แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้ เราจะพูดกันถึงสิ่งที่เรียกว่าศาสนา เพื่อเข้าใจสิ่งทีเรียกว่าศาสนา เราเป็นคนไทยพูดภาษาไทย จะใช้คำว่าศาสนา เรามีศาสนาถือศาสนาปฏิบัติศาสนา เผยแพร่ศาสนา นี่เพราะเราเป็นคนไทย เราใช้คำว่าศาสนา แต่ถ้าเป็นคนอื่นเล่า ชาติอื่นชนชาติอื่นภาษาอื่นเขาจะใช้คำนี้ไม่ได้ เขาก็ใช้คำตามที่มีอยู่ในภาษาของเขา ทีนี้ความหมายของคำๆ นั้นน่ะมันว่าอย่างไรเล่า ถ้าศาสนาตัวหนังสือตามตัวหนังสือก็แปลว่าคำสั่งสอน แต่ถ้าคำว่า religion ของไอ้คำสากลนั้น มันไม่ได้แปลว่าคำสั่งสอน ถ้าตามตัวหนังสือมันก็แปลว่าการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการผูกพันกันระหว่างมนุษย์กับสิ่งสูงสุด คำว่า religion มันตัวหนังสือมันแปลว่าอย่างนั้น to serve to bind (นาทีที่ 1:42) ผูกพัน การปฏิบัติ แล้วก็เพื่อให้เกิดการผูกพันกันระหว่างมนุษย์กับสิ่งสูงสุด เขาก็ต้องเรียกว่า religion หรืออะไรไปตามเรื่อง เดี๋ยวเราจะเข้าใจว่ามันจะเรียกว่าศาสนาตรงกันหมดทั้งโลกมันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นเรามาหาความหมายที่เป็นกลาง ที่ใช้ได้กับคำว่า ทุกศาสนา ใช้ได้กับคำว่า ศาสนาของทุกภาษาที่ใช้กันอยู่ในโลก แม้พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้เรียกว่าศาสนาหรอก เมื่อส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา ท่านตรัสว่าเธอจงไปประกาศพรหมจรรย์ ไปประกาศพรหมจรรย์ พรหมจริยัง ปกาเสถะ เธอจงไปประกาศพรหมจรรย์ ก็เลยใช้คำว่า พรหมจรรย์ ที่พระพุทธเจ้าท่านใช้เองไม่ได้ใช้คำว่า ศาสนา
นี้โดยทั่วไปในอินเดีย ใช้กันอยู่กระทั่งถึงบัดนี้ ก็คือคำว่า ธรรม ธรรมะนั่นแหละ ธรรมนั่นแหละ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้ใช้คำนี้อยู่ด้วยเหมือนกัน ประกาศธรรม เผยแผ่ธรรม เรียนธรรม ปฏิบัติธรรม คือ เรียนศาสนา เผยแผ่ศาสนา อย่างศาสนาฮินดู ในอินเดียเขาก็เรียกว่า ฮินดูธรรม ฮินดูธรรม หรือถ้าจะเรียกให้ชัด ก็เรียกตามชื่อของพระศาสดานั้น ๆ เช่น ธรรมของพระสมณโคตมะ ธรรมของนิพันคณาตบุตร ธรรมของสนชัยยเวรทบุตร ธรรมของ แล้วแต่จะเรียกชื่อศาสนาศาสดานั้น ๆ ก็เรียกว่าธรรมของศาสดาชื่อนั้น ทีนี้เราก็จะมาหาความหมายที่เป็นกลาง ที่เป็นกลาง ก็จะดูกันที่ไอ้ตัวศาสนาน่ะว่ามันคืออะไร มันคืออะไรกันแน่ ในภาษาไทยใช้คำที่ แปลว่า คำสั่งสอน แล้วก็ในศาสนาอื่นก็ใช้ชื่อตามศาสดาก็มี คำกลาง ๆ ของภาษา religion มันก็เป็นคำที่มีความหมายอย่างที่กล่าวแล้วว่า เกิดทำให้เกิดความผูกพันระหว่างมนุษย์กับสิ่งสูงสุด ไอ้ความหมายนี้น่ะดีดี อาจจะนำไปใช้กันได้กับทุก ๆ ศาสนา ถึงแม้พุทธศาสนาเรานี่แหละ ถ้าปฏิบัติเข้าแล้วมันก็ทำให้เกิดการผูกพันกันระหว่างมนุษย์กับสิ่งสูงสุด คือ นิพพาน แต่อย่าไปเอาพระเจ้าเข้าก็แล้วกัน
ถ้าเป็นศาสนาที่มีพระเจ้า มันก็เกิดผูกความผูกพันระหว่างมนุษย์กับสิ่งสูงสุดคือพระเจ้า นี้เราไม่มีพระเจ้าชนิดนั้น เราต้องการสิ่งสูงสุดคืออะไร เราก็หมายถึงสิ่งนั้น ในที่นี้ก็จะหมายถึง นิพพาน คือสภาพที่เป็นความดับทุกข์สิ้นเชิง สิ้นเชิง ไม่มีความทุกข์เหลือ มนุษย์ได้สัมพันธ์กันกับสิ่งนั้นก็ใช้คำว่า religion ได้ ดังนั้นพุทธศาสนาก็เป็น religion ด้วยเหมือนกัน แต่ทีนี้ก็มีผู้ที่จำกัดความ หรือผูกขาดว่า สิ่งสูงสุดนั้นมันมีแต่พระเจ้าเท่านั้น ไม่มีสิ่งอื่น ก็เลยถือว่าศาสนานี้ พุทธศาสนานี้ ไม่ใช่ religion เพราะไม่มีพระเจ้า นี่รู้กันไว้ดีๆด้วยเผื่อมันจะต้องพูดจากันกับพวกเหล่านั้น ไอ้นักศึกษา นักอะไรก็ไม่รู้มันจะเอาสิทธิมาแต่ไหนเอา บัญญัติก็ตามใจมัน มันก็ประกาศให้เป็นหลักออกไปว่า พุทธศาสนาไม่ใช่ religion เพราะไม่มีพระเจ้า เขาก็เลยบัญญัติไปตามนั้นกันอีกทีหนึ่งว่า พวกอื่นก็บัญญัติไปตามนั้นอีกทีหนึ่งว่า ถ้าเอาเป็นเรื่องนี้ เอาเอาหลักเอาอย่างนี้เป็นหลัก แล้วเขามันก็บัญเขาก็บัญญัติได้ว่า ศาสนาที่มีพระเจ้าศาสนาที่ไม่มีพระเจ้า ก็เลยเป็นศาสนาด้วยกันทั้งนั้น
ถ้าเป็นมีพระเจ้าก็ใช้คำว่า He is ,He isn’t ถ้าไม่มีพระเจ้าก็ใช้คำว่า It is ,it isn’t คือไม่มีพระเจ้า แต่พวกหนึ่งก็ยังยืนกรานอยู่ว่า ถ้าไม่มีพระเจ้าไม่ใช่ศาสนานี่ก็ถือเป็นหลักกันโดยมาก ว่าไม่มีพระเจ้าก็ไม่ใช่ศาสนา ที่เราชาวพุทธเราก็ถือว่าเป็น มี ศาสนา เพราะเราก็มีพระเจ้าอีกชนิดหนึ่ง คือ สิ่งสูงสุด แต่มิได้เป็นบุคคลที่มีความรู้สึกเหมือนบุคคลอย่าง God เราก็เอากฎของธรรมชาตินี่มาเป็นพระจ้า กฏของธรรมชาติเป็นสิ่งสูงสุดเป็นธรรมะสูงสุด แม้พระพุทธเจ้าก็เคารพธรรมะที่เป็นสิ่งสูงสุด เราก็เถียงว่าเรามีพระเจ้าอย่างที่ไม่ใช่บุคคล พวกท่านทั้งหลายจะมีพระเจ้าอย่างมีบุคคลก็มีไปสิ พระเจ้าของท่านรู้สึกอย่างบุคคล มีรูปร่างอย่างบุคคลเสียด้วย นี่เราก็เถียงว่าเราก็มีพระเจ้า แต่ไม่ใช่อย่างบุคคลมิได้มีรูปร่างอย่างบุคคล มิได้มีความรู้สึกคิดนึกอย่างบุคคล เอ้า,เราก็เป็นศาสนา เป็น religion ชนิดนี้
อยากจะเล่าให้ฟังเป็นเรื่องพิเศษ เกร็ดออกไปว่าครั้งหนึ่งว่าในประเทศอินโดนีเชีย รัฐบาลเขาจัดให้พวกพุทธบริษัทที่มีอยู่เหลืออยู่เป็นจำนวนมากเหมือนกันแหละ เป็นล้านเหมือนกันเป็นล้าน ๆ เหมือนกัน ในอินโดนีเซีย พลเมืองที่เป็นพุทธบริษัทนั่นทีแรกรัฐบาลเขาจัดว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าเป็นพลเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมายต้องมีศาสนา พุทธบริษัทนี้ไม่มีศาสนาเพราะไม่มีพระเจ้า ไม่มีศาสนาไม่ถือว่าเป็นพลเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย เขาก็เลยไม่ให้เงินช่วยเหลือ เงิน subsidy ช่วยเหลือพลเมืองประชาชนทุกคนน่ะ เขาไม่ให้แก่พวกพุทธบริษัทเพราะว่าไม่มีศาสนา ไม่เป็นมนุษย์หรือเป็นพลเมืองโดยสมบูรณ์ นี่มันมีปัญหาขึ้นมาอย่างนี้ นี้ก็มีคนโต้แย้งโดยหลักอันนี้ว่า มีพระเจ้าหากแต่ว่าไม่เป็นอย่างบุคคล ไม่เป็นอย่างวิญญาณหรือมีความรู้สึกอย่างบุคคล พูดต่อรองกันไปกันมาก็เรียกว่ามีพระเจ้าอย่างมิใช่บุคคล เขาจึงยอมรับ เอ้า,ถ้าอย่างนั้นคุณก็เป็นพลเมืองที่สมบูรณ์เพราะมีศาสนา ก็เลยให้เงิน subsidy เหมือนกับพวกที่ถือศาสนาอื่น นี่คำอย่างนี้มันก็เป็นปัญหา
เรามาดูว่าเรามีศาสนาหรือใคร ๆ ก็มีศาสนากันน่ะ มันมีความมุ่งหมายที่แท้จริงอยู่ที่ตรงไหน อยากจะพูดโดยอิสระเราชอบพูดโดยอิสระตามความรู้สึกของเราเองว่า ไอ้ระบบศาสนาศาสนานี้มันก็เป็นระบบที่ตั้งต้นด้วยสัญชาตญาณ สัญชาติญาณแห่งความรอด สัญชาตญาณแห่งการหนีภัย หนีอันตราย มันเป็นสัญชาตญาณ ดังนั้นสิ่งที่มีชีวิตมันมีสัญชาตญาณ มันมีระบบต่อสู้หรือหลีกหนีเพื่อเพื่อมีชีวิตรอด หรือเรียกว่าเพื่ออยู่รอดนั่นแหละ ดังนั้นการกระทำที่อยู่รอด เพื่อความอยู่รอดนั่นน่ะคือตัวศาสนา ถ้าเราให้ความหมายอย่างนี้มันก็ใช้ได้หมดทุกศาสนาไม่เว้นศาสนาไหน แต่ก็จะต้องขยายความหมายของคำว่าอยู่รอด อยู่รอดนี่ให้กว้างให้หมดเลย การกระทำเพื่อความอยู่รอดแล้วมันก็ต้องเป็นระบบศาสนา เราจะเห็นได้ว่าแม้แต่ต้นไม้ ต้นไม้ต้นไร่นี่ที่มันมีชีวิตนี่มันก็ต้องการการอยู่รอด แล้วมันก็ทำการต่อสู้พยายามทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อความอยู่รอด และก็เพื่อความหลบหลีกจากความตายจากอันตราย มันไอ้ไอ้ไอ้ต้นไม้ต้นไร่นี้มันจะรู้แต่เพียงความอยู่รอดจากความตายเท่านั้นน่ะ ไม่ได้รู้เรื่องความอยู่รอดจากกิเลสหรอกเลยไม่ต้องพูดถึงกัน ต้นไม้ก็มีศาสนาของต้นไม้ระบบก็จะอยู่รอด
นี้สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายมันก็มีชีวิตคิดนึกได้มากกว่าต้นไม้ แล้วมันก็เคลื่อนไหวได้ ดังนั้นระบบความอยู่รอดของมันก็ไกล ไกลออกไป กว้างออกไป สูงขึ้นไป มันรู้จักวิ่งหนี รู้จักต่อสู้ รู้จักป้องกัน เช่น เปี้ยว ปูรู้จักขุดรูเพื่อจะลงไปอยู่ในรูแล้วก็ปลอดภัย ดังนั้นวิธีขุดรูอยู่นั่นแหละคือศาสนาของเปี้ยวของปู เพื่อหลบรอดจากอันตรายไม่ต้องตายแล้วก็รอด นี้พอมาถึงมนุษย์มันก็สูงไปกว่านั้น ระบบที่จะให้อยู่รอดได้นั่นน่ะคือศาสนา ทีนี้มนุษย์มันมันสูงกว่านั้นก็คือว่ามันมันมัน มันรู้จักอันตรายทั้งทางฝ่ายร่างกายและฝ่ายจิตใจ แล้วฝ่ายจิตใจนี่ลำบากมากยุ่งยากมาก มันจึงต้องมีพิเศษสูงไปกว่าที่ว่าสัตว์เดรัจฉานมันรู้ เราจึงมีระบบความปลอดภัยทางร่างกายทุกอย่างทุกประการแล้ว ก็มีระบบรอดทางจิตใจอีกระบบหนึ่งต่างหาก อันนี้เป็นตัวศาสนาในขั้นสูงสุดระบบสูงสุด แต่โบราณกาลดึกดำบรรพ์มาผู้มีสติปัญญาก็ทำการคิดนึกค้นคว้าศึกษาออกไปสู่ที่สงัดอยู่ในที่ป่าที่สงัด คิดนึกอยู่ทั้งวันทั้งคืน พบอะไรได้ก็จำไว้ จำไว้ หรือเขียน หรือว่าท่อง ท่องไว้ สมัยนั้นยังไม่มีการเขียน ผู้ที่คิดนึกอะไรได้ออกมาเป็นพิเศษในรูปแบบอย่างนี้ก็ท่องไว้ท่องไว้ด้วยตนเอง
