แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายครั้งนี้ จะได้พูดกันถึงเรื่อง อานาปานสติ หมวดที่ ๒ คือ เวทนานุปัสสนา มีความต่างจากหมวดที่ ๑ โดยใจความ ก็คือว่า ไม่นั่งเป่านกหวีดอยู่ทุกลมหายใจอีกแล้ว จะกลายมาเป็นเรื่องรู้สึกต่อเวทนาอยู่ทุกลมหายใจ โดยใจความต่างกันอย่างนี้ คนละเรื่องคนละแบบ ทั้งที่มันว่าติดต่อกันไป จะเรียกว่าคนละโลกก็ได้ ทีแรกก็อยู่ด้วยความรู้สึกต่อลมหายใจหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ทุกลมหายใจ เดี๋ยวนี้ก็มาเปลี่ยนเป็นเวทนา ทุกครั้งที่หายใจ ศึกษาเวทนาจนรู้เรื่องเวทนาถึงที่สุด แก้ปัญหาทุกอย่างได้
ตอนแรกนี้ ขอทำความแนะนำให้รู้จัก สิ่งที่เรียกว่าเวทนา เวทนากันเสียก่อน ทุกคนเป็นทาสของเวทนาโดยไม่รู้สึกตัว อุตส่าห์ทำงานเหงื่อไหลไคลย้อยรวบรวมทรัพย์สมบัติรวบรวมนั่นนี่ ก็เพื่อเวทนาที่ตัวต้องการ เวทนาชนิดไหนอร่อย ตรงตามที่ตัวต้องการ มันก็เวทนาชนิดนั้นละ คนก็ดี สัตว์เดรัจฉานก็ดี แม้แต่ต้นไม้ต้นไร่ด้วยก็ได้ เจริญงอกงามออกไปเพื่อเวทนาที่มันต้องการ นี่อย่าทำเล่นกับเวทนา มันมีความหมายร่วมกันกับตัณหา คือ มันไสหัวคนให้ทำอะไรก็ได้ ตามที่มันต้องการเวทนาอย่างไร เนื้อแท้ เนื้อใน ของสิ่งที่เรียกว่า โลก โลกนี้ มันก็คือสิ่งที่เรียกว่า เวทนา นั่นละ ถ้าไม่มีเวทนาในโลก คนก็ไม่อยากจะอยู่ในโลก ในโลกนี้เป็นที่เสาะหาเวทนาตามที่เขาต้องการ เวทนามีอำนาจเหนือมนุษย์ มนุษย์อยู่ใต้อำนาจของเวทนา เวทนามันชักนำไปด้วยสิ่งที่เรียกว่าตัณหาซึ่งคลอดออกมาจากเวทนานั่นเอง ถ้าควบคุมเวทนาได้ มันก็คือควบคุมโลกทั้งหมดได้ เพราะว่า เสน่ห์ หรือ อัสสาทะ อะไรของโลกมันก็คือเวทนานั่นละ มันมีค่าอยู่ตรงนั้นละ ทั้งที่จะไกล ไปถึงกับว่า ถ้าเราอยู่นอกอำนาจของเวทนา ก็คืออยู่นอกอำนาจของพระเจ้า เขาอ้อนวอนพระเจ้ากันเพื่อจะได้สุขเวทนาที่เขาต้องการ ถ้าเราอยู่เหนือเวทนา เราก็อยู่เหนือพระเจ้า ก็ได้พระเจ้า ไม่มีที่ให้อะไรกับเรา พูดให้ชัดก็ว่า อยู่นอกเหนืออำนาจของการปรุงแต่ง มิฉะนั้น จะถูกปรุงแต่งให้ดิ้นรนขวนขวายสุดชีวิตจิตใจ เพื่อสิ่งที่เรียกว่า เวทนา เหมือนกับคนหนุ่มสาว สะสมเงินทอง ทรัพย์สมบัติ มหาศาล เพื่อให้ได้มีพิธีการสมรสอย่างหรูหรา มีเกียรติที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดูที่ตรงนั้น ก็จะเห็นอำนาจของสิ่งที่เรียกว่าเวทนา
ทีนี้ก็จะมาดู การตั้งต้นปฏิบัติอานาปานสติ หมวดที่ ๒ ก็อย่างที่กล่าวแล้วตอนต้นว่า ไม่นั่งเป่านกหวีดทุกลมหายใจเข้าออก แต่ถึงอย่างนั้นก็ดี ก็ต้องย้อนกลับไปตั้งต้นมา ตั้งแต่การนั่งเป่านกหวีดนั่นละ คือต้องย้อนกลับไปทำหมวดขั้นต้น หมวดต้นมาตามลำดับ หมวดต้นขั้นต้นมาตามลำดับตามลำดับ จนสุดของหมวดต้น แล้วจึงจับหมวดถัดมา นี่มันเป็นกฎตายตัวของการปฏิบัติกรรมฐาน โดยเฉพาะ อานาปานสติภาวนา วันนี้ เวลานี้ จะลงมือปฏิบัติขั้นไหน ตอนไหน ก็ตามใจ แต่แกต้องตั้งต้นลงมือมาตั้งแต่อันแรกสุดอีกละ เปรียบเหมือนกับเราเรียนท่องจำ เรียนสวดมนต์ เรียนอะไรท่องจำที่มากมาย สูตรยาว ๆ เช่น ปาฏิโมกข์ เป็นต้น พอถึงเวลาท่องจำ มันก็ต้องตั้งต้น ตั้งแต่ตอนก่อน ๆ ที่จำได้แล้วละ มาจนถึงไอ้ตอนที่จะเรียนใหม่ แล้วก็ตั้งต้นว่า ต่อไป ทำอย่างนี้ มันเชื่อมกัน มันเนื่องกัน มิฉะนั้น ตรงจุดนั้นล่ะ มันเป็นจุดที่ทำให้ลืม ให้ลังเล นึกไม่ออก ใครจะท่องอะไร ท่องนวโกวาท หรือท่องอะไรก็ตาม วันนี้ท่องได้เท่านี้ จำได้แล้ว พอพรุ่งนี้จะท่องต่อไป ก็ต้องตั้งต้นมาแต่ต้นนั่นมา ถึงเงื่อนสุดแล้ว ก็ต่อกันไปอย่างนี้ ดีที่สุด แต่คนขี้เกียจ เขาไม่ทำอย่างนั้น วันนี้เขาอยากจะท่องตรงไหน เขาก็ท่องตรงนั้น แล้วมันก็ไม่เชื่อม ไม่เชื่อมเป็นสายเดียวกันอย่างแนบเนียน ทำอานาปานสติ มันก็ต้องตั้งต้นมา ตั้งแต่แรก ขั้นแรก ขั้นเป่านกหวีด ทุกคราวไป เดี๋ยวนี้ มาถึงขั้นที่จะเวทนา จะกระทำอะไรที่เกี่ยวกับเวทนา
