แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
(นาทีที่ 10.08) ต่อไปนี้จะขอกล่าวความรู้สึกในใจบางอย่าง ท่านทั้งหลายได้กล่าวคำขอขมาโทษ นี้ก็เป็นการดีถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณี แต่ก็มีสิ่งที่จะต้องทราบว่าประเพณีนั้นก็เป็นสิ่งที่ต้องทำน่ะ ทั้งที่ไม่มีโทษ ก็ขอโทษและก็อดโทษ นี้ก็เป็นประเพณี เป็นพิธีกรรม ซึ่งจะนำไปสู่ความจริง มันตั้งต้นที่พิธี บางทีก็กลายเป็นรีตองไปด้วยซ้ำ แต่มันก็มีประโยชน์ที่ว่ามันเป็นจุดตั้งต้นที่จะนำไปสู่ความหมายอันแท้จริงหรือตัวธรรมะที่แท้จริง และสมมติว่ามีความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้นที่ทำให้ไม่สบายใจ ต้องขออภัยโทษ ก็ดีแล้ว ส่วนที่ไม่มีความรู้สึกอะไรที่เป็นไอ้ต้องขอโทษน่ะ ก็ขอโทษ ก็เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีต่อไป โดยเฉพาะแก่ลูกเด็กๆ การขอโทษและอดโทษนี้เรียกว่าเป็นอริยวินัย เป็นสิ่งที่จะกวาดล้างความรู้สึกขุ่นมัวแห่งจิตใจหลายอย่างหลายประการ ให้ออกไปจากจิตใจ คนเราไม่ควรที่จะมีชีวิตอยู่ด้วยความรู้สึกขุ่นมัวในจิตใจ ท่านจึงบัญญัติพิธีอันนี้ขึ้นมาสำหรับประพฤติปฏิบัติกัน ก็ได้ผล ว่าเราอยู่กันด้วยความสนิทใจ แต่จะขอร้องให้ท่านทั้งหลายต้องปฏิบัติเป็นนิจสิน คือพร้อมที่จะขอโทษและพร้อมที่จะอดโทษ เพราะว่ามันจะกวาดล้างกิเลสหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะกิเลสประเภทตัวตน ฉะนั้นขอให้คิดดูเถิดว่า ถ้าเราไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตนแล้วโทษมันจะเกิดขึ้นอย่างไรได้ นี่แหละมันเป็นไอ้เรื่องเดียวกันกับที่ว่า การดับทุกข์ทั้งปวงน่ะอยู่ที่ไม่มีความเป็นตัวเป็นตน ไม่รู้สึกเป็นตัวเป็นตน ชนิดเลวมากก็คือเห็นแก่ตน นี้มันก็เป็นทุกข์ แล้วพาลทำให้ผู้อื่นเป็นทุกข์ด้วย แม้จะเป็นชนิดดีตามปกติของสัญชาตญาณ รู้สึกว่ามีตัวเราอยู่เป็นเครื่องดำรงชีวิต มันก็ยังเป็นของหนักอยู่นั่นเอง ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนสิ่งสูงสุดหรือสุดท้าย ว่าปัดออกไปเสียให้หมดซึ่งตัวตน ไอ้ลัทธิศาสนาต่างๆ ที่เกิดอยู่ก่อนพระพุทธเจ้านั้นล้วนแต่มีตัวตน แล้วก็ไปบัญญัติว่ามีตัวตนอย่างนั้น มีตัวตนอย่างนี้ ดีที่สุดให้คนปฏิบัติตาม แต่ก็ไปจบลงด้วยความมีตัวตน ที่สูงสุดในประเทศอินเดียก็คือลัทธิอุปนิษัท ซึ่งสอนว่ามีตัวตนแล้วในที่สุดก็ไปมีตัวตนอันถาวร นั่นน่ะไปจบที่นั่น พระพุทธเจ้าท่านไม่ทรงเห็นด้วยว่ามันจะเป็นที่จุดสิ้นสุดจบแห่งความทุกข์ มันต้องออกไปเสียจากความรู้สึกว่ามีตัวตนโดยสิ้นเชิง ฉะนั้นลัทธิคำสอนที่สูงสุดในครั้งพุทธกาล ก็ดูจะไม่มีอะไรมากไปกว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ซึ่งอาจารย์ชื่ออุทกดาบสรามบุตรสอน พระพุทธเจ้าทรงกระทำได้ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ท่านรู้สึกว่าไม่ ๆ ไม่ใช่จบ ไม่ใช่ที่สุดจบแห่งความทุกข์ แม้จะไปมีตัวตนชนิดที่เกือบจะไม่มีความรู้สึกอะไรอยู่แล้ว มันก็เป็นที่สุดแห่งความทุกข์ไม่ได้ เนวสัญญานาสัญญายตนะแม้จะสงบเงียบเท่าไร มันก็ยังมีความหมายแห่งตัวตน เป็นอย่างนั้น มันไม่จบได้ พระองค์จึงทรงค้นของพระองค์เอง ในที่สุดก็พบลัทธิสูงสุดที่ว่าต้องปัดไอ้ความรู้สึกว่าตัวตนนี้ออกไปเสียให้หมดสิ้น เมื่อตัวตนมันหมดสิ้นไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวตนแล้ว จิตมันก็ไม่มีความทุกข์เลย อยู่ด้วยกันกับร่างกายที่ไม่มีความทุกข์ ครั้นถึงเวลาที่ร่างกายจะต้องแตกดับตามธรรมชาติก็แตกดับไป จิตมันก็เข้าถึงความว่าง จึงว่ามีที่สุดอยู่ที่ความว่าง เป็นธรรมะอันสูงสุดว่านิพพานเป็นความว่างอย่างยิ่ง คำอธิบายนี้แม้จะเป็นคำอธิบายของพระสารีบุตร หรืออะไรก็ตามที่กล่าวคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค ว่านิพพานเป็นความว่างอย่างยิ่ง นี้ถูกตรงตามหลักว่าคำสอนทุกชนิดระบุไปยังความว่างจากตัวตน