แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยาย อานาปานสติภาวนา สำหรับภิกษุนวกะทั้งหลายในวันนี้ จะเริ่มด้วยการปฏิบัติอานาปานสติหมวดที่ ๑ เป็นต้นไป ข้อความเกี่ยวกับเรื่องควรทราบก่อนการทำอนาปานสตินั้น ได้บรรยายมาแล้ว ๓ ครั้งวันก่อน ขอให้เอามาใช้ด้วย
วันนี้ ก็จะพูดถึงตัวอานาปานสติ สิ่งแรกที่สุดที่จะต้องทราบ ก็คือ ชื่อ ชื่อนี้ เรียกว่า อานาปานสติ การทำสติในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้า-ออก มันก็มีธรรมะ หรืออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง กำหนดอยู่ ทุกครั้งที่หายใจเข้า-ออก
การทำอย่างนี้ เป็นเคล็ด เป็นอุบาย เพื่อจะรู้จักสิ่งนั้น เพื่อจะเข้าใจสิ่งนั้น เพื่อจะควบคุมสิ่งนั้นได้ดีที่สุด เอาอะไรมาทำอานาปานสติได้ทั้งนั้นละ เรียกว่าอานาปานสติได้ทั้งนั้นละ ถ้าหากว่ากระทำอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้า-ออก คิดถึงบ้าน คิดถึงใครอยู่ ทุกลมหายใจเข้า-ออก ก็เป็นอานาปานสติ นี่เป็นคำกลาง ๆ อย่างนี้
ทีนี้ในหมวดแรกนี้ ทำอานาปานสติในลมหายใจ จึงได้ชื่อว่า กายานุปัสนา อานาปานสติ สติเป็นเครื่องตามเห็นซึ่งกาย กาย ในที่นี้ หมายถึงกายเนื้อ และกายลม กายลมหายใจก็เรียกว่ากาย กายเนื้อหนัง นี่ก็เรียกว่ากาย แล้วก็เห็นที่กายนั้นเอง ไม่ต้องไปเห็นที่อื่น จึงมีคำว่า “เห็นกายในกาย” จึงมีการกำหนดลมหายใจ ทุกครั้งที่หายใจออก-เข้า เป็นอารมณ์ ในข้อแรก แล้วต่อมา กำหนดธรรมะอื่น ๆ อยู่ทุกครั้งที่หายใจออก-เข้า เราพูดกันติดปากว่า เข้า-ออก หรือออก-เข้า แล้วแต่ใครจะชอบคำไหน
การกระทำนี้ กระทำอย่างที่เรียกว่า ติดตามเห็น อนุปัสสนาแปลว่าติดตามเห็น ติดตามเห็นด้วยสติ จึงเรียกว่าสติปัฏฐาน กำหนดสติตั้งไว้ ซึ่งสติ ก็เรียกว่าสติปัฏฐาน หรือจะเป็นอารมณ์ของสติ ก็ได้เหมือนกัน ทั้งหมดนี้ก็เรียกว่า สมาธิภาวนา ภาวนา แปลว่า ทำสิ่งที่ควรกระทำให้มันมีขึ้นมา เรียกว่า ภาวนา แปลว่า ทำให้เจริญ
ทีนี้สมาธิ สมาธินี้ หมายความว่า ตั้งมั่น แน่วแน่ มีจิตตั้งมั่น แน่วแน่ อาศัยคำที่ใช้กันอยู่แต่ก่อนตามอรรถกถา เป็นคำที่เหมาะที่สุด คือคำว่า “เอกัคคตาจิต” มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เอกัคคตาจิตคือจิตที่รวมกำลังกันเป็นหนึ่งเดียว เหมือนกับแก้วรวมแสงแดดจนลุกเป็นไฟนั้น
มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ หมายความว่า มีความดับทุกข์เป็นอารมณ์ ในระยะยาวข้างหน้าก็มีการบรรลุพระนิพพาน หวังกันอย่างนั้น แม้ปัจจุบันนี้ ชั่วขณะสั้นสั้น ก็มีนิพพานโดยอ้อมเป็นอารมณ์ เพราะว่าสมาธิถึงขั้นฌานนั้นนะ ก็เป็นนิพพานน้อย ๆ ชนิดหนึ่ง โดยปริยาย คำพูดว่า “เอกัคคตาจิต มีพระนิพพานเป็นอารมณ์” นี้ เป็นคำที่ไพเราะมาก ขอให้จำไว้ด้วย นี้เรียกว่าโดยชื่อ เรารู้จักกันอย่างนี้
ทีนี้ก็โดยความหมาย อานาปานสติ ในขั้นกายานุปัสสนาฯ นี้ก็หมายความว่า ทำความรู้จักกับลมหายใจ รวมทั้งกายเนื้อด้วย โดยธรรมชาติ ในทุกแง่ทุกมุม จะรู้จักมันในแง่ไหน มุมไหนได้ก็กำหนดรู้กันในคราวนี้ รู้จักลมหายใจอย่างดีที่สุดในทุกแง่ทุกมุม เดี๋ยวก็จะได้พูด ว่าทุกแง่ทุกมุมนั้นอย่างไร
การกระทำนี้ เป็นไปในลักษณะ จะขอเรียกว่า อย่างวิทยาศาสตร์ คือ ปราศจากไสยศาสตร์โดยสิ้นเชิง ขออย่าได้ทำใจบ้า ๆ บอ ๆ ในลักษณะเป็นของขลัง ของศักดิ์สิทธิ์ พิเศษ ฤทธิ์เดช อะไรอย่างนั้น อย่าไปคิด
ในลักษณะวิทยาศาสตร์ หมายความว่าทำลงไปให้ถูกต้อง แล้วมันเกิดผลขึ้นมาตามธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติ ขอให้ถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เป็นไสยศาสตร์ นี้เรียกว่า โดยความหมาย ไม่ต้องถือเป็นเรื่องลึกลับ และไม่ต้องถือว่าเป็นเพียงพิธีรีตอง ต้องเป็นการกระทำที่มีสติปัญญา กระทำถูกต้อง มีเหตุผลเกิดขึ้น ตามกฎของธรรมชาติ
ทีนี้ ก็จะพูดถึงการเตรียมตัว เตรียมร่างกายเหมาะสม คือมีความสบายดีทางกาย นี้ โดยเฉพาะ จมูก เตรียมพร้อม เพื่อหายใจสะดวก จะมีการล้างจมูกโดยวิธีใดก็สุดแท้ สูดน้ำเข้าไป แล้วสั่งออกมาหลายหลายหน เช่นนั้น จมูกก็พร้อม ที่จะหายใจสะดวก อยากจะพูดว่า แม้ยาดมก็ช่วยได้บ้าง คือ ความมีการหายใจคล่อง
ทีนี้ สถานที่ก็ที่ ที่ทำได้ เราไม่บ้า ๆ บอ ๆ ยึดถืออย่างคนโง่ ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ ต้องอย่างโน้น ต้องเงียบกริบ อย่างนี้ไม่ คือพร้อมเหมาะสมเท่าที่จะทำได้ก็แล้วกัน สิ่งแวดล้อมก็ไม่รบกวน ก็พอสมควร ขอสรุปว่า จะทำได้ทุกสถานที่ ทุกทุกสถานที่ เพราะเมื่อใจมันกำหนดที่อะไรแล้ว มันก็ไม่กำหนดสิ่งอื่นเลย
จึงขอแนะว่า ทำได้แม้ในขณะที่นั่งอยู่บนรถไฟวิ่งไป กึง กึง กึง กึง กึงกึง สามารถจะทำได้ ถ้าเป็นนักเลงแท้จริง ก็ทำได้ถึงที่สุดเหมือนกันละ คือไม่กำหนดสิ่งอื่น ไม่ฟังสิ่งอื่น ไม่รู้สึกต่อสิ่งอื่น กำหนดแต่สิ่งนี้สิ่งเดียวจนลืมสิ่งอื่น เหลืออยู่แต่ที่ลมหายใจ แล้วก็จะขอใช้คำอย่างหนึ่งว่า คำคำหนึ่งว่า “อย่าเคร่งเครียด อย่าเคร่งเครียด” อย่าหมายมั่นปั้นมือ เคร่งเครียด แต่ก็ไม่หละหลวม คือพอดี พอดี
จะใช้คำพูดสำหรับจำง่าย ๆ สักคำหนึ่งว่า “นั่งเป่านกหวีดฟังเล่น” ลมหายใจนั้น เมื่อมีการกระทำที่ถูกต้องแล้ว มันจะมีเสียงบ้างเป็นธรรมดา โยคีในชั้นสมบูรณ์แบบ จะหายใจเหมือนกับเสียงนกหวีดได้ ดัง วี๊ วี๊ ได้ เพราะความชำนาญ เพราะความเหมาะสม เพราะความสะดวก เขาก็มีอาการเหมือนกับว่า นั่งเป่านกหวีด
นี่คือว่ามันไม่จริงจัง มันไม่เครียด ถ้าเครียดแล้ว มัน มันยากที่จะสงบ รำงับ ฉะนั้น ถ้าทำเหมือนกับว่า นั่งเป่านกหวีด ฟังเล่นนั่นละ มันก็จะง่าย คือมันจะพอดี เหล่านี้ เป็นการเตรียมตัว
ทีนี้ ก็จะพูดถึงคำว่า ศึกษา หรือ กำหนด อัสสะสิ สามีติ สิกขะติ สิกขะติ แปลว่า ศึกษา ศึกษานี้ ก็คือ การดู หรือ กำหนดในภายในของตนเอง ด้วยตนเอง สะ แปลว่า เอง แปลว่าภายในก็ได้ สิกขะ แปลว่า ดู ว่าเห็น ว่ารู้ ว่ากำหนด ศึกษา นี่ กำหนดในภายในด้วยตนเอง ของตนเอง
ที่กำหนดก็มีจิต จดลงไปที่นั่น จดจ่อลงไปที่นั่น ก็เรียกว่า กำหนด พร้อมกันนั้น ก็ศึกษา คือทำความรู้กับสิ่งนั้น อย่างสมบูรณ์ ในชั้นแรกก็จะกำหนด ให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าลมหายใจ กำหนดศึกษาให้รู้จักว่า ลมหายใจนั้น คืออะไร ที่จริงคนก็รู้จักกันอยู่แล้วละ แต่ขอให้กำหนดให้แน่ชัด
ลมหายใจนี้ ตามธรรมดาเป็นอย่างไร หรือ เมื่อเรากำหนด บีบบังคับเข้านี้ มันจะเป็นอย่างไร ควรกระทำทั้ง ๒ อย่าง แต่ทีนี้ การที่จะรู้ว่า ตามธรรมดา พอดี พอดีเป็นอย่างไรนั้น มันไม่ค่อยจะแน่ เพราะบางคราวมีอารมณ์ค้างอะไรอื่นเหลืออยู่ การหายใจในขณะนั้น ไม่ใช่ธรรมดา เพื่อการทดสอบให้รู้กันถึงที่สุดว่า ธรรมดาเป็นอย่างไร ก็ลองบังคับให้มันมีการหายใจอย่างสุดเหวี่ยง หรือสุดโต่ง หายใจเข้าอย่างสุดเหวี่ยง หรือสุดโต่ง หายใจออกอย่างสุดเหวี่ยง หรือสุดโต่ง จะยาวอย่างไร เท่าไร ก็รู้ หายใจเข้าอย่างสุดเหวี่ยงนี้ ให้มันพองข้างบน แฟ่บข้างล่าง หายใจออกสุดเหวี่ยงนี้อ่ะ มันแฟ่บข้างบน มันพองข้างล่าง ถ้าอย่างนี้แล้ว ก็เรียกว่าสุดโต่ง แล้วหายใจสุดโต่งดู ด้วยการบังคับ แล้วจึงปล่อยไปตามสบาย นี่ก็จะรู้ว่า หายใจตามธรรมดานั้นเป็นอย่างไร นี่เรียกศึกษามันให้รู้ว่า ตามธรรมดาเป็นอย่างไร ที่ผิดธรรมดานั้นเป็นอย่างไร
กระทั่งกำหนดดูว่า เมื่ออารมณ์สบาย ลมหายใจเป็นอย่างไร เมื่ออารมณ์ร้าย อารมณ์หงุดหงิด ลมหายใจเป็นอย่างไร ก็พอจะรู้ได้ว่า ถ้าร่างกายสบายดี ลมหายใจยาว ละเอียด ถ้าอารมณ์ไม่ปกติ หงุดหงิด ก็พอจะรู้ว่า ลมหายใจมันสั้น และหยาบ อย่างนี้ เป็นต้น
กำหนดรู้ว่า เมื่อมีการหายใจยาวนะ มันมีผล มีอิทธิพล ต่อร่างกาย หรือต่อระบบประสาทอย่างไร ข้อนี้ไม่มากเกินไป แล้วก็เป็นวิทยาศาสตร์ด้วย เมื่อเรามีลมหายใจอย่างยาวนั้น มันมีฤทธิ์ มันมีผลต่อเนื้อหนังร่างกายนี้อย่างไร ทีนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อระบบประสาทนี้อย่างไร และรู้ว่า เมื่อมีลมหายใจสั้นนี่ มันจะมีผล หรือมีอิทธิผลต่อระบบร่างกายอย่างไร ต่อระบบประสาทอย่างไร ข้อนี้ไม่ต้องมีใครสอนหรอก ไปทำเอาเอง กำหนดเอาเอง เดี๋ยวก็รู้ละ เพียงแต่ให้ รู้จักสังเกตเท่านั้น
