แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรม และเพื่อนสหธรรมมิกทั้งหลาย ในการบรรยายครั้งที่ ๓ นี้ จะบรรยายด้วยหัวข้อคำปณิธานข้อที่ ๓ คือการนำโลกออกมาเสียจากวัตถุนิยม ฟังดูมันก็ไม่น่าสนใจอะไร แต่ความจริงเป็นเรื่องที่จะต้องสนใจที่สุด คือสิ่งที่เรียกว่าวัตถุนิยมนั่นแหละคือตัวศัตรูอันร้ายกาจของมนุษย์ยิ่งกว่าสิ่งใด โดยเฉพาะในโลกยุคปัจจุบัน วัตถุนิยมกำลังครองโลก กำลังจับจิตจับใจของมนุษย์ทุกคนในโลก บีบบังคับให้ดิ้นรนไปในทางของความลุ่มหลงต่อวัตถุ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความเห็นแก่ตัว และส่งเสริมความเห็นแก่ตัวให้ยิ่งขึ้นไป โลกจึงเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ก็พอใจในรสของวัตถุ ลุ่มหลงยิ่งกว่าสิ่งใด จึงมีความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้นเท่ากับความลุ่มหลงในวัตถุ บางท่านบางคนอาจจะไม่เข้าใจคำว่าวัตถุนิยมก็ได้
ขอโอกาสพูดกันสักเล็กน้อยในเรื่องนี้ จะเปรียบเทียบด้วยอุปมาเพื่อให้เข้าใจง่าย เหมือนกับว่าลูกหนูตัวเล็กตัวหนึ่งมันมาบอกแม่ของมันว่า สัตว์ตัวหนึ่งมันน่าเกลียดน่าชังหน้าตาดุร้ายไม่กล้ามอง อีกสัตว์ตัวหนึ่งน่ารักน่าคบหาสมาคมเป็นเพื่อน สัตว์ที่ลูกหนูบอกแม่ว่าน่าเกลียดน่ากลัวที่สุดนั้นคือไก่ ไก่ที่มีหงอน ส่วนที่ลูกหนูบอกแม่ของมันว่าน่ารักที่สุดนั้นคือแมว เพราะแมวมันสวยมันน่ารัก นี่ลูกหนูมันมีความคิดอย่างนี้ มีความสำคัญอยู่ที่ว่ามันหลงกลับกัน เห็นยักษ์ร้ายเป็นสิ่งที่น่ารัก เห็นสิ่งที่ไม่มีอันตรายว่าเป็นยักษ์ร้าย คนเราในโลกนี้ก็จะเป็นเสียอย่างนี้ ไปหลงพอใจในรสอร่อยของวัตถุซึ่งมันจะกัดกินถึงหัวใจ ส่วนรสอร่อยของธรรมะทางจิตใจนั้น กลับเกลียด กลับกลัว นี่กลัวธรรมะ กลัวนิพพานเป็นต้น คนเหล่านี้ก็เหมือนกับลูกหนูตัวนั้น ไม่รู้จักว่าอะไรเป็นยักษ์ร้าย อะไรที่จะไม่มีอันตราย ขอให้แยกแยะกันดูให้ดีๆ ว่าวัตถุนิยมสวยงามน่ารัก ยั่วยวนชวนใจ แต่มันก็มีลักษณะเหมือนกับว่าแมว เมื่อพยายามจะเกี่ยวข้องกับหนู ส่วนความสุขทางจิตใจหรือทางธรรมนิยมนั่นน่ะ กลับเห็นเป็นของน่าเบื่อหน่าย มนุษย์เห็นเป็นของน่าเบื่อหน่าย น่าเกลียดน่ากลัวไปเสีย
บางคนก็พูดออกมาตรงๆ ว่าเกลียดความสงบ คือไม่สนุกสนาน ไม่ได้กระโดดโลดเต้น ไม่ชอบ นี่วัตถุนิยม มันมีอะไรอย่างนี้ มันมีความยั่วยวน มีลักษณะอาการที่จะแสดงออกมาอย่างยั่วยวน แล้วมันก็มีรสอร่อย ตรงกับความรู้สึกของคนปุถุชนทั่วๆไป คือตามธรรมชาติตามธรรมดา
แล้วมนุษย์เขาก็ปรับปรุงเรื่องของวัตถุนิยมนี้ให้มีอำนาจ มีอะไรมากยิ่งขึ้นทุกที อร่อยทางตาสวยงามก็ยิ่งขึ้นไปทุกที อร่อยทางหูมันก็ไพเราะยิ่งๆ ขึ้นไปทุกทีจนสุดเหวี่ยง อร่อยทางจมูกก็ทำกันจนถึงที่สุด อร่อยทางลิ้นโดยเฉพาะอาหารนี่ ก็ปรับปรุงกันจนถึงที่สุด อร่อยทางผิวกาย โผฏฐัพพะที่มาสัมผัสกับผิวหนังนี่ ก็ปรับปรุงกันทุกอย่างทุกประการให้มันมีความดึงดูดมากขึ้น นี่เรียกว่าทางวัตถุ ๕ ประการ ได้รับการปรับปรุงอยู่ทุกวันให้ยิ่งขึ้นไป ให้ยิ่งขึ้นไป ผู้ปรับปรุงนั้นน่ะเป็นผู้ฉลาด หารายได้ดี มันก็มีโอกาสที่จะปรับปรุงให้ยิ่งขึ้นไป ให้ยิ่งขึ้นไป ดูจะไม่มีจุดจบ นี่วัตถุนิยมกำลังมีบทบาทอยู่ในโลกนี้ในลักษณะอย่างนี้ คนก็หลงวัตถุ ก็ซื้อหาวัตถุ ชนิดที่ไม่จำเป็น ที่ไม่จำเป็น เอามาไว้เต็มบ้านเต็มเรือน ที่เกินความต้องการ อุตส่าห์กู้หนี้ยืมสินไปซื้อหาอุปกรณ์แห่งวัตถุนิยมนี่มา ให้มีความเอร็ดอร่อยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวกาย เป็นสิ่งที่ถ้าไม่มอง ก็ดูจะไม่มีความหมายอะไร ถ้าไปมองเข้าแล้ว มีมันความหมายมาก คือมันจะกัดกินมนุษย์ให้สิ้น สูญสิ้นความเป็นมนุษย์ มันจะไม่มีจิตใจอย่างมนุษย์ คือไม่ ไม่มีความสะอาด สว่าง สงบ เสียเลย
บูชาความเอร็ดอร่อยทางวัตถุ คือทางเนื้อทางหนังอย่างยิ่ง อย่างสูงสุดเหมือนกับว่าเป็นพระเจ้า ดูคนที่เล่าเรียนศึกษา มีความมุ่งหวังว่าจะมีรายได้สูง และก็ไปซื้อหาวัตถุที่บำรุงบำเรอความรู้สึกทางอายตนะนี้ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป แล้วก็ยั่วยวนแก่กันและกัน ประกวดประชันกันและกันให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เงินเดือนไม่พอใช้ จนกระทั่งต้องคดโกง ต้องทำคอร์รัปชั่นหลายอย่างหลายประการหลายๆ วิธี มันก็เต็มไปด้วยคอร์รัปชั่นในโลกนี้ ก็หาความสงบสุขไม่ได้ นี่วัตถุนิยมเป็นยักษ์ร้ายถึงกับทำลายโลกได้ ชนิดที่สมัครใจ คือมนุษย์สมัครจะวินาศด้วยความสมัครใจเพราะหลงเสน่ห์อย่างยิ่งของสิ่งที่เรียกว่าวัตถุนิยม
เมื่อหลงใหลทางวัตถุแล้วก็เห็นแก่ตน ซึ่งหมายถึงการเห็นแก่กิเลสของตน มันเป็นการให้เหยื่อแก่กิเลส ไม่ได้ให้เหยื่อแก่จิตใจที่บริสุทธิ์ จิตใจที่บริสุทธิ์นั้นไม่ต้องการกินเหยื่อหรอก ต้องการปัจจัยเล็กๆ น้อยๆ ตามสมควรก็อยู่ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องของกิเลสมันก็ต้องการเหยื่อๆ เหยื่อๆ และก็ยิ่งๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป ฉะนั้นความเอร็ดอร่อยทางวัตถุนั้นมันไปหล่อเลี้ยงกิเลส ไม่ใช่ไปหล่อเลี้ยงจิตใจ
แต่ว่ากิเลสนั่น มันก็เป็นสิ่งที่รู้สึกกันทางจิตใจ แต่มันยังแบ่งแยกออกได้ว่าเป็นส่วนจิตใจล้วนๆ หรือเป็นส่วนของกิเลสที่ห่อหุ้มจิตใจ เรามันไม่รู้จักแยกออกจากกัน มีตัวกูของกูเป็นผู้ที่จะเอร็ดอร่อยทางอายตนะเหล่านี้ให้ขีดสุด แล้วก็ลุ่มหลงพร้อมๆ กันทั้งโลก ไม่มีใครตักเตือน ไม่มีใครชักชวนว่าหยุดกันเสียบ้างเถิด หรือประหยัดลดหย่อนกันเสียบ้างเถิด มันไม่มี มันมีแต่จะช่วยสงเสริมให้ยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยกันทั้งนั้น มันจึงเต็มไปทั้งโลก ความเจริญก้าวหน้าของโลกในทางวิชาการ ก็ค้นคว้าแต่เรื่องวัตถุในการประดิษฐ์คิดค้นหรือผลิตขึ้นมา ก็เป็นแต่เรื่องของวัตถุ วัตถุจึงครองโลก
