แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การพูดกันเรื่องธรรมะกับมนุษย์ เป็นครั้งที่ ๘ นี้จะพูดโดยหัวข้อที่ว่า การเห็นตถตาในทุกสิ่ง หัวข้อก็บอกชัดอยู่แล้วว่าในทุกสิ่ง ล้วนเห็นตถตา โดยย่อตถตาก็แปลว่าความเป็นเช่นนั้นเอง คำว่าทุกสิ่งนี่ควรจะเข้าใจความหมายในทางภาษาธรรม นี่คือว่า จะเป็นสิ่งที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งก็ดี ไอ้สิ่งที่ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งก็ดี มันมีสองอย่างเท่านั้นแหละ ล้วนแต่เป็นตถตา ล้วนแต่เป็นตถตา
ชาวบ้านธรรมดาเขาไม่รู้เรื่องนี้ เขาไม่รู้เรื่องเหตุปัจจัยปรุงแต่งกับไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เขาก็เห็นแต่สิ่งเท่าที่เขาเห็น แล้วเขาก็ไม่รู้ทำไมว่าที่เขาเห็นอยู่นั่นน่ะคือสิ่งที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เขาเห็นท้องฟ้า เห็นดวงอาทิตย์ เห็นภูเขาเลากา มหาสมุทร อะไรๆ เขาก็เห็นๆ เขาว่ามันเป็นอย่างนั้น เขาไม่รู้จักแยกว่าไอ้สิ่งเหล่านี้น่ะมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ทีนี้ไอ้สิ่งที่ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งเขาก็ไม่อาจจะเข้าใจได้ มันเป็นสิ่งละเอียดยิ่งกว่านามธรรมไปเสียอีก นามธรรมก็ยังพอเห็นได้ นามธรรมก็เป็นสิ่งที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง พวกรูป มีรูป พวกนาม เป็นเรื่องจิตใจหรือความรู้สึกทางจิตใจ เป็นภาวะแห่งจิตใจเรียกว่านาม ทั้งรูปทั้งนามก็เป็นสิ่งที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ทีนี้สิ่งที่ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งนี่พูดด้วยภาษาธรรมดานั้นยาก นั่นแหละมันเป็นความเข้าใจยาก ถ้าสิ่งนั่นไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ก็เรียกว่า สิ่งที่ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งเรียกว่าวิสังขา วิสังขารหรืออสังขตะ ถ้ามีเหตุปัจจัยปรุงแต่งก็เรียกว่าสังขาร หรือสังขตะ
เรารู้จักกันแต่สิ่งที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง สิ่งที่ตรงกันข้ามนี่ไม่รู้และยากที่จะรู้ มันเป็นภาวะหรือเป็นสภาวะอันหนึ่งซึ่งมิใช่รูป มิใช่นาม มิใช่ไอ้ที่เรารู้จักกันอยู่ เท่าที่ปรากฏแก่จิตก็ว่าเมื่อจิตไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ก็รู้สึกถึงภาวะที่ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งที่เรียกกันว่าว่าง ว่าง ว่างนี่มันไม่มีอะไรปรุงแต่ง มันไม่ได้เกิดมาจากอะไรปรุงแต่งหรือไม่มีอะไรปรุงแต่งอยู่เรียกว่าว่าง พระนิพพานก็อยู่ในพวกนี้ อยู่ในพวกว่างนี่ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ความที่จิตไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งเป็นจิตมันว่างจากความรู้สึก ที่เป็นนั่น เป็นนี่หรือเป็นตัวตน นี่มันรู้ยาก มันเข้าใจยาก แต่ขอให้รู้ไว้บ้างก็ยังดี เพราะว่ามันอาจจะค่อยๆรู้ในโอกาสข้างหน้า ที่ต้องพูดอย่างนี้ก็จะเพื่อให้มันหมด พูดแต่เรื่องสังขาร เหตุปัจจัยปรุงแต่งมันไม่หมด มันยังเหลืออยู่ ต้องขึ้นในส่วนที่ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ฝรั่งเขาก็ไม่ค่อยจะรู้เรื่องนี้แต่เขาก็พยายามที่จะศึกษาเรื่องนี้ จะกำหนดเรื่องนี้ เขาก็มีคำคล้ายๆกันว่าสิ่งที่มีปรากฏการณ์ phenomena สิ่งนั้นมีปรากฏการณ์แล้วก็อีกสิ่งนึงไม่มีปรากฎการณ์เรียกว่า nominal nominal เป็นเอกพจน์คือมีสิ่งเดียว phenomena มีปรากฏการณ์นี่เป็นพหูพจน์ คือหมายความว่ามากมาย นับไม่ไหว พอจะเทียบได้กันกับคำว่ามีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่งหรือไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ถ้าไม่มีปัจจัยปรุงแต่งนี้ก็ไม่มีปรากฏการณ์ มีปัจจัยปรุงแต่งมันก็มีปรากฏการณ์ บางทีก็เรียกว่า Compounded หรือ non-compounded อาจจะเกินไปสำหรับคนบางคนที่จะรู้เรื่องนี้ แต่ว่ามันก็มีประโยชน์มากที่ว่าถ้ารู้เรื่องนี้แล้วมันจะได้พยายามคอยจ้องจับหาไอ้สิ่งที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง คือภาวะที่ว่าง ว่าง ว่างไม่มีเหตุ ไม่มีผล ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งมันก็ไม่มีเหตุไม่มีผล มันก็ไม่เป็นเหตุ ไม่เป็นผล อันทั้งสิ่งทั้งปวงถ้าจะพูดอย่างหมดไม่ยกเว้นอะไรแล้วก็ต้องพูดอย่างนี้ว่าสิ่งทั้งปวงคือที่เป็น ที่มีปัจจัยปรุงแต่งก็ดี ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งก็ดีมันหมดทั้งนั้นน่ะ มันมีสองพวกเท่านั้น
