แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
) เพื่อนสหธรรมิกในฐานะ ในฐานะธรรมทายาททั้งหลาย ผมขอโอกาสแสดงความยินดีก่อนอื่นทั้งหมดในการที่ได้มาพบกันในลักษณะเช่นนี้ ซึ่งรวมความว่าในลักษณะที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ความมั่นคงแผ่ไพศาลแห่งพระพุทธศาสนาด้วยกิจการของธรรมทายาทนั่นเอง แล้วก็ไม่ลืมที่จะพูดปรารภตักเตือนกันว่าเรามานั่งกันบนแผ่นดิน บนทรายนี่ บนแผ่นดินซึ่งมีความหมายสำคัญอันไม่ควรจะลืม ในข้อที่ว่าพระพุทธองค์ประสูติกลางดินและก็ตรัสรู้กลางดิน และแสดงธรรม ประกาศธรรมก็กลางดิน ที่อยู่ก็พื้นดิน นิพพานก็กลางดิน มันเหมือนกับว่าเป็นชีวิตกลางดินไปเสียทั้งหมด เดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้เราก็ได้มานั่งกันในลักษณะกลางดิน เป็นการง่ายที่จะระลึกนึกถึงพระพุทธองค์ เป็นพุทธานุสสติ และก็จะได้มีความคิด มีกำลังใจ มีอะไร เข้มแข็ง มั่นคง ตรงต่อเหตุการณ์เรื่องราว เพราะฉะนั้นขอได้กำหนดไว้ทุกคราวที่มีการนั่งกลางดิน เอามือลูบดินให้เกิดความรู้สึกคิดนึกอะไรขึ้นมาบ้าง แล้วจะได้จดจำไว้ จดจำไว้
มันเหลือที่จะอธิบายความหมายของการนั่งกลางดิน แต่ที่ประเสริฐที่สุดก็คือ มันตรงกับเหตุการณ์ในพระชนม์ชีพของพระพุทธองค์นั่นเอง และที่นี่เราก็จะพูดกันถึงเรื่องที่กำหนดไว้ ได้รับการขอร้องให้พูดเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่พระธรรมทายาททั้งหลาย ผมก็ตั้งใจว่าจะพูดอย่างมีขอบเขตกว้าง ๆ ในวันแรกนี้ คือถึงหลักการของธรรมทายาท เป็นประเดิมเริ่มแรกสักครั้งหนึ่งก่อน แล้วครั้งต่อไปก็จะพูดถึงหลักธรรมะโดยเฉพาะ ซึ่งจำเป็นแก่กิจการของธรรมทายาท โดยหลักการเราจะต้องถือว่าพุทธบริษัททุกคนเป็นธรรมทายาท ไม่ว่าบรรพชิต ไม่ว่าคฤหัสถ์ เมื่อเป็นพุทธบริษัทแล้วก็ต้องเป็นธรรมทายาท แม้ว่าพระพุทธองค์จะได้ตรัสคำนี้ระบุไปยังภิกษุสงฆ์ แต่ว่าความหมายมันไม่หยุดอยู่แค่นั้น มันแผ่ไปกว้างถึงภิกษุสงฆ์ทั้งหมดแล้วล้นออกไปถึงภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหมดทั้งสิ้น เพราะว่ามันมีหน้าที่ที่จะต้องทำและทำได้ในการที่จะเป็นทายาทโดยธรรมของพระองค์นั่นเอง เดี๋ยวนี้เราจะไม่ต้องพูดถึงหน้าที่ที่ขยายกว้างออกไปถึงฆราวาสให้เขารู้เอาเอง เราจะพูดกันในขอบเขตของธรรมทายาทที่เป็นบรรพชิต ถึงแม้จะเป็นบรรพชิต พระพุทธองค์ได้ตรัสแก่ที่ประชุมเล็ก ๆ ภิกษุไม่กี่รูป ไม่ใช่ทั้งหมดก็แล้วกัน แต่ความหมายหมายถึงภิกษุทั้งหมด ภิกษุทั้งหมด ว่าเธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาทเถิด อย่าเป็นมรดกทายาท อามิสทายาทเลย เป็นธรรมทายาทรับมรดกธรรม ไม่รับมรดกอามิส
ทีนี้ผมมาพิจารณาดูว่าไอ้คำว่าทายาท ทายาทนี่มีความหมายกว้าง ไม่ใช่รับอย่างรับมรดก แต่มันเป็นการรับในทุกความหมาย ซึ่งจะให้คำจำกัดความให้สมบูรณ์ที่สุด เท่าที่จะนึกได้ ความมุ่งหมายของคำว่าธรรมทายาทนี้ อย่างน้อยที่สุดก็ได้ความหมายที่เป็นประเด็นสำคัญ ๆ ๓ ความหมาย ได้โปรดสังเกตดูให้ดี ๆ ฟังดูให้ดี สังเกตให้ดี มันต่างกันอยู่เป็นความหมายแต่ละความหมายจริง ๆ ข้อที่หนึ่ง เป็นธรรมทายาทในการสืบหลักลัทธิไว้ให้ถูกต้อง หลักลัทธิพระพุทธศาสนาคือใจความสำคัญที่เป็นหลักมีไว้อย่างไรให้สืบไว้ให้ถูกต้อง ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เป็นธรรมทายาทในความหมายหนึ่ง ทีนี้สอง ในการปฏิบัติธรรมจนบรรลุมรรคผลนี้เป็นหน้าที่ส่วนตน รับทายาทธรรมมาปฏิบัติ ไม่ให้หยุดอยู่ได้ ให้ก้าวหน้าเรื่อยไปจนมีการบรรลุมรรคผล แม้เป็นส่วนตน นี้ก็อยู่ในลักษณะที่เป็นธรรมทายาท ทีนี้อย่างที่สามก็ในการเผยแผ่แก่มหาชน ให้เขาได้รับกันทั่ว ๆ ไป นี้ก็เป็นธรรมทายาทในการที่สืบต่อธรรมะให้เผยแผ่ไปทั่วโลก
เอาใจความสั้น ๆ กันอีกทีว่า ข้อที่หนึ่งสืบตัวลัทธิหรือหลักลัทธิที่เป็นพุทธแท้ไว้ให้ยังคงอยู่ นี่ก็จะต้องมีเรื่องมากทีเดียวแหละ เดี๋ยวก็จะได้พูดกัน ข้อที่สองปฏิบัติ รับสืบการปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ตนเรื่อย ๆ ไปจนกว่าจะถึงขั้นสุดท้าย แม้ไม่เกี่ยวกับบุคคลอื่น ปฏิบัติโดยส่วนตนอยู่ก็เรียกว่าเป็นธรรมทายาท และยิ่งจะตรงตามพระพุทธประสงค์ข้อแรก ซึ่งทรงประสงค์ให้ทุกคนก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมโดยมีเหตุผลว่าปฏิบัติของตัวเองไม่ได้ ไม่ประสบความสำเร็จแล้ว มันก็จะยากลำบากที่จะสอนคนอื่น ข้อนี้ก็เป็นหลักที่รู้กันอยู่ทั่วไปไม่ต้องพูดกันมาก ทีนี้ข้อที่สาม เผยแผ่ เผยแผ่โดยวิธีใดก็ตามที่ทำให้พระธรรมนั้นเผยแผ่ออกไปกว้าง ถ้าทั่วโลกได้ก็จะเป็นการดี ถ้าโลกนี้มีธรรมะ โลกนี้ก็สงบ ระงับไม่มีวิกฤติการณ์อย่างที่มันมีอยู่เดี๋ยวนี้ ในการเผยแผ่แก่โลกนั้นทุกแห่งที่พบ จะมีคำว่าแก่มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์ จะมีคำว่าแก่มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์ นี่หมายความว่าแก่คนที่ยังอาบเหงื่ออยู่ก็เป็นมนุษย์ แก่พวกเทวดาที่คนไม่รู้จักเหงื่อนั่นก็เป็นเทวดา เดี๋ยวนี้คนในโลกยังพอมีอยู่ ๒ พวกอย่างนี้จริง ๆ พวกประชาชนชาวไร่ชาวนาที่อาบเหงื่อ และมีคนอีกพวกหนึ่ง จะเรียกว่าพวกอะไรก็สุดแท้ โดยเฉพาะพวกนายทุนทั้งหลายไม่รู้จักเหงื่อ คำว่าเทวดา เทวดาก็มีคำอธิบายพิเศษอยู่ข้อหนึ่งว่า ถ้าเหงื่อออกเมื่อไรเป็นจุติหมดจากความเป็นเทวดา ถ้ามันต้องมาทำงานอาบเหงื่อ มีเหงื่ออกมาแล้วมันก็ต้องหมดความเป็นเทวดา แต่ก็เขียนไว้มันมากกว่านั้นก็อยู่ในสวรรค์ ถ้าเทวดาตนไหนจะจุติแล้วมันมีเหงื่อออกมา แล้วจะจุติมาเป็นมนุษย์หรือเป็นสัตว์อื่นไป เอาละเอาใจความแต่เพียงว่าเอาธรรมะเผยแผ่ให้สำเร็จเป็นประโยชน์ตั้งแต่คนที่ยังต้องอาบเหงื่อนั่นแหละ คนที่ไม่รู้จักเหงื่อ นี่คือคำว่าเทวดาหรือมนุษย์ มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์