ทีนี้ต่อมามันมีความก้าวหน้าถึงกับว่ามันรู้จักคำ ไอ้คำที่จะท่องนั้นน่ะให้เป็นเป็นคำกลอน เป็นคำร้อยกรอง เพราะมันจำง่ายลืมยาก มันก็เลยเกิดคำร้อยกรองขึ้นสั้นๆๆๆ สำหรับฤาษี มุนี เหล่านั้น เขาจะผูกขึ้นไว้จำไว้ ทีนี้ใครมนุษย์ในเมืองในบ้านนี้ไปหาเขา เขาก็บอกให้ในลักษณะที่เป็นคำจำง่ายเป็นคำกลอนเป็นบทสั้นๆ คำสั้นๆ นั้นน่ะ ทีนี้มันมากเข้ามากเข้ามันก็เป็นระบบพอที่จะเรียกว่า ลัทธิหนึ่งของเจ้า ของผู้รู้ ฤาษี มุนี คนใดก็ตามนี่มันมากเข้ามากเข้า แล้วต่อมาคำเหล่านั้นได้เอามาอธิบาย อธิบายเพิ่มขึ้น แล้วก็บวกเข้าไป มันก็เลยเป็นคัมภีร์ คัมภีร์เกิดขึ้น คัมภีร์ทางศาสนาก็เกิดขึ้น ในยุคแรก ๆ มันก็มันก็เป็นอย่างง่าย ๆ หรือตื้น ๆไปก่อน หรือว่าเป็นอย่างไสยศาสตร์อย่างที่ไม่ต้องมีเหตุผลไม่ต้องมีอะไรไปก่อน มันก็มีมากมายด้วยกันหลายลัทธิ ซึ่งเรียกว่าหลายศาสนาหลายลัทธิ นี้ต่อมาอีกมันก็มีศาสดาที่เป็นอะไรล่ะ เป็นชิ้นเป็นอัน เป็นหลักเป็นเกณฑ์ เกิดขึ้นทีละองค์สององค์ ทีละองค์สององค์ ก็ทำอย่างเดียวกันแหละ คำสอนของคนเหล่านั้นแต่ละคนก็ถูกจัดไว้เป็นหมวดเป็นหมู่สำหรับศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติ ใครชอบใจของใครก็ไปถือของคนนั้น ถือศาสดาคนนั้น
จนกระทั่งเกิดพระพุทธเจ้านี่เกิดพระพุทธเจ้าท่านก็มีของท่านอย่างนี้ ผู้ที่ชอบใจธรรมะ คำสอนของพระพุทธเจ้า ก็ศึกษาและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็เรียกว่าธรรมะธรรมะเหมือนกัน ธรรมะของพระสมณโคดมน่ะที่เรียกกันในอินเดีย ธรรมะของพระสมณโคดมไม่ได้เรียกว่าพุทธศาสนา จนกระทั่งมันเป็นคำสอนที่ตกทอดมาจนถึงเดี๋ยวนี้ ๒,๐๐๐ กว่าปี แพร่หลายไปในทิศต่าง ๆ นี่คือสิ่งที่พวกเราเดี๋ยวนี้เรียกตามความพอใจของเราว่า พุทธศาสนา คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คำสั่งสอนเหล่านั้นก็คือเรื่องหน้าที่ หน้าที่ดังที่กล่าวมาแล้วที่ว่าเมื่อคืนว่า ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ คำสั่งสอนเรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญาเรื่องอะไรก็ตามมันเป็นการบอกให้รู้หน้าที่อย่างหนึ่งอย่างหนึ่งอย่างหนึ่งเป็นขั้นตอนเป็นลำดับ เราก็เรียกว่า พุทธศาสนา ศีล สมาธิ ปัญญา ความถูกต้องทางกาย ทางวาจาก็รอดไปทางอันดับแรกเรียกว่าศีล ความถูกต้องทางจิตก็รอดทางจิต เรียกว่า สมาธิ ความถูกต้องทางปัญญา ก็รอดทางปัญญา ก็เรียกว่าปัญญา ดังนั้นรอดกันหมดทั้ง ๓ ชั้น ๓ สถานก็เรียกว่า รอดหมด มีผลเป็นมรรคผลนิพพานขึ้นมา ได้สิ่งสูงสุดเป็นนิพพานขึ้นมา
จะมองดูในแง่ไหนมันก็ได้นะ มองมองดูในแง่ว่าปฏิบัติเพื่อผูกพันกับสิ่งสูงสุดมันก็ได้ มันก็เป็น religion เป็นศาสนาในความหมายสากล จะมองดูในแง่ว่า มันเป็นการคุ้มครองป้องกันตามหลักสัญชาตญาณมันก็ได้ อย่างนี้มนุษย์ก็รอดทั้งทางกายและทางจิต ปฏิบัติให้ถูกต้องเถิดมันจะมีความรอดทั้งทางกายและทางจิต การกระทำเพื่อความรอดนั่นแหละคือศาสนา นี้กระทำตามแบบโครล่ะตามแบบใครสอน ก็เลยมีชื่อเรียกต่างๆ กันว่าศาสนานั้น ศาสนานี้ ศาสนาโน้น แต่ที่เป็นภาษาอินเดียกลาง ๆ ก็เรียกว่า ธรรมะ ทั้งนั้น เรียกว่า ฮินดูธรรมหรือว่าโมฮัมหมัดธรรม เรียกว่า ธรรม ธรรม ธรรมะ ทั้งนั้น นี่คือสิ่งทีเรามาเรียกกันในปัจจุบันนี้ว่า ศาสนา นี้หัวใจของศาสนาคือทำให้รอด ทำให้รอดอย่างไรนั้นน่ะมีเรื่องเฉพาะ อย่างที่พูดแล้วมากแล้วเมื่อคืน เอ้า,ทีนี้ก็มีปัญหาว่าพุทธศาสนานี่ทำไมจึงมีชื่อเรียกแบ่งแยกออกไปตามประเทศ ประเทศ ตัวเราจะหาซื้อหนังสือพุทธศาสนานี่ ได้ครบทุกประเทศก็ได้ Buddhism in Thailand , Buddhism in Srilangka , Buddhism in Burma , Buddhism in Tibet พุทธศาสนาในประเทศไทยหรือของประเทศไทย หรือในประเทศพม่า ในประเทศลังกา ในประเทศทิเบต ในประเทศจีน ในประเทศญี่ปุ่น ในประเทศอะไรก็มีพุทธศาสนากันทั้งนั้น ทำไมมันจึงเกิดเป็นหลายหลายพุทธศาสนาอย่างนี้เราก็ควรจะรู้ไว้
เราก็มีพุทธศาสนาอย่างไทยในประเทศไทย ถ้าที่ถูกต้องมันก็ควรจะมีอย่างเดียวสิ ไม่เป็นพุทธศาสนาอย่างไทย อย่างพม่า อย่างอินเดีย อย่างญี่ปุ่น อย่างจีน ไม่ต้องมีสิ เดี๋ยวนี้มันมี มันมีแล้วแล้วมันก็จริงอย่างนั้นน่ะ คือพวกฝรั่งเขาตั้งชื่อกันอย่างนั้น เขียนหนังสือเป็นชื่อเล่มๆ เป็นอย่างนี้แล้วมันก็ถูกต้อง เพราะเหตุอะไรล่ะ เพราะว่ามันมีการเปลี่ยนแปลง มีการเปลี่ยนแปลง พอพุทธศาสนา เข้ามาในประเทศไทย มันก็บวกพุทธศาสนาเดิมแท้เดิมแท้ อย่างที่มีอย่างที่มีในอินเดียทีแรก มันก็เป็นอย่างนั้นน่ะ เป็นอย่างเดิมแท้ อย่างถูกต้องผุดผ่องเดิมแท้ ต่อมามันก็เกิดการเปลี่ยนแปลง พอมันเข้ามาในประเทศไทยมันก็บวกกันเข้ากับวัฒนธรรมไทย เข้าไปในประเทศลังกาก็บวกกันเข้ากับวัฒนธรรมประเทศลังกา ไปจีน ไปญี่ปุ่น ไปเหนือไปใต้ไปอะไร มันก็บวกกันเข้ากับวัฒนธรรมแห่งประเทศนั้น ๆ เป็นได้ว่ามันบวกถูกบวกแล้วไม่ใช่ของเดิมแท้แล้ว มันก็ควรจะได้ชื่อใหม่จริงๆว่า พุทธศาสนาอย่างไทย อย่างพม่า อย่างลังกา อย่างจีน อย่างญี่ปุ่น อย่างทิเบต พุทธศาสนาอย่างทิเบตนี้ ถ้าเอาตามที่มันมีอยู่เป็นแล้วก็แทบจะดูไม่ได้ เพราะมันบวกเป็นลัทธิไสยศาสตร์มากเกินไป
ลัทธิเดิม ๆ ของทิเบตที่เขามีอยู่อย่างไร ที่เขาเคยถือเคยรับ ถือกันมาเป็นประโยชน์อย่างยิ่งประจำชาติอยู่มันก็ถูกบวกเข้าไปด้วย ดูเหมือนจะเรียกว่า บอน บอน (bon) ไอ้ลัทธิบอนป้าน่ะถูกบวกกันเข้ากับพุทธศาสนาก็เป็นพุทธศาสนาอย่างทิเบต จีน อินเดีย จีน ญี่ปุ่นนี่ก็เหมือนกันแหละ มันก็บวกกันเข้ากับวัฒนธรรมหรือว่าศาสนาเดิมที่มีอยู่ก่อนเป็นพื้นฐาน ในฐานะเป็นวัฒนธรรมก็ถูกบวกกันเข้า ทีนี้ในประเทศไทยเราก่อนนี้ก็ถือไสยศาสตร์ซึ่งเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ นี่นี่ควรจะรู้กันเสียด้วยว่าก่อนพุทธศาสนาเข้ามาในดินแดนแถบนี้ คนในดินแดนแถบนี้ถือศาสนาพราหมณ์ เรียกว่า พราหมณ์ มีลักษณะเป็นไสยศาสตร์ พึ่งพระเจ้า ถือพระเจ้า พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ แล้วแต่เรื่อง ถือกันอยู่เป็นปกติ พอพุทธศาสนาเข้ามามันก็ต้องปนกันเป็นธรรมดาเพราะมันเลิกไม่ได้ โดยเฉพาะคนชั้นต่ำที่มีสติปัญญาน้อยมันเลิกไม่ได้ มันเลิกไม่ได้ ยังต้องมีอยู่ พุทธศาสนาเข้ามาก็เข้ามาเลยต้องผสมกัน ผสมกัน แล้วพูดโดยตรงก็คือผสมกันจนกระทั่งทุกวันนี้ จนเดี๋ยวนี้มันก็ยังมีพุทธปนกันอยู่กับศาสนาพราหมณ์ หรือว่าพุทธปนไสย
แม้ในพระราชพิธีมันก็มี ถ้าศึกษาทางโบราณคดีกันหน่อยก็เห็นชัดตามหลักฐานที่ปรากฏอยู่ว่า ในเมืองไชยาเมื่อ ๑,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว สมัยศรีวิชัย ๑,๓๐๐ ปี ๑,๕๐๐ ปี วัตถุสำคัญ ๆ ก็ขุดพบว่ามีโบสถ์ ๒ โบสถ์ โบสถ์พุทธและโบสถ์พราหมณ์ อยู่ในที่ดินผืนเดียวกันหรือในวัดเดียวกัน โดยมากมักจะเป็นตอนหน้าวัด หน้าวัดจะมีโบสถ์พราหมณ์ เป็นบริเวณพอสมควรไม่มากนัก แล้วก็ในนี่วัดก็มีโบสถ์พุทธ โบสถ์พุทธ ประชาชนชาวบ้านมาวัดมันก็แล้วแต่พอใจจะไปไหว้พระที่โบสถ์ไหน ถ้าเป็นลูกเด็ก ๆ หรือคนธรรมดาสามัญไม่ค่อยจะรู้อะไรก็ต้องไปที่โบสถ์พราหมณ์ก่อน ไปกราบไหว้ไปบูชาบวงสรวงอ้อนวอนขอร้องอะไรตามที่ตัวต้องการ นี่มันเป็นตามวัฒนธรรมเดิม ทีนี้ผู้ใหญ่หรือผู้ฉลาดหรือผู้ที่สูงไปกว่านั้นก็จะเข้ามาข้างในโบสถ์พุทธว่า นี้ปรากฏในตอนหลัง ๆ ที่ขุดพบตามโบราณคดีน่ะ วัตถุเคารพของพราหมณ์มามาปนอยู่ใน มาปนอยู่กับวัตถุของฝ่ายพุทธ เช่นในพระเจดีย์องค์หนึ่งขุดพบแล้วก็พบทั้งพระพุทธรูป กระทั่งศิวลึงค์หรือฆเนศ ศิวลึงค์ ฆเนศ นี่เป็นรูปเคารพของฝ่ายศาสนาพราหมณ์ ฝ่ายไสยศาสตร์ก็มากองรวมกันอยู่ในพระเจดีย์องค์ในในในห้องห้องในพระเจดีย์น่ะ พระเจดีย์ที่กลวง ก็มีพระพุทธรูปแล้วก็มีวัตถุของฝ่ายพราหมณ์เข้ามารวมอยู่ด้วย
นี่แสดงเห็นได้ชัดว่ามันเคยเอาเข้ามารวมกัน นี้จะไหว้นับถือพร้อม ๆ กัน หรือจะอะไรก็ตามที ล้วนแต่มันแสดงให้เห็นว่ามันเนื่องกัน มันเคยเนื่องกันมันมาด้วยกัน สรุปใจความสั้น ๆ ก็ว่าเมื่อพุทธศาสนาได้เข้าไปถึงประเทศไหนมันก็บวกกันเข้า ผสมกันเข้ากับวัฒนธรรมเดิมของชาตินั้น ๆ มันก็เปลี่ยนรูป พุทธศาสนาก็เปลี่ยนรูปไปนิดหนึ่ง พุทธบริษัทนี่ก็มีการถือชนิดที่เรียกว่าของใหม่พ่วงเข้าไป โดยเฉพาะลูกเด็ก ๆ ซึ่งยังทำอะไรไม่ได้ ศาสนาไสยศาสตร์หรือศาสนาพราหมณ์นี่มันง่ายกว่า มันง่ายกว่ามาก คือมันสอนให้พึ่งผู้อื่น พึ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเราไม่รู้จัก แต่ว่าศักดิ์สิทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้แตะต้องไม่ได้ กราบไหว้แล้วก็จะได้รับผลตามที่ต้องการ นี่มันง่าย นี่มันง่าย ฉะนั้นลูกเด็ก ๆ หรือคนไม่มีสติปัญญาก็ถือเอาได้ง่าย ถือเอาสิ่งภายนอกมาเป็นเครื่องคุ้มครอง มาเป็นเครื่องให้สิ่งที่ตัวปรารถนา นี้ศาสนาพุทธมันดีเกินไปมันต้องทำเองไม่ไม่มีใครช่วยได้ นี้คนเราตามธรรมดามันก็อยากให้คนอื่นช่วยอยู่แล้ว มันก็ต้องรับเอาศาสนาที่จะมีผู้ช่วย ส่วนพุทธศาสนานี่ พระพุทธเจ้าไม่ช่วยได้ ช่วยไม่ได้ในลักษณะเช่นนั้น