ทีนี้ก็จะรู้จักธรรมชาติของลมหายใจว่าเป็นอย่างไร ก็รู้ แต่ถ้าไม่หายใจ มันก็คือตาย มันมีอาการอย่างไร มีอาการเข้า-ออก เข้า-ออก นี้มันเป็นธรรมดาอย่างหนึ่ง คือมันจะออกอย่างเดียวไม่ได้ มันจะเข้าอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องวนเวียน ต้องวนเวียน เข้าไป ก็ออกมา ออกมา ก็เข้าไป นี่
กำหนดให้รู้ ให้ดีที่สุด เป็นการหมุนเวียนอย่างไร แล้วมันมีอิทธิพล อิทธิพล มีผลแก่อะไรบ้าง มีผลแก่จิต มีผลแก่ร่างกาย มีผลแก่อารมณ์ร้าย มีอิทธิพลในการที่จะขับไล่อารมณ์ร้ายออกไป เรียกร้องอารมณ์ดีเข้ามา พูดให้ง่ายหน่อยก็ว่า ไล่ความทุกข์ที่ขุ่นข้องอยู่ในใจออกไป เรียกร้องมาซึ่ง ความสงบ ความสุขใจ เย็นใจนี้
เดี๋ยวนี้เป็นผู้มีอำนาจพอที่จะใช้ลมหายใจไล่อารมณ์ร้ายออกไป เรียกอารมณ์ดีเข้ามานี่ เก่งมากนะ เหมือนกับพระเจ้านะ หายใจทีเดียว อารมณ์ร้ายออกไปหมด หายใจทีเดียว อารมณ์ดีเข้ามา นี่หมายความว่า เมื่อฝึกได้ดีแล้ว มันจะเป็นอย่างนั้น กำหนด ศึกษา สิ่งเหล่านี้ หรือเป็นหัวข้อสำหรับศึกษา อย่างนี้
ทีนี้ ถ้ามันเผอิญ มันมีอะไรประหลาดประหลาดเกิดขึ้นในความรู้สึก ข้อนี้เป็นธรรมดา ตามธรรมชาติ เพราะว่าจิตธรรมดามันไม่ถูกบังคับนี่ มันอิสระเสรีนี่ จิตตามธรรมดานี่ ทีนี้ พอจับตัวมาฝึก มาบังคับ มันก็ต่อสู้ มันก็ต่อสู้ มันก็เกิดความปั่นป่วน ในระบบประสาทบ้าง อาจจะรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ อาจจะรู้สึกประหลาด ประหลาดนะ
บางทีมันจะรู้สึกเหมือนไม่หายใจเลยก็มี บางทีมันจะเห็นนั่นเห็นนี่ ถ้าเป็นคนขวัญอ่อน มันก็จะกลัวบ้าง อะไรบ้าง หรือมันอาจจะเห็นอะไรแปลกแปลก ประหลาด ตามอุปาทาน ที่มีอยู่ก่อนนั้น มันก็เห็นอะไรได้
ทีนี้คนมาถามเรื่องนี้มากมายเลย บอกไม่เป็นไร อย่าไปสนใจมันกับมัน อย่าไปสนใจมัน ชั้นไม่ต้องการ บอกว่าอย่างนั้น ถ้ามีอารมณ์อะไรประหลาด ประหลาดเกิดขึ้นในความรู้สึก ก็บอกว่า ฉันไม่ต้องการ ก็ตัดบทเสียว่า มันเเป็นเพียงความรู้สึกการต่อสู้ของจิตตามธรรมชาติ เมื่อไปบังคับมันเข้า
ยกตัวอย่างเช่นว่า สัตว์นี่ ปล่อยไว้ตามปกติ มันก็ไม่มีอะไรแปลก น่าดู ทีนี้ พอไปบังคับมันเข้า มันก็จะต่อสู้ สุนัขก็ดี แมวก็ดี อะไรก็ดี เอามาลองดู พอไปบังคับมันเข้า ไปล่าม ไปผูกมันเข้า มันก็มีการต่อสู้ การต่อสู้ของจิต เมื่อถูกบังคับนั่นละ คือสิ่งแปลกประหลาดที่จะเกิดขึ้น
ในขณะที่เราเริ่มบังคับลม บางที คนนั้นมันก็ประสาทไม่ค่อยจะดีอยู่แล้ว พอมาเริ่มต้นกำหนดลม ก็มีปฏิกิริยาอะไรออกมา ก็แปลกประหลาด บางคนก็กลัว บางคนก็เลิกเลย อย่าไปเข้าใจอย่างนั้น
และสิ่งพิเศษนี้ มันก็มีแปลกแปลก แตกต่างกัน ตามลักษณะของบุคคล ไม่เหมือนกันหรอก มันก็ไม่ต้อง ไม่ต้องสนใจเลย ใช้คำว่า “ไม่รู้ ไม่ชี้ ไม่รู้ ไม่ชี้ ทำต่อไป ทำต่อไป” มันรบกวนนัก ก็ไปลุกขึ้นเดิน ลุกขึ้น ดัดตัว ลุกขึ้นทำอะไรเสียใหม่ มานั่งลง ทำใหม่
ในจิตมุ่งแต่ความสงบอย่างเดียว อย่าไปมุ่งจะเห็นนั่นเห็นนี่ อะไรพิเศษ อย่าไปมุ่งอย่างนั้น มุ่งแต่ความสงบอย่างเดียว เหมือนกับคำกล่าวทีแรกที่ว่า เอกัคคตาจิตมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เอกัคคตาจิตมุ่งต่อความสงบเป็นอารมณ์
ถ้ามันผิดปกติมากเกินไป มัน ก็หมายความว่า ต้องไปหาหมอน่ะ คือไปถาม ปรึกษาอาจารย์ก็ได้ นี่หมายความว่ามันผิดปกติจนมากเกินไปนะ แสดงว่าคนนั้นมันไม่ปกติโดยอย่างอื่นด้วย นี่คือข้อที่ว่า ถ้าอะไรผิดปกติเกิดขึ้น จะแก้ไขมันอย่างไร
ทีนี้ ก็มาถึงตัวการฝึก ระบบการฝึก บทเรียน หรือบท exerciseหมวดที่ ๑ กายานุปัสสนาฯ ก็แบ่งเป็น ๔ ขั้น นี่ ศึกษาคู่มือ หลักเกณฑ์ รู้ล่วงหน้าแล้วว่าแบ่งเป็น ๔ ขั้น ขั้นที่ ๑ บังคับลมหายใจยาว ไม่ใช่บังคับ ใช้คำผิดแล้ว กำหนดลมหายใจยาว
ขั้นที่ ๒ กำหนดลมหายใจสั้น ขั้นที่ ๓ กำหนดความที่ลมหายใจ คือกายลมน่ะ กับร่างกาย หรือกายเนื้อนี้ มีความสัมพันธ์กัน จึงเกิดมีกายเป็น ๒ กาย กายลม กายเนื้อ เรียกว่า กายทั้งปวง
ขั้นที่ ๔ กำหนดความที่กายลมระงับ แล้วกายเนื้อก็พลอยระงับ สั้นสั้นว่า บทเรียนที่ ๑ ลม กำหนดลมหายใจยาว ศึกษามัน บทเรียนที่ ๒ กำหนดลมหายใจสั้น ศึกษามัน บทเรียนที่ ๓ กำหนดความที่มีกาย ๒ กายสัมพันธ์กันอยู่ ศึกษามัน ขั้นที่ ๔ กำหนดการที่มันระงับลง ระงับลง ระงับลง ด้วยการอย่างไร ก็ศึกษามัน ศึกษามัน
