แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้อาตมาภาพจะได้วิสัชนา พระธรรมเทศนา เป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธา ความเชื่อ และวิริยะความพากเพียร ของท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป ในพระพุทธศาสนา ของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่ง ของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้ ก็เป็นที่ทราบกันได้ดีอยู่แล้วว่าปรารภมาฆบูชา เป็นธรรมเทศนาเนื่องในวัน ที่ระลึก แก่วันเพ็ญมาฆบูชา ซึ่งมีความสำคัญว่า เป็นวันที่ทรงแสดงหลักธรรมะ สรุปใจความทั้งหมด ของพระพุทธศาสนาลงให้สั้น ให้เป็นหลักสำหรับยึดถือปฏิบัติ กันในหมู่พุทธบริษัทของเรา แสดงในวัน นี้ก็เป็นเหตุการณ์พิเศษ คือ วันที่พระอรหันต์ทั้งหลายประชุมกัน ในจำนวนที่มากเป็นพิเศษ ในลักษณะที่ มิได้มีการนัดหมายกัน ในลักษณะที่ว่าล้วนแต่เป็นพระอรหันต์เอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญ หลายอย่างหลายประการ เรียกว่า มีเพียงครั้งเดียว ในพระพุทธศาสนา
เป็นอันว่า วันพระสงฆ์องค์อรหันต์ ได้ถูกสถาปนาขึ้นมาแล้วในโลก เรียกได้ว่า เป็นวันที่ระลึก แก่พระสงฆ์ วันวิสาขบูชาเป็นวันที่ระลึก แก่พระพุทธองค์โดยตรง คือ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน เป็นเหตุการณ์เกี่ยวกับพระองค์โดยตรง วันอาสาฬหบูชา เป็นวันเกี่ยวกับเหตุการณ์ ของการแสดงธรรม ที่เป็นหลัก เรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร เป็นธรรมสำคัญ เป็นหลักเรื่องการดับทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จึงถือว่าเป็นวันพระธรรม คือ เป็นวันที่พระธรรม ได้ถูกเปิดเผยขึ้นมาแล้วเป็นครั้งแรกในโลก ในโลกแห่ง ความมืดมน มืดมิด ไม่รู้ว่าจะไปในทิศทางไหนกัน พระองค์ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร แสดงหนทาง แห่งความดับทุกข์โดยตรง จะเป็นพิเศษ เฉพาะอย่างยิ่ง ของพุทธศาสนา
ครั้นพระสงฆ์มีมากขึ้นถึงเวลาสำคัญโอกาสหนึ่ง เกิดการประชุมสงฆ์ทรงแสดงหลักปฏิบัติทั่วไป เรียกว่า หลักปฏิบัติทั่วไป แก่ที่ประชุมนั้น เป็นการประดิษฐานคณะสงฆ์ อย่างมั่นคงลงไปในโลก นี่เรียกว่า สถาปนา สมาคมสงฆ์ จึงจัดว่าเป็นวันพระสงฆ์ เราจึงมีวันครบทั้ง ๓ รัตนะ วันพระพุทธ คือ วันวิสาขบูชา วันพระธรรม คือ วันอาสฬหบูชา วันพระสงฆ์ คือ วันมาฆบูชา เช่นวันนี้ ทำในใจให้สำเร็จ ประโยชน์ ถึงเหตุการณ์อันนี้ เพื่อเป็นการบูชา เหตุจากเหตุการณ์อันมีในโอกาสนั้น ๆ
วันนี้เป็นวันมาฆบูชา เป็นวันของพระสงฆ์ ได้ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นหลักธรรมะ สำหรับจะใช้ได้ทุกคน และมีความหมายอย่างยิ่ง ซึ่งจะต้องทราบกันไว้ ให้แน่นอน ให้ชัดเจน ไม่ปนเป กับลัทธิอื่น คอยฟังให้ดีตรงที่ว่า ไม่ปนเปกับลัทธิอื่น ถ้าเข้าใจไม่ได้ หรือเข้าใจไม่ดี ก็จะเข้าใจผิด ทำให้หลักการปฏิบัติปนเป กันกับลัทธิอื่น ที่พูดอย่างนี้ หมายความถึงอะไร หมายความถึงข้อที่ว่าในหลัก โอวาทปาฏิโมกข์นั้น ไม่สอน หรือไม่ยอมให้การประพฤติ การกระทำของเราไปสิ้นสุดลงเพียงแค่ทำความดี ศาสนาอื่น ลัทธิอื่นก็สอน ส่วนมากก็ยุติลงแค่ทำความดี ทำความดีสูงสุด แล้วก็ยุติก็จบเรื่องกัน แต่พุทธศาสนาสอนมากกว่านั้น คือ สอนให้มีจิตใจ ไม่ยึดติดอยู่ในความดี เรียกว่า เหนือชั่ว เหนือดี
นี่ฟังให้ดี ๆ กลัวว่าท่านทั้งหลาย จะกำลังประพฤติปฏิบัติผิดอยู่ ผิดกันอยู่ต่อหลักการอันนี้ ข้อที่ ๑ ว่า ไม่ทำชั่วทั้งปวง สพฺพปาปสฺส อกรณํ (นาทีที่07:29) ไม่ทำชั่วทุกอย่าง ข้อที่ ๒ ว่า กุสลสฺสูปสมฺปทา (นาทีที่ 07:35) ทำความดีถึงพร้อม ข้อที่ ๓ ว่า สจิตฺตปริโยทปนํ (นาทีที่ 07:40) ทำจิตให้ขาวรอบ ทำไมเล่าว่าเมื่อทำดีถึงพร้อมครบถ้วนแล้ว ทำไมยังจะต้องทำจิตให้ขาวรอบเล่า นั่นแหละเป็นเป็นใจความสำคัญ กลัวว่าจะติดตันกันอยู่เพียง เพียงแค่ว่า ทำความดี แล้วก็จิตใจมันไม่ขาว รอบ ไม่ขาวรอบเพราะเหตุอะไร ไม่ขาวรอบก็เพราะเหตุว่า มันบ้าดี มันหลงดี มันเมาดี แล้วมันก็อวดดี เรื่องก็จบกัน
