แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ขั้นแรกที่จุดนี้ขอทำความเข้าใจและเป็นหลักกว้าง ๆ ว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่พัฒนาได้และต้องพัฒนา บางคนอาจจะมีความคิดว่าพัฒนาไม่ได้ บางคนจะคิดว่าจะให้พระเจ้า พระเป็นเจ้าช่วยพัฒนา ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ถูกตามหลักพระพุทธศาสนาที่ว่าพัฒนาได้และพัฒนาด้วยตนเอง
ที่จริงคำว่า “พระเจ้า” มันมีความหมายได้เป็น ๒ อย่างคือ อย่างที่เป็นบุคคลและอย่างที่มิใช่เป็นบุคคล คือมีความรู้สึกอย่างบุคคลหรือมิใช่มีความรู้สึกอย่างบุคคล มิใช่ความรู้สึกอย่างบุคคลนั้นเป็นกฎของธรรมชาติ แต่ในที่บางแห่งบางยุคบางสมัยนั้นพูดว่ากฎธรรมชาตินี้ เขาไม่รู้เรื่อง เขาฟังไม่ถูก เขาไม่เข้าใจ จึงต้องพูดว่ามีพระเจ้าอย่างบุคคล มีความรู้สึกอย่างบุคคลที่เราจะต้องขอร้องให้ช่วย เป็น ๒ อย่างใหญ่ ๆ นี้
แต่ว่าจะเป็นพระเจ้าในความหมายไหนก็ตาม จะเป็นธรรมชาติหรือบุคคลก็ตาม จะมาช่วยพัฒนาให้เราไม่ได้ เราต้องพัฒนาด้วยตนเอง
ทีนี้ก็มามองดูที่ชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ขอให้มองเห็นว่าชีวิตนี้เป็นสิ่งที่พระเจ้าหรือธรรมชาติก็ตามได้ให้มาอย่างแต่ว่าเป็นต้นทุน ต้นทุนสำหรับลงทุนเพื่อทำการค้าแล้วจะทำให้ชีวิตนี้มีกำไรให้มากที่สุด ให้สมกับที่ว่าพระเจ้าหรือธรรมชาติให้มาเป็นต้นทุนหรือเดิมพันสำหรับทำการค้า
ทำไมเราจึงเรียกว่าเป็นการค้า ก็เพราะมีความหมายว่าจะทำให้มีผลกำไรออกมาให้มากที่สุด ชีวิตล้วน ๆ อาจจะไม่มีค่าเลยก็ได้ มีค่าน้อยก็ได้ แต่ถ้าไม่ได้ทำการพัฒนาหรือทำการค้าแล้วมันมีผลมาก มีกำไรมาก ด้วยเหตุที่อาจจะทำให้มีกำไรมากออกไปเราจึงเรียกว่าการค้าก็ได้
ชาวอินเดียแต่โบราณก็ได้ใช้คำ ๆ นี้ คือการค้า-การค้านี้ เป็นภาษาบาลีเรียกว่า “สังโวหาระ” “สังโวหาระ” แปลว่าการค้าขาย ซื้อขายเพื่อหากำไร เขาจัดชีวิตนี้ให้เป็น “สังโวหาระ” คือเป็นการค้าเพื่อทำกำไรมากขึ้น ๆ มากขึ้นจนถึงที่สุด แก่ชราแล้วก็ปลดตัวเองเป็นผู้แสวงหาความสุข หยุดทำการค้า ให้ลูกหลานทำต่อไป นี่..นี้ก็มีความหมายที่น่าสนใจ ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนพยายามพัฒนาชีวิตในลักษณะที่เป็นการค้าให้ได้กำไรมากขึ้น ๆ
จะใช้คำว่าพัฒนาหรือจะใช้คำว่าทำการค้าก็มีความหมายอย่างเดียวกัน เพราะมันเพื่อผลที่มากขึ้นไป เพื่อผลที่ดีกว่า ดังนั้นจึงต้องทำการพัฒนา ถ้าไม่พัฒนาหรือพัฒนาไม่ถูกต้องมันก็เท่ากับไม่มีชีวิต
