แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
แม้การพูดในวันนี้ ก็ยังคงพูดถึงเรื่องที่ทำให้เข้าใจว่าพุทธศาสนาคืออะไรอีกต่อไป เพราะมันมีอีกหลายระดับ หลายแง่ หลายมุม ในครั้งที่แล้วมาพูดโดยใจความสำคัญว่า พุทธศาสนาสอนเรื่องไม่มีตัว ไม่ให้เกิด ไม่อาจจะเกิดความเห็นแก่ตัว มันก็ระงับปัญหาต่างๆ ในโลกได้ ปัญหาทั้งหมดในโลกทุกชนิดทุกระดับทุกหนทุกแห่งที่เกิดมาจากความเห็นแก่ตัว นับตั้งแต่ปัญหาของบุคคลแต่ละคน ปัญหาในครอบครัว ในสังคม ในประเทศชาติ กระทั่งระดับโลก ที่โลกจะวินาศนี่ก็มีมูลมาจากความเห็นแก่ตัว พุทธศาสนา คือศาสนาที่จะสอนให้เห็นความไม่มีตัว และก็ไม่เห็นแก่ตัว ปัญหามันก็หมด ศาสนาอื่นหลายศาสนาเค้าสอนว่ามีตัว ดังนั้นเค้าก็ต้องสอนชนิดที่ไม่เห็นแก่ตัวก็ลำบากหน่อย สอนเรื่องไม่มีตัว ถ้าไม่มีตัวแล้วก็ไม่มีความเห็นแก่ตัวโดยอัตโนมัติ ดังนั้นเราจึงรู้จักพุทธศาสนาไว้ในแง่หนึ่งก่อน แง่มุมหนึ่งก่อนว่าสอนเรื่องความไม่มีตัว ไม่ให้เกิดความเห็นแก่ตัว มันเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุดสำหรับมนุษย์ ทีนี้มาดูถึงข้อที่ว่าภายในพุทธศาสนาโดยหลักวิชามันมีอะไรและมันคืออะไร นี่ก็เป็นหลักทั่วไปที่รู้กันอยู่ เรียนกันอยู่ สอนกันอยู่ แต่ว่าบางคนอาจจะยังไม่ทราบก็ควรจะทราบ คือ ภายในกรอบวงของการศึกษา ในทางหลักวิชาพุทธศาสนา ก็คือเรื่อง การเรียนรู้ ที่เรียกว่า ปริยัติ การกระทำตามที่เรียนรู้ เรียกว่า ปฏิบัติ แล้วก็ได้รับผลจากการปฏิบัติ เรียกว่า ปฏิเวธ มันก็มีคำจำกัดความอยู่แล้ว ซึ่งเราก็ไม่ต้องไปหาคำใหม่ เป็นทีแรกก็ยังไม่เคยชินเพราะเป็นคำบาลีแต่ใช้ไปจนชินดีกว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ผู้เข้ามาใหม่ก็ควรจะรู้จักคำและใช้ให้มันคุ้นเคย เป็นคำธรรมดาไปเสียว่าปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปริยัติ คือเรียนในส่วนวิชา ปฏิบัติ ก็คือกระทำลงไปจริงๆ ปฏิเวธ ก็คือ ผลอยู่ในรูปประจักษ์ คือเห็นประจักษ์ว่าผลนั้นเป็นอย่างไร จนกว่าจะได้รับผลเราจึงจะรู้จักว่าสิ่งนั้นเป็นอะไรถึงที่สุดโดยแท้จริง ดังนั้นเอาปฏิเวธไว้หลัง เป็นการรู้แจ้งแทงตลอดว่าสิ่งนั้นคือผลของมัน ทุกคนก็พอจะมองเห็นได้เองว่ามันเป็นหลักธรรมชาติที่จะเป็นหลักวิทยาศาสตร์ของธรรมชาติ ที่ต้องมีการเรียนให้รู้ และปฏิบัติในส่วนที่ควรปฏิบัติ และได้รับผลโดยสมควรแก่การปฏิบัติ คิดดูสิ อะไรที่มันจะเป็นเช่นนี้ มันต้องเป็นเช่นนี้ มันไม่มีอะไรที่จะไม่เป็นเช่นนี้ แม้ไม่ใช่เรื่องทางศาสนา อาจเป็นเรื่องทางโลกๆ ทางทำมาหากิน หรือ อะไรก็ตามมันก็ต้องรู้ มันก็ต้องทำ ทำแล้วก็ได้ผล แม้แต่จะทำนา มันก็ต้องรู้เรื่องเกี่ยวกับการทำนา ต้องรู้ รู้โดยวิธีใดก็ตามต้องรู้ พอรู้แล้วก็ทำ ทำ ทำ ทำแล้วก็ได้ผลออกมาเป็นข้าวเปลือก อะไรก็ตามแขนงอื่น ศิลปะ หรือ อะไรก็ สุดท้ายมันต้องรู้ ต้องทำ มันก็จะได้ผลออกมา นี่เป็นหลักทั่วไปในทางศาสนา มันรู้กันไปถึงเรื่องทางจิตใจ มันก็ไม่อาจจะทิ้งหลักอันนี้ มันจึงจะใช้หลักอันนี้ และก็จะใช้อยู่อย่างเป็นหลัก เป็นหลักฐาน จึงเกิดคำ ๓ คำนี้ขึ้นมา ปรากฏชัดอยู่ในพระบาลี พระคำภีร์ ว่าปริยัติ ว่าปฏิบัติ ว่าปฏิเวธ พระพุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นปริยัติ ก็คือเรียนให้รู้ อย่างที่เรากำลังพูดกันอยู่นี่ เป็นส่วนปริยัติ จะเรียนก็รู้จะเรียนก็ได้ จะหาหนังสือมาอ่านก็ได้อะไรก็ตามซึ่งทำให้มันมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ แล้วเราก็ปฏิบัติส่วนที่ควรจะปฏิบัติ ให้เห็นว่ามันจะดับทุกข์ได้ก็ปฏิบัติ แล้วก็ดับทุกข์ได้ก็ชัดเจนเป็นความรู้ที่พิสูจน์ว่ามันจริงอย่างนั้น เพื่อให้ทราบกันไว้ว่ามันหลีกไม่พ้น มันหลีกไม่พ้นที่จะต้องเป็นไปตามนี้ แม้ไม่ใช่ชั้นสูงที่จะบรรลุมรรคผล มันก็ยังต้องเป็นอย่างนี้ เป็นชาวบ้านที่อยู่อย่างบ้านๆ มันก็ต้องอย่างนี้ ก็ต้องเรียน ก็ต้องปฏิบัติ และได้รับผลของการปฏิบัติ