ฉะนั้นในที่สุดก็พบความว่างแห่งตัวตนก็จัดเป็นพระนิพพานเป็นที่สุด เป็นที่จบสิ้นแห่งความทุกข์และปัญหาทั้งปวง เมื่อมันไม่มีตัวตนแล้วปัญหาอะไรมันจะตั้งอยู่ได้ แล้วความทุกข์อะไรมันจะตั้งอยู่ได้ มันจึงอยู่แต่ความว่าง สภาพความว่างเป็นนิรันดร นี่แหละขอให้ท่านทั้งหลายมองเห็นโทษแห่งความมีตัวตน ว่ามันยุ่งยากลำบากสักเท่าไร ต้องแบกของหนักคือตัวตน แล้วถ้าเลยเถิดไปกว่านั้น เลวมากกว่านั้น มันก็เห็นแก่ตน ก็ยิ่งหนัก ยิ่งร้อนมากขึ้นไปอีก แล้วก็พาลทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนด้วย เดี๋ยวนี้เรากล่าวคำขอขมาลาโทษในความหมายที่ว่ามีตัวตน ฉะนั้นก็ขอให้รู้สึกว่าเป็นจุดตั้งต้น เป็นขนบธรรมประเพณีหรือพิธีกรรมที่เป็นจุดตั้งต้น ที่จะนำไปสู่ความไม่มีตัวตน นี่ขอให้ตั้งใจอย่างนี้ มีความรู้สึกเศร้าหมองอะไรอยู่ ถ้าว่าเป็นเรื่องล่วงเกินผู้ใด ล่วงเกินผู้ใด ก็ขอให้ถือว่าเป็นการล่วงเกินพระธรรม พระธรรมซึ่งมีหลักว่าต้องไม่ประทุษร้ายแม้โดยความคิดแก่ผู้ใด ถ้าเกิดมีความคิดร้ายแก่ผู้ใดมันก็กลายเป็น นอกจากล่วงเกินผู้นั้นแล้ว มันก็ยังล่วงเกินพระธรรม เมื่อล่วงเกินพระธรรมมันก็เท่ากับล่วงเกินพระพุทธเจ้าผู้เปิดเผยซึ่งพระธรรม แล้วก็ล่วงเกินพระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติตามหลักธรรม นี่เราเป็นผู้ประมาทอย่างนี้ มันเป็นการล่วงเกินทั้งพระพุทธ ทั้งพระธรรม ทั้งพระสงฆ์ ฉะนั้นขอให้มีจิตใจเกลี้ยงเกลาว่าเราไม่มีความรู้สึกที่เป็นการล่วงเกินใดๆ อีกต่อไป มุ่งหมายความหมดสิ้นแห่งตัวตนซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความล่วงเกิน นี่แหละเป็นจุดตั้งต้นนำไปสู่จุดสูงสุด ขอให้การขมาโทษนี้มีลักษณะอย่างนี้ มีพฤติกรรมเป็นไปอย่างนี้ นำไปสู่จุดหลุดพ้น และผู้ที่ได้รับการขออภัยจากผู้ล่วงเกิน ก็เหมือนกันแหละ ถ้าไม่ให้อภัย นั่นแหละมันจะเป็นผู้รับเอาบาป เอาโทษอะไรต่างๆ ใส่ตนไว้ ฉะนั้นต้องให้อภัย รีบให้อภัย ก็จะเป็นการทำลายล้างซึ่งความยึดถือว่าตัวตนอย่างเดียวกัน ผู้ขออภัยก็ดี ผู้ให้อภัยก็ดีล้วนแต่ให้เป็นไปเพื่อการชำระชะล้างซึ่งตัวตนด้วยกันทั้งนั้น แม้กระทำในวันนี้ก็ขอให้เป็นการกระทำตลอดไป ไม่มีที่สิ้นสุด กว่าจะถึงที่สุดแห่งชีวิต และให้ถือเป็นหลักปฏิบัติว่า ถ้ามีอะไรพอรู้สึกขุ่นมัวในใจว่ากระทบกระทั่งใคร รีบขอโทษ ผู้ถูกขอโทษจงรีบให้อภัยโทษ ถ้าในโลกนี้มันเต็มไปด้วยการขอโทษและการให้อภัยโทษแล้ว จะไม่มีวิกฤตการณ์เลวร้ายใดๆ เกิดขึ้นมาได้เลย มันเป็นการสร้างสันติภาพให้แก่โลกทั้งโลกเลย ด้วยการยึดถือหลักที่ว่าขอโทษและอดโทษ ดังนั้นขอจงประพฤติปฏิบัติจนเป็นนิสัย และอบรมลูกเล็กเด็กแดงให้มันรู้จักขอโทษและอดโทษแก่กันและกันจนเป็นนิสัย อันลูกเด็กๆ เขาไม่ค่อยมีความรู้เ ขามีความไม่รู้ เขาก็มีความประมาท เพราะฉะนั้นมักจะล่วงเกินกันได้ง่าย ๆ ก็อบรมให้เขามีความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตน เป็นความร้าย นำมาซึ่งความเสียหายมีโชคร้ายเกิดขึ้น ก็ขอให้รู้จักขอโทษๆ ขอให้เด็กๆ ของเรารู้จักขอโทษแม้แก่สุนัขและแมว เพราะว่ามันต้องมีเรื่องกระทบกันบ่อยๆ แหละ แม้แต่สุนัขและแมว ก็ขอให้ลูกเด็กๆ ของเรารู้จักขอโทษ รู้จักขอโทษ และถือเป็นการได้รับอภัย เขาจะมีนิสัยที่ดี คือมีนิสัยเกลี้ยงเกลาจากสิ่งเศร้าหมอง ดังนั้นข้าพเจ้ารู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ถูกแล้ว ขอแสดงความพอใจ ยินดี ในการที่ได้รักษาอริยวังสปฏิปทา คือระเบียบปฏิบัติของพระอริยเจ้า ที่ท่านถือเป็นหลักสำคัญในการขอโทษและอดโทษในการกระทำในวันนี้ และขอให้ถือว่าเป็นการกระทำตลอดกาล แล้วก็จะชำระอนุสัยสันดานนี้ให้หมดจดเกลี้ยงเกลายิ่งขึ้นทุกทีๆ ขอโทษครั้งหนึ่งน่ะมันชำระอนุสัยในสันดานน่ะได้หน่วยหนึ่งเสมอแหละ มันจะมีลบ คะแนนลบแก่ฝ่ายอนุสัยอาสวะ ดังนั้นขอให้ปฏิบัติเป็นหลักประจำใจ ขอโทษได้แม้แต่กับผู้ที่อยู่ต่ำกว่าเรา