แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เพื่อนสหธรรมิกและท่านสาธุชนอุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย ให้ในการบรรยายครั้งที่สองนี้จะได้พูดโดยหัวข้อว่า สิ่งที่จะต้องปฏิรูป ในการบรรยายครั้งแรกได้พูดกันแล้วว่าในการปฏิรูปนั้นคืออะไร ทำไมจึงต้องทำการปฏิรูป ในที่นี้ก็ขอใช้คำว่าปฏิรูปต่อไปตามเดิม ในความหมายที่ว่าปรับปรุงให้มันถูกต้องยิ่งขึ้น ให้มันสูงขึ้นไปจนถึงจุดที่เราปรารถนา คือได้รับผลตามความมุ่งหมาย มันมีอยู่มากมายถ้าโดยรายละเอียด แต่ถ้าว่าโดยใจความแล้วมันก็มีนิดเดียวว่ามันดับทุกข์ได้ ก็ถ้ามันดับทุกข์ได้มันก็พอแล้ว ก็ขอให้นึกถึงความหมายของคำว่าดับทุกข์ได้ เดี๋ยวนี้เราไปใช้คำว่า อร เป็นพระอรหันต์บ้าง เป็นนิพพานบ้างโดยที่ไม่รู้ว่า มันหมายความว่าอย่างไร ก็เลยสำคัญเอาความหมายผิดๆให้แก่คำว่านิพพานบ้าง ให้ความเป็นพระอรหันต์บ้าง คำทำนองนั้นเก็บไว้ดีก่อนก็ได้ แล้วพระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ใช้คำเหล่านี้ในการตรัสสอนเป็นธรรมดาสามัญ ท่านจะใช้คำว่าดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ดับไม่เหลือแห่งทุกข์ จะพูดในแง่ไหน เรื่องไหน มันก็ไปรวมอยู่ที่คำว่าดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เราจงเพ่งเล็งไปยังความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ที่มันยังดับไม่ได้ก็หมายความว่ามันยังไม่ถึงขนาด ที่นี้การทำให้มันถูกต้องยิ่งๆขึ้นไป ด้วยการปรับปรุงแก้ไขอะไรก็ตาม ก็เรียกว่าปฏิรูป แปลว่าทำให้มีรูปที่สมควรแก่การดับทุกข์ หรือถึงขนาดที่จะดับทุกข์ได้นั่นเอง
พุทธบริษัทเราก็ดันมีการกระทำเป็นอันมาก ในแง่ของการศึกษาก็ดี การปฏิบัติก็ดี การเผยแผ่สั่งสอนก็ดี แต่มันก็มีลักษณะที่เรียกได้ว่าเฟ้อ มาก แล้วก็ไม่ตรงจุด เมื่อไม่ตรงจุดจะทำให้มากเท่าไหร่มันก็ไม่สำเร็จประโยชน์ เมื่อตกอยู่ในอาการที่เรียกว่า เฟ้อ เราต้องการปริยัติที่ไม่เฟ้อ ต้องการการปฏิบัติที่ไม่เขว และก็ต้องการปฏิเวธถูกตรงตามที่ควรจะมุ่งหมาย ปริยัติเฟ้อนี่ก็เห็นได้อยู่ว่าเรียนมากจนไม่รู้ว่าอะไร เรียกว่าปนกันยุ่งหรือว่าเป็นบ้าหอบฟาง ไม่ค่อยจะมีเมล็ดข้าว เป็นเรื่องสนุกสนานในการเรียนมากๆ เพื่อจะพูดได้มาก เพื่อจะมีเกียรติยศชื่อเสียง จะมีเกียรติยศชื่อเสียงในการจะพูดได้มาก กระทั่งกลายเป็นพาณิชย์การ คือว่าสอนเพื่อรับประโยชน์เป็นวัตถุ เป็นเงินเป็นของ เป็นเงินเดือน เป็นอะไรก็สุดแท้ และอีกประการหนึ่งก็คือว่าสิ่งที่มันชวนฟังสำหรับจิตที่ยังมีกิเลสนั้นนะ มันจะมักจะเป็นเรื่องเฟ้อทั้งนั้น เป็นเรื่องเพ้อเจ้อ เป็นเรื่องสนุกสนาน เรื่องเหล่านี้มันจะมีมาก แล้วก็นิยมกันมาก มันก็มีขายได้ดี ถ้าพิมพ์ขึ้นมันก็ขายได้ดี เรื่องเฟ้อ เราจะต้องมีปริยัติที่ไม่เฟ้อ คือตรงจุด ความมุ่งหมายของเรื่องที่จะดับทุกข์ได้อย่างไร นี่เป็นเรื่องที่จะต้องปฏิรูป คือปรับปรุงเสียใหม่ ที่นี้การปฏิบัติที่ไม่เขว มันเนื่องมาจากเราต้องการผลประโยชน์เป็นวัตถุ การปฏิบัติมันก็มุ่งผลเป็นวัตถุ เพื่อผลทางวัตถุ มันก็เป็นการปฏิบัติที่เขว เพื่อผลทางวัตถุ บางทีก็เพื่อผลที่นอกรีตนอกรอย คือเป็นอิทธิปาฏิหาริย์ มีอะไรๆ ที่น่าอัศจรรย์ เป็นหูทิพย์ ตาทิพย์ เป็นอะไรต่างๆ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องเขว เรียกว่ามันอยากดี อยากเด่น อยากดัง อยากอะไรมากกว่า กว่าที่จะดับทุกข์ เรื่องมันก็เขว แล้วมันก็เรื่องเขวมันก็เป็นเรื่องที่น่าสนุก มันเพราะมันตรงกับความต้องการของกิเลส เรื่องเขวจึงมีได้ง่ายและมีได้มาก เรื่องปฏิเวธนี่ก็เนื่องกันแหละ ถ้าเราไม่ได้ต้องการผลเพื่อความดับทุกข์โดยเฉพาะแล้ว มันก็ออกไปนอกลู่นอกทาง เพื่อฤทธิ์ เพื่อเดช เพื่อปาฏิหาริย์ เพื่อมีสมรรถภาพเหนือธรรมชาติ เหนือธรรมดาที่ชาวบ้านเค้ามีกัน ก็เป็นเครื่องมือสำหรับจะหาประโยชน์ กระทั่งใช้ในการกอบโกย พระพุทธเจ้าตรัสว่า อัญญา หิ ลาภูปะนิสา การปฏิบัติอาศัยลาภก็เป็นอย่างหนึ่ง อัญญา นิพพานะคามินี การปฏิบัติเพื่อนิพพานก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง คนละอย่าง เราควรจะมีความมุ่งหมายในผลที่ถูกต้อง คือเป็นไปเพื่อนิพพาน เพื่อดับทุกข์โดยสิ้นเชิง