แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านนิสิตทั้งหลายผมจะได้พูดต่อไป ก็คือติดต่อกับเมื่อครั้งที่แล้วมา ครั้งที่แล้วมาเราก็พูดเรื่องการศึกษาของโลกที่มันไม่ถูกต้อง คือ มีแต่สอนให้ฉลาด และก็ไม่มีอะไรที่จะควบคุมความฉลาดให้เดินไปถูกทาง คนก็มีเสรีภาพในการใช้ความฉลาดทำสิ่งที่เห็นแก่ตัว แข่งขันแย่งชิงกันเป็นการใหญ่ ทำทุกอย่างเพื่อความเห็นแก่ตัว แล้วโลกมันจึงเป็นอย่างนี้ ที่เต็มไปด้วยวิกฤตการณ์อันถาวร เราจะต้องมีสิ่งที่ควบคุมความฉลาดที่ได้รับจากการศึกษา ทีนี้มองดูพวกเรา เมื่อการศึกษามันก็ทำให้มีความฉลาด เพื่อไม่ให้ความฉลาดเดินผิดทาง จะต้องมีการบังคับจิต ดังนั้นวันนี้เราจะพูดถึงเรื่องสิ่งที่ใช้ในการบังคับจิต นั่นก็คือ “จิตตภาวนา”
สำหรับสิ่งที่เรียกว่า “จิตตภาวนา” มันก็มีหลายแบบ บางทีก็เรียกว่า “สมาธิภาวนา” ด้วยซ้ำไป ถ้าเรียกว่า จิตตภาวนามันก็ฟังง่าย แต่เรียกว่าสมาธิภาวนา มันต้องแปลไอ้คำนี้ในรูปที่ตรงตามความมุ่งหมาย แต่มันมีความสำคัญอยู่ในคำ ๆ นั้น ถ้าว่าสมาธิภาวนามันจะแปลว่าเจริญสมาธิ ไม่ถูกหรอก มันมีความหมายว่าการทำความเจริญด้วยสมาธิ จึงจะเรียกว่าสมาธิภาวนา เพราะพระพุทธองค์ตรัสความข้อนี้โดยแยกออกเป็น ๔ เรื่อง
สมาธิภาวนาข้อ ๑ ทำให้เกิดความสุขทันต้องการในปัจจุบันนี้
สมาธิภาวนาที่ ๒ ทำให้มีอำนาจที่เป็นทิพย์
สมาธิภาวนาที่ ๓ ทำให้สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ สมาธิภาวนาที่ ๓ ทำให้ถอนความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานในขันธ์ทั้งห้า คือ ความสิ้นอาสวะ นั่นมันไม่ใช่เจริญสมาธิ มันทำความเจริญแก่จิตใจให้แก่ชีวิตด้วยอำนาจของสมาธิ แต่ว่าคำว่าจิตตภาวนานี้ หมายถึงการทำจิตให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปตามลำดับจนถึงวาระสุดท้ายมันก็เข้ากันได้นะกับคำว่าสมาธิภาวนา ถ้าเราเจริญจิตตภาวนาไปตามลำดับ มันก็จะมีครบทั้ง ๔ สมาธิภาวนานั้นเอง
ขอได้มองเห็นให้ถึงที่สุดเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่มองในแง่เลวร้ายและก็เลวร้ายที่ความฉลาดมันเดินทางไปตามอำนาจของกิเลส และมันเป็นสิ่งที่น่ากลัว หรือมันคุกคามพวกเราอยู่นะ ขอให้มองกันในแง่นี้ เมื่อเรามีการศึกษา มีความเฉลียวฉลาดนะ บังคับความเฉลียวฉลาดนั้นไม่ได้มันจะเกิดอะไรขึ้นมา ขอให้คิดดูกันตอนนี้ มันก็จะใช้ความฉลาดที่มีอยู่รับใช้กิเลส ใช้ความฉลาดรับใช้กิเลส มันเสียหายหมดไม่มีอะไรเหลือนะ ทีนี้ต้องมีอะไรควบคุมความฉลาด พูดง่ายๆ ก็คือบังคับจิตไว้ให้ได้ การควบคุม การควบคุมความฉลาด
จิตตภาวนาที่ถูกต้องนั้นมันเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต ข้อนี้ขอฝากไว้ด้วยที่เอาคำว่าวิทยาศาสตร์เอามาใช้กับธรรมะหรือพระพุทธศาสนา อย่างที่กำลังพูดว่าจิตตภาวนานั้นมันเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต อยากจะเล่าให้ฟังว่าเมื่อผมพูดขึ้นว่า พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ Philosophy หรืออะไรอื่นๆ นั้น ก็มีคนคัดค้านหรือถึงกับล้อเลียน ถึงกับด่าว่าก็มี ว่าพูดเอาเองตามชอบใจ ไม่มีความจริง เพราะว่าเขาไม่รู้ความหมายของคำว่า “วิทยาศาสตร์” แล้วเป็นผู้ที่ได้ยินได้ฟังมาแต่เพียงภายในโรงเรียนของนักเรียนลูกเด็ก ๆ เรียนวิทยาศาสตร์ว่าเรียนเรื่องฟิสิกส์ เคมี เรื่องความร้อน เรื่องแสง เรื่องเสียง อย่างนี้เรื่องวิทยาศาสตร์ และมันรู้เพียงแค่นั้น มันก็เลยคิดว่าวิทยาศาสตร์มีเพียงแค่นั้น ขอให้เป็นที่เข้าใจกันเสียในหมู่พวกเราว่าคำว่าวิทยาศาสตร์นั้นมันไม่ได้มีความหมายแต่เรื่องทางวัตถุ ๆ อย่างเดียว หลักเกณฑ์อันนั้นเอามาใช้กับเรื่องทางจิตก็ได้ จึงต้องใช้คำรัดกุมลงไปว่า วิธีการอย่างวิทยาศาสตร์ หรือว่าวิถีทางอย่างวิทยาศาสตร์ หรือระบบของวิทยาศาสตร์นั่น มันเอามาใช้กับเรื่องทางจิตก็ได้ มิฉะนั้นมันก็จะกลายเป็นเรื่อง Philosophy หรืออะไรยุ่งเลอะเทอะไป เป็น Logic เป็นอะไรไปก็ไม่รู้ กระทั่งกลายเป็นไสยศาสตร์ไปเสียก็มี ที่มันเป็นคู่แข่งกันก็คือวิทยาศาสตร์ Science กับ Philosophy ซึ่งไม่ควรจะแปลว่าปรัชญา ดังที่เราพูดกันแล้วตอนกลางวัน ก็ไม่รู้จะเรียกมันว่าอะไรเพราะในเมืองไทยเรามันนิยมเรียกPhilosophy ว่าปรัชญาเสียแล้ว ไอ้เนี่ย, เขาแปลคำ “Philosophy” ว่า “ทัศนะ” การเห็นตามการศึกษาหรือเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทัศนะหนึ่ง ๆ เท่านั้น ไม่ใช่ความจริอันเด็ดขาด ถ้าคำว่าปรัชญาคือคำว่าปัญญา ก็หมายถึงการรู้ความจริงในขั้นที่เด็ดขาดลงไปไม่มีเปลี่ยนแปลงอีกแล้ว และมีอย่างเดียว คำว่าทัศนะนั้นอะไรก็ได้ ทัศนะอะไรก็ได้ก็เป็นทัศนะทั้งนั้น นั่นแหละคือคำว่า Philosophy และก็กำลังนิยมกันนัก นิยมคำว่า Philosophy ถึงกับบูชาเลยทีเดียวว่าจะเอาเป็นที่พึ่ง มันไม่ได้หรอก เพราะมันไม่มีจุดจบ มันไม่มีจุดจบ มันมีรากฐานที่ง่อนแง่นคลอนแคลน ถ้ามันเป็นวิทยาศาสตร์มันมีรากฐานที่ของจริง ตัวจริง ของจริง ถ้ามันเป็น Philosophy มันมีรากฐานวัตถุที่สิ่งสมมุติ ที่เรียกว่า Hypothesis คือสมมุติฐาน ฐานที่สมมุติขึ้นมาแล้วก็พิจารณาบนฐานอันนั้น นั่นมันเป็น Philosophy ธรรมะของเราจะทำอย่างนั้นไม่ได้ จะทำอย่างงั้นไม่ได้เด็ดขาด ต้องทำลงไปลงบนตัวจริง ของจริง เป็นสิ่งที่เอาตัวจริง เอาวัตถุตัวจริงขึ้นมา แล้วก็พิจารณาค้นคว้า พิสูจน์ ทดลองลงบนสิ่งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือสิ่งที่เรียกว่า “ความทุกข์” เราไม่ต้องสมมุติความทุกข์ขึ้นมา เอาความทุกข์ที่มีอยู่จริง รู้สึกอยู่ในใจจริงๆ มาเป็นตัวศึกษาทดลอง จนมองเห็นเหตุของมันโดยแท้จริง สมุทัยคือปัญหา อย่างนี่แหละก็ดูกันที่ตัวจริงเรื่องไป ไม่ใช่มีแค่คำนวณ ไม่ใช่มีตามความจำ ไม่ใช่ ถ้าไปตามคำนวณหรือไปตามความจำก็ไปเป็น Philosophy เสียอีก เป็นทัศนะไปเสียอีก เราจะต้องมีตัวจริง เอาตัวจริงมาพิสูจน์ค้นคว้าทดลอง การปฏิบัติจิตตภาวนาต้องทำอย่างนั้น ถ้าเราสอนกันในห้องเรียนอาจจะเป็นทัศนะ เพราะมันไม่มีเวลา มันไม่มีโอกาสที่จะกำหนดลงไปบนของจริงหรือตัวจริง ยิ่งเอาไปใช้อธิบายกันตามมหาวิทยาลัยด้วยแล้วมันยิ่งเป็นทัศนะยิ่งขึ้นไปอีก นั้นน่ะมันเป็น Philosophy มันไม่รู้จบแล้วมันช่วยไม่ได้ มันไม่ได้เกิดความเห็นแจ้งชนิดที่เป็นเรื่องเห็นแจ้งแทงตลอดนั้นน่ะ และก็ไม่อาจจะฆ่ากิเลส ไม่อาจจะดับกิเลสได้นั้นได้ด้วยทัศนะหรือ Philosophy และก็พูดกันได้เป็นวรรคเป็นเวรไม่รู้จักจบ งั้นขอให้ถือว่าจิตตภาวนานั้น มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ในทางจิต ใช้วิถีทางหรือวิธีการก็ตามอย่างเดียวกันกับวิทยาศาสตร์ทั่วไป เรื่องทางวัตถุก็ได้ เรื่องทางจิตก็ได้นี่ ขอให้มองให้ลึกให้เห็นชัดว่าพระพุทธเจ้าน่ะท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นยอดของนักวิทยาศาสตร์ ท่านมีคำสั่งสอนวิธีการของการประพฤติปฏิบัติที่สบหลักวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมกันอย่างยิ่งกับโลกมนุษย์สมัยนี้
