แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เราได้พูดกันมาตามลำดับ นับตั้งแต่ว่าธรรมะเพื่ออะไร ธรรมะนั้นคืออะไร ธรรมะนั้นโดยวิธีใด ธรรมะนั้นมีที่ไหน ธรรมะนั้นมีกันเท่าไร แล้วก็ธรรมะกับสิ่งที่เรียกว่าศาสนา ธรรมะกับโลกปัจจุบันนี้ ธรรมะกับตัวธรรมะเอง วันนี้ก็จะพูดเรื่องธรรมะกับคน และเป็นเรื่องสุดท้ายว่าพินัยกรรมของธรรมะ
ธรรมะกับคน ก็คิดดู คนคืออะไร และก็คนนั้นมันมีสักกี่ชนิดหรือระดับ เกิดมาทันทีนั้นเป็นคนหรือไม่ หรือว่าเดินได้ วิ่งได้ มีครอบครัวแล้วด้วยซ้ำไปว่าเป็นคนหรือไม่ หรือว่าเป็นมนุษย์หรือยัง นี่คำว่าคน อย่าถือว่าพอเกิดมาก็เป็นคน รูปร่างอย่างนี้ก็เป็นคน มันต้องมีอะไรที่คิดนึก รู้สึก ยึดถือตัวตนว่าเป็นคน แล้วมันยังจะต้องเป็นคนชั้นๆดี เรียกว่าเป็นมนุษย์ ตัวหนังสือหรือคำพูดนั้นมันกำกวม ทำความยุ่งยากลำบากเสมอ หากเกิดมาเป็นคนได้ ยอมรับว่าเป็นคนแต่ยังไม่เป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์ต่อเมื่อมันมีวิวัฒนาการอะไรพอสมควร
เป็นคนนี้เป็นได้โดยสัญชาตญาณ เป็นเองหรือกระทำเอง คิดเอง รู้สึกได้เอง แต่ถ้าเป็นมนุษย์มันต้องเป็นด้วยภาวิตญาณ คือญาณที่เขาได้อบรมให้มีขึ้นมาอีกทีหนึ่ง จำกันง่ายๆว่าคนนั้นแปลว่าเกิดมา เรียกว่าชน ช. น. ชะ-นะ ชน เกิดมา ถ้ามนุษย์นั้นมัน มนะ กับ อุษ (นาทีที่ 04:49) หรืออุษยะ แปลว่าใจมันสูง เกิดมานี่มันไม่ได้สูงทันที และมันจะ จะไม่ๆสูง ไม่ต่ำด้วยซ้ำไปเกิดมานี่ แต่แล้วมันไปในทางต่ำ แล้วก็จะค่อยๆรู้จักเจ็บปวดเพราะๆไอ้โทษของการเป็นคนต่ำ จึงค่อยเบื่อ จึงค่อยเป็นคนสูง อยากจะเล่านิทานเรื่องคน ขอให้สนใจฟังให้ดีๆ มันมีความหมาย
นิทานเรื่องคนหรือเป็นนิทานหรือเรื่องตัวเอง แล้วมันก็จะเลยไปถึงอนาคตของตัวเองด้วย เกิดมาจากท้องแม่ ไม่ดี ไม่ชั่ว ไม่บุญ ไม่บาป ไม่สุข ไม่ทุกข์ เพราะมันไม่มีความคิดอะไร มันออกมาในลักษณะที่เป็นกลาง นี่พอ พอมันรู้จักดู รู้จักฟัง รู้จักดม รู้จักชิม ลิ้มรส รู้จักสัมผัสเนื้อหนัง รู้จักคิด รู้สึกด้วยจิตใจ นี่อายตนะภายใน หรืออินทรีย์ทั้ง ๖ มันทำงาน มันก็ได้รับรสจากการสัมผัสนั้น พอใจก็มี ไม่ถูกใจ ไม่พอใจก็มี ถ้าพอใจมันก็รัก ก็เริ่มเกิดกิเลสประเภทโลภะ ราคะ ไม่ได้รับกิเลสมาแต่ในท้อง ใครจะว่าตามใจ ใครว่าอย่างไรตามใจ เราไม่เชื่อ เราเชื่อพระพุทธเจ้าว่ากิเลสนี่มันเพิ่งเกิด ตามเหตุ ตามปัจจัยของมัน ถ้าไม่ถูกใจมันก็เกิดกิเลสประเภทโทสะหรือโกธะ ถ้าไม่แน่มันก็ยังโง่ไปตามเดิม ถ้าไม่แน่ว่าพอใจ หรือไม่พอใจ ไม่สุข ไม่ทุกข์ มันก็โง่ไปตามเดิม ไม่รู้ๆอะไรไปตามเดิม ถ้าถูกใจก็รู้ไปในทางเอา ทางมี ทางได้ ไม่ถูกใจรู้ไปในทางไม่เอา ไม่อยากมี ไม่อยากได้ อยากทำลาย ถ้าไม่แน่ว่าสุขหรือทุกข์มันก็โง่ไปตามเดิม นี่ก็กิเลสได้เกิดขึ้น จิตนั้นล้วนมันก็ไปกับกิเลส ทิ้งสภาพเดิม ไปกับกิเลส เอ้า,ไปอยู่กับกิเลส กระทำไปตามกิเลส ทำไปตามกิเลส ขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวเสียใจ เกิดแล้วเกิดอีก เกิดแล้วเกิดอีกในทางจิตใจทุกที มันเป็นทุกข์ทุกที มันก็เบื่อ มันก็โกรธ มันจึงคิดกลับบ้านเดิม ไปหาสภาพเดิม อยู่อย่างไม่สุข ไม่ทุกข์ จะเป็นนิพพาน ไม่สุข ไม่ทุกข์ มันจึงกลับไปหาสภาพเดิม ขอให้รู้ไว้อย่างนี้
นิทานเรื่องคน หรือนิทานเรื่องตัวเรา เปรียบเหมือนกับเด็กน้อย คลอดมาจากท้องแม่ ไม่มีอะไรมา พอมาได้เกิดกิเลสก็ได้พบโจรๆ มันก็หนีๆแม่ หนีสภาพเดิม ตามโจรไปๆ ใครเอาไว้ไม่ฟังไม่อยู่ มันจะทำอะไรตามแบบของมัน ของพวกโจร มันก็เป็นโจรไปพักใหญ่ แล้วก็เจ็บปวดด้วยการถูกลงโทษหรือแม้แต่ว่าต้องทำหน้าที่ๆโจรเรื่อยไป มันก็เบื่อ แล้วมันก็จะกลับมาหาแม่ ก็เลยเปลี่ยน เปลี่ยนจากโจรมาเป็นสัตบุรุษ (นาทีที่ 10:32) มันก็เดินไปไจนถึงนิพพาน นิทานนี้ไม่ยาวนัก เด็กคลอดออกมา พบโจร เกิดกิเลส ก็ทิ้งแม่ หนีแม่ สภาพเดิม ตามโจรไป ตามโจรไป ทำอย่างโจรหนักเข้าๆ มีแต่ยุ่ง มีแต่ทนทรมาน ก็หนีโจร หนีโจรอีก ทิ้งโจรอีก มาหาแม่อีก สภาวะเดิมที่ไม่เป็นอะไร เรื่องนี้ก็คือเรา คือตัวเรา อดีต หรือปัจจุบัน หรืออนาคตก็คอยดูเอาเอง