ตามปกติ ลมหายใจยาว มันก็ละเอียดเป็นธรรมดา และกินเวลานาน เมื่อเรากำหนดรู้ หยาบ ละอียด รู้เบา รู้หนัก แล้วมันก็รู้ได้เอง ว่าลมหายใจยาวนี่ มีความยาว มีความละเอียด มีความเบา ลมหายใจสั้นนั้นน่ะ มันก็มีทั้งหยาบ ทั้งละเอียด ทั้งเบา ทั้งหนัก แต่ส่วนมาก มันหยาบและหนัก เป็นธรรมดา ลมหมายใจสั้น ศึกษามัน
ทีนี้เมื่อลมหายใจเป็นอย่างไร มีผลต่อระบบประสาท และต่อระบบร่างกายนี้ มันก็สัมพันธ์กันอยู่ ถ้าไม่สังเกตให้ดีโดยละเอียดแล้ว จะไม่รู้สึก ถ้าทำกันอย่างโง่เขลา มันก็จะไม่รู้สึก ถ้าทำกันอย่าง กันอย่างผู้สังเกต ละเอียดลออ มันก็จะรู้สึกว่า โอ้ มันไปตามกัน มันไปด้วยกัน มันสัมพันธ์กัน
ทีนี้ ก็มาถึงการทำให้ระงับ การทำให้ระงับ มันเป็นเทคนิค หรืออะไรที่เรียกกันเดี๋ยวนี้ว่า เทคนิคละ มันมีการจำกัด รัดกุม มีความถูกต้อง ที่จำกัด ต้องถูกต้องตามนั้น มันจึงจะได้ผลตามนั้น มันเป็นเทคนิคที่ธรรมชาติกำหนดไว้ ไม่ใช่มนุษย์กำหนดนะ มันเด็ดขาดมากที่ว่า ธรรมชาติมันกำหนดไว้
จะเรียกเป็นภาษาไทย ไทย ๆ เราง่าย ๆ ก็ได้ว่า เคล็ด ไอ้คำว่า “เคล็ด” นั่นละ คือคำว่า เทคนิค คือจะรู้จักอะไรก็แล้วแต่เถอะ จะใช้คำนั้น รู้จักกำพืด รู้จักธรรมชาติ รู้จักอะไรของมัน ว่ามันเป็นอย่างไร จะต้องทำกับมันอย่างไร โดยเฉพาะเจาะจงก็เป็นเคล็ดแห่งการบังคับ ควบคุมลมหายใจ นี่ คือสิ่งที่เรียกว่า “เทคนิค”
ทีนี้ กำหนดไว้ สั้น ๆ จำง่าย มีวิธีวิ่งตามลมไป สตินะ วิ่งตามลมไป แล้วก็หยุดวิ่งตาม เฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง นี่เรียกว่าเฝ้าดู เสร็จแล้วที่จุดนั้นนะ สร้างมโนภาพขึ้นมา หรือมันจะปรากฎขึ้นเอง โดยความน้อมนึกเพียงเล็กน้อย ก็เรียกว่าสร้างมโนภาพขึ้นมา ที่จุดนั้น ทีนี้ก็บังคับมโนภาพนั้น ให้เปลี่ยนแปลงไปได้ตามที่ต้องการ
๔ คำนะ วิ่งตาม เฝ้าดู สร้างมโนภาพ บังคับมโนภาพ เอ้า พูดถึงคำว่า “วิ่งตาม” มีการหายใจเข้า-ออก เข้า-ออก สิ่งที่จะวิ่งตามน่ะคือสิ่งที่เรียกว่า “สติ” คือการกำหนดตาม ติดหางเรื่อย นี่เพราะมันเป็นการ ขั้นแรก คือลงมือทำ ทำอย่างอื่นไม่ได้หรอก ทำไม่เป็นหรอก
ขั้นแรกก็วิ่งตาม...ติดเรื่อยไป หายใจเข้า ก็วิ่งตามเข้าไป หายใจออก ก็วิ่งตามออกมา สมมตินะ อีกจุด ตั้งต้น เอ่อ ข้างนอกก็ที่จงอยจมูก ที่ลมกระทบ ข้างในก็ความรู้สึกที่ท้อง ที่สะดือ เป็นสมมติว่า ให้ลมหายใจไปหยุดที่สะดือ นั้นไม่ใช่ความจริงหรอก ความจริงมันอยู่ที่ปอด เดี๋ยวนี้ความรู้สึกที่เราจะมากำหนดในการฝึกฝนนี้ ตั้งต้นที่ปลายจมูก ด้านนอก แล้วด้านในก็ที่สะดือ วิ่งจากปลายจมูกเข้าไปสุดที่สะดือ วิ่งจากสะดือไปสุดที่ปลายจมูก ที่ปลายจมูกนั้น ลมกระทบที่ตรงไหน ก็เอาที่ตรงนั้นละ ถ้าตามปกติ ก็กระทบที่ปลายจงอยจมูกสุดข้างในนี่ แต่ถ้าเป็นคนนิโกร จมุกมันเชิดขึ้นข้างบนนี่ มันก็คงจะออกมากระทบที่ริมฝีปาก..ข้างบน เอาแห่งหนึ่งก็แล้วกัน ไม่ต้องถามใครอ่ะ มันกระทบสุดท้ายที่ตรงไหน ก็เอาที่ตรงนั้นละ
นี่ วิ่งตาม วิ่งตาม นี่เป็นการเริ่มบังคับจิตแล้ว ก่อนนี้จิตมันไปไหนตามชอบใจของมัน เหมือนกับลิง กระโดดโลดเต้น ไปทั่วป่า เอ้า เดี๋ยวนี้มาให้ดู กำหนดอยู่ที่ลมหายใจ นี่เรียกว่า มันจะต่อสู้แล้ว จิตมันจะไม่ยอม มันดื้อดึง มันจะต่อสู้ มันจะเกิดความปั่นป่วนทางระบบประสาท เห็นอะไรแปลกแปลก จะบอกได้ว่า อย่าไปสนใจกับมัน
กำหนด วิ่งตาม วิ่งตาม ไม่ขาดตอน ไม่ขาดตอน ในชั้นแรกอย่าประมาท ต้องทำอย่างไม่ขาดตอน เปรียบเหมือนกับว่า พี่เลี้ยงระวังเด็กเล็กเล็ก ที่จับใส่เปลให้นอน เมื่อเปลมันแกว่งไปแกว่งมาอยู่อย่างนี้ พี่เลี้ยงก็ต้องส่ายตา ไม่ขาดตอน แกว่งไปแกว่งมา เพราะเด็กมันยังไม่หลับ มันจะพลัดตกลงมาเมื่อไรก็ได้ ฉะนั้น เราจึงกำหนดทั้งเข้าตลอดสาย ออกตลอดสาย เข้าตลอดสาย ออกตลอดสาย ซึ่งพี่เลี้ยง ควบคุมเด็ก จะต้องทำอย่างนั้น
