู้กันแล้วควรจะรู้กันแล้ว แต่บางคนอาจจะไม่รู้เพราะประมาทหรือโง่เกินไปก็ได้ อยากจะพูดอย่างนี้เลย สิ่งที่เป็นอารมณ์ร้ายที่จะมารบกวนจิตใจ จะเป็นกิเลส เป็นความเศร้าหมองนั่นมันมีอยู่หลายอย่าง ที่พอจะยกมาเป็นตัวอย่างได้ คุณฟังให้ดีว่ามันมีแล้วอย่างไร เคยมีแล้วอย่างไร
ข้อที่หนึ่งเรียกว่าความรัก ความต่างเพศนั่นละ มันเกิดขึ้นแล้วมันกัดกินหัวใจอย่างไร เดือดร้อนวุ่นวายอย่างไร นี่ ความรัก
ข้อที่สอง ความโกรธ ขัดใจ เป็นไฟ เป็นฟืนเป็นไฟ
ข้อที่สาม ความเกลียด นึกดูดิสิ่งที่เราเกลียดมันเป็นอย่างไรบ้าง มันเกลียดแล้วมันเป็นอย่างไร มันติดอยู่ในใจ แม้แต่ไม่เห็นหน้ากัน มันก็ยังเกลียด ยิ่งพอเห็นหน้า มันจะมันยิ่งเกลียดใหญ่
แล้วความกลัว กลัวนั่น กลัวนี่ ผวาสะดุ้งก็มี ระแวงอยู่นิดหน่อยในใจตลอดไปก็มี ระแวง ๆ ความกลัว ความกลัวเกิดขึ้นแล้ว รบกวนความสงบของจิตใจ
ทีนี้ความตื่นเต้น มีอะไรหน่อยก็ตื่นเต้น ตื่นเต้นเพราะประหลาดแล้วคนเราก็ชอบดูของประหลาด ๆ เพื่อจะเกิดความตื่นเต้นอยู่เสมอเหมือนกัน ใจก็ตื่นเต้นจนเป็นนิสัย เช่น ไปดูฟุตบอล ไปดูแข่งขัน ไปฟังดนตรี ฟังเพลงเต้นรำ อะไรก็ตาม ซึ่งดูแล้ว ฟังแล้ว มันตื่นเต้น ขอให้มองดูว่า ความตื่นเต้นนั้น ถึงมันคือความสนุกสนานอร่อย ต่อจิตใจ แต่ว่ามันทำลายความสงบสุข เพราะมันไม่ใช่ความสงบ มันเป็นความตื่นเต้นวุ่นวาย โกลาหล ระงับใจตื่นเต้นได้นั้น มันมีจิตใจสูงมากนะ ไปดูการประกวด ไปดูอะไรที่เขาตื่นเต้นกันนัก เช่น ดูกายกรรมชั้นเอกของโลก ที่มาแสดง มันก็ตื่นเต้น มันก็ตื่นเต้น ถ้าไม่ตื่นเต้นมันเป็นอย่างไร มันก็เก่งกว่า เหนือกว่า แต่คนมันก็ไม่ชอบ เพราะคนมันชอบตื่นเต้น มันชอบอะไรมากระตุ้นให้ตื่นเต้นแล้วก็สบายไปเลย เพราะความตื่นเต้นนี่ เพราะมันไม่รู้ว่า ความตื่นเต้นนั่นมันไม่ใช่ความสงบ มันเป็นอุปสรรคแห่งความสงบ ถ้ายังรักความตื่นเต้นอยู่ ก็ไม่ต้องมาฝึกสมาธิที่มันจะควบคุมความตื่นเต้น
ทีนี้ก็ความวิตกกังวลด้วย สิ่งที่ยังไม่มาถึง เป็นอนาคตอยู่ข้างหน้า ก็วิตกกังวลอย่างนั้นละ เรื่อยไป มันเป็นอย่างไร มันรบกวนอะไร มันรบกวนประสาท มันรบกวนจิตใจ มันรบกวนความสงบสุข เมื่อวิตกกังวล
ทีนี้ก็อาลัยอาวรณ์ หมายถึง สิ่งที่ล่วงไปแล้วล่วงลับไปแล้ว ก็เอามาอาลัยอาวรณ์อยู่นั่น มันเป็นอย่างไรคิดดูสิ มันก็ได้แต่ได้นอนไม่หลับ วิตกกังวลก็นอนไม่หลับ อาลัยอาวรณ์ก็นอนไม่หลับ บังคับจิตไม่ได้มันก็เป็นอย่างนั้นละ วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์อยู่นั่นละ ยิ่งเป็นของรักของพอใจด้วยแล้ว มันก็ยิ่งวิตกมาก
ทีนี้อิจฉาริษยา ความริษยานี้ มันเป็นนิสัย มักจะมีเป็นนิสัยมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก เพราะรู้จักอิจฉาริษยาเพื่อนมาฝูงมาตั้งแต่เล็ก ๆ มันก็มีอยู่เป็นนิสัยนี่ ที่จะเผารนจิตใจมาก ที่คนถูกอิจฉาถูกริษยาไม่รู้ก็ได้แต่คนที่ริษยาเขานี่ร้อนเป็นไฟอยู่ตลอดเวลา คนถูกริษยาไม่รู้เรื่อง ก็ได้คิดดู มันเป็นมาก ๆ ขนาดนี้ ความริษยา
ความหวง ความตระหนี่ ขี้เหนียวนี่ มันก็รบกวนจิตใจ รบกวนจิตใจ กลัวว่าจะถูกขอ แล้วก็ความหึง ความหวงเป็นไปเข้มข้นก็กลายเป็นความหึง นี่มันเป็นเท่าไร มันมีฤทธิ์เดชเท่าไร มันรบกวนจิตใจเท่าไร