มันก็เป็นเรื่องที่ไม่รู้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่ใครจะรับผิดชอบ ถ้าจะให้พระเจ้ารับผิดชอบ ก็ไม่รู้ว่าพระเจ้าอยู่ที่ไหน แล้วคนเขาก็บูชาวัตถุยิ่งกว่าพระเจ้า เขาก็หันหลังให้พระเจ้า ฉะนั้นบทบัญญัติทางศาสนาก็เลยเป็นหมันไป ไม่มีใครเชื่อฟัง ไม่มีใครเหลียวแล ฝ่ายมารร้ายคือวัตถุนิยมก็ได้เปรียบ ก็เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปจนครองโลก นี่ดูกันสักนิดว่าการเจริญด้วยวัตถุนี่มันได้อะไรและมันเสียอะไร มันได้ความเพลิดเพลินอันหลอกลวงอย่างยิ่งมา แต่มันสูญเสียความสงบสุขอันแท้จริงไป มันแลกเปลี่ยนกันอย่างนี้ มันได้ความเพลิดเพลินอันหลอกลวงแสนจะหลอกลวง หลอกลวงถึงกับเป็นบ้าเป็นหลังไปนี่ได้มา แต่ความสงบเย็นแห่งจิตใจนั้นมันสูญเสียไปหมด ฉะนั้นโลกนี้มันก็ต้องร้อน ต้องระอุ ต้องร้อนและต้องลุกเป็นไฟ ไม่เป็นไฟอย่างไฟไหม้กระดาษอย่างนี้ แต่มันไฟที่ไหม้จิตใจให้ลึกซึ้งอยู่ภายในเป็นไฟทางจิตทางวิญญาณ นี่ดู ดูอำนาจของสิ่งที่เรียกว่าวัตถุ มันจุดไฟให้เกิดขึ้นในจิตในวิญญาณแล้วก็ร้อนระอุ
เราเคยสมมติคำ ๓ คำว่า กิน กาม เกียรติ
เรื่องกินก็เป็นเรื่องอร่อยทางลิ้น สำหรับกินเหยื่อไม่ใช่กินอาหาร ร่างกายตามธรรมชาตินั้นที่ไม่เกี่ยวกับกิเลสน่ะต้องการเพียงอาหารพอให้อยู่ได้ นี้ไม่ใช่กินเหยื่อ แต่กิเลสนั้นน่ะมันไม่กินอาหารอย่างนี้ มันต้องการจะกินเหยื่อ ต้องการได้เหยื่อที่กระตุ้นความรู้สึกของระบบประสาทอันรุนแรงน่ะ เรียกว่ามันกินเหยื่อ การกินมันจึงเป็นไปในทางส่งเสริมกิเลส
เรื่องกามนั่น มันกลายเป็นคนละเรื่องกันเสียแล้วกับการสืบพันธุ์โดยบริสุทธิ์ ธรรมชาติต้องการให้มีการสืบพันธุ์โดยบริสุทธิ์ ไม่ให้สูญพันธุ์ แต่มนุษย์ก็ไม่พอใจในเรื่องสืบพันธุ์บริสุทธิ์ต้องการเหยื่อล่อที่ธรรมชาติมันปะหน้าไว้ หลอกลวงให้เป็นค่าจ้าง คือความรู้สึกทางเพศที่เรียกว่ากาม ก็คิดในทางที่จะบริโภคกามให้ยิ่งๆ ขึ้นไป และก็รังเกียจการสืบพันธุ์ แต่ถึงอย่างนั้นส่วนมากก็ไม่พ้นไปจากการตกเป็นเหยื่อของกาม ได้รับโทษได้รับการตอบแทนในทางการสืบพันธุ์ ต้องจัดการคุมกำเนิดกันอยู่อย่างนี้
ทีนี้เรื่องเกียรติ เกียรตินั้นน่ะไม่ใช่เป็นเรื่องนามธรรมอันบริสุทธิ์ทางจิตทางวิญญาณ มันเป็นเครื่องมือที่เขาต้องการจะมีไว้สำหรับแสวงหาวัตถุ คนมีเกียรติโดยทั่วๆ ไป มันมีไว้เพื่อแสวงหาวัตถุ ไม่ใช่เป็นการได้ซึ่งชื่อเสียงอันบริสุทธิ์ เป็นเกียรติคุณอันบริสุทธิ์ แต่มันเกียรติที่จะมีใช้ในลักษณะเป็นอำนาจ ที่จะกวาดเอาวัตถุมาทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม นี่เราจึงมีปัญหามากเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ
ส่วนอีก ๓ อย่าง คือ ๓ ส. ได้แก่สะอาด สว่าง สงบ นี่มันตรงกันข้าม ไม่มีใครจะสนใจกันสักกี่คน เห็นเป็นความจืดชืดแห้งแล้งไม่มีรสชาติ แต่โดยเนื้อแท้แล้วมันเป็นความสงบสุขอันแท้จริง เรื่องกิน กาม เกียรติ มันก็เป็นสุขหลอกลวง คือเป็นสุขที่ทำให้เผาไหม้ เป็นสุก ก.ไก่ สะกด เผาจี่ปิ้งให้สุก เป็นความสุก ก.ไก่ สะกด ส่วนความสะอาด สว่าง สงบนั้นเป็นความสุขที่แท้จริง สงบเย็นเป็น ข.ไข่ สะกดที่ถูกต้อง เดี๋ยวนี้เราก็เอามาปนกันเสีย เอาความสุก ก.ไก่ สะกด สุกไหม้น่ะมาเป็นความสุข ข.ไข่ สะกด แล้วก็ยึดถือไว้ บูชาความสุขชนิดนี้กันอยู่ ดูให้ดีๆ มันสุขเย็น หรือมันสุกไหม้ให้แน่เอย ดูให้ดีๆ ว่ามันสุขเย็นหรือสุกไหม้ สุก ก.ไก่ สะกด หรือ สุข ข.ไข่ สะกด สุขอันเกิดมาจากวัตถุนิยมนี่มันสุกไหม้ ถ้าสุขที่เกิดมาจากธรรมนิยมนั่นน่ะเป็นสุขเย็น ซึ่งจะได้พูดกันโดยรายละเอียดต่อไป
ในการบรรยายครั้งแรกสุด ก็พูดถึงการเข้าถึงหัวใจแห่งศาสนาของตนๆ เมื่อเข้าถึงหัวใจแห่งศาสนาของตนๆ แล้ว ก็มีความเข้าใจกันได้ในระหว่างศาสนา นี้ปัญหามันเหลืออยู่ว่าทุกคนนี้กำลังเป็นทาสของวัตถุนิยม นี่จะทำอย่างไร มันไม่เข้าถึงหัวใจของศาสนา ก็เพราะมันหลงวัตถุนิยม มันทำความเข้าใจซึ่งกันและกันไม่ได้เพราะต่างคนต่างแย่งชิงวัตถุหรือผลรสอร่อยของวัตถุนิยม มันไม่อยากจะปรองดองปรึกษาหารืออะไรกัน มันทำความเข้าใจกันไม่ได้ จึงถือว่าแม้จะเข้าถึงหัวใจของศาสนาแล้ว ทำความเข้าใจกันได้ระหว่างศาสนาแล้ว ปัญหาก็ยังเหลืออยู่ แต่ว่าสมาชิกทุกคนในโลกมันเป็นทาสของวัตถุคือวัตถุนิยม มันจึงต้องจัดการกับปัญหานี้กันอีกทีหนึ่ง ฉะนั้นขอให้ดูให้ดีเถิด การเผยแผ่ธรรมะประกาศพระศาสนาไม่สำเร็จ เป็นไปได้โดยยากเย็นนั้น อะไรเป็นอุปสรรคกีดขวาง มองผิวเผินก็เห็นเป็นอันอื่น แต่ถ้ามองลึกซึ้งแล้วก็จะเห็นว่าลัทธิวัตถุนิยมในโลกนี่มันเป็นข้าศึก เพราะตัวเองมันก็เป็นข้าศึกกับธรรมะอยู่แล้ว มันยึดจิตใจของคนส่วนใหญ่ในโลกไว้ มันก็ไม่สนใจในเรื่องของธรรมะ ฉะนั้นถ้าว่าฆ่ายักษ์ตัวนี้ไม่ได้ โลกนี้ก็จะต้องทนอยู่ในความทุกข์ทรมานยิ่งๆ ขึ้นไปหรือไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าว่านำโลกออกมาเสียได้จากอำนาจของวัตถุนิยมนั่นแหละ มันจึงจะมีความสงบสุข แต่เดี๋ยวนี้มันเป็นไปไม่ได้ในข้อที่ว่าวัตถุนิยมมันมีเสน่ห์มากกว่า มันจับใจคนมากกว่า มันยึดจิตใจของคนไว้หมด ทำให้โลกนี้หลงติดอยู่ในความเอร็ดอร่อยของวัตถุ ผู้ที่จะเผยแผ่ธรรมะหรือพระศาสนาจะต้องมองถึงปัญหาข้อนี้ให้เป็นอย่างยิ่ง คือมันเป็นอุปสรรคอย่างแรงร้ายและแท้จริงของสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ของการเผยแผ่ธรรมะ ของความหวังที่ว่าเราจะอยู่เย็นเป็นสุขด้วยการมีธรรมะ จึงขอฝากไว้ให้พิจารณาสำหรับผู้ที่จะเผยแผ่ธรรมะ คือพวกธรรมทายาทก็ดี พวกธรรมทูตก็ดีอะไรที่มีหน้าที่เผยแผ่ธรรมะ จะต้องดูให้เห็นว่าอะไรเป็นอุปสรรค ทีนี้ท่านทั้งหลายซึ่งเป็นผู้รับการเผยแผ่มันก็ต้องดูตัวเองให้ดีว่าทำไมจิตใจของเราจึงไม่ชอบธรรมะ เพราะว่าเราหลงอยู่ในเสน่ห์อันใหญ่หลวงของวัตถุนิยม ทั้งๆ ที่ปากมันก็พูดไปเหมือนกับว่าไม่ต้องการ ครั้งหนึ่งเคยสอบถามคน คนๆ หนึ่งว่าอยากไปนิพพานไหม เขาตอบทันทีอยากไปอย่างยิ่ง อยากได้อย่างยิ่ง อยากไปอย่างยิ่ง แต่พอบอกว่าในนิพพานนั้นไม่มีรำวงนะ ก็เลยสั่นหัวดิก ไม่เอา ไม่เอา เพราะว่าเขาเป็นผู้ชอบรำวง พอบอกว่าในนิพพานไม่มีรำวง ก็ไม่ประสงค์นิพพาน ก่อนหน้านี้ก็หวังจะได้นิพพาน คงจะด้วยความคิดว่าในเมืองนิพพานนั้น จะมีรำวงที่สนุกสนานยิ่งกว่าที่นี่อีก นี่ผู้ชอบรำวงคนนี้มันจึงอยากจะไปนิพพาน บอกว่าอยากไปนิพพาน นั่นแหละดูให้ดีเถิดว่ามันมีลักษณะอย่างนี้อยู่ด้วยกันแทบจะทุกคนก็ว่าได้ ปากว่าอยากไปนิพพาน พอเขาบอกว่าในนิพพานไม่มีรสอร่อยอย่างนี้นะ อย่างรสอร่อยของวัตถุอย่างนี้นะ มันก็สั่นหัวอีกนั่นแหละ นี่ดูให้ดีว่าวัตถุนิยมนี่ มันยึดโลกทั้งโลกไว้ สัตว์โลกทั้งหมดไว้ในลักษณะอย่างไร เราจะปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนี้เป็นไปจนตายหรือว่าจะช่วยกันแก้ไข ช่วยดึงออกมาเสียจากอำนาจของวัตถุนิยม อาตมาเห็นเป็นความจำเป็นที่ว่าจะต้องยึดมนุษย์ไว้ให้ได้ ไม่ให้ตกเป็นทาสของวัตถุนิยม จึงได้มุ่งมั่นบากบั่นในการเผยแผ่ธรรมนิยม
