แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
ที่จะบรรยาย จะเรียกว่าความรู้หรือเรียกอะไรก็ยังไม่แน่ ให้รู้สิ่งที่จะต้องรู้ ซึ่งเชื่อว่าท่านทั้งหลายยังไม่ทราบ อาจเพราะว่าไม่ได้สอนในโรงเรียนนักธรรม สิ่งนี้ถ้าเรียกรวมกันแล้วก็เรียกว่า ธรรมสโมธาน คือประชุมธรรม โดยใจความก็คือว่าการปฏิบัติประพฤติธรรมอย่างเดียวนั้นไม่ใช่อย่างเดียวมีธรรมะอื่นๆ เข้ามาประกอบอยู่ด้วยอีกมากมาย ปัญหามันเกิดขึ้นว่าจะเป็นได้อย่างไร เรื่องโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนี้ คงจะทราบกันแล้วทุกองค์ทุกรูปว่ามีอะไรบ้าง จะมีความสำคัญมากเท่าไร โพธิปักขิยธรรม ธรรมเป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า อภิญญาเทสิตธรรม ธรรมที่ทรงแสดงด้วยอภิญญา ปัญญาอันยิ่ง เรียกว่าเรียกได้สองชื่อจะเรียก โพธิปักขิยธรรม ก็ได้ อภิญญาเทสิตธรรม ก็ได้ แล้วก็มีอยู่ ๓๗ อย่าง ปัญหาที่มันจะเกิด ก็เกิดขึ้นว่าจะปฏิบัติได้อย่างไรให้ครบทั้ง ๓๗ อย่าง หรือว่าทั้ง ๗ หมวด จะปฏิบัติอย่างไร เข้าใจว่าที่เคยเรียนมาในโรงเรียนนักธรรมนั้น ไม่เคยสอนไม่ได้สอนว่าปฏิบัติอย่างไรให้มันมีครบทั้ง ๓๗ อย่าง ๓๗ อย่างนี้ อาจจะไปมีในการปฏิบัติธรรมข้อไหนก็ได้ เดี๋ยวนี้มันก็มีครบอยู่ในตัวนี้แล้ว คือจะเอา สติปัฏฐาน ๔ เป็นตัวหลัก เป็นตัวยืนโรง นั้นนอกนั้นทั้งหมดไปประกอบเป็นบริวารพร้อมกันไปในคราวเดียว มีการปฏิบัติได้ ๓๗ อย่าง นั้นเป็นข้อที่แปลกหรือไม่แปลกก็คิดดู
ขอให้พยายามทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้จนได้ มันอยู่ในหัวข้อที่ ๒ ว่าจะเป็นธรรมทายาทในการปฏิบัติธรรมจนกว่าจะบรรลุมรรคผล ความเป็นธรรมทายาทปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุมรรคผล
ทีนี้มันก็มีธรรมะชนิดที่จะต้องรู้และจะต้องปฏิบัติ ต้องเอามาใช้ปฏิบัติครบถ้วนสมบูรณ์ก็จะเกิดผลขึ้นมาอย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ เอ้า, ๓๗ อย่าง ขอทบทวนทั้งที่ทราบกันอยู่ดีแล้วว่า สติปัฏฐาน ๔
สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ๘ นี้รวมกันแล้วเป็น ๓๗ หัวข้อ เรียกว่า โพธิปักขิยะ โพธิปักขิกะ ก็มี เรียก ๒ ชื่อ เป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้ ขอให้เตรียมใจ คอยฟังว่าปฏิบัติอย่างไรมันมีครบกันไปทั้ง ๓๗ อย่าง บอกคร่าวๆ ล่วงหน้าก่อนก็คือว่า มันมีหลักที่ว่าจะต้องปฏิบัติอะไรอย่างหนึ่งแหละ และนอกนั้นจะเข้ามาเป็นบริวารหมด ในการปฏิบัตินั้นจะครบหมดนี้เลย ในทีนี้เห็นได้ชัดว่า หมวดสติปัฏฐาน ๔ นั่นแหละคือตัวหลัก ตัวหลักที่จะต้องปฏิบัติ มีคำกล่าวสรรเสริญหรืออะไรไว้ ในที่หลายแห่งมากมายว่าเป็นหลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ถึงกับว่า อย่างมากก็ ๗ ปี อย่างรองมาก็ ๗ เดือน ๗ วัน กระทั่งว่าเช้าเย็น จะนำออกเสียซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก แล้วก็จะเป็นพระอรหันต์ อย่างน้อยก็เป็นอนาคามี เมื่ออุปาทิยังเหลืออยู่ รู้จักไอความสำคัญของสติปัฏฐาน ๔ เห็นด้วยว่านั่นแหละหัวใจ หัวใจของธรรมะทั้งหมด เราก็รู้กันอยู่แล้วว่า ปฏิบัติเพื่อให้เห็นว่ากายนี้มิใช่ตน สัตว์บุคคล เวทนามิใช่ตนมิใช่สัตว์บุคคล จิตมิใช่ตนมิใช่สัตว์บุคคล ธรรมทั้งปวงมิใช่ตนมิใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา อย่างที่เรียนมาแล้วในโรงเรียนนักธรรม สติปัฏฐาน ๔ ปฏิบัติ เพื่อให้รู้ว่าทั้ง ๔ แต่ละอย่างละอย่างนั้นมิใช่สัตว์บุคคล ตัวตน เราเขา ต้องแยกเป็น ๔ เพื่อให้มันครบ เพื่อให้ปฏิบัติง่าย จะใช้คำว่าธรรมทั้งปวง ไปรวมหมวด มันก็ยังยากแก่ผู้ที่มีการศึกษาน้อย มันจึงแยกออกเป็น กาย เวทนา เป็นจิต เป็นธรรม เป็น ๔, ๔ อย่างเรียกว่าหมวด ๑ หมวดทีแรกจะตั้งเป็นหลักปฏิบัติสำหรับยืนโรง พอปฏิบัติเข้า ไอนอกนั้นจะมาหมด จะมาหมด จะเป็นอยู่ในตัวมาร่วมด้วยหมด ทีนี้ก็จะแบ่งให้เห็นว่ามันจะมีลักษณะสัมพันธ์กันอย่างไร เอ้า, ใส่แผ่นที่ ๒ ได้
นั้นแหละ เห็นไหมว่า สติปัฏฐาน ๔ อยู่ตรงกลาง สติปัฏฐาน ๔ ไว้ตรงกลางแล้วข้างซ้ายมือนั้น ก็มี สัมมัปปธาน อิทธิบาท ขวามือนี้ก็มีอินทรีย์ ๕ พละ ๕ ข้างบนนั้นก็มีโพชฌงค์ ๗ ข้างล่างก็มีอริยมรรคมีองค์ ๘ มันจะเข้าไปรวมที่สติปัฏฐาน ๔ ดังนั้นความหมาย ความว่าเมื่อเราปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ อยู่นั้น ต้องใช้หลักของ ปธาน ครบหมด แล้วก็มี อิทธิบาท ครบหมดอยู่ในการปฏิบัติ มีอินทรีย์ ๕ ครบหมดอยู่ในการปฏิบัติ มีพละ ๕ ครบหมดอยู่ในการปฏิบัติและมีโพชฌงค์ทั้ง๗ ครบหมดอยู่ในหลักในการปฏิบัตินั้น ในการปฏิบัตินั้นมีลักษณะเป็นอริยมรรคมีองค์๘ อยู่ในตัว คราวเดียวปฏิบัติสติปัฏฐาน คราวเดียวจะดึงเอาเหล่านี้มาหมด จนครบทั้ง ๓๗ อย่าง ที่ว่า
