แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ อาตมภาพจะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลาย ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะสมควรแก่เวลา
ธรรมเทศนานี้ก็มีปุพพาปรลำดับเนื่องมาจากธรรมเทศนาในตอนเย็นคือปรารภอาสาฬหบูชา ดังที่ท่านทั้งหลายก็ทราบกันอยู่เป็นอย่างดีแล้ว ในตอนเย็นนั้นก็ได้กล่าวถึงมัชฌิมาปฏิปทา ในฐานะเป็นเรื่องสำคัญเรื่องแรกที่สุด ที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงในวันที่สมมุติเรียกกันว่าวันอาสาฬหบูชานี้ ครั้นทรงแสดงเรื่องมัชฌิมาปฏิปทาแล้ว จึงทรงแสดงเรื่องอริยสัจทั้ง ๔ บัดนี้ก็เป็นโอกาสอันสมควรที่จะได้วิสัชนาในเรื่องอริยสัจทั้ง ๔ เป็นลำดับสืบต่อไป ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจฟังให้สำเร็จประโยชน์ ในฐานะที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความดับทุกข์ ซึ่งถือกันว่าเป็นหลักเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ในการบรรยายนี้ก็จะได้กล่าวไปทีละลักษณะ ตามวิธีที่ใช้กันมาแต่โบราณกาล คือจะมองกันในลักษณะต่างๆ ทุกทิศทุกทางทีละลักษณะ เมื่อครบถ้วนแล้วก็จะเข้าใจสิ่งนั้นได้โดยครบถ้วนถูกต้อง สำเร็จประโยชน์
ในชั้นแรกนี้ก็จะพิจารณาไปตามลำดับ คือการพิจารณาโดยพยัญชนะก่อน เมื่อกล่าวโดยพยัญชนะแล้ว คำว่าอริยสัจนั้นหมายความว่าอย่างไร แยกได้เป็น ๒ คือคำว่า อริยะ คำหนึ่ง และก็คำว่า สัจจะ อีกคำหนึ่ง คำว่าอริยะนี่ ตามตัวพยัญชนะคือตัวหนังสือ ก็แปลว่าไปจากอริ อริ แปลว่าข้าศึก อริยะไปจากอริ ก็คือไปจากข้าศึกคือหมดข้าศึก ก็หมดความทุกข์ สิ่งที่เป็นข้าศึกในที่นี้หมายถึงความทุกข์ คำว่าอริยะก็คือไปเสียจากข้าศึกคือความทุกข์ ถ้าเป็นชื่อของบุคคลก็เป็นบุคคลที่ประเสริฐ เพราะว่ามันหมดข้าศึก มันหมดความทุกข์ ถ้าเป็นชื่อของธรรมะ ก็เป็นธรรมะที่ประเสริฐที่จะช่วยบุคคลพ้นจากข้าศึก
ทีนี้ก็มาดูที่คำว่า สัจจะ สัจจะคำนี้ตามตัวพยัญชนะแปลว่าสิ่งเที่ยงแท้ เที่ยงแท้ โดยความหมายก็เล็งไปถึงสิ่งซึ่งมีลักษณะเป็นสิ่งเดียว ไม่ต้องมีคู่ มันจึงอยู่ในลักษณะที่เรียกว่าเที่ยงแท้ จึงมีบาลีว่า เอกํ หิ สจฺจํ น ทุติยมตฺถิ สัจจะนั้นมีเพียงหนึ่ง ไม่มีที่สอง ไม่มีสิ่งที่สอง สิ่งใดเป็นสัจจะเป็นความจริงและมันก็มีจริงเพียงหนึ่งเดียว จะมีสองจริงในเรื่องเดียวกันไม่ได้ ถ้ามันมีหลายจริงมันก็คือไม่จริง ฉะนั้นจึงมีเพียงสิ่งเดียว เช่นเรื่องทุกขสัจจ์ มันก็จริงเรื่องทุกข์ สมุทยสัจจ์ ก็จริงเรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ นิโรธสัจจ์ ก็จริงเรื่องความดับทุกข์ มรรคสัจจ์ ก็จริงในเรื่องหนทางให้ถึงความดับทุกข์ ดังนี้ท่านจึงเรียกว่าจริง มีเพียงสิ่งเดียว มีเพียงจริงเดียว ไม่มีสองจริงในสิ่งเดียวกัน ทีนี้ก็ดูให้เห็นว่าไม่ว่าอะไร สิ่งใดๆ ก็ตาม มันก็มีสัจจะของมันด้วยกันทั้งนั้นไม่ว่าอะไร ไม่ว่ารูป ไม่ว่านาม ไม่ว่าสังขาร ไม่ว่าอสังขาร ถ้าว่าสังขาร มันก็จริงของมัน คือว่าเป็นสังขารแล้วก็ไม่เที่ยง ก็เปลี่ยนแปลง ก็ปรุงแต่ง ถ้าวิสังขารก็เป็นของที่ไม่มีการปรุงแต่งก็จริงอย่างนี้ สังขตะก็ถูกปรุงแต่ง อสังขตะก็ไม่ถูกปรุงแต่ง อะไรๆ ก็ล้วนแต่มีสัจจะของมันเป็นลักษณะหนึ่ง แม้ที่สุดแต่ว่าก้อนหิน ก้อนหินก้อนนี้มันก็มีลักษณะเป็นสัจจะของมันอย่างใดอย่างหนึ่งแหละ คนจะรู้หรือคนจะไม่รู้นั้นไม่เป็นไร แต่มันก็มีสัจจะคือของจริง ความจริงของมันอย่างใดอย่างหนึ่ง จนจะพูดได้ว่าทุกอย่างมันก็มีอะไรๆ เป็นสัจจะเฉพาะของมันเอง แต่ว่าคนแต่ละคนๆ นี่มันมีความคิดนึกรู้สึก มันก็คิดนึกรู้สึกไปตามที่มันคิดนึกรู้สึก มันจึงถือเอาความจริงตามที่มันรู้สึกคิดนึก คนโง่มันรู้สึกคิดนึกอย่างไร มันก็มีจริงตามแบบของคนโง่ คนฉลาดรู้สึกคิดนึกอย่างไร ก็มีความจริงตามแบบของคนฉลาด มีสติปัญญา ดังนั้นคนจึงกำลังมีความจริงเป็นของตนเฉพาะตนอยู่ เป็นขณะๆไป ถ้าได้ศึกษาเพิ่มเติมก้าวหน้า ความจริงเหล่านั้นมันก็เปลี่ยนแปลง มันก็ก้าวหน้าไป แต่มันก็มีความจริงเฉพาะเวลา เฉพาะเหตุการณ์ เฉพาะตนอยู่เสมอ นี่แหละเป็นเหตุที่ให้คนไม่เชื่อคนอื่น มันมีความจริงของตนเองตามที่ตนเข้าใจ ก็เรียกว่าแต่ละคนๆ ล้วนแต่มีสัจจะของตนเอง ตามความรู้สึกคิดนึกหรือความเชื่อของตนเอง นี่เป็นสิ่งที่ต้องสังเกตดูให้ดีๆ เพราะว่าข้อนี้แหละเป็นเหตุให้เถียงกัน มันมีความคิดความเห็นในสิ่งเดียวกันเป็นเฉพาะคนๆ มันก็เลยแตกต่างกัน มันก็เลยเถียงกันได้แม้ในเรื่องเดียวกัน เพราะว่าสัจจะของแต่ละคนมันก็มีอยู่เฉพาะตน
ทีนี้ก็เอา ๒ คำมารวมกันว่าอริยสัจจะ ตามตัวหนังสือก็แปลได้ว่าของจริงอันเป็นอริยะ คือไปจากข้าศึกหรือแปลว่าของจริงที่ทำบุคคลให้เป็นอริยะก็ได้ หรือว่าของจริงของพระอริยเจ้าก็ได้ หรือจะว่าของจริงที่มันดับทุกข์ได้สิ้นเชิงไปจากกิเลสความทุกข์โดยสิ้นเชิง จึงสรุปความเอาว่ามันประเสริฐ คำว่าอริยะจึงมีความหมายตามธรรมดาทั่วๆ ไปนี้ว่าประเสริฐ ประเสริฐ ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของบุคคลผู้ประเสริฐ ความจริงที่ทำบุคคลให้เป็นคนประเสริฐ ประเสริฐที่ตรงไหน ก็ประเสริฐที่ดับทุกข์ได้ นี่ความหมายมันเนื่องถึงกันหมดอย่างนี้ ขอให้เข้าใจให้ดีๆ ว่า คำว่าอริยสัจนั้นหมายความว่าอย่างไร นี่เรียกว่าโดยอรรถะ ทีนี้จะดูกันโดยอรรถะ นั้นตามตัวหนังสือมันว่าอย่างนั้น ตามอรรถะคือความหมายก็ว่าอริยสัจจะ คือสัจจะของพระอริยะ สัจจะเพื่อความเป็นอริยะ หรือว่าสัจจะเพื่อดับทุกข์สิ้นเชิง ตามตัวหนังสือก็ว่าสัจจะที่ประเสริฐคือไปจากข้าศึก เรารู้จักสิ่งนี้ไว้ในลักษณะอย่างนี้ เพื่อเกิดความสนใจ ความพอใจในการที่จะศึกษาและจะปฏิบัติเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้