อย่างที่มีคำตรัสว่า ตุมเหหิ กิจจัง อาตัปปัง อักขาตาโร ตะถาคะตา ซึ่งแปลว่าพระตถาคตทั้งหลายเป็นแต่ผู้บอกทาง ท่านกิจนั้นกิจ กิจที่ต้องทำนั้นท่านทั้งหลายต้องทำเอง สิ่งที่ต้องทำนั้นท่านทั้งหลายต้องทำเอง พระตถาคตเจ้าทั้งหลายเป็นแต่ผู้บอก บอกวิธี บอกหนทาง เป็นอย่างนั้น นี่หมายความว่าจะมาช่วยยกทั้งดุ้นเหมือนกับความเชื่อในลัทธิอื่นนั้นทำไม่ได้ นี่มันดีเกินไป มันจะมาเป็นวิทยาศาสตร์เสียแล้วมันจะไม่เป็นไสยศาสตร์ ฉะนั้นเราก็มีพุทธศาสนาในลักษณะนี้ที่เป็นแกนที่เป็นถูกต้องช่วยตัวเองทำเอง เป็นไปตามกฎแห่งกรรม ไปเป็นตามกฎ อิทัปปัจจยตา แต่อีกส่วนหนึ่งมันผนวกกันไว้กับศาสนาไสยศาสตร์มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วย ก็อ้อนวอนกันไปก่อนสำหรับคนปัญญาอ่อน สำหรับเด็ก ๆ ก็ถือศาสนานั้นลัทธินั้นกันมาตามลำดับจนกว่ามันจะโตขึ้น มีปัญญาแข็งกล้าขึ้น มันจึงจะละไอ้ไสยศาสตร์มาสู่พุทธศาสตร์ นี่วิธีการอันนี้มันก็ยังเหลืออยู่จนกระทั่งบัดนี้ ไอ้พวกที่เอาพระแขวนคอใครมีพระแขวนคอบ้าง ก็ดูให้ดีมันเป็นไสยศาสตร์ก็ได้ เป็นพุทธศาสตร์ก็ได้
ถ้าหากว่าเอามาแขวนด้วยเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองป้องกันหรือให้ได้ลาภได้อะไร อย่างนี้มันเป็นไสยศาสตร์ ถ้าเอามาแขวนเพื่อกันลืมพระพุทธเจ้า กันลืมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มาคอยกระตุ้นให้ประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องอยู่เสมอ ถ้าแขวนอย่างนี้มันเป็นพุทธศาสตร์ ใครเอาพระมาแขวนคอก็ทำเสียให้ถูกนะ ตั้งจิตตั้งใจเสียให้ถูก มิฉะนั้นมันก็จะเป็นไสยศาสตร์ ทำถูกมันจึงจะเป็นพุทธศาสตร์ หรือใครมันจะจะเอากันง่าย ๆ ว่ากูเอาทั้งสองอย่าง เป็นทั้งไสยศาสตร์ทั้งพุทธศาสตร์อย่างนี้ก็ตามใจ แต่ถ้าว่าจะเป็นพุทธบริษัทกันแล้วมันก็ต้องมีความคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับการที่จะเอาพระเครื่อง พระพุทธรูป มาแขวนคอให้แขวนอย่างพุทธบริษัท เป็นพุทธานุสสติระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า คอยเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วก็ดับทุกข์ตามแบบที่ว่ามันช่วยตัวเอง จึงจะเป็นพุทธศาสตร์ ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็เป็นไสยศาสตร์ ไอ้ความคิดข้อนี้มันละเอียดอ่อนแล้วมันก็ปนกันได้ง่าย ปนกันได้ง่าย พิธีแม้แต่รัฐพิธี ราชพิธี ก็ยังทำพร้อม ๆ กันทั้งพุทธศาสตร์ทั้งไสยศาสตร์ มีการเชื้อเชิญเทวดาให้มาช่วยอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็มีพระเจ้า พระสงฆ์ มาสวดอ้อนสวดอำนวยพรโดยช่วยให้ไม่ต้องทำเองอย่างนี้ก็มี กระเดียดไปทางไสยศาสตร์ จนกว่าจะมารู้ตามที่เป็นจริงว่า ปฏิบัติอย่างไรจึงจะดับทุกข์ได้จึงจะเป็นพุทธศาสตร์
อยากจะพูดคำสักคำหนึ่งที่อันตราย อันตราย หมายความว่าจะถูกด่า ถูกด่า อันตราย ที่จะพูดว่า ไอ้ที่น่าบูชา น่าบูชาอย่างนี้ ถ้าไปทำอะไรเข้า มันจะจะเริ่มกลายเป็นไสยศาสตร์ ไปทำมากเข้ามากเข้า มันจะกลายเป็นไสยศาสตร์แล้ว ดอกไม้ ธูปเทียนอะไรเหล่านี้มันก็เพื่อจะแลกเปลี่ยนกับไอ้สิ่งที่ตัวต้องการ เอามาบูชาเพื่อเรียกร้องในสิ่งที่ตัวต้องการ และยิ่งทำมากรกรุงรังเต็มไปหมด มันก็ยิ่งเป็นไสยศาสตร์ ดูไอ้หน้าที่บูชาในที่บางแห่ง เต็มไปด้วยอะไรก็ไม่รู้ ล้วนมีความหมายเป็นว่าจะประจบประแจง พระพุทธเจ้าขอร้องอะไรทั้งนั้นน่ะ นี่เราจึงพูดว่าไอ้ที่หน้าที่บูชา ถ้ายิ่งไปทำอะไรเข้ามันจะยิ่งกลายเป็นไสยศาสตร์ ดังนั้นถ้ามีแต่พระพุทธรูปเกลี้ยง ๆ นั่นแหละจะยิ่งเป็นพุทธศาสตร์ แต่ไม่มีใครชอบ ไม่มีใครชอบ และก็วัฒนธรรมไทยก็เปลี่ยนเสียแล้ว เช่นว่าจัดดอกไม้ จัดโต๊ะหมู่บูชานี้เป็นวัฒนธรรมเป็นอะไรไปแล้ว ก็เลยทำเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าทำพอสมควรก็ยังพอไปได้ แต่ว่ายิ่งทำมากไปกว่านี้ก็ยิ่งเป็นไสยศาสตร์แล้ว นี่อย่างนี้มัน มันจะต้องถูกด่าไอ้คนที่เขายังยึดถือเขาก็ด่าผู้พูด แต่นี่เราพูดกันเองนะ รู้กันเองนะ ว่าเป็นความลับภายในก็ได้ ว่าอย่าทำให้มันเป็นไสยศาสตร์ แม้ที่หน้าที่บูชานั้นก็อย่าอย่ามีความหมายเป็นไสยศาสตร์ แม้ที่คอที่เอาพระมาแขวนอยู่น่ะก็ระวังให้ดี อย่าให้เป็นไสยศาสตร์ ให้มันเป็นพุทธศาสตร์ ให้เป็นพุทธานุสสติ
นี่คือศาสนา สิ่งที่เรียกว่า ศาสนา ระบบของศาสนา คือระบบช่วยให้รอด ดังนั้นอย่าลืมว่าแม้ต้นไม้ต้นไร่มันก็มีศาสนาของมัน เปี้ยว ปู แมลง สัตว์เดรัจฉานอะไร มันก็มีศาสนาของมัน คือวิธีช่วยให้รอดตามแบบของมัน พอมาถึงมนุษย์ก็มันมีสูงกว้างขึ้นไป ต้องคิดได้มากคิดได้กว้าง มองเห็นอันตรายกว้างกว่า เห็นอันตรายทางจิตใจก็มี ทางกายก็มี ทางภายนอกก็มี ทางภายในก็มี อันตรายภายนอกมันก็เบียดเบียนชีวิต อันตรายภายในก็เบียดเบียนความสงบสุขแห่งจิตใจ อันตรายเลวร้ายที่สุดก็คือกิเลส แต่คนก็กลัว เสือ กลัวอะไรมากกว่ากลัวกิเลส เพราะไม่รู้จักว่าอันตรายจากกิเลสนั่นมันเป็นอย่างไร ยิ่งรู้จักอันตรายมากขึ้นเท่าใด ปัญหามันก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น มันจะต้องกำจัดอันตรายคือความกลัวนั่นน่ะให้หายไป ดังนั้นเราเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายกันกับสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายที่มีความกลัว มีความทุกข์ ต้องการต่อสู้เพื่อดับทุกข์ ระบบการต่อสู้เพื่อดับทุกข์นั้นก็เรียกว่าศาสนาได้ทั้งนั้น เป็นที่พึ่งเป็นที่ต้านทาน เป็นที่หลบหลีกจากความทุกข์น่ะเป็นศาสนา เอาจิตใจไปเก็บไว้ที่ไหนแล้วไม่เกิดความทุกข์ นั่นแหละคือสัจธรรมที่มีความหมายแท้จริงของศาสนา นี้ศาสนาคืออะไรขอให้สังเกตใคร่ครวญดูให้ดีตามที่กล่าวมาแล้ว
ทีนี้จะดูกันให้ลึกลงไปนิดว่าเหตุใดมันจึงได้เกิดขึ้นมา เพราะเหตุใดมันจึงเกิดศาสนาขึ้นมา เป็นเรื่องของมนุษย์มันต้องเกิดมาจากมนุษย์ มนุษย์หรือสัตว์ก็ได้ก็มีความรู้สึก ก็รู้สึกต่อสิ่งที่เป็นอันตราย แล้วก็มีความกลัว นี้ความกลัวเกิดขึ้นในใจรุ่ม ๆ ทำให้ลำบาก เป็นทุกข์ยุ่งยากลำบาก ก็คิดหาทางที่จะกำจัดความกลัว ความคิดที่จะหาทางกำจัดความกลัว ต้องการจะกำจัดความกลัวนั่นแหล่ะ เป็นบ่อเกิดของสิ่งทีเรียกว่า ศาสนา มีเป็นชั้น ๆๆๆ ตั้งแต่ง่ายที่สุด ต่ำที่สุด จนถึงลึกที่สุด สูงที่สุด ความต้องการจะพ้นจากความกลัว เพราะความกลัวเป็นปัญหา ความกลัวเป็นความทุกข์ อะไรที่มันจะดับความกลัวได้ เขาก็ยึดถือเอาไว้ก่อน เขายังโง่ ยังไม่รู้ตามที่เป็นจริง ได้รับคำสอนอะไรพอพอจะตรงกับว่ามันจะระงับความกลัวได้บ้าง มันก็รับเอาสิ ก็มีคนมาแสดงอย่างนั้น แสดงอย่างนี้ เกิดเป็นพิธีเล็ก ๆ น้อย ๆ ขึ้นมาตามแบบของไสยศาสตร์ ให้ไหว้ฟ้าสิ ไหว้ดวงอาทิตย์ ไหว้ดวงจันทร์สิ ไหว้ต้นไม้สิ ไหว้จอมปลวกสิ ไหว้ภูเขาสิ จะเกิดมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า อะไรมันจะระงับความกลัวได้มันก็ศักดิ์สิทธิ์ ก็ศักดิ์สิทธิ์เรื่อย ๆ มา เปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่างเรื่อย ๆ มา แต่ก็อยู่ในความหมายของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะระงับความกลัว ความทุกข์ออกไปเสียจากจิตใจ นี่ก็มาอย่างแบบหลับ ๆ ไม่มีเหตุผลอันกระจ่างชัดก็ต้องเรียกว่า ไสยศาสตร์ ศาสตร์สำหรับคนหลับ
จนกว่าจะเกิดศาสตร์ที่มันเป็นไอ้เปิดเผยออกมามีเหตุผลออกมา รู้แจ้งในสิ่งนั้น ๆ และแก้ไขที่ต้นตอของมัน อย่างนี้ก็จึงเรียกว่า เป็นพุทธศาสตร์ เป็นศาสตร์ของผู้รู้ ไสยศาสตร์จะระงับความกลัวในขั้นต้น ๆ อย่างโง่เขลา พุทธศาสตร์จะระงับความกลัวในระดับสูงสุด ละเอียดที่สุด ลึกซึ้งที่สุด จนแทบจะมองไม่เห็น มันก็แบ่งงานกันทำ แบ่งหน้าที่กันทำอย่างขั้นต้น ๆ ก็เป็นไสยศาสตร์ไปก่อนสูงขึ้นไปก็เป็นพุทธศาสตร์ขึ้นมาเอง ตลอดเวลาที่คนยังโง่อยู่ในโลกอันมีปัญญาอ่อนอยู่ในโลก ไสยศาสตร์มันก็เลิกไม่ได้มันเลิกไม่ได้ ฉะนั้นมันต้องทำให้คนหมดโง่เสียก่อน ทำให้คนมีปัญญากล้าแข็งเสียก่อน มันจึงจะเลิกไสยศาสตร์ได้ ถ้าไปเลิกไสยศาสตร์ไอ้คนโง่ก็ไม่รู้จะถืออะไร เดี๋ยวมันก็ปวดหัวตาย เป็นโรคประสาทตาย ไอ้ไอ้ไอ้คนเหล่านี้ก็ถือไสยศาสตร์ แก้ปวดหัวแก้โรคประสาทกันไปพลางก็แล้วกัน แต่ว่าพร้อมกันนั้นน่ะจะต้องศึกษาให้รู้มากขึ้น รู้มากขึ้น รู้มากขึ้น จนรู้ความจริงว่าไอ้สิ่งที่ทำให้เราเป็นทุกข์นั้นคืออะไร ในที่สุดเขาจะพบกับสิ่งที่เรียกว่า กิเลสนั่นแหละกิเลส ความโง่น่ะทำให้เรากลัว ถ้าเราเลือกกิเลส โดยเฉพาะไอ้ความโง่เสีย มันก็จะหมดปัญหาเหล่านี้ มันก็จะเบาบางลงไป มันก็เอาตัวรอดได้นี่มันจึงมาทีหลัง ไอ้ความรู้ที่เป็นเหตุผลของสติปัญญานี่มันมาทีหลังความไม่รู้ซึ่งงมงาย