เอ้า,ก็ถือโอกาสพูดถึงคำว่าธรรมนิยมไปเสียเลยว่า เรื่องวัตถุนิยมน่ะ มันเป็นคู่กันกับจิตตนิยม มันตรงกันข้ามกันอยู่ แต่ว่าถ้าจะหลงใหลในเรื่องจิตตนิยม มันก็จะไปติดรสอะไรบางอย่างคล้ายๆ กันอีก เป็นสุดโต่งฝ่ายจิต มันก็ร้ายพอๆ กับสุดโต่งฝ่ายวัตถุ มันต้องอยู่ตรงกลางระหว่างจิตกับวัตถุ หรือว่าครอบงำทั้งจิตและวัตถุ ควบคุมได้ทั้งทางวัตถุ และทั้งทางจิต เป็นความถูกต้องทั้งสองทาง คือพอดีทั้งสองทาง คือทั้งทางวัตถุและทางจิต ความถูกต้องอย่างนี้เราเรียกว่าธรรมะหรือธรรมนิยม อย่าเข้าใจไปว่าหลีกจากวัตถุนิยมแล้วก็จะต้องไปติดกับจิตตนิยม มันก็ไม่ได้ มันเหวี่ยงซ้ายเหวี่ยงขวาสุดโต่งด้วยกันทั้งนั้น มันต้องถูกต้องอยู่ตรงกลาง และก็เรียกว่าธรรมนิยม คำว่าธรรมะ ธรรมะนี้ มีความสำคัญที่จะต้องเข้าใจให้ดีๆ ให้ถูกต้องเพียงพอที่จะระงับความเข้าใจผิดทั้งหมดทั้งสิ้นได้ เดี๋ยวนี้มันเป็นธรรมนิยมไม่ได้ เพราะว่าวัตถุนิยมนั้นมันดึงดูดไปหมดสิ้น จิตตนิยมแท้ๆ มันก็ไม่มีการดึงดูดคนทั่วไปเหมือนวัตถุนิยม มันดึงดูดได้เฉพาะบางคนหรือบางพวกที่หลงใหลในเรื่องจิต นั้นมันยังเป็นส่วนน้อย ถ้าดึงดูดไปได้มันก็ไปเป็นฤาษี มุนี ชีไพร อยู่ในป่าในดงไม่เป็นปัญหาแก่บ้านแก่เมืองอะไร เดี๋ยวนี้ที่มันกำลังเป็นปัญหาอยู่ในบ้านในเมืองนี้เป็นเรื่องของวัตถุนิยมทั้งนั้น ถ้ามันสุดโต่งไปอยู่แต่ในป่าเป็นจิตตนิยม มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรเหมือนกัน มันจะต้องรู้จักทำชีวิตนี้ให้มีประโยชน์ ชีวิตนี้มันประกอบอยู่ด้วยสิ่งทั้งสอง คือประกอบอยู่ด้วยวัตถุคือร่างกาย แล้วก็ประกอบอยู่ด้วยจิตคือจิตใจ มันมีทั้งทางวัตถุและทางจิตประกอบกันอยู่เป็นชีวิต นี่จะต้องพิจารณาดูกันต่อไปดีๆ ว่ามันจะต้องมีความถูกต้องทั้งสองทางคือทั้งทางวัตถุและทางจิต เป็นธรรมนิยมขึ้นมา เดี๋ยวนี้เรามาพิจารณาเรื่องวัตถุนิยมโดยเฉพาะในฐานะเป็นศัตรูอันร้ายกาจ และท่านทั้งหลายที่ไม่เคยทราบความหมายของคำๆ นี้ ยังไม่เข้าใจคำๆ นี้ ก็จะได้เข้าใจ เพราะว่าคำว่าวัตถุนิยมๆ นี้ มันก็มีความหมายหลายแง่หลายมุมหรือหลายลักษณะ ความหมายแรกที่สุด วัตถุนิยมก็คือลุ่มหลงรสอร่อยของวัตถุ บูชารสอร่อยของวัตถุ เพราะมันง่าย เด็กๆ คลอดออกมาจากท้องมารดา มันก็ง่ายที่สุดที่จะติดในรสของวัตถุ นับตั้งแต่น้ำนมของมารดาเป็นต้นมา จนของกินของอร่อยต่างๆ เป็นไปได้เอง ไม่ต้องมีใครสอน ไม่ต้องให้ใครส่งเสริม มันก็ยังเป็นไปเองได้ มันมีวัตถุนิยมรอคอยที่จะจับตัวทารกที่คลอดมาจากท้องแม่ในภายในไม่กี่วัน มันก็มีอำนาจครอบงำจิตใจเด็กๆ เหล่านั้น เติบโตขึ้นมาด้วยความลุ่มหลงในทางวัตถุ แล้วเมื่อเจริญเติบโตขึ้น อายตนะ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีสมรรถภาพสูงขึ้น ก็มันชวนให้ลุ่มหลงรสอร่อยทางวัตถุลึกลงไปอีกทุกๆ ทาง นี่เสร็จมัน ยักษ์วัตถุนิยมเอาตัวไปได้คือไปบูชารสอร่อยของวัตถุ นี่ก็เรียกว่าวัตถุนิยม เราแม้ไม่ถึงขั้นนั้นน่ะ มันก็พอใจในความสะดวกสบายทำนองนั้น แม้ไม่ถึงขนาดเป็นลึกซึ้งถึงกามารมณ์อันเหนียวแน่น แต่เพียงแต่ความสะดวกสบายในทางวัตถุ มันก็ชวนให้เป็นวัตถุนิยม ต้องการจะบำรุงบำเรอ บำรุงบำเรอด้วยวัตถุให้มีความสะดวกสบายเพียงเท่านั้นแหละ มันก็ทำให้คนเป็นวัตถุนิยมได้ ไม่ต้องถึงกับเป็นเรื่องกามารมณ์อันลึกซึ้ง รวมกันเข้าทั้งสองอย่างมันก็เลยมนุษย์ส่วนใหญ่ก็ตกอยู่ใต้อำนาจของวัตถุนิยม พวกหนึ่งลึกลงไปถึงรสอร่อยทางกามารมณ์ ก็เป็นวัตถุนิยม พวกหนึ่งเอาเพียงแค่ความสะดวกสบายทางกาย เพียงมีห้องปรับอากาศหรือมีรถราอะไรที่มันสะดวกสบาย แล้วก็พอใจหลงใหล อันนี้ก็ยังเป็นวัตถุนิยม ทีนี้มันก็รู้จักแต่ความงามทางวัตถุ ไม่รู้จักความงามในทางจิตใจ รู้จักค่านิยมแต่ในทางวัตถุ ไม่รู้จักค่านิยมในทางจิตใจ นี่รู้จักความงามและค่านิยมกันแต่ในทางวัตถุ ความงามทางจิตใจนั้น ไม่รู้จักและจะฟังไม่ถูก เช่นคำว่าธรรมะมีความงดงามในเบื้องต้น มีความงดงามในท่ามกลาง มีความงดงามในเบื้องปลาย นี่พวกเหล่านี้ฟังไม่ถูก อย่าว่าแต่ชาวบ้านญาติโยม แม้แต่พระเณรที่อยู่ในวัดมันก็ยังฟังไม่ถูก ว่าธรรมะมีความงดงามในเบื้องต้น ในท่ามกลาง และในเบื้องปลายอย่างไร เพราะมันก็มีจิตใจรู้จักแต่เรื่องทางวัตถุและความสะดวกสบายทางวัตถุ จึงไม่พอใจและหลงรักในธรรมะแม้จะมีความงดงามอย่างยิ่ง ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านทรงยืนยันไว้เองว่าธรรมะนี้มันมีความงดงามทั้งเบื้องต้น ท่ามกลางและเบื้องปลาย ซึ่งสวดกันอยู่ทุกวันนั่นแหละ อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ พระพุทธองค์ทรงกำชับว่าเธอทั้งหลายจงเผยแผ่ธรรมะประกาศธรรมะให้มีความงดงามทั้งเบื้องต้นทั้งท่ามกลางและเบื้องปลาย เดี๋ยวนี้ธรรมทูต ธรรมทายาทของเรา รู้จักความงามของธรรมะเบื้องต้นท่ามกลางเบื้องปลายหรือเปล่า ถ้าไม่รู้ มันก็ไม่รู้จะไปเผยแผ่ธรรมะให้มีความงามทั้งเบื้องต้นท่ามกลางและเบื้องปลายได้อย่างไรนี่ รสนิยมหรือค่านิยมมันยังไกลกันอย่างนี้ ก็เดี๋ยวนี้มันก็รู้จักความงามและค่านิยมกันแต่ในทางวัตถุ ภาวะอย่างนี้ก็เรียกว่าวัตถุนิยม
