แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
และในครั้งแรกนี่ผมคิดว่าเราควรจะพูดกันถึงคำรวมๆที่สุด คือ คำว่า “พระพุทธศาสนา” หมายความว่า จะต้องทำความเข้าใจกันให้ถูกต้อง คือให้สำเร็จประโยชน์ แต่เดี๋ยวนี้ มันจะเป็นกันทุกศาสนาก็ว่าได้ จดทะเบียน หรือว่า ตามทางการก็ถือศาสนาทั้งนั้น แต่ไม่ได้ถือ คือไม่ได้ปฏิบัติ ถ้าเขาได้ถือได้ปฏิบัติ มันก็จะมีผล จิตอย่างที่กำลังมี แต่นี่ทุกคนยังถือศาสนาประโยชน์ ขอให้เข้าใจกันเสียด้วยว่า ยังมีศาสนาพิเศษ ก็คือ จริงๆ คือ ศาสนาประโยชน์ แต่ติดป้ายว่าถือศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู ซิกข์ อะไรต่ออะไรก็ตามเรื่อง เท่านั้น แต่การปฏิบัติแท้จริง คือ ถือศาสนาประโยชน์ เพื่อได้ประโยชน์ตามที่ต้องการ ที่จริงศาสนาก็มุ่งหมายจะให้ประโยชน์ แต่มันไม่ใช่ประโยชน์อย่างทางวัตถุ มันเป็นประโยชน์ทางธรรมะที่ละเอียดอ่อน เดี๋ยวนี้ มันต้องการประโยชน์ทางวัตถุ แม้ว่าต้องการสวรรค์ สวรรค์ มันก็เป็นประโยชน์ทางวัตถุ เพราะฉะนั้น เยี่ยมยอด เพราะสวรรค์ในความหมายนั้น มันเรื่องของ กามารมณ์ ความสุขทางอายตนะ เพียงแต่ว่า ดี วิเศษ ประณีตกว่าอย่างของมนุษย์ ของมนุษย์ก็มันคือ ทางอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่มันหยาบไปหน่อย ทางสวรรค์มันประณีต ละเอียด ได้อย่างใจยิ่งกว่านัก พูดกันมานานแล้ว หรือที่ประโยชน์ เป็นเงิน เป็นทอง นี่ก็เพื่อจะได้ไปซื้อหาสิ่งนั้นอีกนั่นแหละ มันไปรวมจุดอยู่ที่เวทนา ที่เกิดมาจากประโยชน์ นี่จำคำว่าเวทนาไว้ให้ดี มันเป็นตัวการของมูลเหตุอันแท้จริง ที่ทำให้คนทำอะไร ทำอะไรก็ตาม ก็เพื่อเวทนาที่ตัวต้องการ เวทนาที่ตัวต้องการ มันจะเป็นอย่างกามารมณ์ก็ได้ หรือสูงขึ้นไป เป็นรูปธรรม อรูปธรรม อะไรก็มันก็เป็นเรื่องของเวทนาทั้งนั้น ถ้าว่าทุกคนมันถือศาสนาของตนจริงๆแล้วมันจะไม่ ไม่ ไม่ ไม่มีลักษณะอย่างที่ว่า คือเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้มีแต่เรื่องเห็นแก่ตัว ไม่ได้เห็นแก่ธรรมะ และ ความถูกต้อง มันจึงไม่เห็นแก่ผู้อื่น มันเห็นแก่ตัวเสียตะพรึด อันตัวจำไว้ เป็นธรรมแรก ข้อแรก ครั้งแรกว่า ปัญหาร้ายกาจ ศัตรูอันร้ายกาจ นั่นก็คือ ความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวนี่มันเป็นคำที่ค่อนข้างจะกำกวม แต่เดี๋ยวนี้ก็ยุติแล้ว ทุกคนพอจะฟังออกว่า ถ้าเห็นแก่ตัวก็คือ เลว เป็นคำด่า ไอ้เห็นแก่ตัว เพราะ ถ้าเห็นแก่ตัวอย่างถูกต้องด้วยปัญญา ด้วยวิชชา นั้นมีความเรียก มีคำเรียกอย่างอื่น ไม่ใช้คำว่าเห็นแก่ตัว ใช้คำว่า เคารพตัว สงวนตัว รักษาตัว นั่นคือคำนี้ ถ้ามันหวังจะให้ตัวดีมีความเจริญก้าวหน้าอย่างถูกต้อง ไม่เรียกว่าความเห็นแก่ตัว แต่ที่แท้ก็มีลักษณะความเห็นแก่ตัว แต่ก็เห็นด้วยสติปัญญา เห็นด้วยสติปัญญา เดี๋ยวนี้เห็นแก่ตัว ด้วยกิเลส ตัณหา มันเห็นแก่ตัวมันก็เกิดกิเลส โลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง เห็นแก่ตัวแบบนี้เกิดโลภะ เห็นแก่ตัวแบบนี้เกิดโทสะ เห็นแก่ตัวแบบนี้เกิดโมหะ นั่นเขาให้ศึกษาจากภายในใจ อย่าได้ศึกษาจากหนังสือ หรือ คำพูดของผู้อื่นเลย โลภะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร โทสะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร โมหะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร มันเป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัว ถ้าไม่เข้าใจเรื่องนี้จะไม่เข้าใจธรรมะ หรือโดยเฉพาะ พุทธศาสนาที่มุ่งจะกำจัดความเห็นแก่ตัว ควรจะรู้ลึกไปถึงว่าสัญชาตญาณของสิ่งที่มีชีวิตทุกชนิด ถ้ามันมีชีวิต แล้วมันต้องมีความรู้สึก ชนิดที่ว่ามีตัว มีตัวฉัน ตัวกู ก็จะเป็นแกนกลางสำหรับที่จะทำอะไร อะไร ก็เพื่อรอดอยู่ได้แห่งตัวกู คนก็มี สัตว์ก็มี ต้นไม้ก็มี แต่ว่าพวกอภิธรรมเขาไม่เชื่อว่าต้นไม้ มีความรู้สึก เดี๋ยวนี้ทางวิทยาศาสตร์เขาพิสูจน์ได้ว่าต้นไม้ก็มีความรู้สึก ต้องการ หรือไม่ต้องการ กลัวตาย รักชอบอะไรได้หมด แต่เป็นชั้นละเอียดที่มองเห็นอยาก ก็ทำกันโดยเครื่องวัดพิเศษ ประเด็นนี้เป็นหลักได้ว่า ถ้ามันมีชีวิตมันต้องมีความรู้สึก ถ้ามันมีความรู้สึก อันแรกที่สุดก็คือ ความมีตัว มันก็ต่อสู้เพื่อความมีตัว มันก็ต้องการจะรอดตาย มันต้องกินอาหาร มันก็ต้องการจะสืบพันธุ์ ไม่ให้สูญพันธุ์ สัญชาตญาณของความมีตัว ต้นไม้มีครบใช่ไหม