แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในวันแรกนี้จะได้พูดกันเรื่องความทุกข์และเหตุให้เกิดความทุกข์ ตามหลักในพระพุทธศาสนา
ควรจะทราบว่าแต่ละศาสนาบัญญัติเรื่องความทุกข์และเหตุให้เกิดความทุกข์นั้นต่างกัน ตามแบบของตน ของตน ศาสนาประเภท Creationist นั้นก็ว่ามีจากพระเจ้า โดยพระเจ้า ศาสนาแบบ Evolutionist เช่นพุทธศาสนานี้ ว่าเป็นตามกฎของธรรมชาติ คือกฎอิทัปปัจจยตา ต่างกันเป็น ๒ อย่างใหญ่ๆ อย่างนี้
แต่พุทธศาสนากล้าท้าทายว่า แบบทุกข์ แบบการดับทุกข์ ในพุทธศาสนานี้ใช้ได้แก่ทุกคนๆ ไม่ว่าท่านกำลังถือศาสนาอะไร ยืนยันว่าความทุกข์เป็นอย่างนี้ ความทุกข์ต้องเกิดมาจากเหตุอย่างนี้ ท้าทาย ให้พิสูจน์ ให้ทดลอง ให้ศึกษา แก่ทุกๆศาสนา ทุกๆศาสนิกของทุกๆศาสนา กล้าท้าอย่างนี้
การท้าทายนี้ท้าทายในหลักว่าเป็นวิทยาศาสตร์ของธรรมชาติ หลักเกณฑ์อันนี้จึงใช้ได้แก่ทุกคน เหมือนว่ายาขนานหนึ่ง คิดขึ้นมาได้ ก็ใช้ได้แก่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนยุโรป คนเอเชีย คนแอฟริกัน คนอะไรก็ตาม แก่ทุกคนล่ะ แม้ว่าถือศาสนาต่างกัน ก็สามารถกินยานั้น ได้รับประโยชน์อย่างเดียวกัน ก็ยืนยันในลักษณะอย่างนี้
ในชั้นแรกนี้เราจะพูดกันถึงเรื่องความทุกข์ก่อน ความทุกข์ ตามความหมายในทางพุทธศาสนาว่ามีอยู่อย่างไร แล้วท่านก็เอาไปเปรียบดูกันเองว่ามันต่างกับความคิดนึกของท่านอย่างไร
อันคำว่าความทุกข์หมายถึงอาการที่ไม่พึงปรารถนา ที่ทำให้เราทนอยู่ด้วยความยากลำบาก หรือทนไม่ได้ หรืออีกทางหนึ่งก็ว่ามีอาการที่มองดูแล้วน่าเกลียดน่าชัง เพราะมันเป็นความทุกข์ทรมาน
เมื่อพูดโดยอาการ อาการของมันก็คือโสกะ ความโศกเศร้า ปะริเทวะ ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจและอุปายาส ถ้าท่านเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ดี ก็จะมีอาการตรงกันกับที่เราเรียกว่าอาการแห่งความทุกข์ ลักษณะแห่งความทุกข์
แล้วก็ลักษณะหรืออาการต่างๆที่เราไม่ชอบ ที่เกิดมาจากความแก่ชราคร่ำครา ความเจ็บไข้ และความตาย ปัญหาต่างๆที่เกิดมาจากความแก่ชรา ความเจ็บไข้และความตายนี่ เป็นสิ่งที่ทรมานใจเรา จึงเรียกว่าเป็นความทุกข์
ทีนี้อีกหมวดหนึ่งที่เราประสบกันอยู่เป็นประจำๆ ก็คือว่าต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราไม่รักอย่างหนึ่ง ต้องพรัดพรากจากสิ่งที่เรารักอย่างหนึ่ง และเราต้องการอะไรก็ไม่ได้ตามที่เราต้องการนี้อย่างหนึ่ง รวมเป็นสามอย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นความทุกข์ กลุ่มหนึ่งด้วย