เพราะว่าเราเกิดมาในท้องแม่ จากท้องแม่เราก็ไม่รู้ เราก็ไม่ได้รู้อะไรติดมา เราก็ต้องทำไปตามสิ่งที่แวดล้อมครั้งแรก แล้วก็เรามีความกลัว มีความกลัวอยู่ในใจเป็นต้นทุนอยู่ภายใน ใครเสนอไอ้สิ่งที่ระงับความกลัวได้เราก็พอใจเราก็รับเอาทันที เขาบอกให้ไหว้อะไร ไหว้ดวงอาทิตย์ ไหว้ดวงดาว ไหว้อะไรไปแล้วแต่จะเรียกแล้วจะหาย จะหาย จะหาย เราก็ไหว้ แล้วเรามันก็หายไปได้จริงเหมือนกัน ตามตามตามที่ที่ความเชื่อมันมีแล้วมันก็กลับมาอีก มันก็เต็มไปด้วยความกลัวตามเดิม ยิ่งถือไสยศาสตร์เท่าไร ก็ยิ่งมีความกลัวสะสมไว้มากเท่านั้นมันเป็นคู่กัน ฉะนั้นพอจะมารู้แจ้งเห็นจริง รู้จักต้นเหตุแห่งความกลัว ตัดต้นเหตุแห่งความกลัวในระดับสุดท้ายสูงสุด คือตัดความรู้สึกว่าตัวตนเสีย ที่เราพูดกันแล้วเมื่อคืน ถ้าดับตัวตนเสีย มีสติปัญญา ไม่โง่อย่างมีตัวตนไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นตัวตน นี่มันก็จึงมาเป็นไอ้พุทธศาสตร์ได้สูงสุด นี้คนมันเคยชินกับตัวตน อาศัยความเห็นแก่ตัว การเห็นแก่ตัวตนนั่นแหละ เป็นอยู่มาแต่เดิม เป็นเหตุให้ทำการทำงานขวนขวายต่าง ๆ นานา ยึดมั่นในผลของการกระทำที่เรียกว่า ดีๆๆ จึงจะทำจึงทำความดี หรือความรอดนั้นด้วยความยึดมั่น
พอมาได้รับคำสอนใหม่ว่า ไม่ต้องยึดมั่น มันก็ฟังไม่ถูก คำสอนที่มันสูงขึ้นมาแล้วมันก็สอนไม่ต้องยึดมั่น อย่าทำอะไรด้วยความยึดมั่นถือมั่นเลย แต่จงทำอะไรด้วยสติปัญญาเถิด มีสติปัญญารู้ตามที่เป็นจริงว่าเป็นอย่างไร ได้ผลอย่างไร ต้องการผลอย่างไรก็ทำให้ถูกต้องตามนั้นด้วยสติปัญญา อย่างนี้มันไม่ต้องยึดมั่น คือมันไม่หนัก ไม่หนักอกหนักใจมาตั้งแต่ต้น ยกตัวอย่างเรียนหนังสือ เรียนหนังสือของนักเรียนนี่เรียนตามสบายด้วยสติปัญญา ก็สบาย ก็เบา แต่ถ้าเรียนด้วยความยึดมั่น ถือมั่น มันก็เครียด มันก็เครียด มันมันใกล้กับความเป็นโรคประสาท อย่าเอาความเครียดหรือความยึดมั่นถือมั่นมาเป็นปัจจัย เป็นกำลังสำหรับจะทำอะไรเลย เอาสติปัญญารู้ว่าทำอย่างไรได้ผลอย่างไร ทำอย่างไร ได้ผลอย่างไรก็เลือกเอาตามที่ตัวต้องการ แล้วก็ทำไปมันก็ได้ผล ฉะนั้นก็ไม่ต้องหวัง ถ้าหวังมันเป็นยึดมั่นถือมั่น แต่ทำด้วยสติปัญญา พอมีหวังมันก็เป็นความหนักขึ้นมา มันจะทำให้ฟุ้งซ่าน ทำให้มืดมนเสียอีก ไม่ต้องหวังทำจิตใจแจ่มใส ผ่องใส ด้วยสติปัญญา เล่าเรียนศึกษาไปทำการงานไปมันก็ได้ผลดี อย่างนี้เรียกว่ามันเปลี่ยนแล้ว มันเป็นคนละแนวแล้ว ทีแรกไม่รู้ก็ทำด้วยความยึดมั่นถือมั่น ด้วยความหวังด้วยความเครียดก็เป็นทุกข์ มีชีวิตที่เป็นทุกข์
ต่อมาก็ทำด้วยสติปัญญา พอใจ เป็นสุข แล้วบางทีก็สนุกด้วย ตลอดเวลาที่ทำจะเรียนก็ได้ จะทำการงานก็ได้ จะดำรงชีวิตอย่างไรก็ได้ ทำไปด้วยสติปัญญา ที่เขาทำกรรมฐานทำวิปัสสนาทำอะไรกัน ก็เพื่อให้รู้เรื่องนี้แหละ เพื่อให้รู้เรื่องนี้ ให้รู้จักหน้าตาของกิเลส รู้จักความทุกข์ที่กิเลสมันสร้างขึ้นมา แล้วก็รู้จักวิธีกำจัดกิเลสนั้นเสีย ไอ้ความทุกข์มันก็เกิดไม่ได้ นี่ผลของการปฏิบัติสมาธิ ภาวนา กรรมฐาน อะไรมันก็คือตอนสุดท้ายของปัญหา เป็นเรื่องลึกซึ้งในชั้นจิต ชั้นวิญญาณ ซึ่งเป็นของยากหรือเป็นของสุดท้ายของมนุษย์เรา ถ้าเป็นเรื่องง่าย ๆ ทำมาหากิน เลี้ยงปากเลี้ยงท้องก็ทำกันไปได้ สอนกันไปได้มีอยู่เป็นปกติแล้ว แต่แม้ว่าจะทำได้จนรวยแล้ว มีอำนาจวาสนาแล้ว มีอะไรแล้ว ไอ้ความทุกข์ทางกิเลสมันก็ยังมีอยู่ ต่อให้เป็นเทวดา ไอ้ความทุกข์ทางกิเลสมันก็ยังมีอยู่ ดังนั้นจึงต้องมีการปฏิบัติในระบบที่สูงขึ้นไปทางจิตทางใจ ซึ่งเรียกว่ากรรมฐาน สมาธิ ภาวนา แล้วแต่จะเรียก ถ้าปฏิบัติสำเร็จมันก็ป้องกันไม่ให้เกิดกิเลสได้จริงเหมือนกัน กิเลสไม่เกิด มันก็ไม่มีความทุกข์จริงเหมือนกัน นี่เรียกว่าเป็นขั้นสูงสุดของมนุษย์ ที่เขาสมมุติเรียกกันว่า เป็นพระอรหันต์ มนุษย์สูงสุด ยอดสุดของมนุษย์ ไม่รู้จักกับความทุกข์อีกต่อไป มันมาจากความกลัวนะ
ลัทธิศาสนาทั้งหลายมันมามามันมาจากความกลัวของมนุษย์ที่กลัวอย่างโง่เขลาหรือกลัวอย่างฉลาดก็ตามใจ ถ้ามันมีความกลัวแล้วมันมีปัญหา ก็ต้องกำจัดทั้งนั้น เขาจึงถือเอาว่าไอ้ความกลัว ความทุกข์ หรือกลัวอะไรที่ทำให้เกิดทุกข์ของมนุษย์น่ะ เป็นเหตุให้เขาค้นหาไอ้สิ่งที่จะช่วยระงับได้ มันก็พบระบบศาสนาแบบนั้น ๆ ตามภูมิตามชั้น ตามความเหมาะสมแก่สถานะของตน ดังนั้นระบบทำลายความกลัวหรือศาสนามันจึงมีอยู่หลายชั้น หลายระบบ หลายชั้นเป็นชั้น ๆ ตั้งแต่ต่ำสุด จนถึงสูงสุด นี่เราเป็นพุทธบริษัทนี่ก็เรียกว่ามัน มันไม่ต่ำแล้ว มันไม่งมงายแล้ว มันไม่เป็นไสยศาสตร์แล้ว มันเป็นพุทธศาสตร์แล้ว ก็ควรจะรับเอาให้ได้ ปฏิบัติให้ได้ ใช้แก้ปัญหาให้ได้ ให้มีชีวิตอยู่อย่างปกติสุข ในการที่จะคิดทำอะไร หาอะไร มีอะไร ก็ให้มันถูกต้อง ไม่ต้องเป็นทุกข์ เมื่อทำงานทำอะไรอยู่ ก็ได้ผลอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ก็ต้องไม่เป็นทุกข์ หากสมมุติว่าจะทำนา ทำนาทำสวน ก็ทำนาทำสวน โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ อย่าทำนาทำสวนด้วยความปนทุกข์ เพราะความโง่ เพราะความหวัง เพราะความยึดมั่นถือมั่น มันจะเป็นทุกข์และเดี๋ยวมันก็จะเลิก เลิก เลิกทำไปเป็นอันธพาลดีกว่าไปปล้นไปจี้ดีกว่า มันจะไปรูปนั้น
ฉะนั้นจะต้องไม่เป็นทุกข์ทุกขั้นตอน เมื่อหาเงินก็ไม่เป็นทุกข์ ทำงาน เมื่อมีเงินก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ เมื่อใช้เงินก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ เมื่อเอาเงินไปช่วยผู้อื่นก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ มันไม่ต้องมีความทุกข์เพราะเพราะเงินกันตลอดสาย บางคนมีเงินมันก็มีแต่ความเป็นห่วงวิตกกังวล ยิ่งมีมาก ยิ่งเป็นทุกข์มาก ยิ่งยิ่งยิ่งยิ่งหวงมาก เป็นโรคประสาทเลย มันไม่ถูกอย่างนี้มันไม่ใช่พุทธะ ไม่รู้ ไม่ตื่น ไม่เบิกบาน ถ้าว่าเป็นพุทธะจริง คือ รู้จริง ตื่นจริง เบิกบานจริง มันต้องไม่เป็นทุกข์ เราจงเป็นพุทธบริษัทกันให้ถูกต้องคือลืมหูลืมตา ตื่นจากหลับคือกิเลส ถ้าเรียนหนังสือนี่ เรียนหนังสือเพื่อจะสอบไล่ได้นี่ ก็เรียนโดยไม่ต้องเป็นทุกข์ และก็อย่างจะพอใจและเป็นสุขเสียด้วย อย่าทำด้วยความยึดมั่นถือมั่นเลย ทำด้วยสติปัญญาที่ถูกต้องและพอดี ก็จะเรียนสนุก และเป็นสุข เมื่อการเมื่อมีการเรียนเมื่อเรียนนั่นน่ะมีความสุขแล้ว เรามีทางที่จะทำได้อย่างนี้ ศาสนามันเกิดขึ้นเพื่อจะขจัดปัญหา คือความกลัวของสิ่งที่มีชีวิตที่รู้จักกลัว เดี๋ยวนี้มันมีการพิสูจน์ได้โดยวิทยาศาสตร์ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทำเครื่องวัด เครื่องพิสูจน์กัน ทดลองขึ้นมาได้ กระทั่งว่าแม้แต่ต้นไม้ก็มีความกลัว บางคนจะหัวเราะ หรือคนบางยุคบางสมัยก็จะหัวเราะ
นี่เคยอ่านข่าวสารเรื่องนี้ ที่เขาแถลงการณ์ออกมาในในสมาคมนักค้นคว้าเรื่องนี้ ต้นไม้มีความกลัว ต้นไม้มีความพอใจ สบายใจ มีความทุกข์ พิสูจน์กันด้วยเครื่องมือทางวัตถุนี่ไม่ใช่เรื่องทางจิต เครื่องวัดระระระบบความรู้สึกทำขึ้นมาได้ ให้คนในห้องทดลองให้ให้นักเรียนจำนวนหนึ่งไปแช่ง ไปด่าไอ้ต้นไม้ชุดหนึ่งที่ปลูกไว้เพาะขึ้นมาใหม่ ๆ ให้นักเรียนชุดหนึ่งไปด่า ไปยกย่องสรรเสริญ ไปปลอบขวัญ ไปอวยพร ไปให้ต้นไม้เพาะใหม่อีกชุดหนึ่ง ปรากฎว่าไอ้ชุดแรกนี้เหี่ยวลงไปแล้วก็ตาย ไอ้ชุดหลังนี่มันเจริญได้งอกงาม นี่เรียกว่ามันไอ้ต้นไม้มันก็ไม่ชอบไอ้ด่าแช่ง ถ้าว่าไอ้คนที่เกลียดต้นไม้ ทำลายต้นไม้ เข้ามาในห้องทดลองนั้น ไอ้เครื่องทดลองนั้นก็จะแสดงให้เห็นเลยว่าเป็นไอ้ศัตรูของต้นไม้ แล้วมันก็จริง ถ้าคนที่รักต้นไม้เข้ามาในห้องทดลองนั้น ไอ้เครื่องวัดมันก็แสดงว่า ถูกใจ พอใจ นี่เขาจึงยุติว่าแม้แต่ต้นไม้ก็มีความรู้สึกกลัว หรือพอใจ ที่เขาพูดว่าไปร้องเพลงให้ฟังไปเล่นดนตรีให้ฟัง ในประเทศอินเดียเคยใช้ดนตรีขับกล่อมในนาข้าวที่กำลังจะออกรวง ก็ปรากฏว่าได้ผลดี อันนี้มันไปมันมีมีเหตุผลแห่งความจริง มันไม่ไม่ไม่ไม่ใช่เรื่องงมงาย เพราะมันมีการพิสูจน์ทดลองได้โดยทางวัตถุและแม้ทางจิตใจ
