แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การแสดงธรรมเทศนาในครั้งนี้ ขอกระทำในรูปของปาฐกถาธรรมเถิด เพราะว่ามันไม่โอ้เอ้ ยืดเยื้อ และจิตใจมันก็ยังเป็นห่วง แต่เรื่องจะทำความเข้าใจ ในความหมายของคำว่า อตัมมยตา อตัมมยตากำลังขึ้นสมอง ตั้งใจจะพูดแต่เรื่อง อตัมมยตาให้เข้าใจ ให้สำเร็จประโยชน์ จึงขอพูดเรื่อง อตัมมยตา เพิ่มเติม ขอให้ตั้งใจฟังให้ดี
อ่า, การที่เอาคำสำคัญ ๆ ชั้นหัวใจของพระธรรมมาบอก มากล่าว ให้เป็นที่ทราบกันนี้ มันมีความ มุ่งหมายที่ลึกซึ้งอยู่ ซึ่งบางคนอาจจะไม่ทราบ ก็หมายความว่า มันต้องการจะให้ใช้นะ ให้ใช้รู้ไหม ให้ใช้เป็น ประโยชน์ ไม่ใช่ให้ได้ยินเฉย ๆ เพียงให้ได้ยินได้ฟังเฉย ๆ ก็ไม่สู้จะมีประโยชน์ เป็นเพียงความรู้อยู่ในสมุด อยู่นั่นเอง อ่า, ต้องการให้ เอาไปใช้ เหมือนกับคาถาศักดิ์สิทธิ์ หรือมนตร์ตราศักดิ์สิทธิ์ ใช้ขับไล่ภูติผี ปีศาจ ภูติผีปีศาจ ที่น่ากลัวจริง ๆ นั้นก็ คือ กิเลสที่อยู่ข้างใน ไอ้ผีที่เด็ก ๆ กลัว นั้นมันผีเด็ก ๆ ผีเด็กเล่น ไม่น่ากลัว ผีหลังโกง ผีตากลวง ผีอะไรไม่รู้ ไม่น่ากลัวอะไรหรอก
แต่ว่าไอ้ผีที่น่ากลัวจริง ๆ นั่นก็คือ กิเลส ที่มีอยู่ในใจนั่น สังเกตดูให้ดี นั่นน่ะมันยิ่งกว่าผีหลายเท่า หรือเป็นผีที่ร้ายกาจร้ายแรง มันจะต้องขับให้ออกไป มิฉะนั้นแล้ว มันจะกัดเอา มันยิ่งกว่าหลอกเสียอีก มันเพียงแต่หลอก แลบลิ้นหลอก มันจะเป็นอะไรนักหนา แต่ถ้ามันกัดเอา แล้วมันก็เจ็บปวด เพื่อไม่ให้กิเลส กัดเอา เราก็ต้องมี มนตราคาถา สำหรับขับไล่กิเลสนี้ ให้ออกไป นั้นจึงเอาคำพิเศษ ๆ มาบอกกล่าว ให้รู้กัน สำหรับไล่ผี นับตั้งแต่ คำว่า อนิจจังหรืออนิจตา ทุกขังหรือทุกขตา อนัตตาหรืออนัตตานี่ ถ้ารู้จักใช้ มันก็มีประโยชน์อย่างยิ่ง
เมื่อเห็นอะไร มันเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่ง ผิดจากความหมายอย่างยิ่ง เออ, ซึ่งจะถึงกับต้องร้องไห้ ต้องนั่งลง ร้องไห้นี่ แล้วมันจะได้อะไรถ้าร้องไห้ ถ้าไม่ต้องร้องไห้ มันก็ดีกว่ามาก เช่นว่า ถ้าปีนี้น้ำแห้ง ข้าวตายหมด ไม่ได้สักเม็ดเดียวนี่ มันเสียใจ แค้นใจ น้ำตาไหลออกมา นี่จะเอาคาถาอะไร มาขับไล่มันออกไป คือ จิตใจจะไม่ต้องเสียใจ จะต้องไม่แห้งใจ มันก็คาถา ไอ้อย่างที่บอก บอกไว้ก่อนแล้ว นานมาแล้ว มันแล้วแต่ว่า คนนั้น มันจะได้คาถาชนิดตื้น-ลึก สูง-ต่ำสักกี่ มากน้อย แต่มันก็ใช้มีประโยชน์ได้ เออ, ตามระดับของมัน เช่น จะใช้คำว่า อนิจจัง อนิจจังอย่างนี้ก็ได้ คือ บอกตัวเองว่ามันก็ไม่เที่ยง บางปีก็มีฝนดี บางปีก็มีฝนไม่ดี มันบอกว่าไม่เที่ยง ไม่เที่ยง เอาอนิจจังนี่ มาขับไล่ความเสียใจ ความแห้งผากในใจ ว่าข้าวไม่ได้สักเม็ดหนึ่งปีนี้ ถ้ามันมีความรู้เพียงแค่ อนิจจังก็เอาอนิจจังนั่นแหละ ไล่ผี ขับผี
ถ้ารู้สูงไปกว่านั้น เช่น รู้ไปถึงอิทัปปัจจยตา ว่ามันเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยของมันเช่นนี้ ก็ร้องออกมา ว่า อิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตา มันก็ไม่ต้องมา ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องแห้งใจ ไม่ต้องน้ำตาไหล อิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตา มาใช้เป็นมนต์ไล่ออกไป ในเมื่อมันไม่เป็นไปตามใจเรา มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ของมันเอง ถ้าคนมันมีความรู้สูงไปกว่านั้นอีก เออ, รู้ละเอียดลึกซึ้งไปกว่านั้นอีก มันอาจจะใช้มนต์อีกคำหนึ่งว่า ตถตา ตถตา ตถตา ก็แปลว่า เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง มันเช่นนั้นเอง ฟังดูเหมือนกับพูดเล่น แต่คำนี้ลึกซึ้ง เหลือประมาณ ไม่ใช่คำพูดเล่น เช่นนั้นเอง ฝนไม่ตก นาแห้ง ข้าวตายหมด ไม่ได้สักเม็ดเดียวปีนี้ ใช้มนต์ขับไล่ผี คือ ความเสียใจ ว่า ตถตา ตถตา เช่นนั้นเอง นี่มันเป็นมนต์อย่างนี้
แต่เดี๋ยวนี้ มนต์คำพิเศษ ที่พูดกันวันนี้ อตัมมยตา ยังลึกซึ้งไปกว่านั้น มันยังลึกซึ้ง ละเอียดเข้าใจยาก ไปกว่านั้น มันแปลว่า ไม่อาศัยเหตุปัจจัยนั้น ๆ อีกแล้ว ไม่หวังพึงเหตุปัจจัยนั้น ๆ อีกแล้ว ไม่หวังพึ่งที่จะได้ข้าว ได้ปลา ได้อะไร อีกแล้ว นี่มันต้องเป็นนักเลงมากกว่า มันจึงจะพูดออกมาว่า โอ้ว, อตัมมยตา ถ้าอย่างนี้ ก็จิตใจ เกลี้ยงเลย เกลี้ยง เกลี้ยงไม่มีเยื่อใย ที่จะเป็นทุกข์ จะเสียใจ หรือจะถึงกับร้องห่มร้องไห้ มนต์ขลังที่สุด คือ อตัมมยตาตามตัวหนังสือ แปลว่า ความที่ไม่ต้อง อาศัยสิ่งนั้น ไม่ต้องอาศัยสิ่งนั้น หรือไม่สำเร็จประโยชน์ มาจากสิ่งนั้น เช่น ความความหวังที่จะได้ข้าว หรือว่าความอยากที่จะได้ข้าว มันเป็นความหวังที่จะได้ มีสิ่งนั้น เป็นที่ตั้ง อ่า, นี้มันก็บอกว่า มองเห็นแล้ว มันก็บอกว่า ไม่ต้องอาศัยสิ่งนั้น ไม่ต้องอาศัยสิ่งนั้น ไม่ต้องอาศัยสิ่งนั้น