เพื่อจะมีชีวิตเย็นถึงที่สุด ที่เรียกว่าเป็นพระอรหันต์ ฉะนั้นขอให้สนใจ อย่า ระมัดระวัง อย่าไปเสียเวลากับเรื่องเฟ้อ อย่าไปเสียเวลากับเรื่องเขว อย่าไปเสียเวลากับเรื่องที่มันยั่วยวนชวนให้สนุกในการมี การได้ ในการสามารถที่จะทำอะไรได้แปลกๆกว่าธรรมดา ซึ่งมักจะไปติดตันอยู่ที่นั่น ไม่ไปให้ไกลไปกว่านั้นได้ ซึ่งเป็นกันอยู่โดยมาก ขอให้สังเกตดูเอาเอง ว่าปฏิบัติแล้วได้ผลเป็นอย่างไร ที่เค้าปฏิบัติกันอยู่ทั่วๆไปก็ตาม ว่าปฏิบัติแล้วได้ผลเป็นอย่างไร ได้ผลเป็นอย่างไร ทำไมจึงยิ่งมีมานะทิฐิแก่กล้า มีตัวกูของกูจักเข้มข้นยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม นี่รวมเรียกว่ามันหวังผล หรือปฏิเวธนั้นไม่ถูกต้อง คือไม่เป็นไปเพื่อดับทุกข์ แต่เป็นไปเพื่อลาภเสียมากกว่า แม้นที่สุดก็เป็นไปเพื่อความสนุก มีความเป็นนักปราชญ์เป็นต้น จึงมีเรื่องเฟ้อเกิดขึ้นสำหรับให้ศึกษาเล่าเรียน คือมันเพิ่มมากขึ้นกว่าที่จะสำเร็จประโยชน์ ตัวอย่างยกตัวอย่างเช่นคำว่า อภิธรรม ถ้าเป็นอภิธรรมจริง มันไม่มีเรื่องอะไร เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรื่องสุญญตา เรื่องตถาตา สุญญตาหรือว่างจากตัวตนนั่นแหละ ยอดสุดของอภิธรรม อันเป็นธรรมสูงสุดอยู่ที่ว่างจากตัวตน แต่ที่นี้มันไม่สนุก มันมีอภิธรรมชนิดอื่น อภิธรรมชนิดที่เป็นจิตวิทยา เป็นเรื่องจิตให้แปลกออกไป จนเป็นเหลือที่จะศึกษากันไหว นอกจากว่าอยากจะเป็นนักปราชญ์เท่านั้นนะจึงจะศึกษาไหว เพียงเพื่อดับทุกข์แล้วมันก็สั่นหัว
นี่สรุปความในขั้นต้นนี้ก็คือว่า เรื่องปริยัติก็ต้องปฏิรูป เรื่องปฏิบัติก็ต้องปฏิรูป เรื่องปฏิเวธก็ต้องปฏิรูป แม้ที่สุดแต่เรื่องทำวัตรสวดมนต์ เรื่องทำวัตรสวดมนต์ซึ่งเป็นเรื่องต่ำกว่าอะไรหมดนี่ ก็ต้องปฏิรูปอย่างที่เราได้พยายามกันมาตามลำดับ ให้มันมีประโยชน์ยิ่งขึ้น อย่าสักว่าสวด ร้อง ท่อง บ่น แล้วก็ได้บุญ แล้วก็หมดหน้าที่ เรื่องทำวัตรสวดมนต์ บางคนก็จะเห็นเป็นเรื่องไม่จำเป็นไปเสียก็มี นี่มันเข้าใจผิด เรื่องทำวัตรสวดมนต์นั้นมีทางที่จะทำให้เป็นประโยชน์ได้หลายอย่าง ถ้าว่าสวดมนต์รู้เรื่อง เช่นรู้เรื่องด้วยคำแปล อย่างนี้มันก็เหมือนกับซ้อมความเข้าใจ ซ้อมธรรมะนั้นให้แน่วแน่ แจ่มแจ้งชัดเจนอยู่เสมอ นี่มันก็มีประโยชน์เหลือหลายแล้ว ที่นี้ถ้าว่าตั้งใจสวดมนต์ มันก็มีสมาธิมันจึงจะทำได้ ฉะนั้นก็เท่ากับฝึกสมาธิไปในตัว ฝึกสติไปในตัว ในการที่จะสวดมนต์ให้ถูกต้อง ที่นี้สังเกตดูมันสวดกันเพ้อๆบ้าง แม้แต่ออกชื่อออกเสียงสำเนียงตามตัวอักษรก็ไม่ถูก ตัว ข เป็นตัว ก ตัว ค เป็นตัว ก ตัว ค เป็นตัว บ มันก็เรียกว่าไม่มีสตินั่นเอง มันยังมีผลอีกมากว่า ถ้ามันได้มีความบังคับตัวเอง บังคับประสาท บังคับความรู้สึกให้สวดให้ถูกต้องพร้อมกันไปนั้น สามารถจะถือเอาใจความของคำที่สวดได้อย่างชัดเจนแม่นยำแน่วแน่ คิดดูทีว่ามีประโยชน์มากน้อยเท่าไรในการทำวัตรสวดมนต์ เดี๋ยวนี้ไม่เป็นอย่างนั้นนี่ มันจำได้ แล้วมันก็ยังผิดๆถูกๆอีก มานั่งว่าปากว่าไป จิตใจหลับครึ่งตื่นครึ่ง มันก็ยังสวดไปได้ สวดทำวัตรสวดมนต์นั่นนะ หลับครึ่งตื่นครึ่งมันก็ยังสวดไปได้ อย่างนี้นั่นแหละมันจะไม่คุ้มค่า สวดจนตายก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไร มาสนใจปฏิรูปกันเสียใหม่แม้แต่การทำวัตรสวดมนต์ สวดด้วยจิตใจ สวดด้วยสติสัมปชัญญะ เพิ่มปัญญาคือเน้นให้ความจำ หลักเกณฑ์ต่างๆที่จะต้องจำ นี่มันก็มีประโยชน์ถึงกับว่าจะทำให้เกิดการบรรลุธรรม หมดกิเลสก็ได้ ทางให้เกิดการบรรลุมรรคผลมีได้ แม้แต่ว่าสาธยายธรรมะ แสดงธรรมะก็ได้ ฟังธรรมะก็ได้ สาธยายธรรมะก็ได้ คิดนึกไปตามเหตุผลก็ได้ ทำวิปัสสนาก็ได้ มีคำกล่าวว่าอย่างนี้ ว่าแม้แต่การสาธยาย ถ้าทำดีอย่างที่ว่าก็มีสมาธิเกิดขึ้น มีปีติปราโมทย์เกิดขึ้น ทำให้เห็นอรรถเห็นธรรมอย่างชัดแจ้งในขณะนั้นนั่นเอง เป็นเหตุให้บรรลุมรรคผลนิพพานก็ได้แม้แต่การสาธยาย อย่าได้ดูถูกดูหมิ่นการสาธยาย ตั้งใจทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้เป็นพื้นฐาน นี่จึงกล่าวว่าต้องปฏิรูปแม้แต่เรื่องทำวัตรสวดมนต์ ที่จริงก็มันเป็นการปฏิบัติอยู่ในตัวการทำวัตรสวดมนต์ถ้าทำให้ถูกต้องตามความมุ่งหมาย ก็เป็นการปฏิบัติธรรมะอย่างยิ่งอยู่อย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน ควรจะรวมกันในคำว่าปฏิบัติ ฉะนั้นปริยัติก็มีการปฏิรูปให้ดีขึ้น ปฏิบัติก็มีการปฏิรูปให้ดีขึ้น ปฏิเวธก็มีการปฏิรูปให้ถูกต้องตามที่มันเป็นจริง ที่ควรจะต้องการยิ่งขึ้น นี่คือสิ่งที่จะต้องปฏิรูปโดยใจความ โดยเท้าความทั่วๆไปก็ต้องกล่าวอย่างนี้
