แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการพูดกันเป็นครั้งที่ ๓ นี้ จะพูดโดยหัวข้อว่า “การควบคุม บังคับกิเลส” การบังคับควบคุมกิเลส เป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องทำ อย่างกับว่าเป็นหัวใจของเรื่อง เพราะว่าความทุกข์มันมาจากกิเลส เราก็ต้องจัดการที่ต้นเหตุคือความทุกข์ นี่ก็เป็นหลักสำคัญ หรือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ศาสนาอื่นเราไม่เข้าใจของเขา เราก็ไม่วิพากษ์วิจารณ์อะไรมาก นอกจากจะบอกให้เห็นว่า มันแปลก คือเขาต้องการให้พระเจ้าหรือเทวดา ผีสาง หรือพระเจ้า นี่มาช่วยดับทุกข์ แต่ถ้าเราถามเขาว่า ความทุกข์มันมาจากพระเจ้าหรือ ก็เป็นเรื่องที่อึกอักๆ บางคนอาจจะตอบว่ามาจากพระเจ้า ความทุกข์มาจากพระเจ้า เราก็คบกันไม่ได้กับพระเจ้า แล้วความทุกข์มาจากผีสางเทวดาหรือ ที่จะไปบนบานศาลกล่าวให้เขาช่วย เรามีหลักว่าความทุกข์มาจากอะไร ก็ต้องจัดการกับสิ่งนั้น ตอบอย่างไม่มีทางผิด ความทุกข์ก็มาจากกิเลส มาจากกิเลส
คนที่ไม่รู้จักกิเลสนะ ต้องถือว่าเป็นคนโง่ที่สุด บรมโง่ที่สุดในโลก ไอ้คนที่มันไม่รู้จักกิเลส ถือว่ามันยัง เป็นคนโง่ที่สุด ถ้ามันยังไม่รู้จักกิเลส ตั้งแต่เกิดมาจนบัดนี้ มันมีกิเลสกี่มากน้อยเล่า ถ้ายังไม่รู้จักกิเลส มันก็ต้องเรียกว่าโง่ที่สุด และมันก็เกิดในใจ เกิดที่ตัว ที่เนื้อ ที่กาย วาจา เกิดเกี่ยวกับตนแท้ๆ แล้วก็ยังไม่รู้จัก นี่ถ้าจะมองหาคนที่โง่ที่สุดในโลก ก็ดูที่คนที่มันไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่ากิเลสนั่นแหละ พูดกันได้พอสมควรว่าไอ้ รู้จักกิเลส ๆนี่ คือพอมีความทุกข์ คนก็หาเรื่องกลบเกลื่อนความทุกข์ ไปดูหนังเสีย ไปกินเหล้าเสีย ไปทำอะไรเสีย เพื่อจะกลบเกลื่อนความทุกข์ หลอกตัวเอง โดยไม่ดูว่าไอ้ความทุกข์นี่มันมาจากอะไร ถ้าเขามีหลักเกณฑ์ว่า พอความทุกข์เกิดขึ้นแล้ว เราจะหาต้นเหตุของมัน เพียงเท่านั้นแหละ มันจะรู้จักกิเลสแหละ มันจะรู้จักกิเลส กิเลสน้อยๆ เช่น นิวรณ์ นี่ก็เป็นพวกกิเลสเหมือนกัน เรียกว่ากิเลสเหมือนกัน กิเลสที่เกิดขึ้นมาเต็มรูปแบบก็เรียกว่า กิเลส
รู้จักนิวรณ์ก่อน ถ้าไม่รู้จักนิวรณ์นี่โง่ โง่มากไปกว่าไม่รู้จักกิเลสเสียอีก ไม่รู้จักกิเลสนี่ก็บรมโง่นะ แต่ถ้าไม่รู้จักนิวรณ์ๆ กิเลสน้อยๆ ที่รบกวนกันอยู่ประจำ ยังไม่รู้จัก ก็ต้องเรียกว่าโง่ยิ่งกว่าโง่ที่สุดกันเสียอีก คุณก็บวชมาหลายวันแล้ว เรียนนักธรรม คงจะเรียนเรื่องนิวรณ์กันแล้วกระมัง ๕ ประการ
กามฉันทะ ความคิดที่มันครุ่นแส่ไปในทางกาม ทางเพศ มันรบกวนอยู่กระทั่งแม้วันนี้มั้ง ความคิดที่มันแส่ไปในทางกาม ทางเพศ มันง่าย มันมาก มันเคยชินอะไรเหลือเกิน พยาบาท คือขัดใจ ไม่ชอบนั่น ไม่ชอบนี่ จนกระทั่งไม่รู้ว่าไม่ชอบอะไรก็ไม่รู้ แต่มันอึดอัดขัดใจ นี่นิวรณ์ที่ ๒ นิวรณ์ที่ ๓ ถีนมิทธะ จิตหดเหี่ยวถอยกำลัง ซึมเซา มึนงงนี่ มึนชาไปหมดนี่ จะทำอะไรก็ทำไม่ได้ดี คิดอะไรก็คิดไม่ได้ นี่เรียกว่ากิเลสที่เป็นถีนมิทธะ จิตซบเซาลงไป นิวรณ์ที่ ๔ อุทธัจจะกุกกุจจะ นี่ตรงกันข้ามคือฟุ้งไป พร่าไป กระจัดกระจายไป มันตรงกันข้ามกับถีนมิทธะ ถีนมิทธะมันฟุบแฟ่บ เหี่ยวหด หุบ มึน ถ้าอุทธัจจะกุกกุจจะ แล้วก็ฟุ้งซ่าน เพ้อเจ้อเกินกว่าเหตุ อันที่ ๕ สำคัญมากตัวนี้ วิจิกิจฉา ความลังเล ความไม่แน่ใจ ไม่แน่ใจว่าข้าพเจ้าเป็นผู้ปลอดภัยที่สุด มีอะไรครบถ้วนที่สุด เอาตัวรอดได้แน่ ถ้าว่าเป็นพ่อบ้านแม่เรือนมีภาระมาก ก็แน่ใจได้ว่าอนามัยสุขภาพดีกันทั้งครอบครัว การเงินก็ดีกันทั้งครอบครัว เกียรติยศชื่อเสียงก็ดี ทุนรอนก็ดี หลักทรัพย์ก็ดี อะไรก็ดีๆ ปลอดภัยแน่ เดี๋ยวนี้มันก็ไม่แน่ใจ มีเงินตั้งล้านๆ แล้วมันก็ยังไม่แน่ใจ ความไม่แน่ใจว่าปลอดภัย ว่ามีความรู้เพียงพอ มีความสามารถเพียงพอ มีทุนรอนเพียงพอ มีกำลังเพียงพอ มีเพื่อนฝูงเพียงพอ นี่มันไม่แน่ใจ มันไม่แน่ใจลงไปได้ นี้เรียกว่าวิจิกิจฉา แปลว่าความลังเล แต่ที่แท้คือความไม่แน่ใจลงไปได้ว่าปลอดภัยในทุกแง่ทุกมุม