และในทีนี้ก็มาพูดกันทีละอย่าง อย่างปริยัติ หลักวิชาเรียนรู้ รู้อะไร รู้อะไร ตอบกำปั้นทุบดิน รู้สิ่งที่ควรจะรู้ ในบาลีก็ใช้คำอย่างนี้เหมือนกันนะ เหมือนกับเอาเปรียบแต่ไม่ใช่เรื่องเอาเปรียบ มันเรื่องจำเป็นที่ต้องพูด รู้เรื่องที่ควรจะรู้ รู้ให้มาก และรู้ให้หมด เรื่องที่ควรจะรู้ พระพุทธเจ้าท่านก็รู้ หรือตรัสรู้ รู้หมดถึง เรื่องที่ควรจะรู้ ไม่ต้องรู้ไปถึงเรื่องจริงไม่จำเป็นจะต้องรู้ คำว่าสัพพัญญู สัพพัญญู รู้ทุกอย่างนี่ก็ทุกอย่างที่ควรรู้ที่มีประโยชน์ พระพุทธเจ้าไม่จำเป็นจะต้องรู้เรื่องขับรถยนต์ หรือรู้ภาษาจีนอะไรไม่ต้องมันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องที่ควรรู้ หรือต้องรู้ ก็เป็นอันว่าเรื่องที่ควรรู้ ถ้าถามว่าอย่างไรเรียกว่าควรรู้ ก็คือ มันดับทุกข์ได้ ที่มันดับทุกข์ได้ ดับทุกข์ที่มนุษย์มี มีอยู่ ความทุกข์ที่มนุษย์มีอยู่ ดับทุกข์อันนั้นได้นั่นแหละเรื่องที่ควรรู้ ทีนี้ก็จะมองมาถึงเรื่องวิชาการต่างๆ ว่าควรจะรู้ไหม อันนั้นมันเรื่องนอกออกไป แต่คนธรรมดาก็ต้องการจะทำมาหากิน ก็เรียน แต่ถ้าเกี่ยวกับพุทธศาสนา พุทธศาสนาเรื่องที่ควรจะรู้ มันก็คือเรื่องที่จะดับทุกข์ได้ เรื่องวิชาความรู้อื่นๆมันก็เป็นเรื่องนอกพุทธศาสนาออกไปก็ตามใจ คนอยากจะเรียนหรือจำเป็นต้องเรียนเขาก็เรียน แต่เดี๋ยวนี้เรื่องที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาก็คือเรื่องที่จำเป็นสำหรับจะดับทุกข์ ที่จะดับทุกได้ของมนุษย์ มันจะมีปัญหาว่ามนุษย์มีความทุกข์ เพราะถ้าไม่มีความทุกข์ มันก็ไม่จำเป็นจะต้องมาเกี่ยวข้องอะไรกัน ถ้ามนุษย์ไม่มีความทุกข์ก็ไม่ต้องมีศาสนา ไม่ต้องมีพุทธศาสนา แต่เดี๋ยวนี้มันมีปัญหา คือ มีความทุกข์ อะไรจะดับทุกข์ได้ อันนั้นก็จะต้องเอามาศึกษาเล่าเรียน มันจึงเกิดเป็นระบบขึ้นมา จนกระทั่งเป็นสถาบันขึ้นมา สำหรับจะเรียนให้มันถึงที่สุด เกี่ยวกับเรื่องการดับทุกข์ และต่อไปก็เป็นเรื่องปฏิบัติ เป็นเรื่องปฏิเวธ
ทีนี้ก็พูดเรื่องเฉพาะปริยัติ ปริยัติมันก็มีมากมาย อย่างว่าพระไตรปิฎกนี่มันก็มากมายมหาสาร แต่ก็เอาเท่าที่จำเป็น ที่จะดับทุกข์ได้ แล้วมันก็มีเรียกว่าเรื่องเดียว เรื่องดับทุกข์ได้ พระพุทธเจ้าท่าน บอกภิกษุให้เข้าใจเรื่องนี้ โดยท่านหยิบใบไม้ขึ้นมากำมือหนึ่ง แล้วก็ถามว่าใบไม้กำมือหนึ่งนี้กับใบไม้ทั้งป่าน่ะมันมากกว่ากันกี่มากน้อย พระภิกษุก็รู้ได้เองว่ามันมากเหลือประมาณ เหลือที่จะเทียบกันได้ พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสว่า ที่ตรัสรู้ ที่รู้กันเท่ากับใบไม้ทั้งป่า แต่ที่เอามาสอนนี่คือใบไม้กำมือเดียว เทียบส่วนแล้วเท่ากับใบไม้กำมือเดียว แล้วสอนเรื่องอะไร ท่านก็ตอบว่า ก่อนนี้ก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี เราสอนเรื่องทุกข์ กับดับไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้นเอง นั่นเท่ากับใบไม้กำมือเดียว ส่วนเรื่องที่มันไม่เกี่ยวกับทุกข์ หรือการดับทุกข์ เราไม่ต้องสอน แม้อาจจะพูดก็ไม่ได้ตั้งใจจะสอน เพราะมันมากมายและสอนกันอยู่ทั่วๆไป ทีนี้มันก็ยังมีต่อเนื่องกันไปอีกหน่อยว่าเรียนที่ไหน เรียนที่ไหน ใบไม้กำมือเดียวเรียนที่ไหน ท่านก็ตรัสว่าในร่างกายที่ยาววาหนึ่งนี่ ยาวประมาณวาหนึ่ง ไม่มีคำว่าหนาคืบในบาลีมีคำว่ายาววา อันที่ยังเป็นๆยังไม่ตายนั่นแหละ มีเรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ และเรื่องทางให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ คือเรื่องอริยสัจ๔ หาดู หาดู เรื่องความทุกข์ ก็ปัญหาของเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ ต้นเหตุ หรือรากเหง้าของปัญหา หรือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ก็คือดับต้นเหตุ แล้วก็ทางปฏิบัติที่ทำให้ดับต้นเหตุนั้นได้ ก็คือเรื่องที่เรียกว่าอริยสัจ๔ ถ้าคุณสังเกตใคร่ครวญดูให้ดี โอ้ มันเป็นวิทยาศาสตร์ พูดอย่างกฏเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ ทางโลจิกอะไรที่สมบูรณ์ที่สุด มีความทุกข์ มีเหตุให้เกิดความทุกข์ มีความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ มีทางปฏิบัติดับไม่เหลือแห่งทุกข์ มันครบถ้วน มันไม่ขัดไม่ขวาง มันไม่เกะกะ ไม่ขัดขวางมันครบถ้วนมันสมบูรณ์ มันสัมพันธ์กัน