แม้เขาจะเป็นลูกจ้าง เป็นคนใช้ เป็นอะไรต่างๆ ก็ขอให้ขอโทษและขอให้อดโทษ มันก็มีเกลี้ยงเกลา มีความเกลี้ยงเกลาในจิตด้วยกันทั้งสองฝ่าย เป็นรากฐานแห่งความสงบสุข เพียงเท่านี้มันก็เป็นปัจจัยแก่พระนิพพานเป็นอย่างยิ่ง คือมีจิตใจสงบเย็นเกลี้ยงเกลานั่น มันก็ได้ปัจจัยส่งเสริมเพิ่มพูนยิ่งๆ ขึ้นไป มันก็มีนิพพานเร็วขึ้น เป็นความเกลี้ยงทั้งหมดแห่งจิตใจ มันก็มีความสงบเย็นตามความหมายของคำว่านิพพาน จึงขออนุโมทนาในการกระทำนี้โดยธรรมะ โดยวินัย ขออนุโมทนาด้วยเป็นอย่างยิ่งในการกระทำทั้งหลายและโดยส่วนตัวก็ขอขอบพระคุณ ขอบคุณ ขอบใจ แก่ท่านทั้งหลายที่ได้กระทำอย่างนี้กับข้าพเจ้า ดังนั้นขอให้ประสบผลสำเร็จในการกระทำนี้ คือมีความเป็นอยู่ที่ถูกต้องแก่การที่จะดับทุกข์ ทุกขั้นตอนแห่งชีวิตเป็นอุปนิสัย ปัจจัย ไปจนตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพานอย่างที่เราใช้กัน ขออนุโมทนาและขอขอบพระคุณและขออดโทษ อดหมด ไม่มีอะไรเหลือ เพราะว่าอาตมาไม่ถือโทษ มีปกติไม่ถือโทษ มันก็เลยเป็นการอดโทษอยู่โดยอัตโนมัติ ฉะนั้นเป็นอันว่าเราสองฝ่ายมีจิตใจเกลี้ยงเกลาจากสิ่งที่เรียกว่าโทษและก็มีความสุข ความเจริญงอกงามอยู่ในธรรมครรลองของพระศาสนา ด้วยความมีจิตเกลี้ยงเป็นผาสุกอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ
(นาทีที่ 31.39 ท่านเจ้าคุณพระราชญาณกวี เจ้าคณะจังหวัดชุมพร)
พระเถรานุเถระ ท่านพุทธศาสนิกชน ตลอดถึงท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ก่อนที่จะได้มีการประกอบพิธีต่อไป คือท่านประธานองคมนตรีจะได้นำจีวรพระราชทานมาถวายแด่พระเดชพระคุณหลวงพี่ ท่านเจ้าคุณเทพวิสุทธิเมธี ยังมีเวลาว่างอยู่อีกในตอนนี้ ยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องประกอบพิธีดังกล่าวนั้น เลยอาตมาภาพได้รับฉันทานุมัติให้พูดหรือกล่าวคำสัมโมทนียคาถา เรื่องเล็กๆน้อยๆ จะว่าเป็นการถ่วงเวลาหรือว่าฆ่าเวลา ตามที่เราเคยพูดกันก็ได้ แต่ว่าอาตมาภาพจะไม่ฆ่าเวลาหรอก จะขอถือโอกาสพูดอะไรนิดๆ หน่อยๆ ปล่อยเวลามันทำหน้าที่มันเอง อาตมานี้ก็จะได้ขอถือโอกาสพูดโดยเฉพาะเกี่ยวกับการประกอบพิธีนี้ ที่เราได้กระทำมาแล้ว คือพิธีที่เรียกว่าขอขมาโทษ คำว่าพิธีขอขมาโทษ ซึ่งเป็นพิธีที่เราได้กล่าวก่อนที่จะถวายสักการะ อย่างที่เราได้กระทำมาแล้วนั้น ถ้าจะพูดไปก็เป็นพิธีกรรม ที่จะทำความบริสุทธิ์ใจในระหว่างกันและกัน ทั้งนี้ เพราะเหตุว่าเราที่อยู่กันด้วยกันน่ะ จะเป็นหมู่เป็นคณะใหญ่ คณะเล็กน้อยอะไรก็ตามทีเถอะ มันอาจจะมีการกระทบกระทั่งกันบ้างทางใดทางหนึ่ง อาจจะเป็นการกระทบกระทั่งกันทางกายบ้าง หรือทางวาจา หรือว่าทางใจบ้าง นี่มันเป็นเรื่องธรรมดา ที่เราอยู่ร่วมกัน เพราะเราอยู่นิ่งไม่ได้ เพราะเรายังไม่ตาย แม้ที่สุดเราเวลาตาย อาจจะมีสิ่งอื่นทำให้มีการเคลื่อนไหวไปก็ได้ เช่นสัตว์มันแทะเนื้อแทะหนังของเราที่ตาย มันก็อาจจะมีการเคลื่อนไหวไป ทั้งที่ว่าตายๆ อาจจะมีการเคลื่อนไหว ทีนี้เราเป็นๆ กันนี่ ไม่ว่าเราจะยืน ไม่ว่าเราจะนั่ง หรือจะประกอบกิจกรรมทางกายวาจา หรือน้ำใจอย่างไรก็ตาม มันอาจจะมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง กระทบกระทั่งกันก็หมายความด้วยความสำนึกหรือด้วยความรู้สึกที่เป็นปฎิปักษ์หรือเป็นข้าศึกในระหว่างกันและกัน ทีนี้เป็นธรรมเนียมของพวกเราที่เป็นชาวพุทธน่ะ แม้ว่าเราจะมีกิจกรรมหรือการกระทำบางสิ่งบางอย่างที่เป็นโทษอยู่บ้าง แต่เราก็ไม่ต้องการโทษ เราไม่ต้องการที่จะเก็บโทษนั้นไว้ เมื่อเรามีโทษ เราก็ต้องหาวิธีการที่จะเอาออก การประกอบพิธีขอขมาโทษนี้ ก็นี่ ก็เป็นพิธีกรรม ถ้าจะพูดไปแล้วก็คือลบล้างโทษกันทั้งสองฝ่าย หากว่าจะมี ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีโทษ ก็พยายามทำการลบล้างขอโทษ ขอให้อีกฝ่ายหนึ่งอภัยโทษ เมื่อเขาให้อภัยโทษ แล้วก็เป็นธรรมเนียมอีกทีหนึ่งว่า แม้ผู้ที่ให้อภัยโทษก็ขอโทษเหมือนกัน