แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านผู้สมาทานการปฏิบัติพรหมจาริณีทั้งหลาย อาตมาขอแสดงความยินดีและอนุโมทนาในการกระทำของท่านทั้งหลายเป็นสิ่งแรก การบวชแบบนี้มันเหมาะแล้วสำหรับผู้ที่มีธุระมากมีกิจมาก แต่ก็ยังปลีกตัวปลีกเวลาออกมาประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจังกันสักระยะหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นนักเรียน นักศึกษา หรือครูบาอาจารย์บางคนนี่ก็จึงมีเหตุผลคือว่าจะได้หาความรู้ส่วนที่ยังขาดอยู่สำหรับการศึกษาของเรา ต้องพูดกันเรื่องถึงเรื่องนี้กันสักนิด การศึกษาของเรายังไม่สมบูรณ์ ยังมีลักษณะเหมือนกับสุนัขหางด้วน มันยังมีส่วนที่ขาด ที่เว้า ที่แหว่งอยู่ ท่านทั้งหลายที่เป็นครูบาอาจารย์ เป็นนักเรียนก็แสวงหาส่วนที่มันยังขาดอยู่นั่นแหละ จึงมีเหตุผลที่ออกมาบวช เป็นอย่างที่กำลังทำอยู่ เพื่อได้ความรู้ในสิ่งที่ยังขาดอยู่เอาไปประกอบการศึกษาให้สมบูรณ์
เดี๋ยวนี้เรามันเรียนกันแต่หนังสือกับวิชาชีพ เอาละ, ประสบความสำเร็จแล้ว รู้หนังสือดีแล้วประกอบอาชีพร่ำรวยสบายแล้ว แต่ปัญหามันยังเหลืออยู่คือทางจิตใจยังไม่ปรกติ ยังถูกบีบคั้นด้วยกิเลส ด้วยความหลง ด้วยความกลัว อย่างน้อยก็ยังหัวเราะร้องไห้อยู่ ถูกคุกคาม คุกคามอยู่ด้วยความหมายของความเกิด, ความแก่, ความเจ็บ, ความตาย นึกถึงความแก่, ความเจ็บ, ความตายขึ้นมาทีไรก็ยังเป็นทุกข์อยู่ นี่เรียกว่าชีวิตนี้มันยังถูกคุกคามอยู่ด้วยความหมายของความแก่, ความเจ็บ, ความตายนี่เป็นประจำ แล้วมันยังมีเรื่องที่จู่โจมเข้าเป็นความวิบัติ เป็นความเดือดร้อนอย่างนั้นอย่างนี้อีก ยังมีความทุกข์อย่างนี้อีก แล้วก็ยังไม่รู้จักดำรงจิตใจไว้ให้ถูกต้อง มีความยึดมั่น - ถือมั่นสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ตลอดเวลา เมื่อยึดมั่น - ถือมั่นสิ่งใดอยู่ สิ่งนั้นมันก็กดทับบีบคั้นจิตใจ, ไม่รู้จักปล่อย, ไม่รู้จักวาง, ไม่รู้จักปลง
ขอใช้ตัวอย่างที่มันค่อนข้างหยาบคายสักหน่อย เอ้า, ถ้าเรามีเงิน มีทรัพย์สมบัติ มีอะไรที่เรารักเราพอใจแล้วเราก็ยึดมั่นหมายมั่นว่าเป็นตัวกูมี, เป็นมี, เป็นของกู, ยึดมั่นเป็นตัวตน – ของตนอย่างนี้แล้ว ไอ้สิ่งที่ท่านทั้งหลายมีนั่นแหละมันจะมาอยู่บนศีรษะ ถ้าพูดอย่างธรรมดาสามัญก็ว่ามาอยู่บนกบาลมันหยาบคายไหม มันมาอยู่บนกบาลของคนที่ยึดมั่น – ถือมั่นว่าตัวกู ว่าของกู เงินทอง, ข้าวของ, วัวควาย, ไร่นามันมาสุมอยู่บนกบาลของคนเหล่านั้น มันจะหนักสักเท่าไร คิดดูแล้วกัน อยู่บนจิตใจ แต่ถ้ารู้วิธีปล่อยวาง, ไม่ยึดมั่น, ถือมั่น มันก็ไปอยู่ใต้ฝ่าเท้า แหม, มันไม่มาอยู่ ไม่มาอยู่บนกบาลแต่ไปอยู่ใต้ฝ่าเท้านี่มันจะผิดกันเท่าไหร่ แล้วมันเป็นความสุข เอ่อ ปลอดภัย, แคล่วคล่อง, ว่องไว, สบายดี แม้แต่เพียงความรู้อย่างนี้มันก็คุ้มค่าเสียแล้ว ได้รับความรู้ชนิดที่ว่ามีอะไรก็ไม่มาสุมอยู่บนศีรษะแต่ไปอยู่ใต้ฝ่าเท้านั่น นี่, เคยเรียนที่ไหน ในโรงเรียนมีสอนที่ไหน นี่ยกตัวอย่างของความรู้ที่มันยังขาดอยู่ในการศึกษา คนมันก็ยึดมั่น-ถือมั่นกันมาก มันก็ให้ผลร้ายขึ้นมาคือนอนไม่ค่อยหลับ, ปวดศีรษะ, ค่อยๆ เป็นโรคประสาท, ค่อยๆ เป็นโรคจิต, มันบ้าตายอย่างนี้ คนจึงเป็นโรคประสาทกันมากขึ้นทุกทีตามสถิติที่วงการแพทย์เขาประกาศออกมาว่าคนมันเป็นโรคประสาทเพิ่มขึ้น ๆ เป็นโรคจิตเพิ่มขึ้น ๆ เกินกว่าจำนวนที่ความทวีของไอ้คนในโลกเสียด้วยซ้ำไป
ทีนี้ถ้าเรามีความรู้เรื่องนี้เราก็ไม่ต้องเป็นอย่างนั้น เราไม่ต้องอยู่ในจำพวกที่จะต้องเป็นโรคประสาทหรือโรคจิต เราจะเป็นคนนอนหลับได้โดยได้ไม่ต้องกินยานอนหลับ ก็มีธรรมะ รู้จักจิต รู้จักจัดจิตใจให้มันถูกต้อง ดำรงไว้ในลักษณะที่ถูกต้อง มันก็สบายดี นี่เรียกว่าจิตใจเป็นอิสระ, จิตใจสะอาด สว่าง สงบ เย็น ทีนี้การที่ออกมาหาความรู้ส่วนที่ยังขาดอยู่นี้นับว่ามีเหตุผลอย่างยิ่งแล้วมันก็จะมีประโยชน์อย่างยิ่งซึ่งจะรู้สึกได้ด้วยตนเองว่าเป็นอย่างไร ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนสนใจ ที่บวชเป็นพรหมจารีในเครื่องแบบอย่างนี้ก็ตาม หรือที่ไม่ได้สวมเครื่องแบบอย่างนี้ ยังสวมเสื้อผ้าธรรมดาก็ตามก็ทำได้เหมือนกันแหละ ลองทำจิตใจให้เป็นอย่างที่จะกล่าวต่อไปนี้ดูเถิด จะได้รับประโยชน์ที่ยังไม่เคยได้รับ เป็นประโยชน์ที่ยังไม่เคยรู้จักด้วยซ้ำไป
เดี๋ยวนี้เรามาประชุมกันที่นี้ในลักษณะอย่างนี้ เป็นที่น่ายินดีเพราะท่านทั้งหลายได้พยายามในทางที่ถูกต้องแล้ว ก็ขอแสดงความยินดีและขออนุโมทนา แม้พวกที่ไม่ได้ เอ่อ ไม่ได้สวมเครื่องแบบขาวเป็นพรหมจาริณีก็ตาม ก็ทำได้ ปฏิบัติได้ ฟังดูให้ดีเถิด ทำจิตใจให้เหมือนกันได้ ก็ได้รับประโยชน์อย่างเดียวกันแหละ นี่ประโยชน์นี้มันไม่ใช่เป็นประโยชน์แต่เพียงผู้นั้นหรือผู้ปฏิบัตินั้นผู้เดียวนะ มันจะเป็นประโยชน์มากออกไปถึงสังคมด้วย แก่บ้าน, แก่เมืองที่มีความสงบมากขึ้น, แก่ประเทศชาติ และแก่พระศาสนา เมื่อมีการปฏิบัติธรรมะที่ไหนมันก็เป็นการสืบอายุพระศาสนาที่นั่น นี่ช่วยจำไว้ด้วย มีการปฏิบัติธรรมะที่ไหนก็มีการสืบอายุพระศาสนา เป็นการสืบอายุพระศาสนาที่นั่น