บรรดาที่เรารู้สึก รู้จัก สัมผัสได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่มันมีปัจจัยปรุงแต่ง ไอ้ที่มันไม่มีปัจจัยปรุงแต่งสัมผัสได้ด้วยปัญญาหรือด้วยจิตใจที่พิเศษที่มีปัญญาสูงสุด ที่ทั้งสองอย่างนี้ก็คือเช่นนั้นเอง มันเป็นเช่นนั้นเอง ถ้ามันไม่มีปัจจัยปรุงแต่งมันก็เป็นเช่นนั้นเองตามแบบของการที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ถ้ามันเป็นสิ่งที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งมันก็เป็นเช่นนั้นเองตามแบบของสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่ง นี่เป็นคำบรรยาย เป็นธรรมะในขั้นปรมัตถธรรมที่มันสูงสุดที่พูดหมดทั้งสองอย่าง อย่างนี้
ที่จริงเราก็รู้จักกันแต่สิ่งที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เราควรจะพูดกันแต่เพียงสิ่งเดียว แต่เดี๋ยวนี้มันมีสิ่งที่จะเรียกว่าตรงกันข้ามก็ได้ มันเป็นที่สุดแห่งความทุกข์ เพราะว่าถ้ามีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นไปตามเหตุปัจจัย ความที่ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั่นน่ะคือความทุกข์เพราะมันก็มีความทุกข์ ถ้ามันไม่ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยปรุงแต่งมันก็ไม่มีความทุกข์ ก็เป็นอันว่าเรารู้จักทั้งสิ่งที่มีความทุกข์และไม่มีความทุกข์
ไอ้ความที่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัยนั่นล่ะมันเป็นตัวเหตุให้ทุกข์ มันบีบคั้นเพราะมันไม่เที่ยง ถ้ามันไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งมันก็ไม่ต้องเปลี่ยนแปลง มันเที่ยง มันก็ตรงกันข้ามแบบนี้ สิ่งที่เที่ยงมีแต่สิ่งที่ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง สิ่งที่ไม่เที่ยงคือสิ่งทั้งปวงที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง มันจะถูกหาว่าเอาเรื่องเกินจำเป็นมาพูดก็ได้ แต่มันเป็นเรื่องหัวใจของพุทธศาสนา และถ้าเรารู้จักทั้งสองสิ่งนี้มันก็จะมีทางมีโอกาสข้างหน้า พยายามให้เข้าถึงสิ่งที่ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง คือความว่างจากตัวตน ว่างจากเหตุปัจจัย ว่างจากการเปลี่ยนแปลง คือไม่มีความทุกข์เลย มันวิเศษ มันได้รู้จักสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง แล้วก็ไม่มีความทุกข์ แต่ก็ยังเป็นเช่นนั้นเองคือเป็นเช่นนั้นเอง เป็นตถตา เป็นอนัตตา
ทีนี้จะย้ำตรงที่ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นเช่นนั้นเอง เอากันในฝ่ายนี้ ฝ่ายที่มีเหตุปัจจัยตรงกันที่มันสัมผัสเกี่ยวข้องกันอยู่กับเรานี่ ถ้าเราเห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง มันจะไม่ทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นคู่ ความรู้สึกที่เป็นคู่ที่เรียกว่าทวินิยม ทวินิยมคือเป็นคู่ ในภาษาต่างประเทศ มันเป็นคู่ เป็นคู่ๆ มีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นถ้าเราหรือความโง่อะไรของเราก็ตาม รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่น่ารัก มองไปในสิ่งที่เป็นน่ารักแล้วมันก็รัก แล้วมีความคิดอีกอย่างหนึ่งคือมองไปในสิ่งที่น่าเกลียด มันก็น่าเกลียด มันก็เลยเกิดเป็นของสวยหรือของไม่สวยขึ้นมาอย่างนี้ มันก็มีปัญหาใช่ไหม สวยมันก็อยากได้อยากเอา มันก็ต่อสู้กันไปเอามา ไม่สวยมันก็อยากเขี่ยไปให้พ้นหรืออยากจะทำลายเสีย มันก็เกิดความเป็นคู่ขึ้นมาอีกอย่างนี้ มีภาระหน้าที่ทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าเราเห็นว่ามันเช่นนั้นเอง มันเช่นนั้นเอง ที่ดูที่ว่าสวยก็เช่นนั้นเอง ที่ดูว่าไม่สวยก็เช่นนั้นเองมันก็เหลือแต่เช่นนั้นเอง ไอ้ความน่ารักหรือความน่าเกลียดมันก็ไม่เกิดขึ้น ก็ไม่มีความรักหรือความเกลียด แต่นี่เรามีความรู้สึกของเราที่จะแยกเห็นเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เห็นเป็นเช่นนั้นเอง เช่นว่า ของสวยไม่สวย ของไพเราะไม่ไพเราะ ของหอมของเหม็น ของอร่อยของไม่อร่อย ของนิ่มนวลของแข็งกระด้าง ของกระด้างแล้วก็ของพอใจไม่พอใจ ถ้าเราไปมีความรู้สึกไม่เห็นเช่นนั้นเอง เราจึงเห็นแยกเป็นคู่ คู่ คู่ ไม่รู้กี่สิบคู่ กี่ร้อยคู่เห็นตรงกันข้ามกันไปหมด เช่นว่าการแต่งตัวอย่างนี้ คนไทยว่าสวย คนจีนอาจจะว่าไม่สวย หรือชาวบ้านทั่วไปว่าสวยแต่คนป่า คนดง ไม่เห็น ไม่เห็นว่าสวย ก็เลยไม่รู้ว่าอย่างไรสวยกันแน่ ทีนี้ว่าทางหูที่ไพเราะหรือไม่ไพเราะ ไอ้ที่คนหนึ่งว่าไพเราะคนหนึ่งอาจจะว่าไม่ไพเราะ หูมันไม่ถึง ความยึดมั่นถือมั่นมันไม่ถึง ให้ดนตรีสูงสุดคลาสสิคสูงสุดอะไรก็ของนักดนตรีสูงสุดของโลกเอามาเล่นให้ชาวบ้านฟังมันก็ไม่รู้สึก ไม่รู้สึกว่าไพเราะหรือสูงสุด แต่พวกหนึ่งว่าไพเราะหรือสูงสุดอุตส่าห์ขึ้นรถลงเรือข้ามประเทศไปฟังกับเขาแสดง นี่คนตาแก่ที่สีซอพื้นบ้านแบบเดิมๆ ของแก แกรู้สึกไพเราะ ให้ไปฟังดนตรีสูงสุดคลาสสิคนั้นก็ไม่ไพเราะ แกรู้สึกว่ามันต่างกัน มันตรงกันข้าม ให้หมาฟังมันว่าเช่นนั้นเอง ไอ้ที่ไพเราะคลาสสิคหรือไม่คลาสสิคมันเห็นเหมือนกันหมด เป็นเรื่องเสียง แต่มันไม่ถึงขนาดลึกซึ้ง ให้หมามันฟังไม่รู้เรื่อง มันเห็นเหมือนๆกันหมด แต่ความเป็นเช่นนั้นเองมันมีอะไรที่ลึกไปมากกว่านั้น
มีคนสังเกตไว้สำหรับจับเปรียบเทียบเพื่อไม่ให้เกิดความหลงใหล เกิดความรู้สึกแตกต่างหลงใหลกัน ของหอมของเหม็นที่ว่าบางคนเหม็น บางคนรู้สึกหอมเช่นกะปิบางคนรู้สึกหอม บางคนรู้สึกเหม็น แต่เราขอให้พิจารณาดูว่าหอมมันก็เป็นเช่นนั้นเอง เหม็นมันก็เป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นเช่นนั้นเองตามแบบของมัน อย่าไปหลงรักหลงเกลียด อร่อยหรือไม่อร่อยก็เช่นนั้น ส้มลูกนี้มันเปรี้ยวมันก็เช่นนั้นเองตามแบบเปรี้ยว ส้มลูกนี้มันหวานก็เช่นนั้นเองตามแบบหวานแล้วก็ถือว่ามันต่างชนิดกัน หรือกินของแปลกๆ กินของทุกชนิดมันก็ค่อยยังชั่ว หวานก็เช่นนั้นเอง เปรี้ยวก็เช่นนั้นเอง แตงโมลูกนี้มันจืดไม่เป็นรส มันก็เช่นนี้เองมันแบบนี้เอง มันเป็นพรรค์นี้เอง ที่มันหวานอร่อย กรอบอร่อยก็มันเป็นเช่นนี้เอง อย่าให้มันเกิดปัญหาขึ้นมา ถ้าเกี่ยวกับคุณภาพอาจจะเป็นประโยชน์แก่ร่างกายก็เป็นอีกส่วนหนึ่งก็เลือกดู สำหรับที่จะมีประโยชน์แก่ร่างกาย แต่ว่าอย่าหลงรัก หลงเกลียดนั้นอย่าเลย ป่วยการ มันช่วยได้มากถ้าเห็นว่าเป็นเช่นนั้นเอง มันช่วยประหยัดได้มาก ไม่ไปหลงนั่น หลงนี่ การเห็นเช่นนั้นเองแม้ในชั้นระดับชาวบ้านทั่วไปนี่ก็ยังมีประโยชน์มาก จะไม่หลง จะไม่ตื่นเต้น จะไม่ต้องเสียเงินเสียทองไปซื้อหาไอ้สิ่งที่ที่ให้ตื่นเต้น อัศจรรย์ ถ้าเราเห็นเป็นของแปลก ของน่าอัศจรรย์มันก็ต้องซื้อหาด้วยเงินที่แพง เอามามันก็อย่างนั้น มันก็เป็นเช่นนั้นเองตามแบบของมัน
ไอ้เรื่องดับทุกข์นี่ต้องการจะให้เห็นว่า เช่นนั้นเอง เพื่อไม่ให้เกิดฝ่ายบวกหรือรัก ไม่เกิดฝ่ายลบหรือเกลียด หรือเรียกว่ายินดียินร้าย อย่าให้เกิดความยินดียินร้าย มันสบาย ยินดีมันก็กระตุ้นสั่นระรัวไปตามแบบยินดี ยินร้ายก็สั่นระรัวไปตามแบบยินร้าย ไม่ใช่ความสงบ ถ้าไม่ยินดีไม่ยินร้ายนั่นน่ะคือความสงบ ความหยุดหรือความสมดุล จงอยู่ด้วยความสมดุลนี่ ซึ่งส่วนลึกของมันก็ต้องมองให้เห็นถึงความเป็นเช่นนั้นเอง เช่นว่าเงินมันหาย มันก็เป็นทุกข์มาก ได้เงินมามันก็ดีใจมากแต่ถ้าเห็นว่ามันก็เช่นนั้นเอง มันก็ไม่ต้องตื่นเต้น ดีใจ เสียใจ ควรทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น เงินหายควรทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ไม่ต้องเป็นทุกข์หรือเสียใจ ได้เงินมาก็ทำไปอย่างนั้นโดยไม่ต้องลิงโลด ดีใจเหมือนกับคนบ้า เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง ทำดีเหมือนกับพูดเล่น ก็พูดเล่นๆแต่กลับเป็นคำที่ลึกซึ้งสูงสุด เป็นคำที่สูงสุดของพุทธศาสนาเพื่อไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย ไม่ให้เกิดจิตชนิดที่เป็นบวกหรือเป็นลบ แต่ตามความรู้สึกของคนทั่วไปถ้าเป็นบวกมันก็พอใจ ดีใจ เห็นว่านี่ถูกต้องจะเอาสิ่งนี้ ไอ้ลบนั่นไม่เอาแล้ว เสียก็ไม่เอาแล้ว เอาได้ๆๆ แต่มันก็มีปัญหาอย่างอื่นต่อไปอีก หลงใหลในความได้ นอนไม่หลับ เห็นแก่ตัวจนคดโกง เกิดความเห็นแก่ตัวจนคดโกง