อยากจะให้รู้เรื่องในพระบาลี ที่เรียกว่าจิตประภัสสร ออกมาท้องแม่ ออกมาจากท้องแม่ด้วยจิตประภัสสร ไม่ๆๆๆๆมีกิเลส ไม่มีอะไร ต่อมาก็พบกิเลส กิเลสครอบงำ กิเลสเป็นอาคันตุกะ โจรมาเรียกว่าอุปกิเลส เมื่อสูญเสียความเป็นประภัสสรไปเป็นกิเลสๆ มีอาการเมื่อกิเลสครอบงำก็เป็นอุปกิเลส เป็นจิตมีกิเลส เมื่อกิเลสไม่ครอบงำก็เป็นประภัสสร แต่มันยิ่งเป็นกิเลสมากขึ้นๆๆ จนหาประภัสสรไม่พบ ไม่เหมือนกับอยู่ท้อง มันไม่ได้คิดอะไร ประภัสสร ทีนี้เบื่อ รู้ว่า รู้ความจริงอย่างหนึ่งว่าถ้ามีกิเลสก็ไม่เป็นประภัสสร พอไม่มีกิเลสมันก็เป็นประภัสสร มันรู้ความจริงข้อนี้ ความคิดที่อยากจะทำให้จิตเป็นประภัสสรตลอดไปมันก็มี
ยังมีพระบาลีว่า ผู้ใดรู้ว่าจิตนี้ประภัสสร สมองพบ(นาทีที่ 12:59)กิเลสที่จรเข้ามา ผู้นั้นย่อมมีจิตภาวนาได้ หรือผู้นั้นย่อมควรแก่การทำจิตภาวนา ผู้ใดที่ไม่รู้ว่าจิตประภัสสร สมองพบ(นาทีที่ 13:20)กิเลส ผ่องใสเพราะไม่มีกิเลส เขาไม่รู้ ผู้นั้นไม่มีจิตภาวนา คือไม่ควรที่จะทำจิตภาวนา เพราะมันไม่รู้จะทำไปทำไมนี่ ถ้ามันรู้มันก็รู้ว่าจะทำให้มีจิตประภัสสร ผู้รู้อย่างนี้เป็นผู้ควรแก่การทำจิตภาวนา ก็ทำจิตภาวนาสำเร็จประโยชน์
ทีนี้มันก็ประภัสสรชนิดถาวร สำเร็จการทำจิตภาวนา กระทั่งบรรลุพระอรหันต์แล้วนี่มันประภัสสรถาวร กิเลสมาทำให้เศร้าหมองอีกไม่ได้ ประภัสสรถาวรตลอดไป เรื่องมันก็จบ ทำนองเดียวกับว่ามันเกิดมาก็พบโจร มันจะคบโจรๆๆจนเหลือทนๆ รู้ โอ้,ไม่ไหว หนีโจรๆ คือทำให้เป็นเดิม สภาวะเดิมประภัสสร ประภัสสรแปลว่าเรืองแสง แต่มันเรืองชนิดที่มีอะไรมาปิด มาโปะ มาเปื้อนได้ เพราะตอนเดิม ทีนี้ก็มาทำจนอบรมกันเสียใหม่ อบรมกันเสียใหม่ อบรมจิตเสียใหม่ อย่างที่เราอบรมอานาปานสตินี่ มันก็กลายเป็นจิตใหม่ที่อะไรๆมาปรุงแต่งไม่ได้ เป็นอตัมมยตา มีอตัมมยตา เป็นอตัมมโย มีอตัมมยตา ความที่อะไรๆ ปรุงแต่งไม่ได้ กลายเป็นอตัมมโย คือจิตที่อะไรมาปรุงแต่งไม่ได้ เรื่องมันจบ
ความเป็นประภัสสรสูญเสียไปด้วยกิเลส ที่จรตาม จรเข้ามาเรียกว่าอุปกิเลส กิเลสเฉยๆเรียกว่ากิเลส ถ้ามันทำหน้าที่เข้ามาบุกรุกจิตใจเรียกว่า อุปกิเลส ผมขี้เกียจพูดว่าอุป ก็ว่ากิเลสๆ บางครั้งก็ใช้คำว่าจรเข้ามา บางทีก็ไม่ได้ใช้คำ ใช้คำสั้นๆว่ามันสูญเสียประภัสสรเพราะกิเลส คนโง่หรือคนบ้าบางคนมันก็ว่า โอ๊ย,ผมลบล้างพระบาลีที่ว่าอุปกิเลส อุปกิเลสมันก็คือกิเลส คุณช่วยจำไว้ ในบาลีจูฬทุกขักขันธสูตรมีว่า โลโภ อุปกฺกิเลโส โลภะนั่นแหละชื่อว่าอุปกิเลส โทโส อุปกฺกิเลโส โทสะนั่นแหละชื่อว่าอุปกิเลส โมโห อุปกฺกิเลโส โมหะนั่นแหละชื่อว่าอุปกิเลส มันชัดอย่างนี้ ถ้ามันอยู่เฉยๆ มันก็เป็นกิเลส แต่พอมันทำหน้าที่เข้ามา บุกรุกเข้ามาในแห่งวง แห่งจิต เรียกว่า อุปๆ มันแปลว่าเข้าไปๆ เมื่อกิเลสมันทำหน้าที่บุกรุก มันก็เรียกว่าอุปกิเลส มันอยู่เฉยๆก็เรียกว่ากิเลส เมื่อเป็นอุปกิเลสนี่มากมายเหลือเกิน หลายๆชื่อ หลายสิบชื่อ แล้วเพราะว่ามันมีเรื่องต่างๆ มันชื่อนั้น ชื่อนี้ ชื่อโน้น เรียกว่าอุปกิเลส มันก็คือกิเลสที่บุกรุกเข้าไปในขอบเขตแห่งจิต เรียกว่าอุปกิเลส มันอยู่เฉยๆเรียกว่ากิเลส ขอให้เข้าใจอย่างนี้ เข้าใจว่าอุปกิเลสไม่ใช่กิเลส
เมื่อยังไม่มีกิเลสที่เข้าไปๆบุกรุก จิตก็เป็นประภัสสร พอมีกิเลสเข้าไปบุกรุกมันก็สูญเสียความเป็นประภัสสร กิเลสมีตามเหตุ ตามปัจจัย ตามสิ่งแวดล้อม ตามอะไรแล้วแต่ มันก็เกิดขึ้นนี่ คือบุกรุกเข้าไปในจิตใจ จิตใจก็สูญเสียความเป็นประภัสสร ฉะนั้นจงระวังกิเลสๆ ไม่ต้องพูดว่าระวังอุปกิเลส พูดว่าระวังกิเลสก็แล้วกัน คือไม่ให้มันเข้าไป มันเท่ากับป้องกันอุปกิเลส อาคันตุกะที่จรเข้ามาใหม่ นี่คนเรามันอยู่ในสภาพอย่างนี้ เกิดมากลางๆมาพบโจร หนีความเป็นกลางตามโจรไป อยู่กับโจร ทำอย่างโจร จนกว่าจะรู้จัก โอ้,นี่ไม่ไหว ก็เลยทิ้งโจร หนีโจร หนีโจรอีกที หนีกลับมาอีกทีหนึ่ง ก็มาสู่ไอ้สภาพที่ไม่อยู่กับโจร เราก็มาอยู่กับสภาพเดิม กลาง ว่าง ว่างก็นิพพาน ว่างจากไอ้ความวุ่นวายทั้งหลายทั้งปวงก็เรียกว่าพระนิพพาน นี่สภาวะธรรมชาติแท้ๆของจิตเป็นอย่างนี้ เล่าเป็นนิทานเรื่องตัวเรา เรื่องคนที่ว่ามันเกิดมาโง่ทีหลัง เพิ่งมาคบโจร ตามโจร แล้วก็จนรู้จักจนเบื่อจึงหนีโจร หนีโจร หนีวัฏสงสาร จะไปสู่สภาพเดิมคือว่าง นี่เป็นการเดินทางที่จาก จากความผิดๆไปสู่ความถูกต้องแล้วก็อยู่เหนือภาวะทั้งปวง
