แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านนักศึกษา ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย การบรรยายครั้งนี้ก็ต่อเนื่องจากการบรรยายครั้งแรกที่พูดถึงเรื่องชีวิตใหม่ วันนี้ก็จะพูดถึงเรื่องมรรคา หรือหนทางที่จะมีชีวิตใหม่ ขอทบทวนเรื่องชีวิตใหม่นิดหน่อย ถ้ามองเห็นว่าชีวิตแบบเก่านั่นมันไม่ไหว มันน่าสั่นหัว แล้วมันจะสรุปผลลงไปว่าเสียชาติเกิดที่มีแต่ความขลุกขลัก กระทบกระทั่ง ดิ้นรน กระวนกระวาย มีความทุกข์จนตาย เขาเรียกว่าชีวิตเก่าหรือชีวิตธรรมดาปุถุชนเต็มขั้น ทีนี้พุทธศาสนาจะให้วิถีหนทางเพื่อชีวิตใหม่และได้ชีวิตใหม่ ที่เรียกกันว่าธรรมะ ถ้าท่านทั้งหลายมาที่นี่เพื่อจะศึกษาเรื่องธรรมะ รู้ธรรมะ มีธรรมะ ก็รู้ไว้เสียแต่ล่วงหน้าว่ามันคืออะไร มันก็คือหนทางหรือวิถีที่จะให้ได้ชีวิตใหม่นั่นเอง พูดให้มันน่าสนใจ เรียกให้น่าสนใจก็เรียกว่า หนทางแห่งชีวิตใหม่ นั่นก็คือธรรมะที่เราต้องประสงค์ แต่อาจจะโดยไม่รู้สึกตัวเพราะว่ามีคนเป็นอันมากสนใจธรรมะ ศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมะโดยที่ไม่รู้ว่าเพื่ออะไร ได้แต่ทำตาม ๆ กันโดยกิริยาท่าทาง โดยพิธีรีตองอย่างนี้ก็มีอยู่เป็นส่วนมาก แม้ที่สุดแต่การหันมาศึกษาพุทธศาสนา หรือแม้การตั้งชมรมพุทธศาสนาขึ้นในสถาบันต่าง ๆ ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นเพียงทำตาม ๆ กันมา ทำพอเป็น ๆ รูปของพิธี ไม่เข้าถึงความจริง ถ้าอย่างนี้มันก็ยังไม่สำเร็จประโยชน์ ขอให้รู้จักธรรมะโดยถูกต้อง แล้วก็มีธรรมะ แล้วก็ใช้ธรรมะให้เป็นประโยชน์ แล้วก็ได้รับผลจากการมีธรรมะ อย่างนี้จึงจะเรียกว่าถูกต้องและสมบูรณ์
ชีวิตตามปกติก็คือการปล่อยไปตามสัญชาตญาณ ซึ่งได้พูดกันมากแล้วในการบรรยายครั้งแรก ชีวิตที่ปล่อยไปตามสัญชาตญาณมันก็ไม่ดีไปกว่าสัตว์เดรัจฉานเท่าไรนัก ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ สัญชาตญาณที่ควบคุมไว้ไม่ได้เป็นสัญชาตญาณที่อาละวาด ใช้คำว่าอย่างนี้ มันทำเกินขอบเขตของสัญชาตญาณไปอีก ดังนั้น มันจึงมีปัญหาเกิดขึ้นเป็นผลตอบสนอง กลายเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยอารมณ์ที่ร้าย เต็มไปด้วยความรู้สึกที่มันร้าย คือมีความรักเป็นปัญหา มีความโกรธเป็นปัญหา มีความเกลียดเป็นปัญหา มีความกลัวเป็นปัญหา มัวแต่รักโกรธเกลียดกลัวนั่นนี่อยู่เป็นปกติ น่าคิดนะ พวกสัตว์เดรัจฉานไม่มีนะที่จะมีปัญหาเรื่องรักเรื่องโกรธเรื่องเกลียดเรื่องกลัวอยู่เป็นปกติเหมือนมนุษย์ที่มีความรู้สึกคิดนึกละเอียดอ่อนไหว มันไม่มี มันเป็นที่น่าละอายแก่สัตว์เดรัจฉานแล้วมันเลยไปถึงความวิตกกังวลอาลัยอาวรณ์ มันมีชีวิตที่เป็นห่วง มีชีวิตที่หวาดผวาระแวงอยู่เรื่อยไป อันนี้สัตว์เดรัจฉานมันก็ไม่มี แล้วก็อิจฉาริษยาถึงขนาดลงมือปฏิบัติงานไปตามความอิจฉาริษยาซึ่งมนุษย์มีอยู่ทั่วไป ซึ่งสัตว์เดรัจฉานมันก็ไม่มี ความหึงความหวงเกินขอบเขตอย่างที่มนุษย์มี สัตว์เดรัจฉานมันก็ไม่มี เอาล่ะ เป็นอันว่าการปล่อยไปตามสัญชาตญาณนั่นน่ะมันเป็นชีวิตที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าดู ไม่งดงาม ถือว่าเป็นชีวิตธรรมดาก็จะเรียกว่าชีวิตเก่า
ทีนี้ถ้าว่าจะให้ได้ชีวิตใหม่ มันก็ปราศจากสิ่งเหล่านี้ ๆ ไม่มีปัญหาความยุ่งยากลำบากใจทรมานใจเกี่ยวกับความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ ความอิจฉาริษยา ความหึงความหวง ซึ่งเป็นเรื่องทรมานจิตใจ แต่มันเป็นชีวิตที่มีจิตใจเกลี้ยง จิตใจเกลี้ยงจากสิ่งวุ่นวายเหล่านี้ แล้วก็มันสงบ แล้วมันก็เย็น ถ้าพูดให้ถูกที่สุดให้ดีที่สุดในทางธรรมะก็ต้องพูดว่าว่าง มีจิตอยู่ในความว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ ว่างจากปัญหานานาประการ สรุปแล้วมันว่างจากความรู้สึกว่าตัวกูว่าของกู อย่างนี้เวลามันมีความรู้สึกว่าตัวกูว่าของกูอยู่ตลอดเวลา อย่างที่ได้พูดกันมาแล้ว ขอให้ช่วยจำไปเถิดมันมีประโยชน์ มันมีความคิดเป็นตัวกูของกูอยู่ตลอดเวลา แล้วมันจะมีความวิตกกังวล มีความหวาด มีความระแวง เรื่องจะได้ เรื่องจะเสีย เรื่องจะกำไร เรื่องจะขาดทุน เรื่องจะเสียเปรียบ เรื่องจะได้เปรียบ นี่มีอยู่เป็นประจำ อย่างว่า มีใครเข้ามาในบ้านมันก็มีความระแวงอย่างใดอย่างหนึ่ง จะมาดีมาร้าย มันก็วุ่นวายเสียเปล่า ๆ มันสู้ว่ามีจิตสงบมีจิตปกติก็พูดมาก็แสดงออกมา แล้วก็ควรทำอย่างไร ไม่มีความวุ่นวายในใจ อย่างนี้เรียกว่าถูกต้อง
เรามีชีวิตปกติ ปกติมันก็คือเยือกเย็นอยู่เอง จิตมันสงบ มันว่างจากสิ่งรบกวน ว่างจากความรู้สึกที่เป็นการรบกวน นี่ ขอให้มองกันในแง่นี้ก่อน ถ้ารู้จักแล้วมันก็จะต้องการ มันก็หวังจะปรารถนาว่าจะได้ชีวิตแบบนี้ มันก็ง่ายที่จะได้ชีวิตแบบที่ใหม่ แปลกไปกว่าที่เป็น ๆ อยู่ ใช้คำว่าเย็นก็ได้ ไม่มีเรื่องร้อน ไม่มีเรื่องกระวนกระวายทุรนทุราย ไม่มีร้อนแล้วก็สงบ ไม่มีดิ้นรนแล้วก็ว่าง คือไม่มีอะไรรบกวน จิตไม่มีอะไรรบกวนมันจิตว่าง หรือว่าจิตไม่ได้แบกถือยึดถือหมายมั่นอะไรอยู่เป็นจิตว่าง เป็นจิตอิสระ เป็นจิตที่มีเสรีภาพโดยแท้จริง ไม่มีอะไรมาบีบคั้นจิตใจ ชีวิตอย่างนี้นะเรียกว่าชีวิตใหม่ ทำงานก็สนุก ถ้าชีวิตมันเป็นอิสระอย่างนี้ มันไม่มีความรู้สึกชนิดที่ทรมานใจอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเรียนหนังสือก็สนุก จะพักผ่อนก็สนุก ถ้าจิตมันวุ่นวายกันเสียแล้วมันไม่มีการพักผ่อนหรอก ถ้าว่าจิตข้างในมันวุ่นวายทำอย่างไรมันก็ไม่มีการพักผ่อน เที่ยวไปตากอากาศไปพักผ่อนนั้นถ้าว่าจิตมันยังวุ่นวายอยู่มันก็ไม่เป็นการพักผ่อน ถ้าทำให้จิตหยุดความวุ่นวายเสียได้มันก็เป็นการพักผ่อน เพราะฉะนั้นมันไม่ต้องไปที่ไหนให้เสียสตางค์ อยู่ที่บ้านก็ทำได้ ให้จิตมันมีความพักผ่อนเถอะ แล้วมันก็มีการพักผ่อนแท้จริงอยู่ในตัว ดีกว่าไปตากอากาศหรือไปเที่ยวในที่ที่เรียกว่าไปที่เที่ยว กลับไม่พักผ่อนมากขึ้น กลับไปได้อารมณ์ใหม่ ๆ สำหรับวิตกกังวลอะไรมากขึ้น อย่างนี้มันก็ไม่ ไม่มีดีที่ตรงไหน ไอ้ความพักผ่อนสร้างได้ในจิตใจ ไม่ต้องไป ไม่ต้องมา ไม่ต้องยึดมั่นในสิ่งใด ปล่อยว่าง เป็นอิสระอยู่เสมอ นี่เราเรียกว่ามองเห็นชีวิตใหม่ มันมีอยู่ แล้วมันเป็นสิ่งที่ทำได้ ถ้าเราทำได้ก็ได้รับผลดีที่สุดที่มนุษย์จะพึงได้ ไม่เสียทีที่เกิดมา ขอให้มองเห็นอย่างนี้ แล้วก็ดำเนินชีวิตตามแบบนั้นให้มันเป็นชีวิตใหม่ ชีวิตใหม่นี่ต้องประพฤติต้องปฏิบัติที่เรียกว่าดำเนินน่ะ ดำเนินวิถีแห่งชีวิตนั่นให้มันถูกต้อง แล้วมันจึงได้ชีวิตใหม่ที่น่าดูที่งดงามขึ้นมา
ขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจความหมายในเบื้องต้น ความมุ่งหมายในเบื้องต้นที่ว่ามุ่งหมายที่จะมีชีวิตใหม่ ถ้าปล่อยไปตามธรรมดามันก็เป็นชีวิตเก่าของมันตามเดิมตามธรรมดา คือชีวิตที่เป็นไปตามอำนาจของสัญชาตญาณที่ยังมิได้พัฒนา มันก็เป็นไปอย่างเหมือนธรรมดา สัตว์ทั้งหลายมันก็ทำเป็น มันก็หัวเราะร้องไห้กันไป สลับกันไป เดี๋ยวหัวเราะเดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวดีใจเดี๋ยวเสียใจ เดี๋ยวฟูเดี๋ยวแฟบ เดี๋ยวทุกข์เดี๋ยวสุข ไม่ว่าง ไม่สงบ ไม่ปกติ ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องพูดกัน พูดก็เสียเวลาเปล่าแล้วไม่ได้ประโยชน์อะไร ถ้าสนใจอุตส่าห์มาแสวงหามันก็มีแต่เรื่องนี้ มันไม่มีเรื่องอื่น เรื่องธรรมะที่จะทำให้จิตได้พบกับชีวิตใหม่แปลกไปจากที่มันมีอยู่เดิม ๆ หรือว่าแปลกจากที่จะปล่อยไปตามบุญตามกรรม คือตามอำนาจของสัญชาตญาณ
ทีนี้ก็มาถึงคำว่า สัญชาตญาณ อีกที ถ้าควบคุมไม่ได้มันก็ออกมาเป็นกิเลส สัญชาตญาณความรู้ความฉลาด ต่อให้เป็นความฉลาด ในสัญชาตญาณก็มีความฉลาด มันถ้าควบคุมไม่ได้ก็ออกมาเป็นกิเลส ความรู้ความฉลาดนั่นน่ะมันดีก็ได้มันชั่วก็ได้ ฉลาดนั่นไปเป็นโจรก็ได้ ฉลาดเป็นพระอรหันต์ก็ได้ มันก็ยังคงฉลาดนั่นน่ะ สิ่งที่เรียกว่า intellect intellect นั่นน่ะมันไม่แน่หรอก อาจจะเป็นคนดีหรือคนร้าย ถ้าเอาไปใช้ถูกต้อง พัฒนามันให้ดีมันจึงจะเป็นผลดี ดังนั้น ปัญญาหรือความฉลาดชนิดนี้ พื้นฐานของสัญชาตญาณชนิดนี้ยังไม่ปลอดภัย แต่ถ้าเป็นความฉลาดอย่างที่เขาเรียกว่า wisdom wisdom หรือ intuition wisdom นั่นน่ะ นั่นแหละเป็นความฉลาดที่จะช่วยได้ ที่มีประโยชน์ แต่ถ้าเรียกให้ถูกมันไม่ควรจะเรียกว่าความฉลาด เขาเรียกว่าปัญญา ความรู้จริง ความรอบรู้ นี่เรามักจะนิยมความเฉลียวฉลาด อย่างเช่นว่านิยมเด็กมีไอคิวสูง มีไอคิวสูงนี่ถูกแล้ว มันมีความหมายว่าฉลาด แต่มันยังไม่แน่ว่าจะเอาไปใช้ผิดไปใช้ถูก อบรมความเฉลียวฉลาดต้องมีตอนหนึ่งว่าจะใช้มันให้ถูกต้อง นี่คือระบบของธรรมะที่จะเอามาควบคุมความเฉลียวฉลาดนั้นให้มันถูกต้อง แล้วมันก็ทำไปในทางที่ถูกต้อง แล้วก็มีผลดี เกิดมีชีวิตชนิดที่เป็นสุขสงบเย็น สูงสุดตามที่มันจะสูงสุดได้ แปลว่า มันไม่ใช่เพียงรู้อยู่เฉย ๆ ฉลาดอยู่เฉย ๆ หรือมีปัญญาอยู่เฉย ๆ มันต้องเป็นปัญญาที่เอามาใช้ได้ทันเหตุการณ์ ทันเหตุการณ์
เชิญฟังคำนี้ไว้ด้วย ฉลาด ทันเวลา ทันเหตุการณ์ ถ้าไม่ทันเวลาไม่ทันเหตุการณ์ก็ไม่มีประโยชน์ มันก็ได้แต่บ่นว่า ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ความรู้มีมากท่วมหัวแต่แล้วก็ยังเอาตัวไม่รอด เพราะมันไม่สามารถจะใช้ความรู้นั้นอย่างถูกต้องและทันเวลา เดี๋ยวนี้เราจะมีปัญญาให้เพียงพอ เราจะเอาความรู้นั้นมาใช้ทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าเหตุการณ์ชนิดไหน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันต้องการการปฏิบัติที่ถูกต้อง มันจึงจะมีการใช้ความรู้อย่างถูกต้อง ทันเวลาที่ถูกต้อง อะไร ๆ ที่จะมีปัญญาเกิดขึ้นทันเวลาในลักษณะที่ถูกต้อง อันนี้เขาเรียกว่าสติ ๆ ช่วยจำให้ดี คือสังเกตให้ดีว่าสติกับปัญญานั่นน่ะไม่ใช่สิ่งเดียวกัน คำพูดภาษาชาวบ้านมักจะใช้คำว่าสติปัญญา เด็ก ๆ ฟังไม่ดีกลายเป็นเรื่องเดียวกันรวมกันเป็นสิ่งเดียวกันเสีย มันก็เลยไม่ได้ใช้ถูกตามหน้าที่ของมัน ปัญญา คือ ความรู้อย่างถูกต้องว่าอะไรเป็นอะไร แต่พอเหตุการณ์เกิดขึ้น ความระลึกถึงความรู้นั้นได้ ระลึกเอาความรู้นั้นมาเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ การระลึกได้อย่างนี้เรียกว่า สติ มันทำหน้าที่คนละอย่าง ปัญญามันสำหรับรู้อย่างถูกต้องว่าอะไรเป็นอะไร ควรทำอย่างไร อะไรก็รู้ ทีนี้พอเหตุการณ์เกิดขึ้นต้องมีสติระลึก คำว่า ระลึก เอาปัญญานั่นน่ะมาเผชิญหน้ากับเหตุการณ์อย่างรวดเร็ว
คำว่า สติ นี่ถ้าภาษาบาลีมันคำเดียวกับคำว่าลูกศรน่ะลูกศร ซึ่งก็หมายถึงความเร็วของลูกศร สติมีความเร็วเหมือนกับลูกศร ลูกปืน เอามาทัน เอาปัญญามาทันเหตุการณ์นั่นน่ะคือสติ มันคนละอย่างกับปัญญา มันเอามาอย่างนี้ ๆ เรียกว่าสติ ทีนี้เอามาคุมเหตุการณ์ คือปัญญาที่เอามาน่ะมันกลายเป็นผู้ควบคุมเหตุการณ์ในขณะนั้น อย่างนี้เรียกว่า สัมปชัญญะ สติกับสัมปชัญญะก็ไม่ใช่อย่างเดียวกัน ดีมันคนละอย่าง ที่เด็ก ๆ ท่องว่าสติ ความระลึกได้ สัมปชัญญะ ความรู้ตัว นั่นมันก็ถูก พูดไปมันก็ถูก แต่ขอให้เข้าใจว่า มันคนละหน้าที่ สติระลึกออกมา เอาปัญญาความรู้อย่างถูกต้องมา แล้วทีนี้ปัญญาหรือความรู้นั้นมาอยู่เฉพาะหน้าควบคุมเหตุการณ์อยู่อย่างนี้เรียกว่า สัมปชัญญะ มีแต่สติมันก็ไม่ได้ยังไม่ได้ใช้อะไร เพียงแต่เอาเครื่องมือมา เอาสิ่งที่จะใช้เป็นประโยชน์มา ควบคุมอยู่คือใช้ ใช้ความรู้นั้นอยู่ ใช้อยู่ ๆ นี่เรียกว่าสัมปชัญญะ
ทีนี้สิ่งที่ ๔ ก็คือสมาธิ เมื่อสัมปชัญญะมีอยู่ ๆ น่ะ กำลังของสมาธิ ของจิตอย่างสูงสุดนั่นน่ะ มันระดมกำลังลงไป ๆ แต่ปัญญามันก็ทำหน้าที่เด็ดขาด เฉียบขาดลุล่วงไปจนหมดปัญหา เลยได้เป็น ๔ เรื่อง ถ้าไม่สนใจฟังเป็นเรื่องเล่น ๆ ธรรมดา ๆ ก็พูดแล้วก็แล้วไป มันก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไรตามเคย ดังนั้นจึงขอร้องว่าให้ทุกท่านจงตั้งใจให้ดีเป็นพิเศษที่จะศึกษาและกำหนดจดจำคำ ๔ คำนี้ไว้ให้ดีที่สุดสำหรับเป็นเครื่องดำเนินชีวิต เป็นทางใหม่แห่งชีวิต เพื่อจะพบกับชีวิตใหม่
ถ้าพูดตามลำดับของเรื่องก็พูดว่ามีปัญญาอยู่เป็นปกติ ปัญญามาก่อน ปัญญาก็มาจากการศึกษาฝึกฝนอบรมพอกพูนทุกอย่าง คือการศึกษาโดยตรง ทางหู ทางตา การเล่าเรียน การคิด การนึก การทบทวนอยู่ ก็เป็นการศึกษา การได้ผ่านสิ่งต่าง ๆ มาจนรู้ว่ามันเป็นอะไรอย่างไรก็เป็นการศึกษา นี้เรียกว่าปัญญา แปลว่า ความรอบรู้ต่อสิ่งที่มันแวดล้อมอยู่รอบ ๆ ตัวเราให้รู้จักชัดเจนทั้งภายนอกและภายใน ภายในคือในจิตใจ มันเป็นอย่างไรก็รู้แจ้งโดยชัดเจน ภายนอกคือสิ่งแวดล้อม วัตถุ สิ่งของ บุคคล ที่เป็นภายนอกก็รู้แจ้งประจักษ์ชัดเจนว่ามันเป็นอย่างไร มันมีหลาย ๆ แง่หลายมุมน่ะแต่รวมกันแล้วมันก็เป็นความจริงของสิ่งทั้งปวง รู้ความจริงของสิ่งทั้งปวงว่าอะไรเป็นอย่างไร บุคคลเป็นอย่างไร อะไรเป็นอย่างไร เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างกำลังเป็นไปเป็นระเบียบตามกฎของธรรมชาติ คือ ธรรมะอันสูงสุด ธรรมะอันศักดิ์สิทธิ์ ควบคุมสิ่งทั้งหลายให้เป็นไปตามระเบียบนั้น นี่ถ้ารู้อย่างนี้แล้วก็เรียกว่ามีปัญญา รู้เรื่องร่างกาย รู้เรื่องจิตใจ รู้เรื่องไม่เที่ยง รู้เรื่องเป็นทุกข์เป็นอนัตตา รู้เรื่องการปรุงแต่งกันอย่างไรจึงเกิดความทุกข์ รู้เรื่องการปรุงแต่งกันอย่างไรจึงดับทุกข์ รู้หมดเหล่านี้ก็เรียกเป็นปัญญา ดังนั้น ก็มีเรื่องที่ต้องศึกษา ๆ ๆ ในส่วนของปัญญาสะสมเอาไว้เพียงพอสำหรับจะได้มีไว้ให้สติมาค้นเอาไปใช้ในเฉพาะหน้าเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นเป็นเรื่อง ๆ ในชีวิตประจำวัน