อตัมมยตา อตัมมยตาแต่คำนี้มันฟังยาก มันฟังยาก มันแปลกหูเกินไป คงฟังไม่ค่อยจะรู้เรื่อง แต่เราอุตส่าห์ อุตส่าห์ศึกษาจดจำ ให้เข้าใจไว้เถอะ เรื่องมนตรานี่ บางนิกายเขาใช้มาก ใช้มนตราทุกรูปแบบ ครบถ้วน สำหรับจะขับไล่กิเลสประเภทนั้น ประเภทนี้ ประเภทโน้น จะขับไล่ความรู้สึกทางกามารมณ์ ทางเพศก็ได้ ขับไล่ความรู้สึกทางโทสะ โกธรแค้น พยาบาทก็ได้ ความรู้สึกโง่ หลงอะไรก็ได้ เขาก็มีมนตรา มนตรา กระทั่งมนตรา ฝ่ายที่จะส่งเสริมจิตใจ ให้มันเข้มแข็ง สดชื่นเป็นไป ก้าวหน้าไป อย่างนี้ก็มี มันก็มีมนตรา อีกหลายแบบ เรามีไว้สำหรับ ขับไล่หรืออย่างต่ำที่สุด มีเอาไว้สำหรับพลั้ง ทุกคนแหละ ขออภัย โดยเฉพาะผู้หญิง จะพลั้ง พลั้ง ผู้ชายไม่ค่อยพลั้ง ไม่พลั้งแต่ก็ด่าเลย แต่ผู้หญิงนี้มักจะพลั้ง พลั้งมาก จะพลั้งเกือบทุกคน แล้วคำพลั้ง นั้นไม่ค่อยจะน่าฟัง เป็นคำที่เกี่ยวกับเพศ เกี่ยวกับอะไรไปเสียโดยมาก และเป็นคำหยาบ ชนิดที่ตามธรรมดา พูดไม่ได้ แต่พอมันพลั้งมันออกมาได้ นี่คำพลั้งเป็นอย่างนี้
เราควรจะมีคำพลั้ง คำพลั้งที่น่าฟัง คำพลั้งที่ไพเราะ คำพลั้งที่สำเร็จประโยชน์ ใช้ขับไล่ไปได้จริง ๆ แทนที่จะพลั้งเป็นคำหยาบ คำทางเพศทางกามารมณ์ เหมือนที่เป็นกันโดยมาก ก็พลั้งไปในทางธรรมะสิ พุทธัง ธัมมัง สังฆัง อะไรก็ได้ แต่ถ้ามันเป็นเรื่องที่ลึก ละเอียด มีจิตใจสูง เป็นผู้รู้ มันก็จะพลั้งเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ได้ อนิจจังก็ได้ อนัตตาก็ได้ คำใดคำหนึ่งก็ได้ หรือทั้ง ๓ คำก็ได้ ถ้ายังเป็นเด็กหรือค่อนข้างขี้ขลาด ไม่ค่อยจะรู้ อะไร ต้องการให้ช่วย ก็พลั้งว่า พุทธัง ธัมมัง สังฆัง ก็ยังดี ก็เคยได้ยินเหมือนกัน บางคนก็พลั้งอย่างนั้น แต่จะแกล้งทำ หรือจะทำเฉพาะคราวนั้นก็ไม่รู้ อย่างว่า เดินไปเหยียบพื้นปูน มันลื่นไหลจะล้มลงไปนี่ ก็จะต้อง พลั้ง โดยเฉพาะผู้หญิงจะต้องพลั้ง พลั้งคำหยาบ คำไม่น่าฟังออกมา
ทีนี้ก็ เตรียมคำที่น่าฟัง ไว้สำหรับพลั้งกันดีกว่า ถ้าขี้ขลาด ก็ร้องพระเจ้าช่วย อะไรไปตามเรื่อง พุทธัง ธัมมัง สังฆังไปตามเรื่อง นี่ก็พลั้งเป็นเรื่องว่า อะไรดีล่ะ จะพลั้งเป็นเรื่องว่า เช่นนั้นเอง เช่นนี้เอง มันก็ดูจะไม่ค่อย จะเข้าเรื่อง เอาที่มันตรงเรื่อง ที่มันเข้าเรื่อง พระเจ้าช่วย หรืออะไรทำนองนี้ มันก็ธรรมดา ๆ เกินไป เด็ก ๆ ขี้ขลาด มันก็ต้องพลั้งอย่างนั้น ทั้งนั้น จะพลั้งว่า ตถาตา เช่นนี้เอง ก็ยังดีกว่า
จะพลั้งว่าอิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตา มันมีเหตุ มีปัจจัย ที่ทำให้พื้นมันลื่น แล้วไปเหยียบเข้า แล้วมันก็ลื่น แล้วมันก็จะล้ม อิทัปปัจจยตา ทีนี้ถ้าว่ามันล้ม ก้นกระแทกนั่งลงไป หยุดอยู่ก็จะพลั้งออกมาได้ว่า อิทัปปัจจยตา มันดีกว่านะ มันฉลาดกว่านะ มัน ๆ ดับทุกข์ได้ มันไม่ต้องร้องไห้ หรือมันไม่ต้องเจ็บปวด ถ้าพลั้งเป็น ธรรมะชั้นสูง ชั้นลึก บำบัดความปวดความเจ็บไปในตัวเลย อุตส่าห์ศึกษาไว้ให้พอ มีธรรมะพอ เข้าใจธรรมะพอ เตรียมพร้อมอยู่เสมอ มันจะพลั้งออกมา เป็นคำที่เหมาะสมกับเรื่องราวนั้น ๆ เป็นแน่นอน
ในบางกรณี มันจะพลั้งออกมาว่า อนิจจัง อนิจจัง อนิจจัง เพราะว่าเรื่องนั้น มันเป็นเรื่องที่ไม่เที่ยง ถ้าจะพลั้งออกมาว่าทุกขัง ทุกขัง มันก็มีความหมาย ในการที่ว่า มันเป็นทุกข์ตามธรรมชาติ ไม่แปลกประหลาด อะไร ซึ่งธรรมดาคน เขาเป็นทุกข์กัน ฉันจะไม่เป็นทุกข์กับมันอย่างนี้ก็ยังดี ถ้าว่าอนัตตา อนัตตา ไม่มีอะไร เป็นตัวตน ที่จะต่อสู้ต้านทาน กับสิ่งเหล่านี้หรือเหตุการณ์อันนี้ ซึ่งมันต้องเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ตามเหตุ ตามปัจจัย ไม่มีอะไรต้านทานได้ มันก็พลั้งปากออกมา ว่า อนัตตา อนัตตา
ไอ้คำที่ยาว ๆ คงจะไม่ เออ, คงจะไม่มีใครเอามาพลั้งได้ แล้วไม่ค่อยจะเข้าใจ เช่น คำว่าธรรมทิฐิตา ธรรมทิฐิตา (นาทีที่ 15:17) ซึ่งเป็นคำสรุปเรียก ของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกว่า ธรรมทิฐิต ธรรมทิฐิตา (นาทีที่ 15:24) มันตั้งอยู่ตามธรรมชาติของธรรมดา ตั้งอยู่ตามธรรมดาของธรรมชาติ ธรรมทิฐิตา (นาทีที่ 15:34) ก็มีความหมายว่า ไม่น่าแปลก ไม่ต้องตกใจ ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องร้องไห้ หรือคำว่า ธรรมนิยามตา (นาทีที่ 15:50) มันยาวไปเหมือนกันแหละ ก็มีความหมายว่า มันเป็นไปตามกฎของธรรมดา จะมัวโง่ไปถึงไหน จะร้องไห้ไปทำไม มันเป็นไปตามกฎของธรรมดา ธรรมนิยามตา (นาทีที่ 16:03) ก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อีกนั่นแหละ ที่เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดา มันก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ได้ อิทัปปัจจยตา ก็ยิ่งดี สิ่งทั้งหลายก็มีเหตุ มีปัจจัยทั้งนั้นน่ะ แล้วมันก็เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย มันก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย
ได้ยินคนบางคนรู้จักใช้แล้ว ชาวบ้านธรรมดานี่ อาตมาเคยได้ยิน คนบางคนรู้จักใช้คำว่า อิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตา นี่แสดงว่า มีความรู้ทางธรรมะ ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก เข้าใจความหมาย ของอิทัปปัจจยตา จนเอามาใช้สำหรับพลั้ง จนเอามาใช้สำหรับเตือนสติตนเอง ไม่ ๆ ให้เป็นทุกข์ เพราะมันเป็น อิทัปปัจจยตา ก็เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยของมัน คำนี้ก็มีประโยชน์มาก ใช้ได้กว้างขวาง อิทัปปัจจยตา