ทีนี้ถ้าว่าจะดูในแง่ของไวพจน์ คำว่าไวพจน์ก็คือคำที่แทนกันได้ ถ้าไม่เรียกชื่ออย่างนั้น เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งแทนกันได้ ก็ได้เหมือนกัน คำว่าอริยสัจนี้ เป็นคำสอนดับทุกข์ได้นี้ จะเรียกชื่ออีกอย่างว่า เญยยธรรม ก็ได้ ในความหมายที่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้เญยยธรรม และก็นำไปสอนสัตว์ โปรดสัตว์ให้รู้เญยยธรรม เญยยธรรมก็แปลว่าธรรมที่ควรรู้ ทำไมจึงควรรู้ ก็เพราะว่ามันดับทุกข์ได้ มันก็เลยเป็นเรื่องเดียวกับเรื่องอริยสัจเพราะมันดับทุกข์ได้ จึงเรียกว่าอริยธรรม หรือเญยยธรรม เญยยธรรม พระพุทธเจ้าตรัสรู้เญยยธรรมแล้วก็สอนสัตว์ด้วยเญยยธรรม ก็ดับทุกข์ได้ก็ประเสริฐ ก็เรียกว่าอริยธรรม นี่มันแทนกันได้ ถ้าเราได้ยินคำว่าเญยยธรรม ก็นึกถึงว่ามันแทนกับคำว่าอริยสัจหรืออริยธรรม
ทีนี้ก็ดูในแง่ของลักษณะและอาการ ลักษณะหรืออาการ อริยสัจมีลักษณะคือทนต่อการพิสูจน์ เช่นเดียวกับสัจจะทั้งหลาย อริยสัจมีลักษณะคือมันทนต่อการพิสูจน์ กล้าท้าให้ใครมาพิสูจน์ว่ามีเพียง ๔ อย่างนี้ ใครมาพิสูจน์ให้เห็นว่ามากไปหรือน้อย ก็มีดับทุกข์อย่างนี้ ใครมาพิสูจน์ว่ามันดับไม่ได้ นี่ขอท้าทายให้มาพิสูจน์ ฉะนั้นอริยสัจโดยลักษณะก็คือสิ่งที่ทนต่อการพิสูจน์
เอ้า,ทีนี้ก็ดูโดยอาการ อาการของสิ่งนี้ คือเป็นสัจจะก็มีอาการดำรงอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องมีใครมาหล่อเลี้ยง มาปัจจัยสนับสนุนอะไร ในฐานะที่เป็นสัจจะอันแท้จริง ก็ดำรงตัวอยู่ได้ในฐานะเป็นสัจจะ นี่มีอาการดำรงตนอยู่ได้โดยตนเอง อริยสัจ
ทีนี้ก็ดูต่อไปในเรื่องของสิ่งที่เรียกว่ากิจ กิจ กิจกรรม คือสิ่งที่ควรกระทำ อริยสัจมีอะไรเป็นกิจ เป็นกิจจะ ก็ต้องพูดว่ามีการครอบงำสัตว์สังขารทั้งปวง มันเป็นกฎของธรรมชาติที่จะครอบงำ บังคับธรรมชาติ สัตว์สังขารทั้งปวงที่เป็นธรรมชาติ กฎของอริยสัจก็มีหน้าที่ครอบงำสิ่งเหล่านี้ให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของอริยสัจ นี้เรียกว่ามันมีกิจอย่างนี้ มันมีหน้าที่อย่างนี้ กฎของธรรมชาติอันนี้มันมีกิจอย่างนี้
ทีนี้เลยไปถึงคำว่ารส รส รสคือวิสัยที่น่ายินดี มีรสน่ะ มีรสอะไร รสของอริยสัจก็คือวิมุตติ หลุดพ้นจากความทุกข์ในลักษณะที่เป็นเอหิปัสสิโก มีความหลุดพ้นจากความทุกข์ชนิดที่ ที่ดี ที่ประเสริฐ ที่เลิศ จนถึงกับว่าท้าทายให้มาดู เรียกร้องให้คนมาดู เรียกร้องใครๆ จงมาดูๆ มันประเสริฐวิเศษสูงสุดอย่างนี้ นี่มันเป็นที่ยินดีของบุคคลผู้รู้ ผู้เห็น ผู้ได้รับประโยชน์ ก็มีวิมุตติที่เป็นเอหิปัสสิโก เป็นรสอร่อย เป็นรสอันเลิศของอริยสัจ
ทีนี้ถ้าว่าจะให้เลยไปถึงเป็นวิทยาศาสตร์กันบ้าง สมัยนี้เขาชอบวิทยาศาสตร์ อะไรๆ ก็วิทยาศาสตร์ เรื่องอริยสัจนี่เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง เพราะมันเป็นกฎเกณฑ์ของเหตุผล ของกฎแห่งเหตุผลที่มีอยู่ในที่ทั่วไป ในจักรวาลหรือในทุกๆ สิ่ง จนไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดี กฎแห่งเหตุผลตามหลักของธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติ นี่ถ้ามองกันโดยวิทยาศาสตร์ อริยสัจมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นกฎแห่งเหตุผลโดยความเป็นกฎแห่งเหตุผลตามธรรมชาติ ของธรรมชาติ ดังนั้นอริยสัจจึงเป็นวิทยาศาสตร์กล้าท้าให้คนพิสูจน์ ใครมีปัญญาอย่างไรก็ท้าให้มาดู ให้มาคัดค้าน เสนอในฐานะเป็นสิ่งสูงสุดที่ควรจะรู้ ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือน รู้แล้วก็จะดับทุกข์ได้ ให้นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายมาพิสูจน์ดู เพราะว่าอริยสัจเป็นกฎของธรรมชาติในกฎเกณฑ์ตามทางวิทยาศาสตร์ เรื่องอริยสัจจึงเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์
