แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้จะได้พูดถึงประโยชน์ของสิ่งที่เรียกว่า “อตัมมยตา” มันแปลกหูสำหรับท่าน ยังไม่ทราบว่าคืออะไร ขอให้สนใจฟังจนรู้ว่า “อตัมมยตา” นั้นคืออะไร
เราจะพิจารณาดูไปตั้งแต่ว่าเราจะบังคับจิตของเราโดยตรงให้หัวเราะหรือให้ร้องไห้ นี่มันทำไม่ได้ หรืออาจจะทำกิริยาหัวเราะได้ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรแก่เรา ถ้าเราทำกิริยาร้องไห้ ๆ เราก็ทำได้ แต่มันกลายเป็นเล่นละคร นี่เพราะเหตุว่าหัวเราะหรือร้องไห้เป็นต้นนี่ มันมีเหตุปัจจัยของมันต่างหาก เราจึงต้องรู้เรื่องสิ่งที่เป็นเหตุปัจจัยของสิ่งเหล่านี้
แม้แต่เหตุ แม้แต่เพียงหัวเราะหรือร้องไห้ มันก็ยังมีเหตุปัจจัยของมันเอง นับประสาอะไรกับว่าไอ้ความทุกข์หรือความสุขนี่มันจะไม่มีเหตุปัจจัยของมันเอง ดังนั้นเราจะแกล้งทำให้เป็นทุกข์ หรือแกล้งทำให้เป็นสุขนี่มันก็ทำไม่ได้ เราจะต้องรู้ถึงเหตุปัจจัยของมันจึงจะสามารถสร้างความรู้สึกที่เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ได้ โดยวิธีที่มีความรู้มีความฉลาดเพียงพอ
เมื่อมันมีเหตุปัจจัยของมันเองที่จะให้หัวเราะ คนธรรมดาทั่วไปอดกลั้นไม่ได้ก็ต้องหัวเราะ เมื่อมันเหตุปัจจัยมันมีจะให้ร้องไห้ คนธรรมดาก็อดกลั้นไว้ไม่ได้ก็ต้องร้องไห้ แต่ถ้าว่าบังคับไว้ได้ในกรณีที่จะต้องหัวเราะก็ไม่หัวเราะ ที่จะต้องร้องไห้ก็ไม่ร้องไห้ นี่มันจะมีประโยชน์สักเท่าไรขอให้คิดดู ถ้ารู้จักประโยชน์อันนี้แล้วก็จะรู้จักประโยชน์ของ “อตัมมยตา”
สำหรับคนธรรมดาทั่วไป ถ้ามันมีเหตุปัจจัยมีมาอย่างไร มันก็ต้องเป็นไปตามนั้น ช่วยไม่ได้ มันจึงเดี๋ยวหัวเราะ จึงเดี๋ยวร้องไห้ ถ้าเรารู้เรื่องเหตุปัจจัยนี้ดี เราก็จะสามารถบังคับจิต จิตของเราที่เกี่ยวข้องกับเหตุปัจจัยนั้นในวิธีที่ว่าไม่ต้องเป็นทุกข์เลย และไม่ต้องหัวเราะด้วย มีความสงบ มีความเยือกเย็นเป็นสุข นี่คือสิ่งที่เราจะต้องรู้จัก เราจะต้องมีไว้ จะต้องใช้มันเป็นประโยชน์ คือความรู้ที่เราจะบังคับจิตไม่ให้เป็นไปตามอารมณ์ที่เข้ามาเป็นเหตุ เป็นปัจจัย