ทีนี้ก็มาถึงคำว่า สุญตา สุญตา ถ้ามันเป็น อิทัปปัจจยตาโดยเด็ดขาด มันไม่ฟังเสียงใคร มัน ๆ ต้องเป็น ไปตาม กฎของอิทัปปัจจยตา นี่แสดงว่า มันเป็นสุญตา คือ มันว่าง ว่างจากตัวตน ไม่มีอำนาจที่จะบังคับ ให้เป็น ไปตามต้องการของตน เพราะไม่มีตัวตน เพราะไม่มีความเป็นของตน ก็พลั้งออกมาว่าสุญญตา สุญญตา ก็ว่า ว่าง ว่าง ว่าง ว่างจะไปเอาอะไรกับมัน จะไปเอาอะไรกับมัน มันว่าง ว่าง ว่าง ทีนี้ เนื่องจากเห็นว่าง มันก็เห็น เช่นนั้นเองแหละ เห็น ตถาตา ตถาตา คำนี้ก็ เป็นคำที่สำคัญมาก
ถ้าเห็นว่าเช่นนั้นเอง แล้วก็ลองคิดดูสิ เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง มันทำให้ คงที่อยู่ ที่น่ารักมาก็ไม่รัก มันคงที่อยู่ ที่น่าเกลียดมาก็ไม่เกลียด คงที่อยู่ ที่น่าโกธรมา มันก็ไม่โกธร มันคงที่อยู่ ที่น่ากลัวมา มันก็ไม่กลัว มันก็คงที่อยู่ ตถาตา นี่คือว่า เช่นนั้นเอง ทำให้คงที่ คงที่อยู่ได้ เพื่อจะคงที่อยู่ได้ ก็ปลอบใจ ตัวเองก็ได้ หรือชักจูง ตัวเองก็ได้ หรือออกมาจากจิตใจโดยตรง ก็ได้ว่าเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง ไม่หวั่นไหว ในทางได้ ในทางเสีย ในทางแพ้ ในทางชนะ ในทางกำไร ในทางขาดทุน ในทุกทางแหละ ไม่ว่าในทางบวกหรือทางลบ มันเอา ตถาตา ตถาตา ออกรับหน้า ก็เลยสบาย มัน ๆ ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ทางบวก-ทางลบ ทางซ้าย-ทางขวา ทางสูง-ทางต่ำ มันคงที่ นี่ตถาตา แปลว่า ความเป็นเช่นนั้นเอง มีความรู้แล้ว ตั้งตนอยู่ในสิ่งนี้แล้ว มันคงที่ไม่หวั่นไหว
ผู้ใดมี ตถาตา ถึงที่สุดผู้นั้น เป็นตถาคต ตถาคต เรียกอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ เป็นพระอรหันต์ คำว่า ตถาคต ในทีนี้ หมายถึง พระอรหันต์ มักจะแปลกัน อย่างโน้น อย่างนี้ อาตมาสำรวจดู ทั่วถึงแล้วว่า โอ้ว, คำนี้แปลว่า คำนี้หมายถึง พระอรหันต์ เช่น เบื้องหน้าแต่การตาย ตถาคตมีอยู่หรือไม่มีอยู่ หรือมีอยู่บ้างหรือไม่มีอยู่บ้าง หรือมีอยู่ก็ไม่ใช่ ไม่มีอยู่ก็ไม่ใช่ คำว่า ตถาคต อันนี้ ไปแปลกันเป็นอย่างอื่น ว่าสัตว์บ้าง ว่าอะไรบ้าง แต่ที่จริงคำนี้ แปลว่า อรหันต์
ผู้ใดถึงตถาหรือตถาตาหรือ ตถตาผู้นั้น เป็นอรหันต์ เป็นตถาคต เป็นคำที่พระพุทธเจ้า ท่านตรัสเรียก พระองค์เอง ก็มีเรียกว่า เราตถาคต แต่มันเป็นคำกลาง ใช้กับคนทั่วไป ที่ไม่หวั่นไหวแล้ว ที่ถึงความคงที่แล้ว ก็เรียกว่า ตถาคต นี่เพราะอำนาจ ของการเห็นตถาตา และมีตถาตามั่นคงอยู่ในใจ ไม่หวั่นไหว ใช้คำว่า ตถาตานั้น ตวาดสิ่งที่มาทำให้จิตใจหวั่นไหว ตวาดสิ่งที่มาทำให้จิตใจหวั่นไหว ความหวั่นไหวของจิตนั้นมีมาก ควรจะรู้จัก กันไว้ ใช้สำหรับศึกษา หรือปฏิบัติ หรือควบคุมตนเอง
ความหวั่นไหว จะยกตัวอย่าง มาจาก ๙ คำ ๑๐ คำ ซึ่งท่านทั้งหลาย ทุกคนต้องรู้ดี มันหวั่นไหวไป จากปกติ ก็เรียกว่า หวั่นไหว อย่างแรก ที่จะเห็นได้ง่าย หรือพูดถึงก่อน ก็คือ ความรัก มันน่ารัก เป็นอารมณ์ ที่น่ารัก โดยภาพก็ดี โดยเสียงก็ดี โดยกลิ่นก็ดี โดยรสก็ดี อะไรก็ดี มันน่ารัก จิตใจมันก็รัก ก็ผิดปกติแล้ว มันไม่คงที่อยู่แล้ว จะคงที่อยู่ได้ มันต้องเห็นความเป็นเช่นนั้นเองของสิ่งนั้น ที่มาทำให้รัก ถ้าเห็นเช่นนั้นเอง มันเป็นเช่นนั้นเอง มันก็ไม่รัก นี่ความรักทำให้ผิดปกติ ความโกธร พอโกธรแล้วมันเป็นยักษ์ เป็นมาร เป็นอะไรไป ก็ไม่รู้ ไม่เหมือนเดิมแล้ว ไม่คงที่แล้ว ความรักแล้วก็ความโกธร แล้วก็ความเกลียด ไอ้เรื่องน่าเกลียดมา ใจมันก็ เกลียด มันก็เกลียดด้วยความโง่ เกลียดเกินประมาณ เกลียดโดยไม่ต้องเกลียด ซึ่งความจริงมันก็ไม่ต้องเกลียด แต่มันก็เกลียด ยิ่งไม่ค่อยชอบ กันมาก่อนแล้ว ก็ยิ่งเกลียดมาก นี่จิตก็หวั่นไหว แล้วผิดปกติแล้ว
ความกลัว อ่ะ, ความกลัวที่น่ากลัวมา หรือว่าคิดเอาเองด้วยความโง่ เกิดความกลัว พอนึกถึงสิ่งที่น่ากลัว มันก็ขนลุกขึ้นมา นี่มันก็โง่จัดเกินไป ทุกคนก็ต้องเคยเป็นแหละ เรื่องบางเรื่อง หรือภาพบางภาพ พอนึกถึงขึ้นมา เท่านั้นแหละ ก็ขนลุกแหละ ไม่ ๆ ต้องไป ไม่ต้องมีสิ่งนั้น เพียงแต่นึกถึงเท่านั้น ความกลัวมันก็มีมากจนขนลุก หรือว่ามันมีสิ่งที่น่ากลัวมา มันก็กลัวแหละ เช่น เผชิญหน้าศัตรู สัตว์ร้าย หรืออันตราย ซึ่งรู้ว่าถูกเข้าแล้วก็ตาย เพียงแต่เดินเข้าไปใกล้ เสาไฟฟ้าแรงสูง มันก็เสียวแล้ว มันก็กลัวแล้ว อย่างนี้เป็นต้น นี่ความกลัวทำให้ผิดปกติ
ถ้ามีความรู้เรื่อง ตถาตา อยู่ในจิตใจ มันก็ไม่เป็นอย่างนั้น แต่เดี๋ยวนี้เด็ก ๆ มันถูกสอนให้กลัว ถูกหลอก ให้กลัว เอามาก ๆ มา ตั้งแต่เด็ก ๆ มันก็กลัว กลัวจน ๆ เป็นผู้ใหญ่ โตแล้ว มันก็ยังกลัวอยู่ เป็นสิ่งรบกวน จะต้องมีอะไร มาขับไล่ความกลัว มันกลัวเพราะความไม่รู้ เพราะความโง่ เช่น เด็กเล็ก ๆ เด็กเมื่อยังเล็ก ๆ มันกลัวยักษ์ กลัวรูปภาพ รูปยักษ์รูปมาร กลัวรูปที่น่าเกลียด บางทีก็กลัวแขก บางทีก็กลัวฝรั่ง หรือเขาผ่า ท้องสัตว์ ผ่าท้องหมู ผ่าท้องวัว ผ่าท้องปลา ผ่าท้องควาย มันก็กลัวนะ นี่เพราะมันไม่รู้ เพราะมันเป็นเด็ก จิตใจของมันอ่อนไหว ถ้ามันมีความรู้เรื่อง ตถาตามาแต่ในท้อง มันก็ไม่กลัว