เอ้า, ทีนี้ก็จะพูดกันถึงข้อแรกที่ว่าพยายามสืบหลักลัทธิอันถูกต้องไว้ นี่เป็นธรรมทายาทคล้าย ๆ ในส่วนปริยัติ แต่มันยิ่งกว่าปริยัติ เพราะว่าหลักลัทธิมีใจความมันก็มาก สูงกว่าการเล่าเรียนธรรมดา แต่มันออกไปถึงการรักษาสงวนไว้ซึ่งการประพฤติปฏิบัติต่อหลักลัทธินั้น ๆ ด้วย อย่าให้มันเฉไปนอกทางเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จนว่าไม่รู้จักพระพุทธศาสนานี้อย่างไรกันแน่ ถึงกับมีผู้พูดว่าถ้าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาในเวลานี้ ท่านจะจำพุทธศาสนาของท่านไม่ได้ เพราะมันถูกประดับประดาตกแต่งด้วยเรื่องอื่นซึ่งมิใช่พุทธศาสนามากมายเหลือเกิน จะออกชื่อกันแต่พอสมควร มันกระทบกระทั่ง แต่ขอให้กำหนดใจความสำคัญ ๆ เอาไว้ว่า ถ้าพระพุทธองค์เสด็จมาเดี๋ยวนี้ จะจำพระพุทธศาสนาของพระองค์ไม่ได้ คือมันสูญเสียความถูกต้อง ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง หรือหลักเกณฑ์อะไรไป แล้วก็มีอะไรคืบคลานเข้ามาห่อหุ้ม จนเห็นได้ว่าถือพร้อมกันทั้งพุทธและทั้งไสยน์ ถือพร้อมกันทั้งพุทธศาสตร์และไสยศาสตร์ อันนี้ก็อย่าออกชื่อเลย มันกระทบกระทั่งแต่ก็พอจะรู้ได้เองว่ามันหมายความว่าอย่างไร พุทธศาสตร์ถูกเคลือบหุ้มด้วยไสยศาสตร์ เป็นความจำเป็นของผู้ปกครอง ก็น่าเห็นใจ แล้วเราก็จะไม่ติเตียน ผมไม่ติเตียนไอ้เรื่องไสยศาสตร์ เพราะว่าคนโง่มันมีมาก ในหมู่มนุษย์คนโง่มันมีมาก มันอยู่ในขนาดที่จะถือพุทธศาสตร์ไม่ไหว ก็เลยไปถือศาสตร์อะไรสักอย่างหนึ่งไปก่อนพอช่วยประคับประคองไว้ อย่าให้ไปทำชั่ว อย่าให้ไปทำบาป แม้เรื่องศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาอื่นก็มีการสอนชนิดที่มีผลดีทางศีลธรรม ให้กลัวบาปและรักบุญเหมือนกัน แต่พูดให้เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีปัญญาเรียกว่างมงายซึ่งมีมากในโลก ในโลกนี้มีคนงมงายมีโง่มากกว่า จึงจะเอาไว้ได้ทั้ง ๒ พวก ฉะนั้นในวัดสถานที่สำคัญจึงมีคู่กันทั้งพุทธศาสตร์และไสยศาสตร์ เมื่อศึกษาโบราณวัตถุสมัยศรีวิชัยขึ้นไป ในเมืองไชยานี่จะพบว่าวัดแต่ละวัด ก็มีโบสถ์ โบสถ์พราหมณ์อยู่โบสถ์หนึ่งด้วยทั้งนั้น แต่ไม่ใช่โบสถ์เดียวกันโบสถ์พราหมณ์มักจะอยู่หน้าวัดด้วย วัดพระธาตุฯก็ดี วัดไชยารามก็ดี วัดใหม่ท่าโพธิ์ก็ดี แล้วก็มีโบราณวัตถุซึ่งเป็นของฝ่ายศาสนาพราหมณ์รวมอยู่ตกค้างอยู่ และบางทีก็เข้าไปรวมอยู่ในที่เดียวกัน เช่นในพระเจดีย์องค์ใหญ่วัดแก้ว ในโพรงพระเจดีย์นั้น พบทั้งโบราณวัตถุฝ่ายพุทธคือพระพุทธรูปมากมาย และก็พบโบราณวัตถุฝ่ายฮินดู เอ้อ, ฝ่ายพราหมณ์ คือพบพระศิวลึงค์ ๒-๓ ดุ้น พบพระพิฆเนศ พบเทวรูปอันอื่นด้วย รวมกองกันอยู่ จะเป็นฝีมือของคนชั้นหลังก็ได้ที่เอาไปใส่ปนกันไว้ ทีแรกคงจะแยกกันอยู่ ผมเดาเอาเองว่าทั้ง เอ้อ, วัดน่ะมีทั้ง ๒ อย่าง เด็ก ๆ หรือคนชั้นสติปัญญาอ่อนเข้าใจธรรมะไม่ได้ ก็ไปไหว้รูปเคารพบูชาฝ่ายศาสนาพราหมณ์ ศาสนาฮินดู ไปบวงสรวง ไปอ้อนวอน ไปทำอะไรได้เต็มที่ตามแบบของผู้มีปัญญาอ่อน ส่วนพระพุทธศาสนานั้นมันไม่มีหลักจะทำอย่างนั้น ก็เก็บไว้เฉพาะคนที่มีสติปัญญาแล้ว บางทีอาจจะถึงกับว่าไอ้เด็ก ๆ ไปไหว้โบสถ์ข้างหน้าคือโบสถ์พราหมณ์ บิดาปู่ตาย่ายายที่มีความรู้ดีแล้วก็มาไหว้โบสถ์พระพุทธข้างในก็ได้ อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ มันจึงมีรวมกันอยู่ทั้ง ๒ อย่าง นี่เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่ามันได้ปนกัน มันได้ปนกัน เมื่อผู้ปกครองบ้านเมืองเขาจะรวบรวมคนเอาไว้ทั้งหมดทั้งฝ่ายโง่ ทั้งฝ่ายฉลาด เขาต้องมีลัทธิให้เลือกได้ทั้ง ๒ อย่าง มันจึงเกิดการกระทำปนเปกันไป แต่เดี๋ยวนี้มันอาจจะเลยมากไปกว่านั้น ถึงกับว่าเอาของลัทธิพราหมณ์หรือว่าลัทธิฮินดูล้วน ๆ เข้ามาประพฤติ มากระทำเป็นการใหญ่ นำหน้าไปเสียอีก เช่นว่าพิธีพราหมณ์จะนำหน้าพิธีพุทธไปเสียอีกในส่วนที่เป็นพิธี อย่างนี้ก็ขอให้ ยกให้ว่าเป็นอย่างนั้นเอง ตามกฎอิทัปปัจจยตา มันเป็นอย่างนั้นเอง ตามยุค ตามสมัย ตามถิ่น ตามเทศะที่มันจะต้องมีการผันแปร
เป็นว่าไสยศาสตร์กับพุทธศาสตร์ก็ได้เข้ามาปนเปกัน ผู้ที่เป็นธรรมทายาทจะมีหน้าที่อย่างไร จะเอาความบริสุทธิ์ถูกต้องผุดผ่องแยกกันเด็ดขาด ไอ้ฝ่ายโน้นก็คงจะไม่ยอมเพราะมันคงจะลำบาก ฝ่ายที่เขาจะปกครองคนที่ไม่มีสติปัญญา ผมว่าเอาเองนะว่าไสยศาสตร์น่ะ ศาสตร์ของคนหลับ พุทธศาสตร์ ศาสตร์ของคนตื่น ถ้าใครเคยเรียนบาลีมาบ้างแล้วก็คงจะเห็นด้วย คำว่าไสยะ ไสยะมันแปลว่าหลับ นี่คำว่าพุทธะ พุทธะ ชะ (นาทีที่ 22:05) มันแปลว่าตื่น ไสยศาสตร์เป็นศาสตร์ของคนที่ยังหลับอยู่ พุทธศาสตร์ก็ศาสตร์สำหรับคนที่จะตื่นขึ้นมาและตื่นต่อไป คนที่ยังหลับอยู่มันจะถือพุทธศาสตร์ยาก ถือไม่ได้ ก็มีไสยศาสตร์ให้ถือ ฉะนั้นก็จำเป็น จำเป็นจะต้องเก็บไสยศาสตร์นี้เอาไว้ให้คนปัญญาอ่อน แต่ว่าพร้อมกันนั้นเราก็ช่วยกันแก้ไขปรับปรุงให้ปัญญามันหายอ่อน ให้ปัญญามันสูงขึ้นมา ๆ แล้วมันก็ค่อย ๆ ละไปเอง แต่ถ้าไปตัดทิ้งมันก็ว้าเหว่มันไม่มีลัทธิอะไรที่จะถือ นี่มันจะต้องดูให้ดีว่ามันยังมีคนจำนวนมากมันยังเหมือนกับหลับอยู่ ถือศาสนาที่จะต้องมีอะไรช่วยคุ้มครองให้ เพราะคุ้มครองตนเองไม่ได้ แต่ถ้าคุ้มครองตนเองได้ก็เป็นพุทธศาสตร์เต็มตัว นี่เป็นหลักใหญ่ ๆ ที่ว่าเราจะมีการรับมรดก พิทักษ์รักษาหลักลัทธิของพุทธศาสนาให้ยังคงบริสุทธิ์ผุดผ่อง ส่วนที่จะแยกออกมารักษาให้บริสุทธิ์ผุดผ่องแสดงให้เห็นชัดอยู่นี่ต้องทำ และเมื่อผู้รับเขารับไม่ได้มันเป็นส่วนที่เป็นปัญญาอ่อนจริง ก็ยอมให้เขาทำไปก่อนเท่าที่จำเป็น เมื่อศึกษาดูเรื่องเกี่ยวกับโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรนั้นน่ะ อย่างที่อยู่ที่สนามหญ้านั้นน่ะ นั่นชาวพุทธฝ่ายพุทธน่ะ คิดขึ้นมาสำหรับมีพระอิศวรฝ่ายพุทธ เพราะว่าพระอิศวรน่ะเป็นที่ขอร้องอ้อนวอนอะไรได้ ฝ่ายพุทธไม่มี พุทธบริษัทชุดนี้เห็นว่าควรจะมีขึ้นมาเพื่อเอาให้คนชาวบ้านโง่เขลานี้ไว้ได้ ไม่ต้องไปไหว้พระอิศวรอย่างฝ่ายโน้น เรามีพระอิศวรชนิดของเราขึ้นมาในนี้ จึงประดิษฐ์ลัทธิขยายลัทธิออกไปให้มีพระพุทธเจ้าหลาย ๆ ชั้น และก็มีพระโพธิสัตว์ประจำพระพุทธเจ้าเหล่านั้น อวโลกิเตศวรแปลว่าพระอิศวรผู้มองดูโลก ก็เลยได้มาสำหรับเด็ก หรือสำหรับผู้หญิง หรือสำหรับประชาชนชั้นต่ำสุด ฉะนั้นมันก็พอจะเชื่อได้ว่าในสมัยศรีวิชัยแผ่นดินนี้ คนเขาบูชารูปอวโลกิเตศวรกันยิ่งกว่าพระพุทธรูป แต่มันไม่เป็นไรเพราะมันรวมพระพุทธรูปอยู่ในนั้นด้วย ที่หน้าผากจะมีพระพุทธรูปรวมอยู่ในนั้นด้วย แล้วอวโลกิเตศวรเป็นผู้รับใช้ ผู้พิทักษ์ศาสนา ผู้รับใช้ในการพิทักษ์ศาสนาของพระพุทธเจ้า มันก็เลยเรียกว่ายังเอาไว้เป็นพุทธ เป็นพุทธไว้มากทีเดียว ไหว้พระอิศวรในพุทธ ไม่ต้องไปไหว้พระอิศวรนอกพุทธ แต่เดี๋ยวนี้มันก็ชักจะเลือน ๆ ไปแล้ว ไปไหว้พระอิศวรนอกพุทธกันอีกแล้ว เพราะแล้วแต่ว่ามันมีอิทธิพลอำนาจแก่ผู้จัดพิธี หรือมอบหมายให้เขาจัดพิธีอย่างไร ได้พราหมณ์แท้ ๆ มาจัดพิธี มันก็ต้องเป็นธรรมดาที่จะต้องเอียงไปนอกพุทธส่วนหนึ่ง นี่ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้พุทธศาสนาสูญเสียความบริสุทธิ์ จะช่วยกันสืบทอดรักษาให้บริสุทธิ์ผุดผ่องได้อย่างไรก็ไปลองคิดดู