ดังนั้นจึงมีความสำคัญหรือจำเป็นมากที่เราจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่า “ปัจจัย” ปัจจัยในภาษาบาลี ภาษาอังกฤษก็หาคำยาก “ปัจจัย” คือสิ่งที่มาทำให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา มีทั้งภายนอก คือเข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เข้ามาจากภายนอก แล้วปัจจัยภายในก็มี เช่น กิเลส ตัณหา มานะ ทิฐิ เพื่อช่วยให้ปัจจัยภายนอกนี่ปรุงแต่งจิตใจ ปรุงแต่งจิตใจ เป็นไปตามเรื่องของกิเลส อวิชชา แล้วก็มีความทุกข์ นี่ความที่ต้องเป็นไปตามปัจจัยนั้นน่ะมีผลเป็นความทุกข์ แล้วเราจะควบคุมปัจจัยไม่ให้ปรุงแต่งได้ คือควบคุมจิตไว้ไม่ให้ปัจจัยปรุงแต่งได้ ควบคุมจิตไว้ ไม่ให้ปัจจัยปรุงแต่งได้ นี่คือ “อตัมมยตา”
ความรู้ที่ทำให้ปัจจัยปรุงแต่งจิตไม่ได้อีกต่อไป นี่เรียกว่า “อตัมมยตา” normal being concocted หรือว่า conditioned by any ปัจจัย any ปัจจัย ทำความเข้าใจเอาเองเถิดว่า ไม่อาจจะถูกปรุงแต่งโดยปัจจัยอะไร ๆ อีกต่อไป พูดสั้น ๆ ก็ว่ามีจิตอยู่เหนือ ๆ ปัจจัย เหนือ ๆ การปรุงแต่งด้วยปัจจัย ท่านลองคิดดูว่าจะมีประโยชน์สักเท่าไร
ชีวิตตามธรรมดาของคนเราแม้เราจะเล่าเรียนมหาวิทยาลัย เรียนอะไรมา ชีวิตตามธรรมดาของเรานี้ ไม่มีความรู้เรื่อง “อตัมมยตา” ชีวิตตามธรรมดาของคนเราจึงพร้อมที่จะถูกปรุงแต่งโดยเหตุปัจจัยอยู่เสมอ นี่ชีวิตตามธรรมดา
และที่แปลกหนักขึ้นไปอีกก็คือว่า การศึกษาของเราสมัยนี้มีผลทำให้มีการปรุงแต่งมากขึ้น นอกจากขาด “อตัมมยตา” แล้ว ยังมีผลไปในทางปรุงแต่งให้มากขึ้น-ปรุงแต่งให้มากขึ้น ปัญหาจึงมีมาก ความทุกข์จึงมีมาก เราไม่หา ไม่อาจจะหาสันติภาพได้ด้วยการศึกษาที่มันขาด “อตัมมยตา”
เราจะลองจารนัยแจกแจงการถูกปรุง หรือผลของการถูกปรุงในชีวิตธรรมดาสามัญ ของคนธรรมดาสามัญที่เจริญด้วยวิชาความรู้สมัยนี้ดูกันบ้าง คงจะไม่เสียหายอะไร ก็จะพูดทีละอย่าง เช่น
ความรัก มันทำให้เกิดปัญหายุ่งยากแก่จิตใจอย่างไร เท่าไร
ความโกรธ นานาชนิด หลาย ๆ ระดับหลาย ๆ ชนิด เมื่อเกิดขึ้นแล้วมันทำให้มีปัญหายุ่งยากเท่าไร
ความเกลียดนั่น เกลียดนี่ นานาชนิด เกิดขึ้นแล้วทำความยุ่งยากให้เท่าไร
ความกลัว บางทีก็กลัวอย่างโง่เขลาไม่มีเหตุผล แม้แต่กลัวธรรมดานี่แหละ เกิดขึ้นแล้วมันให้ความทุกข์ยากลำบากปัญหามากมายเท่าไร
ความตื่นเต้น นี่เป็นสิ่งที่แปลกประหลาด ไอ้ความตื่นเต้นนี่ซึ่งคนก็ชอบกันนัก ชอบไปดูกีฬา ชอบไปดูฟุตบอล ชอบไปดูความตื่นเต้นนี่ มันเกิดขึ้นในใจแล้ว มันทำความยุ่งยากลำบาก ไม่มีความสุขให้แก่เราเท่าไร ความตื่นเต้น