ทีนี้ก็ความตื่นเต้น ความตื่นเต้น ความรัก ความโกธร ความเกลียด ความกลัว และอันที่ ๕ ความตื่นเต้น ตื่นเต้น มีอะไรแปลกประหลาด มันก็ตื่นเต้นน่ะ เพราะมีของแปลกประหลาด พอผิดปกติมันก็ตื่นเต้น ก็แปลก อ่า, นี่เรียกว่า ความตื่นเต้น มันจับจิตจับใจมากเหมือนกันแหละ ที่เด็ก ๆ มันชอบไปดูหนัง ไปดูละคร ไปดูอะไร แม่ไม่ให้ไปก็ร้องไห้ เพราะมันต้องการจะไป ดูไอ้สิ่งที่ยั่วอารมณ์ให้มันตื่นเต้น สนุก เพราะมันรบ มันเร้าประสาท ให้ผิดปกติ หรือว่า เออ, ความชอบใจ จนหัวเราะ นี่ก็อยู่ในพวกตื่นเต้น มันตื่นเต้นมาก บังคับไว้ไม่ได้ จนถึงกับ ต้องหัวเราะ เช่น เขาไปจี้ที่สีข้างมันก็หัวเราะ มันก็หัวเราะ มันก็ตื่นเต้น มันก็จั๊กจี้ มันก็ตื่นเต้น แล้วมันก็หัวเราะ มันไม่อาจจะคงที่อยู่ได้ นี่เรียกว่า ความตื่นเต้น
เดี๋ยวนี้เขาก็มีการฝึกฝน ทำสิ่งที่น่าตื่นเต้น อ่า, มาหลอกคนให้ตื่นเต้น แล้วก็เก็บสตางค์ คือ การเล่นอย่างนั้น เล่นอย่างนี้ เล่นอย่างโน้น สารพัดอย่าง กระทั่งที่ตื่นเต้นกันมากที่สุด ก็ไอ้เรื่องกายกรรม อย่างแปลกประหลาด ที่มาจากเมืองจีน จึงแห่กันไปดู เก็บค่าดูแพงมาก แต่ก็มีคนดูแน่น เพราะมันได้รับผล คือ ความตื่นเต้น ซึ่งเป็นที่สนุกสบายพอใจ แต่ถ้าว่า มันรู้ความจริงของตถาตาแล้ว มันจะไม่ตื่นเต้นนะ กายกรรม ที่ดูแล้ว น่าขนลุก น่าตื่นเต้น พอเห็นว่า เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง มันก็ไม่ตื่นเต้น มันก็ต้องไม่เสียสตางค์ ไม่ต้องเสียสตางค์ ไปดูกีฬา ไปดูฟุตบอล ไปดูมวย ไปดูกายกรรม ไปดูอะไร ไม่ต้อง ไม่ต้องนะ เพราะไม่ตื่นเต้น เพราะมันมีตถาตา ช่วยคุ้มครองเอาไว้ สุญตา แล้วก็ตถาตา
นี่จะมาถึงอตัมมยตาแหละ ซึ่งละเอียดประณีต ลึกไปกว่านั้นอีก คือ ความที่ไอ้สิ่งเหล่านั้น จะมาปรุงแต่ง ไม่ได้อีกต่อไป ความที่สิ่งเหล่านั้นจะมาปรุงแต่งให้รัก ให้โกธร ให้เกลียด ให้กลัว ให้ตื่นเต้นให้อะไรไม่ได้อีกต่อไป คำว่า หย่าขาดกัน ความไม่สำเร็จ มาจากเหตุปัจจัยเหล่านั้น ความไม่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยเหล่านั้น ความไม่เนื่องกัน กับเหตุปัจจัยเหล่านั้น คงจะยังฟังไม่ถูกใช่ไหม เพราะมันเป็นคำที่แปลกเกินไป แต่ขอให้ฟังไว้ก่อนเถอะ อาตมาจึงหาคำที่ง่ายที่สุด มาช่วยให้เข้าใจง่ายและจำไว้ง่าย ๆ ว่า กูไม่เอากับมึงอีกต่อไป อะไรที่จะมาทำให้รัก ให้โกธร ให้เกลียด ให้กลัว ให้ตื่นเต้น ให้วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หึงหวงอะไร กูไม่เอากับมึงอีกต่อไป
นี่ อตัมมยตา อตัมมยตา ไม่มีอะไร จะมาทำให้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ได้อีกต่อไป คือ ไม่อยู่ใต้อำนาจ ของสิ่งเหล่านั้นอีกต่อไป จะไม่มีอารมณ์ ที่ปรุงออกมาจากสิ่งเหล่านั้นอีกต่อไป ธรรมะนี้ละเอียดมาก จะเป็นการเป่าปี่ให้เต่าฟัง เสียแล้วก็ไม่รู้ ที่พูดอยู่นี่ไม่รู้ว่า จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้ ไม่ถูกอะไร ปรุงแต่งได้ นี่เป็นอตัมมยตา ไม่มีอะไรแปลกในโลก ไม่มีอะไรที่จะมาทำให้รัก โกธร เกลียด กลัว วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หึงหวงอะไรได้ ดีหรือไม่ดี
เดี๋ยวนี้เรามัน พูดไปแล้วก็ มันก็จะ ขัดใจกัน มันยังหวังนั่น หวังนี่ ต้องการนั่น ต้องการนี่ ต้องการใน ทางบวกอย่างยิ่ง ในทางลบก็ต้องการ ที่จะไม่ให้เกิดเอาเสียเลย ซึ่งมันก็เป็นไปไม่ได้ ในทางเสีย ในทางขาดทุน ในทางลบ มันก็ มันก็ต้องมีเป็นไป จะไม่ให้มีก็เป็นไปไม่ได้ แต่ว่าก็กลัว ๆ ๆ วิตกกังวล อยู่เป็นความกลัว ส่วนในทางบวกนั้น ก็หิวกระหายกันอยู่เรื่อย อยากจะมีอยู่เรื่อย ยิ่งเห็นคนอื่นมีอยู่แล้ว โอ้ว, ยิ่งต้องการใหญ่ บางทีก็อยากจะสวย เห็นคนอื่นสวย แล้วก็อยากจะสวยบ้าง มันก็กลุ้มอกกลุ้มใจ มันสวยไม่ได้อย่างนี้ เรียกว่า มันกัดหัวใจ มันกัดผู้ที่ไม่มีความรู้ ผีตัวนี้มันกัด มันยิ่งกว่าหลอก ถ้าหลอก มันจะไปอะไรหนักหนา ล่ะมันหลอก แต่ถ้ามันกัดแล้ว มันก็เจ็บปวด เจ็บถึงหัวใจ จะเอาอะไร มาไล่ผีตัวนี้ กันสักทีนี่
ธรรมะสูงสุด ในพุทธศาสนา มีอยู่มากบทหลายบท อย่างที่ได้รู้จักกันแล้ว ก็มียังไม่รู้จักก็มี อาตมาก็ พยายามที่จะเอามาให้ได้ยิน ได้ฟัง เช่นคำว่า สุญตา ตถาตา อิทัปปัจจยตา นี่พูดมาหลายปีแล้วนะ พอจะมีร่องรอย มีวี่แววกันมาบ้าง เดี๋ยวนี้ใหม่เกินไป คือ คำว่า อตัมมยตา ฟังดูไม่รู้ว่าอะไร เพราะไม่เคยได้ยิน เอาเสียเลย เพียงแต่ชื่อของมัน ก็จะจำไม่ได้ซะแล้ว อตัมมยตา อตัมมยตา รู้คำแปล ที่ภาษาคนง่าย ๆ ภาษาชาวบ้าน ภาษากลางบ้าน อตัมมยตา กูไม่เอากับมึงอีกต่อไป กูไม่ยุ่งกับมึงอีกต่อไป กูจะไม่เกี่ยวข้องกับมึงอีกต่อไป อย่างนี้ความหมายตรงที่สุดเลย
อะไรมารบกวน หรือมายั่วเหย้าหรือมาขู่เข็ญ อะไรก็ตาม ให้ทุกข์ยากลำบากใจ ก็ไล่มันไปด้วยมนต์นี้ ศักดิ์สิทธิ์ ก็ว่าเป็นบาลีก็ว่า อตัมมยตา ธรรมดาหน่อยก็ว่าเป็นภาษาไทยว่า กูไม่ยุ่งกับมึงอีกต่อไป กูไม่ง้อมึงอีก ต่อไป กูไม่เกี่ยวข้องกับมึงอีกต่อไป รู้จักธรรมชาติของมึงดีแล้ว มีแต่กัด มีแต่กัด กูก็จะไม่เอากับมึงอีกต่อไป ชั่วก็กัดตามชั่ว ดีก็กัดตามดี ดีน้อยก็กัดน้อย ดีมากก็กัดมากนะ อย่าบ้าดีอย่าหลงดีกันนักนะ ยิ่งดีมาก ยิ่งกัดมาก ยิ่งกัดลึกนะ ถ้าไปหลงรักกับมัน ถ้าอย่าไปหลงกับมัน มันก็ไม่กัด มันก็ดีตามแบบของมันก็เป็น ตถาตาตามแบบ ของธรรมชาติ ต่อเมื่อไปยึดมั่นถือมั่น ด้วยอุปาทานพอใจ หลงใหล มันจึงจะกัด ไม่มีอะไร ที่ว่าไปยึดมั่นเข้าแล้ว จะไม่กัด
