แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านพุทธทาส: การบรรยายในวันนี้ก็ไม่มีอะไรมาก นอกจากข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ท่านควรจะทราบก่อนแต่ที่จะมาศึกษาและปฎิบัติพุทธศาสนา และเมื่อท่านปฎิบัติเสร็จแล้ว ก็จะเห็นได้ว่ามันตรงตามข้อเท็จจริงเหล่านี้ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ควรทราบ ก่อนแต่ศึกษาธรรมะ สำหรับตรวจสอบกับเมื่อศึกษาธรรมะ ปฎิบัติธรรมะเสร็จแล้ว ว่ามันจะตรงกันหรือไม่
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: และหัวข้อที่จะต้องทราบเหล่านี้ก็มีตามหลักทั่วๆไป ที่จะใช้ในการศึกษาวิชาอะไรก็ได้ นั่นก็คือหัวข้อว่า ทำไม ทำไมจะต้องศึกษาธรรมะหรือพุทธศาสนา และหัวข้อถัดไปก็ อะไรคือตัวพุทธศาสนา และว่าใครเป็นผู้ประกาศพุทธศาสนาหรือจะเรียกอีกทีนึงว่าพุทธศาสนาเป็นของใคร กระทั่งว่ามันเป็นกรรมสิทธิ์หรือ Authority หรือเปล่า และเราจะปฎิบัติอย่างไร ปฎิบัติพุทธศาสนาแบบอย่างไร และจะรู้ได้อย่างไรว่าเราปฎิบัติถูกต้องครบถ้วนแล้ว นี่คือหัวข้อ
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: และข้อแรกที่ว่า ทำไม ทำไมจะต้องศึกษาพุทธศาสนา คำตอบข้อแรกก็คือว่า เพราะเราเกิดมา จากท้องมารดาอย่างไม่รู้อะไร จะมีความโง่หรือความไม่รู้ตั้งต้นมาแต่ในท้อง แล้วก็ไม่รู้หรือรู้ผิดๆ มากยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น เช่นเราไม่รู้ว่าเกิดมาทำไมอย่างงี้ มันก็ไม่รู้ข้อแรก พอเราเกิดมามันก็ตั้งต้นโง่นี่ ขออภัยใช้คำอันหยาบคายว่ามันตั้งต้นโง่ เด็กทารกเกิดมาพอได้กินอร่อยก็รัก ไม่อร่อยก็โกรธ ก็มีชอบไม่ชอบ ยินดียินร้าย เพิ่มขึ้นๆ จนเป็นนิสัยแล้วก็เป็นทุกข์ เพื่อจะแก้ความโง่เขลาที่ติดมาแต่ในท้องนี่ให้หมดไป เราจึงศึกษาพุทธศาสนา
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: ทีนี้อีกอย่างหนึ่ง เราอาจจะได้รับการศึกษาในวิถีทางการครองชีวิต ตามลัทธิ ศาสนาหรือวัฒนธรรมใดๆ มาบ้างแล้ว ทีนี้เราก็มาศึกษาวิชาการดำเนินชีวิตนี้ ของพวกอื่นดูบ้าง เช่นว่าท่านเคยศึกษาคริสเตียนนิตีมาแล้ว ทีนี้ก็มาศึกษาพุทธศาสนา เพื่อให้รู้วิธีของผู้อื่นหรือของเพื่อน เพื่อจะได้เลือกเอาที่ดีที่สุดที่เราควรจะถือไว้ เป็นหลักในการดำรงชีวิตต่อไป ศึกษาหลักธรมะของเพื่อนพวกอื่น เพื่อจะเลือกเอาไอ้ที่ดีที่สุดสำหรับเป็นหลักเกณฑ์ในการดำรงชีวิตสืบต่อไป เราจึงมาศึกษาพุทธศาสนา
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: ทีนี้เราก็มาถึงข้อที่ว่าอะไร อะไร What คือพุทธศาสนา อยากจะพูดทำความเข้าใจกันหน่อย ในข้อที่ว่า พุทธศาสนาเป็น Religion หรือไม่ โดยมากก็ถือกันว่าถ้าไม่มีพระเจ้า ก็ไม่ใช่ Religion แต่เดี๋ยวนี้ พุทธบริษัทมีเหตุผลที่จะกล่าวว่า เราก็เป็น Religion มีกฏของธรรมชาติเป็นพระเจ้าอย่างมิใช่บุคคล ดังนั้น
ในพุทธศาสนานี้ก็มีพระเจ้า มีพระเจ้าอย่างมิใช่บุคคล อีกอย่างหนึ่งคำว่า Religion มันหมายถึงการปฏิบัติ ระบบการปฏิบัติ ที่ทำให้มนุษย์ เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันกับสิ่งสูงสุด สูงสุดคือดับทุกข์สิ้นเชิง มีการปฏิบัติ เพื่อให้เกิด เพื่อให้มนุษย์ สัมพันธ์กับสิ่งสูงสุด นี่ก็เรียกว่า Religion ได้ ดังนั้นพุทธศาสนาก็เป็น Religion ด้วยเหมือนกัน อย่าเข้าใจว่าถ้าไม่มีพระเจ้าอย่างบุคคลแล้วจะไม่ใช่ Religion ขอให้เข้าใจว่าเป็นศาสนาเต็มตัว นี่ก็คือหัวข้อแรก
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: เมื่อเป็นดังนี้เราก็จะเห็นได้ต่อไปว่า มีศาสนาอยู่ 2 ชนิด คือมีพระเจ้ากับไม่มีพระเจ้า theist atheist [00:17:00] ที่นี้พุทธศาสนาก็เป็น atheist [00:17:04] คือไม่มีพระเจ้า ทีนี้ไม่มีพระเจ้านี่ ก็มีหลักว่าสิ่งทั้งปวง เกิดขึ้นและเป็นไปตามกฏของวิวัฒนาการ เลยเรียกคนพวกนี้ว่า evolutionist ส่วนที่ยังมีพระเจ้า