ต้องการกินอาหาร ต้องการต่อสู้เพื่ออยู่รอด และก็ต้องการจะสืบพันธุ์ แต่มันพูดไม่ได้ มันเคลื่อนไหวไม่ได้ มันจึงเห็นยาก ทั้งที่มันต้องการอย่างรุนแรงเหมือนกันที่จะสืบพันธุ์ ให้มีพันธุ์ พันธุ์ เราธรรมดา ธรรมดาไม่มีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มันก็ทดสอบพอจะเห็นได้ว่า โอ้ มันต้องการจะเหลือพันธุ์ไว้ ขนุนต้นหนึ่งที่สวนโมกข์เก่า มันไม่ออกลูกเลยตั้งสิบกว่าปี ที่นี้ลุงที่รักษาแกเอาไฟสุมโคน ปีหนึ่งมันออกลูกเต็มต้น มันเตรียมตัวจะตาย มัน มัน มัน มัน มันคิดว่ามันจะต้องตาย แต่มันก็เกือบตาย มันก็เกือบตายจริงๆเหมือนกัน มันก็ต้องการจะสืบพันธุ์เอาไว้ ไม่ให้สูญพันธุ์ ไม่ให้ตายไปโดยไม่มีพันธุ์ มันก็เหมือนกันต้นไม้ การตอนกิ่งไม้เมื่อที่กำลังมีดอก มีลูกนั้น มันต่อสู้อย่างยิ่ง มันได้ผลดีอย่างยิ่ง คือ มันจะออกรากง่าย ถ้าจะเด็ดยอดไปปัก นี่ต้องมีดอก มีอะไรอยู่บ้าง มัน มันได้ผลแน่นอนกว่าที่ไม่มี มันต้องการจะรักษาชีวิตสืบพันธุ์เอาไว้ นี่รู้สึกว่าถ้ามันมีชีวิต เป็นสิ่งที่มีชีวิต แล้วมันต้องการที่จะอยู่มีตัวตลอดไป มีความรู้สึกว่ามีตัว มีตัว มีตัวฉัน ตัวกู แต่แล้วมันไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น มันขยายออกไปเป็นเห็นแก่ตัว เมื่อตัวฉันนะได้เสพ หรือ ได้สัมผัส ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เอร็ดอร่อยถูกใจ มันก็เกิดความรู้สึกอร่อยพอใจ ถูกใจขึ้นมา ก็เกิดความรู้สึกอันอื่นต่อไปจากนั้น ก็มีตัวฉันได้สิ่งที่ถูกใจ ควรจะได้อีก จะกักตุนเอาไว้ อย่างไรก็ตามความเห็นแก่ตัวมันจึงเกิดขึ้น ในขั้นที่รู้สึกว่ามีตัว มีตัว เฉยๆนะ มันขั้นหนึ่งแค่นั้นและ ต่อหนึ่งเท่านั้น ในขั้นที่ว่าเห็นแก่ตัวนั้นนะ มันอีกต่อหนึ่ง เมื่อมันรุนแรงขึ้นแล้ว ความเห็นแก่ตัวมันก็เกิดขึ้นจากความมีตัว ศาสนาอื่นเขาก็สอนเรื่องมีตัว เขาก็ลำบากที่จะสอนไม่ให้เห็นแก่ตัว พุทธศาสนานี่สอนว่าไม่มีตัว สิ่งที่เรียกว่าตัวนะมันไม่มี มันก็ง่ายที่จะไม่เห็นแก่ตัว แต่แล้วมันก็ลำบากตรงที่ว่าคนมันไม่เข้าถึงศาสนา มันไม่เข้าถึงศาสนาที่ว่าไม่มีตัว มันยังเห็นแก่ตัวเหมือนศาสนาอื่นๆ นี่แหละคือปัญหาแหละ คุณช่างสังเกตให้ดีๆ ให้รู้เรื่องนี้จึงจะรู้จัก พระพุทธศาสนานั้นต้องการจะกำจัดความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวนี่มีเมื่อไร ก็เป็นทุกข์เมื่อนั้นแหละ เห็นแก่ตัวอยู่คนเดียวก็นอนไม่หลับกระสับกระส่าย หวาดกลัวไปตามเรื่อง ถ้าเห็นแก่ตัวแล้วไปทำอันตรายผู้อื่นเขาด้วยแล้วนี่ยิ่งแล้วใหญ่เลย มันยิ่งกลายไปเป็นสองเรื่อง สามเรื่อง เห็นไหม เห็นแก่ตัวอยู่คนเดียวมันก็เป็นทุกข์ทรมานใจ หวาดเสียว สะดุ้ง นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ อะไรก็ตามแต่ กระทั่งว่ามันฆ่าตัวมันตายเอง นี่มันแปลกหรือ ไม่แปลกลองคิดดู เห็นแก่ตัวนี่ มันก็ตาย มันฆ่าตัวเองตายได้ มันเดือดจัด มันรุนแรง มันมืดบอดด้วยอวิชชา เห็นแก่ตัวนี่แหละเป็นมูลเหตุให้ฆ่าตัวตาย ไปศึกษาเรื่องของคนที่ฆ่าตัวตายอยู่บ่อยๆดู มันมีมูลเหตุตั้งต้นมาจากความเห็นแก่ตัว เมื่อมันไม่ได้ตามที่ต้องการบ้าง อะไรบ้าง มันโกรธจัดขึ้นมา มันก็ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าตัวเอง ฆ่าลูก ฆ่าเมียนั่นแหละ ความเห็นแก่ตัว มันน่าประหลาดตรงที่เห็นแก่ตัวมันกลับฆ่าตัวเอง นี่กิเลสตัวหนึ่ง เห็นแก่ตัวแล้วก็เกิดกิเลส ถ้ากำจัดความเห็นแก่ตัวได้มันก็ไม่เกิดกิเลส ไม่อาจจะเกิดกิเลส เห็นแก่ตัว อย่างเลวๆนี่มันก็ฆ่าผู้อื่น ขโมยของผู้อื่น ล่วงกาเมผู้อื่น พูดเท็จ ดื่มน้ำเมา อบายมุข นี่เห็นแก่ตัวอย่างเลวๆ ถ้ามันไม่เห็นแก่ตัวแล้วมันก็ไม่ทำสิ่งเหล่านี้ ผมจึงพูดว่ายุคนี้ สมัยนี้ ที่มนุษย์เจริญมากด้วยวิทยาศาสตร์ นิวเคลียร์ อวกาศ นี่มันเจริญ มีปัญญาสูงนี่มันถือศีลข้อเดียวก็พอ ถือศีลข้อเดียวก็พอ คือ ไม่เห็นแก่ตัว ศีลกี่ข้อๆ มันมาหมดนะ มันมาหาหมด ธรรมะอีกกี่ข้อๆ มันก็มาหาหมด เห็นแก่ตัวแล้วมันจะฆ่า จะขโมย จะกาเม มันจะทำอย่างอื่นขึ้นมาทันที คือ มันจะ มันจะรักผู้อื่น มันจะช่วยเหลือผู้อื่น มันจะขยันขันแข็งในการทำการงาน มันจะมีสติสัมปชัญญะ ความเห็นแก่ตัวทำให้ไม่อยากออกเหงื่อ และไม่อยากทำงาน ทั้งที่เห็นแก่ตัว รักตัวมันกลับไม่อยากทำงานเพราะว่าทำงานมันเหนื่อย มันเห็นแก่ตัว มันเลือกเอาทางนอน ความเห็นแก่ตัวนี่มีปัญหาติดขัดนิดหนึ่ง
พุทธศาสนานั้นต้องการจะกำจัดความเห็นแก่ตัวอย่างสูงสุด ซึ่งศาสนาอื่นก็เหมือนกันแหละ ต้องการอย่างนั้นแหละ แต่ว่าของเรามันแยบคายมาก ถึงกับสอนเรื่องไม่มีตัว เห็นความไม่มีตัวคือ อนัตตา จริงๆแล้วมันก็ไม่มีทางที่จะเห็นแก่ตัว อหังการ มมังการนั่นแหละเห็นแก่ตัวจัด อหังการแปลว่าตัวกู มมังการแปลว่าของกู เมื่อความเห็นแก่ตัวมันเดือดจัด เดือดจัดขึ้นมา มันก็เป็นตัวกูบ้างเป็นของกูบ้าง แล้วแต่กรณี ฉะนั้น สังขารร่างกายนี้เป็นตัวกูก็ได้ เป็นของกูก็ได้ มีอะไรเป็นตัวกู เป็นของกูก็ได้ มันไม่มีอะไรนอกจากตัวกูและของกู มันเป็นปัญหา ฉะนั้นเราจึงรู้ว่า พุทธศาสนาต้องการจะกำจัดสิ่งเหล่านี้ จงพยายามที่จะกำจัดความเห็นแก่ตัว เป็นพุทธศาสนา คุณมาพักอยู่ที่นี่สิบวัน ขอให้ประพฤติบทเรียน ทำบทเรียน เรื่องไม่เห็นแก่ตัวให้มากที่สุด ทำอะไรชนิดที่ให้ผู้อื่นทั้งนั้น จะให้แก่วัด หรือ แก่ศาสนา แก่อะไรก็ตามแต่ แล้วไม่รับแม้แต่คำว่าขอบใจ ขอบใจก็ไม่เอา นั่นแหละจะปฏิบัติ พุทธศาสนาได้ชั้นหัวใจ บิณฑบาตร กวาดวัด ลงอาบัติ ทำวัตร สวดมนต์ ขวนขวายในจิต สมาธิ ภาวนา ให้มันเป็นเครื่องทำลายความเห็นแก่ตัว ต้องขออภัยที่ต้องพูดว่าพระบางองค์มาจากจังหวัดไหนก็อย่าออกเสียง มันเห็นแก่ตัวจนบาป บางทีก็ไม่ได้บิณฑบาตร ไม่ได้บิณฑบาตร ขนาดนี้นะ มันจึงไม่มีแม้แต่จะช่วยกวาดวัดสักแก๊กหนึ่งก็ไม่มีนะ นี่มันเห็นแก่ตัว พยายามที่จะทำลายความเห็นแก่ตัว เอาเหงื่อมันออกมา ล้างความเห็นแก่ตัว แล้วก็ไม่รับแม้แต่คำว่าขอบใจจากใครๆ ผมก็ขอบใจเหมือนกัน แต่ผมไม่พูดว่าขอบใจ ไม่ต้องพูด เพื่อจะฝึกหัดให้มีบทเรียนว่าก่อกรรม ทำประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยไม่รับแม้แต่คำว่าขอบใจ ทำให้กินอยู่อย่างอยู่ที่นี่ ซึ่งพูดเป็นคำง่ายๆ ตลกๆว่า กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู นอนกุฏิเล้าหมู ฟังยุงร้องเพลง กินข้าวจานแมวรวมในบาตรนั่นแหละ อาบน้ำในคูก่อนนี้เคยอาบในลำธาร นอนกุฏิเท่าขนาดเล้าหมู กุฏิที่มีอยู่ทางนู้นกุฏิขนาดเท่าเล้าหมู ฟังยุงร้องเพลงก็เป็นธรรมดา ในครั้งพุทธกาลมันก็ฟังยุงร้องเพลงทั้งนั้น บทปัจจเวกมันจึงมีว่า ฑังสะมะกะสะวาตาตะปะสิริงสะปะสัมผัสสานัง ปะฏิฆาตายะ กำจัดสัมผัส อันเกิดแต่เหลือบหรือยุง มันต้องมียุง มันไม่ได้มีมุ้ง ไม่ได้มีกลด มีอะไรเหมือนพระเดี๋ยวนี้ คำปัจจเวกมันจึงมีอย่างนั้น จริงๆ มันก็มาฝึก มาสอน มาอะไรให้มากเหมือนกันละ ยุง เป็น อยู่ ให้ต่ำไว้เถิดแล้วมันจะรู้จักธรรมชาติ แล้วมันจะมุ่งหมายกิเลสขึ้น ไปในทางสูง เป็นอยู่ต่ำนี่กำจัดความเห็นแก่ตัวมากกว่าการเป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือย
ขอให้พยายามสังเกตดูให้ดีๆ ความต้องการของกิเลสมันอย่างหนึ่ง ความต้องการของโพธิ มันก็อีกอย่างหนึ่ง คนเรานะในคนเราคนหนึ่งมันมีความรู้สึกแยกเป็นสอง สองทาง ทางหนึ่งเป็นกิเลสโดยอวิชชา ไม่รู้ ไม่รู้ความจริงที่ถูกต้อง อีกทางหนึ่งเป็นโพธิ ด้วยอำนาจของวิชชา รู้ความจริงที่ถูกต้อง บางเวลาอวิชชาก็มาจัดการกับความรู้สึกนั้น แต่ว่าบางเวลาวิชชาก็เข้ามาจัดการกับความรู้สึก หากแต่มันมีน้อยกว่า หรือ มันมียากกว่า อวิชชามันมีง่ายกว่า มันจึงมักจะมีความรู้สึกที่เป็นไปตามกิเลส หรือ อวิชชา รู้มันไว้ว่าความต้องการอันนี้ มันเป็นของวิชชา หรือ ของอวิชชา มีแต่ความต้องการ ต้องการ เหมือนกันแหละๆ แต่ถ้าต้องการด้วยอวิชชานั้นเป็นไปทางกิเลส แต่ถ้าต้องการด้วยวิชชาเป็นไปในทางตรงข้าม คือ ทำลายกิเลส กำจัดกิเลส มันจึงมีการกระทำ ประพฤติ กระทำที่ทำลายอวิชชา พอกพูนวิชชาอยู่เสมอ ศึกษาเล่าเรียนที่เรียกว่า สิกขา สิกขา ศึกษานั่นนะ อย่าเพียงแต่ว่าอ่านได้ จำได้ พูดได้ หรือว่า อยู่ในสมุด ขอให้มันเป็นเรื่องของความรู้ จากของจริง ถูกแล้ว มันจะต้องเรียนต้องอ่านต้องฟังในเบื้องต้น มันก็เป็นความรู้ในขั้นนั้น เป็นความรู้ จากการได้ยิน ได้ฟัง ต่อมา มาทำให้เป็นความเข้าใจด้วยสติปัญญา เรียกว่าความเข้าใจ และถ้าเข้าใจแล้ว ลองปฏิบัติดู เมื่อเข้าใจว่าจะดับทุกข์ได้ก็ลองปฏิบัติดู โอ้ มันดับทุกข์ได้ อันนี้เรียก ความรู้แจ้ง จำ จำคำสามคำนี้ไว้ให้ดี อย่าให้มันฟั่นเฟื้อ ปนกันยุ่งไปหมด ความรู้ธรรมดานี่ความรู้นี่ เรียนก็รู้ และความเข้าใจ ทีนี้ แม้กระทั่งความรู้แจ้ง รู้แจ้งแทงตลอด ไม่เหมือนกันเลย คนละชั้นเลย