แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อานาปานสติหมวดที่ ๑ โดยหลักวิชาหรือทฤษฎี พูดกันแล้วเมื่อวาน วันนี้ก็เป็นเรื่องภาคปฏิบัติ ขอให้ได้มีโอกาสฝึกไปเลย
สิ่งแรกก็คือคำว่า ปลฺลงฺก อาภุชิตฺวา นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ คำว่าบัลลังก์น่ะ แปลว่าคู้ขาเข้ามาโดยรอบ ทำไมต้องนั่งบัลลังก์อย่างนี้ เพื่อมันไม่ล้ม ถ้านั่งเก้าอี้อย่างแบบจีนหรือแบบฝรั่งนั้นน่ะ พอมันกึ่งสำนึกหรือเป็นสมาธิ มันจะล้ม พวกจีนเขาก็ยังเขียนชัดภายในวิธีของเขาว่า ให้นั่งอย่างท่านั่งของชาวอินเดีย ก็คือนั่งคู้บัลลังก์ ที่เราเรียกกันว่าขัดตะหมาด ไม่ล้ม แม้จิตจะเป็นกึ่งสำนึกเมื่อมีความเป็นสมาธิ
นี่เขาจึงมีการนั่งที่เป็นเทคนิค มันล้มไม่ได้ อย่างพีระมิด (Pyramid) หรืออียิปต์ ฐานมันกว้าง ยอดมันแหลม มันล้มไม่ได้ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรานั่งที่ถูกวิธีแล้ว มันจะมีลักษณะอย่างนั้น ก็เรียกว่านั่งแบบวัชระ คือแปลว่าเพชร
เหยียดขาออก เอาเลย ที่นั่งอยู่กะพื้น เหยียดขาออกไปข้างหน้า เหยียดขาออกไปข้างหน้า พับขาซ้ายเข้ามาก่อน พับขาซ้ายเข้ามาก่อน แล้วก็พับขาขวาตามเข้ามาทับบนเข่าซ้าย แล้วงัดเอาเข่าซ้าย เอ่อ, งัดเอาเท้าซ้ายขึ้นมาวางบนเข่าขวา ดึง เอ่อ, พับขาซ้ายเข้ามาก่อนชิดตัว แล้วพับขาขวาตามเข้ามาวางลงบนเข่าซ้าย แล้วก็งัดเอาฝ่าเท้าข้างซ้ายมาอยู่บนหัวเข่าข้างขวา
ไปเห็นฝรั่งที่ประเทศพม่านั่งร้องไห้กันเป็นแถว มันทำไม่ได้ มันทำไม่ได้ นั่งร้องไห้กันอยู่ทั้งหญิงทั้งชาย แต่ว่าเราคนไทยนี้โชคดีนะ หัดนั่งขัดตะหมาดอย่างนี้เป็นมาตั้งแต่เล็ก ๆ เล็ก ๆ แม่เคยสอนให้นั่ง อันนี้เรียกว่าท่านั่งแบบเพชร ล้มไม่ได้ แน่นปึกเลย
ที่มันมีความสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็ว่า มันเหมือนกับนั่งบนนวม คุณทำหรือยัง จะเห็นว่าไม่มีกระดูกอันไหนถูกพื้นเลย ตาตุ่มไม่มีทางถูกพื้นเลยเพราะอันนี้ มันขึ้นมาอยู่เสียบนนี้ ข้างล่างเป็นเบาะทั้งนั้น เป็นกล้ามเนื้อทั้งนั้น กล้ามเนื้อแข้ง กล้ามเนื้อก้น กล้ามเนื้อขา กล้ามเนื้อสะโพก ว่ามันเป็นการนั่งบนเบาะอยู่ในตัว ไม่มีตาตุ่มอันไหนที่ลงไปกดกับพื้น มันก็ไม่มีเจ็บ นี่ขอนั่งอย่างนี้
แล้วมือวางตามสบาย บนเข่าก็ได้ ไอ้มือซ้อนก็ไม่ได้มีในพระบาลี มือซ้อนกันเดี๋ยวมือมันร้อนเสียเปล่า ๆ ดังนั้นมือวางบนเข่า ยังจะช่วยเป็นสายระยางล้มไม่ได้ขึ้นไปอีกทาง ถ้าวางมือบนเข่าสองข้างนี่ มันจะล้มไม่ได้ยิ่งขึ้นไปอีก
เอ้า, นี่คือฝึกนั่งแบบที่สมบูรณ์แบบหรือเทคนิคที่สุด ล้มไม่ได้และเป็นนวม เหมือนกับนั่งบน ๆ ๆ ๆ เบาะอยู่ในตัวโดยอัตโนมัติ ถ้านั่งแบบธรรมดานี้ ที่เรียกว่าแบบดอกบัวนั่นนะ มันมีขาข้างหนึ่งอยู่ข้างล่างและตาตุ่มมันถูกพื้น นี่มันง่ายกว่า แต่ว่าประโยชน์น้อยกว่า ทำแล้วเหรอ ยืดขาออกไป ดึงซ้ายเข้ามาก่อน แล้วดึงขวาเข้ามาทับบนเข่าซ้าย แล้วงัดเอาฝ่าเท้าข้างซ้ายมาขัดไว้บนเข่าขวาให้มันแน่นปึก
นี้มีขั้นที่ ๒ มีคำว่า อุชุ กาย ตั้งกายตรง เอ้า, ลองนั่งให้ตรงที่สุด ตัวก็ตรง ก็หมายความว่ากระดูกสันหลังมันไม่ตรง ไอ้ศอกงออยู่อย่างนั้นใช้ไม่ได้ คือยืดไม่หมด ถ้ากายตรงยืดหมด มันไม่มีศอกงอ ไม่มีตัวย่น อย่าทำตัวย่น อย่าทำศอกงอ ยืดตัวขึ้นไปให้สุด ๆ จน ๆ แขนมันตกซื่อ ไม่มีเข่า เอ่อ, ไม่มีเข่างอ เอ่อ, ไม่ ๆ มี ไม่มีข้อศอกงอ อ้า, เป็นบอกว่านั่งตัวตรง แล้วก็อย่าทำให้มันย่น อย่าย่น อย่า ๆ ย่น ๆ ตัว ย่นคอลงมา การทำอย่างนี้ หายใจได้ลึก หายใจได้เป็นระเบียบ เป็นธรรมชาติที่สุด เมื่อตัวตรงก็หายใจสะดวก