ต่อเมื่อเด็กมัน มัน มันง่วงแล้ว มันนอนแล้ว มันจะไม่ลงจากเปลแล้วนี่ จึงค่อยเปลี่ยน ให้มันง่ายเข้ามาหน่อยว่า ไม่ต้อง ไม่ต้อง แกว่งไปแกว่งมา กำหนดเฉพาะเมื่อเปลมันมาถึงตรงหน้าเราก็แล้วกัน กำหนดที่เดียวก็แล้วกัน นี่มันจะเปลี่ยนเป็นเฝ้าดู ไอ้วิ่งตาม ก็จะเปลี่ยนเป็นเฝ้าดู จุดที่เหมาะสม เมื่อเปลมันอยู่ตรงหน้า ก็ดูแต่ตรงนั้น มันออกไปก็ช่าง
เดี๋ยวนี้ก็ดูที่เหมาะที่สม เหมาะสมที่สุดก็ที่จงอยจมูกน่ะ จุดด้านนอก กำหนด เอ่อ เฝ้าดูอยู่ที่ตรงนั้น เหมือนกับคนเฝ้าประตู มันจะเข้าไปไหน มันจะออกไปไหน ไม่ต้องรู้อ่ะ เฝ้าที่ประตูก็แล้วกัน อย่างนี้เรียกว่า “เฝ้าดู” เฝ้าดูด้วยสติ เป็นเรื่องทางจิต ทางวิญญาณ ไม่ใช่เฝ้าประตูอย่างคนเฝ้าประตู ด้วยทางวัตถุ ร่างกาย แต่ว่าเปรียบเทียบกันได้ มันเฝ้าในลักษณะอย่างนั้นน่ะ คือมันเฝ้าดูอยู่ที่จุดนั้น
ฉะนั้นโดยธรรมชาติ มันก็จะเกิดการกำหนดรุนแรงรุนแรงรุนแรง ขึ้นที่ตรงนั้น เข้มข้นขึ้นที่ตรงนั้น จนสามารถจะทำความรู้สึกเป็นพิเศษออกมา หรือว่าเราจะต้องการประกอบเข้ามาด้วย มันก็จะยิ่งง่ายที่มันจะเกิดมโนภาพอะไรขึ้นที่จุดนั้น ถ้ามีความสงบระงับมากพอสมควร สามารถจะสร้างมโนมภาพขึ้นได้ที่จุดนั้น
มโนภาพนั้นจะเป็นภาพอะไรก็ได้ ตามความเหมาะสมของระบบร่างกาย ระบบประสาทของบุคคลนั้น จะเห็นเป็นดวงขาวก็ได้ หรือจะเห็น เป็นเหมือนกับ เพชร แววแวว ๆ หยดน้ำค้าง กลางแสงแดด เหมือนใยแมงมุมทอแสงอยู่กลางแสงแดด อย่างนี้ก็ได้ มันไม่แน่ มันเห็นอะไรเหมาะสม ก็ถือเอา นี่ก็เรียกว่าสร้างมโนภาพขึ้นมาได้สำเร็จที่จุดนั้น
แน่ นิ่ง แน่ว นิ่ง นิ่ง แน่ นี่ก็เก่งมากพอแล้วนะ แต่อย่าอวดดี วิ่งตาม ก็ไม่ใช่น้อยนะไม่ใช่ ไม่ใช่ง่ายนะ บางคนทำไม่ได้นะ นี้ เฝ้าดูอยู่ที่ตรงนั้น จุดนั้น ก็ยิ่งทำยากกว่า ทีนี้ สร้างมโนภาพขึ้นมา มันก็ยิ่งยากกว่านะ ทีนี้ ที่ยากไปกว่านั้นอีก ก็คือน้อมจิตไปเพื่อเปลี่ยนแปลงมโนภาพนั้น ภาพที่เห็นนั้น ให้มันเปลี่ยนแปลงตามความน้อมนึกได้ ให้มันเปลี่ยนขนาด ใหญ่-เล็กได้ ให้มันเปลี่ยนสีต่างต่างได้ ให้มันเปลี่ยนอิริยาบถ คือ มันเคลื่อนออกไปก็ได้ ให้มันมาก็ได้ ให้มันลอยไปมาก็ได้
นี่ นี่เรียกว่ามันถึงขนาดที่บังคับได้มาก บังคับได้เต็มที่ จะเรียกว่าบังคับจิตก็ได้ บังคับความรู้สึกก็ได้ บังคับอะไรก็แล้วแต่เถอะ แม้แต่ระบบประสาท มันก็ถูกบังคับ มันสามารถจะบังคับภาพที่เห็น โดยมโนภาพ imagination ได้ นี่เรียกว่า ๔ บท ๔ บท ๔ บทเรียน จะใช้เวลาเท่าไร มันก็บอกไม่ได้อะ มันบอกไม่ได้ บางที บทเรียนแรก ก็ทำเป็นวันวันก็ได้
เราจะไม่น้อมนึกนำหน้า แต่เราจะทำไปตามลำดับ แต่ก็รู้อยู่ว่า มันจะต้องไปอย่างนั้นละ แต่เมื่อรู้ล่วงหน้า แล้วน้อมนึกเอาล่วงหน้านั้นนะ มันจะยุ่งหมด มันจะล้มละลาย ไม่ต้องน้อมนึกล่วงหน้า กำหนด กำหนด กำหนด ตามเทคนิคของมัน เมื่อวิ่งตาม ก็ไม่รู้ไม่ชี้ จะคอยแต่วิ่งตาม วิ่งตาม วิ่งตาม
มาถึงจุดเฝ้าดู ก็ไม่รู้ไม่ชี้อะไร ก็เฝ้าดู เฝ้าดู แล้วก็สร้างมโนภาพ ก็ยิ่งละเอียด ละเอียดอ่อนมาก มันเป็นผู้ที่มี มัน การฝึกนั่น มีผลมากขึ้นแล้ว มีสมรรถนะมากขึ้นมาแล้ว ก็มาถึง เปลี่ยนแปลงได้ตามประสงค์ ก็เรียกว่า ความสำเร็จมาตั้งครึ่งตั้งค่อนแล้วละ
๔ คำจำให้มั่น วิ่งตาม เฝ้าดู สร้างมโนภาพ บังคับมโนภาพให้เปลี่ยนแปลง นี่ ตอนที่ยาก
เอ้าทีนี้ก็ต่อไป บังคับได้ตามที่ต้องการแล้วก็ มาถึงขั้นนี้ ก็ว่า ไม่เอาแล้ว ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่บังคับ ไม่อะไรแล้ว เลือกเอามโนภาพอันใดอันหนึ่งที่เหมาะสมที่สุด ที่สบายที่สุด แก่เรา เอาอันเดียวแล้ว นิ่ง นิ่งอย่างเดียวแล้ว ทีนี้ นิ่งอย่างเดียว มานิ่งกันใหม่อีกที นิ่งแน่ว นิ่งแน่ว นิ่งแน่ว ที่มโนภาพ ที่เลือกแล้ว ได้สำเร็จแล้วนี้ กำหนด กำหนด จะเรียกชื่ออย่างไรไม่สำคัญละ บางคนเรียกว่า “อุคหนิมิต” บ้าง “ปฏิภาคนิมิต” บ้าง ไม่อยากจะใช้คำอย่างนั้นให้มันยุ่งยาก แต่ถ้าจะเข้าใจก็ว่า ที่มันติดตาติดใจในมโนภาพนั้นน่ะ เป็นอุคหนิมิต ที่มันเปลี่ยนแปลงได้นั้นน่ะ เป็นปฏิภาคนิมิต แต่ไม่อยากให้ไปจำชื่ออย่างนี้ให้ยุ่งยากรุงรัง
ให้เราก็มีมโนภาพที่เหมาะสมที่สุด ที่จะเอามาใช้เป็นอันสุดท้าย เพื่อกำหนดแน่วแน่อยู่ที่มโนภาพอันนั้น ความเป็นสมาธิมันก็จะถึงที่สุด มัน มันใกล้ความเป็นฌานเข้าไปแล้วละ จะเรียกว่าอุปจารสมาธิ หรืออะไรก็สุดแท้ ไปยุ่งยากกับชื่อ กับคำ นี่มันก็ทำให้มันยุ่งยากเหมือนกัน แต่เขาชอบกันนักหนา ชอบจะอวดเสียด้วย
