แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ อาตมาภาพจะได้วิสัชนาธรรมเพื่อประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป ตามทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะสมควรลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนานี้ปรารภวิสาขบูชา ดังที่ท่านทั้งหลายก็ทราบอยู่เป็นอย่างดีแล้ว เป็นการบรรยายให้ทราบถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วจะได้ทำไว้ในใจ แล้วก็จะได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาให้มีความหมาย ขอให้ท่านทั้งหลายจงตั้งใจฟังให้สำเร็จประโยชน์เต็มตามความประสงค์ดังที่กล่าวนี้ ในวันนี้จะไม่ได้กล่าวอะไรมาก นอกจากว่าเราจะมาทบทวนซึ่งธรรมะทั้งหลาย มีอยู่ระหว่างพระพุทธเจ้ากับพวกเรา โดยจะให้หัวข้อการเทศนาในวันนี้ว่า จงมารู้จักพระพุทธเจ้าให้มากกว่าปีเก่ากันเถิด จงมารู้จักพระพุทธเจ้าให้มากกว่าปีเก่ากันเถิด เป็นความประสงค์ที่ชัดเจนดีแล้ว คือขอชักชวนทั้งหลายทำความเข้าใจ และตั้งใจเป็นพิเศษเพื่อจะรู้จักพระพุทธเจ้าให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปทุกๆ ปี
เราก็ได้บรรยายพระคุณของพระพุทธเจ้าโดยลักษณะต่างๆ โดยปริยายต่างๆ มามากมายแล้ว เฉพาะในวันนี้จะบรรยายไปในลักษณะที่เป็นการเปรียบเทียบ เปรียบเทียบกับที่เรามี กับที่พระพุทธเจ้าท่านมี แล้วจะได้รู้ได้ง่าย เข้าใจได้ง่ายว่ายังต่างกันอย่างไร ยังห่างไกลกันอย่างไร หรือว่าเหมือนกันอย่างไร หรือว่าใครทำได้เหมือนกันอย่างไร ขอให้ตั้งใจฟังเป็นพิเศษ จะได้รู้จักพระพุทธองค์ให้มากไปกว่าปีก่อน
เราจะเห็นได้ว่า การที่เราเอาตัวเองไปเทียบเคียงกับพระพุทธเจ้านั้น มันเท่ากับเอาขี้ฝุ่นสักอณูหนึ่ง ขี้ฝุ่นเม็ดหนึ่ง ไปเทียบกับภูเขาอันยิ่งใหญ่ ภูเขาหิมาลัยทำนองนั้น มันจะต่างกันสักเท่าไรก็ลองคิดดู ขี้ฝุ่นเม็ดหนึ่งไปเทียบกันกับภูเขา แต่ถ้ามันมีแง่ให้เทียบ ให้ศึกษา จะได้รู้จักชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนขี้ฝุ่นและในส่วนภูเขา การที่เราเอาตัวเราเข้าไปเทียบเคียงกับพระคุณของพระพุทธเจ้านั้น มันไม่ใช่เป็นการวัดรอย ซึ่งเป็นคำที่ใช้ไม่ได้ที่จะทำเช่นนั้นกับพระพุทธเจ้า แต่ว่าเป็นการแกะรอย แกะรอยไปทีละนิด, ทีละนิด, ทีละนิด เพื่อติดตาม ก็เพื่อจะให้รู้จักทั้งสองฝ่าย ท่านทั้งหลายทำในใจให้ถูกต้อง ไม่ใช่เป็นการวัดรอยพระพุทธเจ้า แต่เป็นการแกะรอย ตามรอย, ตามรอย, ตามรอย ข้อความนี้ก็จะกล่าวตามสะดวก ตามที่จะนึกได้ ตามที่จะมีอยู่จริง โดยยกเอาสิ่งที่มีอยู่จริง ที่เราต้องมี ตามรอยของพระองค์หรือตามคำสั่งสอนของพระองค์ นี่เป็นส่วนสำคัญ จะได้แยกบรรยายไปทีละข้อๆ เพื่อสะดวกแก่การฟัง การเข้าใจ และการจดจำ
ข้อแรกที่สุด เรามารู้จักพระพุทธเจ้าให้มากกว่าปีก่อนกันในข้อที่ว่า พระพุทธองค์นั้นคือใคร, คือใคร เดี๋ยวนี้ อยากจะกล่าวโดยทั่วไปหมดจดสิ้นเชิง เมื่อพูดถึงพระพุทธเจ้า เด็กๆ ก็คิดว่า พระพุทธรูปนั่นเป็นพระพุทธเจ้า คิดดูให้ดี ทุกคนก็เคยเป็นอย่างนั้น เคยเป็นเด็ก เคยเอาพระพุทธรูปเป็นพระพุทธเจ้า แล้วก็น่าสงสารที่ว่า มีทางที่จะเข้าใจผิด เพราะว่าพระพุทธรูปนั่นน่ะ ก็มีอยู่อย่างที่เขาทำกันขึ้นมา มีรูปร่างอย่างนั้น แล้วก็มียอดแหลมด้วย เด็กๆ จะคิดว่าอย่างไร หรือว่าถ้าเข้าไปในโบสถ์ที่ยิ่งใหญ่ โบสถ์ที่หรูหรา พระพุทธรูปก็นั่งอยู่บนบัลลังก์ที่ประดับประดาสวยงามวิจิตรพิสดาร เต็มไปด้วยทอง เต็มไปด้วยแก้ว ประดับประดาไปด้วยงาช้าง ข้างบนก็มีเศวตฉัตรอยู่เหนือพระพุทธรูป เด็กๆ จะเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร นี่ขอให้คิดดูเถอะว่า มันช่วยไม่ได้ที่เด็กๆ เขาจะต้องคิดนึกไปตามความรู้สึกของเขาว่า พระพุทธเจ้านั้นเป็นอย่างไร รูปพระพุทธรูปนี่ก็ผิดแปลกแตกต่างกันมาก บางทีก็ทำไม่น่าดู บางทีก็แกะสลักโดยคนที่ไม่ได้เป็นช่างเสียเลย เด็กๆ งงไปหมด จำได้ว่าตัวเองเมื่อไปดูกองพระพุทธรูป บางแห่งเราเห็นแต่ละองค์ๆ มันต่าง ต่าง ต่างกัน นี่ก็รู้จักพระพุทธเจ้าได้เพียงเท่านี้ว่ามันต่างกันหรือว่ามันหลายๆ อย่าง นี่อยากจะให้ระลึกนึกถึงความจริงข้อหนึ่งซึ่งเมื่อคนเขาเจริญแล้ว มีวิชาการถึงที่สุดแล้ว เขาจึงลงมติไว้เป็นหลักว่า พระพุทธเจ้าพระองค์จริงนั้นแสดงไม่ได้ด้วยรูป ฟังดูให้ดี พระพุทธเจ้าพระองค์จริงนั้นแสดงไม่ได้ด้วยรูป จะเป็นรูปปั้น รูปภาพ รูปเขียน รูปอะไรก็สุดแท้ เพราะว่ามัน มันไม่ใช่ ไม่ใช่รูปภาพ รูปปั้น รูปเขียน แต่มันมีอะไรบางอย่างลึกซึ้งไปกว่านั้น ถึงยุคนั้นเขาก็ไม่ทำรูปพระพุทธรูปกันเลย ไม่ยอมทำโดยเด็ดขาด ทิ้งให้ว่างไว้ เป็นที่ว่างไว้ตรงนั้นว่าพระพุทธเจ้า ดังลูกหินสลักที่อยู่รอบๆ ตึกข้างล่างนั้น ตรงไหนมีพระพุทธเจ้าตรงนั้นทิ้งว่างไว้ นี่แสดงให้มันถึงที่สุดอย่างนี้ กับที่ให้เด็กๆ เห็นพระพุทธรูปแบบต่างๆ ต่างๆ กัน แล้วว่านี่พระพุทธเจ้า อย่างนี้มันมีผลต่างกันอย่างไร
เอาละเป็นอันว่าพระพุทธเจ้านี้ พระพุทธองค์นี้ มีหลายชนิด มีหลายระดับ แล้วแต่ว่าเราจะไปมองกันที่ไหน แม้ในหมู่นักศึกษาปัญญาชนก็ยังแบ่งพระพุทธเจ้ากันไปตามความรู้สึก พวกหนึ่งก็ถือว่าพระพุทธเจ้าคือบุคคลคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ ได้เกิดขึ้นมาแล้วในโลกที่ประเทศอินเดีย มีการประพฤติกระทำอย่างนั้นจนกระทั่งสิ้นชีวิต ปรินิพพานไป ทิ้งไว้ซึ่งสิ่งที่เรียกว่า พระพุทธศาสนา เราเด็กๆ ก็เรียนพุทธประวัติ ศึกษาพุทธประวัติ บวชพระบวชเณรก็ศึกษาพระพุทธประวัติ ก็รู้จักพระพุทธเจ้าในฐานะเป็นบุคคลคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ มีเรื่องราวอย่างไรก็ว่าเอาเอง แต่แล้วก็มาเปรียบเทียบกันดูที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา นี่ ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม หมายความว่า ธรรมหรือพระธรรมต่างหากเป็นพระพุทธเจ้า และยังมีตรัสว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ที่เรียกว่าเห็นธรรมคือ เห็นปฏิจจสมุปบาท คือเห็นอาการแห่งการเกิดขึ้นของความทุกข์และอาการแห่งการดับลงของความทุกข์ นี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม ถ้าอย่างนี้แล้ว พระพุทธเจ้านั้นก็ไม่ใช่บุคคลในประวัติศาสตร์เสียแล้ว บุคคลคนหนึ่งในประวัติศาสตร์นั้นก็เป็นพระพุทธเจ้าไปตามแบบที่มนุษย์จะรู้จักกันในภาษาคน, ภาษาคน ฟังดูให้ดีๆ แต่ถ้าพระธรรมเป็นองค์พระพุทธเจ้า เห็นธรรม เห็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอย่างนี้เป็นการกล่าวในภาษาธรรม เรารู้จักแบ่งแยกเป็นภาษาคนและเป็นภาษาธรรมอย่างนี้ มันย่อมสะดวกแก่การศึกษา และจะศึกษาให้ลึก ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป คนบางพวกไม่สนใจที่จะศึกษาโดยภาษาทั้งสองนี้ และยังหาว่าไม่มีเป็นสองภาษาอย่างนี้เสียด้วยซ้ำไป ก็ตามใจเขา