เอ้า,ทีนี้ก็จะดูกันต่อไปถึงข้อที่ว่าประเภท ประเภทคือการจำแนกแจกแจงออกไปเป็นกี่อย่างๆ ถ้าเมื่อกล่าวโดยประเภทนี่ อริยสัจก็มีแจกไว้สำหรับศึกษาหลายประเภทเหมือนกัน ถ้าแจกเป็น ๔ อย่าง ก็มันอย่างที่รู้กันอยู่แล้ว ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าอริยสัจ ๔ คืออะไร คือ เรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับสนิทแห่งความทุกข์ เรื่องทางให้ถึงความดับสนิทแห่งความทุกข์ มันเป็น ๔ เรื่อง ฉะนั้นโดยประเภทอย่างนี้มันก็มี ๔ อย่าง ทีนี้เรา,นั่นมันมากนัก, ย่นให้มันเหลือน้อยหน่อย มันก็จะเหลือสัก ๒ ประเภท คือเรื่องทุกข์กับความดับทุกข์ ก็เหลือประเภทเพียง ๒ ประเภท คำว่าทุกข์หรือเรื่องทุกข์ มันก็รวมเอาเรื่องเหตุให้เกิดทุกข์เข้าไว้ในตัวด้วย นับรวมเสียเป็นเรื่องเดียวว่าเรื่องทุกข์ เรื่องความดับสนิทแห่งความทุกข์ มันก็รวมเอาวิธีที่จะให้ดับสนิทนั้นเข้าไว้ในตัวด้วย เป็นเรื่องความดับทุกข์ด้วยกัน เลยเหลือ ๒ เรื่อง ความข้อนี้พระพุทธองค์ทรงเน้นมากที่สุด คือตรัสว่า ปุพฺเพ จาหํ ภิกฺขเว เอตรหิ จ ทุกฺขญฺเจว ปญฺญาเปมิ ทุกฺขสฺส จ นิโรธํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แต่ก่อนนี้ก็ดี เดี๋ยวนี้ บัดนี้ก็ดี เราตถาคตบัญญัติเฉพาะเรื่องความทุกข์กับความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้น ไม่ตรัสเรื่องอื่นให้วุ่นวายมากไปเสียเวลาเปล่าๆ อยากจะพูดว่าไม่ตรัสเรื่องที่มันเสียเวลาทุกเรื่องเลย แม้แต่เรื่องของพระองค์เองก็ไม่ต้องตรัส เว้นไว้แต่มันจะเกี่ยวกับเรื่องความทุกข์และความดับทุกข์ ฉะนั้นจึงถือว่ามันมี ๒ เรื่องหรือ ๒ ประเภท แจกออกเป็น ๒ เรื่อง คือเรื่องทุกข์กับดับทุกข์ ทีนี้ถ้ายังเห็นว่า ๒ เรื่อง ๓ เรื่อง มันยุ่ง เอาเรื่องเดียวดีกว่า มันก็จะเหลือเรื่องเดียวได้เหมือนกัน คือเรื่องความดับทุกข์ พระองค์เมื่อดับทุกข์แล้วมันก็หมดเรื่อง ฉะนั้นเรื่องทุกข์มันเอามาอยู่ในเรื่องความดับทุกข์ เป็นสิ่งที่จะต้องถูกดับ ดับเสียให้ได้ เป็นความดับทุกข์ อย่างนี้ก็เหลือเรื่องเดียวคือเรื่องความดับทุกข์ เป็นตัวธรรมะ หัวใจของพระพุทธศาสนาคือความดับทุกข์ นี่ดูสิว่า โดยประเภทเราจะกล่าวเป็น ๔ อย่างก็ได้ จะกล่าวเป็น ๒ อย่างก็ได้ จะกล่าวเป็น ๑ อย่างก็ได้ และอาจจะกล่าวให้มากหรือแปลกไปกว่านี้ก็ได้ แต่มันไม่จำเป็น เท่านี้มันก็พอแล้วสำหรับที่จะศึกษาให้รู้ให้เข้าใจ
ทีนี้ก็ดูต่อไป ดูต่อไปถึงอุปมา อุปมาคือเรื่องที่นำมาเปรียบเทียบเป็นอุปมา ว่าเรื่องอริยสัจมีอะไรเป็นอุปมา ถ้าถามอย่างนี้ก็ตอบว่ามีหลาย มากมาย ยกมาสัก ๒ อุปมา อุปมาทีแรกก็คือความมีโรค มีเจ็บไข้ เป็นโรคน่ะ ความมีโรค นี่อุปมาเป็นเรื่องทุกข์ แล้วเหตุที่ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยนั้นมันเป็นสมุทัยแห่งโรค ก็เป็นเรื่องสมุทัยของทุกข์ ทีนี้ความหายโรค หายโรคไม่มีโรคก็เป็นเรื่องนิโรธสัจ อุปมาของนิโรธสัจ และวิธีรักษาให้หายโรค โดยวิธีหยูกยาหรือการบำบัดการแก้ไขอะไรก็ตาม ตามวิธีที่จะเยียวยาให้โรคนั้นหายไป นี่ก็เป็นอุปมาของมรรคสัจ อริยสัจมีเรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับทุกข์ เรื่องทางให้ถึงความดับทุกข์ เรื่องโรค มันก็มีเรื่องโรค และก็เรื่องเหตุให้เกิดโรค และก็เรื่องหายโรค และก็เรื่องวิธีที่จะทำให้หายโรค มันก็เลยได้เป็น ๔ อย่างด้วยกัน เรียกว่าเป็นอุปมา นี่เข้าใจอุปมาก็เข้าใจมากขึ้น มากกว่าที่ไม่เข้าใจอุปมา ฉะนั้นจงสนใจกันไว้บ้าง ศึกษากันไว้บ้าง เรื่องอุปมาของอะไรๆ ทีนี้อุปมาที่ ๒ ของเรื่องอริยสัจ ก็จะพูดถึงทุพภิกขภัยๆ ทุพภิกขภัยคือข้าวยากหมากแพง ลำบาก คนตายมาก ทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพงไม่มีอาหาร มันก็เปรียบได้กับความทุกข์ ทีนี้มูลเหตุแห่งทุพภิกขภัยมันก็คือฝนแล้ง พอฝนแล้ง ดินฟ้าอากาศไม่ดี โดยเฉพาะฝนแล้งมันก็เกิดทุพภิกขภัย ทำนาไม่ได้ ปลูกอะไรก็ไม่ได้ มันก็ไม่มีอะไรจะกิน มันก็ยุ่งยากกันใหญ่ ทีนี้มีอาหารกิน ไม่มีทุพภิกขภัย คือมีข้าวปลาอาหารสมบูรณ์ นี่มันก็เปรียบกันได้กับความดับแห่งทุกข์ นิโรธ ทีนี้อะไรเป็นเหตุให้อาหารสมบูรณ์ มันก็ฝนดี ฝนฟ้าดี เลยเปรียบกันได้ง่ายๆ กับพวกชาวนาจะเข้าใจได้ ทุพภิกขภัย อดอยากแห้งแล้ง เป็นทุกข์ เปรียบกับอุปมาของความทุกข์ ฝนไม่มี ขาดฝน ความขาดฝนเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ยาก ทีนี้ความสมบูรณ์มีกินมีใช้เหลือเฟือ ก็เป็นความดับทุกข์ แล้วฝนดี ดินฟ้าอากาศดี อะไรดีนั่นแหละ มันก็เป็นทางให้เกิดความสมบูรณ์แห่งข้าวปลาอาหาร อย่างนี้ก็รู้จักมองกันบ้างในฐานะที่เป็นอุปมา เรื่องอริยสัจนี่มันมีอุปมาอย่างนี้ เข้าใจว่าพอพูดขึ้นก็มองเห็น พอจะมองเห็น แต่ว่าไม่เคยคิด ไม่เคยพิจารณาใคร่ครวญทบทวนอะไร เดี๋ยวนี้เพื่อจะให้เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น ก็แสดงโดยอุปมา
ทีนี้ก็ยังจะแสดงต่อไปโดยหน้าที่ โดยหน้าที่ที่เกี่ยวกับมนุษย์ อริยสัจเมื่อกล่าวโดยหน้าที่อันเกี่ยวกับมนุษย์ ก็คือเป็นหน้าที่ที่มนุษย์จะต้องรู้เรื่องอริยสัจ เป็นหน้าที่ที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามเรื่องของอริยสัจ เป็นหน้าที่ที่จะต้องทำให้ได้รับผลเกิดผลของการปฏิบัติ และยังมีหน้าที่ที่จะต้องรู้ว่าเราได้ปฏิบัติถูกต้องแล้ว ทำเสร็จแล้ว ดับทุกข์ได้แล้ว รู้ความดับทุกข์นี้ด้วย รู้ความไม่มีแห่งทุกข์ด้วย จึงจะสมบูรณ์ ดับทุกข์ได้แล้ว และก็มีความรู้ว่าดับทุกข์แล้ว ได้แล้ว นี่จึงจะสมบูรณ์ นี่คือหน้าที่ หน้าที่ของสัตว์คนทั้งหลายที่จะต้องกระทำต่อสิ่งที่เรียกว่าอริยสัจ โดยย่อก็คือว่าต้องรู้และก็ต้องปฏิบัติและก็ต้องได้รับผลของการปฏิบัติ และก็ต้องรู้ว่าเราได้ทำจนได้รับผลแล้ว ทำเสร็จแล้ว ถูกต้องแล้ว พ้นจากทุกข์แล้วก็มีหน้าที่ด้วย เป็นหน้าที่ด้วย นี่เรียกว่าโดยหน้าที่