เอาหละทีนี้มองเห็นภาพนี้ไว้ว่ามันจะไปรวมเข้าไปที่ มหาสติปัฏฐานทั้ง ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ๔ เถิด และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอานาปานสติสูตร ชัดเจนกว่าในมหาสติปัฏฐานสูตร แต่ก็ไปด้วยกันได้ (เอาหละขอให้ใส่แผ่นที่ ๓ เถิด ใส่แผ่นที่ ๓) เข้าใจได้ง่ายๆ แล้วว่ามันรวมไปจุด ที่จุดกลาง ที่สติปัฏฐาน (ทีนี้ใส่แผ่นที่ ๓ )
ตรงศูนย์กลาง กาย เวทนา จิต ธรรม คือสติปัฏฐาน ๔ ทีนี้เมื่อมีการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ จะมีสัมมัปปธาน ๔ ได้อย่างไร คือระวังที่ต้องระวัง ละที่ต้องละ ทำให้มีที่ต้องมี รักษาให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ก็รู้อยู่แล้วว่าสติปัฏฐาน ๔ นั้น จะต้องละในความยึดถือว่าตัวตน สัตว์บุคคล เรา เขา แล้วก็ทำให้เกิดอนัตตา เห็นความไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา ฝ่ายที่ต้องละคือ อัตตา ตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา นั้นเป็นฝ่ายที่ต้องละ ก็มีปธาน เรียกว่า สังวรปธาน อย่าให้มันเกิด ความรู้สึกเป็นอัตตา ตัวสัตว์ บุคคล เป็นตัวตนเราเขาขึ้นมา ถ้าว่าอัตตานั้นมันเกิดแล้ว ก็ละเสียด้วย ปหานปธาน ทีนี้ก็ยังในความรู้ ความรู้แจ้งที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์บุคคลเราเขานั้นด้วย ภาวนาปธาน อันนี้ก็รักษาเอาไว้ให้มั่นคง เจริญก้าวหน้า งอกงาม ยิ่งขึ้นไป
ต่อด้วย อนุรักขนาปธาน นั้นคงเขียนเป็นภาษาไทยใช้ได้ทั่วไปในหลักทั่วไปว่า ระวัง ระวังอย่าให้เกิดอัตตวาทุปาทาน ละที่มันเกิดอยู่ แล้วให้เกิดอนัตตาญาณขึ้นมา เป็นให้เกิด แล้วก็รักษานั้นไว้ ดังนั้นในการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ต้องมีหลัก สัมมัปปธานอย่างนี้อยู่ตลอดเวลาแต่ต้นจนปลาย ไม่ให้เกิดฝ่ายอัตตาให้เกิดความรู้ฝ่ายอนัตตา
เอ้า, ทีนี้ในการปฏิบัติอยู่อย่างนั้นต้องมีอิทธิบาท คือต้องพอใจในการปฏิบัตินั้นหรือผลของการปฏิบัตินั้น แล้วก็มีความพากเพียร วิริยะอิทธิบาทอย่างยิ่งอยู่ แล้วก็มีจิตตะอิทธิบาท พยายามที่จะเอาใจใส่ฝักใฝ่อย่างยิ่งอยู่ แล้วก็มีวิมังสาอิทธิบาท แยกแยะใคร่ครวญสอบสวนอยู่ อิทธิบาททั้ง ๔ มันก็เลยมีอยู่ในการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง นี่โดยย่อนะ ทีนี้ก็ว่าเมื่อปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ อยู่นั้น จะต้องมีอินทรีย์ ๕ พละ ๕ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา นี่ก็รู้กันดี จำได้กันดี ที่เรียกว่าอินทรีย์ ก็เพราะว่าเป็น อำนาจ เป็นอำนาจที่จะทำหน้าที่ตัดไอความยึดถือหรืออวิชชาที่เป็นเหตุให้ยึดถือ ถ้าทำหน้าที่เป็นกำลังก็จะต้องใช้พละ ๕ มันตรงกัน ๕ อย่างนี้ตรงกัน ก็เป็นอันว่าเมื่อปฏิบัติอยู่ๆ ค้นพบว่าศรัทธาไม่พอ เพิ่มศรัทธาเข้าไป ถ้าพอก็แล้วไป วิริยะไม่พอ ศรัทธา วิริยะ วิริยะไม่พอ ก็เพิ่มวิริยะเข้าไป สติไม่พอก็ทำสติให้มากขึ้น สมาธิไม่ถึงที่สุด ก็เร่งเรื่องของสมาธิขึ้น ปัญญาไม่พอก็เร่งเรื่องของปัญญาขึ้น ถ้ามาเป็นความรู้สำหรับตัดสำหรับทำลายโดยตรง เขาเรียกว่าอินทรีย์ ถ้าเอามาในฐานะเป็นกำลังเป็นตัวกำลัง อย่างที่ว่าถ้าไม่พอต้องเพิ่มกำลัง มันต้องมีความสามารถในการที่จะตรวจสอบให้รู้ว่าอะไรไม่พอใน ๕ อย่างนี้ อะไรไม่พอต้องเพิ่มในส่วนนั้น แล้วก็เอาส่วนนั้นแต่ละส่วนๆ มาตัด ชื่อที่จะต้องตัด ตัดกิเลสชื่อที่จะต้องตัด อินทรีย์ ๕ ก็มีขึ้นมา พละ๕ ก็มีขึ้นมา
ทีนี้ขณะที่ปฏิบัติ ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ นี้ ก็มีโพชฌงค์ ๗ โพชฌงค์ ๗ ครบ ๗ อาการนั้น มีสติระลึกได้ ถึงธรรมะทั้งหมด ว่ามีอยู่อย่างไร แล้วก็มีธัมมวิจยะ วิจัยแต่ละข้อๆว่าจะทำหน้าที่อย่างไร ปฏิบัติอย่างไร เป็นวิจัย พอรู้แน่ก็มีวิริยะ มีความพากเพียร ซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกับอิทธิบาท มีความพากเพียรระดม ทีนี้ต้องมีปีติหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา วิริยะจึงจะเป็นไปได้ ต้องมีปีติอยู่ตลอดเวลาที่ปฏิบัติ มีปีติแล้วมันก็เริ่มระงับ คู่นี้ต้องมาด้วยกัน ปีติแล้วต้องปัสสัทธิ คือสงบลงระงับลงเข้ารูปเข้ารอย มันมีอาการแห่งปัสสัทธิเข้ามา แล้วก็เป็นสมาธิถึงขีดสุด แล้วก็อุเบกขาคือควบคุมความถูกต้องอันนี้ไว้ กว่าจะบรรลุมรรคผล ปฏิบัติมา ๖ อย่างครบถ้วนแล้ว ก็ควบคุมให้อยู่อย่างนั้นเรื่อยไป ให้อยู่อย่างนั้นเรื่อยไป จะมีการบรรลุมรรคผลเกิดขึ้นมา ที่เปรียบอุปมาว่า เหมือนกับว่าไอรถที่ลากด้วยม้าเตรียมพร้อมถูกต้องหมดแล้ว อะไรเข้ารูปเข้ารอยดีแล้ว นายสารถีเพียงแต่ถือบังเหียนอยู่เฉยๆ มันก็เป็นไปเอง นี่อุเบกขาของโพชฌงค์มีลักษณะเพียงเท่านี้ มีคุณลักษณะเพียงเท่านี้
ส่วนอุเบกขาที่เป็นคุณค่าของพระอรหันต์นั้นอีกอย่างหนึ่ง ความหมายอีกอย่างหนึ่งนั้น อุเบกขาในพรหมวิหารก็มีความหมายอีกย่างหนึ่งนะ แม้แต่อุเบกขาที่เป็นองค์ฌานก็อีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ตัวนี้ ไม่ใช่อุเบกขาตัวนี้ อุเบกขาตัวนี้แปลว่าควบคุมให้เป็นไปตามที่มันเข้ารูปเข้ารอยสิ้นแล้ว หมดสิ้นแล้ว มีสติสมบูรณ์ มีธรรมวิจัยสอดส่องใคร่ครวญจนรู้ว่าจะต้องปฏิบัติอะไร ปฏิบัติอย่างไร ปฏิบัติเท่าไร แล้วก็มีวิริยะเต็มที่ลงไป แล้วต้องสร้างปีติขึ้นมาให้ได้ ปีติมาจากองค์ฌานหรือปีติที่มาจากไหนก็ตามเถอะ แต่ในขณะนั้นต้องมีปีติ ต้องมีปีติสัมโพชฌงค์ ถ้าเมื่อปีติเป็นไปอย่างนี้มันก็ความสุขอยู่ในตัว แล้วก็ความสุขนั้นจะทำให้ระงับคือ ปัสสัทธิ ระงับลงระงับลงก็เข้ารูปเข้ารอยไม่เกะกะไม่ขัดขวาง อะไรก็แล้ว มันก็ระงับลงระงับลงเป็นปัสสัทธิ ก็เป็นสมาธิโดยอัตโนมัติขึ้นมา มีสมาธิเป็นตัวยืนโรงอยู่ มีความถูกต้องในความมุ่งหมาย ในความอะไรให้พร้อมเสร็จอยู่ในตัวสมาธิ เรียกว่ามีเอกัคคตาจิต ที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เอกัคคตาจิตชนิดที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ คือสมาธิสัมโพชฌงค์ เอ้า, รักษาไว้อย่างนั้นเป็นอุเบกขา รักษาไว้อย่างนั้น จนกว่ามันจะถึงเวลาที่จะตัดกิเลส หมดกิเลส
ทีนี้ดูข้างล่างอริยะมรรคมีองค์ ๘ มีพร้อมอยู่ในขณะนั้นโดยอัตโนมัติหมายความว่าต้องมีสัมมาทิฏฐิอย่างถูกต้อง แล้วมันจึงจะทำอย่างนี้ได้ ถ้าทำอย่างนี้ได้ ก็มีสัมมาทิฏฐิอย่างถูกต้อง แล้วก็มีสัมมาสังกัปปะคือความปรารถนาที่ถูกต้อง มีความดำริในที่นี้หมายถึงปรารถนาต้องการจะได้ผล ไม่ใช่ตัณหาความอยาก ความปรารถนามี ๒ ชนิด ถ้าอยากหรือปรารถนาด้วยอวิชชานั้น ความอยากนั้นเป็นตัณหา ถ้าอยากหรือต้องการด้วยวิชชา ความรู้ความเข้าใจถูกต้องนั้นไม่ใช่ตัณหา แต่เรียกว่าสังกัปปะ สังกัปปา เป็นฝ่ายถูกต้อง ถ้าเป็นตัณหาเป็นฝ่ายผิด เมื่อทำอยู่นี้มันมีความปรารถนาที่ถูกต้อง เป็นสัมมาสังกัปปะอยู่ตลอดเวลา ทีนี้วาจา ไม่ได้พูดก็แล้วไป ถ้าพูดมันจะต้องถูกต้อง ถ้าจิตเป็นอย่างนี้ ถ้าพูดออกมา มันก็จะต้องถูกต้อง เลยถือเอาว่าสัมมาวาจา มีอยู่โดยอัตโนมัติ สัมมากัมมันโตมีอยู่โดยอัตโนมัติ สัมมาอาชีโวมีอยู่โดยอัตโนมัติ
ในคำอธิบายที่เกี่ยวกับสัมมาสมาธิมีบริขาร ๗ ท่านไม่อธิบาย ๓ ข้อนี้โดยถือว่ามีอยู่แล้วเป็นปกติ เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วเป็นปกติของผู้ที่ปฏิบัติธรรมมะอย่างนี้อยู่ เลยถือว่าสัมมาวาจาก็เต็มก็ถึงพร้อม สัมมากัมมันโตก็ถึงพร้อม สัมมาอาชีโวก็ถึงพร้อม ทีนี้สัมมาสติก็คือการกระทำอย่างนี้นั่นแหละ ทำสติปัฏฐาน ๔ ก็เป็นสัมมาสติอย่างยิ่งอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าสติในความหมายทั่วๆไปคือระลึกได้อยู่มันก็มีเป็นสัมมาสติ อ้าว, สัมมาวายามะข้ามไปตัวหนึ่ง สัมมาวายามะความพากเพียรอันนี้มีอยู่ เรียกว่าสัมมาวายามะในที่อื่นเรียกว่าวิริยะก็ตามใจ ก็มีที่เรียกว่าวิริยะทั้ง ๓ แห่ง ทั้งในอิทธิบาท ทั้งในอินทรีย์และในพละ ทีนี้ไม่มีวิริยะที่สัมมาวายามะอีกทีหนึ่งเป็นสัมมาวายามะอย่างยิ่งเต็มที่อยู่ในขณะที่ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ทีนี้สัมมาสติก็มีพร้อมอยู่ สัมมาสมาธิก็เป็นตัวอยู่ การทำอย่างนี้เป็นสัมมาสมาธิอยู่ แม้จะเป็นอุปจารสมาธิก็เป็นสัมมาสมาธิ แม้จะเป็นบริกรรมสมาธิก็ยังเป็นสัมมาสมาธิ เห็นไหมว่าทั้ง ๓๗ มันมีได้ในคราวเดียวกัน เมื่อผมเรียนนักธรรม ครูไม่ได้สอน ผมก็เลยเข้าใจว่าครูคงไม่ได้สอนกันทั่วๆไป ทั้งหมดนี้คงไม่เคยได้ยินในการที่จะให้ธรรมะหลายๆ อย่าง มาสโมธาน ประชุมรวมกันลงที่จุดแห่งเดียวกันเช่นอย่างนี้