พูดเป็นเรื่องจิตประภัสสร หรือจิตเดิมก็ได้ เดิมมันออกมาจากท้องแม่มันไม่มีอะไร จิตเดิม เดิมนั่นคือจิตก่อนแต่ที่กิเลสมันจะเกิดขึ้น พอกิเลสมันเกิดขึ้นแล้วมันเป็นจิตใหม่แล้ว จิตดวงเดียวนั่นแหละ พอกิเลสเกิดขึ้นมันเป็นกิเลส ไม่มีกิเลสก็ว่างกิเลส จิตดวงนั้นแหละ มาเป็นจิตที่มีอะไรเกิดขึ้น ก็เป็นจิตใหม่ๆๆๆ ไม่รู้กี่สิบชนิด กี่ร้อยชนิด กี่พันชนิด กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด จนทนไม่ไหวๆ จิตมันรู้จักจิตเอง จิตก็จะช่วยจิตเอง ปฏิบัติให้ออกไปเสียจากความผูกมัดอันนี้ ไม่ให้จิตมีกิเลสครอบครอง เรียกว่า วิมุติหลุดพ้น ก็จบ
หากเกิดมากลางๆพบกิเลส คบกิเลส เบื่อกิเลส ละกิเลส อบรมจิตชนิดที่กิเลสจะครอบงำไม่ได้อีกต่อไป จิตประภัสสรแท้ๆเดิมๆนั้นมันก็ยังกิเลสครอบงำได้ อบรมจนเป็นจิตประภัสสรของพระอรหันต์แล้วกิเลสครอบงำไม่ได้อีกต่อไป เพราะมันมีภาวะอตัมมยตา ภาวะที่อะไรๆปรุงแต่งไม่ได้ มันก็เป็นจิตที่ให้ปรุงแต่งไม่ได้ มันก็เดิม เดิมถาวรๆ กลับไปสู่ภาวะเดิม จริงแต่เดิมชนิดถาวร ทีนี้หมดปัญหา นี่นิทานเรื่องคนๆ พูดกันสั้นๆ ก็ว่าเด็กออกมา แล้วก็หนีตามโจรไป ทนไม่ไหวหนีโจรกลับมา มาหาสภาวะเดิมที่ถาวร เป็นนิพพาน เราจึงมีระยะกาลที่แบ่งได้ว่า เมื่อมันโง่ก็ตามโจรไป มันเป็นอันธพาล เมื่อมันละความเป็นพาล มันก็เป็นสัตบุรุษ หรือบัณฑิตผู้มีปัญญา เมื่ออยู่ในภาวะเป็นพาล มันไม่ชอบ มันไม่ชอบธรรมะ เมื่อมีสภาวะเป็นสัตบุรุษมันก็ชอบธรรมะ คนมีปัญญาชอบธรรมะ คนไม่มีปัญญาไม่ชอบธรรมะ เพราะไม่รู้จักธรรมะ และกำลังขัดกับสภาวะจิตเป็นจริง มันเลยเกลียดธรรมะ ระวังให้ดี ยังมีคนที่เกลียดธรรมะ โดยเฉพาะไอ้พวกหนุ่มสาวที่ไวไฟ มันเกลียดธรรมะทั้งนั้นแหละ พูดกับมันไม่รู้เรื่อง เพราะจิตมันปิดด้านนี้ มันเปิดด้านโน้น มันรู้เรื่องแต่เรื่องอร่อย สนุกสนาน อัสสาทะ เสน่ห์ของสิ่งที่ยั่วยวนจิต เรียกว่าอิฏฐารมณ์ รัชนียธรรม อาสวัฏฐานิยธรรม ฝ่ายกิเลสทั้งนั้น มันจึงฝักใฝ่ให้มีกิเลสนี่ไม่ถูก อย่างพูดว่าอยู่เฉยๆยังดีกว่า มันก็ไม่มีรส ไม่มีชาติอะไร สู้หัวเราะร้องไห้ไม่ได้ หัวเราะก็สนุก ร้องไห้ก็สนุก เพราะฉะนั้นจึงมีคนมายาบางคนร้องไห้ แกล้งร้องไห้หาความสนุก ร้องไห้ก็มีรส หัวเราะมันก็มีรส มันหลงระเริง หัวเราะ หรือร้องไห้ ชวนไปอยู่เฉยๆมันก็ไม่เอานี่ ธรรมะไม่เป็นที่ชอบใจแก่ธรรมะ แก่ผู้ๆๆโง่ ธรรมะเป็นที่ชอบใจแก่ผู้มีปัญญา เขาเปรียบว่าแมลงผึ้งชอบของหอม แมลงวันชอบของเหม็น มันก็เหนื่อยด้วยกันทั้งนั้นแหละ ไม่ชอบของหอม ไม่ชอบของเหม็นดีกว่า ยังรู้ว่าแมลงอะไร
นี่ธรรมะกับคน ถ้ามันยังเป็นคน มันไม่ชอบธรรมะ กว่ามันจะเป็นมนุษย์ มันเป็น มันชอบธรรมะเท่าไร มันก็เป็นมนุษย์มากเท่านั้นแหละ แล้วมันจะเป็นมนุษย์สูงสุด เหนือความเป็นมนุษย์คือไม่เป็นอะไร จากชั่วถึงดี จากดีถึงว่าง ความหมายนี้พิเศษ ขอให้ช่วยจำไว้ จากชั่วมาถึงดี พอเห็นว่ายังยุ่งอยู่ ดีก็ยังยุ่ง ดีถึงว่าง ไม่มียุ่ง นิพพานแล้ว ไม่มีกระทบกระทั่ง ไม่มีอะไรปรุงแต่ง นิทานของเราสั้นที่สุดก็คือว่า จากชั่วถึงดี จากดีถึงว่าง นี่นิทานที่ดีที่สุด ที่ประเสริฐที่สุด มีค่ามากที่สุด เกิดขึ้นมาโง่ ถลำเข้าไปในชั่ว ละชั่วถึงดี เบื่อดีก็ไปถึงว่าง สั้นที่สุด นี่คือนิทานที่สั้นที่สุดของสิ่งที่เรียกว่าคน หรือว่าตัวเรา