เราเห็นได้ชัดแล้วว่าถ้าพูดกันในภาษาคน พระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร พูดกันในภาษาธรรม พระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร แล้วมันยังได้เปรียบถึงว่า ถ้าธรรมะเป็นพระพุทธเจ้า ธรรมะของเราก็เป็นพระพุทธเจ้าด้วยเหมือนกัน ธรรมะที่เรามี ที่เราประพฤติ ที่เราใช้ดับทุกข์ นี่ก็เป็นพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ถ้าพูดกันอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็มีอยู่ในเรา บางคนกล้าพูดถึงกับว่า เราก็เป็นพระพุทธเจ้าได้เหมือนกันเพราะว่าเรามีธรรม นี่ขอให้เปรียบเทียบดูว่า พระพุทธองค์ในภาษาคน ในภาษาธรรมนั้น มันต่างกันอย่างนี้ และเรารู้จักทั้งสองฝ่ายดีแล้วหรือยัง แม้แต่พระพุทธเจ้าในภาษาคน เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ เราก็ยังรู้น้อย พวกนักธรรมตรี พวกนักธรรมโท ก็รู้สักครึ่งหนึ่งก็ไม่ได้ ยิ่งพระพุทธเจ้าในภาษาธรรมด้วยแล้ว ก็ยิ่งยากไปกว่านั้น ฉะนั้นขอให้ทบทวนตัวเอง ทดสอบตัวเองว่า ได้รู้จักพระพุทธเจ้าในภาษาคนนี้เท่าไร ได้รู้จักพระพุทธเจ้าในภาษาธรรมนั้นเท่าไร ถ้ามันยังน้อยอยู่ ก็ขอให้ทำให้รู้ยิ่งๆ ขึ้นไปจนสำเร็จประโยชน์ จนเห็นธรรมะที่มีอยู่ในพระพุทธเจ้า และก็มีอยู่ในเราด้วยเหมือนกัน แม้ว่าจะไม่เท่ากัน มากน้อยกว่ากันก็สุดแท้ แต่ก็เป็นธรรมะชนิดเดียวกัน เรารู้ธรรมะน้อย เราก็มีพระพุทธเจ้าองค์น้อยๆ หรือเป็นพระพุทธเจ้าแต่น้อยๆ นี้ก็เป็นสิ่งที่ควรจะเปรียบเทียบดู นี่มารู้จักพระพุทธเจ้ากันให้มากกว่าปีก่อน ถึงกับว่าพระพุทธเจ้าที่เป็นพระพุทธรูปของเด็กๆ นั้นเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าที่เป็นบุคคลคนหนึ่งในประวัติศาสตร์นั้นเป็นอย่างไร และพระพุทธเจ้าที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองว่า ธรรมะเป็นเรานั้นน่ะเป็นอย่างไร และเราก็จะได้ทำให้มันมีมากขึ้น ดีขึ้น สูงขึ้น มันมีประโยชน์อย่างนี้
ทีนี้ข้อถัดไปก็อยากจะพูดว่า มีผู้ที่มีสติปัญญาศึกษาแล้วกล่าวไว้อย่างน่าสนใจหรือน่าฟังด้วยเหมือนกันว่า ทั้งหมดนี้ มันไม่มีอะไร นอกจากแต่ว่าเป็นจิตอันหนึ่งอันเดียวในสากลจักรวาล เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เรียกว่า จิตหรือจิตธาตุ เป็นธาตุหนึ่งเดียว ทีนี้ก็มาอาศัยร่างกาย ได้อาศัยร่างกายรับอารมณ์โดยรอบ ก็เกิดความคิดไปตามอารมณ์ที่ได้รับ เรียกว่า ความคิดปรุงแต่ง บุคคลคนหนึ่งได้รับความคิดปรุงแต่งวิถีทางหนึ่ง คือเกิดความรู้สึกลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป จนรอบรู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ควรจะรู้ ความคิดปรุงแต่งก็ได้ปรุงธาตุหนึ่งเดียวนั้นเกิดเป็นพระพุทธเจ้า หรือที่เราเรียกกันว่าพระพุทธเจ้าขึ้นมา ทีนี้ความคิดปรุงแต่งมันไม่ถึงขนาดนั้น ของคนเป็นจำนวนมากนั้น มันก็ปรุงแต่งได้เพียงแค่ว่าเป็นสามัญสัตว์ ท่านลองเทียบดูว่า พระพุทธเจ้ากับสามัญสัตว์มันต่างกันอย่างไร มีที่มาต่างกันอย่างไร ลองคิดดูว่า จิตแท้ๆ ธาตุจิตแท้ๆ จิตดวงหนึ่งแท้ๆ ในสากลจักรวาลนี้ อันหนึ่งได้รับการปรุงแต่งจนเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา นอกนั้นไม่ได้รับการปรุงแต่งก็ยังเป็นสามัญสัตว์ หรือว่าสามัญสัตว์ได้รับการปรุงแต่งให้ดีขึ้นตามลำดับ ก็เป็นสามัญสัตว์ที่ดีกว่าสามัญสัตว์ธรรมดา คือสูงกว่าบุถุชนก็เป็นพระอริยเจ้า ก็ใกล้ๆ พระพุทธเจ้าเข้าไป
ข้อนี้ เขาต้องการจะให้เข้าใจว่า ทุกคนมาจากจิต ธาตุจิต จิตเดิมแท้ ซึ่งไม่เป็นอะไรกันทั้งนั้นแหละ แต่แล้วสิ่งที่เข้าไปแวดล้อมนั้น มันต่างกัน, ต่างกัน, ต่างกัน เช่น คนหนึ่งเป็นพระพุทธเจ้า นอกนั้นเป็นสามัญสัตว์ในระดับที่ต่างกันๆ อันนี้ เราจะรู้สึกอย่างไร จะคิดนึกอย่างไร ก็มาจากต้นตอเดียวกัน หากแต่ได้รับการปรุงแต่งอย่างต่างกัน มันก็เลยเป็นต่างกัน นี่เราควรจะพยายามต่อไปอย่างไร ควรจะหาการปรุงแต่งแวดล้อมตนเองให้สูง ให้ยิ่งขึ้นไปอย่างไร โดยเฉพาะก็เพื่อจะได้เป็นสามัญสัตว์ที่สูงขึ้นไป, สูงขึ้นไป คือตามรอยพระพุทธเจ้า จะพูดว่าแกะรอยก็ดีกว่าวัดรอย นี่เราสามารถที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ถ้าได้รับการแวดล้อมอย่างเดียวกัน เดี๋ยวนี้การที่แวดล้อมหรือเครื่องปรุงแต่งนั้นมันไม่เท่ากัน เลยไม่ได้เป็นเท่ากัน แต่ก็ขอให้มองเห็นชัดลงไปว่า เชื้อแห่งความเป็นพุทธะนั้นมีในทุกคน ในทุกคนมีเชื้อหรือมีโอกาสหรือมีความสามารถที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ด้วยกัน แต่มันขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมปรุงแต่ง มันไม่เท่ากัน มันไม่เหมือนกัน มันไม่อำนวย ก็เป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ ก็เป็นสามัญสัตว์ แปลว่าพืชแห่งความเป็นพุทธะในสามัญสัตว์นี้ มันงอกงามไปไม่ได้แล้ว มันได้เพียงเท่านี้ แต่ก็ต้องรู้ว่ามันมีลักษณะอย่างเดียวกัน มาจากธาตุจิตล้วนๆ ไม่มีอะไรด้วยกัน แล้วก็มาปรุงแต่งกระทั่งเป็นพระพุทธเจ้าและเป็นสามัญสัตว์ แตกต่างกันลิบ
เราควรจะทำอย่างไร ควรจะศึกษาอย่างไร ควรจะอบรมตนอย่างไร ให้ความเป็นสามัญสัตว์ของเรานี้ จะค่อยๆ ดีขึ้น ค่อยๆ สูงขึ้น เรียกง่ายๆ ก็ว่า ไล่หลังพระพุทธเจ้าไปแหละอันนี้ จนกว่าจะได้รับประโยชน์อย่างเดียวกัน แม้ไม่ถึงกับเป็นพระพุทธเจ้า ก็เช่นเป็นพระอรหันต์ ดับกิเลสดับทุกข์สิ้นเชิงได้เท่ากัน แต่ไม่ถึงกับเป็นพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ค้นคว้าพบได้ด้วยพระองค์เอง เราก็เป็นพระพุทธเจ้าน้อยๆ เป็นพระพุทธเจ้าตามหลัง นี่เรียกว่า อนุพุทธะ อย่างนี้ก็ยังดี ขอให้ได้เป็นอนุพุทธะตามหลังพระพุทธเจ้านี่ให้มากยิ่งขึ้น, ให้มากยิ่งขึ้น ด้วยกันทุกคน มันก็ได้ผลที่ไม่ต้องเสียใจ คือมันได้ผลที่มันควรจะได้ก็แล้วกัน จะดับทุกข์ได้สิ้นเชิง มีชีวิตชนิดที่ไม่เป็นทุกข์ มีชีวิตที่อยู่เหนืออำนาจของสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมทั้งหลาย มันจะแวดล้อมให้เกิดความทุกข์ แล้วสามารถที่จะต่อสู้ ป้องกัน ต้านทานไม่ให้เกิดความทุกข์ ให้ดำรงจิตอยู่ได้โดยไม่ต้องมีความทุกข์ นี้ก็ว่าดีที่สุดแล้วสำหรับมนุษย์ ที่มนุษย์ควรจะมีจะได้
ต่างกัน ความต่างกันระหว่างพระพุทธเจ้ากับสามัญสัตว์นั้น จะเรียกว่ามีน้อยมากก็ได้ หรือไม่ต่างกันเลยก็ได้ หรือว่าต่างกันอย่างตรงกันข้ามเสียก็ได้ แล้วแต่จะมองกันในแง่ไหน แต่ขอให้คิดดูว่า ทีแรกก็เป็นจิตล้วนๆ ไม่มีอะไรด้วยกันทั้งนั้นน่ะ แล้วสิ่งแวดล้อมก็มาแวดล้อมให้เกิดความคิดปรุงแต่ง อันโน้นรู้มากขึ้น, รู้มากขึ้น, รู้มากขึ้น จนเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น มันไม่เป็นอย่างนั้น มันจะทำอย่างไร มันก็ได้เป็นสามัญสัตว์ เราก็เป็นสามัญสัตว์ที่จะต้องพัฒนาการตัวเองต่อไปตามรอยของพระพุทธเจ้า มาคิดนึกกันในวันนี้ก็ว่าเหมาะสมที่สุด เพราะว่าวันนี้เป็นวันของพระพุทธเจ้า เป็นวันสำหรับพระพุทธเจ้า เป็นที่ระลึกแก่พระพุทธเจ้า เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ซึ่งเป็นเหตุการณ์อันสำคัญอย่างยิ่งของพระพุทธเจ้า ฉะนั้นเราจะตามท่านได้อย่างไร ประสูติในที่นี้ก็หมายความว่าเกิดเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา ตรัสรู้ก็คือรู้สิ่งที่ควรรู้ นิพพานก็คือดับไปแห่งตัวกูของกู คือดับไปแห่งกิเลส เราก็ทำได้นะ ไม่ใช่พูดว่าอวดดี เราก็ทำได้ แต่เราไม่ทำ เราไม่สนใจจะทำ ธรรมชาติจะสร้างมาให้ทำได้และสำหรับจะทำ แล้วมันก็ไม่ได้ทำ มันเป็นโชคร้ายของคนเหล่านั้น เดี๋ยวนี้มาเปลี่ยนเสียให้ถูกต้องว่า มันมีโอกาส มีความสามารถที่จะทำได้ ก็จะทำ ให้มีการประสูติ คือจิตใจเกิดใหม่ อุบัติขึ้นมาใหม่ เป็นจิตใจที่รู้แจ้ง เป็นจิตใจที่ดับไปแห่งกิเลสและความทุกข์ นี่การแกะรอยตามพระพุทธเจ้า มันก็ไม่เสียหลาย พระพุทธองค์กับสามัญสัตว์ คนไม่รู้ก็คิดว่า มัน มันต่างกันชนิดที่ว่า ไม่อาจจะเปรียบเทียบกันได้ คนที่รู้ เขาก็พูดว่า มาจากจิตชนิดเดียวกันนะทีแรก แต่การปรุงแต่งมันต่างกัน สิ่งแวดล้อมมันต่างกัน อะไรมันต่างกัน อันหนึ่งก็เป็นพระพุทธเจ้าไป อันนี้ก็มาเป็นสามัญสัตว์ มันเหมือนกันมากในข้อไหน แล้วมันต่างกันมากในข้อไหน ในส่วนไหน ขอให้ใคร่ครวญดูให้ดี เราจะได้รู้จักพระพุทธเจ้ามากกว่าเดิม ได้รู้จักพระพุทธเจ้ามากกว่าปีก่อนที่แล้วมา อาตมามีความประสงค์อย่างนี้ จึงได้เอาเรื่องนี้มาพูด