ทีนี้พูดเป็นภาษาที่มันคู่กันคือสิทธิ โดยสิทธิเกี่ยวกับเรื่องอริยสัจ มันคล้ายๆ กับเป็นภาษากฎหมายไปหน่อยก็ไม่เป็นไร อย่าไปสนใจเรื่องนั้นมันเลย ว่าโดยสิทธิน่ะ มนุษย์ผู้รู้อริยสัจ มีสิทธิที่จะออกมาจากกองทุกข์ คือว่ารู้อริยสัจ ปฏิบัติอริยสัจ และก็ผลของอริยสัจ ก็คือมีสิทธิที่จะออกมาเสียจากกองทุกข์ มีสิทธิที่จะดับทุกข์ไม่ให้มีเหลือ ดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เรามีสิทธิที่จะทำอย่างนั้น ถ้าได้ทำหน้าที่ของตนโดยถูกต้องโดยสมบูรณ์แล้ว เราจงรู้จักหน้าที่ที่เราจะต้องกระทำต่อสิ่งที่เรียกว่าอริยสัจ และก็จะต้องได้รับสิทธิเต็มตามที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างครบถ้วน อย่างถูกต้อง เดี๋ยวนี้คนเรามันไม่ได้รู้และไม่ได้ปฏิบัติโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องนี้ พอมีความทุกข์ขึ้นมา ก็ไปทำอะไรล่ะ ไปไหว้จอมปลวก ขอให้ดับทุกข์ให้ที ไปไหว้ต้นไม้ ไปไหว้ภูเขา ไปไหว้ผี ไปไหว้เทวดา ซึ่งเป็นเรื่องของความไม่รู้ เป็นเรื่องหลับหูหลับตาทำไปด้วยความไม่รู้ แล้วมันก็ถูกหลอก ก็ถูกหลอก ไม่มีสิทธิที่จะดับทุกข์ มันก็ดับทุกข์ไม่ได้ นี่ก็ดูคนที่ถือไสยศาสตร์ เขาไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อจะดับทุกข์ แต่ก็ไปอ้อนวอนผีสางเทวดาอะไรก็ไม่รู้ให้ช่วยดับทุกข์ ผลที่ได้มันก็คืออะไร ก็คือโง่ ก็คือโง่ แล้วก็ต้องอยู่ด้วยขลาดกลัวเรื่อยไป ก็ต้องอ้อนวอนผีสางเทวดาเรื่อยไป พอเวลามีเมื่อไหร่ก็อ้อนวอนผีสางเทวดาเรื่อยไป มีแต่ความขลาดกลัว ขลาดกลัว ขลาดกลัวอยู่นั่นแหละ นั่นแหละผลของไสยศาสตร์ คือไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่ควรปฏิบัติ แล้วก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับผล รับประโยชน์ของเรื่องนี้ นี่พุทธบริษัททำอย่างนั้นไม่ได้ ต้องทำหน้าที่ให้ถูกต้องแล้วจึงจะมีสิทธิที่จะได้รับผลคือดับทุกข์ได้
เอ้า,ทีนี้ก็จะดูว่าจุดตั้งต้นของเรื่องอริยสัจนี่ มันมีขึ้นมาอย่างไร มันตั้งต้นขึ้นมาได้อย่างไร เป็นความรู้เรื่องอริยสัจการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มันทำให้เกิดอริยสัจขึ้นมาด้วยเหตุอะไร ต้องดูว่าจุดตั้งต้นของเรื่องนี้ก็คือความทุกข์นั่นเอง ความทุกข์ที่ทำให้คนทนทรมานอยู่นั่นเอง พระพุทธเจ้าท่านไม่ยอมแพ้ ท่านต้องการจะเอาชนะความทุกข์ ท่านจึงได้ออกไปค้นหาความดับทุกข์ จะพูดอย่างเห็นแก่ตัว ก็ว่าท่านจะดับทุกข์ของท่านเองโดยตรงก็ได้ แต่เราก็เชื่อว่ากันว่าพระพุทธเจ้ามีความคิดใหญ่หลวงกว้างขวางเป็นมหากรุณา คือคิดจะหาทางดับทุกข์ให้แก่คนทุกคนด้วย มันก็เพราะเหตุที่ทุกคนมีความทุกข์นั่นแหละ จึงต้องมีการค้นหาเรื่องอริยสัจ คือเรื่องนี้ คือเรื่องดับทุกข์โดยสมบูรณ์นี่ ความทุกข์มันเป็นเหตุให้เกิดความรู้เรื่องอริยสัจ โดยพระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ ความต้องการที่จะดับทุกข์นั่นแหละเป็นเหตุให้เกิดความรู้เรื่องนี้ คือเรื่องความดับทุกข์ คือเรื่องอริยสัจ ฉะนั้นถ้าจะดูว่ามันมีจุดตั้งต้นก็ต้องดูกันที่ตรงนี้ เพราะความทุกข์เป็นเหตุให้ค้นคว้าจนรู้เรื่องความดับทุกข์ จุดตั้งต้นมันอยู่ที่ความทุกข์ ทีนี้ถ้าว่าเราดูจุดสุดท้าย จุดสุดท้ายปลายทางอยู่ที่ไหน มันก็อยู่ที่ความดับทุกข์ จุดตั้งต้นมันอยู่ที่ความทุกข์ แล้วก็ค้นไปๆ พบแล้วปฏิบัติไปๆ ในที่สุดจุดปลายทางจุดจบของมัน ก็อยู่ที่ดับทุกข์ได้สิ้นเชิง จุดตั้งต้นอยู่ที่ความทุกข์ จุดสุดท้ายปลายทางก็อยู่ที่ความดับทุกข์ เราจงมองเห็นอริยสัจในลักษณะอย่างนี้ มองด้วยสติปัญญา มองด้วยการรู้จักเสวยความทุกข์ ก็รู้จักความทุกข์ และก็รู้จักเหตุแห่งความทุกข์ แล้วก็รู้จักหยุดเหตุแห่งความทุกข์นั้นเสียได้ ก็จะรู้ได้ทันทีว่า โอ้,ความความทุกข์มาจบกันที่ตรงนี้เอง เป็นทุกข์ เป็นทุกข์ เป็นทุกข์ไปแล้วในที่สุดก็มาจบ จบลงที่ว่ามันดับทุกข์ หมดความทุกข์ อริยสัจก่อขึ้นมาเพราะความทุกข์เป็นปัญหาเป็นต้นเหตุ และอริยสัจมันก็จบลงไปที่ความดับทุกข์ได้ตามที่ต้องการ ฉะนั้นถ้าดูอย่างละเอียดอีกทีหนึ่งที่เรียกว่าสมุทัยๆ หรือสมุฏฐาน เรื่องอริยสัจนี่ มันมีสมุฏฐานอยู่ที่กฎของธรรมชาติ ที่เป็นไปตามกฎแห่งเหตุผล ตามกระแสแห่งเหตุผล มีกฎอันนี้อยู่ว่าสิ่งทั้งปวงจะต้องเป็นไปในลักษณะที่เป็นเหตุและเป็นผล นี้เรื่องอริยสัจจึงออกมาในรูปที่เรียกว่าเหตุและผล ความทุกข์เป็นผล กิเลสเป็นเหตุ การรู้ความดับทุกข์ การได้เสวยความดับทุกข์น่ะเป็นผล การปฏิบัติที่ถูกต้องก็เลยกลายเป็นเหตุ อันนี้เราไม่ได้เล็งถึงนิพพานซึ่งอยู่เหนือผลเหนือเหตุ แต่ว่ากิริยาอาการที่จะดับทุกข์ได้น่ะ มันจะปรากฏต่อเมื่อปฏิบัติถูกต้อง ก็เกิดอาการที่ดับทุกข์ได้ขึ้นมา ก็ยังเรียกว่าเป็นกฎแห่งเหตุผลของธรรมชาติ ตามธรรมชาติ สมุฏฐานของเรื่องอริยสัจจึงได้แก่กฎของธรรมชาติ ที่ควบคุมกระแสของเหตุผลในการที่สัตว์ทั้งหลายหรือไม่ใช่สัตว์ก็ตาม คือมีชีวิตก็ตาม ไม่มีชีวิตก็ตาม มันมีเหตุผลและก็เป็นไปตามเหตุผล นั่นแหละคือสมุฏฐานรากฐานที่ตั้งของเรื่องอริยสัจ กฎความจริงเรื่องอริยสัจ เมื่อดูสมุฏฐานหรือสมุทัยแล้ว ก็มักจะดูคล้องกันไปถึง อัตถังคมะ คือความดับ ความเกิดมันคู่กับความดับ เรียกว่ามีความดับแห่งทุกข์ หรือว่าดับแห่งสมุทัยแห่งทุกข์ มีได้เป็นคราวๆ มีธาตุอยู่ธาตุหนึ่งเรียกว่านิโรธธาตุ ถ้าเข้ามาถึงธาตุนี้แล้วสิ่งนั้นจะต้องดับ นี่ความทุกข์ เมื่อหมดเหตุหมดปัจจัยก็ถึงนิโรธธาตุ มันก็ดับ หรือว่าเรื่องอริยสัจทั้งหมดเมื่อได้รับผลเป็นนิพพานแล้ว มันก็ถึงนิโรธธาตุเหมือนกัน มันก็หยุดได้ มันก็ดับได้ ความทุกข์ที่ดับเป็นคราวๆ ก็เรียกว่า อัตถังคมะหรืออัสดงคตของความทุกข์ ดับเป็นคราวๆ เหมือนดวงอาทิตย์ขึ้นตอนเช้า ดับตอนเย็น พรุ่งนี้ก็ขึ้นใหม่ ตอนเย็นก็ดับอีก ตอนเช้าก็ขึ้นใหม่ ตอนเย็นก็ดับอีก อย่างนี้เขาเรียกว่าดับชั่วคราว อย่างนี้ไม่เอาเป็นประมาณ แต่มันก็มีเหมือนกัน ความทุกข์ของคนเรานี่ มันมีลักษณะดับชั่วคราวอย่างนี้แหละ แต่เราต้องการดับสนิท ดับโดยแท้จริงเป็นนิโรธะ เป็นนิโรธะ ปฏิบัติถูกต้องถึงที่สุด ความทุกข์ดับไปสิ้นเชิงไม่หวนกลับมาเกิดอีกได้เป็นนิโรธะ หรือจะเรียกว่านิพพานปรากฏก็ได้ เรื่องอริยสัจนี้มันเป็นกฎความจริงที่มันดับไม่ได้ เพราะมันเป็นความจริงของธรรมชาติ แต่ว่าตัวอริยสัจในบางความหมาย เช่นความทุกข์มันก็ดับได้ หรือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ มันก็ดับได้ มันทำหน้าที่แล้วมันก็ดับไป มันก็มีการดับชั่วคราวอยู่ที่ตัวความทุกข์หรือวิธีให้ถึงความดับทุกข์ แต่ถ้าไปเล็งถึงตัวธรรมชาติ ที่เป็นกฎเป็นสัจจะอันแท้จริงแล้ว มันไม่รู้จักดับ มันไม่ต้องดับและมันไม่อาจจะดับ เพราะมันเป็นตัวธรรมชาติชนิดที่เป็นสัจจะคือเป็นตัวกฎ เป็นอสังขตะ พระนิพพานอย่างหนึ่ง ความว่างอย่างหนึ่ง กฎความจริงอย่างหนึ่ง ๓ อย่างนี้เป็นอสังขตะ ไม่ต้องมีการเกิดขึ้นหรือดับไป ไม่ต้องมีการเกิดขึ้น เปลี่ยนไปและดับไป หรือจะมีอะไรจะอธิบายเทียบเคียงกันได้ มันก็ได้เหมือนกัน แต่ที่เราเห็นชัดๆ อยู่ก็ว่าพระนิพพานอย่างหนึ่ง เป็นอสังขตะ ไม่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เปลี่ยนไป ความว่าง ความว่าง ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ไม่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และกฎความจริงทั้งหลาย สัจจะทั้งหลายก็เป็นอสังขตะ ไม่ต้องมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง มันเป็นตัวมันเอง เช่นเดียวกับนิพพาน เช่นเดียวกับความว่าง ไม่ต้องมีเหตุปัจจัย ดังนั้นจึงไม่ดับ ไม่เกิดไม่ดับ กฎความจริงของอริยสัจ ก็มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ต้องเกิด ไม่ต้องเปลี่ยน ไม่ต้องดับ แต่ว่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎนี้ หรือสิ่งที่มันเกี่ยวข้องกับกฎอันนี้ มันก็เกี่ยวทั้งฝ่ายสังขตะและฝ่ายอสังขตะ ฉะนั้นฝ่ายที่เป็นอสังขตะมันก็ไม่ต้องเปลี่ยนแปลง ฝ่ายที่เป็นสังขตะมันก็มีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมดา ความจริงที่เกี่ยวกับพวกที่เปลี่ยนแปลงนี้ มันก็เป็นความจริงที่เปลี่ยนแปลงไปตามความเปลี่ยนแปลง มันจึงมีการเกิดดับเฉพาะส่วนนั้น แต่ส่วนที่เป็นกฎหรือเป็นความจริงนั้นไม่ต้อง คือไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ขอให้สนใจว่าเป็นสิ่งที่อาศัยได้ พึ่งได้ เพราะมันไม่เปลี่ยนแปลง
เอ้า,ทีนี้ก็ดูตามวิธีดู ที่สำหรับจะดูอะไรให้มันหมดครบถ้วนทุกเรื่อง ก็จะดูโดยอัสสาทะ อัสสาทะแปลว่าความน่ารัก น่าพอใจ หรือเสน่ห์อันยั่วยวนใจนี่ เรื่องอริยสัจมีเสน่ห์ไหม แน่นอน มีเสน่ห์สำหรับพระอริยเจ้า ความจริง ธรรมะของความจริงเหล่านี้เป็นอัสสาทะเป็นที่พอใจของอริยชนกระทั่งถึงพระอริยเจ้า พระอริยเจ้าก็พอใจ คนโง่ คนอันธพาลไม่รู้ ไม่รู้ก็ไม่รู้ว่าจะพอใจหรือไม่พอใจ มันไม่รู้ แต่พระอริยเจ้าท่านพอใจในเรื่องอริยสัจ เป็นความจริงที่รู้แล้วดับทุกข์ได้ ท่านก็พอใจ อัสสาทะชนิดที่ไม่ให้โทษจึงต้องเรียกชื่อใหม่ว่า ธรรมอัสสาทะ ปุถุชนมันชอบกามารมณ์ ชอบกามคุณ มีอัสสาทะในกามารมณ์ มันก็จะต้องรับผลตอบแทน หนีความทุกข์ไปไม่พ้น แต่คนเขาก็มีอัสสาทะพอใจในกามารมณ์ เช่นเดียวกับพระอริยเจ้าพอใจหรือมีอัสสาทะในธรรมะที่แท้จริง ที่ดับทุกข์ได้ ส่วนสิ่งที่คู่กันคืออาทีนวะ โทษอันเลวทรามต่ำช้านั้น ซึ่งเป็นคู่กันกับอัสสาทะนั้น ต้องกล่าวได้ว่าไม่มี ไม่มีในอริยสัจ ไม่มีในเรื่องของอริยสัจ คือไม่มีโทษ แต่พวกคนพาลเขาไม่ชอบ เพราะว่าเขาไม่ต้องการจะถือหลักอย่างนี้ เขาต้องการจะเป็นคนพาล อาจจะเป็นที่ไม่พอใจแก่คนพาลแก่อันธพาลก็ได้ ข้อนี้ไม่ต้องเอาเป็นประมาณ เป็นประมาณได้ว่ามันเป็นอัสสาทะสำหรับพระอริยเจ้า ส่วนอาทีนวะนั้นมันไม่มี