เดี๋ยวนี้ถ้าเรามาบวชในลักษณะนี้ก็ทำได้เคร่งครัด หรือแม้ว่าลาสิกขาอย่างนี้ออกไปแล้ว ไปอยู่บ้านเรือนตามเดิมก็ยังคงทำได้ และก็ยังทำได้ดีขึ้น ทำได้ถูกต้องยิ่งกว่าที่ไม่เคยออกมาลองบวชดู มันจึงเป็นประโยชน์แก่การสืบอายุพระศาสนา แล้วยิ่งกว่านั้นก็อยากจะพูดว่ามันเป็นเกียรติยศของสตรีเพศ สตรีเพศ ซึ่งจะต้องเป็นมารดาของโลก สตรีเพศนี่เขาเรียกว่ามารดาของโลก จะได้เป็นมารดาที่ถูกต้องของโลก เป็นสตรีเพศที่มีคุณค่า มีคุณสมบัติเต็มตามความหมายที่จะเป็นมารดาของโลกได้อย่างดีที่สุด เท่านี้มันก็พอแล้ว เป็นการทำให้ชีวิตนี้มีค่าที่สุด ถ้าไม่ๆทำอย่างนี้ไอ้ชีวิตนี้มันก็มีค่าตามธรรมดา ๆ หรือบางทีมันอาจจะไม่มีค่าอะไรเลยก็ได้เพราะมันโง่ เพราะมันไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้มีค่า
ทีนี้เราก็จะได้พูดกันถึงเรื่องบวชพรหมจาริณีหรือธรรมจาริณีแล้วแต่จะเรียกต่อไป เราอยากจะเรียกว่าพรหมจาริณี ก็แปลว่าผู้ประพฤติพรหมจรรย์ พรหมจรรย์คือระบบการประพฤติมีอยู่ แล้วก็พูดได้ประพฤติตามระบบพรหมจรรย์ผู้นั้นได้ชื่อว่าพรหมจาริณี นี้เราบวชพรหมจาริณีก็หมายความว่าจะประพฤติตามระบบที่เรียกว่าพรหมจรรย์นั้นเป็นพิเศษตลอดเวลาระยะหนึ่ง ก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าไม่ได้บวชตลอดไป บวชตลอดเวลาระยะหนึ่ง คำว่า พรหม พรหมนี้มันก็มีความหมายหลายแง่หลายมุม คือกำกวมนั่นแหละ
คำว่า พรหม จะหมายถึงพระพรหม (ผู้สร้างโลก) ก็ได้ แต่เราไม่ได้ต้องการอย่างนั้น ไม่ได้ต้องการจะเป็นพระพรหมผู้สร้างโลก
แต่จะแปลว่าพวกพรหมทั้งหลายก็ได้ ที่อยู่ในพรหมโลก เราก็ไม่ต้องการอย่างนั้น เพราะว่าอยู่ในพรหมโลกมันก็ยังไม่ดับทุกข์สิ้นเชิง พวกพรหมเสียอีกยังมีอัตตาจัด, ยึดมั่น-ถือมั่นตัวกูจัด, ขี้ขลาดกลัวต่อความตาย เพราะรู้สึกว่าได้ดีที่สุด ได้เป็นสุขที่สุด สูงสุดกว่าสัตว์ผู้อื่นแล้วก็เลยกลัวตาย แถมมากกว่าสัตว์พวกอื่น เราก็ไม่ต้องการจะไปเป็นพรหมพวกนั้น
หรือว่าจะหมายถึงพรหมวิหาร พวกปฏิบัติเมตตา, กรุณา, มุทิตา, อุเบกขานั้นก็มีอีก อยู่อีกระบบหนึ่งต่างหาก เพื่อเป็นพรหมกันที่นี้และเดี๋ยวนี้ เราก็ไม่ได้มุ่งหมายอย่างนั้นโดยเฉพาะ แต่เรามุ่งหมายที่จะประพฤติพรหมจรรย์ คือมีชีวิตอันประเสริฐ
พรหมจรรย์ คือ ระบบธรรมะที่มีอยู่ วางไว้เป็นระบบแล้วโดยพระพุทธเจ้า ก็เป็นคำแทนชื่อของคำว่า ศาสนา นั่นเอง พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ใช้คำว่า ศาสนา เหมือนพวกเรา เมื่อพวกเราใช้คำว่า “ศาสนา” พระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่า “พรหมจรรย์” อย่างพวกเราจะพูดว่าไปเผยแผ่ ศาสนา อย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าไปเผยแผ่ พรหมจรรย์ คือระบบการปฏิบัติที่วางไว้อย่างชัดเจน อย่าง ๆ ครบถ้วนที่จะดับทุกข์ได้เรียกว่า พรหมจรรย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบุไปยังอัฏฐังคิกมรรค คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ซึ่งจำกันได้ดี สวดมนต์กันได้ ได้สวดกันอยู่ทุกวันเรื่องอัฏฐังคิกมรรค สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปโป, สัมมาวาจา, สัมมากัมมันโต, สัมมาอาชีโว, สัมมาวายาโม, สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ นั้นแหละคือระบบ นั้นแหละเป็นตัวพรหมจรรย์ เราตั้งใจจะปฏิบัติให้ดีที่สุดตลอดเวลาที่บวชชั่วคราวนี้ บวชแล้ว ประพฤติแล้ว ก็เรียกว่าพรหมจารีถ้าเป็นผู้ชาย เรียกว่าพรหมจาริณีถ้าเป็นผู้หญิง เป็นบุคคลผู้ประพฤติพรหมจรรย์
ทีนี้อยากจะให้รู้ความหมายที่ขยายออกไปอีกหน่อยหนึ่งสำหรับผู้ออกบวช ออกบวชนี่เขาเรียกว่าเนกขัมมะ เนกขัมมะ จำไว้บ้างมันมีประโยชน์ เพราะคำว่า เนกขัมมะ แปลว่าหลีกออกไป หลีกออกไปจากอะไร ก็หลีกออกไปจากวิสัยโลภ หลีกออกไปจากการเป็นอยู่อย่างวิสัยโลก ออกไปชั่วคราวก็ยังเรียกว่า เนกขัมมะ นั่นแหละ เพื่อศึกษาเรื่องเกี่ยวกับชีวิตจิตใจได้โดยสะดวก อยู่ในวิสัยโลก, ในบ้าน, ในเรือนมันไม่สะดวก ถ้ามันหลีกออกไปจากวิสัยโลกมันก็สะดวก มันศึกษาได้ดี เราจึงนิยมลองดูเป็นเนกขัมมะจารี เนกขัมมะจารี ประพฤติการหลีกออกจากวิสัยโลกแม้ชั่วคราวก็เรียกได้ว่าเป็นเนกขัมมะจารี
ทีนี้ยังมีคำที่ควรจะเอามาวินิจฉัยคำอีกคำหนึ่งคือคำว่า ธรรมะจารี ธรรมะจารี ก็แปลว่าผู้ประพฤติธรรม ธรรมะนั้นก็คือตัวพรหมจรรย์อีกนั่นเอง ตัวพรหมจรรย์อยู่นั่นเองเรียกว่าธรรมะ เป็นระบบปฏิบัติที่เมื่อปฏิบัติแล้วมันดับทุกข์ได้ก็เรียกว่าธรรมะ ผู้ประพฤติธรรมะเรียกว่าธรรมจารีถ้าเป็นผู้ชาย เรียกว่าธรรมจาริณีถ้าเป็นผู้หญิง เอาล่ะ, จะเรียกว่าอะไรก็ได้ทั้งนั้น ความหมายตรงเป็นอันเดียวกันหมด จะเรียกว่าศีลจาริณีนั้นมันแคบไป มันประพฤติแต่ศีลข้างเดียวนี้อยู่ที่บ้านก็ได้ แต่ก็มีคนเรียกเหมือนกันว่าศีลจาริณี เราว่าไม่, ไม่พอ ไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์ ถ้าเรียกว่าพรหมจารี - จาริณีจะครบสมบูรณ์ จะเรียกว่า เนกขัมมะจาริณี, ธรรมะจารี, จาริณีก็ได้ มันก็จะสมบูรณ์โดยมากกว่าศีลอย่างเดียว เอ้า, เพราะว่าประพฤติธรรมนั้นมันปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญาครบถ้วน ถ้าปฏิบัติพิเศษกว่าธรรมดา อยู่ที่บ้านก็ปฏิบัติได้แต่มันธรรมดา หลีกออกมาให้พ้นจากไอ้ภาระต่าง ๆ ปฏิบัติได้เต็มที่ก็มีประโยชน์กันจริงที่ส่วนนี้ ที่ว่าหลีกออกบวชชั่วคราว ถ้าว่าจะจัดที่บ้านได้ จัดได้เป็นอิสระก็ได้เหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้เรามีระเบียบนี้ปฏิบัติออกบวชกันเป็นครั้งเป็นคราว มันก็ง่าย ก็สะดวก ก็ได้ผลดีตามที่ต้องการ