ความรู้อย่างเด็กๆ เรียนในโรงเรียน ท่องจำ จดไว้ มันก็เป็นความรู้ แต่ไม่ใช่ความเข้าใจ ความเข้าใจต้องเอามาใคร่ครวญ ใคร่ครวญด้วยเหตุผล จนเข้าใจไปตามเหตุผลนั้น เพราะฉะนั้น ความเข้าใจนี่ก็ยังอยู่ใต้อำนาจของเหตุผล เรียกว่าเป็นทาส ของเหตุผลก็ได้ เหตุผลมันผิดก็เข้าใจผิด เหตุผลถูกก็เข้าใจถูก เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไปตามเหตุผล คิดถูกแล้วอาจจะคิดผิดก็ได้เป็นอย่างนั้นความเข้าใจ จึงไม่พอ เข้าใจแล้วมันจะพอ ไม่ใช่ มันต้องไปปฏิบัติจนเห็นว่ามันจริงอย่างนั้น จริงเช่นนั้น นี่เรียกว่า เห็นแจ้ง ได้ยิน ได้ฟังมาว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนศีล สมาธิ ปัญญา ก็จำได้เป็นความรู้ แล้วก็มาใคร่ครวญดูว่า เอ นี่มัน มันจะดับทุกข์ได้ ศีลจะดับทุกข์ได้ไหม ลักษณะอย่างนั้น สมาธิ ปัญญา จะดับทุกข์ได้ไหม ศาสนาก็เข้าใจเกื้อหน้า เป็นความเข้าใจ นี่ก็ลองปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญานั้น ดูว่ามันดับทุกข์ได้จริง แล้วก็มีความเห็นแจ้ง นี่ช่วยจำกันใว้ดีๆ
ภาษาไทยก็เป็นอย่างนี้ ภาษาต่างประเทศก็เป็นอย่างนี้ ก็ว่าความรู้เฉยๆ นี่มันก็ยาก แต่คำภาษาอังกฤษว่า Knowledge มันใช้คำกวมหมด ขั้นไหนก็ได้ ที่จริงเรียนในโรงเรียนก็ได้ความรู้ ขั้น Knowledge เอามาใคร่ครวญด้วยเหตุผล จึงจะเป็นเข้าใจ หรือ เป็น Understanding แล้วมาปฏิบัติตามดูรู้แจ้งประจักษ์ชัดจึงจะเป็น Realization ถ้าไม่ขึ้นว่าถึง Realization นะยังไม่เป็นตัวธรรมะ ยังเป็นตัวความรู้บ้าง ความเข้าใจบ้าง ที่มันตามธรรมดา แต่ถ้ามันเป็น Realize Realize มันก็รู้ซึ้ง มันก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในจิตใจ ถ้าไม่ถึงขั้น Realization นะมันไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในจิตใจ ขอให้ลองคิดดู มันไม่เปลี่ยนความโลภ ความโกรธ ความหลง มันไม่เปลี่ยนอะไรต่างๆ ปัญหาของเราก็คืออะไร ความที่มันวิตก กังวล หวั่นไหวอยู่เสมอ ว่าจะตาย หรือจะเป็นทุกข์ หรือ จะสูญเสีย หรือจะไม่ได้ตามที่ควรจะได้นี่ อันนั้นมันก็ควรอยู่ใต้สำนึก หรือ กึ่งสำนึก กึ่งสำนึกนะ คิดดู ให้ทุกคน มันมีที่อิจฉา ลังเล อยู่ว่ามันไม่ปลอดภัยหรือจะปลอดภัยนี่มันรบกวนอยู่ อย่างน้อยก็เป็นกึ่งสำนึก บางทีก็เป็นเอามากๆ จนนอนไม่หลับ นี่คือความทุกข์พื้นฐานทั่วไปที่ต้องขจัดมันเสีย มันอยู่ในอาณาจักรแห่งความกลัวตลอดเวลา แต่มันยังน้อยๆ น้อยๆ เป็นกึ่งสำนึก จิตไม่เกลี้ยงเกลา จิตไม่สะอาด จิตไม่เยือกเย็น ต้องขจัดออกไปเสีย มันพยายามให้พบกันกับความที่มันเกลี้ยงเกลาอย่างนี้ เราจะศึกษาให้รู้ ได้ยิน ได้ยิน ได้ฟัง ภาษาบาลีเขาเรียกว่า ฟังจากผู้อื่น หรือ การโฆษณาบอกกล่าวของผู้อื่น เรียกว่า ปรโต จ โฆโส โฆษณาจากที่อื่น มันก็ได้ความรู้จากการโฆษณาจากที่อื่นมาแล้วก็มาทำเป็นโยนิโสมนสิการ นี่คือเข้าใจ ตอนนี้เป็นโยนิโสมนสิการ นี่มาปฏิบัติดูแล้ว ก็มันจะเป็นในเรื่องเห็นแจ้งแทงตลอด ก็จะเป็นหลุดพ้น เป็นวิมุติ เป็นอะไรขึ้นมา มันเป็นชั้นๆ หลายชั้นอยู่ ไม่ใช่พูดทีเดียวรู้ แล้วก็สำเร็จประโยชน์โดยมากก็เข้าใจกันว่าอย่างนั้น ธรรมะ ธรรมะ นี่สังเกตดูให้ดี มันรู้นะ มันรู้เรื่องธรรมะ แต่ไม่มีธรรมะนะ ที่โรงเรียนเรียนโรงเรียนเรียนอะไร เรียนธรรมะศึกษา เรียนนวกะ เรียนนักธรรม อะไรก็ตาม มันรู้ธรรมะ แต่มันไม่มีธรรมะ ดูให้ดี มันไม่มีธรรมะ มันต้องรู้ธรรมะ และทำให้มันมีธรรมะ มันถึงจะมีธรรมะ คิดว่ามีธรรมะแล้วมันไม่ได้ใช้ธรรมะให้ตรงกับเรื่องราวมันก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไรเหมือนกับปืนที่มีไว้แล้วไม่ได้ยิง รู้ธรรมะนะ แล้วก็มีธรรมะ จริงๆแล้วคือปฏิบัติ แล้วก็ใช้มันให้กำจัดความทุกข์ หรือ กิเลสนี่ มันจึงจะมีธรรมะโดยสมบูรณ์ รู้ธรรมะ แล้วก็มีธรรมะ แล้วก็ใช้ธรรมะ เหมือนกับว่าเรามีเงิน ถ้าไม่มีก็ไม่มี แต่ถ้ามีเงินแล้วมันจะก็ต้องใช้เงินอีกทีหนึ่ง แล้วถ้าใช้ถูกต้องมันจึงจะได้รับประโยชน์จากเงิน ธรรมะก็เหมือนกัน บางทีมันก็ไม่มี มีก็ใช้ผิดๆ ก็มี ก็มันทำผิด มันรู้ไม่จริง ต้องใช้ธรรมะ มันจึงจะได้รับประโยชน์จากธรรมะ มันจึงจะดับทุกข์ได้ นี่มันพูดกันลวกๆ หยาบๆ โง่ๆ รู้ธรรมะๆ สอบไล่ได้ ก็รู้ธรรมะ สอบไล่ได้แล้วไม่มีธรรมะ ไม่ได้รู้ธรรมะ รู้ธรรมะแต่ไม่มีธรรมะ มีธรรมะแล้วก็ไม่ได้ใช้ มันก็เก็บไว้เฉยๆ ในสมุดบ้าง ในใจบ้าง อะไรบ้าง ไม่ได้มาใช้ทันท่วงที เพราะทันท่วงที คือ ผัสสะมากระทบ ใช้ไม่ทันท่วงทีมันก็เหมือนกับไม่มี เหมือนกับเรามีปืน ไม่ได้มาใช้ทันท่วงทีที่เกิดเรื่อง มันก็เหมือนกับไม่มี มีธรรมะก็ใช้ธรรมะให้ทันท่วงที ทันท่วงที ในเวลา เวลาที่ต้องใช้ธรรมะ ก็คือ เวลาที่มีผัสสะ อะไรมากระทบตา มีผัสสะทางตา อะไรมากระทบหู ผัสสะทางหู กระทบทางจมูก ผัสสะทางจมูก กระทบลิ้น ผัสสะทางลิ้น กระทบผิวหนัง ผิวกาย ก็ผัสสะทางกาย กระทบใจ ก็ผัสสะทางใจ นี่มันมีอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่มีธรรมะพอแล้ว ผัสสะนั้นก็เป็นผัสสะโง่ ผัสสะมืดบอด มันก็ทำให้เกิดเวทนาโง่ เวทนามืดบอด มันก็เกิดกิเลสตัณหาไปตามภาษามืดบอด ถ้ามีความรู้เพียงพอ มันวิ่งมาทันในตำแหน่งผัสสะ ผัสสะนั้นมันถูกควบคุมด้วยวิชชา ด้วยปัญญา ด้วยความรู้ มันเป็นผัสสะฉลาด ผัสสะฉลาด ผัสสะฉลาดมันก็ไม่โง่ ไม่เวทนาโง่ คือมันจะไม่หลงรักที่น่ารัก มันจะไม่หลงโกรธที่น่าโกรธ มันจะไม่หลงเกลียดที่น่าเกลียด มันจะไม่หลงกลัวที่น่ากลัว มันจะไม่หลงอะไรสักอย่างเดียว นั่นละ ผัสสะฉลาดมันเป็นอย่างนั้น แต่นี่เรามีแต่ผัสสะโง่ มาให้รักก็รัก มาให้โกรธก็โกรธ มาให้เกลียดก็เกลียด ก็เป็นบ้าไปทั้งวัน
มีธรรมะ มีปัญญา แต่เอามาใช้ ไม่ทันท่วงทีก็เหมือนกับมีอาวุธที่ไม่ได้เอามาใช้ทันท่วงที ก็ไม่มี ช้าไปก็ไม่สำเร็จประโยชน์แล้ว เกิดเรื่อง เสียแล้ว โจรมันฆ่าเจ้าของบ้านตายไปแล้วปืนยังไม่ได้ยิง เตรียมพร้อมไว้สำหรับที่จะมีธรรมะเป็นความรู้ มีปัญญา มีสติเร็ว พร้อมที่จะเอาปัญญามาใช้ให้ทันท่วงทีเมื่อมีผัสสะ ควบคุมไว้อย่าให้เป็นผัสสะโง่ หรือ ผัสสะของอวิชชา ให้เป็นผัสสะของวิชชาไว้เสมอไป ผัสสะนั้นก็จะไม่ปรุงเวทนาโง่ ไม่ปรุงเป็นเวทนาโง่ ก็ไม่หลงรัก หลงโกรธ หลงเกลียด หลงทุกข์ มันก็ไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดอุปาทาน ไม่เกิดภพ เกิดชาติ หรือ เกิดทุกข์ ตามหลักปฎิจจสมุปบาท มันก็เลยไม่มีทุกข์ ทุกข์เกิดไม่ได้ มันเป็นเครื่องป้องกันทุกข์มากกว่าที่จะไปดับทุกข์ ดับทุกข์ไม่ได้สนุก ทำให้ทุกข์ไม่เกิดดีกว่า ดับทุกข์นะเหมือนเอาไม้สั้นไปรันขี้ คำโบราณเขาว่า สนุกไหม เอาไม้สั้นไปรันขี้มันก็เลอะหมดเท่านั้นเอง มันต้องมีวิธีอย่างอื่น ไม่ให้มันเกิด ไม่ให้มันเกิด อย่าให้ความทุกข์มันเกิด นั่นแหละถูกต้อง คุณนั่งบนม้าดีกว่าถ้าไม่เคยนั่งอย่างนี้ นั่งบนม้าดีกว่า มีสติพอในขณะผัสสะ ทุกข์มันไม่เกิด ทุกข์มันไม่เกิด ทุกข์มันไม่เกิด ไม่เกิดตลอดไป นั่นละคือ ดับทุกข์ ถ้าทุกข์เกิดแล้วมันก็เหมือนกับไฟไหม้แล้ว มาดับมันไม่สนุกเลย ไม่ให้ไฟมันไหม้มันถูกต้อง ราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำเอาแล้วมันก็แย่ แต่ว่าที่จริง ความทุกข์ กิเลส นี่มันมีเหตุปัจจัยเยอะ หมดเหตุ หมดปัจจัยมันก็ดับไปเองได้ เราป้องกันอย่าให้มันเกิดนั่นละดีกว่า พระพุทธประสงค์นะมีอย่างนี้ แต่เราใช้คำพูดไม่ถูกต้อง ว่าดับทุกข์ ที่จริงทำให้ทุกข์ไม่เกิด ให้ความทุกข์มันหายสูญไป มีความรู้พอในขณะที่ความทุกข์มันจะเกิด ความทุกข์มันจะเกิดตอนไหน มันก็จะเกิดเมื่อมีผัสสะโง่ เวทนาโง่
เรื่องปฏิจจสมุปบาทมีประโยชน์มากเป็นหัวใจของพุทธศาสนา พยายามศึกษาไว้เถิดดีมาก เป็นตัวพุทธศาสนา หรือเป็นหัวใจพุทธศาสนา เมื่ออายตนะภายใน เป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอายตนะภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส เป็น สัพพะธรรมารมณ์ มันก็เกิดวิญญาณ วิญญาณทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สามอย่างนี้ คือ อายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ สามอย่างนี้ทำงานด้วยกันอยู่เรียกว่า ผัสสะ ผัสสะ ผัสสะ ผัสสะนั้นก็จะมีเพียงสองอย่างนี้ ตามที่พูดกันภาษาคนไม่ได้เล่าเรียนว่า ตากระทบรูป เรียกว่า ผัสสะ ตามหลักบาลี ตา รูป เกิดจักษุวิญญาณ สามประการนี้ ทำงานด้วยกันอยู่เรียกว่าผัสสะ ผัสสะมีส่วนประกอบสาม ไม่ใช่สอง หู ก็เหมือนกัน หู เสียง และก็วิญญาณทางหู ทำงานร่วมกันอยู่ ก็เรียกว่า ผัสสะทางหู ถ้าไม่มีวิญญาณ มันก็ไม่มีอะไรรู้สึกต่ออารมณ์นั้น ตาเฉยๆ มันมีประสาทตา มีรูปเข้ามาศูนย์กระทบ ประสาทตามันจะรู้สึกไม่ได้ ถ้ามันไม่มีวิญญาณเกิดขึ้น มันต้องมีวิญญาณเกิดขึ้นมา ก็รู้แจ้งอารมณ์นั้นโดยอาศัยประสาทที่มีอยู่ในตา ในลูกตา