ถ้ามันถึงขนาดหลงดี บ้าดี เมาเมาดี อวดดี อย่างนี้เรียกว่า จิตไม่ขาวรอบ ทำดีถึงที่สุดแล้ว จิตไม่ต้องบ้าดี เมาดี หลงดี หรืออวดดี มีจิตอยู่เหนืออัต เหนืออิทธิพลของความดี เหนือความหมายของ ความดี เหนือคุณค่า ของความดี ก็คือ ไม่ยึดมั่นในความดี ให้หนักอยู่ในจิต ในวิญญาณ เหมือนอย่างคนที่ บ้าดี เมาดี หรืออวดดี นี่คือ ใจความสำคัญที่ต้องการจะเตือน กันไว้ให้เป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้ง ทุกศาสนาสอน ให้ทำดี นั่นถูกแล้ว ๆ แต่พระพุทธศาสนาสอนเลยไปกว่านั้น คือ ให้มีจิตใจบริสุทธิ์เหนือ ความหมาย หรืออิทธิพลของความดี ข้อนี้จะรู้ได้ต่อเมื่อได้สังเกตดูว่า ไอ้คนบ้าดี เมาดี หลงดีนั้นมันเป็นอย่างไร มันเป็นบ้าชนิดหนึ่งใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำดีชนิดที่ว่า ไม่บ้าดี ไม่หลงดี ไม่เมาดี แล้วไม่อวดดี ความรู้สึกบ้าดี เมาดี หลงดี อวดดีนี้ เป็นสัญชาตญาณอันหนึ่งด้วย ในบรรดาสัญชาตญาณทั้งหลาย
สัญชาตญาณของสิ่งที่มีชีวิต คือ สัญชาตญาณแห่งความมีตัวตน คือ มีความรู้สึกว่า มีตัวกู หรือมี ของกู นี่พูดกันโดยตรง ๆ ตามความรู้สึกที่แท้จริง เมื่อมีตัวกู มีของกู มันก็มีสัญชาตญาณที่จะยกตัวกู จะอวดตัวกู แล้วมันก็เลยชอบ การยกตัวเอง ให้มันดีกว่าคนอื่น แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน ก็ยังทำเป็น มันมีสัญชาตญาณ อันนี้ด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไก่เห็นได้ง่ายที่สุด พวกไก่นี่ มันจะยกตัวเอง มันจะบินขึ้นไปบนตอไม้ที่สูง ๆ แล้วมันก็ขัน แสดงความดี ความเด่น ความกล้าอะไรของมัน ต้องการจะ อวดดี ถึงแม้สัตว์ทั้งหลายอื่น ๆ ก็เหมือนกัน มันมีเวลาที่จะแสดง ไอ้ความรู้สึกเก่ง กล้า สามารถ จะอวด คนอื่น มีเวลาคึกคะนอง แสดงบทบาทของความคึกคะนอง มันก็เรียกว่า มีตัวตนของตน ที่ต้องการจะอวด
ทีนี้มันอวดว่ามันมีดี ถูกแล้วมันมีสิ่งที่สมมุติเรียกกันว่า ดี มันก็เลยตั้งใจจะอวดดี ใครเคยอวดดี ก็ลองสังเกตดูเอาเองว่า มันเหนื่อยเท่าไหร่ เมื่อต้องการจะอวดดี มันเหน็ดเหนื่อยสักเท่าไหร่ มันก็ต้อง เสกสรรหาเรื่องสำหรับอวด แล้วมันก็ไม่ค่อยจะมี แล้วมันก็ต้องอวดอย่างหลอกลวง นี่ยิ่งใช้ไม่ได้ ถึงแม้ว่า มีดีที่จริง ๆ มันก็ยังเหน็ดเหนื่อย ยังรู้สึกหนักใจในการที่จะต้องพูดอวด ไม่อวดนั่นแหละสบายกว่า แต่เดี๋ยวนี้ สัญชาตญาณของการอวดดีมันมีอยู่มาก มันยังบังคับให้คน ต้องอวดดี ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครชอบ มันก็เป็น ผลร้ายแก่ตัวเอง
นี่เป็นใจความสำคัญที่สุด ที่ว่าหลักพระพุทธศาสนา ไม่ต้องการให้ใครหลงในความดี บ้าในความดี มัวเมาในความดี ให้ทำจิตให้ขึ้นไปเหนือจากนั้น คือ บริสุทธิ์ผุดผ่อง จากความยึดมั่นถือมั่น ในความดี ละชั่วมาได้แล้ว ก็มาทำดี มาทำดีแล้วก็มา กักขังตัวเองอยู่ในความดี เหมือนกับชักใยพันตัวเอง ให้ถูกหุ้มห่อ อยู่ด้วยใยเหนียวแห่งความดี แล้วมันจะดับทุกข์ได้อย่างไร ความอวดดี นี้เป็นโมหะอย่างยิ่ง ความบ้าดี หลงดี เมาดี นี้เป็นโมหะอย่างยิ่ง คิดดูให้ดี มันยึดมั่นถือมั่นว่า ตัวกู แล้วก็ยึดมั่นว่า ความดีของกู มันมีตัวผู้ดี มีตัวที่เป็นผู้ เรียกว่า ผู้ดี แล้วก็มีการยึดถือว่า ความดีเป็นของกู ตอนนี้มันจะหนักยิ่งไปเสียกว่า ความชั่วกระมัง ไอ้ความชั่วไม่ค่อยจะมีใครเมา ไม่ค่อยจะมีใครบ้า อย่างลึกซึ้งเหมือนกับความดีนะ
ข้อนี้ขอให้ดูให้ดี ๆ ว่าความชั่วนั้นมัน กัดเอา กัดเอา ไม่ค่อยจะมีใครบ้าชั่ว หรือหลงชั่ว หรืออวด ชั่ว มันไม่เคยมี แต่พอมาถึงความดี มันกลายเป็นตรงกันข้าม เพราะฉะนั้นการเมา สูงสุดของความเมานี้ อาตมาคิดว่า คือ เมาดีนั่นเอง เมาเหล้า เมายา เมาเพศกามารมณ์ เมาอะไร เมาเมากี่เมากี่เมา ไม่ลึกซึ้งเท่ากับ การเมาดี ซึ่งเป็นของละได้ยากกว่า การเมาทุกชนิดนะ พระพุทธเจ้าท่านทรงเห็นความจริงข้อนี้ เห็นโอกาส ที่คนจะ เมาดี จึงตรัสไว้เป็นหลัก ข้อที่ ๓ ว่า จงทำจิตให้ขาวรอบ ไม่เมาทั้งชั่ว ไม่เมาทั้งดี สรุปให้มันสั้น ที่สุด ฟังง่าย ๆ เข้าใจง่าย ๆ ก็คือว่า ละชั่ว แล้วก็ทำดี แล้วก็ไม่ติดชั่วติดดี ไม่ยึดติดในความชั่วความดี ไม่ยึดมั่นในความชั่ว ความดี ถ้าทำดี ถ้าละชั่วแล้วมาทำดี แล้วยึดติดในความดี มันก็ปักหลักอยู่ตรงนั้นเอง มันก้าวหน้าไปไม่ได้ มันจมอยู่ในบ้าดี เมาดี หลงดี แล้วก็จะทำผิดต่อไปในข้อที่ว่า เที่ยวอวดดี ก็เลยหมด หมดดี เอาดีไปอวดเสียจนหมดดี ก็ดับทุกข์ไม่ได้
ทีนี้ก็มาดูความยากลำบากในเรื่องนี้ ว่าความหลงดี บ้าดี อวดดีนี้ มันเป็นเรื่องของสัญชาตญาณ ความรู้สึกคิดนึกที่เกิดได้เอง โดยไม่ต้อง มีใครสั่งสอนก็เกิดได้ เด็กทารก เด็กเล็ก ๆ ก็รู้จักบ้าดี อวดดี ไม่ต้องมีใครสอน พอรู้ว่าอย่างไรเขาเรียกว่าชั่ว อย่างไรเขาเรียกว่าดี แล้วมันก็อวดดี มักจะแสดงอาการ อวดดี แล้วก็ทำดีให้ปรากฏ เพราะอยากจะอวดดี เด็กเล็ก ๆ นั่นแหละเขายังจะต้องการแสดงความดีให้เด่น แล้วยังต้องการจะอวดความดี แล้วยังจะคุยว่า หนูหนูเก่ง หนูทำดี หนูทำเอง อย่างนี้หนูทำได้ มันก็เป็น เรื่องของสัญชาตญาณนะ ความรู้สึกที่เกิดได้เองตามธรรมชาติ