ความวิตกกังวลถึงสิ่งที่มันยังไม่มา มันรบกวนจิตใจเท่าไร วิตกกังวลในสิ่งที่ยังไม่มา
ทีนี้ความอาลัยอาวรณ์ถึงสิ่งที่มันล่วงลับไปแล้ว ก็ยังอาลัยอาวรณ์นอนไม่ได้ นอนไม่หลับ ร้องไห้อยู่ มันเผาผลาญจิตใจให้เป็นทุกข์เท่าไร
ความอิจฉาริษยา-อิจฉาริษยา ซึ่งกำลังมีเต็มไปในโลก เมื่อไม่ชอบกันแล้วก็อิจฉาริษยากัน ระหว่างฝ่าย ระหว่างพรรคนี่ โลกกำลังจะวินาศเพราะความอิจฉาริษยา-ริษยานี่ ความริษยาเกิดขึ้นในจิตใจแล้วมันเป็นทุกข์เท่าไร ขอให้คิดดู
ความหวงแหนทั่ว ๆไปกับความหวงแหนทางเพศที่เรียกว่าความหึงนี่ ก็เป็นความหวงเหมือนกัน เกิดขึ้นแล้วมันกลัดกลุ้มในจิตใจสักเท่าไร
ทีนี้ก็คำนวณดูว่าถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ ที่ยกตัวอย่างมาแล้วหลาย ๆ อย่างนี่มารบกวนจิตใจ จิตของเราจะมีความสงบเย็นสักเท่าไร
สิ่งที่เรียกว่าความรอดพ้น ความสะดวก ความสบาย หรือ salvation- salvation ในทางพระพุทธศาสนานี่หมายถึงไม่มีสิ่งเหล่านี้ ไม่มีสิ่งเหล่านี้แล้วก็พอใจนั้นน่ะ เป็น salvation ของเราแล้ว
การศึกษาในโลกแม้ว่าจะทำให้ฉลาด ๆ ๆ เท่าไร มันก็ไม่สามารถจะควบคุมสิ่งเหล่านี้ และบางทีความฉลาด ๆ มาก ๆ ทำให้ยิ่งเก่งในทางที่จะคิด ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ให้มากกว่าธรรมดา สิ่งที่เลวร้ายเหล่านี้ ยิ่งฉลาดมันยิ่งคิดได้มากขึ้นกว่าธรรมดา แทนที่จะเป็นทุกข์นิดหน่อยก็จะเป็นทุกข์มาก ความฉลาดอย่างนี้ใช้ไม่ได้ ความฉลาดในการศึกษายุคปัจจุบันมีแต่อย่างนี้
ทีนี้พูดถึงความร่ำรวย เดี๋ยวนี้เราก็ร่ำรวยเราประสบความสำเร็จในการงาน เรามีความร่ำรวย ร่ำรวยมาก ความร่ำรวยก็ไม่ได้ช่วยหยุดไอ้สิ่งเลวร้ายหลาย ๆ อย่างที่ออกชื่อมาแล้ว กลับเปิดช่องทางให้มันมีมากขึ้นมาอีก ให้มันรุนแรงขึ้นมาอีก ความร่ำรวยไม่ช่วยดับทุกข์เลย
ท่านคิดว่าเมื่อเราร่ำรวย-ร่ำรวยแล้วเราอาจจะซื้ออะไรก็ได้ เราซื้ออะไรก็ได้จริง ๆ แต่เราซื้อความดับทุกข์อย่างนี้ได้ที่ไหน ไอ้ความร่ำรวยที่เป็นเหตุให้เราต้องการมากออกไป จึงมีปัญหามากออกไป ไม่ได้ช่วยหยุดปัญหาเหล่านี้เลยสำหรับความร่ำรวย มันมีแต่จะทำให้ต้องการเกินจำเป็น เกินจำเป็น และปัญหาก็มากขึ้น เราก็หาทางสงบสุขในจิตใจได้ยาก
ทีนี้ก็ดูที่ “ความเจริญ” ความเจริญหรือ civilization ความเจริญทางวัตถุโดยเฉพาะนี่ มันไม่เคยช่วยระงับไอ้ความทุกข์หรือปัญหาเหล่านี้เลย มีแต่จะเพิ่มให้มากขึ้น เพราะว่าเราเจริญ ๆ ไปแต่ในทางที่มีแต่ปัจจัยแปลก ๆ มาหลอกให้มันพอใจ ให้หลงใหลมากยิ่งขึ้น ในความเจริญจึงไม่ช่วยทำให้เกิดไอ้ความสงบระงับแห่งจิตใจ เป็นการต้องการที่เลยพอดี เกินพอดีก็ยิ่งเพิ่มปัญหา ฉะนั้นความเจริญทางวัตถุนี้จะนำมาซึ่งปัญหายุ่งยากมากขึ้น จะต้องนึกถึงความถูกต้องทางจิตใจกันบ้าง อย่ามุ่งแต่ว่าความเจริญ ๆ หรือ civilization แล้วก็จะดับทุกข์ได้ คุณมาแต่ยุโรป อเมริกา คุณก็เห็นได้เองแล้วว่าความเจริญช่วยแก้ปัญหาอะไรได้ นอกจากเพิ่มปัญหา
ในยุคสมัยที่ไม่มีความเจริญ โลกไม่มีความเจริญน่ะ คนอื่นฆ่าคนอื่นให้ตาย มีมาก ทำไมยุคที่มีความเจริญ ๆ นี่ ตัวเองฆ่าตัวเองให้ตายมีมาก ขอให้สังเกตดู
ทำไมมันจึงเป็นอย่างนี้ ในเมื่อเขาไม่เจริญนี่ปัญหาก็มีน้อย เขาไม่ต้องการอะไรมาก เขามีหนทางออกแก้ปัญหาที่มีน้อยได้ พอมาถึงยุคที่เจริญ ปัญหามีมากจนไม่รู้จะแก้อย่างไร ยิ่งรวยยิ่งมีปัญหา ยิ่งเจริญยิ่งมีปัญหา มันก็จน ๆ จนทางไป มันก็จึงแก้ปัญหาด้วยการฆ่าตัวเองตาย นี่ของขวัญสำหรับยุคที่มันเจริญ คือฆ่าตัวเองตาย
คนที่ฆ่าตัวเองตาย เขาเป็นคนบ้าทาง spiritual, spiritual crazy มันฆ่าตัวเองตาย มันเป็นบ้าทางวิญญาณ มันทำอะไรไม่ถูก มันมีความรักมาก มีความโกรธมาก เกลียดมาก กลัวมาก วิตกกังวลมาก อาลัยอาวรณ์มาก มากจนมันเป็นบ้าทางวิญญาณ มันก็เลยไปฆ่าตัวเองตาย พอใจในการฆ่าตัวเองตาย
ถ้าจะพูดให้ชัดให้ง่ายขึ้นมาอีกก็ว่าไอ้ความฉลาดมากจนเป็นบ้า โลกนี้มากไปด้วยความฉลาด ๆ ยิ่งเรียน ยิ่งฉลาด ฉลาดกันเหลือประมาณ ความฉลาดนั้นมันไม่มีทางไป มันตัน มันไม่มีทางไปนี่ ความฉลาดมันก็เป็นบ้าได้ มิฉะนั้นมันก็ไม่ฆ่าตัวเองตาย เก็บไว้ทำประโยชน์ดีกว่า เราเรียกว่าความฉลาด หรือแม้แต่ที่เรียกว่าสติปัญญานั่นแหละมันเป็นบ้าได้ นี่ขอให้มองเห็นอันตรายอันนี้
