แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อ้า, วันนี้จะพูดกันด้วยเรื่อง สุญญตา ในฐานะที่เป็นเรื่องสูงสุดของพุทธศาสนา ก็เป็นเวลาอันพอสมควรแล้วที่เราศึกษาพุทธศาสนา ก็ควรจะรู้เรื่องสำคัญ ถือว่ามันมีหลักสำคัญ มีใจความสำคัญสูงสุด จบสิ้นอยู่ที่เรื่อง สุญญตา มันก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการปฏิบัติอยู่มากเหมือนกัน แต่ถ้าพูดอย่างนี้ก็เราก็พูดในเรื่องทฤษฎีมากกว่า ข้อแรกก็คือว่าเราจะต้องมีความรู้อันถูกต้องว่า เมื่อศาสนาอื่นๆ เขาไปจบลงที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ตัวตนอันถาวร แล้วก็จบคือมีพระเจ้า อยู่กับพระเจ้าแล้วก็จบ เออ, ส่วนพุทธศาสนานี้มันไปจบที่เรื่อง สุญญตา คือ ว่าง ว่าง ด้วยเหตุนี้ทำให้คนเข้าใจผิด เพราะว่ามันเป็นเรื่องไม่ได้อะไร เป็นเรื่องสูญเปล่า มีลักษณะเป็น เออ, negative น่ะ เป็น เป็นลบหมดเลย นักศึกษาที่เป็นฝรั่งชั้นเอก ตัวเอกอะไรเขาก็เคยมีความเห็นอย่างนี้ คิดอย่างนี้ เขียนกันอย่างนี้ พระพุทธศาสนาเป็น negative บ้าง พระพุทธศาสนาเป็น pessimist มองดูทุกอย่างในแง่ร้าย เอ้อ, บ้าง ถ้าเราจะรู้ความจริงข้อนี้ไว้บ้าง อา, ก็จะเป็นการดี คือจะได้ช่วยอธิบายหรือตอบโต้อะไรให้มันถูกต้อง แต่ก็ควรจะรู้เรื่อง เอ้อ, โดยวงกว้างระหว่างศาสนากันเสียก่อน คือว่ามันมีมาตามลำดับ ตามลำดับของสติปัญญาของมนุษย์ที่ค่อยสูงขึ้น สูงขึ้น สูงขึ้น มนุษย์ชั้นแรกๆ คือมิติเปิดเต็มที่ มันก็คิดว่ามีกินมีใช้ ข้าวเต็มยุ้งเต็มฉาง วัวควายไร่นา ครบถ้วนบริบูรณ์ก็พอแล้ว ก็พอแล้ว ก็จบ จบแล้ว เรื่องของเราจบแล้ว ก็มี แล้วมันสูงค่อยๆ สูงขึ้นมาทางจิตใจว่าไม่จบ เราจะต้องมีอะไร เกียรติยศ ชื่อเสียงอำนาจวาสนาอะไรด้วย อ้าว, ต่อมาก็เห็นว่าไม่พอ ไม่จบ กลายไปเรื่องโลกหน้า เราตายแล้วต้องไปอยู่ในสวรรค์ สวรรค์ ถึงจบ ต่อมามีพวกที่ค้นคิดไปไกลกว่าอีกว่าไม่พอ ยังไม่จบ ยังต่ำนัก จะต้องเป็นไอ้, พรหมโลก เป็นพรหม เพราะว่าสวรรค์น่ะมันกาม กามคุณ สมบูรณ์ด้วยกามคุณ ถ้าเป็นพรหมโลกก็บริสุทธิ์ สะอาดเหนือกามคุณ แล้วก็พวกหนึ่งก็ว่ากามคุณนี่ถ้ายังมีรูป ต้องอาศัยรูป เป็นรูปธรรม เป็นเอ้อ, วัตถุ เป็นที่พึ่ง เป็นไอ้, ที่มุ่งหมายก็ยังต่ำไป ขอเอาเป็น อรูป คือ ไม่มีรูป นี่ มันก็เกิดไอ้, ลัทธิอรูปพรหมขึ้นมา รูปพรหมแล้วก็ อรูปพรหม แล้วก็ปรากฏว่าจบในอินเดีย ในสมัยพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นว่าไม่จบ ไม่จบ ไม่พอ ยังไม่ใช่ที่สุด ท่านก็ทนและสอนเรื่องไม่มีตัวตน ไม่มีตัวตน ไม่มีกิเลส ไม่มีตัวตน คือไม่มีทุกข์เพราะไม่มีกิเลส ไม่มีกิเลสเพราะไม่มีตัวตน เมื่อไม่มีตัวตนเรียกว่า มันว่างจากตัวตน แล้วก็สอนเรื่องความว่าง ทีนี้ศาสนาที่อื่น อ้า, มุมโลกอันอื่นเขาก็สอนเรื่องพระเจ้า ไปอยู่กับพระเจ้า ก็จบ คือ ในอินเดียบางพวกก็ว่าไปเป็นอ้า, อัตตา นิรันดร เป็นปรมาตมัน เป็นอัตตาตัวตนนิรันดร ไม่เปลี่ยนไม่แปลง ไม่อะไรต่อไปอีก ซึ่งมันก็คล้ายกันมากกับ กับพุทธศาสนาที่ว่าว่าง แต่เขาว่างไม่ได้ ไม่ยอมว่าง ความคิดมันเป็น positive อยู่ตลอดเวลาคือ ต้องมี อะไรที่เป็นที่พอใจ มันก็เลยมีตัวตน อ้า, ตัวตน เที่ยงแท้ถาวรตลอดอนันตกาลเลยนี่ ฝ่ายฮินดูเป็นคู่แข่งกันกับพระพุทธศาสนา พวกนั้นจบลงไปที่มีตัวตน นิรันดร เรียกว่า ปรมาตมัน พุทธศาสนาจบลงที่ว่าง ว่างคือ นิพพาน ว่างจากตัวตน ในความหมายเอ้อ, ที่เป็นลักษณะก็คือ ว่างจากตัวตน ในความหมายที่เป็นผลที่จะพึงจะได้รับก็คือ เย็น จิตนี้เย็น เมื่อจิตได้รับความเย็นจากนิพพาน สมบูรณ์แล้วมันก็พอแล้ว ก็จบที่นั่นแหละ เมื่อไรร่างกายมันตาย จิตมันก็ดับไป มันก็เรียกว่า จบ มันก็ยิ่งว่างใหญ่ไปอีก นี่เขียนเป็นกราฟก็จะเห็นได้ว่าพุทธศาสนามันจะไปจุดสูงสุดไกลกว่าใครคือ ว่าง น่ะ ถ้ายังไม่ว่างมันก็ยังมีตัวตน ยังมีการดำรงตัวตน มีการทรงไว้ซึ่งตัวตน มีภาระ มีปัญหาอะไร เอ่อ, สู้ว่างไม่ได้ เรารู้จัก เอ่อ, ศาสนาของเราไว้อย่างนี้กันบ้างสิ อา, มันจะถึงที่สุด เอาละทีนี้ก็จะพูดถึงไอ้คำว่าว่าง ว่างนี่ ว่างอย่างยิ่งก็คือ นิพพาน ว่างจากตัวตน ว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ ว่างจากการปรุงแต่งโดยประการทั้งปวง นี่เรียกว่า ว่าง ว่างจริงๆ เดี๋ยวนี้ที่พูดกันอยู่ในเมืองไทยนั่นมันพูดผิดๆ ผิดอย่างน่า น่าตกใจ น่าเศร้าว่าคำว่า สุญญตา นั้นแปลว่าสูญเปล่า สุญญตาที่ ที่ถูกแปลว่าว่าง น่ะ เขาแปลว่าสูญ สูญ สุญญะ แปลว่าสูญ แถม แถม แถมเปล่าเข้าไปด้วยเป็น สูญเปล่า คนมีความรู้ มีเกียรติ มีเป็นที่เคารพนับถืออะไรก็ยังพูดแบบนี้ สุญญตา สูญเปล่า สุญญตา สูญเปล่า มันก็ฉิบหายหมดนะ พุทธศาสนาไปจบลงที่ความสูญเปล่า ไม่มีอะไรเหลือ วินาศหมดนะ อย่าไปแปลสุญญตาว่า สูญเปล่า แปลว่า ว่าง ว่าง ว่าง ว่างจากตัวตน ถ้าไม่ว่างก็ ก็ต้องมีทุกข์แหละ มีตัวตนนั่นแหละ มันก็มีทุกข์เพราะมีตัวตนนั่นแหละ ถ้าไม่ว่างต้องมีทุกข์ ถ้าไม่มีทุกข์ต้องว่าง ถึงแม้ว่ามันจะว่างชั่วขณะ เวลาที่เราสบายที่สุดนั่นน่ะ คือเวลาไหน เอ้อ, ขอให้คิดดู ขอให้คิดดู เวลาไหน เวลาที่เราสบายที่สุดเวลาไหน ไม่ต้องเชื่อใครหรอก สังเกตดูเอาเอง ทุกคนจะรู้สึกได้ ตอบอย่างโง่ๆ ไปทีก่อนก็ได้ว่า เราสบายที่สุดในเวลาที่ไม่มีอะไรรบกวนจิตใจ นั่น นั่นแหละคือว่างแหละ เมื่อไม่มีอะไรรบกวนจิตใจนั่นแหละมันคือว่าง ว่างจากสิ่งรบกวนจิตใจ แม้จะเป็นเวลายืน เดิน นั่ง นอนอะไรก็ตาม