ฉะนั้นเราก็มีเหตุผลอย่างนั้นก็มันมีความรู้สึกเหมือนกัน มันมีความรู้สึก ถ้าเราอยากจะให้ต้นไม้ที่มันไม่ไม่ออกผลน่ะ ต้นไม้ที่มันไม่ออกออกผล แล้วก็ไปทำให้มันตกใจ ไปตัด ไปฟัน เอาไฟไปลนอะไรอย่างนี้ ต้นไม้นั้นก่อนแต่จะตายก็จะออกผล ออกผลมาทั้งที่ไม่เคยออกมากี่ปี กี่ปี เคย เคยทำดูกันเล่น ก็มีเหมือนกัน เป็นต้นขนุนที่ไม่เคยออกผล เอาไฟสุมเข้ามันก็ออกผล เพราะมันจะตายมันเตรียมตัวสำหรับจะตาย มันกลัวจะสูญพันธุ์มันเลยรีบออกผล นี่แสดงว่ามันมีความรู้สึกนะ ส่งที่มีชีวิตแล้วจะต้องมีความรู้สึกทั้งนั้น ดังนั้นชีวิตอย่างต่ำ ๆ เช่น ต้นไม้มันก็มีความรู้สึกกลัวตาย กลัวสูญพันธุ์ ฉะนั้นเราจึงมีหลักที่ว่าจะต้องเมตตา ปราณี สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายแม้แต่ต้นไม้ ต้นไร่ อย่าว่าถึงสัตว์เดรัจฉานเลย แม้แต่กะต้นไม้ต้นไร่ เราก็จะถือว่ามันก็เป็นเพื่อน เป็นเพื่อน เพื่อนเกิด เพื่อนเแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตายของเรา ไม่ประทุษร้ายแม้แต่ต้นไม้ อย่างนี้ถูกต้อง เป็นระบบที่มันลึกซึ้งกว้างขวาง ถึงที่ เต็มที่ ทีนี้ผลของศาสนา ศาสนามันเกิดมาจากความกลัว ตั้งต้นขึ้นเพราะความกลัวของของคนที่ที่รู้สึกกลัว ผลของมันก็ตรงข้ามคือ ระงับความกลัว อย่างที่รู้จะพูดแล้วเมื่อคืนว่ามันมี ๓ วิธี คือ ศรัทธาระงับความกลัว จนบังคับจิตระงับความกลัว ด้วยปัญญาที่ถูกต้องระงับความกลัวเป็นหลักที่ใช้กันมานมนาน โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย ถึงถึงกับบัญญัติแก่พระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าบางองค์มีระบบศรัทธาเพื่อจะระงับความกลัวของสัตว์ทั้งหลาย พระเจ้าบางองค์มีระบบบังคับจิต ก็จะระงับความกลัว พระเจ้าบางองค์ก็มีระบบปัญญาที่จะระงับความกลัว แต่ว่าพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันที่เรานับถืออยู่นี่ ใช้ระบบปัญญา เราจะผูกขาดเสียหมดก็ไม่ได้ ไว้ให้พวกอื่นบ้าง ไอ้ระบบที่เขามีพระเจ้าอย่างนั้นพระเจ้าอย่างนี้นั้นน่ะ เขาจะต้องระงับด้วยศรัทธา คือ เขาต้องศรัทธาในพระเจ้าอย่างสูงสุดเต็มที่ ความกลัวมันจึงระงับหายไป หรือจะพูดประนีประนอมกันให้มากไปกว่านั้น ก็ว่าเขาเชื่อในพระเจ้า นั่นมันเป็นไอ้ของพระเจ้าให้มา ไม่ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกลัวเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นของพระเจ้าให้มา บันดาลให้มา ประทานให้มามันก็ไม่ต้องกลัว เชื่อในพระเจ้าอย่างนี้ ก็ไม่กลัวได้เหมือนกัน แล้วก็แพร่หลายมาก ระบบนี้มีมาก ศาสนาที่มีพระเจ้ามีมากกว่า พระเจ้าอย่างอย่างคนน่ะ มีคนเชื่อรับถือได้ง่ายกว่า มากกว่า และอ่อนกว่า พื้นฐานกว่า ส่วนพุทธศาสนานี่มันเพิ่งแตกแยกออกไป แตกแยกออกไป ฉันไม่เอาอย่างนั้น จะเอาอย่างที่ความจริง ไม่ไม่ต้องใช้ศรัทธาแบบนั้น ฉะนั้นพวกหนึ่งเขาใช้บังคับจิต ฉันบังคับจิตไว้อย่างนี้ ไม่ให้กลัวนี่ มีสมาธิมีอะไรก็ตาม เข้าฌานเข้าสมาบัติไปตามเรื่องฉันก็ไม่กลัวนี่ อยู่ในสมาบัติสมาบัติเสียมันก็ไม่กลัว ก็ไม่มีความทุกข์ด้วยเหมือนกัน นี่บังคับเอาไว้เลย การทำจิตให้เป็นอย่างอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งเสีย ไม่ต้องกลัว แต่มันไม่เด็ดขาด มันไม่ถาวร มันไม่ตลอดกาล เราก็ไม่เอา เราจะมาเลือกเอาวิธีสุดท้าย คือปัญญา ปัญญามองเห็นชัดเจนว่าเหตุของความกลัวนั้นคืออะไร และตัดต้นเหตุนั้นเสีย แล้วในที่สุดก็พบว่าไอ้ความกลัว ความกลัวนี่มันมาจากความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวว่าตัวตนว่าของตน มันจึงเกิดความกลัว มันกลัวตัวตนจะตาย กลัวตัวตนจะไม่ได้ นี้มันมีความกลัว เราก็จะมีการตัดต้นเหตุแห่งความกลัวเลย รู้ตามที่เป็นจริงว่า ไอ้ตัว ไอ้ของตัว ไอ้ตนนั้นมันไม่ได้มีอยู่จริง มันเป็นความคิดโง่เขลา ที่เกิดมาจากอวิชชา เราฉลาดเสีย ความรู้สึกว่าตัวตนก็ไม่มี มันก็ไม่มีใคร ไม่มีใครตาย ไม่มีใครเจ็บ ไม่มีใครเป็นอะไรอย่างที่กลัวกันนัก เพราะมันไม่มีตัวตน นี่จึงตัดความกลัวได้ลึกซึ้งถึงที่สุด ถึงไอ้รากเหง้าอันแท้จริง นี่เป็นระบบของปัญญา ถ้าเราระงับจิตหรือความทุกข์ที่รู้สึกแก่จิต ไม่มี จิตก็ไม่ต้องกลัว จิตก็หลุดพ้นจากความกลัว จิตก็หลุดพ้นจากความทุกข์ หลุดพ้นจากความทุกข์ ความหลุดพ้นของจิตมีเพราะปัญญา นี่เป็นหลักตายตัวว่า จิตหลุดพ้นจากปัญหาทุก ๆ ชนิด เพราะมีปัญญา จะเอาความเชื่อมาเป็นหลัก ก็ประเดี๋ยวประด๋าว จะเอาการบังคับจิตมาเป็นหลัก มันก็ชั่วบังคับเท่านั้นพอไม่บังคับมันก็เป็นอีก มันจึงสู้ตัดต้นเหตุนั่นเสียไม่ได้ ทำสมาธิ วิปัสสนา ทำกรรมฐาน ทำอะไรก็ให้รู้จักไอ้ต้นเหตุอันแท้จริงแล้วก็ตัดมันเสีย มันก็เลยพ้นจากความกลัวหรือความทุกข์โดยเด็ดขาด เพราะมันตัดกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้กลัวเสียได้โดยเด็ดขาด เพราะมันตัดความรู้สึกว่าตัวตน ซึ่งเป็นรากเหง้าต้นตอรากฐานของกิเลสเสียได้ กิเลสมันก็เกิดไม่ได้ มันก็ไม่มีความทุกข์ ความเป็นพุทธบริษัทก็เกิดขึ้น เรียกว่า เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่มีความทุกข์ นี่เรียกว่าผลของศาสนา ผลของศาสนา ศาสนาคืออะไร คือระบบรอด ศาสนาเกิดมาจากอะไร มันก็เกิดมาจากความกลัวอย่างโง่เขลาของมนุษย์ ศาสนามันจะให้ผลอย่างไร ก็คืออยู่เหนือความกลัว เหนือความทุกข์ เหนือปัญหาทุก ๆ อย่าง
อันสุดท้ายที่เราจะต้องพูดว่าทำอย่างไรกันจึงจะเป็นอย่างนั้นได้ หรือทำอย่างไรจึงจะมีศาสนา นี้คือว่า มันเป็นระบบช่วยตัวเองนะ ไม่ไม่ไม่ต้องการให้พระเจ้า ผีสางเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหนมาช่วย ถ้าไปคิดอย่างนั้นมันเป็นไสยศาสตร์ มันไม่ใช่พุทธศาสตร์ เรามาคิดอย่างเป็นพุทธศาสตร์ เมื่อรู้จักต้นเหตุรากเหง้าของความกลัว หรือความทุกข์แล้ว ก็มาปฏิบัติเสียใหม่ ดำรงชีวิตเสียใหม่ ชนิดที่มันเกิดไม่ได้ เรียกกันง่าย ๆ ง่ายๆ ที่สุดเลยว่า ระบบแห่งความถูกต้อง จงเป็นอยู่ให้ถูกต้องมีการประพฤติกระทำอย่างถูกต้อง ที่เรียกว่า ความถูกต้อง ๘ ประการ หรือ อัฏฐังคิกมรรค อริยมรรคมีองค์ ๘ ช่วยจำกันไว้ด้วย แรกศึกษา แรกเรียน อย่าพูดว่า มรรค ๘ มันผิด ได้ยินคนพูดกันมากเหมือนกันว่า มรรค ๘ มรรค ๘ นั้นมันผิด มันไม่ใช่ ๘ มัน ๑ แค่นั้นน่ะ แต่ว่ามันประกอบด้วยองค์ ๘ มันมี Factor หรือมันมีองค์ประกอบใด ๆ ก็ตาม อยู่ ๘ องค์ แล้วมารวมกันเป็น ๑ ๑ มรรค ๑ หนทาง จึงได้เรียกว่าทางมีองค์ ๘ เป็นการปฏิบัติที่ประกอบอยู่ด้วยความถูกต้อง ๘ ประการ ความถูกต้อง ๘ ประการมารวมกันเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวเรียกว่า มรรคมีองค์ ๘ หรือ อริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะมันประเสริฐ อันนี้เป็นทางที่จะออกจากปัญหาออกจากความทุกข์
เอเสว มัคโค นี้ทางเดียวนี้เท่านั้น นัตถัญโญ ทางอื่นไม่มี พระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างนี้ อริยมรรคมีองค์ ๘ ทางเดียวนี้เท่านั้น ที่จะออกไปจากความทุกข์ได้ ทางอื่นไม่มี ก็สนใจกันบ้างสิ มาทำให้ถูกต้อง ๘ ประการ คำว่าถูกต้อง ถูกต้องนี้ใคร ๆ ก็มีความหมายตามที่ได้ศึกษามา แต่มันมักจะยุ่ง มันชักจะยุ่ง มันชักจะเฝือ ถูกต้องทาง Logic ถูกต้องทาง philosophy ถูกต้องทางอย่างอื่นเหตุผลอย่างอื่นมันยุ่ง เอาเอาถูกต้องตามทางศาสนาดีกว่า ไม่ต้องมีเหตุผลอย่างที่ว่าอันยืดยาว ถูกต้องทางศาสนาก็คือว่า ถ้ามันไม่เป็นอันตรายเป็นผลร้ายแก่ผู้ใด และมันเป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย นั่นน่ะคือความถูกต้อง ถูกต้องมันเป็นอย่างนั้น เป็นสัมมา ถูกต้องคือความเป็นอย่างนั้น ไม่เกิดผลร้ายแก่ฝ่ายใดมีแต่ผลดีแก่ทุกฝ่ายน่ะคือ ความถูกต้อง ไอ้ Logic จะว่าอย่างไร philosophy จะว่าอย่างไร อย่าไปรู้มันเลยป่วยการ มันเถียงกันไม่ค่อยจะมีจบ เพราะมันเอานั่นเอานี่เข้ามา โดยเฉพาะไอ้ความถูกต้องทางการเมืองด้วยแล้วเอาให้ได้หวังให้ได้ หาหาความแน่นอนไม่ได้ ถูกต้องทางศาสนานี่มันยุติ ๆ ยุติว่ามันไม่เกิดความทุกข์ขึ้นมาแต่ฝ่ายใด มันมีแต่ประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ถูกต้อง ช่วยจำไว้ให้ดี ๆ มัน ๘ อย่างเท่านั้น และที่จริงมันก็ได้มีอยู่แล้วด้วย มันจึงรอดอยู่ได้ ถ้าไม่มีเสียเลย ตายแล้ว ตายหมดแล้ว ไอ้ความถูกต้องเหล่านี้มันพอจะมีกันอยู่ด้วยกันทั้งนั้น แต่มันยังไม่สมบูรณ์ ควรจะสนใจและก็ทำให้มันสมบูรณ์
ถูกต้องที่ ๑เ คือ ถูกต้องทางความคิดความเห็น เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น แต่ว่าเห็นด้วยจิตใจ ไม่ใช่เห็นด้วยตา มีทิฏฐิถูกต้อง ก็คือว่าความคิด ความเห็น ความเชื่อความรู้ ความเข้าใจ อุดมคติ อะไรมันถูกต้อง ทั้งหมดนี้ก็เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ก็มีแนวแห่งความคิดที่มันถูกต้อง ถูกต้องในเรื่องทุกข์ ในเรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ ในเรื่องดับทุกข์ ในเรื่องทางให้ถึงความดับทุกข์ มันถูกต้องเจาะจงที่ตัวปัญหาอันแท้จริง เรามีปัญหาที่ความทุกข์อย่างอื่นมันไม่มีนี่ รู้ เข้าใจอย่างถูกต้อง ในสิ่งที่เป็นตัวปัญหา คือความทุกข์ว่าความทุกข์คืออะไร เกิดมาจากอะไร ไม่ใช่ ในที่สุดตรงกันข้ามเป็นอย่างไร ในที่สุดว่าจะทำอย่างไรจึงจะได้อย่างนั้น ถ้ามีความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อ ถูกต้องในเรื่องนี้ มันก็เป็นการตั้งต้นที่ดี สำหรับความถูกต้องต่อไปข้างหน้า ดังนั้นไอ้ความถูกต้องในความคิด ความเห็นอย่างนี้ ท่านเปรียบเหมือนกับว่า รุ่งอรุณ รุ่งอรุณ พระอาทิตย์รุ่งอรุณ อุทัยขึ้นมา มันก็เป็นการเชื่อได้ว่า มันจะมีเวลากลางวัน แสงสว่างเต็มที่ ถ้าเรามีสัมมาทิฎฐิเป็นเบื้องต้นนำขึ้นมาอย่างนี้ มันก็เป็นรุ่งอรุณแห่งความถูกต้องต่อ ๆ ไป มันจึงจะดับความทุกข์ได้สิ้นเชิง มันจึงยกขึ้นมาไว้เป็นข้อแรกข้อที่ ๑ เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ถูกต้องในความคิด ความเห็น ความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อ ความที่จะยึดถือเป็นหลักเป็นแนว