ทีนี้ก็ดูต่อไปว่าไอ้ผลของการพัฒนาหรือการค้าในชีวิตนี้จะได้อะไรในที่สุด มันกลายเป็นว่าเราจะได้ชีวิตที่เยือกเย็นสงบเย็นที่สุด แล้วก็เป็นประโยชน์แก่ทุกคนมากที่สุด นี่คือว่ากำไรที่สูงสุดของชีวิตที่จะพึงได้รับ เป็นสุขที่สุดและมีประโยชน์ที่สุด ๒ คำก็พอ
ขอให้คิดดูให้ดี ๆ ว่าเพียง ๒ อย่างเท่านี้ คือมีความสุขแท้จริงกับมีประโยชน์ที่สุดนี้ มันควรจะพอ ควรจะพอแล้วกระมัง ถ้าว่าเกินกว่านี้มันจะเป็นบ้ากระมัง เดี๋ยวนี้เรามันมักจะต้องการเกินกว่านี้ คือ แทนที่เราจะต้องการความสุขสงบเย็น เราไปต้องการไอ้ความฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ ฟุ้งซ่าน ซึ่งไม่มีความสงบเย็น
เป็นเพราะเราหรือคนในโลกนี้ไม่ต้องการความสุขสงบเย็นที่แท้จริง เขาจึงไปหลงพัฒนาทางวัตถุเกินยิ่งกว่าเกิน-เกินยิ่งกว่าเกิน แล้วก็หาความสงบเย็นไม่ได้ ดังเช่นที่โลกเรากำลังเป็นอยู่เวลานี้ หาความสงบเย็นไม่ได้ แม้ว่าเราพัฒนา-พัฒนาทางวัตถุจนเหลือประมาณ นี่เรียกว่ามันไม่ถูกจุดของสิ่งที่ควรจะมุ่งหมายหรือประสงค์
ความสุขสงบเย็นที่แท้จริงนั้นมันไม่เป็นบวก ไม่เป็นลบ ไม่เป็น positive เป็น negative แต่เราไม่ต้องการ เราต้องการแต่บวก ๆ ๆ ให้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไปจนเฟ้อจนเกินก็ยังไม่มี-ไม่มีความสงบเย็น ดังนั้นขอให้ศึกษาชีวิตชนิดที่ไม่เป็นบวกและไม่เป็นลบ และมีความสงบเย็นให้เข้าใจ และหาได้ด้วยวิธีปฏิบัติอานาปานสติที่ท่านกำลังกระทำ จะได้ความสุขสงบเย็นที่แท้จริงที่ไม่เป็นบวกหรือเป็นลบ
ขอร้องให้ทุกคนสนใจคำว่าไม่บวกไม่ลบ-ไม่บวกไม่ลบให้มาก เพราะว่าบวกมันก็ฟุ้งซ่าน วุ่นวายไปตามแบบบวก ไอ้ลบมันก็แฟบยุบ เหี่ยวห่อ โศกเศร้าไปตามแบบลบ ฉะนั้นเราไม่ต้องบวกไม่ต้องลบ ไม่ต้องดีใจ ไม่ต้องเสียใจ จึงจะไม่เป็นบวกหรือเป็นลบ ขอให้ช่วยพิจารณามาก ๆ ถ้าไม่เข้าใจคำนี้แล้วอาจจะไม่เข้าใจหลักของพระพุทธศาสนาก็ได้
เราสนใจ พอใจ ชอบใจ ฝ่ายบวก-positive จนชินเป็นนิสัย พอมาบอกให้ศึกษาเรื่องความไม่เป็นบวก มันฝืนความรู้สึก เราก็ชักจะไม่ชอบและไม่อยากจะสนใจ ถ้าอย่างนั้นมันก็ตายด้านอยู่แค่เป็นบวกและเป็นลบ ไม่มี-ไม่มีความสงบเย็นที่แท้จริง ฉะนั้นจึงขอร้องแล้วขอร้องเล่าให้สนใจทีเถิดว่ามันไม่เป็นบวกหรือเป็นลบ นั่นแหละเป็นความสุขที่แท้จริง
ขอให้เอาจิต สิ่งที่เรียกว่าจิตเป็นหลัก จิตไม่เป็นบวก จิตไม่เป็นลบ คือจิตไม่ไปหลงชอบบวก ไม่ไปเกลียดกลัวลบ จิตไม่มีความเป็นบวก ไม่มีความเป็นลบ จิตอย่างนี้จะมีความสงบเย็น สงบเย็นอย่างยิ่งถึงที่สุด ขอให้สนใจเป็นพิเศษ
