แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นี่แหละเรียกว่าสัญชาตญาณที่ควบคุมไว้ในระดับที่ถูกต้องไม่ได้ นั่นแหละมันเกิดเป็นตัวตนเป็นของตนขึ้นมา แล้วมันเห็นแก่ตน เป็นปัญหาแก่คนทุกคน เดือดร้อนลงไปถึงสัตว์ไปถึงต้นไม้น่ะ ความเห็นแก่ตนนีjมันทำความเดือดร้อนแก่คนทุกคน ทุกฝ่าย และลงไปถึงสัตว์ถึงต้นไม้ พลอยได้รับความเดือดร้อนเพราะความเห็นแก่ตนของคน ผู้มีปัญญาในอดีตที่ได้ให้กำเนิดแก่ศาสนาทั้งหลาย มองเห็นสิ่งนี้ร่วมกันว่า ความเห็นแก่ตน เป็นต้นเหตุจะต้องจำกัด จะต้องกำจัด จะต้องทำลาย หรืออย่างน้อยก็ว่าควบคุมตามที่ควรจะควบคุม ที่จริงสัญชาตญาณนั้นน่ะ มันจะทำลายเลิกล้างไปหมดไม่ได้ มันได้แต่ควบคุม ควบคุม ควบคุม คือพัฒนา จนกว่าจะถึงที่สุดมันจึงจะสิ้นสุด มันจะเป็นได้ต่อเมื่อเป็นพระอรหันต์ เมื่อพูดอย่างคนธรรมดาสามัญเราก็ไม่ต้องพูดถึงว่า กำจัดสัญชาตญาณได้โดยสิ้นเชิง เราจะพูดแต่เพียงว่าควบคุมสัญชาตญาณไว้ได้ ให้เป็นไปในทางแห่งโพธิ ดังนั้นขอให้พิจารณาดูว่า ศาสนาทุกศาสนามุ่งหมายจะกำจัดความเห็นแก่ตน ไม่ว่าศาสนาไหน ไม่ว่าศาสนาที่จะถูกประนามว่าดุร้าย หรืออะไรก็สุดแท้เถอะ แต่เจตนาส่วนใหญ่จะกำจัดความเห็นแก่ตนของสังคม ในบางศาสนา ในบางถิ่น บางกาละ บางเทศะ มันต้องใช้อำนาจเด็ดขาด เพราะฉะนั้นพระศาสดาแห่งศาสนานั้นจึงใช้วิธีการอันเด็ดขาดรุนแรง แต่พุทธศาสนานี้เป็นไปในทางสงบ คือต้องการสติปัญญา ไม่ต้องใช้ความรุนแรง มันก็มีหลักระเบียบวางไว้ แต่ว่าทุกศาสนามุ่งหมายที่จะกำจัดความเห็นแก่ตน ดังนั้นขอให้แต่ละคนละคนไม่ว่าจะถือศาสนาอะไรอยู่ ขอให้มุ่งหมายที่จะกำจัดความเห็นแก่ตน แล้วมันก็จะไม่เกิดโลภะ โทสะ โมหะ ในระดับที่เป็นอันตรายรุนแรง และจนกว่ามันจะหมดสิ้นไปแหละ ไอ้พวกที่ถือศาสนาเงิน ถือศาสนากามารมณ์ ถือศาสนาอะไรก็ควรจะพิจารณาดู ว่าสิ่งเหล่านี้มีผลอย่างไร เดือดร้อนอย่างไร เห็นจริงแล้ว รู้จักแล้ว มันก็จะได้บรรเทากันเสียบ้าง ก็มาเข้าหลักเดียวกันที่ว่า มนุษย์มันจะรอดได้อยู่ด้วยการทำลายความเห็นแก่ตน ความเห็นแก่ตนลุกลามจนอยากจะเป็นเจ้าโลก อยากจะครองโลก คุมพวกกันบ้าง แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายบ้างที่จะครองโลก จึงเกิดปัญหายืดเยื้อ คือสงครามอันถาวร เราไม่มีสันติภาพถาวร แต่เรากลับมีวิกฤตการณ์อันถาวร เพราะเรามีความเห็นแก่ตน เมื่อใดทำลายความเห็นแก่ตนเสียได้ เมื่อนั้นก็จะมีสันติภาพเกิดขึ้นในโลก ถ้าทุกคนเข้าถึงหัวใจแห่งศาสนาของตนแล้ว ก็ทำลายความเห็นแก่ตนได้ ก็โลกทั้งโลกมันก็เป็นโลกที่ปราศจากความเห็นแก่ตน มันก็เป็นโลกที่มีสันติภาพอันถาวร ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขวนขวายอย่างยิ่งที่จะทำให้ทุกคนเข้าถึงหัวใจแห่งศาสนาของตนของตน ตามวิธีการปฏิบัติแต่ละระดับ แต่ละขั้นแต่ละตอน