ทีนี้ความถูกต้องที่ ๒ เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ คือมีความต้องการหรือปรารถนาอย่างถูกต้อง ดำริคิดไปแต่ในทางที่ถูกต้อง คนเรามันก็คิดด้วยความปรารถนาทั้งนั้น ปรารถนาอะไรก็คิดไปแนวนั้น ฉะนั้นเราจึงต้องปรารถนาถูกต้องแล้วความคิดมันก็จะถูกต้อง ปรารถนาถูกต้องมันก็ปรารถนาออกจากทุกข์ถูกต้องที่สุด ปรารถนาที่ออกมาเสียจากความทุกข์ แต่ตามหลักก็กล่าวไว้กล่าวไว้เป็น ๓ อย่าง ปรารถนาออกมาเสียจากกาม กามเป็นสิ่งที่ล่อให้หลง ให้ยึดมั่นถือมั่น เอาออกมาเสียจากอำนาจของกาม ออกมาเสียจากอำนาจของความโกรธ ความเกลียด ความพยาบาท ซึ่งมันเป็นไอ้ความเลวร้ายของไอ้ความยึดมั่นถือมั่น แล้วก็ออกมาเสียจากความเบียดเบียนทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา เราจะต้องระมัดระวัง แม้ไม่เจตนาก็อย่าให้เกิดการกระทำ คือ เบียดเบียนแก่ผู้ใด นี่ออกมาเสียจากความเบียดเบียน ปรารถนาที่จะออกมาเสียจากอำนาจของกาม ออกมาเสียจากอำนาจของความพยาบาท เกลียดชัง ออกมาเสียจากการกระทำที่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นในทุกกรณี รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ต้องระวัง ก็เลยเป็นการปรารถนาที่ถูกต้อง มันเป็นธรรมดาที่ว่าจะต้องมีไอ้คนธรรมดาจะต้องมีก็ควบคุมให้มันอยู่ในร่องในรอย ถ้ายังจะต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า กาม ก็เกี่ยวข้องด้วยความรู้สึกตัว ด้วยความรู้อย่างถูกต้องควบคุมได้ ไม่เป็นไร
พระอริยเจ้าที่ยังครองเรือนอยู่ก็ยังเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่ากาม หรือกิจกรรมทางเพศ หรืออะไรก็ตาม แต่เขาทำอย่างถูกต้อง ก็เลยไม่มีปัญหา ถ้าออกเสียได้โดยสิ้นเชิงมันก็ไม่มีปัญหา ถ้ามองเห็นว่าไอ้เรื่องกาม หรือกามารมณ์ นี่เป็นเพียงความรู้สึกตามธรรมชาติ มีเพียงธรรมชาติ ไม่ไม่ไม่ไปหลงใหล ไม่ไปยึดมั่น ไม่ไปบูชา อย่างนี้ก็เรียกว่า ออกมาเสียได้จากอำนาจของสิ่งที่เรียกว่า กาม มันก็ได้ผลอย่างเดียวกัน ไม่ได้ห้ามว่า อย่าไปกินของอร่อย ได้ ถ้าจะกินของอร่อยก็ก็ก็ได้แต่อย่าไปหลงกับมัน หรือจะฟังผิดจนว่าของอร่อยของดีของอะไรจะไปเกี่ยวข้องด้วยไม่ได้ มันเกี่ยวข้องได้แต่ว่าอย่าไปหลงกับมันก็มีเท่านั้น เมื่อไม่เมื่อไม่หลงกับมันมันก็ไม่มีอำนาจเหนือเรา ก็เรียกว่าเรามาออกมาเสียได้จากอำนาจของมัน ก็เรียกออกมาเสียได้จากอำนาจของสิ่งเหล่านั้น นี่ก็ว่าเนกขัมมะ เนกขัมมะ แปลว่าออกออกออกไปเสียจากสิ่งที่ไม่ควรจะอยู่ด้วย อะไรเป็นสิ่งที่เลวร้ายไม่ควรจะอยู่ด้วยก็ออกมาเสีย ดำริที่จะออกมาอย่างนี้ก็เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ ข้อที่ ๒ สองหัวข้อนี้มาก่อน เป็นเรื่องของปัญญา สังเกตดูให้ดี ท่านตรัสเรื่องของปัญญาก่อน ๒ หัวข้อ สัมมาสติ สัมมาสังกัปปะ
ทีนี้ก็จะตรัสถึงไอ้เรื่องที่ต้องกระทำต่อไป เมื่อปรารถนาถูกต้องแล้วก็กระทำ กระทำต่อไปอย่างถูกต้อง นี่คือเป็นเรื่องของศีลและสมาธิ เรื่องของศีลที่ ๑ ก็คือว่า มีการพูดจาถูกต้อง การพูดจานี้ ถ้าใช้ผิดก็เป็นโทษเลวร้ายยิ่งกว่าอะไรเสียอีก เป็นอาวุธอย่างร้ายแรงกว่าอาวุธธรรมดาเสียอีก ทำความวินาศแก่ทุกฝ่ายได้ ต้องมีการพูดจาถูกต้อง ไม่เท็จคือไม่หลอกลวงเอาประประโยชน์ของเขามาด้วยวาจา ไม่ส่อเสียด คือไม่ทำลายความสามัคคี ความรักใคร่กลมเกลียวของบุคคล แล้วก็ไม่หยาบคาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ระคายเคืองไปหมด ให้มีแต่ความไพเราะหรือพอดี แล้วก็ไม่เพ้อเจ้อคือ เสียเวลาเปล่า ถ้ามันมันไม่ได้ประโยชน์คือ เพ้อเจ้อ เสียเวลาเปล่า แล้วมันแถมมันให้โทษด้วย แล้วก็ยิ่ง ๆๆๆ เลวร้ายกว่าเพ้อเจ้อเสียอีก ฉะนั้นอย่าใช้เวลาไปในทางที่มันไม่เป็นประโยชน์ อย่าใช้คำพูดไปในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ ไอ้บทเพลงอันยั่วยวนนั่นน่ะ ดูเถอะ มันมันเลยไม่ให้ประโยชน์ แล้วมันยังให้โทษ มันก็ยิ่งกว่าเพ้อเจ้อ เดี๋ยวนี้มันมีมากเกินไปในโลกนี้ มีเครื่องมือสื่อสารให้บทเพลงหาฟังได้ทั้ง ๒๔ ชั่วโมง นี่มันเกินกว่าเพ้อเจ้อเสียอีกระวังให้ดีอย่าไปหลงกับมันนัก ไม่ทำผิดทางวาจามีความถูกต้องทางวาจานี่เรียกว่า สัมมาวาจา การพูดจาอันถูกต้อง คือ มันจริงด้วย แล้วมันมีประโยชน์ด้วย แล้วมันก็ไพเราะด้วย มันจริงด้วย มันมีประโยชน์ด้วย แล้วมันก็ไพเราะด้วยนั่นน่ะเรียกว่าสัมมาวาจา ถ้าไม่มีประโยชน์น่ะยกเลิกได้เลย แม้จะไพเราะอย่าไปเอากับมันเลย ถ้ามันจริงก็ต้องจริงชนิดที่มีประโยชน์ จริงชนิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับเราก็ไม่ต้องก็ได้ มันต้องจริงๆด้วยและก็มีประโยชน์ด้วยแล้วก็ชวนฟัง น่าฟัง ไพเราะด้วยก็เรียกว่า วาจาที่ดี
ถูกต้องถัดไปก็ถูกต้องทางกายกรรม อย่างที่รู้กันโดยทั่วไปว่าศีล ๕ นั่นแหละ แต่ศีล ๕ ก็รวมเอาวาจาไว้ด้วย เอาแต่ที่เกี่ยวกับการกระทำ ไม่ประทุษร้ายชีวิตร่างกาย กระทบกระทั่งแก่ผู้ใด ไม่ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของผู้ใด ไม่ประทุษร้ายของรักของใคร่ของผู้ใด ไม่ประทุษร้ายสติสมปฤดี ปัญญาสัมปชัญญะของตนเองคือดื่มของเมา อันนี้เป็น เป็น เป็นหลักทั่วไปทั่วไป เป็นพุทธศาสนาในพุทธศาสนานอกพุทธศาสนาเป็นหลักสากลแต่โบราณดึกดำบรรพ์ที่เรียกว่าศีล ๕ นั้นน่ะ แต่ให้ถือให้กว้างกว่า ใช้คำว่า ไม่ประทุษร้ายโดยวิธีใด ๆ ในชีวิตและร่างกายของผู้อื่น อย่าใช้คำแค่แค่ว่า ไม่ฆ่า แต่มันก็มีวิธีทำอย่างอื่น ประทุษร้ายอย่างอื่นนะ ก็ใช้ไม่ได้ทั้งนั้น ถ้ามีการประทุษร้ายชีวิตและร่างกายของผู้อื่นให้เขาตายก็ดี ให้เขาเจ็บปวดก็ดี เขาพิการก็ดี เขาเป็นอย่างไรก็ตาม ไม่ได้ ไม่ประทุษร้ายชีวิตและร่างกายของใคร ๆ ของสิ่งใด ๆ แม้แต่มด แมลง ถ้าเราได้กระทำ กระทำได้แก่มด แมลง มันก็ทำได้สูงขึ้นมา สูงขึ้นมา เดี๋ยวฆ่าสัตว์ตัวโต ๆกระทั่งฆ่าคนก็ได้ ดังนั้นท่านจึงสอนให้ถือไว้อย่างปลอดภัยที่สุด แม้กระทั่งมด แมลง มันก็จะเป็นพื้นฐานสำหรับคำว่าดีขึ้นไป สูงขึ้นไป จนถึงกับว่าไม่อาจจะฆ่าคน ทีนี้ก็ไม่ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติ เอามาก็ตาม ไม่เอามาก็ตาม เขาเสียเปล่าก็ตาม ได้ประโยชน์แก่ใครก็ตาม ถ้าไม่มีมีการเสียหายขึ้นแก่เจ้าของทรัพย์สมบัติแล้วก็เรียกว่าผิดแล้ว เราจะไม่ประทุษร้าย วิธีลักวิธีหลอกลวง วิธีตระบัตวิธีกลอุบายใด ๆ ก็ตาม ซึ่งไม่เรียกว่า ลัก แต่มันเป็นการประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของเขาทั้งนั้น เราเว้นขาดจากการประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของผู้อื่น
นี้ข้อที่ ๓ ไม่ประทุษร้ายของรักใคร่พอใจของผู้อื่น นี่มันผิดกันจากผิดจากทรัพย์สมบัติ ผิดยังไงไอ้ของรักของใคร่ของพอใจ มันก็มักจะรวมอยู่ในทรัพย์สมบัติ แต่มันอีกความหมายหนึ่ง ไอ้ประทุษร้ายของรักของใคร่นี้มันประทุษร้ายน้ำใจของบุคคลผู้เป็นเจ้าของด้วย แล้วก็จะต้องมีขอบเขตไม่จำกัด ถ้ามันเป็นที่รักที่พอใจเราก็อย่าไปประทุษร้าย ไม่ใช่เรื่องเพศเรื่องกามารมณ์ ไม่ใช่เรื่องชู้สาวอย่างเดียว แม้แต่เรื่องของเด็ก ๆ ที่ยังไม่เดียงสาทางเพศทางกามารมณ์ แต่ถ้าเขามีสิ่งเป็นที่รักที่พอใจ เช่น ของเล่น ของอะไรเป็นต้นอย่างนี้ เขาก็ถนอม อย่าไปแตะต้อง แม้แต่เพียงแตะต้อง แม้แต่เพียงลูบคลำ ซึ่งเจ้าของเขาไม่พอใจ ถ้าถือได้อย่างนี้ก็จะถือได้ดีที่สุด ก็สูงขึ้นไปถึงเรื่องทางเพศ ทางกามารมณ์ เรื่องเรื่องมันเป็นเรื่องแรงร้ายที่ทำให้เกิดการฆ่ากันตาย นี่ถือให้ทั่วไว้กว้างขวางทั่วไปว่าถเเป็นของรักของพอใจของผู้อื่นแล้วอย่าไปประทุษร้าย เจ้าของเขาเจ็บช้ำน้ำใจ ก็มีหมดโดยวิธีใดก็ตาม นี้อย่าประทุษร้าย ให้สติ สัมปชัญญะ ปัญญา สมปฤดี คือ ความปกติ แห่งจิตของตนเองให้มันเสียไป ให้มันฟั่นเฟือนไป ท่านใช้คำรวม ๆ ว่า สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ยกตัวอย่างเช่น เมรัย สุราและเมรัย สุรา คือ ของเมาที่ปรุงแต่งอย่างดี เมรัย คือ ของเมาที่ยังดิบอยู่ ในภาษาโบราณเขาพูดได้เพียงเท่านั้น แต่ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้ก็พูดได้ว่าทุกอย่างที่ปรุงแต่งอย่างสูงสุดกับที่ไม่ปรุงแต่งอย่างสูงสุด เช่น สูบฝิ่นมันก็อยู่ในระดับต่ำ ถ้าเสพเฮโรอีนก็ในระดับที่ปรุงแต่งแล้ว จากมอร์ จากฝิ่นเป็นมอร์ฟีน จากมอร์ฟีนเป็นเฮโรอีน มันมันปรุงแต่งกันหลายที ไม่ว่าจะเป็นของเมาที่ยังดิบอยู่ หรือของเมาที่ปรุงแต่งแล้วก็ตาม