“อานาปานสติภาวนา” ที่ท่านกำลังฝึกฝนอยู่จะช่วยให้ท่านสามารถมีจิตที่ไม่เป็นบวกและเป็นลบ ขอให้สนใจดี ๆ
“อานาปานสติภาวนา” จะช่วยให้มีจิตบริสุทธิ์ ไม่มีความรู้สึกประเภท egotistic เป็นตัวตนเป็นของตน เหล่านี้ไม่มี อานาปานสติภาวนาช่วยให้จิตรู้ถึงความไม่มีตัวตน เป็นจิตที่ไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวตน เป็นจิตว่างเป็นจิตเกลี้ยง จิตชนิดนี้ย่อมมีความสุขสงบเย็นถึงที่สุด
เดี๋ยวนี้เราไม่-ไม่ถือเอาจิตเป็นตัวประธาน แต่เราถือเอาตัวเรา ตัวเรา ตัวฉัน ตัวกู ตัวเรานี้เป็นประธาน นี่หมายความว่าจิตนี่เข้าใจผิดแล้ว เราเคยชินแต่จะเอาตัวเราเป็นประธาน ไม่ได้เอาจิตเป็นประธาน แล้วเราก็ไปจัดการอะไรกับตัวเราไม่ได้เพราะมันไม่ได้มีอยู่จริง ไอ้จิตมันมีอยู่จริง เราสามารถจะจัดการได้ ขอให้มีวิธีปฏิบัติหรือพัฒนาลงไปที่ตัวจิต ส่วนตัวเรานั้นเป็นมายาไม่มีตัวตนหรอก ไปพัฒนาอะไรไม่ได้
เราจะต้องมีจิตซึ่งไม่ประกอบด้วย egoistic concept ใด ๆ จิตที่ไม่ประกอบด้วย egoistic concept ใด ๆ เดี๋ยวนี้เรามีแต่เรา-เราที่เป็นของ egoistic concept ซึ่งมันหลอกลวง ไม่ใช่ของจริง เราจะต้องมีเราซึ่งไม่มี egoistic concept ใด ๆ ดังนั้นเราจึงมีคำพูดแปลก ๆ ว่า เราจะต้องเป็นเราที่มิใช่เรา ไอ้เราอย่างเดียวนี่ก่อน ๆ นั้นเลิก เราต้องเป็นเราชนิดที่มิใช่เรา
เราซึ่งมี egoistic concept อย่างหนี่ง และเราซึ่งไม่มี egoistic concept นี่อีกอย่างหนี่ง ต่างกันยิ่งกว่าตรงกันข้าม ถ้าว่าไม่มี egoistic concept ก็มีจิตเท่านั้น-จิตเท่านั้นบริสุทธิ์ล้วน ๆ ฉลาดเป็นอิสระจิตนั้น แต่ถ้าว่าเราที่มี egoistic concept นั้นคือเราโง่ ๆ คือเราที่มี selfishness เต็มที่ เอานั่นเป็นของเรา เอานี่เป็นของเรา เอานี่เป็นตัวเรานี่ ๒ we-๒ we นี่ ๒ อย่างนี้ช่วยดูให้ดี ๆ ให้เข้าใจดี ๆ เถิด จะเข้าใจธรรมะได้ง่าย
We-เรา ที่มี egoistic concept คือเราเดี๋ยวนี้-เราเดี๋ยวนี้ที่กำลังเป็นอยู่ เราที่มี egoistic concept นี่ ที่เราที่จะไม่มีที่มิใช่ we ที่จะไม่มี egoistic concept คือเราที่จะเป็นต่อไปข้างหน้า เมื่อเราพัฒนาแล้ว เมื่อเราปฏิบัติธรรมะถึงที่สุดแล้วก็จะมี we ชนิดที่มิใช่ we เดี๋ยวนี้เราก็มี we ชนิดที่เป็น we ไปก่อน