ใครไม่มีนิวรณ์? ในแต่ละวัน ใครไม่มีนิวรณ์? ดูตัวเอง มีวันละกี่ครั้ง วันละกี่อย่างเข้าไป แต่เพราะไม่ดู ไม่สังเกต ไม่เฝ้าดู มันก็ไม่เห็น มันก็ไม่พบ มันก็ไม่รู้จัก แล้วจะให้เรียกว่าอย่างไร ถ้าจะไม่เรียกว่าโง่ที่สุด บรมโง่ที่สุด สิ่งที่รบกวนอยู่แทบจะหาเวลาว่างไม่ได้ มันก็ยังไม่รู้จัก จะเอาอย่างไรล่ะ นี่เป็นเพียงนิวรณ์เท่านั้น ไม่ใช่กิเลสเต็มรูป
ถ้ากิเลส เรียกว่ากิเลสเต็มรูป ก็มี ๓ ประเภทคือ ราคะ โทสะ โมหะ นี่ตัวมันโต ตัวมันใหญ่ แล้วมันก็ร้อนเป็นไฟ ถึงขนาดร้อนเป็นไฟ เรียกว่า ราคะโทสะ โมหะ ก็มี เรียกว่าโลภะ โกธะ โมหะ ก็มี เหมือนกันแหละ จะเรียกว่าราคะหรือโลภะก็ได้ จะเรียกว่าโทสะหรือโกธะก็ได้ จะเรียกว่าโมหะก็ได้ ๓ ชื่อ ๓ ประเภท แม้เราจะได้ยินชื่อ เขาพูดกันอยู่ แม้จะกำลังเรียนอยู่เรื่องนี้ ก็อาจจะไม่รู้จักตัวมันก็ได้ นี่คิดดูให้ดี ในห้องเรียนคุณกำลังเรียนเรื่องโลภะ โทสะ โมหะ แต่ไม่รู้จักตัวมันก็ได้ มันมีอยู่ในสมุด ขอให้พยายามรู้จักมันให้ดีๆ ว่าไอ้กิเลสนี่ ช่วยจำไว้ว่าผมพูดไม่เหมือน อธิบายไม่เหมือนใคร ไม่เหมือนในโรงเรียนน่ะ แต่ว่าใครจะเอาไปอธิบายบ้างก็คงจะเหมือน ว่ากิเลสประเภทแรกคือ ราคะ หรือ โลภะนั่นน่ะ มันเป็นกิเลสที่ดึงเข้ามาหาตัว ดึงอะไรเข้ามาหาตัว เอาเข้ามากอดรัดไว้ นี่กิเลสพวกนี้เรียกว่าโลภะ หรือ ราคะ ทีนี้กิเลสที่ ๒ คือโทสะ หรือ โกธะนั้น มันเป็นกิเลสที่ตีกลับออกไป ผลักกลับออกไป หรือจะฆ่าเสียให้ตาย ทีนี้กิเลสประเภทที่ ๓ โมหะ นะมันไม่รู้ มันโง่ มันได้แต่สงสัยไม่รู้จะทำอย่างไร แต่เชื่อว่าอันนี่มันอร่อยสนุกสนาน ก็ลง วิ่งอยู่รอบๆ นี่เป็นคำอธิบายที่จะรู้จัก รู้จักกิเลสได้ดีที่สุด กิเลสที่ดึงดูดเข้ามาหาตัว กิเลสที่ผลักออกไปจากตัว กิเลสที่วิ่งอยู่รอบๆ เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ไม่รู้จะดึงเข้ามาหรือจะผลักออกไป
ถ้าเราจะรู้จักกิเลส แล้วเราก็สังเกตกิริยาอาการที่มันได้เกิดขึ้น มันทำให้เราดึงเข้ามา ดึงเข้ามาแล้วกอดรัดไว้ ยึดถือไว้อย่างเหนียวแน่น อย่างนี้ก็รู้เถอะว่าไอ้หมอนี่มันชื่อโลภะก็ได้ ราคะก็ได้ ถ้าเป็นไปในความหมายทั่วๆ ไป ก็เรียกว่าโลภะแหละในภาษาไทย ถ้าเป็นไปในแง่เพศ แง่กาม นี่ก็เรียกว่าราคะ แต่ไม่แน่หรอก ภาษาบาลีใช้ได้รวมกันเลย คำว่าราคะๆ นี่ ใช้ได้แม้ในพัสดุสิ่งของก็มี ไม่ใช่เฉพาะเรื่องกามหรือเรื่องเพศน่ะ แต่ภาษาไทยมันหมายเฉพาะกามหรือเพศ แต่ภาษาบาลี แล้วก็มีราคะแม้ในแก้วแหวนเงินทองเพชรพลอย มีราคะ ฉันทราคะในเพื่อนรัก ในเพื่อน ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งรักลูกบ้านเหมือนจะขาดใจ ก็เรียกว่า ฉันทราคะ เหมือนกัน อย่างนี้ในบาลีมี ฟังแล้วไม่น่าเชื่อ ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งรักลูกบ้าน เมื่อลูกบ้านเป็นตาย แกก็คล้ายกับจะพลอยตายไปด้วย นี่รักเอามากอย่างนี้ก็เรียกว่าราคะได้เหมือนกัน แต่ในภาษาไทยนี่เราใช้กันแคบ ราคะใช้กันเรื่องเพศ เรื่องกาม ในภาษาบาลีใช้ได้หมดทุกอย่าง ถ้ายึดถืออย่างเหนียวแน่น ก็เรียกว่าราคะหมด กระทั่งเรียกว่าราคะในพระธรรมก็มี หลงใหลในพระธรรม ก็เรียกว่าธรรมราคะ ก็มี หลงใหลในรูป เรียกรูปราคะ หลงใหลในอรูป เรียก อรูปราคะ หลงใหลในพระนิพพานด้วยอวิชชา ก็เรียกว่า ธรรมราคะ แม้จะหลงใหลด้วยปัญญาด้วยวิชา ก็ยังเรียกว่าธรรมราคะได้เหมือนกัน นี่กิเลสชนิดที่ดึงเข้ามาหาตัว ดึงเข้ามาๆ แล้วก็มาถือไว้ ยึดไว้ กอดรัดไว้เรียกว่า ราคะ กว้างๆ เรียกว่าโลภะ รุนแรงเรียกว่า ราคะ ใครไม่มี? มีโดยไม่รู้สึกตัวก็ได้ จะไม่ให้โง่ จะไม่ให้เรียกว่าโง่อย่างไร นี้โทสะ ไม่ชอบๆ ขัดใจ ถ้ามดมากัด แมงหวี่มาตอม ก็ขัดใจ โทสะ มดมาตอมก็ขัดใจ เรื่องไม่ชอบ ถ้ามันเป็นเรื่องมากกว่านั้น เราก็ขัดใจยิ่งกว่านั้น ความไม่ได้อย่างใจ ความโกรธ ความแค้น ถึงกับไปฆ่าเขาตาย ก็เรียกว่าโทสะหรือโกธะ ทีนี้โมหะ นี่มันมีมาก มันไม่รู้ๆ ก็เห็นกงจักรเป็นดอกบัวในที่สุด หรือเห็นดอกบัวเป็นกงจักร เห็นกงจักรเป็นดอกบัวก็ได้ มันก็ทำไม่ถูกไม่รู้ว่าอย่างไร ได้แต่ผูกพันธ์มั่นหมาย วิ่งตามอยู่นั่นแหละ วิ่งรอบๆ ไม่รู้ว่าจะไปหาที่ไหนก็วิ่งรอบๆ อยู่นั่นแหละ