เรื่องปัญญาชั้นสูงสุดก็คือเรื่องความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ทุกข์ดับไปอย่างไร คือเรื่องปฏิจจสมุปบาท ซึ่งมันมีเรื่องเฉพาะหาอ่านหาศึกษาเอาโดยรายละเอียด โดยเหย้าก็คือว่าเรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ในตัว ข้างนอกเราก็มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะ มีธรรมารมณ์ เรียกว่าข้างนอก เป็นสิ่งข้างนอก เป็นอายตนะข้างนอก อายตนะข้างในหรือสิ่งที่เป็นภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราต้องรู้จักให้ดี รู้จักอย่างชัดเจน รู้จักอย่างเฉพาะ อย่าให้สักแต่ว่ามี ๆ ถ้าอย่างนั้นสัตว์เดรัจฉานมันก็ทำได้ สัตว์เดรัจฉานมันก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็สัมผัสรูป เสียง กลิ่น รส อยู่เป็นประจำ แต่มันไม่รู้ตามที่เป็นจริงว่ามันจะมีเรื่องอะไรเกิดขึ้น นี่เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำหรับจะรับอารมณ์ที่จะเข้ามาแวดล้อม ทั้งเป็นรูปทางตา เป็นเสียงทางหู เป็นกลิ่นทางจมูก เป็นลิ้นทางรส เป็นโผฏฐัพพะทางผิวหนัง หรือว่าเป็นธรรมารมณ์ในทางจิตใจ
ถ้ามันกระทบกันเข้าอย่างคู่แรก คือ ตากับรูปนี่กระทบกันเข้ามันก็เกิดจักษุวิญญาณ คือการเห็นทางตา การรู้สึกทางตา รู้แจ้งทางตาว่าเป็นรูปอะไรอย่างไร แล้วมันก็รู้สึกซ้อนซับลึกลงไปถึงกับว่ามันมีรสชาติอย่างไร มีเสน่ห์อย่างไร ไปหลงเข้า นี่เรียกว่ามันเกิดวิญญาณทางตาขึ้นมาแล้วก็เรียกว่ามีผัสสะทางตา สัมผัสทางตา ของ ๓ อย่างทำงานร่วมกันอยู่เรียกว่าผัสสะ ไม่ใช่เพียงแต่ว่าตากระทบรูปเรียกว่าผัสสะ อย่างนั้นมันพูดอย่างเด็ก ๆ พูด ถ้าพูดอย่างธรรมะที่ถูกต้องมันมีตาด้วย แล้วก็มีรูปที่มากระทบตาด้วย แล้วเกิดจักษุวิญญาณขึ้นมาในขณะนั้นด้วย ทั้ง ๓ อย่างนี้ทำงานร่วมกันอยู่ คือจักษุวิญญาณรู้สึกต่อรูปโดยอาศัยตานี่เรียกว่าผัสสะ ๆ คิดดู มีตลอดวัน ๆ ทางหูก็เหมือนกันอีกน่ะ เสียงมากระทบหู เกิดวิญญาณทางหู กลิ่นมากระทบจมูก เกิดวิญญาณทางจมูก ทุกคู่ ๆ มันต้องเกิดวิญญาณก่อนถึงจะรวมกันอยู่ ๓ อย่างนั้นเรียกว่าผัสสะ เรามีตลอดเวลาตลอดวันตลอดคืน นี่คือจุดตั้งต้นที่สำคัญที่สุดของทั้งหมด ถ้าทำผิดที่ผัสสะจะต้องมีความทุกข์ ใครช่วยไม่ได้ ถ้าทำถูกต้องไม่มีผิดก็มีแต่ไม่ทุกข์ ดับทุกข์หรือไม่ทุกข์ที่ผัสสะ ผัสสะเป็นเหตุให้เกิดสุขเกิดทุกข์ นี้ยังเป็นเหตุให้เกิดความรู้อย่างไร ทิฐิ ความคิดความเห็นอย่างไร ผัสสะมันไปสัมผัสเข้าแล้วมันก็ทำให้เกิดความทิฐิทางคิดน่ะว่า ไอ้นั่นเป็นอย่างนั้น ไอ้นี่เป็นอย่างนี้ ไอ้นู่นเป็นอย่างนู้น โอ้, คำนวณมาจากผัสสะทั้งนั้นน่ะ เป็นเหตุให้เกิดทิฐิว่าตายแล้วเกิด ตายแล้วไม่เกิดอะไรเหล่านี้ มันก็มาจากผัสสะที่ได้สัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผัสสะเป็นบ่อเกิดของทั้งหมดเลยที่จะเป็นปัญหาแก่มนุษย์จึงเป็นสิ่งที่ต้องรู้จักและควบคุมให้ดี
ดูต่อไป เมื่อมีผัสสะอย่างนี้แล้วก็เกิดเวทนา เช่น ได้สัมผัสรูปที่สวย ๆ ก็เกิดสุขเวทนา พอใจ รูปที่ไม่สวยน่าเกลียดน่าชังก็เกิดทุกขเวทนาทางตา ทีนี้พอเวทนามาจากผัสสะ เมื่อเกิดเวทนาแล้วมันมีรสนะ มันมีรสที่ครอบงำจิตใจ สุขเวทนาก็ครอบงำไปอย่าง ทุกขเวทนาก็ครอบงำไปอย่าง จิตใจมันถูกครอบงำ มันรู้สึกอย่างไรมันก็สำคัญมั่นหมายอย่างนั้นก็เกิดสัญญามั่นหมายอย่างนั้น อย่างนี้แล้วก็เกิดความคิดไปตามนั้น ดังนั้น เวทนาจึงให้เกิดความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ คือเกิดตัณหา เกิดความต้องการ ถ้าเวทนาน่ารักก็ต้องการจะได้ เวทนาไม่น่ารักก็ต้องการจะทำลาย เวทนาที่เป็นกลาง ๆ ไม่รู้อยู่มันก็สงสัยหลงมัวเมาพัวพันอยู่โดยไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร นี่คือตัณหา ๓ อย่าง เกิดมาจากเวทนาในชีวิตประจำวันของทุกคน ๆ ๆ พอเกิดตัณหาเป็นความต้องการไปตามเวทนาแล้ว เช่น อยากได้อย่างแรง หรืออยากฆ่า อยากทำลายอย่างแรง นี่มันมีความอยากอย่างแรงขึ้นมาแล้ว ความรู้สึกว่าตัวกู ๆ จึงจะเกิดขึ้นมาเป็นตัวกู กูต้องการเป็นตัวกูที่จะฆ่า ตัวกูที่จะทำลาย นี้เรียกว่าให้เกิดอุปาทาน ตัณหาให้เกิดอุปาทาน ในอุปาทานคือตัวตนอันเป็นเรื่องลม ๆ แล้ง ๆ มันเกิดมาจากความรู้สึกอยากคือตัณหา เป็นธรรมชาติ ตามธรรมชาติ ถ้ามีความรู้สึกอยากเกิดขึ้นรุนแรงแล้ว ความรู้สึกว่ากูผู้อยาก กูผู้จัดทำมันก็เกิดขึ้นมาเองแล้วก็ทำเพื่อกู อย่างนี้เรียกว่าอุปาทาน ตัณหาให้เกิดอุปาทาน ถ้ามีอุปาทานอย่างนี้แล้ว มีภพมีชาติ คือความเกิดแก่ตัวกูที่จะค่อยสมบูรณ์ ๆ ขึ้นมาจนเป็นชาติ ลุกขึ้นมาตรง ๆ ทำอะไรอยู่อย่างเต็มที่ ทำอะไรอยู่อย่างสุดเหวี่ยงตามความต้องการของตัณหาอุปาทานนั้น ชีวิตประจำวันเป็นอย่างนี้ ถ้ารู้เรื่องนี้เขาเรียกว่ามีปัญญาสูงสุดในพระพุทธศาสนา
ในทางที่ตรงกันข้ามก็กลับกันน่ะ แค่ว่ามันมีเวทนาแล้ว มีสติ หรือมีผัสสะแล้วมีสติให้เกิดเวทนาที่ฉลาดที่มีความรู้ถูกต้องเข้าไปเจออยู่ เวทนานั้นก็ไม่หลอกให้หลง ไม่หลอกให้อยาก เพราะมันมีสติปัญญามาเจืออยู่ มีวิชชามาเจืออยู่ ก็ไม่เกิดความคิดอยากอย่างโง่เขลาทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูผู้อยาก อยากมาเป็นของกู เรื่องมันก็ไม่มีตัวกูที่จะไปทำอะไรให้สุดเหวี่ยงตามแบบของตัวกู ความทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น นี้เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทฝ่ายที่ไม่ให้เกิดทุกข์อย่างแรก เป็นปฏิจจสมุปบาทฝ่ายที่ไม่ให้เกิดทุกข์ ถ้ารู้เรื่องนี้คือรู้ธรรมะเรียกว่าหมดทั้งสิ้นก็ได้ เพราะมันธรรมะที่ควรรู้ทั้งหมดทั้งสิ้นมีแต่เพียงเรื่องทุกข์กับความดับทุกข์แค่นั้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เอง ว่าแต่ก่อนนี้ก็ดีเดี๋ยวนี้ก็ดี ฉันพูดแต่เรื่องความทุกข์กับความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นอกนั้นไม่พูด ไม่เอามาพูดให้เสียเวลา มันก็แปลว่าเรารู้ว่าธรรมะทั้งหมดที่ควรรู้ที่ควรพูด ก็ยังมีที่ตรัสไว้ในที่อื่นว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาทผู้นั้นเห็นตถาคต คือ ผู้ใดเห็นธรรมะผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาทผู้นั้นเห็นธรรมะ ผู้ใดเห็นธรรมะผู้นั้นเห็นตถาคต หมายความการเห็นเรื่องนี้รู้แจ้งเรื่องนี้อยู่อย่างนี้เรียกว่าเห็นธรรมะ เห็นธรรมะนั้นคือเห็นองค์ตถาคต คือองค์พระพุทธเจ้าที่แท้จริง ไม่ใช่รูปกายหรือไม่ใช่พระพุทธรูปซึ่งเป็นสัญลักษณ์ รูปร่างกายนั่นไม่ใช่พระพุทธเจ้าที่แท้จริง ท่านตรัสไว้อย่างนั้น ธรรมะน่ะเป็นองค์พระพุทธเจ้าที่แท้จริง เห็นธรรมะก็คือเห็นเรื่องนี้ เห็นเรื่องเกิดทุกข์ ทุกข์เกิดอย่างไร ทุกข์ดับอย่างไร คือปฏิจจสมุปบาท มันเป็นความรู้สูงสุด ถ้าใครรู้แล้วก็เรียกว่ามีปัญญาสมบูรณ์สูงสุดอยู่ในตัว นี่เรื่องของปัญญา ๆ ข้อแรกคือจะมีไว้เป็นที่พึ่ง หรือช่วยแก้สถานการณ์ หรือพูดอย่างวิทยาศาสตร์ก็ว่าจะมาช่วยควบคุมสัญชาตญาณอย่างสัตว์อย่างต่ำ ให้เป็นสัญชาตญาณที่พัฒนาแล้วและปลอดภัย เอาละ มันหมดไปตอนหนึ่งเป็นเรื่องของปัญญา นี่ปัญญา ๆ นี่ปัญญานี้สะสมไว้เรื่อยเพิ่มพูนไว้เรื่อยขัดเกลาไว้เรื่อยซักซ้อมไว้เรื่อยมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาชั้นหนึ่งก่อน
เอ้า, ทีนี้พอมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นทางตาทางหูทางอะไรก็ดีที่มันจะเกิดขึ้นให้เป็นทุกข์น่ะ สติระลึกถึงปัญญาเหล่านั้น ขนเอาปัญญาเหล่านั้นมาเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ ซึ่งที่มาทำให้รักมันก็ไม่รัก ที่มาทำให้โกรธมันก็ไม่โกรธ ที่จะทำให้เกลียดมันก็ไม่เกลียด จะทำให้กลัวมันก็ไม่กลัว วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หึงหวงอะไรมันก็ไม่มีได้ โดยที่ว่าสติมันไปเอาปัญญามา ได้มายืนคุมสถานการณ์อยู่เป็นสัมปชัญญะ คุมสัมปชัญญะรู้สึกตัวอยู่พิจารณาอยู่ มันทุ่มเทกำลังของสมาธิเพื่อให้พิจารณากันอย่างเฉียบขาดอย่างรุนแรงอย่างลึกซึ้งโดยกำลังของสมาธิ มันเป็นความหนัก ปัญญาเป็นความคม มันก็ตัดปัญหานั้นออกไป ปัญญาเปรียบเหมือนกับความคมของมีด เป็นต้น สมาธิมันก็น้ำหนักของมีดที่มันต้องมีน้ำหนักมันจึงจะตัดได้ ฟันลงไปได้ ถ้าเบาหวิวมันก็ไม่ตัดอะไรได้ ความคมก็เป็นหมันไปเปล่า ๆ ความคมนี่ต้องประกอบด้วยน้ำหนักนะ มันจึงจะตัดอะไรได้ ทีนี้ปัญญาเป็นความคม สมาธิเป็นน้ำหนัก ปัญญาโดยสติเอามาเป็นสัมปชัญญะ แล้วกำลังของสมาธิก็ระดมลงไปที่สัมปชัญญะ ก็รู้จริงจังเด็ดขาดลงไปในเรื่องนั้น ๆ ถ้างั้นมันก็ป้องกันได้ มันเกิดทุกข์ไม่ได้ หรือทุกข์ที่กำลังเกิดอยู่ก็สิ้นสุดลงไป สูญสลายไป นี่เรียกว่าเราควบคุมสถานการณ์ได้ไม่ว่าอะไรจะมากระทบเราจากภายนอกหรือจากภายในก็ตาม เหตุการณ์ภายนอกมากมายหลายสิบอย่างหลายร้อยอย่างที่จะมาทำให้เกิดทุกข์ พอมาถึงเข้า เรามีสติ รับหน้ามันด้วยสติ สติมันไปขนเอาปัญญาที่เคยศึกษาสะสมไว้มาเป็นความรู้เฉพาะหน้า เรียกว่า สัมปชัญญะ ต่อสู้กับสิ่งเหล่านั้น แล้วระดมกำลังจิตทั้งหมดของสมาธิเพื่อจะทะลุไป ทำให้มันเด็ดขาดไป
นี่ปัญญาเป็นอย่างไร สติเป็นอย่างไร สัมปชัญญะเป็นอย่างไร สมาธิเป็นอย่างไร นะ ถ้าท่านผู้ใดรู้จักโดยประจักษ์แจ้งชัดเจนความเป็นจริงทั้ง ๔ อย่างแล้วก็เรียกว่าได้รับ ได้มีคู่มือหรือวิถีทางที่จะควบคุมชีวิตไว้ในลักษณะที่ไม่มีความทุกข์ ถ้าใช้หลักเกณฑ์นี้ทุก ๆ กรณี มันจะมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นจากภายนอกหรือจากภายในจะให้เกิดทุกข์หรือกำลังมีความทุกข์อยู่ก็ให้มันแก้กันด้วยธรรมะวิเศษ ๔ ประการนี้ ขอร้องให้ศึกษาให้เข้าใจให้ดีทั้ง ๔ ประการว่าปัญญาคืออะไรอย่างไร สติคืออะไรอย่างไร สัมปชัญญะคืออะไรอย่างไร สมาธิคืออะไรอย่างไร นี่ถ้าเห็นว่ามันไม่พอ ๆ เราไม่มีพอ เราก็ฝึกให้มันพอ เพาะปลูกให้มันพอ บาลีใช้คำว่า (นาทีที่ 34.35) คือทำให้งอกงามขึ้นมา ทำให้สติมีมากขึ้น ปัญญามีมากขึ้น สติมีมากขึ้น สัมปชัญญะมีมากขึ้น สมาธิมีมากขึ้น แต่โดยทั่วไปก็คือพอกพูนปัญญานั่นน่ะให้มันมากขึ้น ๆ สติมันก็จะมากจะกว้าง สัมปชัญญะก็จะกว้างขวาง สมาธิก็จะสมบูรณ์เอง ช่วยจำ ๔ คำนี้ไว้ให้ดี เพราะมันต้องใช้เป็นธรรมะร่วมเป็นทีมคล้าย ๆ ทีมเวิร์กนะ มีปัญญาอย่างไร มีสติอย่างไร มีสมาธิอย่างไร มีสัมปชัญญะอย่างไร มีสมาธิอย่างไร ขอให้ท่องเอาไว้ว่าปัญญา สติ สัมปชัญญะ สมาธิ แต่ถ้าจะเรียกเรียกโดยทั่ว ๆ ไป จะเรียกโดยลำดับอย่างอื่นก็ได้นะ โดยลำดับอย่างอื่นก็ได้ แต่ถ้าจะเรียกโดยลำดับที่จะทำหน้าที่และหน้าที่ประยุกต์กันจริง ๆ แล้วก็จะขอเรียกว่า ปัญญามีอยู่เป็นพื้นฐาน สติระลึกได้ขนเอามาเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้น แล้วปัญญาที่เอามานั้นก็กลายเป็นสัมปชัญญะเฉพาะ ๆ เป็นธรรมสัจจะเฉพาะเรื่อง ๆ ก็ปัญญามันมีมากเหลือเกิน ทีนี้เอามาเฉพาะที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้เขาเรียกว่าเป็นธรรมสัจจะเฉพาะเรื่อง เรียกว่าสัมปชัญญะคุมเชิงอยู่ ๆ เรื่องมันก็ไม่ผิดได้ มันก็เป็นไปในทางถูกต้อง แล้วระดมกำลังจิตคือสมาธิให้รุนแรง หรือให้ถึงที่สุด มันก็ลุมันก็เสร็จ จบ ถึงที่สุด ปัญญา สติ สัมปชัญญะ สมาธิ ช่วยจำไว้ดี ๆ อย่าเห็นเป็นเรื่องฟังก็ฟังแล้วก็แล้วไป มันก็เป็นเรื่องเล่น ๆ เป็นเรื่องของเด็ก ๆไป ก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยเล่า มันจะเข้าแบบที่ว่าไม่คุ้มค่า เรียกว่าไปเที่ยวแสวงหาธรรมะไปไกลไปลำบากเสียเงิน เสียเวลา เสียเรี่ยวแรง แล้วได้ผลไม่คุ้มค่า มันก็น่าเศร้าที่สุด เพราะฉะนั้นเพื่อจะให้มันได้ผลคุ้มค่าก็พยายามที่ให้มันได้รับประโยชน์โดยแท้จริง
สติ สัมปชัญญะ สมาธิ ปัญญา มีแล้วจะไม่มีความผิดพลาดใด ๆ เกิดขึ้น จะไม่มี ๆ บาปอกุศลใด ๆ สามารถเกิดขึ้น มันปิดกั้นหมดเลย ไม่มีบาปอกุศลใด ๆ เกิดขึ้นได้ มีแต่กุศลจะเกิดขึ้น แล้วก็เจริญงอกงามไปจนดับทุกข์ได้แล้วอยู่เหนือปัญหาทั้งปวง เรียกว่าอยู่เหนือโลก นี้ ๔ อย่างนี้ต้องใช้เป็นพื้นฐานทั่วไป ใช้ในระดับกลาง ๆ ทั่วไป ใช้ในระดับสูงสุดเพื่อให้บรรลุมรรคผลนิพพาน โดยธรรมะ ๔ ประการนี้ขอให้จดจำไว้ให้ดี ๆ เถอะว่า ปัญญาสะสมไว้ให้เพียงพอ สติฝึกไว้ให้เร็ว สัมปชัญญะนั่นน่ะกลายรูปมาจากสติ ถ้าปัญญาเพียงพอ สติเพียงพอ สัมปชัญญะก็เพียงพอ สมาธิถ้ามีน้อยก็ฝึกให้มีมาก ๆ