หรือ อารมณ์ที่มากระทบนั้นเป็นรูปธรรม วิญญาณเป็นนามธรรม ตาเอย รูปเอย เป็นส่วนรูปธรรมเป็นส่วนร่างกาย ส่วนวิญญาณนั้นเป็นส่วนจิตใจ เป็นส่วนนามธรรม สามอย่างนี้ถึงกันก็เรียกว่าผัสสะ เข้าใจเสียให้ดี เป็นพื้นฐานสำหรับศึกษาว่า ผัสสะนั้นมีองค์ประกอบสาม เมื่อมีผัสสะแล้วเราก็จะเกิดเวทนา ถ้าผัสสะมันโง่ คือ ไม่มีปัญญา วิชชาเกิดขึ้นเลย เป็นผัสสะโง่ มันก็เกิดเวทนาโง่ คือ เกิดสุข ทุกข์ หรือ อทุกขมสุข ชนิดที่ยึดมั่น ถือมั่น เป็นสุขก็ชอบ เป็นทุกข์ก็ไม่ชอบ เป็นอทุกข์ หรือ อสุขก็สงสัย หลงไหลวนเวียนอยู่ นี่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ไว้ ถ้ามันสุข ชอบมันก็ดึงเข้าไปหา หรือ ดึงเข้ามา ก็เกิดกิเลสประเภทดึงเข้ามา ดึงเข้ามา ราคะ หรือ โลภะ ถ้ามันเป็นทุกข์กับเวทนา มันไม่ชอบ ก็เกิดความรู้สึกประเภทผลักออกไป หรือฆ่าเสียให้ตาย ก็เกิดความรู้สึกประเภทโกรธะ หรือ โทสะ ถ้ามันไม่แน่ว่าสุข หรือ ทุกข์ มันตัดสินอะไรไม่ได้ มันก็ได้แต่สงสัย วนเวียน มันวิ่งอยู่รอบๆ นี่แหละเป็นความโง่ มันมีสามประเภท กิเลสมันตามลักษณะของเวทนา สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา สุขเวทนาเกิดกิเลสประเภทเอาเข้ามา ทุกขเวทนาจะเกิดกิเลสประเภทที่ผลักออกไป ทำลาย อทุกขมสุขเวทนา เกิดกิเลสประเภทโง่ ประเภทสงสัย หลงไหล วนเวียนอยู่ที่นั่นละ วิ่งรอบๆ อยู่ที่นั่นละ ไม่ผลักออก หรือ ไม่ดึงเข้า นี่เป็นหัวข้อให้เราศึกษากิเลส เราจะมีกิเลสประเภทไหนก็ศึกษาได้โดยวิธีทั้งสาม ถ้ามันเกิดความรู้สึกจะดึงเข้ามา เอาไว้ มันก็เป็นพวกโลภะ หรือ ราคะ ถ้าผลักออกก็เป็นโทสะ หรือ โกรธะ ถ้าวิ่งรอบๆ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี ก็เป็นโมหะ นี่เป็นบทที่จะเป็นหลักที่จะศึกษาให้รู้ว่าเรามีกิเลสอะไร หรือ ถ้ามีความสงสัยว่ากิเลสนี้จะสงเคราะห์กันในหมวดไหน ก็ตัดสินดูด้วยการที่ว่ามันผลักออก หรือ มันดึงเข้า หรือ มันวิ่งอยู่รอบๆ จำไว้เป็น เครื่องสังเกตให้รู้จักกิเลสของตนเองตลอดชีวิต ผลัก เอ่อ ดึงเข้ามาก็มี มีอาการอย่างหนึ่ง ผลักออกไปก็มีอาการอย่างหนึ่ง วิ่งอยู่รอบๆก็มีอาการอย่างหนึ่ง แต่ว่ามันเผา ลน มันร้อน ขึ้นชื่อว่ากิเลสมันก็ร้อน มันดึงเข้ามา กอดรัดไว้มันก็ร้อน ผลักออกไป หรือ ฆ่าให้ตายมันก็ร้อน วิ่งอยู่รอบๆ มันก็ร้อน สังเกตดู
นี่ก็ขอให้จำไว้ว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ศึกษาจากภายใน เรื่องเหล่านี้ หรือ ธรรมะเหล่านี้ ให้ศึกษาจากภายใน คือ ในตัว ในกาย ในใจ ในชีวิต ไม่ใช่ศึกษาจากภายนอก แต่ก็ไม่พ้นละที่จะต้องศึกษาจากภายนอก คือ ฟังมา แล้วก็มาศึกษาในภายในจึงจะรู้ แม้พระพุทธเจ้าตรัสสอนเองก็เป็นเรื่องภายนอก ต้องเอามาทำให้เป็นภายใน เอามาจัดให้เป็นเรื่องในภายใน แล้วตัวเองจะรู้จริง แล้วจะปฏิบัติดับทุกข์ได้จริง การศึกษาที่แท้จริง คือ ศึกษาในภายใน ในร่างกายที่ยังเป็นเป็น ยังมีชีวิต มันจะมีอะไร เป็นอย่างไร ก็ดูกันที่นั่น ศึกษากันที่นั่น พูดได้ว่ามหาวิทยาลัยนี่อยู่ในในตัว อยู่ในชีวิต อยู่ในตัว ต้องเรียนกันข้างใน มหาวิทยาลัยของชาวโลกเขาเรียนกันข้างนอก จากอะไรๆ ข้างนอก มันก็เป็นเรื่องข้างนอกก็ต้องเรียนข้างนอก แต่เรื่องธรรมะมันเป็นเรื่องข้างใน มันก็ต้องเรียนข้างใน มันต้องสนใจที่จะศึกษาเรียนกันข้างใน ให้รู้ว่ามันมีอะไรบ้าง ซึ่งจะต้องศึกษากันต่อไป มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีสิ่งที่มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มีวิญญาณที่จะเกิดขึ้น มันก็จะมีผัสสะที่จะเกิดขึ้น และก็มีเวทนาที่จะเกิดขึ้น และก็มีตัณหาอุปาทานที่จะเกิดขึ้น และก็จะมีภพ มีชาติ มีทุกข์ไปตามเรื่องของมัน เหล่านี้ ทั้งหมดนี้ อยู่ข้างใน ไม่ได้อยู่ข้างนอก ถ้าเป็นเรื่องข้างนอกก็ไม่ใช่เรื่องของเรา ถ้าเป็นเรื่องของคนอื่น หรือ เป็นเรื่องของสัตว์ เป็นเรื่องของต้นไม้ มันก็เป็นเรื่องข้างนอก มันไม่ทำอะไรแก่เรา แต่เรื่องที่มันเป็นข้างใน แล้วมันทำอะไรแก่เรา เผาผลาญให้เป็นทุกข์อยู่เสมอ ขอให้สนใจ