ขั้นที่ ๔ ในหมวดกายา ทำลมหายใจให้สงบระงับ ก็ลงมือทำใหม่ ทำมาอย่างซ้ำอย่างย้ำ ทำมาถึงที่สุดแห่งขั้นนี้ ทำลมหายใจให้ระงับ กายเนื้อก็ระงับ ระบบประสาทก็ระงับ นี่ เรียกว่า ทำกายสังขารให้ระงับ การที่ลมหายใจระงับนี่ มันทิ้งอะไรไว้ คือ เกิดความรู้สึกพอใจว่าทำได้ ปีติ และเป็นสุข ถ้าเราทำให้ลมหายใจระงับได้ ในขั้นที่ ๔ ของหมวดที่ ๑ มันมีผลพลอยได้ออกมาเป็นความพอใจ คือ ปีติ แล้วก็เป็นความสุข ปีติกับสุขนั้น มันตัวเดียวกันละ แต่ว่าปีตินั้น คือ ความพอใจที่กำลังตื่นเต้น กำลังเดือด แล้วพอความพอใจนั้นหยุดเดือด หยุดตื่นเต้น มันก็สงบระงับ มันก็กลายเป็นความสุข นี่สังเกตดูให้เห็นข้อเท็จจริงอันนี้เถอะ ไอ้ที่เราเรียกว่าปีติ ปีตินั้น จิตใจมันสั่นระรัว และมันตื่นเต้น คือ ความทำได้สำเร็จ และพอใจ พอใจเพราะได้อะไร เพราะมีอะไร เพราะทำอะไรได้ก็ตาม ถ้ายังตื่นเต้นเดือดพล่านอยู่ ก็เป็นปีติ พอสงบระงับลงมันก็เป็นความสุข เรียกว่า มันมาสำเภาลำเดียวกัน มันมาเรือลำเดียวกัน สิ่งนี้เป็นไปโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่เราเจตนา มันเป็นของมันโดยอัตโนมัติ สิ่งที่ทำสำเร็จ หรือความสำเร็จมันทำให้ดีใจ ให้พอใจ พอใจเพราะทำสำเร็จ หรือพอใจเพราะรสเลิศ รสใหม่ เกิดขึ้นมาก็ได้ ก็เรียกว่าพอใจก็แล้วกัน พอใจแรก ๆ นั้น เรียกว่า ปีติ มีอาการซู่ซ่า คือว่ามัน เดือด ที่กล่าวไว้เป็นตัวอย่างในคัมภีร์ ก็มีอาการซาบซ่านไปทุกขุมขน มีอาการโคลงเคลงไปจนนั่งไม่ติด นั่งไม่อยู่ มันก็วุ่นวาย วูบวาบ บางทีก็ถึงกับน้ำตาบ้าไหลออกมา อย่างไรก็ไม่รู้ นั่นละ อำนาจของปีติ มันรุนแรงอย่างนี้ พอเมื่อใดมันสงบลง สงบลง มันก็เป็นความสุข เปลี่ยนชื่อเป็นความสุข เรียกว่า มันมีอาการที่น่ากลัว แต่มันจะเกิดขึ้นมาอย่างไรก็ช่างหัวมัน ช่างหัวมันดีกว่า อย่าไปตื่นเต้นไปตามมัน เพื่อให้มันระงับ เพื่อให้มันยุบลงไป มันระงับ ช่างหัวมัน ช่างหัวมัน อย่าไปรู้สึกประหลาด หรือเห็นเป็นของวิเศษวิโส แล้วมันก็จะสงบลง เป็นความรู้สึกตามธรรมดา อาจารย์ผู้เฒ่าเขาเล่าให้ฟังว่า การทำกรรมฐานแบบเก่าแบบโบราณที่ทำกันมานั้นนะ เขาเห็นปีติ เป็นความสำเร็จ หรือเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จกันมากกว่า ก็พอใจปีติ ก็มีคำกล่าว สวด บ่น เป็นคำเชื้อเชิญ อาราธนา ให้ปีติมา เรียกว่า พระปีติเสียด้วย พระปีติ ขอให้พระปีติองค์นั้นจงมา ขอให้พระปีติองค์นี้จงมา ขอให้พระปีติองค์นั้นจงมา นี่ก็รู้ได้โดยอาการของพระปีตินั่นละ อาการที่รุนแรง โคลงเคลงมาก เขาเรียก อุพฺเพงคา อุพฺเพงคาปีติ ซาบซ่านไปก็พระผรณาปีติ พระทั้งนั้นละ (นาทีที่ 14.30) พระปีติน้อย พระปีติใหญ่ พระปีติตื้น พระปีติลึก เขามีความคิดอย่างนั้น คือ เชื่อว่าปีตินะ (คือ)ตัวความสำเร็จ มันก็ถูกอยู่บ้างเหมือนกันละ ไม่ใช่ไม่ถูก ถ้าทำให้เกิดปีติได้ มันก็เป็นความสำเร็จ มันจะค่อย ๆ เลื่อนไป เป็นเลื่อนสูงขึ้นไป สูงขึ้นไป มันก็พอใจ ปีติ ลุงของอาตมาคนหนึ่ง เขาก็เคยทำอย่างนี้ ก็เคยเล่าให้ฟัง กรรมฐานแบบเขานะ อยู่ในกุฏิ เล็กๆ ยาชันมิด อัดมืด นั้นนะ จิตมันเสียสมดุล มันนึกอะไรได้ มันสร้างอะไรได้โดยที่ความผิดปกติของอากาศในกุฏิเล็กๆ ที่ปิดอัด แม้แต่รูก็แทบจะไม่มี แสงสว่างไม่ต้องพูดถึง อย่างจิตที่อยู่ในสภาพอย่างนี้มัน มันเปลี่ยนอะไรได้มาก น้อมนึกไปเพื่ออะไรได้ประหลาด ๆ มันช่วยให้ง่ายขึ้นนั่นเอง ก็เลยพอใจ พอใจ เมื่อมันมีอาการฟุ้งซ่าน มันก็เป็นปีติ ต่อมามันก็สงบลง แล้วก็กลายเป็นความสุข สรุปความสั้นๆ ว่า มันกำลังฟุ้ง ฟุ้งซ่าน เรียกว่า ปีติ พอมันสงบลงก็เรียกว่า ความสุข อานาปานสติหมวดที่ ๒ เอาสิ่งนี้ คือ เวทนา อันได้แก่ปีติ และ สุขนี้ เป็นอารมณ์แทนลมหายใจ ดังนั้นจึงพูดว่า เดี๋ยวนี้ไม่นั่งเป่านกหวีดแล้ว กำหนดดิ่งแน่วแน่อยู่ที่ปีติ หรือสุขอันเกิดขึ้น กำหนดเอาสิ่งนี้เป็นอารมณ์ ทำความเป็นอันเดียวกันกับมัน จนรู้จักมัน เข้าใจมัน จนกระทั่งว่า จะชนะมัน