แล้วทีนี้มันก็มีวิเศษ ๆ ใช้คำว่า วิเศษ เรามีระบบฝึก ๆ อยู่ระบบหนึ่งซึ่งถ้าฝึกแล้วจะมี ๔ อย่างนี้เพียงพอ คือ ระบบอานาปานสติกรรมฐาน ระบบอานาปานสติแบ่งเป็น ๔ หมวด หมวดละ ๔ ขั้น รวมเป็น ๑๖ ขั้น ถ้าฝึกตลอดนั้นแล้วมันเป็นการฝึกหมดเลย มีปัญญารอบรู้เพียงพอเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สุญตา มีสติรวดเร็วเป็นสติปัฏฐานด้วย แล้วก็มีสัมปชัญญะ ก็ปัญญาถูกต้องเพียงพอมาด้วยอำนาจของสติ แล้วก็เป็นสมาธิอย่างยิ่งอยู่ในตัวฝึกนั่นน่ะ ฝึกอานาปานสติภาวนา เมื่อฝึกดีแล้วจริงแล้วถึงที่สุดแล้วมันมีสติ สัมปชัญญะ ปัญญา สมาธิอย่างครบถ้วน แต่เรื่องนี้มันก็ต้องกินเวลาบ้าง เพียงแต่ศึกษามันก็กินเวลาแล้ว ปฏิบัติมันก็กินเวลา ดังนั้น การที่มาฝึกเพียงวันสองวันนี้มันเพียงแต่รู้จักวิธีที่จะไปฝึกเอาเอง ครูบาอาจารย์ที่สอนให้ได้ก็เพียงแต่สอนวิธีที่ว่าจะฝึกอย่างนั้น ๆ แล้วไปฝึกเอาเองตลอดไปตลอดเวลาตลอดชีวิตก็ยิ่งดี ไม่อาจจะสอนให้สำเร็จประโยชน์ได้ในวันสองวัน แต่สอนให้สำเร็จประโยชน์เพียงแค่ว่ารู้วิธีที่จะไปฝึกเองต่อไปเป็นชีวิตประจำวัน ในชีวิตประจำวันมีการฝึก มีโอกาสเมื่อไรก็ฝึกเมื่อนั้น ก่อนจะนอนก็ฝึก ตื่นนอนใหม่ ๆ ก็ฝึก เวลาว่างพักการพักงานพักการศึกษา ๒๐ นาที ๓๐ นาทีก็ฝึก ฝึกได้ เพราะว่าฝึกอานาปานสตินี่มันสะดวกกว่าแบบไหน ๆ หมด คือมันไม่ต้องขนอุปกรณ์เครื่องใช้อะไรไป มันมีลมหายใจอยู่ในตัว ตลอดเวลาที่ยังหายใจอยู่แล้วก็ฝึกอานาปานสติได้ทั้งนั้น ไปนั่งตรงไหนก็ได้เมื่อไรก็ได้ ฝึกให้มีสติในเรื่องของร่างกาย ในเรื่องของเวทนา ในเรื่องของจิต ในเรื่องของธรรมะ คือความจริงตามแบบอานาปานสติ ไปหาศึกษาเอาเองโดยเฉพาะอานาปานสติภาวนาฉบับนักศึกษาน่ะ ฉบับที่บรรยายแก่นักศึกษาโดยเฉพาะนั่นแหละพอดี คือฉบับใหญ่มันอาจจะมากเกินไป นั่นบรรยายสำหรับพระที่อยู่ในวัด นอกจากนั้นยังมีเรื่องสั้น ๆ ระบบลัดสั้น ระบบสำหรับยุคปรมาณู นั่นก็ยังมีระบบลัดสั้น ศึกษามันเถอะจนกว่าจะรู้สึกว่าพอ
รู้เรื่องร่างกายว่าร่างกายเป็นอย่างไร ร่างกายในที่นี้หมายถึงลมหายใจด้วย แล้วก็เนื้อหนังที่มีชีวิตอยู่ได้เพราะลมหายใจด้วยก็เรียกว่าร่างกาย ลมหายใจยาวเป็นอย่างไร ลมหายใจสั้นเป็นอย่างไร รู้ว่าเมื่อลมหายใจยาวร่างกายเป็นอย่างไร เมื่อมีลมหายใจสั้นร่างกายเป็นอย่างไร เมื่อลมหายใจหยาบร่างกายมันก็หยาบ เมื่อลมหายใจละเอียดร่างกายมันก็ละเอียด ดังนั้น เราจึงบังคับเนื้อหนังร่างกายนี้ได้ด้วยการบังคับลมหายใจ เราจะไปบังคับร่างกายโดยตรงมันทำไม่ได้ แต่เราบังคับมันได้โดยทางลมหายใจ ถ้าเราทำให้ลมหายใจละเอียดประณีตเยือกเย็นได้ ไอ้ร่างกายก็สงบระงับและเยือกเย็น และเราก็ทำอย่างนั้นด้วย นี่หมวดที่ ๑ เรื่องร่างกาย รู้ลมหายใจยาว รู้ลมหายใจสั้น รู้จักอิทธิพลของลมหายใจที่ปรุงแต่งร่างกาย และรู้จักควบคุมอิทธิพลของมันให้ปรุงแต่งละเอียด ประณีต สงบระงับ ร่างกายก็สงบระงับ เสร็จไปตอนหนึ่งเรื่องร่างกาย นี่เป็นปัญญาด้วยนะ รู้อย่างนี้เป็นปัญญาด้วย เป็นสติด้วย และมีสมาธิอยู่ในตัวที่มันสงบระงับ ๆ อยู่ในตัวสมาธินั้นด้วย สัมปชัญญะตลอดของการฝึก เรื่องของการฝึกอยู่เสมอ ฝึกสัมปชัญญะอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นเพียงแต่ฝึกลมหายใจหมวดกายหมวดเดียวก็เป็นการฝึกทั้งสติ สัมปชัญญะ ปัญญา สมาธิ
ทีนี้ยังมีสูงต่อขึ้นไปถึงหมวดที่ ๒ เป็นเรื่องเวทนา คนเรามันเป็นทาสของเวทนา คนทั้งโลกตลอดทุกวันเป็นทาสของเวทนา คือความรู้สึกยินดียินร้าย แล้วก็ยินดียินร้ายไปตามเวทนา เรียกว่าเป็นทาสของเวทนา อยู่ใต้อิทธิพลของเวทนา อย่างนี้เรามารู้สึก คือรู้จักมันเสีย อย่าให้มันทำกับเราได้มากมายถึงอย่างนั้น รู้เรื่องปีติและความสุข ปีติมันเกิดขึ้นเมื่อเราทำอะไรสำเร็จก็เกิดปีติ ถ้าเกิดปีติแล้วก็พอใจและเป็นสุข มันจึงมีปีติแล้วก็มีความสุข สิ่งทั้งสองนี้เป็นอย่างไร ทำให้เกิดขึ้นในใจแล้วศึกษาให้ดีจนรู้จักมันดี แล้วก็รู้จักว่าปีติและสุขมันปรุงแต่งความคิด ไอ้ความคิดทั้งหลายเป็นไปตามอำนาจของเวทนานี้ ถ้าควบคุมเวทนาได้ก็ควบคุมความคิดได้ ลดอิทธิพลของเวทนาเสียได้ก็ลดอิทธิพลของความคิดได้ ควบคุมความคิดให้ถูกต้องอยู่ในร่องในรอยได้แล้วเราก็ทำอย่างนั้น นี่ ๔ ขั้นของหมวดเวทนา แล้วก็ควบคุมเวทนาได้ ไม่ให้เวทนาปรุงแต่งเราให้คิดนึกไปในทางที่ต้องเป็นทุกข์ ความคิดนึกมันเป็นไปตามเวทนาที่มันเกิดขึ้นโดยอนุโลมแก่เวทนา ความคิดนั้นก็เป็นไปผิด ๆ มันไม่รู้ ไปยึดถือมันก็เกิดความทุกข์ เดี๋ยวนี้เราจะเป็นนายเหนือเวทนา ไม่เป็นทาสของเวทนาอีกต่อไป เราบังคับเวทนาแล้ว ไม่ใช่เวทนาบังคับเราแล้ว นี่มันก็มีความรู้ มันมีสติ มีอะไรมากขึ้นไปอีก
มาถึงหมวดที่ ๓ เรื่องจิต จิตเป็นอย่างไร กี่ชนิด คอยสังเกตให้ดี ไม่ต้องไปสังเกตข้างนอก ไม่ต้องอ่านหนังสือ แต่รู้จักตัวจิตที่กำลังรู้สึกอยู่อย่างไร จิตกำลังรู้สึกอยู่อย่างไร จิตอย่างนี้มีลักษณะอย่างไร รู้ลักษณะของจิตทุก ๆ ชนิด แล้วก็บังคับจิตให้เป็นไปตามที่เราต้องการ ถ้าเราฝึก ๒ หมวดข้างต้นมาเป็นอย่างดีแล้ว มาถึงหมวดที่ ๓ นี้เราจะบังคับจิตได้ตามต้องการ คือเราจะบังคับจิตให้มีความรู้สึกที่พอใจบันเทิงเริงรื่นขึ้นมาก็ได้ หรือเราจะฝึกบังคับจิตให้หยุด ให้สงบ ให้ตั้งมั่น แน่วแน่นี้ก็ได้ หรือเราจะบังคับจิตให้ปล่อยให้สลัดสิ่งที่มารบกวนจิตใจนี้ออกไปเสียก็ได้ นี่ก็มี ๔ ขั้น หมวดจิต ถ้าฝึกได้ก็เป็นผู้มีอำนาจเหนือจิต คิดดู มีอำนาจเหนือจิต จะให้จิตสร้างอะไรขึ้นมาก็ได้ เรียกว่า หมวดที่ ๓
ทีนี้หมวดที่ ๔ หมวดสุดท้ายซึ่งสำคัญมาก เมื่อจิตฝึกได้ดีในอำนาจ จิตอยู่ในอำนาจอย่างนี้แล้วก็บังคับจิตให้มองความจริงของสิ่งทั้งปวง ให้ศึกษาธรรมชาติจนรู้จักความจริงของธรรมชาติทุกแง่ทุกมุม ดังนั้นจึงบังคับจิตให้มองสิ่งที่เรียกว่าอนิจจัง อนิจจัง คือ ความเปลี่ยนแปลง แล้วสิ่งทั้งหลายมันเปลี่ยนแปลงเพราะว่าสิ่งทั้งหลายมันไม่เป็นตัวเอง มันเป็นสิ่งที่เกิดปรุงแต่ง ๆ ๆ ๆ กันอยู่อย่างตลอดเวลา มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่บางทีมันเปลี่ยนแปลงช้า หรือมันมีอะไรมาทำหลอก มาหลอกให้เราเข้าใจผิด เช่น ก้อนหิน ก้อนหินอย่างนี้มันเปลี่ยนแปลงอยู่ในภายในตลอดเวลา แต่เราก็เห็นว่าก้อนหินนี้เองไม่ได้เปลี่ยนแปลง นี่เพราะยังรู้น้อยไป ทีนี้ของที่ไม่ใช่ก้อนหิน ที่เป็นเนื้อเป็นหนังเป็นชีวิตเป็นจิตใจนั้นยิ่งเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างรวดเร็วตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงเหมือนกับไหล เหมือนกับน้ำไหล เป็นปัญญาตั้งต้น ปัญญาชั้นสูงสุดที่เป็นจุดตั้งต้นให้เห็น ให้เห็นด้วยความรู้สึกนะไม่ใช่เห็นด้วยตา ให้เห็นด้วยความรู้สึกว่ามันเปลี่ยนแปลง ๆ ดูในภายในก็ได้ ผม ขน และฟัน หนัง เนื้อหนังอะไรก็ตามว่ามันเปลี่ยนแปลงอย่างไร ถ้าจะศึกษาทางวิทยาศาสตร์ก็ได้แต่ก็ต้องเอามาจับกับของจริง ไม่ใช่อาศัยหนังสือ อาศัยความจริงว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร อย่างที่เขาบอกว่าร่างกายนี้ชั่วกี่วันหรือกี่เดือนเปลี่ยนแปลงหมด เปลี่ยนแปลงหมดทุกเซลล์ที่ประกอบขึ้นเป็นร่างกายอย่างนี้เป็นต้น เราก็อาศัยพิจารณาให้เห็นจริงตามนั้น เห็นความเปลี่ยนแปลง
