แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในครั้งที่แล้วมา เราพูดกันถึงความเห็นแก่ตัว ในฐานะเป็นชีวิตเก่า ธรรมดา ก็คือชีวิตที่มีความเห็นแก่ตัว นั่นก็เป็นทุกข์ ถ้าเป็นชีวิตใหม่ และก็เป็นชีวิตที่ไม่มีความเห็นแก่ตัว ก็ไม่เป็นทุกข์ นี่เป็นใจความที่สำคัญที่สุดของพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นวันนี้เราก็จะได้พูดถึงเรื่องเหตุแห่งความเห็นแก่ตัว และที่ตั้งของความเห็นแก่ตัว คือขันธ์ ๕ เราจะระลึกอยู่เสมอว่าความเห็นแก่ตัวเป็นมูลเหตุของกิเลสทั้งปวง เป็นความเลวร้าย เป็น Pattern ของมนุษย์ กระทั่งว่าทุกคนกำลังมีความทุกข์เพราะความเห็นแก่ตัว ทั้งโดยส่วนบุคคลและโดยส่วนสังคมหรือโลก ดังนั้นเราจะพยายามทำลายความเห็นแก่ตัว โดยทำลายต้นเหตุของมัน
เมื่อพูดถึงมูลเหตุโดยตรงของความเห็นแก่ตัว เราจะต้องมอง เพ่งมองไปที่สิ่งที่เรียกว่า “อวิชชา” ซึ่งได้ค่อยๆ เพิ่มขึ้นๆๆ ตลอดเวลานับตั้งแต่เราเกิดมา ขอให้สังเกตสิ่งที่เรียกว่า อวิชชา ความไม่รู้สิ่งต่างๆอย่างถูกต้อง เราเกิดมาจากท้องมารดา ไม่มีความรู้ติดมา และก็พอมาพบสิ่งต่างๆ มันก็ถูกหลอกให้รักให้โกรธให้เกลียดให้กลัวให้ต่างๆ ล้วนแต่เป็นอวิชชาเพิ่มขึ้นๆ เพราะฉะนั้นขอให้ท่านทั้งหลายรู้จักสิ่งนี้เป็นข้อแรก เป็นมูลเหตุของความเลวร้ายของสิ่งทั้งปวง โดยสรุปแล้วก็พูดว่าความเห็นแก่ตัวมันก็เกิดจากอวิชชา ซึ่งจะได้ดูกันต่อไป
เราลองคิด หรือคำนวณ หรือมอง อย่างไรก็แล้วแต่ ว่าพอเราเกิดมาจากท้องมารดาเราไม่มีความรู้อะไรเลย นั่นก็เรียกว่ามีอวิชชาก็ได้ เพราะไม่มีความรู้อะไรเลย ทีนี้พอเราเกิดมาแล้วเราก็สัมผัสสิ่งต่างๆ ทุกอย่างที่มีอยู่โดยที่เราไม่รู้จัก เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มาตั้งแต่เล็กๆ แล้วก็สัมผัสสิ่งต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มาตั้งแต่เล็ก ถ้าเรามีอวิชชา เราไม่รู้ตามที่เป็นจริง เราก็รู้ผิดไปตามที่สิ่งเหล่านั้นมันทำให้เราเกิดความรู้สึกที่เป็นความรู้ผิด เช่นเราพบกับสิ่งที่น่ารักน่าพอใจเราก็รัก กับสิ่งที่ไม่น่ารักไม่น่าพอใจเราก็โกรธเราก็เกลียดกระทั่งเรากลัว เราเป็นทุกข์ต่างๆ นี่เพราะว่าเราไม่มีความรู้ อย่างนึง หรือว่าเรารู้ผิดๆ ที่ไม่รู้ว่าสิ่งนี้เป็นอะไรและควรจะรู้สึกอย่างไร เราก็รู้สึกผิดๆ นี่เรียกว่าอวิชชามีมานิดหน่อย คือไม่รู้ แต่พอเกิดมาแล้วก็รู้ผิดรู้ผิดเท่ากับไม่รู้ก็มากขึ้นๆ เจ้าตัวนี้ อวิชชานี่ คือทำให้เราโง่ จนคิดว่ามีตัวและคิดมีความเห็นแก่ตัว อวิชชาเป็นมูลเหตุโดยตรงของความเห็นแก่ตัวอย่างนี้
เพื่อจะให้รู้จักสิ่งเหล่านี้ดีขึ้นเราจะต้องรู้จักสิ่งที่สำคัญที่เนื่องกันสิ่งหนึ่งคือสิ่งที่เรียกว่า “ผัสสะ” เป็นภาษาบาลี แต่ภาษาไทยก็เรียกตามภาษาบาลีว่าผัสสะ เพราะฉะนั้นจงรู้ว่าผัสสะเป็นจุดตั้งต้นของอวิชชาในชีวิตธรรมดาประจำวัน ขอร้องให้สนใจคำว่าผัสสะๆ เราจะมีผัสสะกันอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจเองบ้าง คือผัสสะ เมื่อตาถึงกันเข้ากับรูป รูป หรือ Form