แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ปริญฺเญยฺยํ ปริญฺญาตพฺพนฺติ ฯ
ธมฺโม สกฺกจฺจํ โสตพฺโพติฯ
ณ บัดนี้ อาตมภาพจะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไป ในธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าอันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยความสมควรแก่เวลา
ธรรมเทศนานี้ปรารภอาสาฬหบูชา เป็นธรรมเทศนามีปุพพาปรลำดับสืบต่อจากธรรมเทศนาที่กล่าวแล้วเมื่อตอนต้นแห่งราตรี เพื่อมี เพื่อทำความรู้ความเข้าใจอันต่อเนื่องกัน เรื่องที่จะวิสัชนาในตอนนี้ก็คือ เรื่องเกี่ยวกับความทุกข์ เพราะว่าในวันอาสาฬหปุณณมีนี้ พระองค์ทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์และทางให้ถึงความดับทุกข์ ความสำคัญมันก็มีอยู่ในแต่ละเรื่อง แต่ว่าเรื่องเบื้องต้นที่สำคัญที่สุด ก็คือเรื่องความทุกข์นั่นเอง เดี๋ยวนี้มันไม่รู้จักความทุกข์ แล้วมันจะสนใจเรื่องความดับทุกข์ไปทำไม มันไม่รู้จักความทุกข์ แล้วมันจะสนใจเรื่องความดับทุกข์ได้อย่างไร ถ้าจะมาสนใจมันก็เป็นเรื่องคล้ายๆกับ บ้าๆ บอๆ อะไรชนิดหนึ่ง มันก็เป็นเรื่องท่องจำไว้พูดเสียมากกว่า ดูจะเป็นปัญหาอยู่มากทีเดียว ที่เพราะไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ มันจึงติดตันกันอยู่ที่ตรงนี้ มันไม่ก้าวหน้าไปถึงความดับทุกข์ เมื่อคนป่วยมันไม่รู้จักว่าตัวป่วยเป็นโรคอะไร มันก็ไปหาหมอ มันก็เป็นหน้าที่ของหมอที่จะตรวจเอาเอง นี้มันก็ลำบากอยู่เหมือนกัน เดี๋ยวนี้เราจะเป็นคนป่วยเองและจะเป็นหมอรักษาตัวเองกันได้อย่างไร นั่นแหละมันเป็นปัญหาอยู่ จึงอยากจะทำความเข้าใจเรื่องตัวความทุกข์ให้เป็นที่แจ่มแจ้ง เรื่องนี้มันโทษใครไม่ได้ เพราะว่าในบาลีก็กำกวม ก็กำกวมไปทั้งนั้นแหละ มันเป็นธรรมดาของการพูดจา หรือการบันทึก หรือการใช้ภาษา คำว่าทุกข์ๆ อย่างนี้ ท่านทั้งหลายก็จะได้ยินว่าสังขารทั้งปวง ทุกขัง หรือทุกขา ทุกโข อะไรก็ตามแต่ ก็ว่าสังขารทุกชนิดน่ะเป็นทุกข์ แล้วก็อธิบายสังขารว่าเป็นสังขารชนิดที่มีชีวิตวิญญาณรู้สึกได้ก็มี เป็นสังขารที่ไม่มีชีวิตวิญญาณ เช่นก้อนหิน ก้อนดินอย่างนี้ มันก็เป็นสังขารด้วยเหมือนกัน สังขารที่มีวิญญาณก็ดี สังขารที่ไม่มีวิญญาณก็ดี เป็นทุกข์ ฟังดูมันก็ชวนให้ฉงน ก้อนหินเป็นทุกข์ได้อย่างไร ถ้าไม่เข้าใจคำว่าทุกข์ให้ถูกต้องแล้ว มันก็คงจะลำบาก คำว่าทุกข์ ทุกขัง ทุกโข ทุกขา อะไรก็ตามนี่ มันมีความหมายหลายอย่าง มีความหมายว่าเป็นทุกข์เพราะทรมานอยู่ คำว่าทุกข์หมายถึงทนทรมานอยู่อย่างนี้ก็มี ทีนี้สิ่งที่ไม่มีชีวิตวิญญาณมันจะเป็นทุกข์ทรมานได้อย่างไร มันก็เลยต้องอาศัยความหมายของคำว่าทุกข์ๆ นี้ให้ครบถ้วน ดูแล้วมีลักษณะแห่งความทุกข์ก็ได้ คำว่าทุกข์ชนิดนี้ มันแปลว่ามีลักษณะแห่งความทุกข์ สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ ก็หมายความว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงมีลักษณะแห่งความทุกข์ ฉะนั้นก็มาสู่ปัญหาเดิมอีกว่าที่ไม่มีชีวิตวิญญาณมันจะเป็นทุกข์ทรมานได้อย่างไร ดังนั้นคำว่าความทุกข์ มันจึงไม่ได้หมายความแต่เพียงว่าทุกข์ทรมานเพราะเจ็บปวดอย่างเดียว มันมีความหมายอย่างอื่นก็ได้ นี่เราจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้กันให้ดีๆ อย่าลืมว่าท่านใช้คำว่าสังขารๆ คำนี้มันก็กำกวมอย่างยิ่ง คือมันหมายคลุมไปหมด ยกเว้นพวกวิสังขารคือนิพพานอย่างเดียวแล้ว ก็เป็นสังขารไปหมด ก้อนหินนี่ก็เป็นสังขาร สุนัข หมา แมว สัตว์เดรัจฉาน ต้นไม้ต้นไร่ นี้ก็เป็นสังขาร คนก็เป็นสังขาร นั่นจะอธิบายว่าอย่างไร นั้นก็ทำความเข้าใจคำว่าสังขาร ซึ่งเป็นแม่บทของคำที่ว่าจะเป็นทุกข์ สังขารเป็นทุกข์ สังขารคืออะไร สังขารแปลว่าสิ่งที่ปรุงแต่ง คำว่าสังขารนั้นมันแปลว่าปรุง ปรุงแต่ง ใช้เป็นชื่อของสิ่งที่ทำหน้าที่ปรุงแต่งสิ่งอื่น สิ่งใดปรุงแต่งสิ่งอื่นสิ่งนั้นก็เรียกว่าสังขาร ทีนี้สิ่งใดถูกสิ่งอื่นปรุงแต่ง สิ่งนั้นก็เรียกว่าสังขาร กิริยาอาการที่เป็นการปรุงแต่งก็เรียกว่าสังขาร
คำว่าสังขาร อย่างน้อยมี ๓ ความหมายเสียแล้ว ผู้ปรุงแต่งก็เรียกว่าสังขาร ผู้ถูกปรุงแต่งก็เรียกว่าสังขาร กิริยาอาการที่ปรุงแต่งก็เรียกว่าสังขาร ในบาลีที่ว่า เตสํ วูปสโม สุโข สงบระงับสังขารเสียได้เป็นความสุข นั่นหมายถึงระงับการปรุงแต่ง เมื่อใดหยุดการปรุงแต่งเสียได้ ระงับเสียได้ เมื่อนั้นจะเป็นความสุข ไม่ได้หมายความว่าสังขารดับหรือตายแล้วจะมีความสุข สังขารที่ปรุงแต่งที่เป็นผู้ปรุงแต่งก็มีลักษณะแห่งความทุกข์ สังขารที่ถูกปรุงแต่งก็ยิ่งมีลักษณะแห่งความทุกข์ กิริยาอาการที่ปรุงแต่งก็เป็นความทุกข์ นี่คำว่าสังขารมี ๓ ความหมายอย่างนี้และเป็นอย่างน้อยนะ คือจะมองดูในแง่อื่นอีกก็ได้
ทีนี้ก็ดูที่ความทุกข์ คำว่าความทุกข์ ตามตัวหนังสือเขียนว่าทุกข์ ทุ- ก- ข์ ตามมานั่นน่ะ ให้แยกบทเป็นว่า ทุ กับ ขมะ อย่างนี้ก็แปลว่าทนได้ยาก อย่างนี้คือเจ็บปวด ทุกข์ในกรณี ในตัวหนังสืออย่างนี้แปลว่าเจ็บปวด ทีนี้ถ้าว่ามันแยกเป็นอย่างอื่น มันแยกเป็น ทุ กับ อิกขะ มันกลายเป็นแปลว่าเห็นแล้วหน้าเกลียด ดูแล้วน่าเกลียด ทีนี้มีอีกคำอีกความหมายหนึ่งแยกเป็น ทุ กับ ขัง ขัง แปลว่าว่าง ทุ แปลว่าน่าเกลียด คือมันว่างอย่างเลวร้าย ว่างอย่างน่าเกลียด นี้ก็เรียกว่าทุกข์เหมือนกัน นี้ต้องไปรวบรวมเอาจากที่มาต่างๆ มันจึงจะได้มาครบอย่างนี้ ได้ความว่า คำว่าความทุกข์น่ะ แปลว่าทนได้ยากคือทรมานเจ็บปวดอย่างหนึ่ง คำว่าทุกข์แปลว่าเห็นแล้วน่าเกลียด มีลักษณะน่าเกลียด นี่ก็อย่างหนึ่ง และคำว่ามันว่างอย่างน่าเกลียด มันว่างอย่างเลวร้าย ว่างยิ่งกว่าอากาศเสียอีก นี่ก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เมื่อมีความทุกข์ทรมานก็เรียกว่าเป็นทุกข์ เมื่อมีลักษณะที่มองเห็นแล้วมันน่าเกลียดน่าชัง เช่นความไม่เที่ยง ความเป็นมายาอะไรของมัน เห็นแล้วน่าเกลียดน่าชัง ก็เรียกว่ามันมีลักษณะแห่งความทุกข์ แต่ในบาลีก็มักจะใช้คำลุ่นๆ ว่าเป็นทุกข์ หรือเรียกทุกขัง เฉย ๆ ทีนี้ไปสุดท้ายก็ว่ามันว่างจากตัวตน ว่างจากสาระที่จะยึดถือเอาได้ว่าเป็นแก่นสาร ว่างอย่างน่าเกลียด ถ้าเอาความหมายทั้งหมดนี้มารวมกันเข้าแล้วมันก็สามารถจะครอบงำสังขารทุกชนิดเลย จะเป็นสังขารที่เป็นผู้ปรุงแต่งก็มีลักษณะน่าเกลียดน่ะ ว่างจากตัวตนน่ะ ที่ถูกปรุงแต่งก็น่าเกลียดและว่างจากตัวตน ที่ว่างที่เป็นการปรุงแต่ง กิริยาอาการปรุงแต่งก็น่าเกลียดน่าชังเหมือนกัน
จึงอยากจะบอกว่าถ้าจะถือให้เป็นหลักกว้างที่สุดใช้ได้แก่ทุกสิ่งแล้ว ความหมายที่แปลว่าเห็นแล้วน่าเกลียดนั่นแหละ เป็นคำที่สามารถครอบคลุมไปทุกสังขาร ถ้าถือเอาแต่ความหมายว่าเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานนี้ มันเป็นได้แต่สิ่งที่มีชีวิตจิตใจมีความรู้สึกเท่านั้นแหละ สิ่งที่ไม่มีความรู้สึกมันก็ไม่ต้องเป็นทุกข์สิ แต่นี่โดยหลักมันมีอยู่ว่าสังขารทั้งปวงทุกชนิดเป็นทุกข์ ถ้าว่าคนนี้มันมีความทุกข์ ทั้งคนมันมีความทุกข์ มีอาการทนทรมานก็จริง แต่ถ้ามันแยกออกเป็นส่วนๆ แยกเป็นขา เป็นแขน เป็นมือ แยกเป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แยกเป็นส่วนๆ มันจะเป็นทุกข์ได้อย่างไร คือจะเป็นทุกข์ทรมานได้อย่างไร หรือถ้าแยกออกไปเป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อย่างนี้มันจะเป็นทุกข์ได้อย่างไร ถ้าไม่เล็งถึงอาการที่ว่าเห็นแล้ว สังเกตเห็นแล้ว จะรู้สึกเกลียด นี่เราจะเอาความหมายที่กว้าง ที่ครอบงำได้ทุกสังขารว่า ถ้าพอเห็นความจริงของมันแล้วจะรู้สึกเกลียด แต่ดูจะไม่เคยได้ยินได้ฟังคำอธิบายอย่างนี้ใช่ไหม นี้บอกให้รู้ว่าถ้าโดยตัวหนังสือนั้นมันเป็นได้อย่างนี้ คำว่าทุกข์ๆ น่ะ ทีนี้มันจะเป็นปัญหาอะไรล่ะที่ว่าดูแล้วน่าเกลียด มันก็ไม่เป็นปัญหาอะไร มันไม่ทำอะไรใคร แต่ว่าทุกอย่างทุกชนิดทุกความหมายนั่นน่ะ มันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ถ้าไปยึดถือเข้าแล้วมันจึงจะเป็นทุกข์ทรมาน มีบาลีลุ่นๆ ว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ อะไรเป็นทุกข์อย่างนี้ ดูให้ดีสิ มันมีความหมายอันหนึ่งซ่อนอยู่ คือไปยึดถือเข้า ให้มีความหมายเป็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ของกูขึ้นมาจึงจะเป็นทุกข์ ถ้าไม่ยึดถือ เกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นของกูมันก็ไม่เป็นทุกข์ มันเป็นทุกข์เพราะไปยึดถือเอามาเป็นตัวตน มันจึงเป็นทุกข์ นี่สิ่งที่จะเป็นทุกข์มันไปขึ้นอยู่กับความยึดถือ ถ้าจะให้ก้อนหินนี้เป็นทุกข์แก่บุคคล ก็มันต้องบุคคลยึดถือว่าก้อนหินนี้ของกู จึงจะมีปัญหายุ่งยากหรือเป็นทุกข์ขึ้นมา ในตัวก้อนหินนั้นมีลักษณะแห่งความหลอกลวงไม่เที่ยง แล้วก็เห็นแล้วก็น่าเกลียด มันก็ยังไม่เป็นทุกข์แก่ใครหรอก เว้นไว้แต่ใครมันจะไปยึดถือว่าก้อนหินนี้ของกูขึ้นมา นั่นแหละมันจึงจะเป็นทุกข์แก่บุคคลนั้น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งอยู่ที่ว่ามันมีความทุกข์เพราะมันมีความยึดถือ สังขารที่เป็นผู้ปรุง ไปยึดถือเข้าสิ มันก็มีความทุกข์ สังขารที่ถูกปรุงคือสิ่งที่ถูกปรุง ไปยึดถือเข้าก็เป็นทุกข์ กิริยาอาการที่ปรุง เช่นคิดเป็นต้น ถ้าไปยึดถือเข้ามันก็เป็นทุกข์เหมือนกัน สรุปใจความของคำว่าทุกข์นี่ มันเป็นทุกข์เพราะยึดถือ