แต่ถึงอย่างไรคนธรรมดาสามัญทั่วไปมันก็ชอบได้ รักที่จะได้ ต้องการที่จะได้ ที่เสียมันไม่ชอบ แต่หลักธรรมะต้องการให้อยู่นิ่งๆ อยู่กลางๆ ไม่ต้องยินดีให้เนื้อเต้นหรือไม่ต้องยินร้ายให้เดือดร้อน ปัญหามันอยู่ที่ตรงนี้ ว่าคุณต้องการความสงบหรือต้องการความตื่นเต้นไปตามแบบบวก ไอ้โศกเศร้าแบบลบคงไม่ต้องการแน่ แต่ไอ้ความได้อย่างใจโดยแบบบวก ได้สนุกสนาน เอร็ดอร่อยตามแบบบวกนี่มันยังต้องการกันอยู่ทั้งนั้น กำลังพยายามกันอยู่ทั้งนั้น นี่ดูว่าเป็นยังไงบ้าง อยู่สงบๆโดยไม่ต้องเต้น ไม่ต้องตื่นเต้น ไม่ต้องถูกกระตุ้นจะดีหรือไม่หรือว่าจะเป็นสุขหรือไม่ ใจคอจะปกติหรือไม่ มันจะไม่ลืมตัว มันจะไม่เห็นแก่ตัว ถ้าชอบอย่างนี้ก็ต้องศึกษาไอ้ความเป็นเช่นนั้นเอง ให้เห็นความเป็นเช่นนั้นเองของไอ้สิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้อง อย่าให้เกิดความรู้สึกเป็นไอ้คู่ตรงกันข้าม เช่นรัก เช่นเกลียด เช่นโกรธหรือว่าเห็นเป็นความรู้สึกมันได้มาหรือเสียไป ความรู้สึกว่าแพ้แล้วชนะ หรือชนะแล้ว รู้สึกว่าได้เปรียบแล้ว หรือเสียเปรียบแล้ว มีหลายๆ หลายสิบคู่ล้วนแต่วุ่นวายทั้งนั้น อยู่ปกติแล้วก็จัดการไปตามที่ควรจะจัดการอย่างไร ดีใจก็ไม่ต้องดีใจให้เหนื่อย เสียใจก็ไม่ต้องเสียใจให้เป็นทุกข์ แล้วความเคยชินในจิตใจน่ะมันบังคับไม่ได้ เมื่อเสียหายเสียอะไรไปมันก็เสียใจ มันได้อะไรมามันก็ดีใจ เพราะยังไม่ได้ศึกษาเรื่องเช่นนั้นเอง จนกว่าเมื่อไรที่ได้ศึกษาเรื่องเช่นนั้นเองมันจึงจะไม่เป็นอย่างนั้น
แต่ธรรมะนี้สูงมาก หากคนทั่วไปไม่เข้าใจและไม่เคยได้ยินเลยทั้งนั้น ต้องบอกให้รู้ว่าไอ้สูงสุดในพุทธศาสนาคือความสงบสุขอันเกิดมาจากการเห็นว่าเช่นนั้นเอง แล้วไม่เกิดความรู้สึกที่เป็นบวกหรือรู้สึกที่เป็นลบ ทั้งโลกนั้นบูชาสิ่งที่เป็นบวก คำว่า Positive เห็นชอบกันเป็นที่สุด พอ Negative มันสั่นหัวกันทั้งนั้น ทั้งโลกมันเป็นทั้งโลก โลกนี้มันก็ยังไม่มีความสงบ มันก็พยายามที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่รัก ที่พอใจ ส่วนพระนิพพานนั้นไม่ ไม่อย่างนั้น ไม่มีคู่ตรงกันข้ามอย่างนี้ เขาก็ไม่เข้าใจ พอพูดเรื่องนิพพานให้ฟัง เขาก็เข้าใจไปทางว่าเป็นบวกที่สุดของบวกทั้งหลายอย่างนี้เสียหมด พระนิพพานนี่เป็นเรื่องได้ เรื่องถูกใจ เรื่องอร่อยในแง่ที่บวก ก็ถ้าว่าง ว่างไปไม่มีใครชอบ นี่คนทั่วไปปรารถนานิพพาน อธิษฐานนิพพานก็เพราะเห็น เพราะเข้าใจไปว่าเป็นแง่บวกสุดขีด ถ้าพูดว่าว่าง เป็นแง่ว่าง ไม่มีใครต้องการ ไม่ต้องการนิพพาน จนกว่าจะได้ศึกษา โอ้ไอ้ว่างนี่ประเสริฐ วิเศษ ไม่รบกวนหัวใจ คนธรรมดาต้องการให้มีการกระตุ้น กระตุ้นแล้วก็พอใจแล้วก็เป็นสุข กระตุ้น กระตุ้นในทางลบแล้วก็ยังพอใจ ได้ร้องไห้ก็ยังสบายใจ ก็เป็นอันว่าไอ้สูงสุดของความจริงมันอยู่ที่เช่นนั้นเอง
เอาล่ะทีนี้จะทำอย่างไรให้เห็นเช่นนั้นเอง ก็มันก็มีตั้งต้นดูไปเรื่อยๆ มันเป็นความไม่เที่ยง ถ้าเปลี่ยนแปลง ถ้าเปลี่ยนแปลงแล้วทนได้ยาก ก็เป็นทุกข์ เพราะไม่มีใครทนได้เป็นอนัตตา เห็นว่ามันเป็นอย่างนี้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสิ่งเหล่านี้อยู่ ไอ้สิ่งที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงนี่ยังไม่มองไม่เห็นหรอก คนธรรมดามองไม่เห็นหรอก หมายถึงอสังขตะธรรมหรือนิพพาน ที่เที่ยง ที่ไม่เปลี่ยนแปลง นี่เราก็เห็นได้แต่เพียงว่าไอ้สิ่งนี้ไม่เที่ยง แต่เรากำลังเห็นว่าเที่ยง แล้วเราอยากให้มันเที่ยง ต้องการจะดูให้มันเที่ยง ให้มันไม่เปลี่ยนแปลง มันก็เกิดทุกข์เพราะเหตุนี้ ในเมื่อมันเปลี่ยนแปลงเราก็เสียใจ เปลี่ยนแปลงมันก็เป็นทุกข์ เห็นได้ถูกต้องตามที่เป็นจริงว่ามันก็ไม่เที่ยงจริงๆ มันเปลี่ยนแปลงอยู่จริงๆ จะไปดึงออกมาให้มันอยู่กับเรา ให้เที่ยงนี้มันก็ทำไม่ได้ ขืนทำมันก็เป็นทุกข์ มันไม่มีตัวตนที่จะจับเอามาไว้ให้เที่ยงอยู่กับเรา เป็นอนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา เห็นว่าโอ้มันไม่มีตัวตนที่เราจะจับเอามาไว้ ควบคุมไว้ได้ตามที่ต้องการ นี่ก็เห็นสุญญตา มันว่างจากตัวตนก็เรียกว่าสุญญตา ดังนั้นคำว่าสุญญตา มันก็โอ้ มันก็เช่นนั้นเอง มันว่างจากตัวตนที่เราจะบังคับให้ตามความต้องการของเรา
เราก็ไม่ถูกรบกวนด้วยความอยาก ความหวัง ความวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ ทุกอย่างที่มันเป็นความทรมานใจ ตัวเราไม่หวังอะไรโดยที่เห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง มันต้องเป็นไปเช่นนั้นเอง ไม่มีความหวังก็ไม่มีความทรมานใจ แต่ต้องการอะไร จะมีอะไร จะกินอะไร จะใช้อะไรก็ทำไปให้ถูกกฎเกณฑ์ของมันโดยที่ไม่ต้องหวังว่ามันต้องเป็นไปตามไอ้ความต้องการของเราทุกอย่าง แต่มันก็มีส่วนที่ถ้าเราทำลงไปอย่างนี้แล้ว มันก็ได้ผลอย่างนี้มา เอามากินเอามาใช้อะไรก็ได้ มันก็คือเช่นนั้นเองเหมือนกัน ทำสำเร็จได้ผลมาก็คือเช่นนั้นเอง ทำไม่ได้ทำไม่สำเร็จไม่ได้อะไรเลยก็คือเช่นนั้นเอง ดังนั้นจึงไม่ไปเป็นทุกข์กับมัน ก็ทำไปตามที่ถูกต้องที่ควรจะทำแล้วก็ได้รับผลตามที่ควรจะทำ ได้มาก็คือเช่นนั้นเอง ถ้าเกิดไม่ได้ขึ้นมาก็อย่าเสียใจเพราะมันเช่นนั้นเอง ทำนาปีนี้ได้ผลดีก็เช่นนั้นเอง ปีนี้เสียหายหมดก็คือเช่นนั้นเอง ไม่ต้องเป็นทุกข์ ก็ทำกันใหม่ ไม่ต้องเป็นทุกข์