มโนภาพที่แน่วแน่ กำหนดเป็นอันสุดท้ายนี้ จะให้ความรู้สึกออกมาได้เป็น ที่เรียกว่า “องค์ฌาน” องค์ฌาณ ถ้าเราจะมีความรู้สึกสักส่วนหนึ่ง กำหนดองค์ฌาน มันก็ทำได้ ในขณะที่แน่วแน่อย่างนั้นนะ พอจะรู้สึกว่าเดี๋ยวนี้ จิตกำหนดอยู่ที่อารมณ์ อารมณ์คือมโนภาพที่เลือกสรรดีแล้ว เรียกว่าวิตก กำหนดอยู่ที่อารมณ์เรียกว่าวิตก
ทีนี้ รู้สึกต่ออารมณ์นั้นว่าเป็นอย่างไร นี่เรียกว่าวิจารณ์ วิจารณ์ ทีนี้ ความรู้สึกจะเกิดขึ้นนิดนิด คือพอใจในความสำเร็จที่ทำได้ นี้เรียกว่า ปีติ คือ พอใจที่ทำได้ ในความรู้สึกส่วนหนึ่ง จะรู้สึกว่าเป็นสุข สงบเย็น เป็นสุข แล้วก็รู้สึกอีกอันหนึ่งว่า โอ้เดี๋ยวนี้จิตเป็นเอกัคคตา เอกัคคตา เอกัคคตาแปลว่า มีอารมณ์อันเดียว อยู่ที่นั่นอารมณ์อันเดียว อย่างเดียวที่นั้น
คำว่า “เอกัคคตา” นั้น แปลว่ามียอดเดียว มียอดยอดเดียว เหมือนกับเจดีย์ มันมียอดกี่ยอดคิดดูละ มันยอดเดียวเท่านั้นละ มันจะมีฐานกว้างเท่าไรก็ตามใจมันเถอะ แต่ว่ายอดสุดมันยอดเดียว
ทีนี้เอกัคคตาจิต จิตมียอดเดียว ยอดเดียว อยู่ที่อารมณ์ ที่เรากำหนดเอานั่นนะ พอจะทำความรุ้สึกได้ในชั้นนี้ ก็เลยเรียกว่า รู้สึก หรือกำหนดต่อองค์ฌาน
ถ้าทำ ถ้าจิตไม่ประณีต จะทำไม่ได้ ถ้าจิตประณีต จะทำได้ รู้สึกว่ากำหนดอารมณ์อยู่ ก็รู้สึกทุกครั้งที่หายใจเข้า-ออก วิจารณ์ รู้สึกต่ออารมณ์อยู่ ก็ทุกครั้งหายใจเข้า-ออก ปีติก็ทุกครั้งหายใจเข้าออก สุขก็ทุกครั้งหายใจเข้าออก เอกัคคตาก็ทุกครั้งหายใจเข้าออก
นี้เป็นเครื่องวัดว่า สมาธินี้ถูกต้อง ขึ้นมาถึงขั้นที่จะเป็นฌาน ฌานนี่ มีความหมายว่าเพ่ง ทั่วไปก็ได้ เพ่งกำหนดเป็นเอกัคคตาจิตก็ได้ เพ่งอย่างเอกัคคตาจิตนี่ จะเป็นฌาณที่สมบูรณ์ตามความหมาย
ถ้าจิตยังมีความรู้สึกถึง ๕ อย่าง อย่างนี้ ก็เรียกว่า ฌานทีแรก ฌานที่หนึ่ง หรือปฐมฌาณ
ต่อมา ก็มาเห็นว่า โอ้ตั้ง ๕ อย่างนี้นะ รบกวน หยาบ ทิ้งไปเสียสัก ๒ อย่างก่อน คือความรู้สึกว่ากำหนดอารมณ์ รู้สึกอารมณ์ทิ้งไปเสียก็ได้ เหลือแต่ปีติ พอใจ เป็นสุข และเอกัคคตา นี่ก็เรียกว่าสูงขึ้นมา เป็นฌานที่ ๒
ทีนี้ก็ ไอ้ปีติกับสุขนี่ รบกวน ฟุ้งซ่านนะ ไม่เอา ปีติทิ้งไป ไอ้สุขก็เปลี่ยนเป็นอุเบกขา นี่เขาก็กำหนดมา เหลือแต่อุเบกขากับเอกัคคตา เป็นฌานสุดท้าย หรือฌานที่ ๔ ฌานที่ ๓ เอาปีติออกไป ความรู้สึกเป็นสุข เริ่มจะเปลี่ยนเป็นอุเบกขา
ไม่ต้องถามใคร ไม่ต้องอาศัยตำรา ไม่ต้องอาศัยอะไร รู้ด้วยตนเองว่า มันจะมีความรู้สึก ๕ อย่างนี้ มากนักก็ตัดออกไป ตัดออกไป ตัดออกไป จนเหลือแต่ความรู้สึกเฉยเฉย ไม่สุข ไม่ทุกข์ แล้วก็ความมีอารมณ์เดียว ในความเป็นอุเบกขา นี่ จะประสบความสำเร็จ ถึงที่สุด ของสิ่งที่เรียกว่า “ฌาน”
จัดไว้ในลักษณะสูงกว่าที่มนุษย์ธรรมดาจะทำได้ เรียกว่า “อุตริมนุษยธรรม” เป็นถึงขนาดที่ว่าไม่ต้องอวด ไม่อวด ถ้าอวดเป็นปาราชิก ของผู้ที่มี สมณะธรรม หรือมี สมาธิ เป็นต้น
วิ่งตาม เฝ้าดู สร้างมโนภาพ บังคับมโนภาพ ใช้มโนภาพอันสุดท้ายเพ่งจนมีความรู้สึกประกอบอยู่ ด้วยฌานทั้ง ๕
ถ้าเราจะทำจริง ดับทุกข์ เพื่อดับทุกข์อย่างคนธรรมดา ไม่ต้องทำถึงขั้นนี้ ไม่ต้องทำถึงไอ้...ฌานทั้งหลายเหล่านี้ละ เพียงแต่ว่ากำหนดเป็นสมาธิ ที่มโนภาพได้ตามสมควร ไม่ต้องถึงฌาน ไม่ต้องถึงฌาน ก็พอ ถ้าจะให้ได้ถึงฌาณ บางคนอาจจะตายเปล่า คือมันทำไม่ได้ มันทำได้ก็ดี ทำได้ก็วิเศษละ
แต่ถ้าจะต้องการดับทุกข์ ไปสู่ความดับทุกข์แล้ว ไม่ฌานก็ได้ ไม่ถึงฌานก็ได้ แต่ถ้ามันจะเก่งไปทางโน้น มันก็เก่งไปได้ แล้วมันก็เป็นผู้เก่ง มันก็หลุดพ้นด้วยเจโตวิมุติ ไปทางโน้น เดี๋ยวนี้เอาแต่ปัญญาวิมุติ เพียงแต่รู้สึกว่ามีองค์ ๕ อย่างไร องค์ ๕ อย่างไร แล้วก็ดูว่ามันไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง เป็นอนัตตาก็ได้ วิตกก็ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงเป็นอนัตตา วิจาร ก็ไม่เทียง เปลี่ยนแปลงเป็นอนัตตา ปีติก็ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงเป็นอนัตตา สุขก็ไม่เทียง เปลี่ยนแปลงเป็นอนัตตา เอกัคคตาเอง ก็ยังเปลี่ยนแปลง ไม่เที่ยง เป็นเอกัคคตา เออ เป็น เป็นอนิจจัง อนัตตา