แล้วเราให้โทษ เอ่อ ให้อภัยโทษ ดังที่เรากล่าวเมื่อตะกี้น่ะ กล่าวเป็นภาษาบาลี ถ้าพูดเป็นภาษาไทย เริ่มแรกท่านจะเห็นฝ่ายพระ ซึ่งอาตมาภาพ ในฐานะที่เป็นอาวุโสเป็นผู้นำ กล่าวคำขอขมาโทษต่อพระเดชพระคุณ หลวงพี่พระเทพวิสุทธิมุณีนี่ ที่ว่า มหาเถเร ปมาเทนะ ทวารัตตะเยนะ กะตัง สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต หรือ ขะมะตุเม ภันเต ขะมะตุโน ภันเต ก็แปลว่า ท่านผู้เจริญ การกระทำผิด การกระทำชั่ว การกระทำล่วงเกิน ทางใดทางหนึ่ง ทางกายก็ตาม ทางวาจา หรือแม้ที่สุดทางน้ำใจก็ตาม จะด้วยความประมาทพลาดพลั้งทางใดทางหนึ่งก็ตาม ก็ขอให้ท่านอดโทษให้ อย่าถือโทษ ให้อภัยโทษเสีย เลยท่านก็รับว่า อะหัง ขะมามิ ตุมเหหิปี เม ขะมิตัพพัง เมื่อข้าพเจ้าอดโทษแล้ว แม้ท่านทั้งหลายก็อดโทษให้ด้วย นี้คำที่เรากล่าวกันก็มีไม่มากเพียงแค่นี้ และในที่สุดก็สาธุกัน ว่าดีกันแล้ว เสร็จแล้ว ไอ้คำที่เรากล่าวกันนิดๆ หน่อยๆ อย่างนี้นี่ อมความหมายที่สลักสำคัญกันมาก มีอยู่มากทีเดียว เพราะอะไร เพราะเหตุว่าคนเราน่ะโดยมาก ตามปกติมักจะมีกิเลส คือมีการกระทำชั่วทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าทางกาย วาจา หรือทางใจ และก็เป็นธรรมดาของคนเราที่ยังมีกิเลสอยู่ด้วย เมื่อมีกิเลสแล้ว แทนที่จะเอากิเลสออก ขยายกิเลสเสีย มักจะติดไปเสียด้วย มันจะติดกิเลสไป แม้เราจะมีการไม่ถูกกัน มีการกระทบกระทั่งกัน ทางกาย หรืทางวาจา หรือว่าทางน้ำใจ ด้วยประการหนึ่งประการใดก็ตาม แต่โดยมากเรามักไม่ค่อยขยาย อุบไว้ข้างใน เราไม่ชอบใครก็เหมือนกัน เพราะการกระทบกระทั่งกัน ทางกาย หรือทางวาจา หรือทางน้ำใจ เราก็อุบไว้เฉยๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ ไม่เอาออก ไม่ขยายกัน จะเป็นเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งก็ตามที แต่ว่าโดยมาก เรามักไม่ค่อยขยายกัน เมื่อไม่ขยายมันก็เก็บไว้ เก็บก็คืออารมณ์อะไร อารมณ์ที่ไม่ดี เมื่อเรามีการกระทบกระทั่งทางกายก็ตาม ทางวาจา หรือว่าทางน้ำใจก็ตาม เมื่อกระทบกระทั่งกันแล้วมันเกิดโทษ มันไม่ดี มันอาจจะเกิดโกรธ เกิดเกลียด เกิดอาฆาต เกิดพยาบาท อะไรขึ้นมาก็ได้ ถ้าหากว่าเราไม่ขยายเสีย เราอุบไว้ ก็ทำนอง คล้ายกับว่าเราติดของสกปรกแล้วก็ไม่ชำระชะล้าง มันก็คงสกปรกอยู่อย่างนั้นเอง นี่ไม่ถูกกันกับการประพฤติปฏิบัติของชาวพุทธเรา ชาวพุทธเรา เราไม่ชอบความชั่ว ไม่ชอบการกระทบกระทั่งกัน ไม่ว่าทางกาย หรือทางวาจา หรือทางน้ำใจ จะไม่ชอบ แต่เพราะเหตุว่าเรามันยังเป็นผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังไม่สิ้นอรหันต์ พระอรหันต์เท่านั้นแหละที่เรียกว่าผู้ปาปมุต พ้นจากบาป ไม่เช่นนั้นล่ะไม่ต้องพูดถึงเรา ปุถุชนธรรมดา แม้ที่สุดแต่พระโสดา สกิทาคา อนาคา ล่ะก็ ที่ยังมีสังโยชน์ มีมุมมืดในดวงใจ เป็นที่ซ่อนเร้นของกิเลส มันยังมีอยู่ เมื่อเป็นอย่างนั้นน่ะ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงพวกเรากระมัง มีการกระทบกระทั่งกัน ไม่ว่าทางกาย วาจา หรือใจ มันก็มีการกระทบกระเทือนกันบ้าง หรือถ้าหากว่า การกระทบกับอารมณ์ที่ไม่ดีซึ่งเหมือนกับถูก หรือกระทบกระทั่งสิ่งสกปรก มันก็ต้องมีสิ่งสกปรก นี่เป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าคนที่ไม่รักของสกปรก รักของไม่ดีนี่ เมื่อของสกปรกหรือของไม่ดีมันมาติดเนื้อติดตัวนี่มันต้องชำระชะล้างซะ ถึงแม้ว่ามันจะอาจจะติดของสกปรกบ้าง เพราะว่าเราอยู่ในท่ามกลางของสกปรก แต่เมื่อเรารู้ว่า เอ่อ นี่มันของสกปรก มันไม่ดี เมื่อเห็นว่า เอ่อ มันของสกปรก ก็เอาชำระชะล้างเสียให้มันหาย ให้มันมีสกปรกบ้าง มีสะอาดบ้าง อย่างนี้สลับกันก็ยังดี หากว่าไม่สามารถจะทำให้สะอาดด้วยประการทั้งปวง แต่ว่าถ้าเพียงแต่ว่าให้มีความสะอาดเป็นครั้งๆ คราวๆ เมื่อมันสกปรกขึ้นมาก็เอาชำระชะล้างเสียอย่างนี้ก็ยังดี นี่แหละเพราะฉะนั้น จึงมีวิธีการปฏิบัติในทางชาวพุทธเรา