เพราะฉะนั้นเรื่องสัญชาตญาณนี้ไม่ใช่เล่น ขอปรารภกันสักหน่อยว่าเรื่องสัญชาตญาณนี้ไม่ใช่เล่น มีสำหรับให้สัตว์ ทนทุกข์ มีสำหรับให้สัตว์ทนทุกข์ คือ ความรู้สึกที่เกิดเองทั้งหลาย เกิดได้เองทั้งหลาย บางคนอาจจะยังไม่เคยฟัง ขอให้ได้ฟังสั้น ๆ ว่าสัญชาตญาณ คือ ความรู้สึกที่มันเกิดได้เอง โดยไม่ต้องเรียน โดยไม่ต้องมีใครสอน มันติดมาในชีวิต มันติดมาในเดิมพันของสิ่งที่เรียกว่า มีชีวิต เช่นว่า เกิดมาแล้วมันก็ รู้จัก พอใจ ไม่พอใจได้เอง เด็กทารกมันรู้จักพอใจ ในสิ่งที่ชวนให้พอใจ ไม่พอใจในสิ่งที่ชวนให้ไม่พอใจ ได้ด้วยตนเองไม่ต้องสอน นี่ความรู้สึกอันนี้เกิดขึ้นได้เอง หรือมันจะรักไอ้สิ่งที่น่ารัก มันก็ไม่ต้องมีใคร สอน มันก็รักได้เอง หรือมันจะเกลียด มันจะกลัว ไอ้สิ่งที่น่าเกลียด น่ากลัว มันก็รู้สึกได้เองไม่มีใครสอน
นี่ศึกษาจากเด็ก ๆ เล็ก ๆ ดูบ้าง มันจะเป็นครูได้ดีที่สุดในการศึกษาขั้นนี้ พอโตขึ้นมาร่างกายถึงขีด ไอ้ความรู้สึกทางเพศตรงกันข้าม มันก็เกิดได้เอง สัญชาตญาณแห่งการสืบพันธุ์ มันก็ทำหน้าที่ได้เอง ไม่มีใครต้องสอน ก็ทำการสืบพันธุ์ได้เอง แม้จะเอาเด็กเล็ก ๆ สัตว์เล็ก ๆ ไปเลี้ยงเสียในที่อื่น ไม่เคยเห็นการ สืบพันธุ์มาแต่ก่อน มันก็รู้จักสืบพันธุ์ได้เอง เพราะอำนาจของสัญชาตญาณ มันเกิดได้เองอย่างนี้ บังคับไม่ได้อย่างนี้ มันลำบากสักเท่าไหร่
นี่ย้อนมาดูถึงข้อที่ว่าทำไมเราจึงบังคับความรักไม่ได้ บังคับความโกรธไม่ได้ บังคับความเกลียด ไม่ได้ บังคับความกลัวไม่ได้ บังคับความวิตกกังวลอาลัยอาวรณ์ไม่ได้ บังคับความอิจฉาริษยาไม่ได้ บังคับความหวงความหึงไม่ได้ ก็เพราะว่ามันเป็นสัญชาตญาณ มันลำบากกี่มากน้อย ในไอ้ตัวอย่างเหล่านี้ ขอให้เอาไปพิจารณาดูให้ดี ว่าเราต้องต่อสู้กันอยู่กับ สัญชาตญาณฝ่ายต่ำ คือ สัญชาตญาณที่เป็นไปตาม ธรรมชาติไม่ได้รับการอบรม เป็นมาตามธรรมชาติ จนเกิดความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว เป็นต้น ขึ้นมา อยากจะสลัดก็สลัดไม่ได้ แม้เห็นโทษของมันชัด ๆ อยู่ชัด ๆ ก็ยังสละไม่ได้
มีคนมาถามมากเหลือเกินว่า ทำไมจะบังคับความโกรธได้ นั่นไม่ใช่เรื่องที่จะบังคับได้ง่าย ๆ อย่างนั้น มันเป็นเรื่องของสัญชาตญาณอยู่ในสันดาน อยู่ในชีวิต จะต้องศึกษากันจน เพียงพอจึงจะเป็น การขัดเกลาสัญชาตญาณ สัญชาตญาณเดิม ๆ มันมาเป็นกลาง ๆ มีตัวตนเป็นกลาง ๆ รักตนเป็นกลาง ๆ สืบพันธุ์เป็นกลาง ๆ อะไรเป็นกลาง ๆ มาหมด แต่พอเติบโตขึ้นมา ทารกเติบโตขึ้นมา แล้วมันก็เปลี่ยน จากความเป็นกลาง ไปเป็นฝ่ายกิเลส คือ มีความรัก ด้วยความยึดมั่นถือมั่น มีความรู้สึก ตัวกูของกูยิ่งไปกว่า ธรรมดา รุนแรงยิ่งกว่าธรรมดา มันก็เลยบังคับยากขึ้นทุกที
แล้วก็ทำซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนเป็นนิสัย ฝังอยู่ในสันดาน คือ ความเคยชิน เรียกว่า อนุสัย นอนเนื่อง เป็นความเคยชินอยู่ในสันดานมันก็ยิ่งละยาก เคยรักทีหนึ่ง มันก็สร้างอนุสัยแห่งความรักไว้หน่วยหนึ่ง คือ เคยชินที่จะเป็นอย่างนั้น รักครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ครั้งที่ ๔ มันก็เป็นอนุสัย ความเคยชินที่เป็นอย่างนั้น แก่กล้าอย่างแก่กล้า ในเรื่องที่จะโกรธก็เหมือนกัน มันขัดใจมันโกรธได้ เด็กเล็ก ๆ ไม่ต้องมีใครสอน มันก็โกรธเป็น เพราะมันเป็นเรื่องของสัญชาตญาณ แล้วมันก็ฝังนิสัย ความเคยชินที่จะโกรธนั้นนะ มากเข้า มากเข้า มากเข้า มันจึงโกรธเก่งมากขึ้นทุกที จนบังคับไม่ไหว จนแม้ว่าจะอยากเลิกก็เลิกกันไม่ได้ ความเกลียดก็เหมือนกัน ความกลัวก็เหมือนกัน มันก็เป็นอนุสัย เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น
เลยไปถึงไอ้ความรู้สึกอันละเอียดอย่างอื่น เช่น ความวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ ทำอย่างไรก็ละไม่ได้ อิจฉาริษยาหึงหวง นี้มันก็เกิดได้เอง และก็มันละยาก ทุกคนคงจะ ผ่านสิ่งเหล่านี้มาแล้วทั้งนั้นแหละ ถ้าเป็นคนนะ ต้องผ่านความรัก ความเกลียด ความโกรธ ความกลัว ความวิตกกังวล ความอาลัยอาวรณ์ ความอิจฉาริษยา ความหึง ความหวง แต่ไม่สนใจ ไม่สังเกตว่ามันคืออะไร บางทีมันก็สนุกดีเหมือนกัน ถ้าได้ทำอย่างนั้น แต่แล้วมันก็ ให้ผลเป็นความทนทรมาน ทนทรมานชนิดที่ไม่แสดงอาการให้ เห็นชัด ว่าตรงไหนอย่างไร เลยแก้ไม่ถูก ขจัดออกไปไม่ได้ นี่เราจึงขจัดสิ่งเหล่านี้ออกไปไม่ได้ แล้วมันก็เกิดง่าย สมกับที่มันเป็นสัญชาตญาณ มันเกิดได้เอง เป็นสัตว์ อ่า, เป็นสัญชาตญาณฝ่ายกิเลส