ทีนี้เราก็ดูกันโดยตัวหนังสืออย่างละเอียด โดยพยัญชนะ โดยตัวหนังสือ มันก็เป็นอย่างที่กล่าวแล้วว่าทุกข์คือทนทรมาน ทุกข์คือเห็นแล้วน่าเกลียดน่าชัง ทุกข์คือมันว่างจากสาระโดยประการทั้งปวง มันอาจจะมากไปก็ได้ มากเกินไปสำหรับจะศึกษา แต่ถ้าเป็นนักศึกษาที่จะศึกษาโดยพยัญชนะโดยละเอียดแล้ว มันจะได้ความอย่างนี้ ทุกข์หมายความว่าทนทรมาน ทุกข์หมายความว่าเห็น รู้จักมันดีแล้วจะรู้สึกเกลียด และว่ามันว่าง ว่าง ว่างอย่างน่าเกลียด ว่างอย่างน่าชังที่สุด ว่างจากสาระอย่างน่าเกลียดน่าชังที่สุด นี่คือความทุกข์ ทุกอย่างจะเป็นทุกข์ก็ต่อเมื่อมีการยึดถือ จะต้องแยกความเจ็บปวดเป็นต้น ออกมาเสียเป็นเรื่องหนึ่งเรื่องความเจ็บปวด มันเลยกลายเป็นว่าเจ็บปวดโดยเป็นทุกข์ก็ได้ เจ็บปวดโดยไม่ต้องเป็นทุกข์ก็ได้ ถ้าเจ็บปวดแล้วยึดถือว่าเจ็บปวดของกู มีตัวกูเป็นผู้เจ็บปวด มันก็เป็นทุกข์แหละ ถ้ามันเจ็บปวดโดยไม่มีผู้ยึดถือ มีจิตหลุดพ้นแล้วจากความยึดถือ ก็มันเป็นเรื่องของความเจ็บปวด ซึ่งจะพูดให้ฟังง่ายๆ ว่ามันมีความเจ็บปวดเกิดขึ้นที่ตรงไหนก็ตาม มีความเจ็บปวดเกิดขึ้นในเนื้อในตัว ก็พิจารณาดูด้วยปัญญาว่า โอ้,นั่นมันเป็นเพียงความรู้สึกอย่างนั้น ที่ระบบประสาท ที่ตรงนั้น ซึ่งตามธรรมชาติมันจะต้องรู้สึกอย่างนั้น ความเจ็บปวดมันก็เลยกลายเป็นความรู้สึกตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นแก่ส่วนนั้น ที่นั้น มันก็เลยเป็นความเจ็บปวดที่แยกออกมาเสียได้ จากตัวกู จากของกู พระอรหันต์ท่านก็เจ็บปวดหรือว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่นั่นแหละ มีอาการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกันแหละพระอรหันต์น่ะ แต่เราว่าพระอรหันต์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ก็เพราะว่ามีจิตไม่ยึดถือเอาความเกิด แก่ เจ็บ ตายนั้นมาเป็นของกู พระอรหันต์จึงไม่เกิดแก่เจ็บตาย ทั้งที่ร่างกายตามธรรมชาติมันก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ความแก่ ความเจ็บ ความตาย นั้นมันไม่ถูกยึดถือ มันก็ไม่เกิดปรุงเป็นเรื่องยึดถือ เป็นรูป เป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ถูกยึดถือ มันเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกลี้ยง มันเกลี้ยงจากความยึดถือ เพราะฉะนั้นพระอรหันต์จึงไม่มีความทุกข์ในลักษณะที่มีความยึดถือ ถ้าเป็นเรื่องเจ็บปวด ท่านก็รู้สึกเจ็บปวดเหมือนคนทั่วไป ก็รู้ว่านั่นมันก็คือความเจ็บปวด เป็นธรรมชาติที่มันจะต้องรู้สึกอย่างนั้น เพราะมันมีระบบประสาทสำหรับรู้สึกเจ็บปวด และมันก็มีอะไรมากระทำแก่ระบบประสาทตรงนั้น มันก็รู้สึกอย่างนั้น มันก็แยกออกจากกัน ความเจ็บปวดก็ถูกแยกออกไปจากตัวกู เพราะมันไม่มีตัวกูที่จะมายึดถือว่าเป็นของกู มันก็เป็นเพียงสักว่าความเจ็บปวด ซึ่งมิใช่ความทุกข์ในความหมายนี้ ทุกข์ในความหมายนี้มันทรมานจิตใจ เพราะไปเอามาเป็นของกู มาเป็นของหนัก ยึดถือไว้เป็นของกู มันก็เลยเจ็บใจคือเป็นทุกข์ ไม่ใช่เพียงแต่ความรู้สึกอยู่ที่เนื้อหนัง ที่ระบบประสาทที่เป็นส่วนเนื้อหนัง แม้ว่าเรายังไม่เป็นพระอรหันต์ แต่ก็ใช้บทเรียนนี้ได้ ใช้บทเรียนนี้ได้ ถ้ามันเกิดเจ็บปวดขึ้นมาที่ตรงไหน ก็พิจารณากันให้มันเด็ดขาดลงไป ว่ามันเป็นความรู้สึกเช่นนั้นตามธรรมชาติ แก่ระบบประสาทที่ตรงนั้น ซึ่งมันจะต้องรู้สึกอย่างนั้น มันก็เลยกลายเป็นความรู้สึกของธรรมชาติ ไม่กลายเป็นความทุกข์ของกู เพราะมันไม่ยึดถือเอามา แต่ถ้ามันยึดถือความเจ็บนั้นว่าของกู มันก็เป็นความทุกข์เต็มตามความหมายของคำว่ามันเป็นทุกข์ทรมาน ถ้าไม่อยากจะเป็นทุกข์ แบบทุกข์แท้ ทุกข์ทรมานใจนั้น ก็อย่าไปยึดถือเอาความเจ็บปวดนั้นมาเป็นของกู เดี๋ยวนี้คนมันยึดถือ ยึดถือเอามากๆ ยึดถือเอาเป็นของกู พอเห็นร่องรอยแห่งความเจ็บปวด มันก็เจ็บเสียแล้ว บางทียังไม่ทันเจ็บปวด มีคนเอาอะไรมาเงื้อจะแทง จะฟันอย่างนี้ มันก็เจ็บปวดเสียแล้ว มันก็เป็นทุกข์เสียแล้ว มันยังไม่ถูกฟันสักที มันยังไม่ถูกฟัน เฉือนเนื้อ เฉือนหนัง มันก็เจ็บปวดเสียแล้ว มันก็กลัวตายเสียแล้ว มันก็เป็นทุกข์เสียแล้ว เพียงแต่ถูกเขาเอาอาวุธมาเงื้อ มาทำท่าจะฟัน จะแทงอะไรก็ตาม ทีนี้มันก็ความคิดมันกลายเป็นตัวกูจะตาย ความตายที่ยังไม่มาถึงนั่นน่ะ เป็นอนาคตนั่นน่ะ มันก็ถูกเอามาเป็นของกู กลายมาเป็นปัจจุบัน มาเป็นความทุกข์ ฉะนั้นเราจึงเห็นเด็กๆ พอเห็นเลือดออก มันก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เกือบตายแล้ว ทีนี้ยิ่งกว่านั้น มันไม่ใช่เลือด แต่เป็นน้ำหมึกสีแดงก็ได้ เกิดมาเปื้อนโดยไม่รู้สึกตัว มันก็ตกใจเหมือนกับว่าจะตายเหมือนกัน นี้ไม่ใช่เรื่องเพ้อฟันหรือนิยาย อาตมาเคยเห็นมาแล้วจะไม่ออกชื่อเด็กคนไหน มันมีเด็กที่เป็นเพื่อนเล่นด้วยกัน มันวิ่งมาหาแม่ มันไปถูกน้ำหมึกแดง ที่มันไปเก็บกระดาษที่เขาทิ้งๆ ที่มันมีน้ำหมึกแดงเปื้อนอยู่ มันเลยติดที่มือ มันก็เลยคิดว่าเลือด แล้วมันก็น่าซีด แล้วมันก็มาหาแม่ว่า เจ็บเต็มทีๆ จะตายแล้ว นี่เป็นเรื่องของความยึดถือ ถ้าไม่มีความยึดถือ มันก็ไม่มีความหมายอะไร ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันก็เช่นนั้นแหละ ถ้าไม่ยึดถือเอามา มันก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ ถ้ายึดถือเอามา มันก็เป็นเรื่องของกู แล้วมันก็เป็นทุกข์แก่กู แก่ เจ็บนี่มันไม่มีความหมายอะไรหรอก แต่มันเป็นบริวาร เป็นบริขาร เป็นอุปกรณ์ของความตาย เป็นสัญลักษณ์ของความตาย เป็นนิมิตของความตาย มันจึงกลัวลงมาถึงความแก่ หรือความเจ็บ
สำหรับความเกิดนั้นต้องอธิบายอีกอย่าง เกิดทางเนื้อหนังนี่ มันเป็นกลางๆ แต่ถ้าเกิดทางจิตด้วยอุปาทาน ว่าตัวกูของกูนี่ มันความเป็นความหนักอยู่ในตัวมันทันทีเองทันทีเลย กำลังยึดถือว่ามีตัวกูแล้วมันก็หนัก มันก็แบกของหนักขึ้นมาทันที ความเกิดในความหมายนั้นเป็นทุกข์ทันที ทันทีและทุกที เรื่องเกิดจากท้องแม่นั้นมันยังไม่แน่ มันยังเป็นกลางๆ เกิดมาจากท้องแม่ ออกมา แว้ๆ นี่ยังไม่เป็นการเกิดที่สมบูรณ์ จนกว่าทารกคนนั้นมันจะมีความรู้สึกนึกคิด เป็นความเกิดที่เป็นตัวกู มีความรู้สึกเป็นตัวกู เป็นความหมายของกูเกิดขึ้น ดังนั้นมันจะต้องมีความคิดนึกที่ก้าวหน้าไปตามสมควร มันจึงจะเกิดความรู้สึกชนิดนั้นได้ เมื่อใดเด็กทารกนั้นมีความคิดเป็นครั้งแรกว่าตัวกูๆ เกิดขึ้นมา เมื่อนั้นจึงจะเป็นความเกิดที่สมบูรณ์ เกิดมาจากท้องแม่ยังไม่เป็นการเกิดที่สมบูรณ์ จนกว่าทารกนั้นจะโตรู้จักคิด รู้จักนึก รู้จักตรึกได้ว่าตัวกูอย่างนั้น ตัวอย่างนี้ เช่นตัวกูอร่อย หรือตัวกูไม่อร่อย ตัวกูพอใจ ตัวกูไม่พอใจ มีความรู้สึกที่เป็นความหมายแห่งตัวกู เกิดเมื่อไหร่นั้นเป็นครั้งแรกที่ว่าการเกิดนั้นสมบูรณ์ มันจึงจะเป็นทุกข์ ฉะนั้นคำว่าทุกข์ๆ นี่ มันเลยเป็นความหมาย เป็นคำที่มีความหมายกำกวม จนทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา แล้วก็จะได้เถียงหน้าแดงหน้าดำอีก