มันก็เกิดความรู้จักเห็นแจ้งทางตา Consciousness ทางตาเกิดขึ้น เมื่อสามอย่างนี้มาถึงกันอยู่ คือ ตา ข้างใน แล้วก็ Form ข้างนอก แล้วก็ Eye Consciousness เกิดขึ้นมาใหม่ สามอันนี้ทำงานร่วมกันอยู่ก็เรียกว่า ผัสสะ เพราะฉะนั้นจงสังเกตให้เข้าใจว่ามันเป็นสิ่งที่มีอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวทางตา เดี๋ยวทางหู เดี๋ยวทางจมูก เดี๋ยวทางลิ้น เดี๋ยวทางกาย เดี๋ยวทางใจ มันมีลักษณะอย่างเดียวกัน เรียกว่า ผัสสะ สิ่งทั้งสามทำงานร่วมกันอยู่ ขอให้รู้จักผัสสะนี้ก่อน
ขอให้เข้าใจว่าท่านต้องศึกษาธรรมะจากสิ่งเหล่านี้ คือจากของจริง จากของจริงคือสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่เพียงแต่เรียนจากหนังสือ อ่านจากหนังสือ หรือฟังจากที่พูด อย่างนี้ก็พูดให้ฟัง แล้วท่านต้องไปเรียนอีกทีหนึ่ง คือเรียนจากของจริง คือต้องเรียนผัสสะ ทางตาอย่างไร ทางหูอย่างไร ทางจมูกอย่างไร ทางลิ้นอย่างไร ทางกายอย่างไร ทางใจอย่างไร ขอให้เรียนอย่างเรียนวิทยาศาสตร์ของนักวิทยาศาสตร์ หากแต่มันเป็นเรื่องภายใน เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจ เกี่ยวกับร่างกาย เป็นภายใน และท่านต้องเรียนเหมือนอย่างเรียนวิทยาศาสตร์ ไม่สำเร็จเพราะฟัง ไม่สำเร็จเพราะอ่าน แต่สำเร็จเพราะเห็นแจ้งและรู้จักสิ่งเหล่านี้ตามที่เป็นจริงก่อน จึงขอให้ท่านรู้จักสิ่งที่เรียกว่าผัสสะๆนี้ ครบทั้งหกทาง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วท่านจะรู้ธรรมะจริง แท้จริง โดยแท้จริง จากสิ่งที่เป็นของจริงหรือเป็นธรรมะจริง จึงขอร้องเป็นพิเศษว่าสนใจเรียนจากความรู้สึกในภายในอยู่เสมอจนรู้จักสิ่งเหล่านี้ ให้รู้จักผัสสะหกทางนี้ก่อนสิ่งใด
ทีนี้ก็ดูเป็นขั้นแรก เด็กทารกเกิดมาจากท้องแม่ก็ไม่มีความรู้ คือมีความไม่รู้หรือรู้ผิดหรือไม่รู้ พอเด็กออกมาเขาก็เห็นอะไรทางตา หรือฟังเสียงทางหู หรือจมูก หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง เขาไม่รู้ เขาไม่รู้ว่าสิ่งนี้คืออะไร เขาก็ต้องมีความรู้สึกต่อสิ่งที่สัมผัสด้วยความไม่รู้ ด้วยอวิชชา ด้วยความไม่รู้ อวิชชาก็ตั้งต้น ตั้งตนลงไปแล้วเจริญงอกงามด้วยการสัมผัสทีแรก เด็กนี้จึงรู้ผิด เข้าใจผิด หรือทำผิด ซึ่งพูดได้ว่าถ้าไปรับก็คือโง่ หรือทำผิดแบบหนึ่ง ถ้าไปเกลียดไปโกรธก็โง่แบบหนึ่ง มันก็เลยเป็นอวิชชาที่เจริญงอกงามออกมาด้วยเรื่องทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งเราก็จะเรียกกันได้ง่ายๆ ว่ามันเป็นผัสสะแห่งความโง่เขลา หรือผัสสะโง่ นี้จะเป็นเหตุให้เกิดความเห็นแก่ตัวเพราะมันจะเลยไปถึงความเห็นว่ามีตัว แล้วก็เห็นแก่ตัว เราจะต้องศึกษามาตั้งแต่ผัสสะ จุดตั้งต้นทีแรกที่ว่าเราเองก็มีตั้งแต่แรกคลอดออกมา มาด้วยความไม่รู้ พอสัมผัสสิ่งใดก็สัมผัสด้วยความไม่รู้ มันก็เลยตั้งต้นความไม่รู้ ตั้งต้นมีอวิชชา มีความไม่รู้ ชั้นนี้เรียกว่าอวิชชาในผัสสะ หรือผัสสะที่มีอวิชชา ชั้นหนึ่งก่อน