พระพุทธเจ้าได้พูดถึงศาสดาองค์อื่น ๆ นะ นอกเหนือจากพระองค์ว่าได้สอนเรื่องความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่มีสอนแต่พระพุทธเจ้าองค์เดียว โดยถือเป็นจุดตั้งต้นสำคัญที่ความรู้อันสูงสุดมันจะตั้งต้นเห็นความเปลี่ยนแปลง พระพุทธเจ้าได้พูดถึงอารกา ศาสดาชื่ออารกา ไม่ได้บอกว่าอยู่ที่ไหนก็มี ศาสดาองค์นี้ก็สอนเรื่องความไม่เที่ยง เปิดดูหนังสือทางประวัติศาสตร์พบว่า ในสมัยพุทธกาลมีคนชื่อ ฮีรัคครีตัส ฮีรัคครีตัส (นาทีที่ 48.28) ไปหาดูใน encyclopedia ก็ได้ พระศาสดาองค์นี้คนนี้สอนเรื่องเคนทาเร ทุกอย่างไหล ๆ ๆ โดยคนเขาไม่เข้าใจ โดยหาว่าคนนี้มันบ้า เป็น obscure (นาทีที่ 48.46) เป็นอะไรไป เป็นคนวิกลจริต ที่จริงมันก็พร้อม ๆ สมัยกับพระพุทธเจ้าที่ทางฝ่ายนั้นน่ะสอนเรื่องไม่เที่ยง สอนเรื่องทุกอย่างไหล นี่ก็แสดงว่าทางตะวันตกนี้ก็มีฮีรัคครีตัส (นาทีที่ 49.04) ทางตะวันออกก็มีขง เหลาจื๊อ มีอะไรที่สอนเรื่องทุกอย่างไหล ก็แปลว่าความรู้สูงสุดของมนุษย์มันตั้งต้นโดยเรื่องที่ว่าทุกอย่างไม่เที่ยง ทุกอย่างเปลี่ยนแปลง ถ้ามองถ้ามองเห็นหรือรู้สึกด้วยใจในเรื่องนี้แล้วก็เป็นจุดตั้งต้นที่ดีมาก คือมันจะมองเห็นว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลง จะเอาเป็นตัวตนไม่ได้นะ มันไปตามเหตุปัจจัยของมัน ถ้าไปยึดถือเข้ามันจะไม่ให้เปลี่ยนแปลงมันก็เป็นทุกข์ ทีนี้เราก็ไม่อยากให้เปลี่ยนแปลงเราก็ต่อสู้กันกับธรรมชาติอย่างโง่เขลาเราก็เป็นทุกข์เอง ยอมรับสภาพความเปลี่ยนแปลงแล้วปฏิบัติทุกอย่างให้มันถูกต้องกับสภาพความเปลี่ยนแปลง ความทุกข์มันก็ไม่เกิดน่ะ
ท่านพระพุทธเจ้าได้พูดในอานา หลักอานาปานสติพูดแต่เรื่องตรัสแต่เรื่องความเปลี่ยนแปลง ไม่ได้ตรัสเรื่องทุกขังหรืออนัตตาหรอก อนิจจานุปัสสี เพราะเหตุว่าถ้าเห็นอนิจจา ความไม่เที่ยง แล้วมันก็จะเห็นว่าเป็นทุกข์เอง แล้วก็จะเห็นความที่มันเปลี่ยนแปลงเรื่อยนั้นมันไม่ใช่อัตตา มันเป็นอนัตตาเอง พูด ๆ แต่เรื่องอนิจจังก็พอ อานาปานสติจึงพูดแต่อนิจจัง อนิจจานุปัสสี ถ้าเห็นอนิจจังจริง มันก็จะเห็นว่าเป็นทุกขังหรือน่าเกลียดน่าชัง หลอกลวง นี้ออกเป็นตัวเป็นตนที่แท้จริงแต่มันไม่ได้เพราะมันเปลี่ยนแปลงเรื่อยไปตามเหตุปัจจัยที่มันเกิดขึ้น เป็นอยู่ เป็นไป ก็เห็นอนิจจังด้วย ทุกขังด้วย อนัตตาด้วย สรุปรวมแล้วก็เห็นสุญตา คือ ความว่างจากตัวตน สิ่งเหล่านั้นว่างจากตัวตน นี่เขาเรียกเห็นในการปฏิบัติข้อที่ ๑ แห่งหมวดที่ ๔ ที่ว่าอนิจจานุปัสสี เห็นความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจเข้าหายใจออก ๆ สำนึกรู้สึกต่อความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งปวงทั้งภายในตัวเราทั้งภายนอกตัวเราอยู่เป็นประจำ นี่ก็ข้อที่ ๑ ของหมวดที่ ๔
ทีนี้ข้อที่ ๒ ก็เห็นอย่างนี้ก็เริ่มเบื่อหน่ายที่ราคะ คลายความหลง คลายความโง่ คลายความยึดมั่นถือมั่นเป็นวิราคะ เห็นอยู่เป็นประจำ เมื่อเห็นเมื่อมันคลายอยู่ ๆ จางออก ๆ อยู่เป็นประจำมันก็หมด มันก็ดับ เห็นนิโรธะ ดับไปแห่งความทุกข์ ดับไปแห่งกิเลส ดับไปแห่งความรู้สึกว่าตัวกูว่าของกู ถ้าใครต้องการจะดับความรู้สึกว่าตัวกูของกูก็เจริญบทนี้โดยเฉพาะ มันก็ดับสิ้นสุดลงแห่งความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกู จะเรียกว่าตัวกูของกูดับก็ได้ จะเรียกว่าความยึดมั่นถือมั่นดับก็ได้ ถ้าความยึดมั่นถือมั่นดับตัวกูมันก็ดับ ตัวกูมันดับความยึดมั่นถือมั่นมันก็มีไม่ได้ มันก็เรียกว่าดับแห่งความยึดมั่นว่าตัวกูของกู มันก็ไม่มีตัวตนสำหรับจะเห็นแก่ตน มันก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ในภายใน แล้วก็ไม่ทำให้เกิดทุกข์ในภายนอกคือทางสังคม คนนี้จะไม่มีความทุกข์ทั้งภายใน จะไม่มีความทุกข์ทั้งภายนอก นี่ข้อที่ ๓ ของหมวดที่ ๔
พอมาข้อสุดท้ายข้อที่ ๔ อ้าว, เสร็จแล้วจบแล้ว เรื่องจบแล้ว ๆ ฉันจะโยนคืนทิ้งไปหมด ก่อนนี้ฉันเป็นคนโง่ไปปล้นเอาไปขโมยของธรรมชาติมาเป็นของฉัน ไปเอาของธรรมชาติมาเป็นของตน หรือเห็นความจริงอย่างนี้หมดแล้วโยนคืนให้เจ้าของไป ให้ธรรมชาติไป ทุกอย่างเป็นของธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของตน จบเรื่อง
ถ้าฝึก ๑๖ ขั้นทำนองนี้แล้จะสมบูรณ์หมด สติก็สมบูรณ์ สัมปชัญญะก็สมบูรณ์ สมาธิก็สมบูรณ์ ปัญญาก็สมบูรณ์ เราก็สามารถที่จะเอามาใช้ได้ในชีวิตประจำวันทั้ง ๔ อย่าง ทุกสถานการณ์ ทุกเหตุการณ์ จะทำการศึกษาก็ใช้ได้ดี จะทำการงานก็ใช้ได้ดี จะพักผ่อนก็เป็นการพักได้ดี เพราะรู้จักควบคุมจิต นี่เรื่องความเป็นผู้มีชีวิตใหม่นี้จบ เป็นมีชีวิตใหม่จบลง ชีวิตใหม่ก็ทำได้อย่างนี้เพราะขึ้นมาถึงระดับนี้ เรียกว่า ขึ้นมาเหนือระดับอิทธิพลของสิ่งทั้งปวงที่มีอยู่ในโลก ถ้าเราไม่ขึ้นมาถึงระดับนี้ สิ่งทั้งปวงจะมีอิทธิพลอยู่เหนือเราบังคับเราทำให้เราต้องเป็นทุกข์ หรือว่าถ้าเราไม่ขึ้นมาถึงระดับนี้สัญชาตญาณ instinct ทั้งหลายมันยังครอบงำเราอยู่ให้เป็นไปตามอำนาจของสัญชาตญาณ แล้วก็ยังจะต้องรัก โกรธ เกลียด กลัว วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ มีความทุกข์ ถ้าเราขึ้นมาถึงอันนี้แล้วก็จะพ้นอำนาจของสัญชาตญาณทั้งหลาย สบายเท่าไหร่ ปุถุชนอยู่ใต้อำนาจของสัญชาตญาณ ต้องแล้วแต่ว่าสัญชาตญาณมันจะให้ทำอย่างไร มันก็มีความทุกข์ไปทุกรูปแบบ
เดี๋ยวนี้ฉันอยู่เหนืออำนาจของสัญชาตญาณ คือเป็นพระอรหันต์ แต่ว่าเธออย่าเพิ่งเป็นพระอรหันต์เลย เอาเพียงว่าควบคุมสัญชาตญาณได้ก็แล้วกัน อย่าให้มันเกิดเป็นทุกข์ขึ้นมา หรือว่าดีกว่านั้นก็เปลี่ยนแปลงกำลังของสัญชาตญาณ เอาไปใช้เสียให้มันถูกต้อง เช่น ความเห็นแก่ตนนี่มาก ๆ เอาความเห็นแก่มาก ๆ ไปใช้ เห็นแก่ธรรม เห็นแก่ธรรมะ เปลี่ยนกระแสจากการเห็นแก่ตนไปเห็นกระแสไปเห็นแก่ธรรมะ คือความถูกต้อง ชีวิตก็เปลี่ยนหมด เหมือนกับยกตัวอย่างว่า น้ำนี่ถ้ามันมาท่วมพังทลายก็ให้เกิดความทุกข์ เกิดอุทกภัย แต่ถ้าเอากำลังน้ำไปหมุนกระแสไฟฟ้าใช้เสียมันก็ไม่มีโทษอะไร ก็ได้ประโยชน์ นี่ sublimate กำลังให้ถูกต้องไปใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติ มันเป็นไปตามธรรมชาติ มันไปใช้ในสิ่งที่ผิด อย่าลืมที่บอกว่าสัญชาตญาณที่บังคับไม่ได้นั่นน่ะคือกิเลส ๆ ๆ สัญชาตญาณที่บังคับไม่ได้มันก่อกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลงอะไรขึ้นมา ถ้าสัญชาตญาณที่พัฒนาดีแล้วบังคับได้แล้วเป็นโพธิ ๆ สัญชาตญาณจะให้เป็นกิเลสก็ได้ ให้เป็นโพธิก็ได้ ถ้าปล่อยไปตามอำนาจสัญชาตญาณก็เป็นกิเลส ยิ่งบังคับไม่ได้เท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นกิเลสมากขึ้นเท่านั้น ถ้าบังคับให้ถูกต้องได้พัฒนายิ่งขึ้นไป รู้ถูกต้องตามที่เป็นจริงขึ้นไปมันก็เป็นโพธิ ขอให้มีกำลังใจว่าโพธิ ๆ นี่ธรรมชาติใส่มาให้แล้วในสัญชาตญาณนะ ทุกคนมีสัญชาตญาณนะ ในสัญชาตญาณมีโพธินะ มีเชื้อแห่งความเป็นพุทธะน่ะอยู่แล้วในสัญชาตญาณ แต่ถ้าไม่ได้เพาะปลูกให้เป็นโพธิมันก็ไปเป็นกิเลส นี่สัญชาตญาณอันเดียวไปเป็นกิเลสก็ได้ เป็นโพธิก็ได้ แล้วแต่เราไปจับไปกระทำกับมัน เดี๋ยวนี้เราควบคุมสัญชาตญาณได้ให้หมุนมาแต่ในทางของโพธิ เราก็เดินทางใหม่ วิถีแห่งชีวิตใหม่ แล้วก็เราจะพบชีวิตใหม่ที่อยู่เหนืออำนาจของสัญชาตญาณ ที่มาให้รักก็ไม่รัก ที่มาให้โกรธก็ไม่โกรธ ที่มาให้เกลียดก็ไม่เกลียด ที่มาให้กลัวก็ไม่กลัว ที่มาให้วิตกกังวลอาลัยอาวรณ์ก็ไม่วิตกกังวลอาลัยอาวรณ์ ที่มาอิจฉาริษยาก็ไม่อิจฉาริษยา ที่มาให้หึงให้หวงให้เป็นบ้าอะไรพวกนี้ก็ไม่เป็นชีวิตใหม่นะ
