แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านทั้งหลาย การแสดงธรรมเทศนาตามที่ท่านทั้งหลายอาราธนานั้น จะขอแสดงในรูปบรรยายในธรรมคาถา เพื่อความสะดวกบางอย่าง และเพื่อประโยชน์ที่กว้างขวางกว่า เพราะว่าเป็นการทำความเข้าใจกันเป็นพิเศษ เรื่องธรรมเทศนาในวันปีใหม่นั้น มันเป็นเรื่องเตือนไม่ให้เกิดความประมาท ป้องกันความประมาท ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ดังนั้นก็จะได้เอาเรื่องเหล่านี้แหละมาพูดจากันภาษาง่ายๆ ตามธรรมดาสามัญ ย่อมจะสำเร็จประโยชน์กว่า ด้วยเหตุนี้จึงไม่แสดงในรูปของธรรมเทศนา สิ่งที่ต้องระลึกในโอกาสของวันขึ้นปีใหม่นั้นมีอยู่มาก แล้วก็ไม่แปลกไปจากที่เคยพูดกันมาแล้ว แต่มันกระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ ในวันนี้จะได้เลือกคัดเอามาเฉพาะที่เห็นว่าเป็นหัวข้อที่สำคัญ ที่เหมาะสมกับการที่จะเอามาทำในใจสำหรับวันปีใหม่
สำหรับคำว่าปีใหม่นี้อยากจะขอร้องให้ทุกคนระลึกถึงความหมายของคำๆ นี้ให้มากเป็นพิเศษ เพราะมันมีหลายอย่างหลายความหมายตามความรู้สึกของบุคคลนั้นๆ ดังจะขอยกมาเป็นตัวอย่างเพื่อเทียบเคียง แล้วก็จะได้รู้ว่าเราควรจะมีปีใหม่ชนิดไหนกันจึงจะดี อย่างแรกถ้าเป็นปีใหม่ของเวลา มันก็คือเวลาล่วงไปๆ บรรจบครบรอบตามที่กำหนดไว้ว่า 1 ปี มันก็เป็นปีใหม่ อาศัยดวงจันทร์บ้าง ดวงอาทิตย์บ้าง ฝนตกหนักบ้าง เป็นเครื่องกำหนดปีใหม่ มนุษย์มีการนับวัน นับเดือน นับปีโดยปฏิทิน มันก็ปีใหม่ของปฏิทิน พวกสัตว์ทั้งหลาย หรือแม้แต่ต้นไม้ด้วย ไม่มีความรู้ ไม่มีความคิดเรื่องอย่างนี้ มันก็เอาไอ้สิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องแล้วกำหนดได้ง่ายๆ เช่นว่าฝนตกหนัก ฤดูหนึ่ง คราวหนึ่ง ก็เป็นสัญลักษณ์ของปีใหม่ เดี๋ยวนี้เราจะมองดูว่ามันจะมีความหมายกันสักกี่ชนิด แล้วเลือกเอาชนิดที่เหมาะสมสำหรับความเป็นมนุษย์หรือเป็นพุทธบริษัทของเรา ถ้าเป็นปีใหม่ของเวลาก็อย่างที่ว่ามาแล้ว มันก็ล่วงไปตามเวลาที่กำหนดไว้ ที่สมมติให้ มันก็เป็นปีใหม่ตามแบบของเวลา
ทีนี้ถ้าจะเอาความรู้สึกของเด็กๆ เล็กๆ ว่าปีใหม่คืออะไร มันก็จะต้องพูดว่าปีใหม่คือ วันที่เราจะได้รับของขวัญ หรือว่าเราจะได้แจกของขวัญ ได้รับของขวัญ ได้แลกเปลี่ยนของขวัญ หรือจะได้กินอะไรดีๆ ตามที่เขาจะเลี้ยงกันในวันปีใหม่ นี่ปีใหม่ของเด็กๆ ก็จะเป็นอย่างนี้ ทีนี้ถ้าปีใหม่ของคนขี้เมา มันก็ว่าจะได้กินเหล้ากันใหญ่ ปีใหม่ก็คือวันที่จะได้เมากันให้เต็มที่ ให้สนุกสนานกันให้เต็มที่ อย่างนี้ก็เป็นปีใหม่ของคนขี้เมา ลองคิดดูเถิด ถ้าว่าเอาเจ้าหนี้เป็นใหญ่ มันก็เป็นเวลาที่มันจะเรียกหนี้ ทวงหนี้ ถ้ามันเป็นปีใหม่ของพวกลูกหนี้ มันก็คือเวลาที่ร้อนใจที่จะต้องใช้หนี้เพราะมันครบปีขึ้นมา ความหมายมันก็แตกต่างกันอย่างนี้
ปีใหม่สำหรับสัตว์เดรัจฉาน ส่วนใหญ่ก็คือว่าจะได้รับดินฟ้าอากาศแปลกออกไป เตรียมตัวกันสำหรับจะต้อนรับดินฟ้าอากาศอย่างใหม่ แม้แต่สัตว์ในหนองในคลอง แต่ปีใหม่สำหรับต้นไม้ มันก็เตรียมตัวสำหรับจะได้รับดินฟ้าอากาศอย่างใหม่ จะออกใบออกดอกออกผลไปตามแบบของต้นไม้ ก็เป็นปีใหม่ของต้นไม้