ถ้ามีอะไรรบกวนอยู่ในจิตใจมันเป็นสุขไม่ได้ หรือว่าเราจะทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย แต่ถ้าจิตมันว่าง ไม่ยึดถือโดยความเป็นตัวตน มันก็ว่าง มันก็ยังสบาย ยังเป็นสุขในการทำงานนั่นเอง อย่าคิดว่าเวลาได้นอน ได้พักผ่อนได้นอนแล้วมันจะเป็นสุข มันต้องมีจิตใจว่างจากความยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวกูเป็นของกู นั่นด้วยมันจึงจะเป็นสุข คือมันไม่มีการหนักอกหนักใจ วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์อะไร ถ้าความคิดนึกประเภทเป็นตัวตนเป็นของตนยังมีอยู่ในจิตใจแล้วมันก็คือไม่ว่าง ไม่ว่างก็คือถือ ถืออะไรอยู่ไว้ แบกอะไรอยู่ ทูนอะไรไว้อยู่แปลว่าดำรงทรงไว้อยู่คือ ของหนัก เอาอะไรมาดำรงทรงไว้ในจิตใจ สิ่งนั้นก็เป็นของหนัก โดยสรุปแล้วก็คือขันธ์ทั้ง ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง บางทีเรื่องรูป วัตถุ บางทีเรื่องเวทนา บางทีเรื่องสัญญา บางทีเรื่องสังขาร บางทีเรื่องวิญญาณ บรรดาความคิดนึกรู้สึกอะไรต่างๆ ทางจิตใจทั้งหมดทั้งสิ้นนั้นมันรวมอยู่ใน ๔ เรื่องคือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั่น ถ้าเรียนไป เรียนไปมันก็จะรู้ ค่อยๆ รู้ ความรู้สึกประเภทที่ให้รู้สึกเป็นสุขหรือทุกข์นี้เรียกว่า เวทนา ความสำคัญมั่นหมายนั่นนี่เป็นตัวเรา เป็นของเรา นั้นก็เรียกว่าเป็น สัญญา อ้า, ความคิดนึกไปตามกิเลสตัณหาจะทำอย่างนั้นอย่างนี้เรียกว่า สังขาร รู้แจ้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเรียกว่า วิญญาณ บรรดาเรื่องทางจิตใจมันก็มี ๔ เรื่องนี้ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ถ้าเราแจกเป็นรายละเอียด รายละเอียดเป็นอย่าง เฉพาะอย่างแล้วมันไม่รู้กี่ร้อยกี่พันอย่างนะ มันต้องเข้ามาในรูป เอ้อ, เวท ในรูปของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้ง ๕ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่มาทีเดียวทั้ง ๕ อย่าง แล้วก็มาเป็นที่ให้จิตน่ะยึดไว้ ถือไว้ ทรงไว้ ทูนไว้ มันก็คือของหนักสำหรับจิตนะ เมื่อจิตถือของหนักอยู่มันก็พักผ่อนไม่ได้ เป็นสุขไม่ได้ จึงว่าเวลาที่เราจะรู้สึกสบายเหลือประมาณ สบายที่สุดก็คือ จิตไม่ยึดถืออะไรไว้ นี่เรียกว่าไม่มีอะไรมาเป็นภาระหนักแก่จิต หรือเป็นของหนักแก่จิต ถ้าใครสังเกตเห็นข้อนี้แก่ตัวเองแล้ว วิเศษมากแหละ จะเข้าใจพุทธศาสนาได้โดยง่ายและโดยเร็ว ถ้าไม่เข้าใจก็ทำอย่างไรได้ มันก็ ก็คว้าๆ คลำๆ กันไปก่อน รู้จักสังเกตเมื่อจิตใจว่าง ไม่ยึดถืออะไรในบางครั้งบางคราว แล้วจับมันให้ได้ว่าอ้อมันอย่างนี้เองถ้ามันว่าง แล้วมันก็เลยสบายที่สุด ไม่ต้องกินข้าวกินน้ำก็ได้ แต่ทีนี้ถ้าว่าสมบูรณ์ สมบูรณ์เป็นนิพพานนั้นมันว่าง ว่าง ว่างชนิดว่างจริง ว่างเด็ดขาด ว่างตลอดกาล ไม่กลับมาวุ่นอีก คือความคิดมันไม่ปรุงแต่งเป็นตัวตนของตนอีกต่อไป นี่แหละว่างตลอดกาลเป็นพระอรหันต์บรรลุนิพพาน แต่ถ้ามันว่างชั่วคราว เดี๋ยวมันก็มีการปรุงแต่ง มีสังขารปรุงแต่งเป็นความรู้สึกคิดนึก เป็นตัวตน เป็นของตนเรื่องนั้นเรื่องนี้เรื่องนู้นเพราะมันมากเรื่องได้ขึ้นมาอีก ขึ้นมาอีก มันก็ไม่ว่างอีก ฉะนั้นจิตของคนธรรมดาสามัญก็วุ่นๆ ว่างๆ ว่างๆ วุ่นๆ แต่ขอให้สังเกตกันสักอย่างหนึ่งว่าเวลาที่ว่างนั่นแหละสบายที่สุด ถ้าไม่โง่เกินไปจะสังเกตเห็น ขออภัย พูดหยาบคายไปหน่อย ถ้ามันไม่โง่เกินไปมันจะสังเกตเห็นความจริงข้อนี้ แต่ถ้ามันโง่เกินไปก็ช่วยไม่ได้เพราะมันเป็นปุถุชนนั่นหนาไปด้วยฝ้าในดวงตาต่อไปตามเดิม ถ้ามันไม่มีฝ้าในดวงตาหนาเกินไปน่ะ มันก็จะต้องสังเกตเห็น แม้ว่ามันจะทำไม่ได้ทั้งหมด ควบคุมไม่ได้ทั้งหมด มันก็ได้เห็นแล้ว ได้เห็นความจริง ได้เห็นตัวจริง ได้เห็นสิ่งที่จะต้องรู้ ต้องเข้าใจ ต้องควบคุมให้ได้ตลอดไป เมื่อไม่มีการปรุงแต่งอะไรเวลานั้นก็สบายที่สุด เป็นสุข เรียกว่าเป็นสุขแบบนู้นนะไม่ใช่แบบ แบบ ในโลก ทีนี้เราก็มาศึกษาเรื่องนี้กัน เพื่อไม่ให้ไม่มี เพื่อให้มีความรู้เรื่องนี้แล้วก็ปฏิบัติกรรมฐานภาวนาอะไรกัน เพื่อให้ควบคุมจิตไว้ให้ได้ เพื่อไม่ให้เกิดการปรุงแต่งในจิต เพื่อให้จิตมันว่างอยู่ตลอดไป นี่ข้อสำคัญเป็นอย่างนี้ แต่ก็ดูไม่ค่อยจะมีใครสนใจกันนัก ก็เพราะมันไม่รู้รสแห่งความว่าง ไม่ได้ชิมรสแห่งความว่างจนพอใจอยากจะมี เสมอไป มันก็ไม่สนใจ มันก็ไม่สนใจ ก็คือไม่สนใจเรื่องความว่างนะ เพราะไม่รู้จักตัวความว่าง เพราะไม่รู้จักรสอันประเสริฐสูงสุดของความว่าง มันก็ไม่สนใจที่จะปฏิบัติเพื่อให้อยู่กับความว่าง ให้จิตอยู่กับความว่าง จึงไม่สนใจสมาธิภาวนา อานาปานสติอะไรต่างๆเหล่านี้ เอ้อ, ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่จะฝึกฝนจิตใจชนิดที่ให้ว่างได้ ให้อยู่กับความว่าง ให้มีความว่าง อะไรเข้ามาเป็นวุ่นก็ไล่ออกไป ให้มันว่างไม่มีการปรุงแต่งในจิตใจ เอ้อ, ทางร่างกายก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น ทางจิตใจก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็เลยว่าง นี่คือเป็นจุดสูงสุดของพุทธศาสนาเรียกว่า นิพพานน่ะ ว่างอย่างยิ่ง นิพพานว่างอย่างยิ่ง นิพพานจึงเป็นสุขอย่างยิ่ง เพราะว่างจากสิ่งรบกวนโดยประการทั้งปวง นี้เรามาถึงขั้นนี้ เป็นจุดสูงสุดของพุทธศาสนา อ้าว,ทีนี้ก็ลองไปเปรียบเทียบกับพวกอื่นดูบ้าง ถ้าไปอยู่กับพระเจ้า พอใจในโลกของพระเจ้า อยู่กับพระเจ้า อะไรกับพระเจ้ามันก็มีเรื่อง มีเรื่องที่ไม่ว่าง