ทีนี้ขอให้ทุกคนเอาสิ่งเหล่านี้มาคำนวณดู เป็นอารมณ์ร้ายที่รบกวนจิต ถ้าอารมณ์ร้ายเหล่านี้ไม่มี จิตจะเป็นอย่างไร จิตจะเกลี้ยงเกลาอย่างไร จะสงบเย็นอย่างไร จะเป็นอิสระอย่างไร จะเบาสบายเหลือประมาณอย่างไร ต้องรู้ มันเป็นสิ่งที่เคยผ่านมาแล้ว เคยผ่านมาแล้ว ก็ควรจะรู้ได้เอง ขอให้ช่วยระลึก เอามาทดสอบดูว่า มันเป็นอย่างไร มันควรจะกำจัดออกไปฟเสียได้อย่างไร ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้น ความวิตกกังวล ความอาลัยอาวรณ์ ความอิจฉาริษยาความหวงความหึง นี่พอเป็นตัวอย่างสักสิบกว่าอย่าง ทั้งที่ยังมีอีกมากนะเพียงเท่านี้ ก็เป็นตัวอย่าง พอที่จะได้ศึกษาดูว่า มันเป็นอย่างไร บางกรณีมันก็ไฟไหม้ บางกรณีมันก็น้ำท่วม บางกรณีมันก็ถูกทิ่มแทง บางทีมันก็ถูกครอบงำ บางกรณีมันก็ถูกผูกมัด มันเป็นไอ้สิ่งไม่พึงปรารถนาอย่างนี้ ถ้าไม่ต้องการจะขจัดสิ่งเหล่านี้ออกไป ยังรักมันอยู่ ก็ไม่ต้องมาทำให้เสียเวลามาทำสมาธิอานาปานสติให้เสียเวลา เพราะว่าอานาปานสติ ต้องการที่จะขจัดสิ่งเหล่านี้ออกไป เสียจากชีวิตจิตใจ ไม่ให้มันมีอยู่ในชีวิตจิตใจ ถ้าต้องการอย่างนี้ก็ได้ ถ้าไม่ต้องการอย่างนี้ ยังชอบอย่างนั้นอยู่ ก็ไม่ต้องมาฝึกสมาธิให้เสียเวลาเปล่า ๆ มันถึงเรียกว่า ไอ้สิ่งที่ควรจะทราบกันเสียก่อน แต่ที่จะลงมือปฏิบัติ เดี๋ยวนี้เรามีมองไกลไปถึงว่า เราจะมีจิตใจอย่างไร ที่จะสามารถเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ในโลก ในบ้าน ในเมือง ในโลก ที่มันรุนแรงมากขึ้นทุกที ปัญหาต่าง ๆ ก็มากขึ้นทุกที สิ่งยั่วให้รักให้หลงให้มีเรื่องมีราวมันก็มากขึ้นทุกที เราจะมีจิตใจอย่างไร ที่จะอยู่ได้ในโลกที่มันแสนจะมีปัญหา สิ่งที่เป็นความเจริญนั้นนะ มันเพิ่มปัญหา ยิ่งเจริญก็ยิ่งมีปัญหา ยิ่งเจริญนั้นละ มันยิ่งต้องระวังให้ดี มันจะวินาศ เพราะความเจริญนั้นมันยั่วยวน ให้หลงรักหลงเกลียดหลงโกรธหลงกลัวไปสาระพัดอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อแรกก็คือหลงรักหลงพอใจต้องการปรารถนาไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งไปแย่งชิงกันและก็ทำอันตรายเบียดเบียนกันเป็นอันตพาลเข้าใส่กัน โลกทั้งโลกมันเต็มไปด้วความเห็นแก่ตัว อิจฉาริษยากันมากขึ้น แบ่งเป็นพวกเป็นฝ่าย เป็นฝ่ายขวาฝ่ายซ้าย ฝ่ายนายทุนฝ่ายชนกรรมาชีพ เหล่านี้มันเป็นปัญหาทั้งนั้นแล จะขจัดปัญหานี้ได้อย่างไร จะมีจิตใจอย่างไร ถ้าต้องการอย่างนี้ จึงจะมาทำการอบรมจิตใจ ให้ได้อย่างที่ควรจะเป็น
ที่นี้ก็มาถึงข้อหนึ่งที่พิเศษมาก ว่า ถ้าเราฝึกจิตใจสำเร็จอานาปานสติโดยเฉพาะนี่ได้ตามความประสงค์แล้ว วิเศษ วิเศษในข้อที่ว่า เราอยากจะมีความสุขอย่างไรทันที ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เราก็หายใจทีเดียว แล้วก็มีความสงบสุข เพราะว่าอานาปานสตินั้น แบ่งเป็นสี่หมวด หมวดละสี่ขั้นหมวดที่สอง ฝึกจนมีปีติ มีความสุข เกิดขึ้นได้ทันอกทันใจ เนื่องมาแต่หมวดที่หนึ่ง ฝึกฝนการหายใจอยู่ด้วยปีติ หายใจอยู่ด้วยความสุข จนชิน จนชำนาญ จนคล่องแคล่ว อารมณ์ไม่ดีมา หายใจทีเดียว ปีติเต็มอยู่ในความรู้สึก ความสุขเต็มอยู่ในความรู้สึก นี่เรียกว่า เราสามารถจะเรียกความสุขมาได้ทันทีที่เราต้องการ ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ ด้วยการหายใจเพียงครั้งเดียว ครั้งเดียว หมวดเวทนา เวทนานุปัสสนาอานาปานสติ หมวดที่สอง ฝึกชำนาญแล้ว ก็หายใจอยู่ในปีติ และสุข ตามที่ต้องการ และต่อไปก็ควบคุมมันได้ด้วย ไม่ให้มันปรุงแต่งจนเฟ้อ จนหลง ในเรื่องความสุขนั้น แต่เดี๋ยวนี้เราเอาเป็นว่า ในโลกนี้ ปัจจุบันนี้ เราต้องการจะมีความสงบสุขในจิตใจ เมื่อใด เราหายใจตามวิธี ทีเดียว มาเลย มาเป็นความสุข ความปีติ ความพอใจอยู่ในความรู้สึก เป็นการช่วยได้มาก ช่วยให้มีความรู้จักเท่าทันจิตใจ ควบคุมได้ตามต้องการ อยากจะให้เป็นสมาธิเมื่อไร ก็ได้เมื่อนั้น อยากจะมีความสุข รู้สึกเป็นสุขเมื่อไร ก็ได้เมื่อนั้น อยากจะให้พอใจ พอใจตัวเอง เต็มที่เมื่อไร ก็ได้เมื่อนั้น นี่ เป็นประโยชน์ เป็นอานิสงค์ ถ้าไม่ต้องการ ก็ไม่รู้จะทำอะไร จะทำไปทำไม เดี๋ยวนี้ เรื่องมันก็มีอย่างนี้