เขาก็เชื่อว่าไม่ใช่วิวัฒนาการแต่พระเจ้าสร้าง ความเชื่อระบบนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็น pantheist [00:17:38] คือผู้ที่เชื่อว่ามีพระเจ้าสร้าง งั้นเดี๋ยวนี้เราจะมาศึกษาพุทธศาสนาเราก็จะต้องรู้ว่า เรากำลังจะมาศึกษาความรู้ในระบบที่เชื่อว่าไม่มีผู้สร้าง มีแต่วิวัฒนาการตามกฏของธรรมชาติ นี่ก็คือข้อที่จะต้องทำความเข้าใจกันเสียให้ถูกต้องตั้งแต่ทีแรก
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: ทีนี้ในแง่ต่อไป พุทธศาสนาเป็นความรู้ที่จะต้องศึกษาในภายใน จากข้างใน ดูข้างใน คือในความรู้สึกที่เรามีกันอยู่จริงๆ สิ่งที่ได้ปรากฏแล้วแก่ความรู้สึก เป็นความเจนจัดในทางจิตทางวิญญาณ ในภายใน นั่นแหล่ะจะใช้เป็นตัวบทเรียนหรือเป็นหัวข้อสำหรับการศึกษา เรียกว่าเราจะต้องศึกษาจากภายในก็แล้วกันการศึกษาภายนอกก็มีได้แต่ไม่ได้ยึดถือเอาไม่ได้ยึดติด เพียงว่า ว่าได้ฟังมาว่าอย่างไร แต่จะต้องเอามาศึกษาถึงข้างในว่ามันเป็น อย่างนั้นจริง ความทุกข์เป็นเรื่องข้างใน ความดับทุกข์เป็นเรื่องในภายใน ความจริงมันก็อยู่ที่เราได้ผ่านมาแล้วเป็น experienced ต่างๆ เรียกว่าศึกษาจากสิ่งที่เป็นภายใน นี่เป็นใจความข้อหนึ่งว่า
ศึกษาจากภายใน
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: ในแง่ต่อไปก็คือว่าพุทธศาสนามิได้บัญญัติโดยบุคคล ไม่ใช่การบัญญัติของบุคคล แต่เป็นกฏของธรรมชาติ และมีผู้ค้นพบกฏของธรรมชาติ แล้วนำมาสอน ไม่ได้บัญญัติไม่ใช่แต่งตั้งขึ้นมา แต่ว่าค้นพบความจริงของธรรมชาติแล้วนำมาบอก นี่พุทธบริษัทจึงไม่ถือว่าเป็น Authority มี Authority ในคำสอนเหล่านี้เพราะเป็นของธรรมชาติ พระพุทธเจ้าค้นพบความจริงเหล่านี้ ซึ่งดับทุกข์ได้แล้วก็นำมาบอก บอกกัน นี่เราจะต้องถือเป็นหลักข้อหนึ่งว่าเป็น สัจจะ เป็น truth ไม่ใช่ untruth ของธรรมชาติ มีผู้ค้นพบแล้วนำมาสอน ไม่ใช่การบัญญัติเอาเอง มันจึงมี ทนต่อการพิสูจน์ มีลักษณะทนต่อการพิสูจน์ นี่ก็เป็นสิ่งที่ควรรู้ไว้
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: ทีนี้จะให้ง่ายเข้า เราจะแยกให้เป็นข้อ ข้อ ข้อ เป็นข้อ ข้อเพื่อง่ายต่อการเข้าใจ ในเมื่อจะถามว่า พุทธศาสนาคืออะไร ข้อแรกก็จะพูดว่า พุทธศาสนา ก็คือการค้นพบ หรือ discovery นี่ ของพระพุทธเจ้า เป็นการค้นพบของพระพุทธเจ้า ค้นพบกฏธรรมชาติ ความจริงของธรรมชาติ ในส่วนที่เกี่ยวกับความดับทุกข์ ไม่เกี่ยวกับเรื่องอื่นมากมาย แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับความดับทุกข์แล้ว ทรงค้นพบหมดครบถ้วน แล้วก็นำมาสอน โดยแง่นี้ก็พูดได้ว่าพุทธศาสนาคือ การค้นพบของพระพุทธเจ้า ข้อหนึ่ง
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: นี่ข้ออย่างที่ 2 ก็คือว่าพุทธศาสนาเป็นสติปัญญา หรือเป็น wisdom ของพระพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าค้นพบความจริงของธรรมชาติมากมายมหาศาลจนเปรียบได้กับว่าเป็นใบไม้หมดทั้งป่า ทั้งโลก ใบไม้หมดทั้งโลก แล้วพระพุทธเจ้าก็เลือกคัด เลือกคัด เฉพาะที่จำเป็นที่มีประโยชน์เอามาสอน เพียงเท่ากับใบไม้กำมือเดียว เท่ากับใบไม้กำมือเดียว พอที่จะดับทุกข์ได้จริง ได้หมด ได้จริง อันนี้ละเรียกว่าเป็นสติปัญญาของพระพุทธเจ้า มีลักษณะปฏิบัติได้ เป็น practical เป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้ไม่เหลือวิสัย แล้วก็ไม่เกี่ยวกับไสยศาสน์ ไม่เกี่ยวกับความงมงาย ด้วยความเชื่อของโบรมโบราณ แล้วก็ทนต่อการพิสูจน์ พระพุทธเจ้าได้เลือกเฟ้นมาอย่างดีแล้วว่าทนต่อการพิสูจน์ ท้าทายให้มีการพิสูจน์ นี้ละคือสติปัญญาของพระพุทธเจ้า คือพุทธศาสนา