เดี๋ยวนี้กำลังสติ กำลังปฏิบัติสติปัฏฐาน ซึ่งต้องมี ๔ อยู่เอง สติปัฏฐานต้องมี ๔ ให้เห็นกายเห็นลมหายใจ โดยความเป็นอย่างไรตามธรรมชาติของมัน นี่ก็เป็นการฝึกสติให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่ากาย แล้วก็จนกายสงบระงับ คือลมหายใจสงบระงับ มันก็มีเวทนาอย่างพิเศษเกิดขึ้น เป็นสุขเวทนาที่เป็นองค์ของฌาน ซึ่งเป็นความสงบระงับแห่งกายนั้น ทีนี้ก็ดูจิตในขณะนั้น ในจิตในขณะนั้นว่ามันมีอะไรได้กี่อย่าง เป็นอย่างไรได้กี่อย่าง เพื่อให้รู้จักจิต เป็นผู้รู้จักจิตทุกชนิดโดยสมบูรณ์ของตนเอง นั้นรวมอยู่ในสติปัฏฐาน ๔ เสร็จแล้วก็ใช้จิตที่เป็นสมาธินั้นพิจารณาธรรม พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ในสูตร ท่านยกมาแต่อนิจจังอย่างเดียวขอให้เข้าใจว่าในอานาปานสตินั้นพูดถึงแต่อนิจจังอย่างเดียว ในมหาสติปัฏฐาน ๔ ก็พูดแต่อนิจจังอย่างเดียวไม่ได้พูดถึงทุกขังและ อนัตตา ทิ้งไว้โดยนัยยะว่าถ้าเห็นอนิจจังย่อมเห็นทุกขัง เห็นอนิจจังและทุกขัง ย่อมเห็นอนัตตา เลยมารวมได้คำเดียวว่าอนิจจัง เห็นอนิจจัง อนิจจานุปัสสี แล้วก็เห็นๆๆๆ จนวิราคะ คือคลายจากความยึดถือ แล้วเป็นนิโรธะ ดับความยึดถือได้ตามส่วนที่ควรจะดับได้ แล้วก็ปฏินิสสัคคะ ก็รู้ว่าอันนั้นสลัดไปแล้ว เท่าที่ทำให้ดับได้เท่าไร มันก็เป็นการสลัดไปแล้วเท่านั้น
สติปัฏฐาน ๔ รวมเรียกว่าสติปัฏฐานในทีนี้ เป็นตัวหลักที่ปฏิบัติ เป็นจุดศูนย์กลางที่จะปฏิบัตินอกนั้นก็เข้ามาแวดล้อมๆ จนครบทั้ง ๓๗ อย่าง นี่สามารถปฏิบัติธรรมสมบูรณ์แบบตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า โพธิปักขิยธรรมมี ๓๗ อย่าง ถ้าเราไม่รู้หรือว่าแรกเรียนใหม่ๆ นักธรรมตรีนะ ก็จะฉงนว่า เอ๊ะ, ทำไมเป็นหมวดแล้วชื่อไปซ้ำกันอยู่ในหมวดนั้นบ้าง ชื่อไปอยู่ซ้ำอยู่ในหมวดนี้บ้าง เรียกว่าฝั้นเฝือหรือโลเลเต็มทีไม่รัดกุม ไม่กะทัดรัดไม่เป็นเทคนิคอะไร เดี๋ยวนี้ขอให้เข้าใจเสียใหม่ทีว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องอย่างนี้ ครบถ้วนอย่างนี้ รัดกุมอย่างนี้ เป็นเทคนิคของมันอย่างนี้ การเป็นอย่างนี้เรียกว่า ธรรมสโมธาน จะใช้ได้ทุกเรื่องไม่ว่า เรื่อง จะปฏิบัติเรื่องอะไรโดยเฉพาะ สมมุติว่าจะปฏิบัติ อสุภกรรมฐาน กายกตาสติ เข้าไป ก็ใช้ครบหมดนี้แหละ ถ้าเข้าใจก็จะตอบได้เองว่าใช้อย่างไร สมมติว่าจะปฏิบัติอสุภกรรมฐานเป็นตัวยืนโรง มันก็ต้องมี สัมมัปปธาน ๔ และอิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ครบได้ ถ้าจะแยกออกไปเป็น สติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็ยังได้ในขณะนั้น อาศัยหลักเกณฑ์อันเดียวกัน ถ้ายังไม่เคยเข้าใจหรือไม่เคยฟังก็ขอให้พยายามทำความเข้าใจให้ถึงที่สุด และจะเป็นประโยชน์มหาศาลในการที่จะปฏิบัติธรรมะสมาธิภาวนาต่อไปในอนาคต
ถ้าจะลัดสั้นที่สุดเอาให้น้อยไม่ถึง ๓๗ แล้วก็โพชฌงค์ ๗ นั่นแหละ เป็นหมวดที่ใช้ได้ ใช้ได้สมบูรณ์อะไร เรียกว่าสารพัดนึก อเนกประสงค์ โพชฌงค์ ๗ จะทำอะไร ปฏิบัติธรรมะข้อไหน โพชฌงค์ ๗จะสังเกตเห็นได้ง่ายว่ามี หรือทำให้มีได้โดยง่าย มีสติระลึกนึกถึง มีธรรมะวิจัย คือใคร่ครวญอยู่ มีปีติพอใจประพฤติปฏิบัติ แล้วก็มีวิริยะพยายามเต็มที่ มีปีติหล่อเลี้ยง มีปัสสัทธิความเข้ารูปเข้ารอยสงบระงับลง ยังเป็นสมาธิแน่วแน่อยู่ในสิ่งนั้น แล้วก็อุเบกขาปล่อยไปตามนั้นจนกว่าจะถึงจุดที่มันสำเร็จ หวังว่าคงจะพิจารณาเห็นและเข้าใจได้ว่า เอาไปใช้ได้ในกรณีทุกกรณี ซึ่งอยากจะพูดว่าแม้แต่ในการทำนา ทำนา ต้องมีสติระลึกหมดในเรื่องราวทุกๆ เรื่องเกี่ยวกับการทำนา ต้องระลึกกันหมดเลยแหละ เรื่องดิน เรื่องข้าวพืช เรื่องน้ำ เรื่องการอะไรต่างๆ ระลึกหมด และก็ธรรมะวิจัยใคร่ครวญ แยกแยะดูว่าทำอย่างไรมันจึงจะดีที่สุด ในการที่จะได้น้ำ ได้ข้าวกล้า ได้พืช ข้าวพืช ได้ทุกส่วนที่มันจะต้อง ต้องได้ต้องได้อย่างดีที่สุด ต้องวิจัยให้มันเข้ากันกับเรื่องที่ต้องการ แล้วทีนี้ก็วิริยะสิ ทำนาก็ต้องวิริยะ วิริยะทำนา และมีปีติหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลามันก็ไม่เหนื่อย มันอิ่มใจ ก็ถูกแล้ว ทีนี้ก็มัน เอ่อ, ปัสสัทธิเนี่ย มันสิ่งนั้น สิ่งนี้ สิ่งนู้น สิ่งไหนก็เข้ารูปเข้ารอยผสมกลมเกลียวกันจนการงานเข้ารูปเข้ารอยจะเรียกว่า ปัสสัทธิ แล้วก็สมาธิคือการระดมกำลังใจทั้งหมด แล้วอุเบกขาปล่อย กว่าทำนาจะสำเร็จ กว่าจะสำเร็จการทำนา คือเรียกว่า กว่าข้าวมันจะออกรวง
เราสามารถที่จะเอาธรรมะในชั้นสูงสุด องค์แห่งการตรัสรู้นี้ มาใช้ในการทำนา แต่ถ้าเรามาพูดอย่างนี้ มันถูกด่า ผมเคยถูกด่ามาแล้ว อย่าออกชื่อเลยว่าใครด่า เขาด่าผมนี่มันบ้า เอาเรื่องของพระนิพพานมาเป็นเรื่องของชาวบ้าน แต่มันเป็นได้หรือไม่ได้ก็ขอให้ลองคิดดู เรื่องของพระนิพพาน ว่าเป็นเรื่องของชาวบ้านแม้แต่เรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็เหมือนกันแหละ แม้แต่จะทำนามันต้องมีสัมมาทิฏฐิ รู้เข้าใจถูกต้อง สัมมาสังกัปปะต้องการถูกต้อง มันก็มีการพูดจา มีการทำการงาน มีการเลี้ยงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง ไม่อย่างนั้นมันล้มละลาย มันเหลวในตัว มีวายามะพากเพียรในการทำนา มีสติควบคุมระลึกในความถูกต้องให้มันถูกต้องอยู่เสมอ มีสมาธิแน่วแน่ในการกระทำ อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นเรื่องสำหรับบรรลุมรรคผลนิพพานแต่เอามาใช้ในเรื่องการทำนาก็ได้ เรื่องอื่นๆ ก็ได้ ในการงานอะไรที่มันควรจะทำแล้วทำได้ ถ้ามีความเข้าใจที่แตกฉานในเรื่องของธรรมะแล้วจะอธิบายได้ จะอธิบายได้ทุกเรื่อง เชื่อว่าทุกคนจะอธิบายได้ จนที่อธิบายได้ว่าประกอบด้วยอิทธิบาท ๔ มันง่ายเหลือเกิน เด็กๆ มันก็อธิบายได้ ว่าจะทำอะไรให้ประกอบด้วยอิทธิบาท ๔ มันง่ายเหลือเกิน หรือว่าจะทำอะไรให้ประกอบด้วยสัมมัปปธาน ๔ มันก็ไม่ยาก เพราะสิ่งใดที่เป็นความเหลวไหล เป็นข้าศึก เป็นส่วนไม่ดี ก็ระวังไว้ แล้วก็ละเสีย ส่วนอะไรที่เป็นไปเพื่อผลดี ก็ทำให้มีขึ้นมาแล้วรักษาไว้ อย่างนี้มันใช้ได้ในกิจกรรมทุกอย่างทุกประการ ส่วนอินทรีย์ ๕ พละ๕ ๕ อย่างนั้นก็มิใช่เล่น มีกล่าวไว้ละเอียดมากที่จะให้รู้จักทั้ง ๕ อย่างนี้ เพื่อจะได้รู้ว่าในการกระทำของเราที่กระทำกันอยู่เวลานี้ อย่างไหนมันหย่อนไป อย่างไหนพอดีแล้ว อย่างไหนมากเกินไป จะได้ลดหย่อนหรือทำให้พอดี ในบรรดาอินทรีย์ทั้ง ๔ นี้ เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติกรรมฐาน โดยเฉพาะสมาธิภาวนา จึงให้มีการสำรวจอินทรีย์ทั้ง ๕ นี้อยู่ วันนี้ทำอย่างนี้ไม่สำเร็จเกิดอะไรขึ้นมา ก็ตรวจดูว่า เอ๊ะ, มันเป็นยังไง ก็พบว่าอินทรีย์ข้อใดข้อหนึ่งใน ๕ ข้อนี้มันขาดไป ก็ต้องเรียกมา แล้วมันก็ทำได้อีก ทำถูกต้องอีก การตรวจดูอินทรีย์ ๕ พละ ๕ อยู่เสมอนั่นแหละ เป็นตัวปฏิบัติอย่างดีที่สุด ถ้ามาสำหรับทำหน้าที่เรียกว่าอินทรีย์ ถ้ามาสำหรับเป็นกำลังหนุนเรียกว่าพละ ธรรมะ ๕ ข้อนี้ชื่อเหมือนกันเห็นไหม เมื่อเรียนนักธรรมสอนกันอย่างไรก็ไม่ทราบ สอนความแตกต่างกันอย่างไรก็ไม่ทราบ ผมก็จำไม่ค่อยได้ แต่ว่าถ้าตามหลักธรรมะแล้ว อินทรีย์ เมื่อมันทำหน้าที่ของมัน พละเมื่อมันมาเป็นกำลังสนับสนุน ดังนั้น ธรรมะ ๕ อย่างนี้สำคัญมากนะ ขอให้เข้าใจไว้ เอาไปใช้ได้ในทุกกรณีที่เป็นการงาน
ผมเห็นไอเสา ๕ เสาที่อินเดีย เข้าใจว่าเขาคงจะเล็งถึงอันนี้ ที่บูชาพระในอมราวดีทุกแห่งๆ จะมีลักษณะ ๕ ขีด หรือ ๕ เสา เกิดขโมยมาทำ ๕ เสาที่นี่บ้าง มันมีความหมายมาก เลข ๕ นี้ แต่จะเป็นอะไร ๕ ๕ ๕ ก็มีได้หลายอย่าง ธรรมสาระ ๕ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ วิมุตติญาณทัสนะ นี้ก็ ๕ เหมือนกัน ให้เข้าใจและจำให้ติดตาไป ติดตาไป แล้วไปใคร่ครวญ ให้เข้าใจในเรื่องที่ธรรมะนี้ มารวมกันได้เหมือนกับลงแขก เหมือนกับลงแขก คนมากๆ มารวมกันแล้วก็ทำ ในสิ่งเดียวกันแล้วสำเร็จประโยชน์ ให้ศูนย์กลางแดงนั้นเอาเป็นหลักที่ว่า เราจะปฏิบัติอะไร เดี๋ยวนี้ก็จะปฏิบัติแต่สติปัฏฐาน ซึ่งมันแยกออกไปได้เป็น ๔ จะถือเป็นหลักทั่วไปก็ได้ ว่าถ้าจะให้สำเร็จ ก็ต้องรู้ทั้งเรื่องกาย ทั้งเรื่องเวทนา ทั้งเรื่องจิต ทั้งเรื่องธรรม
ในหมวดกายนั้น ฝึกสติ เรื่องฝึกสติ แล้วก็รู้จักสิ่งที่เรียกว่ากาย ว่ากายเป็นอย่างไร หมวดกายนั้นมันรู้ลมหายใจยาวลมหายใจสั้น รู้ว่าลมหายใจปรุงแต่งกาย แล้วทำลมหายใจให้สงบระงับ กายก็สงบระงับ ทั้ง ๔ หัวข้อนี้ เรียกสั้นๆ ว่าเรื่องของกาย ไม่ใช่นิดเดียว คำว่ากายคำเดียวมันไม่ใช่นิดเดียว ในชั้นแรกให้รู้แต่เพียงว่าเป็นอย่างไรเท่านั้นแหละ แล้วต่อไป รู้จะไปใช้ในหมวดที่ ๔ ในเรื่อง อนิจจานุปัสสี กันอีกที แต่ในชั้นนี้เอาแต่เพียงว่า ให้รู้ว่าลมหายใจเป็นอย่างไร มีธรรมชาติอย่างไร เป็นเหตุอย่างไร เป็นปัจจัยอย่างไร รูปปรุงแต่งร่างกายเนื้อ กายลมปรุงแต่งกายเนื้อ ระงับกายลมได้กายเนื้อก็สงบระงับ เรื่องของกาย
ทีนี้เราต้องการจะรู้เรื่องเวทนาทั้งหลาย เอาเวทนาตัวใหญ่เลย เวทนาที่เป็นองค์ของสมาธิ คือสุขและปีติ เพราะว่าถ้าทำร่างกาย ทำกายลมให้ระงับได้ กายเนื้อระงับได้ มันก็จะเกิดเวทนาสุขและเวทนาปีติขึ้นมา เป็นเวทนาที่ตัวใหญ่ที่สุด สมบูรณ์ที่สุด ไม่ต้องไปเอาเวทนาเล็กๆ น้อยๆ ที่จะรู้สึกเฉพาะเรื่อง เฉพาะซึ่งเป็นเวทนาเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็เอาปีติและสุข เป็นฝ่ายสุขเวทนา เพราะว่าคนเรานี่มันหลงในสุขเวทนา มันต้องตีให้แตกในเรื่องของสุขเวทนา เมื่อไม่หลงในสุขเวทนาแล้วมันก็ไม่หลงในทุกขเวทนา ในอทุกขมสุขเวทนาฉะนั้นจึงเอาเรื่องของปีติและความสุขมาเป็นบทเรียนปฏิบัติของเวทนา เพียงเท่านี้ เพียงปฏิบัติมาได้เพียงเท่านี้ จิตก็มีลักษณะต่างๆๆๆ กันมากแล้ว จิตตามธรรมดาจิต ธรรมดาจิต อยู่ในสมาธิจิต ไม่อยู่ในสมาธิจิต มีปีติจิต ไม่มีปีติจิต มีสุขจิต ไม่มีสุข ว่าเอาเองก็ได้กี่คู่กี่สิบคู่ก็ได้ จนกระทั่งรู้ว่าจิตนี้มันเป็นได้เท่าไรอย่างไร แล้วคราวนี้เริ่มบังคับจิต ให้จิตชื่นบานปราโมทย์ ให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ ให้จิตปล่อย ๔ หัวขัอนี้เหมือนกัน ก็เป็นการแตกฉานเรื่องจิต รู้เรื่องจิต แล้วก็ปฏิบัติต่อไปเรื่องธรรมขึ้นมา อนิจจานุปัสสี วิราคานุปัสสี นิโรธานุปัสสี ปฏินิสสัคคานุปัสสี