เอาละทีนี้ จะพูดถึงเรื่องปลีกย่อย ธรรมะเบ็ดเตล็ดเป็นข้อ เป็นข้อไปทีละข้อ สำหรับเป็นเครื่องเปรียบเทียบเพื่อรู้จักตัวเอง และเพื่อรู้จักพระพุทธเจ้าได้ดียิ่งขึ้น
สิ่งแรกที่สุดที่จะมาพูดก็คือสิ่งที่เรียกว่า ศรัทธา ศรัทธา แปลว่า ความเชื่อ เรามีศรัทธาในพระพุทธเจ้า หมายความว่า เราไม่ได้มีศรัทธาในตัวเอง เพราะเราไม่สามารถจะมี ไม่สามารถจะเชื่อมั่นว่า ตัวเราจะช่วยตัวเราได้อย่างไร เราก็มีศรัทธาต่อสิ่งภายนอกหรือบุคคลภายนอก เช่น พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น เราก็มีศรัทธาอย่างนั้น ส่วนพระพุทธเจ้านั้น ไม่มีศรัทธาอย่างนี้ มีศรัทธาอย่างที่ว่านี่ หรือแม้ว่าทีแรกก่อนจะเป็นพระพุทธเจ้า ท่านจะเคยมี ก็ได้เหมือนกัน ท่านก็ต้องมีไปตามแบบของคนที่ยังไม่ตรัสรู้ แต่ครั้นเมื่อท่านตรัสรู้แล้ว ท่านก็เป็นคนไม่ต้องมีศรัทธา พระอรหันต์ทั้งหลายก็เหมือนกันแหละ ไม่ต้องมีศรัทธาอย่างที่เคยมีมาแต่ก่อน หมดศรัทธา เลิกศรัทธา เป็นคนไม่มีศรัทธาอย่างที่มนุษย์ธรรมดามี คือความเชื่อในสิ่งที่เชื่อว่าจะช่วยได้ จะเอาอะไรเป็นที่พึ่งก็มีความเชื่อในสิ่งนั้น ครั้นเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็เลิกศรัทธาชนิดนี้ แต่ว่าไปมีศรัทธาอีกชนิดหนึ่ง เป็นศรัทธาโดยอัตโนมัติ มันเชื่อในตัวเอง แน่ใจในสภาวะของตนเองว่า ไม่มีทุกข์ ไม่มีทุกข์ ดับทุกข์ ไม่มีทุกข์ นี่มีความเชื่อในตนเอง มันเป็นอะไรก็แล้วแต่จะเรียก จะเรียกว่า โลกุตตรศรัทธา ก็ได้ จะเรียกว่า ไม่มีศรัทธา ก็ได้
ถ้าใช้คำพูดในภาษาคนก็หมายความว่า ไอ้ศรัทธาที่เรามี มี มี กันอยู่นี่ พระพุทธเจ้าไม่มี ไม่มี พระอรหันต์ก็ไม่มี ไม่ต้องมีศรัทธาอย่างนั้น แต่ท่านไปมีศรัทธา คือเชื่อโดยไม่ต้องเจตนา รู้สึกโดยไม่ต้องเจตนาว่า ปลอดภัย ปลอดทุกข์ ไม่มีทุกข์ เป็นผู้หมดกรรม สิ้นกรรม อยู่เหนือความทุกข์โดยประการทั้งปวง อย่างนี้ท่านเชื่อโดยไม่ต้องเจตนา เป็น โลกุตตรศรัทธา มันเชื่อเพราะว่ามันอยู่เหนือความทุกข์ทั้งปวง รู้แจ้งชัดเจนโดยประจักษ์ว่า อยู่เหนือความทุกข์ทั้งปวงแล้ว เป็นผู้ปลอดภัยโดยประการทั้งปวงแล้ว ความเชื่อมันจึงต่างกัน คือจะเรียกว่าท่านมีศรัทธาเต็มเปี่ยมก็ได้ แต่มัน มันคนละอย่าง ท่านไม่มีศรัทธาอย่างที่พวกเรามี ศรัทธาด้วยความกลัว ศรัทธาด้วยความหวัง นี่มันก็เป็นศรัทธาหลุบๆ ล่อๆ หลุบๆ โผล่ๆ เป็นศรัทธาที่หวังจะพึ่งผู้อื่นหรือพึ่งสิ่งอื่น หรือบางทีมันก็คิดเห็นไปว่าพึ่งไม่ได้ มันก็หลุบ ๆ ล่อ ๆ หรือศรัทธาบางทีก็มี บางทีก็ไม่มี มันก็เป็นศรัทธาหลุบๆ ล่อๆ นี่ศรัทธา ศรัทธาตามธรรมดาอย่างนี้ มีแต่พวกเรา พระอรหันต์ไม่มีศรัทธาอย่างนี้ พระพุทธเจ้าไม่มีศรัทธาอย่างนี้ แต่ท่านไปมีศรัทธาอย่างอื่น เชื่อมั่นโดยไม่ต้องเชื่อ โดยไม่ต้องเจตนาจะเชื่อ รู้สึกแน่ใจว่าปลอดภัยโดยประการทั้งปวง ศรัทธาของเรากับศรัทธาของพระพุทธเจ้า มันต่างกันอย่างนี้ เปรียบเทียบดูให้ดี แล้วเราก็จะรู้จักพระพุทธเจ้าดีกว่าปีก่อนแน่
เอ้า, มาพูดถึงสรณะ สรณะ แปลว่า ที่พึ่ง ที่ระลึกถึง ให้เรามีสรณะคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง เป็นที่ระลึกถึง พระพุทธเจ้าท่านไม่ต้องมี, ไม่ต้องมี อยู่เหนือความมีสรณะ เพราะว่าท่านไม่มีความทุกข์อะไรนี่ จะต้องพึ่งพาอะไรไปเพื่อทำอะไรล่ะ มันไม่ต้องอาศัยอะไร เพื่อทำอะไร ไม่ต้องอาศัยใครเพื่อจะดับทุกข์อีกต่อไป พระพุทธเจ้าเลยเป็นคนหมดที่พึ่ง น่าหัวไหมถ้าจะพูดว่าพระพุทธเจ้าหมดที่พึ่ง, หมดที่พึ่ง เพราะท่านไม่ต้องพึ่ง ท่านไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพึ่ง ก็เลยไม่มีสรณะ ไม่มีที่พึ่ง ไม่ต้องมีที่พึ่ง เช่นเดียวกับท่านไม่ต้องมีศรัทธา นี่ท่านก็ไม่ต้องมีสรณะ อยู่เหนือความมีสรณะ จะเรียกว่าเป็น อสรณะ ก็ได้ ไม่มีสรณะแล้ว ท่านไม่ต้องพึ่ง ไม่ต้องสรณะจากใคร ส่วนเรานี่ยังต้องสรณะในนั้น สรณะในนี้ สรณะในโน้น บางทีก็สรณะกันใกล้ๆ นี้ สรณะในบุคคล สรณะในเงินทอง ข้าวของ หลักทรัพย์ อะไรต่างๆ มาเป็นสรณะ เปรียบเทียบเรากับพระพุทธเจ้ากันดูเถิด เรื่องเกี่ยวกับสรณะ
เอ้า, ดูต่อไปถึงเรื่องศีล ศีล เราก็มีศีล ต้องมีศีล แล้วก็มีศีลที่น่าหัวเราะ มีแต่สิกขาบท, มีแต่สิกขาบท หาบหามสิกขาบท คาบสิกขาบทอยู่ให้รุงนุงนังไปหมด แต่ไม่มีศีล ศีลคือภาวะปกติแห่งกาย วาจา นั่นคือศีล ไอ้ตัวสิกขาบทนั้นก็เป็นสิกขาบท เป็นตัวสิกขาบทเพื่อทำให้เกิดศีล ทีนี้เราก็ไม่ทำให้เกิดศีลได้ ได้แต่ท่องบ่น คือปฏิบัติสิกขาบทก็เถอะ มันปฏิบัติโดยไม่รู้ ด้วยไม่รู้จริง ด้วยปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณี ปฏิบัติด้วยอวิชชา เป็น สีลัพพตปรามาส เป็น สีลัพพตุปาทาน ไปเสียหมด มีศีลชนิดที่ไม่มีศีล มีศีลชนิดที่ไม่เป็นศีล มีศีลชนิดที่ไม่มีภาวะปกติ พระพุทธเจ้าท่านไม่ต้องมีสิกขาบท ท่านมีศีลโดยอัตโนมัติตลอดเวลา ทุกหนทุกแห่ง มีภาวะปกติแห่งกาย แห่งวาจา ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดสมาธิปัญญานั่นแหละ เป็นที่ตั้งแห่งสมาธิและปัญญานั้นอยู่เต็มพร้อมมูล ท่านไม่ต้องแบกสิกขาบท ไม่ต้องหอบหิ้วสิกขาบทเหมือนที่เราแบกกันอยู่ ๕ บ้าง ๘ บ้าง ๑๐ บ้าง ๒๒๗ บ้าง ๓๑๑ บ้าง แล้วแต่กรณี พระพุทธเจ้าเป็นคนไม่มีศีลอย่างที่พวกเรามี คือไม่ต้องแบกสิกขาบท แต่ท่านกลับมีศีลชนิดที่เป็นภาวะปกติ มีศีลจริง เป็นโลกุตตรศีล ที่ว่า ไม่มีศีล คือไม่มีศีลอย่างที่เรามีๆ กันในความหมายภาษาคน ท่านกลับไปมีศีลในความหมายภาษาธรรม คือภาวะปกติ ขอให้คิดดูให้ดีๆ
ทีนี้ระวังนะ จะรักษาศีลจนตายก็ไม่มีศีล ระวังให้ดีๆ รักษาศีลจนตายก็ไม่มีศีล เพราะมัวแต่หาบหิ้วสิกขาบท ปากก็คาบสิกขาบท ท่อง ว่า มันเรื่อยไป ว่าได้แต่สิกขาบท แล้วมันไม่มีศีล คือไม่มีภาวะปกติแห่งกายและวาจา นี่เทียบดูเถอะ พระพุทธเจ้ากับเราในเรื่องศีล ท่านไม่มีศีลในความหมายธรรมดาอย่างที่เรามี แต่ท่านกลับมีภาวะปกติ ซึ่งเป็นความหมายแห่งคำว่า สีล สีล ยิ่งท่านมีสมาธิ มีปัญญา มีนิพพานด้วยแล้ว ก็ยิ่งมีศีลปกติอย่างยิ่ง พระนิพพานน่ะเป็นสีล คือภาวะปกติอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าท่านมีเหมือนกับว่าเล่น เรา ศีลตรงนี้ นี่ศีลเบื้องต้นตรงนี้ก็ยังไม่ค่อยจะมี เพราะว่ามีแต่สิกขาบทหลับหูหลับตา มีสิกขาบทอย่างหลับหูหลับตา ถือสิกขาบทอย่างหลับหูหลับตา ไม่ได้เกิดภาวะปกติทางกาย ทางวาจา แม้ว่าจะทำพิธีหรือว่าอะไรต่างๆ ได้ เรื่องเกี่ยวกับศีล รับศีลกันอย่างไร ท่องศีลกันอย่างไร อะไรกันอย่างไร มันก็มีแต่สิกขาบท มันไม่ใช่ศีล มันไม่เป็นภาวะปกติสักที ขอให้เรามีศีลชนิดที่พระพุทธเจ้าท่านมี คือภาวะปกติ แม้จะไม่ ไม่ต้องท่องสิกขาบทก็ยังได้ ไม่ต้องสมาทานสิกขาบทก็ยังได้ พระพุทธเจ้าท่านไม่ต้องระวังเรื่องสิกขาบท แต่ท่านมีศีลสูงสุด หรือมีสิกขาบทที่มีความหมายอันแท้จริง นี่เรียกว่ามันต่างกันอย่างนี้ เรามารู้จักพระพุทธเจ้าให้ดียิ่งขึ้นกว่าปีเก่าเถิด