จึงขอแนะให้รู้จักสังเกตว่า คำว่าทุกข์ๆนี้ ความหมายที่สำคัญที่สุดที่มันจะใช้ได้แก่สังขารทุกชนิด นั้นก็คือเห็นแล้ว รู้จักแล้ว มันรู้สึกเกลียด รู้สึกเกลียดยิ่งกว่าของสกปรก ฉะนั้นผู้มีปัญญาจึงจะเห็นปฏิกูลชนิดนี้ คนโง่ก็เห็นปฏิกูลของสกปรกคืออุจจาระปัสสาวะของเน่าของเหม็นว่าปฏิกูลน่าเกลียด แต่ความปฏิกูลนั้นยังไม่เท่าความมายาหลอกลวงของสังขารทั้งหลายทั้งปวงที่มีความน่าเกลียดอย่างยิ่ง เอาความหมายนี้เป็นหลัก อะไร ลองคิดดูสังขารไหน เนื้อหนัง ร่างกาย มันก็เห็นแล้วก็น่าเกลียด ทีนี้ก้อนอิฐก้อนหินเงินทองข้าวของนี่ ก็ดูเถอะ มันมีความเป็นมายาหลอกลวงไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลง มีความน่าเกลียดเท่ากัน แต่คนมันไม่รู้สึกเกลียด มันมีความโง่หรือความฉลาดก็ไม่รู้ มันไม่รู้สึกเกลียด ต่อเมื่อใดพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นของมายา เปลี่ยนไปตามสังขาร เอาความจริงอะไรไม่ได้นั้น มันจึงจะน่าเกลียด จึงจะเห็นเป็นของน่าเกลียด น่าเกลียดลึกซึ้ง น่าเกลียดในความหมายชั้นสูง น่าเกลียดในความหมายของภาษาธรรม ไม่ใช่ความหมายในภาษาคน ในภาษาคนก็ของเน่าของเหม็น ของอะไรน่าเกลียด มันก็น่าเกลียดอย่างภาษาคน แต่ถ้าเห็นความเป็นอนิจจัง ความเป็นมายา ความหลอกลวง ความพรางตาแล้วเกลียดอย่างนี้ มันก็เป็นความน่าเกลียดในภาษาธรรม ภาษาธรรมที่ลึก ฉะนั้นการรู้จักไว้ทั้ง ๒ ภาษามันมีประโยชน์อย่างนี้ เมื่อพูดว่าคำว่าทุกข์มีความหมายว่าน่าเกลียด เห็นแล้วน่าเกลียด พอรู้จักกันแล้วมันรู้สึกเกลียดนี่ มันจะเป็นความหมายที่ใช้ได้แก่สังขารทั้งหลาย ทุกความหมายเลย ถ้าเอากันแต่ความทุกข์ทรมานแล้ว มันก็ใช้ได้แก่สังขารที่ชนิดที่มีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึกคิดนึกได้ รู้สึกในเวทนาได้เท่านั้นเอง คำว่าทุกข์มีความหมายอย่างนี้ คำว่าสังขารมีความหมายอย่างนี้ เข้าใจให้ดี คำว่าทุกข์ ถ้าแปลว่าทุกข์ทรมาน ก็มันใช้แก่สังขารที่มีความรู้สึกได้ ถ้าแปลว่าเห็นแล้วน่าเกลียด มันก็ใช้ได้แก่สังขารทั้งหลายทั้งปวง เราจงรู้จักดูให้ลึก เห็นความน่าเกลียดของสังขารทั้งหลายทั้งปวง แล้วเราก็จะเข้าใจคำบาลีที่ว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงนี้ มันจะเห็นได้ง่าย มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต มีวิญญาณหรือไม่มีวิญญาณ สังขารนั้นไม่เที่ยง เห็นได้ง่ายเพราะมันเปลี่ยนไป นี่สังขารใดมีความเปลี่ยนไป สังขารนั้นก็มีความน่าเกลียดคือเป็นทุกข์ จึงมีหลักอยู่ว่าสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่เป็นตัวตน คือไม่ควรจะยึดถือว่าตัวตน เดี๋ยวนี้เมื่อเรามาพูดกันถึงเรื่องทุกข์นี่ อาสาฬหปุณณมี ทรงแสดงธัมมกัปปวัตตนสูตรใจความสำคัญอยู่ที่เรื่องทุกข์กับดับทุกข์ ควรจะรู้จักความทุกข์ที่มีอยู่จริง เอ้า,มานั่งดูกันสิ ทั้งเนื้อทั้งตัวนี่ ทั้งเนื้อทั้งตัวรวมกันนี่ มันน่าเกลียดหรือไม่น่าเกลียด ถ้าไม่เห็นน่าเกลียดก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นมายา ความเปลี่ยนแปลง ลำบากยุ่งยากอยู่ ก็เรียกว่ามันน่าเกลียดก็เห็นแล้วเป็นทุกข์ หรือถ้าจะเล่นกันอย่างเด็กๆ ก็ว่าแบ่งเป็นส่วนๆ ตัดร่างกายออกเป็นส่วนๆ พิจารณา ก็ทุกส่วนก็น่าเกลียดและเป็นทุกข์ แม้จะจัดให้เป็นรูป เป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันก็ไม่เที่ยง มันก็น่าเกลียดและเป็นทุกข์ แม้จะจัดให้เป็นธาตุ เป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ แต่ละธาตุๆ มันก็เป็นมายาและน่าเกลียดและเป็นทุกข์ ฉะนั้นหัดดูสังขารทั้งปวงที่มีลักษณะเป็นทุกข์ คือเห็นแล้วน่าเกลียดนี่กันให้มากๆ นี่จะง่าย จะเห็นความทุกข์ได้โดยง่าย จะเห็นอย่างลึกซึ้งเห็นครบถ้วน ถ้าไปเห็นแต่เพียงว่าเมื่อมันเจ็บปวดทรมานยังเป็นทุกข์ นี่มันเห็นน้อยไป เห็นนิดเดียว แล้วมันก็เถลไถลไปเป็นอย่างอื่นได้ มันก็เลยหาความรู้สึกอะไรมากลบเกลื่อนได้ เช่นคนบางคนเขาว่าเป็นทุกข์ขึ้นมา เขาก็ไปกินเหล้าเสีย หายทุกข์ไปหรือไปเที่ยวสำเริงสำราญอะไรเสียมันก็ดับทุกข์ได้ หารู้ไม่ว่านั่นมันยิ่งน่าเกลียดหนักขึ้นไปอีก มันเป็นทุกข์มากขึ้นไปอีก คนมันไม่สนใจ ที่จะดูสังขารทั้งหลายทั้งปวงในแง่ที่ว่ามีลักษณะน่าเกลียด ที่จริงคำนี้มันควรจะแปลว่ามีลักษณะแห่งความทุกข์ มันจะฟังง่ายขึ้นอีก เป็นทุกข์นั้นมันอย่างหนึ่ง เจ็บปวดตรงๆนั้นอย่างหนึ่ง และก็มีลักษณะแห่งความเป็นทุกข์ คือมันจะต้องปั่นป่วนรวนเร วิปริตอยู่ในตัวมันเอง มีลักษณะแห่งความทุกข์ แม้แต่สังขารที่ไม่มีชีวิตวิญญาณ มันก็มีลักษณะแห่งความทุกข์ แต่มันไม่เคยแปลกันอย่างนั้น เพราะคำบาลีมีว่าเป็นทุกข์ สังขารเป็นทุกข์ ถ้าเราจะพูดกันอย่างวิทยาศาสตร์ทางภาษาแล้วก็จะต้องพูดว่าสังขารเป็นทุกข์บ้าง สังขารมีลักษณะแห่งความทุกข์บ้าง หรือสังขารเป็นสิ่งที่ควรจะบัญญัติเป็นตัวความทุกข์เสียเลยอย่างนี้ก็ได้ นี่รู้สึกธรรมดา คนตามธรรมดาก็รู้สึกไม่ชอบใจต่อเมื่อมันเจ็บปวด มันจึงเห็นเพียงเท่านั้น มันไม่เห็นลึกลงไปถึงว่ามันมีลักษณะแห่งความวิปริต ปรวนแปร ไม่เที่ยง เกิดดับ เกิดดับ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เปลี่ยนไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เปลี่ยนไปแล้วดับ อย่างนี้ นั่นลักษณะแห่งความน่าเกลียด เอาอันนี้มาเป็นหลักแล้วก็จะเห็นว่าสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์จริง
ในชั้นนี้ก็บอกให้รู้ถึงความกำกวมของภาษา แม้ภาษาบาลีซึ่งได้ใช้อยู่เดิมแล้วเรามาศึกษา เรามาค้นคว้า เพื่อจะเข้าใจความหมายของคำเหล่านั้นแต่ละคำๆ ให้ดีถึงที่สุด แล้วก็ไม่ค่อยจะได้ทำกัน มันไม่มีความจำเป็นอะไรมาบังคับให้ทำ แต่เดี๋ยวนี้เราอยากจะศึกษาอย่างครบถ้วน อย่างถูกต้อง อย่างละเอียด เราก็ต้องศึกษากันถึงขนาดนี้ เราจึงจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์นั้นโดยสมบูรณ์
เอาล่ะ,เป็นอันว่าได้ปรารภเรื่องความทุกข์ขึ้นมาเป็นเรื่องแรก เพราะว่าวันอาสาฬหปุณณมีนี้เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับแห่งความทุกข์ ทางให้ถึงความดับแห่งความทุกข์ มันล้วนแต่เป็นเรื่องของความทุกข์ทั้งนั้น และขอให้ถือเป็นหลักในที่นี้ด้วยว่า ไม่ได้ตรัสว่าเป็นความสุข มีแต่เรื่องความทุกข์กับความไม่มีทุกข์ ไม่ได้ตรัสเป็นความสุข เพราะความสุขมันเป็นเพียงเวทนา แล้วมันก็กลายเป็นของน่าเกลียด สุขเวทนาเป็นของหลอกลวงพรางตา เลยกลายเป็นของน่าเกลียด เลยกลายเป็นความทุกข์ไปด้วย ความสุขนั่นแหละก็เป็นความทุกข์ไปด้วย อย่างนั้นมันไปกันใหญ่ เป็นภาษาที่ถือเป็นหลักไม่ได้ หลอกลวงกันใหญ่ ก็เลยใช้คำว่าไม่ทุกข์ ทุกข์กับความดับแห่งความทุกข์พอแล้ว แต่ทีนี้มันยังมีจะต้องพูดในภาษาคน เพื่อจะชักจูงคนธรรมดาสามัญทั่วไปให้สนใจในเรื่องนี้ จึงต้องเอาความสุข เอาคำว่าความสุขเข้ามาใช้ มันจึงเกิดคำที่มีลักษณะชวนเชื่อให้สนใจว่านิพพานเป็นสุขอย่างยิ่งขึ้นมา นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่งขึ้นมา ถ้าพูดอย่างภาษาธรรมแท้ๆ มันก็จะพูดได้แต่เพียงว่านิพพานไม่มีทุกข์ จบสิ้นแห่งความทุกข์ แต่ถ้าพูดเป็นภาษาคน ภาษาธรรมดาก็พูดได้ว่านิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง เพราะคนธรรมดาสามัญมันชอบความสุข สนใจความสุข รู้จักความสุขเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือยิ่งกว่าสิ่งใด พอได้ยินคำว่าเป็นสุขอย่างยิ่ง มันก็หูผึ่ง มันก็สนใจมาก ฉะนั้นจึงเกิดคำพูดชนิดนี้ขึ้น แม้เป็นคำที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอง พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอง ตรัสว่าเป็นสุขอย่างยิ่งขึ้นมาอย่างนี้ ทั้งที่ตรัสโดยหลักว่าสังขารเป็นทุกข์ ทีนี้จะอ้างว่านิพพานไม่ใช่สังขารเป็นสุขอย่างยิ่ง อันนั้นมันก็ยิ่งไปกันใหญ่ ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะว่ามันไม่รู้จักว่านิพพานๆ นั้นคืออะไร นิพพานนั้นมันเหนือขึ้นไป จนเหนือสุขเหนือทุกข์ แต่มีลักษณะที่จะพูดเป็นหลักภาษาว่าสิ้นสุดแห่งความทุกข์คือนิพพาน แล้วก็เหนือความสุข ไม่มีความหมายแห่งความสุข ก็พอพูดถึงความสุขมันกลายเป็นเรื่องของเวทนา ความรู้สึกที่บุคคลรู้สึกเป็นเวทนา ทีนี้เวทนามันก็เป็นสังขาร เมื่อเป็นสังขารก็ไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ เลยมันก็ตีกันยุ่งไปหมด จึงมาแบ่งแยกกันให้ชัดลงไปว่าสังขารในความหมายไหนเป็นตัวทุกข์หรือมีลักษณะแห่งความทุกข์ หรือบัญญัติให้เป็นความทุกข์เอาเสียเลย แล้วคำว่าความสุขนั้นน่ะมันคืออะไร มันต้องได้อย่างใจตามความต้องการ ต้องมีความต้องการ ได้ตามความต้องการจึงจะเป็นสุข ได้รับความบำรุงบำเรอถูกต้องตามที่กิเลสมันต้องการ หรือที่อวิชชามันต้องการ มันจึงจะเป็นความสุข ทีนี้พอปราศจากกิเลส ปราศจากอวิชชามันก็ไม่ต้องการ ไม่ต้องการการบำรุงบำเรออะไรที่ไหน มันก็เลยไม่มีอะไรที่จะต้องมาเป็นความสุข นี่เรียกว่าไม่มีความทุกข์ นั่นแหละเป็นนิพพาน เป็นความว่าง เป็นความว่างจากความทุกข์ เพราะว่างจากตัวตน เมื่อไม่มีตัวตนก็ไม่มีที่ตั้งแห่งความรู้สึกว่าเป็นทุกข์ ไม่มีทางที่จะคิดว่ากูเป็นทุกข์ หรือความทุกข์เป็นของกู มันก็เลยดับหมดแห่งความทุกข์ จะดูกันในแง่ไหนก็ไม่มีความทุกข์ คือไม่ทนทรมาน นี่ก็ไม่มีทุกข์ ดูแล้วไม่น่าเกลียดอะไร ความสิ้นสุดแห่งความทุกข์คือนิพพาน ดูแล้วไม่น่าเกลียดอะไร มันก็ไม่มีความหมายแห่งความทุกข์