ทีนี้จะต้องย้อนกลับไปดูอนิจจังเพื่อเห็นอนิจจา ก็เพื่อเป็นอนิจจานุปัสสี ตั้งแต่ต้นมาทีเดียว ย้อนกลับไปดูตั้งแต่ลมหายใจหยาบ ให้ลมหายใจยาวเป็นอนิจจัง ลมหายใจสั้นเป็นอนิจจัง หายใจหยาบเป็นอนิจจัง หายใจละเอียดเป็นอนิจจัง ทุกชนิดของการหายใจนี้เป็นอนิจจัง แล้วก็การที่ว่าลมปรุงแต่งกายก็เป็นอนิจจัง ลมอนิจจังกายก็ต้องอนิจจัง แล้วทำกายให้สังขารให้สงบระงับลง สงบระงับเป็นฌาน เป็นสมาธิก็เห็นเป็นอนิจจัง มันเป็นเหตุให้เห็นว่าแม้แต่ความเป็นสมาธินั้นก็เป็นอนิจจัง ความสุขในสมาธินั้นก็เป็นอนิจจัง มันก็เลยไม่ยึดถือ ไม่หลงโง่ไปยึดถือ
ทีนี้ก็ไปดูเวทนาทุกขั้นตอนทั้ง ๔ ขั้นตอน เป็นอนิจจังดูจิตทุกชนิดกี่ชนิด กี่ชนิดเป็นอนิจจัง นั่นแหละการปฏิบัติอนิจจานุปัสสี มันย้อนกลับไปตั้งต้นมาตั้งแต่ลมหายใจยาว ลมหายใจสั้น
ทีนี้ก็เห็นอนิจจัง ทีนี้มันเรียกว่าดูอนิจจัง แล้วก็เห็นๆ ยิ่งกว่าเห็น เห็นอนิจจัง ในความรู้สึกไม่ได้เห็นด้วยตา แต่เห็นด้วยความรู้สึก ความเป็นอนิจจัง หนักเข้าหนักเข้าก็เกิดความคลายออกแห่งความยึดถือคือวิราคะ ความยึดถือ ความเคยยึดถือว่าตนว่าของตน สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา มันก็เริ่มคลายออกๆ เป็นวิราคานุปัสสี นั่งดูอยู่อย่างนี้เป็นวิราคานุปัสสี เมื่อวิราคะเป็นไปหนักเข้าๆ มันก็ถึงจุดดับ จุดดับแห่งตัวตน ตามมากตามน้อยจะเป็นทีละส่วนทีละคราวก็ได้ แต่มันมีการดับ ที่จะพูดได้ว่าเห็นอนิจจังเท่าไร นิโรธจะมีขึ้นเท่านั้น เรื่องนี้เป็นหลักทั่วไปซึ่งควรจะทราบไว้ด้วยว่าการปฏิบัติแห่งการบรรลุมรรคผลนั้น ในระยะบรรลุมรรคผลนั้น มีเรื่องเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเรื่องเดียว เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในชั้นแรกก็พอที่จะทำให้เป็นพระโสดาบัน ครั้นเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็เพิ่มกำลังเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาให้แรงขึ้นจนเป็นอนาคามี เป็นสกิทาคามี เป็นสกิทาฯ มีแล้วก็เพิ่มให้แรงขึ้นเพิ่มจนเป็นอนาคามี เพิ่มเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้แรงขึ้นจนเป็นอรหันต์
ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ก็ไปอธิบายโดยวิธีตัดสังโยชน์ ๑๐ ได้ตามลำดับๆ แม้ว่าในเรื่องสังโยชน์ ๑๐ ครูไม่เคยสอนถึงเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่รู้ว่าโดยข้อเท็จจริงนั้นมันต้องเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นแหละเป็นหลัก มันจึงจะละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ปฏิฆะ กามราคะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ไล่ตามลำดับๆ เพราะอำนาจของการเห็นอนิจจัง มันเห็นอนิจจังเท่าไร มันก็เกิดวิราคะเท่านั้น วิราคะเป็นไปถึงที่สุดมันก็มีส่วนที่ดับความยึดถือ มันก็ดับได้ทีเดียวทั้งหมดก็ได้ หรือจะเป็นลำดับทีละส่วน ทีละส่วนก็ได้ ถ้าทีเดียวทั้งหมดก็เป็นพระอรหันต์ไปเลย ถ้าตามลำดับทีละส่วนก็เป็นโสดาฯ สกิทาฯ อนาคาฯ ไปตามลำดับ ถึงแม้ที่สุดแต่จะไม่เป็นพระโสดาบัน การปฏิบัติธรรม เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้นเป็นพื้นฐานที่ดี มันจะเป็นเพียงกัลยาณปุถุชนที่ดี ยังไม่เป็นโสดาฯ มันก็เนื่องมาจากการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตามสัดส่วนด้วย การเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้เป็นหลักทั่วไป ในชั้นต่ำสุด จนกระทั่งถึงชั้นสูงสุด
ครั้นดับเท่าไร ดับเท่าไร เป็นนิโรธะเท่าไร ก็เห็นปฏินิสสัคคะ คือส่วนที่ดับไป คือส่วนที่สละไปแล้ว นั้นคือส่วนที่ดับไป จึงเรียกว่าเห็นความสลัดคืน พูดให้เป็นวัตถุธรรมสักหน่อยก็ว่า ความยึดมั่นถือมั่นเท่าไร ก็สลัดคืนออกไปเท่านั้น สลัดคืนออกไปเท่านั้น สลัดคืนได้เท่าไรมันก็เป็นเท่านั้น พระโสดาบันก็สลัดคืนได้ตามส่วน พระสกิทาคามีก็ตามส่วน อนาคามีก็ตามส่วน อรหันต์ก็สลัดคืนหมดๆ เมื่อคืนได้แล้วก็รู้สึกว่าคืนแล้ว นี่เรียกว่า ปฏินิสสัคคานุปัสสี ขั้นสุดท้ายของธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เดี๋ยวนี้เราจะพูด เอ่อ, สั้นๆว่า เรามีจุดศูนย์กลางอันเดียว คือทำสติ ปฏิบัติสติ ตั้งไว้ซึ่งสติ ฝึกฝนอบรมให้มีสติ ให้มากพอ ให้สูงพอ ให้เร็วพอ ให้สติสมบูรณ์ สติสมบูรณ์คือเป็นพระอรหันต์นั่นแหละ จุดแดงๆ ศูนย์กลางนั้นคือสติ ทำสติ ทำสติทำได้ ๔ วิธีคือ กาย