แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
สิ่งแรกที่สุดก็ขอแสดงความยินดีในการมาของท่านทั้งหลายสู่สถานที่นี้ ในลักษณะอย่างนี้ คือเพื่อศึกษาหลักธรรมะและเพื่อปฏิบัติสมาธิเป็น ๒ อย่างอยู่ดังนี้ มีความรู้สึกยินดีในประโยชน์ ๒ อย่างคือท่านทั้งหลายได้รับการศึกษาส่วนตัว นี้อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งจะได้ช่วยกันพัฒนาโลกมนุษย์ให้ดีขึ้น ให้มันได้ผล ๒ อย่างพร้อมกันอย่างนี้ จึงเป็นที่น่ายินดี สิ่งที่ควรจะรู้กันไว้ให้ชัดเจนก็คือความจริงที่มีอยู่ว่า ชีวิตนี้เป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มา เพื่อพัฒนาเอาเองตามความพอใจ มันเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ และพัฒนาได้ตามความพอใจ ถ้าเรารู้ความจริงข้อนี้มันก็เป็นการง่ายที่จะดำเนินการพัฒนา คนโดยมากไม่รู้ความจริงข้อนี้ ก็หมายความว่าไม่รู้จักชีวิต ไม่รู้จักตัวเอง จึงไม่ได้ตั้งใจอย่างเต็มที่ที่จะพัฒนาตัวเอง ก็ปล่อยไปตามบุญตามกรรม ประโยชน์ที่เราจะได้รับจากชีวิตนั้น ขอให้มุ่งหมายเป็นส่วนสำคัญ ๒ อย่างคือมีชีวิตสงบเย็นเป็นสุข และเป็นชีวิตที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์ ทำประโยชน์ได้มากที่สุด ต้องได้พร้อมกันทั้ง ๒ อย่างนี้ สิ่งทั้ง ๒ อย่างนี้มีรวมกันได้ ไม่ขัดขวางกัน บางคนเข้าใจผิดว่ามันอยู่รวมกันไม่ได้ มันขัดขวางกัน ถ้าเราจะเอาความสุขและเราก็ทำประโยชน์ หรือการงานหรือหน้าที่ใดๆไม่ได้ นี่เป็นความเข้าใจผิด ขอให้ถือว่าการเสวยความสุข กับการทำประโยชน์ยิ่งๆขึ้นไปนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้พร้อมกัน วิถีการดำเนินชีวิตอย่างนี้ เราจะถือว่าไม่เนื่องกันกับศาสนาก็ได้ คือมันเป็นเรื่องที่ธรรมชาติกำหนดไว้สำหรับชีวิตทุกชนิดโดยทั่วๆไป แต่จะให้เนื่องกับศาสนาใดก็ได้ ถ้าศาสนานั้นสามารถจะให้สำเร็จประโยชน์อันนี้ ดังนั้นท่านถือเอาวิชาการและการปฏิบัตินี้ในฐานะเป็นการทำตามกฎของธรรมชาติดีกว่า
มีคำอยู่ ๒ คำที่มีปัญหา ถูกใช้ปนกัน โดยเฉพาะในภาษาไทย ชื่อมันคล้ายๆกัน วิธี วิธีหรือ Method มันไม่ใช่พิธีหรือ Ceremony เรามักจะเอาพิธีกับวิธี วิธีกับพิธี มาปนกัน แล้วก็ไม่สำเร็จประโยชน์ ถ้าวิธี วิธี ก็เป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าพิธี พิธีก็เป็นไสยศาสตร์ เดี๋ยวนี้ที่เราเห็นๆอยู่ เห็นๆกันอยู่หรือความเป็นจริงที่มันมีอยู่ เราทำอย่างพิธีกันเสียโดยมาก เพราะว่ายึดมั่นในความเป็นศาสนา ศาสนามันมากเกินไป เมื่อยึดมั่นในความเป็นศาสนามากเกินไปมันก็กระเดียดไปทางเป็นพิธี แต่ถ้าเราจะถือเป็นวิถีทางแห่งชีวิตตามกฎธรรมชาติแล้ว ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่าวิธี วิธีอย่างถูกต้องเต็มที่ โดยเฉพาะที่มันเป็นเรื่องทางศาสนา ที่มีอยู่ในเวลานี้เกือบจะทุกศาสนา มันมีส่วนที่เป็นพิธีกันเสียโดยมาก ส่วนที่จะปฏิบัติตามวิธี ตามหลักวิทยาศาสตร์นั่นนะมันมีน้อย ดังนั้นขอให้แยกออกจากกัน และเดี๋ยวนี้เราก็จะมาศึกษากันอย่างชนิดที่มันเป็นวิธี แล้วก็ปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์ แม้พุทธศาสนาในประเทศไทยนี้ก็เหมือนกัน มีส่วนที่ประกอบพิธีมากกว่าที่จะปฏิบัติวิธี เราจึงไม่ได้รับผลอันแท้จริง แต่พุทธศาสนาโดยแท้จริงนั้นไม่ประสงค์พิธีเลย ต้องการแต่วิธี วิธี วิธีเท่านั้น ดังนั้นถ้าจะศึกษาพุทธศาสนาแล้วขอให้มุ่งหมายเฉพาะที่มันเป็นวิธี วิธี ไม่มีพิธี มันน่าประหลาดใจหรือว่าน่าเศร้า น่าสงสารก็ได้ ที่ว่าเราตั้งใจจะทำวิธี วิธี แต่เราก็ไปปฏิบัติอย่างพิธี พิธี กันเสียหมด ที่จริงศาสนาทุกศาสนามีทางที่จะทำได้ ทั้งอย่างวิธีและพิธี แต่ส่วนใหญ่ไปทำอย่างพิธีกันเสียหมด หรือเกือบจะทั้งหมดก็มี อย่างไรก็ดี มันมีทางที่จะสังเกตได้อีกอย่างหนึ่ง ถ้ามันเป็นเรื่องของวิธี มันก็มีความมุ่งหมายที่จะพึ่งตัวเอง ช่วยตัวเอง ถ้าเป็นเรื่องของพิธี มันก็จะกลายเป็นความมุ่งหมายที่จะพึ่งผู้อื่นหรือพึ่งสิ่งภายนอก ฉะนั้นขอให้เราสนใจสังเกตว่าเราหวังจะพึ่งอะไร จะพึ่งตัวเอง จะพึ่งสิ่งภายนอก เราจึงจะสามารถแยกพิธีออกไปเสียได้จากวิธี หรือแยกวิธีออกมาเสียได้จากพิธี
ความยากลำบากอย่างหนึ่ง มันก็มีอยู่ว่า สัญชาตญาณหรือ Instinct มันเอียงไปในทางพึ่งผู้อื่น สัญชาตญาณมันเอียงไปทางที่พึ่งผู้อื่น เพราะฉะนั้นคำสั่งสอนหรือระบบปฏิบัติที่จะพึ่งผู้อื่นนั้น มันจึงรับได้ง่าย เพราะฉะนั้นจึงรับพิธีได้ง่ายกว่ารับวิธี ขอให้เราสนใจ เราจะควบคุมความรู้สึกของเราให้เป็นไปในทางที่จะช่วยตัวเอง จะพึ่งตัวเอง จะไม่หวังอย่างลมๆแล้งๆ ในการทำพิธีหรือให้ผู้อื่นช่วย คำพูดมันเป็นสิ่งที่กำกวมไม่ค่อยจะแน่นอน ยกตัวอย่างเช่นเราต้องการจะพึ่งสิ่งสูงสุด สูงสุด แต่แล้วสิ่งสูงสุดนั้นมันก็ยังมีชนิดที่เป็นภายใน และชนิดที่เป็นภายนอก อย่างในพุทธศาสนา พึ่งธรรมะ ธรรมะเป็นสิ่งสูงสุด แต่ธรรมะนั่นเป็นสิ่งภายใน