เอ้า,ทีนี้ก็ดูต่อไปในมุมอื่นว่าจะดูกันในแง่ของภาษาคนภาษาธรรม ภาษาคน สำหรับคนพูด คนธรรมดาพูด รู้อะไรอย่างคนธรรมดาแล้วก็พูด ก็พูดโดยภาษาคน พูดตามภาษาคน แล้วพูดโดยที่ผู้รู้พูดมันลึกกว่าภาษาคน ก็ต้องเรียกว่าภาษาธรรม พูดว่าทุกข์ เป็นความทุกข์ ทนทรมานอย่างนี้เรียกว่าพูดโดยภาษาคน ถ้าพูดโดยภาษาธรรมที่ลึกกว่านั้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรียกความทุกข์ว่าโลกๆ คือตรัสว่าโลกก็ดี เหตุให้เกิดโลกก็ดี ความดับไม่เหลือแห่งโลกก็ดี ทางให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งโลกก็ดี ตถาคตบัญญัติไว้ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ ที่ยังมีสัญญาและใจคือมีชีวิตเป็นๆ อย่างนี้ก็ต้องถือว่าท่านกล่าวโดยภาษาธรรม เพราะคนทั่วไป คำว่าโลกเขาหมายถึงแผ่นดิน หรือสัตว์โลก คนในโลก คำว่าโลกในภาษาคนน่ะ แต่เดี๋ยวนี้ตรัสโดยภาษาธรรม คำว่าโลกในที่นี้ หมายถึงความทุกข์ เป็นภาษาที่ลึกกว่าภาษาคน ถ้าพูดภาษาคนก็พูดว่าทุกข์ เป็นความทุกข์เฉยๆ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางถึงความดับทุกข์ จะพูดในทางภาษาธรรมที่ละเอียดเข้าใจไม่ได้สำหรับคนธรรมดา ท่านกลับเรียกมันว่าโลก ภาษาธรรมของเรื่องอริยสัจ กลายเป็นเรื่องโลก เรื่องเหตุให้เกิดโลก เรื่องความดับสนิทแห่งโลก เรื่องทางให้ถึงความดับสนิทแห่งโลก มันฟังแปลกออกไปอย่างนั้น เป็นภาษาที่ฟังออกเฉพาะผู้รู้ ว่าสิ่งที่เคยเรียกกันว่าความทุกข์ ก็ยังมาเรียกอย่างลึกซึ้งว่าโลก เพราะว่าอะไร เพราะว่ามันเป็นของหลอกลวง เพราะว่ามันเป็นของแตกสลายอยู่โดยปรกติ ถ้ามองเห็นความเป็นโลก แล้วก็จะมองเห็นว่ามันแตกสลาย แตกสลาย แตกสลาย แตกแล้วเกิด แตกแล้วเกิดเหมือนคลื่นในท้องทะเล มันแตกอยู่ตลอดเวลา นั่นแหละคือลักษณะอาการของสิ่งที่เรียกว่าโลก เพราะคำว่าโลกนี่มันแปลว่าสิ่งที่แตก แตกง่ายและแตกอยู่เสมอเพราะมันแตกง่าย มันจึงเรียกว่าของแตก ภาษาบาลีว่า ลุจฺจตีติ โลโก มันแตก ดังนั้นจึงเรียกมันว่าโลก คือของแตก มันก็ได้แก่ความทุกข์ ที่มีอาการหลอกลวงให้คนไม่รู้เท่า คนที่ไม่รู้ไม่เข้าใจมันก็หลงใหล หลงใหลในความทุกข์ หลงใหลสิ่งที่เป็นทุกข์ จนไม่มีความคิดที่จะดับทุกข์ ก็ไม่เห็นว่าเป็นความทุกข์เอาเสียเลย คนเหล่านี้ก็ไม่มีความทุกข์ที่เป็นปัญหา มันจึงไม่ต้องดับทุกข์ มันไม่ได้ดับทุกข์ ภาษาคนโดยภาษาคนพูดอย่างไรให้เข้าใจไว้ โดยภาษาธรรมพูดอย่างไรให้เข้าใจไว้ คือกล่าวได้ว่าทุกเรื่องเลย ไม่ว่าเรื่องอะไร จะกล่าวโดยภาษาคนก็ได้ ภาษาธรรมก็ได้ มันจะลึกซึ้งกว่ากันเป็นคู่กันอยู่เสมอ หนึ่งภาษาตื้น สองภาษาลึก รู้ธรรมะจึงจะพูดภาษาธรรมะได้ คนธรรมดาชาวโลกทั่วไปก็รู้แต่ภาษาโลก พูดภาษาโลก ให้ความหมายกันอย่างภาษาโลก เมื่อพูดกับคนธรรมดาก็พูดว่าทุกข์ ถ้าพูดให้ลึกกว่านั้นสำหรับผู้รู้ด้วยกันก็พูดว่าโลก นี่ก็น่าแปลกเหมือนกัน น่าสนใจเหมือนกัน ทำไมบางทีพระพุทธเจ้าตรัสเรียกความทุกข์ว่าโลก มันก็มีอยู่ในพระบาลี
เอ้า,ทีนี้ก็จะดูกันว่ามันมีทาง มีทาง มีหนทาง มีทาง ทางที่จะเข้าไปหา นั่นก็ทางหนึ่ง ทางที่จะออกมาเสีย มันก็มีอยู่ทางหนึ่ง ทางที่จะเข้าไปหาความทุกข์ จะถลำตัวเข้าไปสู่กองทุกข์ จมอยู่ในกองทุกข์ ออกมาไม่ได้ นี่ก็เรียกว่าทางที่จะเข้าไป ถลำตัวเข้าไป ในเรื่องอริยสัจ ๔ นี่ ทางที่สัตว์จะถลำตัวเข้าไปในความทุกข์ก็มีอยู่ ก็คืออวิชชา ความไม่รู้ หรือการหมุนไปตามอำนาจของอวิชชา เมื่อสัตว์โลกไม่มีความรู้ ดำรงตนอยู่ไม่ได้ ก็มีการหมุนไปตามเหตุตามปัจจัยซึ่งได้แก่อวิชชา ฉะนั้นการที่ต้องหมุนไปตามอวิชชา ติดไปกับกระแสแห่งอวิชชา นี่เรียกว่าทางที่มันจะพลัดตกเข้าไปในกองทุกข์ จนกลายเป็นสิ่งหนึ่งเรียกว่าวัฏฏสงสารๆ เวียนอยู่เป็นวงกลม เป็นกิเลส เป็นเหตุให้ทำกรรม ทำกรรมแล้วก็ได้รับผลกรรม ผลกรรมแล้วก็หล่อเลี้ยงกิเลสตามเดิมเป็นวงกลม กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม ทำกรรมเป็นเหตุให้ได้รับผลกรรม รับผลกรรมมาหล่อเลี้ยงกิเลสต่อไปตามเดิม นี่มีลักษณะแห่งวัฏฏะ เมื่อคนมีกิเลส มันก็ถลำเข้าไปในวงกลมของวัฏฏะ ถลำเข้าไปในกองทุกข์ มันก็จึงถือว่าการที่หมุนไปตามอำนาจของอวิชชา หรือการที่ต้องหมุนตามอำนาจของอวิชชาเพราะความไม่รู้ของตัวนั่นแหละ คือหนทางที่จะถลำลงไปในกองทุกข์ ในความทุกข์ นี่เรียกว่าทางที่มันจะเข้าไปในกองทุกข์ และทางที่จะออกมาก็มีอยู่ในเรื่องของอริยสัจ คืออริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นหนทางให้ถึงความดับสนิทแห่งความทุกข์ นี้มันก็ตรงกันข้ามคือมันมีวิชชา มันไม่ปล่อยติดกระแสหมุนไปตามอวิชชา แต่มันมีวิชชา มันจึงมีความรู้อันถูกต้อง มีความรู้แจ้งโดยประจักษ์ มันก็เลยออกมาได้ ออกมาเสียจากกองทุกข์ได้ เป็นทางออกมาเสียจากสิ่งที่จะต้องออก สิ่งที่ไม่ควรจะอยู่ด้วย คือเข้าไปได้แต่ความทุกข์ มันไม่ควรจะไปอยู่ด้วยหรือควรจะเข้าไปหา ก็ต้องออกมาเสีย นี้ก็เป็นเรื่องของการออกมาเสีย เป็นความรอด มันก็ได้แก่วิชชา ความรู้ ซึ่งทำให้เกิดความถูกต้อง ความถูกต้องซึ่งมีอยู่ ๘ ประการดังที่ได้กล่าวแล้วแต่ตอนเย็นที่ว่าถูกต้อง ๘ ประการ ถูกต้องในทางคิดเห็นเป็นสัมมาทิฏฐิ ถูกต้องในความปรารถนาเป็นสัมมาสังกัปปะ ถูกต้องในการพูดจาเป็นสัมมาวาจา ถูกต้องในการกระทำทางกายเป็นสัมมากัมมันตะ ถูกต้องในการดำรงชีวิตครองชีวิตเรียกว่าสัมมาอาชีวะ และก็มาถูกต้องในความมีความพยายามพากเพียรเรียกว่าสัมมาวายามะ ถูกต้องในการมีความรำลึกอย่างถูกต้อง เป็นสติที่ถูกต้องเรียกว่าสัมมาสติ และก็ถูกต้องในการปักใจมั่นลงไปเรียกว่าสัมมาสมาธิ เป็นความถูกต้อง ๘ ประการเรียกว่ามรรค พอออกมาเสียได้นี้คือทางออก คำนี้พิเศษมาก คำว่ามรรคนี่ พระพุทธองค์ตรัสไว้ในฐานะเป็นนิสสรณะ เป็นทางออก เป็นอุบายเครื่องออก ไม่ว่าเรื่องอะไรถ้าเป็นเรื่องที่ต้องออก แล้วก็ต้องออกด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ ทั้งนั้น ปัญหาใดๆ ความทุกข์ชนิดไหน เป็นเรื่องที่ขบกัดทนอยู่ไม่ได้จะต้องออกมาเสีย ก็ต้องออกมาด้วยการปฏิบัติแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ แม้ว่าจะเรื่องธรรมดาสามัญของชาวบ้าน จะออกมาเสียจากความยากจนอย่างนี้ มันก็ต้องใช้อันนี้ หลักอันนี้ คืออริยมรรคมีองค์ ๘ นี่ ปฏิบัติให้ถูกต้องเถิด มันก็จะออกมาเสียได้จากความยากจนซึ่งเป็นความทุกข์ต่ำๆ พื้นฐานทั่วไป ความทุกข์ชั้นสูงสุด ปัญหาเกี่ยวกับเกิด แก่ เจ็บ ตาย จะออกมาเสียได้ ก็ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่ามรรคนั่นเอง นี่มันก็หลายแง่มุมเต็มทีแล้วนะ ที่เอามาพูดให้เห็นทิศทางที่จะมองให้รู้จักอริยสัจ ๔ ประการนั้นน่ะ มันก็มีวิธีมองหลายทิศทาง
ทบทวนอีกทีหนึ่งก็ได้ ว่าถ้าจะมองกันในแง่ของคำพูด ตัวหนังสือหรือพยัญชนะ คำว่าอริยสัจ ก็แปลว่าของจริงอันประเสริฐ ของจริงที่เป็นที่ชอบใจของพระอริยเจ้า ของจริงที่จะทำให้เป็นพระอริยเจ้า ของจริงที่เป็นธรรมเครื่องอยู่ของพระอริยเจ้า นี่โดยตัวหนังสือโดยพยัญชนะ โดยอรรถะ โดยความหมายก็คล้ายนั้นแหละ ของจริงที่ดับทุกข์สิ้นเชิง เป็นความประเสริฐ ของจริงที่ประเสริฐ ซึ่งเราจะต้องรู้จัก ถ้ามองดูโดยไวพจน์ คำแทนชื่อที่ใช้เรียกแทนกันชื่อกันได้ก็เรียกว่าเญยยธรรมก็ได้ เรียกอริยธรรมก็ได้ ถ้ามองดูโดยลักษณะ อริยสัจมีลักษณะทนต่อการพิสูจน์ ถ้ามองดูโดยอาการ มันมีอาการดำรงตัวอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง ไม่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยอะไร ถ้ามองโดยกิจ มันมีหน้าที่ที่มันจะครอบงำสังขารทั้งปวง ควบคุมสังขารทั้งปวง ถ้าเป็นทุกข์ต้องอย่างนี้ ถ้าไม่เป็นทุกข์ต้องอย่างนี้ ถ้ามองโดยรสที่จะได้รับเป็นของน่ายินดี ก็คือความหลุดพ้นชนิดที่เรียกมาดูได้ เรียกเพื่อนมาดูได้ เรียกเพื่อนด้วยกันมาดู มาดูได้ ถ้ามองในแง่ของวิทยาศาสตร์มันก็เป็นเรื่องของกฎแห่งเหตุผลของธรรมชาตินั่นเอง ถ้าจะมองดูโดยประเภท จะแยกเป็น ๔ ก็ได้ แยกเป็น ๒ ก็ได้ เป็นเพียง ๑ ก็ได้ ถ้าว่าจะพูดโดยอุปมา ก็อุปมาได้ด้วยความมีโรคภัยไข้เจ็บก็ได้ อุปมาด้วยทุกขภิกขภัย ความอดอยาก อาหารขาดแคลนตายกันมากอย่างนี้ก็ได้ ถ้ามองถึงหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องมี ก็ต้องรู้ ต้องปฏิบัติ ต้องได้รับผลของปฏิบัติ ต้องทำจนถึงแก่แน่ใจว่าได้รับผลแล้ว ถ้ามองโดยสิทธิของมนุษย์เกี่ยวกับอริยสัจ ก็ว่าเมื่อได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎของอริยสัจแล้ว ก็มีสิทธิที่จะพ้นทุกข์ จะออกมาเสียได้จากกองทุกข์ จะดับไม่เหลือแห่งทุกข์ หรือจะมาดูที่จุดตั้งต้นว่ามันมีเหตุตั้งต้นขึ้นมาเพราะว่ามนุษย์มีความทุกข์ เพราะว่าโลกมีความทุกข์ ท่านจึงคิดค้นพบเรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆเกี่ยวกับความทุกข์ และก็ดูจุดหมายปลายทางอันสุดท้ายก็มีพระนิพพานเป็นจุดหมายปลายทางเรื่องดับทุกข์สิ้นเชิง ถ้าจะมองดูโดยสมุทัย คล้ายๆ กับว่าเป็นเหตุโดยตรง มันก็มาจากการที่ว่าทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ มันต้องหาทางดับทุกข์ ความที่มนุษย์ทนอยู่ไม่ได้นี่ ต้องค้นหาความดับทุกข์ เมื่อคนอื่นค้นหาไม่พบ พระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้ค้นหาพบ ความดับทุกข์ ความต้องการจะดับทุกข์มันเป็นสมุทัยให้เกิดเรื่องนี้ขึ้นมา ถ้าจะมองดูในลักษณะที่เป็นสมุฏฐาน มันเป็นกฎของธรรมชาติ ตามธรรมชาติ เรื่องเหตุผลหรือกฎที่เป็นกระแสแห่งการมีเหตุมีผลแก่กันและกัน เป็นสมุฏฐานของสิ่งที่เรียกว่ากฎอริยสัจ ถ้าจะมองดูโดยการดับ การดับของสิ่งที่เป็นสัจจะนั้นมันไม่มี แต่ว่าสิ่งที่เนื่องกันกับสัจจะนั้น เพราะว่ามองดูในส่วนที่มันเป็นสังขาร มีการปรุงแต่ง มันมีสัจจะของการปรุงแต่งอย่างนี้ มันมีทางที่จะดับได้ คือตัวความทุกข์นั่นแหละมันดับได้เป็นขณะๆ จนกว่ามันจะดับสิ้นเชิง มองดูในทางอัสสาทะ น่ารัก น่าพอใจ ก็เป็นที่น่ารักน่าพอใจของพระอริยเจ้าผู้รู้เรื่องนี้ คนพาลไม่พอใจ ถ้าจะพูดถึงอาทีนวะโทษอันเลวร้าย มันไม่มีเลย มันมีแต่เรื่องเป็นประโยชน์ เป็นคุณเป็นประโยชน์ ถ้ากล่าวโดยภาษาธรรม คำว่าทุกข์ จะใช้คำอื่น เช่นคำว่าโลกเป็นต้นก็ได้ เป็นภาษาที่ลึกกว่าธรรมดาจนต้องเรียกว่าโลก เรามีหน้าที่ที่จะต้องทำความดับสนิทแห่งโลก ดับสนิทแห่งโลก นี่ก็ไม่เข้าใจ มันก็ไม่เข้าใจ เดี๋ยวก็ตายหมด ดับสนิทแห่งโลก ทำลายโลก แต่คำว่าโลกในที่นี้หมายถึงความทุกข์ เพราะว่ามันเป็นของที่หลอกลวง มายา มีความแตกอยู่เสมอ ทีนี้มองดูว่ามันมีอะไรที่หลอกให้เข้าไป มันก็เป็นเรื่องอวิชชา กิเลส ตัณหา นำเข้าไปสู่ความหมุนเวียนในวงกลมที่เรียกว่าวัฏฏสงสารนี่ พลัดเข้าไปแล้วมันก็ออกมายาก แต่ถึงกระนั้นมันก็มีทางออกมา คือความเจ็บปวดที่ความทุกข์มันสอนให้นี่ ความทุกข์น่ะมันสอนแต่ว่าคนมันไม่ยินดีรับคำสอน ก็นั่งร้องไห้เสียเปล่าๆ ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าความทุกข์มาถึงเข้าก็ศึกษาความทุกข์นั่นแหละ เรียกว่าอะไรดี เรียกว่าเอาเกลือจิ้มเกลือนั่นแหละ ถ้าความทุกข์มันเกิดขึ้นก็ศึกษาตัวความทุกข์นั่นแหละ เดี๋ยวก็จะพบเหตุให้เกิดทุกข์ เดี๋ยวก็จะพบวิธีที่จะดับทุกข์เสียได้ ก็ควรจะขอบใจความทุกข์ ความทุกข์นี้เป็นสิ่งที่น่าเกลียด แต่ในสิ่งที่น่าเกลียดนั่นแหละ มันมีสิ่งที่ต้องศึกษาให้รู้ รู้แล้วมันจะดับทุกข์ได้ คำนี้เรามีอุปมาเหมือนกับว่าเพชรในหัวคางคก มันเป็นคำพูดโบราณมาแต่ครั้งไหนก็ไม่รู้ แต่มันมีความหมายว่าในหัวคางคกอันแสนจะน่าเกลียดน่ะ หาให้ดีจะพบเพชร ก็หมายความว่าในความทุกข์อันแสนจะน่าเกลียดน่ะ หาให้ดีจะพบความดับทุกข์ นี่จะเป็นทางออกมาเสียได้จากความทุกข์