ตามแต่วิธีการจะมีอยู่อย่างไร ขอแต่ให้กำจัด หรืออย่างน้อยก็บรรเทาความเห็นแก่ตนเสียให้ได้ ฉะนั้นเราจะต้องเข้าถึงหัวใจแห่งศาสนา ก็เพราะว่ามันมีเปลือกนอกหุ้มอยู่ กล้าพูดว่าศาสนาทุกศาสนามีเปลือก หรือมีเนื้องอกที่เกิดขึ้นหุ้มห่อศาสนานั้นๆ ส่วนที่เป็นหัวใจจึงอยู่เป็นส่วนที่ลึก เข้าใจได้ยาก มันจำเป็นที่จะต้องมีเปลือก อย่าไปเสียใจเลย ไอ้เรื่องพิธีรีตอง เรื่องลัทธิประกอบข้างนอก ซึ่งเป็นเปลือกนั้นมันต้องมี แม้ศาสนามันตั้งอยู่ได้ก็เพราะเปลือก นี่พูดแล้วคล้ายๆ กับว่ามันตรงกันข้าม ดูตั้งแต่ว่าผลไม้น่ะ ผลไม้แต่ละชนิด ผลไม้ต้องมีเปลือก ถ้าไม่มีเปลือกมันเป็นผลไม้ไม่ได้ ไอ้เนื้อในมันก็เสียหายหมด มันก็กินไม่ได้ ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า ไอ้เมื่อต้นไม้มันจะออกผลนี้ มันต้องออกเปลือกก่อนเสมอแหละ มันตั้งต้นเป็นเปลือกเล็กๆ ขึ้นมา แล้วก็เจริญเติบโตขยายใหญ่ และมีเนื้อในเพิ่มขึ้นทีหลัง นี่มันรู้จักออกเปลือกก่อน เพื่อที่จะคุ้มครองเนื้อใน มันต้องมีเปลือก จำเป็นที่จะต้องมีเปลือก ไม่มีเปลือกมันมีเนื้อในไม่ได้ ทีนี้ศาสนาที่อยู่มาได้นี้ ก็เพราะว่ามีเปลือก คือพิธีต่างๆ อะไรต่างๆ ที่ค่อนข้างจะดูแล้วมันก็เป็นความงมงาย หรือเป็นความเชื่ออย่างงมงาย มันก็เป็นเปลือก ที่มันจะหุ้มห่อไอ้สติปัญญาอันลึกซึ้งไว้ เราจะต้องค่อยๆ ทำลายเปลือกเข้าไปๆ ให้ถึงเนื้อในซึ่งเป็นหัวใจแห่งศาสนาของตนของตน ไม่ใช่จะดูหมิ่นสบประมาทอะไรในการที่จะพูดว่า ทุกศาสนามีเปลือก กำลังมีเปลือกหุ้มห่อ และถ้าสาวกในชั้นหลังมันเปลี่ยนแปลงหนักเข้า มันก็สร้างเปลือกให้ศาสนาตนเองแหละมากเข้า มากเข้า จนย้อนกลับไปสู่ระดับไสยศาสตร์ ไสยะ แปลว่าหลับ ไสยศาสตร์เป็นความรู้ของคนหลับ พุทธศาสตร์ พุทธะแปลว่าตื่น พุทธศาสตร์จึงเป็นศาสตร์ของคนตื่น ไสยศาสตร์เป็นศาสตร์ของคนหลับ แต่แล้วมันก็ทิ้งกันไม่ได้ ไสยศาสตร์มันก็เป็นเปลือก คือความเชื่อตามธรรมดาสามัญของคนที่ไม่มีความรู้อะไร มันก็ต้องมีความเชื่อ มีความอยากจะเอาตัวรอด มันก็ต้องยึดถือชั้นเปลือกๆ ไปก่อน แล้วก็ค่อยๆ เข้าถึงชั้นใน ไสยศาสตร์จึงคู่กันมากับพุทธศาสตร์ ไม่ว่าในของศาสนาไหน ประชาชนโดยทั่วไปก็ต้องมีลักษณะเป็นคนหลับ ถือไสยศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหวังพึ่งปัจจัยภายนอก ดังนั้นถ้าศาสนาไหนเกิดขึ้นมาสอนให้พึ่งปัจจัยภายนอก ก็ได้เปรียบ สอนง่าย เข้าใจกันได้ง่าย นับถือกันได้โดยง่าย แต่ในที่สุดมันดับทุกข์สิ้นเชิงไม่ได้ มันก็ต้องเลื่อนชั้นเป็นศาสนาตื่น มีสติปัญญา สามารถที่จะขจัดปัญหาอันละเอียด อันสุขุม ของโมหะ ของอวิชชา เป็นอันว่าเรื่องมีเปลือกนี้จำเป็นที่จะต้องมี เหมือนกับว่าผลไม้ ถ้าไม่มีเปลือก เนื้อในมันก็อยู่ไม่ได้ แต่เรากินเปลือกมันก็กินไม่ได้ ฉะนั้นมันต้องรู้จักแกะเปลือกออกไป