แต่ถึงอย่างไรก็ดีนะ ก็อาจจะมองเห็นได้ว่าเราจะเรียนพุทธศาสนาหรือพระธรรมอันเลิศนี้อย่างทัศนะหนึ่งหรืออย่าง Philosophy ก็ได้เหมือนกัน เหมือนที่เขาเอาไปเรียน ๆ สอน ๆ พูด ๆ กันไม่รู้จักจบ ถ้าอย่างนั้นมันก็เป็น Philosophy หรือเป็นทัศนะ พูดกันไปเถิด เดี๋ยวนี้กำลังเป็นอย่างนั้น มันไม่ใช่ตัวพุทธศาสนา ไม่ใช่ตัวแท้ของธรรมะ ถ้าตัวแท้ของธรรมะมันทำอย่างนั้นไม่ได้ มันต้องเรียนกันข้างใน ในความรู้สึก ที่ตัวความรู้สึกที่ซึ่งหลักสำคัญที่จะต้องรู้กันไว้เป็นพื้นฐานทั่วไปเสียก่อนว่า ธรรมะที่จะมาพิจารณามาศึกษานั้น ต้องเป็นสิ่งที่กำลังมีอยู่ในจิตใจ จำคำนี้ไว้ดี ๆ ถ้ามันไม่มีอยู่ในจิตใจ มันไม่อาจจะเรียนลงไปที่นั่นได้ ดังนั้นต้องเอาอะไรก็ตามกี่อย่างกี่อย่างก็ตามแต่ใจที่จะเรียนจะศึกษาต้องเอามาทำให้เป็นตัวความรู้สึกที่รู้สึกอยู่ในจิตใจ ถ้าว่าจะเรียนลงไปที่ตัวกิเลส ก็ต้องมีกิเลสหรือความรู้สึกอย่างกิเลสอยู่ในจิตใจแล้วเรียนมันลงไปบนตัวกิเลสนั้น ถ้าเรียนเรื่องความทุกข์ มันต้องมีเรื่องความทุกข์ที่กำลังรู้สึกอยู่ในจิตใจ และถ้าเรียนเรื่องขันธ์ห้า ก็ต้องมีขันธ์ห้าที่กำลังรู้สึกอยู่ภายในจิตใจ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น การจะเรียนเรื่องสำคัญที่สุดคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันต้องมีสิ่งที่เป็นอนิจจัง ทุกขังอนัตตาอยู่ รู้สึกอยู่ ปรากฏอยู่ในจิตใจ แล้วก็ดูเข้าไปที่อนิจจัง ความเป็นอนิจจังของมันที่นั่น อย่างที่เราสอนกันในโรงเรียนนั้นมันเป็นทัศนะ เป็น Philosophy ทั้งนั้นนะ เขาสอนกันมากมาย เหมือนการเรียนอนิจจังอย่างนั้น ทุกขังอย่างนั้น อนัตตาอย่างนั้น มันเรียนในห้องเรียน เข้าทางหู มันก็เป็นลักษณะการเรียนธรรมดา ไม่เป็นธรรมะ ไม่ได้เป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์ต้องเรียนอย่างมีของจริง คือกำลังรู้สึกอยู่ในจิตใจ ไม่ใช่จำคำนี้ ไม่ใช่คำเล็กน้อยเลย มันเป็นคำสำคัญที่สุด จะช่วยได้ที่สุดว่าสิ่งนั้นต้องมีอยู่จิตใจ กำลังมีอยู่ในจิตใจ คือกำลังรู้สึกอยู่ในจิตใจ จะเรียนเรื่องอะไร สิ่งนั้นต้องกำลังรู้สึกอยู่ในจิตใจ นี่เป็นหลักสำคัญในการที่จะเห็นว่าสิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นต้องมามีรู้สึกอยู่ในจิตใจ แสดงให้เราเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา ผมชอบใช้คำนี้คือเห็นความเป็นอนัตตาของสิ่งๆ นั้น อาจารย์อภิธรรมโดยมากเขามักจะพูดแต่เพียงว่าเห็นว่าเป็นเพียงนามรูป ก็ได้เหมือนกันน่ะถ้าเห็นว่าเป็นเพียงนามและรูป มันก็คือ อนัตตา คือไม่ใช่ตน ก็คืออนัตตาเหมือนกัน เราใช้คำที่เรียกว่าไม่ใช่คำเดียวกัน แยกกันอยู่แต่ว่ามันก็เป็นเรื่องที่ให้ผลคล้ายกัน โดยทั่วไปก็จะคำว่า ดูให้เห็นเป็น สักว่านามรูป แต่ผมจะใช้ว่าดูให้เห็นว่ามันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เอาอันไหนก็ได้ถ้าเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนันตา แล้ว มันก็จะไม่มี มันจะเดินไปในทางไม่ยึดมั่นถือมั่นจนปล่อยวางเลย นี่เราจะต้องมีหลักการทางวิทยาศาสตร์ มีของจริงอยู่ในความรู้สึก ซึ่งพูดแล้วเมื่อวานนี้ที่ว่าขอให้ใช้คำว่า “สิกขา” สิกขาน่ะดีที่สุด ดูเข้าไปข้างในตัวเองด้วยตัวเอง โดยตัวเอง เพื่อตัวเองนั่นแหละ คือเป็นของจริงทั้งนั้นน่ะ ไม่ใช่ตัวหนังสือ ไม่ใช่ความจำ ต้องดูเข้าไปที่สิ่งที่มีอยู่จริงๆ ในตัวเอง คือปรากฏอยู่ที่จิต จะศึกษาเรื่องอะไรก็ต้องเอาสิ่งนั้นมาปรากฏอยู่ในจิต และก็ศึกษามันลงไป ภายในด้วยตัวเอง เพื่อตัวเอง ก็เพื่อประโยชน์แก่ตัวเอง ซึ่งมันจำกัดเฉพาะอยู่ว่าแต่ละคนละคนมีปัญหาไม่เหมือนกัน มีความทุกข์ไม่เหมือนกัน
ทีนี้ก็จะเสนอจิตตภาวนาแบบที่ผมใช้คำเป็นเรื่องส่วนตัวหน่อยว่า พอใจที่สุด หลังจากที่ได้เปรียบเทียบเลือกเฟ้นค้นหามาเปรียบเทียบมาศึกษาดูแล้ว ก็พบแบบที่พอใจที่สุด คือแบบที่เรียกว่า “อานาปานสติ” และก็ไม่ได้เป็นแบบที่ต้องอ้างอย่างนั้นอ้างอย่างนี้ มันมีอยู่ในพระบาลีโดยตรง มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ มีสูตร ๆ หนึ่งชื่อว่า อานาปานสติสูตร และก็เอาสูตรนั้นมาเป็นคู่มือ ไม่เอามหาสติปัฏฐานสูตรในทีฆนิกาย ยาวเฟื้อย อ่านตั้งสองชั่วโมง ไม่เอา ๆ มันไม่รู้จะเอาอย่างไรด้วย มันเป็นแต่บัญชีรายชื่อธรรมะทั้งนั้นน่ะ ไม่มีหลักปฏิบัติอะไร แต่อย่าลืมว่าโดยมากทั่วไปในพม่าในลังกาหรือในประเทศไทยนะเขายึดมั่นถือมั่นสูตรนี้กันทั้งนั้นน่ะ มหาสติปัฏฐาน-สูตรนั้นน่ะ แต่ผมไม่เอา เอาอานาปานสติสูตรซึ่งเป็นหัวใจของสติปัฏฐาน หัวใจของสติปัฏฐาน ไม่เฟ้อไม่ฟุ้งซ่าน และก็สนใจก็ไปเปรียบเทียบดูเอาเอง ไปเอาตัวพระบาลีมหาสติปัฏฐานสูตรในทีฆนิกายมาอ่านดูจะรู้เอง และไปอ่านดูอานาปานสติสูตรในมัชฌิมนิกาย คือในบทสวดที่เราใช้สวดกันอยู่นี้ก็มีทั้งนั้นนะเหมือนกัน สูตรสั้นๆ แล้วเปรียบเทียบกันดูว่ามันเป็นอย่างไร อย่าให้ผมต้องพูดจาไปในทำนองที่ค่อนข้าง อะไรร้าย พูดร้าย เอาละเอาเป็นว่าเราจะยึดเอาพระบาลีอานาปานสติสูตรเป็นหลัก พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ชัดว่าอานาปานสติ ๑๖ ขั้น ๑๖ ขั้นนี้สมบูรณ์แล้ว สติปัฏฐาน ๔ ก็จะสมบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ จะสมบูรณ์เมื่อปฏิบัติอานาปานสติทั้ง ๑๖ ขั้นสมบูรณ์แล้ว ครบทั้ง ๑๖ ขั้นแล้ว เมื่ออานาปานสติสมบูรณ์แล้ว สติปัฏฐานจะสมบูรณ์ สติปัฏฐานสมบูรณ์แล้ว โพชฌงค์จะสมบูรณ์ โพชฌงค์สมบูรณ์แล้ว วิชชาและวิมุติจะสมบูรณ์ นี่แหละหัวใจของเรื่องที่สรุปได้มันเป็นอย่างนี้ อานาปานสติ ๑๖ ขั้นสมบูรณ์แล้ว สติปัฏฐาน ๔ จะสมบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ สมบูรณ์แล้ว โพชฌงค์ ๗ จะสมบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ สมบูรณ์แล้ว วิชชาและวิมุติจะสมบูรณ์ นี่เป็นนิพพานไปเลย เป็นนิพพานไปเลย แต่เราไม่เอาถึงนั้นก็ได้ เพราะเรามีปัญหาเพียงว่าจะบังคับจิต บังคับความฉลาดให้อยู่ในร่องรอยเท่านั้น ปฏิบัติตามพระบาลีนึ้ สูตรนี้จะบังคับจิตได้ และจะใช้อย่างไรต่อไป เพื่อไปนิพพานก็ได้ หรือเพื่อจะแก้ปัญหาในโลกนี้โดยเฉพาะก็ได้