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: ข้อที่ 3 ก็จะพูดว่า พุทธศาสนาเป็นสัจจธรรม เป็น ultimate truth น่ะ เป็นสัจจธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติแต่งตั้งเพื่อจัด จัด จัดจัดให้เป็นเรื่องที่ศึกษาง่าย ไม่ใช่บัญญัติเอาตามชอบใจ แต่ว่ามันเป็นการแต่งตั้ง เป็น classify classification ตามที่เห็นว่าเหมาะสมสำหรับจะศึกษาแล้วก็ได้บัญญัติไว้ใน 4
ลักษณะ 4 ลักษณะ คือเป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นเรื่องกฏของธรรมชาติอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องหน้าที่ตามกฏของธรรมชาติอย่างหนึ่ง แล้วก็เป็นผลที่จะได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่นั้น ขอให้ท่านทั้งหลายเข้ามาจดจำความหมายทั้ง 4 อย่างนี้ไว้ให้ดีๆ อย่าให้ปะปนกัน แล้วจะช่วยให้เกิดความง่ายดายที่สุดในการจะศึกษาพุทธศาสนา ว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เรื่องกฏธรรมชาติ เป็นหน้าที่ตามกฏธรรมชาติ แล้วก็เป็นผลที่จะเกิดจากหน้าที่ที่ปฏิบัตินั้น นี่ก็เป็นสัจจธรรมของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่าพุทธศาสนา
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: ทีนี้ข้อที่ 4 ต่อไป พุทธศาสนาคือ โอวาท โอวาท หรือ doctrine doctrine [00:36:23] ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงยืนยันเอาไว้ อย่างแน่ชัดว่า เราสอนแต่เรื่องความทุกข์กับความดับไม่เหลือแห่งความทุกข์เท่านั้น เรื่องอื่นไม่สอน เดี๋ยวนี้มีคนเอาเรื่องต่างๆ ต่างๆ เข้ามาใส่ในพุทธศาสนาว่าเป็นคำสอน
ของพระพุทธเจ้า จนผิดจนเตลิดออกไปนอกขอบเขต นี่ก็เป็นของใหม่ เป็นของไม่ใช่พุทธศาสนาเดิมแท้ หรือพุทธศาสนาตัวแท้ที่พระพุทธเจ้ามุ่งจะทรงสั่งสอน คือ เรื่องทุกข์กับความดับทุกข์เท่านั้น งั้นท่านทั้งหลายอย่ารับเอาปัญหาอย่างอื่นๆ เข้ามา ใส่ให้มันมากมาย ให้มันยุ่งยาก ให้มันยังเหลือแต่เรื่องความทุกข์กับความดับไม่
เหลือแห่งความทุกข์สองเรื่องเท่านั้น อย่าเอาเรื่องอื่นเข้ามาปน โอวาทหรือ doctrine ของพระพุทธเจ้ามีเพียงเท่านี้
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: งั้นข้อที่ 5 ถัดไปก็ พุทธศาสนาคือวิถีดำเนินชีวิต วิถีดำเนินชีวิต way of life ตามแบบของพระพุทธเจ้า สรุปเป็นใจความสั้นๆ ได้ว่า อยู่ตรงกลาง อยู่ตรงกลาง อันนี้ก็เป็นคำที่สำคัญมาก ที่ท่านจะต้องตั้งใจให้ดีว่า อยู่ตรงกลาง ไม่มีลักษณะเป็น positive หรือ negative นักศึกษาที่มีชื่อเสียงชาวยุโรปบางคนว่าจัดพุทธศาสนาเป็น Negative บางพวกพวกอื่นก็เป็น Positive นี่ไม่ถูก พุทธศาสนาต้องการจะดำเนินชีวิตที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งไม่ใช่ positive หรือ negative และก็ไม่ใช่ pair ของ opposite ใดๆ อีกมากมาย ไม่ดีไม่ชั่ว ไม่บุญไม่บาป ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ได้ไม่เสีย ไม่แพ้ไม่ชนะ ไม่กำไรไม่ขาดทุน คือไม่ ไม่extreme ไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ว่าอยู่ตรงกลาง ถ้าเรามีธรรมะแท้ เราจะอยู่เหนืออิทธิพลทั้งของ positive และnegative เราจะไม่หลงไหลใน positive เหมือนที่กำลังหลงไหลกันอยู่โดยมาก จนเกิดเป็นปัญหา และเกิดความเจริญที่ผิดพลาดอย่างบ้าหลัง สร้างปัญหาให้มนุษย์มากเหลือเกิน way of life ตามแบบของพระพุทธเจ้านั้นจะอยู่ตรงกลาง หรือจะพูดอีกทีว่าอยู่เหนือกว่า เหนือ positive เหนือ negative หรือจะชอบพูดว่าอยู่ตรงกลางระหว่างก็ได้เหมือนกัน เราจึงเป็นผู้ที่คงที่คงที่ไม่หวั่นไหว ไม่ยินดีไม่ยินร้าย ไม่รู้สึกขึ้นหรือลง ไม่ฟูไม่แฟ่บน่ะ ขอให้มีความปกติอยู่ตรงกลางระหว่างความหมายของสิ่งที่เป็นคู่ๆ ทุกคู่เนี่ยคือ way of life ตามแบบของพุทธศาสนา
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: ทีนี้ที่ 6 ใช่ไหม พุทธศาสนาคือเสรีภาพหรืออิสรภาพทางความคิด พุทธศาสนาไม่บังคับให้เชื่อ ไม่มี dogmatic system [00:45:05] ใดๆ ในพุทธศาสนา ฝากไว้กับสติปัญญาและเหตุผลของบุคคลนั้น เมื่อเขาเห็นว่ามันจะดับทุกข์ได้แล้วเขาก็เลือกเอาน่ะ ไม่มีการบังคับว่าต้องเชื่ออย่างนั้น ต้องเชื่ออย่างนี้ ปล่อย