ทีนี้ก็เกี่ยวกับตา ลืมตาเหมือนพระพุทธรูปในโบสถ์ พระพุทธรูปที่ทำถูกตามแบบฉบับในโบสถ์ที่มาตรฐาน แล้วก็จะเห็นพระพุทธรูปลืมตาครึ่งหนึ่ง ข้อนี้มันเป็นความลับของธรรมชาติ ถ้าหลับตา มันชวนง่วง ถ้าหลับตา ตามันร้อน ถ้าว่าลืมตาอยู่ ลมอากาศที่มันถูกตาอยู่เสมอ ตามันก็เย็น แล้วมันไม่ชวนง่วง แต่บางคนว่าทำไม่ได้ ลืมตา เขาว่าไปเห็นอะไรเสีย นั่นแหละไม่ใช่นักเลง
ลืมตาที่ดูที่ปลายจมูก พยายามดูที่ปลายจมูก แล้วมันก็ไม่เห็นอะไร เอ้า, พยายามดูสิ่งที่ดูเห็นไม่ได้คือปลายจมูก ลองดู คุณลองดูเดี๋ยวนี้ ดูที่ปลายจมูก ลืมตาดูที่ปลายจมูกไม่เห็นอะไร ถ้าไม่ดูที่ปลายจมูก มันก็ไปดูที่อื่น ไปดูคนดูอะไรเสียอีก ถ้าดูที่ปลายจมูก เพ่งที่ปลายจมูกแล้วตาเบิ่งอยู่ที่ ๆ ปลายจมูกนี่ มันจะไม่เห็นอะไร ถ้าหลับตามันชวน เอ่อ, ชวน เอ่อ, ง่วง และตาจะร้อน แล้วก็จะรำคาญ
ทีนี้ก็นิ่ง นิ่งนั้นมีอยู่ ๒ นิ่ง คือนิ่งเพราะบังคับ ไม่ดี นิ่งเพราะปล่อยเลย ไม่บังคับ นิ่งเพราะบังคับแล้วมันจะอัดขัดอยู่ที่ตรงนั้นแหละ เพราะบังคับ นี้ก็นิ่งอย่างปล่อยเลย จะมีอาการเหมือนลดลงไป บางทีจะรู้สึกคึดอึ๊ดขึ้นมาเลย เอ่อ, รู้สึกคึกลงไปเลย คึกลงไปเลย มันจะมีความว่างมากกว่ากัน นิ่งโดยบังคับให้นิ่งน่ะ ไม่นิ่ง ไม่มีใครนิ่งแท้ นิ่งโดยปล่อยหมด แล้วมันก็นิ่งของมันเองตามธรรมชาติ จะใช้คำว่านิ่งให้ลึกก็ได้ คุณยังนิ่งไม่ลึก ยังนิ่งไม่ลึก นิ่งให้ลึก ๆ จนมัน ๆ จะมีอาการเหมือนกับลด ๆ ๆ ๆ ของมัน แล้วมันก็ว่างมากขึ้น ว่างมากขึ้น นิ่งโดยการปล่อย ไม่ฝึกนิ่งโดยการบังคับ
เอ้า, เราจะบอกกายบริหาร นั่งตัวตรง ไม่เอน ไม่งอ ลืมตาดูที่ปลายจมูก แล้วก็นิ่งอย่างปล่อย แล้วก็หายใจ ทีนี้ก็เริ่มหายใจ หายใจลึก สติ ปริมุข ทีนี้อบรมสติเฉพาะหน้า สติเฉพาะหน้า หมายความว่าสติออกไปข้างหน้า ออกไปรับ ออกไปรับอารมณ์ อารมณ์หรือนิมิตในที่นี่ก็คือลมหายใจ สติออกไปรับอารมณ์เต็มที่ มีอาการว่ามันสงบลง ละเอียด แล้วก็ซึมซาบต่ออารมณ์ คือลมหายใจ ถ้าทำอย่างนี้ สติกับลมหายใจนั้นน่ะ มันจะซึมซาบซึ่งกันและกัน ก็ลองดู
ลืมตากำหนดอารมณ์ นั่งเหม่อมองปลายจมูก ทำเลย ๆ ทีนี้ก็หลับตา ทีนี้ลองหลับตาดูบ้าง จะได้ผลต่างกันมาก ลืมตา ก็บังคับอยู่ด้วยการเพ่งที่ความว่างที่ปลายจมูก พอหลับตา จิตเลื่อนลอยง่ายกว่า แล้วมันก็จะน้อมไปเพื่อความง่วง คุณลองหลับตาดูเดี๋ยวนี้ ลองหลับตาดู มันเป็นยังไง มันจะมีอาการโงนเงนได้โดยไม่รู้สึกตัวถ้าหลับตา ลืมตาเพ่งอยู่ที่ปลายจมูกจะไม่ ๆ คลอนแคลนโงนเงน
เอ้า, บทต่อไป ทีนี้ก็กำหนดลม เราเรียกลมว่าอารมณ์ ก็แปลว่าเป็นที่จิตนี่กำหนด เรียกว่านิมิต เพราะว่าเป็นที่จิตมันเพ่ง ๆ ดู จะเรียกว่าอารมณ์ก็ได้ เรียกว่านิมิตก็ได้ เดี๋ยวนี้ลมหายใจเป็นที่กำหนดของจิต มีเทคนิคหรือมีเคล็ดก็ว่า อย่าไปเครียดครัด เครียดครัดในการกำหนด อย่าทำเครียดครัด แล้วก็อย่าทำหละหลวม อย่าทำหละหลวม
มีความหมาย เครียดครัด มันก็ตั้งใจอย่างเครียดครัด และหละหลวมก็คือปล่อยตาม ๆ เลย ตาม เอ่อ, ตามเลย ให้มันอยู่ตรงกลาง ให้มันพอดี อย่าให้มันเครียดครัด เขาเปรียบว่าเหมือนกับจับลูก ๆ ๆ นกตัวเล็ก ๆ ลูกไก่ตัวเล็ก ๆ จับแรงนักมันก็ตาย จับหลวม ๆ มันก็หลุดมือวิ่งหนีไป ดังนั้นจับอย่างไรพอดี ๆ ๆ กำหนดลมโดยไม่เครียดครัด แล้วก็โดยไม่หละหลวม
ลองดูเดี๋ยวนี้สิ หายใจ ๆ ๆ แล้วก็กำหนดอย่างพอดี ๆ ไม่เหมือนกับบีบคั้น แแล้วก็ไม่เหมือนกับหละหลวม นี้เป็นการปรับปรุงลมหายใจให้พอดี ให้พอดี หลังจากที่เราได้หายใจอย่างสุดโต่งมาแล้ว ทั้งเข้าและออก บอกแล้วแต่เมื่อคืนว่า ซักซ้อมหายใจเข้าสุดเหวี่ยง หายใจออกสุดเหวี่ยง รู้จักว่าหยาบอย่างไร ละเอียดอย่างไร รู้จักว่าหนักอย่างไร รู้จักว่าเบานั้นอย่างไร ทีนี้ทำให้เป็นกลางหมด เป็นกลางหมด ไม่หนัก ไม่เบา ไม่หยาบ ไม่ละเอียด ตามสบายกัน ในชั้นแรกเป็นอย่างนี้ ยังไม่บังคับอะไรหมด แล้วกำหนดลมหายใจตามสบาย