นี่ไปเอากับมันถ้าไปเอากับมันมันก็สูญเสียความปกติ ความสติสมปฤดี เรียกว่า เมา ผิดปกติ คือบ้าไปขณะหนึ่ง จนกว่าจะหายเมา เมื่อสูญเสียสมปฤดีก็ทำอะไรผิดหมด จึงไม่ต้องเอากะมัน อย่าไปทำอะไรเกี่ยวข้องกับอะไรหรือเสพอะไรกับสิ่งที่ทำให้เมา แล้วก็ขยายความไปให้ถึงเรื่องทางจิตใจด้วย เมาทางกาย เมาทางระบบประสาทนี้มันก็เมา แต่ถ้าเมาทางจิตใจ มันก็เมายิ่งไปกว่านั้นอันตรายยิ่งกว่านั้น เมาดูหนัง เมาดูละคร เมากามารมณ์ เมาอะไร กระทั่งเมาสวรรค์เป็นสิ่งที่มีปัญหา สวรรค์เมาได้ แต่เราไม่เคยไปสวรรค์ เราก็ไม่รู้จะเมากันอย่างไร แล้วมันก็คาดคะเนได้ก็คือเมากามารมณ์ ฉะนั้นอย่ามีความเมาทั้งทางร่างกายและทางระบบประสาทกระทั่งทางจิตทางวิญญาณเลย นี่ก็เรียกว่ามีการกระทำที่ถูกต้อง เรียกว่า สัมมากัมมันตะ เป็นข้อที่ ๔ นี้ข้อที่ ๕ ดำรงชีวิตให้ถูกต้อง สัมมาอาชีวะ แล้วจะหมายถึง ทุกอย่าง ทุกอย่าง ที่เป็นการดำรงชีวิต จะเป็นการหาเลี้ยงชีวิตเป็นการงานเป็นอะไรก็ตามที่เอามาเป็นเครื่องดำรงชีวิต ทรงไว้ซึ่งชีวิตและก็เรียกว่า ดำรงชีวิต ไม่หมายเฉพาะว่าเลี้ยงชีวิตนะ การเลี้ยงชีวิตก็มารวมอยู่ในการดำรงชีวิต ดำรงชีวิตคือการใช้ชีวิต การมีชีวิต การเป็นอยู่ด้วยชีวิต เรามีบ้านเรือนแล้วก็มีวัตถุสิ่งของ เครื่องใช้ไม้สอย อุปกรณ์ต่าง ๆ แล้วเราก็กินก็ใช้ก็บริโภคก็เล่นก็หัวเล่น ทุกๆ อย่างที่เป็นการดำรงชีวิต ขออย่าให้เป็นความผิด คือมันทำอันตรายแก่ทุกฝ่าย มันมีแต่ความถูกต้องไม่เป็นอันตรายแก่ฝ่ายใด มีน้อยเกินไปก็ไม่ถูกต้อง มีมากเกินไปก็ไม่ถูกต้อง พอดี ถูกต้อง
ดังนั้นในบ้านเรือนจึงต้องมีความถูกต้องทางวัตถุสิ่งของ คือมีแต่สิ่งของที่มีประโยชน์ ไม่มีของเฟ้อ ของเหลือเฟือ ไอ้ร่างกายของเรา เนื้อหนังของเรา ร่างกายของเราก็ต้องมีความถูกต้องพอดี มีอนามัยถูกต้องพอดี ดำรงจิตไว้อย่างถูกต้อง ไม่ฟู ไม่แฟบ ไม่กระวนกระวาย แล้วก็เป็นอยู่ได้ถูกต้อง ดำรงชีวิตได้ถูกต้อง เพราะว่ามีปัญญา สัมมาทิฏฐิ ข้อแรกสุดนั่นมามาเป็นมาเป็นเครื่องควบคุม ขอให้ดำรงชีวิตอย่างถูกต้อง ในทุก ๆ อิริยาบถเถิด จะเดิน จะยืน จะนอน จะนั่ง จะกิน จะถ่าย จะอาบ จะเคลื่อนไหว จะนิ่ง จะพูดจะอะไรก็ตามให้มันมันมีความถูกต้อง เรียกว่าดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง ๓ ข้อนี้ เป็นเรื่องศีล ถูกต้องทางวาจา ถูกต้องทางการกระทำ ถูกต้องทางการดำรงชีวิต ๓ ข้อนี้เป็นศีล หมวดแรกคือหมวดปัญญา หมวดที่ ๒ คือ หมวดศีล นี้หมวดที่ ๓ ก็คือหมวดสมาธิ เกี่ยวกับจิตโดยตรง มีความพากเพียรถูกต้อง คำว่าพากเพียร ในที่นี้หมายถึง จิต จิตที่พากเพียรแล้วก็ก็มันก็บังคับให้ร่างกายไม่อยู่นิ่งได้เหมือนกัน เพราะจิตมันพาไป เมื่อจิตมีความเข้าใจถูกต้อง ก็พากเพียรถูกต้องก็ทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ให้สิ่งที่เป็นโทษเกิดขึ้นมาถ้ามีอยู่ก็ละเสีย สร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้เกิดขึ้นมา มีอยู่แล้วก็รักษาไว้ให้เจริญให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป นี่โดยหลักการเป็นอย่างนี้
หลักการกว้าง ๆ เป็นอย่างนี้ ก็ไปขยายโดยรายละเอียดเอาเองว่ามันถูกต้องทางความพยายาม ความเคลื่อนไหว ความพยายามด้วยเจตนานั้นมันถูกต้อง มันก็มีแต่เกิดผลประโยชน์ มีสัมมาทิฏฐิเข้าใจถูกต้อง มันก็พยายามถูกต้องมันก็บังคับจิตให้พยายามอยู่แต่ในความถูกต้อง เรียกว่า สัมมาวายามะ วายามะเป็นเป็นคำเดียวกับพยายายามะ ไอ้คำว่าพยายามนี้มาจากไอ้คำสันสกฤต วายามะนี่เป็นคำบาลี มันคำเดียวกันน่ะ คือพยายามนั่นเอง ทีนี้ก็ถูกต้องทางสติ สติ สติ แปลว่า ความระลึกได้ ระลึกได้เร็ว เหมือนความเร็วแห่งลูกศร คำว่าสติ กับคำว่าลูกศร สุตตระ (นาทีที่ 82:34) คำเดียวกันน่ะ ความหมายรากศัพท์เดียวกัน เร็ว เร็วนี่ ความระลึกได้เร็วเหมือนลูกศร สมัยอื่นเขาไม่มีอะไรจะเปรียบ ไม่มีไฟฟ้าจะเปรียบ ซึ่งเร็วกว่าลูกศรมันไม่มี ก็ไม่รู้จัก รู้จักความเร็วเพียงความเร็วของลูกศร ก็ยืมเอาคำ ๆ นี้มาเป็นชื่อของไอ้ความระลึกได้อย่างรวดเร็ว คือสติ อย่างุ่มง่าม เกิดอะไรขึ้นเฉพาะหน้าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีสติวับนึกถึงความถูกต้อง ความรู้สติปัญญา ที่ได้ศึกษาไว้ว่าถูกต้องอย่างไร สติระลึกได้ทันที เอามาใช้ในกรณีที่กำลังเผชิญอยู่ แล้วแต่ว่ามันมีเรื่องอย่างไร เอาปัญญามา สตินี่มันเหมือนเครื่องขนส่งเอาปัญญามา ในตัวเองยังไม่มีอะไร แต่เป็นเครื่องขนส่งไปเอาปัญญามา ที่มันจะแก้ปัญหาได้ ปัญญาที่เคยสะสม อบรม ศึกษา พอกพูนไว้ ถูกเอามาทันเหตุการณ์ นี่เรียกว่ามีสติ ถ้ามาไม่ทันเหตุการณ์มันก็ช่วยไม่ได้ มันก็เหมือนกับไม่มีปัญญา ปัญญาก็เป็นหมันเปล่า
ถ้าไม่มีสติเอาปัญญามาใช้ทันเหตุการณ์ในกรณีที่เกิดขึ้น มันก็เหมือนกับไม่มีปัญญานั่นแหละคนเรา จึงมีคำพูดว่า “ปัญญาท่วมหัว แต่เอาตัวรอดไม่ได้” เพราะไม่ถูกเอามาใช้นี่ มันไม่มีสติในการที่เอาปัญญามาใช้ ความรู้ท่วมหัวก็เลยเอาตัวไม่รอด นี้ถ้าเรามีสติแล้ว แม้แต่ปัญญามีน้อยเอามาใช้ทันท่วงที เอารอดตัวได้ ไม่ต้องมีปัญญาล้นฟ้าก็ได้ ถ้าปัญญามาเผชิญหน้าเหตุการณ์ก็ทำหน้าที่รู้สึกตัว คุมเชิง คุมเชิง อยู่ที่ตรงนั้น เรียกชื่อใหม่ว่า สัมปชัญญะ ปัญญาที่อยู่ในคลังเก็บ เขาเรียกว่าปัญญา ปัญญาที่ถูกเอามาใช้เฉพาะหน้าเหตุการณ์คุมเชิง นี่เรียกว่า สัมปชัญญะ รู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่ มันก็ไม่ให้ผิดได้ คือ ถ้ากำลังของปัญญา หรือสัมปชัญญะมันน้อยไป ไม่สามารถจะกอบกู้เหตุการณ์ ก็ใช้สมาธิ กำลังของจิต กำลังสมาธิเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น กำลังของสัมปชัญญะหรือปัญญามันก็มากขึ้น มันก็สู้เหตุการณ์ได้มันก็ชนะเหตุการณ์ เราก็เลยเอาตัวรอด นี่เรียกว่ามีสติถูกต้อง ใช้ได้ทันท่วงที ทันเวลา สติที่ถูกต้อง คือ สติที่เอาปัญญามาอย่างถูกต้อง ทันแก่เวลา เรียกว่า สัมมาสติ อันสุดท้ายก็ สัมมาสมาธิ นี่คือกำลังจิต ตามธรรมดาเราก็มีกำลังจิตอยู่ตามธรรมชาติ แต่มันไม่พอ เรามักจะฟุ้งซ่าน แผ่กระจาย ก็มีอุบายวิธีอันหนึ่ง ซึ่งเขาค้นพบ คือการทำสมาธิ รวบรวมกำลังจิตเอามารวมเป็นที่เดียวกัน ให้จิตมีกำลังรวมหมด มีกำลังแรงกล้า เหมือนกับแว่น แก้ว รวมแสง รวมแสงอาทิตย์จนลุกเป็นไฟ ธรรมดามันพร่าอยู่รอบตัว นี้รวมเอาไอ้ความพร่ารอบตัวน่ะมาอยู่ที่จุดเดียว ก็เลยลุกเป็นไฟได้
จิตนี่ก็เหมือนกัน ไม่ไม่มีการพร่ารอบตัวอย่างนั้น มันก็มีกำลังอย่างที่สุดเลย แล้วยังมีคุณสมบัติว่า เวลาอย่างนั้นน่ะมันปราศจากกิเลส ปราศจากนิวรณ์ คือเป็นจิตล้วน ๆ จิตเข้มแข็ง จิตบริสุทธิ์ จิตตั้งมั่น จิต active ที่สุด คือควรแก่การทำหน้าที่ที่สุด ตามธรรมดาจิตไม่ได้อยู่ในลักษณะอย่างนั้น พอทำเป็นสมาธิ มันก็มีความเข้มแข็ง มีความบริสุทธิ์ มีความแคล่วคล่องว่องไว ในหน้าที่การงานของมัน บาลีเขาใช้คำว่า อ่อนโยน นิ่มนวล อ่อนโยนควรแก่การงาน อ่อนโยน นิ่มนวล ควรแก่การงาน ตามตัวหนังสือเหมือนกัน มันก็แปลได้อย่างนั้น ก็คือว่ามันพร้อมที่สุดที่จะทำหน้าที่และอย่างถูกต้องด้วย อย่างเดี๋ยวนี้ที่เราพูดกับมันว่า active ที่สุดนั่นแหละ มันมีความหมายของคำ ๆ นี้ เป็นภาษาบาลีก็เรียก กัมมันนียะ ๆ กัมมะ การงาน นียะ ควร กัมมันนียะ ควรแก่การงาน active ที่สุด ทำจิตให้เป็นอย่างนี้ได้ เรียกว่ามีสมาธิ ถ้าใช้ไปในทางที่ถูกต้อง สมาธินี้เอาไปใช้ในทางผิดเบียดเบียนใครก็ได้ จะมาใช้ในทางที่ถูกต้องที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ก็เรียกว่า สัมมาสมาธิ สมาธิมันถูกต้อง ต้องการอะไรก็ได้ ผู้ที่ทำงานโดยจริง โดยตรง เป็นเจ้าของเรื่อง ก็คือสมาธินั่นเอง ไอ้เจ็ดนอกนั้นข้างหน้า ที่มาข้างหน้าเจ็ด ๆ นั่นจะเป็นบริขาร บริวารของสมาธิ สมาธิเป็นตัวการที่จะตัดกิเลส คือตั้งมั่นเป็นสมาธิ แล้วจะรู้จักสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง และก็จะทำไปได้