นี่ช่วยจำไว้ให้ดี จะได้รู้จักตัวเองแล้วจะได้หายโง่ เมื่อตัวเองประกอบอยู่ด้วยราคะ โทสะ โมหะจะได้รู้จัก ว่าเดี๋ยวนี้เรากำลังมีกิเลสอะไร ถ้ามันไม่รุนแรง มันเนือยๆ มันก็เรียกว่านิวรณ์ มักจะเกิดอย่างไม่ค่อยมีเหตุผล เพราะมันออกมาจากข้างใน นิวรณ์น่ะ มันออกมาจากข้างในโดยไม่มีอารมณ์ข้างนอกเข้ามาปรุง มันมาจากอนุสัยข้างในน้อยๆๆๆ อย่างนี้เรียกว่านิวรณ์ แต่ถ้ามีอารมณ์ข้างนอกช่วยปรุงก็เป็นกิเลสน่ะ รู้จักไว้ทั้ง ๒ ชนิดน่ะ ชนิดรบกวนน้อยๆ เป็นนิวรณ์ ชนิดเผาลนใหญ่ๆ เป็นกิเลส มันไม่ได้เกิดอยู่เป็นปกติ มันเกิดเป็นคราว เมื่อมีเหตุ มีปัจจัย เมื่อมีโอกาส แต่ขอให้ สังเกตดูๆ ในชีวิตประจำวัน ถ้ามีสมุดบันทึกประจำวัน การปฏิบัติประจำวันก็ลองบันทึกไว้ดูๆ วันเดียวเกิดนิวรณ์กี่ตัว กี่ครั้ง เกิดกิเลสกี่ตัว กี่ครั้ง ลองบันทึกดู เดี๋ยวตกใจ จะน่าตกใจ เราเคยทำสมุดแบบฟอร์มไว้ใช้เมื่อปฏิบัติแรกๆ เดี๋ยวนี้หายไปไหนหมดแล้ว ก็มีประโยชน์มาก ก็ทำเอาเอง จด ตีๆ สมุดเข้า เป็นรายวันเลย วันนี้เกิดนิวรณ์ตัวไหน กิเลสตัวไหน แล้วก็ปรารภเหตุอะไร มีเหตุอะไร เกิดกิเลสก็ร้อนเหมือนกับไฟเผา เกิดนิวรณ์ก็รำคาญ รำคาญเหลือประมาณ
ทีนี้คุณก็ลองคิดดูสักหน่อยสิว่า ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ มันจะสบาย วิเศษ เยือกเย็นสักเท่าไร ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ หรือเวลาที่มันไม่มีสิ่งเหล่านี้นี่ ไม่มีจริงๆ แม้มันจะมีน้อยก็เถอะ แต่คอยดูเถอะ มันก็มีเหมือนกันแหละ เวลาที่นิวรณ์ก็ไม่รบกวน กิเลสก็ไม่ได้รบกวน แล้ว สบายเท่าไรๆ เยือกเย็นเท่าไร ปลอดโปร่งเท่าไร อิสระเสรีเท่าไร รู้จักไว้ จนกระทั่งรู้ว่า ๒๔ ชั่วโมงนั้น กิเลสเอาไปเสียกี่ชั่วโมง นิวรณ์เอาไปเสียกี่ชั่วโมง เดี๋ยวก็จะ รู้จักตัวเองดีขึ้นๆ ว่าอยู่ในสภาพอย่างไร เป็นปุถุชนกี่มากน้อย เป็นอริยชนกี่มากน้อย เป็นกัลยาณชนกี่มากน้อย ก็จะรู้ได้ ขอให้ลองกำหนดดู แต่ก็น่าเสียดายที่ไม่มีใครมาสนใจกับเรื่องเหล่านี้ ไปคุยเรื่องการเมืองกันเสียสนุกกว่า พอพบหน้า พบปะ พูดจากัน ก็คุยอะไรกันก็ไม่รู้ ไม่ยอมเสียเวลาที่จะมาคอยศึกษาเรื่องกิเลส มาจับกิเลสกัน ก็เลยไม่รู้จักกิเลส ก็เป็นคนโง่ที่สุด ไม่รู้จักแม้แต่นิวรณ์ ก็เป็นคนโง่มากกว่าที่สุด ยิ่งกว่าที่สุด นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ กิเลสจะมาจากอะไรอีกทีก็ว่ากันที่หลัง แต่ว่าความทุกข์มันมาจากกิเลสแหละ ไม่ใช่มาจากพระเจ้า ไม่ได้มาจากผีสางเทวดาที่ไหน ไม่ได้มาจากโชค จากดาว จากดวงดาว จากฤกษ์ จากอะไรต่างๆ ไอ้อย่างนั้นมันไม่มีเหตุผล มันเป็นเรื่องของคนปัญญาอ่อน เขาเรียกว่าไสยศาสตร์ ถ้าเชื่อว่าความทุกข์ มาจากเทวดา ผีสาง พระเจ้า หรืออะไร ที่ไหนก็ไม่รู้ มาจากกรรมเก่ากรรมเก่วอะไรนี้ก็ไม่รู้ อย่างนี้มันไม่ถูก
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความทุกข์ก็ตาม ความสุขก็ตาม มันเกิดมาจากปฏิบัติผิด หรือ ปฏิบัติถูก ต่อกฏอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละ ปฏิบัติถูกต่อกฏปฏิจจสมุปบาท มันก็ไม่ทุกข์ หรือจะเรียกว่าสุขก็ได้ ปฏิบัติผิดต่อกฏอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท มันก็เป็นทุกข์ มันมีเท่านั้น ไม่ได้มาจากกรรมเก่า ไม่ได้มาจากพระเจ้า หรืออะไรๆ ที่ยกรวมไว้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มัวแต่อ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช่วย เป็นคนโง่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้ทำให้เป็นทุกข์ แล้วไปอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ดับทุกข์ นี่มันโง่กี่มากน้อย ดูว่าความทุกข์มันมาจากอะไร แล้วก็จัดการกับสิ่งเหล่านั้น นั่นแหละจะเป็นพุทธ พุทธบริษัท เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จัดการถูกที่ต้นเหตุของสิ่งนั้นๆ รู้จักเหตุ รู้จักผลของสิ่งนั้นๆ