แต่เอาล่ะเดี๋ยวนี้ผมก็จะพูดถึงเรื่องหลักธรรมะเสียก่อนดีกว่า ว่าหลักธรรมะอันถูกต้องผุดผ่องของพระพุทธศาสนานั้น ผู้เป็นธรรมทายาทจะต้องพิทักษ์รักษาไว้อย่างถูกต้อง และคงถูกต้องต่อไป เรื่องแรกที่สุดก็คือเรื่องอนัตตา อนัตตา เรื่องไม่มีสิ่งที่ควรจะเรียกว่าตัวตน พูดสั้น ๆ ก็ว่ามิใช่ตัวตน อนัตตานี้มิใช่ตัวตน ธรรมทั้งปวง สิ่งทั้งปวง วิสังขารหรือสังขารก็ตาม สังคตะหรืออสังคตะก็ตาม ล้วนแต่เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ถ้ายังรักษาหลักลัทธิอันนี้เอาไว้ได้ ก็เรียกว่ารักษาความถูกต้องของหลักลัทธินั้นไว้ได้ เป็นธรรมทายาทที่รับมรดกไว้ รับมรดกมาอย่างถูกต้อง ดังนั้นจะต้อง เราทั้งหลายจะต้องศึกษาเรื่องราวของอนัตตาโดยเฉพาะไว้ให้เพียงพอ มันคาบเกี่ยวกันได้หลายเรื่องและขยายความออกไปได้หลายเรื่อง เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่เป็นหลักเป็นประธาน แล้วมันรวมกันเข้าแล้วกลายเป็นสุญญตา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รวมกันแล้วกลายเป็นสุญญตา คือว่าง ว่างจากสิ่งที่เป็นตัวตน แล้วมันไม่เป็นอย่างอื่นได้ก็เลยเรียกว่า ตถตาความเป็นอย่างนั้น อวิตถตาไม่ผิดจากความเป็นอย่างนั้น อนัญญถตาไม่เป็นโดยประการอื่นนอกจากความเป็นอย่างนั้น ธัมมัฎฐิตตาตั้งอยู่ตามกฎของธรรมดา ธัมมนิยามตาเป็นกฎตายตัว ตายตัวจำกัดของธรรมดา อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปาโท (นาทีที่ 28:23) อาศัยกันเกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นหลักที่รวมกันแล้วก็ได้เป็นอนัตตา เป็นเช่นนั้นเอง และก็ไม่มีพระเจ้าไม่มีอะไรที่ไหนเข้ามาแทรกแซง มีแต่กฎของอิทัปปัจจยตาให้เป็นไป ถ้ายังถือไว้ได้อย่างนี้ก็เรียกว่าหลักหัวใจยังถูกต้อง ถ้าผิดไปจากนี้ก็มีตัวตน มีอัตตา มีตัวตนอย่างที่สอน ๆ กันอยู่เอาอัตตาไว้ที่นั่นบ้าง ที่นี่บ้าง สงวนสิ่งที่เป็นอัตตาไว้ก็มี บางคนก็สอนนิพพานเป็นอัตตาไปเสียก็มี อย่างนี้มันก็กลายเป็นฝ่ายลัทธิอื่นไปโดยไม่ทันรู้ คือเป็นฝ่ายลัทธิของฝ่ายเวทานตะ ซึ่งจะต้องสงเคราะห์ลงในศาสนาอื่น เป็นศาสนาของฮินดูไป เราทั้งหลายเป็นธรรมทายาทจะต้องต่อสู้เอาไว้ให้ได้ สงวนหลักลัทธิเอาไว้ให้ได้ เรื่องนี้มีรายละเอียดมากก็ไปศึกษากันให้เพียงพอ
ทีนี้ก็มีหลักลัทธิอื่น ๆ อื่น ๆ เนื่องกันอยู่อีกมากมาย ซึ่งจะต้องรู้ให้ถูกต้องและเผยแผ่สั่งสอนไปให้ถูกต้อง ที่เห็นว่ามันกำลังเขวอยู่ก็เรื่องกรรม เรื่องกรรม ลัทธิเรื่องกรรม มักจะสอนกันแต่เพียงว่าพุทธศาสนาสอนเรื่องกรรมดีกรรมชั่ว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว พวกฝรั่งที่เรียนไปอย่างกระท่อนกระแทนก็ไปเขียนอย่างนี้ ผมไปตรวจดูทุก ๆ เล่ม เขียนเรื่องกรรมโดยพวกฝรั่ง ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว นี้เรามักจะสอนกันอย่างนั้นนะ ระวังให้ดีนะ มันไม่หมดนะ มันไม่ใช่พุทธศาสนา เพราะว่าเขาสอนกันอย่างนั้นกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า พวกกรรมวาทีที่ไม่สมบูรณ์ก่อนพระพุทธเจ้า ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วน่ะ แล้วก็ยังสอนให้มีอัตตาเป็นผู้ทำเสียด้วย ถ้าอย่างนี้ยิ่งผิดมาก ผิดมากไปอีก กรรมในพระพุทธศาสนามีกรรมที่ให้อยู่เหนือกรรม จำให้ดีเถิด กรรมที่ให้อยู่เหนือกรรม คือให้อยู่เหนือกรรมดีกรรมชั่ว จะได้หมดกรรมนั่น กรรมที่ทำให้หมดกรรมพ้นกรรมนั่นแหละคือกรรมในพุทธศาสนา ถ้าเพียงแต่กรรมดีกรรมชั่วอย่างนี้ก็สอนกันอยู่ก่อน ก็ยังไม่สมบูรณ์ในเรื่องกรรมเพราะว่ายังต้องเป็นไปตามกรรม มันก็เป็นทุกข์ตาย มันต้องสอนถึงขนาดที่ว่าอยู่เหนือกรรมโดยประการทั้งปวง นั่นน่ะจึงจะเป็นลัทธิกรรมในพระพุทธศาสนา ฉะนั้นในบาลีจึงมีกล่าวเรื่องกรรมไว้ชัดเจน เป็น ๔ กรรม เรียกว่า กรรมดำคือกรรมชั่ว กรรมขาวคือกรรมดี กรรมปนกันเจือกันทั้งดำทั้งขาวคือกรรมที่ทั้งดีทั้งชั่ว แล้วกรรมที่สี่ เรียกว่ากรรมเป็นที่สุดแห่งกรรมดีกรรมชั่ว ถ้าทำกรรมนี้แล้วมันก็จะเป็นที่ดับไปแห่งกรรมดีกรรมชั่ว กรรมนี้คืออริยมรรค มีองค์ ๘ ปฏิบัติอริยมรรค มีองค์ ๘ ครบถ้วนแล้ว มันจะเกิดการหลุดพ้นอยู่เหนือกรรมดีกรรมชั่ว คือการบรรลุมรรคผลนิพพานนั่นแหละ มันจะอยู่เหนือกรรมดีกรรมชั่ว ฉะนั้นกรรมที่ทำให้หมดกรรมนั่นคือกรรมในพุทธศาสนา นี่หลักลัทธิอันนี้จะต้องสอนกันให้ถูกต้อง รักษาไว้ให้ถูกต้อง อย่างเพียงแต่พูดว่าเรื่องกรรมคือทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วอย่างนั้น มันไม่ใช่ ยังไม่ใช่พุทธศาสนา มันสอนกันอยู่ก่อน และมันไม่มีประโยชน์อะไรเพราะมันยังต้องเวียนว่ายไปตามกรรม มันไม่หยุดวัฏสงสาร ต้องเป็นไปตามดีตามชั่ว สอนอย่างนั้นมันไม่พอ มันไม่ถึงขนาดที่จะเป็นพุทธศาสนา นี่เรื่องกรรม หลักลัทธิเรื่องกรรมจะต้องสอนกันให้ถูกต้องและเพียงพอและตรงเป็นหลักพระพุทธศาสนาจริง ๆ
ทีนี้มันก็ขยายออกไป ในพระบาลีกล่าวไว้ชัดว่าสุขและทุกข์มิใช่ผลของกรรมเก่าและมิใช่การบันดาลของอิศวร นี่พูดตามพระบาลีตรง ๆ พุทธภาษิตนั่น สุขทุกข์มิใช่ผลของกรรมเก่าและก็มิใช่การบันดาลของอิศวร ที่เป็นภาษาบาลีนั่นคือคำว่าอิสระนั่นแหละ อิสระในภาษาไทย อิสรภาพนั่นแหละ คำว่าอิสระนั้นคือคำว่า อีศวะระ (นาทีที่ 33:46) ในภาษาสันสกฤต อีศวะระ อีศวะระนิมมานะเหตุ อีศวะระนิมมานะเหตุ (นาทีที่ 33:52) ไม่ใช่การบันดาลของอิศวร ทีนี้เรามักจะสอนหรือว่าเขารู้กันอยู่ก่อนโดยไม่ต้องสอนว่า สุขทุกข์เป็นผลของกรรมเก่าแต่หนหลัง นี้น่าประหลาดไหมที่ว่าเราสอนกันอย่างนี้ ทั้งที่ไม่รู้ว่าพุทธศาสนาไม่ได้สอนอย่างนี้ พุทธศาสนาว่าสุขหรือทุกข์น่ะมันเป็นผลของการกระทำผิดหรือกระทำถูกต่อกฎอิทัปปัจจยตา ถ้าเกิดผัสสะทำอย่างนี้ลงไปผิดก็เกิดทุกข์ ทำอย่างนี้ถูกรักษาไว้ได้มันก็ไม่เกิดทุกข์ ฉะนั้นสุขหรือทุกข์มันจะมีมาจากผลของการทำถูกหรือทำผิดต่อกฎอิทัปปัจจยตา เอ้า, ถ้าเลย สมมุติว่าถ้ากรรมเก่าจะตามมาทำให้เป็นทุกข์ แต่ถ้ารักษาให้ถูกต้องตามกฎอิทัปปัจจยตาไว้ได้ไม่เป็นทุกข์ กรรมเก่านั้นเลิก หงายหลังกลับไป และเราสามารถที่จะรักษาให้ถูกต้องตามกฎอิทัปปัจจยตา ไม่เป็นทุกข์เลย สำหรับจะเผชิญกับผลกรรมทั้งหลาย ที่ว่าเป็นผลกรรมเก่า ถ้ามันมีจริง เดี๋ยวนี้ก็ลองคิดดูว่าถ้าปฏิบัติด้วยสติสัมปชัญญะถูกต้องเพียงพอ อิทัปปัจจยตาถูกต้อง เมื่อมีผัสสะ มีผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็ไม่เป็นผัสสะโง่ ไม่เป็นเวทนาโง่ที่จะให้เกิดตัณหาอุปาทาน มันเลยเป็นทุกข์ไม่ได้ เราจึงปฏิบัติให้เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ก็ด้วยให้ปฏิบัติตามกฎอิทัปปัจจยตา แต่ไม่มีใครต้องการความทุกข์ ต้องการความไม่ทุกข์ ก็ปฏิบัติให้ถูกตามกฎอิทัปปัจจยตาก็จะได้ความสุข โดยสมมุติเรียกว่าความสุข ถ้าจะเรียกโดยแท้จริงก็เรียกว่าที่สุดแห่งความทุกข์คือดับทุกข์ ไม่มีเหลือ นี่เป็นหลักการที่ถูกต้อง จะให้กำลังใจอย่างมากทีเดียวที่ว่าเราอยู่เหนือกรรมได้ ปฏิบัติธรรมะถูกต้องแล้วมันอยู่เหนืออำนาจของกรรมได้ สมมุติว่าจะมีกรรมเก่า มันก็ไม่ทำอะไรได้ ถ้าที่ว่าไม่ใช่เพราะอีศวะระ (นาทีที่ 36:14)เป็นผู้บันดาล นั่นก็คือว่าปฏิเสธพระเจ้า นั่นก็คือว่าปฏิเสธพระเจ้าอย่างที่เขามีอยู่ในลัทธิอื่น ๆ ก่อนพุทธศาสนา หรือกระทั่งเดี๋ยวนี้มันก็ยังมีศาสนาที่ถือว่าทุกอย่างเป็นไปตามการบันดาลของพระเจ้า ของพระเจ้า ก็ไปเรียกชื่อตามภาษาของเขาอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ในอินเดียเรียกว่าอีศวะระ นั่นแหละคือคำว่าพระเจ้าแหละ ที่เราเอามาเรียกกันว่าพระอิศวร พระอิศวร คำนั้นคือคำที่มีความหมายเป็นพระเจ้าในศาสนาทั่วไป มันก็ไม่ใช่การบันดาลของอีศวะระ ของอิศวร หรือของพระเจ้า เอ้า, ท้าทายให้พระเจ้าจะลงโทษ ให้มัน จะแกล้งให้มีทุกข์มีโทษ มันก็รับไปได้ด้วยการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของอิทัปปัจจยตา ก็ลงโทษไม่ได้ ไม่ต้องเป็นทุกข์นั่นเอง นี่เรามีกฎอิทัปปัจจยตาที่เหนือพระเจ้าหรือว่ารับหน้าพระเจ้าชนิดนั้นได้ พระเจ้าชนิดนี้กำลังจะเสื่อมความนิยมลงไปทุกที เพราะถ้าบันดาลได้ทำไมไม่บันดาลให้โลกมีสันติสุขสันติภาพ สร้างสิ่งที่เป็นปัญหาขึ้นมาไม่รู้จักจบ ก็เลยสูญเสียหลักประกันของความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าไปเอง แต่ถ้าสำหรับกฎอิทัปปัจจยตาแล้วลองดู ลองดู ถูกตามนี้ก็จะเป็นอย่างนี้ ถูกตามนั้นก็จะเป็นอย่างนี้ ไม่ว่าฝ่ายทุกข์หรือฝ่ายดับทุกข์ ฉะนั้นเราจะต้องระวัง ถ้าจะต้องสอนก็ต้องสอนให้รู้ว่าสุขทุกข์นี่มันเกิดจากการทำผิดหรือทำถูก ปฏิบัติผิดหรือปฏิบัติถูกต่อกฎของอิทัปปัจจยตา ไม่ใช่ผลของกรรมเก่า กรรมเก่าเป็นบุญ เอามาให้เกิดมาเป็นคนโง่ ปฏิบัติผิดในขณะแห่งผัสสะแล้วก็เกิดกิเลสเป็นความทุกข์ไม่ต้องสงสัย ถ้าว่ากรรมเก่ามันจะให้เป็นทุกข์ ปฏิบัติถูกต้องในขณะแห่งผัสสะ มันก็ไม่เกิดกิเลสและไม่เกิดทุกข์โดยไม่ต้องสงสัยเช่นกัน ฉะนั้นสุขหรือทุกข์นี้ไม่ใช่ผลของกรรมเก่าอย่างที่คนทั่วไปเขาถือกันอยู่ว่าเป็นผลของกรรมเก่า เราไปเถียงกับเขาไม่ค่อยไหว เพราะเขาไม่อาจเข้าใจเรื่องอิทัปปัจจยตา จงรู้ไว้ แต่ก็ดีเหมือนกันที่ถ้าเขาจะเชื่อว่าเป็นผลของกรรมเก่า เขาก็จะได้ยึดมั่นในเรื่องกรรม ทำความดีเป็นประโยชน์ทางศีลธรรม เป็นประโยชน์ในทางศีลธรรม ถ้าในทางปรมัตถธรรมไม่หลุดพ้นจากความเวียนว่ายในวัฏสงสารได้ แต่ในทางศีลธรรมมันยังดี เขากลัวบาปเขารักบุญเขาก็จะทำสิ่งที่ว่าจะเป็นบุญ มันก็ไม่เกิดปัญหา นี่เป็นขั้นต้นที่เขาจะต้องตระเตรียมตนให้เป็นอย่างนั้นก่อน ไม่ทำกรรมชั่วก็มีแต่กรรมดี ตั้งตนอยู่ในกรรมดี แต่ถ้าต้องเวียนว่ายไปตามกรรมดีมันก็ไม่ไหวเหมือนกัน เป็นวัฏสงสารอย่างดี มันก็เกิดแก่เจ็บตายอยู่นั่นเอง ก็เลยต้องขึ้นไปให้พ้นจากนั้น นั่นแหละคือหลักลัทธิที่ถูกต้อง สุขและทุกข์เกิดมาจากการปฏิบัติผิดหรือปฏิบัติถูกต่อกฎอิทัปปัจจยตา เอาไว้เป็นปัจจุบันเลย อะไรจะมา กรรมบุญ กรรมเก่าเป็นดีเป็นชั่ว กรรมเก่าจะมาก็ต้อนรับ แต่การปฏิบัตินี้ให้ถูกต้องไว้ จนกว่ากรรมนั้นจะหมดไป กรรมเก่าก็หมดไป กรรมใหม่ก็ไม่มี ก็เลยเป็นพระอรหันต์อยู่เหนือกรรม ทีนี้มันไม่ต้องเชื่อเรื่องกรรมเก่าอย่างงมงาย ไม่ต้องเชื่อพระเจ้าอย่างงมงาย นี่ก็คือลัทธิพุทธศาสนาที่ถูกต้องที่บริสุทธิ์ผุดผ่องที่ธรรมทายาทจะต้องรับ รับรักษาไว้อย่างคงถูกต้องต่อไป เป็นทายาทอย่างนั้น
ทีนี้ก็ว่าพุทธศาสนาโดยเฉพาะนี่เป็นศาสนาประเภทถือกฎของธรรมชาติ ถือกฎที่วิวัฒนาการตามกฎของธรรมชาติ ไม่ใช่ว่าสิ่งทั้งปวงมีขึ้นมาโดยพระเจ้าสร้าง ถ้าพูดกันให้หมดกระแสความก็ว่าเดี๋ยวนี้ในศาสนาที่มีอยู่ในโลกทั้งหลาย พอจะแบ่งออกได้เป็น ๒ ฝ่าย ๒ พวก พวกหนึ่งก็ถือว่าพระเจ้าสร้าง มีพระเจ้าสร้างสร้าง นี่พวกหนึ่งกลุ่มหนึ่ง อีกศาสนาพวกหนึ่งถือว่าไม่มีพระเจ้าสร้าง มีแต่วิวัฒนาการตามกฎของธรรมชาติ โดยเหตุปัจจัยตามกฎของธรรมชาติตามกฎอิทัปปัจจยตา นี่ถ้าพูดอย่างพุทธศาสนาก็พูดอย่างนี้ ศาสนาที่เชื่อถืออย่างนี้ก็มีพุทธศาสนานี่รวมอยู่ด้วย และอาจจะมีศาสนาอื่นเล็ก ๆ น้อย ๆ รวมอยู่ด้วยโดยไม่สมบูรณ์ เพราะว่ามันมีเหมือนกัน มีลัทธิบางลัทธิบางศาสนา แม้แต่ในอินเดียที่ไม่มีพระเจ้ามันก็มีเหมือนกันแต่มันสอนเฉเถลไถลไปอย่างอื่นเสีย สำหรับพุทธศาสนานั้นแน่นอนตายตัวว่า มันเป็น มันเกิดขึ้นและเป็นไปตามกฎวิวัฒนาการ ถ้าจะเรียกเป็นไทยก็เรียกว่าศาสนาที่ถือวิวัฒนาการเป็นหลัก ถ้าจะโน้น ฝ่ายโน้นก็เรียกว่าศาสนาที่มีพระเจ้า พระเป็นเจ้าเป็นผู้สร้างเป็นหลัก มีพระเจ้าผู้สร้างเป็นหลัก ฝ่ายนี้มีกฎวิวัฒนาการเป็นหลัก ถ้าเป็นภาษาอังกฤษมันเรียกง่าย ๆ ที่เขาเรียกกันอยู่ทั่วไปแล้วว่า ฝ่ายที่ถือกฎวิวัฒนาการนี้เรียกว่า Evolutionist Evolutionist Evolutionist Evolution น่ะคือว่าวิวัฒนาการ Evolutionist คือถือวิวัฒนาการเป็นหลัก ถ้าฝ่ายนี้ถือมีพระเจ้าผู้สร้างเป็นหลักก็คือ Creationist Creation แปลว่าการสร้างโดยพระเจ้า Creationist ก็คือผู้ที่ถือว่ามีการสร้างโดยพระเจ้า เรารู้เรื่องนี้แล้วเราก็จะได้ไม่สอนผิด ๆ ว่ามีพระเจ้าผู้สร้างขึ้นมา รู้ตัวเองไว้ว่าพุทธศาสนาอยู่ในฝ่ายไหน มีหลักลัทธิส่วนใหญ่ ส่วนหัวใจนั้นอย่างไร ก็เรียกว่าประกันได้มาก ประกันการสอนผิดได้มากที่สุด จะสืบการสอนต่อไปให้ถูกต้องโดยง่ายไม่เผลอพลัดไปมีพระเจ้าผู้สร้าง มีผีสางเทวดาอะไรเข้ามาช่วย นี่คือเราถือศาสนาวิวัฒนาการของธรรมชาติ ไม่ถือศาสนาผู้มีพระเจ้าเป็นผู้สร้างโดยพระเจ้า เรื่องนี้มันยืดยาวพูดกันไม่รู้จักจบ ไว้พูดเวลาอื่นก็ได้ แล้วมันก็เป็นเรื่องที่กระทบกระทั่ง ผมก็ไม่ค่อยอยากจะพูด แต่เดี๋ยวนี้มันก็ต้องพูดบ้างเพื่อจะรักษาหลักเกณฑ์เอาไว้ว่าเราเป็นธรรมทายาทของพุทธะนี่จะต้องมีหลักอย่างไร จะสืบต่อความเป็น ความถูกต้อง ความจริงของหลักไว้ได้อย่างไร รู้ไว้ว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประเภทถือหลักวิวัฒนาการหรือ Evolutionist ไม่ได้ถือหลักว่ามีพระเจ้าผู้สร้างหรือ Creationist จะไปสอนอะไรก็ระวังให้ดี อย่าให้ไปผิดกับหลักอันนี้ นี่ก็เป็นข้อหนึ่ง