เข้าถึงเนื้อในแห่งผลไม้ พระศาสนานี้ก็เหมือนกัน ควรจะเข้าถึงหัวใจกันให้ได้ว่า ความไม่เห็นแก่ตัว ไอ้ความเห็นแก่ตัวนั้นไม่ต้องสอน มันมาจากสัญชาตญาณที่ควบคุมไม่ได้ มันเตลิด เป็นธรรมชาติฝ่ายต่ำ มันเป็นเห็นแก่ตัว ปัญหามันก็เกิดขึ้น มีความทุกข์ทรมาน ทีนี้เมื่อเกิดความทุกข์ทรมานก็เท่ากับเป็นการลงโทษ เมื่อรับโทษหนักเข้าๆ รับโทษนั่นแหละหนักเข้าๆ คือมีความทุกข์มากเข้าๆ มันก็รู้สึกได้เองว่านี่เป็นความทุกข์ มันจึงไปหันไปหาไอ้สภาพที่ตรงกันข้าม คือนึกถึงความดับทุกข์ นี่เรียกว่ามีความทุกข์ถึงที่สุดแล้ว ก็จะเหลียวหาเครื่องดับทุกข์ เป็นที่พึ่งเพื่อดับทุกข์โดยสิ้นเชิง ศรัทธาเปลี่ยนจากไอ้ความงมงายนั่นไปหาไอ้สิ่งที่จะดับทุกข์ได้จริง เพราะฉะนั้นตามหลักปฏิจจสมุทปาทสูตรที่สมบูรณ์นั้น กล่าวศรัทธาต่อท้ายจากความทุกข์ ปฏิบัติส่วนสมุทยวาร กล่าวถึงความทุกข์เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แล้ว ก็กล่าวขึ้นรอบใหม่ก็มีศรัทธา คิดจะดับทุกข์จึงแสวงหา แสวงหาสัตบุรุษ พบสัตบุรุษ ปฏิบัติตามสัตบุรุษ จนกระทั่งรู้จักเรื่องมรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้นความทุกข์นั่นเองบีบบังคับคนเราให้ทนอยู่ไม่ได้ ต้องเปลี่ยน ก็เปลี่ยนจากความทุกข์ ก็มามีศรัทธา ตั้งต้นกันใหม่ ในสิ่งที่จะดับทุกข์ได้ ก่อนนี้เป็นศรัทธางมงายของอวิชชา เดี๋ยวนี้เปลี่ยนมาเป็นศรัทธาของสติปัญญา มีสติปัญญาแล้วจึงศรัทธา ก็สามารถที่จะเดินไปในทางที่ถูกต้องเพื่อจะดับทุกข์ได้ นี่เห็นไหมว่าเราจะต้องเจาะเปลือก หรือต้องปอกเปลือก จะต้องเจาะเปลือก เพื่อเข้าถึงเนื้อใน ถึงหัวใจแห่งพระศาสนาที่จะช่วยได้ ก็ให้อภัยกันได้ที่ว่าศาสนามันต่างๆ กัน มันจำเป็นที่จะต้องมีศาสนาต่างๆ กัน เพราะว่ามนุษย์มันมีหลายชนิด มีหลายชั้น เรียกว่ามีภูมิหลังน่ะต่างกัน คือมีวัฒนธรรมเป็นภูมิหลังของชีวิตต่างกัน เพราะฉะนั้นเขาจะต้องเลือกหาศาสนาที่เหมาะสมกับภูมิหลังแห่งชีวิตของเขา ดังนั้นจึงมีศาสนาต่างๆๆๆ เรียกว่ามากพอที่จะให้เลือก ให้ครบทุกระดับแห่งมนุษย์ที่มีชีวิตซึ่งมีภูมิหลังต่างๆ กัน นี่เราจำเป็นจะต้องมี มีศาสนาต่างกัน แต่แล้วเราจะมาทะเลาะวิวาทกันไม่ได้ และต้องเข้าใจถึงหัวใจของศาสนาทุกศาสนาซึ่งจะกำจัดความเห็นแก่ตัว การเรียนของเราก็ต้องเรียนให้รู้หัวใจของพุทธศาสนา การรู้ของเราก็ต้องรู้หัวใจของพุทธศาสนา เอ่อ ของศาสนา การปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติให้ถึงหัวใจของศาสนา การได้รับผลของการปฏิบัติก็ต้องเข้าถึงหัวใจ เข้าถึงหัวใจชั้นที่เป็นผลของการปฏิบัติ นี่แหละเราจึงเรียกว่าต้องเข้าถึงหัวใจของศาสนา ศาสนาอื่นต่างออกไป ก็มีหลักเกณฑ์ที่ต่างออกไป ก็ไปศึกษาได้ ในที่นี้จะบรรยายระบุเฉพาะพระพุทธศาสนา ให้เข้าถึงหัวใจของศาสนาแต่ละศาสนาแล้วก็จะสำเร็จประโยชน์ พระศาสดาเป็นผู้เปิดเผยพระศาสนา ศาสนาเกิดขึ้นเพราะการเปิดเผยของพระศาสดา ชนทั้งหลายเป็นศาสนิก คือเป็นผู้ฟังและปฏิบัติตาม ศาสนามีความสัมพันธ์กันอย่างยิ่งระหว่างพระศาสดากับศาสนา และศาสนิกแห่งศาสนานั้นๆ เป็นหน้าที่ของศาสนิกแห่งศาสนานั้นๆ จะต้องเข้าถึงหัวใจแห่งศาสนาของตน ของตน ในที่นี้จะขอสรุปเพื่อเป็นการง่ายขึ้น ง่ายเข้า ว่าศาสนาทั้งหลายบรรดามีในโลกนี้ เอามารวมกันแล้วคัดแยกไปตามประเภทที่มีหลักการอย่างไร ก็จะพบได้ว่ามีอยู่สองศาสนาเท่านั้นแหละ ศาสนาที่นึกคิดเองอย่างหนึ่ง ถือปัจจัยภายนอกว่ามีพระเจ้าเป็นต้น เป็นผู้สร้าง เลยเชื่อว่าไอ้โลกนี้ สากลโลกนี้มันมีผู้สร้าง ส่วนศาสนาอีกประเภทหนึ่งนั้นมันมีความเชื่อว่า ไม่มีใครสร้าง ไม่มีบุคคลใดสร้าง เป็นวิวัฒนาการตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ซึ่งมีกฎเกณฑ์อย่างนั้น โดยเฉพาะคือกฎอิทัปปัจจยตา จึงแบ่งแยกได้เป็นสองชนิด หรือสองศาสนา ศาสนาแรกนั้นเป็นพวก Creationist Creationist พวกที่ถือว่ามีผู้สร้าง พวกที่สองเรียกว่า Evolutionist คือพวกที่ถือว่าเป็นไปตามวิวัฒนาการ นี่แยกกันอย่างไรในที่สุดก็จะพบได้ว่ามีอยู่สองประเภท เราไม่ดูถูกซึ่งกันและกัน เพราะว่ามันเหมาะสมแก่มนุษย์แห่งถิ่นนั้น ยุคนั้น ในสมัยนั้น ตามภูมิหลังแห่งวัฒนธรรมของตน มันใช้ได้ด้วยกัน ให้เหมาะสมกับความจำเป็น หรือความต้องการของตน ไม่ต้องดูถูกกันในเรื่องนี้ ยิ่งดูถูกกันเท่าไหร่ ยิ่งทำความผิดมากเท่านั้น มันไม่อาจจะเกิดการร่วมมือกันสร้างสันติภาพ ถ้าเชื่อว่ามีพระผู้สร้าง ก็ปฏิบัติให้ถูกตามกฎเกณฑ์เรื่องการมีพระผู้สร้าง ถ้าไม่มีพระผู้สร้างมีแต่วิวัฒนาการตามกฎของธรรมชาติ ก็ประพฤติให้ถูกตามกฎของธรรมชาติ ทีนี้ถ้าจะมาสัมพันธ์กัน มันก็ต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ถ้าคำว่าผู้สร้างนั้นน่ะเปลี่ยนความหมายจากภาษาคนมาเป็นภาษาธรรม มันก็ได้แก่กฎเกณฑ์ของธรรมชาติอีกนั่นเอง ซึ่งต่อไปในอนาคตอาจจะเหลือเพียงศาสนาเดียวก็ได้ คือศาสนาที่ว่ามีผู้สร้างนั้นจะต้องหายไป เพราะการศึกษาของมนุษย์ในยุคต่อไปมันเจริญโดยหลักของวิทยาศาสตร์ มันเข้าใจเรื่องวิวัฒนาการได้ง่ายกว่าที่จะไปเข้าใจเรื่องผู้สร้าง หลักฐาน พยานต่างๆ มันขัดแย้งกัน ว่าถ้ามีผู้สร้างจริง ผู้สร้างก็ควรจะฉลาด สร้างให้โลกนี้มีแต่สิ่งที่ดีที่งาม แต่นี้มันมีปัญหามากขึ้นทุกที มีปัญหามากขึ้นทุกที มันกลายเป็นผู้ลงโทษเสียแล้ว มันกลาย ไม่ใช่ผู้สร้าง โลกในอนาคตอาจจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่มนุษย์สมัยนั้นจะยอมรับได้ ถ้ามนุษย์ทุกคนมีภูมิหลังเป็นวิทยาศาสตร์หมดแล้ว มันก็จะเหลือแต่ศาสนาเดียว คือศาสนาที่ถือว่าเป็นวิวัฒนาการตามกฎของธรรมชาติ เดี๋ยวนี้เราก็ยังเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เรากำลังถือศาสนาประเภทไหนก็จงเจาะเข้าไปถึงหัวใจของศาสนาประเภทนั้นด้วยกันทุกฝ่าย แต่ในตอนนี้อยากจะขอบอกกล่าวไว้เป็นพิเศษสักอย่างหนึ่งว่า เขาอาจจะกล่าวไว้อย่างถูกต้องในแบบภาษาธรรมะ แล้วคนชั้นหลังมาเปลี่ยนคำอธิบายนั้นๆ มาเป็นภาษาคน เพราะฉะนั้นในบางคัมภีร์ของศาสนามันจึงมีเรื่องที่ขัดกัน กล่าวไว้ในภาษาคนชนิดที่มันจะเข้ากับสถานการณ์ใดๆ ไม่ได้ ถ้าเปลี่ยนความหมายแห่งภาษาคนเหล่านั้นเป็นภาษาธรรมแล้วมันก็จะเหมือนกันหมด คือเป็นไปตามกฎอันแท้จริงของธรรมชาติ นั่นแหละคือหัวใจ หัวใจ หัวใจของทุกศาสนาที่จะต้องเข้าให้ถึง เมื่อเข้าถึงหัวใจอันเดียวกันแล้ว ปัญหาหมดแน่ มันไม่มีความขัดแย้งอะไรกันอีกต่อไป เดี๋ยวนี้เรายังจำเป็นที่จะต้องมีหลักเกณฑ์อย่างนี้ คือแยกเป็นสองประเภทอย่างนี้กันต่อไปอีกนานก็ได้ แต่ควรจะมุ่งหมายให้เข้าถึงหัวใจกันไว้เรื่อย มุ่งหมายให้เข้าถึงหัวใจของศาสนากันไว้เรื่อยๆ มันไปถึงจุดหนึ่งที่จะพบกัน เป็นสัจจะของธรรมชาติ สัจจะเป็นกฎอันหนึ่ง กฎนั้นมีเพียงหนึ่งเดียว เอกํ หิ สจฺจํ น ทุติยมตฺถิ ตามหลักพระบาลีว่า กฎคือสัจจะนั้นมีเพียงอย่างเดียว มีสองอย่างไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้คนเขาเอาสัจจะน่ะไปพูดในภาษาคนบ้าง อีกข้างหนึ่งเอาไปพูดกันในภาษาธรรม มันเลยเกิดขัดแย้งกันทั้งที่เรียกว่าสัจจะ แต่ถ้าเข้าถึงหัวใจของสัจจะแล้วมันจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในโลกวิทยาศาสตร์คงจะแก้ปัญหานี้ได้ การศึกษาวิทยาศาสตร์จะช่วยให้ศาสนิกทุกศาสนาเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตนของตน ได้สักวันหนึ่งเป็นแน่นอน เดี๋ยวนี้มันก็จะต้องแยกกันไปก่อน ถ้าสถานการณ์มันอยู่ในลักษณะอย่างนี้ มันจะเปลี่ยนเร็วนักไม่ได้ เช่นว่าพวกหนึ่งจะถือว่าไอ้ความทุกข์ยากลำบาก หรือความดับทุกข์ก็ตามเป็นความประสงค์ของพระเป็นเจ้า อันนี้ก็ขอให้ทำให้ถูกตามประสงค์ของพระเป็นเจ้าเถิด อีกพวกหนึ่งถือว่าสุข ทุกข์ หรือความดับทุกข์นี้ มันเป็นการ เป็นผลของการกระทำผิด หรือกระทำถูกต่อกฎอิทัปปัจจยตา ซึ่งเป็นกฎของธรรมชาติ ถ้าตามหลักพุทธศาสนา ก็ต้องถือว่าเป็นไปโดยกฎอิทัปปัจจยตา มีพระบาลีกล่าวไว้ชัดเจน ซึ่งพวกเราก็ไม่ค่อยจะได้ยินได้ฟัง พระบาลีนั้นตรัสว่า สุขและทุกข์มิใช่เป็นผลของกรรมเก่า เรามักจะเชื่อว่าเป็นผลของกรรมเก่า และยึดมั่นถือมั่นในหลักเกณฑ์อันนี้กันมากนัก ถ้ามันเป็นผลของกรรมเก่าเราก็แก้ไขไม่ได้ แต่ทีนี้สุขทุกข์มันขึ้นอยู่กับการทำผิด หรือทำถูกต่อกฎอิทัปปัจจยตา แม้ว่ามันจะเป็นผลของกรรมเก่า ถ้าเราเอากฎอิทัปปัจจยตาเข้ามาถือเป็นหลักต่อสู้ มันก็ตีผลของกรรมเก่าแตกกระเจิงไป มันก็ไม่มีเหมือนกัน เดี๋ยวนี้เราอาจจะมีการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตาให้ถูกต้อง