ที่นี้ก็อยากจะกล่าวถึงเรื่องที่สำคัญที่สุดอย่างที่กล่าวมาแล้วในการบรรยายครั้งแรกว่า หัวใจของธรรมะของพระพุทธศาสนานั้นคือ เรื่องการไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้งห้าว่าเป็นตัวตน ฉะนั้นจะต้องขอพูดเรื่องนี้อีกเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งๆขึ้นไป เป็นที่น่าเวทนาที่ว่าพุทธบริษัทเราไม่รู้จักแม้แต่ขันธ์ห้า แต่ว่าก็ได้เคยท่องคำนี้มาแล้วเป็นร้อยครั้งพันครั้ง รูปังอนิจจัง รูปังอนัตตา เวทนาอนิจจา เวทนาอนัตตา สัญญาอนิจจา สัญญาอนัตตา ท่องกันเป็นร้อยครั้งพันครั้ง แต่แล้วก็ไม่รู้จักว่า แต่ละขันธ์ละขันธ์นั้นคืออย่างไร เรามาสนใจที่ตัวของมันให้ ให้ถูกต้องให้ถูกตัวให้ชัดเจน เรื่องชื่อก็ไม่เป็นประมาณ ถ้าจับตัวได้มันจะชื่ออะไรก็ช่างมันเถิด จัดการกับตัวมันได้แล้วมันก็ได้ประโยชน์ มันจะเรียกชื่อว่าอะไรมันก็ไม่ค่อยจะเป็นปัญหานัก แต่ว่าในครั้งพุทธกาลนั้นนะ เขาจะต้องรู้จักกันดีว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้เป็นอย่างไร เราจะสังเกตเห็นได้ตรงที่ว่า เมื่อพระพุทธเจ้ามาแสดงธรรมเรื่องอนัตตลักขณสูตรแก่ปัญจวัคคีย์นั้น ท่านไม่ต้องมาอธิบายอยู่ว่า รูปขันธ์คืออะไร เวทนาขันธ์คืออะไร สัญญา สังขาร วิญญาณคืออะไร ไม่ต้องอธิบาย มาบอกเลยว่าเป็นอนัตตา นี่ก็แสดงว่าเรื่องขันธ์ทั้งห้านี่เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักศึกษาปัญญาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักบวชที่ได้สละบ้านเรือนออกบวชเที่ยวขวนขวายได้ศึกษาอยู่ มันก็ต้องรู้เรื่องขันธ์ห้าดี ฉะนั้นพอพูดว่าเป็นอนัตตาเพราะเหตุผลอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เข้าใจ ก็สำเร็จประโยชน์ ก็ละความยึดมั่นถือมั่นได้ เดี๋ยวนี้เราไม่เป็นอย่างนั้นเรารับเอามา ทั้งที่ไม่รู้ว่าอะไรก็มาท่องๆ กันไว้ ขอให้สนใจให้รู้จักตัวจริงของมันยิ่งๆขึ้นไป
ขันธ์ห้า ขันธ์ห้า แปลว่า ส่วนแต่ละส่วนที่ประกอบกันขึ้นเป็นอัตภาพร่างกายหรือชีวิต ชีวิตนี่ประกอบด้วยส่วนทั้งห้า คือ ขันธ์ห้า แต่ว่ามันมีส่วนที่เป็นรูปอยู่ส่วนหนึ่งคือรูปขันธ์ และมีส่วนที่เป็นน้ำหรือเป็นจิตอยู่สี่ส่วนคือ พวกนามขันธ์ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในการเป็นอยู่ประจำวันของสิ่งที่เรียกว่ามีชีวิต โดยเฉพาะคือมนุษย์เรา มันมีส่วนทั้งห้านี่เกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป ไม่รู้กี่สิบหรือกี่ร้อยชุดในแต่ละวัน มันเกิดขึ้นเป็นขันธ์เฉยๆนั้นมันก็อย่างหนึ่ง เกิดขึ้นเป็นขันธ์แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนนั่นก็อย่างหนึ่ง รูปขันธ์ เราศึกษารูปขันธ์คือส่วนที่เป็นร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มันเป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นส่วนประกอบของร่างกาย นี่ก็ต้องเรียกว่ารูปขันธ์ที่เป็นภายในเนื้อหนังร่างกาย เฉพาะตาก็อย่างหนึ่ง เฉพาะหูก็อย่างหนึ่ง เฉพาะจมูกก็อย่างหนึ่ง เฉพาะลิ้นก็อย่างหนึ่ง ที่นี้เฉพาะกายมันทั่วไปทั้งตัว ทั่วไปทั้งตัวมันมี มี มี มีลักษณะเป็นกาย จะเป็นส่วนไหนของร่างกายก็ได้ มันมีระบบประสาทอยู่ทั้งนั้นอันนี้เป็นส่วนทั่วทั้งตัว ส่วนที่เป็นตา หู จมูก ลิ้นนั้นมันก็เฉพาะส่วนเฉพาะหน้าที่ แต่ก็ยังคงเรียกว่ารูปอยู่นั่นเอง เรามีตา หู จมูก ลิ้น กายเป็นรูปขันธ์อยู่ข้างใน แล้วมันก็มีรูปขันธ์อยู่ข้างนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ สิ่งที่จะมากระทบตาเรียกว่ารูป สิ่งที่จะมากระทบหูเรียกว่าเสียง จะมากระทบจมูกเรียกว่ากลิ่น จะมากระทบลิ้นเรียกว่ารส จะมากระทบผิวหนังเรียกว่าโผฎฐัพพะ นี่เรียกว่ารูปภายนอกก็เป็นรูปขันธ์เหมือนกัน ข้อนี้มันสัมพันธ์กันอยู่ ถ้ามันไม่มีทั้งภายนอกและภายในมันไม่สำเร็จประโยชน์อะไร