ขอให้สังเกตให้ดูให้ดี ๆ ว่าสัญชาตญาณตามธรรมดากลาง ๆ เกิดอยู่ในชีวิต มามีมาในชีวิต รู้สึกได้เองไม่ต้องเล่าเรียน สัตว์เดรัจฉานก็มี อะไร ๆ ก็มี ดูสัตว์เดรัจฉานสิบางชนิดทำอะไรได้ดี โดยไม่ต้องมีใครสอนนะ แมลงผึ้งนะ ทำรังได้ประเสริฐ วิเศษอย่างยิ่ง คนก็ทำไม่ได้ แล้วใครสอนมันเล่า นกกระจาบ ทำรังเป็นห้องเป็นหับ อย่างคนก็ทำไม่ได้ แล้วใครสอนมันเล่า มันทำได้เอง อย่างนี้เขาเรียกว่า เป็นสัญชาตญาณ มันเป็นกลาง ๆ อย่างนั้นแหละ
ทีนี้พอคนเรา ได้เจริญวัย เป็นเด็กนี่ ได้ผ่านไอ้สิ่งที่พอใจ ไม่พอใจ พอใจ ไม่พอใจ พอใจ ไม่พอใจ ทุกทีอนุสัย มันก็เกิดไอ้ความรู้สึกรัก ความเกลียด ความโกรธ ความกลัว แบ่งได้เป็น ๒ ฝ่ายเท่านั้นแหละ ที่จริง ฝ่ายชอบกับฝ่ายไม่ชอบ ในทางพุทธศาสนาแบ่งออกเป็นเพียง ๒ คำเท่านั้นแหละ คือ อภิชฌา และโทมนัส ความรู้สึกที่เป็นไปให้ทางหลงรัก หลงพอใจ เรียกว่า อภิชฌา ความรู้สึกที่ทำให้ขัดเคือง ขัดแค้น เรียกว่า โทมนัส เป็นสิ่งที่จะต้องละ เป็นความมุ่งหมายของพระธรรม ในพระพุทธศาสนา ที่จะต้องละ
อย่างพระบาลี สติปัฏฐานสูตร ที่ว่า นำอภิชฌาและโทมนัสในโลก ในโลก ในสัตว์โลก ในโลก ออกเสียได้ วินัยโลเก อภิชฌา โทมนัสสัง (นาทีที่ 26:43) เรื่องมันมีเพียง อภิชฌา กับโทมนัส ละเรื่องที่ ทำให้พอใจเสียได้ ละเรื่องที่ทำให้ไม่พอใจเสียได้ ๒ เรื่องมันหมด เพราะมันมี ๒ เรื่องเท่านั้นที่มันเป็น ปัญหา เมื่อพอใจ มันก็เกิดโลภะเกิดราคะ เมื่อไม่พอใจมันก็เกิดโทสะ เกิดโกรธะ แล้วไม่รู้ว่าจะพอใจ หรือจะไม่พอใจดี นั่นละมันจึงเกิดโมหะ มันไม่เข้าใจได้ มันก็คงคงอยู่แค่เรื่องความพอใจ และความไม่ พอใจเท่านั้น ถ้าละอภิชฌา และโทมนัส เสียได้ มันก็ไม่เกิดโลภะ โทสะ โมหะ
ดังนั้นการปฏิบัติ จึงมุ่งไปกำจัดอภิชฌา และโทมนัส อย่างคำกล่าวในสติปัฏฐานสูตร ทรงยกเอา เรื่องนี้ เป็นเรื่องใหญ่ รู้ได้จากโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ๗ หมวด หมวดแรก สติปัฏฐาน มาก่อนหมวดแรก นั่นแหละหมวดที่จะต้องทำ หมวดที่จะต้องทำเป็นหลัก คือว่า ละความยึดถือในตัวตน ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรมเสียได้ นำอภิชฌา และโทมนัสในโลกออกเสียได้ นี่คือ ตัวหลักที่ต้องทำ นี่หมวดถัดไป เป็นอุปกรณ์ ของหมวดนี้ เช่น สัมมัปปธาน เป็นวิธีเครื่องกระทำ ให้กระทำ แล้วก็อิทธิบาทก็เป็นอุปกรณ์ เครื่องให้กระทำอินทรีย์ ๕ พละ ๕ ก็เป็นอุปกรณ์ เครื่องช่วยในการกระทำ พอมาถึง โพชฌงค์ ๗ ก็เป็น อุปกรณ์ด้วย เป็นอาการที่กระทำไปตามลำดับ พอมาถึงหมวดมรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นการสรุปให้ว่าต้อง กระทำอยู่อย่างนี้ มีหลักสำหรับเดิน หรือดำเนินอยู่อย่างนี้ หมวดที่เป็นเนื้อ เป็นตัวแท้สำหรับปฏิบัติ เป็นหัวใจนั้น ก็คือหมวดแรก คือ หมวดสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง
ฉะนั้นจึงขอให้ทุกคนเข้าใจไว้ด้วยว่า การปฏิบัติทั้งหมดนะ มันมีใจความสำคัญรวมอยู่ที่ปฏิบัติ ตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ถอนตัวตน ออกเสียได้จากกาย จากเวทนา จากจิต จากธรรม มันก็ไม่อาจจะเกิด อภิชฌา และโทมนัส มันก็ไม่อาจจะเกิดโลภะ โทสะ โมหะ มันไม่อาจจะเกิดความทุกข์ใด ๆ นี่ ฉะนั้นเรา รู้ว่านี่มันเป็นตัวการ ถอนตัวตนออกเสียได้จากไอ้สิ่งทั้ง ๔ นี้ ไม่มีอภิชฌา โทมนัส ในสิ่งใด ๆ ได้ อีกต่อไป การที่ไม่มี อภิชฌา และโทมนัส นั้น มันเป็นไอ้การ ตรงกันข้ามกับสัญชาตญาณ สัญชาตญาณโดยพื้นฐาน มันจะมีอภิชฌา และโทมนัส เสียเรื่อยไป ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่ามันจะยังไม่ชัดลงไปว่าอภิชฌา หรือโทมนัส มันก็ยังเตรียมพร้อมที่จะเอาอภิชฌา หรือโทมนัส มันจึงไม่แปลกไป จากอภิชฌา และโทมนัส
นี่เราก็มาพัฒนา สัญชาตญาณเสียใหม่ ให้เป็นสัญชาตญาณฝ่ายโพธิ เข้าใจไว้เป็นหลักอย่างนี้ สัญชาตญาณกลาง ๆ ติดมากับชีวิต แต่พอเกิดมาแล้ว มันได้รับการแวดล้อมชนิดที่ให้เกิด ไอ้ความยึดมั่น ถือมั่น พอใจ ไม่พอใจ อภิชฌา และโทมนัส มันจึงเปลี่ยนจากสัญชาตญาณกลาง ๆ เป็นสัญชาตญาณอย่าง กิเลส คือ โลภ โกรธ หลงไปตะพึด ครั้นได้ทนทุกข์ทรมานมากเข้า เพราะความโลภ ความโกรธ ความหลง มันรู้สึกตัวเข้า มันจึงจัดการเสียใหม่ ระงับสัญชาตญาณอย่างกิเลสนั้น เสียให้เกิดสัญชาตญาณอย่างโพธิ มันตรงกันข้าม สัญชาตญาณอย่างกิเลสนะมันร้ายกาจเท่าไหร่ มันมีกิเลสเต็ม ตามความหมาย เต็มที่ตาม ไอ้ธรรมชาติของมัน นี่สัญชาตญาณนี้ เป็นเรียก เรียกว่า สัญชาตญาณฝ่ายต่ำ ฝ่ายต่ำ ฝ่ายผิด