ศาสนาอื่นที่มีพระเป็นเจ้า เป็น Personal God นี้ก็พึ่งสิ่งสูงสุดชนิดที่เป็นภายนอก สิ่งสูงสุดมีทั้งที่เป็นภายในและภายนอกอย่างนี้ สำหรับคำว่าธรรมะ ธรรมะนี่ เมื่อพูดกันใน ในแง่ของวิทยาศาสตร์ ความหมายทางวิทยาศาสตร์ มันเป็นภายในอย่างยิ่ง คือมันหมายถึงหน้าที่ หน้าที่ หน้าที่ใดที่จะช่วยให้รอด ทำแล้วช่วยให้รอด สิ่งนั้นเรียกว่าธรรมะหมด แล้วก็เป็นสิ่งที่ต้องทำเอง หน้าที่ หน้าที่ที่ทำแล้วนั่นแหละกลายเป็นสิ่งสูงสุดที่ช่วยได้ โดยเราถือหลักว่า ถ้าเราไม่ทำหน้าที่แล้ว ไม่มีสิ่งสูงสุดไหนๆ ที่ไหนจะมาช่วยได้ ดังนั้นจึงหวังพึ่งโดยตรงลงไปที่ธรรมะที่จะต้อง รู้เอง ทำเองปฏิบัติเอง ในฐานะเป็นหน้าที่ นี้คือสิ่งสูงสุดซึ่งเราจะต้องศึกษากันอย่างละเอียด สำหรับพุทธบริษัทถือเป็นหลักตายตัวว่า ถ้าไม่ทำหน้าที่ที่ถูกต้องแล้ว เทวดาทั้งหลาย พระเป็นเจ้าทั้งหลายทั้งหลายเหล่านั้นไม่อาจจะช่วยได้ ถ้าเราไม่ทำหน้าที่ที่ถูกต้อง คือไม่มีธรรมะที่ถูกต้องแล้วไม่มีใครช่วยได้ ดังนั้นจึงสนใจธรรมะในฐานะเป็นสิ่งที่จะต้องรู้อย่างชัดเจน แจ่มแจ้ง ทั่วถึง แล้วก็ปฏิบัติได้จริงๆ เดี๋ยวนี้เราไม่ได้เสนอหลักปฏิบัตินี้ในฐานะเป็นหลักพุทธศาสนา แต่เสนอในฐานะเป็นหลักของธรรมชาติ เป็นกฎของธรรมชาติ เป็นหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ จะไม่เรียกว่าศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เว้นเสียแต่จะเรียกว่าศาสนาธรรมชาติ เราจะต้องทำตามกฎของธรรมชาติ ทำหน้าที่ให้ถูกต้องทุกกระเบียดนิ้ว ทุกวินาที ด้วยสิ่งที่เรียกว่าวิธีและไม่ใช่พิธี ดังที่กล่าวแล้ว สิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ธรรมะ นี่เป็นเรื่องของธรรมชาติ อยากจะเสนอเป็นหัวข้อจำง่ายๆ สัก ๔ หัวข้อว่า ธรรมมะคือธรรมชาติ ตัวธรรมชาตินั่นเอง ว่าธรรมะคือตัวกฎของธรรมชาติ ที่มีอยู่ในธรรมชาตินั้นๆ ว่าธรรมะคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ในที่สุดธรรมะคือผลที่จะได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ ขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจคำว่าธรรมะ ธรรมะ ซึ่งเราจะพูดกันต่อไปนี้ในความหมาย ๔ อย่างนี้เรียกว่าธรรมะ คือเรื่องมันเผอิญเป็นว่า หลักธรรมะในพระพุทธศาสนานั้น มันเป็นเรื่องธรรมชาติทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ เรื่องอริยสัจก็ดี เรื่องปฏิจจสมุปบาทก็ดี มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ เรื่องกฎของธรรมชาติ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ขอให้จับเอาใจความสำคัญให้ได้ ในฐานะที่เป็นเรื่องของธรรมชาติ ซึ่งเราจะได้พูดกันต่อไป
เมื่อเรารู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ พอสมควรแล้ว ว่าหมายถึงอะไร ทีนี้ก็จะพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ที่เราจำเป็นที่จะต้องมีในการที่จะดำเนินชีวิตตามวิถีทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่พิธีรีตอง เราจะต้องมีธรรมะที่เป็นหลักใหญ่ๆ ๓ อย่างคือสติ ปัญญา และสมาธิ ธรรมะคือสติ ธรรมะคือปัญญา ธรรมะคือสมาธิ ก็มีรายละเอียดมาก แต่ต้องพูดกันหรือฝึกกันต่อไป จะบอกเป็นการล่วงหน้าว่า ในการที่เราจะต้อนรับหรือเผชิญกับสิ่งแวดล้อมทุกๆอย่าง เราจะต้องมีธรรมะ ๓ ข้อนี้เป็นเครื่องมือ ต้อนรับหรือเผชิญกับสิ่งแวดล้อมทุกๆอย่าง และแม้ที่สุดแต่เราจะเสวยผลของการงานที่เรากระทำ เราก็จะอาศัยธรรมะนี้ ๓ อย่างนี้ จึงจะถูกต้องและปลอดภัย หรือว่าเราจะศึกษาธรรมชาติทั้งหลายให้รอบรู้ เราก็ต้องอาศัยธรรมะ ๓ อย่างนี้ คือว่าเราจะเผชิญอารมณ์ หรือสิ่งแวดล้อมก็ดี เราจะเสวยผลงานก็ดี เราจะศึกษาโลกหรือธรรมชาติก็ดี ต้องอาศัยธรรมะ ๓ ข้อนี้ คือสติ ปัญญาและสมาธิ ถ้าเราต้อนรับสิ่งแวดล้อมทั้งหลายโดยปราศจากธรรมะ ๓ อย่างนี้แล้ว จะเกิดปัญหายุ่งยากไปหมด จะทำให้เกิดความทุกข์ เหมือนกับมันกัดเรา แล้วมันจะทำให้เราเป็นทาสของมัน ตกไปเป็นทาสของมัน ถ้าปราศจากธรรมะ ๓ อย่างนี้แล้ว จะมีผลร้ายในการต้อนรับหรือเผชิญกับสิ่งแวดล้อมอย่างนี้ มองเห็นให้ชัดว่า ในการศึกษาหาความรู้ก็ดี ในการทำงานก็ดี ในการหาเงินก็ดี ในการได้เงินก็ดี ในการมีเงินใช้ก็ดี ในการบริโภค สิ่งที่จะมีจะใช้ และในการเก็บรักษาก็ดี แต่ต้นจนปลายหมดนี้ ต้องทำด้วยธรรมะ ๓ อย่างนี้มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหา
ทีนี้เราจะได้พิจารณากันถึงธรรมะ ๓ ประการนี้โดยละเอียด เท่าที่เวลาจะอำนวยให้ สิ่งแรกว่าสติ สติ เราก็มีตามธรรมชาติแต่มันน้อยไป มันไม่พอ เราจะต้องฝึกให้มันมีพอและเร็วพอ เราระลึกได้น้อยมาก เราระลึกได้ช้าไปอย่างนี้ ไม่สำเร็จประโยชน์ เราจะต้องระลึกได้เร็วที่สุดเพื่อทันกับเหตุการณ์ หรือทันกับการที่จิตมันจะรับอารมณ์ ก่อนที่มันจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เรามีสติสมบูรณ์ นี่คือสิ่งที่เรียกว่าสติ สิ่งที่เรียกว่าสตินี้ ต้องใช้คู่กันกับสิ่งที่เรียกว่าปัญญา คือสติเป็นเหมือนกับสิ่งขนส่งไปเอาปัญญามาให้ทันเวลา เฉพาะหน้าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การแก้ปัญหาต่างๆนั้นเป็นหน้าที่ของปัญญา แต่สติต้องไปเอามา มิฉะนั้นปัญญามันไม่มา คือระลึกไม่ได้ สติไปเอาปัญญามาเพื่อแก้ปัญหาให้ทันเวลา นั่นแหละมีความหมายอย่างยิ่ง มันเหมือนกับเรามีอาวุธที่ดีมาก แต่ถ้าไม่ได้เอามาใช้ หรือใช้ไม่ทันเวลา มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร มันต้องมีอาวุธด้วย ใช้ทันเวลาด้วย ดังนั้นเราต้องมีทั้งปัญญาด้วย ทั้งสติด้วย สติไปเอาปัญญามาแก้ปัญหาทันเวลา เหมือนกับมีอาวุธ หน้าที่ของสติ คือต้องมีความรู้สึกทันที ในเวลาทันที สำคัญที่สุด ถ้ามันช้าไป มันก็เหลวหมด ทันทีนี้ก็ต้องถูกต้องคือไปเอาปัญญามาให้ได้ แล้วก็ไปเอาปัญญาส่วนที่ตรงกับเหตุการณ์ ปัญญามีมาก มีมาก สติสามารถที่จะเลือกเอาเฉพาะปัญญาที่ตรงกับเหตุการณ์ ที่จะต้องใช้กับเหตุการณ์ นั่นแหละจึงจะสำเร็จประโยชน์ มันจะต้องเร็ว มันต้องถูกต้อง และมันต้องตรงกับเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น หน้าที่ของสติมีอย่างนี้ มองอีกทางหนึ่ง สติมีประโยชน์ในการป้องกัน ป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้น ไม่มีความผิดพลาด ทำให้เกิดเรื่องเสียหาย การป้องกันนี้ดีกว่าการแก้ไข เราทำไม่ให้เรื่องราวเกิดขึ้น ไม่ให้ ความทุกข์เกิดขึ้นนี่ มันดีกว่าความทุกข์เกิดขึ้นแล้วแก้ไข ถ้ารู้จักใช้สติอย่างถูกต้องตามความหมายของสติแล้ว มันเป็นการป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้น ไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้น ไม่ให้ความเลวร้ายหรือวิกฤตการณ์ใดๆเกิดขึ้น นี่เราจะต้องมีสติที่สมบูรณ์ที่สุด ทั้งในแง่การป้องกันและการแก้ไข ถ้ามันจำเป็นต้องแก้ไข แต่ป้องกันดีกว่า อานาปานสติภาวนาช่วยได้ถึงที่สุดในการที่จะทำให้มีสติ
ที่นี้ก็มาถึงเรื่องที่ ๒ คือปัญญา ปัญญาแปลว่าความรู้ เราไม่ต้องรู้หมดทุกเรื่อง เราไม่ต้องรู้หมดทุกเรื่อง เรารู้แต่เรื่องที่จำเป็นก็พอ คือรู้ว่าความทุกข์หรือปัญหาเกิดขึ้นอย่างไร ความทุกข์หรือปัญหาจะดับลงไปได้อย่างไร เรารู้เท่านี้ก็พอ เทียบเหมือนกับว่าใบไม้ทั้งป่า ทั้งป่ารู้กำมือเดียวก็พอ ถ้ามันรู้จริง รู้จริงว่าทุกข์เกิดอย่างไร ทุกข์ดับอย่างไรแล้วมันก็พอ นี่เรียกว่าปัญญา ความรู้ที่เพียงพอสำหรับจะดับทุกข์หรือแก้ไขปัญหา หรือจะป้องกันปัญหาด้วยก็ได้ ความรู้นั้นเราเรียกว่าความจริง เราเรียกว่าความจริง แล้วต้องเป็นความจริงที่ถูกต้อง ความจริงบางอย่างไม่ถูกต้องหรือไม่มีประโยชน์ เราต้องการจะรู้ความจริงที่ถูกต้องแก่การดับทุกข์ เรียกว่าถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง บาลีเรียกว่าสัมมา สัมมาแปลว่าถูกต้อง มันถูกต้องแก่การที่จะดับทุกข์ได้ ถ้ามันไม่ถูกต้องแก่การที่จะดับทุกข์ได้ มันไม่ใช่ความจริงที่เราต้องการ ความจริงที่เราต้องการถูกต้องแก่การดับทุกข์ เช่นความจริงเรื่องอริยสัจ ๔ หรือ ปฏิจจสมุปบาท สอนชัดเฉพาะว่าทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ทุกข์จะดับลงไปอย่างไร เป็นความจริงที่ถูกต้องแก่การดับทุกข์ ขอให้มุ่งหมายเฉพาะสิ่งที่เรียกว่าความจริงที่ถูกต้อง ความจริง สิ่งที่เรียกว่าความจริงมีประโยชน์ที่สุด เมื่อรู้แล้วจะไม่ จิตเราจะไม่ตกไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งที่เรียกว่าดีและชั่ว คือ Dualism ทุกๆคู่ ถ้าเรารู้ความจริงนี้อันนี้แล้ว เราจะไม่ตกเป็นทาสของ Positivism and Negativism แล้วเราจะ Free ที่สุด ที่เรียกว่าหลุดพ้น ถ้าท่านเป็นคริสเตียน ก็ขอให้ท่านนึกถึงคำสอนประโยคเดียว พระเจ้าสั่งเองโดยพระเจ้าเพียงครั้งเดียว ว่าอย่ากินผลไม้ที่ทำให้เกิดความรู้ว่าดี ว่าชั่ว พระเจ้าสั่งเองประโยคเดียวครั้งเดียว สำคัญที่สุด มีความหมายอย่างเดียวกับหลักพุทธศาสนา อย่าตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ Good and evil แต่ว่าชาวคริสต์ไม่ค่อยสนใจคำสอนคำสั่งนี้ของพระเจ้า ไปสนใจคำสั่งสอนของพระJesus Christ ซึ่งมันน้อยกว่าหรือต่ำกว่า มันไม่ถึงขนาดนี้ ขอให้ท่านที่เป็นคริสเตียนย้อนกลับขึ้นมาปฏิบัติตามคำสั่งของพระเจ้า ว่าอย่าไป Disseminate เป็นดี เป็นชั่วแล้วมันจะเกิดปัญหา มันจะเกิดความทุกข์ เราต้องอยู่นอกเหนือปัญหาของดีและชั่ว หรืออยู่เหนืออิทธิพลของดีและชั่ว นี่แหละเป็นยอดสุดของปัญญา เมื่อเรามีความรู้อย่างนี้ ปัญญา ความรู้หรือรู้ความจริงอย่างนี้ไว้มาก ก็เหมือนกับเก็บไว้ สำหรับสติจะได้มาขนเอาไป เฉพาะอย่าง เฉพาะเรื่อง จะไปแก้ปัญหาเมื่อเหตุการณ์เฉพาะหน้ามันเกิดขึ้น เรามีความรู้พอ มากพอ สำหรับสติจะมาเอาไป ส่วนไหนก็ได้ที่มันเหมาะกับเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น ความรู้ส่วนนี้ที่แยกออกไปได้ เหตุการณ์นี้เรียกว่าสัมปชัญญะ คือปัญญาเฉพาะเหตุการณ์ ปัญญาทั้งหมดเรียกว่าปัญญา ปัญญาเฉพาะหน้า เฉพาะเหตุการณ์เรียกว่าสัมปชัญญะ สติเอาปัญญาไปทำสัมปชัญญะแล้วก็ต่อสู้ได้ แล้วก็ไม่มีทางที่จะเกิดทุกข์