นิพพานนี่ ก็เป็นคำๆ หนึ่งซึ่งจะถือโอกาสพูดเสียเลย คือความดับสนิทแห่งความทุกข์ มักจะเข้าใจหรือเข้าใจกันอยู่ว่า มันเป็นสิ่งที่จะได้ต่อเมื่อตายแล้ว มันต้องเอาความตายมารองรับนิพพาน จึงจะได้นิพพาน อย่างที่คิดว่าอีกกี่ชาติ กี่ร้อยชาติ กี่พันชาติจึงจะนิพพาน มันก็เป็นการได้หลังจากการตายแล้วทั้งนั้น นี่คิดดูให้ดี แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร ที่มันจะต้องแลกเอาด้วยความตาย มันตายแล้วมันไม่มีความรู้สึกอะไร มันจะเป็นนิพพานได้อย่างไร ถ้ารอมาเกิดใหม่ ก็มีปัญหาอย่างเดิมอีก มาตั้งต้นเป็นเด็ก ศึกษากันใหม่อีก มันก็ไม่พบความดับทุกข์ นี่ก็ขอให้เข้าใจไว้เป็นหลักตายตัวว่านิพพานๆ ในทุกความหมาย ทุกระดับ ทุกลักษณะ นิพพานในทุกความหมายนั่นน่ะ ไม่เกี่ยวกับความตาย คือเราไม่ต้องตาย และก็นิพพานได้ ถ้าจะเอาหลักเรื่องปฏิจจสมุปบาทเป็นเกณฑ์ มันก็มีว่าอวิชชาดับ พออวิชชาดับสังขารก็ดับ สังขารดับแล้วคนตายไหม มันไม่ตาย สังขารดับแล้ววิญญาณก็ดับ แล้วมันตายไหม วิญญาณมันดับ นามรูปมันก็ดับ แล้วมันตายไหม มันก็ไม่ตาย ดับ ดับสังขาร ดับวิญญาณ ดับนามรูปโดยที่ไม่ต้องตาย ทีนี้มันมีความหมายอยู่ที่ว่าคำว่าดับๆ ในที่นี้ก็หมายความแต่เพียงว่ามันไม่ทำหน้าที่ จำไว้ว่า คำว่าเกิดว่าดับในภาษาธรรม มันหมายถึงมันไม่หน้าที่เรียกว่าดับ ถ้ามันทำหน้าที่เรียกว่ามันเกิด เกิดดับในความหมายภาษาธรรมเป็นอย่างนี้ เกิดดับในภาษาคนก็หมายความว่ามันโผล่ขึ้นมา เรียกว่ามันเกิด แล้วมันหายไป เรียกว่ามันดับ นั้นมันภาษาคน คำว่าเกิดคำว่าดับในภาษาคนมันเป็นอย่างนั้น แต่คำว่าเกิดดับในภาษาธรรมมันมีความหมายอย่างอื่น ถ้าเมื่อใดมันทำหน้าที่ เมื่อนั้นเรียกกว่ามันเกิด เมื่อใดมันหยุดทำหน้าที่ เมื่อนั้นเรียกว่ามันดับ ฉะนั้นเราจึงมีทางที่จะพูดว่าอะไรก็มีเกิด มีดับ เช่นว่าตาเกิด หูเกิด จมูกเกิด หรือว่า ตาดับ หูดับ จมูกดับ เมื่อใดตาทำหน้าที่ของตา เมื่อนั้นเรียกว่าตาเกิด ไม่ใช่ว่าเรามีตาอยู่แล้ว ก็จะเรียกว่าตาเกิดแล้ว ไม่ใช่ นั้นมันเป็นการเกิดในภาษาคน คนโง่ ในภาษาคนฉลาดนั้น เขาจะพูดว่าตาเกิดต่อเมื่อตาทำหน้าที่เห็นรูป เมื่อมีรูปมากระทบตา ตาเห็นรูปก็เรียกว่าตาเกิด กระทั่งเกิดวิญญาณทางตา เมื่อตาเลิกเห็นรูปก็เรียกว่าตามันดับ คือมันไม่ทำหน้าที่ ลูกตามันก็ยังอยู่ไม่ไปไหน ตัวลูกตานั้นมันก็เป็นเรื่องของวัตถุ พูดกันโดยภาษาคน เกิดดับหมายความว่าทิ่มตาให้บอดเสีย ก็เรียกว่าตาดับ เดี๋ยวนี้มันไม่ต้องอย่างนั้น ถ้ามันไม่ทำหน้าที่ก็เรียกว่ามันดับ ถ้ามันทำหน้าที่ก็เรียกว่ามันเกิด จำไว้ว่าภาษาคนมันมีความหมายตื้นๆ ตามความรู้สึกของคน ภาษาธรรมมีความหมายลึกตามความรู้ของคนที่รู้ธรรมะอันลึกซึ้ง เขาก็รู้และพูดโดยภาษาธรรม ทีนี้คำว่านิพพานๆ นี่ มันน่าสงสารในเมืองไทยเรา เอาไปสอนลูกเด็กๆ ในโรงเรียนว่านิพพานคือตาย ตายของพระอรหันต์ ของพระพุทธเจ้า คนตายเรียกว่าตาย ช้างตายเรียกว่าช้างล้ม เจ้าแผ่นดินตายเรียกว่าสวรรคต ทีนี้พระอรหันต์ตายเรียกว่านิพพาน นิพพานเลยกลายเป็นความตายไป ลูกเด็กๆ ได้รับคำสั่งสอนมาผิดตั้งแต่แรกเรียนในคำเหล่านี้
นิพพานไม่ใช่ความตาย นิพพานไม่เกี่ยวกับความตาย ขอให้สนใจกันเสียให้ดีๆ ศึกษากันเสียให้ดีๆ ว่าเป็นความเย็นแห่งสังขาร เป็นความระงับดับเย็นแห่งสังขาร ชั่วคราวก็ได้ ตลอดไปก็ได้ มีพระบาลีอยู่คำหนึ่งว่า ปรินิพฺพุโต โส ภควา ปรินิพฺพานาย ธมฺมํ เทเสติ, ปรินิพฺพุโต โส ภควา พระผู้มีพระภาคนั้นปรินิพพานแล้ว ปรินิพฺพานาย ธมฺมํ เทเสติ ย่อมทรงแสดงธรรม ได้ทรงแสดงธรรมเพื่อปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคคือพระพุทธเจ้านั้นปรินิพพานแล้ว และก็แสดงธรรมเพื่อให้สัตว์ทั้งหลายปรินิพพานด้วย ตายแล้วมันแสดงได้หรือ นี่คำว่าปรินิพพานในลักษณะอย่างนี้เห็นชัดว่าไม่ได้ตาย ดับเย็นสนิทแห่งสังขาร ไม่กิเลส ไม่มีความทุกข์ และทรงก็แสดงธรรมเพื่อปรินิพพานอย่างเดียวกันแก่สัตว์ทั้งหลาย อาตมาก็ขอแสดงอาบัติ เคยเข้าใจเรื่องนี้ผิด เคยสอนไว้ผิด เขียนไว้ในที่บางแห่งผิด ว่าดับสิ้นเชิงกิเลสและร่างกายเรียกว่าปรินิพพาน ตอนนั้นมันยังไม่พบบาลีนี้ ก็เลยพูดว่าปรินิพพานคือตายสนิท ตายหมด ตายทั้งกิเลส ตายทั้งร่างกาย อย่างนี้ก็เคยมีนะ แต่ว่าเพียงครั้งเดียวหรือเล็กๆ น้อยๆ นะ เดี๋ยวนี้มาพบ นั่นมันเรื่องหลายสิบปีมาแล้ว เดี๋ยวนี้ก็มาพบว่าคำว่าปรินิพพานที่แท้จริง ท่านไม่หมายถึงความตาย หมายถึงความดับแห่งกิเลสคือเย็น เขาเอาคำว่าเย็นๆ ในภาษาชาวบ้านไปใช้เป็นคำในภาษาธรรมะชั้นลึก เพราะว่ามันไม่มีคำอื่นจะเรียก ถ้าตั้งคำอื่นขึ้นมาคนเขาฟังไม่ถูก เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ หรือเมื่อมุนี ฤาษีอะไรก็ตาม ค้นพบความดับเย็นแห่งกิเลสแห่งจิตนี้ ไม่มีคำจะใช้ ก็ต้องยืมคำว่าเย็น เย็น เย็นของชาวบ้านไปใช้ ให้มันมากเข้าอีกก็เติมคำว่า ปริ เข้าไป เย็นรอบ เย็นสิ้นสุด ปริ แปลว่ารอบหรือหมดจด นิพพานะ แปลว่าเย็น
ในพระบาลีก็มีอยู่ทั่วๆ ไปที่มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า นิพพานะ แปลว่าเย็นหรือทำให้เย็น เมื่อช่างทองหลอมทองเหลว คว้างเป็นทองเหลวร้อนจัด เขาจะต้องทำให้ทองนั้นนิพพานเสียก่อนคือเอาน้ำรดเข้าไป ทองที่เหลวคว้างก็กลายเป็นทองเย็นตามปกติ อย่างนี้เรียกว่าทำให้ทองมันนิพพาน นิพฺพาเปยฺย แปลว่ายังทองนั้นให้นิพพาน แล้วเขาก็เอามาทำเป็นเครื่องรูปพรรณอะไรต่างๆได้ นี่คำว่านิพพาน มันแปลว่าเย็นหรือทำให้เย็นอย่างนี้ มันไม่ได้แปลว่าตาย ฉะนั้นเราเข้าใจกันผิดให้นิพพานเป็นความตาย แล้วจะต้องได้ต่อเมื่อตายแล้ว ดูทุกคนหวังจะได้นิพพานก็ตายแล้วกันทั้งนั้นเลย มันเลยผิดหลายช่วง หลายต่อไป ให้รู้ว่านิพพานนั้นแปลว่าเย็น ถ้าปรินิพพานก็มันเย็นสิ้นสุด เย็นรอบ เย็นอย่างครบถ้วน พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อปรินิพพาน เพื่อการปรินิพพานแก่สัตว์ทั้งหลาย นี่แสดงว่าแม้ปรินิพพานแล้วก็มิใช่ตาย ก็นับประสาอะไรกับคำว่านิพพานๆ เฉย ๆ มันก็ยิ่งไม่ตายใหญ่ เมื่อดับเย็น ดับเย็นแห่งกิเลสและแห่งความทุกข์ก็เรียกว่านิพพาน ไปยืมคำชาวบ้านซึ่งใช้แก่วัตถุ เช่นถ่านไฟแดงๆ มันนิพพานเป็นถ่านไฟสีดำ ข้าวร้อนๆ กินไม่ได้รอให้นิพพานเป็นข้าวเย็นแล้วจึงจะกินได้ มีตัวอย่างใช้กับข้าวต้มยาคุ มันยังไม่นิพพาน มันยังร้อนกินไม่ได้ ต้องรอให้มันนิพพานจึงจะกินได้ นี่แปลว่าเย็น ใช้กับวัตถุสิ่งของก็ได้ ถ้ามาใช้กับจิตใจ ก็หมายความว่าเมื่อจิตใจมันเย็นเพราะไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์ ก็เรียกว่ามันนิพพาน ใช้กับสัตว์เดรัจฉานก็ได้ ถ้าสัตว์ใดหมดพยศร้าย สัตว์เดรัจฉานตัวใดไม่มีอันตรายหมดพยศร้าย เอามาฝึกจนไม่มีอันตราย จับสัตว์ร้ายในป่ามาฝึกจนหมดพยศร้าย อย่างนี้ก็เรียกว่าทำให้มันนิพพานก็ได้ คำพูดอย่างนี้มีในบาลีด้วยเหมือนกัน เอาล่ะ,เป็นอันว่าคำว่านิพพานหรือดับทุกข์สิ้นเชิงนั้นน่ะ มันไม่ได้เกี่ยวกับความตาย มันไม่ต้องตายแล้วมันก็นิพพานได้ มันจึงมีประโยชน์ ถ้าต้องตายแล้วมันจะมีประโยชน์อะไรเล่า ฉะนั้นเรื่องดับทุกข์คือนิพพาน มันก็คือดับแห่งความทุกข์ ไม่ต้องดับสังขาร ไม่ต้องตาย ถ้าเราจะพูดว่านิพพานตาย ก็เป็นภาษาคนเกินไป ลูกเด็กๆได้รับคำสั่งสอนมาผิด ในประเทศอินเดียเป็นต้นคงไม่ได้สอนอย่างนี้ มันบาปกรรมอะไรของเมืองไทยที่มาสอนลูกเด็กๆ ว่านิพพานคือความตาย ตายของพระอรหันต์ มันก็เตลิดไปใหญ่ว่าพระอรหันต์ตายได้ มันก็ยิ่งผิดกันใหญ่ พระอรหันต์นั้นตายไม่ได้นะ มันเป็นคุณธรรมอันหนึ่งซึ่งตายไม่ได้ เรียกว่าอรหัตต์,อรหันต์ ถ้ามันตายได้ก็เป็นส่วนที่เป็นร่างกายที่เป็นเปลือกนี่ มันตายได้ ถ้าเป็นตัวพระอรหันต์แท้ๆ มันไม่ตาย ก็เลยผิดสองซ้อนสามซ้อนเข้าไป ที่ว่าพระอรหันต์ตายแล้วก็เรียกว่านิพพาน ในที่มาทั้งหลายคำว่านิพพานน่ะ ไม่เกี่ยวกับความตาย นิพพานสมบูรณ์จนใช้คำว่า ปรินิพฺพานาย, ปรินิพฺพาน, ปรินิพฺพุโต ก็ตาม มันไม่ได้เกี่ยวกับความตาย แม้นิพพานชั่วคราวเป็นสามายิกนิพพาน คือชั่วสมัย ทิฏฐธัมมิกนิพพาน นิพพานที่เห็นได้ด้วยตนเอง ถ้าตายแล้วมันจะเห็นได้ด้วยตนเองอย่างไร ทิฏฐธัมมิกนิพพาน...เสียงขาดหายไป 10 วินาที (นาทีที่ 52:16 - 52:27)... ฉะนั้นอย่ากลัวความดับทุกข์ อย่ากลัวนิพพานว่ามันจะต้องตาย เหมือนที่เข้าใจกันผิดๆ ว่ามันต้องตายจึงจะได้นิพพาน ถ้าฉันไม่อยากตาย ฉันก็ไม่อยากได้นิพพาน เรื่องมันก็เปลี่ยนทิศทางไปหมด ไม่ตรงไปตามร่องรอยที่มันควรจะเดินไป นี่ความดับแห่งทุกข์ไม่เกี่ยวกับความตาย ทำให้ความตายหมดความหมาย ไม่มีตัวตนสำหรับจะตาย เพราะว่ากิเลสที่จะยึดถือว่าตัวตนมันไม่มี ตัวตนไม่มี ความทุกข์ก็ไม่มีที่ตั้งอาศัย ความทุกข์มันก็ไม่มี มันก็เลยไม่กิเลส ไม่มีความทุกข์โดยประการทั้งปวง นี่คือความเย็นถึงที่สุดที่จะเรียกว่านิพพานหรือปรินิพพาน ในพระบาลีเองก็ไม่แน่นอน ใช้คำว่านิพพานในความหมายสูงสุดก็มี ใช้คำว่าปรินิพพานในความหมายสูงสุดก็มี แทนกันได้สำหรับคำว่านิพพานกับคำว่าปรินิพพาน ดับเย็นสนิทเพราะไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์ ไม่มีสังขาร ไม่มีการปรุงแต่งเป็นวิสังขาร ปราศจากการปรุงแต่ง นั่นแหละคือนิพพานหรือดับทุกข์ แต่เดี๋ยวนี้คนมันไม่รู้จักความทุกข์ มันก็ไม่ได้กลัวความทุกข์ แล้วมันยังคิดว่าจะหาความสนุกมากลบเกลื่อนความทุกข์ได้ด้วย มันจึงหลงหาเงินหาอะไรกันใหญ่ หาวัตถุปัจจัยทางกามารมณ์โดยเฉพาะมากลบเกลื่อนความทุกข์ แล้วมันก็จะคิดว่า กามารมณ์นั่นแหละเป็นนิพพานเพราะว่ามันกลบเกลื่อนความทุกข์ได้