ให้เสรีภาพในการที่จะคิด ในการที่จะเลือก ในการที่จะทดสอบหรือทดลอง แล้วก็เลือกเอา จนพระพุทธเจ้าตรัสว่าแม้แต่ที่ฉันพูดก็ไม่ต้องเชื่อนะ พระพุทธเจ้าท่านพูดเองก็ยังไม่ต้องเชื่อ ไปดูเองว่ามันจะดับทุกข์ได้หรือไม่ ถ้าเห็นว่ามันจะดับทุกข์ได้ก็ลองดู เนี่ยเป็นเสรีภาพอย่างยิ่ง ที่จะต้องพูดว่าหาไม่ได้ในลัทธิใดๆ หรือในศาสนาอื่นๆ เสรีภาพชนิดนี้หาได้แต่ในพุทธศาสนา เรายังถือว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเสรีภาพ นี่ก็ข้อหนึ่ง
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: ช่วยย้ำอีกทีว่าในพุทธศาสนาไม่มี dogmatic system [00:49:00] ที่บังคับว่าให้เชื่ออย่างนี้ ให้เชื่ออย่างนี้ ให้เชื่ออย่างนี้ อันนี้จะหาไม่ได้ในพุทธศาสนา
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: ทีนี้ข้อสุดท้ายที่จะบอกก็คือว่า พุทธศาสนาเป็นระบบคำสอนที่สบหลัก สบหลักวิทยาศาสตร์ คือมีวิถีทางเป็นวิทยาศาสตร์ คือว่ามีเหตุผล เอาของจริงมาเป็นสิ่งพิสูจน์ทดลอง พิจ[00:50:23] พิสูจน์ทดลองตามวิถีทางของวิทยาศาสตร์ ไม่มีวิธีไสยศาสตร์ ซึ่งไม่มีการพิสูจน์และทดลอง และไม่บังคับให้เชื่อโดยไม่ต้องมีการพิสูจน์และทดลอง มันต้องการให้มีการพิสูจน์และทดลอง ทดลอง ทดลอง จนพอใจ แล้วก็เห็นด้วยแล้วก็ปฏิบัติตาม จึงเรียกว่าเป็นศาสนาที่สบหลักวิทยาศาสตร์ หรือจะเรียกว่าเป็นศาสนาวิทยาศาสตร์ก็ได้ แต่ว่าเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต ทางวิญญาณชึ่งเขามักจะไม่ค่อยเรียกกันว่าวิทยาศาสตร์ ในทีนี้ขอยืนยันว่าเป็นศาสนาวิทยาศาสตร์ จะทนอยู่ได้ในเมื่อโลกยิ่งเจริญด้วยวิทยาการทางวิทยาศาสตร์ โลกเจริญด้วยวิทยาศาสตร์ มากขึ้นเท่าใด จะยิ่งชอบใจวิถีทางของพุทธศาสนามากขึ้นเท่านั้น
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: เกี่ยวกับเรื่องนี้ ขอร้องให้ท่านทั้งหลายศึกษาเรื่องอริยสัจ หรือเรื่องอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท [00:55:29] ซึ่งมันก็เป็นเรื่องละเอียดที่ต้องพูดกันอีกมาก ขอให้ท่านพยายามศึกษาเรื่องสอง เรื่องนี้ เรื่องหัวใจเลย เรื่องอริยสัจ หรือเรื่องอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท มันเป็นเรื่องเดียวกัน แต่อันนึงเป็นอย่างย่อ อัน
นึงเป็นอย่างพิสดาร ถ้าท่านศึกษาเรื่องอริยสัจ เรื่องอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท มากเท่าไร ท่านจะยิ่งเห็นความเป็นวิทยาศาสตร์ ความสบหลักวิทยาศาสตร์ หรือความเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตของพระพุทธศาสนา สามารถที่จะดับทุกข์ทางจิตได้จริง ขอร้องให้ศึกษาอริยสัจ และอิทัปปัตยตา
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: ทีนี้ก็มาถึงปัญหาข้อต่อไปที่ว่าของใคร ของใคร พุทธศาสนาของใคร มาตั้งปัญหาว่าเป็นกรรมสิทธิ์ หรือเป็น authority ของใคร ก็ตอบว่าไม่มีเพราะเป็นของธรรมชาติ เป็นของธรรมชาติ ไม่ใช่ของใครโดยเฉพาะ แต่ถ้าถามว่าใครเป็นผู้สอนประกาศพุทธศาสนา ก็จะแปลว่าผู้ที่มีความรู้ และมีความตื่นจากหลับ และเป็นผู้เบิกบาน ผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานนั่นแหล่ะจะเป็นผู้สอนพุทธศาสนา แม้ท่านทั้งหลายทุกคนนี้ก็สอนได้ เมื่อท่านมีความรู้ มีความตื่น มีความเบิกบานได้เท่าไร ท่านก็สอนพุทธศาสนาได้เหมือนกับเป็นพระพุทธเจ้าองค์น้อยๆ ก็ได้ ถ้าถามว่าใครสอน ใครเป็นผู้สอน พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานอย่างยิ่ง แล้วท่านก็สอน แม้สาวกของท่านก็เป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานแล้วก็สอน แม้ท่านทั้งหลายถ้ามีความรู้ ความตื่น ความเบิกบานบ้างตามสมควรแล้ว ท่านก็สอนได้งั้นเราจะต้องตอบว่า ผู้สอนนั้นคือผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน คำนี้ถ้าเรียกเป็นภาษาบาลี ก็เรียกว่าพุทธะ พุทธะ พุทธบุคคล บุคคลผู้เป็นพุทธะ คือเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน นี่จึงเรียกว่าไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของใคร เป็นของธรรมชาติ แล้วผู้ใด รู้ตื่นเบิกบานในกฏของธรรมชาติ ผู้นั้นจะเป็นผู้สอน นี่ถ้าถามว่าของใครหรือใครสอน ท่านจะต้องตอบอย่างนี้
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: ทีนี้ก็มาถึงคำถามหรือปัญหาที่ว่า อย่างไร ทำอย่างไร How to do ทำอย่างไรกับพุทธศาสนา ถ้าถามว่าทำอย่างไรกับพุทธศาสนา ก็คือทำทุกอย่างที่เป็นการพัฒนาจิตใจ อบรมจิตใจ ฝึกฝนจิตใจ เรียกว่าพัฒนาจิตใจนั่นแหละ ให้รู้ถึงความจริงเหล่านี้ ความจริงอย่างที่กล่าวมาแล้ว โดยวิธีที่เรียกว่า ภาวนา ภาวนา
Development of the mind จนเรารู้ความจริงเรื่องธรรมชาติ เรื่องกฏของธรรมชาติ เรื่องหน้าที่ตามกฏของธรรมชาติ เรื่องผลที่จะได้รับนี่ ที่ท่านทั้งหลายตั้งใจมาจะทำวิปัสสนา มันหมายความว่า ทำเพื่อให้รู้ข้อเท็จจริงเหล่านี้ จนปรากฏผลคือดับทุกข์ได้ ตอบสั้นๆ เลย ว่าทำอย่างไร ถ้าถามว่าทำอย่างไร ก็บอกว่าพัฒนาจิตให้รู้ธรรมะเหล่านี้ มีหน้าที่อย่างนี้ งั้นขอให้ท่านตั้งใจปฎิบัติให้ดีๆ ทำสมาธิ ทำวิปัสสนา นั่นแหล่ะคือทำอย่างนั้นแหละ แต่ต้องทำให้ถูกต้อง ถ้าทำไม่ถูกต้องมันก็ไม่อาจจะรู้ มันไม่อาจจะรู้ ต้องทำอย่างถูกต้อง ท่านรู้ได้เองว่าถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง ถ้าถูกต้อง มันก็จะสว่างแจ่มใสขึ้น ความสงสัยก็ค่อยๆ หมดไป ไอ้ความทุกข์ทั้งหลายค่อยๆ หมดไป ความสงสัยก็หมดไป กิเลสก็หมด ค่อยๆ หมดไป ถ้าอย่างนี้เรียกว่าถูกต้อง ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้น ไม่ถูกต้องหรอก แม้อาจารย์จะบอกว่าถูกต้อง มันก็ไม่ถูกต้องหรอก ท่านไม่ต้องเชื่ออาจารย์หรอก แต่ว่าดูว่ามันดับกิเลส ดับความทุกข์ ให้รู้สว่างแจ่มแจ้งในสิ่งที่เป็นปัญหา ที่เป็นความทุกข์นั่นแหล่ะ เขาเรียกว่าถูกต้อง ทำอย่างไร ก็คือฝึกฝนจิตให้รู้สิ่งเหล่านี้ปฏิบัติสิ่งเหล่านี้โดยทางจิตใจ จนดับทุกข์ได้ อย่างที่เรียกว่าปฏิบัติพุทธศาสนา ส่วนใหญ่มี สมาธิ ปัญญา หรือสมถะ หรือ วิปัสสนา แล้วก็มีศีล ศีละ morality [01:07:02] นี่เป็นพื้นฐานดำเนินชีวิตอย่างมีศีล แล้วก็จะง่ายในการที่จะทำสมถะและวิปัสสนา ทำอย่างไร ทำอย่างไร ก็ตอบว่าทำอย่างนี้ทำอย่างนี้
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: จะสรุปใจความสั้นๆ จำง่ายๆอีกทีหนึ่งก็ได้ว่า ที่จะเรียกว่าภาวนาหรือพัฒนา จิตน่ะ คือทำจิตให้เป็นสมาธิ มีสมถะ แล้วทำจิตให้มีปัญญาหรือวิปัสสนา มีอยู่ 2 ขั้นตอน ที่เรียกว่าพัฒนาจิตน่ะคือทำ 2 ขั้นตอน ในขั้นแรกจะต้องทำจิตให้อยู่ในอำนาจของเรา จิตตามธรรมดาตามธรรมชาติของคนทั่วไปเหมือนกับสัตว์ป่า จะเที่ยวไปตามพอใจไม่รับรู้ไม่ตั้งใจ เพราะมันไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรด้วย แล้วมันก็ไม่ยอมทำด้วย เช่นท่านจะทำสมาธิมันก็ไม่ยอมทำ ไม่ยอมที่จะทำสมาธิหรือเป็นสมาธิ เพราะงั้นเราจะต้องมีการกระทำชนิดที่เรียกว่าฝึก ฝึกมัน จะใช้คำว่า train training จนกระทั่งว่าเป็น training ทำสัตว์ป่าให้เป็นสัตว์บ้าน เหมือนเราทำสัตว์ป่าให้เป็นสัตว์บ้าน เป็น domesticate มัน จิตมันเหมือนสัตว์ป่า ทำ domesticate [01:13:55] มัน ให้มันเป็นเหมือนสัตว์บ้าน ถึงจะเรียกว่า train train มันอย่างนี้ก็ได้ เรียกว่าทำให้มันเชื่อง ทำให้มันเชื่อง มันอยู่ในอำนาจของเรา มันอยู่ในอำนาจของเรามีลักษณะว่า มันจะไม่ไม่ มีกิเลสเกิดอยู่ แล้วมันก็มีสมาธิ มันเข้มแข็ง มีกำลังมาก มี focus [01:14:19] เดียว แล้วมันก็ active ที่สุด คือมันง่ายสะดวกที่จะทำหน้าที่ของจิต เราเรียกว่ามันบริสุทธิ์ มันตั้งมั่น มันเป็นกัมมนียะ คือ active ที่สุด นี่ขั้นนี้ ขั้นแรก train แล้วทีนี้ก็ใช้มัน ใช้งานมัน ใช้งานมัน ให้ดูและเห็นสิ่งที่มันควรจะดูและควรจะเห็น ถ้ามันมีความทุกข์มันก็ต้องดูความทุกข์ แล้วมันก็เห็นว่าภายใต้ความทุกข์นั้นมีเหตุอะไรของความทุกข์ แล้วมันก็จะรู้ว่ามันเกิดมาจากอะไร เกิดมาจากอะไร ตามวิธีที่เรียกว่าอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท แล้วมันก็รู้ว่า อ้อ มันเป็นอย่างนี้นี่ เราต้องจัดการอย่างนี้ จัดการอย่างนี้ จัดการอย่างนี้ ด้วยความรู้ อย่างนี้เป็นความรู้ เป็นวิปัสสนา สมถะทำให้มันอยู่ในอำนาจของเรา วิปัสสนาทำให้ คือใช้มันให้ทำหน้าที่ในการศึกษา รู้ธรรมะ ตามกฏของธรรมชาติ สรุปใจความก็เป็นอย่างนี้เแหละ บังคับให้มันอยู่ในอำนาจของเรา และใช้ มันให้ทำหน้าที่ที่ควรจะทำ อย่างนี้เรียกว่าภาวนา
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: ทีนี้ข้อสุดท้าย ข้อสุดท้าย จะมีผลสุดท้ายเป็นอย่างไร final goal [01:21:27] จะเป็นอย่างไร ก็อย่างไร ใช้คำว่าอย่างไร ที่จะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ ประสบความสำเร็จคืออย่างไร เราไม่ได้มี ความสำเร็จอย่างอื่นใดเลย นอกจากความดับไม่เหลือแห่งความทุกข์ ไม่ใช่ ไม่ใช่คำรับรองของอาจารย์ ไม่ใช่ Certificate ไม่ใช่อะไรจากใคร แต่เราจะรู้ได้ด้วยตนเอง ว่าอะไรได้หมดไป อะไรได้หมดไป อะไรได้หมดไป นี่สำคัญมากอยากจะพูดไว้ให้เป็นหลัก แต่สำหรับท่านทั้งหลายจะได้ใช้สอบ ตรวจสอบตัวเองว่าประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง ถ้าว่าไอ้สิ่งเหล่านี้ยังมีอยู่ แล้วก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าสิ่งนี้ลดไป ลดไป ก็นั่นแหละ จนหมดแล้วก็เรียกว่าประสบความสำเร็จ จะพูดให้เป็นตัวอย่าง เป็นข้อ ข้อ ทีละข้อ ดีกว่า พูดแล้วจะแปลลำบาก แต่ในที่นี้จะขอบอกสรุปก่อนว่ามันมีสิ่งที่ควรจะใช้เป็นหลักสังเกตุว่าประสบความสำเร็จหรือไม่จาก 12 หรือ 13 ข้อ
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: พูดทีละอย่าง ละอย่าง อย่างแรกความลด ลดลง ลดลง หรือหมดไปแห่งความรัก ทางกามารมณ์ เหลือแแต่ความรักที่บริสุทธิ์ ข้อหนึ่ง
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: ข้อสอง ลดไป ลดไป จนหมดความโกรธ ตามธรรมดาคนน่ะโกรธง่ายที่สุด เรื่องน้อยนิดเดียว เอามาทำให้เป็นเรื่องใหญ่สำหรับโกรธมากจนเป็นนิสัย ความโกรธนี่จะลดลงหรือหมดไป นี่ข้อที่สอง
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: ข้อที่สาม ความเกลียด คนมีเรื่องที่เกลียด ไปเสียเวลาไปให้เกลียด ไปเสียเวลาเกลียด มีความทุกข์ เราจะไม่มีอะไรสำหรับจะเกลียด ไม่ต้องไปเกลียดมันให้เสียเวลา ความเกลียดลดลง จนกระทั่งหมดไป
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: ยังมีความเกลียด ที่เกี่ยวกับความโง่ เช่นว่าเกลียดของสกปรก หรือว่าเกลียดสิ่งที่น่าเกลียด ที่เป็นความโง่ของเรา ไปเสียเวลาเกลียด เราอยู่เฉยๆ ดีกว่า เรียกว่าไม่เกลียด
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: ข้อที่สี่คือความกลัว เรามันกลัวถูกสอนให้กลัวมาตั้งแต่เล็กๆ ถูกสอนให้โง่ จนกลัวนั่นกลัวนี่ไม่มีเหตุผล เราจึงมีความกลัว กลัวง่ายและกลัวมาก ไอ้ความกลัวนี่จะลดลง ลดลง และหมดไป
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: ห้า ความตื่นเต้น ตื่นเต้นประหลาดใจ อัศจรรย์ใจ ความตื่นเต้นนี่จะลดลงและจะหมดไป ไปดูกายกรรม acrobat [01:29:38] หรือนี่ ไม่มีประหลาด ไม่มีตื่นเต้น ไม่มีอัศจรรย์ เป็นเช่นนั้นเอง ไปโลกพระจันทร์ได้ก็ไม่ตื่นเต้น มันเช่นนั้นเอง ตามกฏอิทัปปัจจยตา ต่อไปนี้ไม่มีความตื่นเต้น exitation ไมมีเหลือ คือลดลง ลดลง กระทั่งไม่มีเหลือ จิตไม่ตื่นเต้น ไม่มีอะไรไป stimulate มันได้ นี่ก็เป็นข้อที่ห้า