ถ้ามันไม่มีรูปขันธ์ภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะแล้ว ตาหูจมูกลิ้นกายนี่ก็เป็นหมัน เป็นหมัน มันจึงต้องมีรูปภายนอกและภายใน ภายในเรียกว่า อัชฌัตตะ อัชฌัตตะ อัชฌัตตาวาที่เป็นภายในก็ตาม พะหิทธาวาที่เป็นภายนอกก็ตาม มันมีรูปขันธ์อยู่สองประเภทคือที่เป็นภายในและเป็นภายนอก ถ้ามันอยู่เฉยๆก็เหมือนกับไม่ได้เกิด ถ้ามันทำหน้าที่เมื่อไรก็เรียกว่ามันเกิด รูปขันธ์มันเกิดเมื่อมันทำหน้าที่ ถ้ามันไม่ได้ทำหน้าที่มันก็ไม่เรียกว่าเกิด เช่นเรามีตาถ้าไม่ได้ดูรูป ไม่ได้เห็นรูป ก็เรียกว่าตาไม่ได้เกิด พอตาทำหน้าที่เห็นรูปก็เรียกว่าตาเกิด พอหยุดทำหน้าที่เห็นรูปก็เรียกว่าตาดับ หูก็เหมือนกันพอทำหน้าที่ฟังก็เรียกว่าหูเกิด จมูกก็เหมือนกันเมื่อได้รับกลิ่นก็เรียกว่าจมูกเกิด นี่ฟังดูดีๆว่าตาหูจมูกลิ้นกายมีอยู่แท้ๆ มีอยู่ตลอดเวลานี่ ภาษาธรรมะก็ไม่เรียกว่ามันเกิด จะเรียกว่ามันเกิดก็ต่อเมื่อมันทำหน้าที่ ที่นี้มันเกิดตามลำพังไม่ได้ มันต้องมีไอ้รูปขันธ์ข้างนอกเข้ามาร่วมมือด้วย เช่นมีรูปมาร่วมมือกับตา ตาก็เกิด รูปภายนอกก็พลอยเกิด เกิดเป็นรูปขันธ์ขึ้นมาโดยสมบูรณ์ โดยรูปภายในกับรูปภายนอกถึงกันเข้า นี่พยายามรู้จักว่ารูปขันธ์นี่มีอยู่อย่างนี้ ที่เป็นภายในตาหูจมูกลิ้นกาย ที่เป็นภายนอกรูปเสียงกลิ่นรสโผฎฐัพพะ ที่นี้การที่มันเกิดนั้นนะ มันก็คือมันเนื่องกัน ปะฏิจจะ ปะฏิจจะ คำนี้แปลว่าเนื่องกัน ปฏิจจะ รูเปจะ อุปปัชชะติ วิญญานัง เมื่อตาเนื่องกับรูปก็เกิดจักษุวิญญาณ คือการเห็นทางตา มันก็เกิดรูปขันธ์ในส่วนที่เป็นรูปขันธ์เสียก่อน คือมีตากระทบรูป หูกระทบเสียงนี่ แล้วมันจึงจะเกิดวิญญาณทางตา ทางหู ตามเรื่องของมัน เราก็มีตาลืมตาอยู่ก็เห็น การเห็นเฉยๆไม่มีความหมายอะไรนั้นก็มีอยู่โดยมาก มัน มัน มันไม่ได้ทำให้เกิดความรู้สึกอะไรก็มีอยู่โดยมาก นี่มันจะเป็นขันธ์ล้วนๆ เป็นขันธ์ล้วนๆไม่ใช่อุปาทานขันธ์ ต้องแยกกันให้ดีว่าขันธ์ล้วนๆก็เรียกว่าปัญจขันธ์นะ แต่ถ้าว่ามันมีอุปาทานเข้าไปแทรกด้วย มันเปลี่ยนเป็นบรรจุปาทานขันธ์ คือเป็นอุปาทานขันธ์ ตาเห็นรูปเฉยๆ ก็เป็นรูปขันธ์ ถ้ามีความหมายที่เข้าไปยึดถือว่าเป็นรูปอะไรอย่างไรจนเกิดความรู้สึกเป็นตัวตน เห็น เห็นเป็นของตนอย่างนี้ ก็จะเรียกว่าอุปาทานขันธ์ ขันธ์กับอุปาทานขันธ์ต่างกันลิบลับ ขันธ์เฉยๆไม่มีอุปาทานไม่มีประโยชน์ ไม่มีปัญหาอะไร ไม่มีทุกข์ไม่มีร้อนอะไร ต่อเมื่อมันมีอุปาทานในขันธ์นั้นนะ เป็นตัวกูขึ้นมา เป็นของของกูขึ้นมา เป็นอุปาทานขันธ์อย่างนี้แล้ว มันจึงจะเป็นปัญหา และเป็นความทุกข์ ฉะนั้นการที่เราทอดสายตาออกไป เห็นรูปต่างๆแล้วก็เฉยอยู่ หยุดอยู่เพียงเท่านั้น มันก็เกิดเป็นขันธ์เฉยๆ เป็นรูปขันธ์เฉยๆ เป็นวิญญาณขันธ์เฉยๆ ยังไม่ถึงขนาดที่จะหมายมั่นให้เป็นตัวตน เป็นของตน ก็ไม่มีปัญหาอะไร ต่อเมื่อในกรณีใดการเห็นทางตานั้น มันไม่เฉยอย่างนั้น มันมีความหมายเช่น ผู้หญิงเห็นผู้ชายอย่างนี้เป็นต้น มันไม่เห็นเฉยๆ มันมีความหมายเป็นลำดับลำดับไป จนเกิดความยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวกู เป็นผู้เห็นและสิ่งที่ถูกเห็น เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดขัดเคือง อย่างนี้ต่างหากมันจึงจะเป็นอุปาทานขันธ์ขึ้นมา ในกรณีของรูปขันธ์ เห็นด้วยตา เห็นแล้วๆไปอย่างนี้ก็เป็นขันธ์เฉยๆ เป็นรูปขันธ์เฉยๆ แล้วมันคนธรรมดาก็มีได้ คนธรรมดานี่ไม่ต้องเป็นพระอรหันต์ แต่ว่าในบางกรณีหรือในหลายๆกรณีมันไม่เห็นเฉยๆ มันไปเจาะจงเอาความหมายอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา ซึ่งเรียกว่าสัญญา สัญญาเข้าไป หมายมั่นเป็นอะไรเป็นรูปของอะไร เป็นรูปของหญิงเป็นรูปของชาย เป็นรูปที่น่ารัก เป็นรูปที่ไม่น่ารัก เป็นรูปที่น่ายินดีหรือน่ายินร้ายนั่น อันนั้นนะมันเรียกว่าความหมายหรือคุณค่า เรียกภาษาปัจจุบันหน่อยก็เรียกว่าค่าของสิ่งนั้น ถ้ามันลงไปถึงค่าของสิ่งนั้นแล้วนะ มันก็จะต้องเกิดความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกูเป็นของกู มันจะกลายเป็นอุปาทานขันธ์ขึ้นมา จะเป็นรูปขันธ์ก็ดี เวทนาขันธ์ก็ดี สัญญาขันธ์ก็ดี สังขารขันธ์ก็ดี วิญญาณขันธ์ก็ดี มันกลายเป็นอุปาทานขันธ์หมด