อีกทีนึงก็ว่า เราจะเป็นผู้ที่มีอวัยวะ ฝึกฝนอบรมไว้อย่างประณีตแนบเนียน สุขุมที่สุด มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ฝึกฝนไว้ดี สงบระงับก็ได้กำเริบก็ได้ ควบคุมได้จนกระทั่งว่า เราจะมีอวัยวะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจในชั้นประณีต ชั้นพิเศษ มีสมรรถนะสูงสุดในการเห็นภาพ ดูภาพได้ไกลกว่าเดิม ได้ดีกว่าเดิม ได้ละเอียดลึกซึ้งกว่าเดิม จะฟังเสียงได้ดีกว่าเดิม ละเอียดได้ดีกว่าเดิม ชัดเจนกว่าเดิม จะดมกลิ่น รู้กลิ่นได้ดีกว่าเดิม ชัดเจนกว่าเดิม ลิ้มรสทางลิ้นก็ได้ดีกว่าเดิม ละเอียดละออ สุขุม จะรู้สัมผัสที่มาถูกผิวหนัง ถูกร่างกายนี้ ในลักษณะที่รู้ทัน มีสติสัมปชัญญะ รู้ได้ถูกต้องว่า มันจะมาไม้ไหน ควบคุมมันได้ ทีนี้ก็จะควบคุมจิตใจได้ดีกว่าเดิม ก่อนนี้มันจะโกรธ มันก็โกรธ มันจะรัก มันก็รัก มันจะโง่ มันก็โง่ ไม่สามารถที่จะควบคุมให้อยู่ในความเป็นปกติ นี่เรียกว่าเราจะมีอวัยวะที่มีสมรรถนะดีกว่าเดิม ตรงต่อความประสงค์ดีกว่าเดิมเป็นอันมาก ทีนี้จะมีความสามารถที่จะทำจิตให้สงบเย็น ในความหมายของนิพพาน
นิพพานไม่ได้แปลว่าตาย นิพพานไม่ได้แปลว่าตาย อย่าโง่เหมือนที่ได้ยินได้ฟังกันมาโง่ ๆ ว่า นิพพาน แปลว่า ตาย ในบาลี นิพพานไม่ได้แปลว่าตาย แปลว่าชีวิตที่เย็น เย็น ปุถุชนมีชีวิตที่มันร้อน เพราะมันพอได้รับอารมณ์สุขหรือทุกข์แล้ว มันเกิดตัวกู ของกู เกิดกิเลสตัณหา มันก็ร้อนไปหมด
นิพพานอย่างที่หนึ่ง แม้ว่าจะเกิดความรู้สึกสุขเวทนาทุกขเวทนา มันก็ยังไม่เกิดตัวกู มันหยุด มันควบคุมไว้ได้
นิพพานที่สูงไปกว่านั้นอีกชั้นที่สองมันไม่เกิดความหมายเป็นสุขหรือเป็นทุกข์เลยเวทนาสักแต่ว่าเวทนาไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์ นี่
นิพพานชั้นสูงสุดนี่ เขาเรียกว่า สอุปาเสสนิพพาน รู้เป็นสุขเป็นทุกข์ อนุปานิเสสนิพพานคือ ไม่มีความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ ทั้งสองอย่างนี้ไม่เกิดตัวตน อย่าเข้าใจว่านิพพานนั้นแปลว่าตาย หรืออีกนานกว่าจะได้นิพพาน ถ้าเราปฏิบัติธรรมะกันสำเร็จ เราจะมีนิพพานกันที่นี่ และเดี๋ยวนี้หรือไม่เกิดตัวกู ไม่เกิดของกู ไม่เกิดกิเลส ไม่เกิดไฟ มันก็เย็น นิพพานแปลว่าเย็น เย็นอก เย็นใจ เย็นธรรมดา เย็นทางวัตถุนี่ก็เรียกว่านิพพานเหมือนกันละ สำหรับภาษาบาลี ถ่านไฟเย็น อาหารเย็น น้ำร้อนเย็น หลอมโลหะเย็น อย่างนี้เรียกว่านิพพานทั้งนั้น แปลว่า เย็น มันจึงรู้ความหมายของนิพพาน ว่าเย็น และก็มีความรู้สึกเย็นอกเย็นใจ หรือจะมีความรู้สึกชนิดนี้อยู่ตลอดเวลา เรียกว่า อยู่กับสิ่งสูงสุด จะเรียกว่าพระเจ้าก็ได้ จะเรียกว่านิพพานก็ได้ บางคนมีไสยศาสตร์ก็เรียกว่าพระเจ้า ในลักษณะที่คุ้มครองป้องกัน เยือกเย็น เป็นสุขก็ได้ แต่ทางพุทธเรานี้ ไม่มีพระเจ้า มีนิพพานดีกว่า มีจิตที่เย็นก็ไม่มีไฟ คือกิเลส แล้วก็เย็นสามารถ จะอยู่กับความเย็นนี้เป็นปกติ เข้าถึงความเป็นอันเดียวกันเลยนี้ เป็นประโยชน์ เป็นคุณค่าของการที่จะฝึกอานาปานสติ ขอให้เข้าใจ มันเป็นเรื่องของการป้องกัน ถ้าเราอยู่อย่างวิธีของอานาปานสติ มันป้องกันไม่ให้เกิดกิเลสไม่เกิดกิเลสมันก็ไม่เกิดร้อนคือไฟ คือไม่เกิดทุกข์ แม้ว่ามันเกิดมาแล้ว ก็แก้ไขได้ แก้ไขความทุกข์นั้นได้ คือขจัดออกไปได้ด้วยสติที่ฝึกไว้ดี วิเศษกว่านั้นอีกก็คือว่าทำให้ไม่มีกิเลส มันทำให้ไม่อยากอะไร ไม่หิวอะไร