คือว่า เราอยู่ด้วยกัน ซึ่งอาจจะมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง โดยวิธีการทางใดทางหนึ่งอย่างที่เขาบอกว่า แม้ลิ้นกับฟัน อยู่ในที่แห่งเดียวกัน ในที่จำกัดยังกระทบกัน แต่ว่าเราก็ไม่โกรธกัน ลิ้นกับฟันก็จะโกรธกันไม่ได้ เพราะลิ้นก็ต่างก็เป็นส่วนของร่างกาย ฟันก็เป็นส่วนของร่างกาย ซึ่งต่างก็ต้องประพฤติหรือกระทำตามหน้าที่เพื่อความอยู่รอดของร่างกาย เพื่อความอยู่รอดของชีวิต เพราะฉะนั้นโกรธกันไม่ได้ ฉันใดก็ดี พวกเราที่อยู่ร่วมกันอย่างนี้น่ะ บางทีเราก็มาอยู่กันตั้งหลายๆ วัน อย่างนี้ แล้วเราก็พากาย พาวาจา พาใจมาด้วย แล้วกายมันก็ไม่ตาย วาจาก็ไม่ตาย ใจมันก็ยังไม่ตาย มันยังมีการกระดุกกระดิกอยู่เรื่อย จึงว่าอาจจะมีการกระทบกระทั่งกัน ทางกายบ้าง กระทบกระทั่งกันทางวาจาบ้าง กระทบกระทั่งกันทางใจบ้าง เมื่อมีการกระทบกระทั่ง แสดงว่ามันเกิดกระเทือนขึ้นมา ทำใจคอให้ไม่สบาย บางทีเกิดอารมณ์โกรธขึ้นมาบ้าง อารมณ์เกลียดขึ้นมาบ้าง หรือว่าอารมณ์อื่นๆ ซึ่งทำให้ปกติของกาย ของวาจา ของใจ มันกระเพื่อมออกไป ไม่สบายล่ะทีนี้ ทีนี้ก็หน้าที่ของเรา เมื่อเห็นว่า เอ่อ มันเกิดสิ่งกระทบกระเทือนขึ้นมาแล้ว ทางใดทางหนึ่ง เราไม่ชอบ พระพุทธเจ้าต้องการหรือปรารถนาให้เราชำระสิ่งเหล่านั้น ซึ่งเป็นมูลเหตุให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความคึ้งเคียดอาฆาตพยาบาท แม้ที่สุดในทางใจนี่ พระพุทธเจ้าไม่ชอบ ไม่ให้มีอยู่ แม้ไม่กระทบกระทั่งกันทางกายทางวาจา แต่คิดกันในทางใจ อย่างนี้มันก็ไม่ดี ทำให้ใจไม่ดีแล้ว เพราะฉะนั้นจึงมีคำกล่าว ที่ว่าหากว่าจะมีความชั่วความผิดในไตรทวาร คือ ที่กายก็ตาม ที่วาจา หรือแม้ที่สุดที่ใจก็ตาม เช่นเรามานั่งๆ รวมๆ กัน หันไปดูพบใครคนใดคนหนึ่ง ที่เรียกว่าจะเป็นวิสภาคารมณ์ หรือที่เราไม่ค่อยชอบ ก็เกิดคิดในใจขึ้นมา แหม น่า วางท่าวางทางไม่เข้าเรื่อง หรือได้ยินเสียงที่เราไม่ชอบ ก็นึกโกรธนึกเกลียดอะไรอย่างนี้ แม้แต่ว่านึกคิดในใจมันก็ไม่ดี มันถือว่าเป็นโทษ ฉะนั้น นั่นแหละถ้าหากว่าเกิดมีโทษขึ้นมาไม่ว่าทางกาย วาจา หรือทางน้ำใจ ต้องเอาออก เมื่อเรามีการเกี่ยวข้องกับผู้อื่นแล้วก็ เอ้า ไปเอาออกกันเสีย เรียกไปทำความตกลงกันเสีย ในระหว่างพวกเราจึงมีการขอขมาโทษกันในบางครั้งบางคราว หรือกับผู้อื่นที่เรามีการติดต่อ จะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่อะไรก็ตาม เช่นอย่างเมื่อกี้นี้ ที่เราได้เคารพนับถือ พระเดชพระคุณหลวงพี่ นี่ก็เพราะเราเคารพนับถือ ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ที่เราเคารพบูชา เป็นอุปัชฌาย์ เป็นอาจารย์ที่เราเคารพนับถือทางใดทางหนึ่ง นี่เรามาขอขมาโทษ ตามธรรมเนียม แม้ว่าบางท่านอาจจะไม่ได้ทำอะไรล่วงเกินต่อท่าน ไม่ว่าทางกาย หรือวาจา หรือทางใจ ไม่ได้ล่วงเกินหรอก แต่ว่าบางทีเราอาจจะไม่รู้ก็ตาม เราไม่รู้ก็ได้ เช่นเห็นว่าเรารอให้ท่านมา มาที่นี่ ต้องการจะฟังโอวาทคำสอนอะไรของท่านบ้าง แต่ท่านแก่ๆ ออกเดินมาไม่ทัน ไม่ทันใจเรา อะไรมันจะทันใจล่ะ เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ทันใจเรามันก็เกิดไม่สบายใจ ไม่ว่าอะไร แต่เพียงแต่ว่าเกิดกระทบกระทั่งอย่างนี้น่ะ โดยอาศัยท่านเป็นอารมณ์อย่างนี้แล้ว มันเป็นโทษแล้วเหมือนกัน นี่เรียกว่า ในใจเราจะคิดอย่างหนึ่งอย่างใด ที่มันเป็นโทษ เป็นความโกรธความเกลียดคึ้งคียดอาฆาตพยาบาทอะไรก็ตาม แม้ในรูปที่ละเอียด ก็ถือว่าผิด เราจึงมาประกอบพิธีขอโทษกัน ก็ถือว่านี่มันเป็นโทษ ทั้งที่ใครไม่เห็น ท่านก็อาจจะไม่ทราบ เพราะไม่ได้ระลึกนึกถึง ว่าเราจะโกรธ ท่านอาจจะไม่ทราบ แต่เราเรียกว่าเกิดโทษขึ้นมาเองแล้ว นึกขึ้นมาเอง ทีนี้เราผู้ไม่รักความชั่วความทุกข์ เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เลยเมื่อเห็นว่า เอ่อ นี่มันเป็นโทษ ไม่ดีนี่ ท่านจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แต่ถ้าหากว่าเรานึกในทางที่ว่า