และอาการทั้งหมดนั้น กี่อย่างๆรวมกันแล้ว สรุปความลงไปได้ว่ามาจากอาการที่เรามีความยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวตน และมีของของตน ความยึดมั่นว่ามีตัวมีตนนี้ เป็นรากฐานของการที่จะเกิดความทุกข์ทุกๆอย่าง ทุกๆประการดังที่กล่าวแล้ว
ทีนี้เราจะลองมาพิจารณาดูทีละอย่างว่ามันเกิดมาจากความยึดมั่นถือมั่น ว่าความทุกข์ทุกอย่างเกิดมาจากความยึดมั่นถือมั่นอย่างไร
ที่อย่างต่ำที่สุด เราไม่สบายใจเพราะเขาไม่ให้เกียรติแก่เรา เราไปในที่ใด ไม่ได้รับการต้อนรับ ไม่ให้เกียรติ หรือที่ไหนก็ตาม เขาไม่ให้เกียรติแก่เรา เราก็เกิดความไม่สบายใจ เป็นความทุกข์ เพราะเรายึดถือว่าตัวตน ฉันมีตัวตน ฉันมีสถานะแห่งตัวตน คล้ายๆจะต้องปฎิบัติตอบให้ถูกต้องแก่สถานะนั้นๆ เมื่อเขาไม่ปฏิบัติ เราก็ไม่สบายใจและเป็นทุกข์ นี่ดูสิแม้แต่ว่าเขาไม่ให้เกียรติแก่เรา เราก็เป็นทุกข์ เพราะว่าเรามีตัวตน
ต่อไป ไม่มีงานทำและไม่มีเงินใช้ เราก็เป็นทุกข์ นี่ก็มีมูลมาจากที่เรายึดมั่นถือมั่นว่าเรามีตัวเรา เรามีตัวเรา เราไม่มีงานทำ ก็หมายความว่าเราจะต้องตายหรือจะต้องเป็นทุกข์ เราไม่มีเงินใช้ เรากำลังลำบากอยู่ เราก็เป็นทุกข์ เพราะเรายึดถือว่าตัวตน ซึ่งจริงๆเราไม่ต้องเป็นทุกข์ก็ได้ เราก็ไปหางานทำเราก็มีเงินใช้ในที่สุด แต่เดี๋ยวนี้ มันไปเป็นทุกข์ ไปเป็นทุกข์ซะแล้ว ไม่มีงานทำ ไม่มีเงินใช้ ก็มีมูลเหตุมาจากการยึดมั่นถือมั่นว่าเรา เราไม่ได้สิ่งที่เราต้องการหรือว่าเราจะตาย นี่แหละตัวตน ของตนอย่างนี้
หรือว่าเช่นของหายไป เราก็เป็นทุกข์และเสียใจ บางทีก็มีอุบัติเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้นมา เราก็เสียหาย มีความลำบาก หรือตาย บางทีก็เป็นวิบัติ เหตุการณ์ของธรรมชาติ ทำให้คนตายมากๆ เราก็ประสบกับเขาด้วย เหล่านี้เราก็เป็นทุกข์ เพราะว่าเรารู้สึกว่าเรามีตัวเรา ของที่เป็นของเรานั้นมันหายไป ก็เพราะเรายึดถือว่าของเรา ถ้าเราไม่ยึดถือว่าของเรา มันหายไป ก็ไม่เป็นไร ก็ไม่เป็นทุกข์ ก็หาเอาใหม่ได้ เรื่องของหายก็ดี เรื่องอุบัติเหตุก็ดี เรื่องวิบัติทางธรรมชาติก็ดี กลับมาเป็นความทุกข์แก่เรา ผู้มีความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน ว่าของตน
ทีนี้ข้อต่อไป เราหาคนรักไม่ได้ และต้องการจะมีคนรัก แต่เราหาคนรักไม่ได้ เราก็เป็นทุกข์ หรือว่าคนที่เรารักอยู่แล้ว เขาสลัดไป เขาตีจากออกไปเสีย เราก็มีความทุกข์ นี่ก็เพราะความยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวเรา ตัวตน แล้วก็มีของเรา แล้วของเรามันก็หายไปเสีย ทีนี้คอยสังเกตว่าความทุกข์ทุกชนิดมันมาจากความรู้สึกยึดมั่น ว่าตัวตน ของตนทั้งนั้น