ทีนี้ดูผลของพรหมจาริณีหรือผลของพรหมจรรย์ ผลของการเป็นพรหมจาริณีนั้นเป็นอย่างไร ประพฤติพรหมจรรย์แล้วได้ผลเป็นอะไร ท่านเรียกว่าวิมุตติ วิมุตติ วิมุตติแปลว่าความหลุดพ้น คำว่าหลุดพ้นในที่นี้เป็นเรื่องทางจิตใจ คือจิตใจหลุดพ้น หลุดพ้นจากอะไร หลุดพ้นจากปัญหาที่บีบคั้นมนุษย์อยู่ ปัญหาที่บีบคั้นมนุษย์อยู่ก็คือปัญหาเกี่ยวกับความเกิด, ความแก่, ความเจ็บ, ความตาย การที่จะเกิดมาเป็นผู้มีความสงบสุขอยู่ในโลกนี้มันก็มีปัญหา มันปฏิบัติไม่ค่อยจะถูกหรือมันไม่ถูกเอาเสียทีเดียว มันไม่ได้เกิดมาเพื่อประสบไอ้ความสงบสุข มันกลายเป็นเกิดมาเพื่อประสบความยุ่งยากลำบากกันไปหมดอย่างนี้มันก็ไม่ถูก
เราต้องการจะหลุดพ้นจากปัญหาที่มีมาจากความเกิด, ความแก่, ความเจ็บ, ความตาย ขอให้สนใจพิจารณาดูจนรู้จักว่าปัญหาเกิดมาจากความเกิด, ความแก่, ความเจ็บ, ความตายนั้นเป็นอย่างไร พอความแก่วี่แววมาให้เห็นคนก็กลัวเกิดเป็นทุกข์, ความเจ็บคนก็ไม่ชอบก็เป็นทุกข์ กลัวเจ็บกลัวไข้ แม้กระทั่งกลัวตาย เมื่อนิมิตแห่งความตายปรากฏมันก็กลัวจนตัวสั่นหวั่นไหว ไม่เป็นผู้เป็นคน บางทีเป็นบ้าไปเลย เราไม่มีปัญหาเหล่านี้ก็เรียกได้ว่าเราพ้น หลุดพ้นจากปัญหาเหล่านี้เรียกว่าวิมุตติ มีจิตใจเกลี้ยง เกลี้ยงเกลาไม่มีความหม่นหมอง, ขุ่นมัว, ยุ่งยาก, ลำบากอะไรอย่างนี้ เรียกว่าผลของการประพฤติพรหมจรรย์คือความหลุดพ้นจากสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาโดยประการทั้งปวง ถ้าได้ปฏิบัติแล้วมันก็จะมีผลรู้จัก หรือประจักษ์แก่จิตใจของตัวเอง
บัดนี้เราได้รู้จักสิ่งชนิดนั้น แล้วก็ได้ชิมรส ชิมรส รู้จักแล้วก็ชิมรสของสิ่งนั้น เป็นรสของชีวิตชนิดที่เราไม่เคยพบมาก่อน เป็นรสของชีวิตในด้านลึกซึ้ง คือความสะอาด สว่าง สงบ ซึ่งเราไม่เคยรู้จักมาก่อน เดี๋ยวนี้เราก็ได้ทำให้มันเกิดขึ้นมา เราก็ได้รู้จัก แล้วเราก็ได้ชิมดูด้วย นี่เป็นการชิมรสของพระนิพพานเป็นการล่วงหน้า แม้ว่ามันจะเป็นสินค้าตัวอย่างก็อย่างเดียวกับสินค้าจริงนั่นแหละ ขอให้ได้ชิมรสของพระนิพพานเป็นการล่วงหน้ากันอยู่บ่อย ๆ เถิด มันก็จะพอใจในพระนิพพาน จิตมันก็จะน้อมไปเพื่อพระนิพพาน แล้วมันก็จะง่าย ๆ ขึ้นในการที่จะปฏิบัติเพื่อการบรรลุถึงนิพพาน นี่เป็นผลของการประพฤติพรหมจรรย์ หวังว่าที่บวชเป็นพรหมจาริณีทั้งหลายจะได้มีหลักการอย่างนี้ แล้วก็ได้ประสบผลอย่างนี้ ก็ได้เข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจนในบัดนี้ แม้ว่าจะเลิกละลาสิกขาไปอยู่บ้านอยู่เรือนตามเดิมมันก็มีความรู้ติดไปด้วย สำหรับที่จะดำรงชีวิตให้เป็นอิสระมากขึ้นกว่าแต่ก่อน หรือที่เป็นบิดามารดา ครูบาอาจารย์ก็จะได้สอนลูก สอนหลาน สอนศิษย์ให้มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่มีประโยชน์แก่ชีวิตของมนุษย์ยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป เอ้า, ขอให้ทำให้สำเร็จประโยชน์ตามนี้
อ้าว, ทีนี้ก็จะพูดถึงสิ่งที่จะต้องฝึกฝนปฏิบัติในระหว่างบวช ในระหว่างบวช เรื่องถือศีลนั้นไม่ต้อง ไม่ต้องพูดแล้วเพราะมันรู้เกินรู้อยู่แล้ว มันมีแต่จะถือศีลให้ดีให้ได้ ให้บริบูรณ์ รู้อยู่แล้ว ทีนี้มีการฝึกชนิดที่จะมีประโยชน์กว้างขวางแยกออกไปนี้เราอยากจะพูด เราจะพยายามฝึกฝนธรรมะที่มีประโยชน์แก่ชีวิตให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้สำหรับจะได้ติดตัวไป แล้วจะเรียกธรรมะประเภทนี้โดยสมมตินะ โดยสมมติเรียกว่าธรรมะ ๔ เกลอ นี้เราตั้งเอาเองนะ อาจจะไม่เคยได้ยิน ทำไมไม่มีใครเรียกธรรมะ ๔ เกลอ ที่นี่เรียก ใช้ธรรมะ ๔ อย่างแล้วก็ทำงานร่วมกัน ก็ช่วยบุคคลให้หลุดพ้นจากปัญหาทั้งปวง - ธรรมะ๔ เกลอ ต้องมี ๔ อย่างครบถ้วนจึงจะช่วยได้ ธรรมะ ๔ เกลอคือสติอย่างหนึ่ง, ปัญญาอย่างหนึ่ง, สัมปชัญญะอย่างหนึ่ง, สมาธิอย่างหนึ่ง รวมเป็น ๔ อย่างเรียกว่าธรรมะ ๔ เกลอ เอ้า, ค่อย ๆ ทำความเข้าใจกันไปตามลำดับ มันค่อนข้างจะแปลกหรือแปลกหู อันแรกที่สุดคนเราจะต้องมีสติ สติคือความระลึกได้ คนที่ระลึกไม่ได้เหมือนกับคนหลับหรือคนตายก็ว่าได้ก็ถ้าว่ามันระลึกอะไรไม่ได้ ระลึกไม่ได้ก็เหมือนกับคนหลับ หลับด้วยกิเลส หลับด้วยอวิชชา ถ้าระลึกได้ มันรู้สึกอยู่ก็เหมือนกับคนตื่นหรือคน ๆ ไม่ตาย สติระลึกได้ถึงความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนเอาไว้ว่าเป็นความจริงอย่างไร เป็นความถูกต้องอย่างไร มีหลักเกณฑ์อย่างไร อะไรเป็นอะไร อย่างไร จะต้องจัดการกับสิ่งอะไรเหล่านั้นอย่างไร นี่ปัญญานี่เรียกว่าปัญญา ที่เราศึกษาอบรมเอาไว้ตลอดเวลาที่เราบวช ทีนี้มีปัญญานั้นก็เพื่อว่าสติจะไปเอาปัญญามาสำหรับเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ สติจะไปเอาปัญญามาเมื่อไร ขอตอบว่าสติจะไปค้นเอาปัญญามาเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นแก่ชีวิต คือมีอะไรเกิดขึ้นทางตา, ทางหู, ทางจมูก, ทางลิ้น, ทางกายและทางจิตใจโดยเฉพาะ แม้ว่ามันจะเกิดผ่านมาทางตา, ทางหู, ทางจมูก, ทางลิ้น, ทางกาย ๕ ทางนี้แต่แล้วมันก็เข้าไปสู่จิตใจ ฉะนั้นการเผชิญหน้ากับอารมณ์นั้นน่ะเป็นการเผชิญที่จิตใจ โดยทางจิตใจเสมอ อารมณ์เหล่านั้นมาตามธรรมดาที่มีอยู่ในโลก ถ้าเราต้อนรับไม่เป็น ไม่มีอะไรเผชิญกันอย่างถูกต้องแล้วมันเกิดเรื่อง มันเกิดเรื่อง คือมันจะเกิดกิเลส - ตัณหา แล้วมันจะเกิดความทุกข์ แล้วมันก็จะยุ่งยากลำบากนานาประการ จะทนทรมานใจ เป็นบ้า วิกลจริต หรือถึงกับตายก็ได้ จึงจะมีความรู้มาเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ความรู้นี้คือปัญญา ปัญญานั้นคือสติไปเอามา ไปเอาปัญญามาเผชิญหน้ากับเหตุการณ์นั้น ๆ