ทีนี้ก็เปลี่ยนเสีย ให้มันเป็นสัญชาตญาณฝ่ายฉลาด ฝ่ายรู้ เพราะว่าเข็ดหลาบ เข็ดหลาบ จากการที่ ได้รับความทุกข์อยู่เรื่อย ๆ ได้ชิมรสของสัญชาตญาณกิเลสมากพอ มันจึงขอเปลี่ยน หรือนึกเปลี่ยนเอง เพราะมันเข็ด จึงจะคิดไปในทางที่ตรงกันข้าม คือ จะกำจัดกิเลสนั่นแหละ จะกำจัดไอ้ ไอ้ความโน้มเอียง ที่มันจะโน้มไปทางเกิดกิเลศ เป็นโลภะ โทสะ โมหะ นี่เราจึงมีธรรมะ มีธรรมะขึ้นมา ธรรมะทั้งหลาย ก็คือ เครื่องพัฒนาสัญชาตญาณ ให้ละจากสัญชาตญาณที่ประกอบอยู่ด้วยกิเลส มาเป็นสัญชาตญาณ ที่ประกอบ อยู่ด้วยโพธิ นี่โพธิ พุทธะ พุทธะ พุทธชะ พุทธชะ คือ ตื่นนอน ตื่นจากหลับ มันหลับ มันโง่ไป เป็นพวกกิเลส เป็นสัญชาตญาณฝ่ายกิเลส ครั้นมีความทุกข์มากเข้าพอสมควร วันดีคืนดีมันฉุกคิดได้ ต้องการจะกลับตรงกันข้าม มันก็เหมือนกับตื่นนอน มันก็มาทำทุกอย่าง เพื่อให้เกิดความรู้ที่ถูกต้องขึ้นมา
ที่เคยรับอารมณ์แล้วโกรธ ได้รับหรือโกรธ เกลียด กลัวอะไรก็ตาม ไม่เอา ไม่เอา ทีนี้จะไม่เอา จะได้รับอารมณ์อะไรขึ้นมา จะไม่รัก ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่กลัว ไม่วิตกกังวล ไม่อาลัยอาวรณ์ ไม่อิจฉาริษยา ไม่หึงไม่หวง นี่เรียกว่า ต่อสู้กับสัญชาตญาณอันแสนจะลำบาก ก็คำนวณดูเองก็แล้วกันนะ ทำไมจึงบังคับความรักไม่ได้ บังคับความโกรธไม่ได้ บังคับความเกลียดไม่ได้ บังคับความกลัวไม่ได้ นั้นมันยากสักเท่าไหร่ล่ะ เมื่อเห็นความยากอย่างนั้นแล้วก็รู้ว่า โอ,้ พระอรหันต์นี่ ประเสริฐจริงโว้ย, พระอรหันต์นี่ ควบคุมสัญชาตญาณได้ เปลี่ยนกระแสแห่งสัญชาตญาณได้ แล้วเพิกถอน อิทธิพลของ สัญชาตญาณได้โดยสิ้นเชิง
ปุถุชนคนธรรมดาเป็นไปตามสัญชาตญาณ ความรู้สึกที่เกิดตามสัญชาตญาณ หนาแน่นเป็นกิเลส ขึ้นมา เป็นกิเลสขึ้นมา ทีนี้พอเข็ดฟัน ก็เริ่มเปลี่ยนแปลง ปฏิบัติต่อสู้กับกระแส ก็มาเป็นพระอริยเจ้า หรือเป็นปุถุชนชั้นดี เป็นพระอริยเจ้าชั้นต้น ๆ จนถึงขนาดที่ว่า ตัดอำนาจของสัญชาตญาณได้หมดสิ้น ก็เลยเป็นพระอรหันต์ ถ้ารู้เรื่องนี้ ก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า วันนี้เป็นวันพระอรหันต์ วันมาฆบูชาเป็นวัน พระอรหันต์ เราจงมารู้ว่าเป็นวันที่มนุษย์เริ่มชนะสัญชาตญาณ เป็นจำนวนมากพอนี่ เป็นพระอรหันต์ จำนวนมากพอ พระพุทธเจ้าก็เป็นองค์แรกที่ชนะสัญชาตญาณ กำจัดเสียได้ กำจัดรากฐานแห่งกิเลส เชื้อแห่งกิเลส อะไรแห่งกิเลสเสียได้ แล้วก็ทรงสอนให้ผู้อื่นทำได้จนมากพอ เป็นสังคมแห่งพระอรหันต์ ผู้มีจิตใจอยู่เหนืออำนาจของสัญชาตญาณ
จึงเห็นได้ว่า เรื่องพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ต้นจนปลาย จะเรียกว่าตั้งแต่ตัว ก จนถึงตัว ฮ ทั้งหมดใน พระพุทธศาสนานั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับสัญชาตญาณ คือ ความรู้สึกที่มันจะโน้มเอียงไปตามสัญชาตญาณ ที่คอยโง่เขลาขึ้นมา โง่เขลาขึ้นมา เป็นกิเลส แล้วก็ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กลายเป็นโพธิ เป็นโพธิได้ ถึงที่สุดก็เป็นพระอรหันต์ มันก็จบ จบเรื่อง จบเรื่อง เมื่อเป็นพระอรหันต์ก็จบเรื่อง คือ เพิกถอนไอ้ สัญชาตญาณ อัน ๆ อันเร้นลับ อันลึกซึ้ง อันเหนียวแน่น อันมั่นคง ในสันดานได้ มีสันดานบริสุทธิ์ จากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ก็เพราะเหตุนี้
นี่บางคนจะเห็นว่า คำว่า สัญชาตญาณนี้ไม่เคยพบ ในพระบาลี ในพระไตรปิฎก นั่นเพราะมันไม่รู้ เพราะตามัน มันดีเกินไปก็ได้ นั่นก็คือ เรื่องกิเลสทั้งหมด เรื่องอนุสัย ที่มีอยู่ในสันดาน หรือว่าไอ้ความรู้ผิด ความเป็นไปผิด เพราะปราศจากความรู้ที่ถูก นั่นแหละคือ พวกสัญชาตญาณ ก็รู้อยู่แล้วว่า ธรรมะนี้สอน ให้ละความโลภ ความโกรธ ความหลง แต่ทำไมละไม่ได้ ทำไมละไม่ได้ เพราะคนนั้นมันยังเป็นเด็ก มากเกินไป ต่อสิ่งที่เรียกว่า สัญชาตญาณ ไม่รู้จักจึงบังคับไม่ได้ จึงละไม่ได้ มันก็ต้องเป็นไปตามอำนาจ สัญชาตญาณ มันก็หลงใหลในอภิชฌา และโทมนัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัญชาตญาณทางเพศ มีเรื่องทางเพศ ทุกแง่ทุกมุมทุกกระแส มันเป็นเรื่องบ้าวูบเดียว บ้าวูบเดียว ไม่ใช่อะไรดีไปกว่านั้น แต่คนก็ยังหลงกันจนถึง ที่สุด บูชาเป็นสิ่งสูงสุด เป็นพระ เป็นเจ้า เป็นเทพเจ้าไปเสียก็มีนะ บางลัทธินะ บูชากามารมณ์เป็นเทพเจ้า นี่เพราะมันก็ไม่รู้เรื่องนี้ มันก็ถูกสัญชาตญาณหลอกลวงเอามากถึงอย่างนี้
เดี๋ยวนี้ก็มารู้กันเสียทีว่า มันไม่ใช่เรื่องอะไรนอกจากไป นอกไป นอกไปจากเรื่องของสัญชาตญาณ ที่เดินมาผิดทาง จากความเป็นกลาง ๆ มาถูก มามาเป็นความโง่ มาเป็นความหลง มาเป็นกิเลส เอ้า, มนุษย์ก็เลยมีปัญหา อ่า, เพราะควบคุมสัญชาตญาณไม่ได้ บางทีก็เรียกว่า ควบคุมความรู้สึก ฝ่ายต่ำไม่ได้ หรือเรียกให้ชัดเจนหน่อยก็ว่า ควมคุมสัญชาตญาณอย่างสัตว์นั้นไม่ได้ สัญชาตญาณอย่างสัตว์ คือ ต่ำกว่ามนุษย์ มันก็ครอบงำเอาเรื่อยไป ๆ จนกว่าเมื่อไหร่จะเป็นพระอรหันต์เท่านั้น เรื่องของพระอรหันต์ ก็คือเรื่อง ของผู้ที่อยู่เหนืออำนาจของสัญชาตญาณ ด้วยประการทั้งปวง ไม่สามารถที่จะน้อมจิตไป คิดนึก ชนิดยินดี ยินร้ายเป็น อภิชฌา และโทมนัส ในโลกได้ต่อไปอีก
นี่เรียกว่าอะไร เป็นยอด ยอดมนุษย์ เป็นมนุษย์ที่ขึ้นถึง ยอดสุดของความเป็นมนุษย์ ควบคุม อภิชฌา และโทมนัส เสียได้ ก็คือ ควบคุมสัญชาตญาณฝ่ายกิเลสได้ หรือจะว่าทำให้มันเป็น ญาณ ที่บริสุทธิ์ ขึ้นมา อบรมด้วยการอบรม ด้วยการพัฒนา ให้ไอ้ญาณที่เกิดตามสัญชาติ ตามธรรมดานั้น กลายมาเป็น ญาณที่เต็มไปด้วย สติปัญญา มีความรู้ที่ควรจะรู้ได้ เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รู้ความจริงของสิ่งทั้งปวง มีความรู้ที่มีกำลังแก่กล้า ระงับความรู้สึก ความต้องการของสัญชาตญาณเสียได้ จึงไม่มีความหลงใหล ในสิ่งใด เพราะว่าทุกสิ่งมีความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่พระอรหันต์ พระอรหันต์ ขอให้รู้จัก พระอรหันต์ในฐานะเป็นผู้ที่ชนะไอ้สัญชาตญาณ ถ้ายังเป็นคนธรรมดา มันยังต้องเป็นบ่าว เป็นทาส ของสัญชาตญาณ ที่เราเรียกว่า เป็นทาสของกิเลสนั่นแหละ ต้องทำไปตามอำนาจของกิเลส เรียกว่า กิเลสมันไสหัว ให้ทำอะไรไปตามอำนาจของกิเลส นี่คือ คนธรรมดา
ทีนี้มันถูกไสหัวให้ทำ ทนทุกข์ทรมานมากเข้า ๆ มันก็เกิดรู้สึกตัวขึ้นมา มันอยากจะต่อสู้ มันจะขบถ ขบถต่อกิเลส คำนี้ก็เอามาใช้เป็นประโยชน์ได้ คือ ขบถต่อกิเลส กิเลสเป็นนายเหนือหัว มาตลอดเวลานะ ตั้งแต่ไม่รู้สึกตัวอะไร ตั้งแต่เป็นเด็ก ขึ้นมาจนถึงเป็นวัยรุ่น เป็นหนุ่มเป็นสาว กิเลสไสหัว มาตลอดเวลา เดี๋ยวนี้มันรู้สึกได้ อายุมากพอแล้ว ก็เลยจะขบถ คือ จะสลัดกิเลสออกไป ให้ลงไป ไม่ให้มา ไสหัวอีกต่อไป คำว่า ขบถ ใช้ในความหมายที่เป็นธรรมะ เรามีชีวิตอย่างขบถ ต่อกิเลส ซึ่งเป็นนาย เหนือหัวมาตลอดเวลา พระอรหันต์สลัดได้หมด เป็นนายเหนือกิเลสโดยประการทั้งปวง
วันนี้เป็นวันพระอรหันต์ก็ควรจะเอาเรื่องนี้มาพูดกัน อาตมาจึงเอาเรื่องนี้มาพูด แล้วก็แนะ ให้สังเกต ให้เห็น ให้ดี ๆ ว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้มาหยุดติดอยู่ที่ตรงดี เหมือนศาสนาโดยมาก ถ้าต้องออกชื่อ มันก็ไม่ค่อยจะดี อย่าออกชื่อศาสนาใดเลย แต่ว่าเกือบจะทุกศาสนา สอนให้หยุดอยู่ที่ดี ดีที่สุด ดีที่สุด พระเจ้าก็คือ ไอ้ยอดสุดของความดี เป็นที่รวบรวมสุดของความดี แล้วก็ไปติดอยู่กับพระเจ้า อย่างนี้มันดับทุกข์ไม่ได้สิ้นเชิง มันดับทุกข์ได้แต่ส่วนที่มันเกี่ยวกับไอ้เรื่องของความชั่ว แต่ไอ้ทุกข์ที่จะเกิด มาจากความดีนั้น มันไม่ดับ มันยังคงบ้าดี เมาดี หลงดี อวดดี แม้แต่ว่าเราจะเรียกว่า บุญก็ได้ จะมาหยุดอยู่ แค่บุญนั้นไม่ได้หรอก มันบ้าบุญ มันเมาบุญ มันหลงบุญ แล้วมันก็จะอวดดีเรื่องมีบุญ มันไม่จบ เรื่องมันยังไม่จบ
เพราะฉะนั้นขยิบขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งเถิด พุทธบริษัททั้งหลายจะต้องเขยิบขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ให้ชนะดี เหนือดี ไม่ติดดี ความหมายแห่งความดี มาครอบงำจิตใจของเราไม่ได้ เหมือนอย่างพระอรหันต์ นั่นนะ เป็นผู้ละชั่ว ละดีเสียได้ ละบุญ ละบาป คือ ละอิทธิพลของบุญ ของบาปเสียได้ ไม่ให้มา ย่ำยีจิตใจ อะไรอีกได้ เดี๋ยวนี้ออกมาเสียได้จาก ความชั่ว หรือบาป ก็ไปยืดคอเข้าไปในบ่วงของความดี หรือบุญ ผูกรัดเหนียวแน่น กว่าบาปเสียอีก ก็เลยมีตัวกู มีตัวกู ดิ้นรนอยู่ ดิ้นรนอยู่ อะไร ๆ เป็นปัญหาไปหมด แม้แต่ความดี มันก็มากลายเป็นไอ้ร้ายขึ้นมา คือ ให้โทษขึ้นมา เพราะความบ้าดี หลงดี อวดดี เรื่องยังไม่จบ สำหรับ ดี เพียงแต่ดีเรื่องยังไม่จบ สำหรับในพุทธศาสนาของเรานั้นนะ ถ้าเพียงแต่ดี มาถึงดีเท่านั้น เรื่องยังไม่จบ เรื่องจะต้องขึ้นมาถึง มีจิตใจขาวรอบ จิตตะปะริโยทะ ปะริโยทะ นะ (นาทีที่ 44:50) แปลว่า ขาวรอบ ทำจิตใจให้ขาวรอบ ไม่ติดชั่วติดดี
อยากจะพูด แต่ก็นึกว่า นึก นึกว่ามันจะเป็นการทับถมผู้อื่น ยกตัวอย่าง คริสเตียน คริสตัง ขออภัยนะ คัมภีร์ใบแรก ๆ ของคัมภีร์ไบเบิ้ลนั่นนะ ไม่ให้ติดชั่วติดดี กินลูกไม้ต้นที่ให้เกิดรู้ชั่วรู้ดี แล้วพอตาย คือ เป็นทุกข์ นี่ปรากฏอยู่ตอนต้นคัมภีร์ไบเบิ้ล แต่ว่าพวกลูกศิษย์ทั้งหลาย สาวก บริษัท ทั้งหลาย มายึดถือในความดี เอาพระเจ้านั้นนะ เป็นยอดสุดของความดี เอา God God นี่เป็นยอดสุดของ ความดี เลยติดดี มันก็ขืนแล้วก็ฝืนคำสั่งสอนในตอนต้นของคัมภีร์ไบเบิ้ลนั่นเอง พุทธศาสนาเราไม่เป็น อย่างนั้น มีความมุ่งหมายที่จะละชั่ว ละดีออกไปเสีย อยู่เหนืออิทธิพลของชั่วและดีเสียตลอดไป จิตจึงจะขาวรอบ จิตจึงจะว่าง ขาวรอบ จากความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเป็นสิ่งเศร้าหมอง