เอ้า, พูดให้ต่ำลงมาถึงเรื่องทาน ให้ทาน ทานคือการให้ พระพุทธเจ้านั้นไม่มีเจตนาจะให้ทานอย่างที่เราให้ เราให้ทานเพื่อทำบุญ เอากุศล ได้อะไรมาจะให้มาส่งเสริม มาหล่อเลี้ยง อย่างนี้ไม่มีในความคิดของพระพุทธเจ้า จะเปรียบให้ฟังง่ายๆ อีกทีหนึ่งก็จะพูดว่า พระพุทธเจ้าท่านให้ทานจนหมด ไม่มีอะไรจะให้แล้ว ฟังถูกหรือไม่ถูก ว่าพระพุทธเจ้ามีอะไร ท่านให้ทานไปจนหมดแล้ว ไม่เหลืออยู่ ไม่เก็บไว้สำหรับจะต้องให้ทานอีกต่อไป นี่ทานของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ นี่เรามันยังจะลงทุนค้าอยู่เรื่อยไป จะทำบุญสักบาทจะเอาวิมานหลังหนึ่งนี่ ต้องทำกันไม่รู้จักจบจักสิ้น หวังที่จะทำทานกันอยู่อย่างนี้ มันในรูปของการค้าเสียมากกว่า และกำไรเกินควรด้วย หวัง ดังนั้นทานของเรากับทานของพระพุทธเจ้านั้น มันจึงต่างกัน คือมันบริสุทธิ์ต่างกัน เราจงรู้จักทานของพระพุทธเจ้าที่ท่านให้ ให้ ก่อนเป็นพระพุทธเจ้าท่านก็ต้องให้ ต้องมีเหมือนเรา แต่ว่าท่านให้ในชนิดที่ว่าจะขูดเกลา เพิกถอน ชะล้างตัวกูหรือของกู ฉะนั้นอะไรที่เป็นตัวกู อะไรที่เป็นของกู ท่านให้ไปเพื่อขูดเกลาสิ่งนั้น ขูดเกลาสิ่งนั้นจนหมด หมด หมดตัวกู หมดของกู นั่นแหละทานของพระพุทธเจ้า ท่านให้มันหมด ให้จนหมดตัวกู หมดของกู แล้วก็ไม่มีอะไรจะให้อีกต่อไป จะเรียกว่าเป็น อทาน ก็ได้ เป็นผู้ไม่ทำทานได้อีกต่อไป
พระพุทธเจ้าเป็นผู้ไม่มีศรัทธา เป็นผู้ไม่มีศีล เป็นผู้ไม่มีทานในความหมายอย่างนี้ พูดแล้วมันทำให้เข้าใจผิด ก็ลำบากเหมือนกัน แต่ดูให้ดี มันเป็นอย่างนั้น เมื่อเรายังไม่เป็นพระอรหันต์ เราก็ยังต้องมีทาน มีศีล มีอะไรไปตามเรื่อง พอเป็นพระอรหันต์หรือเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว มันก็ไม่ต้องทำนี่ มันก็เลิกกัน มันกลับไปมีโดยไม่ต้องทำ มีเสียเอง มีโดยอัตโนมัติ อย่างที่เรียกว่า มีอย่างโลกุตตร
เอ้า, จะให้ดูธรรมะที่สูงขึ้นมาหน่อย คือ สติ สติ เรามีสติเท่าไร พระพุทธเจ้ามีสติเท่าไร เราเป็นผู้จำเป็น ยังจำเป็นที่จะต้องมีสติและใช้สติ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้สติหรือมีสติ แต่มันมีสติเสียเองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมีเจตนา เรานี่ระวังแทบตายที่จะมีสติและจะใช้สติ เพื่อปฏิบัติธรรมะให้บรรลุคุณธรรมที่สูงขึ้นไป เลยจำเป็นที่จะต้องมีสติอย่างยิ่ง แล้วมันก็ยังไม่ค่อยจะมี มันก็ยังเผลอเรื่อย เพราะอวิชชามันมากเกินไป พระพุทธเจ้าอยู่ในฐานะที่ไม่ต้องมีสติ ไม่จำเป็นต้องใช้สติ เพราะไม่มีอวิชชา มีแต่วิชชา มันเป็นสติโดยอัตโนมัติเสียอย่างนี้ เป็นสติอย่างโลกุตตร ไม่มีปัญหาอย่างเรา เรามีสติชนิดที่ต้องฝึกฝน ต้องควบคุม ต้องคอยระมัดระวัง คอยตั้งใจ เผลออยู่เสมอ มันเผลอ คือไม่มีสติเสียเรื่อยไป ส่วนพระพุทธเจ้านั้น ท่านมีสติเสียเรื่อยไปโดยที่ไม่ต้องระวังหรือรักษา ตามธรรมดาของพระอรหันต์มันก็เป็นอย่างนั้น แล้วมันก็ มันก็ ก็มีอะไรต่างกันที่ว่า ท่านไม่จำเป็นที่ต้องใช้สติ ไม่จำเป็นที่ต้องฝึกสติ เพราะไม่ต้องใช้สติ มันสมบูรณ์เสียแล้ว มันทำหน้าที่ต่างๆ ต่างๆ ด้วยสติ เสร็จเรียบร้อยไปหมดแล้ว ตัดกิเลสอาสวะอะไรได้หมดสิ้นแล้ว มันก็ไม่ต้องมีเครื่องที่จะต้องใช้อีก พระพุทธเจ้าเลยเป็นคนไม่มีสติ พูดแล้วมันก็น่าตกใจหรือน่าหัว ท่านไม่ต้องใช้สติ ท่านก็ไม่ต้องระมัดระวังสังวร มีสติเหมือนอย่างพวกเรา นี่แปลกดีไหม พระพุทธเจ้าไม่มีศรัทธา ไม่มีสรณะ ไม่มีศีล ไม่มีทาน ไม่มีสติ เรานี่มี ต้องการจะมี แล้วก็มีไม่ได้ แล้วก็มีกันอย่างเดี๋ยวมีเดี๋ยวไม่มี, เดี๋ยวมีเดี๋ยวไม่มี
นี่ขอให้เราเปรียบเทียบกันดู รู้จักพระพุทธเจ้าให้มากขึ้น เรื่องสัมปชัญญะก็เหมือนกัน ถ้ามีสติก็มีสัมปชัญญะ พระพุทธเจ้าท่านรอบรู้ทุกสิ่งจนหมดปัญหาไปแล้ว ไม่รู้ว่าจะใช้สัมปชัญญะเพื่ออะไร ธรรมะอันนี้ เครื่องมืออันนี้ก็ไม่รู้จะต้องใช้อะไร ก็เลยไม่มี เลยไม่ต้องมี แต่ที่จริงมันมีโดยอัตโนมัติ คือมีผลอย่างเดียวกับที่เราต้องการจะมีโดยเจตนา แต่ท่านไม่ต้องมีเจตนา มันมีเสียเอง เป็นโลกุตตร
เอ้า, พูดให้มันลงไปอีกว่า ขันตี ความอดกลั้นอดทน เราต้องมี แล้วเราก็มีไม่ค่อยจะได้ แล้วเราก็อดกลั้นอดทนไม่ได้ ทีนี้ พระพุทธเจ้าท่านไม่มีเรื่องที่จะต้องอดกลั้นอดทน ท่านไม่มีตัวตน ไม่มีของตน มันก็ไม่มีเรื่องที่จะต้องอดกลั้นอดทน ในทุกความหมายแหละ ขันติชนิดไหนก็ตาม อดทนเขาด่า อดทนต่อร้อนหนาว อดทนต่อการบีบคั้นของกิเลส ท่านไม่ต้องอดทนตรงนั้นเลย ท่านเลยไม่มีขันติ เป็นผู้ไม่ต้องมีขันติหรือไม่มีขันติ ไอ้เราต้องการจะมี อยากจะมี แล้วมันก็มีไม่ค่อยจะได้ มันขาดๆ แหว่งๆ ลุ่มๆ ดอนๆ เสียเรื่อย นี่ขอให้ระวังว่า มันต่างกันอย่างนี้, มันต่างกันอย่างนี้
หิริและโอตตัปปะ เราต้องการจะมีเพื่อเป็นรากฐานของศีล มี หิริ ละอายต่อบาป โอตตัปปะ กลัวต่อบาป เพื่อจะไม่กล้าทำบาป เพื่อจะมีศีล เอ้า, ถ้าอยู่เหนือบาปแล้ว เอ้า, ก็ไม่จำเป็น มันก็ไม่ต้องมี แต่มันก็มีค่ายิ่งกว่ามี คือท่านมีศีล มีเหนือบาป ไม่ต้องใช้หิริและโอตตัปปะ แต่ก็มีผลแห่งการใช้หิริและโอตตัปปะอยู่โดยอัตโนมัติ พูดให้น่าตกใจก็ ท่านไม่มีหิริ-โอตตัปปะ ท่านไม่ต้องใช้หิริ-โอตตัปปะ ท่านไม่ต้องมีเจตนาที่จะมีหิริและโอตตัปปะ เลยเรียกว่าท่านไม่มี แต่ท่านกลับมีผลของมัน สิ่งใดที่เป็นผลของมัน ท่านก็กลับมี
พระพุทธเจ้ามี สัปปุริสธรรม โดยอัตโนมัติ ที่เราตั้งใจจะมี มันกลับไม่มี พระพุทธเจ้าไม่ได้ตั้งใจจะมี มันกลับมีโดยอัตโนมัติ สัปปุริสธรรม รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักเวลา รู้จักประมาณ รู้จักบริษัท รู้จักบุคคล เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล บริษัท บุคคล ที่สำคัญมาก ไม่รู้แล้ววินาศ ไม่รู้แล้วฉิบหาย สัปปุริสธรรม ๗ เรียนกันมาแล้วในนักธรรม เราไม่มี เราไม่ค่อยจะมี เรามีไม่ค่อยจะได้ พระพุทธเจ้าท่านไม่ต้องมีก็ได้ คือท่านไม่มีเรื่องที่จะต้องแก้ปัญหาด้วยสิ่งเหล่านี้ เพราะท่านอยู่เหนือปัญหา แต่ท่านก็มีโดยอัตโนมัติ ถ้ามันมีเรื่องที่จะต้องรู้ ท่านก็รู้โดยอัตโนมัติ มีสัปปุริสธรรมโดยอัตโนมัติ แต่ไม่ได้มีเจตนาที่จะต้องมี หรือจะรักษาเหมือนอย่างที่เรามี ท่านก็ไม่มีอีกนั่นแหละ แต่ท่านมีผลของธรรมะเหล่านี้ ไม่ต้องมีตัวของมัน
ทีนี้จะเรียกว่า ภาวนา ภาวนาสมาธิก็ดี วิปัสสนาก็ดี รวมเรียกว่า ภาวนา เมื่อพระพุทธเจ้าท่านบรรลุมรรคผลคือนิพพานเสียแล้ว ภาวนาก็เลยไม่จำเป็น ท่านกลับมีผลแห่งภาวนา สิ่งใดเป็นผลแห่งภาวนา สิ่งนั้นท่านมี แต่ท่านก็ไม่ต้องมานั่งเจริญสมาธิ เจริญวิปัสสนาเหมือนอย่างพวกเรา นี่เป็นผู้ไม่มีภาวนาอย่างพวกเรามี แต่ท่านก็มีผลของมัน มีความสงบสุข และก็มีความรู้แจ้งซึ่งเป็นผลของสมาธิ เป็นผลของวิปัสสนา
ทีนี้ ก็มามองดูถึงสิ่งที่เรียกว่า วิมุตติ วิมุตติ แปลว่า หลุดพ้น ไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทานในสิ่งใด ไม่ติดอยู่ในสิ่งใด ซึ่งเรามันติดอยู่ ติดในความยินดี ในความไม่ยินดี ติดอยู่ในเวทนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวทนาที่เป็นสุข เวทนาที่เป็นทุกข์ เป็นผู้ต้องมีความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้น อะไรอยู่เสมอ ท่านหลุดออกไปแล้วจากสิ่งเหล่านั้น วิมุตติของท่าน หลุดเพราะว่าเป็นพระพุทธเจ้า มีปัญญา มีการตรัสรู้ ชนิดที่ไม่อุปาทานในสิ่งใด ไม่มีอุปาทานในสิ่งใด แล้วจะต้องวิมุตติอะไรล่ะ เพราะมันไม่ติดอยู่ในสิ่งใด ก็ไม่ต้องวิมุตติอะไร พระพุทธเจ้าก็ไม่มีวิมุตติ ไม่ต้องวิมุตติ ไม่ต้องมีวิมุตติ เพราะท่านไม่ได้ติดอยู่ในสิ่งใด เลยไม่ต้องวิมุตติ ไม่มีวิมุตติ พูดอย่างนี้มันเสี่ยงต่อการถูกด่านะ มีคนคอยด่าอาตมาอยู่รอบทั่วประเทศแหละ แต่ก็ไม่กลัว ไม่กลัว ยังพูดอย่างนี้อยู่เรื่อยไปแหละ พระพุทธเจ้าไม่ต้องมีวิมุตติ เพราะมัน มันหลุดแล้ว มันไม่มีอะไรจะติด มันไม่มีอะไรจะติดอีก แล้วจะต้องวิมุตติอะไรกันอีก มันหลุดเสียแล้วนี่ มันจะวิมุตติอะไรกันอีก