นี่เรื่องอริยสัจ มอง แสดงโดยวิธีมองในแง่มุมต่างๆ อย่างที่กล่าวมานี้ตั้ง ๒๐ อย่าง มันก็คงจะแปลก แปลกจากที่เคยแสดงมาในคราวก่อนๆ เราก็เคยพูดเรื่องอริยสัจกันมามากมายหลายครั้งหลายหน แต่คราวนี้มันก็แสดงแปลกออกไป คือไปพูดกันถึงแง่มุมที่จะดู ที่จะสังเกต ที่จะศึกษา ทุกแง่ ทุกมุมอันเกี่ยวกับอริยสัจ ถ้ารู้สึกว่าแปลก ก็อย่าให้มันแปลกเปล่า ก็แปลกให้มันได้ประโยชน์ รู้จักใช้มองในวิธีเหล่านี้ให้มันมีประโยชน์ ก็จะพบอริยสัจได้มากขึ้น ลึกซึ้งขึ้น ครบถ้วนถูกต้องยิ่งขึ้น มีประโยชน์แก่คนทุกคนเป็นแน่นอน
นี่เป็นธรรมเทศนาสืบต่อจากเรื่องมัชฌิมาปฏิปทา ที่พูดแล้วบนภูเขาในตอนเย็น วันนี้ก็มาพูดกันที่นี่ก็เรื่องอริยสัจ ก็พูดอย่างที่เรียกว่ามองอย่างกว้างๆ มองรอบๆ มองอย่างครบถ้วน เหมือนอย่างกับว่าลอยขึ้นไปบนฟ้าให้สูงสุดแล้วมองมาที่พื้นดินน่ะ มันจะเห็นอะไรทุกอย่างครบถ้วน ทุกแง่ ทุกมุม ไม่หลอก ไม่หลอนให้เข้าใจผิด ถ้าเราขึ้นไปสู่ที่ที่มันสูงกว่าแล้วมองลงมาดู ถ้าเราจะมอง เช่นว่าเราจะมองดูภูเขาสักลูกหนึ่ง ถ้าเราอยู่ใต้ภูเขาหรืออยู่ข้างๆ ภูเขา มันก็มองไม่เห็น มองไม่ถูกต้อง แต่ถ้าเราลอยขึ้นอยู่บนฟ้าทั้งหมดเห็นได้โดยรอบทิศ เห็นตัวภูเขาทีเดียวทั้งหมดทั้งสิ้นแล้ว เราก็รู้จักตัวภูเขานั้นได้อย่างถูกต้อง เดี๋ยวนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราจะมองสิ่งที่เป็นธรรมะสูงสุด ที่เรียกว่าอริยสัจ ก็ขอให้มองโดยทิศทางต่างๆ โดยวิธีต่างๆ โดยแง่มุมต่างๆ อย่างที่กล่าวมาแล้วนี้ แล้วท่านทั้งหลายก็จะรู้จักสิ่งที่เรียกว่าอริยสัจมากขึ้นไปๆ จะพอคุ้มกับเวลาที่เสียเวลามาฟังเทศน์ทำอาสาฬหบูชา เสียเวลามาสวนโมกข์ เสียสตางค์ เสียเรี่ยวแรง เสียอะไรมันจะได้ผลอะไรคุ้มกัน อาตมาก็อยากจะรับผิดชอบในเรื่องนี้แม้ไม่มีใครบังคับ รับผิดชอบในการที่จะให้ท่านทั้งหลายได้รับประโยชน์คุ้มค่ากันกับการมา แต่แล้วมันก็ต้องด้วยความร่วมมือของท่านทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายไม่สนใจ มันก็ไม่ได้อะไร แล้วจะมาโทษอาตมา มันก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรเหมือนกัน ความมุ่งหมายนี้จะสำเร็จประโยชน์ มันก็ต้องด้วยความร่วมมือของท่านทั้งหลาย พยายามสนใจถ้อยคำที่กล่าวที่อธิบายให้เข้าใจ แล้วมันก็ได้รับประโยชน์ ถ้าไม่สนใจไม่เข้าใจอะไรมันก็ไม่ได้รับประโยชน์ มันก็ไม่รู้จะโทษใคร ไม่มีใครช่วยได้ สำหรับผู้ที่ไม่ตั้งใจจะศึกษา แล้วมันก็ไม่รู้อะไรจริงด้วยเหมือนกัน
เอาล่ะ,เป็นอันว่าการแสดงธรรมเทศนาเกี่ยวกับเรื่องจตุราริยสัจ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และก็แสดงในวันเพ็ญอาสาฬหปุณณมี คือวันเช่นวันนี้ วันที่เหมือนกับวันนี้ วันเพ็ญอาสาฬหปุณณมี เราก็ได้เอามาพูดจากันอย่างยิ่ง อย่างที่เรียกว่าไม่ขบถ ไม่ทรยศต่อพระพุทธเจ้า ตั้งใจจะศึกษา จะทำความความเข้าใจอย่างยิ่ง ให้สมกับที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า และก็จะพยายามทุกอย่างไม่ให้พระพุทธเจ้าผิด ผิดหวังน่ะ ไม่รู้จะใช้ราชาศัพท์ว่าอะไร คือไม่ให้พระพุทธเจ้าผิดหวังในสาวกของพระองค์ว่าสาวกของพระองค์ได้กระทำครบถ้วนถูกต้องตามพระพุทธประสงค์ที่จะช่วยกันสืบอายุพระศาสนาหรือธรรมวินัยนี้ไว้ เพื่อเป็นประโยชน์สุขแก่มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์ ทั้งพวกที่รู้จักเหงื่อและพวกที่ไม่รู้จักเหงื่อ ทั้ง ๒ พวกนี้ยังจำเป็นที่สุดที่จะต้องรู้เรื่องนี้ คือรู้เรื่องดับทุกข์ได้ การไม่รู้จักเหงื่อ มีเงินมีทอง เพลิดเพลินสนุกสนาน ก็ดับทุกข์ไม่ได้ ยังมีความทุกข์เหลืออยู่ เช่นเดียวกับคนที่รู้จักเหงื่อที่มารู้เรื่องสูงสุดเรื่องรวมกันนี่ ถ้ารู้แล้วก็ดับทุกข์ได้ทั้งคนที่รู้จักเหงื่อและคนที่ไม่รู้จักเหงื่อนั่นแหละคือทั้งเทวดาและมนุษย์ เทวดาก็พากันดีใจ ได้ยินได้ฟังเรื่องอริยสัจที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ก็บอกกล่าวต่อๆ กันไปทั่วทุกเทวโลก ทุกชั้น ชั้นเทวโลก ชั้นพรหมโลก ทุกชั้นเลย ฉะนั้นก็แปลว่าไม่มีสัตว์ใดเหลืออยู่ จะเป็นผู้ที่ไม่จำเป็นจะต้องรู้เรื่องนี้ ทุกชนิด ทุกประเภท ทุกชั้น ทุกภูมิ มีจำเป็นที่จะต้องรู้เรื่องนี้ เราก็รวมอยู่ในพวกนี้ และเราก็จะต้องสนใจศึกษาให้เข้าใจยิ่งๆ ขึ้นไป และใช้ให้สำเร็จประโยชน์ ธรรมเทศนาในตอนนี้ก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้