ถ้ามันสูงขึ้นไปๆ มันก็เป็นมนุษย์ จากคนก็เป็นมนุษย์ จากมนุษย์ก็เป็นอริยมนุษย์ อริยบุคคลสูงขึ้นไปๆ มันก็จบ คือมันไม่เป็นอะไร เป็นพระอรหันต์ เรียกว่าไม่เป็นอะไร และยังช่วยผู้อื่นให้ๆๆเป็นอย่างนั้นได้อีกด้วย สั่งสอนความเป็นอย่างนั้นให้แก่ผู้อื่นก็ได้ ถ้ามันเป็นคนโง่ เป็นคนๆๆธรรมดานี่ มันไม่ได้รู้จักธรรมะ มันไม่ได้หวังพึ่งธรรมะ แต่พอเขาบอกว่าธรรมะเป็นที่พึ่ง พระพุทธเจ้าก็สอนว่าธรรมะเป็นที่พึ่ง มันก็เอาๆๆ มันก็นอนอยู่ให้ธรรมะมาช่วย ระวังมันจะได้แก่ตนเองนั่น ที่มันจะคอยรอให้ธรรมะมาช่วย แต่ธรรมะมันไม่อาจจะมาช่วย นอกจากทำให้มีธรรมะ ทำให้มีธรรมะ แล้วธรรมะมันช่วย มีคนเป็นอันมากไม่สนใจจะปฏิบัติธรรมะ แต่บนบานศาลกล่าว ทำพิธีรีตอง สวดมนต์ ภาวนา ธรรมะมาช่วย พระพุทธมาช่วย พระสงฆ์มาช่วย ธรรมะมา พระธรรมมาช่วยนี่ อย่างนี้มันช่วยไม่ได้หรอก เพราะมันไม่มีธรรมะ มันได้แต่ขอๆๆ โดยไม่ได้ทำหน้าที่ มันมีแต่ทวงสิทธิที่มันไม่มีสิทธิ มันไม่มีสิทธิที่จะได้มันก็ขอ มันจึงไปศาลพระภูมิเอราวัณมากกว่าไปโบสถ์พระแก้ว แต่แล้วแม้ว่าไปโบสถ์พระแก้วมันก็ยังไม่ได้ปฏิบัติธรรมะ มันไปขอๆๆ ไปจ้างอีกนะ เอาไข่ๆๆกับปลาร้าไปจ้าง อย่างนี้ไม่มี ไม่มีธรรมะแล้ว มันต้องปฏิบัติธรรมะๆๆ ธรรมะจะมีแล้วก็ช่วยในตัวธรรมะเอง ธรรมะมีลักษณะทรงผู้ปฏิบัติธรรมะไว้ ไม่ให้พลัดออกไปในที่ชั่ว นี่คนต้องเป็นอย่างนี้ เป็นมนุษย์ หรือเป็นอริยมนุษย์ เป็นพระอริยบุคคล และก็พ้นกันไป นิทานของคน แล้วแต่จะเล่ากันในรูปไหน เป็นคน เป็นมนุษย์ เป็นอริยมนุษย์ เป็นพระอริยเจ้า เป็นสูงสุด เป็นอรหันต์ จบกันไปอย่างนี้ก็ได้ นิทานของคน ธรรมะกับคน มันอยู่ในสภาพอย่างนี้
อย่าเป็นคน เขาเรียกเกินโง่ๆ ธรรมะมาช่วยโดยไม่ต้องมีธรรมะ ธรรมะมาช่วยโดยไม่ต้องมีธรรมะ นั่งอ้อนวอน นั่งท่องคาถาอะไร เดี๋ยวนี้เขาให้มีท่องกันมากนะ คาถาให้ธรรมะมาช่วยโดยที่ไม่ปฏิบัติธรรมะ แต่อย่าออกชื่อมันกระทบกระเทือน คนที่เขาทำอยู่อย่างนั้นเขาจะโกรธ เขาก็มัวท่องคาถา นั้น คาถาศักดิ์สิทธิ์ ท่องไป ธรรมะจะมาช่วย ไปไถนาสียยังจะดีกว่า ธรรมะจะมาช่วย มากกว่านั่งท่องคาถาศักดิ์สิทธิ์
เอ้า, ทีนี้ข้อสุดท้ายพินัยกรรมแห่งธรรมะ นี่ผมว่าเอาเอง ที่จริงมันไม่ค่อยจะ จะเข้ารูปเข้ารอยเท่าไร คำว่าพินัยกรรมๆนี่ ก็หมายความว่าสิ่งที่เขาทิ้งไว้ให้ คนที่จะไปก่อนทิ้งไว้ให้คนข้างหลัง เรียกว่าพินัยกรรม ธรรมะก็มีพินัยกรรมที่จะทิ้งเป็นมรดกมอบให้แก่เรา เมื่อใรจะประพฤติธรรมะก็ประพฤติได้ทันที ธรรมะมีให้ในทุกหนทุกแห่ง ปฏิบัติเมื่อใรก็ได้เมื่อนั้น ปฏิบัติเมื่อใรก็ได้เมื่อนั้น ไม่จำกัดเวลาที่ปฏิบัติ แล้วก็ไม่จำกัดเวลาที่จะได้รับผลของการปฏิบัติ
ธรรมะให้มรดกประเสริฐสุด มีในจิตใจๆ รู้สึกได้ว่ามี รู้สึกว่ามี เป็นของมีค่าๆ เราได้รับของมีค่ายิ่งกว่าเพชรพลอย แต่ก็ไม่รู้จะเรียกอะไรโดยสมมติ ก็เลยเรียกว่าเพชรพลอย หรือรัตนะๆ เพชรพลอยธรรมะมีให้ มีอยู่ในภายใน และก็อาจหรือควรที่จะเรียกผู้อื่นมาดูๆๆนี่ฉันมีอย่างนี้ๆๆ ควรมีอยู่ในจิตใจ และก็เป็นสมบัติเฉพาะตน
เราสวดบทพระธรรมคุณ สวากขาโต พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว สัณทิฏฐิโก รู้จักด้วยตนเอง เห็นด้วยตนเอง มีด้วยตนเอง อะกาลิโก เป็นสิ่งไม่ขึ้นอยู่กับเวลา เวลาทำอะไรไม่ได้ เอหิปัสสิโก ดีพอที่จะเรียกผู้อื่นว่ามา มาดูๆๆ อวดได้ๆและก็ไม่เป็นอวดด้วย เพราะมันมีจริง ประเสริฐจริง ไม่ใช่อวดดี มีไว้ในตน เป็นของเฉพาะตน ถ้าจะให้ใครได้ๆๆผลบ้าง ต้องให้เขาทำเอาเอง ให้เขาทำเอาเอง พินัยกรรมของธรรมะ เพราะฉะนั้นขอให้ได้รับด้วยกันทุกคน จะเรียกว่าพระพุทธเจ้าท่านให้ก็ได้ ก็ถูกเหมือนกัน พระพุทธเจ้าท่านต้องการธรรมทายาท ผู้รับมรดกธรรมะ ไม่ใช่อามิสทายาท เงินทอง ข้าวของ วัตถุสิ่งของนี่ท่านก็ไม่ต้องการที่จะมอบให้ ยิ่งของที่ว่าสวยงาม เอร็ดอร่อย สวรรค์ เป็นต้นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าไม่ได้มอบให้ เขาหลอกกันมาตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ได้ชี้ให้ไปสวรรค์ ชี้ให้ไปสวรรค์ ไม่ได้เป็นมรดกที่พระพุทธเจ้ามอบให้ แต่ท่านมอบธรรมะให้เป็นธรรมทายาท ขอให้พวกเราทุกคน พุทธบริษัท เป็นธรรมทายาท รับมรดกธรรมะจากพระพุทธเจ้า เป็นธรรมพินัยกรรม พินัยกรรมธรรมะ ปฏิบัติตนให้มีธรรมะตามคำแนะนำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็จะได้รับมรดกอันนี้
ขอให้มีการปฏิบัติธรรมะ นั่นแหละคือการรับมรดก ถ้าไม่มีการปฏิบัติธรรมะ ไม่มีการรับมรดก และรับไม่ได้ด้วยวิธีอย่างอื่น ต้องรับด้วยการปฏิบัติธรรมะ แล้วก็ใช้ธรรมะอยู่นั่นแหละ รับมรดกได้เต็มที่ รับมรดกได้จริง ได้เต็มเปี่ยม ธรรมะนี่ต้องใช้จึงจะมี ถ้ามีอยู่เฉยๆก็เท่ากับไม่มี ต้องใช้ ใช้ให้เป็นประโยชน์ ใช้ให้เกิดการคุ้มครอง ยิ่งใช้ยิ่งมี ยิ่งใช้ธรรมะมาก ยิ่งมีธรรมะมาก นี่มันประหลาด ไม่เหมือนกับเงิน ถ้ามีเงินยิ่งใช้ ยิ่งหมด ยิ่งใช้ ยิ่งหมด อ้ธรรมะนี่ประหลาด ยิ่งใช้ ยิ่งมี ยิ่งใช้ ยิ่งมี ไม่เชื่อลองดู ปฏิบัติธรรมะและใช้ธรรมะให้มาก ธรรมะมันยิ่งมีมาก ยิ่งใช้ ยิ่งมี มีอะไรที่น่าอัศจรรย์ยิ่งไปกว่าธรรมะ ยิ่งใช้ ยิ่งมี ยิ่งใช้ ยิ่งมี ยิ่งใช้ ยิ่งมี พอไม่ใช้ก็ไม่มี ยิ่งไม่ใช้ก็ยิ่งไม่มี ขอให้ใช้ธรรมะเถิดก็จะยิ่งมี ธรรมะ
มีการปฏิบัติธรรมก็คือการใช้ธรรมะ ศึกษาธรรมะข้อใดไปจงใช้ธรรมะข้อนั้น นี่เป็นการปฏิบัติที่แท้จริง ลงมือใช้ธรรมะตามมีตามเกิด ตามที่จะรู้ จะทำได้ ใช้ธรรมะให้ละความชั่ว ละกิเลส ละความทุกข์ ให้ปกติสุข ธรรมะก็มี มีมากจนร่ำรวยด้วยธรรมะ เขาเรียกเป็นไอ้คำอุปมาอีกทีว่าทรัพย์ๆอริยทรัพย์คือธรรมะ เงินทอง ข้าวของ เงิน สวนไถไร่นานี่เป็นอนริยทรัพย์ (นาทีที่ 36:56) เป็นโลกียทรัพย์ ช่วยได้ต่างกันมาก ทรัพย์ธรรมดาช่วยให้ความสะดวกทางกาย ทรัพย์ อริยทรัพย์ช่วยให้หลุดพ้นทางจิตใจ มันช่วยจิตใจ ทรัพย์วัตถุช่วยทางกาย ทรัพย์จิตใจช่วยทางจิต ทางวิญญาณ
หน้าที่ๆๆ ขอให้จำ คำนั้นคือธรรมะ ธรรมะมีหลายความหมาย ความหมายสำคัญที่สุดก็คือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ ในอินเดียเขาแปลคำว่าหน้าที่ แปลคำว่าธรรมะว่าหน้าที่ เราสอนเด็กๆ ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถูกนิดเดียว เขาพูดถึงธรรมะๆก่อนพระพุทธเจ้าเกิด มีธรรมะกันพอสมควรตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด แต่มันไม่สูงสุด พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นท่านสอนสูงสุดถึงบรรลุนิพพาน ธรรมะคือหน้าที่สูงสุด แต่ธรรมะคือหน้าที่ จงทำหน้าที่ทุกหน้าที่ให้ดี ทุกอิริยาบถ ทุกวินาที ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า พูดกันก่อนแล้วว่าทำอานาปานสติแล้ว หายใจออกอยู่ด้วยความถูกต้อง หายใจเข้าอยู่ด้วยความถูกต้อง หายใจออกอยู่ด้วยความถูกต้อง หายใจเข้าอยู่ด้วยความถูกต้อง นั่นแหละคือมีธรรมะ
เราสามารถมีธรรมะทุกครั้งที่หายใจออกเข้า เข้าออก คนหลายคนไม่เชื่อ ไม่เชื่อมีได้ มันไม่ปฏิบัติแล้วมันจะมีได้อย่างไร ขอให้มันปฏิบัติเถิด มันก็หายใจเข้าเย็น หายใจออกเย็น หายใจเข้าเย็น หายใจออกเย็น มันไม่มีร้อนๆ มันมีธรรมะ เป็นมรดกได้ถึงขนาดนี้ รับพินัยกรรมธรรมะที่ธรรมะมันมีให้ด้วยตัวเอง แล้วมันมีก็ตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด ก่อนพระพุทธเจ้าเกิดมันมีธรรมะๆ พอได้ยินว่าธรรมะเกิด ธรรมะมี ธรรมะมาแล้วเขาก็แตกตื่นสนใจกันอย่างยิ่ง ถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นผู้เปิดเผยธรรมะ ผู้แจกธรรมะ พอพระพุทธเจ้าเกิดก็ตื่นแตก แตกตื่นกันอย่างยิ่ง เขาได้ยินได้ฟังเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้าแล้ว ธรรมะ ผู้มีธรรมะ ผู้เปิดเผยธรรมะ เขานึก เขาฝันกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด ธรรมะพอมีขึ้นมันก็ทิ้งมรดกไว้ให้ ให้รับช่วงต่อๆกันมา คือหน้าที่อันแรกๆที่คนป่ายังไม่นุ่งผ้า มันจะรู้ขึ้นได้อย่างไรว่านี่มีประโยชน์ นี่ทำแล้วมีประโยชน์ ช่วยได้ มันรู้ขึ้นมาแล้วมันก็สอนๆๆๆๆกันมาเรื่อย ธรรมะเจริญคู่กันมากับวิวัฒนาการของมนุษย์ พินัยกรรมของธรรมะมันมากขนาดนี้ ตั้งแต่ไม่รู้ ตั้งแต่ไหนจนบอกกันไม่ถูก เป็นธรรมะเก่า ก่อนๆ ธรรมะๆ จะเรียกว่าเก่าก็ไม่ได้ ใหม่ก็ไม่ได้ เป็นธรรมะที่รู้จักก่อน รู้จักกันก่อน และก็สืบๆกันมา เรียกว่าสนันตนธรรมๆ พระพุทธเจ้าท่านยอมรับ สนันตนธรรมที่เขาสอนกันอยู่ก่อนท่านเอามาพูด มาสอนอย่างนี้ ในคำสอนของท่านก็มี เอสะธัมโม สะนันตะโน คำสอนบทไหนลงท้ายด้วยคำว่า เอสะธัมโม สะนันตะโนแล้ว ให้รู้เถิดว่าอันนั้นเป็นคำสอนที่มีอยู่ก่อนท่านเอามาสอน