นี่เรื่องอริยสัจ๔ เข้าใจไว้แต่ต้นว่ามันมีอย่างนี้ เราเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ คือเรื่องปริยัติ ให้รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้ ว่า ปริยัติ ผมได้หาคำพูดอีกชุดหนึ่งเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายเหมือนกัน ให้มันกว้างออกไปด้วยว่า ธรรมะ ธรรมะ มี ๔ ความหมาย ธรรมะคือ ธรรมชาติ ธรรมะคือ กฎของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ตามกฏของธรรมชาติ ธรรมะ คือผลของการปฏิบัติหน้าที่ นี่เรียน๔ เรื่องนี้ก็ได้ มันครบเหมือนกันแหละ เรื่องธรรมชาติทั้งหลาย เรื่องกฏของธรรมชาติ เรื่องหน้าที่ที่จะต้องทำตามกฏของธรรมชาติ แล้วเรื่องผลที่จะได้รับ นี่ก็ควรจะทราบอย่างยิ่งเพราะมันเป็นเรื่องที่ใช้อยู่ในบาลีคือคำว่า ธรรมะ ธรรมะในภาษาบาลีนั้นก็แปลว่า ธรรมชาติ ไม่ใช่แปลว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเดียวหรอก ธรรมะคือ ธรรมชาติ ดีก็เรียกว่า ธรรมชาติ ชั่วก็เรียกว่า ธรรมชาติ ไม่ดีไม่ชั่วก็เรียกว่า ธรรมชาติ เพราะธรรมชาตินี่ ถ้าเคยเรียนวิทยาศาสตร์กันมาบ้างแล้ว มันก็รู้ว่าคืออะไร หากแต่ว่าในทางธรรมะ ทางพุทธศาสนายังมากกว่านั้น ธรรมชาติที่สอนกันในโรงเรียนในมหาวิทยาลัย ก็หมายถึง ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ให้จำกัดไว้ที่มนุษย์ยังไม่เข้าไปแตะต้อง เกี่ยวข้อง เรียกว่าธรรมชาติ แต่ในทางธรรมะทางพุทธศาสนา ไม่อย่างนั้นหรอก กว้างกว่านั้น ที่มันมีอยู่ตามธรรมชาตินะเรียกว่า ธรรมชาติ แม้ตัวคนนี้ก็เป็นธรรมชาติ เนื้อหนังร่างกายของคนนี่ก็เป็นธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ ตัวคน หรือนอกตัวคน หรือว่าเป็นสัตว์ เป็นต้นไม้ เป็นแยกออกไปเป็นดิน น้ำ ไฟ เป็นลม เป็นอากาศ เป็นอะไรก็เป็นเรื่องของจิตใจก็เรียกธรรมชาติ เป็นเรื่องของวัตถุก็เรียกธรรมชาติ เป็นเรื่องของร่างกายก็เรียกธรรมชาติ ทั้งเนื้อทั้งตัวเป็นธรรมชาติในภายในเรา ภายนอกตัวเราทั้งหมด ทั้งโลกทั้งจักรวารมันก็เป็นธรรมชาติ เรียกว่าธรรมชาติแล้วมันจะไปทะลุทั้งหมดนั้นนะ เรื่องธรรมชาตินี่มันเป็นปัญหากับเราก็แล้วกัน คือเนื้อตัวของเราหรือว่าเนื้อตัวของผู้อื่นที่มันต้องเกี่ยวข้องกัน หรือสิ่งที่มันต้องเกี่ยวข้องกัน รู้ไว้เสีย
ทีนี้ ในธรรมชาตินั้นๆ มีสิ่งหนึ่งสิงสถิต อยู่ คือ กฎของธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ ก็มีอยู่ที่ตัวของธรรมชาติ มองให้เห็น ที่ไหนมีธรรมชาติที่นั่นก็มีกฎของธรรมชาติสิงอยู่ ควบคุมอยู่ บังคับอยู่ ร่างกายนี่เป็นธรรมชาติ และร่างกายนี้ต้องเป็นไปตามกฏของธรรมชาติไม่อย่างนั้นมันตาย มันต้องเป็นไปตามอย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาติสำหรับจะรอดอยู่ได้ นอกตัวเราก็เหมือนกัน สัตว์เดรัจฉาน ต้นไม้ ต้นไร่หรือสิ่งต่างๆบรรดาสิ่งมีชีวิตก็ต้องเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ก็มีกฎของธรรมชาติบังคับอยู่ มันจึงเกิดอันที่สาม คือหน้าที่ หน้าที่ หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฏของธรรมชาติ นี่ความหมายที่สาม เราจะต้องกินอาหาร เราจะต้องบริหารร่างกาย เราจะต้องทำอะไรทุกอย่างให้ชีวิตมันจะรอดอยู่นั่นคือหน้าที่ บริหารส่วนตัวก็เป็นหน้าที่ สังคมกับผู้อื่นก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องรวมกันทั้งหมดให้ถูกต้อง ให้ถูกต้องก็เป็นหน้าที่ ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหน้าที่มันก็คือตาย หรือว่าเป็นทุกข์เจียนตาย ไม่มีความผาสุกเลย เมื่อปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามกฏของธรรมชาติ แล้วผลก็ออกมาคือ ความรอด การอยู่ได้โดยสงบสุข นี่ก็เป็นเรื่องที่ควรจะรู้ ในฐานะที่มันเหมือนกับปริยัติ ปริยัติ คือสิ่งที่ต้องเรียนรู้ โดยในรายละเอียดอย่างอื่นก็ยังมีอีก เช่นเรื่องอิทัปปัจจยตา สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามธรรมชาติอย่างไร ไปศึกษาอิทัปปัจจยตารายละเอียดเอาเองได้ มันเกิดอายตนะนอกใน การเกิดวิญญาณ ตามประการเรียกว่าผัสสะ เกิดเวทนา ตัณหา อุปาทานเหมือนที่พูดไว้เมื่อคืน นั่นก็เป็นเรื่องของธรรมชาติที่จะต้องรู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น คือความทุกข์มันจะเกิดขึ้นมาด้วยอาการอย่างนั้น แล้วความทุกข์มันจะดับลงไปด้วยอาการอย่างนั้น