We wish is not we นั่นแหละฟังดูแล้วก็คล้ายกับ nonsense ฟังดูแล้วก็คล้ายกับ nonsense แต่ที่จริงนั่นแหละมี sense ที่มากที่สุด ที่ถูกต้องที่สุด ขอให้พยายามเข้าใจคำว่า “เรา” ซึ่งมิใช่เรานี้ อย่าเห็นเป็นคำ nonsense บ้า ๆ บอ ๆ มันเป็นคำที่ถูกต้องที่สุด แต่เรายังไม่รู้และเราจะต้องรู้ และเราจะต้องเป็นเช่นนั้นให้ได้
มันเป็นคำที่ฟังยากและไม่ชวนฟัง ไม่ชวนฟังด้วย คนจึงไม่ค่อยสนใจ ขอร้องให้ทนฟัง ให้ทนสนใจ ให้เข้าใจจนได้ว่าเราซึ่งมิใช่เรานี่หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าเมื่อจิตบริสุทธิ์ไม่มี egoistic concept นั่นแหละคือเราซึ่งมิใช่เรา ไม่มีเรา มีแต่จิตที่บริสุทธิ์ที่สุด
เราซึ่งเป็นเรานั้นคือเราของอวิชชา เราที่มิใช่เรานั้นแหละคือเราที่แท้จริงของปัญญา
มันมิใช่เราหรือของเราแต่ภาษาพูดในโลก ภาษาพูดในโลกนี้มันต้องพูดอย่างนี้ มันต้องมีเราตามภาษาที่เขาพูดกันอยู่ในโลก นี่เรามารู้ว่าไอ้เราที่เขาพูดกันอยู่ในโลกนั้นน่ะ มันไม่ใช่เราโดยแท้จริง โดยถูกต้องของธรรมชาติ มันเป็นเราที่มนุษย์พูดขึ้นมาด้วยความไม่รู้ ไม่รู้สึกตัวด้วยว่าพูดว่าเป็นเรา ๆ ๆ จนเป็นธรรมดาสำหรับการพูดจาไปเสีย เป็นอันว่าคำพูดนั้นแหละมันหลอกเราจนเราโง่ถึงที่สุด
พระพุทธเจ้าก็ดี พระอรหันต์ทั้งหลายก็ดี ท่านก็พูดคำว่าเรา ว่า we แต่มันเป็นเราซึ่งมิใช่เรา ท่านพูดเหมือนกับเราพูด ถ้าพวกเราพูดมันเราที่เป็นเรา มีเราเสียหมด แต่ถ้าว่าเป็นพระอรหันต์พูดพระพุทธเจ้าพูด มันเป็นเราซึ่งมิใช่เรา ความรู้สึกในใจมันต่างกันอยู่อย่างนี้ ขอให้เรารีบศึกษาให้รู้ความจริงข้อนี้ แล้งเราจะมี we ชนิดที่มิใช่ we ได้เหมือนกัน ได้เหมือนกัน
ทีนี้เราก็จะดูกันให้ชัดลงไปอีกว่าไอ้ we ที่เรารู้สึก รู้สึกว่า we ของเรานั้นมันคืออะไร มันคือความเข้าใจผิด ความเห็นผิด ความหลงผิด ที่ในบาลีเรียกว่า “อุปาทาน” เป็นเพียงความรู้สึกหรือความคิดที่อุปาทานหรืออวิชชาปรุงขึ้นมา เช่นเมื่อเรารู้สึกอยากตามธรรมชาติ ระบบประสาทร่างกายมันรู้สึกอยาก แล้วมันก็จะทำให้เกิด concept ขึ้นมาว่า “กู” มีกูเป็นผู้อยาก เป็นผู้เจ้าของความอยาก มันมาจากการปรุงขึ้นของความโง่ ตัวตนนั้นมันปรุงขึ้นมาจากความโง่ ไม่รู้จักสิ่งนั้นตามที่เป็นจริง เมื่อมันมีความรู้สึกอย่างไร มันก็จะรู้สึกว่ามีผู้รู้สึกอย่างนั้น-มีผู้รู้สึกอย่างนั้น-มีผู้รู้สึกอย่างนั้น ฉะนั้นไอ้ we หรือ I นี่มันเป็นมายา-มายาถึงที่สุดเลย