อานาปานสติสูตร ในพระบาลีแห่งหนึ่งที่พระพุทธองค์เล่าไว้ว่าพระองค์เองก็ได้ตรัสรู้ด้วยระบบอานาปานสติภาวนา นี่มันๆๆ มีเครดิตมากถึงอย่างนี้ว่าพระพุทธเจ้าเองได้ตรัสรู้ด้วยระบบอานาปานสติภาวนา ผมยกข้อความตอนนี้มาใส่ไว้ในหนังสือ “พุทธประวัติจากพระโอษฐ์” หาอ่านดูกัน ทีนี้สรุปความเรียกว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยระบบอานาปานสติภาวนา ทรงประสบความสำเร็จด้วยระบบนี้และทรงแนะ ทรงแนะไว้ มันมีลักษณะพิเศษที่ว่าเป็นระบบเย็น ระบบเย็น ถ้าเป็นระบบกายสติ อสุภกัมมัฏฐานอะไรเหล่านั้นเป็นระบบร้อน ระบบที่ทำให้เกิดความสะดุ้งหวาดเสียว และก็เป็นระบบเย็นที่จะแก้ระบบร้อน อยู่ในบาลีวินัยที่เมื่อภิกษุจำนวนหนึ่งเขา เจริญกายคยาสติ เห็นความไม่มีสาระของกายแล้วก็พากันฆ่าตัวตาย ชวนกันฆ่าตัวตาย ช่วยกันฆ่าซึ่งกันและกัน เมื่อความข้อนี้ทราบถึงพระพุทธองค์บอกว่า สั่งให้เปลี่ยนจากระบบกายคยาสตินี้มาเป็นระบบอานาปานสติ แล้วก็หยุด หยุดฆ่าตัวตาย ทีนี้ก็เป็นมันเป็นระบบเย็น ไม่น่ากลัว ไม่สะดุ้ง ไม่น่าสะดุ้งหวาดเสียว ก็เทียบกันดูอยู่ไปนั่งพิจารณาอยู่กับศพ ข้างศพนั่นมันเป็นอย่างไร จะมากำหนดลมหายใจอยู่เงียบๆ นี่มันเป็นอย่างไร มันต่างกันกี่มากน้อย นั่นล่ะจึงเรียกว่าระบบเย็น ไม่ใช่ระบบร้อน ไม่น่ากลัว ไม่ทำความน่ากลัว ไม่โกลาหลด้วยความกลัว แล้วก็ยังมีความสะดวก มันสะดวกที่สุด ก็ลมหายใจนี่มันอยู่กับตัวกับเนื้อ ถ้าเป็นระบบอื่นบางทีต้องเที่ยวหอบนั่นหอบนี่ หอบนิมิต หอบสิ่งที่จะใช้เป็นนิมิต ดวงกสิณบ้าง ลูกแก้วบ้าง อะไรสำคัญ เอามาต้องพะรุงพะรัง แต่ถ้าว่าเป็นระบบอานาปานสติแล้วมันก็หายใจอยู่ตลอดเวลา มันสะดวกอย่างยิ่งอย่างนี้ มันใช้ได้ทั้งในการที่จะป้องกันไม่ให้เกิดกิเลส และแก้ไขกิเลสที่มันเกิดขึ้นแล้ว นี่มันเต็มรูปแบบอย่างยิ่ง ใช้ในแง่การป้องกันกิเลสก็ได้ ใช้ในการแก้ไขรื้อถอนทำลายกิเลสก็ได้ เรียกว่าดีที่สุด เพราะฉะนั้นเราจึงยินดียึดเอาหลักอานาปานสติเป็นที่พึ่ง ถ้ามันยังใช้ได้แม้ในเรื่องโลก ๆ นี่ คนที่อยู่ในโลก ไม่ใช่จะไปนิพพาน ก็ใช้ประโยชน์ได้ คือมันทำให้มีจิตใจดี จิตใจดี มีจิตที่มีคุณสมบัติสูงสุด อย่างเช่นว่าเป็นนักเรียนเด็ก ๆ เป็นนักศึกษา ถ้าทำอานาปานสติได้ มันจะจำเก่งมันจะคิดเก่ง มันจะตัดสินใจเก่ง ตอนเป็นชาวนา ถ้ามันทำอานาปานสติได้มันก็มีจิตใจที่เยือกเย็นเฉลียวฉลาด รอบคอบสุขุมไปหมด อยากจะบอกว่าห้ามเลือดก็ยังได้ ถึงขนาดนั้น มันนอกเรื่องธรรมะไปแล้ว ถ้ามีแผลเลือดไหลมากทำอานาปานสติให้เกิดความระงับทางกาย เลือดจะไหลน้อยลงหรือจะหยุดไหล เรียกว่ามันใช้เพื่อประโยชน์อย่างโลก ๆ มันก็ได้ ไม่ใช่เฉพาะว่าจะไปพระนิพพานเพียงอย่างเดียว ในที่สุดจะมีชีวิตเย็น เป็นชาวบ้านที่อยู่ด้วยอานาปานสติ จะมีชีวิตที่เย็น ที่เยือกเย็น และในคัมภีร์วิสุทธิมรรคเขาให้อานิสงส์ไว้ถึงกับว่าจะรู้นาทีสุดท้ายที่จะดับจิตน่ะ ระบบอื่นไม่มี มีแต่ระบบอานาปานสติกันนะ เจริญอานาปานสติ สำเร็จเชี่ยวชาญคล่องแคล่วอยู่เป็นประจำ เจริญยิ่งขึ้นไปจนสามารถจะรู้ได้ว่าการหายใจครั้งไหนจะดับจิต เล่าเรื่องไว้ในที่นั้นว่า พระอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในอานาปานสติรูปหนึ่ง ถึงเวลาที่จะนิพพานนะ ก็ลงไปที่สนามหญ้าให้ลูกศิษย์ไปคอยอยู่ตรงกึ่งกลางของที่จงกรม และท่านก็เดินจงกรมไปมา ๆ ในที่จงกรมนั้น พอถึงการหายใจครั้งสุดท้ายที่จะนิพพานก็มาถึงกึ่งกลางพอดี และก็นิพพานให้ลูกศิษย์คนที่ไปรอนั้นรับร่างกายไม่ให้ล้มลงไป น่าอัศจรรย์อย่างนี้ จะจริงหรือไม่จริงก็สุดแท้แต่ว่ามันมีปากว่าอย่างนี้ รู้จักการหายใจครั้งสุดท้ายว่าจะมีเมื่อไหร่ นี่โฆษณาเสียใหญ่เรื่องอานาปานสติ
เอาละเป็นอันว่าเราจะศึกษาระบบอานาปานสติในระบบเต็มรูปแบบ ๑๖ ขั้น ซึ่งผมก็จะบอกบทให้ทำตามเพียงเพื่อรู้วิธีสำหรับจะเอาไปทำเองต่อไป ไม่ใช่มันจะสำเร็จประโยชน์ที่ตรงนี้ไม่ใช่ แต่มันจะสำเร็จประโยชน์ข้างหน้า ที่เข้าใจดีแล้วเอาไปทำเอา ไปปฏิบัติจนกว่ามันจะมีผลสำเร็จ เอาละเปลี่ยนเป็นนั่งขัดสมาธิ ขัดสมาธิให้ดีที่สุด ขัดสมาธิเพชรที่มันขัดกันอย่างยิ่ง ขามันขัดกันอย่างยิ่ง คือว่าเมื่อเอาอันนี้มาวางบนอันนี้แล้วมันต้องเอาอันนี้วางบนนี้ มันอยู่ข้างบนทั้งสอง ทั้งสองฝ่าเท้า ฝ่าเท้ามันอยู่หงายขึ้นมาทั้งสองฝ่าเท้า นี่เรียกบัลลังก์กรรมแท้ เป็นชนิดที่เขาเรียกกันมาแต่เดิมว่า “วัชรอาสน์” ขัดสมาธิเพชร ถ้ามันไปลงอยู่ข้างล่างเสียอันหนึ่งเรียกว่า ขัดสมาธิบัว “ปทุมอาสนะ” และก็เอายกขึ้นมา หงายขึ้นทั้งสองข้างเรียก “วัชราสนะ” แน่นแฟ้นมากกว่า ล้มไม่ได้เหมือนปิรามิด ปิรามิดมันล้มไม่ได้เพราะมันมีฐานมั่นคง มียอดอยู่ตรงกลาง มันล้มได้ที่ไหน นี่เราจึงนั่งชนิดที่ล้มไม่ได้โดยวิธีวัชราสนะ ถ้าเอาตามสบายมันก็ มันไม่เกิดความมั่นคง เพราะว่าเมื่อจิตเป็นสมาธิ มันเป็นความรู้สึกใต้สำนึกแล้ว มันอาจจะล้มไปเสียก็ได้ ดังนั้นให้มันมั่นคงล้มไม่ได้ ให้จิตเป็นสมาธิ เป็น Subconscious ไปแล้วมันก็ล้มไม่ได้ มันอยู่ของมันไปเอง และก็วางมือ ยิ่งๆ วางมือย่างนี้ก็ยิ่งล้มไม่ได้ ให้มันเป็นไม้ค้ำมือ วางมือลองดูสิ วางมืออย่างนี้มันล้มได้ที่ไหน แต่ว่าเขาไม่นิยมกัน แต่ผมว่าอย่างนี้ดีมันล้มไม่ได้ จับที่หัวเข่าทั้งสองข้างนี้แล้วเขามักจะสอนให้ทำอย่างนี้ก็ได้ มันเป็นพิธีหรือว่าเป็นเป็นประเพณี ในพระบาลีก็ไม่ได้มีคำว่าเอามือทำอย่างไหน ก็ทำอย่างนี้แล้วมันล้มไม่ได้ ให้เข้าฌาณไปแล้วก็ล้มไม่ได้ เอามาทำอย่างนี้ผมไม่ชอบมันร้อน มันเกิดความร้อนขึ้นที่มืออย่างนี้ไม่ชอบ แต่ก็ได้เหมือนกัน ปล่อยตามสบายอย่าไปซ้อนมัน ถ้าไปซ้อนมันมันเกิดความร้อนความอุ่นขึ้นมา ไม่จำเป็นว่าจะต้องหาที่สงบสงัด ไม่มีเสียง แม้แต่เสียงอะไรสักนิดหนึ่งไม่ต้อง ถ้าเราไม่ฟังมันก็ไม่ได้ยินแล้ว มันก็เกิดความสงัด ดังนั้นแม้จะไปนั่งในรถไฟที่กำลังวิ่งอยู่มีคนโดยสารเต็มรถก็ทำได้ คุณลองดู ไม่ได้ยิน ไม่เห็น มันก็เป็นป่า เป็นป่าขึ้นมาทันที สร้างป่าขึ้นมาที่ไหนก็ได้โดยปิดหูปิดตา ฉะนั้นอย่าไปยึดมั่นถือมั่นว่าจนต้องไปที่ในถ้ำหรือใน (ที่ใด) นัก (นาที ๓๒.