ทีนี้ถ้าว่าเป็นปีใหม่ของพุทธบริษัทเล่าจะเป็นอย่างไร มันจะเป็นอย่างที่กล่าวมาแล้วได้หรือไม่ ถ้ามันจะเป็นอย่างที่กล่าวมาแล้วได้ก็ดูจะน่าสังเวช ปีใหม่ของพุทธบริษัทจะต้องเป็นอย่างไรนั่นแหละเราจะได้พูดกัน ทีนี้ถ้าพุทธบริษัทธรรมดาสามัญทั่วไปมันก็รีบปฏิบัติให้ทันแก่เวลา
แต่ถ้าเป็นปีใหม่ของพระอรหันต์มีความหมายตรงกันข้าม เพราะว่าพระอรหันต์ไม่มีเวลา พระอรหันต์อยู่เหนือความหมายของเวลา ไอ้เวลานี้มันเกิดมาจากความต้องการของคนที่มีความต้องการด้วยอวิชชา ด้วยความหลงงมงายอะไรก็ตามเป็นความต้องการ พระอรหันต์ไม่มีความต้องการ เวลาเลยไม่มีความหมาย คือไม่มีเวลานั่นเอง ฉะนั้นปีใหม่ไม่มีสำหรับพระอรหันต์ ไม่มีปีใหม่ปีเก่า ไม่มีเวลาล่วงไป อย่างนั้นอย่างนี้ นี่ขอให้เข้าใจกันอย่างนี้ด้วย ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์ มันยังต้องการจะเป็นพระอรหันต์อย่างน้อย คือมันต้องการอะไรอื่นอีกมาก มันก็มีเวลาที่มาบังคับให้กระทำให้ทันแก่เวลาเป็นต้น ฉะนั้นผู้ที่อยู่เหนือเวลาเหมือนพระอรหันต์แล้วก็ไม่มีปีใหม่ปีเก่า ถ้าจะพลอยมีตามชาวบ้านที่เขาสมมติกันทำบุญให้ทานอะไรอย่างนั้นก็ไปตามเรื่องสมมติ ในจิตใจของพระอรหันต์ไม่มีเวลาและไม่มีความรู้สึกใหม่หรือเก่าอะไร ไม่เหมือนความรู้สึกของลูกเด็กๆ ว่าปีใหม่นี้จะได้รับแจกของขวัญ คิดดูให้ดี เปรียบเทียบกันดูว่าปีใหม่ของเวลานี้เป็นอย่างไร ปีใหม่ของไอ้ลูกเด็กๆ เล็กๆ เป็นอย่างไร ปีใหม่ของคนขี้เมามันเป็นอย่างไร ปีใหม่ของเจ้าหนี้เป็นอย่างไร ปีใหม่ของลูกหนี้เป็นอย่างไร ปีใหม่ของสัตว์เดรัจฉานทั่วไปเป็นอย่างไร ปีใหม่ของพืชพันธุ์ต้นไม้พฤกษาชาติทั้งหลายเป็นอย่างไร กระทั่งว่าปีใหม่ของพุทธบริษัทที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์นะปีใหม่เป็นอย่างไร แต่ปีใหม่สำหรับพระอรหันต์นั้นไม่มี เลยไม่ต้องพูดถึง ถ้าปีใหม่ของพระอรหันต์ก็คือว่างเหมือนกันทุกปี ไม่มีแปลกอะไรกัน
ทีนี้มันก็เหลือปัญหาแต่ว่าปีใหม่ของพุทธบริษัท คือพวกเราที่มานั่งกันอยู่ในสถานที่นี้จะต้องทำอะไร เมื่อเอาความหมายรวมๆ กันเป็นหลักแล้วก็จะกล่าวได้ว่าปีใหม่นั่นคือ จะต้องมีสิ่งที่ดีกว่าปีเก่า ปีใหม่คือเวลาที่เราจะต้องมีอะไรให้ดีกว่าปีเก่า ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็ไม่ใหม่ มันก็เก่าซ้ำๆ ซากๆ มันก็ใหม่แต่เวลา แล้วก็ไม่มีอะไรใหม่แก่คนเหล่านี้ นี่เราจะต้องยึดถือในหลักที่ว่ามันต้องมีอะไรดีกว่าปีเก่า แล้วก็อยากจะให้ถือเอาคติจากพืชชั้นต่ำสุดเลย พืชที่มีหัวมีเหง้าอยู่ในดิน เช่น เผือก มันต่างๆ มีหัวอยู่ใต้ดิน พอขึ้นปีใหม่แล้วมันมีหัวมากกว่าปีเก่า ใหญ่กว่าปีเก่า ดีกว่าปีเก่านั่น นี่น่าจะเอาเป็นครูว่าปีใหม่ต้องมีอะไรดีกว่าปีเก่า มากกว่าปีเก่า แล้วคนเราจะเอาอะไรให้เป็นเรื่องที่ว่าดีกว่าปีเก่า มากกว่าปีเก่า สูงกว่าปีเก่า ประเสริฐกว่าปีเก่า เป็นต้น ก็จะได้เอาเรื่องบางเรื่องมาพูดให้ฟัง แต่ก็เข้าใจเถอะว่ามันเป็นเรื่องที่เคยพูดมาแล้วทั้งนั้นแหละ เพียงแต่มันกระจัดกระจายอยู่ เดี๋ยวนี้จะเอามาพูดกันเฉพาะเรื่องที่เหมาะสมแก่วันปีใหม่ จะต้องจัดต้องทำให้ดีกว่าปีเก่า มีหัวข้อใหญ่รวมกันว่า “สิ่งที่จะต้องทำหรือต้องมีให้ดีกว่าปีเก่า” นี่เป็นเรื่องมุ่งหมาย เรื่องที่มุ่งหมาย