ความเห็นเช่นนั้นเองนี่มันลึกซึ้ง ลึกไปถึงชั้นที่เป็นที่สุด ถ้าไปถึงเห็นเช่นนั้นเองที่เป็นชั้นที่สุดมันก็กลายเป็นอริยบุคคล เป็นพระอรหันต์เรียกว่าตถาคต ถึงความเป็นเช่นนั้นเองเป็นพระอรหันต์ คำว่าตถาคตนั่นหมายถึงพระอรหันต์ถึงซึ่งเช่นนั้นเอง แต่เราได้ยินได้ฟังก็เพียงว่าพระพุทธเจ้านำคำนี้มาใช้ สำหรับเรียกว่าพระองค์เองในนามเป็นบุรุษที่หนึ่ง เป็นตัวเองแทนคำว่าข้าพเจ้า แต่คำว่าเช่นนั้นเองนั้นมันคือพระอรหันต์พูดถึงเช่นนั้นเอง ตถาคตก็พูดถึงซึ่งเช่นนั้นเอง ทีนี้ไม่มียินดียินร้าย ไม่มีรักไม่มี โกรธเกลียด ไม่มีตื่นเต้นอะไร ไม่วิตกกังวลอะไร อาลัยอาวรณ์ไม่อิจฉา ริษยา ไม่หึงไม่หวง ไม่ยกตนข่มท่าน ไม่เห็นเป็นอะไรเป็นของแปลก
บางคนอาจจะกลัวว่าโอ้นี่มันก็สูญหายหมด ของสวยก็ไม่มี ของงามก็ไม่มี ของอร่อยก็ไม่มี มันจะคิดไปอย่างนั้นก็เลยไม่กล้า ไม่กล้าศึกษาเรื่องเช่นนั้นเอง เดี๋ยวนี้ความงามความสวยนี่เขาลงทุนสร้างสรรค์กันมากมาย สุนทรียภาพทั้งหลายที่เขาบูชากันนักหนา เพราะว่าเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง เราก็ไม่ซื้อภาพเขียนแผ่นนึงราคาเป็นล้านๆ หรือหลายสิบล้านเหมือนที่เขากำลังซื้อขายกันอยู่ ภาพเขียนบางภาพราคาหลายสิบล้าน ให้เปล่าเรายังไม่เอา เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง เป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ป้องกันความทุกข์ ป้องกันความทุกข์ไม่ให้รักอะไรไม่ให้เกลียดอะไร ไม่ให้กลัวอะไรไม่ให้โกรธอะไร ไม่ให้ตื่นเต้นในอะไร แล้วพวกที่อุตส่าห์แห่ไปทัศนาจรมันไม่เห็นเช่นนั้นเอง มันมีความตื่นเต้นมีความหวังที่จะเห็นของแปลกประหลาด ไม่เห็นว่าเช่นนั้นเอง ถ้าเมื่อไหร่มันไปทัศนาจรจนหายโง่ เห็นว่าเช่นนั้นเอง โอ้อย่างนี้ไม่ต้องมาดูก็ได้เป็นเรื่องจะสุดจะจบไม่ต้องแห่ไปทัศนาจรชนิดที่จะดูของแปลก ของประหลาดอะไร ถ้ายังไม่ถึงขั้นนี้ก็ต้องไปเถอะ ไปเรื่อย ไปรอบโลกหรือไปไหนก็ตามใจมันไม่เห็นเช่นนั้นเอง หยุดไม่ได้ สงบไม่ได้ ความเห็นเป็นของแปลกน่าอัศจรรย์มันก็ดึงไป พาไปซึ่งก็กำลังมีมากในโลก ผู้ไม่เห็นเช่นนั้นเอง
ทีนี้ประโยชน์ของการเห็นเช่นนั้นเองที่จะเอามาใช้ในชีวิต แท้จริงก็คือว่ามาใช้ในการควบคุมผัสสะได้ง่าย ถ้าเราได้ศึกษาความเป็นเช่นนั้นเองของสิ่งต่างๆไว้มากพอ เป็นปัญญาเก็บไว้ในคลัง ทุกสิ่งเป็นเช่นนั้นเองนั้นให้มันแน่นอน มันจะควบคุมผัสสะในขณะแห่งปฏิจจสมุปบาท เอ้าคงเชื่อว่าคงจะได้ยินได้ฟังมาแล้ว แต่ว่าเผื่อ เผื่อลืมเสียแล้ว สำหรับคำว่าปฏิจจสมุปบาทนั้น คือเมื่อตาเห็นรูปก็ดี หูได้ยินเสียงก็ดี จมูกได้กลิ่นก็ดี ลิ้นได้รสก็ดี กายได้สัมผัสผิวกายก็ดี จิตรู้สึกอะไรก็ดี ก็เรียกว่ามันได้เกิดอารมณ์เพราะการกระทบ เมื่อตาเห็นรูปก็เกิดจักษุวิญญาณการเห็นทางตา จักษุวิญญาณถึงกันเข้ากับรูปโดยอาศัยตาเป็นเครื่องมือ เป็นของสามสิ่งอย่างนี้เรียกว่าผัสสะ
ผัสสะคือการกระทบ เมื่อเกิดผัสสะแล้วย่อมเกิดเวทนาคือความรู้สึกไปตามอำนาจของผัสสะ ถ้ามันไม่มีความรู้เรื่องเช่นนั้นเอง กระทบกันเข้ากับสิ่งที่สวยมันก็เห็นสวยไปเพราะความโง่ ไม่สวยก็เห็นไม่สวยก็เพราะความโง่ ไม่เห็นเช่นนั้นเอง ไอ้ผัสสะนั้นได้เกิดเวทนา พอใจไม่พอใจ นี่เวทนาโง่แบบนี้แล้ว ก็ให้เกิดตัณหาคือความอยาก ความต้องการไปตามแบบนั้น สวยน่ารักก็อยากเอา ไม่สวยไม่น่ารักก็ไม่อยากเอา อยากทำลาย เรื่องเสียงก็เหมือนกัน เรื่องกลิ่นก็เหมือนกัน เรื่องลิ้นก็เหมือนกัน เรื่องผิวหนังก็เหมือนกัน มันก็เกิดตัณหา ตัณหาอยากอย่างแรง อยากอย่างแรง เมื่อความอยากเป็นไปอย่างแรงถึงที่สุด จิตมันก็ปรุงขึ้นมาเองเป็นความรู้สึกว่ากู กูผู้อยาก กูผู้อยากแสดงว่าอุปทานเกิด นี่ตัวกูก็เกิด อุปทานเกิดมันก็พร้อมที่จะออกมาเป็นการกระทำภายนอกที่เรียกว่าภพ เรียกว่าชาติ เกิดชาติเป็นตัวกูโดยสมบูรณ์แล้วก็เอานั่น เอานี่มาเป็นของกู แล้วเกิดเป็นทุกข์ ความเกิดก็ของกู ความแก่ก็ของกู ความเจ็บก็ของกู ความตายก็ของกู สิ่งที่น่ารักก็เป็นของกู สิ่งที่ไม่น่ารักก็เป็นศัตรูของกู อยากอะไรไม่ได้ตามที่อยากมันก็เป็นทุกข์ มีตัวตนในสิ่งใดมันก็เป็นทุกข์ ถ้าเรามีความรู้เรื่องเช่นนั้นเองอย่างเพียงพอ มันก็ป้องกันเสียได้ตั้งแต่ในขั้นที่เรียกว่าผัสสะนั่น พอมีการสัมผัสอย่างที่ว่าแล้วทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทางจมูกก็ได้ พอมีการสัมผัส สติระลึกถึงความรู้อันสูงสุดคือเช่นนั้นเองเอามาประกอบเข้ากันกับสัมผัส มันก็มองเห็นความเป็นเช่นนั้นเองของสิ่งที่สัมผัส มันก็ไม่เกิดเวทนา รักหรือเวทนาไม่รักไม่เกิดเวทนา ที่พอใจหรือไม่พอใจ มันคงเห็นว่ามันเป็นอย่างนั้นเท่านั้น มันเป็นอย่างนั้นเท่านั้น ไม่ไปรักไม่ไปเกลียดกับมันแล้วก็มีปัญญารู้ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง แล้วจะควรทำกับมันอย่างไร จัดการกับมันอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์ตามที่ต้องการ ถ้ามันไม่จำเป็นจะต้องจัดการอะไรก็เลิกเลย ไม่ต้องสนใจกับมัน ทิ้งไปเลย แต่ถ้าควรจะจัดการอย่างไรก็จัดการให้ได้รับประโยชน์ตามที่ต้องการ อย่ามาทำเราให้หลงรักหลงเกลียด หลงโกรธหลงกลัว ไม่เอา ไม่เอา
ความรู้ว่าเช่นนั้นเองมันมาช่วยทำลาย แห่งผัสสะไม่ให้เกิดเวทนาที่หลอกลวงแล้วก็ไม่โง่ในเวทนานั้น มันก็ไม่เกิดตัณหาไม่เกิดอุปทาน ก็เลยไม่มีความทุกข์ เรื่องมันก็จบลงด้วยความไม่มีทุกข์ มิเช่นนั้นเรื่องมันก็จะเลยไปด้วยอำนาจความไม่รู้ ไปจนถึงความทุกข์จนได้ นี่เป็นหลักสำคัญในพุทธศาสนา ซึ่งมันจะต้องยากบ้างเป็นธรรมดาสำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้เอาเสียเลยก็ต้องยากที่จะควบคุมอย่างนี้ได้ ก็ถ้าได้ศึกษามาอย่างเพียงพอมันก็จะได้ค่อยยังชั่ว มันก็ควบคุมได้บ้างหรือถ้าศึกษาจนถึงที่สุดมันก็ควบคุมได้จริง มันจะไม่มีอะไรมาทำให้เราเกิดความทุกข์เพราะการสัมผัสทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจเอง มีประโยชน์อย่างยิ่งของความรู้เรื่องเช่นนั้นเอง มันจะมาทำประโยชน์ในขณะผัสสะ มันก็ควบคุมได้ ควบคุมกระแสปฏิจจสมุปบาทนี้ได้ เราเรียกสั้นๆว่าควบคุมอายตนะได้ หากควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้ หรือควบคุมรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ได้ หากควบคุมได้ก็หมายความว่าไม่ให้มันเกิด เรื่องขึ้นมาจนเป็นทุกข์ ไม่ให้เกิดเรื่องขึ้นมาเรียกว่าควบคุมได้ เดี๋ยวนี้ควบคุมไม่ได้
มันก็มีอย่างนี้ มีของคู่นี่คือรักหรือไม่รัก พอใจหรือไม่พอใจ แล้วก็สั่งเดือดร้อนไปตามนั้น พอใจก็หลงเป็นภาพมัน ความรักความดีใจก็กระตุ้นจนนอนไม่หลับเหมือนกัน ถ้าไปหลงใหลไปยึดถือในสิ่งเหล่านั้นน่ะมันก็จะยิ่งกว่าเป็นทุกข์เสียอีก มันจะทุกข์ในส่วนลึกทรมานอยู่ในส่วนลึก ไม่ใช่ความสงบไม่มีความสงบ ซึ่งดีใจไม่ใช่ความสงบ ไม่สังเกตดูบ้าง ถ้าดีใจมันก็กินข้าวไม่ค่อยลง ดีใจมากก็นอนไม่หลับเหมือนกัน มันกระตุ้นขนาดนั้น ถ้าไม่กระตุ้นขนาดนั้นเราก็ปกติ คนดีใจก็กินข้าวไม่ลง เสียใจก็กินข้าวไม่ลง ไอ้ที่กินข้าวลงเพราะมันอยู่ตรงกลางหรือปกติ ดีใจก็นอนไม่หลับ เสียใจก็นอนไม่หลับ ที่มันนอนหลับก็เพราะมันไม่มีอะไรมากวน ไม่มีความดีใจมากวน ไม่มีความเสียใจมากวน ไม่มีความอยาก ความหวัง ความวิตกอะไรมากวนมันจึงนอนหลับ ที่มันจะไม่กวนเพราะเราไม่ไปยึดถือเอามาให้เป็นของน่ารักหรือน่าเกลียดก็คือเป็นคู่ๆ นี่ ได้ดีมาเอามาบ้าดี เอามาหลงดีนอนไม่หลับ ได้ชั่วมาก็ทรมานใจนอนไม่หลับ ก็เช่นนั้นเองอย่าให้มันเป็นดีเป็นชั่ว มันก็ไม่มีปัญหา แต่มันยากเพราะกิเลสสำหรับที่จะรู้สึกว่าดีว่าชั่วนั้นมีเต็มอัดอยู่ภายใน ดังนั้นคนธรรมดาจะต้องรู้สึกดีใจหรือเสียใจ แม้ว่าจะทำไม่ได้จะควบคุมมันไม่ได้ก็ขอให้รู้ไว้ มันจะค่อยๆควบคุมได้ มันจะรู้จักเข็ดหลาบ มันเป็นทุกข์ทุกทีถ้าไปยึดถือว่าดีว่าชั่วก็เป็นทุกข์ทุกที แล้วมันก็จะค่อยๆเข็ดหลาบ ค่อยๆเข็ดหลาบ มันจะวางจิตเป็นกลางไม่ยินดียินร้ายได้ต่อไปก็จะสบายดี