สติปัญญาเป็นบ้าได้นี่เป็นคำพูดที่แปลกประหลาดที่ท่านคงจะไม่เชื่อ เพราะว่าสติปัญญามันก็มีได้ในทางที่ผิด ไอ้ความฉลาดนั่นน่ะมีได้ในทางที่ผิด มันไม่ใช่ยอดสุดของความรู้ที่ถูกต้อง มันไม่ใช่ความรู้ที่ถูกต้อง มันเป็นแต่สติปัญญาความเฉลียวฉลาด ดังนั้นมันจึงผิดได้ สติปัญญา-สติปัญญานี่ไปเป็นโจร เป็นโจรที่ร้ายกาจก็ได้ ไปเป็นพระอรหันต์ก็ได้ สติปัญญา เราจะต้องระวังอย่าให้สติปัญญามันบ้า คือมันหลงใหลไปในทางที่เพิ่มปัจจัยแห่งความทุกข์ เพิ่มปัจจัยแห่งความทุกข์ให้แก่ตัวเอง-เพิ่มปัจจัยความทุกข์ให้แก่ตัวเอง นี่สติปัญญาที่มันเป็นบ้ามันเป็นอย่างนี้
แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าศาสนา- ศาสนา ก็เป็นที่ตั้งแห่งความบ้าได้เหมือนกัน ดังมีข่าวเมื่อไม่นานนัก นานนักนี่ ก็มีพวกนิกายเทมเปิล (Temple?) นิกายเทมเปิล ศาสนานิกายเทมเปิล ชวนกันฆ่าตัวตายเป็นร้อย ๆ คน ศาสนาก็ชวนให้เป็นบ้าได้ ระวังให้ดีว่าสติปัญญามันยังบ้าได้ เราจะต้องระวังให้ดี ให้สติปัญญาของเราไม่ ๆ เป็นบ้าขึ้นมา นี่ “อตัมมยตา” จะช่วยได้ ยืนยันว่า “อตัมมยตา” จะช่วยได้ในเรื่องนี้
ขอย้อนถึง ย้อนกลับมาถึง civilization อีกครั้งว่า แม้ว่าเราจะมี civilization ที่เราชอบนี้ ไป ๆ จนถึงที่สุด มันก็ไม่หยุดสร้างปัจจัยแห่งความทุกข์-ไม่หยุดสร้างปัจจัยแห่งความทุกข์ จะเพิ่มวิถีทางที่จะเป็นทุกข์ให้มากขึ้น หาปัจจัยที่เป็นส่วนเกินน่ะมันมากขึ้น เราพึ่ง civilization ไม่ได้ มันไม่ช่วยให้หยุดปัจจัยแห่งความทุกข์
เราจะเข้าถึงที่สุด สูงสุดแห่ง civilization สักเท่าไร เรายิ่งเข้าไปในโลกของพระเจ้าไม่ได้ เราเข้าไปในโลกของพระเจ้าไม่ได้โดยอาศัย civilization แม้มันจะถึงที่สูงสุดเท่าไร
สำหรับผู้ที่มีศาสนาอย่างมีพระเจ้าผู้สร้าง เราก็เข้าถึงหัวใจของศาสนาไม่ได้ โดยความเจริญอย่างทางนี้ ทาง civilization ยิ่งศาสนาชนิดที่ไม่มีพระเจ้าน่ะ เป็น evolutionist อย่างศาสนาพุทธอย่างนี้แล้ว ยิ่งไม่ได้ใหญ่ ยิ่งมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งเท่าไร มันก็ยิ่งไกลออกไป-ไกลออกไปจากจุดหมายปลายทางของศาสนา การที่เจริญด้วยวัตถุจนสติปัญญาเป็นบ้านี่ ไม่ ๆ เป็นหนทางที่จะเข้าไปสู่ศาสนาใด ๆ ได้ จะมีพระเจ้าหรือไม่มีพระเจ้าก็ตาม
อยากจะบอกให้ท่านทราบว่าบุคคลสูงสุดในพุทธศาสนาคือพระอรหันต์นั้น คือผู้ที่มีจิตชนิดที่ปัจจัยอะไร ๆ ปรุงแต่งไม่ได้ อยู่เหนืออำนาจปรุงแต่งของปัจจัยทุก ๆ ชนิด ท่านจึงเป็นพระอรหันต์ คือมีจิตปกติ คือพระอรหันต์มีจิตอยู่เหนือการปรุงแต่งทุกชนิด