ดังนั้น ชีวิตใหม่สำเร็จได้ด้วยมีธรรมะที่สามารถควบคุมสัญชาตญาณ รวมความสั้น ๆ ว่าธรรมะหรือระบบปฏิบัติที่จะควบคุมสัญชาตญาณให้หมดปัญหาอันเกี่ยวกับสัญชาตญาณ และให้รู้จัก sublimate กำลังของสัญชาตญาณนั่นน่ะไปเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดแก่มนุษย์ มีสันติภาพเหลือประมาณขึ้นในหมู่มนุษย์ ถ้าควบคุมสัญชาตญาณได้ ไม่มีความเห็นแก่ตน มีแต่การปฏิบัติที่ถูกต้อง มีแต่ความถูกต้อง ๆ ๆ เป็นธัมมิกกะประกอบอยู่ด้วยธรรมะมันถูกต้อง ๆ ๆ โลกนี้ก็เป็นโลกใหม่ตามไปด้วย ถ้าทุกคนมีชีวิตใหม่และโลกนี้ก็กลายเป็นโลกใหม่ โลกของพระเจ้า หรือโลกของอะไรที่มันไม่ใช่ธรรมดาแล้วน่ะตามขึ้นมาทันที มีแต่ความสงบ ขอให้เคร่งหาความสงบ สัญชาตญาณทำให้เราโง่ ให้เคร่งหาความเอร็ดอร่อย ขออภัยนะ พูดหยาบคายไป สัญชาตญาณนี่ทำให้เราโง่เคร่งหาความเอร็ดอร่อย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ความอร่อยทางตานี่นะเป็นเรื่องโง่เป็นเรื่องบ้าวูบเดียว ความอร่อยทางหูก็เป็นเรื่องโง่เป็นเรื่องบ้าวูบเดียว ความอร่อยทางจมูกก็เป็นเรื่องโง่เรื่องบ้าวูบเดียว ความอร่อยทางลิ้นก็เป็นเรื่องบ้าชั่ววูบเดียว ความอร่อยทางผิวหนังทั้งหลายนี่ก็เป็นเรื่องบ้าวูบเดียว ความอร่อยทางจิตก็เป็นเรื่องบ้าวูบเดียว ไม่เอา เพราะว่าความอร่อยนั้นไม่ใช่ความสงบ พูดให้กว้างให้ไกลให้ทั้งหมดก็ว่าความทุกข์ก็มิใช่ความสงบ ความสุขตามธรรมดาอย่างนี้ก็มิใช่ความสงบ ความสุขความทุกข์ที่เป็นไปตามอำนาจสัญชาตญาณนั้นมิใช่ความสงบ ความสงบอยู่เหนือนั้น ๆ ที่เราสามารถสร้างความปกติ ๆ ไม่ถูกบังคับ ไม่ถูกปรุงแต่ง ไม่ถูกอะไรด้วยอำนาจของสัญชาตญาณที่ควบคุมไว้ไม่ได้แล้วเป็นกิเลส ทีนี้ควบคุมสัญชาตญาณไว้ได้ มันก็ไม่มี ๆ เรื่องของกิเลส มีแต่เรื่องของโพธิ โพธิก็งอกงาม ๆ ๆ ไปจนอยู่เหนือปัญหาโดยประการทั้งปวง ที่จะมาแก้ไขปัญหาของโลกในยุคปัจจุบันได้ก็คือโพธิ ความรู้ที่ถูกต้องนี่มันทำให้รู้ว่าเราต้องรักกัน ๆ ๆ เราเกิดมาไม่เหมือนกัน บางคนฉลาด บางคนโง่ บางคนแข็งแรง บางคนอ่อนแอ บางคนรูปสวย บางคนขี้เหร่ ไม่เหมือนกัน แต่ว่าเรามีเหมือนกันอยู่ตรงที่ว่าเรามีความทุกข์เพราะบังคับสัญชาตญาณไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรามาเป็นคนเดียวกันเถิด คือคนที่มีความทุกข์บังคับสัญชาตญาณไม่ได้ มาช่วยกันศึกษาต่อสู้จนบังคับสัญชาตญาณได้ แล้วเราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์
ถ้าเรามองเห็นว่าสัตว์ทั้งหลาย เพื่อนทุกคนมีชีวิต แม้แต่สัตว์เดรัจฉานมันก็มีปัญหาอย่างนี้ เราก็เกิดความรักความสงสารว่า เราเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย เป็นเพื่อนอยู่ในความทุกข์ด้วยกัน ทรมานอยู่ด้วยกัน เราก็ควรจะรักกัน ความเห็นแก่ตัวนั่นเป็นเหตุให้เรารักกันไม่ได้ เดี๋ยวนี้เรามารู้ความจริงแล้วว่ามันไม่มีตัว ไม่มีตัวตน ตัวตนเกิดมาจากความสำคัญผิด คิดผิด เข้าใจผิด สำคัญผิด เลิกความคิดชนิดนั้นเสีย ไม่มีตัวตนที่เป็นที่ตั้งแห่งความเห็นแก่ตน พอไม่เห็นแก่ตนมันก็รักผู้อื่นทันทีเป็นอัตโนมัติเลย ลองไม่เห็นแก่ตนสิมันก็รักผู้อื่นได้ทันทีเลย เป็นอัตโนมัติอย่างยิ่ง ทีนี้เราเห็นแก่ตน ๆ ๆ เต็มอัดแก่ตน มันก็รักใครไม่ได้แม้แต่ชนิดเดียว ศึกษาธรรมะให้รู้ความที่เป็นจริงว่าทุกอย่างมันเป็นธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมชาติ ปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลาแล้วเกิดความทุกข์อยู่ตลอดเวลา เพราะความเห็นแก่ตนนั่นเอง ถ้าปรุงแต่งถ้าการปรุงแต่งทางจิตใจมันมา ๆ ๆ ตามลำดับจนมาถึงความเห็นแก่ตัวแล้วมันก็มีความทุกข์เกิด ก็ต้องแบกตัว ต้องทนทรมานในการมีตัว มีตัวของตัว กลัวว่าตัวจะตาย กลัวว่าตัวจะไม่ได้อะไร กลัวว่าตัวจะสูญเสียอะไร มันก็มีความทุกข์หนักอยู่ในตัว กับข้างนอกมันก็เอาเปรียบผู้อื่น เบียดเบียนผู้อื่น ข่มเหงผู้อื่น ดูถูกผู้อื่นมันก็เป็นความทุกข์ข้างนอก นี่แล้วความทุกข์ส่วนบุคคลก็มาจากความเห็นแก่ตัว ความทุกข์ของสังคมก็มาจากความเห็นแก่ตัว ถ้าเรากำจัดความเห็นแก่ตัวได้มันก็ไม่มีความทุกข์ ด้วยจิตใจที่ไม่ลำเอียง ด้วยจิตใจที่เที่ยงธรรม
มองดูให้ดี ทุกศาสนาเลยสอนให้ทำลายความเห็นแก่ตัวไม่โดยตรงก็โดยอ้อม ถ้าศาสนาไหนมันไม่สอนเรื่องการทำลายความเห็นแก่ตัวแล้วไม่ใช่ศาสนาหรอก เอาไปโยนทิ้งทะเล แต่ว่าถ้าทุกศาสนาที่เป็นศาสนาแท้จริงนั้นจะต้องสอนเรื่องความไม่เห็นแก่ตัว ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม บางทีสอนโดยอ้อมฟังไม่ถูก แต่ก็มุ่งหมายอย่างนั้น เพราะคนที่นั่นมันฟังไม่ถูก ก็ต้องสอนชนิดที่คนที่นั่นฟังถูก มันจึงมีสอนทั้งอย่างภาษาคนธรรมดา มีสอนทั้งอย่างภาษาธรรมะอันลึกซึ้ง มันจำเป็น เพราะฉะนั้นศาสนาทุกศาสนามันจึงเป็นเรื่องสอนทำลายความเห็นแก่ตัว มีลักษณะเป็นสังคมนิยมอย่างจิตวิญญาณ มีลักษณะเป็นสังคมนิยมทางฝ่ายวิญญาณน่ะ เป็น Spiritual Socialism อยู่ทั้งนั้นน่ะ ให้เห็นแก่ผู้อื่นชีวิตอื่นในทางความรู้สึกทางจิตใจที่แท้จริง เราก็รักผู้อื่น รักมนุษย์ผู้อื่นได้ เรารักสัตว์เดรัจฉานได้ เพราะมันก็มีชีวิตมีความรู้สึกอย่างเดียวกัน แล้วเราก็รักต้นไม้ทั้งหลายได้ เพราะต้นไม้ทั้งหลายก็มีชีวิตและมีความรู้สึก แต่คนมันโง่เกินไปเห็นว่าต้นไม้ไม่มีความรู้สึก วิทยาศาสตร์ก้าวหน้ามาเพียงพอแล้วที่จะพิสูจน์ว่า แม้ต้นไม้ก็มีความรู้สึกไม่อยากตาย อยากจะอยู่ด้วยเหมือนกัน มีสัญชาตญาณแห่งการอยู่แห่งการต่อสู้แห่งการไม่อยากตายอยู่ในต้นไม้เป็นไร่นี้ล่ะ ถ้าเรามองเห็นข้อนี้เราก็จะรักต้นไม้ในฐานะเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน ดังนั้น เราจึงรักมนุษย์ด้วยกัน รักสัตว์เดรัจฉานทั้งหมด รักต้นไม้เป็นไร่ พืชทั้งหลายทั้งหมดว่าเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย นี่มันเป็นสังคมนิยมมหาศาล สังคมนิยมอันสูงสุด ไม่มีความเห็นแก่ตัวเหลืออยู่