ความจริงมันก็มีอยู่ว่าความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวตน ว่าของตนนั้นน่ะ มันเป็นกิเลส มันเป็นกิเลส มันมาจากอวิชชาหรือความโง่ กิเลส กิเลสเรียกว่าของสกปรก มันต้องการสิ่งสนองความอยากของมันเสมอไป กิเลสมันอยากจะได้ มันอยากจะทำลาย มันอยากจะมัวเมา ต้องการสิ่งที่จะมาสนองกิเลส ทีนี้ก็ไม่ได้สิ่งนั้นๆ มันก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะไม่ได้สิ่งซึ่งสนองกิเลส นั่นคือตัวกูของกูนั่นเอง
สำหรับความรู้สึกที่เราจะรู้สึกกันอยู่และเห็นได้ด้วยตัวเอง อย่างเช่นความรู้สึกว่าตัวฉัน ของฉัน มีความรู้สึกอย่างนี้อยู่ตลอดเวลาโดยสัญชาตญาณ และก็รู้สึกมากขึ้นๆ โดยความโง่ที่มันเพิ่มขึ้น รู้สึกว่าตัวฉัน รู้สึกว่าของฉันในที่ทุกแห่ง ไปที่ไหนก็ต้องการให้ได้รับการต้อนรับ ได้รับความพอใจ แล้วมันไม่ได้ มันก็เป็นทุกข์ แม้คิดอยู่เฉยๆ คิดอยู่ว่าตัวฉัน ของฉันอยู่เฉยๆ ก็มันยังเป็นทุกข์แล้ว มันทำให้นอนหลับยาก ทำให้ไม่สงบจิตสงบใจ ความรู้สึกประจำอยู่ว่าตัวฉัน ว่าของฉันนี้ เป็นรากฐาน เป็นที่ตั้ง เป็นรากฐานที่ตั้งของความทุกข์
ถ้าความคิดว่าตัวฉัน ของฉันเข้ามาบงการบัญชาให้ทำอะไรๆ มันก็ทำไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น มันก็เป็นทุกข์ ที่นี้เราให้สติปัญญาที่ปราศจากความคิดว่าตัวตน เป็นสติปัญญาที่รู้อะไรควรทำ อย่างไร ทำเพื่ออะไร ไม่ต้องเป็นตัวตน ไม่เป็นของตน ทำไปตามกฎของธรรมชาติอย่างนี้ ก็ได้รับสิ่งที่เราต้องการโดยไม่ต้องเป็นทุกข์ โดยไม่ต้องเป็นทุกข์
ความรู้สึกยึดมั่น ตัวตน ของตน โดยประการต่างๆนานาชนิด มันมาสรุปอยู่ในคำสั้นๆว่า ชีวิตของฉัน ชีวิตของกู มันเห็นแก่ชีวิตของกู มีความรู้สึกเป็นชีวิตของกูเป็นเบื้องหน้า ต้องได้อย่างนั้น ต้องได้อย่างนี้ มันก็เป็นความรู้สึกที่จะต้องแบกไว้ ถือไว้ ซึ่งชีวิตของกู ซึ่งตัวกู ชีวิตเป็นตัวตน ของกูเป็นของตน มีชีวิตเป็นตัวตน มีชีวิตเป็นของตน เพราะฉะนั้นในคำว่าชีวิตของฉันนั้น มันมีทั้งตัวกูและทั้งของกู มันจึงมีความทุกข์เต็มที่ มีความหนักเต็มที่ในความหมายว่าชีวิตของฉัน
ทีนี้มันก็มีมาจากการเอาของธรรมชาติ หรือสิ่งที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติมาเป็นของตน ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นของธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมชาติ ตามวิถีทางธรรมชาติ แต่ถ้าผู้ใดมีความรู้สึกในใจว่ามีตัวตน ของตนแล้ว มันก็ไปเอามาเป็นของตน เอาความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายตามธรรมชาติมาเป็นของตน มันก็เลยมีปัญหาเกี่ยวกับความเกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่างยิ่ง อย่างหนัก อย่างเป็นทุกข์ ไม่ขาดระยะเลย เพราะว่ามันแก่อยู่เสมอ มันเจ็บอยู่เสมอ มันจะตายอยู่ทุกวัน
ดูออกไปนิดหนึ่งว่ามันมีอะไรในโลก คือมันมีสิ่งที่เรารัก แล้วมันมีสิ่งที่เราไม่รัก แล้วก็มีสิ่งที่เราปรารถนา สามอย่างเท่านี้ก็พอ มันมีสิ่งที่เรารัก มันมีปัญหามากมายเกี่ยวกับสิ่งที่เรารัก แล้วมันมีสิ่งที่เราไม่รัก ไม่อยากจะเห็นด้วยซ้ำไป ก็มีปัญหามากมายเกี่ยวกับสิ่งที่เราไม่รัก แล้วยังมีสิ่งที่เราต้องการหรือปรารถนาอย่างไม่รู้จักจบ เพราะว่ามันมีกิเลสมาก มันต้องการมาก ไม่รู้จักจบ มันมีสิ่งที่เราปรารถนา ถ้าดูให้ดีๆ จะเห็นว่าสิ่งที่เราไม่รักก็ดี เรารักก็ดี เราปรารถนาก็ดี ล้วนมีมาจากความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน ว่าของตน ถ้าไม่มีความยึดมั่นว่าตัวตน ว่าของตน ว่าน่าปรารถนาแล้ว มันไม่อาจจะเกิดความทุกข์ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าความทุกข์ทุกชนิดมันสรุปรวมอยู่ที่ความยึดมั่นว่าตัวตน ว่าของตน นี่คือหลักพุทธศาสนา
สรุปความว่าอาการแห่งความทุกข์ มันจะมีกี่สิบอย่าง กี่ร้อยอย่าง กี่พันอย่างก็สุดแท้แต่ แต่มันมีมูลมาจากสิ่งๆเดียวคือความยึดมั่นว่าตัวตน ว่าของตน ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดความทุกข์ทุกๆชนิด ถ้าท่านเข้าใจอย่างนี้ ก็คือท่านเข้าใจเรื่องหลักเกี่ยวกับความทุกข์ ตามแบบแห่งพุทธศาสนา
ในที่สุด ก็จะต้องเห็นความจริงในข้อที่ว่าความทุกข์ เป็นไปเพราะ เกิดขึ้นเพราะทำไม่ถูกตามกฎเกณฑ์ของเรื่องความทุกข์ ไม่ใช่มาจากพระเจ้า ไม่ใช่มาจากผีสางเทวดา ไม่ใช่มีจากโชคชะตา ไม่ใช่มาจากสิ่งภายนอกเหล่านั้น แต่มาจากสิ่งภายใน ภายในอย่างเดียว คือไม่รู้เรื่องธรรมชาติอันนี้อย่างถูกต้อง แล้วก็เกิดยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวตนๆ มันก็มีภาระเกี่ยวกับตัวตน เกี่ยวกับของตน อย่างไม่มีที่สิ้นสุด นี่คือความทุกข์ที่ท่านทั้งหลายจะต้องรู้จัก รู้จักแล้วจึงจะสามารถศึกษาพุทธศาสนาต่อไปได้