เรื่องอะไรที่มันเกี่ยวกับทุกข์ เกี่ยวกับการดับทุกข์มันเป็นเรื่องต้องรู้ ต้องเอามาเรียนให้รู้ในฐานะเป็น ปริยัติ ปริยัติต้องเรียนให้รู้ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเรียนอันที่ควรจะเรียน เรียนแต่เพ้อเจ้อเรื่องสนุกสนานเต็มไปหมด เรื่องปริยัติก็เลยไม่ค่อยจะรู้ ปรับปรุงกันเสียใหม่ให้เรียนเรื่องที่ควรจะรู้ ปริยัติควรจะเรียนรู้ ควรจะรู้ มันรู้ไปจนถึงว่าเหตุให้เกิดทุกข์คืออะไร ปฏิบัติอย่างไรจึงจะดับทุกข์ได้ เดี๋ยวนี้ยังไม่ได้ปฏิบัตินะ แต่ต้องเรียนให้รู้ว่าปฏิบัติอย่างไรจึงจะดับทุกข์ได้ ที่เราเรียนเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญานั่นแหละ ยังไม่ปฏิบัติ มันก็เป็นปริยัตินั่นแหละ คือความรู้เรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ถ้าพอเอามาปฏิบัติ ก็เป็นปฏิบัติ ศีล ปฏิบัติสมาธิ ปฏิบัติปัญญา ในตัวของศีล สมาธิ ปัญญา เป็นตัวปฏิบัติ แต่ความรู้เรื่องนี้ก็เป็นปริยัติ อย่าให้มันปนกันยุ่ง แยกให้ชัด ถ้ามันเป็นความรู้ก็เรียกว่าปริยัติ ถ้ามันเป็นปฏิบัติก็เรียกว่าปฏิบัติ มันชื่อเดียวกันก็ได้เรื่องเดียวกันก็ได้ ถ้าเรามีความรู้เรื่องการทำนาก็อีกอย่างหนึ่ง กับการทำนาจริงๆมันก็อีกอย่างหนึ่ง เรียกทำนาเหมือนกันนะ การทำนาในแง่ของความรู้ การทำนาในแง่ของการทำจริงๆ การทำนาในแง่การได้ผลออกมา ชื่อมันอย่างเดียวกัน แต่ขั้นตอนนะเกี่ยวกับชื่อนั้นๆมันไม่ได้อย่างเดียว มันเป็นลำดับไป เรียนรู้ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับความทุกข์ ดับทุกข์ เรียกว่าปริยัติหมด ในพระไตรปิฎกทั้งหมดก็พูดเรื่องนี้ เรื่องทุกข์และดับทุกข์ เรื่องอื่นไม่ต้อง
เอ้า ที่นี้ก็ดูสิว่ามันมี เรื่องแรกคือปริยัติ คือ สิ่งที่ต้องรู้ แล้วพอมาถึงเรื่องที่สองก็คือปฏิบัติ เรื่องปริยัตินั่นจะแบ่งอย่างไรก็ได้ แบ่งตามพระคัมภีร์ก็ว่าพระวินัย พระสุตตันตะ พระอภิธรรมอย่างนี้ก็มี หรือจะแบ่งเป็นนิกาย เป็นทีฆนิกาย มัชฌิมานิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย ขุททกนิกายอย่างนี้ก็มี ก่อนนี้ก็แบ่งอย่างนั้น ต่อมาแบ่งเป็นพระไตรปิฎก แปลว่า ความรู้ทั้งหมดนั่นแหละคือ ปริยัติ พอสิ้นเรื่องปริยัติก็มีปฏิบัติ โดยส่วนใหญ่ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เอาความรู้เรื่องศีลมาปฏิบัติ ศีลเอาความรู้เรื่องสมาธิมาปฏิบัติ สมาธิเอาความรู้เรื่องปัญญามาปฏิบัติ ปัญญาซึ่งก็เกิดตัวจริงของศีล สมาธิ ปัญญา ขึ้นมา ก็จำไว้อีกสามคำก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา บางทีมันก็น่าอัศจรรย์ว่า สาม สามนี่ มันใช้ได้ ปริยัติก็คือ ให้เป็นสามนั้นมันก็คือ พระวินัย พระสุตตันตะ และพระอภิธรรมก็สาม พอมาถึงปฏิบัติ ก็สาม ศีล สมาธิ ปัญญา ไปปฏิเวธก็มรรค ผล นิพพาน สามได้เหมือนกัน สาม สาม สาม เมื่อรู้จักศีล สมาธิ ปัญญาโดยหัวใจ โดยเข้าเงื่อน หาคำว่า ศีล ศีลนี่ มันแปลว่า ปกติ ปกติ แต่คนโดยมากไม่รู้มักจะเอาไปปนกับคำเดียวกับคำว่า สิกขาบท ที่จริงอันที่เราพูดกันอยู่นั่นมันไม่ถูก ที่เรียกว่าศีลห้า ไม่ถูกตามภาษาบาลี ไม่มีในภาษาบาลี มันมีสิกขาบทห้า ศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบน่ะ มันมีสิกขาบทห้า สิกขาบทแปด สิกขาบทสิบ ฉะนั้น พอปฏิบัติสิกขาบทเหล่านี้ครบแล้วมันจะมีศีลขึ้นมา คือ ความสงบ คำว่าศีล แปลว่า ความสงบ สิกขาบท คือ บทเรียนด้วยหัวข้อที่ต้องปฏิบัตินั้นเรียกว่าสิกขาบท ปาณาติปาตา อทินนาทานา นั่นตัวสิกขาบท ไม่ใช่ศีล แต่มันเรียกกันผิดๆว่าศีล มันเป็นสิกขาบทสองร้อยยี่สิบเจ็ดก็เป็นสิกขาบท แปดยี่สิบก็เป็นสิกขาบท เมื่อปฏิบัติสิกขาบทเหล่านั้นครบถ้วนแล้วมันเกิดสิ่งที่เรียกว่าศีลขึ้นมา คือภาวะปกติ ภาวะสงบ ภาวะปกติ เรียกให้ถูกก็เรียกว่า สิกขาบทสำหรับปฏิบัติ แล้วก็มีผลคือ ศีล เป็นตัวศีลขึ้นมา ความสงบ ผู้กระทำสมาธิต้องมีศีล ก็หมายถึงมีความสงบ ไม่ใช่มีเพียงสิกขาบท มาว่าสิกขาบทเดี๋ยวนั้น ให้ทำสมาธิเดี๋ยวนั้น เป็นพิธีรีตองเหมือนเด็กเล่น มันก็มีภาวะปกติสงบแห่งจิตใจเป็นเดิมพันเป็นพื้นฐาน แล้วก็ทำสมาธิได้ ฉะนั้นเป็นศีลห้าก็ได้ ศีลแปดก็ได้เท่าไรก็ได้หรือ หรือไปรับสิกขาบทเลยก็ได้ ถ้ามันมีภาวะปกติอยู่แล้ว