ดูมาตามลำดับหลังจากที่มี อวิชชาสัมผัส สัมผัสด้วยอวิชชาแล้ว เราก็จะมีอวิชชาในเวทนา เพราะว่าสัมผัสๆ ทั้งหลาย เมื่อเสร็จแล้วมันก็มีเวทนา มีเวทนาที่เรียกว่า Feeling เมื่อสัมผัสมันเป็นโง่เป็นอวิชชา เวทนาก็พลอยเป็นอวิชชา เป็น Ignorance of Feeling ด้วย นี่คืออวิชชาอันดับที่สอง คือมาอวิชชากันที่เวทนา ครั้นเวทนามันโง่แล้ว เวทนานี้ธรรมดาก็ให้เกิดความอยากหรือตัณหา ความอยาก เมื่อเวทนามันโง่แล้วไอ้ความอยากนั้นมันก็ต้องโง่ เมื่อความอยากมันโง่ ความอยากมันเป็นอวิชชา แล้วมันก็โง่จนถึงเข้าใจว่ามีตัวตน มีตัวตนผู้อยาก อยากเป็นของตน นี่อวิชชาเต็มที่ที่จะให้เกิดความเห็นแก่ตัว มี Feeling โง่ แล้วก็มี Desired โง่ แล้วก็มี Attachment จากความอยาก หรือตัณหา หรือ Desirer นั่นแหละ Attachment นี้เป็นความรู้สึกคิดนึกเท่านั้นไม่ได้มีตัวตนจริงที่ไหน แต่มันรู้สึกอย่างรุนแรงว่ามีตัวฉันผู้อยากผู้ต้องการ นี่คืออวิชชา ทำหน้าที่เมื่อผัสสะ ทำหน้าที่เมื่อเวทนา ทำหน้าที่เมื่ออยาก และทำหน้าที่เป็นตัวตนที่จะเห็นแก่ตน ท่านจงศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียดเถิด ไม่อย่างนั้นไม่มีทางจะเข้าใจธรรมะในพุทธศาสนาในชั้นที่เป็นหัวใจ จงศึกษาให้รู้จักโง่เมื่อผัสสะ โง่เมื่อเวทนา โง่เมื่อตัณหา แล้วก็ผลออกมาเป็นอุปาทานว่าตัวตน แล้วก็เห็นแก่ตน นี่คือมูลเหตุของความเห็นแก่ตน
เมื่อมีเวทนาเราก็โง่ เห็นเป็นเวทนาที่เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง โดยที่ไม่เห็นว่าเป็นของธรรมดา มันเช่นนั้นเอง เมื่อมีเหตุปัจจัยอย่างนี้ก็มีความรู้สึกที่เราเรียกว่าสุข เหตุปัจจัยอย่างอย่างนี้ก็มีความรู้สึกที่เราเรียกว่าทุกข์ มีเหตุปัจจัยเกิดเวทนาอย่างนี้ก็ไม่สุขไม่ทุกข์ เราไม่เห็นว่ามันเป็นตามธรรมชาติเท่านั้น ไอ้สุขหรือทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์นี้ เรารู้สึกเอาด้วยอวิชชา แต่ตามธรรมดาคนธรรมดาก็ต้องรู้สึกอย่างนี้ แล้วไม่มีใครเรียกมันว่าอวิชชา แต่มันเป็นอวิชชา ที่ไป Classify เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นไม่ทุกข์ไม่สุข นี่คืออวิชชา ไม่เห็นว่ามันเช่นนี้เอง มันเกิดความรู้สึกเช่นนี้เอง เกิดความรู้สึกเช่นนี้เอง เป็นเวทนาเหมือนกันหมด เราไม่รู้สึกอย่างนี้ เราไปแยกให้น่ารักบ้าง น่าโกรธน่าเกลียดบ้าง น่าโง่น่าหลงใหล สงสัยวิตกกังวลบ้าง ความโง่ในขณะแห่งเวทนา แล้วเราก็โง่ในขณะแห่งตัณหาคือความอยาก สุขใจเราก็อยากได้ ไม่สุขใจเราก็อยากทำลาย ไม่แน่เราก็วนเวียนอยู่ที่นั่น นี่ก็เป็นความโง่ อวิชชาในขั้นที่เป็นตัณหา มีความอยากด้วยความโง่อย่างรุนแรง จนโง่ในชั้นสุดท้ายว่ามีตัวฉันผู้อยาก แล้วก็อยากเอามาเป็นของฉัน นี่คือความโง่ในขั้นที่เป็นตัวตนแล้วก็เห็นแก่ตน นี่มันเป็นเรื่องละเอียดมาก ถ้าท่านไม่สนใจก็ไม่มีทางจะเข้าใจพุทธศาสนาให้ถึงหัวใจ ถ้าท่านสนใจและเข้าใจอย่างนี้ได้จะมีประโยชน์มากที่จะเข้าถึงพุทธศาสนาในชั้นที่เป็นหัวใจ