มีเรื่องที่จะต้องพอใจกับพระเจ้า หรือว่าถ้าไปเป็น เป็นปรมาตมัน มีตัวตนถาวร อา, น่ารัก น่าพอใจอย่างยิ่งอยู่ มันก็หมายความว่ายังยึดถือสิ่งนั้นอยู่ ยังแบกไว้ เออ, ซึ่งสิ่งนั้น ก็เลยไม่ว่าง แต่เขาก็มีคำอธิบาย ชนิดที่ให้เป็นที่พอใจตามแบบของเขา ซึ่งเราพุทธบริษัทรับไม่ไหว เราก็มีตามแบบของเรา คือว่าง ไม่ต้องถืออะไรไว้ ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น ไม่ต้องแบก ไม่ต้องทูน ไม่ต้องทำการแบกของหนักใดๆ แต่ประการใด เรียกว่า ปลงของหนักลงเสียได้แล้ว ไม่หยิบเอาของหนักอันอื่นขึ้นมาถือไว้อีกต่อไป อย่างบทสวดมนต์ที่สวดกันอยู่ทุกวัน นี่มันเป็นเรื่องที่ลึก ที่ไกล ที่สูงสุด แต่ผมเห็นว่าควรแล้ว สมควรแล้วที่จะรู้กันไว้บ้างแล้ว แม้ว่าจะบวชพรรษาเดียว และพึ่งบวชอย่างนี้ก็ควรจะรู้จุดหมายปลายทางกันไว้บ้าง อย่างน้อยก็รู้ว่าพุทธศาสนาของตนเองนั้นเป็นอย่างไร แล้วเราก็ให้มันได้อยู่กับสิ่งนั้นน่ะ ตามโอกาส ตามสมควร ตามมี ตามได้ ตามมี ตามเกิด ก็คือให้มีจิตว่างกันบ้าง เมื่อใดจิตว่างแล้วจะสบายแล้ว บอกไม่ถูกละ มันมันไม่รู้ว่าจะเป็นรสอะไรก็ไม่รู้ แต่ว่าไม่มีความทุกข์เลยแหละ เบาสบาย บอกไม่ถูก จะกินข้าวก็อร่อย เอาอย่างนี้ดีกว่า ถ้าจิตวุ่นน่ะมันกินข้าวไม่ลง ก็ดูสิ ดูเวลาที่มันโกรธ หรือว่าเวลาที่มันมีวิตกกังวลอาลัยอาวรณ์อะไรอยู่ในใจมันกินข้าวก็ไม่อร่อย บางทีก็ถึงกับกินไม่ลง ถ้าจิตมันว่าง โอ๊ย, มันก็กินเพลินไปจนข้าวหมดหม้อไม่รู้ตัว ฉะนั้นเรารู้จักใช้ประโยชน์จากความว่าง เออ, ซึ่งผมก็สรุปใจความว่าทำงานด้วยจิตว่าง ทำงานด้วยจิตว่าง ไม่มีความรู้สึกว่าตัวกูทำเพื่อตัวกู แล้วก็ทำด้วยจิตว่างแล้วจะไม่เหนื่อย จะไม่เหนื่อย ถ้าว่าทำเพื่อตัวกู โอ้,มันไม่ได้นี่หว่า มันยังไม่มา มันยังไม่ได้ ทำไมจึงยังไม่ได้ ทำไมไม่ได้เร็วๆ อย่างนี้ ถ้าทำงานด้วยตัวกู ด้วยความต้องการแห่งตัวกู ถ้าทำด้วยจิตว่างก็ว่ามันเป็นหน้าที่ ตามหน้าที่แล้วก็เป็นสิ่งที่จะช่วยลุล่วงไปด้วยดีอย่าๆ อย่ามีความอยากเป็นตัวกู ตัวกูทำเพื่อตัวกู อย่ามีความคิดชนิดนั้น เพราะชีวิตมีหน้าที่ที่จะต้องทำสิ่งที่หล่อเลี้ยงบำรุงชีวิต ก็ทำก็แล้วกัน ก็ทำ ทำคล้ายกับเครื่องจักรมากกว่า แล้วมันก็มีผลตามกฎของธรรมชาตินะ มันไม่ไปไหนเสีย อ้าว, ทีนี้ทำงานด้วยจิตว่างไม่เหนื่อย ไม่เหนื่อย ทำสนุกสะดวกสบายก็ได้ผลมา พอได้ผลมานี่ เอาอีกแล้ว มันจะเอาเป็นของกูอีกแล้ว จะเอาเป็นของกูอีกแล้ว ไอ้ผลที่ได้มาก็อย่าเอามาเป็นของกูเลย เป็นของธรรมชาติ เมื่อทำงานด้วยจิตว่างก็ฝากผลงานไว้กับความว่าง ความว่างนิรันดร อนันตกาล ใน ใน ในโลกนี้ ในชีวิตนี้ ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง อ้า, ก็ยกผลงานให้ความว่างทุกอย่างสิ้น ได้ผลงานอะไรมา อ้า, ก็ยกให้เป็นของความว่าง ไม่ใช่ของกู นี่ ยกผลงานให้ความว่างทุกอย่างสิ้น ถึงจะกินอะไร ก็กินอาหารของความว่าง ของความว่างอาหารที่ได้มาด้วยจิตว่าง ฝากไว้กับความว่าง แล้วก็กินอาหารของความว่าง กินอาหารของความว่างอย่างพระกิน ถ้ามันเป็นพระจริงๆ มันต้องกินอาหารด้วยความว่าง ไม่เช่นนั้นไม่ใช่พระหรอก บทปัจจเวกว่า ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง ธาตุมัตตะเมเวตัง ยะทิทัง ปิณฑะปาโต ฯ ตะทุปะภุญชะโก นิสสัตโต นิชชีโว สุญโญ ถ้ามันเป็นพระ มันก็ต้องรู้ความหมายเหล่านี้ แล้วมันก็ต้องนึกข้อความนี้ก่อนที่จะฉันอาหาร นี่กินอาหารของความว่าง ตัวบิณฑบาตที่กินนั้นก็ว่าง ตัวบุคคลผู้กินก็ว่าง ว่างทั้ง ๒ ฝ่าย ด้วยความรู้สึกอย่างนั้น เอ่อ, แล้วมันก็มีการกินอาหารได้ คิดดู มันมีการกินอาหารได้ ทั้งที่ว่างจากเอ้อ, ว่าง ตัวตนทั้ง ๒ ฝ่าย ผู้กินก็ว่าง สิ่งที่ถูกกินก็ว่าง นี่เรียกว่า กินอย่างพระกิน กินอาหารของความว่างอย่างพระกิน ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็ว่า ว่าง ว่างตลอดเวลา ว่างตลอดเวลาไม่มี เอ่อ, ตัวกู ของกู ใช้คำพูดอุปมารุนแรงไปหน่อยว่า ตายเสร็จสิ้นแล้วในตัว แต่หัวที คำว่า หัวที หัวทีนี้มันภาษาบ้านนี้ บ้านนอก เมื่อไปพูดที่กรุงเทพ เขาฟังไม่ถูก เขาฟังไม่รู้ว่าหัวที หัวทีนี้หมายความว่าอย่างไร เขามาถามผมเองว่า หัวทีหมายความว่าอย่างไร ผมก็บอกว่า มันตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที หัวทีนี้ เราตาย คือไม่มีตัวกู ไม่มีของกูเสียแล้วตั้งแต่หัวที ตั้งแต่เริ่มทำงานด้วยจิตว่างน่ะ มันก็ไม่มีตัวกูแหละตายแล้ว ตัวกูตายแล้วแต่เริ่มทำงานด้วยจิตว่าง แล้วได้ผลงานมาก็ว่าง ไม่มีตัวตน ก็ฝากไว้กับความว่าง เรียกว่ากินอาหารก็กินจากความว่างก็เลยความ ตัวตนนั้นไม่มีตั้งแต่หัวที ตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีมาจนกระทั่งวาระนี้ ไม่มีตัวตน ไม่มีของตน เรียกว่า ว่าง แต่เราใช้คำรุนแรงว่าตาย ตายคือตายจากตัวกู ตัวตนไม่มีตัวกู ไม่มีตัวตนเสียแล้วตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที มันเป็นเรื่องที่เอ้อ, เข้าใจได้ยาก แล้วเมื่อๆ ไม่เข้าใจก็ ก็จะคิดกัน พูดเล่น โอ๊ยนี่มันพูดเล่น พูดเล่นลิ้น เอ้อ, พูดคารมเล่นลิ้น พูดไม่มีสาระอะไรก็ได้ ก็ได้เหมือนกันแหละ มันไม่เข้าใจมันก็ต้องคิดอย่างนั้น แต่ว่าถ้าใช้สติปัญญากันสักหน่อยก็พอจะเห็นเค้าเงื่อนว่า ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะเป็นทุกข์ มันจะต้องเป็นทุกข์ ถ้ามันมีตัวตนที่ไหนเมื่อไรก็ต้องเป็นทุกข์ แม้ว่ามันกินอร่อยอยู่ในปากมันก็เป็นทุกข์เพราะความอร่อยนั่นแหละ มันหลงในความอร่อย มันรักที่จะอร่อยยิ่งๆ ขึ้นไป อร่อยเท่านั้นยังไม่พอ ไม่รู้จะอร่อยอย่างไรอีก มันก็ยังอยากจะอร่อยอยู่นั่นแหละ นั่นแหละคิดดู ถ้ามันมีตัวตนแล้วก็ มันก็จะต้องเห็นแก่ตน มันก็ต้องอยากเพื่อตน อยากเพื่อของตน ก่อนแต่จะทำงานมันก็เป็นทุกข์ อยากหิวกระหาย เป็นทุกข์ตั้งแต่ก่อนจะทำงาน ทำงานอยู่มันก็เป็นทุกข์เมื่อไรจะออกผล เมื่อไรจะออกผล ได้ผลงานมาแล้วก็กินคาปากอยู่ มันก็ยังอร่อยไม่พอ ยังจะเอาอีก ยังจะคิดไม่มีที่สิ้นสุด มันก็เลย มีภาระแก่จิตใจ คือเป็นของหนักแก่จิตใจ เผาลนจิตใจ ร้อยเย็บจิตใจไว้กับไอ้สิ่งเหล่านั้น นั่นคือไม่ใช่พุทธบริษัท ถ้าไม่มีจิตใจรู้เรื่องนี้ ว่างได้ อยู่ด้วยความว่าง เป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้เบิกบาน อา, ไม่มีหม่นหมองด้วยตัวกู ของกู นี่เป็นพุทธบริษัท เป็นพุทธบริษัทที่แท้จริง โดยธรรมชาติที่แท้จริง เขาก็เป็นพุทธบริษัทกันอย่างนี้ เออ, ข้างต้นนั้นก็เป็นพุทธบริษัทตามธรรมเนียม ตามประเพณี มารับศีลเป็นพุทธบริษัท มานุ่งขาว ห่มเหลือง เป็นพุทธบริษัทมาอยู่วัดทำพิธีรีตองเป็นพุทธบริษัท เขาเรียกว่าเป็นพุทธบริษัทตามพิธี ตามระเบียบ ตามพิธี ตามภายนอก ตามสมมุติ แต่ถ้าว่าเมื่อจิตใจมันรู้เรื่องนี้ รู้เรื่องดับทุกข์สิ้นเชิง รู้เรื่องความว่าง หายโง่จากอวิชชา ตื่นจากหลับคืออวิชชา แล้วก็เบิกบานอยู่ด้วยไม่มีอะไรรบกวนจิต จิตรุ่งเอ้อ, เรือง เบิกบานอยู่ นี่แหละจึงจะสมกับคำว่า พุทธบริษัท คือเป็นบริษัทของพระพุทธเจ้า ไอ้คำนี้ก็ควรจะเข้าใจแล้วก็นึกไว้เสมอ พุทธบริษัท เอ้อ, มันแปลว่า นั่งล้อมรอบพระพุทธเจ้า ษัท ษัทชะ มันก็ติดษัททะ บา อ้า, ษัทชะ บาลี ษัทชะ สันสกฤตนี่ ษัทน่ะ มันแปลว่า นั่ง ษัท ษัททะ ษัทชะ แปลว่านั่ง (นาทีที่ 0:30:51) ปริ ปริ แปลว่ารอบ ปริษัทก็แปลว่านั่งรอบๆ นั่งเป็นวงรอบๆ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เดี๋ยวนี้นั่งรอบๆ พระพุทธเจ้าอยู่ตรงกลาง แล้วนั่งล้อมรอบพระพุทธเจ้าจึงเรียกว่า พุทธบริษัท ก็หมายความว่ามีคุณค่าอย่างของพระพุทธเจ้า เข้ามาอยู่ในจิตใจ จิตใจก็แวดล้อมรอบคุณค่าอันนี้ ความรู้สึกอันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ว่าง หรือจะว่ารู้ หรือตื่น หรือเบิกบานก็ได้ มันเพราะว่างต่างหาก มันจึงจะรู้ จะตื่น จะเบิกบาน จิตใจมันแวดล้อมคุณธรรมอันนี้ ก็เรียกว่านั่งแวดล้อมพระพุทธเจ้า คำว่าบริษัทในภาษาบาลีมันหมายความอย่างนี้ นั่งแวดล้อมวัตถุประสงค์อันใดอันหนึ่ง คือคนจำนวนมากมานั่งแวดล้อมวัตถุประสงค์อันใดอันหนึ่งก็เรียกว่าบริษัท เช่นเขาจะตั้งบริษัทค้าขายน่ะ เขาก็ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อหาเงินอย่างใดอย่างหนึ่ง มันเป็นวัตถุประสงค์ และทุกคนเหล่านั้นแวดล้อมวัตถุประสงค์อันนี้ แล้วก็นั่งแวดล้อมวัตถุประสงค์อันนี้เรียกว่า บริษัท แม้ส้วมที่จะไปถ่ายร่วมพร้อมๆ กันมากๆ นะก็เรียกว่าบริษัท ในความหมายที่ยืมมา แต่ว่าบริษัทที่แท้จริงนี้มันก็ต้องนั่งแวดล้อมรอบๆวัตถุประสงค์อันสูงสุด อันเลิศลอย อันเลิศที่สุดคือ นิพพานก็ได้ ความไม่มีทุกข์ก็ได้ พระพุทธเจ้าก็ได้ มันความหมายเดียวกันแหละ เพราะพระพุทธเจ้าก็คือผู้บรรลุนิพพาน ความหมายก็อยู่ที่นิพพานในพระพุทธเจ้า หรือจะหมายถึงตัวนิพพานโดยไม่ต้องเกี่ยวกับองค์พระพุทธเจ้ามันก็ได้เหมือนกัน ก็เป็นไอ้, จุดศูนย์กลางที่จะนั่งแวดล้อมได้เหมือนกัน หรือจะดูให้ลึกเข้าไปกว่านั้น โอย, มันเป็นความว่าง โอ้ย, เป็นภาวะแห่งความว่าง ว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ ว่างจากตัวตน ว่างจากไอ้ปรุงแต่ง เออ, ใดๆ โดยประการทั้งปวง อา, เอาสิ่งนั้นเป็นจุดศูนย์กลางแล้วแวดล้อมสิ่งนั้น หมายถึง จิต โดยจิต จิตเป็นจิต อา, ที่รู้สึกและกระทำ ไม่ใช่บุคคลกระทำ ไม่ต้องเอาจิตเป็นบุคคล ถ้าเอาจิตเป็นบุคคลก็เป็นลัทธิอื่นไปอีกแหละ จิตก็คือจิต กายก็คือกาย ความคิดของจิต ก็คือความคิดของจิต ภาวะปรุงแต่งก็เป็นสังขาร ไม่ปรุงแต่งก็เป็นวิสังขาร ภาวะปราศจากการปรุงแต่งเป็นวิสังขาร เป็นนิพพาน เป็นว่าง เป็นอ้า, ในที่สุด จะเป็นวิธีลัดสั้นที่สุดถ้าศึกษากันอย่างนี้ ถ้าจะศึกษาพุทธศาสนากันอย่างนี้จะเป็นวิธีลัดสั้นที่สุดทีเดียวถึงจุดหมายปลายทาง แม้จะเรียนพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ก็ไม่ได้อะไรมากไปกว่านี้ กล้าท้าอย่างนี้ เดี๋ยวจะว่าดูหมิ่นพระไตรปิฎกกันเสียอีก พระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ ข้อเรียนไปเถอะ เรียนไปเถอะ หมดนั้นจบสิ้นเสร็จแล้ว มันก็ไม่ได้อะไรมากไปกว่าได้ความว่าง ฉะนั้นเราจึงเรียกว่าเป็นวิธีลัดสั้นที่สุดเลย ที่จะเข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนาก็ได้ จะถึงจุดหมายปลายทางของพุทธศาสนาก็ได้ หรือจะพูดเล่นข้างย้อนกลับเป็นมามีตัวตนก็ว่า สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้น่ะมันอยู่ที่ตรงนี้ แต่อย่ามีตัวตนที่จะได้ อย่าได้มาเป็นของตนเลย มันเอามาไม่ได้ พอมีความคิดเป็นตัวตนจะเอามาเป็นของตนมันหายหมดแหละ มันไม่ได้เลย มันเอามาไม่ได้เลย ฉะนั้นจิตที่มันไม่มีตัวตน ไม่มีความคิดว่าตัวตน ไม่มีการปรุงแต่งโดยประการทั้งปวงแล้ว มันก็มาเองแหละ มันมาหาเอง พอจิตปอกเปลือกไอ้ความโง่ออกเสียหมดแล้วนิพพานก็เข้ามาหาเอง เหมือนกับแสงสว่างธรรมดาสามัญใน ใน ในโลกแสงอาทิตย์อย่างนี้ ถ้าไม่มีอะไรหุ้มห่อ แสงอาทิตย์ก็ส่องถึงสิ่งนั้นเอง แต่ถ้าเอาอะไรมาหุ้มห่อ ปิดกั้นเสีย เอาร่มมาปิดกั้นเสีย เอาหลังคามาปิดกั้นเสีย เอาอะไรมาปิดกั้นเสีย ของที่อยู่ข้างในนี้มันก็ไม่ถูกแสงแดด พอเอาสิ่งที่ปิดกั้นออกเสียมันก็ถูกแสงแดดเอง จิตนี้ก็เหมือนกัน เอาเปลือกคืออวิชชา กิเลสนานาชนิดที่เกิดมาจากอวิชชาที่หุ้มห่ออยู่หลายๆ ชั้นนั้นออกเสียให้หมด แล้วแสงแห่งความว่างหรือนิพพานก็เข้าถึงจิตเอง ถ้าจิตมันยังโง่มีอวิชชา มีสังขารปรุงแต่งเรื่อย ปรุงแต่งมีอะไรขึ้นห่อหุ้มจิตไว้เรื่อย ปรุงแต่งขึ้นมาเรื่อย ไม่มีวันนะที่จิตนี้จะพบกับแสงสว่าง เอ่อ, ของความว่าง หรือของนิพพาน ขอให้สนใจเอ้อ, ในฐานะที่เป็นวิธีที่ลัดสั้นที่สุดทีเดียวถึงนิพพาน จะรักษาศีลหมดทุกข้อ ก็เพื่อแกะเปลือก แกะเปลือกที่หุ้มห่อจิต กระทำสมาธิกันทุกแบบ ก็เพื่อๆ แกะเปลือกของจิตลึกเข้าไป ทำวิปัสสนาปัญญากันทุกแบบ ก็เพื่อจะแกะเปลือกเข้าไปอีก ถอนราก ถอนโคน เสร็จแล้วมันก็จิตนี้ก็ หลุดจากสิ่งหุ้มห่อ สัมผัสกับแสงแห่งความว่างหรือนิพพาน คือความไม่มีทุกข์ เรียกว่านิพพาน นิพพาน คือ ภาวะที่ปราศจากความทุกข์ แต่เราได้รับคำสั่งสอนอย่างผิดๆ ผิดๆ ว่า นิพพานคือตาย นิพพานคือตาย ต้องขออภัยที่ต้องพูดคำหยาบว่า มันสอนกันอย่างโง่ๆ โดยคนโง่ มันสอนกันผิดๆ ให้คนทั้งหลายเข้าใจไปว่านิพพานนั้นคือตาย ไอ้นิพพานนั้นไม่ต้องตาย จิตปราศจากสิ่งที่ทำให้ร้อนคือกิเลสแล้วมันก็เย็น ภาวะแห่งความเย็นนั่นแหละคือนิพพาน ไอ้นิพพานคำนี้แปลว่า เย็น ไม่ใช่แปลว่า ตาย ถ้าเรียกว่านิพพาน นิพพาน แล้วในทุกความหมายเลยที่มีอยู่ในพระบาลี ไม่ได้เกี่ยวกับความตาย ผมสำรวจที่สุดแล้ว ไม่พบนิพพานในความหมายว่า ตาย ถ้าเกี่ยวกับความตายมันไปมีคำว่า ปรินิพพาน ใช้อย่างพระพุทธเจ้าปรินิพพานนั้นแหละ แต่ก็ใช้ในแบบภาษาคนทั้งนั้นแหละ ภาษาธรรม เขาก็ไม่ได้ตาย ภาษาคนที่จะให้ใช้ หมายถึง ความตายของพระอรหันต์ ของพระพุทธเจ้า เรียกว่า ปรินิพพาน เช่น ปลงสังขารว่า การปรินิพพานจะมี ๓ เดือนแต่นี้ ปรินิพพานจะมีในเวลาอันไม่นาน ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุนั้น อนุปาทิเสสนิพพานธาตุนั้นเองคือตัวสิ่งที่ไม่ตาย ตัวๆ ปรินิพพานตัวตายคือ ขันธ์ ร่างกาย ขันธ์อันจะต้องดับ จะต้องตาย แล้วมันก็ตายอย่างมีนิพพานอนุปาทิเสสซึ่งเป็นความไม่ตาย ไม่ใช่ความตาย แต่เป็นความเย็น พูดภาษาชาวบ้าน อุปโลกน์กันเสียใหม่ว่า เย็นที่สุด ตายเย็นที่สุด ตายอย่างเย็นที่สุด ไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้เร่าร้อน รู้สึกระคายเคืองแม้แต่เวทนาสักนิดหนึ่งก็มิได้มี คนธรรมดาสามัญปุถุชนตายอย่างโง่ๆ เดือดร้อนด้วยความกลัว ร้อนอยู่ด้วยความกลัวตาย ไม่อยากตาย ดิ้นรนอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างนี้เรียกว่ามันตายร้อน มันเป็นปุถุชนเท่าไร มันยิ่งโง่มากเท่าไร มันก็ยิ่งตายร้อนเท่านั้นแหละ ส่วนพระอรหันต์ก็ตายเย็น เย็น ไม่มีกิเลส ไม่มีตัณหาอุปาทาน ไม่มีความกลัวตาย ไม่มีตัวตนที่จะตาย สังขารร่างกายก็ดับไปด้วยความเย็นสูงสุด เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นี่มันจบ จนไม่รู้จะพูดอะไร มันจบจนไม่รู้จะพูดอะไรอีก มันจบเรื่องมันจบ ทีนี้ขอให้รู้กันเถิด รู้ไว้เถิดในฐานะเป็นพุทธบริษัท หรือเป็นภิกษุ เป็นภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาอะไรก็ตาม ให้รู้ไว้เถิด ว่าพุทธศาสนามันมีอย่างนี้ คือจบที่ความว่าง ว่าที่จริงมันก็ตั้งต้นมาจากความว่าง เมื่อมันเกิดมาในท้องแม่ อยู่ในท้องแม่ มันคิดอะไรไม่เป็นหรอก มันว่างเหมือนกันแหละ แต่มันว่างชนิดที่กลับวุ่นได้ จิตมันว่างแต่ว่างชนิดที่กลับวุ่นได้ มันยังไม่วุ่น มันว่างอยู่ มันก็มีลักษณะอย่างเดียวกันแหละ คือไม่ทุกข์ ไม่ร้อน เย็นเหมือนกัน อา, เขาเรียกว่า ประภัสสร จิตประภัสสร แจ่มใส สดใส แต่เป็นชนิดที่กลับเศร้าหมองได้ นั่นแหละ มันอยู่ในท้องด้วยจิตประภัสสร มันคลอดออกมาด้วยจิตประภัสสร แต่พอมันคลอดออกมาแล้ว มันมาสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อร่อย ไม่อร่อย ชอบ ไม่ชอบ รัก เกลียดอะไรทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นี่ มันก็สร้างกิเลสขึ้นมา สร้างอุปกิเลสขึ้นมา กลบความเป็นประภัสสร สูญเสียความเป็นประภัสสร เป็นจิตเศร้าหมอง ทีนี้เรารู้เรื่องนี้ เราเข็ดหลาบเรื่องนี้ เราเกลียดกลัวเรื่องนี้ เราก็มาศึกษาค้นคว้าปฏิบัติ ปฏิบัติ ปฏิบัติ อบรมจิต อบรมจิต อบรมจิต จนชนิดที่ไม่ให้มีกิเลสอะไรเกิดขึ้นมาได้ ให้มันประภัสสรถาวรเลย ให้มันประภัสสรถาวรเลย นี่เรียกว่า ถึงความว่าง เคยเห็นไอ้, ภาพเขียนทางฝ่ายจีนน่ะเขาเขียนดีที่สุด ตั้งต้นด้วยความว่าง แล้วก็วุ่นๆๆ แล้วก็จบลงด้วยความว่าง นี่เป็นภาพที่น่า เอ้อ, น่าพอใจ น่าศึกษา แม้ชีวิตของเราแต่ละคน แต่ละคนในวันหนึ่ง วันหนึ่งน่ะ ธรรมดามันก็ว่าง พอมีอารมณ์เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็วุ่น พอเสร็จแล้วมันก็กลับว่าง และเดี๋ยวก็มาวุ่นอีก เดี๋ยวก็ว่างอีก เดี๋ยวก็วุ่นอีก เดี๋ยวก็ว่างอีก เพราะว่าจิตนั้นมันยังโง่ มันพร้อมที่จะรับไอ้ทุกสิ่งที่เข้ามาปรุงแต่งเป็นตัวกู ของกู เป็นกิเลส เป็นโลภะ โทสะ โมหะ เป็นตัณหา เป็นการกระทำกรรม รับผลกรรมดิ้นรนไปตามกรรม อย่างนี้มันก็ไม่ว่าง ไม่ว่าง มันมีลักษณะเหมือนกับหัวหกก้นขวิดอยู่เรื่อยไปอย่างนี้ มันไม่ว่าง เรียกว่า นั่งก้นไม่ติดพื้น ในความหมายทางจิต