๑๒ ไม่ชัด) ต้องการจะทำที่ไหนก็ทำซะที่นั่น จะเล่าเรื่องเบ็ดเตล็ดเล็กน้อย พวกฮัจญีพวกอิสลามเขาทำละหมาด ๕ ครั้ง เขาทำได้ทันที อยู่ที่ตรงไหนก็ทำที่ตรงนั้น ไม่ๆๆ ไม่ต้องวิ่งไปหาที่ทำ ครั้งหนึ่งเราไปด้วยกันเป็นเพื่อนกัน ก็ทำละหมาด ทำละหมาดบนที่นอนชั้นบนในรถไฟกำลังวิ่งบนที่นอนชั้นบน ซึ่งก็ทำ ไม่ต้องไปหาป่าหาที่ไหน การทำละหมาดนี้ก็มีหลักว่าที่ไหนก็ได้ ทำได้ ถ้าในรถไฟกำลังแล่นไป กุง กุง กุง กุง กุง ก็ยิ่งดี เอาไอ้เสียงกุง กุง กุง ที่ล้อบดรางนี่แหละเป็นนิมิตทางหูได้ด้วย ช่วยกันไปอีกทาง ก็ไม่ได้ยินเสียงอื่นนอกจากเสียงนั้น เสียงล้อบดราง ไอ้นั่งขัดสมาธิเพชรเนี่ยฝรั่งนั่งไม่ได้ บางคนร้องไห้ นั่งไม่ได้ ยังไงมันก็นั่งไม่ได้มันก็ปวด ไปเห็นที่สำนักมหาศรีชยาดอที่พม่านั่งร้องไห้อยู่ ถามว่าทำไม มันขัดสมาธิไม่ได้ มันก็เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ไว้เหมือนกันว่าไทยเราสบายเลย เด็กทารกตัวเท่านี้มันก็นั่งได้ เด็กทารกยังเดินไม่ได้มันก็ยังนั่งขัดสมาธิได้ นี่เป็นวัฒนธรรม จมูกดีพอสมควร ตามปกติ ถ้ามันไม่ดีมันขัดมันแน่นก็สร่างมันมากๆ สูดน้ำเข้าไป สร่างออกมา สูดน้ำเข้าไป สร่างออกมา จมูกมันก็จะโล่ง ไอ้เรื่องบุพภาคเบื้องต้นนี้อย่าให้มีกันมากนักเลย จะต้องมีพิธีรีตองว่า จับตัวมารับศีลกันเดี๋ยวนั้นเสียก่อนให้มีศีลเสียก่อน ทางเนี้ยมันเป็นงมงาย ต้องรับศีลกันเสียก่อนจะได้เรียกเป็นผู้มีศีลแล้วจะได้ทำสมาธิ มันมีศีลอยู่เป็นพื้นฐานก็แล้วไปแล้วก็จะศีลอะไรก็ได้ ศีลพระก็ได้ ศีล ๑๐ ก็ได้ ศีล ๘ ก็ได้ ศีล ๕ ก็ได้ กระทั่งว่าเขาไม่ได้มีความรู้เรื่องศีลก็มีความปกติแห่งกายวาจาก็ใช้ได้ ถ้าจะให้คนในลัทธิอื่นหรือในศาสนาอื่นมาทำบ้างเขาก็มีความปกติทางกายวาจาพอสมควรที่จะเป็นพื้นฐานของการทำสมาธิมันก็ได้ นี่ไปเห็นว่า โอ้! น่าสงสาร จะไปจับตัวมารับกันเดี๋ยวนั้นให้มันมีศีล มันเป็นศีลตามพิธี สมาธิมันก็จะพลอยกลายเป็นตามพิธี
เอาละทีนี้เราก็จะนึกถึงอานาปานสติ ๑๖ ขั้น แบ่งเป็น ๔ หมวด หมวดละ ๔ ขั้น
หมวดที่ ๑ เกี่ยวกับกาย
หมวดที่ ๒ เกี่ยวกับเวทนา
หมวดที่ ๓ เกี่ยวกับจิต
หมวดที่ ๔ เกี่ยวกับธรรมะ ชื่อ ๔ ชื่อนี้ตรงเป็นอันเดียวกันกับในมหาสติปัฏฐานสูตร
แต่คำอธิบายหรือวิธี ทำมันต่างกันลิบ นี่กะทัดรัดที่สุด ๔ หมวดนี้
หมวดที่ ๑ คือกาย กายในที่นี้หมายถึง กาย ลมหายใจก็เรียกว่ากาย เนื้อหนังร่างกายนี้ก็เรียกว่ากาย ในหมวดนี้จะทำเกี่ยวกันทั้งสองกาย
บทเรียนที่ ๑ เรียนเรื่องลมหายใจยาว คุณใช้คำว่าเรียนเรื่องลมหายใจยาวดีกว่า บทที่ ๑ มารู้เรื่องลมหายใจยาว ทุกแง่ทุกมุมของลมหายใจยาว จะเป็นธรรมชาติก็ดี ลักษณะก็ดี อิทธิพลของมันก็ดี ผลที่จะเกิดขึ้นจากลมหายใจยาวก็ดี เรียนให้รู้ให้หมดในบทเรียนที่ ๑ เพราะฉะนั้นเราจะต้องรู้จักลมหายใจยาว ถ้าไม่เคยทำมาก่อนหรือเป็นครั้งแรกก็ลองหายใจยาว ๆ ดู ลองหายใจยาว ๆ ดู ทั้งเข้าทั้งออก ทั้งเข้าทั้งออก พอให้มันคุ้นกับคำว่ายาว ยาวมาก ยาวมากจนยาวที่สุดที่ยาวได้ ให้มันรู้จักความยาวทั้งเข้าทั้งออก และจะได้ศึกษายาวที่ต้องการ ยาวที่พอดี และมันจะมีผลตรงกันข้ามจากคำพูดที่เขาพูด ๆ กันอยู่ ลองหายใจเข้าให้ยาวที่สุด มันกลายเป็น ท้องยุบ ลองดูสิ ยาวอัดเข้าไป เข้าไป เข้าไป ส่วนที่ท้องจะยุบ ส่วนที่อกจะบาน ใช้คำพูดสะเพร่า ๆ ไม่ได้นะว่าหายใจเข้าแล้วท้องพอง เป็นไปไม่ได้ล่ะ มันว่าตามกันไปก็เถอะ ถ้ายาว ยาวเข้า ยาวที่สุด แล้วมันจะบานส่วนบน ยุบส่วนท้องออก ออก ออก ส่วนบนจะยุบ มันจะไปเบ่งส่วนท้องออกแล้วท้องมันออกมา นี่เป็นความจริงที่เรียนรู้ไว้ว่า ยาวที่สุดทั้งเข้าและออกนั้นเป็นอย่างไร เอาะละที่นี้ลอง ลองสิ ลองเลย หายใจยาว...เข้า...ออก...เข้า...ออก จนให้รู้เรื่องเข้าเรื่องออก รู้เรื่องยาว ได้แค่นี้ก็ยาว...อย่างหยาบ และก็ยาว...อย่างไม่หยาบ มันเป็นการบังคับที่พอดีมันก็ยาวอย่างนิ่มนวลอย่างไม่อยาก ก็เรียกว่ามันละเอียด และก็จะรู้จักว่า ยาว อย่างหยาบเป็นอย่างไร ยาว อย่างละเอียดเป็นอย่างไร ยาว อย่างปานกลางเป็นอย่างไร ทีนี้ก็ศึกษามันคือว่ามีลมหายใจยาวอยู่ในความรู้สึก อยู่ในความรู้สึก ทีนี้ก็สังเกตดู โอ้ ลักษณะเป็นอย่างไร ธรรมชาติเป็นอย่างไร มีอิทธิพลอะไรเกิดขึ้นแก่ร่างกาย จนรู้จักมันดี รู้จักความยาว รู้จักความหยาบ รู้จักความละเอียด รู้จักผลที่มันเกิดขึ้นแก่ร่างกาย บทที่ ๑ บทที่ ๑ เรื่องลมหายใจหยาบ ท่องดี เข้าใจดี รู้จักดี ซึมซาบดี บทที่ ๒ ลมหายใจสั้น ศึกษาเรื่องลมหายใจสั้น บทที่ ๑ ศึกษาเรื่องลมหายใจยาว
บทที่ ๒ ศึกษาเรื่องลมหายใจสั้น สั้นตามธรรมชาติเป็นอย่างไร สั้นที่เราบังคับให้สั้นจนเราจะรู้จักความสั้นเป็นอย่างไร และเราก็จะรู้ว่ามันต่างกับความยาวอย่างไร ธรรมชาติของมันต่างกันอย่างไร ลักษณะมันต่างกันอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลมหายใจมันสั้น มันมีอิทธิพลต่อร่างกายอย่างไร เมื่อลมหายใจยาวมีอิทธิพลต่อร่างกายอย่างไร เมื่อมีลมหายใจสั้น มันมีอิทธิพลต่อร่างกายอย่างไร และถ้ามันเกิดอารมณ์ อารมณ์ที่เรียกว่า Mood นะ ไม่ใช่อารมณ์ตาหู ขึ้นมาอย่างไรในจิตใจ ศึกษาให้มันเข้าใจ มันจะใช้ลมหายใจยาวขับไล่อะไรได้บ้าง จะใช้ลมหายใจสั้นขับไล่อะไรได้บ้าง รู้ความสั้น รู้ลักษณะแห่งความสั้น รู้จักอิทธิพลของความที่มันสั้น รู้จักประโยชน์ของมันอย่างเดียวกันกับเรื่องลมหายใจยาว เพียงแต่ว่ามันตรงกันข้าม มันเป็นเรื่องลมหายใจสั้นเท่านั้นเอง นั่นดื่มด่ำชิมรสลมหายใจยาว ลมหายใจสั้นจนคล่องแคล่วๆๆ ถูกต้องคล่องแคล่ว