ทีนี้ก็อยากจะพูดเรื่องแรกที่จะมีจะทำให้ดีกว่าปีเก่านั่นนะคือสิ่งที่เรียกว่า “การสมรสทางวิญญาณ” พูดว่าสมรส สมรสก็รู้กันดีอยู่แล้วว่าหมายถึงอะไร คือการแต่งงานของคนผู้หญิงผู้ชายเรียกว่าสมรส แต่แล้วก็ว่ามันน่าห่วงที่สมรสไม่กี่วันมันก็ฮื่อๆ แฮ่ๆ ต่อกัน บางทีมันก็กัดกัน บางทีมันก็หย่ากัน นี่มันเป็นการสมรสชนิดที่ไม่มีความหมายตรงตามคำว่าสมรส คำว่า “สมรส” นั่นแปลว่ามีรสเสมอกัน “สะ-มะ” แปลว่าเสมอ “สม-มะ-รส” “สะ-มะ-รส” นี่มันแปลว่ามีรสอันเสมอกัน ก็คือมีรสแห่งจิตใจ ค่านิยมอะไรนั่นมันเสมอกัน มันก็รักใคร่กันกลมเกลียวกัน สำเร็จประโยชน์ในการสมรส แต่สมรสทางวิญญาณนั่นมันไปไกลกว่านั้น คือไม่ต้องถึงกัน ไม่ต้องถึงเนื้อถึงตัวอะไรกัน แต่ว่าจิตใจมันถึงกัน จิตใจตรงกัน จิตใจเสมอกัน มีความพอใจอย่างเดียวกัน มีความนิยมชมชอบอย่างเดียวกัน โดยที่ร่างกายไม่ต้องแตะต้องกัน อย่างนี้เรียกว่าสมรสทางวิญญาณ เป็นไปได้กว้างขวางที่สุด มากมายไม่มีขอบเขต
แม้แต่จะสมรสกับพระพุทธเจ้าก็ยังได้ เดี๋ยวก็จะตกใจ แล้วก็จะฟังเป็นคำที่หยาบคาย ถ้าเป็นการสมรสทางวิญญาณนี่ อยากจะให้หัวข้อว่าสมรสกับวาณี ตรีรัตน์ สุญญตา สมรสกับวาณีคือนางฟ้า คำว่าวาณีแปลว่านางฟ้า เขาเอามาใช้เป็นชื่อเรียกแทนพระคัมภีร์พระพุทธวจนะทั้งหลาย คือพระไตรปิฎก คือพระคัมภีร์ทั้งหมดนั้นเรียกว่าวาณี เรียกว่านางฟ้า ผู้ที่มีจิตใจพอใจยินดีปรีดา มอบชีวิตจิตใจทั้งชาติให้แก่การศึกษาพระไตรปิฎก อย่างนี้ก็เรียกว่าสมรสกับวาณีคือนางฟ้า กล่าวคือพระไตรปิฎก ที่เกิดแต่ดอกบัวกล่าวคือพระโอษฐ์แห่งพระพุทธเจ้าผู้เป็นจอมแห่งมุนี นี่สมรสด้วยวาณี ผู้หญิงก็ได้ผู้ชายก็ได้ ผู้หญิงก็สมรสกับวาณีได้ผู้ชายก็สมรสกับวาณีได้ ถ้าให้ชัดเข้ามาอีกก็คือ การศึกษาทางปริยัติคือทางหลักวิชา คือความรู้ทั่วๆ ไปที่เราจะต้องรู้นั่นแหละคือ นางฟ้า ในที่นี้ ถ้ามีความรักความพอใจยินดีปรีดาเป็นอันเดียวกันก็เรียกว่าสมรสกับวาณี ในสมัยโบราณผู้ที่จะเรียนพระไตรปิฎกนี่ก็ต้องมาตั้งจิตอธิษฐานกันอย่างนี้กันเสียก่อนสมรสกับวาณี “มุนินทะ วะทะนัม พุชะ คัพภะ สัมภะวะ สุนทะรี ปาณีนัง สะระณัง วาณี มัยหัง ปิณะยะตัง มะนัง” อธิษฐานจิตอย่างนี้ ไหว้นางฟ้า กล่าวคือ นี่พระธรรม นี่พระปริยัติธรรมที่เกิดมาจากดอกบัวคือพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าผู้เป็นจอมแห่งมุนี เป็นที่พึ่งแก่สัตว์ทั้งหลาย จงทำใจของข้าพเจ้าให้ยินดี นี่ถ้าใครผู้ใดคนหนึ่งพอใจในหลักพระธรรมแม้ในทางปริยัติถึงกับอย่างนี้ เหมือนกับที่บางคนก็เป็นอยู่นะ พอใจอย่างหลงใหลเลยแหละ ในเรื่องของพระธรรมศึกษาพระธรรมบทพระธรรมอะไรต่างๆ ยิ่งกว่าสิ่งใดด้วยซ้ำไป คนนั้นก็ได้ชื่อว่าสมรสกับวาณี นี่เป็นทั่วไป ในขั้นทั่วไป ใครๆก็มีได้