นี่ช่วยฟังให้ดี ไม่มีอะไรที่ว่าไปรักมันเข้าแล้ว มันจะไม่กัด ใครจะค้านก็ค้านสิ ว่าไม่มีอะไรที่ไปรักเข้า แล้วจะไม่กัด มันไม่มี ไม่กัดอย่างนี้ ก็กัดอย่างนั้น ไม่กัดอย่างนี้ ก็กัดอย่างโน้น กัดอย่างเปิดเผย กัดอย่างเร้นลับ มันก็กัดทั้งนั้น คือ ให้เจ็บปวดในจิตใจทั้งนั้น แล้วก็ยังกัดซับซ้อนกันเป็นหลาย ๆ ชั้นก็มี กัดแล้วกัดอีก กัดแล้วกัดอีก แล้วให้เกิดความกัดอย่างอื่นต่อไปอีก ให้กัดแปลก ๆ ออกไปอีก ถ้าเป็นบาลี ก็พูดให้สุภาพว่า ไอ้สิ่งใดที่ว่าไปยึดถือ เป็นตัวตนเข้าแล้ว ที่จะไม่เป็นทุกข์นั้นไม่มี สิ่งใดที่ไปยึดถือเอาเข้าแล้ว จะไม่เป็นทุกข์ไม่มี ไม่ว่าอะไรไปยึดถือเข้าแล้ว จะเป็นทุกข์ทั้งนั้น แต่มาพูดภาษา ภาษาอะไร ภาษากลางบ้าน ภาษาคนโง่ ภาษาคนธรรมดา ว่าไม่มีอะไรที่ไปยึดถือแล้วจะไม่กัดนั้นไม่มี
ทีนี้มาพูดถึงการกัด บางทีมันกัดตรง ๆ มันกัดโดยเจ็บปวดตรง ๆ รู้สึกเจ็บปวดตรง ๆ และบางทีมัน ก็กัดซ่อนเร้น มันไม่แสดงอาการเจ็บปวด ทางเนื้อทางหนัง แต่มันเจ็บปวดทางจิตใจ หรือมันผูกพันจิตใจ ไอ้ความรัก อะไรที่มันรัก ชอบกันนักสังเกตอ่ะ ดูให้ดีสิ มันกัดชนิดหนึ่ง กัดชนิดหนึ่ง กัดชนิดที่ รู้ รู้สึกได้ยาก กัดที่ไม่แสดงการเจ็บปวดตรง ๆ มัน ๆๆ กัดให้เจ็บปวดอย่างอื่น ที่เรียกว่า ทรมานใจ ไม่มีอะไรที่ว่าไปรักเข้าแล้ว จะไม่กัดนั้นไม่มี ถ้ามองเห็นชัดอย่างนี้แล้ว กูก็ไม่เอากับมึง นี่ความหมายของ อิตัม อตัมมยตา อตัมมยตา ความรู้สึกเกิดขึ้นมา ในขณะนั้น แล้วระบายออกมา เป็นคำพูดว่า อตัมมยตา ไม่เอากับมึงแล้ว ทรัพย์สมบัติ เงินทอง ข้าวของที่เป็นที่หวง ที่รักก็ ก็เหมือนกันแหละ ไอ้เรื่องเพศ เรื่องหญิง เรื่องชายนั้น มันก็เป็นไปเต็มที่ ของมันอย่างแล้ว แต่แม้เรื่องข้าว เรื่องของ เรื่องเงิน เรื่องทอง วัวควาย ไร่นา ถ้าไปรักมันเข้า รักมันเข้าแล้ว มันก็กัด ทำนองเดียวกัน
สิ่งที่เป็นที่ตั้งของความรัก ไปรักเข้าแล้วมันก็กัด กัดทั้งนั้น ไม่รัก เก็บไว้ตามธรรมดา มันก็ไม่กัด นี่พอเห็นว่ามันกัด ก็เลยไม่เข้าไปรัก ไม่เข้าไปเอากับมัน นี่อาการของอตัมมยตา ว่าจะไม่ไปโง่ ไม่ไปหลง ให้มันกัดอีกต่อไป ก็จะไม่ต้องอาศัยสิ่งนั้น เพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความพอใจ ที่จริงก็เป็นให้เกิดความพอใจ หลงใหลไปเท่านั้นเองแหละ มันไม่มีดีอะไร ไปกว่านั้นสิ่งเหล่านี้ อารมณ์ทางเพศก็ดี อารมณ์ทางธรรมดา ปกติ สามัญ ร่ำรวย อำนาจ วาสนาอะไรก็ดี มันก็เพื่อให้เกิดความครึ้มในใจ พอใจ หลงใหลอยู่เท่านั้น ไม่มีอะไร มากกว่านั้น ไม่ใช่ความสงบเลย นี่เรียกว่า มันกัด มันทรมาน รู้เท่ารู้ทัน โอ้ว, มันกัด มันกัด มันกัด รู้ว่ามันกัด ไม่อยากให้มันกัดอีกต่อไป เรียกว่า กูไม่เอากับมึงแล้ว กูจะไม่คิดอย่างนี้ กูจะไม่นึกอย่างนี้ กูจะไม่ผูกพันอย่างนี้ กูจะไม่หลงรักอย่างนี้ กูจะไม่หวงอย่างนี้ ไม่ จะไม่หึงอย่างนี้
คนที่เคยหลงรัก เคยหวง เคยหึงเกินขนาดมาแล้ว ก็จะรู้สึกได้เองว่า มันกัดอย่างไร ยิ่งรักมากก็ยิ่งกัดมาก เอาไม่เอาอีกต่อไป ไม่ยอมให้ทำอย่างนี้อีกต่อไป ความรู้สึกที่จะไม่ยอม ให้ทำอย่างนี้อีกต่อไป นี่คือ ความหมาย ของคำว่า อตัมมยตามันเป็นจุด ที่จะหลุดออกมาจากโลกิยะ หลุดจากการปรุงแต่ง คือ สังขาร ถ้าไม่ถึงนี้ มันจะถูก ปรุงแต่ง ปรุงแต่งไปเรื่อยไป ด้วยกิเลส หรือด้วยกรรม หรือด้วยวิบาก หรือด้วยอะไรก็ตาม มันจะปรุงแต่ง ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าหลุดออกมาเสียได้ เพราะไม่อยาก เพราะเกลียดมัน เพราะเบื่อหน่ายนะ ก็ใช้คำว่า เบื่อหน่าย ใช้คำว่า เกลียดมันก็ไม่ค่อยถูกนัก ใช้คำว่าเบื่อหน่าย นิพพิทา เบื่อหน่าย มันก็ถอยออกมา หรือว่าถอย ออกมา เพราะเห็น อตัมมยตา
นี่ อตัมมยตา เป็นเหตุให้เกิดนิพพิทา คือ เบื่อหน่าย เบื่อหน่าย ผู้ที่เบื่อหน่าย คลายกำหนัด หลุดออกมา จากโลก หลุดออกมาจากสังขารนั้น ด้วยอำนาจของอตัมมยตา ทั้งนั้นเลย แต่มันเป็นชื่อที่ไม่เคยเอา ไม่ไม่มีใครเคย เอามาพูดให้ได้ยิน ไม่มีใครเอามากรอกหู แต่ความจริงมันเป็นอย่างนั้น คนจะเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ก็ต้องเพราะ มีความรู้สึกที่เป็นอตัมมยตา อย่างเพียงพอ ชั้นชั่วก็ไม่เอา ชั้นดีก็ไม่เอา ดีมากก็ไม่เอา ดีน้อยก็ไม่เอา ชั้นรูปก็ไม่เอา ชั้นอรูปก็ไม่เอา ชั้นกามก็ยิ่งไม่เอา ชั้นกามนี่ มันก็กัดมาก ชั้นรูปไม่เกี่ยวกับกาม เป็นรูปบริสุทธิ์ มันก็กัดละเอียด ชั้นอรูปมันละเอียดไปกว่านั้น แล้วมันก็กัดทั้งนั้น สิ่งที่เป็นวิสัยแห่งกามก็ไม่เอา สิ่งที่เป็นวิสัยแห่งรูปก็ไม่เอา สิ่งที่เป็นวิสัยแห่งอรูปก็ไม่เอา นั่นแหละ มันจึงจะไม่กัด มองเห็นทุกชนิด กามก็ดี รูปก็ดี อรูปก็ดี กัดทั้งนั้น นั้นต่อให้เป็นพวกพรหมชั้นสูงสุด อรูปพรหมชั้นสูงสุด มันก็ยังถูกกัดอยู่นั่นแหละ