สัมมาสมาธิน่ะเป็นตัวแม่บท เป็นตัวเหมือนเหมือนกับว่าเจ้าของเรื่อง ส่วนตัวอื่น ๆ เช่น สัมมาสมาธิ กัมมันตะวาจา กัมมันตะอาชีวะอะไรก็ตามมันเป็นบริขาร บริวารสนับสนุนกันในแง่หนึ่งมุมหนึ่ง ให้เกิดความสมบูรณ์ทุกแง่ ทุกมุม แล้วมันก็ตัดกิเลสได้ อะไรเป็นปัญหาจะตัดได้ ความกลัวเป็นปัญหาตัดได้ ความยึดมั่นถือมั่นเป็นปัญหาตัดได้ สัมมา สัมมาสมาธิ มีบริขาร ๗ เมื่อทำหน้าที่ต้องรวมกันทั้ง ๘ แล้วยกสมาธิเป็นหัวหน้า ไอ้ ๗ อย่างนอกนั้นมันช่วยตามหน้าที่ ยกตัวอย่างเปรียบเหมือนกับว่ากองทัพที่สมบูรณ์น่ะมันมีกองทัพบัญชาการ กองแม่ทัพหลวง กองหลวง แล้วมันมีกองหน้า กองหลัง กองซ้าย กองขวา กองเสบียง กองนายช่าง กองพาหนะ กองอะไรต่าง ๆ ทั้งหลาย หลาย ๆ กอง หลาย ๆ สาขา รวมกันเป็นกองทัพที่สมบูรณ์ แล้วมันก็จะชนะข้าศึกได้ กองทัพทางจิตใจที่จะชนะข้าศึก คือกิเลสได้ ก็ต้องอย่างนั้นแหละ เรียกว่า สายเดียว องค์เดียว กองเดียว แต่ประกอบไปด้วยส่วนประกอบ ๘ องค์ นี้ขอให้เรารู้จักใช้ศาสนาให้เป็นประโยชน์ โดยการมีหลักที่จัดไว้ดีแล้ว ว่าเป็นความถูกต้อง ๘ ประการ แล้วอย่าลืมสังเกตว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่าปัญญามาก่อน และศีลจึงมา และสมาธิจึงมา อย่างนี้สัมมาทิฏฐิซึ่งเป็นปัญญา ก็เหมือนกองหน้า กองตรวจการข้างหน้า ไปข้างหน้า จะให้รายงานแก่กองหลังที่ถูกต้อง ที่มันจะดำเนินไปได้
แต่ตามธรรมดาที่เราพูดกัน เรามักจะพูดว่า ศีล สมาธิ ปัญญา นี่พูดตามวิธีสำหรับพูด เป็นเรื่องพูดว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ทางนิตินัย แต่ถ้าทางพฤตินัย ที่ทำลงไปจริง ๆ มันกลายเป็นว่า ปัญญา แล้วศีล แล้วสมาธิ ปัญญาต้องมาก่อน ศีลจึงจะมีได้และถูกต้อง สมาธิจึงจะมีได้และถูกต้องตาม ทั้งศีล สมาธิ ถูกต้องแล้วมันก็ส่งเสริมให้ปัญญาแก่กล้าสูงขึ้นไปอีก มันก็มีความถูกต้องทางปัญญาสูงขึ้นไปอีก ดึงให้ความถูกต้องทางศีลและสมาธิสูงตามไปอีก มันหมุนเวียนกันอย่างนี้ โดยหน้าที่แล้ว ไอ้ปัญญาจะต้องนำหน้าเสมอ เราจะทำความดี ความงาม ความถูกต้องอะไร มันก็ต้องมีปัญญามาก่อน มันจึงจะทำได้ มิฉะนั้นมันก็จะทำอย่างงมงายไม่ได้ผลหรอก ถือศีลโดยไม่มีสติปัญญา มันก็ไม่ได้รับประโยชน์จากศีล ทำสมาธิโดยปราศจากปัญญา มันก็ไม่ได้รับประโยชน์จากสมาธิ แม้ว่าเราจะทำอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ในบ้านในเรือนนั้นน่ะต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นมาก่อน เป็นปัญญามาก่อน แล้วจึงจะทำนั้นได้ตามที่เราต้องการ ดังนั้นโดยพฤตินัยหรือโดยทางปฏิบัตินั้นปัญญามาก่อน ทำให้เราเรียกว่า ปัญญา ศีล สมาธิ, ปัญญา ศีล สมาธิ, ปัญญา ศีล สมาธิ แต่ถ้าจะพูดเป็นหลักวิชา สำหรับอบรมกันทีละอย่างโดยเฉพาะ ก็เรียกว่าศีล สมาธิ ปัญญา ตามลำดับสูงต่ำ อย่างนี้ก็ได้ แยกกันไว้ว่าถ้าโดยพฤตินัย ศีล สมาธิ ปัญญา โดยโดยนิตินัยก็เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา โดยพฤตินัยมันก็เป็น ปัญญา ศีล สมาธิ นี่เข้าใจผิดแล้วก็จะเถียงกัน ก็จะเถียงกัน
พอเราพูดออกไปอย่างนี้ ไอ้คนที่เขายึดถือกันอยู่แต่เดิมก่อน ๆ เขาว่าผิดแล้ว ผิดแล้ว ต้อง ศีล สมาธิ เขาด่าเราด้วย มันจะต้องรู้ความจริงของเรื่องอันแท้จริง ว่าในการกระทำที่ถูกต้องนั้น สัมมาทิฏฐิต้องมาก่อน จึงมีคำกล่าวโดยสรุปรวบรัดไว้เลยว่า ล่วงพ้นความทุกข์ทั้งปวงได้ เพราะมีสัมมาทิฏฐิอย่างถูกต้อง เป็นบาลีว่า สัมมาทิฏฐิ สมาทานา สัพพัง ทุกขัง อุปัจจะคุง, สัมมาทิฏฐิ สมาทานา สัพพัง ทุกขัง อุปัจจะคุง เป็นคำกลอน คำกลอนในภาษาบาลี ล่วงพ้นความทุกข์ทั้งปวงได้ เพราะสมาทานสัมมาทิฏฐิ นี่คำนี้สำคัญมาก สมาทานสัมมาทิฏฐิ คือไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้าอุปาทานน่ะ ยึดมั่นถือมั่น ถ้าอุปาทานสัมมาทิฏฐิน่ะเลอะหมด ถ้าสมาทานสัมมาทิฎฐิ ไม่ยึดมั่น แต่ว่าถือไว้อย่างดีอย่างถูกต้อง เรียกว่า สมาทาน ถ้าคุณจะมีศีล คุณจงสมาทานศีล อย่าอุปาทานศีล อุปาทาน แปลว่ายึดมั่นถือมั่น สมาทาน แปลว่าถือไว้อย่างดี ดังนั้นเราจะทำอะไร สิ่งใดก็ต้องสมาทาน อย่าอุปาทานกับมัน เหมือนกับพูดเมื่อตะกี้นี้ว่าจะเรียนหนังสือก็อย่าอุปาทานกับมัน แต่สมาทานการเรียนให้ดี ๆ รู้จักใช้คำว่า สมาทาน เพื่อจะไม่เป็นอุปาทาน คือยึดมั่นถือมั่น พอยึดมั่นถือมั่นแล้วก็หนัก แล้วก็ตัด แล้วก็ยุ่งไปหมดน่ะ อุปาทาน ตามแบบของอุปาทาน สมาทานแปลว่าถือไว้อย่างดี อย่างครบถ้วน อย่างถูกต้อง ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่เครียด ไม่ตึง ไม่หย่อน ไม่อะไรต่าง ๆ ก็สำเร็จประโยชน์ สมาทานสัมมาทิฏฐิ ก็มีสัมมาทิฎฐิอย่างดีอย่างถูกต้อง แต่มิใช่อุปาทาน ไม่เครียด ไม่บ้า สมาทานสัมมาทิฏฐิให้ถูกต้องดีเถิด จะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ทุกชนิด ทุกชนิด ทุกขนาด ทุกระดับทุกข์นะ พ้นจากทุกข์ทั้งปวง เอาละ,เป็นอันว่านี่คือวิธีที่จะใช้ศาสนาให้เป็นประโยชน์
เอ้า,ทบทวนอีกทีง่าย ๆ สั้น ๆ หัวข้อสั้น ๆ ศาสนาคืออะไร คือ ระบบดับทุกข์ ออกมาจากทุกข์ ศาสนาเกิดมาจากอะไร เกิดมาจากความกลัว ความทุกข์ของมนุษย์เป็นข้อแรก และก็แสวงหาจนพบวิธีดับทุกข์ ศาสนาเพื่อประโยชน์อะไร ก็เพื่อจะดับปัญหา แก้ปัญหา หรือดับทุกข์เหล่านั้น โดยวิธีใด โดยวิธีทำให้มันมีความถูกต้องแปดประการนี้ อยู่ตลอดเวลา ความทุกข์เกิดไม่ได้ จนกลายเป็นนิสัย ไม่เกิดความทุกข์อีกต่อไป ก็เป็นพระอรหันต์ ศาสนาคืออะไร ศาสนาเกิดมาจากอะไร ศาสนาเพื่อประโยชน์อะไร ศาสนาสำเร็จได้โดยวิธีใดนี่ ไอ้ ๔ คำนี้อย่าลืมเสีย คืออะไร จากอะไร เพื่ออะไร โดยวิธีใด ใช้แล้วผิดธรรมดาสากล อย่างนี้ก็ได้ แต่ให้มันใช้ให้ถูกต้อง คืออะไร ก็ให้มันรู้จักที่จริงมันมาจากอะไร ให้รู้จัก เพื่อประโยชน์อะไรในที่สุดให้รู้จัก สำเร็จได้อย่างนั้น โดยวิธีใดก็รู้จัก ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักแปดประการนั้น นี่เวลาก็หมดแล้ว เป็นอันว่าวันนี้เราก็ได้พูดกันเป็นครั้งที่สอง เรื่องสิ่งที่เรียกว่าศาสนา สิ่งที่เรียกว่าศาสนา คืออย่างนี้ โดยเฉพาะพุทธศาสนา ก็ต้องเป็นเรื่องของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่มีความงมงาย เอาปัญญาเป็นเบื้องหน้าศรัทธามาทีหลังปัญญาถ้าพุทธศาสนา ถ้าเป็นไสยศาสตร์ก็เอาปัญศรัทธามาก่อนปัญญา ไม่ต้องมีปัญญาก็ได้ มีแต่ศรัทธาก็พอ พุทธศาสนาซึ่งมีปัญญาเป็นหลัก ถ้าจะมีศรัทธาบ้างต้องมาหลังจากปัญญาในความควบคุมของปัญญา ศรัทธาจึงถูกต้องเพิ่มกำลังให้แก่ปัญญา ศรัทธานี่ก็จัดเป็นพวกสมาธิ มีอยู่ในกลุ่มของสมาธิ มันก็มาช่วยเพิ่มกำลังให้แก่ปัญญา เรามีปัญญา มีศีล สมาธิ สมบูรณ์แล้วก็ตัดทุกข์ทั้งปวงได้
เรื่องของสิ่งที่เรียกว่า ศาสนา มันมีอยู่อย่างนี้โดยใจความโดยสังเขป โดยหัวข้อ ขอให้กำหนดจดจำหัวข้อเหล่านี้ไป ใคร่ครวญพินิจพิจารณาดูให้เห็นแจ้ง แล้วก็พยายามปฏิบัติให้มันได้ ก็จะได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เรียกว่าพระพุทธศาสนา เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จะเรียกว่าชีวิตใหม่ก็ได้ เพราะก่อนนี้เรามีแต่ชีวิตที่เป็นทุกข์ แล้วเราก็มาพบชีวิตใหม่ ที่ไม่เป็นทุกข์จะเรียกว่าชีวิตใหม่ก็ได้ แต่นี่เป็นการพูดเฉพาะคราว เฉพาะอย่าง เฉพาะชั่วคราวอย่างนี้เท่านั้น ที่จริงมันก็ไม่ใช่ชีวิตใหม่หรอก มันกลับเก่าๆๆ ที่สุด คือว่าแต่ก่อนนั้นเราไม่มีความทุกข์ แต่ก่อนโน้นเราไม่มีความทุกข์ อยู่ในท้องแม่สบาย คลอดมาจากใหม่ ๆ ก็ไม่มีความทุกข์ ชีวิตเก่า ต่อมาโง่ไปตาม ความเอร็ดอร่อยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดชีวิตที่เป็นทุกข์ นี่คือชีวิตใหม่แหละ กลับไปหาชีวิตที่ไม่เป็นทุกข์ก่อน ไม่ไม่เป็นทุกข์อีก นั่นหละคือกลับไปหาชีวิตเก่า ถ้าพูดอย่างนี้ การไม่มีความทุกข์น่ะก็เป็นชีวิตเก่าที่ถูกต้อง แต่ถ้าพูดอย่างเฉพาะหน้า เหตุการณ์เฉพาะหน้าเด็ก ๆ ฟังถูกก็ชีวิตใหม่สิ เพราะก่อนนี้มีแต่ความ เพราะว่าปัจจุบันนี้เรามีแต่ความทุกข์ เราไปหาชีวิตที่ไม่มีความทุกข์ พบมาได้ก็ถือว่าเป็นชีวิตใหม่หน่อย ที่จริงน่ะนั่นมันกลับเก่าที่สุด เมื่อมนุษย์ยังไม่รู้จักยึดมั่นถือมั่นน่ะ มนุษย์ในโลกสมัยดึกดำบรรพ์ กี่ล้านปีมาแล้วก็ตามแต่ เมื่อมันไม่ยังไม่รู้จักยึดมั่นถือมั่น มันไม่มีความทุกข์หรอก ต่อมามันเกิดสติปัญญาชนิดผิด ยึดมั่นดีชั่ว ยึดมั่นดีชั่ว มันก็มีความทุกข์ ก็กลับไปหาไอ้ความไม่ยึดมันอะไรอีก มันก็ไม่มีความทุกข์ กลับไปหาชีวิตเก่าดั้งเดิมก่อนแต่ที่จะมีความทุกข์ เราทำสมาธิ ทำวิปัสสนา ทำกรรมฐาน เพื่อจะรู้จักความจริงของสิ่งเหล่านี้ และก็จัดชีวิตเสียใหม่คือจัดจิตใจเสียใหม่ ให้มันปราศจากความยึดมั่นถือมั่น เหมือนทีแรก แล้วก็ไม่มีความทุกข์อีกต่อไป การบรรยายสมควรแก่เวลา ขอยุติการบรรยาย หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้นำไปใช้ คิดนึก ศึกษา และปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์ มีความสุขอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