ทีนี้ก็ ตรีรัตน์ ไตรรัตนะ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่มีการสมรสกับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่าฟังเป็นเรื่องหยาบคาย แต่ฟังเป็นเรื่องความหมายของจิตใจที่มีความพอใจอย่างยิ่งในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ต้องการความเป็นอันเดียวกันกับพระพุทธ กับพระธรรม กับพระสงฆ์ มีศรัทธา มีปัญญา มีอธิษฐานอะไร พอใจในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม และในพระสงฆ์ ก็คืออุบาสิกา อุบาสก อุบาสกอุบาสิกาชั้นเลิศนั่นเอง มีจิตใจฝังแน่นลงไปในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถึงขนาดที่ว่ามีการสมรสทางวิญญาณกับพระรัตนตรัย มันคงจะแปลกหูไปบ้างสำหรับคนบางคน เพราะมัวพูดท่องอย่างนกแก้วนกขุนทองว่า พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ โดยที่ไม่รู้ว่าอะไร แต่ก็ไม่มีความหมายอะไร จิตใจมันก็ไม่ดูดดื่มซึ่งกันและกัน ดังนั้นจึงใช้คำเสียใหม่ว่า สมรสกับพระรัตนตรัย มีจิตใจผสมลงไปในพระรัตนตรัย เป็นอันหนึ่งเป็นอันเดียวกัน จนถึงขนาดที่เรียกว่าแม้จะต้องเสียชีวิตก็ไม่สละ ทอดทิ้งสิ่งเหล่านี้ นี่มันเป็นความหมาย ความหมายที่ยิ่งไปกว่าการสมรสตามธรรมดา ซึ่งเป็นเรื่องหลงไปพักหนึ่ง โง่ไปพักหนึ่ง เป็นเรื่องบ้าวูบเดียวสองวูบเท่านั้นเอง มันก็ไม่มั่นคงอะไร
ทีนี้อันต่อไปก็ “สมรสกับสุญญตา” “สุญญตา” คือความว่าง ความว่างจากความหมายมั่นว่าเป็นตัวตน ว่าเป็นของตน หรือจะเล็งถึงการไม่ปรุงแต่งแห่งสังขารทั้งปวงก็ได้ เมื่อไม่มีการปรุงแต่งแห่งสังขารทั้งปวงมันก็มีความว่าง เป็นสภาวะว่าง เป็นสภาวะนิรันดรตลอดกาล ยิ่งกว่าตลอดกาล ถ้าพอใจกับสุญญตาคือความว่าง ก็เป็นการสมรสกับสุญญตา ผู้หญิงก็ได้ ผู้ชายก็ได้ สมรสกับสุญญตาได้แปลกดีไหม เรื่องสุญญตา นี่ประหลาดหรือว่าอยู่เหนือบัญญัติอะไรต่างๆ สุญญตานี่ก็ไม่เป็นหญิง ไม่เป็นชายก็แปลกแล้ว ไม่ดีไม่ชั่วก็แปลกอยู่แล้ว ไม่บุญไม่บาปก็แปลกอยู่แล้ว ไม่สุขไม่ทุกข์ก็แปลกอยู่แล้ว ไม่อะไรทุกอย่างทุกๆ คู่ที่มนุษย์เขาจัดเป็นคู่ๆ ถ้ามันมีการปรุงแต่งแล้วมันมีการบัญญัติเป็นคู่ๆ เป็นรูปเป็นนามอย่างนี้เป็นต้น เป็นคนเป็นสัตว์ เป็นชั่วเป็นดี เป็นได้เป็นเสีย เป็นแพ้เป็นชนะ มันมีการปรุงแต่ง มีการสมมติบัญญัติอย่างนี้มันไม่ว่าง ถ้าเอาสมมติบัญญัติเหล่านี้ออกไปหมดมันก็ว่าง คือเป็นสุญญตา เป็นอสังขตธรรม สุญญตาคือความว่างนั้นเป็นอสังขตธรรม เพราะไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้
อยากจะพูดให้เป็นหลักคร่าวๆ ในเบื้องต้นนี้ว่า อสังขตธรรมสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ สร้างสรรค์ไม่ได้นั้นจะมีอยู่สัก 2 อย่าง คือ สัจจะหรือกฎ กฎทั้งหลาย สัจจะ สัจธรรม กฎเกณฑ์ทั้งหลายที่เป็นสัจจะ นี่เป็นอสังขตะ ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ดังนั้นไม่เปลี่ยนแปลง ทีนี้ก็ สุญญตา คือความว่าง นี่มันก็เป็น อสังขตธรรม ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้วก็ไม่เปลี่ยนแปลง นิพพานก็รวมอยู่ในข้อนี้ จะใช้คำว่าพระนิพพานอีกคำหนึ่งก็ได้ว่าสัจจะ สุญญตา นิพพาน 3 ประการนี้เป็นอสังขตะ ไม่มีอะไรปรุงแต่ง ดังนั้นจึงไม่เปลี่ยนแปลง แต่จิตของมนุษย์สามารถจะรู้จัก สัมผัสได้ รู้ได้อย่างแจ่มแจ้งว่าเป็นอย่างไร ก็เลยสมรสได้ ผู้หญิงก็ได้ ผู้ชายก็ได้ที่จะสมรสกับสุญญตา นี่ท่านทั้งหลายลองคิดดูว่ามีกันมั้ย มีมั้ย ถ้าไม่มีก็ดูเอาเองเถิดว่าเป็นคนอย่างไร ถ้าจะมีบ้างก็ยังดี แต่นี่ต้องการให้มันมีมากขึ้น ให้มีมากขึ้น ให้มีการสมรสกับวาณี