พูดถึง อุเบกขา อุเบกขา พระพุทธเจ้าไม่ได้มีอุเบกขาอย่างที่เราสอนๆ กันอยู่ อุเบกขา เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อุเบกขาคำนี้ยังเข้าใจกันผิดอยู่นะจะบอกให้ แม้เป็นอุเบกขาของพวกบุถุชนจะต้องมี ก็ยังเข้าใจผิด เมตตา รักใคร่ กรุณา ช่วยเหลือ มุทิตา ยินดีด้วย พอมาถึงอุเบกขานี่ แปลกันว่า เฉย ช่วยไม่ได้ ให้มันเป็นไปตามกรรม ไม่ถูกตามเรื่อง คำว่า อุเบกขา อุเบกขา นั้นแปลว่า จ้องดูอยู่ อุป แปลว่า เข้าไป อิกฺข แปลว่า ดู เข้าไปจ้องดูอยู่ คือคอยดูอยู่ จ้องดูอยู่ เฝ้าดูอยู่ว่าเมื่อไรจะช่วยได้ กูจะช่วยมึง นั่นว่าอย่างนั้น ไม่ใช่เฉยด้วยประการทั้งปวง เมตตา รัก กรุณา ช่วย มุทิตา ยินดีด้วย พอมาถึงอุเบกขา เอ้า, ไม่รู้ไม่ชี้
อุเบกขา นี่ตัวสำคัญนะ ตัวสุดท้ายนี่ตัวสำคัญ คือคอยจ้องดูอยู่ว่าเมื่อไรจะช่วยได้ ก็จะช่วยทันที นั่นแหละคือ อุเบกขาที่แท้จริง นี่อุเบกขาในเรื่องธรรมดาสามัญของคนทั่วไป แต่เขายังเข้าใจมันผิด นี่สอนให้ โอย, มันไปตามกรรมของมัน กูช่วยไม่ได้ กูไม่รู้ไม่ชี้กับมัน อย่างนี้มันก็ไม่ถูก อุเบกขาที่ถูกที่แท้ ก็คือคอยไปจ้องดูอยู่อย่างดีที่สุด สรรหาโอกาสอยู่อย่างดีที่สุดว่า เมื่อไรช่วยได้ก็จะช่วยทันที นี่มันเป็นเรื่องของมีตัวตน มีตัวตนที่จะเป็นผู้ช่วย มีตัวตนที่จะเป็นผู้ถูกช่วย เมื่อหมดความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนแล้ว เรื่องเหล่านี้ก็ไม่ต้องมีอีกแล้ว พระพุทธเจ้าจึงอยู่เหนือพรหมวิหารนะ อย่าลดพระพุทธเจ้ามา ลงมาอยู่เหนือการมีพรหมวิหาร เป็นพรหมไปเสียอีก พระพุทธเจ้าอยู่เหนือพรหมไปแล้ว พ้นพรหมไปแล้ว ไม่มีตัวตนแล้ว ไม่มีตัวตนผู้ช่วย ไม่มีตัวตนผู้ถูกช่วย นี้เรียกว่า ท่านเป็นผู้ที่เฉย ก็เรียกว่าเฉย เพราะว่าท่านไม่ต้องการอะไร, ท่านไม่ต้องการอะไร ท่านเป็นผู้ที่ไม่มีได้ ไม่มีเสีย ไม่มีแพ้ ไม่มีชนะ ไม่มีเอาเปรียบ ไม่มีขาดทุน ไม่มีกำไร ไม่มีอะไร มันเฉยเพราะว่ามันอยู่เหนือความต้องการ แต่ท่านไม่ได้มีอุเบกขา ไม่ต้องมีอุเบกขาอย่างพวกเรา แต่ท่านก็มีอุเบกขาอย่างของพระอรหันต์ เช่น เฉยได้ด้วยเห็นตถตา เห็นสุญญตา เป็นเหตุให้เฉยได้ มันเป็นอุเบกขาคนละความหมาย ปฏิบัติเพื่อจะถอนตัวตน ผู้มีอุเบกขานี่ก็คอยจ้องที่จะช่วย หาโอกาสที่จะสละความยึดถือของตัวตน เพื่อจะหมดตัวตน แต่ครั้นหมดตัวตนแล้ว มันก็เฉยสบาย เฉยได้ เฉยสบาย
ทีนี้ ก็จะดูถึงข้อที่สำคัญต่อไปว่า สุญญตา สุญญตา พระพุทธเจ้ามีสุญญตาอย่างยิ่ง จนเรียกเต็มยศว่า ปรมานุตตรสุญญตา ปรมานุตตรสุญญตา สุญญตาสูงสุด ไม่มีสุญญตาอื่นยิ่งกว่า เรียกว่า ปรมานุตตรสุญญตา นี่เราไม่มีสุญญตา คือ ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น เรามีความยึดมั่นถือมั่นอยู่โดยไม่รู้สึกตัว อย่างรู้สึกตัวก็มี ไม่รู้สึกตัวก็มี แต่ว่าด้วยเจตนาทั้งนั้นแหละ พระพุทธเจ้าท่านหมด หมดความมีตัว ท่านก็ว่าง ว่างจากการระวังตัว ไอ้เรามันว่างไม่ได้ เพราะเรามันระแวงภัย เรามันนึกลังเลอยู่ตลอดเวลาว่า เราไม่ปลอดภัย, เราไม่ปลอดภัย จิตของเราว่างไม่ได้ เพราะเรายังเห็นแก่ตัว เรายังไม่ปลอดภัย ไม่ปลอดภัยทางร่างกาย ทางชีวิต ไม่ปลอดภัยทางทรัพย์สมบัติ ไม่ปลอดภัยทางเกียรติยศชื่อเสียง ยังไม่ปลอดภัย มันก็ต้องเป็นห่วง วิตกกังวล เห็นอะไรเข้ามา มันก็ต้องหวาดกลัวว่าจะมาทำลายความปลอดภัย อะไรที่น่ากลัวมา ก็กลัว อะไรที่น่ารักมา ก็รัก อะไรที่น่าเกลียดมา ก็เกลียด มันก็เลยว่างไม่ได้ ถ้าไม่มีตัวตนสำหรับจะต้องระแวงภัยอีกต่อไปแล้ว มันก็ว่างได้ แล้วก็ว่างในลักษณะที่เรียกว่า อุเบกขา มากกว่า มีอะไรเกิดขึ้น จิตก็ยังคงว่างหรืออุเบกขาอยู่นั่นเอง คำอธิบายเกี่ยวกับปรมานุตตรสุญญตานี้ ท่านยกตัวอย่างเช่นว่า พระราชามหากษัตริย์มา จิตก็ว่างอยู่อย่างนั้นแหละ ทายก คนขอทานมา ก็ว่างอยู่อย่างนั้น เศรษฐี คหบดีมาหา ท่านก็ว่างอยู่อย่างนั้น บรรพชิตด้วยกันมากมายมาหา ท่านก็ว่างอยู่อย่างนั้น พวกปรปักษ์ พวกมิจฉาทิฏฐิ เป็นปรปักษ์ศัตรูมา ก็ว่างอยู่อย่างนั้นแหละ ว่างตัวเดียวกันนั้นแหละ มันว่างตัวเดียวกันนั่นแหละ นี่ ปรมานุตตรสุญญตาของพระพุทธเจ้า ว่างอย่างนี้ เราว่างได้อย่างนี้หรือเปล่า เพียงแต่เห็นบุรุษไปรษณีย์ถือจดหมายเข้ามาส่ง ก็จิตวุ่นวายแล้ว ไม่รู้ว่าในจดหมายนั้นมันจะว่าอย่างไร เพียงเท่านี้มันก็วุ่นวาย คนเข้ามา เอ้า, ก็สงสัย นี่มันจะมาดีมาร้ายก็ไม่รู้ มันจะมาจี้มาปล้น หรือมันจะมาให้ประโยชน์อะไรก็ไม่รู้ มันว่างไม่ได้ เห็นคนเข้ามาในบ้าน มันก็ต้องคิดอย่างนี้ นี่มันจะมาขโมยหรือมันจะมาทำอะไรอย่างหนึ่ง จะมองในแง่ร้ายเสมอ ไม่เคยมองในแง่ดีเลย นี่มันว่างไม่ได้อย่างนี้ พอถูกใจมันก็ยินดี พอไม่ถูกใจมันก็โกรธเคือง มันก็ว่างไม่ได้ เรามันว่างไม่ได้ แต่พระพุทธเจ้าท่านว่างได้อย่างสูงสุด พวกศัตรูจะมา ก็ว่างอย่างนั้นแหละ มิตรสหายมา ก็ว่างอย่างนั้นแหละ เราเป็นอย่างนั้นได้เมื่อไรล่ะ เพียงแต่บุรุษไปรษณีย์เข้ามา นี่มันก็วุ่นวายอยู่ในใจแล้ว ไม่รู้มันจะเอาจดหมายมาให้ แล้วจะเป็นจดหมายดีจดหมายร้ายอย่างไรบ้าง ทีนี้ลองเปรียบเทียบเราดูสิว่า เราแกะรอยพระพุทธเจ้าได้กี่มากน้อยในเรื่องของความว่าง เราอยากจะทำให้มันว่าง มันก็ไม่ว่าง พระพุทธเจ้าท่านไม่ต้องทำให้มันว่าง มันก็ว่างเอง เพราะว่าหมดตัวตนที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ หรือว่าจะเป็นผู้ยึดถือก็ตาม มันหมดอุปาทานเสียแล้ว นี่เรียกว่าเกี่ยวกับสุญญตา
เอ้า, ทีนี้ อยากจะพูดถึงไอ้คำสำคัญของเราที่แปลกๆ ซึ่งต้องพูดกันคือ อตัมมยตา อตัมมยตา ลืมหรือยัง พูดไปหยกๆ นี่ เรียกความจำกลับมาอีก อตัมมยตา อตัมมยตา มีความหมายภาษาธรรมดาๆ ว่า กูไม่เอากับมึงแล้วโว้ย นี่พูดอย่างนี้ มันฟังดูมันหยาบคาย มันระคายหู แต่เนื้อความที่สุภาพก็ว่า ไม่ใส่มันอีกต่อไป ไม่อาศัยมันอีกต่อไป ไม่ผูกพันกับมันอีกต่อไป ไม่อยู่ ไม่เป็น ไม่มีอะไรกับมันอีกต่อไป นี่เรียกว่า อตัมมยตา มันแปลยากคำนี้ คำนี้ที่มีในพระไตรปิฎก ไม่ถูกสังคายนา อาจจะสังคายนาไม่ได้ ไม่ทราบ มันไม่ถูกสังคายนา มันเหลืออยู่อย่างสับสนว่า อกัมมยตาก็มี อคัมมยตาก็มี อตัมมยตาก็มี ที่ถูกมันเป็น อตัมมยตา แต่ในพระไตรปิฎกเหลืออยู่ทั้ง ๓ คำ เพราะมันไม่ถูกสังคายนา ไม่รู้ว่าเพราะเหตุอะไรในหนังสือดิกชันนารีปทานุกรมอย่างดีของพวกฝรั่ง คำนี้ก็ไม่มี เข้าใจว่าผู้ทำปทานุกรม มันไม่รู้คำนี้ แล้วมันไม่กล้าเอามาใส่ เพราะว่าถ้าใส่เข้าไปแล้ว มันไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไร คิดดูเถอะ อตัมมยตานี่สำคัญนะ ไม่มีจิตที่จะผูกพันกับสิ่งที่มีอยู่แต่ก่อน แม้ว่าจะดีจะวิเศษที่สุดอย่างไร
ภวัคคพรหม ภวัคคพรหมนี่ พรหมชั้นสูงสุดนั่นน่ะ เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ภวัคคพรหม พรหมสูงสุด อาจารย์คนสุดท้ายของพระพุทธเจ้าบรรลุธรรมะข้อนี้ ยึดถือในข้อนี้ พระพุทธเจ้าก็เป็นลูกศิษย์ศึกษาพักหนึ่ง โอ้, ไม่ไหว ไม่ใช่ที่สุด ขอลาอาจารย์ อาจารย์ว่า อยู่ด้วยกัน นี่แหละสูงสุด นี่แหละดับทุกข์สิ้นเชิง พระพุทธเจ้าว่าไม่สูงสุด เพราะมันไม่มีอตัมมยตาในภวัคคพรหม มันเป็นมนุษย์ มันเป็นสัตว์เทวดาในสวรรค์ มันเป็นรูปพรหม มันเป็นอรูปพรหม สูงสุด เป็นภวัคคพรหม แล้วก็หยุดแค่นั้น พอใจแค่นั้น รู้จักกันแค่นั้นในสมัยนั้น พระพุทธเจ้าท่านเห็น โอ้, นี่มันไม่สุด นี่มันไม่สุด เพียงยังไปติด อัด หลงใหล อยู่กับอรูปธาตุชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะอยู่ที่นั่น ฉันไม่เอาด้วย มันไม่ใช่สูงสุด ฉะนั้นจึงมีความรู้สึกที่ว่าเป็น อตัมมยตา เลิกมัน เลิกไอ้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ อาจารย์นั่นว่าดีที่สุดน่ะ ไม่เอากับมัน สิ่งไรที่ทำให้ติดอยู่นี่ มีความรู้สึกเห็นว่า ติดกับมันไม่ได้อีกต่อไปแล้วแหละ ความรู้สึกนั้นน่ะคือ อตัมมยตา เป็นธรรมะสูงสุดที่จะละอรูปธาตุชั้นสูงสุดเพื่อเป็นพระอรหันต์โน่น แต่ขอยืม ขอยืมมาใช้ที่นี่ ใช้ในบ้านในเรือนที่นี่ ให้มันสำเร็จประโยชน์อย่างยิ่งด้วยเหมือนกัน แต่พอเอามาพูดก็ถูกด่า ถูกด่าว่าเอาของสูงมาทำเป็นของต่ำ มันด่าก็ด่าไป ไม่ต้องกลัว เอามาใช้ให้สำเร็จประโยชน์ก็แล้วกัน
ที่ว่าของสูงสุดนั่น สูงสุดจริงๆ นะ ไอ้คำๆ นี้ ละกามธาตุหรืออัสสาทะ รสอร่อยแห่งกามธาตุเสียได้ด้วยอัสสาทะแห่งรูปธาตุ รูปฌาน เป็นต้น แล้วก็ละอัสสาทะแห่งรูปธาตุนั้นเสียด้วยอรูปธาตุ อร่อยที่สุด ก็ละอัสสาทะแห่งอรูปธาตุเสียได้ด้วยอตัมมยตา แล้วก็เป็นพระอรหันต์หลุดพ้นไป นี่สูงสุดอย่างนี้ ทีนี้ขอยืมหน่อย ขอยืมมาใช้ ละกระป๋องบุหรี่ ละขวดเหล้า ละการพนัน ละอะไร พวกอบายมุขทั้งหลาย นี่เอาวิธีการอันนั้นน่ะมาใช้ คือพิจารณาเห็นความเลวร้ายของมัน เช่นว่า ขึ้นชื่อว่าภพแล้ว จะเป็นกามภพก็ดี รูปภพก็ดี อรูปภพก็ดี เลวร้ายทั้งนั้น ขึ้นชื่อว่าภพแล้วเป็นทุกข์ทั้งนั้น ไม่เอาทุกภพล่ะ ทีนี้ก็เอามาสิ เอามาใช้กับกามภพของบุคคลผู้หลงใหลในอบายมุข ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการละเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านทำการงาน มาพิจารณา พิจารณาจนเห็น โอ้, มัน มัน มัน สมมติว่าจะละขวดเหล้า ละการกินเหล้า เห็นความเลวร้ายของมัน เห็นโทษอันเลวร้ายของมัน เห็นความหลอกลวงของมัน เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ อนัตตาของมัน เห็นละเอียดขึ้นไปถึง มันเช่นนั้นเอง, มันเช่นนั้นเอง มันไม่วิเศษวิโสอะไร จะบ้าจะเมาหรือไม่บ้าไม่เมา มันก็เช่นนั้นเอง ไม่กินดีกว่า นั่นน่ะถ้าความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้นแล้ว มันก็จะละได้ ความรู้สึกที่จะทำให้ละอะไรได้ นั่นแหละคืออตัมมยตา ยิ่งยากก็ยิ่งอตัมมยตาสูงขึ้นไป, สูงขึ้นไป จนละได้ทุกขั้นตอน
ฉะนั้นขอให้รู้จักใช้อตัมมยตา เป็นทาสของสิ่งใด ยึดมั่นถือมั่นติดพันอยู่ในสิ่งใด ก็เท่ากับเป็นทาสของสิ่งนั้น ละสิ่งนั้นเสียได้ด้วยอตัมมยตา คือเห็นกำพืดของมัน เห็นความจริงของมัน เห็นความหลอกลวงของมัน เห็นมายาของมัน ละเสียได้ จะหย่าอะไรก็หย่าขาดด้วยอตัมมยตา ถ้าไม่มีแล้ว มันก็หย่าไม่ได้หรือหย่าไม่ขาด จะเลิก หย่าขาด เลิกบุหรี่ หรือเลิกเหล้า เลิกการพนัน เลิกเที่ยวกลางคืน หย่าผัว หย่าเมีย อะไรก็ตาม ถ้าจะหย่าโดยแท้จริงแล้ว ก็ต้องด้วยอตัมมยตา เห็นความที่ว่า อาศัยกันไม่ได้อีกต่อไป อยู่ด้วยกันไม่ได้อีกต่อไป นี่เรียกว่า อตัมมยตา ที่จริงมันก็ใช้อยู่ มีอยู่โดยไม่รู้สึกตัว แต่ก็ไม่รู้ ก็ไม่รู้ที่จะพูด ในกรณีที่มันหย่าอะไรได้สำเร็จ ละอะไรได้สำเร็จ ก็เพราะเห็นโทษของสิ่งนี้ถึงที่สุดทั้งนั้นแหละ เรียกว่ามันใช้อยู่แล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่ามันเรียกว่าอะไร เดี๋ยวนี้อาตมาเอามาบอกให้รู้ว่า เดี๋ยวนี้อตัมมยตา เรียกว่าอตัมมยตา ก็กูไม่เอากับมึงอีกต่อไปแล้ว พูดภาษารู้สึกธรรมดาๆ คือว่าอาศัยหรือผูกพันกันไม่ได้อีกต่อไปแล้ว คืออยู่ด้วยกันไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เป็นสิ่งที่จะ เป็นเครื่องมือนะ ที่จะละสิ่งที่ไม่ควรจะอยู่กับมัน ละขึ้นไป, ละขึ้นไป, ละขึ้นไป, ละขึ้นไป ละกามธาตุไปสู่รูปธาตุ ละรูปธาตุไปสู่อรูปธาตุ แล้วก็ละอรูปธาตุไปสู่นิโรธธาตุ นิพพานธาตุ ด้วยอตัมมยตา พระพุทธเจ้าท่านมี ถึงที่สุด แล้วก็ท่านบอกเลิกอาจารย์คนนั้นเสีย เพราะอาจารย์คนนั้นไม่มีอตัมมยตา ไม่ได้สอนเรื่องอตัมมยตาในข้อนี้ แต่พระพุทธเจ้าท่านไปหาของท่านได้เอง ละกามไปหารูป ละรูปไปหาอรูป ละอรูปไปหานิโรธ นิโรธ ไอ้ธาตุที่ควรรู้จักก็คือ กามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ นี่พวกฝ่ายที่มีภพ ทีนี้ฝ่ายโน้นไม่มีภพ เรียกว่า นิโรธธาตุ ท่านมักจะเรียงลำดับว่า รูปธาตุ อรูปธาตุ แล้วก็นิโรธธาตุ เอากามธาตุไปผนวกเข้าไว้กับรูปธาตุ เหลือแต่รูปธาตุ อรูปธาตุ ฝ่ายภพ แล้วนิโรธธาตุ ฝ่ายไม่มีภพ การที่จะออกไปเสียจากภพไปสู่นิโรธแห่งภพ ก็คือไม่มีภพ ต้องอาศัยอตัมมยตา
เหตุนี้ก็เหมือนกันแหละ จะละความชั่วออกไปเสียจากความชั่ว หรือความทุกข์ไปสู่ความไม่มีทุกข์ ต้องอาศัย อตัมมยตา แล้วก็อย่าไปติดไอ้ความชั่วหรือความทุกข์ที่มีเสน่ห์เข้าอีกนะ ไอ้คนโง่น่ะจะไปเอาความชั่วหรือความทุกข์ที่มีเสน่ห์ เช่น กามารมณ์ เป็นต้น เป็นของดีไปเสียอีก มันก็ไม่ละ ถ้ามันจะละทั้งหมดน่ะที่มันควรละ ที่มันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แล้วต้องละ ละ ละ กันจริงๆ พระพุทธเจ้าท่านมีอตัมมยตา สอนเรื่องอตัมมยตา จนเกิดพระอรหันต์จำนวนมากมาย ละภพทั้งหลายได้ ละภพทั้ง ๓ เสียได้ ก็ไปสู่นิโรธ คือดับภพ เหนือภพ ท่านมีอย่างนี้ เอ้า, แล้วทีนี้มาดูพวกเราที่นั่งกันอยู่นี่ มีอตัมมยตากี่มากน้อย ละวันตื่นสายก็ไม่ค่อยจะได้กระมัง นี่อตัมมยตาอะไร ละขวดเหล้าไม่ได้ ละบุหรี่ไม่ได้ ละน้อยๆ ก็ยังละไม่ได้ เพราะมันไม่มีอตัมมยตาที่เพียงพอ
ฉะนั้นขอให้เปรียบเทียบดูให้ดี ความมีอตัมมยตาของเรากับความมีอตัมมยตาของพระพุทธเจ้านั้นต่างกันอย่างไร เรื่องนี้ขอโอกาสพูดมากหน่อยกว่าเรื่องอื่น เพราะมันเป็นปัญหาเฉพาะหน้าอยู่จริงๆ มันละกามไม่ได้ เพราะมันไม่มีอตัมมยตา ก็บ้ากาม หลงกาม มัวเมาในกาม จนแก่หัวหงอกแล้ว มันก็ยังละไม่ได้ เพราะมันไม่มีอตัมมยตาเสียเลย ละกามแล้วก็ไปสู่รูป ติดรูปอยู่ ก็ละไม่ได้ มีอตัมมยตาก็ละได้ ไปหาอรูป ก็ยังติดอรูปอยู่ ละอีกทีก็ออกไปนอกโลก นอกภพ ไม่เป็นภพ
ฉะนั้นเรารู้จักพระพุทธเจ้าให้มากกว่าที่แล้วมา มันมีแง่มุมมากมายหลายอย่างหลายประการที่ทำให้รู้จักให้ดี แต่ไม่ได้เอามาพูดกัน ดังนั้นอย่าหาว่าอาตมารบเร้าเซ้าซี้รบกวนอะไรเลย ที่เอามาพูดนี่ แล้วก็จะพูดให้มาก พูดให้หมด พูดให้ครบถ้วน ก็จะมีโอกาสศึกษา แล้วก็จะมีโอกาสเปรียบเทียบว่า เรามีอะไร อย่างไร ต่างกันอย่างไร เหมือนกันอย่างไร เมื่อเทียบกันกับผู้หลุดพ้น คือพระอรหันต์หรือพระพุทธเจ้า มันต่างกันอย่างไร เอาละทีนี้ มันสูงสุดแล้วนะ มันอตัมมยตา สูงสุดเป็นโลกุตตร ทดสอบเอาเองว่า มีมากน้อยกว่ากันอย่างไร ต่างกันอย่างไร จะช่วยตัวเองให้รอดจะต้องทำอย่างไร
ทีนี้ ก็อยากจะพูดต่ำสุดลงมาเลย เรื่องพิธีปฏิบัติ พิธีปฏิบัติที่บ้านที่เรือน ก็ควรจะเอามาพูดให้เข้าใจ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องทิศ ๖ ทิศ ๖ ปัญหาเรื่องทิศ ๖ ข้างหน้าคือ ปัญหาเกี่ยวกับบิดามารดา ผู้มีพระเดชพระคุณ ข้างหลังคือ บุตรภรรยาที่จะต้องเลี้ยง ข้างซ้ายมือคือ มิตรสหายที่ต้องร่วมมือช่วยเหลือ ข้างขวา ครูบาอาจารย์ที่เรารับการศึกษา ข้างบนคือ ผู้บังคับบัญชา ผู้อยู่เหนือหรือสิ่งสูงสุด ข้างล่างคือ ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ลูกจ้าง กรรมกร อะไรนั่น ๖ ทิศ ช่วยชำระให้ดี พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างยิ่ง ให้ชำระให้ดี ท่านใช้คำว่า ปิดกั้นให้ดี อย่าให้ความผิดพลาดเลวร้ายทุกข์อะไรเข้ามาทางทิศทั้ง ๖ นี้ ท่านใช้คำว่า ปิดกั้นทิศทั้ง ๖ ไม่ให้ทุกข์เกิดเข้ามาทางทิศทั้ง ๖ นี้