ทีนี้ขั้นที่ ๑ ของอานาปานสติของเรา กำหนดลมหายใจยาว ยาวตามสบาย ยาวตามสบาย ไม่หนัก ไม่กระแทก ไม่กระทั้น แล้วก็มันจะหยาบในชั้นแรกตามธรรมดา เมื่อจิตมันยังไม่สงบ ก็ไม่เป็นไร นี่เราก็กำหนดลมหายใจยาว พูดเป็นคำจำง่าย ๆ ว่า นั่งเป่านกหวีดยาว หมายความว่าถ้ามันจะมีเสียงขึ้นมาบ้าง ก็ไม่เป็นไร อย่าไปสนใจ แต่มันก็เป็นเครื่องช่วย เสียงมันก็เป็นเครื่องช่วย
ทีนี้เราก็จะได้มีโอกาสสังเกต ถ้ายาวก็รู้ว่ายาว ถ้าหยาบก็รู้ว่าหยาบ ถ้าละเอียดก็รู้ว่าละเอียด ถ้าหนักก็รู้ว่าหนัก ถ้าเบาก็รู้ว่าเบา ใช้คำว่าทำความคุ้นเคย ทำความคุ้นเคยกับลมหายใจ ทำความคุ้นเคยกับธรรมชาติของลมหายใจ จนรู้จักว่าธรรมชาติมันเป็นอย่างไร นี่เรียนในหนังสือไม่ได้ ในตำราไม่ได้ ต้องเรียนจากลมหายใจโดยตรง บอกกันก็ยาก
ลักษณะอาการหายใจเป็นอย่างไร มันก็รู้อยู่แล้วว่าเข้าและออก เข้าและออกอย่างไร ดูให้ดี ดูให้ดี ให้รู้จัก แล้วมันมีความรู้สึกต่อสิ่งใดนี่ ข้อนี้สำคัญมาก ลมหายใจน่ะมันหายใจ แต่มันมีอิทธิพลต่อสิ่งใด ต่อร่างกาย ต่อระบบประสาท ต่อความคิดนึก ต่อความรู้สึก ต่ออารมณ์เลวร้ายที่กำลังมีอยู่ในขณะนั้น มันมีอิทธิพลเหนือสิ่งเหล่านั้นนะ
ทีนี้พอเราหายใจได้สะดวกดีตามที่เราต้องการ เป็นลมหายใจยาว จะมีความรู้สึกสบาย จะใช้คำโสกโดกหน่อยก็ได้ว่า อร่อย อร่อยสำหรับผู้ทำสมาธิ ลมหายใจยาวเป็นระเบียบละเอียดนี่ จะสบาย ๆ ๆ มันเป็นอัสสาทะ อัสสาทะแปลว่าอร่อยหรือสบาย หรือว่าถึงกับเป็นเสน่ห์ เอ่อ, คือ ๆ ทำให้เราชอบมัน ชอบมัน ก็อร่อยเพื่อสบาย ลองดูสิ ทำให้ได้สิ แล้วจะชอบมัน จะชอบมัน จะชอบลมหายใจยาวที่ถูกต้อง แต่ไม่ให้ชอบเพื่อหลงรัก หลงยึดถือ ชอบอย่างที่เรียกว่าสบาย เป็นสิ่งสบาย
นั่งเป่านกหวีดยาว ๆ เข้าและออก จนเป็นที่พอใจ มันอาจจะกินเวลาหลายชั่วโมงก็ได้ อย่าอวดดีไป กว่าคุณจะนั่งเป่านกหวีดยาว ๆ ได้นี้ แล้วมันอาจจะหลายวันก็ได้สำหรับบางคน คนที่ระบบประสาทไม่ดี บังคับไม่ค่อยได้นี้ อาจจะกินเวลาหลายวันก็ได้ เพียงแต่ว่านั่งเป่านกหวีดยาว ๆ นี้ มันจะกินเวลาหลายวันก็ได้ ไม่ใช่วันทำวันนี้เสร็จทุกขั้น ๆ นี่อานาปานสติขั้นที่ ๑ ลมหายใจยาว รู้ ๆ จักความหมายของคำว่ายาว รู้จักอิทธิพลของคำว่ายาว ลักษณะของคำว่ายาว รสอร่อยของคำว่ายาวให้ดี ๆ
เอ้า, ทีนี้ก็มาถึงขั้นที่ ๒ เป่านกหวีดสั้น ๆ หรือหายใจสั้นกว่าธรรมดา รู้ไว้เป็นกฎเกณฑ์ธรรมชาติว่าถ้าอารมณ์ของเราปรกติ อารมณ์ดี เราจะหายใจยาวละเอียด ถ้าอารมณ์ร้าย เช่นโกรธ เช่นกลัว เช่นตกใจ เช่นอะไรเหล่านี้ มันอารมณ์เปลี่ยนสั้น ลมหายใจมันจะสั้น พูดอย่างวิทยาศาสตร์ว่า มันต้องการออกซิเจนเร็ว ๆ มันก็ต้องหายใจสั้น ๆ เร็ว ๆ เพื่อได้เข้าไปเร็ว ๆ นี่เป็นความวุ่นวาย ลมหายใจสั้นมี เมื่ออารมณ์มันไม่ดี ถ้าเราจะแก้อารมณ์ไม่ดี ก็ต้องหายใจให้มันยาว
แต่เราจะเป็นนักเลง เราจะเป็นนักเลงกว่านั้นอีกว่า แม้หายใจสั้นเราก็ทำอารมณ์ให้ปรกติได้ ข้อนี้ยากหน่อย ก็ลองดู หายใจสั้นกว่าธรรมดา คือไม่บังคับมัน แล้วให้มันมีอารมณ์ปรกติเหมือนกับหายใจยาวได้ก็ดีมาก ขั้นที่ ๒ กำหนดลมหายใจสั้นนี่ก็เพื่อให้รู้ว่า อารมณ์มันปรกติหรือไม่ปรกติ ถ้าไม่ปรกติ ก็แก้ให้มันปรกติโดยการหายใจยาว ได้ความปรกติแล้ว ก็ทำให้มันหายใจสั้นก็ยังคงปรกติ นี่คือนักเลง นักเลงผู้ประสบความสำเร็จในขั้นที่ ๒