ตรีรัตน์ สุญญตา นี่ให้มันมากขึ้น แล้วมันก็จะดีกว่าปีเก่า ถ้าปีเก่ามันมีน้อยมันไม่พอใช้ มันก็ไม่มีความสุขชนิดที่เป็นไอ้ประเภทโลกุตระ ถ้ามีการเข้าถึงสิ่งเหล่านี้จนถึงกับเรียกได้ว่าสมรสกับสิ่งเหล่านี้ มันก็มีอะไรมาก มีผลอะไรมากทีเดียว ควรเอามาคิดนึกในโอกาสเช่นนี้ คือโอกาสแห่งการขึ้นปีใหม่นี่ว่าเราจะทำให้มีมากกว่าปีเก่าได้อย่างไร นี่เป็นเรื่องหนึ่งแล้ว เป็นเรื่องหนึ่งแล้ว คือการสมรสทางวิญญาณนะ ขอให้ปีใหม่นี้มีมากกว่าปีเก่า แล้วจิตวิญญาณมันก็จะมีความสงบสุข มีความสะอาด สว่าง สงบสุขมากขึ้นโดยแน่นอน นี่มันจะเป็นชั้นสูงชั้นต่ำหรืออะไรก็ลองนึกดูเอาเอง แต่ว่ามันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่มนุษย์ควรจะมีควรจะทำให้มันมากขึ้นกว่าปีเก่า คือเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ให้มันมากขึ้นกว่าปีเก่า ถ้าพูดธรรมดาๆไม่เป็นโวหารไอ้อะไรก็ว่ามีความพอใจ ศรัทธาเลื่อมใสในพระปริยัติธรรม ในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ หรือว่าในพระนิพพานก็ได้มากกว่าปีเก่า แต่รู้สึกมันยังโลเลกันนัก จึงใช้คำว่าสมรส สมรสกับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทำได้ แต่เป็นการกระทำโดยทางวิญญาณ ไม่ใช่เนื้อหนัง ไม่ใช่ทางเนื้อทางหนัง ซึ่งล้วนจะเป็นความหลอกลวง เดี๋ยวนี้เป็นเรื่องทางจิตทางวิญญาณซึ่งไม่หลอกลวงและจะเป็นไปได้จริง เป็นไปได้ลึกซึ้ง จะมีความสงบสุขอย่างแท้จริงอย่างมาก และอย่างลึกซึ้ง ฉะนั้นขอให้สนใจ จำไว้ในฐานะเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งเราจะต้องทำให้ดี หรือให้มากกว่าปีเก่า
เอ้า, ทีนี้ข้อที่สอง เรื่องที่สองที่จะต้องทำให้ดีให้มากกว่าปีเก่าก็คือเรื่องการศึกษา “การศึกษา” ถ้าเรียกเป็นบาลีก็เรียกว่า “สิกขา” ถ้าเรียกเป็นภาษาไทยที่มาจากสันสกฤตก็เรียกว่าศึกษา สิกขากับศึกษานั้นคำเดียวกัน เราจะต้องมีการศึกษาให้ดี และให้มากกว่าปีเก่า ทีนี้ที่ว่าศึกษา ศึกษาอย่างไรนั้นนะมันมีความหมายแปลกจากที่พูดกันอยู่ มันเป็นการศึกษาในโรงเรียน เป็นการศึกษาท่องจำ เป็นการศึกษาคิดๆ นึกๆ เดาๆ เอา อย่างนี้มันก็เรียกว่าการศึกษาโดยสมมติ การศึกษาโดยภาษาคนได้ แต่การศึกษาที่ลึกซึ้งกว่านั้นเพราะการศึกษาโดยภาษาธรรมนั้นมันมากกว่านั้น คือจะถือเอาตามความหมายของคำบาลีหรือสันสกฤตคำนั้นนั่นเอง สิกขา สิกขา ถ้าเคยเรียนบาลีมาแล้ว ก็พอจะถอดรูปออกมาได้เป็น สะ กับ อิกขะ สะ กับ อิกขะ เป็นสิกขะ ก็คือ สิกขา อิกขะ นี้แปลว่าเห็น เห็น เหมือนกับเห็นด้วยตาก็เรียกว่า อิกขะ เห็นด้วยจิตก็เรียกว่า ภิกขะ ทีนี้ สะ คำนี้แปลได้หลายอย่าง แต่ในที่นี้ต้องการจะแปลว่าตรรกะคือเอง แปลว่า เอง ฉะนั้น สะ กับ อิกขะ ก็คือ เห็นเอง เห็นเอง การเห็นด้วยตนเองนั่นแหละเรียกว่าสิกขา การที่ใครจะมาบอกมาสอน มาพร่ำสอน มาอัดฉีดไอ้ความรู้เหล่านี้ลงไป ไม่มีการเห็นเองไม่เรียกว่าสิกขา เห็นเองแล้วก็รู้จักตัวเอง เห็นเอง เห็นตัวเอง แล้วก็รู้จักตัวเอง สิกขา ฉะนั้นรู้จักตัวเองแล้วก็บังคับตัวเอง บังคับตัวเอง บังคับตัวเองให้ได้ตามที่ควรจะเป็น ครั้นบังคับตัวเองได้ มันก็เคารพตัวเองได้ มีการเคารพตัวเองได้ แล้วพอใจตัวเองได้ หรือพอใจในตัวเองได้มันก็เคารพตัวเองได้ มองเห็นว่ามีแต่ความถูกต้องมันก็พอใจแล้วก็เคารพตัวเองได้ นี่คำว่าสิกขา สิกขาน่ะ คำเดียวนั้นน่ะมีความหมายชั้นลึกว่าดูตัวเอง เห็นตัวเอง รู้จักตัวเอง บังคับตัวเอง พอใจตัวเอง เคารพตัวเอง ทำได้อย่างนี้จึงจะเรียกว่ามีการศึกษาโดยความหมายที่แท้จริง ชั่วเรียนที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยสำเร็จมานั้นน่ะมันอาจจะไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็ได้นะ มีปริญญามาจากมหาวิทยาลัยแต่ไม่ดูตัวเอง ไม่รู้จักตัวเอง ไม่เห็นตัวเอง ไม่บังคับตัวเอง ไม่อาจจะเคารพหรือพอใจตัวเอง อย่างนี้ยังไม่มีสิกขาในความหมายที่ลึกซึ้งหรือภาษาธรรม ศึกษาที่โรงเรียนนั้นเป็นภาษาคน ต้องเกี่ยวกับคนนั้นคนนี้ สอนมีหนังสือหนังหา ตำรับตำรา มีสถานที่เรียนยุ่งไปหมด แต่ถ้าเป็นศึกษาในฝ่ายภาษาธรรมแล้วมันไม่ต้องมีหรอก ไม่ต้องมีคนที่เรียกว่าครู ไม่ต้องมีเครื่องใช้เครื่องเรียน หนังสือหนังหา ตำรับตำรา ไม่ต้องมีโรงเรียน ไม่ต้องมีอะไรก็ได้ มันมีร่างกายและจิตใจอันนี้พร้อมอยู่แล้ว ขอแต่ให้ใช้มันให้ถูกเรื่อง ให้จิตนี้มันมองดูตัวเอง แล้วเห็นตัวเอง รู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง บังคับตัวเอง พอใจตัวเอง เคารพตัวเอง นี่คือการศึกษาในฝ่ายภาษาธรรม ซึ่งลึกซึ้งกว่าและจริงกว่า เรามีกันกี่มากน้อย การศึกษาอย่างนี้เรามีกันกี่มากน้อย แม้ว่าเราจะบัญญัติว่าสิกขามี 3 คือศีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา ทั้งหมดนี้ไปรวมอยู่คำว่าบังคับตัวเอง บังคับตัวเองคำเดียวนั่นน่ะ มีศีล สมาธิ ปัญญาทั้ง 3 อย่างนั้นน่ะ ได้แก่คำว่าบังคับตัวเอง ยังมีสิ่งที่นอกออกไปจากนั้นเช่นจะต้องรู้จัก ต้องเคารพ ต้องพอใจ แล้วต้องสบายใจ พอใจตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเองได้เพราะว่าเต็มไปด้วยความดีหรือความถูกต้องที่บังคับตัวเองสำเร็จ อยู่ในความถูกต้องแล้วก็พอใจ ก็เป็นสุข ก็เป็นสวรรค์ทันที พอใจเมื่อไรเป็นสวรรค์เมื่อนั้น พอใจมากเป็นสวรรค์มาก ใหญ่ พอใจเล็กเป็นสวรรค์เล็ก ความสุขนี้มาจากความพอใจ ฉะนั้นต้องมาจากการเห็นตัวเอง รู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง บังคับตัวเอง เห็นความถูกต้องของตัวเอง แล้วก็พอใจ แล้วก็เป็นสุข นี่สิกขาในความหมายที่ลึกคือภาษาธรรม เรามีกันกี่มากน้อย เรามีกันกี่มากน้อย หรือจะไม่มีเสียเลย หรือจะไม่เคยได้ยินได้ฟังอย่างนี้เสียเลย ไม่เคยมองดูตัวเอง ไม่เคยเห็นตัวเอง ไม่เคยรู้จักตัวเอง ไม่เคยบังคับตัวเอง ไม่เคยเคารพตัวเอง ไม่เคยพอใจตัวเอง อย่างนี้ก็ยังไม่มี ถ้ายังไม่มีก็แย่มาก ถ้ามีบ้างก็ค่อยยังชั่ว แล้วถึงปีใหม่นี่ต้องมีมากกว่าปีเก่า สิ่งที่เรียกว่าศึกษาหรือสิกขานั่นแหละจะต้องมีให้มากขึ้นกว่าปีเก่า ให้เป็นการงอกงามเจริญก้าวหน้าไปในทางของพระธรรม มีสิกขามากกว่าปีเก่า เอ้า, นี่เป็นเรื่องที่สองที่ว่าจะมีสิกขาหรือการศึกษาให้มากกว่าปีเก่า จะได้มีความพอใจในตัวเอง ซึ่งเป็นสวรรค์อันแท้จริง ไม่ต้องรอต่อตายแล้ว แล้วก็ไม่หลอกลวงเลย พอใจเมื่อไรเป็นสุขเมื่อนั้น เป็นสันทิฐิโก อะกาลิโกอย่างเต็มที่