คือสรุปความว่าสัมผัสโง่ทำให้เกิดเวทนาโง่ เวทนาโง่ทำให้เกิดตัณหาหรือความอยากโง่ ความอยากโง่ก็ทำให้เกิดเป็นตัวผู้อยาก ความโง่ว่ามีตัวผู้อยาก ผู้อยากคือตัวฉัน ตัวกู ตัวตน ก็อยากให้มาเป็นของตน นี่คือเหตุ ปัจจัย ที่ให้เกิดความเห็นแก่ตัวที่เป็นภายใน ช่วยฟังให้ดี นี้ที่เป็นภายใน ทีนี้มันก็จะมีเหตุปัจจัยที่สองที่เป็นภายนอก ก็คือนอกตัวเรา มันก็คือสิ่งที่ยั่วยวนให้เกิดความรู้สึกที่เห็นแก่ตัว บรรดาสิ่งที่ยั่วยวนๆ ก็มีอยู่ทั่วไปหมด เกิดความเห็นแก่ตัว แล้วก็มันมีปัญหาภายนอกออกไปอีกก็คือว่าจำนวนมนุษย์เพิ่มขึ้นๆ มากๆๆ จนไม่ค่อยจะพอกัน มันก็เกิดความเห็นแก่ตัวแรงขึ้นที่จะเอาให้พอ การหาจึงลำบากยุ่งยากมากขึ้น ความเห็นแก่ตัวมันก็มากขึ้นๆ นี่เราเรียกเหตุปัจจัยที่เป็นภายนอก ภายในคือความโง่ทุกชนิดทางจิตใจ ภายนอกคือสิ่งที่มาแวดล้อมให้เราโง่ๆๆ เมื่อรวมกันทั้งภายในและภายนอก ความเห็นแก่ตัวก็สมบูรณ์ เป็นอย่างนี้
ทั้งหมดนี้คือมูลเหตุ เหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดความเห็นแก่ตัว ทีนี้เราก็จะดูต่อไปขั้นหนึ่งถึงที่ตั้ง Base หรือ Foundation อะไรก็ตามแล้วแต่จะเรียก ว่ามันเป็นที่ตั้งแห่งความเห็นแก่ตัว ต้องรู้ไว้ว่าทุกอย่างทุกเรื่องมันมีที่ตั้ง ทีนี้ที่ตั้งของความเห็นแก่ตัวนั่นก็คือสิ่งที่เราคิดว่าเป็นตัว และสิ่งที่เราคิดว่าเป็นตัวนั่นแหละมันเป็นที่ตั้งของความเห็นแก่ตัว ไอ้สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งตัว เป็นที่ตั้งให้เกิดความรู้สึกว่าตัวๆๆนี้ ในภาษาธรรมะเรียกว่า ขันธ์ Skandhas ในสันสกฤต หรือ Aggregates หรืออะไรก็คอยฟังดูก็แล้วกันว่ามันจะหมายถึงอะไรสำหรับสิ่งที่เรียกว่า ขันธ์ ทีนี้เราจะต้องรู้จักขันธ์กันแล้วว่ามีอยู่ ๕ ขันธ์ ถ้ารู้จักขันธ์ดีแล้วก็จะรู้เรื่องความรู้สึกว่ามีตัว และความรู้สึกเห็นแก่ตัวได้ดีมาก ขอให้ตั้งใจฟังและสนใจเรื่องขันธ์ทั้ง ๕ กันต่อไป
ถ้าจะพูดให้ฟังง่ายๆ ก็จะพูดว่าส่วนต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าชีวิตนั่นเอง การศึกษาอย่างอื่นก็มองไปในแง่อื่น การศึกษาธรรมะในพุทธศาสนาก็มองไปในแง่ที่ว่ามีส่วนอยู่ ๕ ส่วน ที่จะประกอบกันขึ้นเป็นสิ่งที่เรียกว่าชีวิต ๕ ส่วนนี้เป็นฝ่ายรูป เป็นฝ่ายกาย ส่วนหนึ่ง แล้วก็เป็นส่วนที่เป็นจิตใจ ฝ่ายจิต ฝ่ายจิตใจ เป็น ๔ ส่วน รวมเป็น ๕ ส่วน ๕ ส่วนนี้เรียกว่า ขันธ์ ขันธ์แต่ละส่วนประกอบกันเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าชีวิต ถ้าเราเห็นชีวิตเป็นของแบ่งออกได้เป็น ๕ ส่วน เราก็จะเห็นความไม่ใช่ตน ไม่มีตน ได้ง่ายขึ้น ทีนี้เราไม่รู้ไม่ชี้ ไม่รู้กี่ส่วน เอาตามความรู้สึกว่ามีตัวฉัน มีตัวกูมีของกู ซึ่งเป็นอุปาทาน เป็นความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตนที่มาจากความโง่ต่างๆ เราเอาตามนั้น เราไม่มาแยกเป็น ๕ ส่วน เราก็เลยมีตัวกู แต่โดยแท้จริงแล้วมันเอาไอ้ส่วนใดส่วนหนึ่งนั่นแหละเป็นตัวกู ขอให้ศึกษาส่วนทั้ง ๕ นี้ให้ดี ว่าตัวกู ตัวตน ตัวกู มันเกิดมาจากอะไร จนพบว่าเกิดมาจากขันธ์ใดขันธ์หนึ่งในขันธ์ทั้ง ๕