ไม่ต้องการอะไร จนเดือดร้อนมันไม่หิวอะไร มันจะอิ่มอยู่ตลอดเวลา เพราะมันไม่ต้องการ เพราะมันเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวง โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันก็เลยไม่ต้องการอะไร นี้คุณคิดดูมันไม่ต้องการอะไร มันก็เลยอิ่มอยู่ตลอดเวลา เป็นภาษาที่พูดแล้วจะไม่มีใครเชื่อ ก็จะไม่หิวอะไรทั้งทางวัตถุทั้งทางจิตใจอยู่ตลอดเวลา ถ้าประสบความสำเร็จในการปฎิบัติธรรมะข้อนี้ มันไม่หิวก็คืออิ่ม มันไม่หิวก็คืออิ่ม คิดดูให้ดี ถ้ามันหิวมันคือไม่อิ่ม เดี๋ยวนี้สติปัญญามันมากพอจนถึงไม่ปรารถนา ไอ้สิ่งที่เป็นเหยื่อของกิเลสทั้งหลายทั้งปวง จะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กามารมณ์ อะไรก็ตาม มันไม่ต้องการ มันไม่ต้องการ มันเห็นเป็นของหลอก มันอยากจะอยู่สงบ ๆ มันอยากจะไม่ให้มีอะไรรบกวน เขาเรียกว่า ว่าง ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่ดี ไม่ชั่ว ไม่บุญ ไม่บาป ไม่ได้ ไม่เสีย ไม่แพ้ ไม่ชนะ ไม่เสียเปรียบไม่เอาเปรียบ ไม่ทุก ๆ คู่นั้นละ เรียกว่า มันอยู่ตรงกลาง หรืออยู่ข้างบน เหนือดี เหนือชั่ว เดี๋ยวนี้ มันยังบ้าดี บ้าสุข บ้าได้ บ้ารวย บ้าสวย บ้าเอาเปรียบ อย่างนี้มันเรียกว่าไม่มีธรรมะ แล้วมันจะหิวเรื่อย ๆไปคนชนิดนี้ เราจะมีชีวิตชนิดที่ไม่หิวและชนิดที่ไม่บ้าซ้ายหรือว่าบ้าขวา ดีชั่ว บุญบาป สุขทุกข์ ได้เสีย แพ้ชนะ นี้ เป็นซ้ายเป็นขวา เราไม่ต้องการ เราต้องการจะอยู่เหนือ ถ้าพูดให้ฟังกันง่าย ๆ หน่อย ก็ไม่ดีใจ และไม่เสียใจ เพราะว่าคำพูดนี้ ทุกคนรู้จักดี ว่าดีใจเป็นอย่างไร เสียใจเป็นอย่างไร ดีใจก็มันก็ปั่นป่วนอยู่ในจิตใจ เพราะความดีใจ ดีใจมากนักก็กินข้าวไม่ลง ดีใจเพราะถูกล็อตเตอรี่รางวัลใหญ่ก็แทบจะไม่ต้องกินอาหาร แต่เสียใจมันก็ไม่ไหวเหมือนกัน มันก็ปั่นป่วนไปอีกแบบหนึ่ง อันที่ดีที่สุด ที่ดีที่สุดก็คือไม่ดีใจไม่เสียใจ มันดีที่ไม่คู่กับชั่ว ไอ้ดีที่คู่กับชั่วนั่นไม่ไหว มันดีที่อยู่เหนือดี เหนือชั่ว ให้สังเกตดูว่า เราเคยดีใจเสียใจมามากแล้ว เสียใจก็กินข้าวไม่ค่อยลง ดีใจก็กินข้าวไม่ค่อยลง เสียใจก็นอนหลับยาก ดีใจก็นอนหลับยาก ถ้าไม่ทั้งสองอย่างนอนหลับสบายกินข้าวอร่อย นี่เรียกว่าความที่มันไม่ตกไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นี่ขอให้สังเกตดูให้ดีว่า เรามันเคยหลงแต่เรื่องดีใจ เรื่องได้เรื่องเสีย เรื่องหัวเราะ ไม่ชอบร้องไห้ ชอบหัวเราะ ไม่ชอบเสียใจ ชอบดีใจ ชอบอร่อยเอร็ด สนุกสนาน หารู้ไม่ว่า นั่นก็คือความไม่พัก ไม่พักผ่อน สนุกสนาน ไปดูหนังดูละคร ไปดูอะไรเหล่านี้มันไม่พักผ่อน ความพักผ่อนมันมีจิตที่อยู่เหนือนั้น นี่เรียกว่า เรารู้จักสิ่งทั้งปวงในโลกในจักรวาลนี้ ว่าไม่หลงกับมัน ไม่เป็นบวก ไม่เป็นลบ ไม่เป็น ไม่เป็นซ้ายไม่เป็นขวา ไม่เป็นอะไร แต่อยู่ด้วยความสงบสุขเป็นอิสระ เหนือ เหนือ ใช้คำว่าเหนือดีกว่า ถ้าอยู่ในระหว่างนะมันยังไม่แน่ระหว่างดีระหว่างชั่วนั้น มันยังไม่แน่ ไปหาดีหาชั่ว ถ้าไม่ทันรู้ก็ได้อยู่เหนือไปเสียเลย พ้นไปเสียเลย ไม่ต้องเอียงไปดีหรือชั่ว ทางไหน ทางใดทางหนึ่ง เรียกว่ามันเป็นการสูงสุดคือ ในฝ่ายจิตแล้วก็ไม่มีใครสอนให้สูงสุดไปกว่านี้ได้ การพัฒนาในด้านจิต ด้านวิญญาณ เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้มัวพัฒนากันแต่ด้านวัตถุ ไม่ได้ไปอบรมจิตใจให้อยู่เหนือปัญหาเลย ให้ไปบ้าดี ให้หลงดี มากขึ้นไปอีก อย่างนี้ไม่ไหว คือมันไม่ดับทุกข์หรอก มันบ้าดีหรือบ้าชั่วก็ไม่ไหวทั้งสองอย่าง ไอ้บ้าดีก็ไม่ไหวเหมือนกัน