ทีนี้ก็บทเรียนที่ ๓ สัพพะกายะปฏิสังเวที รูปพร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวงนี้ กายอันหนึ่งคือลมหายใจ กายอันหนึ่งคือร่างกาย มันเลยเป็นสองกาย ดังใช้คำว่า สพฺพ สัพพะ คือทั้งปวงหรือทั้งสองกาย พวกที่แปลเป็นภาษาอังกฤษในสมาคมแห่ง Textbook อะไรก็ตาม แปลคำนี้ผิด แปลเป็น Whole, Whole คือทั้งหมด ถ้าอย่างนั้นมันเป็นเกวล (เกว-วะ-ละ) หรือ สกล (สะ-กา-ระ) (นาทีที่ ๔๒.๓๘) ไม่ใช่ สัพพะ ทั้งปวงของหลายสิ่ง สัพพะ คือสองกาย ไม่ใช่ Whole ถ้า Whole มันกายเดียว มันก็แปลว่า Whole น่าหัว นี่แหละ อานาปานสติสูตร คำแปลภาษาอังกฤษผิดอย่างนี้อยู่หลายแห่งหลายเจ้า พวกเราเรียนบาลีรู้ดีเลยว่า สัพพะ แปลว่า ทั้งปวง คือ All ไม่ใช่ Whole ถ้า Whole คือทั้งหมดของสิ่งเดียว ถ้า All คือทั้งหมดของทุกสิ่ง ทีนี้มารู้จักกายทั้งหมด ก็คือว่าสองกาย กายลมเป็นอย่างไร กายเนื้อเป็นอย่างไร กายแปลว่า หมู่ หมู่ลมเป็นอย่างไร หมู่เนื้อหนังเป็นอย่างไร เดี๋ยวก็จะเห็นได้ชัดว่า โอ้, เมื่อลมหายใจยาว กายเป็นอย่างไร เมื่อลมหายใจสั้น กายเป็นอย่างไร ก็จะเห็นได้ทันทีว่า สองกายนั้นมันเนื่องกัน มันขึ้นอยู่แก่กันและกัน ถ้าว่าลมหายใจมันหยาบ กายเนื้อมันก็หยาบ ถ้ากายลมมันละเอียด กายเนื้อมันก็จะระงับหรือละเอียด ก็เลยรู้ว่า โอ้ มันสองกายว่ะ และมันเนื่องกันอยู่ว่ะ กำหนดความจริงข้อนี้อยู่ บท ๑ เลยเป็นบทที่ ๓ บทที่ ๔ กำหนดความจริงข้อนี้อยู่ตลอดเวลาจนชัดจนประจักษ์ชัดว่ามีสองกายเนื่องกันอยู่อย่างนั้น สัพพะกายะปะฏิสังเวที หายใจเข้าก็รู้จักรู้สึกอยู่อย่างนั้น หายใจออกก็รู้สึกอยู่อย่างนั้น อย่าลืมเรื่องรู้สึกหายใจเข้าหายใจออกนะ มันต้องเป็นความรู้ที่รู้อยู่ทั้งหายใจเข้าหายใจออกจึงจะเรียกว่าอานาปานสติ ถ้าไม่อย่างนั้นไม่เรียก
ทีนี้ก็มาถึงบทเรียนที่ ๔ ปัสสัมภะยัง กายะสังขารัง อัสสะสิสสามิติ สิขะติ (นาทีที่๔๔.๓๖ – ๔๔.๓๘) รู้กายสังขารระงับอยู่ ระงับลง หรือทำกายสังขารให้ระงับลง หายใจออกหายใจเข้าหายใจออก ก็คือเราทำให้ลมหายใจละเอียดนั่นเอง ทำกายลมให้ละเอียด และกายเนื้อก็ละเอียดหรือระงับ แต่ตัวบทมันระบุไปยังกายสังขาร คือลม ทำกายลมให้ระงับ กายลมให้ระงับ กายลมให้ระงับ ระงับกายลม กายเนื้อมันก็จะระงับไปตาม ทำให้ขยับขยายปรับปรุงให้ดีที่สุด ให้ไอ้ลมหายใจละเอียดๆๆ ระงับ ซึ่งมันจะมีลักษณะยาวพอสมควร แล้วมันก็ละเอียด ละเอียด ประณีต ทำให้มันประณีต ทำให้มันละเอียดอย่างนี้อยู่ กายเนื้อก็จะระงับอยู่ ก็จะระงับลม ระงับลมเย็นลงไป จะมีผลเป็นสมาธิในขั้นสุดท้ายที่เป็นสมาธิพอที่จะใช้เป็นบาทฐานในขั้นต่อไป
หมวดที่ ๑ ศึกษาเรื่องลมหายใจยาว ศึกษาเรื่องลมหายใจสั้น รู้จักกายทั้งปวงคือทั้งสองกาย และก็ทำกายสังขาร สังขารคือลมหายใจเป็นเครื่องปรุงแต่งกายให้ระงับได้ตามที่เราต้องการ หลังจากทำชีวิตเย็นลงไปทันที ได้รับความสุขทันควันในปัจจุบันนี้ ต้องการเมื่อไหร่ก็ได้ ต้องการความสุขทิฏฐธรรมได้เมื่อไหร่ก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ที่ทุ่งนาก็ได้ ที่วัดก็ได้ ที่บ้านก็ได้ นี่เรียกว่า หมวดที่ ๑ สี่บทเรียนจะจบลงที่ว่าประสบความสำเร็จในการที่ทำให้กายลมระงับ กายเนื้อก็ระงับ จะทำให้เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน กันไปเกิดในขั้นนี้ที่ตรงนี้ แต่พระบาลีดูไม่ได้มุ่งหมายจนถึงขั้นนั้น เอาเพียงว่าได้ระงับได้ ระงับได้ มันก็พอแล้ว มันก็จะเป็นจิตบริสุทธิ์ที่เพียงพอที่จะเป็นบาทฐานของทิฏฐิวิสุทธิต่อไปได้ ถ้าจะทำต่อไปให้ถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌานก็ได้ แต่ไม่ได้แนะไว้ แต่ว่ามันได้และมันเป็นเรื่องเดียวกัน งั้นเราทำให้ลมหายใจละเอียด ทางกายก็ระงับ ระงับเย็นสำเร็จ และก็จะเกิดคำสำคัญขึ้นมาคำหนึ่งว่า พอใจ พอใจนั่นแหละ ตัวการที่จะรู้จักพอใจๆๆ สำเร็จๆ พอใจ ๆ เก็บเอาความรู้สึกว่า สำเร็จ ๆ หรือพอใจนี้ไว้สำหรับธรรมในหมวดที่ ๒ หมวดเวทนา หมวดที่ ๑ เสร็จไป ทบทวนให้ดี ลมหายใจยาว ลมหายใจสั้น รู้จักกายทั้งปวง รู้จักทำกายสังขารคือลมให้ระงับ ประสบความสำเร็จ พอใจ พอใจ เย็น เย็น เย็น เย็น พอใจ
ถ้าเกิดเวทนา จะถือเอาเวทนาที่เกิดนี้สำหรับเป็นบทเรียนหมวดที่ ๒ ที่เรียกว่า เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน
ขั้นที่ ๑ ของหมวดที่ ๒ คือรู้จักปีติ
ขั้นที่ ๒ ของหมวดที่ ๒ คือรู้จักความสุข
ขั้นที่ ๓ ของหมวดนี้ก็รู้จักว่าปีติและสุขนี้เป็นจิตตสังขารคือปรุงแต่งจิต
ขั้นที่ ๔ ก็ทำจิตตสังขารนี้ให้ระงับลง ๆ พอมาถึงขั้นนี้ ก็กำหนดพอใจที่เรียกว่า “ปีติ” นั้นก็คือพอใจในความพอใจที่กำลังตื่นเต้น กำลังกำเริบ กำหรับกำเริบ (นาทีที่ ๔๙.๑๔) ฟุ้ง เรียกว่า “ปีติ” มีหลายชนิด ดูในแบบก็แล้วกัน แต่ผมไม่ต้องการให้รู้ถึงอย่างนั้น รู้แต่ว่าความพอใจที่กำลังฟุ้งนั่นเรียกว่าปีติ พอความพอใจนั้นหยุดฟุ้งระงับลงก็เรียกว่า “ความสุข”
ข้อ ๑ ปีติปะฏิสังเวมี (นาทีที่ ๔๙.๓๕ – ๔๙.๓๗) รู้จัก รู้สึก รู้จักปีติ
ขั้นที่ ๒ สุขะปฏิสังเวที (นาทีที่ ๔๙.๔๐ – ๔๙.๔๑) รู้จักความสุขในขั้นที่นี่นะ จะเรียกว่าขั้นที่ ๕ ของทั้งหมดหรือเรียกขั้นที่ ๑ ของหมวดที่ ๒ ดื่ม ใช้คำว่าดื่มด่ำก็ได้ในปีติ หายใจเข้าออกอยู่ ดื่มด่ำด้วยความรู้สึกคือเป็นปีติหายใจเข้าออกอยู่ มันกำลังมีปีติชนิดไหนอย่างไรเท่าไหร่รู้วันนี้เลย นี่ดื่มปีติ นั่นดื่มปีติในขั้นนี้ และพอไอ้ปีตินั่นมันระงับลงเป็นความสุขคือพอใจที่ระงับ นั่งดื่มความสุขชนิดนี้อยู่ หายใจเข้าออกอยู่เรื่อยไป หายใจเข้าออกอยู่เรื่อยไป นั่นๆ ละไม่ได้ นั่นเป็นการกำหนดอันหนึ่งเป็นนิมิตอันหนึ่ง ความเข้าและความออกเป็นเหมือนกับเครื่องเคาะจังหวะที่สม่ำเสมอและก็ไม่ไปอื่น ไม่หนีไปอื่น
พอมาถึงขั้นที่ ๓ ของหมวดนี้ มันจะเป็นขั้นที่ ๗ ของทั้งหมด ขั้นที่ ๓ ของหมวดนี้ก็กำหนดดูรู้ ไอ้ปีติและสุขนี่มันปรุงแต่งความคิด เวทนานี้ปรุงแต่งความคิด รู้จักเวทนาให้ดีว่าเวทนานี้มันปรุงแต่งความคิดคือจิต มันจะคิดดีคิดชั่ว ไม่ดีไม่ชั่ว คิดแบบไหนก็ตามมันไปจากเวทนา ที่มีความรู้สึกอย่างไร และมันก็จะคิดไปอนุโลมไปตามเวทนานั้นๆ มันจะผ่านตัณหาหรือไม่ผ่านก็ตามใจ ในความคิดนี้มันก็จะเป็นไปตามอำนาจของเวทนา รู้ความจริงหรือลึกซึ้งที่สุดว่าไอ้เวทนานี้โว้ยปรุงแต่งจิต ถ้าเราควบคุมเวทนาได้เราก็จะควบคุมจิตได้ ถ้าเราควบคุมเวทนาทั้งหมดได้เราก็ควบคุมโลกทั้งโลกได้ มันจะไม่ปรุงแต่งเราได้ นั่งซึมซาบในความจริงข้อนี้ว่าเวทนาปรุงแต่งจิตอยู่อย่างนั้นน่ะ หายใจเข้าออก เข้าออกอยู่ ในความรู้สึกอันนี้มันจะกินเวลากี่วัน กี่อะไรก็ตามใจเถอะ ถ้ามันทำจนทำได้น่ะ