ทีนี้มาดูกันที่ขันธ์ที่ ๑ ซึ่งเป็นเรื่องฝ่ายรูป หรือฝ่ายกาย ฝ่าย Physics เรียกว่า รูปขันธ์ คำว่า รูปๆ ก็หมายความว่ามันมิใช่นาม คือมันเป็นฝ่ายร่างกายมิใช่ฝ่ายจิตใจ เรียกว่ารูปเป็นกายรู้สึกอารมณ์อะไรไม่ได้ แต่เป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึกได้ ไอ้นามมันรู้สึกอารมณ์อะไรได้ ไอ้กายนี่ก็เหมือนกับ คือไม่มีจิตไม่มีวิญญาณไม่รู้สึกอะไรได้ ไอ้รูปไม่รู้สึกอะไรได้ แต่ถึงอย่างนั้นไอ้กายนี่มันก็เป็นที่ตั้งแห่งจิต ให้จิตทำงานได้ ไอ้กายนี่มันรวมระบบประสาทอยู่ด้วย ระบบประสาทต่างๆก็อยู่ในฝ่ายนี้ ฝ่ายกาย ฝ่ายรูปขันธ์ ไม่ได้อยู่ฝ่ายนาม มันจึงสามารถเป็นที่ให้เกิดความรู้สึกทางจิตได้ และพิเศษอยู่หน่อยนึงว่าไอ้กายนี้ธรรมดาถ้าไม่ได้ทำหน้าที่ ถ้าไม่ได้ทำหน้าที่ให้จิตมันรู้สึกอะไรได้ ก็เรียกว่าไม่ได้ทำหน้าที่ของกาย ก็เรียกว่ามันไม่ได้มีกาย มันคงจะแปลกสำหรับท่านทั้งหลายว่าเราไม่มีกายเราอยู่อย่างไรได้ ในภาษาธรรมะถ้ามีกายเฉยๆ ยังไม่ได้ทำหน้าที่ยังไม่เรียกว่ารูปขันธ์ แต่เมื่อมันทำหน้าที่อย่างกาย หรืออย่างรูป เรียกว่าเรามีรูปขันธ์ ช่วยจำไว้เป็นหลักว่าในภาษาธรรมะนี่พอมันทำหน้าที่จึงจะเรียกว่ามันเกิดหรือมันมีอยู่ พอมันไม่ทำหน้าที่ ไม่ได้ทำหน้าที่ ก็เรียกว่ามันไม่ได้เกิดหรือมันไม่ได้มีอยู่ เพราะฉะนั้นเราจะมีกาย มีร่างกายนี้ เมื่อกายทำหน้าที่ เมื่อกายไม่ได้ทำหน้าที่ก็ไม่เรียกว่ามีรูปขันธ์ จะอย่างมากก็มีเพียงธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ๔ อย่างอยู่ เหมือนกับของตายอย่างนั้น มีดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ประกอบกันอยู่เป็นร่างกาย จนกว่าเมื่อทำหน้าที่ พอทำหน้าที่เกิดเป็นรูปขันธ์ขึ้นมา เช่น ตาทำหน้าที่ก็เห็นรูป หูทำหน้าที่ก็ฟังเสียง อย่างนี้ก็จะเกิดเป็นรูปขันธ์ขึ้นมา ก็ขอให้เข้าใจว่ากายแม้ไม่มีความรู้สึกเกิดขึ้นเอง ก็เป็นสิ่งสำคัญอันหนึ่งที่เราจะถือว่าเป็นตัวเราก็ได้ แล้วก็เห็นแก่ตัว ก็เห็นแก่กายนี่ก็ได้
แม้ว่ารูปขันธ์ ร่างกายล้วนๆ ไม่มีความรู้สึกอะไร เราก็ยังไปยึดไปสำคัญด้วยความโง่เขลาด้วยอวิชชาว่าเป็นตัวตน ตัวอย่างเช่นว่า พอมีดบาดมือ บาดนิ้วของเรา เราก็รู้สึกว่ามีดบาดเรา เราไม่ได้รู้สึกว่ามีดคือของแข็งผ่าเข้าไปในเนื้อส่วนหนึ่งเล็กๆ เท่านั้นแหละ เราไม่ได้คิดอย่างนั้น แต่เราคิดว่า มีดบาดเรา เหมือนกับว่าเราเจ็บที่เท้าหรือที่มือ เราไม่ได้เห็นไม่ได้รู้สึกว่ามือเจ็บหรือเท้าเจ็บ แต่เราจะคิดหรือรู้สึกว่าเราเจ็บ เมื่อร่างกายมันเจ็บเราจะพูดว่าเราเจ็บ ไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่รูปนี้มันเจ็บ นี่แม้รูปเป็นของที่ไม่มีจิตใจหรือมีอะไร ก็ยังถูกยึดถือว่าเป็นตัวตน ว่าเป็นเรา แม้วัตถุสิ่งของนี่ บางทีเราโกรธขึ้นมา เราคิดว่ามันเป็นตัวตนเราก็ฟาดแตกกระจายเพราะความโกรธ ก็เราโง่ เอารูปล้วนๆ เอาของวัตถุล้วนๆ เป็นตัวตน แล้วไปโกรธมัน แล้วไปทำลายมัน นี่ขอให้เข้าใจว่าแม้แต่รูป รูปล้วนๆ ยังจะถูกยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นที่ตั้งแห่งความพอใจความไม่พอใจหรือความทุกข์ได้ นี่เป็นข้อแรก ให้รู้จักรูปขันธ์ไว้เช่นนี้ก่อน