ไอ้ปัญญาที่มาเผชิญหน้ากับเหตุการณ์นั้น ๆ นั่นน่ะเราเรียกว่าสัมปชัญญะ เมื่อตะกี้เขียนไปแล้ว สติ, ปัญญา, สัมปชัญญะ ปัญญามันก็เก็บไว้เฉย ๆ อยู่ในคลัง ล้วงลงไปเรียกว่าปัญญา แต่ว่าเมื่อไรสติไปค้นเอาปัญญาคือระลึกได้ เอามาทันเหตุการณ์ เผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นแก่ชีวิต ปัญญาที่มาประจำหน้าที่เพื่อเผชิญหน้ากับเหตุการณ์อย่างนี้เราเรียกว่าสัมปชัญญะ คงจะเคยอ่าน เคยฟังเรื่องสติสัมปชัญญะมาแล้ว อาจจะไม่เข้าใจก็ได้ แล้วไม่รู้ว่าอะไรก็ได้ ขอให้รู้ให้ชัดเจนอย่างนี้แหละว่าปัญญาคือความรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ปฏิบัติอย่างไร แล้วปัญญานี้เก็บไว้ ทีนี้พอเกิดเหตุเรื่องอะไรขึ้น สติระลึกได้ ไปค้นเอาปัญญามา ปัญญานั้นก็มาเปลี่ยนรูปเป็นสัมปชัญญะเผชิญหน้ากับเหตุการณ์นั้น ๆ อยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะหมดความจำเป็น นี่ก็คือสัมปชัญญะ ทีนี้ถ้าสัมปชัญญะนั้นมันมีกำลังอ่อน จิตใจยังมีกำลังอ่อนก็ต้องเพิ่มสมาธิคือความเข้มแข็งแห่งจิตใจให้มันมากพอ สัมปชัญญะมันก็มีกำลังแก้, แก่กล้า, มันก็ต่อสู้กับเหตุการณ์เรื่อยไป ๆ จนมีชัยชนะ ขับไล่เหตุการณ์ร้ายนั้นไปเสียได้ หรือควบคุมจิตไว้ได้ไม่ให้มีการปรุงแต่งเกิดขึ้นเป็นกิเลสและเป็นความทุกข์
ทีนี้ยกตัวอย่างว่าถ้ามีเรื่องเข้ามาทางตา มีการสัมผัสทางตา เอารูปสวยก็ได้เข้ามาทางตา มากระทบตาก็ เกิดจักษุวิญญาณทางตารู้ว่ารูปอย่างนั้น อย่างนี้ ๆ นี่เรียกว่าสัมผัส สัมผัสอย่างนี้แล้วมันก็ต้องเกิดความรู้สึกเป็นเวทนาออกมา ถ้ารูปสวยมันก็พอใจ, รักใคร่, หลงใหล นี่คือมันโง่ ตอนนี้มันไม่มีสติ มันไม่ได้เอาปัญญามามันเลยโง่ พอใจหลงใหลในสิ่งที่มากระทบตา เป็นเวทนาหลอกให้หลง เมื่อมันโง่ไปอย่างนี้มันก็เกิดตัณหาคือความอยาก อยากในเวทนาที่เอร็ดอร่อยสวยงามนั้น อยากได้ อยากเอา อยากมี อยากยึดครอง อยากหามาเพิ่มเติม วิตกกังวล ห่วงใย อาลัยอาวรณ์อะไรต่าง ๆ นานานี้มันเป็นตัณหา เกิดมาจากเวทนา เมื่อมันอยากอย่างนั้น อยากอย่างยิ่งอยู่อย่างนั้นมันก็เกิดความรู้สึกอันหนึ่งตามออกมาเรียกว่าอุปาทาน คือรู้สึกว่าเป็นตัวกู เป็นตัวกูผู้รู้ ผู้รู้สึก ผู้กระทบ ผู้ได้ ผู้มีต่อสิ่งเหล่านั้น ในสิ่งเหล่านั้น หรือว่าเป็นผู้อยากจะได้สิ่งเหล่านั้นเอามาเป็นของตน มีความรู้สึกว่าตน – ว่าของตน, มันก็เกิดขึ้นแล้ว มันก็จะมีความสมบูรณ์ที่จะคลี่คลายออกมาเป็นตัวตนสมบูรณ์ก็เรียกว่าภพ เหมือนกับตั้งครรภ์แก่แล้ว แล้วก็ชาติก็เกิดออกมาเป็นความรู้สึกว่าตัวกู – ของกูดิ้นเต้นเร่า ๆ อยู่ เพราะมีชาติเป็นปัจจัยจึงมีผลของชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ทุกข์ทั้งหลายมันก็เกิดขึ้น
ถ้าเรามีสติพอ เมื่อมีผัสสะ มีสติไปเอาปัญญามา รู้เรื่องผัสสะว่าเป็นอย่างนั้น ตามธรรมชาติอย่างนั้น แม้ว่ามันจะสวยงาม เอร็ดอร่อยก็อย่างนั้นเองแหละ ไม่สวยงาม, ไม่เอร็ดอร่อยก็อย่างนั้นเองแหละ อย่าไปโง่ อย่าไปยินดีหลงรักเมื่อมันน่ารัก อย่าไปยินดีหลงเกลียดเมื่อมันน่าเกลียด น่ากลัว น่าอะไรก็ตาม จะได้มีจิตใจปรกติ มีจิตใจปรกตินะ มันจึงจะรู้สึกคิดนึกอะไรได้ถูกต้อง แล้วมันก็จะตัดสินใจได้ถูกต้องว่าควรทำอย่างไร ไม่ไปมัวหลงรัก หลงชัง หลงเกลียด หลงโกรธ หลงกลัว หลงอะไรอยู่ ถ้ามันมีความรู้สึกเป็นหลงรัก หลงเกลียด หลงโกรธ หลงกลัวอะไรอยู่แล้วมันมืด มันโง่ มันไม่มีความคิดที่ถูกต้องได้ แล้วคิดผิด ทำผิดไปหมด มันก็ได้รับผลเป็นความยุ่งยากลำบาก เป็นความทุกข์ นี่เป็นเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันซึ่งมันจะมีแก่เรา เดี๋ยวมาทางตา เดี๋ยวมาทางหู เดี๋ยวมาทางจมูก เดี๋ยวมาทางลิ้น เดี๋ยวมาทางผิวหนัง ไอ้สัมผัสทางผิวหนังเรื่องเพศ เรื่องกามารมณ์นั้นแรงร้ายมาก ถ้าไม่มีสติ สัมปชัญญะพอแล้วก็ควบคุมไว้ไม่ได้ มันก็เดือดร้อน กระวนกระวาย วิกลจริต บ้า ฆ่าตัวตายกันมากี่เรื่องกี่ราวแล้ว อย่างที่ในเรื่องของคนอกหักอกแตกอะไรเหล่านี้ มันก็เป็นเรื่องเหล่านี้ทั้งนั้น ถ้ามีสติสัมปชัญญะแล้วมันก็ไม่ต้องเป็นอย่างนั้น
นี่เราจะมีสติ ๆ ที่ฝึกไว้ดีในเวลาที่บวชนี้ ฝึกสติ การฝึกสติได้แล้วมันก็มีสติเร็วพอ แล้วก็มากพอ คือระลึกได้เร็วทันควันยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ หรือว่าอย่างน้อยก็เท่ากับสายฟ้าแลบ อะไรเกิดขึ้นระลึกได้ทันควันเหมือนสายฟ้าแลบ นี่เพราะเราฝึกสติไว้ดี แล้วก็มีมากพอที่จะไปค้นเอาปัญญามา ปัญญาที่ได้อบรม ศึกษา เล่าเรียน ได้ฟัง ได้ยินนี้ก่อน แล้วก็ได้ทดลองปฏิบัติดูเป็นความรู้ที่แท้จริงเก็บไว้ในใจด้วย มันก็มีมากพอคือปัญญา สติเร็วเหมือนสายฟ้าแลบไปค้นเอาปัญญามาเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่มันได้เกิดขึ้นแล้วทางตา, ทางหู, ทางจมูก, ทางลิ้น เป็นต้น ปัญญาก็มาทำหน้าที่เป็นผู้ต่อสู้ เป็นๆๆ สัมปชัญญะ เป็นสัมปชัญญะ ก็เลยเผชิญหน้ากับเหตุการณ์อย่างถูกต้อง ไม่โง่ ไม่ไปหลงรัก หลงโกรธ หลงเกลียด หลงกลัว หลงอะไรต่าง ๆ ยังเป็นใจคอที่ปรกติ เป็นจิตที่เฉลียวฉลาดรู้ว่าจะทำอย่างไร ถ้าไปหลงรักก็ทำอย่างโง่เขลาไปตามอำนาจของความรัก ถ้าไปโกรธ หรือเกลียด หรือกลัว ก็ทำอะไรไปโง่ ๆ ไปตามประสาความโกรธ, ความเกลียด, ความกลัว ฯลฯ มันล้วนแต่ใช้ไม่ได้ มันจะต้องอยู่เป็นปรกติ เป็นปรกติ จึงจะรู้อะไรเป็นอย่างไร