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เราพูดแต่เรื่องทุกข์กับความไม่มีทุกข์ สิ้นสุดแห่งความทุกข์ นี่อย่างหนึ่ง เรื่องอื่นไม่พูด อย่าเอาเรื่องอื่นมาใส่ให้พุทธทาสเล่าหนา มีแต่เรื่องทุกข์กับดับทุกข์ นี่ก็เพราะว่าทั้งหมดนี้บัญญัติไว้ข้างใน เป็นในตัว ในชีวิตนี่ยาวประมาณวาหนึ่งนี่ ความรู้หมดทั้งจักรวาล มหาศาล บรรจุไว้ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี่ แต่ต้องยังเป็นเป็นนะ ไม่ใช่ตายแล้ว ตายแล้วเรียนไม่ได้ ไม่มีอะไรให้เรียน ที่ยังเป็นๆอยู่นี่แหละพอให้สนใจ รู้จักเป็นทุกอย่าง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นยังไง รูป เสียง กลิ่น รส โผฐฐัพพะ ที่จะมากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอย่างไร วิญญาณ คืออย่างไร เกิดเมื่อไร เป็นอย่างไร วิญญาณนี้ แล้วผัสสะเป็นอย่างไร แล้วเวทนาออกมาจากผัสสะเป็นยังไง นี่ก็จะมีตัณหา อุปาทานไปตามลำดับ ถ้าศึกษาอย่างนี้เรียกว่าศึกษาธรรมะชนิดที่จะเห็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรมะ ผู้ใดธรรมะ ผู้ใดเห็นธรรมะ ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นธรรมะ ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรมะ ผู้ใดไม่เห็นธรรมะ แม้จะจับขา จับแข้งเราดึงไว้ก็ไม่เห็นเรา ผู้ใดเห็นธรรมะ ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรมะ เห็นว่าความทุกข์เกิดขึ้นมาอย่างไร ความทุกข์ดับลงไปอย่างไรในภายในใจนั่นแหละ เป็นปฏิจจสมุปบาท ถ้าเห็นอย่างนี้ก็เรียกว่าเห็นธรรมะ เพราะฉะนั้น จึงเป็นปัตจัตตัง ปัจจัตตัง คำนี้จำไว้ดีๆ เฉพาะตน เฉพาะตน ภายในของตน ปติ แปลว่า เฉพาะ อัตตะ แปลว่า ตน ปัตจัตตัง แปลว่า เฉพาะตน เรียกว่าเป็นภายใน ตัวหนังสือ มันแปลว่า เฉพาะตน ปัตจัตตังคำนี้แปลว่า เฉพาะตน ก็คือข้างในตน และก็เฉพาะคน คนอื่นจะมารู้ใจของคนอื่นมันก็เป็นไปไม่ได้ ต้องพยายามมีสติสัมปชัญญะ ศึกษาทุกสิ่ง ทุกเรื่อง ทุกความรู้สึกที่มันได้เกิดขึ้นแก่จิตใจในภายในนี่คือ ศึกษาพุทธศาสนา ให้เห็นความจริงข้อนี้ และปัญญาที่เห็นความจริงข้อนี้นั่นแหละ คือ พระพุทธเจ้าแท้จริง พระพุทธเจ้านั้นมีหลายชั้น พระพุทธเจ้าของเด็กๆ ก็คือ พระพุทธรูป คุณก็เคยเป็นเด็กมาแล้ว พระพุทธเจ้าของเด็กๆนั่นคือพระพุทธรูป และก็น่าสงสารนะที่ว่าพอเห็นพระพุทธรูปแล้วก็เข้าใจผิด เพราะว่าพระพุทธรูปเดี๋ยวนี้ นี่ก็ประดับประดาด้วยเพชรนิลจินดา อยู่ใต้เศวตฉัตร นั่งบนบัลลังค์หลายชั้นๆ ประกอบด้วยงาช้าง พอเด็กๆมาเห็นพระพุทธรูปอย่างนี้มันก็เข้าใจพระพุทธเจ้าผิดเสียแล้ว ก็น่าสงสารเด็กๆ อุตส่าห์เอาพระพุทธรูปเป็นพระพุทธเจ้าทั้งทีมันก็ยังผิดเสียอีก นี่ถ้าโตขึ้นได้เล่าได้เรียนแล้ว โอ้ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าเป็นคน บุคคลในประวัติศาสตร์ เกิดในอินเดีย 2000 กว่าปีมาแล้ว ที่เราสอนอยู่ 40 กว่าปีแล้ว ก็นิพพานแล้ว เผาแล้ว นั่นแหละคือพระพุทธเจ้า เผาแล้ว ตายแล้ว เป็นคนตาย แต่ถ้าผู้รู้ธรรมะศึกษาธรรมะเพียงพอแล้ว ก็ว่าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ที่พระพุทธเจ้าตรัส ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา นั่นคือปัญญาที่เห็นดับทุกข์ ทุกข์เกิดอย่างไร ทุกข์ดับ ปัญญาที่เห็นปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละคือ พระพุทธเจ้า ถ้ามีขึ้นในใจเราก็พระพุทธเจ้ามาอยู่ในใจเรา พระพุทธเจ้าไม่ได้ตายแล้ว พระพุทธเจ้าไม่ได้ถูกเผา พระพุทธเจ้าพร้อมที่จะมามีอยู่ในจิตใจของใครเมื่อไรก็ได้ ถ้าเขาเห็นธรรมะ เห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ทุกข์ดับไปอย่างไร พระพุทธเจ้าอย่างนี้จะมีอยู่ตลอดไป ตลอดอนันตกาล อนาคต ใครเห็นธรรมะเมื่อไร คนนั้นเห็นพระพุทธเจ้าในที่ทุกหนทุกแห่ง ไม่จำกัดว่าในอินเดีย หรือในเมืองไทย หรือเมืองฝรั่ง เมืองไหน คือในจิตใจมนุษย์ เห็นธรรมะที่ดับทุกข์ได้เมื่อไร นั่นก็คือเห็นพระพุทธเจ้า นี่พระพุทธเจ้าพระองค์จริงที่ไม่รู้จักตายและจะช่วยได้ มาอยู่ในจิตใจเรา มันก็ช่วยเราได้ เป็นที่พึ่งอันแท้จริงได้ คือ ดับทุกข์ออกไปได้ ขจัดความทุกข์ออกไปได้ พระพุทธเจ้าที่แท้จริง