เอ้า, ทีนี้ก็ขั้นที่ ๓ ตัวบทว่าลมหายใจทั้งปวง สพฺพกายปฏิสเวที ทั้งปวงนี่ หมายความว่าทุกอย่าง ไม่ใช่ทั้งหมดของอย่างเดียว ที่แปลเป็นภาษาฝรั่ง มันแปลว่า Whole ไม่ได้แปลว่า All นั้น มันแปลผิด ทีนี้ All All คือทุกชนิด ไม่ใช่ Whole อันเดียวทั้งหมด ไม่ใช่ กายนี่มี ๒ กายอย่างน้อย คำว่ากายแปลว่าหมู่ หมู่ คำว่ากายไม่ได้แปลว่าร่างกาย คำว่ากายแปลว่าหมู่ คือเป็น มันเป็นหมู่แล้วก็เรียกว่ากาย เช่นกองทัพนั่นแหละ เป็นหมู่ ๆ ก็เรียกว่ากายเหมือนกัน พลกายว่ากองทัพ ก็หมู่แห่งคน
กายเนื้อก็อย่างหนึ่ง กายลมก็อย่างหนึ่ง มันเป็นหมู่ทั้งนั้นแหละ ลมหายใจมันก็อยู่ในลักษณะเป็นหมู่ กายเนื้อก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นหมู่ คือธาตุหลายธาตุมาประชุมกัน เรารู้จักกายลมมาดีแล้วตั้งแต่ขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ ว่ามันเป็นอย่างไร แล้วเราก็รู้ว่าอิทธิพลของมันเนื่องลงไปถึงกายเนื้อ เอ้า, ลองหายใจ หายใจยาว มันมีอิทธิพลแก่ร่างกาย แก่ระบบประสาท หรือกายเนื้ออย่างไร เอ้า, หายใจสั้นสิ เดี๋ยวนี้หายใจสั้น มันมีอิทธิพลแก่ร่างกายเนื้ออย่างไร
นี้ต้องทำเป็นด้วยความรู้สึกจริง ๆ นะ ไม่ใช่คาดคะเน ไม่ใช่พูด ไม่ใช่คาดคะเน เดี๋ยวจะเห็นว่ากายลมกับกายเนื้อนี้มันสัมพันธ์กัน ขึ้นด้วยกัน ลงด้วยกัน หยาบด้วยกัน ละเอียดด้วยกัน เบาสบายด้วยกัน หนักอึ้งด้วยกัน อะไรก็แล้วแต่ เพราะมันสัมพันธ์กัน มันมี ๒ กาย กายทั้งปวง เราจึงสามารถทำกายเนื้อหนังให้สงบได้ด้วยการบังคับการหายใจ บังคับลงไปทางการหายใจ เราจะบังคับลงไปที่เนื้อหนังร่างกาย ระบบประสาท มันทำไม่ได้ ทำไม่ได้ ลองดูสิ
แต่เรามีเคล็ดมีอุบายที่จะทำได้ โดยทำทางลมหายใจ ลมหายใจเป็นอย่างไร ไอ้นั่นมันก็จะเป็นอย่างนั้น ลมหายใจยาว ละเอียด ประณีต มันก็สร้างความละเอียด ประณีต และสงบระงับให้แก่กายเนื้อ ความกลัวทำให้หัวใจ ๆ เต้นตึ้ก ๆ ๆ ๆ นี่ เราบังคับมัน บังคับไอ้ ๆ การเต้นตึ้ก ๆ ของหัวใจนั้น ด้วยการหายใจที่ละเอียดประณีต เดี๋ยวมันไอ้ตึ้ก ๆ มันก็หายไป
มีแผลเลือดออกมาก บังคับให้หายใจละเอียด เลือดมันจะไหลออกน้อยเข้า ช้าเข้า นี่เรียกว่า ลมหายใจนี้มันบังคับร่างกาย กายเนื้อนั่นได้ เพราะมันมีอยู่ ๒ กาย เป็นเกลอกัน พยายามหายใจแล้วก็รู้ว่า การหายใจนี้ไปมีอิทธิพลลงที่เนื้อหนังร่างกายระบบประสาทอย่างไร ทำหลายครั้งหลายหน หลายครั้งหลายหน
ทำดูสิ เป็นตัวอย่างเดี๋ยวนี้ว่า พอหายใจยาวน่ะ มันเป็นอย่างไร มันทำความระงับแก่ร่างกายได้ลึก ได้ลึก ได้ละเอียด ถ้าลมหายใจนั้นละเอียดประณีตด้วย มันก็ยิ่งละเอียด ยิ่งยาว มันก็ยิ่งทำให้ละเอียด ประณีตได้ สั้นน่ะมันทำยาก แต่ถ้านักเลงก็ทำได้เหมือนกัน หมายความว่ามันฝึกมาดีแล้ว มันฝึกมาดีแล้ว แต่ไม่มีใครต้องการไอ้อารมณ์ร้ายหรือลมหายใจสั้น มันก็จัดขจัดปัดเป่าออกไปด้วยการหายใจยาว
เมื่อเราหายใจยาว ก็คล้าย ก็รู้สึกคล้าย ๆ ว่าตัวมันยาวออกไปใช่ไหม ตัวน่ะมันยาวออกไป รู้สึกว่าตัวมันยาวออกไป ถ้าเราหายใจสั้นก็จะรู้สึกคล้าย ๆ ว่าตัวมันสั้น ลองดูเดี๋ยวนี้ก็ได้ เรียกว่า สพฺพกายปฏิสเวที รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้ง ๒ กายพร้อมกันอย่างนี้
มันเป็นความรู้ลึกลับของธรรมชาติ ถึงไม่ค่อยมีใครสอน ไม่ค่อยมีใครสนใจ เรียกว่ายังโง่กว่าคนโบราณมากเรื่องนี้ จนเห็นชัดว่า โอ้, มันเกี่ยวพันกันอยู่อย่างลึกซึ้งนะ ไอ้รู้ความเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้งนี่มีประโยชน์ในขั้นต่อไป คือเราจะบังคับระบบประสาทหรือร่างกายได้ด้วยการหายใจ
เอ่อ, ทีนี้ก็มาถึงขั้นที่ ๔ ขั้นที่ ๔ ก็ให้ ๆ บท บทสูตร Formula ว่า วิ่งตาม เฝ้าดู สร้างมโนภาพ บังคับมโนภาพ ๔ คำ ๔ คำ ขั้นที่ ๔ วิ่งตาม วิ่งตาม ตามติด วิ่งตามติด ติด ๆ ก้น อุปมาหน่อยเพื่อจำง่าย เหมือนกับกัดไม่ปล่อย กัดไม่ปล่อย สุนัขมันไล่กัดอะไรคุณเห็นไหม กัดติดแล้วไม่ปล่อย เดี๋ยวนี้เรียกกัดไม่ปล่อย ติดลมหายใจ