เมื่อมีกิเลส ก็หมายความว่า ทำผิดต่อกฏอิทัปปัจจยตาแล้ว ถ้าไม่เกิดกิเลสก็ยังถูกอยู่ ยังถูกอยู่ เมื่ออายตนะมันทำหน้าที่นะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ อายตนะภายใน ถึงกันเข้ากับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อายตนะภายนอก มันเกิดผัสสะขึ้นมา หรือจะเรียกว่าวิญญาณก่อน ทำให้เกิดวิญญาณขึ้น รู้แจ้ง เกิดวิญญาณรู้แจ้ง ตากระทบรูป รู้แจ้งทางตา เรียกว่าจักขุวิญญาณ หูกระทบเสียง หูรู้สึกก็เรียกว่าโสตวิญญาณ จมูกได้กลิ่น ก็เรียกว่า ฆานวิญญาณ ไปตามนั้นแหละ ๖ อย่าง ๓ ประการนี้ ยังทำงานถึงกันอยู่ เรียกว่าผัสสะๆ ตอนนี้มันมีปัญหาว่า ผัสสะโง่ หรือ ผัสสะฉลาด เวลานั้นมีปัญญาหรือมีความโง่ ถ้ามีความโง่เป็นผัสสะโง่ ถ้ามีปัญญาก็เป็นผัสสะฉลาด ถ้าผัสสะมันโง่ มันก็ยึดถือในเวทนาที่เกิดขึ้น เวทนาน่ารัก ก็รัก ก็หลง เวทนาน่าโกรธ น่ารังเกียจ ก็โกรธเกลียด เวทนาที่ไม่รู้อะไร มันก็วนเวียน สงสัยอยู่ นี่เรียกว่า เกิดกิเลสแล้ว เกิดความรักในเวทนาที่น่ารัก เกิดความโกรธในเวทนาที่น่าโกรธ เกิดความไม่รู้จะทำอะไร วนเวียนอยู่ในเวทนาที่ยังไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุข คุณรู้ให้ดีๆ ว่าไอ้เวทนาที่ไม่สุขไม่ทุกข์นะ มันก็ยังมีอิทธิพล ทำให้เราข้องใจอยู่ว่าไอ้นี่มันอะไรกันแน่ ไอ้นี่มันจะใช้ประโยชน์อะไรได้ แน่ เช่นหยิบ เช่นพบ ว่า ก้อนหินเล็กๆ ขึ้นมาก้อนหนึ่ง ไม่รู้ว่าเป็นอะไรแน่ จะเป็นหินธรรมดา หรือเป็นเพชร มันก็สงสัย มันก็ต้องหยิบออกมาเหมือนกันๆ แม้สงสัย ถ้าเห็นก้อนหิน ก็ขว้างทิ้งไป ถ้าเห็นว่าเป็นเพชร ก็ดีใจ แต่ถ้ายังสงสัยว่าอาจจะเป็นเพชรก็ได้ มันก็เอามาเหมือนกัน ในเวทนาที่ยังไม่แน่ว่าสุข หรือทุกข์ มันก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่ากิเลสประเภทหนึ่งเหมือนกัน คือโง่ ไม่รู้จักว่ามันเป็นอะไร คือโมหะ โลภะ โทสะ โมหะ
วันนี้พูดกันจนชัดเจนอย่างนี้แล้ว วันต่อไปก็คอย คอยจับตัวมันดู บันทึกลงไป วันนี้เกิดตัวไหนกี่ตัว นิวรณ์ตัวไหน กี่ตัว กิเลสตัวไหนกี่ตัว เดี๋ยวก็จะตกใจ จะตกใจว่า ทำไมมันมากขนาดนี้ ที่มันไปหัวเราะร่าเสีย เลยไม่คิดว่าเป็นกิเลส ไปสนุกสรวลเสเฮฮากันเสีย ก็เลยไม่คิดว่าเป็นกิเลส ในนั้นมันก็เป็นกิเลส คือมันพอใจ มันพอใจ พอใจในเรื่องที่คุยโปกฮากันก็เหมือนกันแหละ มันก็เป็นเรื่องของกิเลส ขอให้ทุกๆ คนเรียนเรื่องกิเลส จากกิเลส ไม่ใช่เรียนจากสมุดที่จดไว้ นั่นเพียงเรียนแต่ชื่อ เพียงแต่รู้จักชื่อ หรือบันทึก กว่าที่จะเรียนให้รู้จักกิเลสตัวจริง ก็ต้องเรียนจากกิเลสตัวจริง จะต้องเรียนจากภายในใจ ภายในใจ ในใจ ก็จะรู้จัก อย่างนั้นๆ ตัวเล็ก ตัวใหญ่ นิวรณ์หรือกิเลส จะรู้จักตัวจริง นี่คือการศึกษาที่แท้จริง เป็นพระ เป็นบรรพชิตให้สมค่า สมเกียรติ แล้วขอให้เรียนเรื่องนี้ๆ กวาดขยะอยู่ก็เรียนได้ มันรู้สึกอย่างไร ฉันอาหารอยู่ ก็เรียนได้ ว่ามันรู้สึกอย่างไร นั่งถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ก็เรียนได้ ว่ามันรู้สึกอย่างไร ทุกอิริยาบถก็เรียนได้ว่า มันเป็นกิเลสอะไร กำลังมีอยู่หรือไม่ ถ้ามีสติมากพอ มันก็จะจับตัวได้มาก รู้สึกได้มาก การมีสติทุกอิริยาบถ จึงเป็นประโยชน์ที่สุด ทำให้รู้จักความจริงเหล่านี้ กิเลสเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเราบัญญัติไว้ในกาย ในกายนี่ ทุกข์ก็ดี เหตุให้เกิดทุกข์ก็ดี ความดับไปแห่งทุกข์หรือแห่งกิเลสก็ดี หรือหนทางที่จะดับก็ดี บัญญัติไว้ในร่างกาย ที่ยาวเพียงวาเดียว บัญญัติไว้ทั้งโลกเลย ทั้งโลกบัญญัติไว้ในร่างกายที่ยาวเพียงวาเดียว
บางคนอาจจะท่องชื่อกิเลสได้หมดเลย ไม่รู้กี่สิบ กี่ร้อย แต่ไม่รู้จักกิเลส ท่องชื่อไปตามคัมภีร์อภิธรรม แต่ก็ไม่รู้จักตัวจริง รู้จักแต่ชื่อ ก็พูดเก่ง เป็นข้าวตอกแตก น้ำไหลไฟดับ ถ้าอย่างนี้ก็ไม่รู้จักกิเลสหรอก คำว่ากิเลสๆ คำนี้ แปลว่า สกปรกๆ ถ้าพูดให้สุภาพหน่อย ก็ว่าเศร้าหมองๆ พอมีแต่จิต จิตก็เศร้าหมองๆ เศร้าหมองแหละ คือสกปรก เขายืมเอาชื่อของ ของสกปรกในโลกนี้ ที่พบกันอยู่ตามธรรมดาก่อนนี้ ไปใช้เป็นชื่อของความสกปรกในจิตใจ ที่เรียกว่ากิเลส มันก็เลยเป็นคำๆ เดียวกัน จะสกปรกข้างนอก ก็เป็นของสิ่งของ สกปรกข้างใน ก็เป็นกิเลส กิเลสคือของเศร้าหมอง ของสกปรก สกปรกแก่จิตใจ พอจิตใจสกปรกเข้า ก็ทำอะไรไม่ถูก มันจึงโง่ จึงหลง จึงบวก จึงลบ เป็นโลภะ โทสะ โมหะ ได้อย่างใจก็เป็นบวก ไม่ได้อย่างใจก็เป็นลบ ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร ก็สงสัยอยู่ ไม่แน่ว่าจะเป็นบวกหรือจะเป็นลบ ขอให้รู้จักกิเลส พอเกิดขึ้นแล้ว มันก็เป็นอย่างนี้ ถ้ามันเกิดเป็นบวกขึ้นมา มันก็ทรมานเราอย่างบวก คือให้หลงรัก พอใจ หวัง ยึดครองตลอดกาล กลัวว่าจะหมดไปเสีย กลัวว่าจะพลัดพรากจากกันไปเสีย นี่เรื่องบวก ถ้าเรื่องลบ ก็ทรมานเอา มันก็ กัดเอาๆๆ ไม่บวกไม่ลบ ก็ไม่รู้จะทำอะไรดี เก้ๆ กังๆ อยู่นั่นแหละ แต่ก็จะมีความวิตกกังวล สงสัย อาลัยอาวรณ์อยู่นั่นแหละไม่รู้ว่าจะเป็นอะไรกัน ก็เป็นเรื่องทรมานใจเหมือนกัน อย่างนี้เป็นแง่ของ ร้อน เผาลน เป็นไฟ แต่ถ้าจะมองในอีกแง่หนึ่งว่า มันครอบงำจิต หุ้มห่อจิต ท่วมทับจิต เรียกเป็นน้ำไปเสียก็มี แต่เป็นน้ำท่วม เป็นน้ำที่ท่วม กิเลสน่ะเป็นน้ำที่ท่วมจิต คิดดูให้ดี พอเราจมอยู่ใต้น้ำ ถ้าเราถูกจับกดลงไปใต้น้ำน่ะ มันรู้สึกอย่างไรบ้างๆ ก็ลองไปจมน้ำดู มันก็อยากจะขึ้นมา กิเลสมีอาการท่วมทับจิต เหมือนกับน้ำท่วมก็มีได้เหมือนกัน ก็เรียกได้ เป็นไฟก็ได้ เป็นน้ำก็ได้ เป็นความมืดก็ได้ เป็นอะไรแล้วแต่เถอะ แต่ไอ้ตัว ตัวแท้ของมัน คือ สกปรกแก่จิต ของสกปรกแก่จิต จิตไม่ผ่องใส จิตไม่ประภัสสร จิตไม่เรืองแสง ไม่เรืองรัศมี จิตไม่ประภัสสรเสียแล้ว เพราะว่าไอ้ความสกปรกมันเข้ามา เมื่อไม่เกิดกิเลสอะไรขึ้น จิตเป็นประภัสสร ไม่มีนิวรณ์ไม่มีกิเลส จิตเป็นประภัสสร เรืองแสงเหมือนกับเพชร เพชรที่เรืองแสงรัศมี แต่ถ้าเอาโคลนมาป้าย เอาสีมาป้าย เอาอะไรมาป้ายมันก็หมด หมดประภัสสร ก็ไม่มีแสง ล้างออกไปเสียก็เริ่มมีแสงขึ้นมาอีก เมื่อใดกิเลสครอบงำจิต จิตสูญเสียความเป็นประภัสสร ก็มืด ก็มัว ก็หลง ก็ราคะ โทสะ โมหะไปเถอะ มันไม่ยากเกินไปเห็นไหม แต่เพราะเราไม่สนใจจะรู้ มันก็เลยเป็นของลึกลับหรือยาก สนใจแต่เรื่องปากเรื่องท้อง เรื่องเอร็ดอร่อยสนุกสนานสรวลเสเฮฮา ไม่เอาเวลามาสนใจไอ้เรื่องที่ร้ายกาจ มันก็ไม่รู้จัก ก็เลยถูกกิเลสเผาลนบ้าง ท่วมทับบ้าง ทิ่มแทงบ้าง หุ้มห่อบ้าง ครอบงำบ้าง แล้วแต่จะเรียก นี่คือกิเลสแหละ
ที่ว่าโง่ที่สุด ก็เพราะมันมีอยู่กับเนื้อ กับตัว กับจิต กับใจแท้ๆ ก็ยังไม่รู้จัก แล้วก็มี มากเสียด้วย แต่โชคดีที่ว่า ธรรมชาติมันได้สร้างมา ให้มีเวลาที่ว่างบ้าง ไม่มีโอกาส ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย มันก็ไม่เกิด เวลานั้นก็พอจะว่างได้บ้างได้พักผ่อนบ้าง ถ้าเกิดทั้ง ๒๔ ชั่วโมงแล้ว ก็เป็นบ้าแหละ ตายแน่ ตาย ไม่ตาย ก็บ้า บ้าไม่กี่ชั่วโมง ก็ตาย นี่ถ้ากิเลสเกิดทั้ง ๒๔ ชั่วโมง สังเกตดูบ้าง เวลาไหนที่กิเลสไม่เกิด ไม่เศร้าสร้อย ไม่งัวเงีย ไม่อ่อนเพลีย อย่างนี้ก็ยังดีแล้ว ไม่กลัดกลุ้ม ความไม่มีกิเลสโดยเด็ดขาด โดยประการทั้งปวง นั่นแหละคือนิพพาน สิ้นไปแห่งโลภะ โทสะ โมหะ นั่นคือนิพพาน แต่มันสิ้นโดยเด็ดขาดน่ะ ไอ้สิ้นชั่วคราวนี่เป็นนิพพานชั่วคราว เป็นความสงบเย็นชั่วคราว ก็ยังดีกว่า ไม่มีเสียเลย ถ้าไม่มีสงบเย็นชั่วคราว ก็เป็นบ้าน่ะ แล้วก็ตายนะ ถ้าไม่มีสงบเย็น แม้ชั่วคราว ดังนั้นหาไว้มากๆ เถิด เวลาที่พักผ่อน ที่ว่างจากกิเลส เมื่อใดจิตไม่มีกิเลส จิตก็เป็น โมกข์ โมกขะ โมกษะ แล้วแต่จะเรียก เหมือนชื่อสวนโมกข์นี่ คือคำๆ นี้ เมื่อมันเกลี้ยงจากของสกปรกรบกวน ก็เรียกว่า โมกข์ เมื่อจิตไม่มีกิเลสครอบงำ จิตนี้ก็เป็นโมกข์ โมกขะ ความเป็นอย่างนั้นเรียกว่า วิมุต ๆ วิมุตติ บุคคลผู้เป็นอย่างนั้นเรียกว่า วิมุต วิมุตติ วิมุตตะ แล้วแต่จะให้เป็นชื่อของอะไร เป็นชื่อของบุคคลผู้เป็นอย่างนั้น ก็เรียกว่า วิมุต ความเป็นอย่างนั้นเรียกว่า วิมุตติ เรียกสั้นๆ ภาษาชาวบ้านก็เรียกว่า โมกขะ
ผมไปที่อินเดีย ที่ท่าน้ำเมืองพาราณสี ที่เผาศพ พบยายแก่คนหนึ่ง นั่งขอทาน แทบจะไม่มีกระดูก เอ้ย! แทบจะมีแต่กระดูก ไม่มีเนื้อ ถามว่าคุณต้องการอะไร ถามไปทางล่าม ไอ้ยายแก่คนนี้บอกว่าต้องการโมกษะๆ ผมตกตะลึงเลย ตกตะลึง โอ้, นี่ ยายแก่ขอทานนี่ยังรู้จัก ต้องการโมกษะ ไม่ต้องพูดถึง พวกสาธุ พวกนักบวช แม้แต่ยายแก่ไม่มีเนื้อมีหนัง มานั่งขอทาน นี้ก็ยังต้องการโมกษะๆ เรียกว่าเขาสนใจกันมากแหละ คือความไม่มีกิเลส และ ความเกลี้ยงแห่งจิต