อานาปานสติขั้นที่ ๑ ของหมวดที่ ๒ หรือจะเรียกว่า ขั้นที่ ๕ ของทั้งหมดก็ตามใจ นี้ มีบทสูตรว่า ปีติปะฏิสังเวที ขั้นที่ ๖ มีบทสูตรว่า สุขะปะฏิสังเวที นั่นหมายความว่า เรามาทำความรู้เรื่องปีติกันก่อน แล้วจะค่อยทำความรู้เรื่องความสุข ขั้นที่ ๕ ปีติปะฏิสังเวที รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ ต้องเอาปีติตัวจริง มาอยู่ในความรู้สึก ไม่ใช่ปีติคาดคะเน ถ้าเราเรียนในห้องเรียน ก็ปีติคาดคะเน ความสุขคาดคะเน เดี๋ยวนี้มันไม่ได้แล้ว ไม่ใช่ปีติคาดคะเน กำหนด คาดคะเน มันจะต้องเป็นปีติที่กำลังรู้สึกอยู่ในใจ รู้สึกอยู่ในใจ เอามาจากไหน แล้วแต่เถอะ แต่ว่าถ้าอานาปานสติสมบูรณ์ถูกต้องแล้ว มันเอามาจากขั้นที่ ๔ สุดท้ายของหมวดกาย ประสบความสำเร็จ พอใจ พอใจ ถือเอาให้ดี ถือเอาให้ถูกต้อง ถือเอาให้พอดี เป็นความรู้สึกปีติ ซาบซ่านอยู่ก็ได้ เอามาใส่ไว้ในความรู้สึกเหมือนกับว่า นั่งอาบน้ำปีติ ทุกคนรู้ดีแล้วใช่ไหมว่า อาบน้ำน่ะมันเป็นอย่างไร เอาน้ำรดน่ะมันเป็นอย่างไร อาบน้ำฝนก็ดี อาบในห้องน้ำก็ดี น้ำมันซึมซาบไปทั่วทุกตัวทุกหนทุกแห่ง ทั่วตัวทุกแห่งไม่เว้นที่ไหน นี่ ถ้าอาบน้ำ เดี๋ยวนี้เราก็อาบน้ำปีติ ให้ปีติรู้สึกซาบซ่านทั่วถึงอย่างนั้นละ นี่จะเรียกว่า ปีติปะฏิสังเวที เอามาเป็นอันเดียวกับชีวิต เหมือนกับว่าอาบน้ำปีติ ข้อนี้ ปีติปะฏิสังเวที
ทีนี้ก็ไม่อาบเปล่านะ เหมือนกับว่า เราอาบน้ำเราก็รู้สึกเย็น รู้สึกสบาย และรู้สึกอะไรหลายๆ อย่าง เกี่ยวกับน้ำที่มันอาบลงมา เดี๋ยวนี้เราอาบน้ำปีติ แล้วก็รู้สึกอะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับปีติ มันมีธรรมชาติอย่างไร มันมีลักษณะอย่างไร มันมีอาการอย่างไร มันมีอิทธิพลอย่างไร มันมีขอบเขตเท่าไหร่ ซึ่งมันบอกกันไม่ได้ มันต้องไปอาบกันจริงๆ ไม่ต้องอะไรมาก แม้แต่เกลือหรือน้ำตาล เกลือเค็ม น้ำตาลหวาน นี่มันบอกกันไม่ได้ ว่าเค็มอย่างไร หวานอย่างไร คนนั้นมันต้องคว้าใส่ปากเข้าไปดู ว่าเกลือเค็มอย่างไร น้ำตาลหวานอย่างไร แม้มันรู้อยู่อย่างนั้น มันยังบอกคนอื่นไม่ได้อีกละ มันต้องมีอยู่จริงๆ ในความรู้สึก เดี๋ยวนี้เราก็อาบรดอยู่ด้วยปีติ มีธรรมชาติอย่างไร ลักษณะอย่างไร มันสัมผัสกับระบบประสาทอย่างไร มีอาการทำให้เป็นอย่างไร แล้วที่สำคัญกว่านั้น คือ มันมีอิทธิพลอย่างไร แก่ความรู้สึก แก่ร่างกาย น่ารักหรือน่ากลัวหรือน่าสงสัยอะไรก็ว่า แล้วแต่ความรู้สึก แต่รู้จักให้ดี ๆ ว่ามันมีอิทธิพลอย่างไร เพราะนั่น เป็นใจความ หรือเป็นความลับที่จะต้องศึกษาที่ต้องจับให้ได้ มันมีขอบเขตอะไร ข้อความในพระคัมภีร์ ก็มีเล่าเรื่องถึงสัตว์จำพวกหนึ่ง มีปีติเป็นภักษา ปีติภักขา มันมีปีติเป็นอาหาร มันไม่ต้องกินข้าวกินปลา มันหล่อเลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยปีติ เขาเรียกว่าเป็นพรหม เป็นพรหมชนิดหนึ่ง ซึ่งคุณก็ไม่รู้จักอีกว่าพรหมนั้นเป็นอย่างไร ชีวิตที่มีระบบจิตใจ มีชีวิตอยู่ด้วยปีติเป็นอาหาร พระพุทธเจ้าก็เคยมีปีติเป็นอาหาร ไม่ต้องฉันข้าวฉันน้ำ ๗ วัน อันนี้ก็มีกล่าวถึงในคัมภีร์เหมือนกัน นี่ดูอิทธิพลของมันสิ ข้อความในอรรถกถาหรือไอ้หนังสือที่ยืดยาวออกไปก็ ๗ วัน ๗ หน เป็น ๔๗ วัน ไม่ต้องฉันอาหาร นอกจากปีติ มีปีติเป็นอาหาร ทีนี้ทำความคุ้นเคยกับปีติ เป็นเกลอกับปีติ จะด้วยความมั่นหมาย หรือด้วยความจำหรือด้วยความอะไรก็ตาม มันเป็นอย่างไร มันซาบซ่านอย่างไร มันจำไว้ให้สนิท จนถึงกับว่า เรียกมันมาเมื่อไรก็ได้ เราเคยมีปีติในสิ่งใดอย่างไร เราเรียกมันมาอีกก็ได้ แต่ว่าข้อนี้มันยิ่งกว่านั้นน่ะ มันถึงกับว่า ทำให้เกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ อย่างเต็มที่ แล้วมาอาบ ๆ ๆ ๆ อยู่ ฉะนั้น เดี๋ยวนี้ การปฏิบัติขั้นที่ ๕ นี้ ก็นั่งอาบอยู่ด้วยปีติ ซึมซาบในสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับปีติ จึงได้เรียกว่า ปีติปะฏิสังเวที คนโง่คนธรรมดา ก็สูญเสียสติสัมปชัญญะ หลงใหลไปในทางบวกทางลบอะไรก็ไม่รู้ แต่ว่าพระโยคีที่แท้จริงนะ ไม่หลงใหลขนาดนั้น รู้ว่าปีติเป็นอย่างไร ปีติเป็นอย่างไร เท่าไร ไม่ต้องสูญเสียสติสัมปชัญญะ ไม่ต้องเป็นบวกเป็นลบอะไรเกี่ยวกับปีติ นี่ก็นั่งฝึกดื่มปีติ ดื่มปีติ ดูดดื่มในปีติ เป็นอันเดียวกันกับจิตใจ จนเรียกว่าต่อไปจะเรียกมันมาเมื่อไรก็ได้ จะมาแก้ความทุกข์ร้อนอะไร อย่างไร เมื่อไรก็ได้ มีผลไกลไปถึงว่า มันจะรู้สึกพอใจตัวเอง เคารพตัวเอง พอใจในความเป็นมนุษย์ พอใจในการบรรลุธรรม ปีติมีขอบเขต ขอบเขต บางทีก็ขอบเขตไปถึงอย่างนั้น ขอบเขตไปถึงพรหมโลก ขอบเขตไปได้ตลอดที่ชีวิตในอนาคต นี่เรียกว่า ขั้นที่ ๕
ทีนี้ก็มาถึงขั้นที่ ๖ บทสูตรของมันก็ว่า สุขะปะฏิสังเวที เมื่อตะกี้ ปีติปะฏิสังเวที เดี๋ยวนี้ สุขะปะฏิสังเวที อะไรต่างๆ ก็มาคล้าย ๆ กันกับปีตินะ คือ นั่งอาบน้ำความสุข เมื่อปีติอันฟุ้งซ่าน ได้ระงับลงมาเป็นความสุขสงบแล้ว ก็นั่งอาบน้ำความสุขอยู่ นี่เรียกว่า รู้พร้อมเฉพาะซึ่งความสุข ความสุขนี่ยังมีมาก มีมาก จนว่าลุก เดินไปก็ยังสุข อาบน้ำความสุขอยู่ ไปนั่ง ไปเดิน ไปยืน ไปนอน ที่ตรงไหน ก็ยังอาบน้ำความสุขอยู่ นี่คงจะช่วยอธิบาย ความหมายของพระพุทธภาษิตที่ว่า ได้สมาธิแท้จริง ถึงที่สุดแล้ว นั่งอยู่ที่ตรงไหน ก็ว่านั่งบนอาสนะทิพย์ ไปยืนตรงไหน ก็เป็นยืนที่ยืนทิพย์ เดินตรงไหน ก็เป็นที่เดินทิพย์ นอนตรงไหน ก็เป็นที่นอนทิพย์ เข้าใจว่าหมายถึงอันนี้ หมายถึงปีติเป็นสุขที่อาบรดอยู่ จะเอาความแนบแน่นเป็นอัปนาสมาธิ เป็นเอกัคคตาไปด้วยนี่ คงไม่ได้หรอก ถ้าเปลี่ยนอิริยาบถนะ แต่ว่าผลของปีติ ผลของอัปนาสมาธินี้ยังอยู่ เป็นปีติ เป็นสุข ติดไป เหมือนกับว่าเรารักใคร โกรธใครอย่างรุนแรง เราจะไปทำอะไร ไปเดิน ไปนั่ง ไปนอน ไปกิน อันนั้นก็ยังรู้สึกอยู่ในจิตใจ ขอให้ทำให้เป็น อย่างนั้นเถอะ เดี๋ยวนี้ สามารถที่จะมีปีติ มีความสุขได้ ในทุก ๆ อิริยาบถ มีสวรรค์กันที่นี่ เดี๋ยวนี้ มีความสุข มีความพอใจกันที่นี่ ใครอยากได้สวรรค์ทันตาเห็น ก็ทำอานาปานสติข้อนี้ เช่นเดียวกับข้อปีติ ก็ต้องสังเกต รู้สึกเป็นธรรมอันเดียวกันกับความสุข รู้ธรรมชาติแห่งความสุข ลักษณะอาการแห่งความสุข อิทธิพลแห่งความสุข ขอบเขตแห่งความสุข กว้างไกลแค่ไหน รู้จักธรรมชาติของมัน ภาษาบ้านนอกเรา เรียกว่ารู้จักกำพืดของมัน ถ้าจะรู้จักอะไรให้ดี ก็ต้องรู้จักถึงกำพืดของมัน คำนี้แปลว่าอะไรก็ไม่รู้ แต่รู้ความหมายดีว่า รู้จักมันหมด ลึกซึ้ง ถึงต้นตออะไรของมัน อดีต อนาคต อะไรของมัน รู้หมดละ รู้จักกำพืดของมัน เรารู้จักกำพืดของปีติ รู้จักกำพืดของความสุข ต้องการจะควบคุมมัน แล้วพอเกิดขึ้นมาแล้วก็ซักซ้อม รับเอา ซักซ้อม ๆ ย้ำ ๆ ๆ ๆ หรือ อาบ ๆ ๆ ๆ ให้ถึงจิตถึงใจ ลืมไม่ได้ การปฏิบัติในขั้นนี้ จึงนั่งซักซ้อม หรือเพิ่มพูนปีติ เพิ่มพูนความสุข ให้อยู่ในที่นั่งเจริญอานาปนสตินั้น จนชำนาญ เขาเรียก ชำนาญ ทำให้มาก ทำให้ชำนาญ นี่หมายความว่า ทำจนอยู่ในอำนาจของเรา เรียกมาเมื่อไรก็ได้ ไปอยู่ที่ไหนอยากจะมีปีติหรือสุขขึ้นมาก็เรียกมาได้ในทันที