ทีนี้มาถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ การตรากฎเกณฑ์ บัญญัติกฎเกณฑ์ บันทึกประวัติทำอะไรที่เป็นหลักฐานเป็นเรื่องเป็นราวนี่ มันก็บันทึกกันได้แต่ทางวัตถุ เพราะมันไม่รู้เรื่องทางจิตใจ ฉะนั้นตำรับตำราอันมหาศาลกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่บัญญัติสร้างกันขึ้นมา มันก็เป็นเรื่องทางวัตถุไปหมด แล้วก็หลงว่านี่หมดแล้ว สูงสุดกันเท่านี้ ไม่มีเรื่องอะไรนอกไปจากนี้ นี่การบันทึกประวัติศาสตร์นั้นน่าหัวเราะที่สุด มันก็บันทึกกันได้แต่เรื่องทางวัตถุหรือแสดงออกมาทางวัตถุ ทางจิตใจมันไม่มีเลย ทีนี้ที่ว่าจะเป็นนักปราชญ์ จะบัญญัติความจริงของธรรมชาติเรื่องนั้นเรื่องนี้ มันก็บัญญัติได้แต่เพียงเรื่องทางวัตถุที่ผิวเผิน ไม่รู้และไม่ได้บัญญัติลึกซึ้งถึงกับเป็นเรื่องทางจิตหรือทางธรรมะ และก็ยึดหลักอันนี้ที่บัญญัติขึ้นมาอย่างหลับตา มีวัตถุเป็นหลักนี่ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นคัมภีร์ เป็นตำรับตำราอะไรที่ถูกต้อง ก็ยึดเป็นหลัก มันก็เป็นวัตถุนิยมหนักขึ้นไปอีก จนกระทั่งในที่สุดมีทิฏฐิ ความคิดความเห็นความเชื่ออันแน่นเฟ้นว่าวัตถุเป็นเครื่องนำจิต ตามหลักที่เรียกว่า มาทิเรียล/ไดอะเลกติก มาทิเรียลลิซึ่ม น่ะ/ ไดอะเลกติก มาทิเรียลลิซึ่ม (dialectical materialism) ลัทธิวัตถุนิยมที่ถึงพร้อมด้วยเหตุผลที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าวัตถุนั้นนำจิต ก็อย่างที่พวกคอมมิวนิสต์เขาถือเป็นหลักกันใหญ่น่ะ ว่าถ้าวัตถุดีแล้ว ก็ดีหมดแหละ อะไรก็ดีหมดแหละ เพราะว่าวัตถุมันจะนำจิตใจให้ดี ฟังดูสิ ถ้าวัตถุดีแล้วมันจะนำจิตใจให้ดี เดี๋ยวนี้เราก็เห็นๆ กันอยู่แล้วไม่ใช่หรือว่าวัตถุน่ะมันนำจิตให้จมปลักน่ะ ให้มันตกจมอยู่ในวัตถุ ในปลักหนองของวัตถุ วัตถุนำจิตมันนำไปอย่างนั้น พวกนั้นเขาอ้างว่าวิวัฒนาการทั้งหลายในสากลจักรวาลนี้ วัตถุนำจิต วัตถุดีแล้วจิตดี นี่มันฝืนหลักธรรมชาติ มันหลอก หลอกลวงอย่างยิ่ง วัตถุจะเป็นเครื่องนำจิต มันก็เป็นเรื่องที่เหลือเกินน่ะ แต่เขาก็ยังหาเหตุผลมาพิสูจน์กันได้จนให้ทุกคนลุ่มหลงมีความเชื่ออย่างนั้น แล้วมาร่วมแรงและร่วมกำลังระดมกันพัฒนาวัตถุเป็นการใหญ่ แล้วเราก็จะครองโลก คอมมิวนิสต์จึงคิดจะครองโลกด้วยการพัฒนาทางวัตถุ
ส่วนหลักธรรมะนั้น ไม่เป็นอย่างนั้น มันตรงกันข้าม มันมองเห็นข้อเท็จจริงหรือความจริงว่าจิตมันนำวัตถุ ไม่ใช่วัตถุนำจิต ความคิดนึกเป็นไปก่อนแล้ววัตถุจึงจะเกิดขึ้นและเป็นไปตาม ในร่างกายของเรานี้ มีจิตเป็นเครื่องนำให้ร่างกายเจริญงอกงามออกมายิ่งขึ้น เมื่อร่างกายเจริญงอกงามแล้ว มันก็ส่งเสริมจิต จริงเหมือนกัน ในร่างกายที่ดีที่สบายที่มีอนามัยสุขภาพดี จิตมันก็ดี นี่ก็จริงเหมือนกัน แต่ถ้าจะถามว่าอะไรเป็นเครื่องนำอะไรกันแล้วก็ดูให้ดีๆ ว่าวัตถุนำจิตหรือว่าจิตนำวัตถุ ตามหลักพระพุทธศาสนา เราถือว่าจิตนำวัตถุ ต้องทำจิตให้ถูกต้อง แล้วทางกายหรือทางวัตถุก็จะพลอยถูกต้องไปตาม ข้อนี้มันน่าจะเห็นกันได้ง่ายๆนะ ถ้าเราอย่าไปหลงการหลอกของพวกวัตถุนิยม แล้วเราก็จะเห็นได้ว่าจิตมันนำวัตถุ เราจึงพัฒนาจิตให้มันถูกต้อง แล้ววัตถุหรือร่างกายนี้มันก็จะถูกต้องเป็นไปตาม ดังนั้นความเชื่อ ความคิด ความเห็นที่เชื่อว่าวัตถุนำจิตนั่นแหละคือวัตถุนิยม นี้ก็เป็นลักษณะหนึ่งของวัตถุนิยม พวกนี้พวกที่นิยมวัตถุนี้เขาเชื่อกันว่าถ้าเราทำการพัฒนาทำให้เจริญนั้น การพัฒนาหรือทำให้เจริญนั้น มันขึ้นอยู่กับวัตถุ เลยมุ่งแต่จะพัฒนาหรือให้เจริญทางวัตถุ ซึ่งมันก็มีผลมหาศาลออกมาเป็นที่พอใจมากมายได้เหมือนกัน แต่มันเสียสมดุลในการที่ว่าจิตจะนำวัตถุ มันไม่สมดุล มันก็ถูกให้วัตถุนำไป เฮๆ เฮๆ กันไปในทางวัตถุ ฉะนั้นการที่ถือว่าความเจริญหรือการพัฒนาขึ้นอยู่กับวัตถุนั้นแหละคือวัตถุนิยม เป็นความคิดที่เป็นวัตถุนิยม ฉะนั้นการพัฒนาวัตถุจนท่วมโลก พัฒนากันจนโลกเป็นทาสของวัตถุนิยม นั่นแหละคือวัตถุนิยม แล้วเขาก็บูชาวัตถุนิยมว่าเป็นลัทธิที่จะช่วยให้รอดได้ ก็บูชาวัตถุนิยมเป็นสิ่งสูงสุด นับตั้งแต่บูชาความเอร็ดอร่อยทางกามารมณ์ทางวัตถุเป็นพระเจ้า หรือยึดถือเอากฎเกณฑ์บัญญัติทั้งหลายที่บัญญัติไว้โดยอาศัยหลักทางวัตถุเป็นพระเจ้า การมีวัตถุเป็นพระเจ้านั่นแหละคือลัทธิวัตถุนิยม วัตถุเป็นสิ่งสูงสุด จึงมีการจมอยู่ในความหลอกลวงของวัตถุอย่างหลับหูหลับตา พัฒนาวัตถุจนเป็นทาสของวัตถุ ระวังให้ดีๆ ผู้ที่ชอบวัตถุและพัฒนาทางวัตถุนั้น อย่าให้มันไปถึงขนาดว่าพัฒนาจนตัวเองตกเป็นทาสของวัตถุ นี่พุทธบริษัทจะต้องระมัดระวัง มิฉะนั้นจะสูญเสียศักดิ์ศรีของความเป็นพุทธบริษัทจนหมดสิ้น นี่ลักษณะดังที่กล่าวมานี้เรียกว่าวัตถุนิยม คือบูชาความเอร็ดอร่อยจากวัตถุ เห็นวัตถุเป็นสิ่งสำคัญจะเป็นเครื่องนำจิต พัฒนาจิตก็คือพัฒนาทั้งหมด แล้วก็บูชาวัตถุหรือกฎเกณฑ์ทางวัตถุเป็นพระเจ้า นี่มันมีลักษณะหลายๆ ลักษณะอย่างนี้ รวมความแล้วก็คือวัตถุเป็นใหญ่ วัตถุเป็นหลัก วัตถุเป็นความจริง เอาจิตเป็นเรื่องเหลวไหลหลอกลวง เป็นเพียงปฏิกิริยาทางวัตถุ วิทยาศาสตร์ก็มีส่วนช่วยให้เกิดความคิดเช่นนั้น พลังงานนี่มันเป็นผลออกมาจากสสาร และก็เลยว่าสสารนั่นแหละทำให้เกิดพลังงาน ให้กายนี้แหละให้เกิดจิตหรือพลังของจิต ทางวิทยาศาสตร์มันก็ชวนให้คิดอย่างนั้น ชวนให้เชื่ออย่างนั้น มันก็เลยเกิดความยุ่งยากลำบากแก่พวกที่จะชี้แจงว่าจิตนี้มันนำวัตถุ เมื่อเรารู้จักลักษณะของสิ่งที่เรียกว่าวัตถุนิยมๆ กันทุกๆ ลักษณะแล้ว ก็จะได้พิจารณากันต่อไปถึงข้อที่จะต้องทราบ จะต้องรู้ จะต้องเข้าใจโดยประจักษ์ ซึ่งจะช่วยสามารถแก้ปัญหาอันนี้ได้ คือแก้ปัญหาในการที่ว่าโลกมันตกเป็นทาสของวัตถุ จมปลักอยู่ในวัตถุนี้ จะแก้กันอย่างไร ก็ควรจะมีสิ่งซึ่งควรจะสนใจ หรือมันจะเป็นไปได้ในทางที่จะแก้ปัญหานี้ ก็เริ่มศึกษากันเสียใหม่ให้ถูกต้องว่าชีวิตๆ นี้มันประกอบขึ้นด้วยวัตถุและจิต เรียกเป็นภาษาธรรมะในทางศาสนาก็ว่านามและรูป หรือรูปและนาม ชีวิตไม่ได้เป็นรูปอย่างเดียว ไม่ได้เป็นนามอย่างเดียว ชีวิตประกอบขึ้นด้วยของ ๒ อย่างคือวัตถุและจิต หรือรูปและนาม ดังนั้นมันต้องจัดการให้ถูกต้องทั้งเรื่องของรูปก็คือวัตถุ และเรื่องของจิต ถ้าไปยึดแต่วัตถุฝ่ายเดียวมันก็ผิดหมด มันก็ผิดหมดจนหกคะเมนไปเลย นี่ให้รู้เสียก่อนว่าชีวิตนี้ประกอบขึ้นด้วยวัตถุและจิต ฉะนั้นต้องมีความถูกต้องทั้งสองเรื่อง และแม้ว่าจะดูโลก โลกในความหมายรวมกันหมดทั้งโลกไม่แยกเป็นชีวิต มันก็ยังเห็นได้ว่าโลกนี้มันก็ประกอบอยู่ด้วยวัตถุและจิต สองอย่างอีกนั่นเอง มันก็จะยิ่งเห็นได้ง่ายว่าจิตนั่นน่ะนำวัตถุ หรือวิวัฒนาการของโลกดำเนินไปในลักษณะที่ว่าจิตมันนำวัตถุ มนุษย์คนหนึ่งก็ดีหรือว่าโลกทั้งสากลจักรวาลก็ดี มันประกอบอยู่ด้วยสิ่ง ๒ อย่างคือวัตถุและจิต เราจะต้องมีความรู้ถูกต้องทั้ง๒ เรื่อง