ทีหนึ่งก็ รถไฟ ๒ ขบวนเทียบกัน ไอ้หน้าต่างตรงกันข้าม กับรถไฟอีกคันที่นั่งกับเรา มันมีลักษณะอย่างที่เรียกว่า สาธุ พระแขก ลักษณะเหมือนขอทาน ผมบอกให้ลูกศิษย์ที่ไปด้วย เอาสตางค์ให้ ยื่นให้ มันสั่นหัว มันปัด สั่นหัวหมด มันไม่ยอมรับ แต่มันทำมืออย่างนี้ ทำมือวนๆๆ รอบหัวแล้วชี้พุ่งขึ้นไปที ทำมือรอบๆ หัวแล้วชี้ขึ้นไปข้างบนที หมายถึง โมกษะๆ มันต้องการโมกษะ เหมือนกัน ไม่ได้ต้องการสตางค์ ที่เขาเป็นสาธุ เป็นนักบวชนี่เขาต้องการโมกขะ อินเดียมันก็มีโมกษะ นี่เป็นที่รู้จักกันดี เมืองไทยยังไม่ค่อยจะรู้ รู้จักแต่สตางค์ๆ เมื่อเกลี้ยงจากกิเลสก็คือโมกษะๆ
อ้าว นี่เราจะพูดกันเรื่องบังคับและควบคุมกิเลส มันก็ต้องรู้จักกิเลสกันเสียก่อน ให้รู้จักจุดหมายปลายทางว่าโมกษะ ไม่มีกิเลส เราจะทำอย่างไรดี จะใช้คำว่าอย่างไรดี เราจะเข้าไปเผชิญกับกิเลส เอากับมันเลย เหมือนกับเอาไม้สั้นไปรันขี้ ดีไหม มันจะได้เลอะไปทั้ง ๒ ฝ่าย เข้าไปฟัดกับกิเลสเลย ผมรู้สึกว่าไม่น่าจะทำ ควรจะมีอุบายทำลับหลัง ไม่ให้มันเกิดได้ หรือเท่าที่มันจะเกิดเป็นสันดาน เป็นอนุสัย ก็อย่าให้อาหารมัน กิเลสที่ เกิดๆๆ นี่ก็เรียกว่ากิเลส แต่พอเกิดแล้ว มันไปเก็บไว้เป็นอนุสัย เป็นความเคยชินของกิเลส อยู่ในสันดานเรียกว่า อนุสัยๆ คือความเคยชินของกิเลส นี่ก็เป็นกิเลสเหมือนกัน กิเลสคือความเคยชินที่เก็บไว้สำหรับจะออกมาอีก เมื่อใดได้โอกาสมันออกมาเป็นอาสวะ ๓ คำนี่จำไว้ให้ดี กิเลส คือเกิดกิเลสโดยตรง เกิดเป็นไฟ พอเสร็จเป็นไฟแล้วมันก็ไปเก็บเป็นเชื้อ เป็นความเคยชิน ความเคยชินเรียกว่า อนุสัย เก็บไว้ในสันดาน ถ้ามันมีโอกาสจะกรุ่นขึ้นมาเป็นนิวรณ์ก็ได้ แต่ถ้ามันได้โอกาสข้างนอกอารมณ์หวั่นไหวมันเกิดเป็นกิเลสตามเดิม พลุ่งออกมาเป็นอาสวะๆ กิเลส ประเภท อาสวะคือ มันกลับออกมาแล้ว กิเลสประเภทอนุสัย ก็เก็บนอนนิ่งไว้ รอคอยอยู่ กิเลสทีแรกก็คือเกิดแล้ว ทำแล้ว มีแล้ว ถ้าเราควบคุมไม่ให้มีอารมณ์เข้ามา ไม่ให้มีโอกาสเข้ามา มันก็ออกมาไม่ได้แหละ แล้วก็อย่าให้เกิดกิเลสอีก อย่าให้เกิดกิเลสเพิ่มเข้าไปอีก อนุสัยมันก็จะลด ถ้าเกิดกิเลสอีก อนุสัยมันก็เพิ่ม อนุสัยก็เพิ่มมากขึ้น ถ้าไม่ให้เกิดกิเลส ควบคุมไว้ได้ อนุสัยมันก็ลดๆๆ เราบังคับไว้ได้ เมื่อควรเกิดกิเลส ไม่เกิดกิเลส บังคับไว้ได้อย่างนี้แล้ว อนุสัยจะลดลงมาหนึ่ง แต่ถ้าเราทำกิเลสใหม่ อนุสัยจะเพิ่มขึ้นมาอีกหน่วยหนึ่ง ทุกทีไป แต่ถ้าเราจะไม่ให้อนุสัยได้อาหาร แล้วก็อย่าทำให้เกิดกิเลส แล้วอย่าให้โอกาส อย่าเผลอ อย่าโง่ เมื่อมีอารมณ์เข้ามา อย่างนี้เรียกว่า ปิดกั้นไม่ให้อนุสัยได้อาหาร อนุสัยก็จะลดลงๆๆ และหมดไปได้ในที่สุด อย่าให้อนุสัยได้อาหาร อย่างนี้เราก็ไม่เหมือน กับ เอาไม้สั้นไปรันขี้ เราทำลับหลัง
ถ้าว่ามีเสืออยู่ในป่านี่ ในดงป่านี่สักตัวหนึ่ง เรากั้น ช่วยกันปิดกั้นทั้งหมด ไม่ให้อาหารเข้าไปสู่เสือได้ เสือมันก็ผอมและตายเอง ไม่ต้องไปสู้รบปรบมือกับเสือให้เหน็ดเหนื่อย ให้ลำบาก สไตร์ก (Strike) หรือ บอยคอต (boycott) ให้มันไม่ได้อาหาร ไม่ได้อาหาร มันก็ผอมลงๆ มันก็ต้องตาย ฉะนั้นการพูดว่า ดับกิเลสๆ นั้นมันไม่ค่อยถูกหรอก เป็นการพูดอย่างผู้ไม่รู้ พูดว่า ดับกิเลสๆๆ ก็เหมือนไม้สั้นไปรันขี้ แล้วมันก็ไม่ได้ผลอะไร ที่ถูกคือ ป้องกันไม่ให้กิเลสเกิด ป้องกันไม่ให้กิเลสเกิด หรือไม่ให้อนุสัยได้อาหาร ออกมาเป็นอาสวะ นี่ป้องกันอย่างนี้ ไม่ต้องดับกิเลส แต่เราทำให้ ไม่เกิดกิเลส สบายกว่า ถ้าเกิดกิเลสแล้วก็ไปฟัดกัน แล้วก็เหมือนกับเอาไม้สั้นไปรันขี้ มันก็เลอะเทอะ ยุ่งยาก ลำบาก โกลาหลวุ่นวาย มีสติป้องกันไม่เกิดกิเลส นี่จะดีที่สุด จะเรียกว่าอะไรดี จะเรียกว่า ควบคุมหรือบังคับ ก็แล้วแต่จะเรียก กิเลสไม่ได้อาหาร ไม่ได้โอกาส โดยภายนอก ก็คือ มีสติสัมปชัญญะเสียทุกคราวๆ ที่มีอารมณ์มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่สติมันจะป้องกันเสีย กิเลสไม่ได้โอกาส อนุสัยไม่ได้โอกาสที่จะออกมาเป็นอาสวะ ก็ไม่เกิดกิเลส อย่างนี้ก็เรียกว่า ป้องกันเหมือนกัน หรือว่าเป็นอุบายชนิดหนึ่ง กิเลสไม่ได้โอกาสที่จะเกิด เพราะมีสติ ควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อมีอารมณ์มากระทบ เสียเรื่อยไป นี่มันก็ไม่ได้ กิเลสที่จะออกมามันก็ไม่ได้โอกาส ทีนี้ก็ควบคุมไม่ให้เกิดกิเลสได้อย่างนี้ อนุสัยก็ลดๆๆๆ ทุกคราวที่เราควบคุมไม่ให้เกิดกิเลสได้ เช่นขณะนี้ควรจะเกิดราคะ ควบคุมไว้ได้ ไม่เกิด ราคานุสัยภายในโน้นก็ลด ขณะนี้ยั่วให้เกิดโทสะ ไม่เกิดๆ ปฏิฆานุสัย ในโน้นก็ลดๆ อนุสัยโทสะก็ลด ทีนี้เกิดที่มันควรจะเกิด โมหะ เราไม่ให้เกิด มันก็ลดอวิชชานุสัย อนุสัย คืออวิชชา ที่เก็บไว้ข้างในเรียกว่าอนุสัย เป็นประเภทราคะ โลภะ เรียกว่า ราคานุสัย ที่เป็นโทสะ โกธะเรียกว่า ปฏิฆานุสัย ที่เป็นโมหะ เรียกว่า อวิชชานุสัย ไม่ให้เกิดราคะได้ทีหนึ่ง ก็ลดราคานุสัย ไม่ให้เกิดโทสะได้ทีหนึ่งก็ลดปฏิฆานุสัย ไม่ให้เกิดโมหะได้ทีหนึ่งก็ลดอวิชชานุสัย มันกลายเป็นลดๆๆๆ มันไม่ได้อาหาร แต่กลับลด ถูกตัดอาหาร มันก็ผอมลงๆ ไม่เท่าไรก็บรรลุมรรคผล ละอนุสัยเรื่อยๆ ไปจนถึงขนาดที่จะหมด ที่จะเบาบางแล้วก็หมด หมดเท่านั้นเป็นพระโสดาบัน หมดเท่านั้นเป็นพระสกิทาคามี หมดเท่านั้นเป็นอนาคามี หมดเท่านั้นเป็นอรหันต์ เพราะอนุสัยมันลดๆๆๆ
ไอ้ดับกิเลส หรือต่อสู้กับกิเลส นั้นมันยากที่จะทำได้ และมันยากที่จะมีโอกาสเช่นนั้น เพราะว่า ถ้ามันเกิดกิเลสเสียแล้ว ไอ้จิตมันก็แย่เสียแล้ว มันไม่มีอะไรที่จะไปลุกขึ้นไปต่อสู้ ต้องมีสติอย่าให้มันเกิด แต่ถ้ามันเกิดแล้ว รู้สึกว่ามันเกิด ก็ต่อสู้กันแบบไม้สั้นไปรันขี้ ซึ่งมันทำยากที่สุด อย่างเช่นว่า เกิดราคะ จะเอา ปฏิกูลสัญญา มาระงับ นี่ เหมือนเอาไม้สั้นไปรันขี้ ที่ฉลาดที่สุดก็เอาอนัตตา เข้ามาดีกว่า ไม่สู้บอบช้ำ ไม่สู้จะเป็นไม้สั้นไปรันขี้ เกิดราคะขึ้นมา เอาอนัตตาเข้าไปใส่ เกิดโทสะขึ้นมา เอาอนัตตาเข้าไปใส่ เกิดโมหะขึ้นมา เอาอนัตตาเข้าไปใส่ นี่ไม่ค่อยสะบักสะบอม ไม่ค่อยทุลักทุเล แต่ที่เขาสอนๆ กันอยู่ว่า โอ้, ถ้าเกิดราคะขึ้นมา เอาปฏิกูล เอาอสุภกรรมฐาน อะไรเข้าไปต่อสู้ แบบไม้สั้นไปรันขี้ เกิดโทสะขึ้นมา เอาเมตตากรุณาเข้าไปต่อสู้ ก็ฟัดเหวี่ยงกันไป เกิดโมหะเข้ามาเอาปัญญา วิชาเข้าไปต่อสู้ อันนี้มันยากที่จะทำได้ มันได้แต่พูด ก็เตรียมอนัตตาไว้ให้พร้อม เช่นนั้นเอง ตถตา เช่นนั้นเอง อตัมมยตา กูไม่เอากะมึง ถ้าอย่างนี้มันก็จะมีลักษณะอยู่เหนือ หรือได้เปรียบๆๆ เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาน่ะฝึกฝนไว้ให้มาก ไว้พูดกันวันหลัง อนิจจังเปลี่ยนแปลงเรื่อย ทุกขัง เพราะอยู่กับเปลี่ยนแปลงเรื่อย ก็เป็นทุกข์ เพราะต่อต้านมันไม่ได้ ก็เป็นอนัตตา นี่ศึกษาไว้เรื่อยๆ มันจะได้ไม่หลงรักไอ้สิ่งเหล่านั้น หลงโกรธ หลงเกลียด แล้วก็เห็นว่า มันเป็นเช่นนี้เองๆ เป็นอิทัปปัจจยตา เช่นนี้เอง เป็นสุญญตา มันว่างจากตัวตนที่ควรจะไปหลงรัก ความรู้สึกก็ โอ้, ถ้าอย่างนั้น กูไม่เอากับมึงแล้ว นี่มันจะหยุด มันจะระงับ ในกรณีนั้นๆ เฉพาะกรณีๆ ไป
คอยรู้จัก อุบาย วิธีที่จะเล่นงานกับกิเลส คำว่า อุบายๆ นี่ไม่ใช่เรื่องหลอกลวง ไม่ใช่ภาษาไทย ถ้าคำว่าอุบาย ก็ดูจะเป็นเรื่องหลอกลวงไปเสียหมด ภาษาธรรมะนี่ อุบายๆ ไม่ใช่หลอกลวง อุบาย คือเทคนิคที่เหนือกว่า เรามีเทคนิคที่เหนือกว่า กำจัดมันได้ ชนะมันได้ นั่นแหละคือ อุบาย คำว่าอุบายๆ ในภาษาไทย มักจะใช้ในทางหลอกลวง หลอกล่อ เล่นไม่ซื่อ แต่อุบายมันเป็นวิธีการที่เหนือกว่า ที่ไม่เอาไม้สั้นไปรันขี้ แต่ว่าทำลับหลัง อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นอุบาย ดูฝรั่งเขาจะเรียก Skillfulness เครื่องมือที่เต็มไปด้วยสติปัญญา เป็นอุบายๆ ถ้าใช้อุบาย แล้วก็ไม่ต้องเอาไม้สั้นไปรันขี้ ถ้าใช้อุบายแล้วไม่ต้องเข้าไปกัดกับเสือ สู้ทำให้เสือมันอดอาหารแล้วมันก็ตาย นี่อุบายมันเป็นอย่างนี้ การที่จะมีอุบายก็ต้องมีสติปัญญามาก แล้วก็มีสตินั่นแหละสำคัญที่สุด มีปัญญาเพียงพอ แล้วใช้ปัญญานั้นให้ดีด้วยสติ สติเร็ว สติรวดเร็ว สติรอบคอบ สติสมบูรณ์ สติเป็นผู้ใช้ปัญญาให้ทำหน้าที่ อย่างนี้เราเรียกว่า อุบายแหละๆ ไม่เข้าไปกัดกับมัน ไม่ฟัดกับมัน แต่ว่าทำให้มันตายไปในที่สุด สติ เป็นเครื่องกั้น เครื่องกักขัง เรากักขังกิเลสสิ เอาสติเป็นเครื่องกั้น เครื่องกักขังกิเลส กิเลสก็ไม่ได้กินอาหาร กิเลสก็ตาย นี่จะเรียกว่า ควบคุม หรือบังคับ ก็แล้วแต่จะเรียก