เอ้า, หัวข้อที่สามก็เรียกว่า คลำให้ดี “คลำให้ดีกว่าปีเก่า” อย่าฟังเป็นคำหยาบคายโตกกระโดกอะไร คลำให้ดีกว่าปีเก่า ก็หมายความว่าไอ้เรื่องที่ยังไม่รู้นั่นน่ะมันเป็นเรื่องที่จะต้องค้นคว้าเหมือนกับคลำ คลำหาสิ่งที่ยังไม่พบปะ ยังไม่รู้จัก จะให้คำจำกัดความง่ายๆว่าทุกคนจะมีอาจารย์ชื่อนายคลำ พระพุทธเจ้าก็มีอาจารย์ชื่อนายคลำ คือท่านคลำ คลำ คลำ คลำไปจนตรัสรู้ ทีนี้คนนอกนั้นทำไมจะไม่ต้องเป็นอย่างนั้น แม้เราทุกคนนี้จะต้องคลำ คลำ คลำให้ดียิ่งขึ้น ยิ่งขึ้นจนพบ จนพบนั่นคือรู้ เดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อยจะคลำ ขี้เกียจ มันต้องเอาเรื่องมาศึกษามาค้นคว้าหรือมาลูบคลำก็ได้ จนพบความจริง เดี๋ยวนี้เราเหมือนกับตาบอดเพราะมีอวิชชา จึงเหมือนกับตาบอด มันก็เหมือนกับคนตาบอดที่มันต้องคลำ จนกว่าจะพบแสงสว่าง พบของจริง พบดวงแก้วที่ทำให้ตามันหายบอด ฟังดูให้ดีว่าทุกคนมีอาจารย์ชื่อนายคลำ แล้วก็ต้องคลำไป คลำไปจนกว่าจะพบ แล้วจะรู้จะเห็นแจ่มแจ้งแล้วก็จะสว่าง ถ้าใครไม่คลำมันก็มืดหรือบอดอยู่ที่นั่น ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ก็เรียกว่าคลำให้ดีกว่าปีเก่า เป็นเรื่องที่สาม
ทีนี้เรื่องที่สี่ “มีนิพพานให้มากกว่าปีเก่า” ข้อนี้บางคนจะไม่เข้าใจแล้วก็จะสั่นหัว พอสักว่าได้ยินก็สั่นหัว มีนิพพานให้มากกว่าปีเก่า ที่จริงมันมี มันมีสิ่งที่มีและเป็นไปได้ เพราะว่าคำว่านิพพาน นิพพานนั้นมันมี 2 ความหมาย นิพพานมี 2 ความหมาย นิพพานในภาษาคนน่ะ ก็คือเย็นอกเย็นใจ ชีวิตเยือกเย็น เย็นอกเย็นใจ นี่นิพพานในภาษาคน ส่วนนิพพานในภาษาธรรมะนั้นน่ะคือสิ้นกิเลส สิ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง คือเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอริยเจ้าไปแล้วก็เป็นพระนิพพานแบบที่สิ้นกิเลสสิ้นทุกข์ แต่ถ้ายังเป็นชาวบ้านปุถุชนคนธรรมสามัญอยู่ ก็มีนิพพานสำหรับคนพวกนี้ไปก่อน นี่คือชีวิตที่เยือกเย็น ถ้าใช้คำว่าชีวิตที่เยือกเย็นนี่ฟังไม่ถูกแล้วก็ไม่รู้จะใช้คำอะไร ภาษาพูดกลางบ้านนี่เขาพูดอย่างนี้ พูดว่านิพพาน นิพพาน คำว่านิพพานในภาษาบาลีในประเทศอินเดียเขาใช้เป็นคำกลางบ้านนะ ทำให้เย็นลงก็เรียกว่านิพพานหมด ข้าวแกงทำเสร็จร้อนๆกินไม่ได้ก็ต้องรอ รอ รอนิพพานก่อนแล้วกินได้ เอาน้ำรดไฟให้ดับนี่เขาก็เรียกว่าทำให้มันนิพพาน ไอ้สัตว์เดรัจฉานตัวที่หมดฤทธิ์หมดพยศ หมดอะไรต่างๆแล้วก็เรียกว่ามันนิพพาน ถ้าคนมีแต่ความเย็นอกเย็นใจ ไม่มีความเร่าร้อนอะไร เป็นครอบครัวที่เยือกเย็นอย่างนี้ก็เรียกว่านิพพาน
ทีนี้ก็เล่าเรื่องว่าพระสิทธัตถะเดินผ่านไปในวันคัดเลือกสยุมพร เจ้าสาวกีสาโคตรมีหรือสากยะองค์หนึ่งน่ะ ชื่อจำไม่ค่อยได้แน่นอนแล้ว แต่ว่าเจ้าสาวชาวสากยะองค์หนึ่งน่ะเห็นข้าวแล้วก็ร้องออกมาว่าบุรุษนี้เป็นลูกของใคร แม่ของเขาก็นิพพุโต คือนิพพาน เป็นลูกของใคร พ่อของเขาก็นิพพุโต แม่ของเขาก็นิพพุตาเป็นนิพพาน พ่อของเขาก็นิพพุโต เป็นสามีของหญิงใด หญิงนั้นก็นิพพุตาคือนิพพาน คำว่านิพพุตา นิพพุตาน่ะมันหมายความซึ่งเย็น เย็น เย็นอกเย็นใจ เย็นใจ ไม่ได้หมายถึงสิ้นกิเลส บรรลุนิพพานสูงสุดหรอก นี่ภาษากลางบ้านที่ใช้อยู่ในบ้านเรือนน่ะคำว่านิพพุตา