นี่ น้อมไปในทางนี้จะเป็นปัญญาวิมุติ อาศัยปัญญาเข้ามาเต็มที่ แทรกแซงเข้ามาเต็มที่ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเสีย
ในขณะที่จิตเป็น เพียงสมาธิตามสมควร ไม่ถึงอัปปนาสมาธิ ทีนี้ ถ้ามันจะเก่ง จะเป็นผู้ทำสูงสุดสมบูรณ์แบบก็เป็นอัปปนาสมาธิ นี้จะต้องทำมาก ทำอีกมาก จะต้องทำอัปนาสมาธิ แล้วมันก็พิจารณาอะไรไม่ได้ ก็ทำเรื่อยเรื่อยไป ตามแบบของฌาน จนบรรลุ ฌานทั้ง ๔ หรือถ้าเก่งจริง เป็นถึงอรูปฌานทั้ง 4 มันจะเลยความประสงค์ไปแล้ว ไม่อยากจะพูด
และว่า แม้มันจะทำได้ถึงขนาดฌาน อัปปนา สูงสุด มันก็ทำวิปัสสนาไม่ได้หรอก มันก็ต้องออกมาจากฌาณ มาอยู่ในอุปจารสมาธิ อย่างที่ว่านี้ จะคิดนึก จะรู้สึก พิจารณาอะไรได้ แล้วมันก็เหลือ นี่ เหลือเฟือสำหรับผู้ที่จะทำความดับทุกข์ มันจะทำความเนิ่นช้า ให้มากมาย เว้นแต่ต้องการจะฝึกอย่างนั้น สามารถที่จะฝึกอย่างนั้น ต้องการจะฝึกแบบอิทธิปาฎิหาริย์อะไรด้วยแล้ว ก็จะต้องทำอย่างนั้น
ทีนี้ เรามีสมาธิพอสมควรแล้ว ก็เรียกว่า ศึกษาต่อไปถึงความสงบ ระงับ มันเป็นอย่างไร ไม่สงบเป็นอย่างไร เริ่มเข้าไปเป็นอย่างไร จะออกมาเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็เรียกว่าซักซ้อม ซักซ้อมความสำเร็จ สำเร็จเท่าไร ซักซ้อมความสำเร็จอันนั้นให้เป็นที่แน่นอน อาการอย่างนี้เขาเรียกว่า วสี วสี วสี คำนี้ แปลว่า ผู้มีอำนาจ
เดี๋ยวนี้ เราซักซ้อมความเป็นผู้มีอำนาจของเรา ซักซ้อมตั้งแต่ว่าเฝ้าดู ติดตาม ก็ซักซ้อมความมีอำนาจ บังคับได้ เฝ้าดู ซักซ้อมความมีอำนาจ เรียกว่ามโนภาพ บังคับมโนภาพ ก็ซักซ้อม เรียกว่า ซักซ้อม ซักซ้อม ซักซ้อม ซักซ้อม เหมือนกับว่าซ้อมกีฬานั่นนะ มันจะไปแข่งโอลิมปิก มันต้องซักซ้อมสักเท่าไรเล่า เดี๋ยวนี้เราก็ซักซ้อม ซักซ้อม ซักซ้อม อย่างนี้ ให้อยู่มืออยู่หมัด อย่างนี้เรียกว่าวสี มิฉะนั้น มันจะสูญหาย วิ่งหนีไป ไม่ทันรู้ก็ได้ มันจะเลือนหายไปเสีย เราทำอะไรก็ซักซ้อม ซักซ้อม ซักซ้อม จนไม่มีทางจะเปลี่ยนแปลง ไม่มีทางจะสูญ ไม่มีทางจะสูญหาย ก็ต้องทำ เรียกว่า วสี วสี ในส่วนทำสมาธิ ก็มีวสี ในส่วนทำวิปัสสนาต่อไปข้างหน้าโน้น ก็มีวสี แต่ยังไม่พูดถึง
เดี๋ยวนี้ วสี ในการที่จะมีจิตสงบเป็นสมาธิ ตามสมควรแก่ความต้องการ เรียกว่าอุปจารสมาธิ ก็ได้ อย่างนี้มันช่วยได้มากทีเดียว คือว่าความมีสติ หรือความมีอะไรนั้น มันจะแน่วแน่ มั่นคง มันจะไม่ละลาย สูญหาย มันจะไม่วิ่งหนีไปเสีย
ในระหว่างกระทำนี้ ยังมีความรู้พิเศษ อุปกรณ์แห่งความสำเร็จ เรียกว่าพละ หรือ อินทรีย์ ไปศึกษาจากนวโกวาทก็ได้ พละ แปลว่า ตัวกำลัง อินทรีย์ แปลว่า ตัวมีอำนาจ มีอยู่ ๕ อย่าง คือ เรามีศรัทธาพอเพียง และถูกต้องไหม มีวิริยะ ความพากเพียร พอเพียงและถูกต้องไหม สติ พอเพียง ถูกต้องไหม สมาธิ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา นี่
เริ่ม เริ่ม เริ่มสนใจได้แล้ว มีสมาธิเพียงพอไหม มีปัญญารอบรู้สิ่งเหล่านี้เพียงพอไหม ปัญญาต้องมาก่อนสิ่งใดใดหมด ไม่เช่นนั้น มันไม่เป็นศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นมาได้ มีปัญญาเพียงพอ แล้วมันก็ควบคุมสิ่งเหล่านี้ได้ทั้งหมด ถ้าปัญญาไม่เพียงพอ จะควบคุมสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เลย ศรัทธาก็เหมือนกันละ ถ้ามันมีมาก มันก็มีความแน่วแน่มากละ
วิริยะ ถ้ามีความเพียรมาก มันก็สำเร็จได้ แต่ว่า ถ้าเกินพอดี มันก็ไม่สำเร็จ อ่อนไปก็ไม่สำเร็จ วิริยะ ความพากเพียร ต้องพอดี จัดมันให้พอดี ปรับปรุงมันให้พอดี สตินี้ มันก็เป็นสิ่งที่กำหนดอยู่ อยู่แล้ว มีความพอดี ก็อยู่ในตัวมันเองได้ ถ้ามีสติ มันก็มีความพอดี ปัญญานั้น ต้องคอยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ นา ๆ ที่มันจะเกิดขึ้น