ประทุษร้ายจิตใจของเราเอง เราก็ควรขอขมาโทษ นี่ให้ระลึกว่า การประกอบพิธีขอขมาโทษอย่างที่เราทำนี้น่ะ เป็นการกระทำของอารยชน ขอยืนยันบอกไว้อย่างนี้ด้วย คือของคนผู้ที่เจริญแล้ว คนที่เจริญนั่น เมื่อรู้โทษแล้วก็พยามที่จะแก้โทษ สารภาพโทษ นี่เป็นการกระทำของยุวชน คนธรรมดาน่ะไม่ทำหรอก บางคนน่ะเรียกว่าทำความผิดล่วงเกินอย่างเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนแจ่มแจ้งอยู่แล้ว ก็ยังไม่รับ ไม่สารภาพเสียอีก พยายามที่จะตีความหมาย ความผิดความเสียน่ะว่าเป็นความถูกซะอีก อย่างนี้ก็มี ไม่มีใครอยากทำหรอก เพราะฉะนั้นการกระทำอย่างนี้เพราะเราไม่ชอบความโกรธความเกลียดคึ้งคียดอาฆาตพยาบาท มันเป็นอารมณ์ทางจิตใจที่ควรจะนิ่งแน่ หวั่นไหวไป เป็นระลอกไปอย่างนี้ เราก็มาทำเสีย นี่เป็นการกระทำของคนดีนะ เพียงแค่นี้ก็เราได้บุญไม่รู้สักเท่าไหร่แล้ว ทำตัวเราให้เป็นคนดีขึ้นมาไม่รู้เท่าไหร่ เพราะคนไม่ดีน่ะไม่ทำ นี่เรียกว่าตัวเรานี่ก็ ที่เรามาทำอย่างนี้ ถือเป็นคติว่านี่ ถือเป็นการกระทำที่ดี เอาล่ะ ที่จริงอาตมาภาพนั่นก็ไม่ค่อยสบาย อาตมาภาพนี้ก็เรียกว่าสุขภาพนั้นไม่ดี แต่ถ้าได้พูดอย่างนี้มันสบาย โดยเฉพาะในระหว่างที่ได้มาพูดต่อหน้าพระเดชพระคุณที่เราเคารพนับถือ และท่านทั้งหลายที่มีโอกาสคล้ายกับเป็นพวกเดียวกัน ทำให้สบายใจ พูดแล้วก็ทำให้มันสบายขึ้น แต่พอดี จวนได้จวนจะถึงเวลาแล้ว ท่านปัญญาก็มาสะกิด กลัวจะเป็นลม สลบซะในขณะพูด ก็เลยก็จำเป็น ก็จะต้องขอยุติ พร้อมกับแสดงความปรารถนาดีกับทุกๆ ท่าน ขอให้มีความสุข ความเจริญ (สาธุ)
(เริ่มนาทีที่ 1.39.00.7)
ท่านสาธุชนและเพื่อนสหธรรมิกทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดีในการมาของท่านทั้งหลาย ในลักษณะอย่างเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเพื่อประโยชน์อะไร แต่เราก็ยังจะต้องทำความเข้าใจกันอยู่บ้างตามเคย ขอบพระคุณในการมาเป็นข้อแรก ด้วยความหวังดีแก่ข้าพเจ้า แล้วก็ขอบพระคุณในการให้ของขวัญ ไอ้ทีนี้การทำบุญเนื่องด้วยอายุของเรานั้นน่ะมันแปลก มันแปลก การให้ของขวัญมันจึงแปลก โดยทั่วไปเขาก็ให้ของขวัญในลักษณะวัตถุสิ่งของหรืออะไรก็ตามเรื่องของการทำบุญ ประเภทที่เรียกกันว่าต่ออายุ แต่ของเราในที่นี้มันเป็นการทำบุญประเภทล้ออายุ ช่วยเข้าใจในความมุ่งหมายอันนี้ให้ถูกต้อง ให้สำเร็จประโยชน์ ทำบุญต่ออายุนั้นน่ะมันก็เป็นของทั่วๆ ไป ที่กระทำกันอยู่ มีสมุฏฐานมาจากความขลาด ความกลัว จึงทำบุญต่ออายุ ส่วนทำบุญล้ออายุนี้มันมีสมุฏฐานมาจากความกล้าหาญ เผชิญหน้ากับการล่วงไปๆ แห่งอายุ ทำบุญต่ออายุกับทำบุญล้ออายุมันจึงไม่เหมือนกัน แล้วบางทีมันจะตรงกันข้ามก็ได้ ข้าพเจ้าเลือกเอาการทำบุญต่ออายุด้วยความมุ่งหวังว่า ต่ออายุไม่ใช่ของตนเองแต่ว่าสืบอายุพระศาสนา การบำเพ็ญบุญชนิดไหนจะเป็นการสืบอายุพระศาสนาเราก็เลือกเอาการบำเพ็ญบุญชนิดนั้น ดังนั้นการบำเพ็ญบุญประเภทล้ออายุมันก็เกิดขึ้น คือมีสติสัมปชัญญะล้ออายุที่มันช่างเปลี่ยนไป เปลี่ยนไปอย่างรุนแรง อย่างรวดเร็วยุ่งกันไปหมด ไม่ หาความสงบไม่ได้ นี่เราจะล้อมัน เราจะล้อมันว่าอายุอะไรบ้าบออย่างนี้ มันควรจะมีความปกติ เป็นสุข สงบ ควรจะท้าทายการเปลี่ยนแปลงหรือการหมุนไปแห่งอายุ ว่าเราควบคุมได้ เราก็จะล้ออายุมาตั้งแต่วันแรกเกิดจากท้องมารดา ไม่ได้กินอะไรเลย ก็อยู่ได้ เพื่อระลึกนึกถึงเหตุการณ์อันนี้ และเหตุการณ์ต่อไปก็ว่าเราจะมีการให้ของขวัญในวันนี้ คือการเว้นการกินอาหารเสียสักหนึ่งวัน หนึ่งวัน โดยนึกถึงวันแรกคลอดมาก็ไม่ได้กินอะไร กินแต่น้ำ วันนี้ก็เหมือนกันไม่กินอะไร กินแต่น้ำ มันเป็นการบังคับความรู้สึก เป็นการฝึกหัดจิตใจให้อยู่ในการบังคับ สามารถจะรักษาระเบียบและร่องรอยใดๆ ไว้ ด้วยความเข้มแข็ง จึงมีการให้ของขวัญกันด้วยการเว้นการกินอาหารหนึ่งวัน ก็ปรากฏว่ามีผู้ให้ของขวัญจำนวนมากมาย นี้ขอขอบพระคุณเป็นพิเศษ ถ้าว่าเราจะมีการเว้นการกินอาหารกันสักหนึ่งวัน สมมติว่าอาหารมีราคา ทั้งวันนะเอาสัก ๑๐ บาท ทั้งวันอาหารทั้งวัน คน ๕๐ ล้านคนก็จะประหยัดเงินได้ ๕๐๐ ล้านบาท มันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นะ มันสามารถจะมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จะทางอะไรล่ะ ไปเสียทุกอย่างแหละ อดอาหารกันเสียหนึ่งวันนี่ประหยัดเงินได้ตั้ง ๕๐๐ ล้านบาทสำหรับ ๕๐ ล้านคน แต่ว่ามันไม่ใช่จะคิดกันแต่ในแง่เศรษฐกิจอย่างนั้น มันมีคิดกันถึงความเข้มแข็ง การบังคับจิตได้ การบังคับจิตได้น่ะเป็นปัจจัยสำคัญของทั้งหมด ที่จะปฏิบัติตนให้อยู่ในครรลองของความดับทุกข์ เป็นอันว่าท่านทั้งหลายที่ได้ให้ของขวัญในวันนี้ จงประสบความสำเร็จในการบังคับกาย บังคับจิต อยู่ในร่องรอยตามที่เราต้องการ เราต้องการอย่างไรมันควรจะได้อย่างนั้น เราตามใจตัวมากี่วัน กี่วัน ไอ้นั่นก็รู้กันอยู่ เราจะไม่ตามใจตัวเสียสักหนึ่งวันก็ยังได้ และก็ปฏิบัติในลักษณะที่ว่าเป็นผู้ไม่ประมาท อดกลั้น อดทน มันก็มีความถูกต้อง ไม่เสียหายอะไร แต่คนขลาดทำไม่ได้ เพราะมีความขลาดครอบงำแล้วอะไรๆ มันก็เปลี่ยนไปหมด ดังนั้นมันก็จะต้องกระวนกระวาย หรือหิว หรือเดือดร้อน หรืออะไรไปต่างๆ นาๆ แต่ถ้าตั้งใจหรือบอกตัวเอง วันนี้งด มันก็งดแหละ เข้าใจว่าแม้แต่น้ำย่อยอาหารมันก็จะพลอยงด พลอยหยุดที่จะส่งออกมา ปัญหาก็ไม่เกิดแก่กระเพาะลำไส้อะไร หรือว่าถ้าจะเกิด จะมีการออกตามปกติก็ไม่เป็นไร มันก็กินน้ำชดเชยได้ ได้ความว่าเป็นการ เป็นนาย มีอิสระเหนือร่างกายโดยเฉพาะกันเสียสักวันหนึ่ง เพราะเหตุผลดังที่กล่าวมาสรุปความว่าเป็นการเตรียมความเข้มแข็งสำหรับจะเป็นมนุษย์ที่เข้มแข็ง มาเผชิญกับหน้าที่ทุกขั้นตอนได้เป็นอย่างดี และขอให้ทุกท่านได้รับอานิสงส์แห่งการให้ของขวัญในวันนี้ด้วยกันจงทุกคนในลักษณะอย่างนี้ ไม่ใช่เพียงแต่ว่าเป็นการขอบคุณของข้าพเจ้า ขอให้ได้ผลเป็นประโยชน์ในด้านจิตใจตามธรรมชาติแก่ท่านทั้งหลาย นี้เรียกว่าเป็นการศึกษาอายุ เป็นการรู้จักอายุ เป็นการปฏิบัติต่ออายุและก็มีผลดีเกี่ยวกับอายุนั่นเอง นี่เป็นข้อความเบื้องต้นที่จะปรารภซักซ้อมความเข้าใจกันอย่างที่เคยทำมาแล้ว ดังนั้นขอขอบพระคุณที่มาด้วยน้ำใจ ร่วมการทำบุญล้ออายุ ส่วนความลำบากนั้น จะให้ จะปรับให้เป็นข้อบกพร่องของข้าพเจ้าก็ได้เหมือนกัน แต่ว่าถ้าลำบากเท่าไรก็เป็นการล้ออายุเท่านั้น ยิ่งได้รับความลำบากในการมาหรือว่ามาร่วมงานนี้เท่าไร ก็ยิ่งได้ผลเป็นการล้ออายุของตัวเองมากเท่านั้น แต่ถ้าจะให้เป็นความรับผิดชอบของเจ้าของถิ่นก็รับผิดชอบและขออภัย แต่ขอกล่าวว่าขอให้ความลำบากนั้นเป็นการทำบุญล้ออายุ หรือบูชาคุณร่วมกันในการล้ออายุในวันนี้ ทีนี้ก็จะได้กล่าวธรรมะเนื่องในโอกาสนี้ อย่างเดียวกับที่เคยกระทำมาแล้วในปีก่อนๆ ว่า จะมีการบรรยายธรรมสามครั้งคือภาคเช้า ภาคบ่ายและก็ภาคกลางคืน และก็ยังคงกระทำไปตามหลักเกณฑ์ที่ได้วางไว้แล้ว บัดนี้ก็จะได้มีการบรรยายธรรมที่เรียกว่าเป็นภาคเช้า การบรรยายธรรมปีนี้ก็จะบรรยายตามหลักปณิธานสามประการของข้าพเจ้า ในข้อแรกก็ว่าพยายามให้เข้าถึงหัวใจแห่งพุทธศาสนาแห่งศาสนาของตน ของตน ไม่ว่าจะถือศาสนาอะไร และข้อที่ ๒ ให้ทำความเข้าใจเป็นอันดีในระหว่างศาสนาทุกศาสนา เพื่ออยู่ร่วมกันในโลก เพื่อช่วยเหลือโลกให้ประสบสันติภาพ ในลักษณะเป็นสหกรณ์ของศาสนาทุกศาสนา ในการทำหน้าที่ร่วมกันเพื่อช่วยโลก ปณิธานข้อที่ ๓ ก็เป็นการมุ่งหมายที่จะดึง หรือชัก หรือลากไอ้โลกนี่ออกมาเสียจากอำนาจของวัตถุนิยม วัตถุนิยมกำลังครองโลก เป็นปัจจัยแห่งการเห็นแก่ตัว เกิดกิเลสเป็นทุกข์ส่วนตัว เกิดการเบียดเบียนเป็นทุกข์ในส่วนสังคม เดี๋ยวนี้โลกเจริญด้วยวัตถุ พัฒนาวัตถุ จนตกเป็นทาสของวัตถุ ช่วยเข้าใจคำนี้กันไว้ให้ดีๆ ว่าเป็นทาสของวัตถุ บูชาวัตถุเหมือนกับบูชาพระเจ้า จนจะกล่าวได้ว่าเดี๋ยวนี้เขาก็ถือศาสนาวัตถุกันเสียแล้ว