เอ้า, ทำเดี๋ยวนี้เลย หายใจยาวเข้า ติดตามอย่างกัดไม่ปล่อยเลย หายใจออกยาว ติดตามมาอย่างไม่ปล่อย กัดไม่ปล่อย ดังนั้นจะมีระยะหยุดนิดหนึ่ง เมื่อเข้าไปถึงที่สุดแล้ว มันก็หยุดเพื่อจะหายใจออก เมื่อออกมาสุดแล้ว มันก็จะหยุดนิดหนึ่งเพื่อจะหายใจเข้า ถ้ามันมีการกัดไม่ปล่อยจริง ๆ มันก็ตลอดเวลาแหละ
เมื่อมันเข้าไป ก็กัดตามหลังเข้าไปนี่ เมื่อหยุดอยู่ มันก็ยังกัดอยู่นี่ เมื่อออกมา กัดออกมา มาหยุดข้างนอก ก็กัดอยู่นี่ มันยังกัดอยู่นี่ หมายความว่า สติกำหนดอยู่ที่ลมหายใจ ไม่ว่าเมื่อมันเข้าไป หรือมันหยุดอยู่ หรือมันออกมา หรือมันหยุดอยู่ หรือมันเข้าไปแล้วมันหยุดอยู่หรือมันออกมา ใช้วิธีกัดไม่ปล่อยกันอย่างนี้ นี่หมายความว่า เราได้ปรับปรุงลมหายใจที่พอใจแล้ว คือมีความยาวเหมาะสม มีความยาวเหมาะสม เพราะไอ้การบังคับ เดี๋ยวนี้ปล่อยเรื่องอื่นหมดแล้ว คงเหลืออยู่แต่บังคับให้จิตตาม
ถ้าใช้คำว่าบังคับ มันค่อนข้างจะวุ่นวาย ใช้คำว่าทำความรู้สึก ปฏิสเวที แปลว่าทำความรู้สึก ใช้คำว่าบังคับนี่ มันมีลักษณะวุ่นวาย จะไม่สงบ ทำความรู้สึกนั่นแหละ ก็คือการบังคับ บังคับจากความรู้สึกหรือบังคับให้รู้สึก แต่การบังคับนั้น ไม่ใช่บังคับชนิดที่เรียกว่าวุ่นวาย ทำความรู้สึกกันแล้ว ทำความรู้สึกต่อลมหายใจ เมื่อแล่นเข้าไป เมื่อหยุดอยู่ เมื่อแล่นออกมา เมื่อหยุดอยู่ เมื่อแล่นกลับเข้าไป ทำความรู้สึก เมื่อคืนพูดว่าเหมือนกับพี่เลี้ยงนอน เอ่อ, ดูเด็กในเปลที่ยังไม่หลับ หันไปหันมา หันไปหันมาอยู่อย่างนี้
ถ้าว่ามันทำไม่ค่อยจะได้ ก็หายใจให้แรง หายใจให้แรงขึ้น แกล้งหายใจให้แรง แต่ไม่ใช่ ไม่ใช่เราต้องการ แต่ว่าในชั้นนี้เราทำไม่ได้ เราจะให้ทำให้ได้ เราหายใจให้แรงเข้า หายใจให้แรงจนรู้สึกเสียงซูดซาด หรือจะมีเสียงวู้ดวี้ดก็แล้วแต่ หายใจให้มันแรงเข้า มันกำหนดง่ายขึ้น เมื่อมันกำหนด ๆ ได้แล้ว ค่อย ๆ ปล่อยไป ๆ ผ่อนลงไปจนไม่ต้องหายใจแรง เพียงแต่หายใจตามธรรมดา มันก็กำหนดได้
มันต้องการความอดทนหน่อยแหละ ไอ้คนขี้เกียจ คนมักง่าย คนผลุนผลัน ทำไม่ได้แน่ ทำไม่ได้แน่ มันก็เลิกทิ้งไปแหละ เลิกทิ้งไปให้ไม่ต้องทำกัน มันต้องการความอดทน ขันตีก็ต้องช่วย มาช่วยกันตอนนี้เอง สติสัมปชัญญะประคับประคองให้ดี ก็มาช่วยกันตอนนี้
สูดลมหายใจให้แรง วิ่งตามได้ง่าย เมื่อวิ่งตามได้แล้ว ก็ปล่อยให้มันปรกติตามสบาย เบาตามสบาย ก็กำหนดได้ ลักษณะหนึ่งเหมือนกับทำเล่น คือไม่เครียด ถ้าเครียดแล้วมันยุ่ง ทำตามสบายเหมือนกับทำเล่น ๆ แต่ไม่ใช่เล่นเหลวไหล
ทีนี้ก็มาเรื่องเฝ้าดู เฝ้าดู หาจุดที่เหมาะที่ลมมันกระทบกำหนดได้ง่าย หายใจดูเดี๋ยวนี้สิ มันออกมาหรือมันเข้าไป มันผ่านตรงไหน ตรงไหนมัน ๆ กลั้นลม ตรงนั้นมันก็เป็นจุดที่ให้ความรู้สึก เราเป็นคนไทยไม่ลำบากเหมือนคนนิโกรที่จมูกมันเชิดขึ้นข้างบน หาที่พบยาก กระทบยาก หาจุดที่ลมกระทบ
ถ้าจิตใจยังหยาบอยู่ หาไม่พบแน่ หาไม่พบแน่ เมื่อจิตใจมันละเอียดพอแล้ว ละเอียดพอแล้ว สังเกตให้ดี ตั้งแต่เมื่อวิ่งตาม วิ่งตาม ยาว ๆ แรง ๆ มันกระทบที่ตรงไหน จับให้ได้ ใช้บนนี้ก็เอาไว้ให้ได้ที่ตรงนั้น แม้ว่าหายใจละเอียดหรือเบาหรือปรกติก็ตาม มันก็ได้ ก็ได้แน่ แต่ว่าคนที่ชอบทำอะไรหยาบ ๆ หวัด ๆ ทำไม่ได้ คนมีนิสัยหยาบ มันจะทำยาก ก็ถือเป็นโอกาสเอาเสียเลย มาแก้นิสัยหยาบ ๆ โง่ ๆ นั้น ให้มันมาเป็นละเอียด ๆ หรือฉลาดเข้าไป การฝึกอย่างนี้