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: ทีนี้ข้อที่หก ไม่มีวิตกกังวล เราไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อน จิตมันวิตกกังวล ไม่อาจจะเก็บความคิดให้หยุด มันจะเลื่อนลอยไป คิดวิตกกังวล ซึ่งทรมานมาก ซึ่งเป็นเหตุให้เป็นโรคประสาทได้ง่าย วิตกกังวล ผมก็ไม่รู้จะ วิตกกังวล ความคิดไม่หยุด ไหลเรื่อย วิตกกังวล วิตกกังวล นี่จะต้องลดลงและหมดไป
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: ทีนี้เจ็ด ความอาลัยอาวรณ์ ไม่อาจจะหยุดความคิดในสิ่งที่ล่วงไปแล้ว สามีหย่าไปแล้ว ภรรยาหย่าไปแล้ว ก็ยังคงคิดถึงอยู่ ยังมีความคิดอะไรเกี่ยวข้องอยู่ เขาเรียกอาลัยอาวรณ์ อันนี้ต้องลดลงและหายไป ความอาลัยอาวรณ์ในสิ่งนั้นต่างๆ ที่เป็นอดีตล่วงลับไปแล้วก็ยังอาลัยอาวรณ์ ไม่มีอาลัยอาวรณ์
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: ข้อแปดใช่ไหม ข้อแปดอิจฉา ริษยา นี่เป็นโรคที่ร้ายกาจ พอเราอิจฉาเขา เขาไม่รู้เรื่องอะไรเลย เรานี่เจ็บปวดเองแล้ว เป็นทุกข์เองแล้ว ผู้ที่เราคิดอิจฉา ไมรู้เรื่องอะไรเลย คนโดยมากไม่อยากจะให้ผู้อื่นดีกว่าตน ถ้าเห็นใครจะดีกว่าตน ดีเสมอตนก็อิจฉา บางทีก็อิจฉา ไอ้คนต่ำกว่าว่ามันจะดีขึ้นมา ความอิจฉา
ริษยา ไม่อยากให้ใครได้ดี นี่ก็เป็นสิ่งที่ต้องลดลง ลดลง ลดลงแล้วหมดไป
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: นี่ความดูหมิ่นผู้อื่น ดูหมิ่นผู้อื่น อยากจะยกตัวขึ้นสูงแล้วก็ทำผู้อื่นให้ต่ำลงไป เรียกว่า ดูหมิ่นผู้อื่น อันนี้ ต้องลดลง ลดลง แล้วหมดไป
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: ข้อที่สิบ ความขัดแย้ง อันนี้พระพุทธเจ้า ตรัสเป็นเรื่องสำคัญมาก มีพบพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าตถาคตไม่กล่าวคำขัดแย้งใครๆ ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ คือจะไม่พูดถ้อยคำที่ขัดแย้ง แก่ทุกคนไม่ว่าในโลกไหน คือว่าเรามีความเห็นความเชื่ออย่างไร เราจะไม่กล่าวออกไปเพื่อความขัดแย้ง เช่นพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น เขาสอนกันอยู่อย่างนี้ สอนกันอยู่อย่างนี้ในอินเดีย เมื่อพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นท่านไม่ขัดแย้งท่านไม่ไปเพิกถอน ท่านบอกว่าเราก็ไม่ต้องรับรอง แล้วไม่ต้องเพิกถอน แต่เรามีอย่างนี้ อย่างนี้ ความเห็นของเรามีอย่างนี้ อย่างนี้ ท่านสอนว่านรกสวรรค์อยู่ใต้ดินอยู่บนฟ้า แต่เราเห็นว่านรกสวรรค์นี้อยู่ที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ไม่ได้ขัดแย้ง ไม่ได้เพิกถอนของเก่า งั้นเราอย่าพูดคำที่มันต้องขัดแย้ง ขัดแย้งแล้วจะเลวที่สุด เดี๋ยวนี้โลกลำบากอยู่ด้วยความขัดแย้งนี่แหล่ะ ถ้าไม่มีการขัดแย้ง แล้วจะไม่มีวิกฤติการณ์ใดๆ งั้นเราก็พูดว่าเรามีความคิดอย่างนี้ ชอบใจอย่างนี้ แต่ไม่ต้องพูดว่าของท่านผิด ของท่านไม่ถูก นั้นไม่ต้องพูด จะไม่พูดคำซึ่งเป็นเหตุให้ขัดแย้ง คำขัดแย้งหรือความคิดขัดแย้งจะต้องลดลง ลดลง แล้วหมดไป
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: ขอโทษตรงนี้ตอนนี้จะต้องขออภัย อย่าอย่าเห็นว่าเป็นพูดร้ายหรือพูดดูหมิ่นหรือพูดอะไรที่จะ ยกตัวอย่างว่าพระจีซัสไครซ์สอนศาสนาได้เพียง 3 ปี ก็ถูกฆ่าตาย เข้าใจว่าคำพูดของท่านจะเป็นการขัดแย้ง ท่านจะไม่ใช้วิธีที่ไม่ขัดแย้ง แต่จะมีการใช้วิธีที่ขัดแย้ง พระจีซัสไคร๊ซ์จึงถูกฆ่าตายในเวลา 3 ปี แต่ถ้าพระพุทธเจ้าจะไม่มีเรื่องอย่างนั้น นี่นี่เป็นความเห็นนะ จะยกตัวอย่างที่มันพอจะมองเห็นว่า แม้พระศาสดาก็จะไม่กล่าวคำขัดแย้ง กับที่เค้ามันเชื่อ เค้ามันถืออยู่ก่อน เพียงแต่จะบอกว่าชั้นมีความเห็นอย่างนี้ ท่านลองไปคิดดู นี่เป็นตัวอย่างที่ใหญ่โต สำคัญที่สุด ว่ามันจะเป็นการก่อศัตรูแล้วก็จะยุ่งยาก จะลำบากในการดำเนินชีวิต งั้นท่านจงมีคำพูดหรือมีการกระทำที่ไม่ขัดแย้ง แต่อาจจะแสดงของเราได้ว่าเรามีความเชื่ออย่างนี้ เรามีความเห็นอย่างนี้ นี่ขอให้ความขัดแย้งลดลง ลดลงจนหมดไป