ในโลกนี้ก็เป็นของพระศรีอาริยเมตไตรย คือ โลกแห่งความรัก โลกแห่งเมตตากรุณา อยู่กันด้วยความรัก ความเมตตากรุณา ไปทางไหนก็มีแต่ผู้ที่รัก คิดดูสิ เราไปทางไหนเหลียวไปทางไหนก็พบแต่คนที่รักเรา ชูมือสลอนไปหมดว่าต้องการอะไร จะให้ช่วยอะไร จะให้ฉันทำอะไร ให้ฉันช่วยอะไร ถ้าในโลกนี้มันเป็นอย่างนี้แล้วว่าจะเป็นโลกอะไร เป็นโลกใหม่เหลือประมาณ เป็นโลกที่ใหม่ เหนือปัญหาเหนือความทุกข์ ที่ได้ยินได้ฟังมาว่าศาสนาพระศรีอาริย์นั่นมักจะเข้าใจผิด ๆ เห็นแก่ตัวก็เสียอีกนั่น ขออะไรก็ได้ ต้องการอะไรก็ได้ ต้องการของเอร็ดอร่อยอย่างไรก็ได้ ไม่ใช่อย่างนั้น พระศรีอาริยเมตไตรยนั่นน่ะสูงสุดแห่งเมตตา เต็มไปด้วยเมตตา ทุกคนมีจิตเมตตา รักผู้อื่นเหมือนกันหมด เลยมีคำพูดเป็นภาษาคนว่าพอลงจากบ้านเรือน พอเราลงจากบ้านเรือน เราก็จำไม่ได้ว่าใครเป็นใคร แม้แต่ลูกเมียของตัวเองก็จำไม่ได้ พอออกไปท้องถนนแล้ว เพราะมันเหมือนกันหมด มันรักเราเหมือนกันหมด พอออกจากบ้านลงประตูเรือนไปไม่รู้ว่าใครเป็นใคร มีแต่คนรักเราเหมือนกันทั้งหมด แต่กลับมาที่บ้านก็รู้ว่า อ้าว, นี่ภรรยาของเรา นี่ลูกของเรา นี่มารดาของเรา เพราะความรักมันถึงขีดสูงสุดสมบูรณ์เหมือนกันหมด เพราะมันทำลายความเห็นแก่ตัวหมด ศาสนาจะทำลายความเห็นแก่ตัวหมด เรียกว่า ศาสนาของพระศรีอาริยเมตไตรย เมตไตรยเมตตา เกี่ยวกับเมตตา เนื่องด้วยเมตตา ประกอบอยู่ด้วยเมตตา เรียกว่าเมตไตรยะ ๆ ศรีอาริยะนั่นเป็นบทประกอบว่าดีที่สุด สูงสุด สง่าที่สุดอะไรทั้งนั้นแหละ แต่ตัวแท้คือเมตไตรยะ แปลว่า ขึ้นอยู่กับเมตตา ประกอบอยู่ในเมตตา ผูกพันอยู่ด้วยกับเมตตา หรือจะเป็นปัจจัยแห่งเมตตาก็ได้ เราก็มีได้ถ้าเราทุกคนหมดความเห็นแก่ตนกันที่นี่ เราก็สร้างศาสนาพระศรีอาริยเมตไตรยขึ้นมาได้ทันทีที่นี่ เป็นโลกใหม่ แต่เดี๋ยวนี้เราทำกันไม่ได้ เราพูดกันไม่รู้เรื่อง มึงก็มึง กูก็กู กูก็กู มึงก็มึง มีแต่ความเห็นแก่ตัวอย่างนี้มันรักกันไม่ได้ มันยังไม่มีหวังที่ว่าโลกพระศรีอาริยเมตไตรยจะเกิดขึ้นมาได้
มันต้องศึกษาลัทธิที่ถูกต้องของธรรมชาติว่าเราเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน เรามีปัญหาเหมือนกัน ชีวิตของเรามีสัญชาตญาณแห่งความเห็นแก่ตัวครอบงำมาด้วยกัน เราก็มาทะเลาะกันแย่งชิงกันเบียดเบียนกัน นี่น่ะเป็นโลกบ้า แต่เราก็พอใจ เพราะว่าเรากำลังเป็นอย่างนั้น แล้วเขาก็กำลังเป็นกันอยู่ทุกคน เลยไม่มีใครเกลียดใคร ไม่มีใครติเตียนใคร ในการมีกิเลสน่ะเกิดความเห็นใจกันว่า มีกิเลสกันได้ด้วยกันทุกคน โลกมันจึงอยู่ในสภาพอย่างนี้ คือมีแต่ความเบียดเบียน นี่ถือว่าเป็นโลกเก่า นิยมการปล่อยไปตามธรรมชาติตามสัญชาตญาณแล้วก็อยู่กันอย่างล้มลุกคลุกคลาน เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ ๆ เดี๋ยวหัวเราะเดี๋ยวร้องไห้ ๆ ไม่ใช่ความสงบ ในความสุขก็ไม่ใช่ความสงบ ความทุกข์ก็ไม่ใช่ความสงบ ช่วยเข้าใจหน่อย ที่ปรารถนาความสุข ความสุขนั้นน่ะมันไม่ใช่ความสงบนะ มันเหนื่อย เหนื่อยเท่ากับไปยุ่งกับความทุกข์เหมือนกันแหละ ความดีใจก็เหนื่อย ความเสียใจก็เหนื่อย ไม่ใช่ความสงบ อย่าดีใจอย่าเสียใจนั่นจึงจะเป็นความสงบ เดี๋ยวนี้คนมันโง่ ๆ มันไม่รู้ตามที่เป็นจริงในข้อนี้ มันก็เลือกเอาฝ่ายที่ถูกใจว่าดี ฝ่ายที่ไม่ถูกใจว่าชั่ว แล้วก็ไปยึดมั่นเรื่องดีเรื่องชั่ว มันก็เกิดบาปขึ้นมา มันก็เห็นแก่ตัวขึ้นมา กูก็อยากจะเอาอย่างที่ดีของกูถูกใจของกู แล้วก็เลยเห็นแก่ตัว แล้วก็ไม่เห็นแก่ผู้อื่น ทุกศาสนาจึงสอนเรื่องทำลายความเห็นแก่ตัว
ถ้าพุทธศาสนาก็สอนลึกลงไปถึงกับว่าไม่มีตัวที่จะเห็น ไม่มีตัวที่จะต้องเห็น มันไม่มีตัว มันจึงไม่เห็นแก่ตัว เพราะมันไม่มีตัว แต่ถ้าไม่สอนลึกถึงอย่างนั้นก็สอนไปตามขั้นตอนน่ะว่าเรื่องดีเรื่องชั่วนี่พอไปติดเข้ามันก็ตั้งต้นมีบาป แล้วมันก็ตั้งต้นทำบาป ก็เห็นแก่ความเอร็ดอร่อยที่เรียกว่าดี แล้วก็เกลียด รำคาญ อึดอัดอยู่ด้วยความไม่อร่อยที่เห็นว่าชั่ว ศาสนาคริสเตียนก็สอนหลักอันนี้ ในใบแรก ๆ ของคัมภีร์ไบเบิ้ลแต่ไม่มีใครสนใจจะทำอย่างไรได้ หัวใจเดียวกับพุทธศาสนาเลยล่ะ ไม่ติดเรื่องดีไม่ติดเรื่องชั่ว เพราะเห็นว่าทั้งดีทั้งชั่วมิใช่ความสงบ แต่มันลำบากเรื่องปัญหา ปัญหาคำว่าดี มนุษย์รู้จักในความหมายนั้นเสียแล้ว ก็ชอบดี ชอบดีที่สุด ถ้าจะพูดอย่างหลักธรรมะล่ะก็มันบ้าที่สุด ชอบชั่วที่สุดก็บ้าที่สุด ชอบดีที่สุดก็บ้าที่สุด ชอบความว่างชอบความสงบนั่นแหละถูกต้อง อย่าไปเข้าใจว่าพระเจ้านั้นคือสิ่งที่ดีที่สุดนะ ถ้าพระเจ้ายังดีที่สุดก็ไม่สงบหรอก ยังไม่สงบหรอก พระเจ้าต้องพ้นดีขึ้นไป ถ้าจะพูดว่าดีต้องเป็นดีความหมายอื่น ๆ ไม่ใช่ความหมายนี้ พระเจ้าต้องอยู่เหนือดีเหนือชั่ว พระนิพพานต้องอยู่เหนือดีเหนือชั่ว จึงจะเป็นที่สงบ ความดีความชั่วมิใช่ความสงบ ยังเป็นที่ตั้งแห่งความเห็นแก่ตัว แล้วมันก็เกิดความวุ่นวาย
เดี๋ยวนี้มาพบความจริงข้อนี้ที่จะพบวิถีทางแห่งชีวิตใหม่ ถ้าปฏิบัติตามแล้วก็จะได้ชีวิตใหม่ซึ่งจะไม่มีปัญหาเลย อาตมาขอใช้คำรวม ๆ ปัญหา ๆ ปัญหาคือสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ ปัญหาคือปีศาจร้ายซาตานมารร้ายรวมอยู่ที่คำว่าปัญหา ๆ อย่ามีกับมันเลย อยู่เหนือปัญหาทั้งหมดทั้งสิ้นนั่นน่ะจึงจะเป็นชีวิตใหม่ เรามีแนวทางแห่งชีวิตใหม่แล้วเราปฏิบัติเพื่อได้ชีวิตใหม่ซึ่งอยู่ในโลกนี้ได้ ที่นี่ได้ เดี๋ยวนี้ได้ ไม่ต้องรอต่อตายแล้ว เรื่องรอต่อตายแล้วมันจะมีประโยชน์อะไร โลกความทุกข์มันอยู่ที่นี่ ปัญหามันอยู่ที่นี่ แต่คนโง่มันจะไปแก้ปัญหาต่อตายแล้วน่ะมันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าว่ามันไม่โง่มันต้องแก้ปัญหาที่นี่ มันต้องได้รับผลที่นี่และเดี๋ยวนี้ จึงหวังว่าท่านทั้งหลายทุกคนคงจะได้พยายามสุดความสามารถของตน ๆ ในการที่จะเดินทางมรรควิถีอันใหม่เพื่อจะพบชีวิตใหม่มีนัยยะดังที่กล่าวมา ท่านทั้งหลายจะต้องเอาคำบรรยาย ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๑ กับครั้งนี้รวมเข้าด้วยกัน แล้วก็จะเป็นเรื่องสมบูรณ์ว่าเรามีชีวิตใหม่ และเราจะปฏิบัติตามวิถีทางใหม่ได้อย่างไร คืออย่างที่ว่ามานี้ จงมีชีวิตอยู่ด้วยสติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ เราก็ได้ชีวิตใหม่
เอ้า, การบรรยายนี้มันก็สมควรแก่เวลา เวลามันก็หมดแล้ว ขอยุติการบรรยายด้วยการฝากความหวังไว้ว่า ท่านทั้งหลายทุกคนต้องได้รับประโยชน์จากการมาที่นี่ คุ้มค่าเงินของตน คุ้มค่าเวลาของตน คุ้มค่าเรี่ยวแรงที่เหนื่อยไป แล้วก็ไม่ต้องไปทะเลาะกับยมบาลที่เขาจะต่อต้าน เขาจะคัดค้านว่าแกใช้เงินไม่คุ้มค่า ใช้เวลาไม่คุ้มค่า ใช้เรี่ยวแรงไม่คุ้มค่า แล้วก็ขอให้มีความเจริญงอกงามก้าวหน้าในหนทางแห่งธรรมะซึ่งเป็นสิ่งควบคุมสัญชาตญาณอย่างสัตว์ อยู่พ้นเหนือความมีปัญหาด้วยประการทั้งปวง แล้วก็เป็นสุขอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ ขอยุติการบรรยาย และปิดประชุม