แล้วมันก็ไม่ต้องมีความทุกข์ และยังมีตรัสว่า สุขและทุกข์นั้นมิใช่เป็นการบันดาลของพระเจ้า คำว่าพระเจ้าในภาษาบาลีนั้นเรียกว่า อิศระ ในภาษาสันสกฤตเรียกว่า อิศวะ หรือ อิศวร ในภาษาอื่นๆ ก็เรียกว่าพระเจ้า ไม่ใช่เป็นการบันดาลหรือ นิมมานะ น่ะคือการบันดาลของพระเจ้า แต่ว่ามันเป็นไปตามกฎของอิทัปปัจจยตา ที่ปฏิบัติผิดหรือถูกต่อกฎของอิทัปปัจจยตา และอีกอย่างหนึ่งว่า สุขหรือทุกข์ทั้งหลายนั้น จะว่าไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยนั้นไม่ได้ มันมีเหตุมีปัจจัย เหตุปัจจัยนั้นก็คือกฎเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตา ปฏิบัติอย่างที่เกิดความทุกข์มันก็เกิดความทุกข์ ปฏิบัติอย่างที่มันดับทุกข์ มันก็ดับความทุกข์ ฉะนั้นสรุปความว่า หัวใจของพุทธศาสนา ถือในหลักทฤษฎีชั้นต้นนี้ทั่วไปว่า ความสุขและความทุกข์มาจากการปฏิบัติผิดหรือปฏิบัติถูกต่อกฎเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตา ไม่ใช่เพราะกรรมเก่า ไม่ใช่เพราะการบันดาลของพระเจ้า และไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุปัจจัยอะไรเสียเลย ฉะนั้นเราถือเอาหลักนี้แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์นั้นๆ ก็จะเข้าถึงหัวใจ หัวใจของพระพุทธศาสนา ว่าจะดับทุกข์กันได้อย่างไร ในพุทธศาสนานี้ ถือว่าไม่มีตัวตน ทุกอย่างเป็นธาตุตามธรรมชาติ เป็นธาตุน่ะ ธา-ตุน่ะ ไม่ใช่ ทา-สะ นะ เป็นธาตุตามธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่จะควรถือได้ว่าเป็นตัวตน และมันไม่มีตัวตน แม้แต่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เวลานี้ ที่นั่งอยู่เดี๋ยวนี้มันก็ไม่มีตัวตน จะเป็นขันธ์ห้าแต่ละขันธ์ ละขันธ์ มันก็มิใช่ตัวตน เป็นการปรุง เป็นการปรุงแต่งตามกฎของธรรมชาติ หรือจะลดลงไปจนถึงธาตุทั้งหก ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ มันก็เป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ มิใช่ตัวตน เมื่อเดี๋ยวนี้ก็ไม่มีตัวตน และมิใช่ตัวตนแล้ว มันจะเอาตัวตนที่ไหนตาย แล้วมันจะเอาตัวตนที่ไหนไปเกิดใหม่ นี่เมื่อกล่าวถึงความจริงโดยปรมัตถะมันเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ แล้วก็ตรัสตำหนิติเตียน ดุภิกษุไอ้เกวัฏฏบุตรน่ะ ในที่ประชุมสงฆ์ว่า แกอย่าพูดอย่างนั้น ก็ได้ยินว่าแกพูดว่าวิญญาณนี้แหละไปเกิด วิญญาณนี้แหละไปเกิด แกพูดอย่างนั้นจริงไหม ภิกษุนั้นก็รับว่าพูดอย่างนั้นจริง พระองค์ตรัสว่า โอ้ แกอย่าพูดอย่างนี้ ไม่มีวิญญาณนี้ไปเกิด ไม่มีตัวตนอะไรไปเกิด นี้เมื่อท่านกล่าวโดยปรมัตถธรรมเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าท่านจะกล่าวตามภาษาคนกับคนที่เชื่อว่ามีตัวตน ที่เขาเชื่อว่ามีตัวตน ก็มีกล่าวไว้ในที่ทั่วไปมากมายเหมือนกัน