ทีนี้ก็มารู้จักให้ลึกลงไปอีกว่า จะเป็นวัตถุก็ดี เป็นจิตก็ดี มันเป็นเพียงสักว่าธาตุตามธรรมชาติ คำสอนอย่างนี้ดูจะมีแต่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้นแหละ ที่ว่าไม่มีอะไรที่มิใช่ธาตุ มันเป็นธาตุทั้งนั้นแหละ ฝ่ายรูปธรรมก็เป็นธาตุ ฝ่ายนามธรรมก็เป็นธาตุ ตลอดถึงปฏิกิริยาต่างๆ มันก็เป็นธาตุ ความสุขก็เป็นธาตุ ความทุกข์ก็เป็นธาตุ ไม่มีอะไรที่มิใช่ธาตุ จนกระทั่งถึงพระนิพพานก็เป็นธาตุตามธรรมชาติ หากแต่ว่ามันเป็นธาตุชนิดที่เป็นอสังขตะ คือไม่ต้องมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง หรืออะไรปรุงแต่งไม่ได้ มันเป็นธาตุอิสระอย่างนั้น แต่ถึงอย่างนั้นมันก็เป็นธาตุตามธรรมชาติ ส่วนสิ่งอื่นๆ นอกไปจากพระนิพพานนั้น ก็เป็นสังขารปรุงแต่ง มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง มันก็ยังเป็นธาตุตามธรรมชาติ แต่ว่าเป็นฝ่ายสังขตะ คือมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง คำว่าทุกอย่างเป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาตินี่ ดูจะไม่มีในลัทธิศาสนาอื่น ดูจะมีแต่ในพุทธศาสนา เท่าที่เคยศึกษาสังเกตมา มันพบว่ามีแต่การบัญญัติสั่งสอนอยู่ในพุทธศาสนาว่า ทุกอย่าง แต่ละอย่าง เป็นเพียงสักว่าธาตุตามธรรมชาติ จะเป็นสังขตะหรืออสังขตะก็ดี จะเป็นสังขารหรือเป็นวิสังขารคือนิพพานก็ดี มันก็เป็นสักแต่ว่าธาตุตามธรรมชาติ นี่เราก็ไม่ลุ่มหลงวัตถุเกินไป ไม่ลุ่มหลงจิตเกินไป เพราะทั้งสองอย่างมันเป็นเพียงสักว่าธาตุตามธรรมชาติ แล้วก็เห็นความเป็นเช่นนั้นเองของธาตุเหล่านี้อย่างถูกต้อง ว่าพวกที่เป็นสังขตธาตุ ก็ล้มลุกคลุกคลานไปตามเหตุตามปัจจัยที่ปรุงแต่ง ส่วนที่เป็นอสังขตธาตุ มันก็ไม่ล้มลุกคลุกคลานอะไร คงที่แน่นอนเที่ยงแท้เป็นนิรันดร นี่มันก็เป็นธาตุธรรมชาติ ไม่เห็นเป็นตัวเป็นตนที่จะเอามายึดมั่นถือมั่น เห็นเป็นธาตุตามธรรมชาติ นี้เรียกว่ารู้ลึกถึงที่สุดของเรื่องที่จะต้องรู้ สำหรับเรื่องที่เรียกกันว่าวัตถุและจิต ยังรู้ไปถึงเรื่องที่ ๓ ซึ่งไม่ใช่วัตถุและจิตคือพระนิพพาน เรื่องวัตถุและจิตนี่ เป็นสังขารปรุงแต่งๆ กันอยู่ในวงนี้ ในขอบเขตอันนี้ ส่วนพระนิพพานนั้นน่ะไม่อยู่ในวงนี้ ไม่อยู่ในขอบเขตอันนี้ เพราะอยู่เหนือการปรุงแต่ง ไม่ปรุงแต่งสิ่งใดและไม่ถูกสิ่งใดปรุงแต่ง ไม่มีอาการแห่งการปรุงแต่ง นั้นเป็นนิพพาน เราเลยรู้มากกว่าที่พวกนั้นที่มันรู้ ซึ่งมันรู้เพียงแต่เรื่องจิต เรื่องกายและเรื่องจิต นี่ยังรู้ถึงเรื่องนิพพานที่สูงไปกว่า นี่จะเป็นเครื่องยุติหรือดับเสียซึ่งเสน่ห์ของกายและของจิต ถ้าเรารู้ขึ้นมาถึงขนาดนี้มันง่ายนะที่จะรู้วิธีที่จะกำจัดฤทธิ์เดชของวัตถุนิยม ถ้าเรารู้เพียงด้านเดียว คือรู้แต่จิตด้านเดียวหรือวัตถุด้านเดียว มันก็ไม่สมดุล เป็นความรู้ที่ไม่สมดุล ไม่มีรากฐานที่สมดุล มันก็ไม่รู้อย่างแท้จริงและอย่างถูกต้องได้ เพราะมันเป็นความรู้ที่บกพร่องหรือมันไม่สมดุลคือไม่รู้วัตถุ เรื่องวัตถุอย่างเพียงพอ ไม่รู้เรื่องของจิตอย่างเพียงพอ และไม่รู้เรื่องที่เหนือความเป็นวัตถุและจิตอย่างเพียงพอ มันก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงธรรมสัจจะแห่งความหลุดพ้น ธรรมสัจจะแห่งความรอด ธรรมสัจจะแห่งความหลุดพ้น มันมาจากความรู้ที่รู้อย่างถูกต้องครบถ้วนทั้งเรื่องวัตถุและเรื่องจิต และเรื่องที่เหนือไปกว่านั้นคือมิใช่วัตถุ และมิใช่จิตคือเรื่องของพระนิพพาน
ศึกษากันมาถึงขั้นนี้ มันก็รู้หมดสำหรับที่จะแก้ปัญหายุ่งยากของเรื่องทางวัตถุ เมื่อเอาความรู้อันถูกต้องของเรื่องวัตถุของและของเรื่องจิตมารวมกันเข้า มันก็เป็นเรื่องของธรรมะหรือธรรมนิยม ธรรมนิยมจึงเป็นเรื่องความถูกต้องของทั้งสองฝ่าย คือทั้งฝ่ายจิตและฝ่ายวัตถุ แล้วก็เป็นเหตุให้รู้จักสิ่งที่ตรงกันข้ามคือมิใช่จิตและมิใช่วัตถุ คือเรื่องของวิสังขารหรืออสังขตะ ซึ่งไม่มีอะไรจะปรุงแต่งได้ นี่มันก็เลยวัตถุ เลยจิตขึ้นไป การรู้เพียงด้านเดียว เพียงเรื่องเดียวแม้จะรู้กันสักเท่าไหร่ๆ เท่าไหร่ๆ มันก็ไม่ทำอะไรให้ถูกต้องได้เพราะมันรู้ซีกเดียว จะรู้เรื่องของวัตถุนี่ยิ่งกว่านี้มันก็แก้ปัญหาไปได้ แต่ว่าแน่นอน มันอาจจะผลิตหรือประดิษฐ์สิ่งที่เป็นวัตถุออกมาอย่างน่าประหลาดอย่างน่ามหัศจรรย์อย่างยิ่ง ยิ่งขึ้นไปทุกที อย่างเดี๋ยวนี้มันมีอะไรเกิดขึ้นมาใหม่ๆ ตั้งแต่เรื่องอวกาศเรื่องปรมาณู กระทั่งเรื่องคอมพิวเตอร์ อะไรๆ ที่อาศัยระบบอันลึกซึ้งนั่น มันก็ออกมาๆ และมันยังจะออกมาอีก ซึ่งก็น่าอัศจรรย์ยิ่งกว่านั้น แต่มันก็เป็นเรื่องทางวัตถุอยู่นั่นเอง และก็เป็นความรู้ซีกเดียวหรือครึ่งเดียวอยู่นั่นเอง มันไม่สามารถจะแก้ปัญหา นี่เราจะต้องมีความรู้ครบถ้วนทั้งสองซีกของวงกลม แล้วก็รู้เรื่องที่อยู่นอกวงกลมเหล่านั้นด้วย รวมความว่ารู้เรื่องทางวัตถุดี รู้เรื่องทางจิตดี และก็รู้เรื่องที่เหนือไปกว่าวัตถุและจิต เป็นระบบธรรมะที่จะใช้เป็นหลักวิชาอันสมบูรณ์ ในการที่จะทำจิตให้หายโง่ ทำจิตให้อยู่เหนือความหลอกลวงหรือเสน่ห์อันร้ายกาจของวัตถุ นี่เราจะต้องสนใจสิ่งที่เรียกว่าธรรมะๆ คือความถูกต้องของวัตถุและจิต ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงโดยเฉพาะที่จะต้องปฏิบัติให้ได้ยิ่งๆ ขึ้นไปจนเป็นปกติ มีชีวิตเป็นธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิต เพราะปฏิบัติถูกต้องทั้งระบบกายและระบบจิต คือถูกต้องทั้งฝ่ายวัตถุและทั้งฝ่ายธรรม