อะไรเป็นอย่างไร ควรทำอย่างไร นี้มันจึงจะทำถูกต้อง ไม่ตกไปเป็นทาสของอารมณ์เหล่านั้น ซึ่งอารมณ์เหล่านั้นมันจะย่ำยีจิตใจได้ตามปรารถนา อย่างนี้เรียกว่าเป็นทาสของอารมณ์เหล่านั้นก็ได้ หรือจะเรียกว่าเป็นทาสของอายตนะ คือ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจก็ได้ ความหมายมันอย่างเดียวกันแหละ ผลมันอย่างเดียวกัน ถ้าไปเป็นทาสของอารมณ์เหล่านั้น หรือไปเป็นทาสของอายตนะที่สัมผัสอารมณ์เหล่านั้นแล้วมันก็มืดปิดหมด ผิดหมด มันก็สร้างความทุกข์ขึ้นมาในชีวิตประจำวัน อันมีการกระทบอารมณ์มากมายเหลือที่จะกล่าวนะ เพราะมันมีตั้ง ๖ ทาง ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ ๖ ทางที่เรียกว่าอายตนะ จะรับอารมณ์เข้าไปสู่จิตใจ ศึกษากันไว้บ้างเรื่องตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ ไม่ใช่เรื่องของคนโง่ มาพูดเพ้อ ๆ ไปแล้วก็อวดต่อใคร ๆ ว่ารู้ ที่จริงมันไม่รู้ ถ้ามันรู้เรื่องตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจอย่างถูกต้อง ควบคุมไว้ได้แล้วจะไม่มีปัญหา จะไม่ต้องมีความทุกข์เลย เดี๋ยวนี้มันไม่รู้ มันควบคุมไว้ไม่ได้ มันก็พลัดตกลงไปเป็นการปรุงแต่งของกิเลสเป็นยินดี, ยินร้าย, รัก, โกรธ, เกลียด, กลัว, หลงใหล, วิตกกังวล, อาลัยอาวรณ์, อิจฉาริษยา, หวง, หึงกันไปตามเรื่อง อย่างนี้ก็จะต้องเรียกว่าระส่ำระสาย วุ่นวาย เร่าร้อนแก่จิตแก่ใจนั้นแหละอย่างยิ่ง
เราจึงต้องมีความสามารถควบคุมตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ ให้อยู่ในลักษณะที่ถูกต้องเสมอไป ขณะนี้เราจึงเรียนให้รู้เรื่องนี้ แล้วก็มีสติที่จะไปค้นเอาความรู้เรื่องนี้มาใช้ทันเวลาที่มันมีเหตุการณ์เกิดขึ้นทางตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ ปัญญามาเป็นสัมปชัญญะแล้วมันก็ควบคุมไว้ได้ ไม่ให้เดินไปในผิดทาง ถ้ามันหยุดอยู่แล้วก็จัดให้มันถูกต้อง ไม่มีความทุกข์ แต่ให้มันมีประโยชน์ ถ้ามันมีอะไรมาเผลอกระทบตา กระทบหู เป็นต้น ควบคุมไว้ได้ไม่ให้เกิดภพ แต่ว่าถ้าให้ แต่ว่าให้มันเป็นประโยชน์ ถ้ามันไม่เป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ถ้ามันเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ก็ไม่ต้องอะไร ให้มันเลิกกันไป อย่าให้ทำให้เป็นทุกข์ขึ้นมา ถ้าโง่แล้วมันจะทำให้เป็นทุกข์ขึ้นมา คือรักบ้าง, โกรธบ้าง, ยินดี-ยินร้ายนั่นแหละ คอยยินดี-ยินร้ายแล้วก็เป็นไฟทั้งนั้นแหละ ไอ้ความยินดีก็บ้าไปตามแบบของความยินดี ยินร้ายก็บ้าไปตามแบบความยินร้ายเรียกว่ามันเป็นไฟทั้งนั้น อย่าเอากับมันเลยความยินดี-ยินร้าย เอาอยู่ตรงกลาง, สงบ, เป็นปรกติ, เป็นอิสระ, สดชื่น, แจ่มใสดีกว่า เรื่องเอร็ดอร่อยสนุกสนานนั้นมันก็ยุ่ง เรื่องไม่เอร็ดอร่อย ไม่สนุกสนานมันก็ยุ่งและทรมานไปตามแบบของมัน มันยุ่งด้วยกันทั้งนั้นแหละ เอาที่มันไม่เป็นอย่างนั้นดีกว่า อย่างนี้เขาเรียกไม่ยินดี ไม่ยินร้าย แต่ปรกติอยู่อย่างมั่นคง แล้วก็รู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร อะไรควรทำอย่างไรก็รู้ดีแล้วก็ทำไป มีปัญญาสะสมไว้ อบรมไว้ ควบคุมไว้มากพอ สติพร้อมที่จะไปค้นเอามาเป็นสัมปชัญญะเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้น
ทีนี้ถ้ากำลังใจมันอ่อนมันต้องเพิ่มสมาธิ ดังนั้นเราจึงต้องฝึกสมาธิ เราจึงหาเวลาฝึกสมาธิให้มีสมาธิ ให้สามารถมีสมาธิไว้สำหรับใช้ให้เป็นกำลังใจแก่จิตใจ ในที่นี้ก็คือเป็นกำลังของสัมปชัญญะที่จะรบสู้กับข้าศึกคือกิเลสที่มันจะเกิดขึ้นหรือมันได้เกิดขึ้นแล้ว คำว่า “สมาธิ” สมาธินี้แปลว่าจิตมั่นคง, ตั้งมั่นหรือมั่นคง จิตบริสุทธิ์ ไม่มีอะไรมารบกวนให้เศร้าหมอง แล้วจิตนั้นมั่นคง แล้วจิตนั้นว่องไวพร้อมที่จะทำหน้าที่ของมัน มีลักษณะ ๓ อย่างนี้จึงจะเรียกว่าสมาธิ คือจิตไม่โง่, ไม่มืดมัว, ไม่หม่นหมอง, ไม่มีกิเลส เรียกว่าจิตบริสุทธิ์ แล้วจิตนี้เข้มแข็งอย่างยิ่งมันรวมกำลังเป็นอันเดียวกัน เรียกว่าจิตเข้มแข็ง ฉะนั้นในจิตลักษณะนี้ไวที่สุด ว่องไวที่สุดที่จะคิด จะนึก จะทำหน้าที่ของจิต ก็เรียกว่าจิตว่องไว จิตบริสุทธิ์ จิตเข้มแข็ง จิตว่องไว นี่คือลักษณะของสมาธิ แต่คนโง่ ๆ มันไม่เข้าใจ มันคิดว่าเป็นสมาธิแล้วก็มันหลับตานั่งตัวแข็งเป็นท่อนไม้เลย แข็งเป็นท่อนไม้ไปเลยจึงเป็นสมาธิ นั้นมันสมาธิของคนโง่ ไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้ สมาธิมันต้องเป็นจิตที่ดี ที่พร้อม ที่จะทำหน้าที่ จิตกำลังบริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสครอบงำ ถ้าว่ามีกิเลสครอบงำมันก็มืดมัว มันก็คิดผิด พูดผิด ทำผิดไปหมด แต่นี่มันบริสุทธิ์ มันไม่มีกิเลส แล้วมันก็เข้มแข็งรวมกำลัง จิตตามธรรมดามันฟุ้งซ่านเอารอบตัวเหมือนกับแสงสว่างดวงเทียนดวงตะเกียง เหมือนเด็ก ๆ เขาเล่นไอ้แก้วรวมแสงนั่น แก้วโค้ง ๆ นูน ๆ (เลนส์) เอามารองเข้ากับแสงแดดแล้วมันก็รวมแสงแดดส่วนใหญ่เป็นจุดเดียว เป็นจุดเล็กจุดเดียว สว่างจัด ร้อนจัดจนลุกเป็นไฟขึ้นมา มันคล้าย ๆกับแก้วรวมแสง
ทีนี้สมาธิก็เหมือนกันโดยผ่านการทำสมาธิ กำลังจิตทั้งหมดมันรวมกำลังเป็นจุดเดียวมันจึงเข้มแข็งแหลมคม เป็นจิตที่ตั้งมั่นเข้มแข็งแหลมคม ถ้าอย่างนี้แล้วมันยังมีความว่องไวที่จะทำหน้าที่ของมัน จะคิดก็คิดได้ไว จะตัดสินใจอะไรก็ทำได้ไว จะให้ตกลงใจอย่างไรก็ทำได้ไว แล้วก็ถูกต้องด้วย เพราะว่ามันมีปัญญาควบคุมอยู่ มันก็เลยสามารถทำให้สิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาเผชิญหน้านั้นน่ะไม่เป็นอะไรได้ ไม่ ๆ ทำเป็นพิษ เป็นโทษ เป็นอันตรายใด ๆ ขึ้นมาได้ แต่กลับให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามที่เราต้องการ ถ้ามันเข้ามาแล้วใช้เป็นประโยชน์ได้ก็ใช้เป็นประโยชน์ไปเลย ไม่ต้องเกิดกิเลสทำให้เป็นทุกข์ จะเป็นเรื่องทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทางจมูกก็ได้ ทางลิ้นก็ได้ ทางผิวหนังกายนี่ก็ได้ หรือทางจิตใจภายในเองด้วยก็ได้ เกิดขึ้นมาแล้วสามารถควบคุมให้เป็นไปแต่ในทางแห่งความถูกต้องแล้วกลายเป็นประโยชน์ขึ้นมา นี้เรียกว่าเราสามารถทำทุกอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้องให้กลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ถ้าไม่อย่างนั้นมันเข้ามาทำการปรุงแต่งให้เกิดกิเลส เกิดโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้างอะไรก็ได้การล่ะทีนี้ มันเป็นไฟไปทั้งนั้นแหละ โลภะก็เป็นไฟโดยแบบหนึ่ง ราคะก็เป็นไฟในแบบหนึ่ง โทสะก็เป็นไฟในแบบหนึ่ง โกธะก็เป็นไฟในแบบหนึ่ง โมหะก็เป็นไฟในแบบหนึ่ง หลาย ๆ แบบด้วยกัน แต่ทำให้เกิดความร้อน, ยุ่งยาก, ลำบาก, กระวนกระวาย, ระส่ำระสายนั่นแหละเป็นความทุกข์ทั้งนั้นมันเป็นไฟ เดี๋ยวนี้มันควบคุมได้เพราะมีสติ มีปัญญา มีสัมปชัญญะ มีสมาธิ ๔ เกลอ ๔ เกลอ สติ, ปัญญา, สัมปชัญญะ, สมาธิ ซึ่งถ้าหากว่าปฏิบัติได้อย่างถูกต้องแล้ว ถ้ามีการฝึกฝนปฏิบัติธรรมะ ๔ ประการนี้อย่างถูกต้องเป็นเวลานานพอสมควร ครึ่งเดือน, หนึ่งเดือนอะไรก็ตามใจ มันก็เป็นคนที่มีธรรมะ ๔ เกลออยู่ที่เนื้อที่ตัวสำหรับจะช่วยเรา ขอให้สำรวจดูกันทุกคนว่ามีสติมากขึ้นไหม ก่อนบวชเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้มีสติมากขึ้นไหม เดี๋ยวนี้มีปัญญาความรู้ในความจริงเหล่านี้มากขึ้นไหม เดี๋ยวนี้มีสัมปชัญญะเข้มแข็งไหม เดี๋ยวนี้มีสมาธิมากพอไหม
ถ้าสำรวจดูแล้วเห็นว่า โอ้, เดี๋ยวนี้มีเว้ย มีพอ มีสติพอตัว, มีปัญญาพอตัว, มีสัมปชัญญะพอตัว, มีสมาธิพอตัว ก็วิเศษประเสริฐ ได้รับสิ่งที่มีประโยชน์ที่สุดที่จะคุ้มครองชีวิตให้เยือกเย็น ไม่ต้องร้อน, ไม่ต้องเป็นทุกข์ ไอ้ชีวิตเย็นนี้มันเป็นนิพพาน ในความหมายของนิพพาน นิพพานแปลว่าเย็น ไม่ได้แปลว่าตาย ถ้าตายแล้วจะมีประโยชน์อะไร ไอ้นิพพานน่ะเป็นธรรมธาตุ เป็นธาตุ (ธา-ตุ) ธาตุ ธรรมธาตุชนิดหนึ่ง คือทาสแห่งความเย็นเพราะไม่มีกิเลส มันเป็นธาตุตามธรรมชาติ จะพิเศษตรงที่ว่ามันมีความเย็น เป็นธาตุแล้วมันจะตายได้เหรอ มันตายไม่ได้ นิพพานมันตายไม่ได้ ไอ้ที่มันตายนี่คือสังขารร่างกาย ที่มันควรจะได้รู้รสของนิพพานน่ะมัน ๆๆ สิ้นอายุของมัน มันก็ต้องตาย หรือมันถูกฆ่าตาย ไอ้ที่มันตายได้มันคือสังขารร่างกาย ไอ้นิพพานคือภาวะที่เยือกเย็นที่จิตจะได้รับ จะได้ถึง มันไม่ตาย และมันไม่เกี่ยวกับความตาย มันมิใช่ความตาย มันเป็นความเย็นที่นี่และเดี๋ยวนี้ แล้วรู้สึกเป็นสุข เมื่อเรารู้สึกเป็นสุข เป็นสุข เป็นที่เยือกเย็นใจอย่างยิ่ง ไม่มีความทุกข์ความร้อนนั่นแหละคือลักษณะของนิพพาน มันมีตามมากตามน้อย มีชั่วขณะหรือมียืดยาว หรือมีตลอดไปอะไรก็แล้วแต่เรื่อง แต่ว่ามันต้องเป็นความเย็น, ไม่ใช่ความตาย
ทีนี้เราก็สามารถจะจัดชีวิตนี้ให้มันเย็น ให้มันเย็น อะไรมาก็ไม่มีโทษ ไม่มีไฟ ไม่มีทุกข์เกิดขึ้น สามารถทำให้ราบรื่นเรียบร้อยเป็นความเย็นไปหมด นี่ประโยชน์ที่จะได้รับเป็นอย่างยิ่ง ถ้ามันร้อนมันก็เป็นความทุกข์ เดี๋ยวนี้พูดเรื่องความร้อนกันบ้างสักหน่อย ไอ้ความร้อนนั้นคือกิเลส โลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง มีอยู่ ๓ อย่าง แล้วก็แจกลูกออกไปได้หลายสิบอย่าง หลายร้อยอย่างก็ได้ แต่แม่บทของมันมี ๓ อย่าง กิเลสน่ะ
กิเลสพวกแรกพวกที่หนึ่งนั้นน่ะ โลภะ หรือ ราคะ มันมีลักษณะดึงเข้ามาหา ดึงเข้ามายึดไว้ รัด กอดไว้ ถือไว้ ดึงเข้ามาหาตัว นี่กิเลสประเภทนี้เรียกว่า โลภะ หรือ ราคะ
ทีนี้กิเลสประเภทที่สอง โทสะ หรือ โกธะ กิเลสประเภทนี้มันผลักออกไป ผลักออกไป หรือมันถึงกับจะฆ่าเสียให้ตายเลย ทำลายเสียเลยน่ะ มันตรงกันข้าม กิเลสพวกหนึ่งดึงเข้ามานี่เกิดความรัก เกิดความกำหนัด เกิดความพอใจ เกิดความโลภ นี่ลักษณะหนึ่ง อีกลักษณะหนึ่ง มันไม่เอา ไม่เอา ผลักออกไป ปฏิเสธ ผลักออกไป หรือถ้ามากกว่านั้นก็ทำลายเสียให้ตายไปเลย ให้สูญหายไปเลย นี่เรียกว่าโทสะบ้าง เรียกว่าโกธะบ้าง
ทีนี้กิเลสประเภทที่สามเรียก โมหะ อันนี้โง่เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ดึงเข้ามาก็ไม่ดึง ผลักออกไปก็ไม่ผลัก ได้แต่วิ่งอยู่รอบ ๆ วิ่งอยู่รอบ ๆ วิ่งอยู่รอบ ๆ
ทีนี้เปรียบให้เป็นอุปมา เป็นอุทาหรณ์เหมือนกับอย่างวัตถุนี่ ก็จะได้เป็น ๓ ชนิดอย่างนี้ พวกหนึ่งดึงเข้ามาหาเป็นพวก โลภะ ราคะ, พวกผลักออกไปหรือทำลายเสียเป็นพวกโทสะหรือโกธะ, พวกหนึ่งไม่ทำอย่างนั้น แต่วิ่งอยู่รอบ ๆ ด้วยความสงสัย ด้วยความไม่แน่ใจ แต่ว่าผูกพันเยื่อใย ทิ้งไปไม่ได้ ก็วิ่งอยู่รอบ ๆ
ถ้าเรามีความรู้สึกเป็นกิเลสเกิดขึ้นแล้วเราไม่รู้ว่าจะเป็นกิเลสประเภทไหน เราก็ลองสังเกตดูด้วยเครื่องวัดตามแบบนี้
มีอยู่ ๓ ประเภทเป็นแม่บท ทีนี้เมื่อเราขาดสติ เมื่ออารมณ์มากระทบมันก็โง่ในผัสสะ ในเวทนา เกิดตัณหา แล้วก็ต้องเป็นกิเลส อยากได้ก็เป็นโลภะ, อยากทำลายก็เป็นโทสะ โกธะ, อยาก...ไม่รู้ว่าอะไรวนเวียนอยู่ก็เป็นโมหะ อำนาจของความอยากที่มันดึงรัดเอาไว้ ร้อยรัดเอาไว้ เย็บติดกันเข้าไว้กับจิตใจ อันนี้เรื่องกิเลส เรื่องกิเลสนะ จำไว้ว่ากิเลสมี ๓ ชื่อ ๑.โลภะ ๒.โทสะ ๓.โมหะ