พระพุทธเจ้า จึงไม่ยอมรับคำสอน ของอาจารย์คนสุดท้าย ที่มีชื่อว่า อุทกดาบสรามบุตร เพราะมันยัง สอนเรื่อง ที่ยังกัดอยู่เลย เราไม่เอา มันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถืออยู่ เราไม่เอา มันกัด ท่านจึงออกมาแสวงหา จนพบ ไอ้สิ่งที่มันไม่กัด คือ ปล่อยเสีย ปล่อยวางเสีย ไม่ยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวว่าตน มันก็เนื่องอยู่ด้วย ความรู้เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนกันแหละ มันต้องเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันจึงจะเห็นกัด สิ่งเหล่านี้ หรือถ้อยคำเหล่านี้ มันจึงเนื่องกันหมด มาตั้งแต่คำว่าเห็นอนิจจัง เห็นทุกขัง เห็นอนัตตา แล้วก็เห็นธรรมทิฐิตา ธรรมนิยามตา(นาทีที่ 41:53) อิทัปปัจจยตา แล้วก็เห็นสุญตา เห็นตถาตา แล้วก็รู้สึกเป็นอตัมมยตา มันจึงหย่าขาด กันออกไป จากไอ้สิ่งที่เคยหลงใหล ยึดมั่นถือมั่น ไว้ด้วยอุปาทาน อันนี้มันทำให้อุปาทานจางลง ขาดไปหายไป
สรุปความว่า จะหย่าขาดจากอะไร ก็ต้องมีความรู้สึกที่เป็น อตัมมยตา ต่อสิ่งนั้น ใช้คำว่า หย่าขาดนี่ เป็นคำธรรมดามาก เป็นเรื่องของผัวเมีย เขาจะหย่าขาดกัน แต่ไม่ใช่เรื่องของผัวเมีย ก็ใช้คำ ๆ นี้ได้ คือ ไม่ไปหลงรักมันอีกต่อไป นี่เรียกว่า หย่าขาด เรื่องกามารมณ์ก็ดี เรื่องอำนาจวาสนาก็ดี เรื่องบุญเรื่องกุศลก็ดี แม้แต่เรื่องสวรรค์ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น อ่า, ของทุกคน ต้องการจะไปสวรรค์ เป็นเรื่องที่น่าหัวเราะ ที่สุด เรื่องสวรรค์นี่ ตักบาตรช้อนหนึ่งได้วิมานหลังหนึ่ง นางฟ้าห้าร้อย มันมีอะไรที่ได้กำไรมากขนาดนี้บ้าง มันมีอะไรที่ไหนที่มันได้กำไรมากขนาดนี้ ตักบาตรช้อนได้วิมานหลังหนึ่ง เป็นเจ้าของวิมาน มีนางฟ้าห้าร้อย แล้วไม่คิดดูบ้างหรือว่า ผู้ชายคนเดียว ผู้หญิงห้าร้อยจะอยู่กันอย่างไร มันก็เป็นโรคเอดส์ตายหมดแหละ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่ ผู้ชายคนเดียวผู้หญิงห้าร้อย หรือผู้หญิงคนเดียวผู้ชายห้าร้อย มันก็เป็นโรคเอดส์ ตายหมด เหมือนกันแหละ
นี่สวรรค์มันจะมีค่ากันได้ที่ไหน แต่มันก็เป็นที่ตั้งแห่งความต้องการ ที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นอย่างยิ่ง เพราะอำนาจของอวิชชา ทำปิด ปิดบังไว้ไม่ให้เห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ธรรมทิฐิตา ธรรมนิยามตา (นาทีที่ 44:13) อิทัปปัจจยตา สุญตา ตถาตา กระทั่งอตัมมยตา มองไม่เห็น จำไว้ แล้วก็ศึกษา ลำดับมัน มันเป็น ลำดับที่ส่งต่อกันมา อนิจจังทำให้เห็นทุกขัง ทุกขังทำให้เห็นอนัตตา แล้วทำให้เห็นธรรมทิฐิตา (นาทีที่ 44:38) แล้วก็เห็นธรรมนิยามตา(นาทีที่ 44:40) เห็นอิทัปปัจจยตา แล้วส่งให้เห็นสุญตา ส่งให้เห็นตถาตา ส่งให้เห็น อตัมมยตา
ถ้าเห็นอตัมมยตา แล้วหลุดขาดผึง เหมือนกับตัดเชือกลูกนิมิต หลุดหล่นลงหลุมตูมเลย ตัดเชือกมันขาด แล้วมันก็หล่นตูมลงไปเลย นี่อิทัปปัจจยตา เป็นจุดที่มันจะขาดผึงหล่นตูมไปเลย อตัมมยตาเป็นอย่างนั้น กูไม่เอา กับมึงอีกต่อไป มันหย่าขาดกัน อาตมาก็ไม่แน่ใจว่า ท่านผู้ฟังจะชอบหรือจะไม่ชอบ จะสนใจหรือจะไม่สนใจ แต่มันมีอยู่อย่างนี้ มันมีอยู่ในพระบาลีอย่างลึกซึ้ง ซ่อนอยู่อย่างเป็นหมัน ซึ่งไม่มีใครมาใช้พูดจา ทำความเข้าใจ แต่ว่ามันมีอยู่ พระพุทธเจ้าตรัส ในฐานะเป็นเรื่องละเอียด ละเอียด เป็นยอดอภิธรรมไปเสียอีก ยอดของอภิธรรมไปเสียอีก
นานัตตอุเบกขา(นาทีที่ 45:57) กำจัดอำนาจของกามารมณ์ เอกัคคตอุเบกขา(นาทีที่ 46:05) กำจัดอำนาจ ของนานัตตอุเบกขา(นาทีที่ 46:07) และก็อตัมมยตา กำจัดอำนาจของเอกัคคตอุเบกขา (นาทีที่ 46:11) เป็นขั้นสุดท้าย กามารมณ์เป็นเรื่องต่ำทรามไม่ต้องพูด ทีนี้อุเบกขาไม่ใช่กามารมณ์ แต่มีอารมณ์หลายเรื่อง หลายอย่าง ซับ ๆ ซ้อน ๆ ก็เรียกว่า นานัตตอุเบกขา(นาทีที่ 46:25) อุเบกขาที่เข้มข้น เหลือเพียงอย่างเดียว อารมณ์เดียว สิ่งเดียวก็เรียก เอกัคคตอุเบกขา(นาทีที่ 46:33) ก็ยังผูกมัดอยู่นั่นแหละ เพราะมันทำให้หลงพอใจ ในความสุข แม้เป็นความสุข ที่เกิดมาจากอุเบกขา มันก็ยังหลงอยู่นั่นแหละ มันต้องออกไปเสียหมด หมดสิ้น ไม่มีเหลือ
ความรู้สึกที่เป็นอตัมมยตา ย่อมกำจัด อำนาจของเอกัคคตอุเบกขา(นาทีที่ 46:52) คำเหล่านี้ จะฟังถูก หรือไม่ฟังถูก มันก็ยังสงสัย จะเป็นการเป่าปี่ให้เต่าหลับไปซะหมด ก็ไม่รู้ ขออภัย ที่ต้อง ยกตัวอย่าง อย่างนี้ แล้วต้องพูดท้าทายอย่างนี้ ไม่งั้นจะไม่สนใจ ถ้าอาตมากลายเป็นเป่าปี่ให้เต่าฟังนะ ใครเป็นเต่า ก็คนที่ฟังไม่รู้เรื่อง เป็นเต่า แล้วมันก็เหนื่อยกันทั้งสองฝ่ายนั่นแหละ ก็ช่วยทำความเข้าใจกันให้ดีดี ให้เข้าใจบ้าง อย่าให้เป็นการ เป่าปี่ให้เต่าฟัง หรือเป่าปี่ให้แรดฟัง ทำนองนั้นมันไม่ไหวนะ
วันนี้ไม่ต้องการจะพูดอะไรเพราะว่า อตัมมยตา มันขึ้นสมอง ด้วยความหวังว่า จะให้ท่านทั้งหลายเข้าใจ ให้จนได้ ไม่เหนื่อยเปล่า ขอร้องว่าแม้แต่เพียงชื่อของมัน ก็อุตสาห์จำไม่ได้ ถึงแม้มันจะแปลกสักหน่อย อตัมมยาตา อตัมมยตาฟังไม่เป็นภาษาเลย ความหมายของมัน คือ ว่าไม่จำเป็นที่จะ ต้องอาศัยสิ่งนั้น มาทำความพอใจ หรือทำความสุข หรือทำความอะไรอีกต่อไป เพราะมันล้วนแต่หลอกทั้งนั้น กัดทั้งนั้น เผาทั้งนั้น ผูกพันทั้งนั้น ผูกมัดรัดตรึงทิ่มแทงทั้งนั้น ไม่เอากับมันแล้ว นี่กูไม่เอากับมึงแล้ว อะไรที่เคยทรมานใจ มามากมายพอแล้ว มาถึงที่สุดแล้ว กูไม่เอากับมึงแล้ว นี่มันเป็นการหย่าขาด ยิ่งกว่าหย่าขาดทางผัวเมียเสียอีก ผัวเมียไม่ได้หย่ากันจริง หย่าตามกฎหมาย แต่มันยังรักกันอยู่ ยังแอบไปมาหาสู่กันบ่อย ไม่เท่าไหร่มันกลับ แต่งงานกันอีกก็มี มันไม่หย่าขาดจริง ๆ เพราะว่า อุปาทานความยึดมั่นยังมีอยู่