เอ้า, ทำเลยที่นั่งอยู่ ที่นั่งอยู่ข้างล่าง สะดวกให้ทำเลย ทำดู ตายังลืม ยังลืมตาเพ่งอยู่ที่ปลายจมูก แล้วก็หาจุดที่ลมมันกระทบ เอ้า, ทำดู คงทำไม่ได้ง่าย ๆ เดี๋ยวนี้ อาจจะฝึกกันหลายชั่วโมงหรือหลายวันก็ไม่แน่ แม้แต่ฝึกกีฬากายบริหาร เขาก็ยังต้องฝึกกันซ้ำ ๆ ซาก ๆ กว่าจะทำได้ดี จะมีผลดี เดี๋ยวนี้ก็เป็นจิตตบริหาร มันก็ต้องละเอียดประณีตกันสักหน่อย กระทั่งว่าเลิกจากนั่งแล้ว ยืนอยู่ก็ทำได้ เก่งจริงเดินอยู่ก็ทำได้ ถ้าทำได้ หมายความว่าจิตนั้นประณีตละเอียดที่สุด ฉลาดเฉลียวที่สุด
เมื่อพบว่าจุดไหนเป็นจุดที่กระทบ เราก็ระดมไอ้ความสังเกตความรู้สึก ลงไปที่นั่นให้หมดเลย แล้วมันจะชัดเจนยิ่งขึ้น ด้วยการระดมไอ้ความรู้สึก รู้สึก จะรู้ ๆ สึกตัว รู้สึกอะไรแล้วแต่จะเรียก ให้ลงไปที่นั่นให้มากเป็นพิเศษ
เอ้า, ที่นี้ก็มาถึงไอ้ขั้นที่ว่า สร้างมโนภาพ มโนภาพนี่เหมือนกับนิมิตติดตา เราทำอานาปานสติ เราได้เปรียบ คือลมหายใจที่หายใจอยู่เสมอ ไม่ต้องเที่ยวหาบเที่ยวหิ้วอะไร ถ้าใช้ลูกแก้วเป็นเครื่องเพ่ง มันก็ต้องใช้ลูกแก้ว ถ้าใช้พระพุทธรูปเป็นเครื่องเพ่ง มันก็ต้องเที่ยวหอบเที่ยวหิ้วกันอยู่ เมื่อใช้ของภายนอก โดยเฉพาะพวกปฏิบัติกสิณ
ไอ้คำว่ากสิณ มันไม่ ๆ จะไม่พบในพระพุทธภาษิต มันเรื่องแถมพกทีหลัง กสิณมีดวงวงเป็นวง ๆ ดวงแดง ดวงขาว ดวงดำ ดวงอะไร หรือเจาะรูฝาให้เป็นรูเข้า แล้วก็เพ่ง นั่นเรียกว่าอารมณ์ที่นอกตัว ลำบาก ไม่เกี่ยวกับเรา เรามีอารมณ์ในตัว แต่มันก็ต้องยากอีกทางหนึ่ง คือมันละเอียด อารมณ์ที่มันละเอียด ลมหายใจ
กำหนดที่ลมกระทบมากเข้า ๆ ๆ น้อมจิตนึกไปเพื่อจะเกิดความรู้สึกอะไรขึ้นมาที่นั่น ด้วยอาการคือมันเหมือนกับกึ่งสำนึกแหละเดี๋ยวนี้ ความรู้สึกของจิตมันจะเหมือนกับกึ่งสำนึก มันจึงจะน้อมให้เกิดภาพอะไรขึ้นมาได้ที่ตรงจุดนั้น จะเป็นเหมือนกับเพชรวาว ๆ อยู่ที่ตรงนั้น เหมือนน้ำค้างกลางแสงแดดวาว ๆ อยู่ตรงนั้น หรือว่าเป็นรูปรุงรังเช่นใยแมงมุมกลางแดดอยู่วาว ๆ อยู่ที่ตรงนั้น หรือจะเป็นดวงดาวดวงอะไรก็ได้ เรียกว่าไม่ ๆ ใช่ของจริง แต่ว่าเป็นสิ่งที่ต้องมีจริง มันไม่ใช่ของจริง แต่เป็นสิ่งที่ต้องมีจริง เพื่อยกไอ้ฐานะของการบังคับจิตน่ะ การทำความรู้สึกด้วยจิตให้สูงขึ้นไป สูงขึ้นไป
ขอให้สังเกต บางทีภาพเหล่านี้มันมาปรากฎแก่ตาเรา เมื่อ ๆ เราวิ่งเล่น หรือเมื่อทำงานทำการ หรือนอนเล่นก็ได้ ไม่ใช่ทำกรรมฐาน มันก็ยังมีขึ้นมาได้ โดยไม่รู้สึก โดยใต้สำนึก แม้อย่างนั้นก็ยังมีประโยชน์ ถ้ามีภาพอะไรอย่างนั้นเกิดขึ้นมาในเวลาอื่น ฝึกเก็บมันไว้ รักษามันไว้ เพ่งมันไว้ ถ้าว่าคุณเผอิญหลับตาแล้วเห็นหน้าใครที่บ้าน ที่อยู่ที่บ้านที่กรุงเทพนั้นนะ คุณเก็บมันไว้ทันที ฝึก ๆ ๆ ๆ เก็บมันให้ชัด ๆ ๆ ๆ ๆ การฝึกอย่างนี้ก็มีประโยชน์ที่จะทำสมาธิ ในชั้นที่สร้างมโนภาพ
ถ้าว่าจิตมันกึ่งสำนึกหรือมันค่อนข้างจะรวนเรแล้ว มันเกิดง่าย แม้ในความฝันก็เถิด หรือว่าร่างกายไม่ค่อยสบายนี้ มันเห็นได้ง่ายกว่า นั่นมันเป็นเอง เดี๋ยวนี้เราทำให้มันเห็น มันก็นักเลงกว่า มโนภาพที่สวยงามนี่มีสำหรับเพ่ง เมื่อนิมิตอารมณ์นั้นมันละเอียด การเพ่งมันก็ละเอียด กระทั่งเราขยับขยายการเพ่งของเราจากความหยาบเป็นความละเอียด ๆ ๆ ๆ เหลือประมาณ ทีนี้กลายจากวัตถุเป็นจิตใจแล้ว กลายจากเรื่องของวัตถุมาเป็นเรื่องของจิตใจแล้ว
ลมหายใจนั้นมันเป็นวัตถุ มันเป็น Concrete Concrete นี้มาทำให้เป็น Imagination ไม่ใช่ Concrete ไม่ใช่ของวัตถุเสียเลย เก่งนี่ เก่ง ใช้คำว่าเก่ง แต่ไม่ใช่เก่งสำหรับอวดดี นี่เก่งสำหรับรู้ว่า เดี๋ยวนี้มันทำได้ มันทำได้ ไอ้อันนี้มีความสำคัญมากเหมือนกัน ความรู้สึกว่าทำได้นี่ จะต้องใช้ในโอกาสข้างหน้า เพื่อเป็นปีติปราโมทย์อะไรต่อไปโน่น แต่เดี๋ยวนี้ยังก่อน อย่าเพ่อไปนึกถึง ทำให้มันได้ละเอียด ๆ ๆ ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