เวทนา จิต ธรรม ก็ได้เป็น ๔ และเอาบริวารที่จะพลอยตามมานั้น ประกอบเป็น ๖ หมวด ๖ หมวดอย่างที่ว่ามาแล้ว ก็มาเป็นสนับสนุนการฝึกสติ ทำสติ เจริญสติ หรือจะเรียกว่า สมาธิภาวนา ก็ตามใจ ทีนี้โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ก็เกิดขึ้น ถ้านับเป็นรายตัวก็ได้ตั้ง ๓๗ แต่ถ้านับด้วยโดยหัวใจก็เรื่องเดียวเท่านั้นแหละ และมันก็มีประชุม มีธรรมะที่มาประชุมรวมลงไปด้วย ๓๗ อย่างมันศึกษายาก เข้าใจยากหน่อย ถ้าเอาถึง ๓๗ อย่าง หัดอธิบายแต่เพียง ๕ อย่าง ๗ อย่าง ๘ อย่างไปก่อนสิ หัดอธิบายธรรมสโมธานที่ว่ามันจะมาประชุมกันได้อย่างไร เหมือนอย่างว่าชาวนาทำนาตั้งปัญหาขึ้นมาชาวนาทำนา มีธรรมะอะไรบ้างมาสโมธานลงไปในการทำนา ถ้าเป็นชาวนาที่แท้จริงที่เก่งที่สมบูรณ์แบบ ในการทำนานั้นมันมีเหล่านี้ มีสติ ชาวนาต้องมีสติ ชาวนาต้องมีวิริยะ ชาวนาต้องมีสมาธิ ชาวนาต้องมีความอดกลั้นอดทน มีความขยันหมั่นเพียร หลายอย่างต่อหลายอย่างมาประชุมรวมกันอยู่ลงในการทำนา ลักษณะที่ธรรมะหลายๆ อย่างมาประชุมรวมกันเพื่อทำงานสิ่งเดียวนี้เรียกว่า ธรรมสโมธาน สโมธานแปลว่าการประชุมรวม มารวมประชุมกัน ธรรมสโมธาน ในทีนี้ท่านตรัสขยายออกไปถึง ๓๗ อย่าง เข้าใจว่านักเรียนนักศึกษาทั้งหลายไม่สนใจเรื่องนี้ในลักษณะอย่างนี้ เห็นว่าเป็นเรื่องหลายหมวด หลายอย่าง แล้วก็ซ้ำๆ กัน ซ้ำๆ กัน เสียเวลา ก็เลยไม่สนใจ ก็เลยไม่เข้าใจเรื่องโพธิปักขิยธรรม ๓๗ อย่าง
เดี๋ยวนี้ผมรู้สึกว่าพระธรรมทายาททั้งหลายควรจะเข้าใจ เพื่อการปฏิบัติของตนก็ดี เพื่อจะสั่งสอนชาวบ้านเผยแผ่ออกไปก็ดี ให้มีความรู้ลึกซึ้งถึงที่สุดของธรรมะ ถึงราก ถึงโจทย์ ถึงเหง้า ถึงต้น ถึงยอด ถึงอะไรหมด มันก็ง่ายที่จะปฏิบัติธรรมะส่วนตัวก็ดี ที่จะไปสั่งสอนประชาชนก็ดี ...(เสียงหายไปช่วงนึง น.46)
...รวมกันแล้วก็ได้ ๓๗ เป็นธรรมะ ชุดที่ต้องสมบูรณ์ทั้งชุด แล้วการปฏิบัติธรรมนั้น สำเร็จเป็นแน่นอนๆ ฉะนั้นศึกษาให้เข้าใจไว้ทั้งชุด แล้วก็จะได้สังเกตเห็นว่า อ้าว, อะไรยังขาดอยู่ อ้าว, ก็จะทำให้เต็มขึ้นมา อะไรเกินไปก็ลดลงเสียบ้าง ให้มันครบทั้ง ๓๗ ในอัตราส่วนที่พอดีๆๆ แก่กันและกัน ความสำเร็จก็จะเป็นของเรา
นี่คืนนี้ผมต้องการจะพูดเท่านี้ โดยรายละเอียดของแต่ละกลุ่มๆ นั้นจะเอาไว้พูดวันหลัง ความสำคัญที่สุด สำคัญอย่างยิ่ง สำคัญเหลือประมาณนั้น ก็คือให้รู้หลักเกณฑ์หรือข้อเท็จจริงอย่างนี้เสียก่อนสิ รู้หลักเกณฑ์รู้ข้อเท็จจริงว่ามันมีอยู่อย่างนี้ และต้องมีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง อย่างชัดเจน อย่างคล่องแคล่วคล่องแคล่วในจิตใจ คล่องแคล่วสำหรับจะนึกจะคิด ต้องคล่องแคล่วสำหรับจะพูดจะจา คล่องแคล่วสำหรับที่จะปฏิบัติ แล้วความสำเร็จก็จะอยู่ในกำมือไม่ไปไหนเสีย ๗ หมวดแล้วก็ ๓๗ อย่าง เป็นธรรมะที่เป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้โพธิ การตรัสรู้ปักขิยะเป็นฝักฝ่ายธรรมะคือธรรมเป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้ แล้วก็เรียกว่า อภิญญาเทสิตธรรม ธรรมะที่ทรงแสดงแล้วด้วยอภิญญา อภิญญา แปลว่า ปัญญาอันยิ่ง แสดงไว้เพื่ออภิญญาก็ได้ หรือแสดงไว้ด้วยอภิญญา โดยอภิญญาก็ได้ ทรงแสดงก็ทรงแสดงด้วยอภิญญา ก็เพื่อผล ผลก็คืออภิญญา เพื่อได้ผลคืออภิญญา ไอคำนี้จะแปลว่า ทรงแสดงด้วยอภิญญาก็ได้ ด้วยของพระองค์เอง หรือว่าทรงแสดงเพื่ออภิญญาก็ได้ คือของพวกเรา พระองค์ทรงแสดงด้วยอภิญญาของพระองค์ มาแสดงก็เพื่อให้พวกเรามีอภิญญาอย่างนี้ขึ้นมา
ขอให้ทำความเข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้ง ได้เพียงเท่านี้ก็พอ พอสำหรับวันหนึ่งสำหรับการพูดจา การบรรยายในวันหนึ่ง หัวข้อนิดเดียวเท่านี้ ขอให้เข้าใจได้เถอะมันพอเกินพอ มันจะมีประโยชน์คุ้มไปเป็นเดือนๆ ปีๆ ในอนาคตข้างหน้า ขอให้เพ่งดูให้ติดตา แล้วก็ไปเขียนขึ้นเอง ไปทบทวน ใคร่ครวญ ชักโยงได้ด้วยตนเอง ถ้าว่ามันเข้ากันได้หมดไม่ขัดข้องกันแล้วก็เรียกว่าถูกแล้ว เข้าใจถูกต้อง แล้วสามารถปฏิบัติได้แล้ว ถ้าเห็นว่ามันยังขัดกันอยู่ข้อไหนก็พยายามทำความเข้าใจจนมันไม่มีขัดกัน จนไม่มีอะไรขัดกันใน ๓๗ อย่างนี้