นี่กำไร อานาปานสติขั้นที่ ๕ ขั้นที่ ๖ เอามาใช้ทำน้ำอาบเสีย ผิดกันหน่อยก็แต่ว่า อาบจิตใจ น้ำธรรมดานี่มันอาบร่างกาย น้ำปีติ สุข นี่ มันอาบจิตใจ ถ้ามันเกิดความเย็น มันก็เย็นทางจิตใจ คู่กันกับเย็นทางกาย อาบน้ำในตุ่มนี่ เย็นกาย อาบน้ำปีติสุขนี่ มันก็เย็นใจ เมื่อไรก็ได้นี่ มันเก่งมากนะ เก่งมาก ถึงเมื่อไรก็ได้ เพราะมันซักซ้อมกันไว้มาก จนเป็นอันเดียวกันไปเลย ควรจะรู้สึกความลับอย่างหนึ่งไว้ด้วยว่า ไอ้ความสุขหรือความพอใจอย่างนี้ มันเป็นที่ตั้ง ที่อาศัย แห่งสิ่งที่เรียกว่า นันทิ นันทิ ความพอใจ จนกลายเป็นถึง จนกลายไปเป็นนันทิราคะ นันทิราคะ นันทิที่จับจิตจับใจ เหนียวแน่น นันทิราคะ มีพอใจอะไร ปีติ หรือสุข เป็นนันทิ แล้วนันทินั่นละคือ อุปาทาน รู้ไว้เถอะว่า นันทินั่นละ คือ อุปาทาน พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ไว้ทั่ว ๆ ไปในบาลี นันทิ อุปาทาน นั้น นันทินั่นละ คือ อุปาทาน อุปาทานนั่นละให้เกิดทุกข์ นันทิสิ่งใด มันก็ยึดมั่นในสิ่งนั้น ยึดมั่นในสิ่งใด มันมีความหนักเพราะสิ่งนั้น จนบ้าจนหลงไป นี่ เราจะรู้เท่าทันปีติ หรือสุข อย่าให้มันเป็นอย่างนั้นขึ้นมา เรามีเงินทอง ข้าวของ ทรัพย์สมบัติ ยศศักดิ์ บริวาร อำนาจวาสนา ถ้าเป็นนันทิ เป็นอุปาทาน แล้วก็เป็นทุกข์ เพราะเหตุนั้นละ แล้วมันจะมาอยู่บนหัว บนศีรษะด้วย ไม่ต้องเป็นถึงอย่างนั้น รู้ว่ามันเป็นเพียงเท่านั้น แล้วก็ไม่ต้องถึงอย่างนั้น แต่ว่ามันก็ยากอยู่เหมือนกัน ถ้ามันอร่อย พอใจ สุดเหวี่ยงแล้ว มันก็ต้องมีนันทิ แล้วก็ต้องมีอุปาทาน บอกให้รู้ไว้เป็นการล่วงหน้าว่า ความลับมันมีอยู่ที่ตรงนั้น อย่าให้มันกลายเป็นนันทิ หรือเป็นอุปาทานขึ้นมา แล้วมันกลายง่ายที่สุด หรือมันเกิดได้ง่ายที่สุด นี่ต้องรู้ไว้ ไอ้ที่มันจะเป็นคุณ มันจะกลายเป็นโทษขึ้นมา ปีติและความสุข ถ้าบ้า ถ้าเมา ถ้าหลง แล้วก็มันก็ไม่ไหว มันจะร้ายกาจยิ่งกว่าความทุกข์ก็ได้ เรารู้เรื่องดีมาแล้วเกี่ยวกับ อุปาทาน มีอุปาทาน ยึดมั่นในสิ่งใดสิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ อย่าไปยึดมั่นชนิดอุปาทานขึ้นมา ขอให้รู้ไว้
ทีนี้ก็มาถึงขั้นที่ ๗ ขั้นที่ ๗ บทสูตรว่า จิตตะสังขาระปะฏิสังเวที รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร จิตตสังขารคือเครื่องปรุงแต่งจิต จิตในที่นี้เป็นความรู้สึกคิดนึก ความรู้สึกคิดนึกมันเป็นไปตามเวทนา มีเวทนาอย่างไร ความรู้สึกคิดนึกนั้นมันจะไต่เต้าไปตามเวทนา ดังนั้นท่านจึงจัดเวทนาว่าเป็นจิตตสังขาร จะเป็นปีติก็ดี เป็นสุขก็ดี หรืออย่างอื่นก็ดี ถ้าเป็นเวทนาแล้ว มันเป็นเหตุให้เกิดความคิดไปตามเวทนานั้น บวกก็คิดไปอย่าง ลบก็คิดไปอย่างหนึ่ง เวทนาสุขก็คิดไปอย่าง เวทนาทุกข์ก็คิดไปอย่าง เวทนาไม่สุขไม่ทุกข์ก็โง่ ก็สงสัย กลัว หลงอยู่ที่นั่นละ ไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างไร มีปัญหาทั้งนั้นละ เวทนา สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี อทุกขมสุขก็ดี ทำให้เกิดความคิดพลุ่งขึ้นมา ที่เรียกว่า จิตตสังขาร นี่เรียกว่ามันอันตรายอยู่เหมือนกันนะ ถ้าควบคุมไม่ได้นะ เวทนาทำให้บันดาลความรักจนเกิดการฆ่ากันตาย เวทนาทำให้เกิดความโกรธ ความเกลียด จนฆ่ากันตาย มันปรุงความคิดอย่างรุนแรง ข้อนี้ก็เหมือนกันละ ต้องไปดูเอาที่ความรู้สึก จะเรียนจากหนังสือ หรือบอกกันแล้วมันยาก ไปดูไอ้ความรู้สึกที่เป็นเวทนา แล้วมันจะทำให้ทนอยู่ไม่ได้ น่ารักก็รัก น่าเกลียดก็เกลียด น่าโกรธก็โกรธ น่ากลัวก็กลัว น่าตื่นเต้นก็ตื่นเต้น แถมวิตกกังวลไปถึงอดีต หวังไปในทางอนาคตเพราะเวทนาทั้งนั้นละ ปรุงความคิดร้อยอย่างพันอย่าง ความหึงทางกามารมณ์อย่างเลวร้ายที่สุดนั่น มันมาจากเวทนา เวทนานั่นละ มันปรุงความหวง แล้วก็ปรุงความหึง แล้วมันก็ฆ่ากันตาย อย่างนี้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่น เรื่องเวทนาดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ทั้งหมดมันรวมอยู่ที่เวทนา เอาชนะเวทนาได้อย่างเดียว ก็ชนะโลกทั้งโลกเลย พระพุทธเจ้าท่านจึงยกเอาจุดนี้ เป็นจุดสำคัญ ที่จะเกิดตัณหา อุปาทาน และความทุกข์ เงื่อนต่อที่ตรงเวทนา หรือเขยิบไปอีกนิด ก็ผัสสะ ผัสสะก็ให้เกิดเวทนา ตรงนั้นละ ให้ระวังให้ดี มันเป็นจุดเปลี่ยนที่ตรงนั้นละ จะไปทางร้าย หรือทางดี จะไปทางสุข หรือทางทุกข์ เรารู้ว่ามันปรุงแต่งจิตอย่างยิ่ง แล้วจิตก็ดำเนินไปตามนั้น แล้วก็เกิดการกระทำที่เป็นกรรมขึ้นมา แล้วก็มีปฏิกิริยาหรือวิบากซึ่งเป็นผลของกรรม ดูอะไรมันจะเกิดขึ้น เพราะโยคีปฏิบัติมาถึงขั้นนี้ ก็มาพินิจพิจารณาอยู่ โอ้ ไอ้หมอนี่ เวทนานี่ สร้างโลกก็ได้ ทำลายโลกก็ได้ เป็นขั้นที่ ๗ เป็นขั้นที่ ๗
ทีนี้ก็มาขั้นที่ ๘ หรือขั้นที่ ๔ ของหมวดเวทนา หรือขั้นที่ ๘ ของทั้งหมด คือ ๑๖ ขั้น .ปัสสัมภะยัง จิตตะสังขารัง ทำจิตตสังขาร ให้รำงับอยู่ ก็รำงับอำนาจ หรืออิทธิพลของเวทนานั้น ทำให้มันจางทำให้มันคลาย ทำให้มันระงับแล้ว ในที่สุด ทำให้มันหยุดปรุง จิตตสังขารคือปรุงจิต ทำให้มันหยุดปรุง ก่อนที่จะทำให้มันหยุดปรุง มันก็ต้องมีการค่อย ๆ คลาย ค่อย ๆ จาง ค่อย ๆ รำงับ แล้วมันจึงจะหยุดปรุง นี่เกี่ยวกับบังคับทางจิต เป็นเรื่องของสมถะ ยังไม่ถึงกับปัญญา แต่ถ้าไปกระโดดไปเอาปัญญามาใช้ ก็ได้เหมือนกันละ ระงับอิทธิพลของเวทนา แต่เดี๋ยวนี้ยังไม่ได้พูดถึงปัญญา ถึงวิปัสสนาเลย เพราะทำด้วยการบังคับจิต ปรับปรุงจิต ตกแต่งจิต ปรับปรุงจิต ให้ไอ้ที่เป็นปีติ และเป็นสุขให้มันถอยพลังลง ให้ลดลง คือ ให้มันหยุดปรุง ตอนนี้จะยากที่สุด เป็นศิลปะทางจิตใจที่ยากที่สุด ที่จะทำให้จิตตสังขาร ระงับลงๆ ถ้าใครทำได้ คนนั้นก็บังคับความคิดได้ คนนั้นก็เปลี่ยน ปรุง ปรับปรุงความคิด เปลี่ยนแปลงไปได้ ในทางที่ถูกต้อง บังคับความคิดได้ เปลี่ยนความคิดได้ มันก็เป็นไปแต่ในทางที่ดี ที่ถูก ที่ควร มันก็ไม่มีปัญหา มันก็ไม่มีความทุกข์ นี่สำคัญมากอย่างนี้ ทำจิตตสังขารให้ระงับได้ นั้น คือชนะเวทนาได้ ก็ครองโลก จะเป็นผู้ครองโลก ชนะในภายใน ก็คือชนะในภายนอก ชนะเวทนาในภายใน ก็คือชนะโลกในภายนอก ฉะนั้น ขอให้หัดไว้เถิด โดยเฉพาะไอ้วัยรุ่นทั้งหลาย คนหนุ่มทั้งหลาย ถ้าควบคุมไอ้ความปรุงแต่งนี้ได้ละก็ จะเป็นคนที่ไม่มีปัญหา ไม่เกิดความผิด ไม่เกิดความร้าย ไม่เกิดความอะไร คนวัยรุ่น บังคับจิตไม่ได้ มันก็ไปตามอำนาจปรุงแต่ง ของเวทนาในจิตนั้น มันก็ได้ทำให้พ่อแม่น้ำตาไหล ทำให้ตัวเองตายคาที่บ่อย ๆ ตามเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ ใคร ๆ ก็รู้ มันบังคับจิตไม่ได้ มันบังคับจิตตสังขารไม่ได้ บังคับเครื่องปรุงแต่งจิตไม่ได้ มันก็ถูกเวทนากระตุ้น ผลักไส เชิดชู ไสหัวไป ไปทำอะไรที่มันเป็นเรื่องเป็นราวต่อไป ถ้าบังคับได้ มันก็ไปในทางสงบสุข เย็น นี่มันยากนะ แต่ว่ามันก็ยังเป็นสิ่งที่ทำได้ บิดามารดาที่มีความเป็นพุทธบริษัทมาก ๆ ควรจะอบรมลูก เด็ก ๆ ให้รู้จักบังคับจิต ไปตามมีตามเกิด ที่จะทำได้ แก่เด็ก ๆ ให้บังคับตนเอง หรือ self control นี่ ก็คือสิ่งนี้ละ เขาก็บูชา พอใจกันนักนะ บังคับตัวเองนี่นะ มันก็มีชีวิตดำเนินไปในทางที่ถูกที่ควร พอใจในการบังคับตัวเอง แม้ว่ามันจะเจ็บปวดบ้างก็ยินดี สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ อันนั้นละ ใช้ได้ละ สัจจะ จริงใจที่จะบังคับมัน แล้วก็ ทมะ ก็คือ บังคับมัน มันก็ต้องมีความเจ็บปวดเป็นธรรมดา ก็ต้อง ขันตี