จิตใจของคนนั้นมันมีสภาวะปกติหรือมีศีลอยู่แล้วก็ทำสมาธิได้เลย มีสิกขาบทก็เพื่อให้เกิดศีล มีศีลก็เพื่อไปสนับสนุนให้เกิดสมาธิ ให้ทำสมาธิได้โดยสะดวกได้โดยง่าย คนอย่าเอามันไปปนกันเสีย สิกขาบทก็คือสิกขาบท ศีลก็คือศีล สิกขาบทก็คือตัวบัญญัติ เป็นข้อๆๆๆ ให้ปฏิบัติ ปฏิบติแล้วก็เกิดภาวะปกติ หรือสงบ มันก็คือ ศีล เราอาจจะมีศีลโดยไม่ได้มีสิกขาบท เมื่ออยู่อย่างปกตินี่มีภาวะปกติ ไม่ต้องเกี่ยวกับสิกขาบทก็ได้ แต่ถ้ามันไม่ปกติ นั่นก็ต้องเอาสิกขาบทเข้ามาจัดการให้มันปกติ ฉะนั้น เรามีศีลอยู่ได้โดยที่ว่าไม่ได้ทำผิดอะไร ให้กำเริบ ให้ยุ่งยากลำบาก เขาก็มีศีลอยู่ได้ โดยไม่ได้สมาทานสิกขาบทแม้แต่ข้อเดียว จริงหรือไม่จริงก็ไปลองดู ลองคิดดู สังเกตดู ถ้ามันมีภาวะปกติ สงบทั้งทางกาย วาจา มันก็มีศีลทันที แล้วบางทีสิกขาบทที่กำลังไม่ลงรูปลงรอยต่อสู้กันวุ่นวาย ไม่มีศีลก็ได้ มันรุงรัง มันสู้รบกันกับสิกขาบท ไม่มีความสงบ ไม่มีศีล มันคือสมาทานสิกขาบท ไม่มีศีล ถ้ามีภาวะปกติสงบแล้วก็มีศีลเท่านั้น ยามมีศีลก็เป็นศีล ไม่ใช่แต่เพียงถือสิกขาบท ซึ่งไม่แน่ว่าถือได้หรือไม่ได้ มีศีลเมื่อมีภาวะปกติ คือกาย คือวาจา สิกขาบททั้งหลายนั้นช่วยให้มีศีล ก็จะถือสิกขาบทห้า แปด สิบ สองร้อยยี่สิบเจ็ด สามร้อยสิบเอ็ด ภิกขุณีก็ได้ทั้งนั้นหรือมากกว่านั้นก็ได้ แต่ตัวสิกขาบทก็คือสิกขาบท ไม่ใช่ตัวศีล ตัวศีลคือ ตัวความสงบ ไม่มีความสงบ ก็ไม่อาจจะทำสมาธิได้ เพียงแต่มาว่าสิกขาบท ว่าๆๆ ว่าแต่สิกขาบทมันไม่มีความสงบ มันก็ไม่สามารถเป็นบาทฐานของสมาธิได้ พิธีรีตองเหมือนเด็กเล่น แต่ถ้ามีภาวะปกติ ภาวะปกติแห่งกาย วาจา มีศีล ก็ทำสมาธิได้เลย รู้จักศีลกันไว้อย่างนี้ ตัวความปกติ สงบ นั่นก็เรียกว่าศีล การกระทำให้เป็นอย่างนั้นก็เรียกว่า ศีล คนที่ได้รับมาเป็นความสงบก็เรียกว่า ศีล ตัวสิกขาบทนั้นถ้ามองในฐานะที่เป็นเหตุให้เกิดศีล ก็พอจะสงเคราะห์ด้วยศีลได้เหมือนกัน รู้จักสังเกตแยกให้ดีว่ามันคนละอย่าง สิกขาบท บทสำหรับศึกษา ศีลมันเป็นผลของการศึกษา คือ สงบ รายละเอียดไปศึกษาเอาเอง หนังสือหนังหา ตำรับ ตำรา เยอะไปหมด ศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ ศีลสองร้อยยี่สิบเจ็ด หรือว่ามากกว่านั้น
ทีนี้ก็มาถึงสมาธิ สมาธิ ศีล แปลว่า สงบ สมาธิ แปลว่า ตั้งมั่น ศีลปกติทางกายทางวาจา สมาธิ สงบนี่ทางจิต ทางจิต เป็นเรื่องของจิตเป็นเรื่องทางจิต จิตตั้งมั่นเรียกว่าสมาธิ ตามธรรมดาจิตของคนทั่วไปนั้นมันก็จะฟุ้งไปไม่ค่อยจะหยุด ไม่รู้ว่าเมื่อไรมันจะเหนื่อยมันจะหยุด จะนอนมันจะหยุด แต่ธรรมดามันชอบคิดไม่หยุด คิดนั่น คิดนี่ คิดนู่น เรื่อยไป เปรียบเหมือนกับว่าลิงกระโดดจากกิ่งไม้นี่ไปกิ่งไม้นั่น กระโดดจากกิ่งไม้นั่นไปกิ่งไม่นู่น กระโดดจากกิ่งไม้นู่นไปกิ่งไม้อื่นเรื่อยๆไป ละจากอารมณ์นี่ไปสู่อารมณ์นั่น อารมณ์นั่นไปสู่อารมณ์นู่น ไม่มีหยุด ยิ่งมีสิ่งแวดล้อมมากระตุ้นมากมายแล้วยิ่งไม่มีหยุด อย่างนั้นเรียกว่ามันไม่ตั้งมั่น ไม่ตั้งมั่น มันไม่มีประโยชน์หรือมันไม่มีประโยชน์เต็มที่ เมื่อใดตั้งมั่น เมื่อนั้นจะมีประโยชน์เต็มที่ เมื่อใดจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิจะมีกำลังสูง มีเรี่ยวแรงสูง มีกำลังสูง มีความเหมาะสมที่จะทำหน้าที่ แล้วก็จะไม่มีอะไรรบกวน ก็สบาย เป็นสุข แล้วก็บริสุทธิ์ สมาธิ สมาธิมีคุณสมบัติเป็นที่สังเกตอยู่สามอย่าง คือบริสุทธิ์อย่างหนึ่ง ตั้งมั่นอย่างหนึ่ง ควรแก่การงานอย่างหนึ่ง บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ เวลานั้นไม่มีกิเลสรบกวน ถ้าเป็นสมาธิ กิเลสไม่รบกวน นิวรณ์ไม่รบกวน เรียกว่าบริสุทธิ์ ตั้งมั่น ตั้งมั่นด้วยอารมณ์เดียว มีอารมณ์เดียว รวมกำลังทั้งหมดเป็นจุดเดียว จะได้ตั้งมั่น กระแสจิตทั้งหลายถูกบังคับให้รวมเป็นจุดเดียว รุนแรงและสูงสุด เหมือนกับแก้วรวมแสง ให้เลนส์ที่มีนูนตรงกลางมาส่องกับแสงแดด รวมกับแสงแดด ให้เป็นจุดศูนย์กลางเข้มข้นลุกเป็นไฟ คือมันรวม จิตนี่ก็เหมือนกันแหละ มันพร่าไปรอบตัว มันก็อ่อน พอมาทำให้มันมารวมตัวเป็นจุดเดียวมันก็เข้มแข็ง เข้มแข็งเหมือนแก้วรวมแสง ลุกเป็นไฟ อีกอันหนึ่งก็คือ พร้อมแล้วที่จะทำงาน เรียกว่าควรแก่การงาน