คำว่ายึดมั่นถือมั่น มันก็มาหนักอยู่บนจิตใจ มีดี มีบุญ มีอำนาจวาสนาก็มายึดมั่นถือมั่น มันก็หนักอยู่บนจิตใจ มันเก็บไว้ตามธรรมชาติ อย่าเอามากดทับไว้ในจิตใจหรือบนศีรษะเลย มีเงินมีทองอยู่ในธนาคารก็ดีแล้วไม่ต้องเอามากดทับอยู่บนศีรษะ มีวัวมีควายอยู่กลางไร่กลางนาก็ดีแล้วไม่ต้องเอามากดทับอยู่บนศีรษะ คือไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยความเห็นว่า ดี ว่าน่ารัก หรือว่าถูกอกถูกใจ เรื่องฝ่ายความเกลียดความโกรธก็เหมือนกัน เช่นนั้น เช่นนั้นเอง อย่ามาโกรธอย่ามาเกลียด ลืมเสียดีกว่า แม้ข้าศึกศัตรูนี่เราก็ไม่ต้องเอามาโกรธ มาคิดนึกแล้วมันก็เป็นทุกข์ พยายามเลิกล้างความเป็นศัตรูเสียด้วยความรัก ด้วยความเข้าใจกันได้ อะไรกันได้เลิกความเป็นศัตรู เป็นมิตรดีกว่าเป็นศัตรู แต่ถ้าเป็นมิตรแล้วเอามารับบนหัวจิตหัวใจอีกอย่าง มันก็เป็นปัญหาขึ้นมาใหม่อีกอย่างหนึ่ง หมายความที่ไม่ต้องยินดียินร้าย ไม่ต้องยินดียินร้าย ไม่ต้องขึ้นไม่ต้องลงนั่นก็สบาย ความสบาย
ให้ทุกคนๆ สังเกตดูให้ดีด้วยความเฉลียวฉลาดที่สุดสังเกตให้ดีว่า ไอ้เวลาที่เราสบายใจที่สุดนั้นมันรู้สึกอย่างไร คนๆแต่ละคนก็จะมีเวลาบางเวลาที่รู้สึกสบายใจที่สุด ทำไมสบายใจที่สุดบอกไม่ถูก สังเกตดูให้ดีเถอะเวลานั้นมันไม่มีความรู้สึกยินดียินร้าย มันไม่มีความรู้สึกยินดียินร้าย ถ้ายินดีมันก็ตื่นเต้นทางยินดีไม่รู้ว่าง ยินร้ายก็ยุ่งยากไปทางยินร้ายไม่ว่าง ว่างถ้ามันว่างไม่มียินดียินร้าย สบายใจที่สุดเวลานั้น ไม่ยินดียินร้ายไม่มีอะไรรบกวน ไม่มีเรื่องยินดียินร้าย ไม่มีเรื่องตัวกูของกู เรื่องได้เรื่องเสีย ไม่มีเรื่องแพ้เรื่องชนะ ไม่มีเรื่องกำไรเรื่องขาดทุน ไม่มีทุกๆคู่เลย ขอให้สังเกตดูก็จะพบจะเข้าใจพระนิพพานได้ง่ายว่าพระนิพพานนั้นมีความสุขอย่างไร คือมันไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ยินดีเอาเข้ามา ยินร้ายก็ผลักออกไป ไม่มีทั้งสองอย่างก็คือว่าง ว่างก็สบาย
ก็พูดมาแล้วกันว่า ถ้าจะว่าง จะว่างแล้วมันต้องเห็นเช่นนั้นเอง แต่บางทีเผอิญ เผอิญเป็นว่ามันไม่มี ไม่ใช่ความรู้ อันนั้นมันเป็นความฟลุ๊ค มันบังเอิญที่ว่ามันไม่ยินดีมันไม่ยินร้ายเป็นบางเวลา มันก็เป็นสุขอย่างยิ่ง หรือว่าเราไปในที่บางแห่งมันดับความยินดียินร้ายเสียได้ เช่นไปที่ทะเล ไปที่ยอดเขา ไปที่ไหนก็ตามมันตัดความยินดียินร้ายออกไปเสียได้ก็รู้สึกสบายเหมือนกัน ต้องคอยสังเกตว่าไปที่ไหนรู้สึกสบายที่สุดแล้วมันเป็นเพราะเหตุอะไร มันจะเป็นเพราะมันว่างจากยินดียินร้าย หรือจะเรียกว่ามันเห็นเช่นนั้นเองไม่ยินดียินร้าย เป็นผลของการเห็นเช่นนั้นเอง ไม่ยินดียินร้ายมันก็ว่างมันก็สบาย หากคอยดูธรรมะจากของจริงด้วยตนเองอย่างนี้ เอาเวลาที่เราสบายที่สุดนั้นมันว่าง ไม่ยินดีไม่ยินร้าย จะไม่ยินดีไม่ยินร้ายโดยเฉพาะนั้นต้องเห็นความเป็นเช่นนั้นเอง ไม่น่ายินดีไม่น่ายินร้าย ไอ้ที่ยินดีๆกัน เราไม่ต้องไปโง่กับเขา ไม่ต้องไปยินดีกับเขา ไอ้ที่ยินร้ายๆ เราก็ไม่ต้องไปโง่ยินร้ายกับเขา ก็ไม่ต้องยินดียินร้าย เรามีหน้าที่อะไรก็ทำไปโดยไม่ต้องยินดียินร้าย
แต่มันมีแต่ว่าไอ้ความถูกต้อง ความถูกต้องทำให้เกิดความพอใจนี่ก็ไม่ต้องยินดียินร้าย มันถูกต้องแล้วก็พอใจแล้วก็เป็นสุข ถ้ายินดีก็กลุ้มด้วยความยินดี ยินร้ายก็กลุ้มอยู่ในความยินร้าย มีความถูกต้อง มีความสมดุล จิตก็รู้สึกพอใจและเป็นสุขเอง เคล็ดมันเป็นเคล็ด บางทีมันจะเป็นยิ่งไปกว่าเคล็ดเสียอีก เป็นความลับที่คนเราไม่รู้แล้วก็ไปหลงไปในทางที่ให้เกิดทุกข์ ในทางที่จะไม่เกิดทุกข์ไม่ชอบไม่สนใจ เห็นว่าไม่มีสาระอะไร ไม่สนุกเลย ไอ้ความสนุกนี่ก็ดูให้ดีเถอะ สนุกแล้วมันตื่นเต้นเหมือนกับเป็นบ้า ความไม่สนุกมันก็ซบเซาเหมือนกับเป็นบ้า ไม่ทั้งสองอย่าง ไม่ต้องสนุกและไม่ต้องไม่สนุก มันก็ปกติมันก็อยู่เป็นกลาง แต่คนโง่มันชอบให้ตื่นเต้น รู้สึกสนุก ไม่ตื่นเต้นก็เอาเหล้ามากินให้มันตื่นเต้นแล้วมันก็จะได้สนุกไปทางความคิดนึกด้วยอำนาจของเหล้า มันก็พอใจจะเป็นสุข คนพวกนี้มันรักขวดเหล้าขวดเดียวยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า เอาพระพุทธเจ้ามาแลกกับเหล้าขวดเดียวมันก็ไม่เอาหรอก มันรักขวดเหล้ามันก็เอาขวดเหล้าเพราะมันช่วยให้ตื่นเต้น ให้มันวิเศษวิโสไปตามแบบของความเมา