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องที่ ๒ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ ตามหลักแห่งพุทธศาสนา หรือในพุทธศาสนา กล่าวโดยสรุปแล้ว เหตุให้เกิดทุกข์นั้นมาจากความอยากด้วยความโง่ ต้องแยกกันให้ดี ว่าความอยากหรือว่าความต้องการนี้มีเป็นสองชนิด อย่างหนึ่งมันอยากหรือต้องการด้วยความโง่ อย่างหนึ่งมันต้องการด้วยสติปัญญาที่ถูกต้อง ความทุกข์จะต้องมาจากความอยากที่อยากด้วยความโง่เสมอไป เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่เราจะต้องรู้จักในเรื่องนี้ก็คือความอยากที่มาจากความโง่หรืออวิชชา
ในความข้อนี้ เรื่องนี้ดูมันจะอยู่ที่ภาษา ความยากลำบากของภาษาเป็นต้นเหตุ ความอยากที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ในบาลีเรียกว่าตัณหา ตัณหาซึ่งท่านไปแปลว่า Craving บ้าง Desire บ้าง เป็นคำแปลของตัณหา ถ้าอย่างนั้นจะต้องรู้ให้ชัดลงไปว่ามันเป็นความอยากที่มาจากอวิชชา The Want ความต้องการ มันเป็นกลางๆ แต่ถ้ามัน Want ด้วยอวิชชา ทางพุทธศาสนาจึงจะเรียกมันว่า Desire หรือ Craving แต่ถ้ามัน Want ด้วยสติปัญญา ไม่ถือว่าเป็น Desire หรือ Craving เพราะไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ถ้า Desire หรือ Craving เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ต้องหมายถึง The Want ที่มาจากอวิชชา ถ้าเป็น Want ที่ไม่ได้มาจากอวิชชา แต่มาจากสติปัญญาที่เต็มไปด้วยเหตุผล ที่ต้องการจะดับทุกข์ อย่าไปเรียกมันว่า Desire หรือ Craving เลย คำว่าความอยาก ความอยากนี้มันควรชัดลงไปว่ามันมาจากอวิชชาหรือมาจากตัณหา ต่อเมื่อมันมาจากอวิชชาหรือตัณหานี้แล้ว มันจึงจะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้นเมื่อพูดออกมาจากความอยากแล้ว ขอให้จำกัดความของความอยากให้ชัดเจนว่าเป็นความอยากที่มาจากอวิชชา จึงจะเป็นตัณหา
ทีนี้ขอให้สังเกตว่าพอมีความอยากที่เรียกว่าตัณหา พอมีความอยากด้วยความโง่ก็เป็นทุกข์ทันที มีความอยากด้วยความโง่ Craving หรือ Desire จะเป็นทุกข์ทันที เดือดร้อนเพราะมันไม่ได้ตามที่ต้องการ มันทรมานจิตใจ แต่ถ้าเราอยากด้วยสติปัญญา เราอยากจะดับกิเลส อยากจะฆ่ากิเลส อยากจะดับทุกข์อย่างนี้ มันไม่เกิดทุกข์ มันจะเกิดความกล้าหาญ ความตั้งใจที่จะดับทุกข์ต่อไปเรื่อยๆไป ความอยากด้วยความโง่ ด้วยอวิชชา ที่เรียกว่าตัณหา ตัณหาเกิดขึ้นทันที ก็เป็นทุกข์ทันที ไม่ต้องรอ ขอให้สังเกตจากภายใน ศึกษาจาก Experience ภายใน ก็รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้ ท่านก็จะรู้จักตัวความทุกข์ และตัวเหตุให้เกิดทุกข์ได้ถนัดชัดเจน ก่อนจะทำความดับทุกข์ได้