เราจะศึกษาได้มาจากจุดตั้งต้นคือทารก-ทารกเด็กเล็กมาก เพิ่งคลอด พอเขารู้สึกอร่อย กินอร่อย ชอบอะไร กำลังกินอยู่อร่อย แล้วเขาจะค่อยเกิดความรู้สึกว่ากูอร่อยหรือฉันอร่อย เมื่อใจของเขารู้สึกอยากอะไร-อยากอะไรตามธรรมชาติ ตามธรรมดาของไอ้ชีวิตร่างกายนี้ เมื่อเขารู้สึกอยากอะไรขึ้นมา เขาจะเกิดความสึกตามมาว่ากูผู้อยาก หรือเมื่อเขาไม่ชอบอะไรขึ้นมา เขาก็จะกูไม่ชอบหรือกูเกลียด ถ้าเขารักอะไรขึ้นมา เขาจะรู้สึกว่ากูผู้รัก นี่กู we หรือ I นี้มันเป็นมายาอย่างนี้ ไม่มีตัวจริง มันเป็นแต่ความคิด ดังนั้นมันจึงเกิดทีหลังไอ้ความรู้สึกนั้น ๆ มันไม่ได้มีอยู่ก่อนแล้วจึงรู้สึกอย่างนั้น ความรู้สึกที่มีอยู่ตามธรรมดามันทำให้มีความรู้สึกว่าอย่างนั้นว่ามีเรามี we ขอให้สนใจเถอะว่า ไอ้ we ไอ้ I ไอ้ตนนี้มันมายา มันมาจากความรู้สึกที่เกิดจากธรรมชาติ แล้วมันมารู้สึกว่ามีตัวผู้ ๆ ผู้รู้สึก ผู้อย่างนั้น ผู้อย่างนี้ขึ้นมา นี่..ตัวตนนี้เป็นมายาอย่างนี้
ถ้าเราดูถัดมาต่อมาอีก ต่อมาอีก เด็ก ๆ นั้นมันโตขึ้นมันเดินได้ ถ้ามันเดินไปชนเก้าอี้ มันก็โกรธเก้าอี้ในความรู้สึกว่าเก้าอี้กระทำแก่กู ความรู้สึกว่ากูเกิดขึ้นมาต้อนรับไอ้ความเจ็บว่าเป็นความเจ็บของกูเก้าอี้กระทำแก่กู มันก็เตะเก้าอี้ในฐานะที่เป็นตัวตนอีกฝ่ายหนึ่ง นี่โง่ถึงกับสร้างตัวตนให้แก่ตนเองด้วยแล้วก็สร้างตัวตนให้แก่เก้าอี้ด้วย เพราะ egoistic concept มันเป็นได้มากมายอย่างนี้ ไม่ใช่ตัวตน แต่มันก็มีขึ้นในความรู้สึก รู้สึกตั้งแต่เด็ก ๆ ๆ ๆ จนโต-จนโต แล้วก็เป็นมากขึ้น ๆ
ทีนี้เขาก็ถูกสอน-ถูกสอนให้โง่อย่างนี้มากขึ้น เมื่อเขาไปชนเก้าอี้ เขาเจ็บเขาร้องไห้ ทีนี้ผู้เลี้ยง nurse คนเลี้ยงมันก็ช่วยไปตีเก้าอี้-ไปตีเก้าอี้ ให้เด็กเขาสบายใจ นี่อย่างนี้สอนให้เด็กมันโง่มากขึ้นในการที่ว่ามีตัวกูตัวเรา มันเป็นธรรมเนียมหรือไม่ที่เมื่อฝรั่งที่ว่า nurse มันจะช่วยตีเก้าอี้เมื่อเด็กมันเดินไปชนเก้าอี้ร้องไห้ ถ้ามันมีก็รู้แต่ว่านั่นแหละมันสอนให้โง่มากขึ้น
ไอ้ความที่หลงอย่างนี้มันมีมากขึ้น ๆ ๆ จนเป็นธรรมดา โดยไม่รู้ว่าตัว ๆ ๆ ตนก็ดี ของ ๆ ตนก็ดี มันไม่ได้มีอยู่จริงแต่ว่ามันอะไร มัน produce ขึ้นมาโดย “อวิชชา” ความโง่ความหลงอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นในตัวอย่างนั่นแหละอวิชชา มัน produce concept ว่าตนว่าตนนี้ขึ้นมาให้แก่ลูกเด็ก ๆ แก่ลูกโต ๆ แล้วก็กระทั่งตัวเองจนตลอดชีวิต