ทีนี้ก็ดูต่อไป ครั้นเกิดกิเลสแล้วครั้งหนึ่ง แม้ว่ากิเลสนั้นเสร็จสิ้นเรื่องดับไปแล้ว แต่มันได้ทิ้งอีกอันหนึ่งไว้ คือความเคยชินที่จะเกิดอีก เมื่อมันได้เกิดทีหนึ่งแล้ว มันก็ทิ้งความเคยชินที่จะเกิดอีก ง่ายที่จะเกิดอีกเอาไว้ในใจ นี่เรียกว่าอนุสัย อนุสัยอยู่ในเก็บ ๆ ไว้ข้างในเป็นความเคยชินที่จะเกิดกิเลสอีก
ถ้ามันเกิดกิเลสประเภทราคะหรือโลภะ มันก็ทิ้งอนุสัยที่ชื่อว่า ราคานุสัย (ราคะ+อนุสัย) ไว้ในใจ สำหรับจะเกิดราคะหรือโลภะอีก
ถ้ามันเกิดกิเลสประเภทโทสะหรือโกธะดับไปแล้ว มันก็เหลือความเคยชินไว้ในใจเรียกว่า ปฏิฆานุสัย นี่ชื่อแปลกหน่อยไม่ค่อยจะชินหูแก่คนทั้งหลาย ปฏิฆะ ก็แปลว่า ไม่ชอบ, กระทบกระทั่ง คือโกรธหรือเกลียดมัน ทิ้งปฏิฆานุสัยไว้เป็นความเคยชินสำหรับมันจะเกิดความโกรธ ความอย่างเดียวกันนี้
ทีนี้ถ้าว่ามันเป็นเรื่องโมหะ เป็นเรื่องโง่ โง่เป็นโมหะเสร็จไปแล้ว มันทิ้งความเคยชินไว้ในใจสำหรับจะโง่อย่างนั้นอีกเรียกว่า อวิชชานุสัย
อนุสัยมี ๓ ชื่อคือ ราคานุสัย สำหรับเป็นราคะหรือโลภะอีก, ปฏิฆานุสัย สำหรับจะโทสะหรือโกธะอีก, อวิชชานุสัย สำหรับจะเป็นโมหะอีก อย่าเข้าใจว่าเกิดกิเลสแล้วมันแล้วไปนะ เกิดกิเลสแล้วยุ่งกันไปตามเรื่องตามราว เกิดแล้วมันยังเหลือทิ้งความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้นไว้ในจิตใจ นี่เรียกว่าอนุสัย ๆ
ถ้าเกิดกิเลสหลายหนเข้าก็มีอนุสัยมากขึ้น อนุสัยมากขึ้น มันก็มีความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้นมากขึ้นจนเราบังคับไม่อยู่ ต่อมามันก็เกิดได้ง่าย เกิดได้เร็ว ของยั่วให้เกิดราคะมาก็ราคะ โลภะไป ของยั่วให้โทสะก็โทสะให้แรงไป ของยั่วให้สะเพร่า ให้โง่ ให้หลง ให้โง่โมหะไป นี่เพราะมันจึงง่ายที่จะเกิดกิเลสให้ได้ง่ายได้เร็วกว่าเดิม เพราะมันเก็บความเคยชินไว้ในใจ เรียกว่าอนุสัย นี่ก็มีปัญหาเท่านี้แหละ อนุสัยก็เก็บไว้ในใจมากเข้า ๆๆ มันก็ต้องการจะดันออกมา ต้องการจะดันออกมา เหมือนกับว่าเราเอาน้ำใส่ตุ่ม ถ้าตุ่มนั้นมันมีรูรั่ว เมื่อใส่น้ำมากลงไปมากลงไป ไอ้น้ำที่จะดันออกทางรูรั่วนั้นมันก็แรงมากสิ ถ้าน้ำน้อย ๆ มันก็ไม่แรง ถ้าน้ำมาก ๆ มันก็แรง นี่มันจะดันออกมา ถ้าจะดันออกมาโกรธใหม่ครั้งหลังอีก โลภใหม่ครั้งหลังอีก โง่ใหม่ครั้งหลังอีก ออกมาคราวนี้เป็นอย่างนี้เรียกว่า อาสวะ
อาสวะ คือ กิเลสที่ไหลกลับออกมาจากอนุสัย เรียกว่าอาสวะ แปลว่าของไหล ไหลออกมาเป็น กาม คือประเภทโลภะ, ราคะ, ไหลออกมาเป็นภพคือความอยากเป็น ๆ อยากจะเป็น อยากจะมีลักษณะเป็น ๆ เจ้าของ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้, แล้วก็มีลักษณะสำหรับจะโง่เรียกว่า อวิชชาสวะ
นี่ไหลออกมาอย่างนี้ ทีนี้ก็ยิ่งร้ายไปกว่าเดิม ร้ายไปกว่าเดิม เพราะมันเข้มข้นกว่าเดิม ก็คือลักษณะของโลภะ, โทสะ, โมหะที่เข้มข้นกว่าเดิม ไหลกลับออกมาจากข้างในก็เรียกว่าอาสวะ เมื่อได้เหตุปัจจัยภายนอกยั่วยวนสักเล็กน้อยเท่านั้นแหละ มันก็เกิดขึ้นได้โดยง่ายโดยเร็ว เป็นอาสวะรุนแรงทีเดียว นี่ปัญหายุ่งยากลำบากของคนเรามันอยู่ที่อย่างนี้ ก็ดูสิ, พออะไรมายั่ว พออะไรมายั่วนิดหนึ่งเท่านั้นแหละ มันก็เอาทันทีเลย มายั่วให้เกิดรักกิเลสประเภทโลภะมันก็โลภทันที, มายั่วเสียให้โกรธก็โกรธรุนแรงทันที, มายั่วให้โง่ ให้หลงใหล ให้มัวเมา มันก็มัวเมาทันที นี่มันลำบากไหม ลำบากเท่าไร ทำไมเราจึงบังคับไม่ได้ ทำไมเราจึงอดกลั้นไม่ได้ เพราะว่าอนุสัยมันมีอยู่ข้างใน มันดันออกมาเป็นอาสวะพร้อมเต็มที่เต่งตึงอยู่เสมอที่จะไหลออกมา ฉะนั้นเราจึงบังคับจิตของเราไม่ได้ ของเล็กน้อยมายั่วให้รักก็รักแล้ว ของเล็กน้อยมายั่วให้โกรธก็โกรธแล้ว ของเล็กน้อยมายั่วให้มัวเมาก็มัวเมาแล้ว เพราะมันมีอนุสัยเก็บไว้ในสันดาน ถ้าระหว่างที่เธอบวชนี้ควบคุมกิเลสไม่ให้เกิด มันก็ลดอนุสัยสิ ไม่เพิ่มอนุสัยให้มันสิ ลดอนุสัย ระหว่างที่เราบวชนี้ถ้าอะไรเข้ามาทำให้โลภ-เราก็บังคับไว้ได้, อะไรมาทำให้โกรธ-เราก็บังคับไว้ได้ เพราะเราเป็นผู้บวช เป็นนักบวช กำลังปฏิบัติอย่างนั้นบวช, อะไรมาทำให้หลงก็บังคับไว้ได้ ไม่หลง ก็ลดอนุสัย ลดความเคยชินที่จะโลภ, ที่จะโกรธ, ที่จะหลง ลดความเคยชินลงไป ลงไป ลดอนุสัย ลดอนุสัย มันก็เหลือน้อย ที่จะไหลดันกลับออกมามันก็ไม่ ๆ แรงหรือไม่มาก มันได้ผลอย่างนั้น อาสวะมันจึงไม่รุนแรงก็ได้ผลเป็นความสุขสบาย
ทีนี้บังคับไว้ไม่ให้ไหลออกมาได้เพราะสติ สัมปชัญญะด้วยธรรมะ ๔ เกลอ ธรรมะ ๔ เกลอเอามาใช้เถิด มันจะควบคุมกิเลส, อนุสัย, อาสวะนี้ได้ แล้วพิษร้ายน้อย ๆ ของมันน่ะ ของอนุสัยที่เก็บไว้ในสันดานน่ะ มันไม่มีอารมณ์อะไรมายั่วข้างนอก มันก็นึกปรุงขึ้นมาจากภายในก็ได้ เป็นความรู้สึกที่เราเรียกกันว่านิวรณ์ นิวรณ์นี่ บวชทั้งทีคงจะเคยเรียนเรื่องนิวรณ์ ถ้าไม่เคยสอนเรื่องนิวรณ์ก็นับว่าบกพร่องมาก นิวรณ์ ๕ อย่าง
(๑) กามฉันทะ
(๒) พยาบาท
(๓) ถีนมิทธะ
(๔) อุทธัจจกุกกุจจะ
(๕) วิจิกิจฉา