พินัยกรรมของธรรมะมันมอบหมายๆๆๆกันมาอย่างนี้ จนกว่าจะมาถึงคนโง่ ปฏิเสธธรรมะ หนีตามโจรไป รับความทุกข์ เดือดร้อนแสนสาหัส สมน้ำหน้ามัน จนกว่ามันจะรู้จัก มันจะทิ้งโจรมาหาธรรมะ เกิดมาพบโจร คือพบอธรรม แล้วก็ทิ้งแม่ ทิ้งๆสภาวะเดิมไปหาอธรรม มันกัดเอาๆๆ สู้ไม่ไหวก็นึกได้ โอ้,กลับๆๆๆ ก็ไปหาธรรม ไปหาธรรมะ พินัยกรรมของธรรมะมันมอบให้มาในลักษณะที่ถูกต้องที่สุด ใครไม่เอาก็ได้ มึงไม่เอาก็ได้ ก็ทำไปสิ ทำไปสิ ไม่เอากับกู ทำไป ทำไป เดี๋ยวก็สู้ไม่ไหวก็มาหาอีก กลับมาอีกแล้ว นี่มรดกธรรมะ พินัยกรรมธรรมะ มันมอบให้ไว้ในลักษณะอย่างนี้
โลกนี้มันเป็นของแปลก โลโก (นาทีที่ 43:05) แตกได้นั้นชื่อว่าโลก โลกนี้มันจะแตก จะดับไปกี่ครั้ง กี่หน ไอ้ตัวธรรมะแท้ไม่แตก ไม่ดับ อยู่อย่างเดียวนั่นแหละ อยู่อย่างเดิม อย่างเดียวนั่นแหละ โลกมันแตกไปกี่ครั้ง กี่ร้อยครั้ง พันครั้งอะไรก็ตาม ความเชื่อเก่าๆของคนในอินเดียก็เชื่อย่างนั้น วิทยาศาสตร์มันก็เชื่ออย่างนั้น วิทยาศาสตร์ปัจจุบันนี้ก็เชื่ออย่างนั้น เช่นว่าโลกนี้มันจะเข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์เรื่อยเข้าไปๆ ทุกที จนมันเหลือที่จะทนได้ มันก็ลุกไหม้เป็นดวงอาทิตย์ไป แล้วมันก็เกิดใหม่กันอีก ดวงดาวนพเคราะห์ดวงอื่นมันก็เกิดขึ้นมาอีก เป็นโลกขึ้นมาอีก มันจะเกิดกันกี่โลก กี่ร้อยครั้งก็ได้ ธรรมะไม่มีเกิด ไม่มีดับ ไม่มี เป็นธรรมะอยู่นั่นแหละนั่น พินัยกรรมของธรรมะ ความคงกระพันชาตรีของธรรมะจะรอไว้ตลอดไป จะรอให้ มีให้อยู่ตลอดไป แต่เราก็ไม่ค่อยจะรับกัน โลกจะดับไปธรรมะยังอยู่ โลกจะดับไปกี่ร้อย กี่พันครั้ง ธรรมะก็ยังอยู่ ธรรมะเดิมๆ ไม่มีธรรมะใหม่ ธรรมะของพระพุทธเจ้าองค์นี้ก็อย่างนี้ ธรรมะของพระพุทธเจ้าองค์ไหนก็อย่างนี้ๆคือดับทุกข์ด้วยการไม่ยึดมั่นถือมั่น โดยรู้ว่าปฏิจจสมุปบาทนี่คือกระแสแห่งชีวิต จับเสียใหม่ให้ถูกต้อง ไม่ให้มันเกิดได้แล้วก็เป็นดี พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ตรัสรู้อย่างนี้
ในพระบาลีบางแห่งจึงมีคำตรัสของพระพุทธเจ้าว่า เดินตามรอยทางเก่าที่พระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆได้วางไว้อย่างไร ค้นพบกันใหม่ ทรงเปรียบเหมือนกับค้นพบนครเก่าที่รกร้างเป็นป่า เป็นดงไปแล้วนั้น บังเอิญไปพบเข้า ชำระสะสางกันเป็นนครใหม่ขึ้นมา ด้วยเหตุอย่างไรก็ตาม หนีทิ้ง ละทิ้ง เลิกทิ้งเป็นป่าดงไปอีก พบขึ้นมาอีก สร้างกันขึ้นมาใหม่อีก พบนครเก่า โดยรอยทางเก่า ด้วยความที่ธรรมะมันไม่เปลี่ยนแปลง ธรรมะหรือสัจจะ คือความจริงธรรมะมีอย่างเดียว ไม่มี ๒ อย่าง อย่าว่าแต่จะหลายอย่างเลย ๒ อย่างก็ไม่มี ธรรมะนี้ได้ดับทุกข์ได้ ที่แยกเป็นธรรมะ เป็นอธรรม เป็น ๒ อย่างนั้นมันก็คนมันแยก คนมันแยกเอาตามความรู้สึกหรือผลที่ได้รับ ธรรมะหรืออธรรมก็เป็นกฎของธรรมชาติตายตัว เป็นอสังขตะ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ กฎของธรรมชาติที่เรียกว่าธรรมะเป็นอนันตภาวะ ภาวะไม่สิ้นสุด หากเป็นอนันตอายุ มีอายุไม่สิ้นสุด เป็นอนันตชีวะ มีชีวิต มีชีวะไม่สิ้นสุด เป็นอนันตะๆ นี่มันเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ของสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ
กฎเกณฑ์อันหนึ่งมีอยู่ว่าทำอย่างนี้ผลจะเกิดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ผลจะเกิดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ผลจะเกิดอย่างนี้ ตามธรรมชาตินั้นไม่ได้บัญญัติว่าดีหรือชั่ว มีแต่ว่าทำอย่างนี้ผลเกิดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ผลเกิดอย่างนี้ และมนุษย์ก็ไปบัญญัติเอาเองว่าไอ้ที่เราพอใจ เราต้องการ น่ารักน่าพอใจนี่ ดี เรียกว่าดี หรือกุศล ไอ้ที่เราไม่พอใจก็เรียกว่าบาป หรืออกุศล ผู้มีปัญญาบัญญัติขึ้นอย่างนี้ ถ้าคนโง่ก็สวมรอย474142ว่าถูกใจกูนั่นดี ไม่ถูกใจกู ไม่ได้ใจกูนั่นชั่ว ก็แนวๆเดียวกันแหละ ผู้มีปัญญาก็บัญญัติอย่างนั้น ผู้โง่ก็บัญญัติอย่างนั้น แต่ว่าผู้โง่มันเอาเปรียบหน่อย ต้องถูกใจกู กูได้จึงจะดี ผู้มีปัญญามันก็ว่าที่ควรปรารถนา ที่พึงปรารถนาดี ไม่น่าปรารถนาก็ไม่ดี เราก็เลือกเอาๆแต่ที่จริงมันก็อยากดี แต่มันเข้าใจผิด เอาชั่วเป็นดี เอาอร่อยเป็นดี เอากิเลสเป็นดี นี่ตามใจกิเลส คบโจร หนีโจรไป ไม่เอาชั่วเป็นดี เห็นกงจักรเป็นดอกบัวไปพักหนึ่ง ต่อมาก็รู้ โอ้,ดีอย่างไร ดับทุกข์ได้จริง
เมื่อสอนเขา เมื่อบอกให้ทราบว่าไม่ ไม่ชั่ว ไม่ดีนั่นแหละดี ดีกว่า เขาก็ยังไม่เอา เอาอย่างดีๆ อย่างที่ฉันว่าดี ฉันจะเอาที่ดีอย่างที่ฉันว่าดี ถ้าเหนือชั่วเหนืออดีเขาก็ไม่รู้จัก แต่ว่าดีที่สุดก็ไม่เอา บอกว่านิพพานเป็นสุขที่สุด ก็คิดว่าสุขอย่างที่เขาหวัง สุขอย่างที่เขาชอบ นิพพานต้องมีกามารมณ์สูงสุดยิ่งกว่าที่นี้ จึงจะไป จึงจะชอบนิพพาน สวรรค์มีกามารมณ์สูงสุดก็ชอบสวรรค์ นี่คนพาลเขาก็ต้องชอบตามที่กิเลสของเขาชอบ ถ้าเป็นสัตบุรุษเขาจะชอบตามที่สติปัญญาอันแท้จริงมันบอกให้ชอบ ถ้าจะมีการชอบมันชอบกันอย่างนี้ ถ้าสติปัญญามันสูงสุด สติปัญญาสูงสุด มันก็ โอ้,ไม่ชอบอะไรเลยดีกว่า ไม่เป็นทาสของอะไรเลยดีกว่า รักสิ่งใดก็เป็นทาสของสิ่งนั้น คุณจะไปคิดให้มาก รักอะไร ชอบอะไรก็เป็นทาสของสิ่งนั้น แม้ที่สุดแต่รักเหล้า รักบุหรี่ รักอะไรมันก็ทาสของสิ่งนั้น กระทั่งเรื่องกามารมณ์ วัตถุแห่งกามารมณ์ หรือกามคุณ ถ้ามันชอบมันก็เป็นทาสของกามารมณ์ ตามปกติสามัญมันก็เป็นทาสของกามารมณ์นี่ก่อน แล้วก็เป็นกันมากมายมหาศาลจนเรียกว่ากามาวจร สัตว์เหล่านี้บูชากามารมณ์เป็นสิ่งสูงสุด เป็นทาสของกามารมณ์ ติดอยู่ที่นั่นกว่าจะหลุดพ้นออกมาได้ ตามลำดับๆ กว่าจะหลุดพ้นจากการเป็นทาสโดยประการทั้งปวง เพราะมีอตัมมยตา เป็นทาสกามารมณ์อย่างจมมิด นานเข้ามันรู้รส มันก็ออกมาจากกามอารมณ์มาสู่รูปทาส รูปารมณ์ คนล้วนที่เรียกว่ารูปโลก รูปภพ ก็หลงกันไปพักใหญ่ ก็ยังไม่ไหว ก็มาหารูปดีกว่า ไม่มีรูปดีกว่า ไอ้ความที่มันฉลาดขึ้นๆ ทิ้งจากสิ่งนั้นมาสู่สิ่งที่ดีกว่านี่เรียกว่า อตัมมยตาน้อยๆ มาสู่รูปโลกแล้ว โอ้,บางคนก็คิดว่าแค่นี้แล้ว หมดแล้ว พอแล้ว จบแล้ว สิ้นสุดแล้ว นี่คืออาจารย์ของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าอุทกดาบสรามบุตร พอแล้ว พบอันนี้แล้วพอแล้ว พระพุทธเจ้าท่านได้รับคำสอนนี้มา โอ้,ไม่พอๆ ฉันยังไม่พอ ก็ไป จึงไปพบโลกุตระ เหนือไอ้ ๓ นี่ เหนือรูปทาสๆ เหนือๆกามทาส รูปทาส อรูปทาส เหนือกามภพ รูปภพ อรูปภพ เหนือกามโลก รูปโลก อรูปโลก เป็นอตัมมยตาอันสุดท้ายทำให้เป็นพระอรหันต์ เป็นจอมพระอรหันต์ เพราะตรัสรู้เอง จบกันที่นั่น
คนๆรับมอบพินัยกรรมของธรรมะมาตามลำดับๆๆ จนอันสุดท้ายหลุดรอดออกไป ไอ้ดีที่สุด ดีที่สุด ประเสริฐที่สุด ดีจริงไม่ใช่ดีๆหลอกของธรรมะนั้น ก็คือหลุด คือความหลุด ถ้าเราเรียน เราเรียนเรื่องความหลุด ไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้าเราปฏิบัติ เราปฏิบัติเพื่อความหลุด ก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้าเราได้รับผลของการปฏิบัติ ก็คือหลุดๆ ไม่ยึดมั่นถือมั่น หมดความยึดมั่นถือมั่น ความไม่ยึดมั่นถือมั่นเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ปริยัติเรียนอย่างดีที่สุดเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น ปฏิบัติๆอย่างดีที่สุดเรื่องความปฏิบัติความไม่ยึดมั่นถือมั่น ปฏิเวธดีที่สุด หลุดพ้นเป็นวิมุติ ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยประการทั้งปวง