ถ้าไม่เกิดการปรุงแต่งอย่างนี้ ไม่เกิดความหมายมั่นยึดมั่นในคุณค่าอย่างนี้ มันก็เลิกกัน เช่น ได้เห็นสิ่งที่เห็นอยู่ตลอดเวลาตำตา นี่ลืมตาก็เห็นต้นไม้ต้นไร่ ก้อนหินก้อนดินกรวดทราย มันก็แล้วกันไปมันก็เป็นขันธ์ล้วนๆ ไม่ถูกยึดมั่นถือมั่น แต่ว่าถ้าในรูปใดที่มันมีความหมาย ประกอบเข้าไปด้วยสัญญาขันธ์ หมายมั่นเป็นอะไรแล้ว มันก็มีความหมาย มันก็มีความรู้สึกปรุงแต่งไปตามลำดับ กระทั่งเห็นว่ามันเป็นที่จับจิตจับใจยึดมั่นถือมั่นในความรู้สึก สังเกตดูว่าเราเห็นรูปอยู่ตลอดเวลา ฟังเสียงอยู่ตลอดเวลา มีกลิ่นอยู่ ได้กลิ่นอยู่ก็เกือบตลอดเวลา มีลิ้นอยู่ก็ตลอดเวลาที่รับประทาน มีสัมผัสผิวหนังอยู่เกือบจะตลอดเวลา ไม่ยึดมั่น ไม่ได้มีสัญญาหมายมั่น ไม่ได้เกิดความยึดมั่นถือมั่นก็ไม่เป็นไร มันไม่เป็นทุกข์ เห็นไหม แต่ทว่ามันในขณะนั้น ในขณะที่เห็นนะมันเผลอไป มันเผลอไป อวิชชา อวิชชา ความไม่รู้ หรือความหมายแห่งความไม่รู้ อำนาจแห่งความไม่รู้มันครอบงำเข้า มันครอบงำเอา มันก็ไม่เฉย ที่นี้มันก็รู้จักทำความรู้สึกเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมา น่ารักหรือไม่น่ารักขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหมายในทางเพศต่อเพศที่ตรงกันข้าม มีสัญญาว่าหญิง สัญญาว่าชาย สัญญาอย่างนั้นอย่างนี้ ลึกซึ้งไปในความรู้สึกทางเพศ แล้วมันก็ไม่ใช่ปกติธรรมดาแล้ว มันเป็นอุปาทานขันธ์แล้ว เป็นรูปมันก็ยึดถืออย่างรูป อย่างรูปุ รูปูปาทานขันธ์ ถ้าเป็นเสียงอย่างเสียงของเพศตรงกันข้ามอย่างนี้ก็มีความหมายทันที เป็นอุปาทานขันธ์คือเสียง อุปาทานขันธ์เป็นในเสียงในกลิ่นในรสในโผฎฐัพพะ เป็นเวทนูปาทานขันธ์ เป็นสัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ ช่วยศึกษากันให้ละเอียดชัดเจนแจ่มแจ้ง ถ้ามันไม่มีสัญญาไปจับเอาให้เป็นตัวตนคือหมายมั่นเป็นอย่างไรอย่างไร มันก็ไม่เป็นอะไร เหมือนอย่างว่าฟังวิทยุ บางทีก็ไม่ ไม่มีความรู้สึกอะไร เพียงแต่รู้สึกว่าวิทยุมันดังแค่นี้ แต่บางทีมันไม่ ไม่ใช่อย่างนั้น มันมีความหมายแห่งเสียงที่จับจิตจับใจก็เลยเตลิดเปิดเปิงไปเป็นความหมายทางกามารมณ์บ้าง ไม่ใช่บ้างอะไรก็ตาม ซึ่งทำให้เกิดความพอใจบ้างไม่พอใจบ้าง ในที่สุดจะหนวกหู หนวกหูนี่มันก็เป็นความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาแล้ว เป็นอุปาทานขันธ์ในเสียง เพราะฉะนั้นฝึกมัน ฝึกมันอย่าให้มันเกิดอุปาทานขันธ์ แม้ว่าเสียงมันจะหนวกหูสักเท่าไร ก็เช่นนั้นเองดูบ้าง เช่นนั้นเองดูบ้าง มันจะไม่เกิดอุปาทานขันธ์ในเสียง ไม่เกิดอุปาทานขันธ์ในเสียง แต่มันก็ ก็คงจะทำยากแหละ เพราะว่าเรามันเคยชินมาแต่ที่จะถือเอาความหมายยึดมั่นถือมั่น แล้วตามธรรมชาติมันก็เป็นอย่างนั้น ความรู้สึกทางระบบประสาทมันก็เป็นอย่างนั้น มันมีความไวต่อการรับอารมณ์ของการขับกล่อม เช่นว่ากล่อมเด็กให้นอนอย่างนี้ มันก็คือเสียงนั่นแหละ มันก็สักแต่ว่าเสียงนั่นแหละ แต่ถ้าว่ามันมีความหมายคุณค่าอะไรรวมอยู่ด้วย มันก็ช่วยให้เกิดอารมณ์ แล้วก็กล่อมให้เด็กนอน ให้เด็กนอนหลับได้ นี่แม้แต่เด็กทารกมันก็มีการรับอารมณ์ทางเสียง เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือได้แล้วมันก็พอใจ เป็นเบื้องต้น เป็นธรรมดาสามัญที่สุด ฉะนั้นขอให้สังเกตดูให้ดีว่าเรามันมีสัญชาตญาณที่จะรับอารมณ์ในความหมายหรือคุณค่าอย่างใดอย่างหนึ่ง สังเกตดูให้ดีเถิด จะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอย่างดี แล้วก็จะศึกษาพร้อมกันไปในคราวเดียวกันกับเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละ ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ดีก็จะเห็นว่าเบญจขันธ์ก็ซ้อนอยู่ในปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทก็อมเรื่องขันธ์ทั้งห้าไว้ ทั้งห้าเลย ขอให้สังเกตดูให้ดี เช่นว่าพอตาเห็นรูป นี่ปฏิจจสมุปบาทอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นอาทิพรหมจรรย์นะ เริ่มต้นขึ้นด้วยคำว่า ตาเห็นรูปเนื่องด้วยรูปก็เกิดจักษุวิญญาณ สามประการนี้ สิ่งทั้งสามนี้ทำความสัมพันธ์เนื่องกันอยู่ ก็เรียกว่าผัสสะ มีผัสสะก็มีเวทนา มีเวทนาก็มีตัณหาเรื่อยไป พอตา รูปภายในถึงกับรูป