เดี๋ยวนี้เราเป็นพุทธบริษัท ได้รับคำสั่งสอนจากพระพุทธเจ้าเพื่อความดับทุกข์โดยประการทั้งปวง แล้วคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นสอนให้เห็นเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง ให้สวยก็เช่นนั้นเอง ไม่สวยก็เช่นนั้นเอง หอมก็เช่นนั้นเอง เหม็นก็เช่นนั้นเอง ไพเราะก็เช่นนั้นเอง ไม่ไพเราะก็เช่นนั้นเอง เป็นเช่นนั้นเองตามธรรมชาติ จะเป็นเรื่องอะไรๆก็ตาม มันเป็นเช่นนั้นเองตามธรรมชาติ ส่วนเรื่อง อสังขตะ เรื่องพระนิพพานนี่ยังไม่ถึง ยังไม่ถึง ก็ไม่รู้จัก ไม่อาจจะรู้จักว่าเป็นเช่นนั้นเอง แต่เมื่อถึงคราวก็จะรู้จักว่าอ้อมันเป็นเช่นนั้นเอง ถ้าเป็นพระนิพพานก็เป็นเช่นนั้นเองตามแบบพระนิพพาน ถ้าเป็นวัฏฏะสงสารก็เป็นเช่นนั้นเองตามแบบวัฏฏะสงสาร มีความเป็นเช่นนั้นเองของมันๆ ประจำตัวของมันอยู่ด้วยกันทั้งนั้น เมื่อเห็นเช่นนั้นเองแล้วมันก็ไม่เกิดความรู้สึกที่เป็นคู่ๆ ที่ยินดียินร้าย ไม่รักหรือเกลียดเป็นต้น ก็ทั้งไม่รวมเรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องบาป เรื่องบุญ เรื่องสุข เรื่องทุกข์มันต้องการความว่าง คนอย่างนี้จะมาเชิดไม่ได้ จะเอาลูกยอมาให้กินกี่ครั้งๆมันก็ไม่กินเพราะมันรู้ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง
เอาแล้วเป็นอันว่าขอให้อยู่ในโลกด้วยการมีความรู้เรื่องเช่นนั้นเอง เป็นเครื่องคุ้มครองไม่ให้เกิดทุกข์ ไม่ให้โง่เมื่อมีผัสสะ ความทุกข์เกิดที่จิตเพราะทำผิด เรื่องผัสสะความทุกข์จะไม่โผล่ถ้าไม่โง่เมื่อผัสสะ ความทุกข์เกิดไม่ได้ถ้าเข้าใจเรื่องผัสสะ ผัสสะก็มีอยู่ทั้งวัน ก็มีอยู่ทุกวันแหละตลอดทั้งวันเดี๋ยวทางตา เดี๋ยวทางหู เดี๋ยวทางจมูก เดี๋ยวทางลิ้น เดี๋ยวทางผิวกาย หกทิศทางนี่มันดึง ดึงๆ มันดึงกันไปดึงกันมา เดี๋ยวตาดึงไป เดี๋ยวหูดึงมา เดี๋ยวจมูกดึงไป เดี๋ยวลิ้นดึงมา จิตใจมันถูกดึงอยู่อย่างนี้ ไม่มีความสงบสุข ถ้ารู้จักเคล็ดลับอันนี้ของธรรมชาตินะ รู้ความเป็นเช่นนั้นเองก็ไม่ต้องการที่จะไป ต้องการที่จะเอาที่จะได้ ก็มันไม่ต้องการ มันก็ไม่มีอะไรดึงไปได้ รูปสวยก็ดึงไปไม่ได้ รูปน่าเกลียดก็ดึงไปไม่ได้ เสียงไพเราะก็ดึงไปไม่ได้ เสียงไม่ไพเราะก็ดึงไปไม่ได้ คือว่าจะทำให้จิตหวั่นไหวไม่ได้ จิตหวั่นไหวไม่ได้ ไอ้ที่มันไม่น่ารักไม่ไพเราะนั่นมันดึงไปให้โกรธ ดึงไปให้เกลียด ดึงไปให้กลัว ถ้ามันน่ารักน่าพอใจมันก็ดึงไปให้รักดึงไปให้พอใจ ดึงให้หลงใหล ดึงให้ยึดถือ ดึงให้ผูกพัน มันทั้งคู่มันดึง ดึงไปคนละฝ่าย บวกก็ดึงไปทาง ลบก็ดึงไปทางไม่ใช่ทางปกติ ไม่บวกไม่ลบนั่นจึงจะไม่ดึง ดังนั้นอย่าไปพ่ายแพ้ต่อความรู้สึกเป็นบวกหรือเป็นลบ อยู่เฉยๆ อยู่ตรงกลาง อยู่เฉยๆด้วยความว่าง ก็อยู่กับเช่นนั้นเอง อยู่กับความว่างก็สบาย นี่คือเคล็ด เคล็ดป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นมาในชีวิต
ไอ้ความวุ่นวายนี่ควรจะรู้จักชื่อมันไว้สักหน่อย ความรักก็วุ่นวาย ความเกลียดก็วุ่นวาย ความกลัวก็วุ่นวาย ความโกรธก็วุ่นวาย ความตื่นเต้นอัศจรรย์นั่นนี่ก็วุ่นวาย ความวิตกกังวลก็วุ่นวาย ความอาลัยอาวรณ์ก็วุ่นวาย ความอิจฉาริษยาก็วุ่นวาย ความหวงก็วุ่นวาย ความหึงก็วุ่นวาย ดูถูกผู้อื่นก็วุ่นวาย ยกตนข่มท่านก็วุ่นวาย ขัดแย้งกันอยากขัดแย้งต้องการขัดคอขัดแย้งกันก็วุ่นวาย ในเมื่อไม่เห็นเช่นนั้นเองก็วุ่นวายที่สุด วุ่นวายที่สุดที่ไม่เห็นเช่นนั้นเอง ไปเลือกเอาสิเอาความวุ่นวายหรือจะเอาความไม่วุ่นวาย ถ้าต้องการความไม่วุ่นวายก็ศึกษาเช่นนั้นเองเอาไว้ประจำ เอามาไว้เหมือนกับพระเครื่องแขวนคอ ความรู้เช่นนั้นเอง ความรู้ว่าเช่นนั้นเองเอามาแขวนคอไว้ก็เหมือนพระเครื่อง ถ้าจะป้องกันไว้ได้ไม่เซไปทางนั้นไม่ให้เซมาทางนี้ ไม่มีความทุกข์ ถ้าเอาพระเครื่องมาแขวนคอก็ขอให้รู้ไว้ว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่องเช่นนั้นเอง เตือนให้เช่นนั้นเอง ไม่ไปหลงรักหลงโกรธ เดี๋ยวนี้มันเอาพระเครื่องมาแขวนคอกันอย่างไสยศาสตร์ช่วยโดยไม่ต้องทำอะไร ให้รวยโดยไม่ต้องทำอะไร ให้มีลาภโดยไม่ต้องทำอะไรอย่างนี้เป็นเรื่องของคนปัญญาอ่อนแล้วก็ไม่เคยได้ แต่แล้วมันก็พอใจหลอกๆ ไปพักๆ ขณะๆ เราจึงไม่แจกพระเครื่องเพราะว่าเขาเอาไปแขวนกันอย่างโง่ๆ หากเขาไม่ไปแขวนอย่างพุทธานุสติ
เอาละเป็นอันว่าเช่นนั้นเองเป็นอย่างนี้ ธรรมะสูงสุดคือเช่นนั้นเอง ธรรมะนี้ช่วยไม่ให้ตกเป็นทาสของอารมณ์ทางยินดียินร้าย ไม่ไปเป็นทาสของความเป็นบวกของความเป็นลบก็สบายกันนะ ขอให้ไปคิดดู เข้าใจเห็นด้วยแล้วจึงปฏิบัติ ถ้ายังไม่เข้าใจไม่เห็นด้วยก็ไม่เชื่อก็ไม่ต้อง มันก็ไม่เว้น มันก็ไม่เห็นมีอะไร ถ้าไปคิดไปเห็นด้วยก็ระวัง คือปฏิบัติ คือไม่ให้เห็นยินดียินร้าย ให้เห็นเป็นกลางเช่นนั้นเองอยู่เสมอ เวลาหนึ่งชั่วโมงหมดก็ขอยุติการบรรยายวันนี้ไว้เพียงเท่านี้