และก็เป็นวัตถุนิยมชนิดที่สร้างปัญหาด้วย ถ้าอย่างไรเราทุกคนจงออกมาเสียจากอำนาจอิทธิพลของวัตถุนิยม ปณิธานมีอยู่เป็นสามประการดังนี้ ในตอนภาคเช้านี้จะพูดถึงปณิธานข้อแรก ส่วนข้อสองไว้ภาคบ่าย ข้อสามไว้ภาคกลางคืน ปณิธานข้อแรกสรุปความว่า เข้าถึงหัวใจแห่งศาสนาของตนๆ แล้วแต่ว่าจะกำลังถือศาสนาอะไร คำว่าศาสนาในที่นี้หมายถึงศาสนาที่ถูกต้อง ไม่ใช่ศาสนาวัตถุนิยม ไม่ใช่ศาสนาเงิน ไม่ใช่ศาสนากามารมณ์ แต่เป็นศาสนาที่ถูกต้องและที่มีอยู่สำหรับคุ้มครองโลก แต่ละศาสนาก็มีหัวใจ คือความมุ่งหมายส่วนสำคัญ นี่เรียกว่าจะตรงกันทุกศาสนาก็ได้ คือเพื่อสันติสุขของโลก ด้วยเครื่องมือคือความไม่เห็นแก่ตัว ทุกศาสนามุ่งหมายจะกำจัดความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวนี่เป็นอันตราย เป็นศัตรูร้ายยิ่งกว่าสิ่งใดของมนุษย์ ก็เห็นแก่ตัวนั่นแหละมันจึงเกิดความโลภเมื่อมีอะไรมาทำให้โลภ มันเกิดความโกรธเมื่อมีอะไรมาทำให้โกรธ เกิดความโง่ในเมื่อมีอะไรมาทำให้โง่ มันเป็นผลแห่งการที่ควบคุมสัญชาตญาณไว้ไม่ได้ เรื่องนี้สำคัญมาก ควรจะทราบไว้เป็นหลักเกณฑ์ ว่าชีวิตทุกชนิด ชีวิตระดับมนุษย์ ชีวิตระดับสัตว์เดรัจฉาน ชีวิตระดับต้นไม้ต้นไร่ มันมีสัญชาตญาณ คือความรู้สึกเกิดได้เองโดยไม่ต้องอบรมสั่งสอนอะไร เช่นความรู้สึกว่ามีตัวตน เป็นตัวตนนี่ เขามี ไม่มีชีวิตมันก็ไม่รู้จะดำเนินอยู่อย่างไร มันมีสัญชาตญาณว่ามีตัวตน มีตัวฉัน แล้วมันก็ต้องเกิดสัญชาตญาณที่จะต้องกินอาหาร จะต้องแสวงหาอาหารและจะต้องต่อสู้เมื่อ เมื่อควรต่อสู้ จะต้องหนีภัยเมื่อหนีภัย นี้มันเป็นได้ในสิ่งที่มีชีวิตแม้ในระดับต้นไม้ อย่าไปพูดเขลาๆ ตามๆ กันว่าต้นไม้ไม่มีจิต ไม่มีวิญญาณ มันก็มีความรู้สึกตามระดับอันน้อยอันต่ำของต้นไม้ มันมีความรู้สึกในความหมายอย่างเดียวกัน คือมันต้องการจะมีอยู่ มันต้องการจะคงชีวิตอยู่ มันจึงมีการสืบพันธุ์ มีความ มีเจตนาที่จะสืบพันธุ์ และมันก็มีเจตนาที่จะหล่อเลี้ยงชีวิต มันก็จะต่อสู้กับสิ่งทุกสิ่งที่เป็นอันตรายแก่ชีวิต เพื่อจะป้องกันไอ้สิ่งที่เป็นอันตรายแก่ชีวิต อย่างนี้เป็นเสมอกันหมด มันเป็นสัญชาตญาณที่จำเป็นอย่างยิ่ง ถ้ามันขาดไปแล้วชีวิตมันเป็นไปไม่ได้ นี้เรียกว่าสัญชาตญาณพื้นฐานเป็นความรู้ที่เกิดได้เองตามพื้นฐาน เป็นพื้นฐานของสิ่งที่เรียกว่ามีชีวิต ขาดสัญชาตญาณแล้วชีวิตมันก็ไม่มีรากฐานอะไร มันก็อยู่ไม่ได้ เอ้า ทีนี้ไอ้สัญชาตญาณนี่แหละมันมีปัญหาว่าควบคุมไว้ได้หรือไม่ ควบคุมให้ดำเนินไปถูกต้องได้หรือไม่ ถ้าไม่มีการควบคุมที่ถูกต้อง ไอ้สัญชาตญาณมันก็เปลี่ยนไปเป็นกิเลส คือความเห็นแก่ตนตามธรรมดาที่ถูกที่ควรนั้นน่ะ มันก็เปลี่ยนไปเป็นเห็นแก่ตน มันรุนแรง เป็นความเห็นแก่ตน นี่คือเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาทั้งปวง เป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ตามหลักพุทธศาสนาถือว่า อัตวาทุปาทาน ยึดมั่น หมายมั่นว่ามีตัว มีตน มีตัวกู มีของกู เป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ นี่เพราะสัญชาตญาณพื้นฐานกลางๆ นั้นน่ะควบคุมไว้ไม่ได้ มันจึงตกมาเป็นไอ้ญาณชนิดที่อันตราย เป็นกิเลส แต่ถ้าสัญชาตญาณนั้นควบคุมไว้ได้ด้วยระเบียบปฏิบัติที่ถูกต้อง ไอ้สัญชาตญาณก็เปลี่ยนรูป เปลี่ยนตัวไปเป็นโพธิ โพธิ คือมีความรู้อันถูกต้องในทางที่จะดับทุกข์ นี่เราจะเรียกว่าสัญชาตญาณพื้นฐานธรรมดาๆ นั้น ถ้ามันเปลี่ยนไปในทางต่ำเป็นธรรมชาติฝ่ายต่ำ มันก็เป็นปัญหาเกิดกิเลสและเกิดทุกข์ ถ้ามันเป็นไปในทางฝ่ายสูงเป็นธรรมชาติฝ่ายสูงขึ้นมามันก็เป็นโพธิ มันก็รู้เรื่องที่จะดับทุกข์หรือจะแก้ปัญหา ทีนี้เราจะโชคดี โชคร้ายอะไรมันก็อยู่ที่ตรงนี้แหละ ไม่ใช่มีอะไรอื่น ว่าบังคับสัญชาตญาณไว้ในทางที่จะเป็นโพธิสูงขึ้นไปได้หรือไม่ ถ้าได้มันก็ปลอดภัย ถ้าไม่ได้มันก็มาเปลี่ยนมาเป็นสัญชาตญาณที่ กิเลส เป็นฝ่ายต่ำเกิดโลภะ โทสะ โมหะไปหมด มันก็ต้องทนทุกข์ทรมาน