เรื่องรูปขันธ์หมดไปแล้วก็พูดถึงเรื่องนามขันธ์ รูปขันธ์เป็นของแข็งเป็นของน้อมหรือนึกคิดไม่ได้ แต่ถ้านาม นามขันธ์นี่ ไอ้ส่วนที่น้อมนึกคิดได้คือเรื่องจิต คือเรื่องจิตเรียกว่านาม เรื่องฝ่ายกายฝ่ายวัตถุเรียกว่ารูป ทีนี้ฝ่ายนาม ฝ่ายนามคือฝ่ายจิต ซึ่งตามลำพังอยู่ไม่ได้ต้องอาศัยรูป ต้องมีรูปเป็นที่รองรับสำหรับจะรู้สึกหรือจะทำงาน แม้อย่างนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญ คือว่าจิตนี่มันเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันคิดนึกได้ คิดนึกเองได้ สำคัญอะไรได้ เราก็คิดว่านี่เป็นตัวตน ในชีวิตนี้บางเวลาจิตรู้สึกเป็นเวทนา รู้สึกอยู่กับเวทนา บางเวลารู้สึกอยู่กับสัญญา บางเวลารู้สึกอยู่กับสังขาร บางเวลารู้สึกอยู่กับวิญญาณ ขอให้สังเกตดูให้ดีว่าจิตนี่มันประกอบอยู่ด้วยความรู้สึกหรืออาการ ๔ อย่างนี้แหละ ถ้ามันรู้สึกในทางเวทนา Feeling มันก็รู้สึกเป็นว่า ฉันมีความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุข เมื่อรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ นั่นมันมีตัวฉันชนิดหนึ่งซึ่งเป็นผู้รู้สึกว่าเป็นอย่างนั้น อวิชชาทำให้รู้สึกว่าฉันรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่รู้สึกว่าเวทนานี่เป็นของเกิดเองตามธรรมชาติกระทบตามกฎอิทัปปัจจยตาแล้วก็เกิดขึ้นแก่ความรู้สึกทางจิต มันไม่รู้สึกอย่างนั้น มันรู้สึกว่าฉันมีเวทนา เป็นผู้เวทนา เป็นผู้กระทำเวทนา แล้วเวทนาก็เป็นของฉันด้วย ฉันเวทนามัน แล้วก็ฉันเป็นเจ้าของเวทนานั้นด้วย อย่างนี้เวลานั้นเรามีชีวิตชนิดที่เป็นเวทนา เวทนาขันธ์กำลังปรุงแต่งจิต The Mind เต็มที่ เรามีชีวิตเป็นเวทนา นี้ข้อหนึ่งก่อน ข้อเวทนาก่อน
ทีนี้บางเวลา บางโอกาส บางขณะ เรามีความรู้สึกเป็นสัญญาขันธ์ ซึ่งแปลกันว่า Perception บางเวลามีความรู้สึกเป็น Perception แต่คำว่าสัญญานี่มีความหมายกว้างกว่านั้น ในอาการที่ว่ามี Perceive นี่ มันจะต้องมีความจำได้ จำได้ว่าอะไรเป็นอะไร แล้วมันจะต้องมีอาการ Regard หรือ Classify ว่ามันเป็นอะไร แล้วก็จะเป็นที่ตั้งแห่งความหมายมั่นอย่างใดอย่างหนึ่ง นี่คำว่าสัญญาขันธ์ก็มีความหมายกว้างอย่างนี้ ก็เรียกว่า สัญญาขันธ์ บางเวลาเราก็มีจิตชนิดที่เป็นไปด้วยความรู้สึกอย่างนี้ คือสัญญาขันธ์กำลังทำหน้าที่ เราควรจะรู้จักไว้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตด้วยเหมือนกัน รู้จักคำว่าสัญญาให้ดีๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็สัญญาว่าฉันเป็นมนุษย์ ฉันเป็นตัวฉัน ไอ้นั่นของฉัน อันนี้ดีอันนี้ไม่ดี อันนั้นได้อันนั้นเสีย อันนั้นแพ้อันนั้นชนะ นี่สัญญามีได้ต่างๆ อย่างนี้ ความรู้สึกอย่างนี้ล้วนแต่เรียกว่า สัญญาขันธ์ ซึ่งเป็นขันธ์หนึ่งด้วยเหมือนกัน