อดกลั้น อดทน แล้วก็ จาคะ ระบาย ไอ้บ้า ๆ บอ ๆ เหล่านี้ ออกไปเสีย เรื่อย ๆ เรื่อย ๆ นี่ คือ ลดอำนาจของจิตตสังขาร มันอยากจะไปดูหนัง ไปดูละคร ไปเริงรมย์อยู่นี่ มันเป็นจิตตสังขาร ผลักไสไปทางนั้น แล้วก็บังคับด้วยทมะ ตั้งใจจะบังคับ แล้วก็บังคับ เมื่อไม่ได้ไปดูหนัง ดูละคร มันเจ็บปวด มันเจ็บปวดนะ มันเจ็บปวด มันก็ทน รู้จักทน แล้วก็ระบายความรู้สึกเลวร้ายนี้ออกไปจากจิตใจ ก็สบายดี นี่ เรื่องไปดูหนัง ดูละครนะ ไม่ร้ายแรงเท่าเรื่องกามารมณ์ เรื่องเพศ ถูกบังคับเรื่องเพศ กดดันมากนี่มันฆ่าคนได้นะ มันฆ่าพ่อฆ่าแม่ก็ได้นะ ถ้าพ่อแม่ใช้อำนาจสิทธิขาดไม่ให้มาเกี่ยวข้องกับกามารมณ์ อย่างนี้ มันอาจจะฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ของมันก็ได้นะ มันถึงขนาดนั้น นั่น รู้จักความเลวร้ายของมันไว้บ้าง เอามาพิจารณาก็จะเห็นโทษ เห็นความเลวร้ายของมัน นี่มันจะค่อย ๆ เป็นไปได้ในการบังคับจิต ต้องเอาโทษ เอาความเลวร้ายของมัน มาตรึกตรอง มาไคร่ครวญ มากระทำเป็นเบื้องหน้า อยู่ในจิตใจ เห็นโทษเท่าไรมันก็จะบังคับได้ หรือลดลงได้ ลดลงได้เท่านั้น เวทนาบ้า จะทำให้เป็นบ้า กูไม่เอากับมึง อตัมยตาก็เข้ามา กูไม่เอากับมึงนั้นนะ มันจะบังคับได้ พระพุทธเจ้าตรัสแต่ละเรื่องละเรื่อง ล้วนแต่มีค่า สูงสุด ประเสริฐที่สุดทั้งนั้นละ ไม่เคยตรัสเรื่องเหลวไหลไร้สาระเลย มีศรัทธาในเรื่องนี้เถอะ ขอให้ตั้งใจดี ๆ พยายามที่จะบังคับจิตตสังขาร เครื่องปรุงแต่งจิต ความผลักดันในจิตใจ ที่จะปรุงแต่งจิต ไสหัวคน ให้ไปทำอะไร ชนิดที่เชือดคอตัวเอง เรื่องเชือดคอตัวเอง กลายเป็นเรื่องดี ก็เพราะบังคับจิตไม่ได้ เวทนาคืออย่างนี้ เรื่องเกี่ยวกับเวทนา คืออย่างนี้ เราจะต้องรู้จักมัน นี่คือหมวดเวทนา หมวดเวทนา ปีติ เป็นเวทนา ความสุข เป็นเวทนา เวทนาทั้งหลายเป็นจิตตสังขาร ปรุงแต่งจิต เราจะต้องฝึกการบังคับจิตตสังขารนี้ให้สงบระงับ หมวดที่ ๑ นั่งเป่านกหวีดกับลมหายใจ ให้ระงับให้ระงับระงับ จนเป็นผล ได้มาถึงหมวดที่ ๒ คือ ปีติและสุข แล้วเอามาใช้เป็นอารมณ์ของหมวดที่สอง คือ ปีติ และสุข ปฏิบัติหมวดที่ ๒ สำเร็จ เดี๋ยวนี้เรามีอำนาจ คล้าย ๆ พระเจ้าขึ้นมาแล้ว บังคับจิตได้ ก็คือบังคับโลกได้ โลกมันจะเป็นอย่างไร ก็ช่างหัวมัน ไม่มาบังคับเราได้อีกต่อไป ลักษณะก็เป็นเรื่องของจิต เป็นเรื่องจิต เป็นเรื่องสมาธิ เป็นเรื่องสมถะ แต่ถึงอย่างไรก็ดี ขอบอกดังที่กล่าวมาแล้วว่า อานาปานสติ ทุกขั้น ๆ ขอให้หยอดท้ายด้วยการเห็นอนัตตา พูดสั้นๆ คำเดียวว่าเห็นอนัตตา แต่ขยายความออกไปถึงเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นสายไปเลย ลมหายใจก็ดี ก็เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปีติเวทนานี้ก็ดี เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เวทนามีเหตุมีปัจจัย เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยแล้วมันจะเที่ยงได้อย่างไรเล่า ทำความยุ่งยากลำบากให้ เพราะความไม่เที่ยงนั้น บังคับมันไม่ได้ ต่อต้านมันไม่ได้ นั่นละคือ อนัตตา อนัตตา บังคับความไม่เที่ยง และความเป็นทุกข์ไม่ได้ มัน กัดเอา ๆ บังคับไม่ได้นี่ เป็นอนัตตา หรือจะมองไกลไปถึงว่ามันไม่มีตัวตน ไม่มีเจตภูติ ไม่มีวิญญาณที่ไหนจะมาเสวยปีติ มาเสวยสุขอย่างนั้นอย่างนี้ก็หาไม่ เห็นอนัตตา เห็นความจริงนี้แล้ว ก็จะเห็น ธัมมัฏฐิตะตา (นาทีที่ 47.53) ความเป็นไปเป็นอยู่ ตั้งอยู่ตามธรรมดา เห็นธัมมะนิยามะตา โอ้ กฎธรรมชาติเป็นอย่างนี้เอง เห็นอิทัปปัจจยตา ปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย นี่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตา แล้วก็จะได้เห็นสุญญตา ว่างจากความเป็นตัวตน