จิตชนิดนี้จะมีลักษณะพร้อมได้ที่ เหมาะสมที่จะทำการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อแรกเรียกว่า ปริสุทโธ คือ บริสุทธิ์ ข้อที่สองเรียกว่าสมาหิโต แปลว่าตั้งมั่น ข้อที่สามเรียกว่ากัมมนีโย ควรแก่การงาน กัมมะ นียะ กัมมนียะ ควรแก่การงาน ภาษาสากลเรียกว่าactive ถ้าเรียนหนังสือมาบ้างก็คงเคยได้ยินคำว่า active เป็นที่ชอบใจของทุกคน ทุกชาติ ทุกประเทศ เค้าชอบความactive ,activeness คือมันคล่องที่จะทำหน้าที่ ถ้ามี activeness นี่มันก็ทำอะไรได้ดี เราก็ชอบคนที่active ไม่ชอบคนที่มันไม่active มัน inert มันรุ่มร่ามงุ่มง่าม มันทำอะไรไม่ได้ สมาธิจึงมีประโยชน์ว่าบริสุทธิ์ ไม่มีอะไรรบกวน เป็นสุข พอเป็นสมาธิก็เป็นสุข เป็นสุขอย่างยิ่ง ไม่มีสุขไหนดีกว่า แล้วก็ตั้งมั่น มีแรงมากมีenergy มาก มันก็พร้อมที่จะทำหน้าที่ มีactiveness มาก มันดีอย่างนั้น คิดดูสิ คุณเคยมีอะไรที่ดีครบอย่างนี้ไหม มีจิตที่ดีครบอย่างนี้ เคยมี เคยทำได้ เคยสร้างได้ ขอให้เข้าใจว่า สมาธินี่มันวิเศษอย่างนี้ มันทำให้เกิดความเจริญอีกมากมายบอกไม่ถูก ผลที่เกิดจากสมาธินี่มหาสาร จารนัยไม่ถูก การที่เราคิดอะไรออกได้ดี ได้ใหม่ ได้ก้าวหน้า เพราะสมาธิทั้งนั้น จะเป็นชาวนาโง่ๆ หรือเป็น ไอสไตน์ ยอดนักปราชญ์มันก็ต้องมีสมาธิทั้งนั้นแหละ มันถึงคิดอะไรออกมาได้ มันก็เป็นผลของสมาธิ มันจึงมีวิวัฒนาการ นี่ สมาธิเป็นเครื่องมือพัฒนาอย่างยิ่ง เป็นเครื่องมือพัฒนาอย่างยิ่ง ทำให้เกิดพัฒนาโดยการใช้สมาธิ เรียกว่า สมาธิภาวนา สมาธิภาวนา มีในบาลีก็ว่า ให้เป็นสุข ข้อแรกให้เป็นสุข ข้อที่สองให้มีอำนาจเหนือธรรมชาติ หูทิพย์ ตาทิพย์ นี่แหละ เหนือธรรมชาติ ข้อสามมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ถึงที่สุด ข้อสี่ ทำอาสวะกิเลสให้สิ้นได้โดยอาศัยเครื่องมือ คือ สมาธิ
นี่เรียกว่าเราแจกออกไปเป็นแง่มุมต่างๆการทำสมาธิ เรารู้จักกันมามากแล้ว ก่อนพุทธกาลแล้ว เรื่องสมาธิ ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด คนก็รู้เรื่องสมาธิ พระพุทธเจ้าก็เคยไปศึกษาสมาธิกับผู้เชี่ยวชาญ ดาบสทั้งสอง แต่ไม่ตัดกิเลสได้เพราะมันยังไม่ถึงสมาธิที่จะตัดกิเลส ยังไม่เป็นวิปัสนา เราจึงรู้ไว้ว่าสมาธินี่ มนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์มาตั้งแต่ก่อนพุทธกาลยังต้องใช้ต่อไปให้ถึงที่สุดพอมาถึงพุทธศาสนาก็มีการจำกัดใจความไว้ไพเราะที่สุด คุณฟังให้ดีดีนะว่า เอกัคคตาจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ จำได้ไหม เอกัคคตาจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์นั่นคือสมาธิ เพื่อให้มันชัดดิ้นไม่ได้มันเลยจำกัดไปที่ว่า ที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ถ้าเป็นเอกัคคตาจิตก็เป็นสมาธิจริง แต่ไม่วิเศษไม่ประเสริฐ ต้องมีนิพพานเป็นอารมณ์จึงจะเป็นสมาธิที่ประเสริฐ สำเร็จประโยชน์ เพราะมันจะได้เป็นปัญญา บรรลุมรรคผล ในความนิพพาน เป็นความมุ่งหมายอยู่ข้างหน้า เอกัคคตาจิตนั่นแหละคือคำแทนชื่อของคำว่า สมาธิ เพราะว่าจิตนั่นมียอดจุดรวมยอดเดียว เอกัคคตา เอกะคะ มียอดยอดเดียว จิตมีอารมณ์เดียว เพ่งที่จุดเดียว แล้วก็มีนิพพานเป็นอารมณ์ ถ้ามีอย่างอื่นเป็นอารมณ์มันก็ไม่วิเศษ ไม่ประเสริฐ สมาธิในพระพุทธศาสนาต้องจำกระชับลงไปว่ามีนิพพานเป็นอารมณ์ มีความสงบเย็นเป็นอารมณ์ สงบเย็นชั่วคราวก็ได้ สงบเย็นสูงสุดสิ้นเชิงก็ได้ มีนิพพานชั่วคราวเป็นอารมณ์ก็ได้ มีนิพพานสูงสุดเป็นอารมณ์ก็ได้ แต่ขอให้ใช้คำว่ามีนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นที่มุ่งหมาย เป็นธรรมสมาธิ มีนิพพานเป็นอารมณ์ เราจะมีความคิดนึกอะไรที่เป็นสมาธิขอให้มีจุดหมายปลายทางเป็นความดับทุกข์ นิพพานก็ดับทุกข์ จะมีสมาธิวิธีไหนอย่างไรมากน้อยเท่าไร ขอให้มีจุดมุ่งหมายปลายทาง ดับทุกข์ เพื่อดับทุกข์ นั่นเป็นสมาธิที่ถูกต้องดีที่สุดในพุทธศาสนา เขามีสมาธิอย่างอื่นอีกมากมายตามใจเขา แต่เราจะมีสมาธิที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ จะกำหนดลมหายใจหรือจะกำหนดอะไรก็ตาม แต่ว่าความมุ่งหมายอยู่ที่พระนิพพาน มีนิพพานเป็นวัตถุประสงค์ กำลังจิตที่เข้มแข็ง จิตพุ่งมุ่งหมายที่จะให้บรรลุถึงนิพพาน เป็นจุดหมายปลายทาง นี่ล่ะเรียกว่า สมาธิ มันแปลว่าตั้งมั่น ตั้งมั่นสมาธิ พอสักว่ากำหนดอารมณ์ก็เริ่มเป็นสมาธิ ตั้งมั่นไปอีกหน่อยก็เป็นอุปจารสมาธิ ตั้งมั่นถึงที่สุดก็เรียกอัปปนาสมาธิเริ่มทำก็เป็นบริกรรมสมาธิ พอเริ่มเป็นสมาธิมากเข้าหน่อยก็เป็นอุปจารสมาธิพอเป็นสมาธิสุดถึงที่สุดก็เป็นอัปปนาสมาธิ นี่เรียกว่าเรื่องของสมาธิ พระพุทธเจ้าแนะ อานาปานสติ เป็นสมาธิสำหรับที่จะตรัสรู้ แต่คนท่านหลัง อาจารย์ท่านหลัง บัญญัตินั่นบัญญัตินี่มากมายหลายสิบอย่างตามใจท่าน ผมไม่สนใจสนใจแต่เรื่องอานาปานสติ