มันก็ควรจะเข็ดหลาบกันเสียบ้าง ว่ามันน่าเกลียดน่ากลัวสักเท่าไร แล้วมันควรจะรู้จักละอายกันเสียบ้าง ว่าอย่างนี้มันน่าละอาย แต่ชาติคนหน้าด้านมันไม่รู้จักละอาย ว่ามันมีกิเลสแล้วมันน่าละอายอย่างนี้มันไม่ละอาย มันไม่มีความละอายเสียเลย มันจะเอาความคิดนึกไหนมายับยั้ง มันไม่กลัวเสียเลย มันจะเอาความคิดไหนมายับยั้ง มันไม่ละอายเมื่อมีกิเลส เป็นสิ่งที่น่าเกลียดน่าชังที่สุดนะ มันไม่ละอายต่อกิเลส ที่เขาเป็นพระ เป็นเณร เป็นอุบาสก เป็นอุบาสิกาทำงานเผยแผ่พุทธศาสนา แต่มันก็ไม่มีความละอายเลยในการที่มีตัวกู ของกู ยกหู ชูหาง มันติดเป็นนิสัยมา อา, พอแก่เฒ่าเข้ามันยิ่งละไม่ได้ ผมก็รู้สึกว่าประหลาดที่สุดเลย ว่าคนไม่มีความละอาย มีตัวกู ของกู ยกหู ชูหางจะเป็นผู้เผยแผ่เรื่องดับทุกข์ เรื่องตัวกู ของกู คิดดูสิมันน่าหัวสักเท่าไร คนที่จัดการเผยแผ่พระพุทธศาสนาบางคนนั่นน่ะ มีตัวกู ของกู ยกหู ชูหางทะเลาะวิวาทกันเองไม่มีที่สิ้นสุด นี่มันไม่ว่าง มันไม่ว่าง ฉะนั้นขอให้เรานึกกันถึงเรื่องนี้เถิดว่า ไม่เท่าไรมันจะเน่าเข้าโลง มันจะตายเน่าเข้าโลงไปทั้งนั้น เวลามันเหลือไม่มากนักหรอก ถึงคุณจะเป็นหนุ่มอยู่ เหลืออยู่หลายสิบปีมันก็ไม่มากหรอก ถ้าอายุหกสิบ เจ็ดสิบ แปดสิบเหมือนผมแล้ว มันก็ไม่กี่ปีมันก็ตายแหละ มันก็ต้องรีบทำให้ทันแก่เวลา ให้มันได้อยู่กับความว่าง ให้มันเข้าถึงความว่าง ให้มันได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับเสียก่อนแต่ที่ร่างกายมันจะตาย ศึกษาปฏิบัติ กำจัดไอ้ความยึดมั่นถือมั่นว่า ตัวกู ของกู นี้ให้หมดไปเสียโดยเร็ว ก่อนแต่ที่ร่างกายมันจะตาย ให้ในจิตใจมันหมดไอ้, ความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ของกู คือความวุ่น แล้วมันจะได้ว่าง แล้วมันจะได้ตายด้วยความว่าง คือตายเย็น ตายเย็น เย็นสนิท ตายเย็น เพราะมันมีความว่างจากตัวกู มิฉะนั้นมันจะต้องตายร้อน อา, ตายด้วยความหวาดกลัว วิตก กังวล ไม่อยากตาย ต่อสู้ ดิ้นรน เป็นห่วงคนนั้นคนนี้ ห่วงลูก ห่วงเมีย ห่วงอะไรไปสารพัดอย่าง มันตายร้อนทั้งนั้นเลย ถ้ามันรู้จักทำจิตใจให้หมดจากตัวกู ของกูเสียแต่เดี๋ยวนี้มันก็ตายเย็น เราเรียกว่าตายเสียก่อนตาย เป็นปริญญาของสวนโมกข์ ใครได้รับแล้วก็ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด แต่คนเขาไม่เอา เขาไม่ต้องการจะตาย เอ่อ, เพราะเขากลัวความตาย เขาฟังไม่ถูก เขาอยากจะอยู่ เขาไม่อยากจะตาย พอเราบอกว่าให้ตายเสียก่อนตายเขาก็ไม่เอา ให้ตายทาง ทางใจ ทางวิญญาณ ทางอุปาทานน่ะ หมด ตัวกูของกู เอ่อ, แล้วก็เลย อยู่แต่สิ่งที่ไม่ตาย สิ่งที่ไม่ตายคือ ความว่าง ความว่างตายไม่ได้ เพราะไม่มีตัวกูที่จะตาย ไอ้ความวุ่น น่ะวุ่นอยู่ในตัวกูของกูนั่นมันตายได้ เราก็ไม่รู้จะโทษใครเหมือนกัน พอเกิดมา เกิดมาจากท้องแม่ก็ได้รับการสั่งสอนอบรมแวดล้อมให้มีความคิด เป็นตัวกู เป็นของกูเรื่อยๆ มาจนใหญ่จนโต ไม่มีใครพูดให้เด็กๆ รู้ว่ามันไม่ใช่ตัวตน มันไม่ใช่ของตนน่ะไม่มีใครรู้ ไม่มีใครพูด ถึงพูดเด็กก็ฟังไม่ถูก เพียงแต่พ่อแม่จะพาเด็กไปที่ร้านขายของเล่นมหาศาล มากมายก่ายกองสารพัดอย่าง ดีๆ แพงๆ แล้วแม่ก็บอกว่าลูกเอ๋ยทั้งหมดนี้น่ะเขามีไว้สำหรับทำให้เราโง่ อย่างนี้มีพ่อแม่คนไหนทำบ้าง เพียงเท่านี้มันยังทำไม่ได้เลย แล้วมันเป็นความจริงที่สุด ไอ้ของเล่นของอะไรต่างๆ นั้นมันมีไว้สำหรับให้เราโง่ ให้เราไปซื้อหาเอามา แต่ไม่มีแม่คนไหนที่จะพาลูกไปดูแล้วบอกว่า มัน มันล้วนแต่ทำให้เราโง่ หรือเข้าไปในร้านของอร่อย ไอศครีมหรืออะไรก็ตามที่อร่อย ที่ ที่แพง ที่กันนัก ที่นิยมกันนัก แล้วก็บอกว่าลูกเอ๋ยทั้งหมดนี้มันมีไว้สำหรับทำให้เราโง่ มีแม่คนไหนมันทำบ้าง พ่อคนไหนมันทำบ้าง มันมีแต่จะถามว่า แกต้องการอะไรฉันจะซื้อให้ แกต้องการอันไหน แกต้องการอะไร มันมีแต่อย่างนี้ มันก็เลยมีความเข้าใจผิดตั้งต้น ตั้งต้น เป็นตัวตน เป็นของตน เป็นสวย เป็นงาม เป็นเอร็ดอร่อย เป็นอะไร เป็นตัวชั้นเลิศ ชั้นประเสริฐที่กูควรจะได้ หรือกูควรจะได้อีก กูควรจะมีอีก อ้า, ก็จะมีการสะสม มีอะไรกันไปตามเรื่อง เรียกว่าจิตใจหนา เกรอะกรังไปด้วยอุปาทานว่าตัวกู ว่าของกู แล้วเราก็เติบโตขึ้นมาด้วยความรู้สึกอย่างนี้ จะมีเงินมาก จะมีแฟนที่สวยงามที่สุดในโลก จะมีทรัพย์สมบัติ มีอำนาจวาสนา มีอะไร มันก็ยิ่งกว่า ยิ่งกว่าคนบ้าอีกมั้ง อา, ถ้ามันบ้าด้วยอวิชชา ด้วยตัณหา ด้วยอุปาทานนี่มันบ้ายิ่งกว่าคนบ้าตามธรรมดาในโรงพยาบาลเสียอีก มันไม่รู้จักความว่าง มันอยู่ด้วยความวุ่น แล้วมันก็วุ่นๆ วุ่นๆ วุ่นจนเน่าเข้าโลงไปด้วยความวุ่น ไปไหนก็ไม่รู้ แต่มันก็ต้องไปวุ่น ถ้ามัน มัน ถ้ามันไปต่อไป มันก็มีไปด้วยความวุ่น ไปวุ่น ไม่ว่าง ทางดีที่สุด รู้จักความว่างเสียแต่เดี๋ยวนี้ เอ้อ, ดำรงจิต ควบคุมจิต ฝึกฝนจิตให้รู้จักทำให้ว่าง อยู่กับความว่าง ความว่างเป็นพระนิพพาน นิพพานัง ปรมัง สุญญัง อ้า, คำนี้ไม่ใช่พุทธภาษิต แต่ว่าถูกต้องที่สุด เพราะข้อความที่เป็นพุทธภาษิตมีอยู่มากมายที่แสดงให้เห็นว่า นิพพานนั้นว่างอย่างยิ่ง เราถือเป็นหลักได้เลยว่า นิพพานัง ปรมัง สุญญัง เป็นคำผูกขึ้นใหม่ของพระอาจารย์ในผู้เขียนคัมภีร์วิ คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค ผู้ร้อยกรองคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคซึ่งมีอยู่ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าไม่เคย ไม่ ไม่เคยตรัสคำนี้ แต่ว่าตรัสไว้มากมาย