ทีนี้เราก็มาถึง ขันธ์ที่ ๓ แห่งกลุ่มนาม หรือเป็นขันธ์ที่ ๔ แห่งกลุ่มแห่งทั้งหมดทั้ง ๕ ถ้านับเป็น ๕ ก็เป็นที่ ๔ ถ้านับแต่ในฝ่ายนามก็เป็นที่ ๓ คือ สังขาร ซึ่งมักจะแปลกันว่า Conception หมายถึงการคิด เป็นการปรุงแต่งจนเป็นความคิดอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา จนเป็นความคิดดีคิดชั่ว คิดไม่ดีไม่ชั่ว แล้วเป็นเหตุให้เกิดการกระทำ การกระทำใดๆ จะมีได้ต้องมีความคิดก่อน ที่เรียกว่า สังขาร เพราะฉะนั้นขอให้รู้จักขันธ์นี้ ขันธ์ที่ว่าเป็นต้นเหตุให้เกิดการกระทำ เช่นจะมาที่นี้มันก็ต้องเกิดความคิดที่จะมา จะทำอะไรมันก็ต้องเกิดความคิดจะทำอะไร อย่างนี้เรียกว่า สังขารขันธ์ มีมากมายไอ้ความคิดนี่ Concept ทั้งหลาย มันมีมากมาย แต่รวมเรียกว่า สังขารขันธ์ Aggregate of Conception ท่านทั้งหลายจงรู้จักมันให้ดีๆ ว่าอันนี้แหละมันเป็นเครื่องบังคับให้ท่านทำอะไร ไปไหนมาไหน ทำดีทำชั่ว ทำผิดทำถูก ทำที่เรียกว่า Deed เป็นการกระทำที่จะมีผลของมันออกมาทีหลังแล้วเป็นเรื่องยุ่งยากยืดยาวต่อไป บางเวลาผิด บางเวลาจิตมันขึ้นอยากจะกลับไปเรื่องสังขาร ปรุงแต่งเป็นความคิดอย่างนั้นอย่างนี้จนกระทั่งว่านอนไม่หลับก็ได้ เป็นบ้าไปก็ได้ รู้จักควบคุมมันด้วย สังขารขันธ์ เป็นขันธ์หนึ่ง ที่ ๔ ในหมวดทั้ง ๕ หรือที่ ๓ ในหมวด ๔ ของนาม
ทีนี้ก็มาถึงขันธ์สุดท้ายคือ วิญญาณขันธ์ นี่หมายถึงจิตก็มีความรู้สึกหรือหน้าที่ทางอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดขึ้น ทำให้เรารู้สึกต่อสิ่งที่มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะเรียกว่าความรู้จักมากกว่าความรู้สึก เดี๋ยวจะไปปนกับเวทนา มันรู้จักว่าอะไรที่มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่เรียกว่า วิญญาณขันธ์ เป็นขันธ์ที่ทำให้เกิด Consciousness กิริยาแห่ง Conscious ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่า วิญญาณขันธ์ ต้องแยกออกเป็นขันธ์อีกขันธ์หนึ่งต่างหากเพราะมันทำหน้าที่ต่างกัน เมื่อเรียกว่าวิญญาณขันธ์มันก็ทำหน้าที่รู้จักสิ่งต่างๆ ที่มากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่จัดเป็นส่วนหนึ่ง แม้ว่ามันจะเป็นส่วนที่ให้เกิดส่วนอื่นๆ ต่อไปอีกก็เถอะ มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จิตใจติดอยู่ที่นั่น หมายมั่นอยู่ที่นั่น แม้ในระยะหนึ่ง ขอให้จำไว้ว่าเป็นขันธ์อันหนึ่ง เป็นขันธ์อันสุดท้าย เป็นที่ ๕ ของหมวดทั้ง ๕ หรือเป็นที่ ๔ ของหมวดนาม
ขอให้ท่านทั้งหลายรู้จักขันธ์ทั้ง ๕ ให้ดีที่สุด ให้ดีอย่างยิ่ง จนรู้ได้ว่าเดี๋ยวนี้เรากำลังอยู่ในลักษณะของขันธ์อะไร คำว่าเรานี่สมมุติเรียก ชีวิตนี้ก็สมมุติเรียกว่าชีวิตนี้กำลังอยู่ในขันธ์อะไร กำลังอยู่ในลักษณะ รูปขันธ์ หรือเวทนาขันธ์ หรือสัญญาขันธ์ หรือสังขารขันธ์ หรือวิญญาณขันธ์ ทุกขันธ์ล้วนแต่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนหรือของตนได้ด้วยกันทุกขันธ์ตามหน้าที่ของขันธ์ ถ้าเราจะพูดอย่างวิธีพูดของ Descartes นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เราก็อาจจะพูดได้ว่า เพราะฉันรู้สึก Feel เพราะฉัน feel ดังนั้นตัวฉันจึงมี คือ ผู้ feel ถ้าฉัน perceive อยู่ ดังนั้นตัวฉันก็ต้องมีสิ ตัวฉันที่ perceive อยู่ก็ต้องมี ทีนี้มีการคิดอยู่ มันก็มีตัวฉันผู้คิด