ความเที่ยงแท้แน่นอนอะไรนี่ เป็นสุญญตา แล้วก็เห็นตถาตา ว่ามันเช่นนี้เองโว้ย แล้วก็จะถึง จุดอตัมยตา เห็นอย่างนี้แล้ว อะไรปรุงแต่งไม่ได้โว้ย กูไม่เอากะมึงแล้วโว้ย นั่นละ อตัมยตามันก็มาละ ทำอานาปานสติขั้นไหนก็ตามเถิด ทุกขั้น พอสิ้นสุดขั้นนั้นแล้ว ก็ปิดท้ายด้วยเห็นอนัตตา เห็นอนัตตา มิใช่สัตว์ มิใช่บุคคล มิใช่ตัว มิใช่ตน มิใช่เรา มิใช่เขา มิใช่นั้น มิใช่นี้ มิใช่เอ็ง มิใช่อื่น มิใช่ มิใช่ที่เป็นอัตตานะ ถ้ามีความรู้เรื่องนี้ เรื่องอนัตตาแล้ว ก็ได้แก้ววิเศษ ได้ของวิเศษสารพัดนึก แก้ได้ทุกอย่าง ใครกลัวผีบ้าง ที่นั่งอยู่ทางโน้นนะ ยาแก้กลัวผีก็คืออนัตตา อนัตตา หรือว่าเรื่องจิตเรื่องใจนี่ เป็นอนัตตา ไอ้ผีเองนี่ก็อนัตตา ไม่มีตัวตนหรอก ไอ้ความโง่เข้ามา เห็นเป็นอัตตา เป็นตัวกู มันก็กลัวผีทันที เพราะว่าผี ก็เป็นอนัตตา ตัวเองก็เป็นอนัตตา พระอรหันต์ไม่กลัวผี ก็เพราะอนัตตามันถึงที่สุด ไอ้ปุถุชนมันกลัวผีก็เพราะว่าอัตตามันถึงที่สุด นี่อนัตตามีประโยชน์ ไม่รับเอาความทุกข์มา ไม่เอาความเกิดแก่เจ็บตายมาเป็นของตน ให้มันเป็นอนัตตาของมันเถิด มันก็ไม่ทำอันตรายเรา อนัตตานี่ สารพัดอย่าง ที่จะมีประโยชน์ เป็นเครื่องป้องกันก็ได้ เป็นเครื่องแก้ไขก็ได้ เป็นเครื่องต่อสู้ก็ได้ ศึกษาไว้ให้ชำนาญ ขึ้นใจ คล่องปาก คล่องคอ พอกลัวผีขึ้นมา อนัตตาคำเดียว ผีหนีหายหมดเลย เตลิดเปิดเปิงไปไหนหมดก็ไม่รู้ อนัตตา รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์เถิด มันจะป้องกัน แม้ในแง่บวก ไม่หลงบวก เรื่องสุข เรื่องอร่อย เรื่องสนุกสนาน ก็เป็นอนัตตา เรื่องทุกข์ เรื่องไม่อร่อย ไม่สนุก ก็เป็นอนัตตา เรื่องไม่แน่ว่าสุขหรือทุกข์ก็อนัตตา อนัตตาเป็นอาวุธ เป็นอาวุธแห่งปัญญา เป็นปัญญาวุธ สำหรับจะกำจัดอันตราย ไอ้ความร้ายต่าง ๆ คนเห็นอนัตตาแล้ว ไม่ต้องไปดูหมอดูให้เสียสตางค์โว้ย ถึงหมอทายว่าร้าย มันก็ต้องทำดี หมอทายว่าดี มันก็ต้องทำดี ให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมะนั่นละ ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของอนัตตา อนัตตาเป็นอย่างไร ทำให้ถูกต้องตามนั้น แล้วก็จะไม่เกิดความทุกข์ อนัตตาไม่ทำให้เกิดอุปาทาน อุปาทานไม่เกิด เพราะเห็นอนัตตา ไม่มีอุปาทานก็ไม่มีทุกข์ ไม่เอาขันธ์ทั้งห้าแต่ละขันธ์ หรือทั้งห้าขันธ์ เป็นตัวตน มันก็ไม่มีทุกข์ อนัตตา ซ้อมหซักซ้อม หรือว่าพอกพูน หรือก่อให้เจริญงอกงามขึ้นมา ทุกขั้นแห่งอานาปานสติ อานาปานสติมีถึง ๑๖ ขั้น เราเพาะปลูกอนัตตาเจริญงอกงามขึ้นมาถึง ๑๖ ขั้นก็สมบูรณ์ เดี๋ยวนี้มาไล่เป็น ๘ ขั้น เพียง ๘ ขั้น ก็ได้มากเหมือนกัน ได้เยอะเหมือนกัน ขอแต่ว่าอานาปานสติขั้นไหนจบลงไป จงเห็นอนัตตาหยอดท้าย ๆ มัน ทุกขั้นไป มันก็จะเป็นสติปัฏฐาน ที่แท้จริง ที่สมบูรณ์ ให้ผลตรงตามความมุ่งหมาย
วันนี้พูดเรื่องหมวดที่ ๒ คือ หมวดเวทนา ขอย้ำอีกทีหนึ่งว่า ถ้าจะทำหมวดเวทนานั้น ต้องไปตั้งต้นทำมาจากหมวดกาย หมวด ๑ ไล่มาตั้งแต่ต้น เหมือนกับเด็กๆ เรียน ก ข ค ง วันนี้เรียนได้สามตัว พอวันที่สองจะลงมือเรียนอีก ก็ต้องไปเรียนมาตั้งแต่ ก ข ค พอมาถึงตัว ง ค่อยเรียนต่อไป ให้ตั้งต้นมาแต่ต้นเสมอไป ให้มันเชื่อมสนิทกันอยู่อย่างนี้ มันจะไม่มีจุดที่ขลุกขลักตรงนั้น จุดที่เกิดขาดตอน หรือลืม นี่ ทำอานาปานสติขั้นไหน ก็ต้องไปเริ่มทำมาแต่ขั้นที่ ๑ ทั้งนั้น นี่ วันนี้ คืนนี้ จะทำขั้นที่ ๒ ก็ลงมือทำมาจากขั้นที่ ๑ จนประสบความสำเร็จในขั้นที่ ๔ มีปีติปราโมทย์เกิดขึ้นได้โดยง่าย แล้วก็ไปทำหมวดเวทนา เวทนาอนัตตา นั้น ประเสริฐ ถ้าเวทนาอนัตตาแล้ว โลกนี้ก็อยู่ในกำมือ
การบรรยาย สมควรแก่เวลาแล้ว ๑ ชั่วโมงแล้ว ไก่ก็บอกว่าหยุดได้แล้ว
ขอยุติการบรรยาย