ทีนี้ที่มันรุนแรงอยู่ในสมัยนี้ ก็หลักพุทธศาสนาไม่ได้สอนว่ามีวิญญาณไปเกิด ไม่ได้สอนว่ามีวิญญาณไปเกิดเหมือนกับฝ่ายโน้น ฝ่ายฮินดูน่ะ เขามีวิญญาณเป็นตัวอาตมัน เป็นเจตภูต เป็นชีโว อะไรเป็นตัววิญญาณอย่างนั้น พอร่างกายตายก็ไปเกิด พอร่างกายตายก็ไปเกิด เหมือนกับเปลี่ยนเรือนใหม่ เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่อย่างนั้น ถ้าอย่างนั้นไม่ใช่พุทธศาสนา รายละเอียดยืนยันชัดเจนเป็นตัวอักษรไปหาอ่านดูเองจาก เกวัฏฏสูตร เกวัฏฏสูตรทีฆนิกาย (นาทีที่ 45:08) พยายามศึกษาเถิด จะมีคำโต้ตอบกันระหว่างภิกษุผู้ถือลัทธิอย่างนั้นกับเพื่อนภิกษุทั้งหลายและโต้ตอบกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสเองโมฆบุรุษ ถือว่าวิญญาณนี้ไปเกิด วิญญาณนี้ไปเกิด มีวิญญาณอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้ ตายแล้ววิญญาณนี้ไปเกิด นี่ประชาชนของเราถืออย่างนี้อยู่มากโดยไม่รู้ว่ามันผิดหลักพระพุทธศาสนา วิญญาณนี้ไปเกิด แต่เรื่องนี้มันก็อธิบายยาก ถ้าถามว่าอะไรไปเกิดแล้วมันก็ยังอธิบายยาก มันต้องเรียนกันมากกว่าจะอธิบายถูกต้องได้ ขอให้ไปศึกษาเพิ่มเติมให้ดี ๆ เรื่องที่ว่ามิใช่วิญญาณนี้ไปเกิด มีแต่การปรุงแต่งของเหตุของปัจจัยที่ยังเหลืออยู่ ก็งอกงามอยู่ ที่จริงมันไม่ได้มีปัญหาเรื่องอะไรไปเกิด พุทธศาสนาไม่ได้สอนกันว่าอะไรไปเกิด สอนแต่เรื่องดับทุกข์ทั้งนั้น เพราะไปเกิดมันก็คือไปมีความทุกข์อีกแหละ จะไปเกิดอีกกี่ครั้ง ๆ ก็มีความทุกข์ เกิดแก่เจ็บตาย ฉะนั้นจึงสอนเรื่องดับทุกข์ ไม่ตอบปัญหาว่าเกิดหรือไม่เกิด อะไรไปเกิด นี้ไม่ตอบปัญหาเหล่านี้
เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าตรัสแต่เรื่องความทุกข์กับดับไม่เหลือแห่งทุกข์ พระบาลีนี้เป็นหลักสำคัญมากว่าพระพุทธเจ้าไม่ตรัสเรื่องอื่น ปุพฺเพ จาหํ ภิกฺขเว เอตรหิ จ ทุกฺขญฺเจว ปญฺญาเปมิ ทุกฺขสฺส จ นิโรธํฯ (นาทีที่ 46:45) ผมเห็นพวกฝรั่งเอาไปอ้างเกรื่อไปหมด จะเก่งกว่าพวกเราเสียอีก พวกเราอาจจะไม่ได้ยินได้ฟัง ไม่ได้กำหนดจดจำข้อ ๆ นี้ ซึ่งแปลเป็นไทย ๆ ก็คือว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายแต่ก่อนโน้นก็ดีเดี๋ยวนี้ก็ดี เราบัญญัติแต่เรื่องความทุกข์ กับเรื่องความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้น เรื่องอื่นไม่พูด ขอให้มันอยู่ในวงขอบเขตที่ว่าพูดแต่เรื่องความทุกข์ให้เห็นรู้จักทุกข์ และก็จะได้รู้จักดับทุกข์ เรียกว่าพูดแต่เรื่องความทุกข์กับดับทุกข์ ถ้าพูดเลยขอบเขตจะเป็นเรื่องเฟ้อเรื่องเฝือ ไม่นำไปสู่ความดับทุกข์ แล้วมาตั้งปัญหาว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด อะไรไปเกิด ก็เข้าใจไม่ได้ก็เถียงกันจน เข้าใจไม่ได้จนเลิกรากันไปไม่มีประโยชน์อะไร และก็จัดเป็นอันตคาหิกทิฏฐิ (นาทีที่ 47:57) ไม่ต้องเอามาพูด ถ้าจะพูดก็พูดกันแต่เรื่องทุกข์กับเรื่องดับทุกข์ นี่เราจะต้องรักษาหลักพระพุทธภาษิตอย่างนี้ไว้ว่าเราจะไม่ยอมตอบคำถามเรื่องอื่น นอกไปจากเรื่องทุกข์และดับทุกข์ เพราะว่ามันไม่มีที่สิ้นสุด และเพราะมันเอามาให้ดูไม่ได้ อะไรไปเกิดหรืออะไรไม่เกิด แล้วไปมัวเถียงกันอะไรไปเกิดอะไรไม่ไปเกิด มันก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา มันดับทุกข์ไม่ได้ มันจะชวนให้ทะเลาะวิวาทกลายเป็นความทุกข์ใหม่เพิ่มขึ้นมาเสียอีก ดับทุกข์เท่านั้น ดับทุกข์เท่านั้นเป็นหลักสำคัญ ถ้ามันดับทุกข์ได้ก็ถูกต้อง ถ้ามันมีคำถามว่านี่ถูกหรือผิด ก็มาใคร่ครวญดูว่ามันดับทุกข์หรือว่าไม่ดับทุกข์ ถ้ามันดับทุกข์มันก็ถูกแหละ ถ้าดับทุกข์ได้ก็ใช้ได้แหละ ไม่ต้องมามีปัญหาว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้จริงหรือพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้จริงหรือมีอ้างไว้อยู่ในคัมภีร์ไหน เป็นมาอย่างไร ไม่ต้องเรียนก็ได้ส่วนนั้น กลัว (นาทีที่ 48:59) แต่มันจะดับทุกข์ได้หรือไม่ เราจึงไปเสียเวลาเรียนกัน เสียเวลาเปล่า ๆ นี้ที่ว่า ใครพูด ใครตรัส ตรัสไว้ที่ไหน ของเก่าหรือของใหม่ ของแท้หรือของปลอม พระไตรปิฏกข้อนี้ของแท้หรือของปลอม ฉะนั้นไม่ต้องมัวไปเถียงกันให้เสียเวลา ดูว่ามันดับทุกข์หรือไม่ ถ้ามันดับทุกข์แล้วก็เอาเถิด ของเก่าของใหม่ก็ได้ ใครตรัสก็ได้ใครกล่าวก็ได้ นี่เราไปเสียเวลาเรียนเรื่องที่ไม่จำเป็นจะต้องเรียนไปมากนัก มันเลยไม่ได้รู้เรื่องที่ควรจะรู้ ฉะนั้นขอให้ถือเป็นหลักว่าเราจะพูดแต่เรื่องความดับทุกข์ ถือเอาว่าถ้าดับทุกข์ได้นั่นแหละคือถูก นั่นแหละคือถูก เรื่องดีเรื่องชั่วยังไม่ดับทุกข์ เรื่องเหนือดีเหนือชั่วจึงจะดับทุกข์ มองเห็นให้ชัด ก็จะเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาได้เอง
แล้วอีกอย่างหนึ่งก็ให้เป็นเรื่องภายใน ถ้าเป็นเรื่องพุทธศาสนาต้องให้เป็นเรื่องภายใน ทุกเรื่องอยู่ภายใน คือในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งเท่านั้นแหละ ในนั้นมีทุกเรื่องมีครบหมดทุกเรื่อง เรื่องทุกข์ก็ดี เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ก็ดี เรื่องความดับทุกข์ก็ดี เรื่องทางให้ถึงความดับทุกข์ก็ดี แต่ท่านใช้คำว่าบนโลกในบางแห่ง โลกก็ดี เหตุให้เกิดโลกก็ดี ความดับแห่งโลกก็ดี ทางให้ถึงความดับแห่งโลกก็ดี ตถาคตบัญญัติไว้ในกายซึ่งยาวประมาณวาหนึ่งนี้ พร้อมทั้งสัญญาและใจ คือ เป็น ๆ น่ะ มีสัญญา มีความรู้สึก มีจิต ยังเป็น ๆ อยู่ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ทุกเรื่อง หาได้จากในนั้น ไม่ต้องไปหาจากข้างนอก ของคนอื่นหรือที่อื่นหรือในธรรมชาติภายนอกอย่างอื่น เป็นเรื่องที่ครบถ้วนอยู่ในภายใน สอนให้รู้จักแสวงหาคือมองดูเข้าไปข้างใน มองดูเข้าไปข้างในจะหาพบ นี่ก็เป็นหลักสำคัญอันหนึ่งที่จะต้องรู้ไว้ อย่าให้มันผิดหลักไปได้