แล้วมันจะกลายเป็นคนอวดดี เมาดี หลงดี มันก็ไม่ไหวเหมือนกัน เราจะมีไอ้ความปกติ ๆ ทำงานด้วยจิตปรกติ ไม่ทำงานด้วยจิตที่ฟุ้งซ่าน บ้าดี หลงดี เหล่านั้นเป็นต้น ผู้ที่พอใจพัฒนา สนใจเป็นนักพัฒนา ก็ขอให้รู้เถิดว่า การพัฒนาทางวัตถุนั้น ไม่พอ ต้องพัฒนาทางจิตใจด้วย ถ้าจิตใจพัฒนาแล้วทางวัตถุหรือทางกายมันจะพัฒนาตามเพราะว่าวัตถุหรือร่างกายนี่เป็นไปตามอำนาจของจิตใจจิตใจมันสั่งได้บังคับได้จัดการได้ นั้นพัฒนาจิตใจให้สูงเข้าไว้เทอญแล้วมันก็จะพัฒนาวัตถุหรือพัฒนากายได้ขอให้ผู้พัฒนานี้รู้ว่าการพัฒนาจิตนั้นสำคัญกว่าทางกายอย่างที่จะเปรียบเทียบกันไม่ได้เรื่องต่ำสุดคือวัตถุก็ให้มันเจริญตามสมควรสูงขึ้นมาเรื่องทางกายมันก็ให้เจริญตามสมควร แต่สูงสุดคือทางจิตให้มันเจริญที่สุดเท่าที่มันจะเจริญได้ แล้วมันก็จะดึงกาย ดึงวัตถุตามขึ้นมาได้ โดยไม่ต้องสงสัย ทีนี้บังคับตัวเองได้ก่อน แล้วก็บังคับทุกสิ่งได้ ถ้าเราควบคุมความรู้สึกของจิตในส่วนนี้ได้ มันก็จะควบคุมทุกอย่างได้ ควบคุมความรู้สึกสุขทุกข์ได้ก็ควบคุมได้หมดทั้งโลก โลกนี้มันไม่มีอะไร นอกจากสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกเป็นสุขและเป็นทุกข์ ถ้าเราควบคุมได้เราไม่ต้องการ เราต้องการไม่สุขไม่ทุกข์ ต้องการว่างต้องการอิสระต้องการเสรีภาพ ไม่ให้สุขและทุกข์มันมาอยู่เหนือจิตใจ แต่เราก็ไม่รู้เราก็ยังมัวเมา หลงในความสุขความทุกข์ บ้าบุญ บ้าชื่อเสียง ลาภยศอำนาจวาสนาอยู่นั่นละ จะเรียนอานาปานสติไปหาเงินทองข้าวของอำนาจวาสนานั้นมันก็ได้บ้างเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ความประสงค์ละ นี่ แล้วมันก็ไม่ได้ดีวิเศษไปกว่าที่เขามี ๆ กันอยู่แล้ว ฝึกฝน ฝึกฝนธรรมะ อานาปานสติ เพื่อมีจิตใจอยู่สูงเหนือสิ่งเหล่านั้นต่างหาก ให้รู้ความสูงของจิตใจ อยู่เหนือสิ่งที่มันยั่วยวน พูดอย่างวิทยาศาสตร์กันว่า บวกหรือลบ เป็นบวกก็ไม่ไหว เป็นลบก็ไม่ไหว ไม่บวกไม่ลบนั่นละดีที่สุด เมื่อไม่รักไม่โกรธนั่น ดีที่สุด ไม่ทั้งสองฝ่ายน่ัน ดีที่สุด คือ มันอยู่เหนือ เหนืออยู่เรื่อยไป มันเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของผู้รู้ ของพระพุทธเจ้า พูดว่าอารยธรรมนี่ มันก็ไม่สูงเท่าไร มันยังบ้าดี หลงดีได้ ถ้าพูดว่าวัฒนธรรมแท้จริงแล้ว มันก็สูงกว่านั้น แต่ตัวหนังสือมันไม่ค่อยแน่ แล้วแต่จะให้ความหมายมันอย่างไร บางคนอาจจะให้ความหมายแก่คำว่าอารยธรรมนี่ สูงกว่าวัฒนธรรม แต่ว่าไปดูเอาเองก็แล้วกันอารยธรรม civilizationนี่ มันมักจะเป็นเรื่องทางวัตถุ เจริญทางวัตถุ ไม่ค่อยมีเรื่องทางจิตใจ แต่ถ้ามันเป็นวัฒนธรรมนี่ มันไปได้ไกลขึ้นไปจากวัตถุ ไปถึงเรื่องทางจิตใจ มันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมสูงสุด ของวัฒนธรรมกระทั่งว่า ถ้ามันเป็นเรื่องศาสนานั่นละ มันเป็นเรื่องสูงสุดหมด สูงขึ้นไปกว่าวัฒนธรรม เป็นเรื่องทางจิตใจโดยสมบูรณ์ที่สุด มีจิตใจชนิดที่อยู่เหนือโลก ก็ใช้คำว่าอยู่เหนือโลก ข้อนี้อย่าเข้าใจผิดจนกลัว เหนือโลก ไม่ได้แปลว่าต้องตาย ไม่ใช่อยู่ในโลกนี้ แต่ว่า มันไม่มีอิทธิพลใด ๆ ในโลกนี้มาครอบงำได้ ไม่มีอะไรมาทำให้หวั่นไหวได้ ไม่มีอะไรมาทำให้หัวเราะหรือร้องไห้ได้ ไม่มีอะไรมาทำให้กลัวได้ ไม่มีสิ่งใดในโลกมาทำให้หวั่นไหวได้ นี่เรียกว่าอยู่เหนือโลก ร่างกายก็อยู่ในโลก กินอยู่ในโลก นอนในโลกแต่ไม่มีอะไร ๆ ในโลกมาทำให้หวั่นไหวได้ อย่างนี้ก็เรียกว่าอยู่เหนือโลก เป็นโลกุตตระ ถ้ายังหัวเราะง่าย ร้องไห้ง่าย หวั่นไหวง่าย ไปตามอย่างนี้ เขาเรียกว่า อยู่ใต้โลก