ทีนี้ก็มาถึงไอ้หมวดสุดท้าย ขั้นสุดท้ายของหมวดนี้คือว่าทำจิตตสังขารให้ระงับอยู่ หายใจเข้าหายใจออก บรรเทากำลังของปีติและสุขให้ลดลง ไม่ให้ๆๆ แก่กล้าเหมือน ๆๆๆ ทีแรก ปีติแก่กล้ามันจะเป็นแบบโคลงโยกโคลง ๆ ตามอำนาจของปีติ เดี๋ยวหยุด สงบเป็นสุข สุขแล้วก็ยังหยุดกำลังไม่ให้มันปรุงแต่ง มีความรู้เรื่องว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นมายา มันเป็นมายา ไม่บูชาไม่หลงใหลกับมันแล้วเรื่องปีติเรื่องสุขนี้ มันก็ปรุงแต่งจิตน้อยลง กำลังงานหรือกำลังดันของไอ้ปีติและสุขลดลงเท่าไร จิตมันก็ลดลงเท่านั้น
นี่ขั้นที่ ๔ ของหมวดนี้ นั่งซึมซาบอยู่กับความจริงที่ว่าเดี๋ยวนี้กำลังของปีติและสุขลดลง กำลังของจิต นั่นจะเรียกว่าความดันของจิตลดลง นั่งซึมอยู่กับความจริงข้อนี้ หายใจเข้าออก ผ่านไปหมวดหนึ่ง
หมวดที่ ๒ คือหมวดเวทนา ในมหาสติปัฏฐานสูตรไม่มีคำอธิบายอย่างนี้ ไม่มีการกระทำอย่างนี้ คุณไปเปิดดูเอง อย่าให้ผมต้องพูด
เอ้า, ทีนี้ก็มาถึงหมวดที่ ๓ จิตตานุปัสสนา มันก็มาถึงเรื่องที่จะต้องทำกับจิตโดยเฉพาะ เพราะว่าเค้าเงื่อนมันมาแล้วตั้งแต่หมวดที่ ๒ รู้จักลดจิตตสังขารคือมันควบคุมจิตได้ ทีนี้มาถึงหมวดสามมันก็เล่นงานเรื่องจิต เล่นงานกับจิตที่เกี่ยวข้องกับจิตโดยตรง บทเรียนที่ ๑ ของหมวดนี้คือว่ารู้จักจิตทุกชนิดไว้ก่อน จิตกำลังเป็นอย่างไร ศึกษามันให้รู้เรื่องจิตว่าจิตกำลังเป็นอย่างไร ศึกษาเรื่องจิตเช่นเดียวกับทางหมวดนู้น ศึกษาเรื่องลมหายใจคือกาย หมวดที่สองศึกษาเรื่องเวทนา มาถึงหมวดนี้ศึกษาเรื่องจิต รู้จักสิ่งที่เรียกว่าจิต ก็ทำความรู้สึกว่าจิตกำลังเป็นอย่างไร จิตกำลังมีโลภะ ราคะ หรือไม่ หรือกำลังว่างจากราคะโลภะ มีโทสะหรือไม่มีโทสะ มีโมหะหรือไม่มีโมหะ กำลังฟุ้งซ่านหรือกำลังหดหู่ ซึ่งมีอยู่เป็นคู่ ๆ แล้วมันก็คงจะลำบากในคู่ที่ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าหรือไม่ มันหมายถึงความว่า จิตที่หลุดพ้นแล้วที่ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่านี้ อันนี้จะรู้โดยการเทียบเคียง คือรู้จักจิตปัจจุบันที่ไม่หลุดพ้นที่วุ่นวายที่ยุ่งเหยิงที่เป็นทุกข์อันนี้ไปก่อน และก็รู้สึกโดยธรรมว่าตรงกันข้ามคือจิตที่ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ดังนั้นแม้ว่าเราไม่เป็นพระอรหันต์ก็คำนวณจิตของพระอรหันต์ได้ คือจิตที่ปราศจากกิเลสเหล่านั้นว่าเป็นจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า มันเป็นการเที่ยว เที่ยวไปในโลกของจิตว่ามันมีกี่ชนิด กี่สิบชนิด กี่ร้อยชนิด ท่านยกตัวอย่างเอาไว้ในบทเรียนนี้แปดคู่หรือ ๑๖ ชนิดนั้น ทำความเข้าใจกับจิตรู้จักจิตกันให้ทั่วถึง บทเรียนบทที่ ๑ ของหมวดที่ ๓ หรือมันจะเป็นบทเรียนที่ ๙ ของทั้งหมด จิตชนิดไหนเป็นอย่างไร มีเหตุปัจจัยอย่างไร มันมาจากอะไร เราจะลดความดึงดันในความกำลังของมันได้อย่างไร เราทำมาแล้วในบทที่ ๒ ลดกำลังของจิตมีโลภะราคะอย่างไร มันก็จะทำได้เพราะมันศึกษามาดีแล้วในการบังคับจิตตสังขาร ๑ ถึง ๒ ทีนี้ก็มาถึงขั้นที่ ๒ ของหมวดจิต อะภิปปะโมทะยัง จิตตัง ทำจิตให้บันเทิง ทำจิตให้เกิดความรู้สึกฝ่ายบันเทิง พอใจ เป็นสุข จะไปเอาปีติหรือสุขมาอีกทีก็ได้ สามารถบังคับจิตให้บันเทิง ไม่โศกเศร้าได้ เมื่อไรก็ได้ ต้องการเมื่อไรก็ได้เมื่อนั้น ต้องการจิตที่บันเทิงปราโมทย์เมื่อไหรก็ได้เมื่อนั้น สำเร็จในส่วนที่ทำให้บันเทิง และขั้นที่ ๓ ของหมวดนี้ก็คือ ทำจิตให้ตั้งมั่น สมาทะหัน จิตตัง อัสสะสิสามีติ สิกขะติ (นาทีที่ ๕๗.๐๙ – ๕๗.๑๔) ทำจิตให้ตั้งมั่น ตั้งมั่นๆ ก็เป็นสมาธิ มันก็ใช้วิธีการอย่างเดียวกับทำจิตตสังขารหรือทำกายสังขารให้ระงับ จิตก็จะตั้งมั่น ตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีคุณสมบัติสำคัญอยู่ ๓ ประการสำหรับจิตที่เป็นสมาธิ ข้อนี้สำคัญมาก เข้าใจให้ดี จำไว้ให้ดี ถ้าจะเรียกว่าเป็นสมาธิสมบูรณ์แบบตามหลักการนี้แล้วจิตนั้นจะต้องบริสุทธิ์จากการรบกวนของกิเลส จิตนั้นจะมีอารมณ์เดียวเป็นเอกัคคตา อารมณ์เดียวๆ ตั้งมั่น และจิตนั้นจะต้องเป็น กมฺมนีย กมฺมนีย(นาทีที่ ๕๗.๕๖-๕๗.๕๘) พร้อม พร้อมที่จะทำหน้าที่ของมัน ปริสุทโธ บริสุทธิ์ สมาหิโต ตั้งมั่น กัมมนีโย ควรแก่การงาน ใช้คำว่าอ่อนโยนควรแก่การงาน จะให้ทำอะไรก็ทำได้ จิตนี้สำคัญมาก คำนี้มันตรงกับคำว่า Active Active คล่องแคล่วว่องไวในหน้าที่ ซึ่งทั้งโลกเขาต้องการมัน มันก็ต้องการร่างกายที่ Active ตรงกัน จิตที่ Active เราจะทำจิตให้ Active ได้โดยวิธีอันนี้ คือบทเรียนที่ ๓ ของหมวดจิต ทำจิตให้ตั้งมั่น จิตนี้ก็พร้อมที่จะทำอะไรที่ทำให้พัฒนาหรือจะทำอะไรก็ตามใจ แม้จะทำการทำงานอย่างบ้านๆ ลวกๆ นี่ก็ได้ จิตมันเป็น Active จะว่านักเรียนจะใช้ประโยชน์จากจิตชนิดนี้ในการเล่าเรียนก็ได้ เรียนชั้นประถมเด็กๆ ก็ได้ เรียนมหาวิทยาลัยอย่างงี้ก็ได้ถ้าจิตมันเป็น Active นี่หมวด ขั้นที่ ๔ ของหมวดนี้ก็ให้ปล่อย อภิโมชะยัง ปล่อย ทำจิตให้ปล่อย ปล่อยสิ่งที่จิตยึดมั่นถือมั่นอยู่ว่าเป็นตัวตน ปล่อยจิตจากอารมณ์หรือปล่อยอารมณ์จากจิตมันก็มีความหมายอย่างเดียวกัน จิตกำลังมีอารมณ์เกาะเกี่ยวอะไรอยู่ สลัดออกไป เรียกว่าปล่อยก็คือความยึดมั่นถือมั่นนั่นนี่ว่าตัวตนว่าของตนนั้นเห็นความหมายที่สำคัญ เรามีอำนาจเหนือจิตมาถึงนี้แล้วก็สลัด ให้จิตสลัดสิ่งที่กำลังปล่อยยึดมั่นถือมั่นว่า ออกมาเป็นจิตเกลี้ยง เป็นจิตเกลี้ยง หมวดจิตนี้มีอยู่ ๔ ขั้นเหมือน ๆ กัน รู้จักจิตทุกชนิดทุกลักษณะและก็รู้จักทำจิตให้บันเทิง และก็รู้จักทำจิตให้ตั้งมั่น และก็รู้จักทำจิตให้ปล่อย จบหมวดจิต เมื่อเรากำลังปฏิบัติขั้นไหนอยู่ก็ให้มันมีความรู้สึกอย่างนั้น หายใจเข้าออกอยู่ เวลาไม่ต้องพูดถึง และมันจะกินเวลากี่วันกี่สัปดาห์กี่เดือนก็ตามใจ มันต้องทำจนได้น่ะ มันไม่สำเร็จได้ด้วยการพูดให้ฟังอย่างนี้ มันต้องไปทำ ต้องไปทำ นี่กินเวลาเท่าไรก็บอกไม่ได้