เกี่ยวกับบิดามารดา ผู้เกิดเรามา แก่เฒ่าชราแล้วนี่ เราจะต้องปฏิบัติต่อทิศนี้อย่างไรจึงจะไม่มีข้อบกพร่อง จึงจะไม่มีปัญหา จึงจะไม่มีสิ่งที่เรียกว่าใช้ไม่ได้ คือความไม่ถูกต้อง แล้วข้างหลัง บุตรภรรยาต้องรับผิดชอบ มีความถูกต้อง ทำให้ดีที่สุด ให้ถูกต้อง ผิดทิศเบื้องหลัง ผิดทิศเบื้องซ้าย อย่าให้เกิดความยุ่งยากลำบาก วิกฤตการณ์ใดๆ จากเพื่อนฝูงและมิตรสหาย ข้างขวามือจากครูบาอาจารย์ ได้รับประโยชน์เต็มที่ ไม่มีข้อขัดข้อง แล้วผู้อยู่เหนือ ผู้บังคับบัญชาขึ้นไป จนถึงพระอริยเจ้านั้นก็อยู่ข้างบน ที่มันอยู่ข้างบนเหนือเรา อย่าให้มันมีอันตราย อย่าเปิดช่องโหว่ให้มันเกิดความผิดพลาดอันตรายขึ้นมา ข้างล่าง พวกอยู่ใต้บังคับบัญชา ลูกจ้าง กรรมกร อะไรก็ตาม ก็อย่าให้มันเกิดปัญหา นี่เราทำได้กี่มากน้อย เราปิดกั้นทิศทั้งหมดได้สมบูรณ์หรือไม่ ผู้ปิดกั้นทิศทั้ง ๖ ได้สมบูรณ์นี้เรียกว่า เก่งมาก วิเศษมากในการเป็นฆราวาส ในการเป็นคฤหัสถ์ นี้เรียกว่าเรื่องโลกๆ กันแล้ว พระพุทธเจ้าท่านออกไปเป็นพระพุทธเจ้า จากโลก ท่านก็ปฏิบัติครบถ้วนถูกต้องตามทิศ เรียกว่า ปิดโดยอัตโนมัติ, ปิดโดยอัตโนมัติ เพราะความไม่มีตัวตน ไม่มีของตน มันไม่มีความเห็นแก่ตน ฉะนั้นไม่มีทางจะทำผิดพลาดใดๆ เกี่ยวกับทิศทั้ง ๖ นี้ เพราะมันว่างจากตัวตน เป็นความว่างจากตัวตน ท่านประพฤติสิ่งที่เรียกว่า พุทธจริยา ด้วยเหมือนกันนะ พุทธจริยานี้มี ญาตัตถจริยา คือจริยาที่จะต้องประพฤติต่อญาติ ท่านมีหน้าที่ประพฤติในฐานะเป็นพระพุทธเจ้าหรือเป็นอะไรก็ตาม แต่ท่านก็มีหน้าที่จะประพฤติต่อญาติ ท่านจึงทำถูกต้อง ให้ญาติทั้งหลายได้รับประโยชน์ที่สุดในการเป็นอยู่ สมกับที่ว่าออกไปนี้ก็เพื่อไปหาทางที่จะดับทุกข์มาให้แก่ญาติทั้งหลาย บุคคลเป็นที่รักที่พอใจนี้ ไม่ใช่ออกบวชไปเพื่อให้ใครมาเสียใจเดือดร้อนรำคาญ ออกไปหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ ท่านก็ได้ทำสำเร็จ และท่านถือว่าทั้งโลก ทั้งโลกเป็นญาติ แล้วท่านก็ยังทำพระองค์ ลดพระองค์ลงมาเป็นญาติแก่ทุกคน, แก่ทุกคน เป็นกัลยาณมิตรแก่ทุกคน ในบรรดาสิ่งที่มีชีวิต มีการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย ท่านสมัครที่จะเป็นญาติแก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น แต่เป็นกัลยาณมิตร คือช่วยให้รอดจากความทุกข์ มีพระสัพพัญญุตญาณเต็มเปี่ยมในข้อนี้ จึงช่วยได้หมด เรียกว่าท่านไม่บกพร่องในทิศทั้งหลาย ในทิศทั้ง ๖ แล้วแต่ว่ามันจะมีหรือไม่ ถ้ามันไม่มีก็แล้วไป แต่ถ้ามันมี ท่านก็ปิดกั้นไม่ให้เกิดความบกพร่องในทิศทั้งปวง แล้วปัญหาแวดล้อมรอบด้านอย่างโลกๆ โลกๆ นี้ ก็ไม่เกิดแก่พระพุทธเจ้า นี่เรียกว่าท่านปิดกั้นทิศทั้ง ๖ เราอยู่ในโลกนี้ มีทิศเป็นประตูทั้ง ๖ นี่ ปิดกั้นกันดีกี่มากน้อย ช่วยกันชำระสะสาง จะได้มองเห็นพระพุทธเจ้าผู้สูงสุด ท่านปิดกั้นปัญหารอบด้านได้อย่างไร ฉะนั้นเราก็น่าจะดำเนินรอยอย่างนั้นแหละ อย่าให้มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นมาได้ ทำสำเร็จถึงที่สุดในความเป็นฆราวาส เป็นฆราวาส
นี่ก็จะขอพูดเลยต่อไปถึงเรื่องจุดสูงสุด สุดท้ายของความเป็นฆราวาส ที่ถือเป็นหลักกันมาแต่โบราณกาล ในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นต้นตอของวัฒนธรรมที่พวกเรารับเอามา พวกเราคนไทยอย่าอวดดีไป รับวัฒนธรรมอินเดียมาทั้งนั้นแหละ ที่มาทำอยู่ มีอยู่ อะไรอยู่นี้ เรียกว่าเป็นเมืองขึ้น เป็นเมืองขึ้นทางวัฒนธรรมของอินเดีย วัฒนธรรมทุกอย่างส่วนใหญ่ ส่วนมากรับมาจากวัฒนธรรมอินเดีย เพิ่งมารู้จักฝรั่ง รับวัฒนธรรมฝรั่งเล็กๆ น้อยๆ ไม่นานนี้ แต่ก็ไม่มีอะไรดีกว่า ฉะนั้นเราพิจารณาวัฒนธรรมอินเดียเป็นหลักเกณฑ์กันได้ ที่เขาถือกันอยู่ว่าเป็นฆราวาสนี่จะต้องถึงจุดสูงสุดของความเป็นฆราวาส นี้เรียกว่า โวหารสมุจเฉท โวหารสมุจเฉท สิ้นสุดแห่งโวหาระ โวหาระนี้หมายถึงการใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ ทำนองเดียวกับการค้าขาย
คำเดิมในภาษาอินเดียโบราณ คำว่า โวหาร โวหาระ โวหารนี้แปลว่า การค้าขาย ทั้งค้าทั้งขาย เรียกว่า สังโวหาระ รูปิยสังโวหาระ ค้าขายด้วยรูปิยะ โวหาระ แปลว่า การลงทุนค้าขาย ถือว่าชีวิตนี้เหมือนกับการลงทุนค้าขาย ธรรมชาติให้มาเป็นชีวิต เป็นเดิมพัน เอามาลงทุนทำการค้าขายให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น, ยิ่งขึ้น, ยิ่งขึ้น จนถึงวาระสุดท้าย ไม่มีอะไรจะต้องทำอีกต่อไป ก็เรียกว่า เป็นผู้ถึงที่สุดแห่งโวหาระ เป็นโวหารสมุจเฉท ไม่ต้อง ไม่ต้องเป็นนักบวช ไม่ใช่ออกบวช เพราะประเพณีนั้นมันก็ยังไม่ ไม่ ไม่ยึดนักบวชเป็นหลัก ยึดเอาชีวิตตัวเองเป็นหลัก คือว่าได้เป็นหนุ่ม ได้มีบ้านเรือน ได้เป็นหนุ่มสาว ได้มีบ้านเรือน ได้มีทรัพย์สมบัติ ได้ทำการทรัพย์สมบัติ ได้ลงทุนค้า จนถึงที่สุดที่คนธรรมดานั้นเขาจะทำได้ ก็คือมีหลักทรัพย์นั่นเอง มีหลักทรัพย์เพียงพอ, มีหลักทรัพย์เพียงพอ มีหลักทรัพย์มหาศาล เป็นกระฎุมพี เป็นเศรษฐี เป็นอะไรก็ตาม มีหลักทรัพย์มหาศาล แล้วก็มอบหมายกิจการทั้งหมดนั้นให้ลูกให้หลาน ตัวเองก็เป็นอิสระ นุ่งผ้าขาว ใส่เสื้อขาว สวมรองเท้าขาว กั้นร่มขาว เที่ยวเดินพักผ่อนหย่อนใจอยู่ตามลานหญ้าริมแม่น้ำที่ร่มเย็น เป็นผู้หมดภาระในเรื่องชีวิตกับโวหาร นี่ คนอย่างนี้ก็เรียกว่า โวหารสมุจเฉท ใครได้เป็นได้มี ก็มีเกียรติ มีหน้ามีตายกย่องกัน คือคบหาสมาคมกันแต่บุคคลที่บรรลุถึงขั้นนี้ นี่ ชีวิตโวหาระตามแบบเดิม
ทีนี้พระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ท่านว่าไม่หมด ยังไม่จบ มีเศรษฐีคนหนึ่งที่เป็นชีวิตโวหารสมุจเฉทนี่ พบกัน เฝ้าพระพุทธเจ้า เขาก็อวดดีว่า เขาเป็นผู้จบสิ้นชีวิตโวหาระ พระพุทธเจ้าว่า ฉันไม่เชื่อ ก็ถามถึงเรื่องทางจิตใจสิ ทางจิตใจ เดี๋ยวก็เจอ คุณยังมีห่วงอะไร มีรักอะไร มีโกรธอะไร มีเกลียดอะไร มีกลัวอะไร ตื่นเต้นอะไร มันก็มีหมดสิ เดี๋ยวก็ เอ้า, นี่มันยังไม่หมดนี่ นี่มันเป็นแต่ชีวิตโวหาระอย่างชาวบ้านโลกๆ มาหมดปัญหาอย่างนี้สิ หมดปัญหาเรื่องกิเลส เรื่องกิเลส รัก โกรธ เกลียด กลัว อย่างนี้สิ นี่เขาจึงยอมรับว่า เออจริง แสดงว่าพระพุทธเจ้านี่เป็นผู้จบการค้าแห่งชีวิตยิ่งกว่าบุคคลใดๆ ยิ่งกว่าขนบธรรมเนียมประเพณีที่มันมีอยู่แต่ก่อน และใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ถึงที่สุดเท่าที่มันจะเป็นไปได้ เพียงแต่ค้าขายมีหลักทรัพย์ร่ำรวยมอบให้ลูกให้หลาน ตัวเองมาออกใส่ชุดขาว เที่ยวเดินอยู่ตามริมตลิ่งอากาศดี นี้ยังไม่พอ ยังไม่พอ ต้องละโลภะ โทสะ โมหะ ละกิเลส ละอาสวะ พูดกันนาน จนคนนี้เขาเข้าใจ
นี่เรื่องชีวิตโวหารนี้ต้องถือว่า พระพุทธเจ้านี่ถึงที่สุด เพราะหมดกิเลส หมดอาสวะ ทีนี้เรา เพียงแต่จะทำให้เรียบร้อยในบ้านในเรือนนั้น มันก็ยังไม่พอ ที่จะเป็นถึงที่สุดอย่างนายคนนี้ได้ ก็ยังไม่ค่อยจะมี, ยังไม่ค่อยจะมี ถึงแม้จะมี มันก็ยังไม่จบชีวิตโวหาระ ยังไม่จบการใช้ชีวิตเป็นเดิมพันด้วยการค้าให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ฉะนั้นขอให้ยอมรับหลักการอันนี้เถิดว่า ชีวิต ชีวิตที่ธรรมชาติให้มานี้ มันให้มาเพื่อเป็นทุนหรือเป็นเดิมพันสำหรับทำการค้า ทำการค้าด้วยชีวิต ของชีวิต เพื่อชีวิต ให้ถึงที่สุดให้จนได้ ถ้าเรารู้จักเพียงเท่านั้น มันก็หยุดเพียงเท่านั้น พระพุทธเจ้าท่านรู้ขึ้นไปสุดยอดนะ เป็นดับทุกข์สิ้นเชิง หมดกิเลส เป็นพระอรหันต์ จึงกล่าวได้ว่า ชีวิตโวหาระอย่างของพระพุทธเจ้านั้น มันสูงสุดกว่าของพวกเรามาก เราจึงแกะรอย คือแกะรอยให้ถึงที่สุด ให้ดีที่สุด ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เป็นโวหารสมุจเฉท แปลตามตัวคล้ายๆ ว่า จบการค้า จบการค้าขาย สิ้นสุดการค้าขาย จบการค้าขายที่ต้องใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน ในเมื่อเปรียบเทียบดูของเรากับของพระพุทธเจ้า มันยังห่างไกล รู้จักพระพุทธเจ้าในฐานะเป็นผู้สิ้นสุดแห่งชีวิตโวหาระ นี่ไม่พูดอย่างศาสนากันแล้ว พูดอย่างธรรมชาติล้วนๆ กันแล้ว ธรรมชาติให้ชีวิตนี้มาเพื่อใช้ลงทุนให้เป็นประโยชน์ที่สุด จะเป็นประโยชน์ที่สุดได้อย่างไร ก็ให้ถึงที่สุด พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ถึงที่สุด พระอรหันต์ทั้งหลายก็ได้ถึงที่สุด ไอ้เรามันก็คลานต้วมเตี้ยมกันอยู่ที่นี่ ควรจะรู้จักทำให้ แกะรอย, แกะรอย ให้ดี ให้ถึงยิ่งๆ ขึ้นไป อาจจะถึงที่สุด