นี่แหละสรุปความกันทีว่า พุทธบริษัทนั้นนะ อย่าไปหยุดอยู่ตรงที่ดี หรือติดดี อย่าไปหยุดอยู่ ตรงที่ดี ละชั่วแล้วอย่าไปหยุดอยู่ตรงที่ดี ต้องมีจิตใจอยู่เหนือดี ไม่ให้ความดีนั้นนะ เกิดครอบงำจิต แล้วหลงดี บ้าดี อวดดี นี่มีเท่านี้ วันนี้ทั้งทั้งหมดจะพูดเพียง ๒-๓ คำเท่านี้ ที่จริงมันก็เป็นเรื่องที่พูดมาทุกปี แต่ว่าวันนี้ชี้ในแง่เฉพาะที่ว่า พุทธศาสนาจะไม่หยุดอยู่เพียงแค่ดี จะต้องมีจิตขาวรอบอยู่เหนือชั่ว และดี ทุกคนก็จำได้เรื่องโอวาทปาฏิโมกข์ สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง (นาทีที่ 47:12) นี่ก็สวดท่องกันอยู่ทุกวัน ทุกวัน อาจจะไม่รู้ก็ได้ว่าพระพุทธเจ้าท่านต้องการไม่ให้ติดอยู่แค่ดี เดี๋ยวนี้พุทธบริษัทยังติด หรือหยุดอยู่ แค่ดี แล้วอวดดี แล้วก็บ้าดี แล้วก็หลงดี มันอยากจะทำบุญอวดกัน อวดความมั่งมี อวดความศรีสุข อวดอะไรต่าง ๆ นี่คือ คนมันติดดี มันอวดดี
ถึงแม้มันจะดีจนเป็นเทวดา มันก็ยังมีความทุกข์ เพราะการบ้าดี อวดดี หลงดี จิตมันไม่ขาวรอบ มันจะต้องถอนไอ้ความยึดมั่นในความดี อีกทีหนึ่ง เอาละเป็นอันว่า ในวันนี้ไม่ต้องพูดอะไรกันมาก พูดถึงข้อเดียวว่า พระพุทธศาสนานั้น ไม่ไปหยุดชะงักอยู่เพียงแค่ความดี ต้องการให้มีจิตเป็นอิสระ อยู่เหนือ อิทธิพลของความดี ไม่ให้ความดีมันมาหลอก ให้หลงติด หรือมัวเมาในความดี
ถ้าใครฟังถูก ถ้าใครฟังถูก มันก็คงจะมีประโยชน์ คือจะได้ได้เข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนา ถ้ายัง ชอบดี บ้าดี หลงดี ก็เอาไปตามเดิม เอาไปตามเดิม แล้วก็จะเข้าไปในขอบเขตของศาสนาอื่น โดยไม่ทันรู้นะ โดยไม่ทันรู้นะ ศาสนาอื่นที่สอนให้ติดอยู่เพียงแค่ความดี หยุดสูงสุดอยู่เพียงแค่ความดี เราไม่ค่อยชอบ หรอกที่คนเขาพูดว่า ศาสนาทุกศาสนาสอนให้คนทำดี มันจะพาลหาพุทธศาสนาไปด้วยว่า สอนให้คน ติดดี พุทธศาสนาสอนให้คนทำดีในขั้นแรก แล้วให้มีจิตใจ อยู่เหนือคุณค่าของความดี เหนืออิทธิพล ของความดี เป็นผู้มีจิตใจขาวรอบปราศจากความยึดถือ นั่นแหละคือ จิตว่าง พอพูดว่าจิตว่างก็ด่ากันใหญ่ ที่จริงจิตมันขาวรอบ มันไม่ยึดถืออะไร นั่นแหละมันคือ จิตว่าง ถ้าจิตมันยึดถืออะไรอยู่ แม้แต่ยึดถือดี มันก็เป็นจิตวุ่น มันไม่ว่าง มันก็เป็นทุกข์ จิตว่าง ก็คือ ไม่ยึดถืออะไร ไม่จับฉวยอะไร ไม่ติดอยู่กับอะไร ไม่ผูกพันอยู่กับอะไร มันเป็นจิตว่าง
จงทำจิตให้ขาวรอบนั่นแหละ คือ ทำจิตให้ว่าง จากความยึดถือ อยู่เหนืออิทธิพลของความชั่ว อยู่เหนืออิทธิพลของความดี ไม่มีความหลงใหลในคุณ หรือค่าของอะไร ไอ้่สิ่งที่เรียกว่า คุณ หรือค่านี้ เป็นสิ่งที่มนุษย์สมมุติ ตามธรรมชาติไม่ชั่ว ไม่ดี ตามธรรมชาติไม่รู้ ไม่ชี้ ไม่ชั่ว ไม่ดี มันมีอย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น ไปตามกฎของธรรมชาติ แต่ถ้าสิ่งใดมันถูกกิเลสของมนุษย์ มันสมมุติว่าดี มนุษย์สมมุติเอาเอง ว่าดี เพราะฉะนั้นความดี มันจึงเป็นของเด็กเล่น ๆ อยู่มากนะ คือ มันถูกกับความต้องการของกิเลส และก็สมมุติกันว่าดี
อย่างอะไรล่ะ มีทรัพย์สมบัติ มีเพชร มีเงิน ทอง แก้วแหวน เพชร พลอยอะไรมาก ก็สมมุติกันว่าดี มนุษย์มันสมมุติว่าดี ธรรมชาติไม่รู้ไม่ชี้ เรื่องชั่วเรื่องดี เมื่อมนุษย์หลงสมมุติว่าดี ก็ติดอยู่ในคุณค่าของ ความดี เพราะฉะนั้นมันจึงบูชา ไอ้สิ่งสมมุติเหล่านี้ เช่น ซื้อเพชรมาแขวนคอราคาล้าน ให้หมาเปล่า ๆ มันก็ไม่เอา นี่คิดดูสิ มันเพราะว่ามันติดสมมุติ เพราะเหตุนี้ เรียกว่า คุณค่า คุณค่าของสิ่งนั้น ตามที่สมมุติกัน เรียกว่า อย่า ตกอยู่ภายใต้ความหลอกลวง ของสิ่งที่เรียกว่า คุณค่า ภาษา ภาษาปรัชญา คำว่า คุณ คุณนะ มันไม่ใช่บุญคุณอะไรอย่างนี้ คุณ คือ ค่า ค่า คือ สิ่งที่มนุษย์สมมุติกันขึ้นมา ตามความโง่ ของมนุษย์ อันนั้นมีค่าเท่านั้น อันนี้มีค่าเท่านี้