ไม่ต้องมีอะไรมายั่วยวนภายนอกหรอก เพราะมันมีอนุสัยเต็มอัดอยู่ในภายใน มันก็ดันออกมาเป็นไออุ่น เป็นควัน เป็นนิวรณ์ขึ้นมา เป็นความรู้สึกไม่มีเหตุปัจจัยภายนอก แต่มันก็รู้สึกจากภายในได้ เป็นกามฉันทะครุ่นอยู่ในทางกาม, เป็นพยาบาทครุ่นอยู่ในทางโกรธ ทางเกลียด อึดอัด คับแค้น, เป็นถีนมิทธะ - ซบเซา มึนชา ง่วงซึม, แล้วเป็นอุทธัจจกุกกุจจะ - ฟุ้งเฟ้อ ความคิดฟุ้งเฟ้อ เลื่อนลอย และเป็นวิจิกิจฉา - ไม่สงบ ไม่แน่ใจว่าอะไรเป็นอย่างไรโดยแน่นอน มีแต่สงสัยอยู่เรื่อยไป สงสัยไปหมดว่าจะตายหรือจะไหม จะได้ไหม จะเสียไหม จะอะไร ๆ ก็สงสัยไปหมด สงสัยชีวิต สงสัยความถูกต้อง สงสัยอะไร แม้จะสงสัยกระทั่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ว่าจะดีจริงไหมเท่านี้มันก็เกิดได้ เป็นนิวรณ์เกิดได้เพราะว่าอนุสัย โดยเฉพาะอวิชชานุสัยมันอยู่ข้างใน มันส่งนิวรณ์ออกมา ถ้าได้เกิดนิวรณ์บ่อย ๆ ก็ยิ่งหล่อเลี้ยงอวิชชานุสัยมากขึ้น นิวรณ์ทั้งหลายเป็นอาหารของอวิชชา ฉะนั้นก็มีการประพฤติปฏิบัติด้วยสติสัมปชัญญะอย่างดี ควบคุมไว้ให้ได้ ลดอนุสัยอยู่เรื่อยไป อาสวะก็ไม่พุ่งออกมา นิวรณ์ก็ไม่อาจจะออกมา
ธรรมะ ๔ เกลอมีประโยชน์อย่างยิ่งเห็นปานดังนี้ ควรจะศึกษากันให้เข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้งอย่างยิ่ง จนถึงกับว่าควบคุมได้ สามารถประพฤติปฏิบัติที่จะควบคุมมันได้ ควบคุมไม่ให้เกิดกิเลสแล้วมันก็ลดอนุสัย มันก็ลดอาสวะ แล้วมันก็ลดนิวรณ์ เราก็สบายใช่ไหมล่ะ? กิเลสไม่เกิดสบายเท่าไร? อาสวะไม่ไหลออกมาสบายเท่าไร? นิวรณ์ไม่รบกวนสบายเท่าไร? นี้ก็รู้เอาเอง
ทีนี้ประโยชน์อย่างยิ่งของพรหมจาริณี การบวชประพฤติปฏิบัติตามแบบของพรหมจาริณี มันจะได้ธรรมะ ๔ เกลอ จะมาควบคุมกิเลส ควบคุมอนุสัย ควบคุมอาสวะ ควบคุมนิวรณ์ แล้วก็มีชีวิตที่สะอาดหมดจดผ่องแผ้วจากสิ่งเหล่านี้ นี่คือชีวิตใหม่ ชีวิตใหม่ที่เราไม่เคยพบมาแต่ก่อน เราเคยพบแต่ชีวิตที่มืดมัว หม่นหมอง สับสน วุ่นวาย หาความสงบไม่ได้ แต่ถ้าเราได้ใช้ธรรมะเหล่านี้ขึ้น ฝึกฝนมีไว้อย่างเพียงพอแล้วก็ได้ชีวิตที่แจ่มใส สะอาด สว่าง สงบ เยือกเย็น เป็นอิสระ ไม่มีอะไรเบียดเบียน กระทบกระทั่ง เป็นชีวิตที่ประเสริฐที่สุด ไม่เสียทีที่ว่าได้เป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา แล้วได้รับชีวิตชนิดนี้มาตอบแทน เป็นเครื่องตอบแทน
เราจงพยายามใช้เวลานี้ฝึกฝนอย่างยิ่ง อบรมอย่างยิ่ง เตรียมตัวไว้ให้พร้อม เพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ของเราให้สูงขึ้นสูงขึ้น มีความเป็นมนุษย์สูงขึ้น, มากขึ้น, ดีขึ้นจนเป็นมนุษย์ที่เต็มเปี่ยม เต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์ ไม่มีความบกพร่องเว้าแหว่ง แต่มีความเต็มเปี่ยม เต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์ มีมนุษยธรรมด้วยอำนาจธรรมะ ๔ เกลอ แล้วก็รักษา ๔ เกลอนี้ไว้เป็นเพื่อนชีวิต เป็นคู่หู เป็นคู่ชีวิตตลอดไป สำหรับจะควบคุมชีวิตนี้ให้มันเยือกเย็น ให้ใช้ได้ทุกชนิดแห่งปัญหา ทุกชนิดแห่งเหตุการณ์ ให้เรามีชีวิตชนิดที่ไม่มีปัญหา มีแต่ความว่างจากปัญหา ว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ นี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ เดี๋ยวนี้คนเรามันไม่รู้ มันไม่รู้ว่าเกิดมาทำไมด้วยซ้ำไป ถ้ามันรู้จริงแล้วมันก็ร้อง โอ้, มันเกิดมาเพื่อได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ เดี๋ยวนี้มันก็ไม่รู้อีกว่าไอ้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้นั้นคืออะไร มันก็ไม่รู้อีก
เอ้า, เดี๋ยวนี้เรารู้แล้วนี่ เรารู้แล้วนี่ คือการศึกษาถูกต้อง การปฏิบัติถูกต้อง ได้รับผลถูกต้องเป็นชีวิตชนิดที่ไม่มีความทุกข์เลย ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับทันตาเห็นก่อนแต่เข้าโลง ก่อนแต่จะเข้าโลงน่ะได้รับไอ้สิ่งเหล่านี้เสียอย่างเพียงพอ นี่ประโยชน์สูงสุดของการประพฤติเป็นพรหมจาริณี ได้รับความรู้ตลอดเวลาที่ประพฤติอยู่ แม้เวลาลา ลาออกไปแล้ว สึกจากพรหมจาริณีไปแล้ว ก็ยังเอาไปใช้เป็นประโยชน์ได้ตลอดไปจนวาระสุดท้ายของชีวิต นี้เป็นบุคคลที่มีความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ เกิดมาได้เป็น เอ่อ การได้ที่ดีนับตั้งต้นตั้งแต่ว่าเป็น
(๑) บุตรที่ดีของบิดามารดา เป็นสุขกันทั้งลูกทั้งแม่ทั้งพ่อ
(๒) เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ ชื่นอกชื่นใจกันทั้งลูกศิษย์และอาจารย์
(๓) เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน พออกพอใจ สบายใจกันด้วยกันทุกคน
(๔) เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ ไม่เสียทีที่เราเป็นพลเมือง
(๕) เป็นสาวกที่ดีของพระศาสนา ได้รับผลที่ควรจะได้รับจากพระศาสนาอย่างยิ่งอย่างครบถ้วนจริง ๆ
ได้ ๕ ดีนี้แล้วก็เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นมนุษย์ที่เต็ม เต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์ เต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์ ไม่ ๆๆ ต้องมีอะไรเติมอีกแล้ว เติมก็เติมไม่ลงแล้ว มันเต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์เสียแล้ว เต็มเปี่ยมอยู่ด้วยความเย็นคือนิพพาน ชีวิตที่เย็น ๆๆๆๆ ทุกความหมาย เย็นทุกกรณี ทางวัตถุก็เย็น ทางร่างกายก็เย็น ทางจิตก็เย็น ทางวิญญาณก็เย็น เต็มเปี่ยมอยู่ด้วยธรรมะสำหรับความเป็นมนุษย์อันสูงสุดดังนี้ พูดซ้ำอีกทีว่าไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ได้พบพระพุทธศาสนา
ขอให้ทุกคนจงมีสติสัมปชัญญะ รู้จักสิ่งเหล่านี้ ประพฤติอยู่อย่างถูกต้อง อยู่ทุก ๆ อิริยาบถ ได้รับผลแห่งพระธรรมคุ้มครอง มีชีวิตเย็นเป็นสุขอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ.