แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทั้งหมด เราควรจะทำความเข้าใจกันให้ถูกต้อง คือว่าควรจะพอใจในการที่ได้มานั่งกันอย่างนี้ ทั้งเปียกทั้งชื้น เพื่อจะได้เรียนรู้การเป็นอยู่ครั้งพุทธกาล จะได้หายโง่ ได้อยู่กันอย่างอะไรล่ะ สะดวกสบาย หรูหราสวยงามอะไรอย่างนั้น การนั่งกันตามธรรมชาติแบบนี้เป็นธรรมดาครั้งสมัยพุทธกาล มีหลักฐานมากมายที่ทำให้เชื่อได้อย่างนั้น ก็ ก็เลยกลายเป็นความรู้ที่เกิดมาจากความรู้สึกว่ารู้สึกอย่างไรในการที่ต้องมานั่งอย่างนี้รู้สึกอย่างไร ดีมาก มันเป็นบทเรียนด้วย การที่จะมานั่งในลักษณะอย่างนี้แล้วก็พอใจ แล้วก็ทำอะไรไปได้นั่นแหละมันเป็นบทเรียน บทเรียนที่พระจะต้องผ่าน ที่ภิกษุจะต้องผ่านหรือว่าพุทธบริษัทจะต้องผ่าน แล้วมันก็สมกับที่เรามีหลักกันไว้ว่าเป็นอยู่อย่างต่ำแล้วก็มุ่งกระทำอย่างสูง เช่นอย่างนี้เป็นตัวอย่าง คือเราอาจจะไม่ทำก็ได้เพราะมันเปียกมันชื้นมันอะไรอย่างนี้เรา เราเลิกเสียก็ได้งดเสียก็ได้ แต่เราก็ไม่ ไม่ต้องงดโดยจัดให้มันเป็นการศึกษาอย่างไรเป็นการศึกษา ได้ผ่านไปในความรู้สึกอย่างยิ่งว่าอะไรมันเป็นอะไร นี่มันเป็นการศึกษา แล้วอยู่อย่างต่ำมันก็หมายความว่านั่งกันอย่างนี้แหละ มันต่ำ มันต่ำเท่าที่จะต่ำได้แล้ว และจิตใจอีกอย่างขอให้มันเป็นไปในทางสูงคืออยู่เหนือปัญหาทั้งปวง รวมทั้งอยู่เหนือความต่ำนี่มันไม่ต่ำแล้วมันก็สูง อยู่เหนือความต่ำ ขอให้จำไว้ด้วยหรือว่าจำไว้ตลอดชีวิตว่าเราจะอยู่กันอย่างต่ำๆ ซึ่งมันสอนอะไรได้มาก มีประโยชน์มากแล้วก็ทำในจิตใจนี่มุ่งหมายให้มันสูงๆ สูงเพื่ออยู่เหนือความต่ำ เหนือปัญหา เหนือความทุกข์ จิตใจสูงก็อยู่เหนือปัญหานานาต่างๆสารพัดอย่างแล้วก็จะอยู่เหนือความทุกข์นั่นเอง ขอให้เป็นอยู่อย่างต่ำแล้วมุ่งกระทำอย่างสูง วันนี้ก็เลยมานั่งพูดกันในลักษณะเปียกชื้นอย่างนี้ ถ้ารู้สึกอึดอัดขัดข้องก็พิจารณาดูให้ดี เพราะเหตุอะไรเราจึงรู้สึกอึด อึดอัดขัดข้อง เพราะเราเคยยึดถืออย่างไร วางมาตรฐานไว้อย่างไรให้มันจึงรู้สึกอึดอัดขัดข้อง ก็คืออยากจะให้ลองเสียเลยว่ามันเป็นของธรรมดาที่สุดสำหรับครั้งพุทธกาลแหละครั้งพุทธกาล บางคนอาจจะเห็นว่ามันโง่ไปก็ได้หรือมันไม่จำเป็นจะต้องทำอย่างครั้งพุทธกาลก็ได้ มันก็ได้เหมือนกันแหละนั้นมันดูแต่ภายนอก มันดูแต่ผิวเผินตามแบบของคนโง่สมัยใหม่ที่มีการศึกษาแบบสมัยใหม่ มันจะคิดไปอย่างนั้นคือแน่นอน เราไม่ต้องทำก็ได้ถูกแล้ว แต่เราก็ทำเพื่อให้รู้อะไรบางอย่าง แล้วก็เพื่อฝึกฝนอะไรบางอย่างเพื่อความก้าวหน้าทางจิตใจของเราเอง นี่ขอให้ทุกคนได้รับความรู้สึกอันนี้เป็นข้อแรกสำหรับวันนี้ที่มาพูดกันในสถานที่เปียกแฉะชื้นเย็น
ทีนี้หัวข้อที่ตั้งใจว่าจะพูดในวันนี้ก็มีหัวข้อว่าบังคับตัวเองดีกว่าให้ผู้อื่นบังคับ ตัวเองก็รู้อยู่ว่าอะไรเป็นอย่างไร ก็ได้ศึกษาเล่าเรียนมากขึ้นๆก็รู้อยู่ว่าควรทำอย่างไร แต่แล้วมันก็ไม่ทำ จนผู้อื่นต้องบังคับ นี้มันก็เป็นเรื่องของเด็กๆ คิดดูว่าเด็กๆก็ไม่ทำตามที่บิดามารดา ครูบาอาจารย์สั่ง หรือว่ารู้ว่ามันดีมันควรจะทำมันก็ไม่ทำ มันก็ไปทำอย่างที่สนุกสนานของมันจนผู้อื่นต้องบังคับ ถ้าผู้อื่นต้องบังคับแล้วมันก็มีลักษณะเป็นเด็กๆ เราจึงมีหลักที่เรียกว่าเราจะบังคับตัวเอง เมื่อรู้ว่าควรทำอย่างไรแล้วก็จะทำแหละโดยที่ไม่ต้องมีใครมาบังคับ ฉะนั้นควรจะรู้สึกว่าเสียเกียรติหรืออะไรก็ตามการที่ผู้อื่นมาบังคับ ในฐานะที่เป็นมนุษย์ด้วยกันนี่บังคับตัวเองดีกว่าไม่ต้องให้ใครมาบังคับหรือลักษณะเหมือนกับเสียเกียรติ นี่เป็นข้อแรกแหละ มันจะเป็นการเสียเกียรติของความเป็นมนุษย์ แล้วมันก็จะเกิดการปะทะขัดแย้งขึ้นมาถ้ามีผู้อื่นมาบังคับ ถ้าเราบังคับเราเสียเองมันก็ไม่มีการขัดแย้งอะไรปะทะอะไรกับใคร มันก็เป็นไปด้วยดี ทีนี้ที่สำคัญกว่านั้นก็คือว่าให้ผู้อื่นบังคับนั่นมันไม่ค่อยจะสำเร็จ เพราะเราก็มีกิเลส เราก็มีความยึดมั่นถือมั่น มีศักดิ์ศรีมีอะไร ไม่อยากให้ใครมาบังคับ ดังนั้นการที่ให้ผู้อื่นบังคับมันสำเร็จประโยชน์น้อยมาก มันปะทะกันอย่างนี้ ถ้าบางอย่างก็ไม่ได้หรอก ใครจะไปบังคับจิตของใครได้ล่ะ ถ้าเขาบังคับของเขาเองมันก็ได้ นี่ถ้าว่าเราตั้งใจบังคับจิตใจของเราเองบังคับตัวเองบังคับอย่างนี้มันก็ทำได้ มันก็ทำได้และได้ผล ให้ผู้อื่นมาบังคับมันก็เกิดการต่อสู้เกิดการขัดแย้ง แล้วมันก็ไม่ได้ผลหรอก ถ้ามันไม่บังคับตัวเองแล้วไม่มีทางจะได้ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของธรรมะ เรื่องของธรรมะคือการบังคับกิเลสนะให้ผู้อื่นมาบังคับมันก็ทำไม่ได้ เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้มันผิดฝาผิดตัวกัน แต่ถ้าบังคับตัวเอง ตั้งใจบังคับตัวเอง ศึกษาให้รู้เข้าใจแจ่มแจ้งแล้วบังคับตัวเองมันก็สามารถบังคับกิเลสได้ บังคับกิเลสนั่นแหละคือการบังคับตัวเอง ก็ตัวเองในที่นี้จะทำอะไรผิดข้อบังคับ นอกข้อบังคับอะไรต่างๆมันเป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้นแหละ ฉะนั้นเราก็รู้ว่าจะให้ใครมาบังคับกิเลสของเรานะมันทำไม่ได้หรอก เว้นแต่ว่าเราจะทำของเราเอง นี่จึงพูดว่าบังคับตนเองดีกว่าให้ผู้อื่นเขาบังคับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบังคับกิเลสเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ นี่ขอให้เข้าใจไว้อย่างนี้เพราะว่าเรื่องมันยังมีอีกมาก กว่าจะตายนะมันอีกหลาย หลายปีหลายสิบปีเรื่องมันยังมีอีกมาก เรื่องที่จะต้องบังคับให้ถูกต้อง ให้เป็นไปตามทำนองคลองธรรมนั้นมันยังมีอีกมาก ดังนั้นจงมีหลักประจำตัวว่าเราจะบังคับตัวเอง นี่ทบทวนดูก็จะเห็นได้ว่าให้ผู้อื่นบังคับนั่นมันเสียศักดิ์ศรี แล้วมันจะเกิดการปะทะขัดแย้ง สู้บังคับตัวเองไม่ได้ มันไม่มีอะไรที่จะต้องวุ่นวายโกลาหล มันก็จะเรียบร้อย ทีนี้การที่จะบังคับตัวเองนั่นมันก็ต้องเรียนรู้กันบ้างว่าอะไรมันเป็นตัวเอง อะไรมันเป็นตัวเอง ถ้าเป็นปุถุชนคนธรรมดาอย่างคนธรรมดาเราท่านทั้งหลายเป็นคนธรรมดานี่กิเลสมันเป็นตัวเอง ตัวเองคือกิเลส คือกิเลสที่ยึดถือว่าตัวเอง กิเลสที่ยึดถือว่าตัวกูว่าของกูนั่นแหละมันตัวยึดถือตัวมันเอง เพราะฉะนั้นไอ้ตัวเองมันก็คือกิเลส การบังคับตัวเองคือ จริงๆก็คือการบังคับกิเลส ถ้าไม่มีกิเลสมันไม่มีความรู้สึกเป็นตัวกูของกูที่จะกระด้าง ที่จะมานะทิฐิ หรือที่จะเห็นแก่ตัวแล้วเกิดกิเลสโลภโกรธหลงต่างๆนานา ดังนั้นตัวเองในที่นี้ก็คืออุปาทานยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเองที่รุนแรงกว่าธรรมชาติ ตามธรรมชาติมันก็มีตัวเอง มีตัวเองเป็นรากฐานเป็นธรรมดาไม่รุนแรงอะไร มีความรู้สึกตามสัญชาติ มีรู้สึกว่ามีชีวิตที่จะต้องถนอม มีความหมายเป็นตัวเอง เพราะฉะนั้นมันก็จะต้องหาอาหารกินให้ตัวเองรอดอยู่ได้ มันจะต้องประคบประหงมตัวเองให้รอดอยู่ได้ มันจะต้องต่อสู้อันตราย เพื่อรอดจากอันตรายมันจะต้องป้องกันตัวเองให้รอดอยู่ได้ หรือบางทีมันก็ต้องหนี ต้องหนีอันตราย นี่มันมีตัวเองโดยพื้นฐานระดับธรรมดาๆสามัญไม่ร้ายกาจไม่รุนแรงอะไรนัก นี่เรียกว่าตัวเองตามธรรมชาติ ตัวเองตามสัญชาตญาณ เป็นพื้นฐานแห่งชีวิตสำหรับจะได้ถือเป็นหลักที่เรียกว่าจะรักษาไว้ คุ้มครองไว้ มีตัวเองอยู่ได้ แต่ทีนี้ตัวเองชนิดธรรมดากลางๆเป็นรากฐานอย่างนี้มันเปลี่ยน มันเปลี่ยนด้วยความโง่ด้วยกิเลสที่เกิดขึ้นมาจนกลายเป็นตัวเองชนิดเป็นตัวกูของกู ตัวกูของกู เมื่อเราอยู่ในท้องหรือเป็นทารก ไอ้ความรู้สึกประเภทตัวกูของกูนี่ยังไม่มี มันเพิ่งมีเมื่อเกิดออกมาแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจมันทำงานแล้ว มันรู้รสทุกชนิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วก็มันพอใจในรสอร่อยที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อมันเกิดความรู้สึกว่าอร่อย ความรู้สึกว่าอร่อยเข้มข้นเข้า เข้มข้นเข้า ความรู้สึกว่าอร่อยมันปรุงให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวกูผู้อร่อย ตัวกูผู้อร่อยหรือตัวกูผู้ไม่ได้อร่อย นี่ตัวกูๆมันเพิ่งเกิดเป็นความรู้สึกขึ้นมาทีหลัง เมื่อทารกนั้นได้สัมผัสอารมณ์ต่างๆจนได้รู้สึกต่อสิ่งที่มีรสอร่อย น่ารักน่าพอใจ น่าเพลิดเพลินน่าหลงใหล นี่ตัวกูเป็นของใหม่ เป็นของเพิ่งเกิด เข้มข้นไปกว่าความรู้สึกตามธรรมชาติของสัญชาตญาณที่มันมีตัวตนกลางๆ กลางๆนะตัวตนที่ยังไม่ ไม่มีความหมายอะไรนอกจากว่าเป็นชีวิตที่จะต้องถนอมแค่นั้นเอง แต่ครั้นอยู่มาๆไอ้ตัวกู ไอ้ตัว ตัวตนนี้มันกลายเป็นตัวกู มันได้อร่อยมันก็เกิดความโลภ ความรัก ความกำหนัดยินดี เมื่อมันไม่ได้อร่อยตามที่มันต้องการมันก็เกิดความโกรธ เอา บันดาลโทสะ อาฆาตพยาบาท จองเวรคิดทำลายล้าง นี่มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อมันมีตัวกูๆเกิดขึ้นแล้ว นี่คือสิ่งที่จะต้องบังคับแหละเพราะว่ามันเป็นตัวตนชนิดเป็นตัวกูที่แข็งกระด้างขึ้นมาแล้ว บังคับอย่าให้มันโง่ไปในทางยินดีหลงใหลเพลิดเพลินให้เป็น เป็นกิเลสประเภทนั้น บังคับอย่าให้มันโง่ไปโกรธ ไปขัดใจไปขุ่นแค้น ไป ไปอาฆาตพยาบาทในๆ ในสิ่งนั้น และอย่าให้มันพะวงหลงใหลในสิ่งที่มันไม่รู้ไม่เข้าใจอย่างที่พะวงหลงใหลกันโดยไม่รู้สึกตัว กิเลสประเภทที่ ๑ รักหรือพอใจนี้มันเป็น เป็นกิเลสประเภทดึงเข้ามาๆ ดึงเข้ามาหาตัว นี่เป็นกิเลสประเภทโลภะ ราคะ ทีนี้กิเลสอีกประเภทหนึ่งตีผลักออกไปหรือฆ่าเสียให้ตาย ตีผลักออกไป ผลักออกไปนั่นแหละเป็นประเภทโทสะ โกธะ ประเภทหนึ่งยังไม่รู้จะทำอะไรแน่ได้แต่วิ่งวนอยู่รอบๆด้วยความหลงใหลหลงรักหลงพอใจ วิ่งวนอยู่รอบๆ นี่ทำภาพพจน์ให้เกิดขึ้นมาสำหรับศึกษา แล้วก็จะจำได้ง่ายว่ากิเลสมีอยู่ ๓ ประเภทอย่างนี้ ประเภทที่ ๑ เป็นเหตุให้ดึงเข้ามา ประเภทที่ ๒ เป็นเหตุให้ผลักออกไป ประเภทที่ ๓ ให้วิ่งอยู่รอบๆ วิ่งวนอยู่รอบๆ ถ้าอยากจะรู้ว่ากิเลสเกิดขึ้นประเภทไหนก็สังเกตอาการ อาการอย่างนี้แหละ ถ้ามันดึงเข้ามาโอ้! ประเภทแรกแหละ ราคะหรือโลภะ หรือตัณหาอะไรแล้วแต่จะเรียก ถ้ามันมีลักษณะผลักออกไปหรือทำลายเสียให้ตายให้หมดสิ้นอย่างนี้ก็เป็นประเภทโทสะ โกธะ พยาบาทขัดเคืองอะไรไปตามเรื่อง ถ้ามันไม่ มันไปหลงใหลในรสอร่อย ใน ในรสอร่อย มันโง่มันหลงใหลมันก็วิ่งเวียนวิ่งวนอยู่ที่นั่น แม้ที่สุดแต่สิ่งที่มันยังสงสัยไม่รู้ว่าจะเป็นอะไรแน่มันก็ไปวนเวียนอยู่ที่นั่นแหละ ดึงเข้ามาก็ไม่ดึง ผลักออกไปก็ยังไม่ผลัก แต่มันก็วนเวียนๆอยู่ด้วยความสงสัย ทีนี้มันจะมีได้ก็ต่อเมื่อมันมีความรู้สึกเข้มข้นเป็นตัวกู นอกจาก เกิน มากไปกว่าที่จะเป็นตัวตนเฉยๆ แรกก็มีความรู้สึกเป็นตัวตนเฉยๆไม่มีปัญหาอะไรมากนัก แต่แล้วมันไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้นมันพัฒนาขึ้นมาเป็นตัวกู ซึ่งจะทำให้เกิดความเห็นแก่ตัว ไอ้ความเห็นแก่ตัวนี่เกิดความรู้สึกที่เลวร้าย ถ้ามันมีตัวเฉยๆไม่ได้เห็นแก่ตัวมันก็ไม่เป็นไร เหมือนทีแรกสัญชาตญาณทั่วไป แต่พอมันเกินกว่านั้นมันเป็นกิเลสแล้ว ไม่ใช่สัญชาตญาณทั่วไปธรรมดาแล้วมันเป็นกิเลสแล้วมันก็เห็นแก่ตัว ถ้ามันกระทบกับผลเจ็บปวดเพราะเห็นแก่ตัวมากเข้ามันก็เกิดความรู้ประเภทที่จะๆ จะดับทุกข์จะหนีออกจากทุกข์ไอ้ความรู้มันก็เปลี่ยนไปเป็นประเภทโพธิ ถ้าเป็นกิเลสก็มาฝ่ายต่ำสำหรับจะเอาจะยึดถือจะ จะเป็นทุกข์แหละ ถ้าเป็นไปในทางฝ่ายสูงก็เป็นโพธิสำหรับจะปลดเปลื้องความทุกข์ ความรู้สึกในใจของคนเรามันก็มีอยู่ ๒ ทางอย่างนี้ ถ้ามาเป็นกิเลสก็ได้ ได้สกปรก ได้ทำผิด ได้เป็นทุกข์ ถ้ามันเป็นไปในทางโพธิมันก็สะอาดสว่างสไว มีความรู้มีความเข้าใจถูกต้อง แล้วมันก็ทำไปได้ในทางที่จะไม่ต้องเกิดทุกข์ ทีนี้เรื่องที่จะต้องบังคับก็คือบังคับอย่าให้มันเป็นกิเลส แล้วบังคับให้มันเป็นโพธิ มีสติรู้สึกตัวทันท่วงทีควบคุมไว้บังคับไว้ให้เป็นไปแต่ในฝ่ายโพธิ คือประกอบไปด้วยความรู้อันถูกต้องว่าอย่างนั้นๆ อย่างนั้นถูกต้องแล้วก็ไม่เกิดความผิดพลาด ไม่คิดผิด ไม่พูดผิด ไม่ทำผิด แล้วมันก็ไม่เป็นทุกข์คือบังคับให้ไปตามโพธิ และบังคับไม่ให้ไป ไปทางกิเลส กระทั่งป้องกันไม่ให้เป็นไปทางกิเลส มันก็ไม่มีเรื่องที่จะต้องเป็นทุกข์ เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ลองบังคับดูเถอะว่า ลอง ลองคิดดูสิว่าใครจะมาบังคับได้ล่ะ ใครจะมาบังคับได้ล่ะ คนอื่นใครจะมาบังคับได้ล่ะนอกจากตัวเอง ดังนั้นจึงพูดว่าบังคับตัวเองดีกว่าให้ผู้อื่นเขามาบังคับซึ่งมันไม่มีทางที่จะสำเร็จได้เลย นี่ขอให้เข้าใจไว้อย่างนี้ แม้เรื่องเล็กๆน้อยๆ เรื่องต่ำๆเตี้ยๆ เรื่องเป็นอยู่ประจำวันมีผู้บังคับบัญชา เราเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชานี่ก็เราบังคับตัวเองเสียดีกว่าที่จะให้ผู้บังคับบัญชาต้องมาไสหัว มาบังคับมาชี้นิ้วอะไรอย่างนั้น บังคับตัวเองเสียดีกว่า คือสมัครทำหน้าที่เสียให้ถูกต้องโดยไม่ต้องมีผู้มาบังคับให้ทำ ถ้าต้องมีผู้มาบังคับให้ทำมันก็เป็นเรื่องของเด็กๆดังที่กล่าวแล้ว แต่ว่าเด็กที่ดีมันก็ไม่ต้องบังคับเหมือนกันนะ เด็กประเภทอาชาไนยก็ ก็เป็นคำเรียกกันว่าอาชาไนย มันรู้สึกได้ง่าย รู้สึกได้เร็ว ไม่ต้องเฆี่ยนไม่ต้องตีไม่ต้องอะไรมันก็ทำได้ทุกอย่างแล้ว แล้วทำได้ล่วงหน้าด้วยซ้ำไปนี่เขาเรียกว่าอาชาไนย รู้ได้ด้วยตนเองครบถ้วนทั่วถึง แม้แต่ช้างหรือม้าหรือสัตว์บางชนิดก็เป็นอาชาไนยก็มี แต่ทำไมคนมันจะโง่ถึงกับไม่เป็นอาชาไนยกันเสียเลย แล้วก็จะรู้ๆ รู้ๆเพิ่มขึ้น สังเกตดูก็รู้ว่าอะไร แล้วก็ไม่ต้องทำให้ผิดจนต้องถูกลงโทษ ผมสังเกตดูแม้แต่สุนัขและแมวบางตัวนะมันก็มีลักษณะอาชาไนยในบางเรื่อง ในบางเรื่อง ไม่ต้องเฆี่ยนตีมันก็รู้ ไอ้คนควรจะอาชาไนยกันมากกว่านั้น รู้เพิ่มขึ้น รู้เพิ่มขึ้นโดยเร็ว แล้วก็รู้จักเว้นในความชั่วขึ้นได้ด้วยตนเอง รู้จักทำความดีขึ้นมาได้ด้วยตนเอง รู้จักดับทุกข์ให้สูงขึ้นไปให้ยิ่งขึ้นไปได้ด้วยตนเอง นี่มันเป็นอาชาไนย สามารถจะจูงนำตัวเองไปได้โดยไม่ต้องมีใครมาบังคับ นี่อยู่ในคำที่พูดว่าบังคับตัวเองดีกว่าให้ผู้อื่นบังคับ ถ้าให้ผู้อื่นมาบังคับมันก็เท่ากับกิเลสของผู้อื่นโดยมาก ถ้าไม่ต้องการ ไม่ต้องบังคับก็มักจะเป็นกิเลสทั้งนั้นแหละน้อยนักที่จะเป็นโพธิ มันก็กิเลสมาบังคับกิเลสมันก็ได้ต่อสู้กันแหละ มันก็ได้ขัดแย้งกันฟัดเหวี่ยงกัน ฉะนั้นเราควรอธิษฐานจิตว่าเราจะจัดการของเราเองไปอย่างถูกต้องโดยไม่ต้องมีใครมาบังคับ บังคับทางภายนอกเหมือนกับเป็นทาสเขา เขาบังคับ ก็ไม่ไหวเหมือนกันแหละ ถ้าเป็นทาสที่ฉลาดมันก็ไม่ต้องให้บังคับ มันทำให้ถูกใจนายได้โดยไม่ต้องบังคับ มันก็ยังดี เดี๋ยวนี้เป็นเรื่องทางจิตใจในส่วนลึก ส่วนที่ยากที่ลึกมันก็ยิ่งมีอาการที่ว่าบังคับตัวเอง รู้สึกตัวเอง รู้จักตัวเอง บังคับตัวเอง เชื่อมั่นในตัวเอง ควบคุมตัวเอง ก็ประสบความสำเร็จ แล้วก็พอใจตัวเอง เคารพตัวเองก็สบาย ถ้ามันไปถึงเคารพตัวเองพอใจตัวเองได้มันก็สบายทั้งนั้นแหละ ขอให้ทุกคนเข้าใจเรื่องนี้ แล้วใช้หลักเกณฑ์อันนี้อยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งตาย หลักเกณฑ์อันนี้ใช้ได้จนกระทั่งตาย เลยขอให้สังเกตไว้ ขอให้จำไว้ ขอให้ทำให้มากทำให้ดีทำให้สูงยิ่งๆขึ้นไปในการบังคับตัวเอง
เอาละทีนี้ก็เรียกว่าได้พูดกันเรื่องหนึ่งแล้วว่าบังคับตัวเองดีกว่าให้ผู้อื่นบังคับ แล้วจะพูดอีกเรื่องหนึ่งเพราะมันเป็นเรื่องสั้นๆ ก็จะพูดสำหรับผู้ที่มีหน้าที่การงานสัมพันธ์กันกับผู้อื่น ดูแลปกครองควบคุมผู้อื่น ก็จะพูดโดยหัวข้อว่าต้องใช้กันทั้งพระเดชและพระคุณ การที่จะทำกับผู้ที่โง่กว่า อ่อนกว่า อยู่ใต้บังคับบัญชานั่นเราจะต้องใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ แต่ก็ต้องใช้ให้ถูกต้องโดยหลักว่า นี่โดยหลักว่าใช้พระเดชด้วยเมตตา แล้วก็ใช้พระคุณด้วยปัญญา ในกรณีที่ต้องใช้พระเดช ต้องใช้พระเดชคือบังคับบัญชาลงโทษอะไรก็ตามนะนี่ต้องใช้พระเดชทั้งนั้นแหละ ก็ต้องใช้แต่ขอให้ใช้ด้วยเมตตาเป็นเครื่องประจำอยู่ในใจ มันจะไม่เกิดเรื่อง มันจะพอดี มันจะสำเร็จประโยชน์ มันจะไม่บ้า ไม่ ไม่บันดาลโทสะ ไม่บ้าบิ่น จงใช้ประโยชน์ พระเดชหรือเมตตา แล้วก็ใช้พระคุณ พระคุณคือค่าจ้างรางวัลชมเชย เกลี้ยกล่อมอะไรต่างๆเรียกว่าใช้พระคุณไม่ใช้อำนาจ ก็จงใช้ด้วยปัญญา ถ้าใช้ด้วยความโง่แล้วจะล้มเหลวเหมือนกัน ถ้าใช้ด้วยความโง่ก็จะล้มเหลว มันจะไม่ถูกเรื่อง มันก็จะทำให้เกิดการโลเลเหลวแหลกขึ้นมา จึงต้องใคร่ครวญดูให้ดีว่าจะใช้พระคุณความรักนี้อย่างไร คำว่าปัญญาคือรอบรู้ รอบรู้ รู้สิ่งที่ควรรู้ แล้วก็ทำถูกต้องตามที่ควรจะทำ อย่างนี้เรียกว่าใช้ปัญญา ถ้าเรารักเขาอย่างโง่ๆมันทำผิด เป็นอันตราย เป็นอันตรายเท่ากันแหละ ฉะนั้นจึงให้มีปัญญาที่จะใช้ความรักหรือจะใช้พระคุณหรือจะใช้สิ่งที่ไม่เป็นการบังคับ นี่ขอให้ถือเป็นหลักว่าถ้าใช้พระเดชจงใช้ด้วยเมตตา ถ้าใช้พระคุณจงใช้ด้วยปัญญา ถ้าไม่ใช้พระเดชกันเสียเลยคนโง่คนอันธพาลนี้มันก็ไม่ได้ ก็ไปไม่รอด ถ้าใช้แต่พระคุณทีเดียวมันก็เหลวแหลกไม่มีใครจัดสร้างระเบียบขึ้นมาได้ ฉะนั้นยังต้อง ต้องใช้ทั้งพระเดชต้องใช้ทั้งพระคุณคือทั้งการบังคับบัญชา ลงโทษและใช้ทั้งการเกลี้ยกล่อม สรรเสริญ แนะนำชี้แจง ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ในโลกนี้มันเป็นอย่างนี้ แล้วทุกคนนะมันจะต้องมีผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ถ้าคุณเป็นพ่อบ้าน เป็นพ่อบ้านก็ต้องครอบ บัญ ต้องรักษาครอบครัว คนในครอบครัวนั่นแหละคือคนอยู่ (นาทีที่ 31.03 เสียงขาดหายแล้วกลับมาเนื้อหาไม่ต่อเนื่อง) ถูกต้องแล้วไม่มีเรื่อง ไม่มีเรื่องให้กระทบกระเทือนจนเป็นเรื่องทะเลาะวิวาทอันโกลาหลวุ่นวายอะไร ถ้าคุณเป็น ทำราชการ มีผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาคุณก็จะต้องรู้จักใช้ทั้งพระเดชแล้วต้องใช้ทั้งพระคุณมันจึงจะสำเร็จประโยชน์ แต่ก็เป็นศิลปะที่ยาก เป็นยอดศิลปะอยู่เหมือนกันที่จะใช้พระเดชด้วยเมตตานี่ไอ้คนปุถุชนมันมักจะบันดาลโทสะ มันมักจะอวดดี ทะนงตัวอยู่เป็น เป็นประจำแล้วมันก็ยากที่จะใช้ด้วยเมตตา ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษา จำเป็นที่จะต้องฝึกฝนให้มีสติสัมปชัญญะให้สามารถใช้เมตตาแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือใน ในบางกรณีมันก็ต้องใช้พระคุณคือใช้ความรักความไอ้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกลี้ยกล่อมอะไรกันไปตามเรื่อง งานนั้นจะดีเมื่อรู้จักใช้ทั้งพระเดชและทั้งพระคุณ แม้ที่สุดแต่ว่าไอ้สิ่งที่อยู่ใต้บังคับบัญชาต่ำลงไปถึงคนใช้นี่มันก็ต้องอย่างนั้นแหละ คนใช้โดยมากก็มักจะโง่ แล้วถ้าเขาฉลาดเขาก็ไม่มาเป็น ไม่ต้องมาเป็นคนใช้นะโดยมากก็มักจะโง่ ใช้พระเดชให้ถูกเรื่องใช้พระคุณให้ถูกเรื่อง หลักเกณฑ์เดียวกันแหละใช้พระเดชด้วยเมตตาใช้พระคุณด้วยปัญญา แม้ที่สุดแต่แมวและหมา หมาแมวอย่างนี้ ก็ดูนะให้ ดูให้ดีๆนะมันยังต้องมีศิลปะที่จะต้องใช้ให้ถูกต้องเหมือนกันแหละ ทำกับสัตว์เช่นสุนัขและแมวนะต้องใช้พระเดชด้วยเมตตาใช้พระคุณด้วยปัญญา มันก็จะเป็นสุนัขและแมวที่ดีขึ้นมา ฉลาด แล้วก็เป็นสุข มันก็จะเป็นสุข มันก็จะเป็นสุนัขและแมวที่ดีได้ ถ้าเจ้าของรู้จักใช้พระเดชด้วยเมตตาใช้พระคุณด้วยปัญญา ไม่ว่าอะไรที่มันอยู่ใต้บังคับบัญชาแล้วก็จงรู้จักใช้พระเดชและพระคุณให้ถูกต้องแก่กรณี เราไม่จำเป็นจะต้องพูดว่าใช้เท่ากันคนละครึ่งอย่างนั้นมันก็ไม่ได้หรอก มันต้องใช้คำว่าตามสมควรแก่กรณี ในกรณีไหนมากอย่างไรน้อยอย่างไร อะไรมากอะไรน้อยอย่างไร ถ้าไม่ใช้ด้วยเมตตามันก็ใช้ด้วยโทสะ ความโกรธความเกลียดแล้วอะไรๆมันก็ ก็เกิดเรื่องแน่ ถ้าไม่ใช้ด้วยปัญญามันก็ไม่ถูกฝาถูกตัว มันผิดๆพลาดๆ มากไปบ้างน้อยไปบ้าง ช้าไปบ้างเร็วไปบ้างอะไรไปบ้างมันก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน ฉะนั้นเราจะต้องใช้ปัญญาให้ถูกกาลเทศะ ให้พอดี ให้ถูกต้องให้พอดีตามแบบของสัตบุรุษที่มีสัปปุริสธรรม รู้จักเหตุรู้จักผล รู้จักตนรู้จักประมาณ รู้จักกาลเวลา รู้จักบริษัทสังคม แล้วก็รู้จักบุคคล ปัจเจกชนแต่ละคนละคน รู้อย่างถูกต้องนี่เก่งมากทีเดียวแหละ ไอ้ ๗ อย่างนั้นแหละคงจะเรียนกันแล้วในนักธรรมนะ เป็นที่ตั้งแห่งปัญญาหรือว่าเป็นผลของปัญญา เป็นที่ตั้งแห่งการศึกษา ให้รู้ชัดตามที่เป็นจริง มีปัญญาแล้วก็สามารถที่จะนำมาใช้ เรียกว่าดำเนินชีวิตด้วยปัญญา แล้วก็ปัญญานี่แหละมันจะช่วยให้ใช้ ให้รู้จักใช้พระเดชด้วยเมตตา ให้รู้จักใช้เมตตาควบคุมพระเดช ควบคุมไอ้ความ ความ ควบคุมอำนาจ ควบคุมความบ้าหลังในอำนาจ ควบคุมความเผยอหยิ่งจองหองพองขนอะไรก็ควบคุมได้ นี่คำพูดข้อที่ ๒ เรื่อง เรื่องที่ ๒ ที่เราพูดกันก็คือว่าใช้พระเดชด้วยเมตตาใช้พระคุณด้วยปัญญา เรื่องที่ ๑ ว่าบังคับตัวเองดีกว่าให้ผู้อื่นบังคับ เรื่องที่ ๒ ใช้พระเดชด้วยเมตตาใช้พระคุณด้วยปัญญา แล้วผมก็มีความจำเป็นที่จะต้องยุติเพราะกำลังคัดจมูกแน่นขึ้นมา อึดอัดจะเป็นหวัดอยู่แล้ว จึงพูดกันแต่พอสถานประมาณ แล้วก็อยากจะพูดในเมื่อดินฟ้าอากาศมันเป็นอย่างนี้ เพื่อจะให้ท่านทั้งหลายได้ทดสอบไอ้ความเข้มแข็งของตัวเอง มีความรู้เรื่องครั้งพุทธกาลเขาอยู่กันอย่างไรเขานั่งกันอย่างไร ไม่ค่อยมีที่นั่งที่สะดวกสบายอะไรหรอกใช้ธรรมชาติทั้งนั้นแหละ แล้วก็จะได้อยู่อย่างต่ำๆ แล้วก็จะได้มีจิตใจกระทำอย่างสูงๆ แล้วก็พูดไม่ ไม่ค่อยจะได้แล้วอัดแน่นขึ้นมาแล้ว ต้องขอยุติการบรรยายสำหรับวันนี้และขอปิดประชุม ขอบคุณที่มาด้วยความอดทน อากาศแฉะเปียกชื้นเยือกเย็นอย่างนี้ ก็บังคับตัวเองได้มากอยู่ ขอนิมนต์