ทีนี้มีสิ่งที่ลึกลับอยู่สิ่งหนึ่งที่ต้องศึกษาให้เห็น สังเกตให้เห็น คือเมื่อ Ignorant Want, Desire หรือ Craving ก็ตาม มันมีมากเข้าๆ มันจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าตัวกูๆ เป็นความเกิดแห่งตัวกู Birth of The I ตัวกูๆนี้เกิดมาจากความอยากซึ่งเกิดมาจากความโง่ เพราะฉะนั้นตัวกูจึงไม่ใช่มีอยู่จริง ตัวกูไม่ได้เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง แต่ว่าความโง่มันสร้างขึ้นมา เมื่อความอยากเต็มที่ แก่กล้า ความอยากเต็มที่แล้ว มันจะเกิดความรู้สึกขึ้นเองว่าตัวกู กูอยาก พอเกิดตัวกูอย่างนี้แล้วจะต้องเป็นทุกข์ อะไรๆมันจะเป็นปัญหาไปหมด มันไม่ได้อย่างตัวกูต้องการ หรืออะไรก็ตาม ความเกิดแห่งตัวกูเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ให้เกิดภาระหนักในชีวิตทุกชนิดเลย ท่านต้องสังเกตให้ดี เวลานี้ท่านไม่ได้เกิดตัวกู แต่พอความอยากในอะไรมากเข้าๆ จะเกิดตัวกู การเกิดแห่งตัวกู ก็จะเป็นความหนัก เพราะความอยากเต็มอัดอยู่ในตัวกู เรียกว่าภาระหนักของชีวิต สรุปความว่าชาติแห่งตัวกู การเกิดแห่งตัวกู เป็นมายาที่สุด ไม่ได้มีอยู่จริง เพียง Conception ออกมาจากอวิชชา แต่พอเกิดแล้ว จะต้องเป็นทุกข์ หลีกไม่ได้ รู้จักมันไว้ดีๆ อย่าปล่อยให้มันเกิดขึ้นมา
ขอให้มองให้เห็นชัดเข้าไปถึงว่า ตัวกู การเกิดแห่งตัวกู ไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา เพราะมันไม่ใช่เป็นของจริง มันไม่ได้มีอยู่จริง มันเพิ่งเกิดใหม่เมื่อมีความอยากด้วยความโง่ๆ จำไว้ดีๆ ความอยากด้วยความโง่ มันจะ Produce ตัวกูๆขึ้นมา มันเป็น New Product มันเป็น Newly Produced ตัวกูนี้ไม่ใช่มีอยู่จริงๆ มันเกิดมาตามโอกาสที่มันโง่และอยากด้วยความโง่ เพราะฉะนั้นระวังอย่าอยากด้วยความโง่ อย่าอยากด้วยความโง่มันก็ไม่มีตัวกูที่ไหนเกิดมา มันก็ไม่มีปัญหา ขอให้รู้ว่าไม่ใช่มีตัวจริง มันเป็นเพียงความโง่สร้างขึ้นมาชั่วขณะๆ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ตัดออกไปได้ ถอนออกไปได้ เลิกละเสียได้ ขอให้รู้จักตัวกูๆ ที่เป็นสิ่งที่เราสำคัญเป็นตัวจริง บูชายกย่อง สนองความต้องการอันนั้น ให้เห็นชัดว่ามันเป็นเพียงอย่างนี้เท่านั้น พอมันเกิดขึ้นมาแล้ว มันต้องมีความทุกข์แน่นอน
ทีนี้ก็ดูต่อไปว่ามันจะเกิดทุกข์อย่างไร พอมันเกิด Ego หรือ Egoism เป็นตนขึ้นมาแล้ว มันก็ต้องเกิดแน่นอน คือเกิดความเห็นแก่ตน Selfishness ต้องเกิดขึ้นตามมา เราถึงได้พูดว่า I and Mine เห็นแก่ตนๆ ความเห็นแก่ตนนี้เป็นสิ่งที่เข้าใจยาก มันให้เกิดทุกข์โดยประการทั้งปวง เพียงแต่มีอยู่เท่านั้น เพียงแต่มีอยู่ในใจเท่านั้นล่ะ ก็เป็นทุกข์ เป็นหนักแล้ว ความเห็นแก่ตนๆ เพียงแต่มีอยู่คนเดียว ก็เป็นทุกข์อยู่คนเดียว ถ้าไปเกี่ยวข้องกับคนอื่น ก็ทำให้คนอื่นลำบาก เบียดเบียนคนอื่นเป็นทุกข์ด้วย แต่ว่าความเห็นแก่ตนนี้มันมีอะไรพิเศษ เป็นอันตรายที่สุด แต่ท่านอาจจะรักมันที่สุด ทุกวันทุกคืนท่านนอนกอดความเห็นแก่ตัว Selfishness ถือไว้กอดไว้ ถือไว้ทั้งวันทั้งคืนก็ได้ ความเห็นแก่ตัวๆ ซึ่งเป็นศัตรูที่สุด เรากลับเห็นเป็นสิ่งที่พอใจ น่าพอใจ น่ารัก สบายใจ ความเห็นแก่ตัวมันก็มากขึ้นๆ ความทุกข์อย่างที่ไม่รู้จัก ความทุกข์ที่รู้จักไม่ได้ก็เกิดมากขึ้นๆ ความเห็นแก่ตัวเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์
ทีนี้มาดูให้ละเอียดลงไปอีกนิดว่า ความเห็นแก่ตัวนี่เป็นสิ่งเลวร้าย เป็นศัตรูทั้งหมดๆของจักรวาลเลย เมื่อเห็นแก่ตัวมันก็เกิดภาระแห่งชีวิต Burden of Life แล้วมันก็ทรมานๆคนๆนั้นเอง ไม่ให้มีความสงบสุข แล้วมันจะต้องเกิดการทะเลาะวิวาทกัน แม้ในระหว่างครอบครัว ผัวเมียทะเลาะกันเพราะความเห็นแก่ตัว เพื่อนบ้านทะเลาะกันเพราะความเห็นแก่ตัว หรือรัฐบาลกับรัฐสภาทะเลาะกันเพราะความเห็นแก่ตัว หรือว่าความเห็นแก่ตัวมากขึ้นๆ ก็เกิดลัทธิ Capitalist เพราะความเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง เมื่อเกิด Capitalist มันก็ต้องเกิดคอมมิวนิสต์ผู้เห็นแก่ตัวที่จะต่อต้าน คอมมิวนิสต์ก็เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว Capitalist ก็เห็นแก่ตัว มันก็เลยทะเลาะกันถาวร เป็นการถาวร เมื่อไรเขาใช้อำนาจ ใช้อาวุธสูงสุด มันก็วินาศกันไปทั้งหมดทั้งโลกล่ะ แม้ในเมืองสวรรค์ พวกเทวดาทะเลาะกันก็เพราะความเห็นแก่ตัว อย่าว่าแต่ในโลกนี้เลย มนุษย์นี้เลย ความเห็นแก่ตัวเป็นสิ่งเลวร้ายอย่างนี้ มันเกิดมาจากความรู้สึกว่ามีตัว มีของตัว ขอให้เรารู้จักสิ่งที่เป็นศัตรูที่สุดของมนุษย์ทุกระดับทุกขั้นตอนอย่างน้อยในลักษณะเหล่านี้เถิด ก็จะเกิดกำลังใจในการที่จะต่อสู้หรือทำลายให้หายไป
ทีนี้ขอให้ดูเจาะจงลงไปตรงที่ว่า เมื่อมี Selfishness แล้ว มันต้องมี Craving หรือ Desire ที่เลวร้ายที่สุด เพราะมันเห็นแก่ตัว มันจึงต้องการอย่างไม่ถูกต้อง ต้องการโดยอวิชชา เพราะฉะนั้นความเห็นแก่ตัวนั้นแหละ สร้างตัณหา สร้างตัณหาขึ้นมา โดยเฉพาะสามชนิด กามตัณหา อยากได้ในสิ่งที่สนองความใคร่ๆ ภวตัณหา อยากเป็นนั่น เป็นนี่ตามความโง่ วิภวตัณหา อยากไม่เป็นนั่น ไม่เป็นนี่ตามความโง่ โดยเฉพาะมันเชื่อในทิฐิที่ว่าตายแล้วขาดสูญ ตัณหาสามประการนี้มีรายละเอียดมาก ขอให้ศึกษาเอาจากหนังสือคู่มือต่างๆให้รู้รายละเอียดของตัณหาทั้งสามนี้ แต่เดี๋ยวนี้ขอให้มองให้เห็นชัดว่าความเห็นแก่ตัวทำให้เกิดตัณหาทั้งสามอย่างนี้ เมื่อความอยากหรือตัณหานี้เป็นไฟอย่างแก่กล้าเต็มที่แล้ว ก็ให้เกิดตัวกู เกิดของกู เกิดอุปทานแล้วก็เป็นทุกข์โดยแน่นอน