เรื่องทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเข้ามาปรับเปลี่ยน ทำให้ยินดี ทำให้ยินร้าย ทำให้เป็นบวก ทำให้เป็นลบ นี่คือคนธรรมดาที่มันกระโดดโลดเต้น ไม่มีการหยุดพักผ่อน ถ้าจิตมันถูกปรุงแต่งอย่างนั้นไม่ได้ นั่นละ มันถึงจะเป็นการพักผ่อน ไม่มีอะไรมาทำให้หัวเราะไม่มีอะไรมาทำให้ร้องไห้ ทำไม่ได้ มันปรกติอยู่เสมอ นี้ ขอให้เราสนใจว่าความสุขที่สุด มันอยู่ที่นั่น คือเป็นอิสระทุกอย่าง ทุกกระเบียดนิ้ว ถ้าไม่ต้องการ ก็ไม่ต้องการ แล้วจะมาฝึกธรรมะชนิดนี้ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรเหมือนกัน เพราะตัวเราไม่ต้องการ ถ้าเรายังต้องการจะเป็นคนหัวเราะร้องไห้อยู่ในโลก ก็ไม่ต้องมาฝึกไอ้เรื่องอย่างนี้
เป็นอันว่าการมาฝึกอานาปานสตินี้ มันเป็นการพัฒนาสูงสุดในด้านจิตด้านวิญญาณ แล้วจะนำให้กายและวัตถุนั้น สูงไปตาม ถ้าต้องการก็เอา ให้สนใจ
ทีนี้มันก็จะต้องดูว่าความรู้ของพระพุทธเจ้านั่น ท่านพยายามกว่าจะตรัสรู้ แทบจะเอาชีวิตเข้าแลก พยายามอย่างยิ่ง อย่างเคร่งเครียด ถึงกับเอาชีวิตเข้าแลกได้ความรู้ข้อนี้มา นี่พวกเรานี่มันโชคดี มันพวกชุบมือเปิบ ไม่ต้องไปทำอย่างพระพุทธเจ้า ก็ได้รับการสั่งสอนให้ ให้รู้เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านต้องลำบาก เอาชีวิตเข้าแลกเป็นเวลานาน กว่าจะได้มาเราเป็นพวกชุบมือเปิบ เขาทำไว้เสร็จก็เอา แต่แล้วระวังให้ดี มันชุบมือเปิบอย่างไม่ได้ประโยชน์อะไร มันไม่รู้อะไร มันไม่ใช้เป็นประโยชน์อะไรได้ถ้ายังโง่เท่าเดิมนะ มาเรียนมาก ๆ มันก็ไม่ปฏิบัติได้นะ ขอให้รู้ไว้นะ ว่าเรียนนะ มันรู้ก็ได้ ไม่รู้ก็ได้ ถ้ารู้ก็ดี รู้ธรรมะมันก็ดี แต่มันยังว่ามีธรรมะหรือไม่ บางคนรู้ธรรมมะ รู้ธรรมะมากมาย แต่ไม่มีธรรมะในเนื้อในตัวเลย คือกายวาจาใจไม่มีธรรมะเลย แม้มันจะรู้ธรรมะ พูดคล่อง เป็นนักประพันธ์เป็นอะไรก็ตามนี้ รู้ธรรมะ แต่ไม่มีธรรมะ บางคนมีธรรมะ มีธรรมะ แต่ไม่ได้ใช้เลย ไม่ได้ใช้เลย มีเงินมีทอง มีข้าวมีของ มีศาสตราอาวุธนี้ ไม่ได้ใช้ นี้มี มีแต่ไม่ได้ใช้ มีธรรมะแต่ไม่ได้ใช้ธรรมะ ใช้ธรรมะก็ยังว่าเป็นประโยชน์หรือไม่ ประโยชน์สำเร็จหรือไม่สำเร็จ มันใช้ธรรมะอย่างไม่สำเร็จ ไม่เป็นประโยชน์ อย่างนี้ก็มี ฉะนั้นขอให้เรามาทำกันให้ดี ๆ ว่ามันต้องใช้ให้สำเร็จประโยชน์แก่ตนเอง แก่ผู้อื่น หรือแก่ทั้งสองฝ่ายด้วยกัน
ทีนี้การที่จะมาฝึกจิตใจในระดับนี้ ก็หมายความว่า มันมีครบ ได้เล่าเรียนให้มันรู้ รู้ธรรมะ แล้วก็มีธรรมะ มีธรรมะ แล้วก็ใช้ธรรมะ ใช้ธรรมะ ก็ให้มันถูก ให้มีประโยชน์ ต้องพูดกันมากถึงขนาด นี่ คือเราได้สมัครที่จะทำอะไรเท่าไร มากน้อยเท่าไร แล้วก็จะได้อะไร ถ้าพอใจ ได้เป็นที่ต้องการ ก็ทำกันต่อไป โชคดีที่ได้ชุบมือเปิบ พระพุทธเจ้าค้นคว้ามาให้เสร็จ พระสงฆ์ก็สืบ สอนสืบต่อ ๆ กันมา จนถึงเราพวก ชุบมือเปิบ ขออย่าให้โง่เท่าเดิม อย่าให้โง่เท่าเดิม ชุบมือเปิบ อย่างที่เหมือนกันนี้ มีธรรมะก็ไม่ใช้ หรือว่ารู้ธรรมะ ก็ไม่มีธรรมะ เรียนธรรมะ มันก็ไม่รู้ จะให้รู้จริง มันต้องปฏิบัติเพียงแต่ได้ยิน ได้ฟัง ได้คิด ได้นึกนี้ ยังไม่รู้จริง มันต้องปฏิบัติ ปฏิบัติอย่างที่เรากำลังจะปฏิบัติ ที่เรียกว่า ปฏิบัติอานาปานสติ นี่คือปฏิบัติแล้วมันจะรู้จริง ฉะนั้นขอให้ทุกคนมองว่าอย่างนี้ แล้วก็ให้ดูลึกลงไปถึงว่าธรรมชาติได้ให้ทุนรอนมาอย่างดี เดิมพันมาอย่างดี คือให้ได้ความเป็นมนุษย์ ได้ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ นี่ ก็เป็นทุนรอนอย่างดี และให้สติปัญญามาอย่างพอตัว สำหรับจะเป็นมนุษย์ นี่ก็เป็นทุนรอนอย่างดี สติปัญญานั่นละ จะต้องเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ อย่าให้มันเสียเปล่า มีทุนมีรอนเสียเปล่า เอามาใช้ให้สำเร็จประโยชน์ ด้วยการศึกษา ได้รู้ได้ปฏิบัติอย่างที่เรากำลังจะปฏิบัตินี่ จะได้ใช้ทุนรอน ให้มันเป็นประโยชน์ อย่าให้มันเป็นหมันเปล่า นี่ อยากจะบอกต่อไปถึงว่า ธรรมะนี้มันก็ไม่ได้ยากลำบากจนเหลือวิสัยหรอก มันยากลำบากเมื่อทำไม่ถูก เมื่อไม่รู้ เมื่อโง่ ๆ เข้าไปเกี่ยวข้อง มันยากลำบาก ถ้าฉลาดพอสมควร มีความตั้งใจจริง มีความตั้งใจดี มันก็ไม่ยากเกินไป มันอยู่ในวิสัยที่จะปฏิบัติได้ พระพุทธเจ้าท่านต้องสอนสิ่งที่ไม่เหลือวิสัย อย่าไปคิดว่ามันเหลือวิสัย มันเป็นสิ่งที่ทำได้ เมื่อทำจริง มันไม่เหลือวิสัย และอีกอย่างหนึ่งที่น่าจะรู้กันไว้ ว่าไอ้ความทุกข์นี้นี่ มันไม่ได้มีอยู่ก่อน กิเลสก็ดี ความทุกข์ก็ดี ไม่ได้ติดอยู่ในใจ ไม่ได้มีอยูในใจ มันไม่มีมา แต่มันเพิ่งเกิดทีหลัง ใจล้วน ๆ ไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์ ก็เพราะใจมันโง่ มันก็สร้างกิเลสและความทุกข์ขึ้นมา ใจแท้ ๆ เดิมพันทุนรอนของเราแท้ ๆ เป็นใจที่ไม่มีกิเลส เป็นใจที่ไม่มีความทุกข์ เขาเรียกว่าจิตประภัสสร จิตเกลี้ยง จิตเรืองแสง จิตอย่างที่ไม่มีกิเลสนั่นละ เป็นของเดิม พอเผลอทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้รับเอาอารมณ์นี้ เข้าไปอย่างโง่ ๆ มันก็เกิดกิเลส มันก็หมดประภัสสร ก็เป็นทุกข์ จิตที่ไม่เคยมีความทุกข์มันก็กลายเป็นจิตที่มีความทุกข์ จิตเดิมแท้ ๆของเดิมแท้ ๆ ไม่มีความทุกข์ที่เป็นความทุกข์นี้เป็นของใหม่ ฉะนั้น ขอให้เราทุกคนรู้รักษาของเดิมไว้ให้ดี รักษาของเดิมไว้ให้ดี ๆ แล้วมันก็จะไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์ มาฝึกอานาปานสติให้แตกฉาน ให้คล่องแคล่วนี้ จะได้วิธีรักษาของเดิมไว้ให้ดี ๆป้องกันไม่ให้กิเลส และความทุกข์เกิดขึ้นมาในจิต หรือในขอบเขตของจิต จิตก็ยังคงประภัสสรอยู่ตามเดิม นี่ ที่เรียกว่ามันไม่เหลือวิสัย มันหมายถึงข้อนี้ หมายความว่ากิเลสและทุกข์ไม่ได้ติดมาแต่สันดานเดิม หรือเกิดมาจากท้องแม่ มันก็ติดมาแล้ว ไม่ใช่ มันเกิดมาจากจิตที่มันเกลี้ยง แต่พอมันเกิดมาแล้วสิ มันเริ่มโง่ ๆ ๆ มากขึ้น ๆ กิเลสความทุกข์มันก็เกิดมากขึ้น ไปหลงความอร่อย เอร็ดอร่อยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปโกรธขัดใจ มันก็ไม่ได้อย่างใจ มันก็เกิดกิเลส ทั้งสองฝ่ายละ ทั้งฝ่ายบวกและฝ่ายลบ ก็เกิดเรื่อยมาจนเป็นทุกข์ เหมือนอย่างที่เรามีนี่ ของเดิมไม่มีทุกข์ ความทุกข์นี้ของใหม่
ทีนี้ก็มาเรียนวิธีที่จะป้องกันไม่ให้ของเดิมกลายเป็นทุกข์หรือของใหม่ ถึงแม้ว่าความทุกข์จะเกิดขึ้นมาบ้าง ก็รู้จักสกัดออกไป สลัดออกไป นี้เป็นผลพิเศษของอานาปานสติ ให้รู้ไว้เถอะว่า จิตแท้ ๆของเราไม่ได้เป็นทุกข์ ไม่มีกิเลส มันเพิ่งเกิด ฉะนั้น มันก็ไม่ยากเกินไปหรอก ไม่เหลือวิสัยที่จะรักษาไว้ อย่าให้มันเกิดกิเลส มีสติฝึกไว้อย่างดีในอานาปานสติ แล้วก็ควบคุมผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผัสสะมันไม่โง่ ผัสสะมันไม่ยอมโง่ มันเป็นผัสสะฉลาด มันจะเกิดเวทนา เป็นสุขเป็นทุกข์ ก็มันไม่เกิดกิเลส ก็ไม่เกิดโง่ เป็นตัวตนขึ้นมา นี่ มันเข้ารูปแบบที่ว่า แม้มันจะเป็นสุขเป็นทุกข์ มันก็เช่นนั้นเองไม่ต้องเกิดกิเลสรัก ไม่ต้องเกิดกิเลสโกรธ หรือเกลียด ถ้าเวทนา มันมีได้สองอย่าง คือ สุขหรือทุกข์ ถ้ามันโง่ มันก็ยินดีพอใจ เมื่อสุข โกรธแค้น เมื่อเป็นทุกข์ มันก็ไม่ใช่ความสงบ ถ้ามีสติพอ เมื่อผัสสะ มันควบคุมผัสสะไว้ได้ เวทนาก็ไม่อาจจะหลอกลวงได้ ไม่หลอกลวงในแง่ของความสุข ให้เหลิง ไม่หลอกลวงในแง่ของความทุกข์ ให้กลัว มันไม่มี นี่ ให้รู้ว่าเราสามารถที่จะควบคุมเวทนา กระทั่งว่าควบคุมผัสสะก่อนเวทนา ผัสสะเวทนาทำอะไรเราไม่ได้ในโลกนี้ ก็เรียกว่าโลกนี้ทั้งโลกไม่เป็นอันตรายแก่เรา เราควบคุมโลกได้ ไม่ให้โลกมันย่ำยี่ครอบงำเราได้ แต่ว่าไอ้คนโง่มันไม่ต้องการหรอก ไอ้ชาติโง่มันไม่ต้องการ มันต้องการแต่เอร็ดอร่อยสนุกสนานท่าเดียวละ มันไม่ต้องการความบริสุทธิ์อิสระเสรีเกลี้ยงเกลา มันไม่ต้องการ มันต้องการแต่เอร็ดอร่อยทางเนื้อทางหนัง สรวลเสเฮฮาไปตามเรื่องนั่นละ แล้วก็ดูเอาเองว่า ในที่สุดมันจะจบลงอย่างไรขอให้ท่านทั้งหลายทุกคน เข้าใจเรื่องที่ว่า จะปฏิบัติต่อไปนี่ กันให้ถูกต้องเสียก่อนว่า มันจะได้อะไร ๆ ๆ แล้วตรงกับความต้องการของเราหรือไม่ ถ้าเรายังต้องการที่จะสนุกสนานไปในเรื่องของกิเลสแล้ว มันก็ไม่มีประโยชน์ มันฝืนความรู้สึก มันก็งมงาย ถ้าเราต้องการที่จะชนะกิเลส ชนะสิ่งที่รบกวนจิตใจ หรือชนะความหลอกลวงของอารมณ์ในโลกนี้ได้ ก็ดีก็ถูกที่มาฝึกธรรมะ มาฝึกอานาปานสติ ให้มีจิตใจอยู่เหนือ ๆ ๆ อิทธิพลของบวก ของลบ ของได้ ของเสีย ของแพ้ ของชนะ ของดี ของชั่ว คือ ไม่ซ้ายไม่ขวา เรียกว่า อยู่สูงสุด ไม่เป็นซ้าย ไม่เป็นขวา นี่ เรียกว่า สิ่งที่ควรจะทราบกันเสียก่อนแต่ที่จะลงมือปฏิบัติ ถ้าท่านพอใจในผลของการปฏิบัติ ว่ามันมีอยู่อย่างนั้น ๆ แล้ว ก็จะดีมากละ จะเกิดความพอใจ ฉันทะ วิริยะความเพียร จิตตะ เอาใจใส่ วิมังสา สอดส่อง ที่เรียกว่าอิทธิบาทนั่น ได้โดยง่าย จะได้มองเห็นผลประโยชน์ของสิ่งที่จะได้รับ จนเกิดอิทธิบาทครบถ้วนในสิ่งที่จะกระทำ การกระทำนั้นก็จะง่าย จะง่าย จะไม่เหลือวิสัย และจะง่ายจะทำได้ ก็ไปใคร่ครวญดี ๆ ว่า เราต้องการสิ่งนี้แท้จริง เราต้องการผล อย่างนี้จริง และการกระทำนี้จะช่วยให้ได้รับผลอย่างนี้จริง แล้วมันก็จะได้ จะได้ ตามที่ต้องการ จะเป็นมนุษย์ที่มีความเป็นมนุษย์ ไม่เสียทีที่เป็นมนุษย์ และได้พบพระพุทธศาสนา มนุษย์ มนุษย์ก็ใจสูง สูงอยู่ อยู่เหนือเหนือ ๆ ปัญหา เหนือความทุกข์ละ ถ้าจิตใจต่ำ ก็จมลงไปในกิเลส จมลงไปในความทุกข์ นี่มันไม่สูง ถ้าจิตใจสูง มันอยู่เหนือกิเลส เหนือปัญหา มันไม่มีความทุกข์ เขาเรียกว่ามนุษย์ธรรมดา ใจมันต่ำ ก็เป็นเพียงคน คนธรรมดา ถ้าเป็นมนุษย์ มันก็สูงกว่าคน เพราะว่าจิตใจมันสูง ถ้าเรามีจิตใจสูง กิเลสและความทุกข์ก็ท่วมทับครอบงำไม่ได้ เราก็ไม่มีกิเลส และไม่มีความทุกข์ ฉะนั้น ทั้งหมดนี่ก็ทำเพื่อให้เราได้เป็นมนุษย์ ให้สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และได้พบกับพระพุทธศาสนา คือวิธีที่จะทำให้เป็นมนุษย์นั่นเอง ทำให้มีจิตใจอยู่เหนือปัญหา อยู่เหนือความทุกข์ทั้งปวงนั่นละ คือพระพุทธศาสนา จะเป็นพระพุทธศาสนา ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ สักมากมายเท่าไรก็ตาม มันอยู่ตรงนี้ เพื่อจะยกจิตใจขึ้นมาเสียจากความทุกข์กิเลส และความทุกข์ ก็เป็นมนุษย์จนได้ พุทธศาสนาจึงคือวิชาของความสร้างความเป็นมนุษย์ให้ถูกต้องสมบูรณ์ ถ้าต้องการอย่างนี้ ก็เอา จะได้สนใจกันต่อไปปฏิบัติกันต่อไป
นี้ สรุปความว่าเรื่อง ที่ควรทราบเสียก่อนแต่ที่จะลงมือปฏิบัติขอให้เอาไปใคร่ครวญให้ดี ให้เข้าใจแจ่มแจ้ง จนพอใจ มีฉันทะอย่างยิ่งในการที่จะปฏิบัติธรรมะนี้ แล้วมันจะเกิดความง่าย ความสะดวกดายในการปฏิบัติเป็นแน่นอน พูดกันถึงเรื่องที่ควรจะทราบก่อนการลงมือปฏิบัติ พอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติการบรรยายในการพูดกันครั้งแรกนี้ไว้เพียงเท่านี้