ทีนี้เรื่องความหลุดพ้น ก็ต้องสอนให้ถูกต้องตามพระบาลี ทุกแห่งจะมีคำว่าจิตหลุดพ้น ไม่ใช่มีคำว่าตัวตนหลุดพ้น หรือมักจะพูดว่ากูหลุดพ้น กูหลุดพ้นไม่ได้ เพราะกูเป็นอุปาทาน และจิตข้องอยู่ในอุปาทาน ตัวกู ตัวตน อัตตาหลุดพ้นไม่ได้ ถ้าจะพูดเป็นศัพท์แสงชั้นสูงก็ว่า จิตเท่านั้นที่เป็นผู้หลุดพ้น ที่เป็นหลุดพ้น เป็นตัวหลุดพ้น อัตตา อัตตาตัวตนนี้หลุดพ้นไม่ได้ อัตตาตัวตนเป็นที่ข้องติดเกาะเกี่ยวอยู่ แต่ถ้าฝ่ายอื่น เช่น ฝ่ายเวทานตะ ฝ่ายฮินดูเวทานตะ เขาพูดว่าอัตตาหลุดพ้น อัตตาหลุดพ้นจากโลกนี้ แล้วอัตตาไปอยู่กับปรมาตมัน คืออัตตาใหญ่เป็นนิรันดรไปเลย ส่วนของเรานี่ จิตหลุดพ้น หลุดพ้นจากโลก หลุดพ้นจากสิ่งที่ทำให้เกาะเกี่ยวอยู่ในโลก จิตหลุดพ้น ไม่ใช่อัตตาหลุดพ้น ระวังพูดสอนให้ดี ๆ อย่าให้กลายเป็นไอ้ตัวตนหลุดพ้น มันสอนกันจนปนเปไปหมดว่าจิตกับอัตตาเป็นสิ่งเดียวกัน นั่นพูดได้โดยสมมุติ ว่าจิตกับอัตตาเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ถ้าพูดดั่งความจริงที่เฉียบขาดที่สุดแล้วไม่ใช่สิ่งเดียวกัน จิตก็คือจิตที่เป็นธรรมชาติตามที่เรียกว่าจิต ส่วนอัตตานั้นเป็นตัวตนที่มันรู้สึกขึ้นมาอย่างผิด ๆ ด้วยอวิชชา เรียกว่าตัวตน พยายามจะย้ำอยู่ด้วยตัวตน จะรักษาไว้ซึ่งตัวตน เอาตัวตนอย่างดีจริงอย่างแท้ ขึ้นมาอีกว่าตัวตนที่หลุดพ้นจากโลกแล้ว ฉะนั้นการหลุดพ้นของฝ่ายโน้นก็คืออัตตาหลุดพ้นจากโลกไปอยู่กับอัตตาใหญ่ แต่ถ้าพุทธศาสนาเป็นไปไม่ได้ นี่ต้องพูดว่าจิตหลุดพ้นจากสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถืออยู่ในโลก แม้ที่สุดแต่ความยึดถือว่าตัวตน จิตก็ต้องหลุดพ้นไปด้วย ฉะนั้นกลายเป็นว่าจิตต้องหลุดพ้น หลุดพ้นจากตัวตน จิตหลุดพ้นจากตัวตน คือจากความยึดถือว่าตัวตน จึงจะเป็นพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง
ทีนี้พอพูดถึงนิรันดร เขาก็มีอัตตานิรันดร พวกอื่นนะ เช่นเป็นพระเจ้าหรือเป็นอะไรก็ตาม เป็นอัตตานิรันดร ส่วนในพุทธศาสนานี้มีสิ่งนิรันดรคือนิพพาน นิพพานเป็นอายตนะอันหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ ซึ่งจิตอาจจะรู้สึกต่อพระนิพพานนั้นได้ มีบาลีชัด ๆ ควรจะจำบาลีชนิดนี้กันไว้บ้างว่า อตฺถิ ภิกฺขเว ตทายตนํ ยตฺถ เนว ปฐวี น อาโป น เตโช น วาโย (นาทีที่ 54:21) ยืดยาวไปเลย อยู่ในคัมภีร์อุทานโดยสมบูรณ์ว่า ภิกษุทั้งหลายอายตนะนั้นมีอยู่ ซึ่งมิใช่ดิน มิใช่น้ำ มิใช่ลม มิใช่ไฟ มิใช่อากาศ มิใช่อากาสานัญจายตนะ กระทั่งไม่ใช่เนวสัญญานาสัญญายตนะ (นาทีที่ 54:37) ไม่ใช่อารมณ์ ไม่ใช่ที่ตั้งแห่งอารมณ์ คือไม่เป็นทุกอย่างนั่นแหละ ไม่เป็นอะไรตามที่ชาวโลกเขาจะรู้สึกว่าเป็นทุกอย่าง ก็เลยนั่นแหละที่สุดแห่งทุกข์คือพระนิพพาน แต่แปลกที่ตรัสเรียกว่าอายตนะ นิพพานนั้นเป็นอายตนะอันหนึ่ง ถึงว่าตทายตนํ เพราะฉะนั้นคำว่าอายตนะมีความหมายว่า สิ่งที่ถึงได้ สิ่งที่จิตถึงได้ แต่มันเป็นฝ่ายโลกุตระ อายตนะฝ่ายโลกียะคือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นสิ่งที่จิตถึงได้โดยอาศัยอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทีนี้อายตนะฝ่ายนี้ฝ่ายสกปรกนี้ ทีนี้อายตนะคือสิ่งที่จิตจะรู้ถึงได้ รู้ได้ ถึงด้วยการรู้ได้ คือพระนิพพาน ในบาลีบางแห่งเรียกพระนิพพานเป็นวิญญาณเสียเลย ถ้าอย่างนี้แล้วคำวิญญาณคำนั้นจะต้องแปลว่าสิ่งที่รู้แจ้งได้ พระนิพพานเป็นสิ่งที่รู้แจ้งได้เรียกว่าวิญญาณ พระนิพพานเป็นสิ่งที่จิตรู้สึกหรือถึงได้เรียกว่าอายตนะ ฉะนั้นเราจึงมีสิ่งนิรันดร คือพระนิพพานหรือนิพพานายตนะ ซึ่งเป็นอายตนะฝ่ายวิสังขาร ฝ่ายอสังขตะ ที่จิตถึงได้นั่นแหละเป็นสิ่งนิรันดร พวกอื่นเขามีพระเจ้าเป็นนิรันดร มีอะไรเป็นนิรันดรตามลัทธิของเขา เราก็มีสิ่งนิรันดรคือภาวะที่ไม่มีความทุกข์เลย ภาวะที่จิตลุถึงเข้าแล้วจะหมดความทุกข์โดยประการทั้งปวง คือนิพพานายตนะ อายตนะคือนิพพาน ตามพระบาลีว่าอตฺถิ ภิกฺขเว ตทายตนํ นี้นิรันดรเราก็มี แต่เดี๋ยวจะอธิบายผิดกลายเป็นสิ่งนิรันดรฝ่ายโน้นโดยไม่รู้ตัว เพราะคำสอนมันปนกันเต็มทีแล้ว มันปนกันอย่างยิ่งแล้ว มันปนกันมาเรื่อย ๆ ซึ่งก็เป็นธรรมดามันจะต้องปนกันใครจะรับผิดชอบไหว
เอาแล้วเป็นอันว่าเราให้รู้หลักลัทธิอันถูกต้องของพระพุทธศาสนาว่ามีอยู่อย่างไรแล้วก็สืบรักษา รักษาสืบไว้ให้ถูกต้อง นั่นแหละคือธรรมทายาทฝ่ายหลักลัทธิ เป็นธรรมทายาทฝ่ายหลักลัทธิรักษาหลักลัทธิให้สืบต่อกันมาอย่างถูกต้อง นี่เป็นพวกที่หนึ่ง ธรรมทายาทพวกที่หนึ่ง รักษาหลักลัทธิของพระพุทธศาสนาให้สืบต่อไว้อย่างถูกต้อง ทีนี้ก็ในการปฏิบัติ นี่พวกที่สองเป็นธรรมทายาทในฐานะที่มีการปฏิบัติจนบรรลุธรรมะอันสุดท้าย อันสุดท้ายคือนิพพาน การปฏิบัติมีอยู่อย่างไรก็ต้องรักษาการปฏิบัตินั้นไว้อย่าให้ขาดตอน ของตัวเองก็สืบต่อ สืบต่อ สืบต่ออย่าให้ขาดตอน อันนี้จะตรงกับพระพุทธประสงค์ที่ว่าจงเป็นธรรมทายาทเถิด อย่าเป็นอามิสทายาทเลย คือ ประพฤติปฏิบัติธรรมะที่เป็นการก้าวหน้าสูงขึ้นไป ๆ จนบรรลุธรรมะในระดับสูงสุด นี่ก็จะระบุไปยังการปฏิบัติที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำวัน ในชั้นต่ำสุดอยากจะระบุไปยังการเป็นอยู่ที่เกื้อกูลแก่ศีล สมาธิ ปัญญา การเป็นอยู่ดำรงชีวิตอยู่คือทรงตัวอยู่ในลักษณะที่เป็นการเกื้อกูลแก่สมาธิ ปัญญา เอ้อ ศีล สมาธิ ปัญญา นี่พูดอย่างคร่าวที่สุด กว้างที่สุด ให้มันใช้ได้ในขอบเขตที่กว้างที่สุดว่าจงมีการเป็นอยู่ชนิดที่เกื้อกูลแก่ศีลสมาธิปัญญา เพราะว่าศีล สมาธิ ปัญญานี่มันจะตัดกิเลสเป็นมรรคผลนิพพาน เราจึงมีการเป็นอยู่ทุกอย่างที่เกื้อกูลแก่การที่จะมีศีล แก่การที่จะมีสมาธิ แก่การที่จะมีปัญญา นี่เรียกว่าปฏิบัติถูกต้อง เป็นธรรมทายาทในทางปฏิบัติที่ถูกต้อง นี่มันพูดได้แต่หัวข้อว่าศีลเป็นอย่างไร สมาธิเป็นอย่างไร ปัญญาเป็นอย่างไร แล้วเราก็ปฏิบัติดำรงชีวิตให้มันเกื้อกูลแก่ความมีศีล แก่ความมีสมาธิ แก่ความมีปัญญา ซึ่งมีรายละเอียดมากมายในระบบของธรรมะทั้งหลายที่มีอยู่ในพระบาลีในทั้งหมดที่เราจะต้องเรียนนั้นน่ะ มันจะรวมความได้ว่าอย่างนั้น นี่เป็นธรรมทายาทสืบต่อการดำรงชีวิตชนิดที่เป็นการเกื้อกูลแก่ศีล สมาธิ ปัญญา
ทีนี้ถ้ามันยังกว้างนักก็ระบุมาตรง ๆ เลย ปฏิบัติศีลสมาธิปัญญาเลย มีชีวิตที่เป็นศีล สมาธิ ปัญญาอยู่โดยตรง แต่ให้มันถูกต้องนะ ศีล สมาธิ ปัญญา นี้มันถูกต้อง ศีลคือความถูกต้องทางกายทางวาจา สมาธิคือความถูกต้องทางจิต ปัญญาคือความถูกต้องทางสติปัญญาของจิต ผมมักจะเรียกว่าทางวิญญาณ ถูกต้องทางกาย ทางวาจามันเป็นเรื่องภายนอก เป็นเรื่องพื้นฐาน มีกายวาจาที่ถูกต้องเป็นพื้นฐาน ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นเพราะเหตุ เพราะสิ่งนี้ เพราะทำผิดในสิ่งนี้ แล้วมีความถูกต้องทางจิตคืออบรมจิตให้เป็นจิตชนิดที่มันจะบรรลุมรรคผล ทีนี้ให้มีปัญญาคือความรู้ของจิต สติปัญญาของจิตนั้นจะถูกต้อง จิตถ้าเป็นเรื่องจิตเป็นตัวมีกำลังที่จะทำอะไรลงไป ต้องถูกต้อง เป็นจิตที่ถูกต้อง อย่างที่เรียกว่าถูกต้องตามแบบของความมีสมาธิ ทีนี้ต้องมีสติปัญญาเรื่องทิฏฐิ ความคิดความเห็นอะไรต่าง ๆ ความถูกต้องของทิฏฐิ ความคิดเห็นก็ได้ เป็นเรื่องของปัญญา ถ้าเรามีความถูกต้องทั้ง ๓ อย่างนี้ แล้วเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง คือเป็นชีวิตแห่งศีล สมาธิ และปัญญา สามารถที่จะเสนอไปในที่ทุกแห่งในโลกว่าเรามีอย่างนี้ ถ้าให้คัดค้านมันผิดอย่างไร มันจะเสียหายอย่างไร มันจะเป็นหมันอย่างไร กล้าท้าทุกโลกทั้งโลกเลย ทั้งโลกทุกโลกเลยว่าคุณพิสูจน์สิว่าไอ้เรื่องนี้มันจะเสียหายอย่างไรจะผิดพลาดจะเป็นหมันได้อย่างไร นั่นแหละความศักดิ์สิทธิ์ของศีล สมาธิ ปัญญา ศักดิ์สิทธิ์ของธรรมะ คือทนต่อการพิสูจน์