ทีนี้เราก็มาถึงสิ่งที่ ๓ คือสมาธิ สมาธิ สมาธินี้เราก็มีอยู่ตามธรรมชาติหรือตามสัญชาตญาณ แต่มันน้อย มันไม่พอ ตามสัญชาตญาณ พอเราตั้งใจจะทำอะไรสมาธิมันก็จะเกิดขึ้น เช่นเราจะยิงปืนหรือเราจะขว้างอะไรสักอย่างหนึ่ง พอเราตั้งใจทำสมาธิมันก็เกิดขึ้น นี่สมาธิตามธรรมชาตินี้มันไม่พอ ต้องให้มากกว่านั้น จึงมีการอบรม จิตให้รวมกำลังกันทั้งหมด เป็นรวมกำลังเหมือนกับว่าแก้วรวมแสง รวมแสงแดดจนลุกเป็นไฟ รวมกำลังในลักษณะนั้น แล้วมันก็มีกำลังแรงและแข็ง ตั้งมั่น แล้วก็พร้อมที่จะทำหน้าที่ จิตที่เป็นสมาธิอย่างนี้พร้อมจะทำหน้าที่ ที่เรียกว่า Activeness มีมากถึงที่สุดในความเป็นสมาธินั่นแหละ ดังนั้นเรามีสมาธิได้เท่าไหร่ ปัญญาจะยิ่งมีกำลังมากเท่านั้น จิตเอง จิตล้วนๆ ก็จะมีกำลังมากขึ้นเท่านั้น นี่เรียกว่าสมาธิเพื่อปัญญาจะมีกำลังถึงที่สุด ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของสมาธิก็คือทำให้เกิดความรู้สึกเป็นสุข เป็นสุขได้ทันที ทันทีที่ต้องการ ทันทีที่ต้องการ อยากเป็นสุขก็ทำสมาธิ สมาธิจะขับไล่อารมณ์ร้ายๆที่เป็นทุกข์ออกไปหมด เราก็จะรู้สึกเป็นสุข ถ้าต้องการความสุขทันทีเมื่อใดก็จงทำสมาธิ สมาธิจะให้ความเป็นสุข นี่เรียกว่าประโยชน์ของสมาธิ และไอ้ความสุข ความสุขนี้ก็จะส่งเสริมปัญญา ความสุขที่เกิดมาจากสมาธินี่ก็จะส่งเสริมให้เกิดปัญญายิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วย สัมพันธ์กันอยู่อย่างนี้ ขอให้พยายามทำให้มีสิ่งที่เรียกว่าสมาธิให้มากพอ แล้วปัญญาก็จะมากพอ เราก็จะแก้ปัญหาต่างๆได้ด้วยสิ่งที่เรียกว่าสติ สติ ปัญญา สมาธิ เขาเป็น Teamwork กัน
สิ่งทั้ง ๓ นี้คือสติ ปัญญา และสมาธิ สามารถจะฝึกฝน อบรม พัฒนาทำให้มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้นจนเต็มเปี่ยมได้ ด้วยการฝึกอานาปาณสติภาวนา ขอยืนยันว่าถ้าท่านประสบความสำเร็จในอานาปาณสติภาวนา ท่านจะมีสติ ปัญญา และสมาธิสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งท่านก็จะได้ปฏิบัติฝึกกันต่อไป ขอแสดงความหวังว่าท่านคงจะประสบความสำเร็จในการปฏิบัติอานาปาณสติภาวนา ขอยุติการบรรยายในครั้งนี้ไว้เพียงเท่านี้.