ที่จริงความคิดอย่างนี้มันเคยมีมาแล้วแต่ก่อนพุทธกาลโน่น มันปรากฏอยู่ในบาลี เช่นพรหมชาลสูตรป็นต้น คนบางพวกเอากามารมณ์เป็นนิพพาน เพราะมันช่วยกลบเกลื่อนความทุกข์ได้ตามความต้องการของเขา เป็นนิพพานของลูกเด็กๆ แต่มันก็เคยมี บางพวกสูงขึ้นมา เอาฌานเอาสมาธิเป็นนิพพาน ปฐมฌานเป็นนิพพาน ทุติยฌานเป็นนิพพาน อย่างนี้มันก็เคยมี เพราะว่ามันเย็นบ้างเหมือนกัน มันเย็นกว่าที่จะไม่มีนะ ถ้าบรรลุปฐมฌานนี่ มีลักษณะความเป็นประภัสสรของจิตมากพอสมควรที่จะมีความเยือกเย็น มันก็เลยถูกเข้าใจว่าเป็นนิพพาน เขาเข้าใจฌานเหล่านี้ว่าเป็นนิพพานกันมาตามลำดับๆ พระพุทธเจ้าเคยศึกษากับอาจารย์คนสุดท้าย สอนได้เพียง เนวสัญญานาสัญญายตนะ หยุดความรู้สึกที่เป็นสัญญาและเวทนาเสียแล้วก็เรียกว่านิพพาน พระพุทธเจ้าท่านสั่นเศียร ไม่เอาๆ ไม่ยอมรับ จึงออกไปหาใหม่ หาของพระองค์เอง จนพบว่าดับตัวตนเสียได้จึงเป็นนิพพาน
เอาล่ะ,มาถึงปัญหาเฉพาะหน้าว่าเดี๋ยวนี้คนมันไม่รู้จักความทุกข์ ฉะนั้นเวลาที่เหลืออีกนี่พูดกันถึงเรื่องความทุกข์กันให้ถึงที่สุด เอ้า,ถ้าเราจะดูอะไรก็ดูตามแบบที่เคยแสดงมาแล้วเมื่อตอนหัวค่ำ
ข้อแรกก็จะดูตามพยัญชนะ ก็เหมือนที่ได้กล่าวมาแล้ว ความทุกข์น่ะ แปลว่าทนยากก็ได้ ทุ กับ ขมะ แปลว่าทนอยาก ถ้าถอดตัวหนังสือเป็น ทุ กับ อิกขะ ก็แปลว่าเห็นแล้วเกลียดก็ได้ ถ้าถอดพยัญชนะเป็น ทุ กับ ขัง ก็แปลว่ามันว่างอย่างน่าเกลียด นี่ถ้าดูตามพยัญชนะคำว่าความทุกข์มันมีความหมายอย่างนี้ ฉะนั้นความหมายสูงที่จะครอบงำได้กว้างหน่อย ก็คือว่าเห็นแล้วน่าเกลียด ถ้าจะพูดว่าว่างอย่างน่าเกลียดน่ะ มันสูงเกินไปจนคนทั่วไปมันจะเข้าใจไม่ได้ เอาแต่เพียงว่าพอเห็นความจริงของมันแล้วจะเกลียดมันทันที นั่นแหละคือความทุกข์ มันทุกข์ได้ทั้งสังขารที่มีวิญญาณครองและไม่มีวิญญาณครอง โดยพยัญชนะเป็นอย่างนี้
โดยอรรถะ ทีนี้โดยอรรถะคือความหมายที่ออกมาจากตัวหนังสือนี่ ก็จะเอาตามหลักนั้นแหละว่ามันทนยาก แม้สิ่งที่เราเห็นแล้วว่าน่าเกลียด แม้ก้อนหินนี่ ถ้าไปเห็นความน่าเกลียดของมันเข้า มันก็รู้สึกชปั่นป่วนในใจที่ให้ต้องทนด้วยเหมือนกัน ก็แปลว่าความทุกข์นั้นคือสิ่งที่เห็นแล้วจะรู้สึกเกลียด และก็เป็นความทุกข์รบกวนจิตใจ ก็เรียกว่าทนยากได้เหมือนกัน มีความหมายว่าทนยาก แล้วมีความหมายว่าน่าเกลียดไปเสียทั้งหมด น่าเกลียดน่าชังไปเสียทั้งหมด
ทีนี้พูดอย่างความรู้สึกตามธรรมดาของคนที่ยังไม่ได้หลุดพ้น ยังไม่ปล่อยวาง ยังไม่สิ้นกิเลส พอมันเห็นสิ่งที่หลอกลวงเป็นมายาไม่เที่ยงอย่างนี้ มันก็เกลียด เกลียดแล้วมันก็รำคาญ แล้วมันก็ต้องทนความรำคาญนั้น มันเลยมีลักษณะแห่งความทุกข์ในสังขารทั้งหลายทั้งปวง ถ้าว่าจะใช้ จะดูในแง่ของไวพจน์ เววจนะ ไวพจน์คือคำแทนชื่อที่ใช้เรียกแทนกันได้นี่เรียกว่าไวพจน์ ทีนี้คำว่าโลก ก็เป็นไวพจน์ของความทุกข์ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าโลกก็ดี เหตุให้เกิดโลกก็ดี ความดับแห่งโลกก็ดี ทางให้ถึงความดับแห่งโลกก็ดี ตถาคตบัญญัติไว้ในร่างกายที่ยาววาหนึ่ง ที่ยังมีสัญญาและใจ มีสัญญาและใจหมายความว่ายังไม่ตาย ในร่างกายที่ยังไม่ตาย จะหาพบโลก เหตุให้เกิดโลก ความดับโลก ทางถึงความดับโลก ในกรณีอย่างนี้ทรงใช้คำว่าโลก เป็นไวพจน์ของคำว่าทุกข์ ในที่บางแห่งใช้คำว่าโรคๆ เป็นไวพจน์ของคำว่าทุกข์ก็มี คำว่าโรคๆ คำนี้ตัวหนังสือนั่นมันแปลว่าเสียบแทง คำว่าโรคมาจาก รุชฺ ซึ่งแปลว่าเสียบแทง สิ่งที่เป็นโรคต้องมีการเสียบแทง แทงกาย แทงใจ อะไรก็ตามใจเถิด มันมีการเสียบแทงแล้วก็เรียกว่าโรค คำว่าโรคนี่ใช้เป็นไวพจน์ของคำว่าทุกข์ก็ได้ อย่างน้อยก็เรามีคำว่าโลก มีคำว่าโรค เป็นไวพจน์ของคำว่าทุกข์ ถ้าจะดูกันในแง่ของไวพจน์ ก็ต้องดูคำ ๒ คำนี้
ถ้าจะดูถึงลักษณะอาการของทุกข์ ลักษณะของความทุกข์ก็คือน่าเกลียด ลักษณะของความทุกข์ก็คือน่าเกลียด มีลักษณะน่าเกลียด อาการของความทุกข์ก็คือเบียดเบียนๆ ขบกัด ลักษณะของความทุกข์คือน่าเกลียด อาการของความทุกข์ก็คือเบียดเบียน
ถ้าจะดูโดยกิจจะคือหน้าที่ที่ความทุกข์มันจะทำขึ้นมา มันก็คือสร้างปัญหา ความทุกข์มันมีหน้าที่สร้างให้ปัญหาเกิดขึ้น เพราะพอมีความทุกข์เกิดขึ้นแล้วทนอยู่ไม่ได้ ต้องดิ้นรน ต้องต่อสู้ มันก็กลายเป็นปัญหาไปหมด ปัญหาทางการเงิน ปัญหาทางสุขภาพอนามัย ปัญหาทางการสังคมอะไร มันเป็นปัญหาไปหมด ถ้ามันมีความทุกข์เกิดขึ้น แล้วก็รสชาติของมัน ความทุกข์มีรสชาติแสบเผ็ด แล้วมันกัดให้กร่อน คือให้มันสึกหรอ มันก็แสบเผ็ด มันก็เจ็บปวด
ถ้าดูในแง่ของวิทยาศาสตร์ มันเป็นความรู้สึกตามธรรมชาติ ไม่มีตัวตนเป็นธรรมชาติล้วนๆ ความทุกข์น่ะมันไม่มีเหตุปัจจัยปรากฏออกมาแล้ว นั่นคือปรากฏการณ์ของธรรมชาติ เป็นธรรมชาติล้วนๆ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน นี่ถ้าเราจะดูกันในแง่ของวิทยาศาสตร์ คือธรรมชาติที่มีกฎของธรรมชาติบังคับสิ่งทั้งปวงให้เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ความทุกข์มันก็คือธรรมชาติธรรมดาแท้ๆ ซึ่งมันจะต้องเป็นอย่างนั้นเอง เลยเรียกว่าดูกันในแง่ของวิทยาศาสตร์
ถ้าจะดูกันโดยเป็นประเภท แจกเป็นอย่างๆ เป็นชนิดๆ โอ้ย,มันมากมาย แจกไม่ไหวก็ได้ แต่ถ้าจะเอากันพอเป็นเครื่องศึกษา เป็นเครื่องสังเกต มันก็แจกเหมือนกับที่เรารู้กันอยู่นั่นแหละ ความทุกข์ชนิดโดยตรง เห็นได้ตรงๆ ก็มี เห็นยากโดยอ้อมก็มี ความทุกข์อย่างเปิดเผยเห็นชัดก็มี ความทุกข์อย่างเร้นลับมองก็ไม่ค่อยจะเห็นอย่างนี้ก็มี แล้วใครจะไปแจกว่าเป็นความทุกข์ทางกาย เป็นความทุกข์ทางจิต เป็นความทุกข์ทางวิญญาณ เป็นความทุกข์อะไรๆ ก็ได้ ดูเอาเองก็แล้วกัน ถ้าเห็นได้หลายๆ อย่างมันก็ดี มันก็ช่วยให้รู้จักความทุกข์ดีขึ้น ความทุกข์มีประเภท มีชนิดอย่างไรบ้าง ก็อย่างที่พูดกันมาแล้วมากมาย เป็นภาษาคน ความทุกข์อย่างง่ายๆ ไม่มีอะไรจะกิน ไม่มีอะไรจะใช้ ไม่มีอะไรจะอยู่ มันก็เป็นความทุกข์ตามแบบคน แต่ถ้าว่าเป็นความทุกข์ หนักอกหนักใจเพราะความยึดมั่นถือมั่น มันก็เป็นความทุกข์แบบภาษาธรรม สำหรับผู้ที่รู้ธรรม เป็นผู้ที่รู้เรื่องทางจิตใจ มันก็มีความทุกข์ไปตามแบบนั้น
ทีนี้ก็ถ้าจะดูโดยอุปมา อุปมาด้วยอะไรดี เราอยากจะอุปมาว่ามันเป็นรางวัลของพญามาร ความทุกข์เป็นรางวัลของพญามาร เมื่อโง่จนพญามารเกิดขึ้นแล้ว มันก็ได้รางวัลจากพญามาร ความทุกข์นั่นแหละคือรางวัลของมาร จากมาร นี่เรียกว่าโดยอุปมา โดยอุปมาให้มันขันๆ เล่นอย่างนั้นแหละ จะอุปมาอย่างไรก็ได้ ความทุกข์เป็นเหมือนกับเครื่องทำอันตรายอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นเครื่องทิ่มแทงก็ได้ เป็นเครื่องหุ้มห่อก็ได้ เป็นเครื่องผูกพันก็ได้ เป็นเครื่องร้อยรัดก็ได้ เป็นเครื่องเผาลนก็ได้ เป็นเครื่องครอบคลุมก็ได้ เป็นเครื่องที่มนุษย์ได้ทำขึ้นแล้วมันก็เป็นความทนทรมาน อุปมาของความทุกข์ เหมือนกับน้ำท่วมก็ได้ เมื่อมันจมอยู่ใต้น้ำ มันหายใจไม่ออก มันก็เป็นทุกข์ มันก็ดิ้นรนเหลือประมาณ ดิ้นรนสุดเหวี่ยงที่จะขึ้นมาจากน้ำ ฉะนั้นถ้าใครเห็นความทุกข์ถึงขนาดที่เรียกว่าเหมือนกับถูกจับกดไว้ใต้น้ำ อยากจะขึ้นมาหายใจนั่นน่ะ เรียกว่าคนนี้ก็เห็นความทุกข์ดี เห็นความทุกข์ถูกต้องหรือว่าเต็มที่ มันก็จะเกิดความอยากจะพ้นทุกข์อย่างยิ่ง เดี๋ยวนี้มันไม่รู้สึกอย่างนั้น มันไม่ได้รู้สึกเหมือนว่าถูกจับกดไว้ใต้น้ำ อยากจะขึ้นมาหายใจ มันก็เลยฟังกันเป็นเรื่อง เป็นเรื่องฟัง เป็นเรื่องพูด เป็นเรื่องไม่ต้องทำอะไรอยู่นั่นเอง ก็เลยไม่เกิดการดับทุกข์
ทีนี้ถ้าว่าดูในหน้าที่ ในลักษณะที่มันเป็นหน้าที่ ความทุกข์มันมีหน้าที่ในตัวมัน มันจะเกิดขึ้นมาเมื่อมีการทำผิด ความทุกข์มันก็มีหน้าที่ที่จะลงโทษเมื่อมีการกระทำผิด นี่เป็นหน้าที่ของความทุกข์ ถ้าเป็นหน้าที่ของมนุษย์ ของคน ก็มีหน้าที่ที่จะต้องรู้จักตัวความทุกข์ จะต้องรู้จักตัวความทุกข์ในทุกแง่ ทุกมุม มนุษย์มีหน้าที่ที่จะต้องรู้จักตัวความทุกข์กันในทุกแง่ ทุกมุม แต่เราก็ไม่ค่อยจะสนใจ ฉะนั้นถ้าจะดูกันในแง่ของสิทธิ สิทธิที่มันคู่กันกับหน้าที่ ความทุกข์มันก็มีสิทธิในตัวมัน ที่มันจะกัดคนโง่ ใครมันโง่ ความทุกข์มันก็มีสิทธิที่จะกัดคนนั้นนั่นแหละ ทีนี้ถ้าว่ามองในแง่ของมนุษย์ มนุษย์มันก็มีสิทธิที่จะดับความทุกข์ เราถือเอาเป็นสิทธิอย่างยิ่งที่เราจะต้อง เรียกร้องเอาให้ได้ คือจะดับความทุกข์เสียให้ได้ นี่เป็นสิทธิฝ่ายมนุษย์ แต่ถ้าเป็นสิทธิฝ่ายตัวความทุกข์เองแล้ว มันจะกัด มันจะกัด มันมีสิทธิที่จะกัด มันสามารถที่จะกัด กัดคน คนโง่ นั่น ทำเป็นเล่นกับมัน