วิมุติเป็นผลที่พึงปรารถนา ปฏิบัติเป็นตัว การปฏิบัติเป็นแก่นของพระพุทธศาสนา ต้องปฏิบัติจึงจะได้วิมุติ วิมุติเป็นผล เป็นสาระชนิดที่เรียกว่าเป็นผล ปฏิบัติเป็นสาระชนิดที่เป็นแก่น เป็นแกน ปริยัติเป็นสาระที่ทำให้รู้ รู้ถูกต้อง รู้ถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ได้รับผลดีที่แท้จริง ที่แท้จริง เหนือชั่วเหนือดี รู้จักไว้เถิดว่าทั้งๆกรม พระพุทธศาสนาธรรมะทั้งกรม มันเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นทั้งนั้นไม่ว่าจะมองไปในทิศทางไหน เรียนก็เรียนเรื่องนี้ ปฏิบัติก็ปฏิบัติเรื่องนี้ ได้ผลของการปฏิบัติก็ได้ผลในเรื่องนี้ ขอให้รู้จักหัวใจ หัวใจของธรรมะ ของพระพุทธศาสนาว่ามันเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น พูดให้มันง่ายแก่คนโง่ก็เรื่องดับทุกข์ ถ้าพูดให้ฉลาดกว่านั้นก็เรื่องที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ สิ้นสุดแห่งความทุกข์ ซึ่งคนโง่จะรับไปถือเอาเป็นความสุขก็ตามใจเขาเถิด แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่กล่าวว่าเป็นความสุข ท่านกล่าวว่าดับทุกข์ ท่านพูดแต่ทุกข์กับเรื่องดับทุกข์ แต่เมื่อจะพูดให้คนโง่เหล่านั้นฟังก็ต้องพูดว่า มันเป็นสุขที่สุด คนโง่มันก็ลดเอาไปเป็นระดับเดียวกับที่ตัวมันเองชอบ เป็นความสุขบ้าๆบอๆ เรื่อยๆอีก เป็นเลิกกัน ไม่ต้องได้สุขที่แท้จริง สุขที่แท้จริงมันยิ่งไปกว่าความสุขชนิดที่เขารู้กันอยู่ คือมันเหนือสุข เหนือทุกข์ เหนือทุกข์ เหนือสุข มันจึงจะเป็นสุขที่แท้จริง เรื่องอย่างเรื่อง (นาทีที่ 56:01)เรียกอย่างนี้ไม่ถูกต้องตามความจริง เรียกตามความจริงที่ถูกต้อง ต้องว่าที่สุดจบสิ้นแห่งความทุกข์ นั่นแหละจุดมุ่งหมาย จิตถึงนั่นแล้ว จิตนั้นก็ไม่มีความทุกข์ เกิด ความทุกข์เกิดขึ้นไม่ได้ในจิตนั้น เรียกว่าจิตนี้มันถึงวิสังขารเสียแล้ว วิสังขาร กะตัง จิตตัง ตัณหานัง ชัยยะมัชชะกา จิตนี้มันถึงวิสังขารเสียแล้ว สิ้นสุดแห่งตัณหา เครื่องปรุงแต่งแล้ว ตัณหาปรุงแต่งจิตนี้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะว่าจิตนี้มันถึงวิสังขารเสียแล้ว ก็ถือว่าเป็นพินัยกรรมที่ธรรมะมอบให้ คือวิสังขาร ปราศจากการปรุงแต่งโดยประการทั้งปวงนั่นแหละ รับเอาเถิดเป็นพินัยกรรมดีเลิศ จากสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ
ขอสรุปความสั้นๆนิดเดียวว่า ธรรมะคือทุกสิ่ง แต่ว่าสิ่งที่จำเป็นที่สุดคือหน้าที่ ธรรมะคือหน้าที่ ความหมายเฉพาะคือหน้าที่ ธรรมะคือหน้าที่ ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือกฎธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ ธรรมะคือพ้นจากหน้าที่นั้น มากเกินไปจะเวียนหัว เอาข้อเดียว หน้าที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ดับทุกข์อย่างไร ก็ดับได้นั่นคือธรรมะ เป็นความรอด เป็นเครื่องทำให้รอด จากความทุกข์ จากปัญหาทั้งปวง พูดให้สั้นก็คือ ธรรมะนั้นคือสิ่งที่จะช่วยผู้มีธรรมะ ธรรมะนั้นจะช่วยแต่ผู้มีธรรมะและช่วยได้จริง เป็นสิ่งศักดิสิทธิ์ในสากลโลกยิ่งกว่าสิ่งใด อย่ามัวหลับตาอ้าสิ่งศักดิสิทธิ์ในสากลโลกอื่นๆเลย มันจะหลับตา มันจะเป็นไสยศาสตร์ ธรรมะเป็นสิ่งที่ดับทุกข์ได้จริง เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลก จงเอามาทำให้เป็นหน้าที่ปฏิบัติอยู่กับเนื้อ กับตัว กับกาย วาจา ใจ ธรรมะก็จะช่วยผู้มีธรรมะ ธรรมะช่วยแต่ผู้มีธรรมะ เป็นยุติธรรมที่สุดตามกฎของธรรมชาติ นี่เรียกว่าพินัยกรรมของธรรมะ จากธรรมะชั่วถึงธรรมะดี จากธรรมะดีถึงธรรมะว่าง จากชั่วถึงดี จากดีถึงว่าง พอถึงว่างก็จบ ว่างนี่มันไม่มีปัญหา ไม่มีเรื่องอะไร ไม่มีมิติ ไม่มีเหตุ ไม่มีผล ไม่มีอะไร มันว่าง เราจงรู้จักธรรมะกันโดยลักษณะเช่นนี้ นี่จบเรื่องธรรมะในฐานะแง่มุมต่างๆ เรื่องทุกเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมะนี่เราจะพูดได้อย่างนี้ แล้วก็จบเพราะความสมควรแก่เวลา สมควรแก่เรี่ยวแรง ไก่มันก็ตื่นแล้วตามเคย ขอยุติการบรรยายในวันนี้