พระอรหันต์เป็นบุคคลสูงสุด ทีนี้ธรรมมะสูงสุด ธรรมมะสูงสุดก็คือ “นิพพาน” นิพพานก็คือภาวะปรกติของจิต ที่อะไร ๆ ปรุงแต่งไม่ได้ เมื่อจิตอยู่ในสภาพที่อะไร ๆ ปรุงแต่งไม่ได้ มันก็เป็นจิตที่เยือกเย็น สงบ เงียบ ไม่มีปัญหาไม่มีความทุกข์ นี่เรียกว่าจิตที่อยู่เหนืออำนาจของการปรุงแต่งก็จะถึงธรรมมะหรือสภาวะที่สูงสุด เราเรียกว่า“นิพพาน” นิพพานคือภาวะแห่งจิตที่อะไร ๆ ปรุงแต่งไม่ได้
คนธรรมดา ปุถุชนธรรมดาก็คือคนที่มีจิตชนิดที่เหตุปัจจัยปรุงแต่งได้เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าสูงกว่าธรรมดา มีจิตที่ปัจจัยปรุงแต่งไม่มากได้น้อยหน่อย ก็เป็นพระอริยเจ้าต้น ๆ ถ้าจิตถูกปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไปก็เป็นพระอริยเจ้าสูงสุด คือเป็นพระอรหันต์ นี่ก็ขอให้คิดดูให้ดีนะ มนุษย์ธรรมดาสามัญนี่จิตถูกปรุงแต่งร้อยเปอร์เซ็นต์ จิตปรุงแต่งน้อยเข้า-น้อยเข้าก็เป็นคนที่ดี ที่จะเป็นพระอริยเจ้าพระอรหันต์ พอปรุงแต่งไม่ได้เลย- ปรุงแต่งไม่ได้เลยก็เป็นพระอรหันต์ เป็นบุคคลสูงสุด เป็น The man perfected สูงสุด ไม่มีอะไรสูงสุดไปกว่านั้นแล้วสำหรับบุคคล สำหรับมนุษย์เรา
เราดูคนธรรมดาสามัญนี่ The man in the road, the man in the street สติปัญญาของเขากำลังเป็นบ้า กี่มากน้อย กี่มากน้อย ไปดูเถิด ไปสังเกตดูเถิด เขาวิ่งไปวิ่งมา-วิ่งไปวิ่งมา-วิ่งไปวิ่งมา ไม่มีหยุดไม่มีหย่อน ไม่มีการพักผ่อนน่ะ จิตใจของเขาไม่มีการพักผ่อน พอจิตใจของเขาถูกกระตุ้น-ถูกกระตุ้น ถูกปรุงแต่งถูกกระตุ้นอยู่เรื่อยไปนี่ นี่เราจะรู้สึกอย่างไร เราจะพอใจไหม ถ้ายังถูกกระตุ้นอยู่อย่างนั้นน่ะเราก็มีความเป็นมนุษย์นิดเดียว ความเป็นมนุษย์น่ะมีใจสูงอยู่เหนือการกระตุ้น คำว่ามนุษย์ในภาษาบาลี คำว่า human-human นี่ ในภาษาบาลีก็มีจิตใจสูงอยู่เหนือการกระตุ้น ไอ้ปัจจัยกระตุ้นไม่ได้ก็เลยนั่งสบาย นั่งสงบ ทำงานปกติ ไม่วิ่งไปวิ่งมาด้วยกิเลสตัณหา นี่เรา ๆ พยายามเลื่อนชั้นตัวเองจากคนธรรมดาที่สุดมาเป็นคนที่มีความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ มีมนุษย์ที่ความเป็นมนุษย์ที่เต็มขึ้นมา ขึ้นมาตามลำดับ
ทีนี้เราก็มาดูเรื่องที่เกี่ยวกับอานาปานสติที่ท่านทั้งหลายกำลังฝึกอยู่ ถ้าท่านประสบความสำเร็จในอานาปานสติหมวดที่ ๑ คือหมวดกาย ประสบความสำเร็จในหมวดกายานุปัสสนา ท่านก็จะมีจิตที่พร้อม ที่ active ที่สุดที่จะเข้าใจ “อตัมมยตา” แล้วก็มี จิตนั้นก็มี efficiency สูงมาก ที่จะค่อย ๆ สามารถ ขึ้นไป ๆ อยู่เหนือระดับของการถูกปรุงแต่ง จิตนี่มันจะ มันพร้อมมีความพร้อมที่จะขึ้นไปอยู่ระดับที่เหนือการปรุงแต่ง คือไม่ถูกปรุงแต่ง ถ้าประสบความสำเร็จในหมวดที่ ๑ คือหมวดกายา
ทีนี้ถ้าท่านประสบความสำเร็จในหมวดที่ ๒ น่ะ ๔ ขั้น ที่ ๒ น่ะ ท่านก็ควบคุมเวทนาได้ feeling ที่มาจากปัจจัยภายนอก ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่ ปัจจัยภายนอกทำให้เกิด feeling ถ้าท่านควบคุมมันไม่ได้ feeling มันก็สร้างไอ้ความผิดพลาดให้เกิดขึ้นแก่จิตใจ คือโง่ไปในทางบวกบ้าง โง่ไปในทางลบบ้าง ไม่ปกติ ไม่ถูกต้อง ไม่สงบอยู่ตรงกลาง ความคิดของเราก็ไม่ไปในทางที่จะดับทุกข์ เหตุปัจจัยทั้งหลายก็ปรุงแต่งได้ ปรุงแต่งได้ เกิดกิเลสมากขึ้น นี่เรียกว่าจำเป็นที่จะต้องควบคุมเวทนาไว้ให้ได้ ในการประสบความสำเร็จในการปฏิบัติหมวดที่ ๒
ถ้าเราจะมองดูอย่างลึกซึ้งที่สุด-ลึกซึ้งที่สุด ละเอียดที่สุด สุขุมที่สุด เราก็จะพบว่าปัญหาของมนุษย์เราทั้งหมดทั้งมวลทั้งจักรวาลนี่ มันอยู่ที่ควบคุมเวทนาไม่ได้ ควบคุม feeling ไม่ได้ มันอยู่ที่ควบคุมเวทนาไม่ได้ แล้วเวทนาก็ปรุงแต่ง ปรุงแต่งสารพัดอย่างทุกทิศทุกทาง ไม่มีจุดจบ เพื่อจะพบความสงบ มันยิ่งไกลออกไปจากความสงบจนไปจบลงด้วยการฆ่าตัวตาย ถ้าควบคุมเวทนาได้ มนุษย์ทุกคนควบคุมเวทนาได้ โลกนี้จะไม่มีปัญหาอะไรเลย จะมีสันติภาพเหลือประมาณ
ขอร้อง ๆ ขออ้อนวอนว่าได้โปรดจำประโยค-sentense สั้น ๆ นิดเดียวไว้ด้วยว่า “ถ้าควบคุมเวทนาได้ เราจะควบคุมจักรวาล universe as a whole ได้ ควบคุมเวทนาได้จะควบคุมจักรวาลได้” สั้น ๆ เท่านี้
และขอโอกาสพูดสักหน่อย อย่าหาว่าจ้วงจาบศาสนาของคุณหรือจะจ้วงจาบพระเจ้า ประโยคสั้น ๆ ว่า ถ้าเราควบคุมเวทนาได้ เราจะอยู่นอกเหนือการควบคุมของพระเจ้า ขอโทษ-ขอโทษ ไม่ใช่พูดจ้วงจาบ พูดความจริงว่าถ้าควบคุมเวทนาได้จะอยู่นอกการควบคุมของพระเจ้า เราไม่ได้ต้องการอะไรจากพระเจ้า
ช่วยบอกเขาอีกทีว่าไม่ได้พูดกระทบ หรือดูหมิ่นหรือดูถูกพระเจ้า หรือศาสนาที่มีพระเจ้า มันมีความจริงที่จะเป็นอย่างนั้น แต่บอกเขาอีกที ไม่ได้ดูถูกพระเจ้า