จุดตั้งต้น ทีนี้ดูกันที่จุดตั้งต้น ความทุกข์ตั้งต้นที่ไหน โดยทั่วไปก็จะถือตามหลักทางอริยสัจว่า ความทุกข์เกิดมาจากตัณหา มันก็ควรจะรู้จักว่ามันเกิดอย่างไร ถ้ามันเห็นชัดเจนจริงๆ ว่าตัณหาให้เกิดความทุกข์อย่าไร มันจะมองเห็นไกลไปทั้งข้างหน้าและข้างหลัง ไกลไปข้างหน้าก็คือว่าตัณหามันให้เกิดอุปาทาน เมื่อมีอุปาทานจึงจะเป็นทุกข์ ถ้าตัณหาไม่ได้ให้เกิดอุปาทาน มันก็ไม่เป็นทุกข์หรอก แต่ตัณหามันมีธรรมชาติอย่างนั้น คือมีธรรมชาติให้เกิดอุปาทาน อยากอะไรอย่างรุนแรง อยากให้รุนแรงเถิด มันจะเกิดความรู้สึกซ้อนขึ้นมาว่ามีตัวกูเป็นผู้อยาก นี่อุปาทานมันเกิดขึ้น อยากเป็นของกูหรือเป็นตัวกูเสียเลยก็ตามใจ ฉะนั้นความทุกข์จึงเกิดมาจากอุปาทาน พระบาลีที่เราสวดกันอยู่บ่อยๆว่า สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา เบญจขันธ์ที่ประกอบด้วยอุปาทาน ๕ ประการเป็นตัวทุกข์ นี่พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ตรัสผิดๆ ถูกๆ หรือค้านพระองค์เอง ตรัสโดยทั่วไปว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แต่ตรัสให้ชัดว่าเมื่อใดมีความยึดมั่นถือมั่น เมื่อนั้นเป็นทุกข์ มันก็หมายความว่าตัณหาให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น แล้วมาดูย้อนไปทางไกลมาทางหลัง ทางต้นน่ะ มันก็จะพบว่าอวิชชาเว้ย,มันให้เกิดตัณหา ถ้ามันไม่มีอวิชชามันเกิดตัณหาไม่ได้ ถ้าไม่มีอวิชชาในขณะที่มีผัสสะแล้วมันเกิดตัณหาไม่ได้หรอก มันต้องมีอวิชชาเข้ามาเป็นเจ้ากี้เจ้าการโดยเฉพาะ ตั้งแต่เมื่อมีผัสสะ เป็นผัสสะของอวิชชา มีเวทนาของอวิชชาแล้วมันก็เกิดตัณหา ดูไปทางต้นสุดความทุกข์เกิดมาจากอวิชชา ดูที่ตรงกลางโดยทั่วๆไป เห็นได้ง่ายๆ ว่ามันเกิดมาจากตัณหา ถ้าดูกันอย่างใกล้ชิดที่สุดแล้วจะพบว่าความทุกข์เกิดมาจากอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นสิ่งใดก็เป็นของหนักขึ้นมาทันที ความที่ต้องถือของหนักนั่นแหละเป็นความทุกข์ ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก การยึดถือของหนักเป็นความทุกข์ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นของหนัก ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก ยึดถือของหนักเป็นทุกข์ ไม่ได้ใช้คำว่าตัณหาเลย ภารนิกฺเขปนํ สุขํ นี่พูดภาษาคนอีกทีหนึ่งว่า วางของหนักลงเสียนั่นแหละเป็นความสุข ที่จริงเป็นความดับทุกข์ แต่ว่าคำกลอนอย่างนี้ก็ใช้ตามสะดวก ใช้ว่าเป็นสุขบ้างก็ได้ นิกฺขิปิตฺวา ครุí ภารํ อญฺญํ ภารํ อนาทิย วางของหนักลงเสียแล้ว ไม่หยิบฉวยเอาของหนักอันอื่นขึ้นมาอีก นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโต หมดความอยากดับสนิท ปรินิพฺพุโต ดับสนิท ไม่ตาย ไม่ต้องตาย แต่ไม่มีความทุกข์ นี่สังเกตดูให้ดีๆ มันมีหลายแห่งคำว่า ปรินิพฺพุโต, ปรินิพฺพุโต ไม่ได้ตาย ไม่ต้องตาย เพราะมันวางของหนักลงเสียได้ ความทุกข์เงื่อนต้นมาจากอวิชชา ตรงกลางเป็นตัณหา อันสุดท้ายของการทำหน้าที่ก็คืออุปาทาน อุปาทานโดยความเป็นตัวตนก็ได้ เป็นของตนก็ได้ จะอุปาทานในวัตถุที่เป็นที่ตั้งแห่งความใคร่ก็ได้ ในทิฏฐิความคิดความเห็นก็ได้ ในวัตรปฏิบัติที่ปฏิบัติอยู่อย่างโง่เขลาก็ได้ และก็อุปาทานจนพูดออกมาว่าตัวกูนั่นน่ะ เป็นอุปาทานที่เป็นความทุกข์โดยสมบูรณ์
เอ้า,ทีนี้ดูต่อไปในแง่หนึ่ง ก็คือดูโดยอัสสาทะ อัสสาทะ ความอเร็ดอร่อย สนุกสนาน เป็นเสน่ห์ยั่วยวนใจ ความทุกข์จะเป็นอัสสาทะน่าพอใจบ้าง ก็สำหรับคนโง่ คนไม่รู้จักความทุกข์ จนเกิดมีคำพูดแปลกๆ ขึ้นมาว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว และเห็นกงจักรเป็นดอกบัว คนโง่เหล่านี้พอใจในความทุกข์ชนิดที่แฝง ชนิดที่เร้นลับ มันจึงเห็นเป็นดอกบัว มันจึงยินดีที่อยู่ในกองทุกข์ มันเป็นทุกข์แล้วมันยังแสวงหาสิ่งที่เป็นทุกข์อีก มันโง่เท่าไหร่ คำกล่าวโดยทั่วไปเขาว่าสัตว์ทั้งหลายมีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดาแล้ว มันก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นธรรมดาอีก นี้มันโง่เท่าไหร่ มันเป็นทุกข์อยู่แล้ว มันก็ยังแสวงหาสิ่งที่ยังเป็นทุกข์อีก มันโง่เท่าไหร่ นั่นเพราะมันมีอัสสาทะอะไรซ่อนเร้นแอบแฝงอยู่ในตัวความทุกข์นั้น ที่เห็นง่ายๆ เช่นว่ามันได้ตี ได้ด่า ได้ตีเขา นี่มันก็สบายใจ มันกิเลสครอบงำย่ำยีเอา มันก็ได้สบายใจ นี่เป็นอัสสาทะ เสน่ห์ที่หลอกลวงของสิ่งที่เลวร้ายทั้งหลาย สิ่งที่เลวร้ายทั้งหลายมีของหลอกอย่างนี้ด้วยกันทั้งนั้น
เราอยากจะพูดในแง่ที่ลึก ที่บางคนคงจะไม่ยอมรับว่า เราก็รักความทุกข์ เราชอบความทุกข์โดยเฉพาะอาตมา เพราะความทุกข์มันมาสอนให้ฉลาด ถ้าไม่มีความทุกข์มาสอนแล้วโง่ โง่ดึกดำบรรพ์ โง่อย่างเลวร้ายกันทุกคน ความทุกข์มันมาตบหน้า มันมาสอนให้ฉลาด ต้องขอบใจความทุกข์ ความทุกข์มีคุณ มาสอนให้ฉลาด ความสุขมาสอนให้หลง ให้เผลอ ให้ระเริงเตลิดเปิดเปิงไป แต่ความทุกข์น่ะมาสอนให้ฉลาด มาขัด มากัดเอา มาขบกัดเอา มาเผาลนเอา ทำให้สำนึกได้ มาสอนให้ฉลาด เรียกว่ามันสอนดีกว่าความสุข ความสุขมันไม่สอนนะ มันมาทำให้ลืมตัว แต่ความทุกข์มันมาสอน แต่คนมันโง่เองมันไม่รับคำสอน มันก็บ้าไปเลย ถ้ามันยินดีที่จะศึกษาความทุกข์ มันก็จะรู้ว่าความทุกข์น่ะมันมาสอนให้ว่าแกอย่าทำอย่างนี้อีกต่อไป หรือว่าอย่าสร้างเหตุปัจจัยแห่งความทุกข์นี้ขึ้นมาเลย ของวิเศษอันนี้ ความรู้อันนี้ ได้มาจากความทุกข์ ความทุกข์มันบีบคั้นให้เราฉลาดหาหนทางดับทุกข์ หรือจะพูดให้กว้างขวางออกไป ก็ว่าพระพุทธเจ้าออกบวชเป็นพระพุทธเจ้านั้น เพราะว่าความทุกข์มันบังคับ ความทุกข์มันขับไล่ไสส่งให้ออกไปบวช ไปหาความดับทุกข์ ทำไมไม่ขอบใจความทุกข์กันบ้าง คนที่ได้รับประโยชน์จากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ผู้ออกบวชเพราะความทุกข์มันบีบคั้น มีคำพูดที่ควรจะสนใจกันบ้าง ไม่รู้จะพูดตรงๆ กันทั้งฝ่ายพุทธและทั้งฝ่ายที่มิใช่พุทธ ฝ่ายพวกฝรั่งเขาถึงกับมีพูดคำนี้ว่าเพชรอยู่ในหัวคางคก เพชรพลอยอยู่ในหัวคางคก สิ่งที่น่าเกลียดที่สุดคือคางคก แต่ในหัวของมันก็ยังมีเพชรพลอย ในความทุกข์ที่เลวร้ายน่าเกลียดน่าชังที่สุด ดูให้ดีจะพบพระนิพพานอยู่ที่นั่น ความดับทุกข์มันต้องมีที่ความทุกข์ ดับไฟมันต้องมีที่ไฟ ดับทุกข์มันต้องมีที่ทุกข์ เพราะฉะนั้นในทุกข์มันมีความดับทุกข์ที่จะหาพบได้ ถ้าหาพบได้ก็คือหาพบของที่สวยงามที่สุด มีค่าที่สุดจากสิ่งที่น่าเกลียดน่าชังที่สุดคือความทุกข์ อย่างนี้ก็จะเรียกว่ามันมีเสน่ห์สำหรับคนที่มีปัญญาจะใช้ความทุกข์ให้เป็นประโยชน์
ทีนี้ดูในแง่ของอาทีนวะ โทษอันเลวร้ายต่ำทราม นี้ไม่ต้องพูดถึง ไม่ต้องมาพูด ใครๆ มันก็รู้สึกได้ดีทั้งนั้น ได้ทุกคนแหละว่ามันเลวร้าย มันอันตราย แล้วมันกัดคน เผาคน ทำลาย ทำอันตรายคน นี่เป็นส่วนที่ว่าเป็นอาทีนวะ อาทีนพ อาทีนวะแปลว่าโทษอันเลวทราม โทษอันเลวร้าย อย่างนี้เด็กๆ ก็ยังมองเห็นอยู่บ้าง แต่แล้วก็ไม่เห็นต่อไปจนถึงกับว่ามันเป็นอย่างนั้น มันก็เผลอตัวเห็นเป็นความสนุกสนานไปเสียก็มี แล้วก็เลยได้เห็นกงจักรเป็นดอกบัวกันคราวนี้เอง ถ้าพูดกันเป็นภาษาธรรมะหรือเป็นภาษาคน พูดเป็นภาษาคนก็ว่าความทุกข์นี้ มันเป็นของกัดเป็นของทำให้เกิดความทุกข์ หรือว่าเป็นของหนักทำให้เกิดความทุกข์ แต่ถ้าพูดโดยภาษาธรรมแล้ว ผลตามธรรมชาติตามธรรมดา ของอวิชชา อุปาทาน กิเลสคืออวิชชาอุปาทานเป็นของธรรมชาติธรรมดา มีขึ้นที่ไหนก็ให้คลอดเป็นผลออกมาเป็นธรรมชาติคือความทุกข์ ความทุกข์ก็คือธรรมชาติธรรมดา คลอดออกมาจากธรรมชาติแห่งกิเลสที่มีชื่อว่าตัณหา ว่าอุปาทาน อวิชชาอุปาทาน นี่เราดูให้ดีว่าเราจะเรียกความทุกข์ว่าอย่างไร ในความรู้สึกตื้นๆ ความรู้น้อยๆ ก็เรียกไปอย่างหนึ่ง นี่มันมีความรู้สึกลึกซึ้ง เห็นลึก ก็เรียกไปอีกอย่างหนึ่ง แม้เรียกว่าเป็นทุกข์ทรมานน่าเกลียดน่าชัง นี้ก็ยังเป็นรู้สึกตื้นๆ ธรรมดาๆ ถ้าเห็นว่าเป็นธรรมชาติเช่นนั้นเอง ธรรมชาติเช่นนั้นเอง อย่าไปเป็นทุกข์เป็นร้อนอะไรกับมัน ก็เรียกว่าลึกๆ เป็นภาษาลึก เห็นความทุกข์เป็นธรรมชาติธรรมดา เป็นตถาตา มันเป็นเช่นนั้นเอง ไม่มีความทุกข์กับมัน ถึงจะมีความทุกข์เจ็บปวดเกิดขึ้นที่ร่างกาย ก็เกิดที่ระบบประสาทที่เป็นเรื่องของร่างกาย ไม่มาถึงจิตใจ ไม่มาถึงจิตใจ ให้ธรรมชาตินั้นเป็นตถาตา เป็นของธรรมดามีอยู่ในโลก นี่เรียกว่ารู้จักความทุกข์ในแง่ลึก กล่าวโดยภาษาธรรมก็ว่าเป็นธรรมชาติธรรมดา ปรากฏการณ์ของธรรมชาติธรรมดา ที่เป็นฝ่ายที่ให้มันเกิดผลอย่างนี้ เพราะถ้าพูดเป็นธรรมชาติเป็นธรรมดาแล้ว