ที่จริงมันธรรมชาติ ไม่ได้ ไม่ได้ ไม่ได้จัดให้มีค่าอย่างไร ไม่จัดเป็นชั่วเป็นดีอย่างไร เป็นธรรมชาติ เสมอกัน ถ้าเห็นอย่างนี้แล้ว ก็ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น เรื่องแพง เรื่องถูก เรื่องดี เรื่องชั่ว ไอ้เรื่องทุกเรื่อง ที่ยุด ยึดถือกันแล้ว มันก็ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา มันก็มาสำเร็จอยู่ตรงที่ว่ายึดถือเรื่องดี อะไรสมมุติกันทั้งโลก ว่าดี ก็ยึดถือว่าไอ้สิ่งนั้นประเสริฐ จะไปยึดถือพระอรหันต์ว่าดี อันนี้บ้าเลย พระอรหันต์อยู่เหนือความชั่ว และความดี จะไปยึดถือว่า พระอรหันต์นั้นดีที่สุด ก็คนมันโง่เอง จะทำยังไง มันก็เป็นพระอรหันต์ไม่ได้ หรอก ถ้ามันยังติดแน่นในความดี
นี่พูดอย่างนี้ บางคนเขาก็หาว่า พูดเกินไปแล้ว ไม่ควรจะพูดเรื่องอย่างนี้ เอาเรื่องที่ไม่ควรพูด มาพูดอย่างนี้ อาตมาก็ถูกด่า ถูกด่า มีคนเขียนด่าอยู่เกือบทุกวันแหละ เพราะเอาเรื่องที่เกินจำเป็นมาพูด หรือว่ามันสูงเกินไป จริง ๆ แล้วมันก็ช่วยไม่ได้ มันช่วยไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่มัน จะต้องแก้ไข ให้เรามันหลุด ออกมาเสีย จากสิ่งที่ทรมานจิตใจ ความชั่วนั้นไม่ทรมานจิตใจกี่มากน้อยนะ ไอ้ความดีนั้น มันทรมานจิตใจลึกซึ้งละเอียด เกือบจะมองไม่เห็น เรื่องบ้าดีมันมันร้ายกว่าบ้าชั่วนะ บ้าชั่วมันบ้ากัน ไม่ไหว ไม่ค่อยไหวหรอก แต่ถ้าบ้าดีมันบ้ากันสุดเหวี่ยง บ้าจนไม่หมด หมดเนื้อหมดตัวก็ไม่รู้ อย่างนี้ก็มีคนเป็นทุกข์ เพราะยึดถือในความดีนั้นมากเหลือเกิน กลัวจะสูญเสียเกียรติยศ ชื่อเสียง กลัวจะไม่มีหน้าไม่มีตา ฆ่าตัวเองตาย บางคนก็เงินเหลืออยู่เพียงร้อยล้าน เงินร้อยล้านไม่พอรักษาความดี ชิงฆ่าตัวเองเสียก่อนดีกว่า นี่คือ คนที่มันหลงยึดมั่นถือมั่น ในเรื่องของความดี
เอาละวันนี้ไม่พูดเรื่องอะไรแล้ว พูดคำเดียวว่า พระพุทธศาสนา ไม่ได้สอนให้ไปสิ้นสุด หยุดอยู่ที่ คำว่า ดี หรือเรื่องของความดี ต้องการให้มีจิตใจอิสระเหนือนั้นขึ้นไป เหนือค่าของความดี เห็นความดีเป็น ของเด็กเล่น พูดอย่างนี้มันก็อันตรายอีกแล้ว ไม่พ้นถูกด่าอีกแล้ว เพราะว่าทุกคนบูชาความดี เขาสอนกัน อยู่ให้ทำความดี ให้บูชาความดี แล้วบอกว่าไอ้ความดีเป็นเรื่องของเด็กเล่น เป็นเรื่องของสมมุติ ความจริง มันไม่ชั่วมันไม่ดี อันนั้นเป็นเรื่องของคนที่ไม่รู้อะไร ไปหลงใหลในความดี พูดเพียงเท่านี้ คุ้ม ๆ คุ้มกันแล้ว กระมัง พอกันแล้วกระมัง
การเทศน์คราวหนึ่ง วันหนึ่ง ในวันสำคัญเช่นวันนี้ ทั้งวันนะ ไม่พูดเรื่องอะไรอื่น พูดแต่เรื่องว่า พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้มาหยุด ติดอยู่เพียงแค่ความดี สอนข้อที่ ๓ คือ สจิตฺตปริโยทปนํ (นาทีที่ 55:01) มีจิตขาวรอบ ถ้าไม่ได้สอน ถ้าไม่ไม่ต้องการให้ขึ้นไปเหนือความดี ก็สอน ๒ ข้อก็พอแล้ว สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา (นาทีที่ 55:12) ๒ ข้อนี้ก็พอแล้ว ทำไมต้องมีข้อ ๓ ที่ยิ่งไปกว่าไอ้ความดีอีก มันก็คือ ความไม่ติดในความดี ความไม่ยึดถือในความดี ไม่จมอยู่ในความดี ไม่บ้าดี ไม่หลงดี ไม่เมาดี ไม่อวดดี อวดดีเป็นเรื่องของเด็ก ๆ นะ การอวดดีเป็นเรื่องของเด็กทารกนะ เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ต้องชนิด ไม่ต้องทำชนิดที่เป็นทาสของความดี มีความดีสำหรับจะอวดกัน
เอาละพอแล้ว ขอให้มีความเข้าใจให้ถูกต้อง หนักแน่น ตรงเผ่งลงไปว่า พุทธศาสนา ไม่ได้สอน ให้มาสิ้นสุด หยุดจบลงที่ความดี แต่สอนให้อยู่เหนือความดีต่อไปอีก จนเป็นความว่าง ชั่วนี่ทนไม่ไหว ดีก็รบกวนอย่างลึกซึ้ง สูงขึ้นไปดีกว่า ก็คือ ว่าง ต่ำที่สุด คือ ชั่ว อยู่ตรงกลาง คือ ดี สูงสุดไม่มีอะไรดีกว่า อีกแล้ว ก็คือ ว่าง เห็นสิ่งทั้งปวงโดยความเป็นของว่าง ไม่ยึดถืออะไร หมายถึง มันก็เป็นจิตว่าง มีแต่ความรู้ ที่ถูกต้อง เพราะจิตเป็นอิสระ ไม่ถูกปิดบัง หลอกลวง ควบคุมไว้ด้วยกิเลสใด ๆ ด้วยโมหะ ด้วยอวิชชาใด ๆ เรื่องมันก็จบแหละ
จำไว้ ๓ คำว่า ชั่ว แล้วก็ดี เหนือดีขึ้นไป ขาวรอบ คือ ว่าง นี่ควรจะจำง่ายที่สุดนะ ต่ำที่สุด คือ ชั่ว สูงขึ้นมา คือ ดี สูงขึ้นไปอีก คือ ว่าง พอว่างก็หมดปัญหาแล้ว นี่ใครที่ยังยังไม่ว่าง เอาไปคิดดู มันจะได้ช่วย ให้รู้จักเลื่อนชั้นขึ้นไปให้ถึงว่าง ถ้ายังมีค่าแห่งความดีเหลืออยู่ ก็มันจะต้องยึดถือความดีนั้นเป็นตัวตนอยู่ มันก็แบก ของหนัก คือ ความดี ความชั่วแบกเข้าก็หนัก ความดีแบกเข้าก็หนัก แม้จะหนักคนละอย่าง ไอ้ที่ไม่แบกอะไรเลย นั้นคือ ว่าง นั่นแหละ คือ พระอรหันต์ อยู่เหนือดี เหนือชั่ว เหนือบุญ เหนือบาป เหนือสุข เหนือทุกข์ เหนือทุกอย่างทุกประการ
การบรรยายในวันนี้ ต้องขอถือโอกาสว่าพอสมควรแก่เวลา เพราะว่าหลังจากมาฆบูชานี่ ยังต้อง ต้องทำสังฆกรรมอะไรอีกบางอย่าง จึงขอยุติ ธรรมเทศนา ในโอกาสแห่งมาฆบูชา อ่า, สำหรับปีนี้ ไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวังก็มี ด้วยประการละฉะนี้