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: ทีนี้ 11 (ครับ) นี่ข้อ 11 ความหวง ซึ่งเข้มข้นจนเป็นความหึง หวงไม่อยากให้ มีความเห็นแก่ตัวมาก หวง หวง หวง หวง ไม่อยากให้ผู้อื่น ไม่อยากช่วยผู้อื่น ที่เข้มข้นมากจนกระทั่งว่า ผัวหึงเมีย เมียหึงผัว เป็นปัญหายุ่งยาก นี่ความหวงหรือความหึง เหล่านี้ต้องลดลง ลดลงและหมดไป
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: ทีนี้ความที่ไม่เห็นว่าอะไรเป็นเช่นนั้นเองล่ะ ถ้าเห็นว่าเป็นตัว เป็นตน เป็นของตน ไม่ใช่เป็นเช่นนั้นเองตามธรรมชาติ เราไม่ไม่เห็นเช่นนั้นเอง เราไม่มีความรู้ว่าเป็นเช่นนั้นเอง ก็คือความโง่ ข้อสุดท้ายนี่ก็คือไอ้ความโง่ ว่าไม่ใช่ ไม่ใช่เป็นเช่นนั้นเองตามธรรมชาติ เป็นตัวเป็นตน เป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวกู เป็นของกู นี่ ก็ต้องลดลง ลดลง คือเห็นความเป็นเช่นนั้นเองมากขึ้น ความไม่เห็นว่าเช่นนั้นเองน่ะลดลง ลดลงจนหมดไป นี่เป็นข้อสุดท้าย
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: 10 เท่าไรนะ
คนถาม: 12
ท่านพุทธทาส: 12 ข้อนี้ ขอให้จำไว้สำหรับสอบไล่ ทดสอบ check เรียกว่า examing ตัวเอง ถ้าว่าไอ้ 12 ข้อนี้ลดลงลดลงแล้วละ ถูกแล้ว นี่ถูกแล้ว นี่เป็นผลของการปฎิบัติพุทธศาสนาที่ถูกต้อง ถูกต้อง ไม่ต้องให้อาจารย์ รับรอง รับรองก็ไม่ได้ เพราะอาจารย์ก็ไม่รู้ในจิตใจของลูกศิษย์ ลูกศิษย์ต้องสอบไล่ตัวเอง ด้วยข้อสอบเหล่านี้ ช่วยจำไว้ให้ดีๆ 12 ข้อนี้แหล่ะ แน่นอนที่สุด ถ้าลดลงและหมดไปก็ถูกต้องแล้ว ถูกต้องแล้ว ท่านทั้งหลายได้รับผลของการศึกษาและปฎิบัติพระพุทธศาสนาแล้ว ทั้งหมดนี้ช่วยจำให้ดีๆ
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: เป็นอันว่าเราได้พูดกันถึงพุทธศาสนา หรือพุทธธรรม ในแง่มุมต่างๆ ที่เราควรจะเข้าใจ ตั้งแต่ก่อนปฏิบัติ จนกระทั่งปฏิบัติแล้ว ก็เห็นว่าเป็นเช่นนี้เอง ทำไมต้องศึกษาพุทธศาสนา อะไรคือพุทธศาสนา พุทธศาสนาของใคร ใครประกาศ กรรมสิทธิ์ของใคร เราจะต้องปฏิบัติอย่างไร ถึงจะรู้ว่าปฏิบัติเสร็จแล้วจะได้ผลอย่างไร เราได้แล้วหรือยัง นี่ละขอฝากไว้ ให้ท่านศึกษากำหนดสังเกตุ ข้อเท็จจริงเหล่านี้ อย่างถูกต้อง การศึกษาพุทธศาสนา และการปฏิบัติพุทธศาสนา จะมีเหตุผล จะมีเหตุผล จะนำมาซึ่งผลที่ควรจะได้ และเมื่อปฏิบัติเสร็จแล้ว ปฎิผลแล้วก็จะเห็น โอ้มันจริงอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เพียงแต่ฟังผู้อื่นพูด สำหรับเอาไปคิด แต่ท่านปฏิบัติเสร็จแล้ว ก็เห็นเอง โอ้มันเป็นอย่างนี้จริงๆ จึงขอฝากไว้ท่านทั้งหลายทุกคน ก่อนจะเข้ามาศึกษาพุทธศาสนา ก็ขอให้ซึมซาบแจ่มแจ้งในข้อเท็จจริงเหล่านี้ ครั้นปฏิบัติเสร็จแล้วก็จะรู้สึกว่ามันจริงอย่างนั้น ก็เลยเป็นความจริง ได้ผลจริง ในการศึกษาและการปฏิบัติ ขอแสดงความหวังว่าการศึกษาและการปฏิบัติของท่านทั้งหลาย จะก้าวหน้าไปด้วยดี จนประสบผลอย่างนี้จริง ขอยุติการบรรยาย
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: ทำไม อะไร อย่างไร ของใคร โดยวิธีใด ได้ผลจริงหรือไม่
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: สรุปคำเดียวอีกทีหนึ่ง why ทำไม ทำไม ทำไม เอ้า ทำไม
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: ทำไม ทำไม <คนถาม>why, อะไร <คนถาม>what, ของใคร <คนถาม>who, โดยใคร <คนถาม>whose, และก็อย่างไร how, และก็ผล ผลเป็นอย่างไร <คนถาม>and what result
คนถาม: (ภาษาอังกฤษ)
ท่านพุทธทาส: ทำไมคุณสันติกโร ไม่พูดว่า The Lord Jesus Christ
คนถาม: ไม่รู้