เรื่องที่สองคือสมาธิ จิตตั้งมั่น ทีนี้มาเรื่องที่สาม คือ ปัญญา มาถึงเรื่องรู้ สังเกตดูมันต่างกันมาก ศีลมันไม่เกี่ยวกับ รู้ เกี่ยวกับปกติ ภาวะปกติ สงบ ทางกายทางวาจาทางเปลือกนอก สมาธิ จิตตั้งมั่น สมาธิ คือ จิตตั้งมั่น พอปัญญาก็รู้แจ้ง รู้ทั่ว รู้ถึง รู้ทั่วถึงสิ่งที่ควรจะรู้ มันคนละเรื่องกัน ถ้าเขาถามตอบให้ถูกว่าศีลคืออะไร สมาธิคืออะไร ปัญญาคืออะไร ศีลคือหยุดหรือปกติ ไม่วุ่นวายทางภายนอก สมาธิก็ตั้งมั่น ตั้งมั่นอย่างเอาเป็นเอาตาย อยากจะเจาะแทงปัญหาต่างๆ แล้วทีนี้ก็มาถึงความรู้ เป็นผลที่จะทำหน้าที่ ถ้าจิตเป็นสมาธิมาก ปัญญาก็มีมากเกิดได้มาก เหมือนกับเครื่องยนต์ถ้ามันมีแรงมากมันก็ใช้งานได้มาก สมาธิก็เหมือนกันถ้ามันมีมากมันก็ทำให้เกิดปัญญาแรงมาก สมาธิน้อยก็เกิดปัญญาน้อย อีกทีหนึ่งก็คือว่า น้ำหนักกับความคม มีดของเราน่ะ มันมีความคม แต่ถ้าไม่มีน้ำหนักมันตัดไม่ได้ มันไม่ตัด มันคมเฉยๆ แต่ไม่มีน้ำหนักที่จะกดลงไปมันก็ไม่ตัด ปัญญาเหมือนกับความคม สมาธิเหมือนกับน้ำหนัก ได้ความคมได้น้ำหนักช่วยมันก็ตัด ศีลนั่นคือความเหมาะ ท่าทางที่เหมาะจะให้ใช้ความคมและน้ำหนัก ทำหน้าที่คนละอย่าง พื้นที่ที่เหมาะ ท่าทางที่เหมาะ อะไรที่เหมาะนี่มันก็ศีล สมาธิก็เหมือนน้ำหนัก ปัญญาก็เหมือนกับความคม น้ำหนักมากก็ตัดได้มากถึงไม่สู้คมก็ตัดได้ ถ้ามันมีน้ำหนักมาก ดูอย่างเครื่องมือบางอย่างมีน้ำหนักมากแต่ไม่คมมันก็ตัดได้ เพราะน้ำหนักมันมาก สมาธิมันก็มีผลอย่างนี้ ปัญญาล้วนๆมันไม่มีสมาธิ มันไม่ตัดหรอก มันไม่มีแรงจะตัด การจะตัดกิเลส การบรรลุมรรคผลนะมันเรื่องของสมาธิ ปัญญาด้วย ศีลด้วยรวมกัน ผนึกกำลังรวมกัน สมาธิเป็นน้ำหนักหรือกำลัง ปัญญาเป็นความคม พอตัดกิเลส ไม่ว่าประเภทไหน มันจะต้องตัดด้วยสมาธิกับปัญญารวมกัน มีแต่สมาธิมันก็ตัดไม่ได้มีแต่ปัญญามันก็ไม่มีน้ำหนักที่จะตัด พอมารวมกันแล้วมันก็ตัด ทำงานเกี่ยวข้องกัน ท่าทางที่ไม่เหมาะสมมันก็ตัดไม่ได้ คือศีล พื้นฐาน ท่าทาง ที่ยืนที่เหยียบ อะไรที่เหมาะสมคือศีล สมาธิกับปัญญาก็ทำหน้าที่รวมกันตัด การตัดกิเลสนั้นต้องตัดด้วยสมาธิและปัญญารวมกัน เมื่อมันทำงานรวมกันมันจึงจะตัด ถ้ามันไม่รวมกันมันไม่ตัด ไม่ใช่ว่าจะตัดด้วยลำพังปัญญาล้วนๆ ไม่ใช่ บาลีจะมีพูดว่า ปัญญาวิมุติ เจโตวิมุตคู่กันเสมอ เจโตวิมุต ปัญญาวิมุติ จะต้องคู่กัน ทั้งเจโตและปัญญามันจึงจะตัด บางคนก็พูดผิดๆว่าปัญญาล้วนๆมันตัด มันตัดไม่ได้เพราะมันต้องมีกำลังมันจึงจะตัด ความคมต้องมีกำลังมันจึงจะตัด มีการตัดกิเลสที่ไหนก็มีทั้งสมาธิและปัญญารวมกัน เท่าที่มันต้องการปัญญามันต้องการสมาธิเท่าไร ต้องการกำลังเท่าไรมันก็เรียกเอาเท่านั้น นอกนั้นมันก็เหลือ เหลือทิ้งไป เหมือนกับว่ากำลังเครื่องยนต์สูงมาก แต่ว่ามีใช้โหลดนิดเดียว น้อยๆมันก็มีเท่านั้น นอกนั้นเสียไปเปล่าๆไม่ได้ใช้อะไร เท่าที่ใช้หมด ใช้ปัญญา นั่นน่ะมีประโยชน์ สมาธิที่ติดแน่นอยู่กับปัญญา หรือปัญญาที่ติดแน่นกันอยู่กับสมาธิที่ทำประโยชน์ สมาธิที่ดีที่สุดคือ สมาธิที่เท่าที่ทำงานร่วมกับปัญญา อย่างนี้เรียกว่า อนันตริยสมาธิ อนันตริกสมาธิ มานนตริกนยมา หุ ไม่มีสมาธิไหนดีกว่าอนันตริกสมาธิ คือสมาธิที่ทำงานร่วมกันกับปัญญาไปตัด สมาธิให้สูงไปถึงรูปฌาน อรูปฌาน แต่ไม่มาทำงานร่วมกับปัญญา ไม่ตัดหรอก อย่างดีก็มีความสุขทำแบบนั้น เมาความสุขไปทำแบบนั้น ที่มีสมาธิมันมีความสุข ไม่ตัด เอามาผูกพันกับปัญญาเท่าไร ตัดได้เท่าไร สมาธินั้นวิเศษ ไม่มีสมาธิไหน เสมอเหมือนอนันตริกสมาธิ บทสวดมนต์ที่ชาวบ้านเค้าไปสวดมนต์เย็นมีบทนี้เสมอ ปัญญาแปลว่า