เอาละทีนี้ก็มาถึงหมวดสุดท้าย ธัมมานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนาก็ ๔ สี่บทเรียนอีกเหมือนกัน ๔ หมวด หมวดละ ๑๐ บท ก็มาถึงขั้นที่ ๑๓, ๑๔, ๑๕, ๑๖ นั้น แต่ว่าเป็นขั้นที่ ๑ ของหมวดที่ ๔ อนิจจานุปัสสี อันนี้สำคัญที่สุด สำคัญที่สุดของทั้งหมดเลย จุดตั้งต้นของการบรรลุญาณน่ะ มันก็ตั้งต้นที่จุดนี้ คือเห็นอนิจจัง ได้บอกแล้วตั้งต้นว่าพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ปรัชญา ไม่ใช้สมมติฐาน ไม่ใช้สิ่งที่สมมุติตั้งขึ้น ก็ต้องใช้ของจริง เดี๋ยวนี้ต้องเอาของจริงมาเป็นวัตถุสำหรับการเห็นอนิจจัง ดังนั้นจะต้องย้อนกลับไปต้น ขั้นแรกลมหายใจยาว เห็นอนิจจังของการหายใจของลมหายใจ เห็นอนิจจังของความยาว เห็นอนิจจังของผลที่เกิดมาจากลมหายใจยาว ย้อนกลับไปทบ เอาเรื่องลมหายใจยาวมาเห็นอนิจจัง มาดูอนิจจัง ดูแล้วเห็น แล้วก็ลมหายใจสั้นด้วยเรื่องของลมหายใจสั้น ลักษณะอารมณ์อิทธิพลอะไรของลมหายใจสั้น มาดูอนิจจังๆๆ ในความเห็นแจ้งน่ะไม่ใช่คำนวณ ไม่ใช่อนิจจังคำนวณในห้องเรียน และก็เอาความที่ว่าสองกาย กายลม กายเนื้อ แตาละกายก็อนิจจัง กายที่สัมพันธ์กันก็อนิจจัง และคราวที่ทำให้มันระงับลงไปได้นั้นก็คือยิ่งเห็นอนิจจัง เห็นอนิจจังในทุกแง่ทุกมุมของทุกขั้นแห่งหมวดที่ ๑ ทีนี้ละก็เลื่อนมาหมวดที่ ๒ เอาปีติมาเป็นอารมณ์ มองเห็นอนิจจังๆ ของปีติ ในลักษณะก็ดีในการกระทำก็ดี ในผลก็ดี ในอิทธิพลก็ดีของปีติ อนิจจังๆ และก็สุขก็เหมือนกัน อนิจจัง เวทนาปรุงแต่งจิตก็เห็นอนิจจัง ในทุกแง่อนิจจังของเวทนา อนิจจังของจิต อนิจจังของการปรุง และก็เห็นว่าเดี๋ยวนี้จิตตสังขารระงับ ก็ยิ่งเห็นอนิจจังของจิต ของสังขารที่ปรุงแต่งจิต เห็นอนิจจังแจ่มแจ้งชัดเจนทั้ง ๔ สิ่งของหมวดที่ ๒ ทีนี้พอมาถึงหมวดที่ ๓ หมวดจิตเอง จิตทุกชนิดเป็นอนิจจัง ลักษณะของจิตทุกชนิดเป็นอนิจจัง คุณสมบัติของจิตทุกชนิดเป็นอนิจจัง จิตที่บันเทิงรื่นเริงก็อนิจจัง จิตอนิจจัง ความบันเทิงก็อนิจจัง จิตที่ตั้งมั่น ตั้งมั่นจิตอนิจจัง ความตั้งมั่นก็อนิจจัง เกิดขึ้นดับไปตามเหตุตามปัจจัย คือจิตปล่อย ปล่อย จิตก็อนิจจัง การปล่อยก็อนิจจัง สิ่งถูกปล่อยก็อนิจจัง เห็นอนิจจัง นั่นเลยเห็นอนิจจังจากตัวจริงถึง ๑๒ สิ่งโดยชื่อแต่ละสิ่งละสิ่งมีแง่มุมมากมายก็เลยเห็นอนิจจังมากมายจำนวนสิบจำนวนร้อย นี่อนิจจัง อนิจจานุปัสสี เห็นในบทเรียนที่ ๑ ของหมวดที่ ๔ ถ้าเห็นอนิจจังจริงๆ แล้วมันก็จะเป็นทุกขังและอนัตตาโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่สอนในห้องเรียน อธิบายว่ามันจะเป็นไปอย่างไร เดี๋ยวนี้มันเป็นเรื่องจริง ถ้าเห็นอนิจจังจริงก็จะเห็นความเป็นทุกข์และความเป็นอนัตตา เพราะมันเป็นอนิจจังมันเปลี่ยนไปนี่ มันจึงเกิดอาการที่ทนยากเพราะมันเปลี่ยนไป มันยังทนยากเพราะมันเปลี่ยนไปเรื่อยทุกครั้ง เป็นทุกขัง ความที่มันเปลี่ยนเรื่อยและเป็นทุกข์นี้ ต่อต้านไม่ได้ ต่อต้านไม่ไหว ไม่มีสิ่งที่จะต่อต้านได้ ไม่มีตัวตนที่จะต่อต้านได้ นี่คือเห็นอนัตตา ถ้าเห็นอนิจจังก็เห็นทุกขังก็เห็นอนัตตา มันก็จะเห็นเรื่อยๆ ไปตามลำดับที่มีอยู่มาก จะเอาไปกับอะไรก็ได้ จะเห็นความเป็นธัมมัฏฐิตตา ธัมมัฏฐิตตา (นาทีที่ ๑.๐๕.๐๘-๑.๐๕.๐๙) ที่มันต้องเป็น และมันเป็นไปตามกฎของธรรมดา เป็นไปตามธรรมดา จะเห็นธัมมนิยามตา (นาทีที่ ๑.๐๕.๑๙ – ๑.๐๕.๒๐) ว่ามันมีกฎธรรมดาบังคับอยู่ มันต้องเป็นไปตามกฎของธรรมดา แล้วมันเป็นอิทัปปัจจยตา ดูสิ ไม่มีอะไร มีแต่เหตุผลปรุงแต่งกันไป เหตุผลปรุงแต่งกันไปเป็นและก็เห็นอิทัปปัจจยตา และก็จะเห็นสุญญตา โอ้, มันว่างจากตัวจนเว้ย! ว่างจากความคงทนแก่นสารสาระตัวตน เห็นสุญญตา ว่าง แล้วก็จะเห็นที่สำคัญที่สุด
ที่สำคัญที่สุดคือคำว่า ตถตา เห็นความเป็นเช่นนั้นเอง ความเป็นเช่นนั้นเองเรียกว่า ตถตา มองเห็นตถตาแล้วจะเกิดความรู้สึกที่สำคัญสูงในที่สุด ที่สุดนั่นเรียกว่า อตัมมยตา
ท่านพุทธทาส: “ขอถามว่าใครเคยได้ยินบ้าง?”
พระนิสิตรูปหนึ่ง: “อาจารย์เทศน์ครั้งก่อน”
ท่านพุทธทาส: “อ้าว! แล้วกัน หมายความว่าได้ยินในห้องเรียนหรือใน....”
พระนิสิตรูปหนึ่ง: เคยได้ยินมาใน__พงศาวดารบทแรก
นั่นแหละ ในบาลีพระไตรปิฎกน่ะยุ่งที่สุดคำนี้ เพราะมันไม่รู้มันมียุ่ง! ในบาลีบางแห่งเป็น “อกัมมยตา” ในบาลีบางแห่งเป็น “อคัมมยตา” ที่ถูกนั้นเป็น “อตัมมยตา” เข้าใจว่าผู้ชำระอักษรขอมเป็นอักษรไทยนั้นน่ะไม่รู้จริง ปล่อยให้เป็น “อกัม-” มั่ง “อคัม-” มั่ง “อตัม-” มันคงเป็นเรื่องของตัวหัว หัวตัว “ต” ไอ้โค้งๆ ครึ่งวงกลมน่ะ ถ้าไม่มีหัวมีจุดแล้วมันก็เป็น “ค” ถ้ามันมีจุดเล็กๆ มันก็เป็น “ค” ถ้าไม่มีหัวเลยมันเป็น “ก” ถ้าไม่มีหัวโตมันเป็น “ต” เนี่ยโค้งครึ่งวงกลมเกือกม้า ถ้าไม่มีหัวอะไรเลยหริจุดอะไรเลยนั่นมันเป็น “ก” ถ้ามันมีจุดเล็กๆ เป็นหัวเป็นตัวเป็น “ค” ถ้ามันมีหูใหญ่ๆ เป็น “ต” นี้การคัดลอกในใบบานเขียนด้วยมือน่ะทำให้มีอาการได้ทั้งเป็น “ก” เป็น “ค” เป็น “ต” ในพระบาลีพระไตรปิฎกฉบับช้างแดงก็มีทั้ง ๓ คำนี้ นี่แสดงว่าผู้ชำระสำรวจไม่รู้เรื่องนี้ ปล่อยไว้เลอะเทอะจนถือเป็นหลักอะไรไม่ได้ และอรรถกถาก็อธิบายคำนี้จนไม่รู้ว่าอะไร เอาใจความสำคัญที่สุดที่เป็นประโยชน์ที่สุดหลังจากเห็นว่ามัน “เช่นนั้นเอง” แล้ว มันเช่นนั้นเองแล้ว ตถตา มันจะเกิดความรู้สึกในจิตว่าไม่อาศัยมันต่อไปอีกแล้วโว้ย! กูไม่เอากับมึงต่อไปแล้วโว้ย! นี่ถ้าจะพูดเป็นคำหยาบคายจำง่ายๆ ว่า กูไม่เอากับมึงอีกต่อไปแล้วนะ ไอ้ขันธ์ทั้งหลาย สังขารทั้งหลาย เหตุปัจจัยทั้งหลายเดี๋ยวนี้เห็นมาตามลำดับแล้ว อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา (นาทีที่ ๑.๐๘.๒๐ – ๑.๐๘.๒๓) อิทัปปัจจยตา สุญญตา ตถตา เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง พอกันที อตัมมยตา ความที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งนั้น ความที่ไม่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยนั้นๆ อีกต่อไป คือมันเป็นจุดบอกเลิก บอกเลิกสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่น เมื่อเห็นความเลวร้ายของสิ่งเหล่านั้น เห็นความทุกข์อันร้ายกาจของสิ่งเหล่านั้นก็บอกเลิก จุดที่บอกเลิกเนี่ยเรียกว่า อตัมมยตา ธัมมัฏฐิติญาณ (นาทีที่ ๑.๐๘.๕๗ – ๑.๐๘.๕๘) นี่จบลงที่ตรงนี้ คือโผล่เป็นอตัมมยตาขึ้นมา ก็จะเป็นฝ่ายนิพพานญาณนะทีนี้ ต่อไปนี้จะเป็นนิพพิทา วิราคะ วิมุติ (นาทีที่ ๑.๐๙.๐๕ – ๑.๐๙.