คนหยาบ คนโง่ ทำไม่ได้ มันละเอียด มันประณีต ดังนั้นถ้าทำได้แล้ว ก็ต้องรักษาไว้ให้มันชัดอยู่ ให้มันแรงขึ้น ๆ อย่างนี้ยิ่งต้องละเอียด ประณีต ประคับประคองมาก ของใหม่ ๆ อย่างนี้ในลักษณะสมาธิก็ดี วิปัสสนาก็ดี มันต้องรักษา รักษา
ใช้คำว่ารักษา คือทะนุถนอมรักษาอย่างดี อย่าให้มันกลับหายไปเสีย ภาพที่เห็นนั้นกลับหายไปได้ง่าย ๆ ถ้าทำอะไรหยาบไปนิดเดียว สะดุดนิดเดียว แต่ถ้าประคองจิตไว้ให้ดี จะรักษาไว้ได้ เหมือนคนประคองขันน้ำใส่เต็มเปี่ยม เดินไปบนหินที่ขรุขระ น้ำไม่หก ต้องการความประณีตสักเท่าไร
อุปมาอันหนึ่งเขาว่าเหมือนกับ นางแก้วรักษาครรภ์ที่จะคลอดบุตรออกมาเป็นพระจักรพรรดิ เราจะเชื่อไม่เชื่อเรื่องนั้นก็ตามใจ แต่เราเอาแต่อุปมา ความหมายอุปมา นางแก้วตั้งครรภ์และรู้ว่า บุตรคนนี้คลอดออกมาจากครรภ์แล้ว จะโตขึ้นเป็นพระจักรพรรดิ นางแก้วก็รักษาครรภ์เป็นอย่างดี ทะนุถนอมทุกอย่าง ทุกทางรอบด้าน เพื่อไม่ให้ลูกในครรภ์มันตาย นิมิตหรืออารมณ์ที่เพิ่งได้อย่างนี้ ตายง่ายเหมือนอย่างนั้น
ถ้าคนมันหยาบ มันรักษาไว้ไม่ได้หรอก ถ้าคนนิสัยหยาบ ๆ รีบแก้ไขเสียเถิด อย่าอวดดี อย่าทำอะไรหวัด ๆ หยาบ ๆ หัดทำงานประณีต ๆ แล้วจะมีประโยชน์เหลือหลายในอนาคต รักษามโนภาพนี้ไว้เป็นอย่างดี ชัดเจนยิ่งขึ้น ชัดเจนยิ่งขึ้น ชัดเจนยิ่งขึ้น
เอ้า, ข้อนี้ก็ขั้นที่ ๔ เปลี่ยนมโนภาพ เปลี่ยนมโนภาพ น้อมจิตไปอย่างไร ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างนั้น เปลี่ยนขนาด เอ้า, ขนาดใหญ่ไป ให้ใหญ่ขึ้นหรือขนาดเล็กลง เปลี่ยนขนาด เปลี่ยนสี เอ้า, สี จากสีที่เป็นอย่างหนึ่งให้เป็นสีที่เป็นอย่างหนึ่ง จากที่แวววาวไม่ให้เป็นแวววาวก็ได้ เขาเปลี่ยนอิริยาบถ คือไม่อยู่กับที่ ให้มันเคลื่อนไป ให้มันลอยไป ให้มันลอยมา ให้มันวนรอบ อะไรก็แล้วแต่ น้อมจิตไปได้อย่างไร มันก็เปลี่ยนอย่างนั้น มันบังคับมโนภาพจริง แต่ที่แท้มันก็คือการบังคับจิตพร้อมกันไปในตัวแหละ
เดี๋ยวนี้จิตของเราจะละเอียดอ่อน มุทุ อ่อนโยน กมฺมนีย สมควรแก่การงาน Activeness Activeness ว่องไวต่อหน้าที่จะมีมากขึ้น เพราะการฝึกอย่างนี้ เพราะการฝึกอย่างนี้ จะมีประโยชน์ทั่วไปหมดแหละ ใช้ทำสมาธิก็ได้ ใช้ทำอะไรโลก ๆ ก็ได้ คือจะมีจิตที่อ่อนโยนนิ่มนวล ควรแก่การงาน
ในชั้นนี้ก็เรียกว่าละเอียดประณีต จะเป็นคุณวิเศษกว่าธรรมดาอยู่แล้ว ในที่สุดก็เลือกเอาภาพใดภาพหนึ่งให้เป็นภาพนิ่งอีก ไม่ใช่ภาพไหว เป็น Static ไม่เป็น Dynamic นิ่ง ๆ แสนที่จะนิ่ง เพ่งอยู่ในมโนภาพที่เหมาะสมที่นิ่ง ๆ ๆ ๆ ๆ มีความนิ่งเกิดขึ้น มีความสงบเกิดขึ้น มีความระงับเกิดขึ้น นี่คือความเป็นสมาธิ สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการอะไรมากกว่านั้น เท่านี้มันก็พอ ทำให้ได้อย่างนี้ ทำให้ได้อย่างนี้ จะรู้สึกต่อสิ่งที่เรียกว่าองค์ฌานได้ในขณะที่นิ่ง
อย่าเข้าใจว่า จิตดวงเดียวคิดเรื่องเดียวได้เท่านั้น ก็ถูกแล้ว แต่มันเปลี่ยนได้อย่างเร็วไม่ทันรู้ มันกำหนดความนิ่งอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก แต่พร้อมกันนั้นจะรู้สึกว่า โอ้, วิตก คือกำหนดอารมณ์ วิจาร คือซึมซาบต่ออารมณ์ ปีติคือพอใจที่เราทำได้ สุขคือสบาย ๆ อย่างที่ไม่เคยพบมาแต่ก่อน แล้วเอกัคคตา แน่นอนที่ว่าจิตมีอารมณ์เดียว มียอดสุดอยู่ที่สิ่งเดียว เอกัคคตา วิตก คือกำหนดที่อารมณ์ วิจาร คือรู้สึกซึมซาบต่ออารมณ์ ปีติ คือพอใจว่าทำได้ สุข คือเป็นสุข ที่เป็นของใหม่นี้ เอกัคคตา อารมณ์เดียวเหลือประมาณ