แต่ถ้าว่าเป็นเรื่องของญาณ ของวิปัสสนาญาณ ของมรรคญาณ มันเกิด อตัมมยตา อย่างนี้แล้ว มันหย่าขาดจริง ขาดอย่างเด็ดขาด ขาดไม่กลับไปอีกเลย กูไม่เอากับมึงอีกแล้ว อยากจะพูดว่า อุตส่าห์มาจากที่ไกล มาเวียนเทียนมาฆบูชาที่นี่ จะได้อะไรคุ้มกัน จะได้อะไรคุ้มกัน มาจากกรุงเทพฯ หรือไกลกว่ากรุงเทพฯ มาจากยะลา ปัตตานีก็มี ก็จะได้อะไรคุ้มกัน อาตมาก็รับผิดชอบด้วยตนเอง ไม่ต้องมีใครบังคับว่า ถ้าเขาไม่ได้อะไร คุ้มกันแล้ว ยมบาลเล่นงานอาตมา เขกหัวทีกบาลอะไรก็ตามเรื่อง พยายามทำให้ผู้มาแต่ที่ไกลนั้นน่ะ ได้รับปะโยชน์อะไรให้มันคุ้มกัน เลือกแล้วเลือกเล่า เลือกแล้วเลือกอีกทุกปีเลย นั้นจึงบอกอะไรให้ใหม่ ทุกปี เรื่องหนึ่ง ข้อหนึ่งทุกปี
นั้นถือว่า ข้อนี้ วันนี้บอกเรื่องนี้ ปีนี้บอกเรื่องนี้ ให้เข้าใจเรื่องอตัมมยตา ให้เข้าใจจนเอาไป ใช้เป็น ประโยชน์ได้ เหมือนเรื่องทั้งหลายที่ได้บอกไปแล้ว แล้วก็ใช้เป็นประโยชน์ได้จริง เช่น เรื่องสุญตา เรื่อง ตถาตา เรื่องอิทัปปัจจยตา เป็นต้น
ขอทบทวนว่าเรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นหลัก แล้วพระธรรมนั่นแหละ ออกมาเป็นปริยัติ คือ การเล่าเรียน เป็นการปฏิบัติ แล้วก็ได้ผลของการปฏิบัติ ได้ผลการปฏิบัติ มันก็เริ่มมาตั้งแต่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอย่างนี้แล้ว รวมกันแล้ว ก็เรียกว่า เห็นธรรมทิฐิตา ธรรมนิยามตา(นาทีที่ 50:42) อิทัปปัจจยตา เมื่อเห็นอิทัปปัจจยตาแล้ว ก็เห็นว่างจากตัวตนคือ สุญตา เห็นตถาตา เห็นเช่นนั้นเอง พอเห็นเช่นนั้นเองแล้ว หย่าขาดกันเป็นอตัมมยตา ฟังดูแล้วก็น่าหัวเราะนะ ตา ตา ตา ตาทั้งนั้น อนิจตา ทุกขตา อนัตตา อนัตตตา ธรรมทิฐิตา ธรรมนิยามตา(นาทีที่ 51:13) อิทัปปัจจยตา สุญตา ตถาตา อตัมมยตา ตา ตา ตา ตา ทั้งนั้นเลย คำว่า ตา ตานี่แปลว่าความ ความ ความเป็นอนิจจัง ความเป็นทุกขัง ความเป็นอนัตตา ความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมดา ความอาศัยเหตุปัจจัยแล้วเกิดขึ้น ไม่มีตัวตน อะไรแท้จริงที่ไหน จึงเป็น สุญตา ว่างจากตัวตนแล้ว เป็นตถาตา คือ ความเป็นเช่นนั้นเอง ในที่สุดก็เห็น เอากับมันไม่ไหวโว้ย คือ ความที่เอากับมันไม่ไหวแล้วโว้ย คือ อตัมมยาตา อตัมมยาตา
ใครมาถึงอันข้อนี้ รอดตัว เป็นพระอรหันต์ ไม่ ๆ มาเป็นแค่พระโสดาสทิคาอะไรอยู่ เพราะมันหย่าขาด จากสังขารการปรุงแต่ง หย่าขาดจากอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น หมดสิ้นอวิชชาอาสวะ หมดสิ้นอวิชชานุสัย พวกอวิชชาทั้งหลาย มันก็หมดสิ้นไป เรื่องมันก็จบ คุ้มค่าแล้ว ถ้าจำได้เพียงคำเดียว ถือเอาประโยชน์ให้ได้ ไม่ต้องพูดให้หลายคำ อาตมาเคยรู้สึกเบื่อ และละอายตัวเอง ที่พูดมาก เรื่องมากคำ
นั้นวันนี้ขอพูดเพียงคำเดียว คำเดียวทั้งวัน พูดแต่ อตัมมยตาคำเดียว อ่า, ขอให้เข้าใจให้ได้ แล้วก็เอาไปใช้ ให้เป็นประโยชน์ให้ได้ ถ้าเก่งจริง เอาไปใช้เป็นมนต์ ไว้ตวาดสิ่งที่มันมาล่อมาหลอกให้รัก ให้โกธร ให้เกลียด ให้กลัว ให้ตื่นเต้น ให้วิตกกังวลอาลัยอาวรณ์ ให้อิจฉาริษยา ให้หวงให้หึง ให้หลงอยู่ในของเป็นคู่ ๆๆ นี่เป็นมนต์ สำหรับไล่ ขับไล่สิ่งนี้ออกไป อตัมมยตา อตัมมยตา กูไม่เอากับมึง กูไม่เอากับมึง ความหมายเป็นอย่างนั้น นี่แปล เป็นภาษาไทยง่าย ๆ หยาบ ๆ นะ ตามภาษาบาลีก็ว่า ความที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งนั้น อีกต่อไป ความที่จะไม่สำเร็จ มาจากเหตุปัจจัยนั้น ๆ อีกต่อไป ความที่อยู่เหนืออำนาจ ปรุงแต่งของเหตุปัจจัยนั้น ๆ โดยสิ้นเชิง นี่คือ อตัมมยตา
อยากจะอวดสักหน่อยว่า ไม่เคยมีใครเอามาพูด อาตมาฟังมานักหนาแล้ว ไม่มีใครเคยเอามาพูด ก็อยากจะเอามาพูด เอาของที่เป็นชั้นเพชรน้ำเอก ที่ซ่อนอยู่ในพระไตรปิฎก เอามาแจกกัน ใครจะว่าบ้าก็ได้ มันก็น่าจะบ้าอยู่แหละ เอาเรื่องที่เขาฟังไม่รู้เรื่อง มาพูดให้เขาฟังนี่ มันก็ต้องเป็นคนบ้า แต่ถ้ามีคนฟังออก ฟังถูกสักคนก็หายบ้า ขอให้ช่วยกันหน่อย ช่วยกันหน่อย ช่วยกันศึกษา ช่วยเข้าใจ ให้มันได้รับประโยชน์ สักคนสองคน อาตมาก็ไม่ต้องเป็นคนบ้า ไม่ต้องเป็นคนถูกหาว่าบ้า เอาเรื่องอะไรก็ไม่รู้มาพูดแล้วไม่มีใครเข้าใจ ทั้งหมดนี้ไม่มีใครเข้าใจสักคนหนึ่ง ก็เรียกว่า กรรมของอาตมาแหละ บาปกรรมที่เอาเรื่อง ที่ไม่มีใครเข้าใจมาพูด ให้เขาหาว่าบ้า เขาหาว่าบ้า กับเขาจะหาว่าเป่าปี่ให้เต่าฟังนี่ คำไหนน่ากลัวกว่า เขาหาว่าเราบ้านี่อย่างหนึ่งแหละ เขาหาว่าเราเป่าปี่ให้เต่าฟังนี่ ๒ คำนี้คำไหนน่ากลัวกว่า ถ้าจะช่วยกันหน่อย ก็ ๆ พยายามฟังให้ออกฟังให้เข้าใจ ไปใช้เป็นประโยชน์ให้ได้ ก็จะไม่มีใครหาว่าเป่าปี่ให้เต่าฟัง และก็จะไม่มีเต่าเยอะแยะ ก็มีคนที่ฟังออก ฟังถูก ฟังรู้เรื่อง มันเป็นหัวใจของธรรมะทั้งหมด