ขอบอกให้ทราบว่า ไอ้พละ ๕ อินทรีย์ ๕ นี่ จะใช้ในเรื่องอะไรก็ได้ ทำมาหากิน หรือการงานที่ไหนก็ได้ มันเป็นเครื่องสำเร็จประโยชน์ละ เราจะทำอะไร เราจะต้องมีพละ มีอินทรีย์ ในเรื่องนั้น ๆ ให้ครบถ้วนเถิด เดี๋ยวนี้เราจะทำสมาธิ เราก็มีกันอย่างครบถ้วน นี่มันจำเป็นจะต้องพูด แล้วมันก็รู้สึกว่ามากไป จนจะจำไม่ไหว ค่อยไปฟังเทป ฟังอะไรเอาทีหลังก็แล้วกัน
บอกให้รู้ว่า เราจะต้องฝึกการวิ่งตาม เฝ้าดู สร้างมโนภาพ ควบคุมมโนภาพ กำหนดองค์ที่เป็นสมาธิ ที่เรียกว่า องค์ฌาน แล้วก็ฝึกวสี ความมีอำนาจเหนือ แล้วก็รู้จักปรับปรุงไอ้สิ่งที่เรียกว่า “อินทรีย์” อยู่ตลอดเวลา เทคนิคมันมากหน่อย แต่มันไม่เหลือวิสัยนะ วิ่งตามก็ได้ เฝ้าดูก็ได้ สร้างมโนภาพก็ได้ ควบคุมมโนภาพก็ได้ กำหนดองค์ฌาณได้ แล้วก็ซักซ้อม วสีก็ได้ แล้วก็ ปรับปรุงองค์ประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้นี่ ได้ตามที่ต้องการ เราก็มีสิ่งที่เรียกว่า “สมาธิ” สำหรับอานาปานสติ ในหมวดกายานุปัสนาได้ถึงที่สุด
คือขั้นที่ ๔ ของหมวดที่ ๑ นะ ทำกายสังขารให้สงบระงับ ขั้นที่ ๑ กำหนดลมหายใจยาว ขั้นที่ ๒ กำหนดลมหายใจสั้น ขั้นที่ ๓ รู้จักกายทั้ง ทั้ง ทั้งปวง ขั้นที่ ๔ ทำกายสังขารให้สงบ รำงับ
กายสังขาร คือ เครื่องปรุงแต่งกาย ในที่นี้ ก็คือ ลมหายใจ เพราะลมหายใจ เป็นเครื่องปรุงแต่งกาย จึงเรียกว่า กายสังขาร เดี๋ยวนี้เราจะทำกายสังขาร คือ ลมหายใจ ให้ระงับ ระงับ ระงับ อย่างละเอียด ประณีตถึงที่สุด ตามวิธีที่กล่าวแล้ว เราก็สามารถนำกายเนื้อนี้ ให้ระงับได้ด้วย
ไอ้ตอนที่กายเนื้อระงับได้ด้วยนี่ จะมีผล รู้เรื่องต่อไปข้างหน้า ในหมวดที่ ๓ ในหมวดที่ ๒ ที่ ๓ เดี๋ยวนี้ยังไม่พูดถึง ทำลมหายใจให้ระงับ แล้วกายทั้ง ๒ กาย ให้มันระงับ กายลมก็ระงับ กายเนื้อก็ระงับ
หมวดสุดท้าย ขอฝากไว้เสียด้วยเลยว่า การบรรลุมรรคผล สำเร็จด้วยการเห็นอนัตตา เดี๋ยวนี้เมื่อจะทำให้เป็นสติปัฏฐานโดยสมบูรณ์แบบแล้ว ถือโอกาส กำหนดความไม่ใช่ตน เสียแต่บัดนี้ ลมหายใจ ก็ไม่ใช่ตน หายใจยาวก็ไม่ใช่ตน หายใจสั้นก็มิใช่ตน
ความรู้สึกใดใดที่เกิดขึ้นมาเหล่านี้ ก็มิใช่ตน แม้แต่การสงบรำงับนั้นก็ไม่ใช่ตน คือเป็นธรรมชาติ เป็นของธรรมชาติ เป็นไปตามกฎธรรมชาติ เป็นไปตามกฎอิทัปปัจยตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่มีเจตภูต ไม่ใช่มีวิญญาณอะไรมาเป็นเจ้ากี้เจ้าการอย่างนั้นอย่างนี้
ถือโอกาสกำหนดลมหายใจทุกชนิด ทุกขั้น ว่าไม่ใช่ตน ไปเสียแต่บัดนี้ ก็เรียกว่า ได้ผลเต็มที่ เริ่มมีผลเต็มที่ตั้งแต่ขั้นต้นเลย ขั้นหมวดที่ ๑ เลย กายลม กายเนื้อ ก็มิใช่ตน ลักษณะอาการ ก็มิใช่อาการแห่งตัวตน เป็นของธรรมชาติ อิทธิพลทุกชนิดที่ได้มานี้ ก็ไม่ใช่ของแห่งตัวตน
เราจะมีบทเรียนบทใหญ่ สำคัญที่สุดว่า มิใช่ตัว มิใช่ตน มิใช่สัตว์ มิใช่บุคคล เป็นแต่เพียงธาตุตามธรรมชาติ ไม่ยึดถือว่าตัวตน แล้วมันก็จะหลุดพ้น หรือ อันนี้ต้องมาฝึกกันเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ หยอดท้ายไปทุกขั้นทุกขั้น นั่งกำหนดลมหายใจว่า มิใช่ตน ก็วิเศษแล้ว
เอาละ กำหนดความมิใช่ตน พร้อมกันไปเถอะ แบ่งเวลาเหมาะสม กำหนดอะไร
ทีนี้ มันก็เรื่องสุดท้าย สรุปผลแห่งหมวดนี้ เดี๋ยวนี้เราสามารถบังคับลม ทำความรำงับให้แก่ลม และเนื้อ และร่างกายนี้ สามารถบังคับกายลม และกายเนื้อ ตลอดเวลานี้ มันเป็นการฝึกมีสติในการกำหนด แล้วก็มีปัญญารอบรู้สิ่งเหล่านี้ แล้วก็มีสัมปชัญญะ มีปัญญาเฉพาะกิจ เฉพาะหน้าที่ เฉพาะส่วน เฉพาะตอน
แล้วก็มีสมาธิ สมาธิ เกิดขึ้น เป็นสมาธิภาวนาอันดับ ๑ แล้ว ได้ธรรมะสูงสุด คือ สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ มาแล้ว เอาไว้ใช้ตลอดชีวิตเลย วัตถุประสงค์มันมีอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวนี้เรียกว่า เป็นนายเหนือกิเลสพอสมควรแล้ว แยกจิตออกมาเสียอย่างนี้ ไม่มีนิวรณ์ ไม่มีกิเลสอะไรรบกวนได้ เวลานั้น ก็มีนิพพานน้อย ๆ ในความหมายหนึ่ง
มีการบอกให้รู้ล่วงหน้าอย่างนี้ ทำอย่างนี้ ก็อย่าไปทำความฟุ้งซ่าน ด้วยวิชาทั้งหมดนี้ ในเวลาทำ เวลาทำ ก็กำหนดแต่สิ่งที่จะควรกำหนด แล้วเราก็พูดกันมากอย่างนี้ จะจำไหวหรือไม่นี่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ ไปศึกษาตามนี้ นี่จำเป็นจะต้องบอกให้อย่างนี้