ข้อสุดท้ายจะพูดกันถึงเรื่องความเข้าใจผิด เกี่ยวกับความทุกข์หรือความเกิดทุกข์ มีความเข้าใจผิดกันอยู่ พวกหนึ่งเข้าใจว่าความทุกข์เกิดมาจากกรรมเก่าๆในชาติก่อนๆ ของพวกที่เชื่อในการเวียนว่ายตายเกิด Reinter-nation หรือ Rebirth แล้วมันก็เชื่อว่าเป็นกรรมเก่าของชาติก่อนโน้นติดเข้ามาถึงได้มีความทุกข์ อีกพวกหนึ่งว่าไม่ใช่ สิ่งสูงสุดคือพระเจ้า พระเจ้าหรือสิ่งสูงสุด บันดาลให้เป็นทุกข์ รวมผีสาง เทวดา โชคชะตาราศีอะไรรวมกันไว้ในข้อนี้ด้วย ว่ามีพระเจ้าบันดาลมา นี่ก็เป็นข้อที่สองแล้วก็ไม่ถูก แล้วพวกนี้ยังเชื่อว่าสุข หรือทุกข์ ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย มันเกิดของมันเองตามธรรมดา นี่ก็ไม่ถูก เพราะว่าความทุกข์นี้มีเหตุ มีปัจจัยมาจากอย่างที่กล่าวมาแล้ว ความเข้าใจผิดมีอยู่สามประการเกี่ยวกับการเกิดขึ้นแห่งความทุกข์ ขอให้รู้จักไว้ด้วย
ในที่สุด เราก็มาสรุปความว่าทุกข์เกิดมาจากอะไร ถ้ามองให้ใกล้ ระยะใกล้ที่สุด ทุกข์ก็เกิดมาจากอุปาทาน Attachment ว่าตัวกู ว่าของกู อันนี้มองใกล้ที่สุด ถ้ามองเขยิบเข้าไปว่า ทุกข์นี่มันมาจากอุปทานว่าตัวตน ที่เกิดมาจากตัณหา เพราะมีตัณหาก็แล้วก็มีอุปทาน มีอุปทานก็เกิดตัวตน ตัวตนแล้วก็มีทุกข์ ถ้ามองเขยิบเข้าไป มันก็มาจากตัณหาก็คือความอยากอย่างโง่เขลา ถ้ามองลึกเข้าไป ตัณหาก็มาจากอวิชชาๆ Ignorance เป็นตัวต้น มีอวิชชาก็มีตัณหา มีตัณหาก็มีอุปาทาน Attachment มีอุปาทานก็มีความเกิดแห่งตัวกู ของกู ท่านจะดูแค่ไหน จะดูในระยะสั้น ระยะยาวอย่างไร ถ้าระยะยาวสุด มาจากอวิชชาโน่น โง่เมื่อมีผัสสะกระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจแล้วโง่ แล้วก็มีอวิชชา แล้วก็ต้องเกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสรุปสั้นๆว่า มันมาจากความยึดมั่นในขันธ์ทั้งห้า นี่ก็คือตัวตนที่เกิดขึ้นมาเมื่อมีขันธ์ห้า ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งขึ้นมาทำหน้าที่แล้วยึดมันว่าตัวตน มันก็เกิดทุกข์ เอาล่ะเป็นอันว่าเราได้พูดกันถึงเรื่องความทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์ตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา มาพอสมควรแก่การศึกษาแล้วในวันนี้ ขอยุติการบรรยาย