อ้าว, ทีนี้มันยังกว้างอยู่ ก็จะรวบรัดเข้ามาอีกว่ามีชีวิตที่ดำรงอยู่ในสมาธิภาวนา นี้ผมเข้าใจว่าหลายคนคงจะยังไม่ทราบ เมื่อพระพุทธเจ้าท่านจะตรัสถึงตัวพรมจรรย์ทั้งหมดจนกระทั่งบรรลุความสิ้นอาสวะ ท่านใช้คำว่าสมาธิภาวนา สมาธิภาวนาอย่างที่หนึ่งเป็นไปเพื่อความสุขในทิศธรรม คือพวกสมาธิ พวกฌานทั้งหลาย สมาธิประเภทที่สอง สมาธิภาวนาประเภทที่สอง คือจะได้มีหูทิพย์ ตาทิพย์ พวกนั้นแหละ พวกตาหู พวกอายตนะที่เป็นทิพย์ นั้นก็ยังเป็นเรื่องของจิต ทีนี้สมาธิภาวนาที่สาม เป็นความสมบูรณ์แห่งสติสัมปชัญญะ ในการเกิดขึ้นแห่งสัญญา เจตนา และวิตก นี่เป็นปัญญาขึ้นมามากแล้ว และสมาธิภาวนาประเภทที่สามคือรู้จักการเกิดขึ้นและดับไปแห่งอุปาทาน คือความสิ้นอาสวะ เป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะ รู้จักการเกิดขึ้นและดับไปแห่งอุปาทาน มันเป็น ๔ อย่างเรียกว่าสมาธิภาวนาหมด ซึ่งเราจะเข้าใจว่าอย่างนี้จะเรียกปัญญา จะเรียกสมาธิภาวนาอย่างไรได้ จะต้องแปลคำ ๆ นี้ให้ถูกตามเรื่อง ก็ต้องแปลว่าทำให้เจริญขึ้นมาโดยอาศัยกำลังของสมาธิ ที่จะมีปัญญาบรรลุมรรคผลนิพพานก็ต้องอาศัยกำลังของสมาธิ ฉะนั้นการปฏิบัติปัญญาเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานโดยตรงก็เรียกว่าสมาธิภาวนาได้ แต่มิได้หมายความว่าการเจริญสมาธิ เป็นการทำจิตให้เจริญดยอาศัยอำนาจของสมาธินี่น่าประหลาดที่สุด พิจารณาดูแล้วน่าประหลาดที่สุด ที่เรียกการปฏิบัติทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนปลายสุดว่าสมาธิภาวนา การทำให้เจริญด้วยอำนาจของสมาธิ ทำอะไรให้เจริญ ทำจิตให้เจริญ แล้วก็บรรลุมรรคผลนิพพานสิ้นอาสวะ ฉะนั้นการปฏิบัติทั้งหมด ถ้าเรียกอย่างนี้ เรียกโดยเทคนิคอย่างนี้แล้วมันกลายเป็นชื่อ ๆ เดียวกันหมดว่าสมาธิภาวนา แม้จะทำกายวาจาให้เจริญ ก็ทำด้วยสมาธิ ทำจิตให้เจริญก็ทำด้วยสมาธิ ทำปัญญาให้เจริญก็ทำด้วยสมาธิ อาศัยสมาธิเป็นเครื่องมือทั้งนั้น เลยได้ชื่อว่าสมาธิภาวนา นี่ถ้าใช้คำว่าสมาธิภาวนาคำเดียวมันครอบหมดเลย ยัง ยังไม่รัดกุมพอ จะขอพูดขึ้นมาอีกอย่าง เพิ่มเติมขึ้นมาอีกอย่าง ว่าทั้งหมดนั้นสรุปลงมาเหลือสั้น ๆ คำเดียวว่าเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ฟังดูคล้ายพูดเล่นนะ เป็นอยู่อย่างถูกต้อง นั่นแหละกลายเป็นที่สรุปหมดของการปฏิบัติทั้งหมดทั้งสิ้น เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสเมื่อจะปรินิพพานอยู่แล้ว คล้าย ๆ เป็นคำแนะคำสั่งครั้งสุดท้ายว่าตรัสในขณะจะปรินิพพานอยู่หยก ๆ ว่าถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้จักเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ตัวธรรมะแท้ ๆ ก็สัมมาวิหะเรยยุง ถ้าทำให้เป็นนามนาม (นาทีที่ 01:06:00) ก็ว่าสัมมาวิหาโร ความเป็นอยู่อย่างถูกต้อง โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ก็บรรลุมรรคผลนิพพานได้เพราะการเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ธรรมทายาทก็สืบต่อการเป็นอยู่อย่างถูกต้องไว้ โลกก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์รวมทั้งตัวเองด้วย นี่เรียกว่าการสืบทอดการปฏิบัติเพื่อการบรรลุมรรคผล ทบทวนอีกทีว่ามีการเป็นอยู่โดยพื้นฐานชนิดที่เกื้อกูลแก่ความมีศีล สมาธิ ปัญญา นี่ก็กว้าง แคบลงมาว่าเป็นอยู่อย่างมีสมาธิปัญญา ให้แคบลงมาอีกก็ว่าเป็นอยู่อย่างมีสมาธิภาวนา เต็มตามขอบเขตของคำ ๆ นั้น และแคบเข้ามาอีกก็ว่าเป็นอยู่โดยชอบ เป็นอยู่โดยชอบโลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ คำนี้ฟังดูแล้วจะรู้สึกว่าคล้ายกับพูดเล่น แต่มันไม่ใช่พูดเล่น ไม่ใช่คำพูดเล่น พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในเวลาที่สำคัญที่สุดที่จวนจะปรินิพพานอยู่แล้ว เพราะว่าคำว่าเป็นอยู่โดยชอบน่ะมันมีความหมาย มีความหมายพิเศษเป็นอยู่โดยชอบ ถ้าจะให้ระบุไปให้เข้าใจกันง่าย ๆ ก็มีความชอบ มีสัมมัตตะ ๘ นั่นแหละ คือ อัฎฐังคิกมรรค (นาทีที่ 1:08:11) เมัตตะ ๘ และก็มีความชอบของที่เป็นผลอีก ๒ คือสัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ (นาทีที่ 01:08:20) รวมกันเป็นความถูกต้อง ๑๐ สัมมัตตะแปลว่าความถูกต้อง ที่เป็นเหตุมี ๘ คืออริยมรรคมีองค์ ๘ และสัมมัตตะส่วนที่เป็นผลมี ๒ คือ สัมมาญาณะ กับสัมมาวิมุตติ รวมกันเป็นสัมมัตตะ ๑๐ ในหลักสูตรนักธรรมเอ่ยถึงแต่ชื่อ ที่จริงในพระบาลีนั้นเน้นมากในเรื่องสัมมัตตะ ๑๐ กับความถูกต้อง ๑๐ คือมันสมบูรณ์กว่าความถูกต้องเพียง ๘ ซึ่งเป็นแต่เพียงเหตุเท่านั้น อัฎฐังคิกมรรค ๘ (นาทีที่ 01:08:59) เป็นความถูกต้องในส่วนที่เป็นเหตุ แล้วให้ถูกต้องในส่วนที่เป็นผลขึ้นมาอีก ๒ คือ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ รวมกันเป็นความถูกต้อง ๑๐ แล้วนี่แหละคือตัวพุทธศาสนาคือความถูกต้อง ๑๐ ถ้ามีขึ้นมาแล้ว ถ้ามีขึ้นมาแล้ว จะดับทุกข์สิ้นเชิง จะเปลี่ยนโลกนี้ให้กลายเป็นโลกุตระ แล้วใช้คำเทียบเพื่อเทียบกับลัทธิฝ่ายอื่นนอกพุทธศาสนาซึ่งเป็นคู่แข่งขันโดยเฉพาะลัทธิพราหมณ์ ลัทธิพราหมณ์เขามีพิธีกินยาถ่าย ถ่ายแล้วก็สิ้นกิเลสเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าสัมมัตตะ ๑๐ นี่ก็คือยาถ่าย เป็นวิเรจนะ เป็นยาถ่าย ให้กินเข้าไปแล้วถ่ายกิเลสออกหมด ถ่ายความทุกข์ออกหมด อีกคำหนึ่งว่าวมนํ(นาทีที่ 1:10:02) คือยาสำรอกให้อาเจียร ซึ่งพวกโน้นก็ทำอยู่ทำพิธีตามแบบของเขา สำรอกให้อาเจียรหมดกิเลส หมดเสียก่อน (นาทีที่ 01:10:08) พระพุทธเจ้าตรัสสัมมัตตะ ๑๐ คือยาสำรอกให้อาเจียร ลองมามีครบ ๑๐ สิมันจะสำรอกกิเลสแห่งความทุกข์ออกหมด และฝ่ายพราหมณ์ฝ่ายโน่นก็มีพิธีโทวนะ (นาทีที่ 1:10:27) คือว่าอาบ อาบ อาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ โทวนะ อาบ ล้างให้เกลี้ยงให้สะอาด โทวนะ แล้วก็ทำพิธีอาบพิธีอะไรก็ไปตามแบบของฝ่ายนั้น แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า นี่สัมมัตตะ ๑๐ คือโทวนะ โทวนะ ฉะนั้นความถูกต้องคือ ๑๐ นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าภิกษุนี้จะอยู่ด้วยความถูกต้องเป็นอยู่โดยชอบแล้วโลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ก็เป็นของจริงสิ เพราะมันถูกต้องทั้งส่วนของเหตุและส่วนผล นี่คือมรดกหรือธรรมทายาทส่วนที่สอง คือเป็นการปฏิบัติธรรมะจนบรรลุมรรคผล