ซึ่งสรุปความได้อย่างนี้ว่า นิพพานว่างอย่างยิ่ง ว่านิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าตรัส มีพุทธภาษิต แต่คนก็ยังคิดว่านิพพานคือความตายอยู่นั่นแหละ มันโง่ คนมันโง่เท่าไรน่ะ ถ้าตายแล้วจะสุขได้ เขาก็บอกอยู่หยกๆ ว่านิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง แล้วก็จะไปว่านิพพานคือความตาย เลิกกันทีเถิด อ้า, คุณก็ได้มาบวชมาเรียนอะไรกันพอสมควรแล้ว แล้วก็เลิก เลิกความรู้ที่สอนกันในโรงเรียนในลูกเด็กๆ สอนว่านิพพานคือความตายของพระอรหันต์ เลิกเสียที นิพพานไม่ใช่ความตาย แล้วยิ่งกว่านั้น องค์พระอรหันต์นั้นตายไม่ได้ องค์พระอรหันต์ องค์ธรรม องค์คุณที่เป็นพระอรหันต์ตายไม่ได้ ท่านตายได้แต่เปลือกคือร่างกาย พระพุทธเจ้าเองก็ตายไม่ได้หรอก ตายได้แต่เปลือกคือร่างกาย ฉะนั้นนิพพานไม่ใช่ความตาย นิพพานคือความเย็น เป็นภาวะ มีทันทีเมื่อปราศจากการปรุงแต่ง คือไม่มีกิเลส ไม่มีอวิชชาปรุงแต่งอะไรให้เป็นกิเลสเป็นตัวเป็นตนอะไร ก็เรียกว่าไม่มีการปรุงแต่ง มันก็ว่าง นี่เป็นความเย็น ภาวะแห่งความเย็น เย็นสูงสุดแห่งความเย็นทั้งหลาย เย็นน้ำแข็งก็ไม่ใช่เย็นอย่างนี้ ไม่ ไม่เท่า ไม่ใช่เย็นอย่างนี้ เอาไปแช่น้ำแข็งก็นิพพานไม่ได้ มันต้องเย็นโดยที่ว่ามันไม่มีไฟ คือกิเลสและความทุกข์ ซึ่งวุ่นอยู่ เป็นตัวกูเป็นของกู โลภะ โทสะ โมหะ วุ่นอยู่เป็นตัวกู ของกู มาจากอวิชชา ปรุงแต่งขึ้นมา เออ, คุณจะคิดว่าจะทำได้หรือไม่ทำได้ หรือคิดว่าทำไม่ได้ก็ตามใจนะ แต่คุณต้องรู้ไว้ว่ามันต้องรู้นะ ต้องรู้ ต้องรู้เรื่องนี้ ถ้าไม่รู้มันก็ป่วยการเปล่านะ การบวชมันอาจจะป่วยการเปล่า คือไม่ ไม่ได้รู้ไอ้เรื่องที่ควรจะรู้ ที่เป็นจุดหมายปลายทาง แต่เราจะไปได้หรือไปถึงหรือไม่นั้นมันอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเราคอยสังเกตไว้เสมอจนพอใจในความว่าง รู้สึกเป็นสุขเมื่อว่างแล้วมันจะชอบความว่างมากขึ้น มากขึ้น มีฉันทะ พอใจในความว่างมากขึ้นๆ นี้มีหวัง มีหวังว่ามันจะก้าวหน้าไปได้ถึงความว่างก่อนแต่ตายก็ได้ ฉะนั้นขอให้มีสติสัมปชัญญะ กำหนดรู้เมื่อมันว่างและเมื่อมันวุ่น พอมันวุ่นก็ปัดออกไป แล้วก็เสียใจ แล้วก็ละอาย แล้วก็เกลียด แล้วก็กลัว อย่ามัวหน้าด้านอยู่เลย ต้องละอายเมื่อเกิดกิเลส ละอายเมื่อเกิดความทุกข์ ละอายเมื่อเกิดความบ้า แสดงบทบาทแห่งกิเลส ดุคนนั้น ด่าคนนี้ ตีคนนั้น ว่าคนนี้ นินทาคนนั้น นินทาคนนี้ รู้สึกละอายกันเสียบ้าง เมื่อทำอย่างนั้นจงละอายกันเสียบ้าง แล้วมันจะดีขึ้น จะดีขึ้น ไม่ต้องสงสัย จะได้เป็นพุทธบริษัทที่แท้จริง คือมีจิตใจอย่างเดียวกับพระพุทธเจ้า จึงจะไปนั่งแวดล้อมจิตใจของพระพุทธเจ้าได้ แม้ไม่เหมือนกันดิก ไม่เท่ากันดิก แต่ถ้ามันคล้ายกันมันก็ไปหากันเอง มันแวดล้อมกันเองได้ มันต้องทำจิตใจให้คล้ายจิตใจของพระอรหันต์ มันจึงจะไปนั่งแวดล้อมพระอรหันต์โดยจิตใจ นี่เรียกว่าเป็นอุบาสก เป็นอุบาสิกาผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย ถ้าใช้คำว่า พระรัตนตรัย แล้วมันยิ่งว่างใหญ่เลย พระพุทธเจ้าเป็นผู้คนพบความว่าง สอนความว่าง พระธรรมคือความว่าง พระสงฆ์คือปฏิบัติความว่างได้สำเร็จ แล้วก็สอนความว่างกันต่อๆ อีกไป อีกต่อไป พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือเป็นที่รวมของความว่าง ถ้าจิตใจไม่ว่าง ไม่มีทางจะใกล้ชิดพระรัตนตรัย จิตใจมันวุ่น มันสกปรก อยู่ด้วยกิเลส จองหอง พองขน ตัวกู ของกู มันเข้าไปหาพระรัตนตรัยไม่ได้ล่ะ มันเข้าไปไม่ได้ล่ะ เข้าไปหาความว่างไม่ได้ล่ะ ถ้ามันมีความวุ่น มันก็ปิดกั้นเสียไม่ให้เข้าถึงความว่าง เอาล่ะคิดว่ามันจะพอกันทีพูดเรื่องความว่าง ขั้นแรกที่สุดขออย่าได้โง่เหมือนที่เขาพูดกันทั่วๆไปว่า สุญญตา สูญเปล่า สุญญตา สูญเปล่า เลยธรรมะเป็นเรื่องสูญเปล่า นิพพานเป็นเรื่องสูญเปล่า อะไรก็เป็นเรื่องสูญเปล่าหมด สุญญตา ต้องแปลว่าความว่าง ว่างจากอะไร ว่างจากการปรุงแต่ง ไม่มี ไม่มีการปรุงแต่งในจิตใจ ก็ไม่มีตัวตน ของตน ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู ไม่มีกิเลสตัณหาใดๆ ไม่มีความเห็นแก่ตัวใดๆ นี่เรียกว่า เห็นสุญญตา ว่างจากกิเลสและก็ว่างจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง แล้วจะเอาอะไรกันอีกเล่า คนบ้านั้นมันจะเอาอะไรกันอีกเล่า เมื่อมันว่างจากความทุกข์โดยสิ้นเชิงแล้วมันจะเอาอะไรกันอีกเล่า ถ้าขืนเอามามันก็เป็นความยึดมั่นถือมั่น ก็เป็นความหนัก เป็นความทุกข์ขึ้นมาอีก อ้า, อย่าเอาความว่างเป็นตัวตน อย่าเอานิพพานเป็นตัวตน มันจะไปเหมือนกับลัทธิอื่น ลัทธิอื่นที่เขาเอานิพพาน เอาละสุดท้ายเป็นตัวตน เราไม่เอานิพพานเป็นตัวตนนะ ให้พระนิพพานเป็นนิพพานเป็นความว่างจากตัวตนอยู่ตลอดเวลา เมื่อไรจิต เมื่อไรจิตของเราว่างจากตัวตน เมื่อนั้นจิตของเราถึงกับนิพพาน แม้ชั่วครู่ ชั่วขณะ นิพพานเป็นอายตนะอย่างหนึ่งนะ บางคนจะไม่เข้าใจ มันเรียนนักธรรม นักธรรมตรี โท เอก มันก็รู้แต่ว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นี้คืออายตนะ มันรู้แค่นั้นแหละ ส่วนที่นิพพานก็เป็นอายตนะอย่างหนึ่งมันไม่รู้ มันเป็นอายตนะฝ่ายวิสังขาร ฝ่ายอสังขตะ ฝ่ายไม่ปรุงแต่งนู่น มันเป็นอายตนะฝ่ายโลกุตระนู่น นิพพานก็เป็นอายตนะอย่างหนึ่ง อา, คำว่าอายตนะ แปลว่า สิ่งที่สัมผัสได้ด้วยจิต สิ่งที่สัมผัสได้ด้วยจิต อะไรๆ ที่สัมผัสได้ด้วยจิต เรียกว่า อายตนะ ทั้งนั้น ที่ที่เป็นวัตถุธรรมดาตามธรรมชาติก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่จะเข้ามาสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ก็เรียกอายตนะ เอ้อ, ถ้าสูงไปกว่าธรรมดาหน่อยก็เป็นเรื่อง สมาธิ พวกอรูปฌาณ พวกรูปฌาน อรูปฌาณ นั่นแหละเรียกชื่อว่า อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานา สัญญายตนะ อายตนะ คือ อากาศไม่มีที่สิ้นสุด อายตนะ คือวิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด อายตนะ คือความไม่มีอะไร ไม่มีที่สิ้นสุด อายตนะ คือความมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ นี่ก็เป็นอายตนะทางจิต แต่ยังไม่เป็นอสังขตะ ยังอยู่ในโลกนี้ ก็เรียกว่า อายตนะเหมือนกัน ทางจิตที่สูงขึ้นไป ใกล้ๆ พระนิพพานเข้าไป แต่ที่กระโดดไปฝ่ายโลกุตระ ไม่ปรุงแต่งอะไรก็มีอายตนะชั้นสูงสุด คือ พระนิพพานนั่นเอง เป็นอายตนะ ดังที่ตรัสว่า อัตถิภิกขเว ตะทายะสะนัง นะอาโป นะเสโช นะวาโย (นาทีที่ 01:01:47) เรื่อยๆ ไปแหละ อายตนะนั้นมันมีอยู่แต่มันไม่ใช่อะไรๆๆ อย่างที่มนุษย์รู้จักกัน เป็นที่สุดแห่งความทุกข์ ดังนั้นจึงถือว่านิพพานมีอยู่ นิพพานเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ด้วยจิต ต่อเมื่อจิตว่างจากเปลือกหุ้มห่อ คือกิเลส ตัวกู ของกู นิพพานเกลี้ยง อา, จิตใจเกลี้ยงอย่างนี้แล้วจึงจะสัมผัสนิพพานได้ เดี๋ยวนี้จิตมันถูกกด ถูกมัด ถูกผูกพันอยู่ที่นี่ หลุดออกไปนิพพานไม่ได้ สัมผัสนิพพานไม่ได้เพราะมันมีเปลือกหุ้มมากเกินไป ไม่มีเปลือกหุ้มจิตก็หลอน รอดออกมาได้ ก็เข้าสัมผัสนิพพานได้ ฉะนั้นสนใจกันไว้บ้าง พยายามทำจิตให้มันสงบ ให้มันว่าง แล้วจะพอใจในพระนิพพานยิ่งขึ้นทุกที ยิ่งขึ้นทุกที ยิ่งขึ้นทุกที อย่างนี้เรียกว่าเป็นปัจจัยแก่การบรรลุนิพพาน อย่าพูดให้โง่ๆ ผิดๆ เหมือนที่พูดกันมากว่าเป็นปัจจัยแก่พระนิพพาน ชาวบ้านก็ดี ชาววัดก็ดี พระ เถร เณร ชี ก็ดี อย่าพูดว่าเป็นปัจจัยแก่พระนิพพาน มันจะโง่ ก็เพราะว่านิพพานนั้นไม่มี ไม่ ไม่ต้องการปัจจัย ไม่มีปัจจัยอะไรปรุงแต่งพระนิพพานได้ แต่ว่ามันเป็นปัจจัยแก่การที่จะบรรลุพระนิพพานได้ง่ายขึ้น นี่ นี่หมายความว่า จิตใจนี้ซึ่งเป็นวิสังขารปรุงแต่งได้ นี่ ถ้าเราทำกันไว้อย่างนี้ ปัจจัยที่จะช่วยให้บรรลุนิพพานได้ง่ายขึ้นนั้นมันก็จะมี ดังนั้นขอให้ทำบุญกุศลทุกอย่างนานาประการไว้ เพื่อเป็นปัจจัยแก่การบรรลุนิพพาน นี่อย่างนี้แหละถูก อย่าพูดผิดๆ ว่าเป็นปัจจัยแก่พระนิพพานซึ่งได้ยิน ได้ยินพูดกันมาก แล้วก็น่าเกลียดน่าขยะแขยงที่สุดที่มันหลับหูหลับตาพูดให้พระนิพพานมีเหตุมีปัจจัยไปเสียอีก เออ, นิพพานจะมีปัจจัยไม่ได้หรอก ไม่มีปัจจัยอะไรปรุงแต่งพระนิพพานได้ แต่ว่าการที่จะบรรลุพระนิพพานของมนุษย์นี่มีเหตุมีปัจจัยที่จะทำให้เร็วขึ้น ให้ง่ายขึ้น ฉะนั้นเราจงทำทุกอย่างที่เป็นการปฏิบัติธรรมะ ทุกอย่าง ทุกประการทำไปเถิด มันจะเป็นปัจจัยแก่การบรรลุพระนิพพานได้ง่ายเข้า นี่ขอให้เธอทั้งหลาย เอ้อ, พยายามสนใจให้เรื่องมันเดินมาทำนองนี้ ให้มันเดินเข้ารูป เข้ารอยอันนี้ แล้วมันก็จะถึงจุดหมายปลายทางได้ แน่นอนแหละ ถ้ามันไม่ลงมาในคลองนี้ ในแนวนี้แล้วมันไม่มีหวังหรอก ให้มันมาสู่ความพอใจ ยินดีในความว่าง ปราศจากความทุกข์ ชิมรสของพระนิพพาน อา, อยู่ตลอดเวลาเล็กๆ น้อยๆ ขอให้ชั่วขณะเป็นนิพพานตัวอย่าง เมื่อใดไม่มีความทุกข์แล้วก็รีบหาให้พบเสียว่านั่นแหละมันเป็นความว่าง และนั่นแหละทำให้ไม่ปวดหัว ทำให้นอนหลับสนิท ทำให้คนเราไม่เป็นโรคประสาท ทำให้คนเราไม่ต้องเป็นบ้า นิพพานน้อยๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาตินั่นน่ะมันช่วย ฉะนั้นอย่าเป็นสัตว์เนรคุณเลย จงรู้จักคุณของนิพพานอย่างนี้ไว้เรื่อยๆ ไป มันจะช่วยส่งเสริมให้แก่กล้า ให้ง่ายเข้าในการที่จะบรรลุนิพพานเต็มที่โดยสมบูรณ์ จิตว่างน้อยๆ มีความสุขเย็นน้อยๆ นี่ ชิมกันไปก่อนเถิด เป็นตัวอย่างของพระนิพพานใหญ่ที่สมบูรณ์ ฉะนั้นขอให้สนใจเรื่องความสงบเย็นหรือความว่างนี้กันเป็นพิเศษ ว่ามันช่วยให้เราไม่ต้องเป็นโรคประสาท ไม่ต้องเป็นบ้า เหมือนกับที่มันเป็นมากขึ้นทุกทีในโลกนี้ตามรายงานสถิติต่างๆ คนเป็นโรคประสาทเพิ่มขึ้น เป็นบ้าเพิ่มขึ้น เพราะในโลกมัน มันกำลังเจริญด้วยเหตุปัจจัยที่ทำให้คนเป็นบ้าหรือเป็นโรคประสาท เราเตรียมป้องกันตัวไว้ ฉีดวัคซีนนี้ป้องกันไว้ รู้เรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่นเหมือนกับวัคซีนฉีดป้องกันไว้ ก็จะไม่ต้องเป็นโรคประสาท จะไม่ต้องเป็นบ้า เรียกว่าไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา อ้า, เรื่องควรจะจบกันที เอ้อ, ขอฝากไว้แก่ทุกคนจงได้เข้าใจเรื่องนี้ ไว้พูดจากันให้ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจะพูดกับคนต่างชาติต่างศาสนาแล้วจงช่วยพูดจากันให้ถูกต้อง แม้ที่สุดแต่ว่า สุญญตาไม่ใช่ความสูญเปล่า เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดที่ทำให้ไม่มีความทุกข์เลย พุทธศาสนาจบที่สิ่งสูงสุดจริงๆ คือ สุญญตา ไม่ไปติดอยู่ที่นั่นที่นี่ ไม่ได้ติดอยู่ที่พระเจ้า ไม่ติดอยู่ที่ปรมาตมัน ไม่ได้ติดอยู่อย่างที่เขาติดๆ กันอยู่ เราก็จะได้ภูมิใจว่ามี พระศาสนาที่สมบูรณ์ถึงที่สุด เป็นยอดสุดแห่งศาสนาทั้งปวงได้ แต่ว่าหยุดพูด มันดูถูกคนอื่น ไม่พูด แต่รู้ไว้ในใจก็แล้วกัน ว่าถ้ามันไปถึงความว่างแล้วมันก็สูงสุด ไม่มีอะไรที่จะสูงยิ่งไปกว่านั้น เอ้า, ขอยุติการบรรยายวันนี้