มันไม่มีดีมีชั่ว ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ มันมีแต่ว่าทำอย่างนี้ ผลเกิดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ ผลเกิดอย่างนี้ คืออิทัปปัจจยตา ถ้าใครเห็นอิทัปปัจจยตา คนนั้นจะไม่รู้สึกว่า มีดี มีชั่ว มีสุข มีทุกข์ มีอะไรเลย มันเป็นอย่างนั้นเองตามธรรมชาติตามธรรมดา แต่เดี๋ยวนี้เอาความรู้สึกของคนธรรมดาเข้ามาวัด พอใจก็เรียกว่าสุข ไม่พอใจก็เรียกว่าทุกข์ นี้มันหลอกตัวเองให้มีความสุขความทุกข์ขึ้นมาให้เกิดปัญหา ถ้าเข้าถึงความจริงกฎของธรรมชาติ ตามที่เป็นจริงอย่างไรแล้ว มันก็ไม่รู้สึกสุข ไม่รู้สึกทุกข์ เห็นเป็นธรรมชาติไปหมด นี่เป็นลักษณะแห่งความหลุดพ้นหรือจิตของพระอรหันต์ เห็นทุกสิ่งเป็นตถาตา ตถาตาคำนี้ก็เป็นคำสำคัญคำหนึ่งที่จะต้องสนใจไว้ มันเป็นผลเกิดมาจากการเห็นอิทัปปัจจยตา เห็นอิทัปปัจจยตาถึงที่สุดแล้วก็จะสรุปผลเป็นตถาตา เป็นเช่นนั้นเอง ฟังดูเหมือนกับพูดเล่น เมื่อปอาตมาพูดคำนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกแล้วมาสอนเป็นครั้งแรก คนที่มีการศึกษา มีสติปัญญานี่ เห็นว่าพูดเล่น พูดเล่น พุทธศาสนาสอนเรื่องตถาตา เช่นนั้นเอง เห็นเป็นเรื่องพูดเล่น เห็นเป็นไม่มีความหมาย ไม่มีคุณค่าอะไร และต่อมาอีกนาน คนๆ นั้นจึงค่อยรู้ ค่อยเข้าใจว่า โอ้,เรื่องสำคัญนะ ไม่ใช่เรื่องพูดเล่น ตถาตาๆ เช่นนั้นเอง ถ้ามันฉลาดจริง มันเห็นอิทัปปัจจยตา เหตุปัจจัยอย่างนั้นก็ให้เกิดผลอย่างนั้น เหตุปัจจัยอย่างนั้นก็ให้เกิดผลอย่างนั้น ไม่บัญญัติว่าสุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่ว บุญหรือบาป ไม่บัญญัติ มีแต่ว่าเหตุอย่างนี้ เกิดผลอย่างนี้ เหตุอย่างนี้ เกิดผลอย่างนี้ อย่างนี้เรียกว่าเห็นอิทัปปัจจยตา เมื่อมันเป็นอย่างนี้มันก็คือเช่นนั้นเอง เอ้า,พูดกันให้จำง่ายๆกันสักทีว่า ถ้าไม่โง่ ถ้าคนทั้งหลายเหล่านี้ไม่โง่ มันมองไปทางไหนจะเห็นแต่ตถาตา มองไปที่ต้นไม้ ก็ตถาตา มันก็เช่นนั้นเอง มองไปที่ก้อนหิน นี่ก็ตถาตา เช่นนั้นเอง มองมาที่โต๊ะหมู่พระพุทธรูป นี่ก็ตถาตา เช่นนั้นเอง เป็นมาตามเหตุตามปัจจัยโดยกฎอิทัปปัจจยตา มองเห็นสุนัข มองเห็นแมว มองเห็นวัว มองเห็นควาย อะไรก็ตถาตา แก้ว แหวน เงิน ทอง บุตร ภรรยา สามี ก็ตถาตา ถ้าคนมันฉลาด ตามันแหลมคม มันจะเห็นแต่ตถาตาเต็มไปหมด เงยขึ้นไปบนฟ้าก็มีแต่ตถาตา ดวงอาทิตย์ก็เป็นตถาตาเหมือนของเด็กเล่น ถ้าลองมองลงไปใต้ดินก็ถึงบาดาล เห็นนรกก็เป็นตถาตา เห็นสวรรค์ก็เป็นตถาตา เห็นเทวโลกพรหมโลกก็เป็นตถาตา เตลิดออกไปถึงพระนิพพานก็ยังตถาตาอยู่นั่นเอง แต่เป็นตถาตาประเภทโลกุตตระอยู่เหนือเหตุเหนือปัจจัย นี่ถ้าว่าคนมันฉลาดจริง มองไปทางไหนมันก็จะเห็นแต่ตถาตา ดูไปที่เม็ดทรายอย่างนี้ก็ตถาตา ดูไปที่ดินมันก็เป็นตถาตา ดูไปที่หม้อที่ไห ที่เอาดินมาปั้นทำขึ้นก็ยังคงเป็นตถาตา เช่นเดียวกับดินเหนียวมันก็เป็นตถาตา หม้อไหที่ปั้นมาแล้ว ใช้ได้แล้วก็ยังเป็นตถาตา อะไรล่ะที่ไม่ใช่ตถาตาลองว่ามาดูสิ แต่ทีนี้คนมันโง่ มันไม่รู้เรื่องนี้ มันเห็นเป็นต้นไม้บ้าง เป็นสัตว์บ้าง เป็นก้อนหินบ้าง เป็นอะไรๆ ต่างๆ ตามที่มันจะบัญญัติ ถ้ามันโง่หนักขึ้นไปอีก มันก็สมมุติ บัญญัติเป็นเพียงแต่จัดพวก มันโง่น้อยหน่อย แต่มันสมมุติให้เป็นนั่นเป็นนี่ มีค่าอย่างนั้นอย่างนี้ สำหรับจะยึดถือ จะได้จะเสีย จะแพ้จะชนะอะไรมันโง่ มันสมมุติ มันหลงในสมมุติ นี่โง่มาก หลงในบัญญัติค่อยยังชั่วหน่อย ไม่หลงในอะไรเลยนั่นแหละ จะดับทุกข์ได้ เรื่องของภาษาธรรมพูดไว้มันลึก ดูจะไม่มีคำไหนจะลึกไปกว่าคำว่าสุญญตา หรือตถาตา เป็นเรื่องเดียวกันน่ะ มันว่างจากตัวตนนั่นแหละคือตถาตา มันเป็นตถาตาก็เพราะมันเช่นนั้นเอง ก็เพราะมันว่างจากตัวตน มันเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา แต่คนมันไม่มองเห็น ถ้ามองเห็นอิทัปปัจจยตาโดยสมบูรณ์ ก็จะเห็นตถาตาและเห็นสุญญตาติดอยู่ด้วยกัน เป็นสิ่งที่มีอยู่ด้วยกัน แล้วแต่จะดูมันในมุมไหน ในแง่ไหน จะดูในแง่สุญญตาก็ได้ ดูในแง่ตถาตาก็ได้ ดูในแง่อิทัปปัจจยตาก็ได้ มีแต่กระแสแห่งการปรุงแต่งตามกฎแห่งเหตุแห่งผลแห่งปัจจัย
เอ้า,ทีนี้ก็จะดูเป็นคู่สุดท้าย คือหนทางที่จะถลำเข้าไปในความทุกข์และหนทางที่จะออกมาเสียจากความทุกข์ นี่เป็นคู่สุดท้ายที่จะชี้ให้ดู หนทางที่จะถลำเข้าไปในความทุกข์ มันก็ดูสิ มันมีเหยื่อ มันมีเหยื่อ ความทุกข์มันก็มีเหยื่อ มันมีเหยื่อล่อที่จะให้คนถลำเข้าไปในความทุกข์ แต่คนโง่จะไม่เห็น จะไม่รู้จักว่าเป็นเหยื่อล่อ จะเห็นว่าเป็นของน่ารักน่าพอใจ แล้วมันก็จึงกระโดดเข้าไปกระทำอย่างนั้น ยึดมั่นเป็นตัวกูของกู มันก็เลยเกิดความทุกข์ นี้คือความโง่ หนทางที่จะถลำเข้าไปในกองทุกข์คือความโง่ ด้วยเหยื่อล่อของสิ่งนั้นๆ มันโง่ต่อเหยื่อล่อของสิ่งนั้นๆ ความไม่เที่ยง นี่ตัวร้ายล่ะ ความไม่เที่ยงน่ะมันมีรสอร่อยมาก ถ้ามันตายตัวมันไม่เปลี่ยนแปลง มันไม่มีรสอะไร เราพอใจในความเปลี่ยนแปลง มันจึงมีรสอร่อย ในอาหารก็ดี ในการบำรุงบำเรออะไรก็ดี เพราะมันมีความเปลี่ยนแปลง มันมีรสของความเปลี่ยนแปลง ซึ่งคนโง่ไม่รู้จักแล้วก็เลยพอใจ จึงติดเหยื่อของสังขารเหล่านั้น ปรุงขึ้นมาเป็นความทุกข์ ทีนี้ทางออก ทางออกมันก็ตรงกันข้ามคือความรู้ ความฉลาด ฉลาดอย่างแท้จริงไม่ใช่ฉลาดอย่างคนฉลาดแกมโกงนะ มันฉลาดอย่างแท้จริง เป็นวิชชา เป็นรู้ตามที่เป็นจริง แล้วมันก็ไม่โง่ แล้วมันก็ไม่กินเหยื่อ ความที่ไม่ถูกหลอกให้เห็นเป็นเหยื่อนั่นแหละ มันก็เป็นหนทางที่จะออกมาเสียจากความทุกข์ ถ้าจะระบุให้ชัดลงไป มันก็เป็นเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ เหมือนที่ได้พูดแล้วๆ ถูกต้อง ๘ ประการ นั่นแหละเป็นหนทางที่จะออกมาเสียจากความทุกข์และปัญหาทั้งปวง เรื่องนี้เคยบอกมาเป็นสิบๆ ครั้งแล้วว่า ขอให้จำไว้เป็นหลักเถิดว่า ทางออกหรือนิสสรณะ หนทางออกมาจากความทุกข์ ออกจากปัญหา ออกจากสิ่งเลวร้ายอะไรนั้น คืออริยมรรคมีองค์ ๘ จะอธิบายอ้อมค้อมไปทางไหนเป็นชื่ออื่นก็ได้ แต่มันก็ไม่พ้นไปจากอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นความถูกต้อง ๘ ประการมารวมกันเข้า เป็นเหมือนหนทาง เป็นเหมือนเส้นทางที่จะออกมาเสียจากความทุกข์ เมื่อพระพุทธเจ้าจะได้กล่าวถึงความทุกข์ในแง่ใดๆ ปัญหาใดๆ ทุกข์ยากลำบากใดๆ พอถึงสุดท้ายจะแสดงนิสสรณะ เครื่องออกมาเสียจากปัญหาเหล่านั้น โดยแสดงอริยมรรคมีองค์ ๘ ทั้งนั้น นั่นมันจึงสมกับที่ว่าเป็นตัวพรหมจรรย์ เป็นตัวพระศาสนา เป็นตัวธรรมะสำหรับจะดับทุกข์ ตัวพระพุทธศาสนาในแง่ของการปฏิบัตินี้ ต้องชี้ลงไปที่อริยมรรคมีองค์ ๘ มันก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่อธิบายไว้อย่างละเอียด แจงออกไปอย่างละเอียดเป็น ๘ อย่าง พูดสั้นๆ ก็ว่าศีล สมาธิ ปัญญา กล่าวโดยวิชชาก็พูดว่าศีล สมาธิ ปัญญา กล่าวโดยหลักปฏิบัติก็ต้องพูดว่าปัญญา ศีล สมาธิ นี่เป็นหนทางออกมาเสียจากความทุกข์ ขอให้สังเกต ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง ลองดู อยากรู้จักความทุกข์ ก็ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา แล้วก็ชิมดู มันก็จะรู้จักความทุกข์ แต่ไม่ต้องหรอก มันไม่ต้อง มันเกิดอยู่ตามธรรมชาติ เกิดอยู่ตามธรรมดา ที่คนโง่ไม่เห็นไม่รู้ว่าเป็นความทุกข์ แล้วก็ไม่หยิบขึ้นมาเป็นปัญหา และก็อยู่อย่างคนโง่ คือหาเหยื่ออะไรมากลบเกลื่อนความทุกข์ที่เป็นกันโดยมาก เมื่อเขามีความทุกข์ เขาก็หาเหล้ากิน ไปตามสถานเริงรมย์ ไม่มาวัด ไม่มาศึกษาเรื่องของพระพุทธเจ้า ไปหาทางกลบเกลื่อนตามแบบของคนโง่ ยิ่งกลบเกลื่อนมันก็ยิ่งเป็นทุกข์มากขึ้น หมักหมมมากขึ้นจนแก้ไม่ได้ ในที่สุดมันก็ต้องไปฆ่าตัวตาย มีอยู่บ่อยๆ เพราะมันไม่รู้จักทางออกมาเสียจากความทุกข์ มันมีแต่จะถลำเข้าไป มันหลงทาง มันเข้าใจผิด มันก็ถลำไปในกองทุกข์ มนุษย์ตามธรรมดาเป็นอย่างนี้ ดังนั้นจึงมีคำกล่าวว่าโลกคือความทุกข์ เพราะว่าโลกตามธรรมดามันเต็มไปด้วยคนโง่ แล้วมันก็ทำผิดพลาด แล้วมันก็เป็นความทุกข์ เต็มไปด้วยความทุกข์ ฉะนั้นโลกกับความทุกข์มันจึงเป็นสิ่งเดียวกัน แล้วยังมีเรื่องสลับซับซ้อนในเรื่องของกิเลส กิเลสจะต้องเป็นของหลอก เป็นของหลอก ยั่วหรือหลอกเสมอ กิเลสเป็นเรื่องสวยสดงดงามสำหรับคนโง่ คนโง่จึงหลงในเรื่องของกิเลส ที่เรียกว่ามารๆ พญามารนั่นแหละเป็นสิ่งที่มีความงดงาม ยั่วยวนหลอกลวงที่สุด ถ้าจะเขียนภาพพญามารให้ถูกต้อง ก็เขียนให้งดงาม สวยสุด ยั่วยวนที่สุด อะไรๆ ที่สุด มันจึงจะเป็นภาพพญามาร ไม่ใช่เขียนเป็นยักษ์ หน้าตาดุร้ายเหมือนกับที่เขียนกันโดยมาก นั้นคนโง่มันเขียน มันเขียนรูปมารเป็นรูปร่างน่าเกลียด เป็นรูปยักษ์รูปมาร ถ้าคนฉลาดมันจะเขียนรูปมารนี่ เป็นน่ารักที่สุด ยั่วยวนที่สุด น่าสนใจที่สุด น่าเอาที่สุดเลย นั่นแหละคือมาร ภาษาคน มารก็คือน่าเกลียดน่าชังที่สุด ภาษาธรรม มารก็คือสิ่งที่น่ารักและน่ายั่วยวนใจที่สุด เรารู้จักความทุกข์กันให้ถูกต้อง มันก็จะเกลียดกลัวความทุกข์ ดิ้นรนจะดับทุกข์ ถ้าเราไม่รู้จักถูกต้อง เมื่อรู้จักไม่ถูกต้อง มันก็ไปหลงเหยื่อ หลงเหตุปัจจัยให้เกิดความทุกข์นั่นแหละ กลายเป็นของน่ารักน่าพอใจไปเสีย นี่มันจึงเกิดกิเลส แล้วก็เป็นความทุกข์หนักเข้าไปอีก