ทีนี้ส่วนที่สามธรรมทายาทในการเผยแผ่ พระพุทธเจ้าทรงเป็นนักเผยแผ่อย่างที่ไม่มีใครเทียบเท่า เผยแผ่สิ่งที่ได้ตรัสรู้ และก็ทรงขอร้องให้ภิกษุทั้งหลายออกไปเผยแผ่ เมื่อพระภิกษุสาวกมีได้ ๖๐ รูป ส่งภิกษุออกไปเผยแผ่คำพูดนั้น โอ้ย, ไปศึกษา ถ้ารู้ภาษาบาลีนะ ศึกษาดูให้ดีตามความหมายภาษาบาลีแล้ว จะจับใจจนน้ำตาไหล ฟังดูเป็นคำขอร้องอ้อนวอนที่สุด หรือจะฟังดูเป็นคำสั่งกำชับบังคับที่สุดก็ได้เหมือนกัน ว่าให้ออกไปเผยแผ่ บัดนี้เรา พระองค์เองพ้นแล้วจากบ่วง บ่วงที่เป็นของมนุษย์และของทิพย์ เธอทั้งหลายก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งที่เป็นของทิพย์และเป็นของมนุษย์ คือว่าบรรดาสิ่งที่จะมาผูกมัดจิตใจ ทั้งที่เป็นชนิดธรรมดาอย่างของมนุษย์เราก็พ้นแล้ว ที่เป็นอย่างของทิพย์ในสวรรค์วิมานอะไร เราก็พ้นแล้ว พ้นจากบ่วงทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์และเป็นของทิพย์แล้ว จงไปจงไป เพื่อประกาศธรรมะนี้ให้แก่ประชาชนมหาชน ใช้คำว่ามหาชน ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ ประกาศพรมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง แสดงธรรมให้ไพเราะทั้งเบื้องต้นเบื้องกลางและเบื้องปลาย รวมกันแล้วนี่คือท่านสั่งให้ไปประกาศพระศาสนา เราก็สืบทอดรับมรดกการสืบ การออกไปสืบอายุพระศาสนาไปเผยแผ่นั่นแหละเป็นหน้าที่ของการเผยแผ่ของธรรมทายาท เรามีวิธีเผยแผ่อย่างไรบ้าง ก็ทำให้สำเร็จประโยชน์ ให้สำเร็จประโยชน์ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ อย่างที่อธิบายมาแล้วว่าเทวดาและมนุษย์หมายถึงอะไร คือสำเร็จประโยชน์ทั้งแก่คนยากจนและคนมั่งมี ถ้าพูดอย่างสมัยใหม่ สมัยคอมมิวนิสต์นี้ก็ว่าสำหรับทั้งคนกรรมาชีพและนายทุน ก็ไปเผยแผ่ธรรมะ ธรรมะนี่ตั้งแต่ผู้ที่ยากจนและมั่งมี
เผยแผ่นี้มีอาการหลายอย่าง มิใช่ว่าเพียงแต่ไปพูดให้ฟัง ไปพูดให้ฟังก็เป็นการเผยแผ่อย่างหนึ่งแล้ว ให้ได้ยินได้ฟัง ทีนี้ดีไปกว่านั้นก็คือว่าทำตัวอย่างให้ดู บางทีก็ไม่ได้พูดกันนัก เพียงแต่ทำตัวอย่างให้ดู คนเขาก็สนใจเพราะมันน่าสนใจ ดีไปกว่านั้นอีกก็ว่ามีความสุขสงบให้ดู เหมือนพระอัสสชิเดินไป อุปดิสสะเห็นเข้าก็สนใจเข้าไปไต่ถาม เพราะเห็นอินทรีย์อันสงบของพระอัสสชิ เรียกว่ามีความสุขให้ดู ก็เลยสำเร็จ ดึงออกมาเป็นสาวกในพระพุทธศาสนา นี่ก็เผยแผ่ด้วยการเป็นสุขให้ดู รวมความแล้วก็เป็นการสืบอายุพระศาสนาไว้ให้ยังคงมีอยู่ในโลก มันไปสรุปที่นั่นว่าช่วยกันทำให้ศาสนายังคงมีอยู่ในโลก นั่นคือการเผยแผ่ พูดให้ยินให้ฟังก็ได้ ทำตัวอย่างปฏิบัติให้ดูก็ได้ รับผลของการปฏิบัติเป็นความสุขให้ดูก็ได้ แล้วคนเขาก็สนใจและก็ปฏิบัติตาม แล้วธรรมะก็มีอยู่ในโลก โลกนี้ก็มีสันติภาพ นี่ก็ธรรมทายาทในส่วนการเผยแผ่
สรุปความว่าธรรมทายาทในส่วนการรักษาหลักลัทธิไว้ให้ถูกต้อง อย่าให้กลายเป็น อย่าให้กลายเป็นไสยศาสตร์ และก็มีการปฏิบัติสืบต่อไปจนบรรลุมรรคผล แล้วก็อันสุดท้ายก็คือว่า เผยแผ่ธรรมะให้แพร่ ให้แพร่ไป ให้เผยแพร่ไปทั่วโลก จะสำเร็จด้วยการปฏิบัติทุกอย่างของเราเอง ทำตนเป็นผู้มีความสุขให้ดูคนเขาก็สนใจ ฉะนั้นจะไปเผยแผ่ที่ไหน ก็ทำตัวอย่างให้ดูด้วย มีความสุขให้ดูด้วย อย่าไปสอนเด็กเพียงปากพูดอย่างเดียว ธรรมทายาทก็จะสมบูรณ์เป็นไปได้ทั่วโลก หรือว่าจะไม่ได้เดินไปทั่วโลก แต่ว่าอยู่ที่นี่หรือที่ไหนก็ได้ ทำให้ธรรมะมันกระจายออกไปทั่วโลก ทำให้ธรรมะยังคงมีอยู่ในโลก แล้วโลกนี้ก็ปลอดภัยเอง ทั้งโลกก็ได้รับประโยชน์จากธรรมะ เรียกว่าเผยแผ่ธรรมทายาทในส่วนการเผยแผ่
สรุปความสั้น ๆ ก็ว่า มีธรรมะเป็นหลักที่ถูกต้อง แล้วก็เสียสละเพื่อความมีอยู่แห่งธรรมะนี้ในโลกอย่างถูกต้อง เป็นธรรมทายาทโดยธรรม ธรรมทายาทคือเป็นทายาทโดยธรรม โดยธรรมชาติหรือว่าจะโดยความถูกต้อง ความยุติธรรม อะไรเราก็เป็นธรรมทายาทอยู่แล้ว ไม่ต้องมีใครแต่งตั้ง ถ้าเป็นธรรมทายาท แปลคำว่าธรรมทายาทว่าทายาทเพื่อธรรม การรับมรดกนี้ทำให้เพื่อพระธรรมยังคงมีอยู่ในโลก ธรรมทายาทแปลว่าธรรมทายาทในทางธรรม อย่างอื่นไม่เอา เป็นทายาทของธรรม คำว่าธรรมหมายถึงพระพุทธองค์ เห็นธรรมคือเห็นตถาคต เห็นตถาคตคือเห็นธรรม ธรรมทายาทก็ว่าทายาทด้วยธรรม ไม่เอาเรื่องอื่นมาเป็นเครื่องมือ ธรรมทายาทตามธรรม ธรรมทายาทแปลว่าทายาทตามธรรม ก็มันถูกต้องตามธรรม เรื่องมันก็จะจบ ก็ไปลองคิดดูเองด้วยกันทุกคนว่าถ้ามันทำไปอย่างนี้แล้ว ผลมันจะเกิดขึ้นอย่างไร ผลมันจะเกิดขึ้นอย่างไร ไม่ต้องพูด ผมไม่ต้องพูด ไปคิดดูเอง
เอาแล้วเป็นอันสรุปความสั้น ๆ อีกทีหนึ่งว่า ต้องเป็นธรรมทายาทกันทุกคน พุทธบริษัท ตามหน้าที่ที่จะทำได้ อย่างนำหน้าอย่างเป็นผู้นำหน้า หรือเป็นผู้อยู่ตรงกลาง หรือเป็นผู้อยู่รั้งท้ายตามหลังอะไรก็ตาม ให้มันเป็นกองทัพธรรม เป็นธรรมทายาทด้วยกันทุกคนที่เป็นพุทธบริษัท จะได้ตรงตามพระพุทธประสงค์ มีลักษณะทั้งความขอร้องอ้อนวอนและสั่งบังคับ ไปทางเดียวคนเดียว อย่าไปทางเดียวสองคน มันจะเปลืองคนอย่างนี้เป็นต้น โดยความมุ่งหมายวัตถุประสงค์ก็สืบลัทธิ ตัวลัทธิ กฎเกณฑ์ของลัทธิอันถูกต้องไว้ และก็ปฏิบัติเรื่อยไปจนกว่าจะบรรลุมรรคผลสุดท้าย และก็เผยแผ่ให้ไปทั่วโลก นี่ก็คือกิจกรรมธรรมทายาท ถ้าจะกล่าวกันอย่างหมดจดสิ้นเชิง ทีนี้จะทำได้เท่าใดเพียงไร ก็แล้วแต่ความสามารถ ความเสียสละ ความสมัครใจ แต่ผมมองเห็นว่าต้องทั้งชีวิตแหละ เป็นผู้มอบกายถวายชีวิตแก่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้วง่ายสะดวกที่จะเป็นธรรมทายาท หวังว่าจะได้พินิจพิจารณาดูให้เห็นคุณค่าของความเป็นธรรมทายาทแล้ว การเสียสละก็จะเกิดขึ้นมาเองและมากมายและเพียงพอ ดังนั้นขอให้เพื่อนศาสนิกธรรมทายาททั้งหลาย จงได้มีความเข้าใจในเรื่องนี้ ใคร่ครวญทบทวนอยู่เป็นที่แจ่มแจ้ง แล้วประพฤติปฏิบัติให้ก้าวหน้าในกิจกรรมของธรรมทายาทนี้อยู่ทุกทิวาราตรีกาลเทอญ
(เสียงคนกล่าวพร้อมกัน) สาธุ