รูปภายนอกก็เกิดจักษุวิญญาณ จักษุวิญญาณคือ วิญญาณขันธ์เขาอาศัยตากับรูป คืออายาตนะภายในกับอายตนะภายนอกถึงกันเข้าก็เกิดวิญญาณขันธ์ เกิดวิญญาณขันธ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย สามอย่างนี้สัมพันธ์กันอยู่เรียกว่าผัสสะคือ ว่าอายาตนะภายในเช่นตาเป็นต้น อายาตนะภายนอกเช่นรูปเป็นต้น แล้ววิญญาณทางตานั้นด้วย สามอย่างนี้สังฆาฏิ คือมันถึงกันอยู่ก็เรียกว่าผัสสะ ในขณะผัสสะนั่นแหละมันก็จะมีโอกาสแห่งความหมายมั่น สัญญาว่าอะไร จำได้ไหม รู้ว่าอะไร รูปอะไร เสียงอะไร และมีความหมายอย่างไร ก็เลยมีสัญญาขันธ์เกิดขึ้นในขณะแห่งผัสสะ เป็นเหตุให้มั่นหมายว่ารูปอะไร แล้วก็ความหมายอย่างไร มันจึงได้เกิดเป็นเวทนาขึ้นมา เป็นสุขแก่ความรู้สึก เป็นทุกข์แก่ความรู้สึก หรือไม่ทุกข์ไม่สุขแก่ความรู้สึก ก็เรียกว่าเวทนาขันธ์ได้เกิดขึ้นแล้ว ในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท เมื่อมีผัสสะเกิดขึ้นแล้วจะให้ปรุงเป็นเวทนา มันเวทนาขันธ์เกิดขึ้น แล้วก็มีสัญญาทับลงไปอีกในความหมายของเวทนานั้นว่าเวทนาอย่างไร วิเศษอย่างไร แล้วก็มีสัญญาทับลงไปอีก แล้วก็มีความคิด คือสังขารขันธ์เกิดสืบต่อไปจากเวทนาว่า มีเวทนาอย่างนี้ เราต้องการอะไร เราคิดจะทำอะไร จะแสวงหามาอย่างไร จะสะสมรวบรวมจะกักตุนกันอย่างไรมันก็เป็นเรื่องของสังขารขันธ์ มันก็ครบแล้วเห็นไหม ทั้งรูป ทั้งเวทนา ทั้งสัญญา ทั้งสังขาร ทั้งวิญญาณ วิญญาณนี่ทำหน้าที่ได้หลายหน เมื่อตากับรูปถึงกันเข้าก็เรียกว่าวิญญาณ สักว่าวิญญาณต่อเมื่อ ทั้งๆเวทนาเกิดขึ้นในใจ สัมผัสเวทนานั้นอีกทีหนึ่ง เป็นมโนวิญญาณก็เป็นวิญญาณ รู้สึกต่อเวทนาก็เป็นวิญญาณ รู้สึกทางอายตนะก็เป็นวิญญาณ วิญญาณทำหน้าที่หลายๆ หลายๆขั้นตอน รู้จักวิญญาณไว้ว่ามัน มันทำงานหลายขั้นตอนอย่างนี้ เขาจึงเอาไปไว้รั้งท้ายเลย ที่จริงมันก็มีตั้งแต่ระยะแรก ตากระทบรูปเกิดวิญญาณ นี้ไม่เป็นอย่างนั้น มันยังมีวิญญาณ วิญญาณ วิญญาณในเวทนา วิญญาณในความรู้สึกคิดนึก เกิดได้หลายทีหลายหน แต่ขอ แต่ว่ามันเป็นความรู้แจ้งก็แล้วกัน ทางตา หู จมูก ลิ้น กายก็ได้ ทางใจล้วนๆก็ได้ รู้จักวิญญาณให้ดีๆว่ามันเป็นอย่างนี้ รูปคืออย่างนี้ เวทนาคืออย่างนี้ สัญญาคืออย่างนี้ สังขารคืออย่างนี้ วิญญาณคืออย่างนี้ ทบทวนไปมาให้แจ่มแจ้งที่สุดเลย ให้ประจักษ์ชัดเจนเหมือนกับว่าเป็นวัตถุสิ่งของที่เราเอามาดู มาตรวจดู มาสอบดู นั่นแหละจะเรียกว่าเข้าใจในวิญญาณ และในขันธ์ทั้งห้า และมันก็เกิดอยู่หลายๆรอบในวันหนึ่งวันหนึ่ง เดี๋ยวทางตา เดี๋ยวทางหู มันก็ล้วนแต่เกิดขันธ์ห้าได้ทั้งนั้นแหละ ศึกษาให้ชัด ให้เห็นชัดว่ามันเกิดอะไร มันเกิดรูปขันธ์ เป็นรูปขันธ์ที่ไม่มีความยึดถือ หรือมีความยึดถือคือเป็นรูปขันธ์ล้วนๆ หรือเป็นรูปูปาทานขันธ์นั่นเอง ฉะนั้นขอให้ศึกษาเหมือนกับศึกษาวิทยาศาสตร์ รู้จักรูปขันธ์เป็นอย่างดี แล้วก็รู้จักเวทนาขันธ์ มันเกิดความรู้สึกขึ้นมาแล้วอย่างไร แล้วไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นก็แล้วกันไป แต่ยึดมั่นถือมั่นมันก็เป็นเรื่องมาก ยึดมั่นถือมั่นก็มีความหมายแห่งตัวกูบ้างแห่งของกูบ้าง ถูกยึดมั่น สัญญามั่นหมายอย่างนั้นอย่างนี้ มั่นหมายในเงินในทอง ในข้าวในของ ในทรัพย์สมบัติ ในบุตรภรรยาสามี ในอะไรก็ตาม พอสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว ก็ให้รู้ว่า โอ้ มันสัญญา แล้วยึดมั่นหรือเปล่า ถ้ายึดมั่นก็เป็นอุปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ ความคิดเกิดขึ้นก็เป็นสังขาร ยึดมั่นเป็นกูคิดหรือเปล่า กูคิดก็พยายามเป็นของกู ตัวกูหรือเปล่า ถ้ามันมีความคิดเฉยๆ มันก็เป็นสังขารขันธ์เฉยๆ ถ้าหมายมั่นเป็นกูคิด คิดเพื่อกู นี้ก็เป็นสังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณก็อย่างที่กล่าวแล้วเมื่อเห็นทางตา ถ้ามันรู้สึกว่ากูเห็นกูเห็น มันก็เป็นวิญญาณูปาทานขันธ์ ถ้าไม่ใช่กูเห็นก็ไม่เป็น ในเรื่องเห็นก็ดี ในเรื่องฟังก็ดี ในเรื่องกลิ่นก็ดี ในเรื่องรสลิ้นก็ดี ในเรื่องโผฎฐัพพะทางกายก็ดี ถ้ามันมีความสำคัญมั่นหมายเป็นกูเห็น กูฟัง กูได้กลิ่น กูได้รส กูได้สัมผัส อย่างนี้มันก็เป็นอุปาทานขันธ์ คือวิญญาณูปาทานขันธ์ แยกเป็นคู่ๆนี่ รูปขันธ์แล้วก็รูปูปาทานขันธ์ เวทนาขันธ์แล้วก็เวทนูปาทานขันธ์ แล้วก็สัญญาขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์ ยอมเสียเวลา อย่าขี้เกียจอย่าเบื่อหน่าย สังเกตให้เข้าใจคำว่าขันธ์กับคำว่าอุปาทานขันธ์ ถ้าเป็นขันธ์มันก็เลิกกันไป แต่ถ้าเป็นอุปาทานขันธ์ แล้วมันกัดเอา มันก็กัดเอา มันก็เป็นทุกข์นั่นแหละ