ทีนี้ก็มีเรื่องที่ ๒ คือ “ตัวตน” เรื่องแรก แล้วก็ “ของตน” เรื่องที่ ๒ เดี๋ยวนี้มีตัวตน-ตัวตน-ตัวตนproduce ขึ้นมาโดย “อวิชชา” เต็มที่แล้ว ทีนี้สิ่งใดที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับผู้นั้นแล้วเป็นที่พอใจ มีประโยชน์พอใจ น่ารักน่าพอใจ มันก็เกิดความรู้สึกอีกอันหนึ่งขึ้นมาว่า “ของตน” “ตน” นี่อันแรก แล้วก็มี “ของตน” อันที่สอง ปัญหามันก็มีมากขึ้น ทั้งจากตัวตนและจากของตน เราจะต้องกำจัดออกไปทั้ง ๒ อย่าง ถ้าเรากำจัดตัวตนได้ ของตนก็หายไปด้วย กำจัดไอ้ตัวตนนี้แหละเป็นใหญ่ เป็นหลักอานาปานสติ หมวดที่ ๔ เป็นเรื่องกำจัดตัวตนทั้งนั้นแหละ-กำจัดตัวตนทั้งนั้นแหละ กำจัดตัวตนได้แล้วของตนก็จะพลอยออกไปด้วย เราก็ free เราก็เป็นเราซึ่งมิใช่เราได้ตามที่เราต้องการ
ความรู้สึกว่าของตน-ของตน มันยังโง่ต่อไปอีก มันไม่มีอยู่เฉพาะที่เป็นของรักของพอใจว่าของตน แม้ที่มันไม่น่ารัก ไม่พอใจ เป็นศัตรูแก่ตนมันก็ยังเรียกว่าของตน มันจึงเกิดคำว่าศัตรูของกูนี่เกิดขึ้นมา มันจึงกลายเป็นทั้งบวกและทั้งลบ ความรู้สึกเป็นบวกเมื่อพอใจ ความรู้สึกเป็นลบเมื่อไม่พอใจ จิตของเรามัวแต่เป็นบวก มัวแต่เป็นลบด้วยความโง่ว่าตัวตน-ด้วยความโง่ว่าตัวตน นี่คือตัวปัญหาตัวความทุกข์ตัวปัญหา จิตเป็นบวกหรือเป็นลบเสียเรื่อยไป
ภาษาบาลีมี ๒ คำ “อัตตา” ตัวตน “อัตตนียา” เนื่องด้วยตน คือเป็น self อันหนึ่งแล้วเป็น concerned with self อีกอันหนึ่งนี่ หรือจะใช้คำอื่นอีกก็แล้วแต่ ไม่ค่อยจะรู้ คุณสันติกโรจะพูดได้ดีกว่า ตนกับเนื่องด้วยตน อัตตา อัตตนียา-อัตตา อัตตนียา เพราะว่าถ้ามันมีอัตตาแล้วมันจะอยู่อันเดียวไม่ได้ มันต้องมีสิ่งที่เนื่อง ๆ ด้วยอัตตาเข้ามา ฉะนั้นความรู้สึกของเราจึงเต็มไปแต่ตนของตน ตัวกูของกู เราของเรา ทีนี้มันก็ไปรับเอามาทั้งบวกและทั้งลบมาเป็นของตน ไม่ใช่รับเอาแต่บวกนะ มันโง่จนเอารับเอาฝ่ายลบมาเป็นของตน ฉะนั้นจิตจึงหนักอยู่ ผูกพันอยู่ด้วยบวกและลบ ไม่ใช่ชีวิตที่น่าปรารถนา เราต้องการจะมีชีวิตที่ไม่บวกไม่ลบ
เราจะเห็นได้แล้วว่าไอ้ความเป็นบวกหรือความเป็นลบมันเกิดขึ้นมาเพราะว่ามันมีอัตตา เพราะมันมีตัวตน เพราะมันมี self ถ้าอยากมี self มันก็ไม่มี off self แล้วมันก็ไม่มีบวก มันก็ไม่มีลบ ถ้าเราต้องการจะไม่มีบวกไม่มีลบ เราต้องทำลายไอ้ self นั้นเสีย เมื่อเราทำลาย self นั้นเสีย ไอ้ off self นั้นก็ไม่มี บวกกับลบก็มีไม่ได้ ดังนั้นเราจึงศึกษาปฏิบัติการวิปัสสนาเพื่อที่จะทำลายไอ้สิ่งที่เรียกว่าอัตตาหรือ self นั้นเสีย และอัตตนียาก็จะถูกทำลายไปเอง ไอ้บวกและลบก็จะถูกทำลายไปด้วย