แค่จำให้ดีๆมันเป็นสามสั้นก็อย่างนี้ พระพุทธเจ้าสำหรับเด็กๆ ก็คือ พระพุทธรูป เมื่อผมเป็นเด็กๆ ก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน ต่อมาได้ศึกษาเล่าเรียนรู้ พระพุทธเจ้านี้เป็นบุคคลปรากฎในประวัติศาสตร์ในประเทศอินเดีย เกิดในประเทศอินเดีย ฝังตอนนั้น นิพพานแล้ว ตายแล้ว เผาแล้ว พระพุทธเจ้าเป็นคน ก็ต้องเรียกว่ายังโง่อยู่ ต่อเมื่อได้รู้จักพระพุทธเจ้า ชนิดที่พระพุทธเจ้า ท่านตรัสว่า เห็นธรรมะคือเห็น ตถาคต เห็นตถาคตคือเห็นธรรมะ นั่นแหละจึงจะเป็นพระพุทธเจ้าที่แท้จริง เมื่อได้เห็นธรรมะที่ดับทุกข์ได้ ปัญญานั้นล่ะที่เห็นคือองค์พระพุทธเจ้า เป็นองค์แห่งความรู้ เป็นองค์แห่งปัญญา นี่ก็ชวนให้ถือหลักได้ว่า พระพุทธะ พุทธะ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นี่คุณก็จำไปเถอะ สำคัญมากแหละความหมายนี้ พุทธะ พุทธะนี่ แปลว่า ผู้รู้ แปลว่า ผู้ตื่น คือตื่นจากหลับนะไม่ใช่ตื่นตูม ตื่นจากหลับแล้วก็เบิกบาน รู้คือ รู้ธรรมะ แล้วก็ตื่นจากหลับ คือ อวิชชา ความโลภ แล้วก็เบิกบานไม่มีทุกข์ เบิกบานไม่รู้จักโรย ไม่รู้จักทุกข์อีกแล้ว แต่นี่เราหลับไม่ตื่น ยังหลับอยู่ ไม่รู้จัก ไม่รู้จัก ไม่รู้จักความดับทุกข์ เรียกว่ายังหลับอยู่ เห็นรูปภาพรูปแรกที่เข้าประตู โรงมหรสพทางวิญญาณไหม รูปภาพรูปแรกเนี่ยซ้ายมือ ดีที่สุด รูปอะไร หา หา หา พระพุทธเจ้าอยู่หลังม่าน แหวกม่านความโง่ของคุณออกไปเสียนิดหนึ่ง จะพบว่าพระพุทธเจ้านั่งอยู่ที่ตรงนี้ ไม่ต้องหาที่ประเทศอินเดีย หรือ ที่ไหน แหวกม่านความโง่ของคุณออกไปเสียหน่อยหนึ่งเถิด พระพุทธเจ้าจะนั่งอยู่ที่ตรงนั้น ไม่ต้องไปหา ที่ไหน เรียกว่า ผู้ตื่น ตื่นจากหลับ คือ กิเลส ศัพท์นั้นดีที่สุด เมื่อเขียนกันเป็นภาคแรก แต่คนเขาไม่ค่อยรู้ รู้ก็คือ รู้เรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับทุกข์ เรื่องปัดความดับทุกข์ ตื่นจากอวิชชา หลับ หลับด้วยอวิชชา คนเราหลับด้วยอวิชชา เห็นไหม ยังเดินอยู่ นั่งอยู่ก็อาจเรียกว่าหลับ หลับด้วยอวิชชา หมดอวิชชา คือ ตื่นจากอวิชชา ตื่นจากความหลับด้วยอำนาจกิเลส หลับด้วยอำนาจกิเลส เรียกว่า กิเลสอวิชชา คือ มีอวิชชาเป็นเหตุให้หลับ ตื่นออกมาจากความหลับของกิเลส มันก็จะเป็นผู้เบิกบาน ไม่มีกิเลส ไม่มีอะไรมาห่อหุ้มอีกต่อไป ก็เบิกบาน เบิกบาน เบิกบาน ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความทุกข์ มีแต่ความสงบเย็น คือ นิพพาน เบิกบาน เบิกบาน บานไม่รู้โรย
ดังนั้น ขอให้สนใจคำว่า พุทธะ พุทธะ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ที่นี้พุทธศาสนา คือ การปฏิบัติเพื่อให้เป็นอย่างนั้น ในโรงเรียนเขาสอนผิดๆ คุณๆ ก็ต้องเคยได้รับการสั่งสอนมาแล้วว่า พุทธศาสนา ศาสนา คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้มันผิด ศาสนา แปลว่าคำสั่งสอน แต่ว่าพุทธศาสนามันไม่ได้หมายถึงตัวคำสั่งสอนอย่างเดียว มันหมายถึงตัวการปฏิบัติด้วย และได้รับผลของการปฏิบัติด้วย ไม่ใช่สอนอย่างเดียวจดไว้ในสมุดเป็นความรู้ และจะเป็นพุทธศาสนานั้นยากแต่ในเมืองไทย มันเรียกอย่างนี้ มันผิดเสียแล้ว มันช่วยไม่ได้ มันเรียกอย่างนี้ว่าพุทธศาสนา พุทธศาสนาแท้จริงไม่ใช่ตัวคำสั่งสอน มันตัวการปฏิบัติแล้วเกิดผลออกมา ถ้าถามว่าพุทธศาสนาคืออะไร มันก็ตอบว่าการปฏิบัติ คือดับทุกข์ได้ ถูกแล้วการปฏิบัติก็มาจากการเล่าเรียน ก็ต้องเรียนกันก่อน เพียงแต่เรียนรู้มันยังไม่ถึงตัวพุทธศาสนาที่แท้จริง เป็นแต่ตัวคำสั่งสอน พอปฏิบัติแล้วมันจึงจะมีตัวพุทธศาสนาที่แท้จริงแล้วออกมาเป็นผล คือการดับทุกข์ได้ เรียกว่า บรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้น พุทธศาสนาคือ ตัวการเรียนรู้ ตัวการปฏิบัติ และการได้รับผลของการปฏิบัติ มีอยู่เป็นสามอย่าง เรียกว่า ปริยัติ เรียกว่า ปฏิบัติ เรียกว่า ปฏิเวธ รวมกันเข้าทั้งสามอย่างเข้าด้วยกัน นั่นละ คือ ตัวพระพุทธศาสนา แต่ใน ในอินเดีย ในภาษาบาลี เขาไม่ได้เรียกพุทธศาสนา เขาเรียกตัวธรรมะ ธรรมะ หรือ ตัวพรหมจรรย์ พุทธศาสนานี่ใช้กันในประเทศไทย ของเดิมในอินเดียเขาใช้คำว่าธรรมะ ธรรมะของ พระสมณโคดม สอนอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ ได้รับผลอย่างนี้ เราอย่าไปหลงคำภาษาพูด มันไม่แน่ มัน มัน มันผันแปรไปตามผู้บัญญัติ ปทานุกรม มันก็ เอาแน่ไม่ได้ในเรื่องนี้ มันต้องรู้เอาเองถึงตัวจริงว่ามันได้แก่อะไร นั่นขอให้รู้ว่าพุทธศาสนา คือ ความรู้ที่ถูกต้อง การปฏิบัติที่ถูกต้อง รับผลที่ถูกต้อง ดับทุกข์ได้สิ้นเชิง ทั้งระบบนั้นนะเรียกว่า พระพุทธศาสนา นี่คือ พุทธศาสนาคืออะไร เป็นวันแรกที่เราจะต้องรู้กันไว้ เป็นหัวข้อเบื้องต้นก่อน และก็จะได้พูดกันเป็นข้อๆ ไปตามลำดับ ตามสมควรแก่เวลา
วันนี้ ก็สมควรแก่เวลา คือหนึ่งชั่วโมงพอดี ขอยุติการบรรยาย วันแรกว่าพุทธศาสนาคืออะไร พุทธศาสนา คืออะไร