๐๗) อะไรไปเลย เป็นนิพพานไปเลย อนิจจตาคำเดียว อนิจจานุปัสสี คำเดียว มันอมความเหล่านี้ทั้งหมดไว้ ถ้าไม่รู้ก็ไม่รู้ ถ้ารู้ก็รู้ อนิจจานุปัสสีคำเดียวเท่านั้นน่ะมันอมไอ้การเห็นทุกขตา อนัตตา ธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา อิทัปปัจจยตา สุญญตา ตถตา ไปหมด จนกระทั่งเกิด อตัมมยตา เรียกว่าเป็นจุดเปลี่ยน! จุดเปลี่ยนจากโลกียะไปสู่โลกุตระ ที่อื่นเขาจะเรียกชื่ออย่างอื่นก็ตามใจ แต่ถ้าในพระบาลีเท่าที่สำรวจพบมามันมีคำว่า “อตัมมยตา” คำนี้สำคัญที่สุด คือที่จะละจากโลกียะไปสู่โลกุตระ หลักใหญ่ๆ มันก็ว่า “ละกามเสียด้วยนานัตตอุเบกขาของรูปฌาน แล้วก็ละนานัตตอุเบกขานั้นเสียด้วยเอกัตตอุเบกขานั้นด้วยอรูปฌาน และก็ละเอกัตตอุเบกขานั้นเสียได้ด้วยอตัมมยตา” พูดง่ายๆ จำง่ายๆ จดง่ายๆ ก็ว่า “ละกามเสียด้วยรูปฌานด้วยอำนาจของรูปฌาน และก็ละรูปฌานเสียด้วยอรูปฌาน และก็ละอรูปฌานเสียด้วยอตัมมยตา” นี่ มันจบไอ้เรื่องบ้ายุ่งเรื่องปรุงแต่งนั้นหมดนี่เลอะเลย หมดกันที พออตัมมยตาก็เปลี่ยนขึ้นฟากนู้น ฟากฝ่ายโลกุตระ มีคำว่าอนิจจานุปัสสีคำเดียวเท่านั้นน่ะมันอมความหมายไว้มหาศาลอย่างนี้ ทีนี้ไม่มีปัญหาแล้ว ขั้นที่ ๒ ก็ วิราคานุปัสสี เห็นความจางคลายแห่งอุปาทานน่ะ มันก็มาถึง อนิจจา อนิจจาสูงสุดจนถึงอตัมมยตาสูงสุดแล้วมันก็เป็นวิราคา เห็นวิราคาคือความจางคลาย ความอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น หายใจเข้าออกอยู่เดี๋ยวก็เปลี่ยนเป็นนิโรธา ดับไฟแห่งอุปาทานน่ะ เท่าไหร่ก็ตามใจแต่ว่าดับลงแล้วทีนี้ กิริยาดับเรียกว่า นิโรธานุปัสสี ดับหมดก็เป็นนิพพาน เป็นพระอรหันต์นะ ถ้าดับไม่หมดก็เป็นโสดา สกิทากาอะไรก็ตามใจ ทีนี้ อันสุดท้าย ปัฏนิสสัคคานุปัสสี (นาทีที่ ๑.๑๑.๕๓ – ๑.๑๑.๕๗) เห็นความสลัดคืน สลัดคืน จบเรื่องสลัดคืนอุปาทานทั้งหมดแล้ว นี่เป็นขั้นที่ ๑๖ ครบ ๑๖ ขั้นนี้แล้วสติปัฏฐาน ๔ สมบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ สมบูรณ์แล้วโพชฌงค์สมบูรณ์ โพชฌงค์สมบูรณ์แล้ววิชชาและวิมุติสมบูรณ์ จบเรื่อง! เห็นมั้ยมันเกิน! เกินกว่าการบังคับจิตซะแล้ว เราพูดกันเมื่อตะกี้ ต้องการเพียงดับจิตให้ควบคุมความฉลาด ทีนี้มันหมดเกิน มันเกินไปถึงนิพพาน ไม่เป็นไร! ในส่วนเกินก็เก็บไว้ เอาแต่ส่วนที่ต้องการบังคับจิตได้ บังคับความฉลาดได้ ทำอานาปานสติได้ก็คือจะบังคับจิตได้ จะบังคับความฉลาดได้ อย่าให้ตกเป็นในฝ่ายที่ว่า ฉลาด ไม่รู้จักขอบเขตจนตามใจตัว เห็นแก่ตัว เกิดความทุกข์ยุ่งยากไปหมด บังคับจิตได้ก็คือบังคับความฉลาดได้ ขอให้ใช้เครื่องมือสูงสุดคืออานาปานสติสมบูรณ์แบบเป็น ๑๖ ขั้น ถ้าจะลัด ลัดก็คือว่าลงมืออนิจจังเลย อนิจจานุปัสสีเลย เห็นอนิจจา เห็นอนิจจังของทุกสิ่งของลมหายใจยาว ลมหายใจสั้นไปตามลำดับก็ได้โดยไม่ ไม่ยกขึ้นมาเป็นบทฝึกหัด ให้กำหนดอนิจจังของลมหายใจยาว ลมหายใจสั้นของกายทั้งปวง ของเหตุแห่งการระงับแก่กัน จะสังขารก็ได้เหมือนกัน แต่ว่าจะเอาอนิจจังโดยการคำนวณนะไม่ได้ ของสิ่งที่อยู่ข้างนอกและคำนวณออกมานั้นไม่ได้ ก็ให้มีสิ่งนั้นเข้ามาปรากฏอยู่ในความรู้สึกชัดแจ๋วอยู่ ก็เห็นอนิจจังของมันก็ได้ อนิจจังของอะไรเป็นอะไรที่มันเข้ามาอยู่ในใจ นี่ลัดสั้น ระบบลัดสั้นก็กำหนดอนิจจังและก็จะเกิดอาการเป็นลำดับไปเป็นวิราคา นิโรธา ปัฏินิสสัคคา (นาทีที่ ๑.๑๓.๕๕ – ๑.๑๓.๕๗)
นี่ขอให้จำข้อความเหล่านี้แล้วไปเทียบดูในมหาสติปัฏฐานน่ะมีคำอธิบายอย่างนี้มั้ย? มหาสติปัฏฐานที่ยาวเฟื้อยอ่าน ๒ ชั่วโมงไม่จบ มันมีคำอธิบายเหล่านี้มั้ย มันไม่มี มันมีแต่รายชื่อว่ากายา (นาทีที่ ๑.๑๔.๒๙ – ๑.๑๔.๓๐) หมวดนั้นๆ หมวดนี้ หมวดธรรมญัติ (นาทีที่ ๑.๑๔.๓๒ – ๑.๑๔.๓๓) แปลว่าไอ้ทั้งหมดนี้คือไม่มีว่าทำอย่างไร จัดการอย่างไร เราจึงไม่ๆๆ ไม่เล่นด้วย คือมันปฏิบัติไม่ถูก ปฏิบัติไม่ได้ ใช้ไม่ได้ อานาปานสติสูตร มันมีอยู่อย่างนี้ ๑๖ ขั้นชัดๆ อยู่อย่างนี้ ในคำอธิบายที่เป็นเค้าเงื่อนอาศัยได้ก็มีอยู่ในปฏิสัมภิทามรรค (นาทีที่ ๑.๑๔.๕๑ – ๑.๑๔.๕๓) พระไตรปิฎกอีกเล่มหนึ่ง ซึ่งถือกันว่าไม่ใช่พุทธภาษิต เป็นคำของพระสารีบุตรอะไรก็ตาม ปฏิสัมภิทามรรค น่ะคำอธิบายมี ดีมาก เห็นว่าวันนี้เราพูดถึงอานาปานสติ เพื่อประโยชน์แก่การที่จะบังคับจิตได้ ไม่ใช่ควบคุมความฉลาดได้ ถ้าใครบังคับจิตไม่ได้ก็จงฝึกอานาปานสติ จะควบคุมจิตได้ บังคับจิตได้ ในการศึกษาเล่าเรียนก็ดี ในการทำการงานก็ดี ในการจะทำอะไรต่อไปก็ดี แต่ว่าเราตั้งเป้าหมายไว้ว่าเราจะควบคุมความฉลาดของเราที่ระดับเพิ่มขึ้นทุกวันๆ ในการศึกษาเล่าเรียน อย่าให้ความฉลาดนั้นจูงจมูกเราออกไปหาความเห็นแก่ตัวด้วยเรื่องของกิเลสทั้งนั้น
วัตถุประสงค์ของคำอธิบาย “อานาปานสติ” ก็เพื่อควบคุมความฉลาด เป็นคำอธิบายที่เนื่องกันมากับการบรรยายครั้งที่ ๑ ที่แล้วมา และเป็นอันว่าพอสำหรับการบรรยายวันนี้ เครื่องมือที่จะควบคุมความฉลาดอยู่ในโลกที่ฉลาดกันยิ่งขึ้นทุกที ถ้าไม่ควบคุมความฉลาดก็พาไปสู่ความเห็นแก่ตัว นับว่าเป็นทุกข์กันหมดเลย ขอให้จำให้ดี ๑๖ ขั้นเป็นอย่างไร ๔ หมวดเป็นอย่างไร แล้วก็ศึกษาให้เข้าใจและปฏิบัติเรื่อยไปเถอะ มันจะเข้าใจยิ่งขึ้นในรูปแบบของวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่รูปแบบของ Philosophy หรือ Logic หรืออะไรอื่นที่มัน มันใช้ไม่ได้ มันดับทุกข์ไม่ได้ ถ้าในรูปแบบของวิทยาศาสตร์เท่านั้นน่ะที่จะดับทุกข์ได้ อริยสัจ ๔ เป็นวิทยาศาสตร์ ปฏิจจสมุปบาทเป็นวิทยาศาสตร์ อานาปานสติเป็นการปฏิบัติงานในห้องวิทยาศาสตร์ ขอได้สนใจถึงที่สุด เข้าใจแล้วปฏิบัติอยู่เรื่อยๆ ไป ผมขอยืนยันว่าจิตตภาวนาแบบนี้เท่านั้นที่จะช่วยได้ ตรงตามพระพุทธประสงค์ที่ทรงยืนยันว่าบรรลุเองและก็แนะนำไว้ จิตตภาวนาแบบสวนโมกข์คือแบบอานาปานสติที่พระพุทธเจ้าท่านได้ทรงแนะนำไว้ แต่ไม่ไปยกตนข่มท่านไว้ว่าอะไรดีกว่าแบบไหนไม่ต้องพูดอันนั้น บอกแต่ว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำไว้ และเราก็พอใจ แบบไหน ๆ มันก็มีผลตามสมควรนั่นแหละ มันจะไม่ ๆ สำเร็จถึงที่สุด แต่ถ้าเอากันพอว่าเป็นสมาธิบ้างก็ได้กันทุกแบบ ได้ด้วยกันทุกแบบ แบบนอก แบบใน แบบอะไรก็ตาม เพราะมันเป็นเรื่องบังคับจิต ควบคุมจิตโดยวิธีต่างๆกัน มันก็ได้สมาธิบ้างแต่มันจะไม่ได้ปัญญา! จนถึงกับว่าตัดกิเลสอาสวะได้เท่านั้นเอง ต้องถือว่ามีประโยชน์ด้วยกันทุกแบบ มีแต่ว่าแบบไหนจะไปถึงจุดหมายปลายทางหรือไม่ ผมพอใจในแบบนี้ ยึดถือแบบนี้เป็นหลักตลอดเวลาตั้งแต่ต้นมาจนถึงบัดนี้
เอาแล้ว ขอยุติการบรรยายสำหรับวันนี้ ๒๑ นาฬิกาพอดี ขอยุติการบรรยายวันนี้ไว้เพียงเท่านี้.