เดี๋ยวนี้เราเป็นทาส เป็นทาสของเวทนา เราต้องการเวทนาอย่างนั้น เวทนาอย่างนี้ เราก็ต้องเที่ยวประจบประแจง เที่ยวขอร้องให้ได้ซึ่งเวทนานั้นมา มากมายหลายวิธีหลายอย่างเพื่อจะได้เวทนาที่เราต้องการ เราเป็นทาสของเวทนา นี่จิตมันถูกปรุงแต่งด้วยเวทนา ฉะนั้นจึงไม่มีความสงบสุข
ทีนี้ก็มาถึงอานาปานสติหมวดที่ ๓ จิตตานุปัสสนา เมื่อเราประสบความสำเร็จในการปฏิบัติหมวดนี้ เราก็เป็นนาย เป็นนายเหนือจิต คือเราบังคับจิต เราใช้จิตให้กระทำได้ทุกอย่างตามที่เราพอใจ เราใช้จิตบังคับจิต วางจิต ดำรงจิตให้อยู่ในลักษณะที่ถูกต้องที่อะไรปรุงแต่งให้เป็นทุกข์ไม่ได้ นี่ผลดีเลิศของขั้นที่ ๓ คือจิตตานุปัสสนา
เราสามารถบังคับจิต ให้ pure ให้เกลี้ยง ให้ตั้งมั่น ไม่บวกไม่ลบ ไม่ positive ไม่ negative เราสามารถบังคับจิตให้ปฏิเสธอารมณ์ที่จะมาปรุงแต่ง ไม่ยอมให้สิ่งเหล่านั้น ไม่ให้ปัจจัยนั้นปรุงแต่งได้ นี่จิตหลุดพ้น จิตหลุดพ้น เรียกว่าจิตที่หลุดพ้น ไม่มีปัญหาอะไรเหลืออีกต่อไป แม้ยังมีชีวิตอยู่นี่ จิตหลุดพ้นแล้วจากสิ่งทั้งปวง จากอำนาจของสิ่งทั้งปวง จากการปรุงแต่งของสิ่งทั้งปวง อานาปานสติข้อที่ ๓ วิเศษอย่างนี้
อานาปานสติขั้นที่ ๔ ธรรมานุปัสสนา ธรรมะ-ธรรมะ หรือธรรมาที่แปลว่าทุกสิ่ง สิ่งทั้งปวงทุกสิ่ง positive หรือ negative หรืออยู่เหนือ positive, negative ก็ได้ เรียกว่า “ธรรมมา” ธรรมมะเฉย ๆ เรียกว่าสิ่งนี้ เดี๋ยวนี้รู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไปยึดมั่นให้เป็น ego ตัวเราของเราไม่ได้ ไปยึดมั่นสิ่งใดสิ่งนั้นมันจะกัดเอา หรือมันจะตบหน้าเอา ก็เลยไม่มีความโง่เขลาที่จะไปยึดสิ่งใดว่าเป็นตัวตนหรือเป็นของตน เมื่อมีความรู้อย่างนี้แล้วไม่มีสิ่งใดจะมาปรุงแต่งจิตได้ ความเป็น “อตัมมยตา” ก็สมบูรณ์ สมบูรณ์ในจิตนั้น ปัญหาเลยหมด ความประเสริฐของอานาปานสติขั้นที่ ๔
รวมความว่าอานาปานสติทั้ง ๔ ขั้น เป็นเครื่องมือช่วยให้เรามี “อตัมมยตา” โดยสมบูรณ์ในชีวิตจิตใจของเรา ต่อไปนี้เราจะเป็นผู้ชนะ ๆ ชนะทุกสิ่งที่เข้ามากระทบ จะพบปะกับสิ่งใดก็ตาม สัมผัสสิ่งใดก็ตาม เราจะเป็นผู้ชนะเสมอ ไม่มีปัญหาเกิดขึ้น ไม่มีภาระหนักเกิดขึ้น ก็มีแต่ความสงบเย็น นี่ขอให้เรารู้จักประโยชน์ของ “อตัมมยตา” อย่างนี้ ประโยชน์ของ “อตัมมยตา” มีอย่างนี้
ก็ขอยุติการบรรยายวันนี้ไว้เพียงเท่านี้