ถ้าใครจะถามเพราะไม่เข้าใจอะไรก็ได้ ถ้าใครจะถามอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ได้ ดูจะเข้าใจกันเร็วหนักนะ ปุ๊บเดียวเข้าใจหมดไม่มีปัญหา ไม่มีอะไรเหลือเลย เอ้า, ก็เป็นอันว่าวันนี้มีเท่านี้ ผมขอย้ำอีกทีหนึ่งว่า พระธรรมทายาทจะต้องสืบหลักลัทธิของพระพุทธศาสนาไว้อย่างถูกต้อง พระธรรมทายาทจะต้องสืบหลักการปฏิบัติอย่างถูกต้อง พระธรรมทายาทจะต้องเผยแผ่ออกไปต่อไปให้ถูกต้อง ที่จะทำได้ถูกต้องทั้ง ๓ ประการนี้ ถ้าเข้าใจหลักอันนี้แล้วรับรองได้ จะมีความถูกต้อง ๓ ประการ เข้าใจหลักลัทธิถูกต้องคือ อนัตตา อนัตตาคำเดียว หลักลัทธิของพระพุทธศาสนามีคำเดียวคือ อนัตตา แล้วก็ปฏิบัติให้เห็นอนัตตา ปล่อยวางหลุดพ้น จิตหลุดพ้นจากสิ่งที่เคยยึดถือ (คือโลกเท่านั้น) เพราะเห็นอนัตตา แล้วทีนี้ก็เผยแผ่ต่อไปอย่าให้กลายเป็นลัทธิอื่น ให้มันถูกต้อง มิฉะนั้นจะกลายเป็นลัทธิอื่นอย่างผิดๆโดยไม่รู้สึกตัวโดยไม่ทันรู้ เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา สอนผิดกลายเป็นลัทธิอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งลัทธิที่มีตัวตน หรือมีตัวตนสูงสุดคือ ปรมาตมัน ที่เป็นพระเจ้าหรือเป็นปรมาตมัน ของฮินดู หรือของอะไรก็ตาม ไอ, ความรู้เรื่องนี้ จะทำให้เห็นความไม่มีตัวตน ขอร้องให้ใช้วิธีนี้กับทุกเรื่อง จะสอนเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่งก็ขอให้เข้าใจสามารถขยายออกไปเป็นธรรมสโมธาน ๙ เรื่อง ๑๐ เรื่อง อย่างน้อยก็เอาเรื่องโพชฌงค์มาสโมธานให้ได้ เอาเรื่องมรรคมีองค์ ๘ มาสโมธานให้ได้ เอาทั้งหมดนี้ทั้ง ๓๗ นี้มาสโมธานให้ได้ ดังนั้นจะเรียกว่าแตกฉาน แตกฉานที่สุดธรรมะแตกฉาน เป็นโกวิโท มีธรรมะแตกฉาน
ตั้งปัญหาถามตัวเองขึ้นมาสักอย่างว่า ในการปฏิบัติเรื่องนี้อย่างนี้ มีธรรมสโมธานอะไรได้บ้าง เช่นจะตั้งปัญหาขึ้นมาว่า คนจะล้างจาน ล้างจานข้าว จะต้องมีธรรมะอะไรบ้างที่สโมธานได้ ก็คือ ต้องสโมธานจะล้างจานข้าวก็มีหลายต่อหลายอย่าง ต้องมีสติ มีปัญญา มีฉันทะ มีวิริยะ มีอะไร กระทั่งความอดกลั้นอดทนมันก็ต้องมี ไม่อย่างนั้นมันไม่อยากจะล้างจาน นั่นหนะเป็นบทเรียน เราจะไปพูดกะใครในเรื่องอะไรก็ชวนกันให้ตั้งปัญหาว่ามันดึงออกมาซึ่งธรรมะกี่อย่างกี่อย่าง ทำให้คล่องแคล่วไปซะทุกอย่าง เอากันอย่างต่ำๆ ว่าจะปฏิบัติศีล จะต้องปฏิบัติศีล และศีลอย่างเดียวเนี่ย จะต้องเอาอะไรมาสโมธานเข้าได้ด้วย เข้าด้วย ก็เห็นอยู่ชัดๆ อย่างที่เรียนมาแล้วว่าอิทธิบาท ๔ มา ศีลก็ดี สังวรณ์ ๔ ประธาน ๔ มา ศีลก็ดี ถ้าได้พละอินทรีย์ ๕ เข้ามาด้วย ศีลมันก็ยิ่งดี ทำสมาธิก็เหมือนกัน ทำปัญญาวิปัสสนาก็เหมือนกัน กระทั่งว่าจะทำไร่ ทำนา จะค้าขาย จะอะไร แม้ที่สุดแต่ว่าจะล้างจาน จะกวาดบ้าน ต้องมีธรรมะอะไรบ้างมาสโมธานด้วย ทีนี้เราไม่สนใจนี่ เราปล่อยไปเลยตามเลย มันก็เงียบหายอยู่นั่นแหละ จะกวาดบ้าน จะกวาดวัด กวาดลานวัดนี่ มันมีธรรมะอะไรรวมอยู่ในการกวาดลานวัดนั้นบ้าง ค่อยมองเห็นให้หมด จะแจวเรือจ้าง จะถีบสามล้อ จะต้องมีธรรมะอะไรมาสโมธานบ้าง จึงจะทำได้ดี หรือว่าที่สุดแต่จะขอทาน จะนั่งขอทาน ให้เป็นขอทานที่ดีจะต้องมีธรรมะอะไรบ้างมาสโมธาน มันจึงจะเป็นขอทานที่ดี และพ้นจากความเป็นขอทานเลวๆ ช่วยได้ ธรรมะช่วยได้ พ้นจากความเป็นคนขอทานเลวๆ ทีนี้ขอทานมันยังเป็นอันธพาล ไม่ให้มันด่า ผมเคยเห็นที่หน้า(วัดผดุงคาย) ที่ผมอยู่มีขอทานมานั่งอยู่เป็นแถว ใครไม่ให้มันด่าส่งท้ายนะ ปูผ้าไว้ที่ฟุตบาทใครเดินผ่านไปเฉยๆไม่ให้มันด่าส่งท้าย ถ้าให้ก็ขอบใจ ไม่ให้ก็ด่าส่งท้ายว่า พ่อมันคนก็เลี้ยงไม่ได้ คือไม่ให้มัน มันด่าถึงขนาดหนักว่ามันเป็นพ่อ พ่อคนก็เลี้ยงไม่ได้ นี่ขอทานอย่างเลว ถ้าขอทานอย่างดี มันมีธรรมะสติสัมปชัญญะรู้สึกถูกต้องไปเสียทุกอย่าง มันก็ทำทุกอย่าง มันก็จะพ้น จะพ้นจากขอทานได้โดยเร็ว นี่เรียกว่าอาชีพต่ำสุด ธรรมะต่ำสุดเป็นคนขอทาน ก็ยังต้องมีธรรมะหลายๆ อย่าง หลายๆ ประการ หลายๆ ชื่อมารวมกัน จะอาบน้ำ จะถูขี้ไคล อ้าว, คุณลองคิดดู ว่าต้องมีธรรมะอะไรมาสโมธานบ้าง ถ้าฉลาดก็คิดนึกได้กว่า ๑๐ ชื่อ ถ้าฉลาดจะคิดนึกออกมาได้กว่า ๑๐ ชื่อ ว่าในการอาบน้ำจะถูขี้ไคลต้องมีธรรมะข้อไหนเข้ามารวมได้ด้วย นี่คือธรรมสโมธานทุกๆ อย่างที่เป็นกิจกรรมที่จะทำให้รอดให้ดับทุกข์ ธรรมะทุกๆ ข้อ ทุกๆ ชื่อ หรือว่ากิจกรรมทุกอย่างทุกชื่อจะต้องมีธรรมสโมธานอย่างครบถ้วนเพียงพออยู่ในนั้น มันจึงจะสำเร็จประโยชน์ ฉะนั้น ขอให้จำไว้ว่าวันนี้เราได้พูดกันเรื่องธรรมสโมธาน ถ้าเข้าใจดีแล้วจะเข้าใจธรรมะชั้นลึกและสมบูรณ์ของพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเรื่องโพธิปักขิยธรรม ดังที่กล่าวมาแล้ว ขอให้สนใจให้เข้าใจ เอาไปใช้ให้สำเร็จประโยชน์ มีประโยชน์ในส่วนลึกในส่วนหัวใจของกิจกรรมธรรมทายาท ผมขอยืนยันว่าในส่วนลึกของกิจกรรมธรรมทายาท ต้องการความรู้ที่ละเอียดลออรัดกุมแตกฉานอย่างนี้ เอาหละเป็นอันว่าขอยุติการบรรยายในวันนี้
ผมเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ยังไม่เข้าใจ ไม่เคยนั้น ก็เลยเอามาพูดๆ ผมก็จะพยายามพูดเรื่องที่ไม่มีในหลักสูตร ไม่มีในโรงเรียนเชื่อว่ายังไม่เคยเข้าใจเสมอไป