ว่าหลังจากตาย เพราะทำลายแห่งกายนี้ เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์บ้าง หลังจากทำลายร่างกายนี้แล้ว เข้าถึงเป็นอบาย ทุกขติวินิบาตบ้าง อย่างนี้ก็มี ขอให้รู้อันนี้เป็นหลักสำหรับกล่าวโดยภาษาคน สอนคนที่ยังมีตัวตน ไม่อาจจะเข้าใจความไม่มีตัวตน ก็จะยึดถือตัวตนที่ดี ปฏิบัติในทางดี เป็นสุคติเป็นสวรรค์มากกว่า ก็ยอมทิ้งไว้ว่ามันเชื่อกันมาแต่ก่อนโน้นว่าอะไรไปเกิด อ้าวก็อันนั้นแหละไปเกิด แต่ขอให้ปฏิบัติอย่างนี้ แล้วมันก็จะได้ไปเกิดมีความสุข แต่พอถึงคราวพูดจริง พูดเรื่องจริง พูดความจริงกันแล้วว่า เดี๋ยวนี้ที่อยู่ที่นี่มันก็มิใช่มีตัวตน มันเป็นแค่นามและรูป มาจากธาตุตามธรรมชาติ แม้มิใช่ตัวตนมันก็ทำหน้าที่ของมันได้ ร่างกายมิใช่ตัวตนมันก็ทำหน้าที่ของร่างกายได้ จิตใจมิใช่ตัวตนมันก็ทำหน้าที่ของตัวตนได้ แล้วมันจึงทำหน้าที่ไปตามความสามารถ จิตใจคิดนึกได้ มันคิดนึกอย่างไรก็ทำไปอย่างนั้น ทำผิดก็มีความทุกข์ มีความทุกข์หลายครั้งเข้ามันก็เข็ดหลาบ มันก็เหลียวกลับไปทางอื่น มันก็มีความคิดที่ถูกต้อง เดินไปทางที่ตรงกันข้ามคือดับทุกข์ ถ้าเข้าใจไปว่า ถ้าไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตนแล้วมันจะรู้จักทำอะไร มันจะไม่รู้จักทำอะไร มันรู้จักทำอะไรได้ตาม ตาม ตามคุณสมบัติหรือคุณค่าของธาตุตามธรรมชาตินั้นแหละ ธาตุดินทำหน้าที่ให้เป็นวัตถุขึ้นมา ธาตุน้ำเกาะกุมธาตุทั้งหลายไว้ ธาตุไฟก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ธาตุลมก็ทำให้เกิดการเลื่อนลอย ขยายตัว มันเป็นหน้าที่ของธาตุตามธรรมชาติ รวมกลุ่มกันแล้วก็ปฏิบัติร่วมกันจนมีชีวิต และก็มีจิตใจก็คิดไปได้ตามธรรมชาติของจิตใจ ไม่ต้องมีตัวตน ไม่ต้องมีตัวตนมันก็ทำของมันอย่างนี้ได้ ไอ้ที่ว่ามันเป็นทุกข์ขึ้นมาแล้วมันก็มีความคิดที่จะเดินทางตรงกันข้ามได้ เพราะฉะนั้นจิตใจของเรา เกิดมาจากท้องแม่ ไม่มีความรู้ติดมาจากในท้องก็มาทำผิดๆ กันสักพักหนึ่ง มีความทุกข์มากเข้า นานเข้า มันก็เกิดความคิดตรงกันข้าม มาหาความรู้โดยเฉพาะทางหลักธรรมะอันสูงสุด เพื่อจะดับความทุกข์นั้นเสีย นี้เรียกว่าเกิดมาด้วยความโง่ มันก็ต้องทำผิด และเป็นทุกข์เรื่อยๆ มา จนกว่าจะเบื่อระอาต่อความทุกข์ แล้วก็เกิดความฉลาด มันก็รู้จักวิธีที่จะดำรงชีวิตน่ะ คือกายและใจ นามและรูปนั่นแหละ ไปในทางที่ถูกต้องของนามรูปนั้นเอง เพราะส่วนที่เป็นนามหรือจิตนั้นมันฉลาดขึ้นทุกที ฉลาดขึ้นทุกที มันก็รู้มากขึ้นทุกทีจนเพียงพอที่จะดับทุกข์ได้ ไม่มีตัวตนอย่างนี้แล้วก็มันจะอยู่เหนือความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ท่านทั้งหลายมักจะสวดบทพระพุทธภาษิตครึ่งท่อน เพียงครึ่งท่อนที่ว่า เรามีความเกิดเป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความเกิดไปได้ เรามีความแก่เป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ เรามีความเจ็บเป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้ เรามีความตายเป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ แล้วก็นั่งร้องไห้โฮโฮอยู่อย่างนั้นเลย นั้นน่ะมันสวดครึ่งท่อน พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ถ้าสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ ได้อาศัยคถาคตเป็นกัลยาณมิตรแล้ว สัตว์ที่มีความเกิดเป็นธรรมดาจะพ้นจากความเกิด สัตว์ที่มีความแก่เป็นธรรมดาจะพ้นจากความแก่ สัตว์ที่มีความตายเป็นธรรมดาจะพ้นจากความเจ็บ ความตายเป็นธรรมดา นี่พ้นหมด ถ้าได้อาศัยพระองค์เป็นกัลยาณมิตร อาศัยพระองค์เป็นกัลยาณมิตรนั่นต้องหมายความว่า ปฏิบัติตามอย่างถูกต้องตามคำสั่งสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคืออริยมรรคมีองค์ ๘ แต่ในพระบาลีนั้นท่านตรัสไว้สมบูรณ์ว่า สัมมัตตะ ๑๐ มีระบบสัมมัตตะ ๑๐ นั่นแหละคือการมีพระองค์เป็นกัลยาณมิตร ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ในส่วนที่เป็นเหตุ เสร็จแล้วก็มีผลเกิดขึ้นเป็นสัมมาญาณะ และสัมมาวิมุตติ นี้เป็นส่วนผลอีกสององค์ รวมกันทั้งสามองค์เรียกว่าสัมมัตตะ ๑๐ มีระบบสัมมัตตะ ๑๐ เข้ามาแล้วก็พ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตายทั้งหมดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นขอให้ระลึกนึกถึงข้อนี้ว่าเรามีทางที่จะพ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย โดยอาศัยพระพุทธองค์เป็นกัลยาณมิตร และมีการปฏิบัติครบถ้วนตามหลักที่เรียกว่า สัมมัตตะ ๑๐ มรรคมีองค์ ๘ รู้จักกันดีอยู่แล้ว เป็นความถูกต้องเพียงแปด ในส่วนปฏิบัติ หรือส่วนที่เป็นเหตุ ต้องมีส่วนที่เป็นผลอีกสอง คือสัมมาญาณะ และสัมมาวิมุตติ ครบถ้วนทั้งสิบแล้ว ชื่อว่ามีพระพุทธองค์เป็นกัลยาณมิตร แล้วก็พ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย นี่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา โดยตรง โดยเฉพาะและอย่างยิ่ง คือทำให้พ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ไม่มีความยึดถือใดๆ โดยความ ในสิ่งใดๆ ว่าเป็นตัวเป็นตน ส่วนที่เป็นธาตุแต่ละธาตุก็ไม่ใช่ตัวตน ส่วนที่เป็นอายตนะแต่ละอายตนะก็มิใช่ตัวตน ส่วนที่เป็นขันธ์แต่ละขันธ์ก็มิใช่ตัวตน นี่เห็นความไม่มีตัวตน เข้าถึงความไม่มีตัวตนอย่างนี้แล้ว ก็ชื่อว่าเข้าถึงหัวใจแห่งพระศาสนา นี่คือหลักทั่วไป ที่เป็นหลักชั้นลึกชั้นหัวใจของพระพุทธศาสนา
การบรรยายนี้มีกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ว่าเพียง ๑๐ นาฬิกา แล้วก็จะต้องหยุดพักเพื่อประกอบพิธีอย่างหนึ่งก่อนแล้วจึงจะค่อยบรรยายต่อไป ดังนั้นจึงขอหยุดการบรรยายนี้ไว้ชั่วระยะหนึ่ง