รอบรู้ ฌานแปลว่ารู้ ปะ แปลว่าครบถ้วน ทุกอย่าง ปัญญาแปลว่ารู้ครบถ้วน ครบถ้วนเท่าที่จำเป็น ไม่ใช่เหลือเฟือ ไม่ต้องเหลือเฟือ ครบถ้วนเท่าที่จำเป็นจะต้องใช้ พอเหมาะพอดีที่จะต้องใช้เรียกว่าปัญญา ปัญญามันรู้ตามที่เป็นจริงว่า อะไรเป็นอย่างไร แล้วมันก็ตัดความไม่รู้ออกไปเสีย ให้มันเป็นความรู้ขึ้นมา มันก็รู้แจ้งขึ้นมา มันก็ทำถูกต้อง ตอนนี้มันโง่มันยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตนเป็นของตนด้วยความโง่ คือ อวิชชา เดี๋ยวนี้ปัญญามารู้แจ้งถึงที่สุดว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะมายึดถือเป็นตัวตน ของตนไม่ได้ มันก็ไม่ยึดถือ ตัดความโง่ออกไป ตัดความยึดถือออกไป มันก็หลุดพ้นแล้วมันก็สบาย เห็นแจ้งในอนิจจัง เห็นแจ้งในทุกขัง เห็นแจ้งในอนัตตานี่เป็นหลักเบื้องต้น เริ่มเห็นถึงขนาดพอสมควรแล้วก็เป็นโสดาบัน เห็นหนักขึ้นไปอีกก็เป็นสกิทาคา อนาคา เป็นอรหันต์ ก็จะเห็นแจ้ง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ว่าเห็นแจ้งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้นไม่ได้มีความหมายเพียงแค่นั้น มันยังมีอย่างอื่นแฝงอีกมาก เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นต่อว่า โอ้ ธัมมัฏฐิตตา เป็นตามธรรมชาติอย่างนี้ ธัมมนิยามตา กฎธรรมชาติตายตัวมันเป็นอย่างนี้ อิทัปปัจจยตา คือ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ก็เป็นสุญญตา ไม่มีตัวตน มันเป็นไปได้ตามธรรมชาติ ตามกฎของเหตุของปัจจัยเหมือนเป็น ตถาตา เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง ถ้าเห็นเช่นนั้นเองอย่างนี้แล้ว กูไม่เอากับมึงแล้วโว้ย เรียกว่า อตัมมยตา อตัมมยตา ไม่เคยได้ยินใช่ไหม อตัมมยตา ผมก็พูดมา ๑๐ กว่าปีนึกว่าเคยพูด อตัมมยตา แปลว่า ไม่อาศัยสิ่งนั้นอีกต่อไป ไม่ยอมให้สิ่งนั้นปรุงแต่งอีกต่อไป เรียกว่า อตัมมยตา เป็นจุดที่ตัดขาดออกมา จากสิ่งที่ต้องตัดขาด เป็นความรู้สึกธรรมดาสามัญว่า กูไม่เอากับมึงอีกต่อไป นั่นแหละมันจึงจะตัดได้ จะหย่าเมียหย่าผัวมันต้องมาถึงจุดนี้ อยู่กันไม่ได้ๆโดยแน่นอน เรียกว่า อตัมมยตา ตัดออกไป ละจากกัน หย่าบุหรี่ หย่าขวดเหล้าอะไรแบบนี้ มันต้องมาถึงจุดที่อยู่กันไม่ได้ มันจึงจะตัดได้ แล้วนี่มาเห็นพันห้า สังขารทั้งหลายใดๆก็ตามว่ามันเป็นทุกข์ มันทำให้เกิดความทุกข์ ยึดไว้ด้วยอุปาทาน ให้เกิดทุกข์ ไม่เอาอีกต่อไปแล้ว จะไม่อุปาทานอีกต่อไปแล้ว นี่เป็นอตัมมยตา ก็เลยหย่าขาด หมายความว่าวาง ปล่อยวางไป จิตก็หลุดพ้น เป็นวิมุติ หลุดพ้นออกมาจากสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่น นี่ผลของปัญญาทำให้เกิดวิมุติขึ้นมาปัญญาทำให้เกิดวิมุติขึ้นมา วิมุตินั่นเป็นผลของปัญญา ศีล ช่วยให้มีสมาธิโดยง่าย สมาธิมีแล้วเป็นบาทฐานเป็นกำลังของปัญญา ปัญญามีแล้วก็ตัดอวิชชาซึ่งทำให้มีอุปาทาน ปัญญาตัดอวิชชาอุปาทานแล้วก็เกิดวิมุติหลุดพ้นจากสิ่งที่เคยติด เคยยึดถือ เคยผูกพัน หลุดออกมาได้ส่วนนี้เป็นผล ไม่รวมอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญาหรอกที่จริง คำว่าวิมุตไม่ได้รวมอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา มันเป็นผลของปัญญา ทบทวนดูให้ดี ศีลคืออะไร สมาธิคืออะไร ปัญญา คืออะไร เมื่อปัญญาทำหน้าที่ถึงที่สุดตัดอุปาทานได้แล้ว มันก็มีวิมุติหลุดพ้นออกมาเป็นผล นี่เป็นฝ่ายนิพพาน นิพพานปัญญาสูงสุดแค่อตัมมยตา กูอยู่กับมึงไม่ได้แล้ว แล้วหลุดออกมาเป็นวิมุติ เป็นมรรคผลนิพพานเราเรียกว่าวิมุติ
เรื่องของจิตใจทั้งหมด มันมีอย่างนี้ พุทธศาสนา คือเรื่องนี้ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเค้าโครงของพุทธศาสนา ในส่วนที่ต้องปฏิบัติ และก็ได้รับผลเป็นการปฏิบัติ ปฏิเวธ มรรคผลนิพพาน อยู่เหนือความทุกข์โดยประการทั้งปวง มีชีวิตเย็น มีชีวิตเย็นอกเย็นใจ ไม่มีความร้อน เป็นปฏิเวธ ซึ่งเราจะพูดกันโดยละเอียดอีกทีก็ได้ วันนี้พูดกันแต่ปริยัติกับปฏิบัติแล้วก็มีผลเป็นปฏิเวธ คือวิมุตินั่นแหละ มันมีรายละเอียดมาก ค่อยพูดกันวันหลัง วันนี้หมดชั่วโมงพอดีเลย ฉะนั้นก็ต้องยุติเท่านี้ก่อน มิฉะนั้น มันลำบากกับพวกที่ทำเทป เทปตลับหนึ่งมันมีชั่วโมงหนึ่ง ขอยุติการบรรยาย