ไอ้คำสุดท้ายที่จะพูดในคราวนี้ก็คือคำว่า ทายาท ทายาท ภาษาบาลีว่า ทายาท ภาษาไทยก็ว่า ผู้รับมรดก ผู้สืบสกุล ผู้สืบสกุล นี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดนึกเหมือนกัน เพราะว่าเป็นปัญหาแก่บุคคลที่เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นสาธุชนคนดีนี่ ก็ยังมีปัญหาเรื่องทายาท มีปัญหากลุ้มใจเรื่องทายาท ทายาทมันไม่ทำตามที่ประสงค์ แล้วบางทีมันทำสิ่งตรงกันข้ามเสียอีก ก็เลยเป็นทุกข์ หรือเป็นห่วง หรือวิตกกังวล แต่ถ้าเข้าใจคำว่า ทายาท ให้ถูกต้อง ปัญหามันจะลดลงได้มาก
ใครเป็นทายาทที่แท้จริง นี่มีอยู่หลายขั้นตอน ลูกหลานที่เกิดมานั่นแหละเป็นทายาท อย่างนี้ก็ขอให้มองดูพระพุทธเจ้า ลูกหลานของพระพุทธเจ้าได้อยู่มาถึงเรา คนไหนบ้าง ใครรู้จักพระราหุลสักกี่คน ไม่ นั่นแปลว่าพระพุทธเจ้ามีอะไรเป็นทายาท ท่านมีทายาท คือผู้ที่ปฏิบัติตามท่านจนเป็นพระอรหันต์ด้วยกันนั่นแหละเป็นทายาท เป็นธรรมทายาท ถ้าว่าเป็นทายาททางสายโลหิตแล้ว มันมีปัญหาแน่ แล้วมันก็ไม่ค่อยจะจริงด้วย เอาเรื่องโลกๆ โลกๆ ต่ำๆ ต่ำๆ ต่ำมากๆ นี้ อย่างเรารู้จักคนมีชื่อเสียงทางวิชาความรู้ เช่น เชกสเปียร์ เชกสเปียร์ รู้กันทั่วโลก แต่ใครรู้จักลูกหลานของเชกสเปียร์บ้าง ไม่มี, ไม่มี ไม่รู้อยู่ที่ไหน แล้วใครเป็นทายาทของเชกสเปียร์ ก็ผลงานที่เชกสเปียร์ทำไว้นั่นแหละ มันยังอยู่จนบัดนี้ และมันจะอยู่ต่อไป ผลงานอะไรที่เชกสเปียร์ทำไว้อันนั้นคือ ทายาท
เทียบกันได้กับใครรู้จักพระราหุล พระราหุลทำหน้าที่ทายาทอะไร มันก็เงียบหายไป แต่ว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านได้ทำไว้ มันเป็น เหลืออยู่เป็นทายาท ผู้ที่สมัครศึกษาปฏิบัติดับทุกข์ได้สิ้นเชิงทุกคนเป็นทายาทของพระพุทธเจ้า ฉะนั้นก็กล่าวได้ว่า พวกเรานี่แหละเป็นทายาท ถ้าเราเป็นธรรมทายาท เรารับช่วงการศึกษาการปฏิบัติดับทุกข์ได้สิ้นเชิง เราทุกคนก็เป็นทายาทของพระพุทธเจ้า ตามที่พระพุทธเจ้าทรงหวังนักหนาว่า จงเป็นธรรมทายาทเถิด อย่าเป็นอามิสทายาทเลย อามิสทายาทเป็นในทางสายโลหิต ทางวัตถุสิ่งของ รับมรดกสิ่งของนี้ นี่เป็นอามิสทายาท มันไม่แน่นอน แต่ถ้าเป็นธรรมทายาท รับเอาธรรมะมาปฏิบัติดับทุกข์ตามรอยพระพุทธองค์ นั่นน่ะมันจะแน่นอน, แน่นอน และก็ยืดยาว, ยืดยาว แล้วสืบต่อมาจนถึงบัดนี้ ถ้าถาม อะไรเป็นทายาทของพระพุทธเจ้า ก็คือศาสนาของพระองค์ที่ยังคงมีอยู่เดี๋ยวนี้แหละ คือทายาทของพระพุทธเจ้า เช่นเดียวกับผลงานของเชกสเปียร์ มันเป็นทายาทของเชกสเปียร์ อยู่มาจนถึงบัดนี้และจะไม่สิ้นสุดลงไปได้ง่ายๆ ศาสนานี้ก็เหมือนกัน พระพุทธศาสนานี้เป็นทายาท เป็นผู้รับช่วงสืบมรดก สืบสายโลหิต สืบสกุลนั่นแหละ เป็นธรรมทายาท พวกเราทุกคนเป็นทายาท สมัครอย่างนี้ดีกว่า เป็นทายาทของพระพุทธเจ้าที่จะรับช่วงทุกอย่าง การศึกษาก็ดี การปฏิบัติก็ดี การได้รับผลของการปฏิบัติก็ดี เราจะเป็นทายาท
ทีนี้ ก็หันมาดูคนที่เขาหวังในทายาท ในลูกในหลานตาดำๆ นี่ ต้องนั่งร้องไห้น้ำตาไหลไม่รู้กี่ราย กี่สิบราย มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่สมหวัง นี่เราก็หวังแต่ทายาทชนิดนั้นกันอยู่เท่านั้น ลงทุนลงรอนอะไรให้จนหมดสิ้น จนสิ้นเนื้อประดาตัวก็มี ไอ้ทายาทเหล่านั้นก็ยังกบฏอยู่นั่นเอง ไอ้ทายาทชนิดนี้มันต้องรู้จักกันไว้บ้าง แล้วเราก็หลงกันอยู่แต่ทายาทชนิดนี้ บางทีไม่ได้มาวัดก็เพราะทายาทชนิดนี้ รู้จักกันไว้บ้าง ไม่ได้เข้าไปหาพระพุทธเจ้าก็เพราะเป็นห่วงทายาทชนิดนี้นั่นแหละ แล้วเมื่อตัวเองก็ไม่มีธรรมะแล้ว ก็สอนลูกหลานให้มีธรรมะไม่ได้ มันก็สูญสิ้น สูญสิ้นกันไปแหละ ถ้าจะเป็นทายาทจริงๆ มีธรรมทายาท แล้วก็ไปอบรมลูกหลาน ลูกเหลน เหลนโหลนอะไรก็ตาม ให้มันมีธรรมะ เป็นธรรมทายาท ทายาท, ทายาท นี้จะเป็นทายาทที่จริง ที่แท้ ที่จะไม่รู้จักตาย โดยมีธรรมะเป็นแกน แกนกลาง เป็นธรรมทายาท
เอาละชักเหนื่อยแล้ว ยุติว่าตัวอย่างที่จะเอามาพูดกันนี่ มันก็มี มีอยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้นขอให้เรารู้จักพระพุทธเจ้าเพิ่มขึ้นๆ ให้มากกว่าปีเก่า ปีก่อน ปีกลาย กันเถิด โดยพิจารณาตามที่กล่าวมานี้ ว่าพระพุทธองค์เป็นอย่างไร พระพุทธองค์เป็นอย่างไร พระองค์มีศรัทธาอย่างไร มีสรณะอย่างไร มีศีลอย่างไร มีทานอย่างไร มีสติอย่างไร มีสัมปชัญญะอย่างไร มีขันติอย่างไร มีหิริ-โอตตัปปะอย่างไร มีสัปปุริสธรรมอย่างไร มีภาวนาอย่างไร มีวิมุตติอย่างไร มีอุเบกขาอย่างไร มีสุญญตาอย่างไร มีอตัมมยตาอย่างไร มีทิศทั้ง ๖ อย่างไร มีโวหารสมุจเฉทอย่างไร กระทั่งว่ามีทายาทอย่างไร มาก มากพอแล้วสำหรับครั้งหนึ่งครั้งเดียวที่จะวินิจฉัยเพื่อให้เรารู้จักพระพุทธเจ้ามากขึ้นกว่าปีเก่า
ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคน ทั้งที่อุตส่าห์มาจากที่ไกลเหนือใต้ สุดใต้ สุดเหนือนั่น ก็ช่วยเอาไปคิดสักนิดเถิด มันจะได้ผลคุ้มค่ามา ค่าเวลา ค่าเหน็ดเหนื่อย เงินทองที่เสียไป ให้ได้รับประโยชน์อย่างคุ้มค่า คือเอาไปใช้ปรับปรุงจิตใจ ยกสถานะแห่งจิตใจให้มันไกลจากสามัญสัตว์ ใกล้พระพุทธเจ้าขึ้นไปทุกที, ใกล้พระพุทธเจ้าขึ้นไปทุกที อย่าอยู่เพียงแค่สามัญสัตว์บุถุชนเต็มขั้นกันนักเลย ทิ้งเสียบ้าง จะได้ไปเป็นพระพุทธเจ้าองค์น้อยๆ ใกล้พระพุทธเจ้าองค์ใหญ่ คือเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ยิ่งกว่าที่แล้วมา นี่คือข้อที่ว่า เราจะมารู้จักพระพุทธเจ้าให้ดีกว่าปีเก่า เราจะต้องรู้จักโดยรายละเอียดทั่วถึง เช่น เราจะรู้จักภูเขาสักลูกหนึ่ง เราจะดูตั้งแต่ที่ไกล เราจะดูทั้งที่ใกล้ แล้วเราจะสำรวจทั่วทุกกระเบียดนิ้วของภูเขาลูกนั้น จึงจะเรียกว่าเรารู้จักภูเขาลูกนั้น ความเป็นมนุษย์ของเราน่ะ มันลึกซึ้งใหญ่กว้างแค่นี้ ฉะนั้นเราจะอาศัยหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้กล่าวไว้อย่างครบถ้วน ไม่ใช่มากมายจนเหลือวิสัย อย่าเข้าใจว่ามากมายเหลือวิสัย ท่านกล่าวไว้พอดี พอดี ถูกต้อง และครบถ้วน และพอดี แกะรอยพระพุทธองค์ ไม่ใช่วัดรอยหรือดูถูกดูหมิ่น แกะรอย หมายความว่า ตั้งใจทำตามให้ดี ไม่ใช่วัดรอย ไม่ใช่จะเอาไปเปรียบเทียบ จะดูถูกดูหมิ่น ไม่ใช่ นี่เราจะเดินตามรอยพระยุคลบาท, ตามรอยพระยุคลบาท ให้ไปสู่ความเป็นพุทธะ แม้จะไม่ใช่สัมมาสัมพุทธะ ก็ยังคงเป็นพุทธะได้อยู่ดี ขอให้ทำอยู่อย่างนี้ ชำระสะสาง แล้วก็เพิ่มให้สูงขึ้นๆ อย่างนี้ อยู่ด้วยกันทุกปี ทุกๆ ปี ให้สมกับที่อ้างกันเองว่าเป็นพุทธบุตร พุทธบุตรคือเป็นลูกของพระพุทธเจ้า มีพระพุทธเจ้าเหมือนกับบิดา จะรับมรดกของบิดา แล้วก็เดินไปให้ใกล้จุดหมายปลายทางเดียวกัน
ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนมีความสำเร็จในการรู้จักพระพุทธเจ้ามากขึ้นทุกปี ปฏิบัติตามมากขึ้นทุกปี ใกล้ความเป็นลูกของพระพุทธเจ้าโดยแท้จริงยิ่งๆ ขึ้นไปทุกปี ก็ไม่เสียที ก็จะไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา ขอให้ประสบความสำเร็จในความหวังดังที่กล่าวมา ปีนี้ขอโอกาสพูดอย่างนี้, พูดอย่างนี้ อย่างเดียวว่า จงรู้จักพระพุทธเจ้าให้ดีกว่าปีเก่า ยิ่งขึ้นไปด้วยกันจงทุกๆ คน ขอได้ถือเอาให้สำเร็จประโยชน์ คือว่าเดินตามหรือเดินใกล้ นั่งใกล้ อยู่ใกล้พระพุทธเจ้ากว่าปีเก่า สำเร็จตามความมุ่งหมายที่ได้มาเป็นมนุษย์ นับถือพระพุทธศาสนา ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติธรรมเทศนาไว้แต่เพียงนี้