โดยหลักแห่งการปฏิบัติแล้วมันไปสรุปผลอยู่ที่คำ ๆ นี้ มันมีความหมายลึกซึ้งที่เข้าใจไม่ได้ แต่ก็มีธรรมเนียมให้เอามาใช้ เอามาลูบคลำเอามาท่อง เช่น นิกายเทียนไท้ของจีน พวกทายก ทายิกาทั้งหลาย ไม่เข้าใจเรื่อง อมิตาภะ อมิตายุ(นาทีที่ 56:38) ว่าคืออะไร แต่เค้าให้เอามาท่อง เอามาท่อง ทั้งที่ไม่รู้ว่าอะไร มาท่องว่า “ข้าพเจ้านมัสการพระอมิตาภะ ข้าพเจ้านมัสการพระอมิตายุ” ซึ่งไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร อมิตาภะ (นาทีที่ 56:57)แปลว่า แสงสว่างที่ประมาณไม่ได้ อมิตายุ(นาทีที่ 57:03) ก็สิ่งที่มีอายุที่ประมาณไม่ได้ ก็คือ อสังขตธรรม(นาทีที่ 57:08) หรือนิพพานนั่นเอง เป็นอมิตาภะ(นาทีที่ 57:11) เป็นอมิตายุ(นาทีที่ 57:13) ทีนี้มันเข้าใจไม่ได้ แต่เขาก็เอามาให้ท่อง พวกอาซิ้มที่โรงเจ โรงเจพวกอาซิ้ม เขาจะท่องอย่างนี้ นะโม อะมิโทฮุก ๆๆ (นาทีที่ 57:24) อย่างนี้ เขาท่องกันอยู่อย่างนี้ และเขาเชื่อกันว่าถ้าท่องได้แปดหมื่นคำ แปดหมื่นครั้ง แล้วก็สำเร็จ รอดตัว รอดตัว จะไม่ไปนรกไม่ไปไหนหมด แน่นอนที่จะไปสวรรค์ ไปตามนิกายเทียนไท้ นิกายสวรรค์สุขาวดี
แล้วเขาถือว่าพอไม่สบายเท่านั้น คนที่ท่องอมิตาภะ นะโม อะมิโทฮุก(นาทีที่ 58:01) นี่ครบแปดหมื่น ครั้งแล้ว พอไม่สบาย เทวดาเอารถมารออยู่บนหลังคา พอดับจิตก็ขึ้นรถไปเทียนไท้ไปสวรรค์ เชื่อกันอย่างนี้ และก็มีมากด้วย พวกอาซิ้มไม่รู้อะไรเลย เรื่องอมิตาภะ อมิตายุ(นาทีที่ 58:24)นี่ แต่ก็มาท่องกันแปดหมื่นครั้งก็ เชื่อว่าไปสวรรค์ ดีใจพอใจอย่างยิ่งเลย นี้มันก็จะคล้าย ๆ กันแหละ อาตมาพยายามจะให้ท่านทั้งหลายเข้าใจคำว่า อตัมมยตา มันจะคล้าย ๆ กับที่พวกอาซิ้มเขาท่อง นะโม อะมิโทฮุก(นาทีที่ 58:46) แปดหมื่นครั้ง แล้วมีรถมา รอรับไปสวรรค์ ข้อนี้ไม่ได้หมายความอย่างนั้น ช่วยให้มันค่อย ๆ เข้าใจ ค่อย ๆ เข้าใจ ค่อย ๆ เข้าใจ ค่อย ๆ เข้าใจ ค่อย ๆ เข้าใจ จนเห็นว่าไม่มีอะไรที่ควรยึดมั่นถือมั่น เพราะว่าไปยึดมั่นถือมั่นเข้าแล้ว ที่จะไม่กัดนั้นไม่มี มันเป็นทุกข์ ทั้งนั้น แต่ก็เห็นมากขึ้น ๆ แล้วค่อยถอยห่าง ถอยห่าง จนเห็นชัด โอ้ว, รู้เด็ดขาดลงไปเลยว่า ไม่เอากับมึงแล้ว ไม่เอากับมึงแล้ว อตัมมยตาเห็นความที่ เอากับมันไม่ได้อีกต่อไปแล้ว คงจะดีกว่า อาซิ้มที่ท่อง อมิตาภะ(นาทีที่ 59:29) แปดหมื่นครั้งก็ได้
นี่เอาละพอแล้ว ถ้าได้เข้าใจและได้รับประโยชน์ ของธรรมะอันลึกซึ้งคำนี้ แล้วก็ได้กำหัวใจของ พระพุทธศาสนาไว้แล้ว ไปทำให้เป็นประโยชน์ได้ในวันหน้า ช่วยตักเตือนกันด้วย ว่าอย่าลืมเสียว่า คำนี้คือ อตัมมยตา เดี๋ยวกลับไปถึงบ้าน ลืมแล้วอะไรตาก็ไม่รู้ จำเองก็ไม่ได้ ถามเพื่อน ๆ ก็ไม่รู้ ช่วยจำชื่อ ของมันไว้ก่อน ดีกว่าว่า อตัมมยตา มีความหมายว่า ไม่อาศัยมันอีกต่อไป เห็นชัดแล้วว่าอาศัยไม่ได้ เข้าไปอาศัยแล้วกัดเอา นั้นไม่เข้าไปอาศัยมันอีกต่อไป จะหลุดไปทางฝ่าย ที่ไม่เกี่ยวข้องกัน อตัมมยตา คือ อย่างนี้ อะไรที่เคยรักเคยหลง จะได้จะเอากันอย่างใจจะขาด ตักบาตรช้อนเดียวได้วิมานหลัง บริวารห้าร้อย นี่จะเอากับมันไหวหรือไม่ไหว ก็คิดดู ถ้าไม่ไหวก็เอา อตัมมยตา ขับไล่ออกไปให้เกลี้ยง ให้ว่าง ให้ปล่อยวาง ให้หลุดพ้น เหมือนกับที่ โอวาทปาติโมกข์ว่า จากชั่วมาถึงดี พ้นดีก็ถึงว่าง
ไปดูมะพร้าวนาฬิเกร์(นาทีที่ 1:00:57)กลางทะเลขี้ผึ้ง ที่นั่นมันว่างจากบุญและบาป กุศลและอกุศล ซึ่งเป็นทะเลขี้ผึ้ง โผล่ขึ้นพ้นทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้องฟ้าร้องไม่ถึง นี่ก็มีความหมายอย่างเดียวกันแหละ จะเรียกชื่อว่า นิพพานก็ได้ จะเรียกชื่อว่า อสังขตธรรม(นาทีที่ 1:01:13)ก็ได้ จะเรียกชื่อว่าอมตธรรม(นาทีที่ 01:01:18) ก็ได้ แล้วแต่เถอะ มันเป็นสิ่งที่อยู่เหนืออำนาจการปรุงแต่งโดยประการทั้งปวง ไม่มีเหตุปัจจัยอะไร อีกต่อไป เดี๋ยวนี้เราก็ไม่อาศัยเหตุปัจจัยอะไรอีกต่อไป ไม่ยุ่งกับเหตุปัจจัยอะไรต่อไป หย่าขาดจากเหตุปัจจัย ทั้งหลาย ทั้งปวงทั้งสิ้นนี่คือ อตัมมยตา ถ้าสงสารผู้พูดว่า เหนื่อยเกือบตายแล้ว ก็ช่วยจำไว้ให้ได้ และก็เอาไปใช้ ให้เป็นประโยชน์ให้ได้ ทีละนิด ทีละนิด ไว้ตวาด ตวาดสิ่งที่จะไปหลงรักมัน ไปหลงยึดมั่นถือมั่นกับมัน จนหัวอกเป็นหนอง
พอกันทีสำหรับคืนนี้ ไม่พูดอะไรพูดคำเดียวว่า อตัมมยตา ตอนบ่ายก็พูดมาก เรื่องเดียว อตัมมยตา และยังจะต้องพูดอีกกี่ครั้ง ก็ยังไม่ทราบ พูดจนเต่าฟังถูก เป่าปี่ให้เต่าฟังถูก อตัมมยตา ขอให้เป็นคำที่คุ้นปาก คุ้นหูเหมือนกับคำว่า อิทัปปัจจยตา สุญตา ตถาตา อย่างที่ได้พูด กันมาแล้ว เป็นอันว่า ขอยุติปาฐกถาธรรม
เห็นไหมว่า พูดอย่างปาฐกถาธรรมนี่ ฟังง่ายกว่าที่จะพูดอย่าง ธรรมเทศนา ตั้งนะโม โอ้เอ้ ไม่ต้องโอ้เอ้ พูดกันตรงไปตรงมา ด้วยคำพูดธรรมดา ก็เรียกว่า ปาฐกถาธรรม ถ้าพูดเป็นเทศน์ เป็นเทศนา อย่างที่เขาเทศน์ กันอยู่ ต้องทำเสียงอย่างนั้น ทำเสียงอย่างนี้ เราก็เลยใช้วิธีปาฐกถาธรรมนี่มากขึ้น ประหยัดเวลาเข้าใจได้ง่าย ขอพอใจในวิธีนี้ ใช้กันสืบต่อไปเถิด ปาฐกถาธรรมนี่ก็สมควรแก่เวลาแล้ว แล้วและก็หมดแรงที่จะพูดด้วย อ่า, ก็ ขอยุติปาฐกถาธรรม เอวัง ก็มี ไม่ต้องนะกาลบัดนี้ เดี๋ยวมันจะเป็นเทศน์เสียอีก