ขันธ์ห้าในชีวิตประจำวันมีอยู่ทั่วไปได้ทุกหนทุกแห่ง อาจจะเกิดขึ้นในพริบตาเดียวเท่านั้นเอง คือบางทีก็ต้องมีความพยายามมาก มันแล้วแต่กรณี มันเป็นอารมณ์เล็กก็ได้ เป็นอารมณ์เล็กมากก็ได้ เป็นอารมณ์ขนาดกลางก็ได้ เป็นอารมณ์ใหญ่ก็ได้ เป็นอารมณ์ใหญ่มากก็ได้ มันเป็นขนาดๆ ต่างๆกัน ก็ให้รู้สึกไว้ว่านี่เล็ก นี่เล็กมาก นี้ใหญ่ นี้ใหญ่มาก นี้ขนาดกลางอย่างนี้ เรียกว่ารู้จักขันธ์ แล้วก็มีสติว่ามันเป็นอุปาทานขันธ์หรือไม่ โดยมากไม่ค่อยจะรู้หรอก มันไปรู้ตอนเมื่อมันเป็นทุกข์เสียแล้ว เป็นเสียแล้ว เป็นทุกข์เสียแล้วจึงค่อยรู้ โอ้ นี่อุปาทานขันธ์ แล้วก็เป็นขันธ์สติมาไม่ทันมันก็กลาย มันก็เดินหน้าไปเป็นอุปาทานขันธ์
นี่คือชีวิตประจำวันของเรามีอยู่ห้าขันธ์ เป็นกายและใจที่ร่วมกันปรุงแต่งกันทำให้เกิดเป็นอาการห้าอย่างหรือห้าขันธ์ อย่างที่เรียกว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่าเพียงแต่ท่องชื่อกันเฉยๆ รู้จักตัวมัน ให้รู้จักตัวจริงของมัน รู้จักตัวจริงของมันแล้ว ก็รู้จักว่าได้ยึดถือหรือไม่ยึดถือ คือ ถูกยึดถือหรือไม่ถูกยึดถือ ถ้าเจ็บปวดเป็นทุกข์แล้วก็ไม่ต้องสงสัยหรอก ว่าเป็นการยึดถือแล้วโดยแน่นอน รีบค้นหาต้นเหตุค้นหาเหตุปัจจัยของมัน จะได้หยุดความยึดถือเสีย แล้วก็จะได้เลิกกันในกรณีนั้นๆจะไม่ต้องเป็นทุกข์ คนธรรมดาเป็นขันธ์ก็ได้ คนธรรมดาเป็นขันธ์เฉยๆก็ได้ เป็นอุปาทานขันธ์ก็ได้ แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้ว จะมีแต่ขันธ์เฉยๆ จะไม่มีอุปาทานขันธ์ พระอรหันต์จะเห็นรูปฟังเสียงดมกลิ่นลิ้มรสอะไรก็ตาม มันก็เกิดขันธ์เฉยๆ เป็นรูป เป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เฉยๆ เป็นขันธ์เฉยๆ เขาเรียกว่าขันธ์ล้วนๆ คือสุทธิขันธ์ สุทธิในที่นี้แปลว่าล้วนๆ ไม่มีอะไรปน พระอรหันต์จะเห็นรูปฟังเสียงดมกลิ่น จะมีแต่สุทธิขันธ์ สุทธิขันธ์ สุทธิขันธ์ ขันธ์ล้วนๆ ไม่มีอุปาทานเกิดขึ้นในขันธ์เหล่านั้น แล้วถ้าคนธรรมดามันมีไปถึงอุปาทานขันธ์แล้วก็เป็นได้ง่ายเสียด้วย เพราะว่ามันมีความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้นมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก มันก็เกิดอุปาทานขันธ์แล้วมันก็เป็นทุกข์ เมื่อเป็นทุกข์ขึ้นมาทีไร รีบฉวยโอกาสศึกษา เป็นโอกาสแห่งการศึกษาแล้วจะเรียกว่าโชคดีก็ได้ ถ้ามันเป็นทุกข์ขึ้นมาทัน มาเมื่อไร รีบฉวยโอกาสศึกษา นี่เป็นอย่างไร นี่เป็นอย่างไร เป็นอะไร เป็นขันธ์อะไร เป็นอุปาทานอย่างไร แล้วก็จะมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องขันธ์และอุปาทานขันธ์เพิ่มขึ้นๆ คล่องแคล่วเคยชินจนสามารถที่จะควบคุมได้ คือมีสติทันแก่เวลา สติจะเร็วขึ้น เร็วขึ้น เพราะว่าศึกษาเรื่องขันธ์ และเพิ่มสติด้วยการฝึกฝนสติ พอเห็นอะไรขึ้นมา สติมันก็มา อย่างเห็นดอกกุหลาบอย่างนี้ ถ้ามันมีสติมันก็ โอ้ ก็ดอกกุหลาบ ก็ดอกกุหลาบแล้วก็มันจะต้องมีกลิ่นของกุหลาบ แล้วมันก็ต้องเป็นเช่นนั้นเอง ไม่ต้องสวย ไม่ต้องหอม ไม่ต้องติดอกติดใจ แต่แม้ว่ามันจะหอม จะไปดมหอมแล้วก็หอมก็คือเช่นนั้นเอง ไม่ต้องไปหลงรักหรือพอใจอะไรในความหอม ถ้ามันเหม็นก็เหมือนกัน ไม่ต้องเกลียดชังจนเกิดเป็นทุกข์ในความเหม็น สติมันเร็ว พอ และมันก็ป้องกันความยึดมั่นถือมั่น หรืออุปาทานได้ เห็นคนเดินมา เห็นว่ามันเป็นโครงร่างอันหนึ่งเดินมา โดยสติ ไม่ปล่อยเป็นว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย สวยหรือไม่สวย อะไรหรืออะไรอย่างนี้เป็นต้น มันมีสติเป็นเครื่องปิด เป็นเครื่องปิดกั้นการปรุงแต่งแห่งอุปาทาน ปิดกั้นกระแสแห่งกิเลสตัณหา ในเมื่อมีการสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งมันจะปรุงขึ้นมาเป็นรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์