เมื่อจิตไม่เป็นบวกไม่เป็นลบเพราะถอน concept ว่าตนเสียได้ จิตนี้ก็สงบ ก็เย็น ก็เป็นอิสระ ก็ว่างในทุกความหมายที่พึงปรารถนา พุทธบริษัทถือว่านี่เป็น utmost great-utmost great ชีวิตอย่างนี้ซึ่งได้มาจากการกำจัดอัตตา อัตตนียา ไอ้ความเป็นบวกความเป็นลบออกไปเสีย ทีนี้มันมีปัญหาอยู่ว่าท่านจะชอบหรือไม่ชอบเท่านั้นแหละ ท่านจะชอบหรือไม่ชอบเท่านั้นแหละ ขอให้คิดดูและตัดสินใจ
ขอถามจริง ๆ ว่าท่านจะชอบชีวิตที่ไม่เป็นบวกไม่เป็นลบหรือไม่ เดี๋ยวนี้เราหลง หลง positive หลงบวกจนถอนไม่ออก แล้วมันก็ยากที่จะมาศึกษาเรื่องที่จะให้เลิก เลิกถอนไอ้บวก เลิกถอนลบ ความยากลำบากมันจะอยู่ที่ตรงนี้ เรารีบดูตัวเอง ดูตัวเองเสียก่อนจนมันพอใจชีวิตที่ไม่บวกไม่ลบ แล้วก็จะง่ายในการที่จะศึกษาและปฏิบัติ
ทีนี้สมมุติว่าเราชอบ-ชอบชีวิตที่ไม่บวกไม่ลบก็คือถอน EGO, egotistic concept ทั้งหลายได้ เป็นชีวิตสงบเย็น มันเป็นชีวิตที่ไม่เห็นแก่ตัว non-selfish ถ้า non-selfish แล้วมันก็เห็นแก่ผู้อื่น ก็รักผู้อื่น ก็รักความถูกต้อง เมื่อมันไม่ selfish มันก็เห็นแก่ผู้อื่น มันก็ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น เพราะฉะนั้นเราจึงเป็นประโยชน์ ชีวิตชนิดนี้ ชีวิตที่ไม่บวกไม่ลบนี่จะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายเพราะมันไม่เห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวมันก็เอาแต่ประโยชน์ผิด ๆ โง่เขลาคดโกงของตัว เพราะมันไม่เห็นแก่ตัวแล้ว มันก็เห็นแก่ผู้อื่นด้วยประโยชน์ที่ถูกต้อง ทั้งของตนเองและของผู้อื่น ชีวิตนี้จึงทั้งสงบเย็นและทั้งเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายได้อย่างนี้ เราจะชอบไหม ถ้าเราเป็นได้ ถ้าเราเป็นได้แล้วเราก็จะสามารถทำประโยชน์แก่ทุกฝ่าย
เมื่อเรามองดูไปทั้งโลก เพื่อนของเราเห็นมี selfish แล้วก็มีตัวตน แล้วก็มีปัญหาเรื่องตัวตน เรื่องบวกเรื่องลบ ยุ่งยากลำบากกันไปทั้งโลก หนทางอื่นไม่มีหรอก ถ้าเรากล้าแยกตัวออกมา ไม่ทำเหมือนเขา มากำจัดตัวตนเสีย กำจัดความเป็นบวกเป็นลบเสีย ไม่เห็นแก่ตน-ไม่เห็นแก่ตน ก็จะช่วยกันสร้างสันติภาพได้ทั้งโลก นี่เมื่อทำตนให้เป็นความสุขได้โดยถอนตัวตนเสียได้ แล้วก็จะทำประโยชน์แก่คนทั้งโลก ก็ทำได้โดยอาศัยอานาปานสติ ขอให้ท่านทั้งหลายพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อให้สำเร็จประโยชน์ในการฝึกอานาปานสติ แล้วท่านก็ถอนตัวตนเสียได้ ก็ถอนไอ้ positive-negative ไม่มีอำนาจเหนือเราอีกต่อไป เรื่องก็จบ วันนี้จะบรรยายเพียงเท่านี้