นี่จิตกว่าจะเป็นอย่างนี้ได้ มันต่อสู้ ๆ เพราะฉะนั้นมันเกิดความรู้สึกอะไรแปลก ๆ เห็นอะไรแปลก ๆ อย่างที่กล่าวแล้วเมื่อวานนี้ อย่าไปสนใจกับมัน เมื่อกับสัตว์ เมื่อเราปล่อยไว้เฉย ๆ มันก็ไม่มีโลดโผนดุร้ายอะไร พอจับมันมัด จับฝึก เดี๋ยวมันก็ดิ้นรน จิตก็เป็นอย่างนั้นแหละ เดี๋ยวนี้มันบังคับมาตามลำดับ ตามลำดับ วิ่งตาม เฝ้าดู สร้างมโนภาพ แล้วก็บังคับมโนภาพได้ จะอยู่ในอำนาจแล้ว อยู่ในอำนาจแล้ว
ทีนี้อย่าลืมคำว่า วสี วสี เราฝึกได้ในขั้นไหน แม้แต่ขั้นต้น ๆ ก็ต้องซักซ้อม ๆ ๆ ๆ เช่นเดียวกับฝึกกีฬา ฝึกได้เท่าไรก็ซักซ้อม ๆ จะฝึกสูงขึ้นไปก็ซักซ้อม ๆ นี้ก็เหมือนกันแหละ วสี แปลว่าผู้มีอำนาจ เพราะว่าเดี๋ยวนี้มีอำนาจเหนือจิต เขาก็จิตอีกนั่นเอง มีอำนาจเหนือจิต จิตที่ประกอบไปด้วยคุณธรรม สติสัมปชัญญะอะไรต่าง ๆ ก็มีอำนาจเหนือจิต ซักซ้อมความที่มีอำนาจเหนือจิตด้วยจิต จิตเองมีอำนาจเหนือจิต ซักซ้อมความที่จิตมีอำนาจเหนือจิตก็ด้วยจิต
นี่เริ่ม ๆ รู้จักจิตไว้ดี ๆ จะได้ไม่เอาเป็นอัตตา จะได้รู้อนัตตาว่า มันสักว่าจิตเท่านั้นแหละ เราบังคับวัตถุหรือร่างกายเท่านั้นแหละ เราไม่มีอนัต ไม่มีอัตตา เจตภูต วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ผีสางอะไรที่ไหน เรื่องเจตภูตนั้นยึดถือกันเหลือเกิน เพราะมันได้รับการสอนก่อน ๆ สิ่งใด แล้วทำให้เชื่ออย่างนั้นได้โดยธรรมชาติโดยง่าย เรามันโง่ว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ในสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่ต้องเห็นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เห็นว่าจิตตามธรรมดา เมื่อฝึกเข้าแล้วมันเป็นอย่างนี้
ทีนี้มันก็เป็นเรื่องที่จะศึกษาเรื่องอนัตตาไป เสียตั้งแต่แรกเริ่มอย่างนี้ ก็ดีเหมือนกัน ที่จริงมันเป็นเรื่องสูง เรื่อง ๆ สูง เรื่องจะหลุดพ้นกันโน่น แต่ว่าตั้งต้นได้แต่ที่นี่และเดี๋ยวนี้ มันง่ายดี เห็นลมสักว่าลม เห็นกายสักว่ากาย เห็นจิตสักว่าจิต เห็นความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นสักว่า ความเปลี่ยนแปลงตามกฎของธรรมชาติ ลมเป็นอย่างนั้น ก็เช่นนั้นเอง ไม่ใช่ ๆ ๆ เจตภูต วิญญาณ มันเป็นอนัตตา ไม่ต้องมีตัวตน นิมิตก็ดี อาการก็ดี อิทธิพลก็ดี นี่กายเนื้อก็ดี กายลมก็ดี เอามาพิจารณาเสียให้หมดว่า มันเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่มีอัตตาตัวตนที่เป็นผู้บันดาล ไม่มีพระเจ้าบันดาล ให้มันสำเร็จอยู่ที่การฝึกตามธรรมชาติ
นี่ขอให้รู้จักทุกอย่างทุกกระเบียดนิ้วที่ได้ผ่านมาในความรู้สึก ลมก็ดี อาการของลมก็ดี ร่างกายก็ดี แม้ที่สุดแต่ว่าไอ้ความระงับ ๆ ๆ สงบลงไปก็ดี ไม่ใช่ผีสางเทวดาที่ไหนมาช่วยบันดาล ไม่ใช่เป็นเรื่องของเจตภูต วิญญาณที่ไหน มันเป็นเรื่องของจิตเนื่องอยู่กับกาย ได้รับการบังคับถูกต้องดีแล้ว มันก็จะหายโง่เรื่องอัตตาว่า มีอะไรศักดิ์สิทธิ์แฝงอยู่
วิธีที่ผิด ๆ โบราณ เขา ๆ เข้าใจกันอย่างนี้พร้อมกันไป เอาไสยศาสตร์มาปนกันเข้า แล้วก็จุดธุปจุดเทียน อ้อนวอนบวงสรวง ขอให้ว่าพระปีติ องค์ฌาน คอยพระปีติมา เชิญพระปีติมา พระปีติมาโปรด อย่างนี้ก็มี นั้นมันเป็นเรื่องผิด ๆ มันเป็นเรื่องเตลิดเปิดเปิง เป็นเรื่องของไอ้แบบที่มันผิด ๆ มัน ๆ ช่วยไม่ได้ มันก็ต้องมีอย่างนั้น เพราะว่าเอาไสยศาสตร์เข้ามาปน
เดี๋ยวนี้เราไม่เป็นอย่างนั้น เห็นชัดตามที่เป็นจริงของสิ่งทั้งปวง ยถาภูตํ ปชานาติ สมฺมปฺปฺาย ปสฺสติ เห็นถูกต้องด้วยปัญญาอันชอบตามที่เป็นจริง นี่ฝึกอย่างนี้ ผู้ฝึกต้องบอกบทให้ เป็นบท ๆ ๆ ยอมเสียเวลาด้วยกัน เดี๋ยวนี้ทำไม่ได้ เพราะคุณให้เวลาชั่วโมงเดียว และเวลานี้ก็ชั่วโมงหนึ่งแล้ว ขอยุติการบรรยาย