เรื่องมันก็ค่อนข้างจะยืดยาว แต่ว่ามันคุ้มค่าเหลือเกิน คุ้มค่าเหลือเกินในการที่จะศึกษา เพราะว่าเรื่องทั้งหมดมันอยู่ที่นี่ มันอยู่ที่นี่ มันอยู่ที่การยึดมั่นหรือไม่ยึดมั่นในเบญจขันธ์ ความทุกข์ทั้งหลายไม่ได้มาจากอันอื่น มาจากความยึดมั่นในเบญจขันธ์ ความไม่เป็นทุกข์ก็คือความไม่ยึดมั่นในเบญจขันธ์ ถ้าเราโง่เมื่อผัสสะมันก็เกิดความยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์เป็นธรรมดา นี่ขอให้มีสติสัมปชัญญะที่จะไม่ยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ ในขันธ์ใดขันธ์หนึ่งที่มันจะเกิดขึ้น ไม่มีเรื่องอะไรที่จะสำคัญมากกว่าเรื่องนี้ ไม่มีเรื่องอะไรที่จะมีค่าสูงสุดยิ่งไปกว่าเรื่องนี้ คือรู้จักขันธ์ ขันธ์ ขันธ์ ขันธ์ให้ดีๆ แล้วรู้จักอุปาทานขันธ์ ขันธ์ที่มีความยึดถือให้ดีๆ รู้จักทั้งสองชนิดแล้วมันก็จะควบคุมได้ จะไม่เกิดการยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ให้เป็นทุกข์ นี่คือสิ่งที่จะต้องปรับปรุง หรือที่อาตมาจะใช้คำว่าปฏิรูป คือทำให้มันเต็มขึ้นมา เต็มขึ้นมา ถึงเต็มขนาดแห่งความรู้แจ้งแทงตลอด เห็นจริงตามที่เป็นจริงอย่างไร ที่แล้วมามันอยู่แค่นั้นแหละ มันก็จำได้แต่เสียง จำได้แต่ชื่อเรียกแล้วก็ว่ากันไป แล้วก็ไม่รู้ว่าอะไร มันก็เป็นเรื่องนกแก้วนกขุนทองท่องเรื่องเบญจขันธ์เท่านั้นเอง ขอให้ปฏิรูปเรื่องเบญจขันธ์ ให้มีความรู้ความเข้าใจเบญจขันธ์ และเบญจ เบญจุปาทานขันธ์ ขันธ์กับอุปาทานขันธ์ ศึกษาเรื่องนี้เรื่องเดียวอาตมาว่าพอ พอ ไม่ต้องกลัว พอ พอสำหรับรู้พุทธศาสนาทั้งหมด เรื่องอื่นเป็นเรื่องประกอบของเรื่องนี้ ของเรื่องความยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ และมีความรู้แล้วมันก็ต้องสามารถที่จะควบคุม คือต้องมีสติสัมปชัญญะ มีปัญญา มีสมาธิในการที่จะควบคุมไม่ให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ เข้าใจว่าคงจะง่วงนอนกันหลายคนแล้ว มาพูดเรื่องนี้ในลักษณะอย่างนี้ แล้วจะทำอย่างไร มันไม่เห็นแจ่มแจ้งลงไปได้ว่าขันธ์คืออะไร อุปาทานขันธ์คืออะไร จึงขอร้องให้พยายาม พยายามทำให้ดีขึ้น ทำให้ดีขึ้น คือปฏิรูปนั่นเอง ทำให้ดีขึ้น ให้ดีขึ้นจนถึงขนาดที่มันจะสำเร็จประโยชน์
ขอให้สนใจเรื่องพิเศษที่สุด หัวใจที่สุด คือเรื่องการไม่ยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ อย่างที่กล่าวมาแล้วเมื่อตอนเช้าว่า พุทธศาสนาเถรวาทก็ดี มหายานก็ดี หรือเข้มข้นเป็นเซ็นเป็นอะไรไปก็ดี มันล้วนแต่เรื่องนี้ทั้งนั้น เรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ มันก็ไม่เกิดตัวตนของตน แล้วก็ไม่มีความทุกข์ เพราะมันไม่มีตัวตน มันไม่มีความรู้สึกจะรับเอาสิ่งใดมาเป็นของหนัก บีบคั้นจิตใจ มันว่างไปเสียหมด มันว่างจากตัวตน ขันธ์ห้าว่างจากตัวตนก็ไม่มีที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น มันก็ไม่เป็นทุกข์ พูดกันสักยี่สิบครั้งก็จะดีเรื่องนี้ คงจะเข้าใจยิ่งๆขึ้นไป รู้เรื่องเบญจขันธ์แล้วก็จะพร้อมกันไปในตัว คือรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท ถ้าใครเข้าใจเรื่องนี้ ก็จะเห็นชัดด้วยตนเอง จะสังเกตเห็นได้ด้วยตนเอง พอตาเห็นรูปก็เกิดจักษุวิญญาณนี่ เกิดวิญญาณขันธ์แล้ว สามประการนี้เรียกว่าผัสสะ ในขณะผัสสะนั้นจะเกิดสัญญาขันธ์สำคัญมั่นหมายอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วมันก็จะเกิดเวทนาขันธ์ ถ้าใจเกิดเวทนา เวทนา ถ้าขันธ์มันเกิดขึ้นแล้วมันก็มีความคิดเกิดสังขารขันธ์ คือเป็นตัณหา เวทนาให้เกิดตัณหา มันก็คือว่าเวทนาขันธ์ให้เกิดความคิดเกิดสังขารนั่นเองมันก็ครบอยู่ทั้งห้าขันธ์ในเรื่องของการปรุงแต่งเป็นปฏิจจสมุปบาท เป็นสายไปก็ได้ หรือเป็นขันธ์ทั้งห้าก็ได้
ขอย้ำว่าขันธ์กับปัญจุปาทานขันธ์มีอยู่ทุกวัน วันละหลายๆรอบ หลายๆหมวด หลายๆชนิด ศึกษาให้ดี ศึกษาให้ดี ปฏิรูป การศึกษา การคิดนึก สังเกตอะไรให้ดี อย่าให้เข้าใจผิด อย่าให้มันหลอกได้ แล้วเราก็จะพ้นจากความทุกข์ เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ เอาละ จำเป็นต้องขอยุติการบรรยายในครั้งนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้ อย่างที่เห็นๆกันอยู่ ทุกคนช่วยตัวเอง ขอยุติการบรรยาย