ดังนั้นสิ่งที่เราจะต้องรู้จักก็คือ ความทุกข์ ไม่รู้จักความทุกข์ก็บรมโง่ รู้จักเหตุของความทุกข์ ก็คือ กิเลส ทางมาของกิเลส ภายนอกมันก็คือ ไม่รู้จักควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และก็ภายใน ก็เปิดโอกาสให้อนุสัยพลุ่งขึ้นมาเป็นอาสวะ แต่มันก็เนื่องด้วยสติควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจด้วยเหมือนกัน ควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไว้ได้ก็ไม่เปิดโอกาสให้อนุสัยไหลออกมาเป็นอาสวะ ก็เลยไม่ต้องพบกันกับกิเลส มันก็สบายดี
มันก็เป็นความจริงที่ว่าเรื่องนี้ลึกซึ้ง มืดมน ลึกซึ้ง มืดมน แก่คนทั่วไป แต่ผมก็ได้พยายามสุดความสามารถแล้วที่จะพูดให้ง่าย ให้ชัด ให้แจ่มแจ้ง ให้กระจ่าง ไม่ให้ลึกซึ้ง ไม่ให้มืดมน จะขอร้องว่าให้พวกคุณฟังให้ดีๆ เพราะว่าได้พยายามอย่างยิ่ง พยายามสุดความสามารถแล้ว ที่จะเอาเรื่องที่ยากที่สุด มาพูดให้มันง่ายที่สุด ให้รู้จักกิเลสๆ ให้วันคืนมันอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ มันก็เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดกิเลส กิเลสไม่ได้อาหารเพราะมีสติสัมปชัญญะควบคุม กิเลสก็ต้องผอม ตายไปเอง โดยที่เราไม่ต้องไปเผชิญหน้า กับมันในลักษณะที่เรียกว่า เอาไม้สั้นไปรันขี้ กิเลสนี่มันร้าย ร้ายกาจยิ่งกว่าสิ่งอะไรแหละ ไปฟัดกับมัน ก็เหมือนกับไม้สั้นไปรันขี้ ฉะนั้น ต้องฉลาด ต้องเหนือกว่าๆ มาเหนือเมฆ มาในทางที่มันไม่รู้ ทำให้มันถอยกำลังๆ ก็ได้ ไม่เปิดโอกาสให้มันๆ ก็ได้ มันก็ไม่มีทางที่จะเกิด มันก็ไม่มีทางที่จะแสดงบทบาท คือเกิด ปฏิบัติถูกต้องอย่างนี้ก็เรียกว่า ถูกต้องตาม กฏอิทัปปัจยตา หลักธรรมะสูงสุดในพระพุทธศาสนา กิเลสเกิดเพราะทำผิดต่อ อิทัปปัจจยตา ก็เกิดเป็นปฏิจจสมุปบาท ให้เกิดทุกข์ ปฏิบัติถูกต้องต่อกฏอิทัปปัจจยตา มันก็เกิดปฏิจจสมุปบาทฝ่ายที่ดับทุกข์ มันตรงกันข้ามอยู่อย่างนี้ ขอให้ถือว่านี่เป็นเรื่องหัวใจ ผมก็ไม่ได้พูดตั้งแต่วันแรกๆ เพราะว่า รอให้คุณเคยชินกับไอ้เรื่องวัดเรื่องวา ดังนั้นขอให้สนใจที่จะ ปฏิบัติวัตร ปฏิบัติวินัย ปฏิบัติอะไรในเบื้องต้น เป็นการเข้าโรงเรียนอนุบาล ทำหน้าที่ทุกอย่างทุกประการในลักษณะเด็กอนุบาล แล้วก็จะเลื่อนขึ้นมาเป็นชั้นประถม ชั้นมัธยม แล้วเราก็พูดกันถึงเรื่องนี้ เป็นเรื่องของเด็กชั้นมัธยม หรือชั้นอุดม ก็เห็นว่ามันก็ควรจะพูดบ้างแล้ว ก็เอามาพูด ในการบรรยายครั้งที่ ๓ นี่ ควบคุมกิเลส บังคับกิเลส ชนิดที่ไม่เอาไม้สั้นไปรันขี้ โบราณเขาว่าไว้ดีแล้ว เราก็ควรจะยึดไว้เป็นหลักว่า ทำอะไรๆๆ อย่าให้มันเป็นไปในลักษณะที่ว่า เอาไม้สั้นไปรันขี้ มันเลอะ มันหลับหูหลับตา แล้วก็ทำไม่ถูก ต้องทำชนิดที่เหนือเมฆ เหนือกว่า มีอุบาย ให้สำเร็จประโยชน์ ถ้าจะพูดๆ ให้ขำๆ หน่อยก็คือ ทำอย่าให้มันขี้ๆ อย่าให้มันเกิดสกปรกขึ้นมา ไม่ต้องเอาไม้สั้นไปรันขี้ ถ้ามันขี้แล้วเอาไม้สั้นไปรันขี้ แล้วผีหัวเราะ มันโง่ เราจะต้องมีพื้นฐาน มีศีลที่เป็นพื้นฐานที่ดี มีสมาธิ จิตใจปกติดี จึงจะมีสติ สัมปชัญญะ
ดังนั้นอย่าดูถูกเรื่องศีล เรื่องวัตร เรื่องปฏิบัติ เรื่องอะไรต่างๆ เตรียมไว้ให้พร้อม มันก็จะทำให้พร้อมในการที่จะมี สติสัมปชัญญะหรือเครื่องมือที่จะป้องกันกิเลส ตัดรากเหง้าของกิเลส ไม่เข้าไปเผชิญหน้ากับมันโดยตรง แต่ว่าตัดรากเหง้าของมัน ลับหลังนี่ เลยไม่เปื้อนไม่เปรอะสักนิดเดียว ไม่เลอะเทอะสักนิดเดียว ไม่ร้อน ไม่ยุ่งยาก ไม่เจ็บปวดอะไร ต้องถือว่าเป็นความฉลาดที่สุด ของพุทธบริษัท มิฉะนั้นจะเป็นคนโง่ ไม่เรียกว่าพุทธบริษัท เป็นพุทธบริษัทต้องฉลาด เพราะพุทธะแปลว่าฉลาด ว่ารู้ ว่าตื่น ว่าเบิกบาน จะเอาไม้สั้นไปรันขี้ มันก็ไม่ใช่ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ต้องมาเหนือเมฆ ต้องชนะ หวังว่าคงจะเข้าใจหลักเกณฑ์อันนี้ ไว้เป็นเดิมพันก่อน แล้ววันหลังก็จะพูดโดยรายละเอียดสืบต่อไป อ้าว, หนึ่งชั่วโมงหมดแล้ว พูดมากกว่านี้มันก็จะหล่นเรี่ยราดไปเสียอีก ขอยุติการบรรยาย