เอาล่ะ,เป็นอันว่าความทุกข์นั่นน่ะมันมีอะไร มีความจริง มีข้อเท็จจริงที่เราจะต้องมองกันอย่างนี้ ทบทวนอีกทีหนึ่งก็ได้ จะได้ง่วงนอนมากขึ้นไปอีก เพราะว่ามันฟังไม่ค่อยจะถูก ใช่ไหม ความทุกข์ถ้าจะดูโดยพยัญชนะมันก็มีความหมายว่าทนทรมานบ้าง ดูแล้วน่าเกลียดบ้าง ว่างอย่างน่าเกลียดน่าชังบ้าง ดูโดยอรรถะความหมายแล้วมันเป็นสิ่งที่ทนยาก น่าเกลียดน่าชังไปทั้งหมด ดูโดยสิ่งที่จะเรียกแทนชื่อกันได้ก็คือว่าโลกก็ได้ โรคก็ได้ ดูโดยลักษณะ ลักษณะน่ารังเกียจ ดูโดยกิริยาอาการ คือมันเบียดเบียน ดูโดยกิจหรือหน้าที่ของมันคือมันสร้างปัญหา ดูโดยรสของมันก็แสบเผ็ด และมันกัดกร่อนให้ร่อยหรอไปทีเดียว ถ้าดูในแง่ของวิทยาศาสตร์ โอ้,ของธรรมชาติธรรมดานี่เอง ธรรมชาติธรรมดาอย่างยิ่งเหมือนกับธรรมชาติธรรมดาทั้งหลายทั่วไป แต่ว่ามันให้เกิดผลขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้ แล้วก็เป็นความรู้สึกที่คนเข้ารู้สึกเป็นทุกข์เป็นของทรมาน หรือว่าจะว่าน่าเกลียดก็ตามใจ มีประเภทหลายประเภทหลายชนิดแล้วแต่จะมอง มีอุปมาเหมือนกับว่าดอกไม้ที่พญามารเขาให้รางวัลมา โดยหน้าที่มันจะต้องเกิดขึ้นเมื่อคนทำผิด ความทุกข์มีหน้าที่ที่จะเกิดขึ้นมาเมื่อบุคคลเขาทำความผิด แต่ว่าหน้าที่ของมนุษย์เราก็มีหน้าที่ที่จะต้องรู้จักมันและกำจัดมันเสีย ถ้าดูกันโดยสิทธิ มันก็มีสิทธิที่จะกัด ขบกัดคนโง่ ดูในแง่ของมนุษย์ มนุษย์ก็มีสิทธิที่จะกำจัดมันเสีย ดูจุดตั้งต้นของมันก็คืออวิชชา อวิชชา ดูจุดปลายทางของมันก็คือจะต้องดับไป ความทุกข์นี่เกิดมาสำหรับดับไปนะ แต่ว่าก่อนที่จะดับ กว่ามันจะดับ มันก็กัดเอา แต่ว่ามันเกิดมาสำหรับจะดับไป ไม่ว่าอะไรมันเกิดมาสำหรับจะดับไปเหมือนทุกสิ่ง มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา และก็มีจุดจบที่ว่ามันจะต้องดับไปเมื่อสิ้นเหตุสิ้นปัจจัย ความทุกข์นี้ก็เหมือนกัน สมุทัยของมันคืออวิชชา สมุฏฐานของมันคือความไม่ถูกต้อง ความไม่สมดุลต่อธรรมชาตินั้นๆ ความดับชั่วคราวของมันก็มีเพราะหมดเหตุหมดปัจจัยไปชั่วคราว มันจะดับสิ้นเชิงก็เมื่อมีวิชชา มีปัญญา ดับอวิชชาหมดสิ้น ดับด้วยนิโรธธาตุ ธาตุสำหรับดับการปรุงแต่งของสิ่งที่เป็นการปรุงแต่ง นี้ดับจริง มันมีอัสสาทะหลอกให้คนโง่หลง ที่จริงแล้วมันเป็นเหยื่อล่อของเหตุของปัจจัยที่จะให้เกิดทุกข์ ที่นับรวมเข้าไว้กันกับความทุกข์ มันมีอาทีนวะซึ่งเด็กๆ ก็รู้จัก โดยภาษาคนกับภาษาธรรม ภาษาคนก็ว่าของที่ใครๆมันก็เกลียด แต่แล้วมันก็ยังไปหลง เป็นทุกข์จนได้ ในภาษาธรรมมันก็เป็นผลของอวิชชาอุปาทาน ผลของอวิชชาอุปาทานนั่นแหละคือความทุกข์ หนทางที่จะถลำเข้าไปก็คือความโง่ของคนที่โง่แล้วไปกินเหยื่อของมัน หนทางที่จะออกมาเสียก็คือความไม่โง่ มีวิชชา มีปัญญา สามารถจะประพฤติความถูกต้อง ๘ ประการ ที่เรียกว่าอริยอัฏฐังคิกมรรค แง่มุมต่างๆ เหล่านี้ ถ้าจะนับดูได้สัก ๒๐ ได้ ๒๐ แง่มุมที่เราจะดูความทุกข์ แล้วใครมันดูก็สักกี่แง่ กี่มุม แล้วบางคนจะไม่เคยดูเลยด้วยซ้ำไป ถ้าจะรู้จักความทุกข์โดยสิ้นเชิง โดยอย่างน้อยก็ดูมันสัก ๒๐ แง่มุมอย่างนี้อย่างที่ว่ามานี้ แล้วก็จะเกลียดชัง ระอาต่อความทุกข์ตามประสาของคนธรรมดาสามัญ แล้วก็จะดิ้นรนเพื่อจะดับทุกข์
พระพุทธเจ้าตรัสอริยสัจ ๔ ว่า ความทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดความทุกข์เป็นอย่างไร ความดับสนิทแห่งความทุกข์เป็นอย่างไร ทางดับเป็นอย่างไร ท่านตรัสเพียง ๔ อย่างเท่านั้นแหละ เดี๋ยวนี้เรามาแยกดูให้มันละเอียด ให้มันเข้าใจได้กว้างขวางลึกซึ้งยิ่งกว่านั้นจึงดูกันถึง ๒๐ แง่มุมอย่างที่ว่ามา ถ้าเห็นว่ามากนัก อย่างน้อยก็เอาเพียง ๔ แง่มุม ว่ามันคืออะไร แล้วมันมาจากอะไร แล้วมันเพื่อประโยชน์อะไร แล้วมันก็โดยวิธีใด ผู้ที่เข้าใจเรื่องอริยสัจโดยถูกต้องนี่ จะจับหัวใจของอริยสัจได้ ว่าเป็นหลักการที่ครบถ้วน เพียงพออยู่ในตัว ถ้าจะรู้จักสิ่งใดน่ะ ก็ต้องรู้จักว่ามันคืออะไร ความทุกข์คืออะไร แล้วมันมาจากอะไร มันมาจากตัณหา มันเพื่อประโยชน์อะไร เพื่อจะดับ เพื่อจะดับสนิท และโดยวิธีใด ก็คืออริยมรรคมีองค์ ๘ นี่ให้จำคำง่ายๆ ๔ คำว่า ถ้าจะรู้จักอะไรโดยถูกต้องแล้ว จงรู้จักมันโดยว่า มันคืออะไร มันมาจากอะไร มันเพื่ออะไร แล้วมันจะโดยวิธีใดจึงจะสำเร็จตามนั้น คืออะไร จากอะไร เพื่ออะไร โดยวิธีใด นั่นแหละหัวใจของอริยสัจ ไปใช้ได้กับทุกเรื่อง เรื่องใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าเรื่องอะไร ถ้าเราจะรู้จักมันจริงแล้วก็รู้จักโดยลักษณะ ๔ อย่างนี้ จึงถือว่าอริยสัจ นอกจากจะเป็นเรื่องดับทุกข์โดยตรง โดยเฉพาะของพระศาสนาแล้ว ยังเป็นหลักเกณฑ์ทางตรรกวิทยาหรือปรัชญาหรืออะไรเป็นต้นด้วยก็ได้ เพราะมันสอนให้รู้สิ่งทั้งปวงในแง่ที่ควรจะรู้ว่าคืออะไร จากอะไร เพื่ออะไร โดยวิธีใด
ไปเห็นรูปกวาง ๔ ตัวหัวเดียวที่อินเดีย รู้สึกอย่างนี้ว่าคนที่นั่นฉลาด จนสลักรูปกวาง ๔ ตัวหัวเดียวเต็มไปหมด ก็เพื่อเตือนใจว่าให้มันรู้เรื่องอริยสัจ คืออะไร จากอะไร เพื่ออะไร โดยวิธีใด เอามาปั้นจำลองขึ้นที่นี่ก็แจกจ่ายไปมาก มีคนชอบใจกันมาก มันสำหรับคนฉลาด มันก็ชอบรูปกวาง ๔ ตัวหัวเดียว นี้เราก็สนใจกันบ้างเถิด ว่าเรื่องดับทุกข์นี้มันรวมอยู่ในเหตุผลทั้ง ๔ นี้ คืออะไร จากอะไร เพื่ออะไร โดยวิธีใด ทีนี้แกล้งพูดให้มันมากออกไป เผื่อว่ามันจะได้เห็นกันง่ายๆ หน่อย แยกออกเป็นตั้ง ๒๐ อย่างเห็นจะได้ เท่าที่ออกมาแล้ว เท่าที่กล่าวมาแล้ว ขอให้รู้จักความทุกข์ในลักษณะเช่นนี้ แล้วก็จะเกลียดกลัวความทุกข์อย่างยิ่ง แล้วก็จะขนขวายหาทางดับทุกข์ ก็จะเป็นกำลัง เป็นกำลังผลักดัน ส่งเสริมให้สนใจเรื่องความดับทุกข์ แล้วก็จะมีกำลังใจในการที่จะปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ แล้วผลที่จะเกิดขึ้นก็คือหมดความทุกข์ สิ้นสุดแห่งความทุกข์ ก็สมตามพระพุทธประสงค์ที่ได้ตรัสเรื่องนี้ ตรัสเรื่องนี้เพื่อช่วยคนให้พ้นจากความทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านทรงยืนยันอย่างนั้น ว่าพระองค์เกิดขึ้นในโลกนี้เพื่อประโยชน์แก่มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์ ก็เพื่อดับทุกข์ มันไม่มีความรู้ในเรื่องการดับทุกข์มาแต่ก่อน ทีนี้พระองค์ตรัสรู้ ก็รู้เรื่องนี้แล้วก็นำมาสอนแล้วกลายเป็นหน้าที่ของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์มีหน้าที่ที่จะรู้เรื่องความดับทุกข์ แล้วก็นำมาปฏิบัติดับทุกข์ได้แล้วก็สอนผู้อื่น เพราะเหตุที่รู้ได้ด้วยตนเองจึงเรียกว่าพระพุทธเจ้า หรือสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ทุกคนจะรู้ด้วยตนเองไม่ได้ จึงมีองค์เดียวที่รู้ด้วยตนเองก่อนแล้วก็สอน ทีนี้ก็รู้ตาม รู้ตามๆ กันไป สำเร็จรูปเป็นพระศาสนาขึ้นมา คือระบบแห่งการดับทุกข์นั่นแหละเป็นตัวพระศาสนา ไม่ใช่โบสถ์ วิหาร เจดีย์ วัดวาอารามอะไร วัตถุพิธีอะไรต่างๆ นั้น มันเป็นเรื่องเปลือก เรื่องเนื้อในของมันก็คือเรื่องวิธีดับทุกข์ ดับทุกข์ ดับทุกข์อย่างไร ดับทุกข์ให้ได้ นั่นคือเป็นตัวศาสนา เป็นตัวธรรมะ เป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ในการดับทุกข์ได้
หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะมีความรู้ความเข้าใจ มีความเชื่อ มีความอะไรเพื่อขึ้นอีกกว่าปีก่อนที่เราพูดมาแล้วปีก่อนๆ เท่าไรมันก็รู้เท่านั้น ปีนี้เพิ่มขึ้นมาเท่าไหร่ มันก็ได้เพิ่มขึ้นมาอีกเท่านั้น ขอให้ได้รับความรู้เพิ่มเติมขึ้นมา จะได้ง่าย สะดวกในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ได้โดยง่าย ถ้าทำได้อย่างนี้ก็ได้ผลตรงตามความมุ่งหมายของการเป็นพุทธบริษัท ให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปทุกๆ ปี ไม่เสียทีที่อุตสาห์มาทำพิธีวิสาขบูชา อาสาฬหบูชา มาฆบูชา เอาล่ะ,เป็นอันว่าการบรรยายครั้งที่ ๓ นี้มันก็พอสมควรแก่เวลาแล้ว จะต้องขอยุติการบรรยายด้วยการฝากความหวังไว้กับท่านทั้งหลายว่าจงพยายามศึกษา ค้นคว้า พิสูจน์ ทดลองให้เกิดความก้าวหน้าในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของตนยิ่งๆ ขึ้นไป จงทุกๆ คนเถิด ธรรมเทนาสมควรแก่เวลา เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้