ฉะนั้นขอให้รู้หรือยอมรับรู้ไว้ด้วยว่า คำว่าธรรม ธรรมะนั้น มันคือความถูกต้อง ทั้งฝ่ายระบบวัตถุและฝ่ายระบบจิต และยิ่งขึ้นไปกว่าระบบวัตถุหรือระบบจิต มันเป็นความถูกต้องทั้งหมดทั้งสิ้น แล้วปัญหาอะไรมันจะเกิดได้เพราะมันรอบรู้กันถึงขนาดนี้ นี่เราจะแก้ปัญหาได้ก็ด้วยการมีธรรมะนั่นแหละเป็นตัวชีวิต อย่าให้เพียงแต่ว่าวัตถุเป็นตัวชีวิตหรือจิตเป็นตัวชีวิต ให้มันมีธรรมะคือความถูกต้องของสิ่งทั้งสองนั้น รวมไปทั้งสิ่งที่อยู่เหนือสิ่งทั้งสองนั้น มารวมกันเป็นธรรมะ มาเป็นหลักเกณฑ์ มาเป็นระบบให้ชีวิตนี้มันดำเนินอยู่ เลยเกิดคำขึ้นมาอีกคำหนึ่งว่าธรรมชีวี นี่ใช้คำบาลีว่าธรรมชีวี หรือใช้สันสฤตว่าธรรมชีวิน อะไรก็ได้ แต่ขอให้มันมีความหมายว่ามีธรรมะเป็นตัวชีวิต เท่านี้แหละมันตะเพิดวัตถุหรือวัตถุนิยมกระเด็นหายไปหมด และยังจะตะเพิดระบบจิตตนิยม บ้าคลั่งให้หายไปหมด มันเหลืออยู่แต่ความถูกต้องคือธรรมนิยม ชีวิตนี้ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ เข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงทุกชนิดเป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ เมื่อเป็นธาตุตามธรรมชาติแล้วก็มาเป็นตัวตนหรือเป็นของตนไม่ได้ มันก็ไม่ยึดถือโดยความเป็นตัวตนหรือเป็นของๆ ตน เพราะเห็นความที่ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ นี่คือทางออกหรือทางลัดที่จะออกมาเสียได้จากวัตถุนิยม เอาธรรมะมาเป็นหลักของชีวิต หรือถ้าดีกว่านั้นเอาธรรมะมาเป็นตัวชีวิต อย่าไปเอาตัวชีวิตที่วัตถุหรือจิตเลย เอาตัวชีวิตที่ธรรมะคือความถูกต้องของสิ่งทั้งสองนั้นเรียกว่าธรรมะ แล้วก็มีการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักของธรรมะ
คำว่าธรรมะๆนี้มีความหมายที่ดีที่สุดที่ควรจะกำหนดจดจำไว้ว่าธรรมะๆ นี้คือระบบการปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการทั้งเพื่อตนเองและเพื่อผู้อื่น นั่นคือสิ่งที่เรียกว่าธรรมะๆ เกิดมาจากการที่รู้จักธรรมชาติๆ รู้จักความจริงของธรรมชาติโดยครบถ้วน คือรู้จักตัวธรรมชาติ รู้จักตัวกฎของธรรมชาติ รู้จักตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ แล้วก็รู้จักผลอันเกิดมาจากปฏิบัติหน้าที่ มีอยู่ ๔ อย่างที่จะต้องรู้ รู้ธรรมชาติ รู้กฎของธรรมชาติ รู้จักหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ รู้จักผลที่เกิดมาจากหน้าที่ แล้วก็รู้ว่าสิ่งที่ ๓ น่ะ คือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินั่นแหละคือตัวธรรมะ ที่มีความหมายจำเป็นที่จะต้องมีก่อนหรือยิ่งกว่าความหมายอย่างอื่น รู้จักหน้าที่ที่จะต้องประพฤติกระทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ รู้ธรรมชาติ ก็ไม่หลงใหลเอาธรรมชาติใดๆ เอามาเป็นตัวตนของตน รู้จักกฎของธรรมชาติก็สามารถจะรู้วิธีที่จะควบคุมสิ่งที่เป็นธรรมชาติในภายในนี่ ร่างกาย จิตใจ ธาตุ ขันธ์ อะไรต่างๆนี่ได้ถูกต้อง แล้วก็รู้หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติว่าจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างไร ธรรมชาติเหล่านั้นจะไม่เกิดเป็นปัญหาหรือเป็นความทุกข์ขึ้นมา หน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินั่นคือสิ่งที่จะดับทุกข์ได้ คำสั่งสอนทั้งหมดทั้งสิ้นในพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ มันไม่มีอะไรมากไปกว่าหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติที่เราทุกคนจะต้องประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง แล้วก็เอาชนะความทุกข์ทั้งปวงได้ รู้จักมันดีทั้งเรื่องวัตถุเรื่องจิตและเรื่องที่ตรงกันข้ามคือเรื่องของพระนิพพาน ในทางอภิธรรมก็มีอีกคำหนึ่ง คือคำว่าเจตสิก นี่มันรวมอยู่กับจิต ไม่ต้องแยกก็ได้ เรื่องกายเรื่องจิตและก็เรื่องนิพพานเลยก็ได้ เป็นที่ดับ แต่อภิธรรมที่เขาเรียนๆ สอนๆ กันอยู่ เขามีแยกเจตสิกออกจากจิตเลยกลายเป็น ๔ เรื่อง คือ เรื่องรูป เรื่องจิต เรื่องเจตสิกและก็เรื่องนิพพาน เจตสิกกับจิตนั้นมันไม่แยกกันได้ ฉะนั้นเอาเป็นเพียงเรื่องเดียว มันก็รู้เรื่องรูปคือกายนี้อย่างดี รู้เรื่องจิตอย่างดี รู้เรื่องสิ่งตรงกันข้ามที่จะดับเสียได้ซึ่งวัตถุและจิตนั่นแหละ คือเรื่องพระนิพพาน ทั้งหมดเป็นธาตุตามธรรมชาติ เอ่อ,มีเรื่อง เรื่องธาตุว่าไว้เป็นหลักว่ารูปธาตุ อรูปธาตุและนิโรธธาตุ รูปธาตุ คือธาตุที่มีรูปเป็นวัตถุนี้ อรูปธาตุ คือธาตุที่ไม่มีรูปเป็นวัตถุ ส่วนพระนิพพานนั้นเป็นนิโรธธาตุ ไม่รวมอยู่ในคำว่ารูปธาตุหรืออรูปธาตุ แต่เป็นอีกธาตุหนึ่งเรียกว่านิโรธธาตุ ธาตุเป็นเครื่องดับเสียซึ่งรูปธาตุและอรูปธาตุ ถ้าเราศึกษาจนรู้จักความเป็นธาตุอย่างนี้แล้ว มันจะไปงมงายหลงใหลในวัตถุอย่างไรได้ล่ะ คิดดูเถิด มันรู้ทั้งหมดทุกเรื่องของวัตถุของจิตและสิ่งที่อยู่เหนือหรือตรงกันข้าม เป็นที่ดับแห่งวัตถุและจิต คือดับความโง่ความหลงที่จะไปยึดมั่นในเรื่องของวัตถุและจิต เพราะรู้เรื่องของพระนิพพาน พุทธบริษัทเราโดยแท้จริง มันจึงตกไปเป็นวัตถุนิยมไม่ได้ พุทธบริษัทที่แท้จริง จึงไม่โง่ ไม่อาจจะโง่ พลัดตกลงไปอยู่ใต้อำนาจของวัตถุนิยมได้ เพราะมันรู้เรื่องจริง
เอ้า,ทีนี้ก็มาดูถึงธรรมนิยมหรือความถูกต้องนี้กันต่อไป เมื่อกล่าวโดยหลักปฏิบัติ ก็คือที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ ได้แก่เรื่องอัฏฐังคิกมรรค เรื่องความถูกต้อง ๘ อย่าง ๘ ประการ รวมกันเข้าเป็นเรื่องเดียวเรียกว่า มรรคมีองค์ ๘ ถ้าเรารู้เรื่องวัตถุเรื่องจิตและเรื่องนิพพานถูกต้องแล้ว เราจะสามารถปฏิบัติให้มันมีความถูกต้อง ๘ ประการนี้ขึ้นมาได้โดยสะดวกหรือเป็นไปได้ ปฏิบัติครบถ้วนในองค์มรรคทั้ง ๘ แล้วนี่ ก็มีสิ่งที่เรียกว่าธรรมชีวี มีชีวิตเป็นธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิต มีชีวิตเป็นความถูกต้อง ๘ ประการ สัมมาทิฏฐิถูกต้อง ทิฏฐิ ความคิด ความเห็น ความรู้ ความเชื่อหรืออะไรก็ตามที่มันเป็นความเห็นน่ะ และก็ถูกต้องตามความมุ่งมายต้องการ เมื่อมีทิฏฐิถูกต้องแล้ว มันก็มุ่งหมายได้ถูกต้อง มันก็มีการกระทำทางวาจาถูกต้อง ทางกายถูกต้อง ทางการดำรงชีวิตถูกต้อง แล้วมันก็มีการกระทำทางจิต คือมีความพากเพียรถูกต้อง มีสติถูกต้อง มีสมาธิถูกต้อง มันมีความถูกต้องครบหมดทั้งเรื่องทางวัตถุเรื่องทางจิต และเรื่องที่มันเหนือออกไปมันเหนือกว่านั้น เรื่องวัตถุเรื่องจิตนี้ก็เป็นเรื่องโลกๆ มันอยู่ในโลก ถ้าเป็นเรื่องของพระนิพพาน ก็เป็นเรื่องโลกุตระหรืออยู่เหนือโลก เดี๋ยวนี้มันไม่รู้จักดีถูกต้องครบถ้วนทั้งเรื่องโลกและเรื่องเหนือโลก จิตนี้ ถ้าจะเปรียบเทียบแล้วมันก็เป็นสิ่งที่น่าสงสาร มันติดมาในชีวิต คลอดจากท้องมารดา ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร ไม่รู้จะไปทางไหน ทีนี้อะไรมาถึงเข้า มาเกี่ยวข้องกันด้วยการสัมผัส มันก็ตะครุบเอาความหมายนั้นๆ ฉะนั้นสิ่งแรกที่มันตะครุบเอาก็คือรสอร่อยของวัตถุ จิตก็เลยเริ่มผิด เริ่มโง่ เริ่มหลง ก็ต้องรับโทษสมกับความโง่ความหลง คือเป็นทุกข์ทรมานเรื่อยไปๆ จนกระทั่งเอือมระอา ก็ถึงเห็นความจริงว่าไม่ไหวแล้ว ทนไม่ไหวแล้ว ต้องเปลี่ยนแล้ว นี่มันจึงจะหันมาศึกษาความจริงของเรื่องธรรมะ ปฏิบัติตามหลักของธรรมะแล้วก็บรรลุพระนิพพาน เรียกว่าออกมาเสียได้จากวัตถุนิยม ของวัตถุหรือกาย แล้วก็ออกมาเสียได้จากเรื่องของจิต ก็มาสู่ที่ว่างข้างนอกคือพระนิพพาน มีความถูกต้องทั้งทางวัตถุ และทางจิต นั่นแหละคือมนุษย์ที่ถูกต้อง มนุษย์ที่เต็มเปี่ยมถึงยอดสุดของความเป็นมนุษย์แล้ว ไม่หลง ไม่จม ไม่ติดอยู่ในเรื่องของวัตถุ ฉะนั้นจงสนใจในเรื่องของธรรมะคืออริยอัฏฐังคิกมรรค นั่นเป็นทางออก คำว่าทางๆ นี้ เป็นทางออก ทางออกมาเสียได้จากความทุกข์ ออกมาเสียได้จากปัญหา หรือจะพูดให้กว้างกว่านั้นว่าออกมาเสียจากโลก ออกมาเสียจากโลก หมายความว่าออกมาเสียจากอิทธิพลทุกๆ ชนิดที่มันอยู่ในโลก ซึ่งส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้สมัยนี้ยุคนี้ก็คือวัตถุนิยม ออกมาเสียจากสิ่งที่มีอิทธิพลครอบงำจิตใจครอบงำโลก ออกมาเสียจากอำนาจของวัตถุนิยม นี่มันเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะแก้ปัญหาได้ในข้อที่ว่าเดี๋ยวนี้ทำไมมันจึงมีความทุกข์มากขึ้นเพิ่มขึ้น เพราะมันไม่รู้เรื่องนี้ มันก็ไปหลงพัฒนาวัตถุจนตกเป็นทาสของวัตถุยิ่งขึ้นและเป็นกันดังนี้ทั้งโลกนะ น่าขบน่าขันที่สุดที่ว่ามันช่างร่วมมือร่วมใจร่วมแรงกันดีทั้งโลก พัฒนาวัตถุขึ้นมาหลอกหลอนชาวโลกให้หลงผิด ให้หลงติดอยู่ในวัตถุนิยม แล้วก็จมอยู่ในความหลงนี้ ก็เร่าร้อนกันไปทั้งโลก ทั้งโลกเลย แล้วมันอาจจะลุกลามไปถึงเทวโลก มารโลกอื่นๆ ด้วย เพราะความลุ่มหลง ฉะนั้นอย่าพอใจในความลุ่มหลง ในสิ่งที่เรียกว่าสวรรค์วิมานของทิพย์เทวดาอะไรกันนัก ถ้าหากว่าสิ่งเหล่านั้นมันเป็นเครื่องลุ่มหลงในความสุขทางเนื้อหนังแล้วก็ มันควรจะถือว่าเป็นเรื่องบ้าบอมากกว่าสวรรค์ที่พูดกันถึงกันอยู่นั่นน่ะ ไปใคร่ครวญดูให้ดีเถิด มันมีความหลงอยู่ในวัตถุนิยม พวกคอมมิวนิสต์มันจึงยกเอามาเป็นข้ออ้างว่านี่บ้า นี่หลง นี่ไม่เอาๆ เราที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ก็ลองฟังให้ดี ไม่ใช่ว่าไปเข้ารอยเดียวกันว่าไปลุ่มหลงในรสอันอร่อยสูงสุดของวัตถุนิยม ซึ่งเขารู้จักเกลียดกันแล้วนะ แล้วทำไมมาหลงอยู่ในสิ่งที่เขาเริ่มเกลียดกันแล้วได้อย่างไร ในที่สุดนี้ก็จะต้องมุ่งหมาย มุ่งมาดปรารถนาจะถอนตัวออกมาเสียจากวัตถุนิยม ตนเป็นที่พึงแก่ตน แม้พระพุทธเจ้าจะได้ตรัสสอนวิธีปฏิบัติเพื่อการถอนตน แต่พระองค์ก็ช่วยถอนให้ไม่ได้ ทรงทำได้แต่เพียงชี้บอกให้ทำอย่างนั้นๆ เปรียบเหมือนกับผู้ชี้ทางให้เดิน ถ้าคนมันไม่เดิน พระพุทธเจ้าก็ช่วยไม่ได้ พระองค์ก็ตรัสว่าอย่างนี้ และตถาคตก็ได้บอกหนทางแล้ว แต่มันไม่มีคนจะเดิน จะว่าอย่างไร คนชี้ทางมี แต่คนเดินมันไม่เอา จะว่าอย่างไร มาศึกษาให้รู้ความเลวร้าย ต้นเหตุอันเลวร้ายของวัตถุนิยม หลอกลวงคนไปจมปลักอยู่ในเรื่องของวัตถุ ทรมานจิตใจอยู่ด้วยเรื่องมีกิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม ทำกรรมแล้วรับผลกรรม รับผลกรรมแล้วก็เพิ่มกิเลส แล้วก็เพิ่มกรรม แล้วก็เพิ่มผลของกรรม แล้วก็เพิ่มกิเลส นี่คืออาการที่ว่ามันจมปลักอยู่ในวัตถุนิยม เห็นแก่ความสุขสนุกสนานเอร็ดอร่อยทางรูปธรรมก็ได้ ทางอรูปธรรมก็ได้ แต่ทางอรูปธรรมมันเป็นไปน้อยมาก ฉะนั้นเราจึงไม่ได้พูดถึงกัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่เรื่องดับทุกข์นะ อรูปธรรม อรูปฌาน อรูปสุขนี่ ยังไม่ใช่เรื่องดับทุกข์ มันต้องมาเป็นเรื่องของพระนิพพาน มันจึงจะเป็นเรื่องของการดับทุกข์ที่อยู่เหนืออำนาจของวัตถุโดยประการทั้งปวง รีบศึกษาให้เห็นความจริงข้อนี้ แล้วความเกลียดในวัตถุนิยมมันก็จะตั้งต้น เห็นความเลวร้าย อาทีนพ ความเลวร้าย โทษอันต่ำทรามของวัตถุนิยม ก็จะเกลียดวัตถุนิยม แล้วจิตใจก็จะหันเหไปในทางตรงกันข้าม คือธรรมนิยม คือพระนิพพานมีความพอใจในความสุขที่แท้จริง สงบเงียบเยือกเย็นแท้จริง มันก็เริ่มเกลียดวัตถุนิยม เกลียดวัตถุนิยมจนไม่อยากจะแตะต้อง เหมือนกับเป็นของสกปรก ไม่อยากแม้แต่จะเอาเท้าไปเขี่ยดู มันก็เกลียดมากถึงขนาดนี้ เพราะว่ามีความรู้จักสุขอันแท้จริง มาจากการรู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง เป็นพุทธบริษัทกันให้ถูกต้อง มันก็รอดน่ะ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน รู้อย่างครบถ้วนในเรื่องของวัตถุนิยม จิตตนิยม ธรรมนิยมและเรื่องของพระนิพพาน มันก็เลยรู้ ก็ตื่นจากหลับคืออวิชชา ก็ปลอดจากการบีบคั้นของสิ่งเหล่านั้น มันก็เป็นผู้เบิกบาน เบิกบานด้วยธรรมะนี้มันไม่รู้จักโรย แต่เราใช้คำว่าเบิกบาน เป็นกริยาอาการของดอกไม้เหล่านี้เห็นว่ามันบาน คำว่าบานมันจึงจะสวยงามถึงที่สุด แต่ถ้ามันเป็นเรื่องวัตถุอย่างนี้เดี๋ยวมันก็โรย เดี๋ยวมันก็เหี่ยวแห้ง ทางจิตที่มีธรรมะเป็นชีวิตนั้นน่ะมันมีความเบิกบาน อชรติ ไม่กลับร่วงโรย เหี่ยวแห้ง นี่คือความหมายของพระนิพพาน จะเปรียบเทียบด้วยเรื่องโรคทางจิต การหลงวัตถุ เป็นทาสของวัตถุ บูชาวัตถุเป็นพระเจ้า นั่นแหละเป็นโรคๆ โรคๆ โรคทางวิญญาณ ที่มันขาดสัมมาทิฏฐิ มีแต่มิจฉาทิฏฐิหรืออวิชชา นั่นแหละเป็นเหตุให้เกิดโรค เกิดโรคทางวิญญาณ ทีนี้ฆ่ามิจฉาทิฏฐิ ทำลายอวิชชาให้หมดไป นั่นแหละคือการหายจากโรค ที่เขาอาศัยอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นทางสายกลางที่จะฆ่ามิจฉาทิฏฐิทำลายอวิชชา นั่นแหละคือยา การใช้ยาเพื่อให้เกิดการหายโรค แต่ถ้าใครไม่ยอมรับว่าเราว่าตนกำลังมีโรค อย่างนี้มันก็ไม่มีทางที่จะพูดกัน แต่ถ้ามองเห็นว่าเรากำลังเป็นโรคอย่างนี้ มีโรคทางวิญญาณ จมปลักอยู่ในรสอันหลอกลวงของสังขารทั้งหลายทั้งปวง เราก็เลยเจ็บป่วยเป็นโรค เพราะมีอวิชชาหรือมิจฉาทิฏฐิเป็นต้นเหตุ ก็ฆ่าทำลายต้นเหตุนี้เสีย ก็เป็นการหายโรค วิธีฆ่าก็คือการดำเนินอยู่ในความถูกต้องของสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ เอาบทนิยามกลางๆ ว่าธรรมะคือระบบปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของตนทุกขั้นตอนแห่งการวิวัฒนาการทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่น ความหมายเดียวนี้ มันกระจายออกมาเป็น ๘ อย่าง เป็นความถูกต้อง ๘ อย่าง ซึ่งรวมกันเข้าแล้วก็เป็นอัฏฐังคิกมรรค นี่คือทางออกของสัตว์ทั้งหลายที่จะออกมาเสียจากอำนาจของวัตถุนิยม ทีนี้เราก็มีความมุ่งหมายส่วนใหญ่ในการที่จะดึงมนุษย์ออกมาเสียจากอำนาจของวัตถุนิยม เราก็ต้องเผยแผ่สิ่งที่เรียกว่าธรรมะอย่างถูกต้องและเพียงพอ ให้เพื่อนมนุษย์ทั้งหลายรู้จักสิ่งๆ นี้ และใช้ปฏิบัติให้อยู่กับเนื้อกับตัว เป็นธรรมชีวี เป็นธรรมชีวี มันก็รอดได้ นี่เป็นเรื่องของปณิธานข้อที่ ๓ ว่าจะดึงโลกออกมาเสียจากวัตถุนิยมด้วยการช่วยกันมีธรรมะ ด้วยการช่วยให้มีการศึกษา การรู้ การมีธรรมะ มีการปฏิบัติธรรมะ จึงจะมีธรรมะ มีแต่ความรู้เฉยๆมันก็ไม่มีธรรมะ แม้ว่ามันจะมีความรู้ธรรมะ แต่ถ้าไม่ได้ปฏิบัติธรรมะมันก็ไม่มีธรรมะ ฉะนั้นเราก็ต้องช่วยเหลือกันให้ถึงที่สุด ให้รู้เรื่องของธรรมะ แล้วก็ปฏิบัติธรรมะจนมีธรรมะ แล้วก็รู้จักใช้ธรรมะนั้นให้เป็นประโยชน์ในการดึงโลกออกมาเสียจากวัตถุนิยม ดึงโลกน่ะ ดึงที่ไหนล่ะ คำว่าดึงโลกน่ะ ดึงที่ไหน ไปดึงโลกก้อนใหญ่ก้อนนี้อย่างไร มันก็ไม่ใช่ ก็ดึงคนทั้งโลก มันก็ไม่ใช่ แต่ว่ามันดึงจิต ดึงจิตของคนแต่ละคนออกมาเสียจากอำนาจของวัตถุนิยม แล้วใครมันจะช่วยดึงให้ใครได้ล่ะ ฉะนั้นทุกคนมันจะต้องดึงของตัวเองโดยหลักที่ว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ดังนั้นที่จะช่วยได้ก็คือทำให้ทุกคนแต่ละคนมีความรู้เรื่องนี้ คือรู้เรื่องดึงจิตของตนออกมากเสียจากความลุ่มหลงในวัตถุหรือวัตถุนิยม ช่วยกันเผยแผ่ให้เพียงพอสำหรับที่เขาจะสามารถจะดึงจิตของตน อย่างน้อยก็ควบคุมจิตของตนไว้ไม่ให้ไหลไปตามอำนาจของวัตถุนิยม
นี่ขอฝากไว้ให้เป็นความรู้ ในลักษณะที่ว่าเป็นของขวัญตอบแทนแก่ท่านทั้งหลายที่ให้ของขวัญแก่อาตมานี่ ให้คอยรับฟังการประกาศ การเผยแผ่ธรรมะของเจ้าหน้าที่ทางศาสนา ของพระพุทธเจ้า คือพวกธรรมทูตก็ดี พวกธรรมทายาทก็ดี เขาจะยกกองออกไปเผยแผ่ความรู้เหล่านี้ให้แพร่หลายให้กระจายควบคุมไปในหมู่มนุษย์ ให้มนุษย์แต่ละคนๆ รู้จักดึงจิตของตนออกมาเสียจากวัตถุนิยม รวมกันแล้ว นั่นแหละคือการดึงโลกออกมาเสียจากอำนาจของวัตถุนิยม สมตามความปรารถนาทุกๆ ประการที่ตั้งไว้เป็นปณิธานว่าจะดึงโลก ช่วยโลกออกมาเสียจากอำนาจของวัตถุนิยม ขอร้องความร่วมมือความสนับสนุนจากท่านทั้งหลาย ว่าจงมาช่วยกันในแผนการอันนี้ ที่จะดึงโลกออกมาเสียจากวัตถุนิยมด้วยความร่วมมือของท่านทั้งหลาย ความร่วมมือของท่านทั้งหลายนั้นไม่มีอะไรดีไปกว่าหรือมากไปกว่าท่านทั้งหลายน่ะจงดึงจิตใจของตนๆ ออกมาเสียจากอำนาจของวัตถุนิยม นี่แหละเป็นความร่วมมืออย่างสูงสุด โลกพ้นจากอำนาจของวัตถุนิยมแล้วก็จะไม่มีวิกฤติการณ์เลวร้ายใดๆในโลกเหลืออยู่ได้ ถ้าตกอยู่ภายใต้อำนาจของวัตถุนิยมแล้วก็เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวแล้วก็เปิดโอกาสให้เกิดโลภะ โมหะ โทสะ ท่วมท้นไปหมดทั้งโลก กิเลสไหลนองครองโลกแล้วก็มีความทุกข์เต็มโลก เพราะอำนาจของวัตถุนิยมซึ่งมีลักษณะน่ารักเหมือนกับว่าลูกหนูตัวนั้นเห็นหน้าแมว มันน่ารัก แต่ไปเห็นหน้าไก่หงอนแดงนั้นน่ะว่าน่าเกลียด น่ากลัว ไม่อยากเข้าใกล้ แม่หนูก็ต้องบอกว่า ไอ้ลูกเอ๋ย อย่าโง่ไป ที่น่าเกลียด น่ากลัวนั้นหน้าไก่ เป็นไก่ไม่มีอันตรายอะไร ที่น่ารักน่าพอใจนั่นแหละคือหน้าแมว มันเป็นความตายของพวกแก แกอย่าไปหลงกับมัน นี่เราทั้งหลายก็จงเป็นลูกหนูที่ได้รับคำสั่งสอนครบถ้วน ถูกต้องและก็ไม่ไปหลงแมวคือวัตถุนิยมให้ตายเอง ให้ตัวเองตาย เรายังเป็นปุถุชนอยู่ไม่รู้อะไร มันก็เหมือนลูกหนูโง่ๆ นั่นแหละ ต่อเมื่อได้มีความรู้ ความเข้าใจในธรรมะสูงขึ้น มันจึงจะพ้นจากความเป็นอย่างนั้น มันจะได้เป็นหนูที่ฉลาด พ้นจากอำนาจของแมว และก็รู้จักเรียกว่าอะไรเป็นมิตร อะไรเป็นศัตรู วัตถุนิยมเป็นศัตรูเต็มตัว ธรรมะเป็นมิตรเต็มตัว จงอยู่ฝ่ายข้างมิตร มีพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร ผู้ชี้ทางแห่งธรรมะให้เดินตามร่องรอยของธรรมะ แล้วก็หลุดรอดออกมาได้ โดยหลักที่เรียกว่าอริยอัฏฐังคิกมรรค หรือมัชฌิมาปฎิปทา ทางออกของปัญหาทุกอย่างทุกประการตามที่ค้นพบในพระบาลี พระพุทธเจ้าได้ตรัสระบุ อริยอัฏฐังคิกมรรค อริโย อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค นั่นแหละ เป็นนิสสรณะคือทางออกมาเสียจากปัญหาหรือความทุกข์ทุกอย่างทุกประการ ดำเนินตนอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ เหล่านี้แล้ว จะไม่มีความเลวร้าย หรือวิกฤตการณ์อันใดมาแผ้วพานได้
ขอให้ท่านทั้งหลายจงมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ แล้วก็ดำเนินตนไปอย่างถูกต้องอย่างนี้ ก็จะช่วย ก็จะเป็นการกล่าวได้ว่าช่วยกันดึงโลกทั้งโลกออกมาเสียจากวัตถุนิยม สิ่งที่อาตมาต้องการจะพูดก็มีอย่างนี้และก็ได้พูดแล้ว เป็นเรื่องที่ ๓ ครบถ้วนทั้ง ๓ ข้อของปณิธาน ขอความร่วมมือจากท่านทั้งหลายทุกคนๆ ได้ร่วมมือกันให้ปณิธาน ๓ ประการนี้สำเร็จประโยชน์ ความสมบูรณ์และความถูกต้องมันก็จะถึงที่สุด หมดปัญหาโดยประการทั้งปวง เราทุกคนก็จะสามารถเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริง คือเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอยู่ได้ตลอดไป
การบรรยายนี้ สมควรแก่เวลาแล้ว จะขอยุติการบรรยาย และก็ขอสรุปท้ายด้วยเรื่องส่วนตัวว่า ขอบพระคุณ ขอบคุณ ขอบใจท่านทั้งหลายที่ให้ของขวัญวันนี้แก่ข้าพเจ้า และขอตอบแทนด้วยการให้ของขวัญว่าจงช่วยร่วมมือกัน ทำให้ปณิธาน ๓ ประการนี้ ประสบความสำเร็จสมบูรณ์ แล้วผลก็จะเกิดขึ้นแก่ท่านทั้งหลายนั่นเอง ไม่ใช่ว่าจะได้ดีอะไรที่อาตมาคนเดียว ก็จะได้แก่ทุกคน ช่วยกันทำปณิธานของข้าพเจ้าให้สมบูรณ์ แล้วผลทั้งหมดก็จะกลับไปได้แก่ท่านทั้งหลายทุกคน ขอความร่วมมือถึงที่สุดในลักษณะอย่างนี้ว่าทุกคนจงเข้าถึงหัวใจแห่งศาสนาของตนๆ ทำความเข้าใจระหว่างศาสนา ให้โลกไม่มีความขัดแย้ง แล้วก็ออกมาเสียจากอำนาจของวัตถุนิยมด้วยกันจงทุกๆ คนเถิด ขอยุติการบรรยายในวันนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้