หรือว่าฉันสามารถรู้จักทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ มันก็ต้องมีตัวฉันที่สามารถรู้จักทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ แม้แต่รูปล้วนๆ ในบางกรณีมันก็เป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึกของวิญญาณ ของเวทนา มันทำหน้าที่ได้ ก็เลยเอารูปมาเป็นตัวฉันได้ด้วยเหมือนกัน นี่เราโง่อยู่ในที่ ๕ แห่ง เราโง่อยู่ในจุดทั้ง ๕ จึงเกิดความรู้สึกว่าตัวตน แล้วก็เลยไปเป็นความเห็นแก่ตัว เป็นความทุกข์ ขอย้ำขอร้องให้รู้จักขันธ์ทั้ง ๕ ให้ดีที่สุดในลักษณะอย่างนี้ ในความหมายอย่างนี้เป็นข้อแรก
สำหรับภาษาบาลีมันมีหลักง่ายๆ ไม่ทำให้หลง มันเป็นธรรมชาติ ตามธรรมชาติ โดยธรรมชาติ “รุปฺปนตีติ รูปํ” รุปฺปนตีติ แปลว่ามันงอก มันงอกได้ มันงอกงามได้ ดังนั้นมันจึงชื่อว่า รูป สิ่งที่งอกงามได้ แล้วก็ “เวเทติ” ก็เวทนา คือมันรู้สึก หรือมัน feel ได้ เวเทติ นั้นจึงเรียกว่า เวทนา “สญฺชานาติ” “สญฺชานาตีติ” สัญญา คือมันสำคัญมั่นหมายได้ มันจึงเรียกว่า สัญญา “สงฺขโรตีติ” มันปรุงแต่งได้ จึงเรียกว่า สังขาร “วิชานาตีติ” วิญญาณัง เพราะว่ามันรู้แจ้งทางอายตนะได้ มันจึงเรียกว่า วิญญาณ นี่มันง่ายเหลือเกิน ทั้งหมดนี้เป็นไปตามธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติ ตามกฎของอิทัปปัจยตา ธาตุต่างๆ มันทำหน้าที่อย่างนี้ได้ ปรุงแต่งกันเป็นอย่างนี้ได้ตามธรรมชาติของมันเอง เช่นมันงอกงามได้ มันรู้สึกได้ มันสำคัญมั่นหมายได้ มันคิดได้ หรือมันรู้แจ้งทางอายตนะได้ โดยไม่ต้องมีตัว Self Identity of Self ไม่ต้องมี แต่ละอย่างๆ มันทำหน้าที่ของมันได้ เพราะฉะนั้นจงเห็นว่ามันเป็นเพียง phenomena ตามธรรมชาติ ตามกฎอิทัปปัจยตา มันทำหน้าที่ของมันได้ อย่าได้เอาขันธ์แต่ละขันธ์แต่ละอย่างมาเข้าใจผิดว่าเป็นตัวตนเป็นของตนเลย นี่คือความลับ
ทีนี้ก็มาถึงสิ่งสำคัญคือความจริง หรือความโง่ของเรา ตามธรรมดา ตลอดเวลาที่เกี่ยวกับเรา พอร่างกาย รูป ร่างกายทำหน้าที่ แล้วก็รู้สึกว่าฉันทำหน้าที่ พอเวทนาหรือ Feeling ทำหน้าที่ ก็พูดว่าฉันทำหน้าที่เวทนา พอสัญญาทำหน้าที่ เราก็พูดว่าฉันทำสัญญา ฉันมีสัญญา ฉันสัญญา พอสังขารทำหน้าที่คิดตามแบบของสังขาร เราก็รู้สึกว่าฉันคิด พอวิญญาณทำหน้าที่รู้แจ้งทางอายตนะ ก็ฉันรู้แจ้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นี่ความจริงหรือความโง่ของเรา เรียกว่าเรายึดมั่น คือมีความยึดมั่นถือมั่นอยู่ในขันธ์แต่ละขันธ์ๆ ทั้ง ๕ ขันธ์ เราจึงเป็นทุกข์เพราะความยึดมั่น ขอให้รู้กันโดยเด็ดขาดว่ามีความยึดมั่นเมื่อไรมีความทุกข์เมื่อนั้น ไม่มีความยึดมั่นเมื่อไรไม่มีความทุกข์เมื่อนั้น เพราะฉะนั้นขอให้รู้จักขันธ์ไว้ในฐานะที่ไม่ต้องยึดมั่น มันเป็นอย่างนั้นเอง แล้วก็ไม่ยึดมั่นขันธ์ทั้ง ๕ ตลอดเวลา เราก็ไม่เป็นทุกข์ นี่หัวใจของพุทธศาสนามีเท่านี้ว่า พอยึดมั่นก็เป็นทุกข์ พอไม่ยึดมั่นก็ไม่เป็นทุกข์ แต่เราไปยึดมั่นอยู่ตลอดเวลา ขอให้เราศึกษาขันธ์ทั้ง ๕ สำหรับที่จะไม่ยึดมั่นอีกต่อไป ขอยุติการบรรยายวันนี้เพียงเท่านี้