นูนสา มาตา นิพพุโต นูนโส ปิตา นิพพุตา นูน สา ภริยา อะไรก็เป็นเรื่อง เป็นคำที่ใช้พูดอยู่ในหมู่ประชาชนทั่วไปว่านิพพุโต นิพพุตาแปลว่าเย็น คำเดียวกับคำว่านิพพาน แปลว่านิพพานแล้วหรือเย็นแล้ว เราควรจะรู้จักนิพพานชนิดนี้ เย็นอกเย็นใจ ชีวิตเย็นน่ะไม่ถูกรบกวนด้วยกิเลส อย่าไปโง่ตามไอ้คนบางพวกหรือบางสำนักสอนว่าเรามีกิเลสอยู่ตลอดเวลา เราไม่ได้มีกิเลสอยู่ตลอดเวลา ถ้าเรามีกิเลสอยู่ตลอดเวลาเราเป็นบ้าเป็นโรคประสาทแล้วตายแล้ว ไม่ได้มานั่งอยู่ที่นี่ ด้วยเหตุที่กิเลสน่ะมันก็ระงับหรือสงบเป็นบางเวลา พอได้เป็นการพักผ่อน ไม่ต้องเป็นบ้า ไม่ต้องเป็นโรคประสาท ถ้ากิเลสครอบงำตลอดเวลาคิดดูสิจะเป็นอย่างไร โลภะก็ได้ โทสะก็ได้ โมหะก็ได้ ครอบงำอยู่ตลอดเวลา แล้วจะเป็นอย่างไร อย่างน้อยมันก็เป็นบ้าแหละ มันทนอยู่ไม่ได้มันก็ต้องตาย ดังนั้นไอ้ไฟ 3 กองนี้ไม่ได้เผาอยู่ตลอดเวลา สังเกตดูให้ดีว่าเวลาที่มันไม่เผาน่ะมันเป็นอย่างไร มันเย็นอย่างนั้นแหละเอามาเสียก่อนเถิด เรียกว่านิพพานอย่างภาษาคน ภาษาชาวบ้าน ปีใหม่นี้ต้องมีให้มากกว่าปีเก่า ความเย็นอกเย็นใจชนิดนั้นน่ะต้องมีให้มากกว่าปีเก่า มันจึงจะสมกันกับที่เป็นมนุษย์ และพบพระพุทธศาสนา เรื่องนิพพานเป็นเรื่องสูงสุดในพระพุทธศาสนา ถ้าไม่มีเรื่องนิพพานแล้ว ก็เหมือนกับพุทธศาสนาไม่มี เพราะฉะนั้นอย่าได้รังเกียจหรือเกลียดกลัวพระนิพพานว่ายากเกินไป สูงเกินไป เกินเอื้อม เราไม่เอาแล้ว เราไม่สนใจแล้ว ได้อย่างนี้ก็ได้ไปอยู่กับพระยามารคือกิเลส แต่ถ้าสนใจอยู่ที่ว่าจะนั่งใกล้พระนิพพาน เข้าไปใกล้พระนิพพาน คือมีความเย็นอกเย็นใจขึ้นไปตามลำดับ ตามที่มันจะมีได้ในเพศนี้ ในเพศฆราวาสนี้หรือปุถุชนนี้ แล้วก็ค่อยเลื่อน ค่อยๆ เลื่อนไปเป็นนิพพานที่สูงขึ้นไป สูงขึ้นไปเป็นนิพพานของพระอริยเจ้า มันเลื่อนขึ้นไปได้อย่างนี้ ดังนั้นปีใหม่นี้ควรจะมีนิพพานในความหมายนี้ให้มากกว่าปีเก่า พูดสั้นๆตามธรรมดาสามัญก็ว่าให้มีชีวิตที่เยือกเย็นมากยิ่งกว่าปีเก่า อย่าให้มันร้อนระอุมากไปกว่าปีเก่า หรือเพียงแต่ร้อนระอุเท่าๆ กับปีเก่าก็นับว่าเสียแล้ว เสียคะแนนแล้ว ใช้ไม่ได้ ชีวิตควรจะเย็นลง เย็นลงทุกปี ทุกปี เพราะว่าได้รู้ธรรมะ ได้ปฏิบัติธรรมะ ได้รู้แจ้งสิ่งทั้งปวงมากขึ้น อย่างนี้ก็เรียกว่าให้มีนิพพานมากขึ้นกว่าปีเก่า นิพพานแท้จริง นิพพานที่นี่ นิพพานเดี๋ยวนี้ที่เห็นชัดอยู่
เอ้า, ทีนี้ก็จะพูดถึงข้อที่ห้า ที่ต้องรู้จักให้มากขึ้นไปกว่าปีเก่า ก็คือเรื่องที่ตรงข้ามกับนิพพาน คือกิเลสนั่นแหละ ขอให้รู้จักกิเลสมากยิ่งขึ้นกว่าปีเก่า เราไม่ค่อยมีความรู้เรื่องกิเลส เราจึงละกิเลสไม่ได้ จงรู้เรื่องกิเลสให้มากขึ้นกว่าปีเก่า เรื่องกิเลสนั้นน่ะเราศึกษาได้ไม่ยาก มันมีลำดับตั้งว่านิวรณ์เป็นข้อแรก นิวรณ์เป็นข้อที่ ๑ กิเลสเป็นข้อที่ ๒ อนุสัยเป็นข้อที่ ๓ อาสวะเป็นข้อที่ ๔ เดี๋ยวนี้สิ่งที่เรียกว่านิวรณ์ก็ยังไม่รู้จัก ทั้งที่มันมีอยู่เกือบจะตลอดวัน นิวรณ์ ๕ นิวรณ์ ๕ ในหลักสูตรนักธรรมก็สอน แต่ก็สอนแต่ตัวหนังสือ คนศึกษาก็ไม่รู้ว่านิวรณ์ นิวรณ์นี่เป็นสิ่งที่มีอยู่ตลอดเวลา เกือบตลอดเวลาต้องควบคุมให้ได้
นิวรณ์ข้อที่ ๑ คือจิตน้อมไปในทางกาม เรียกว่า กามฉันทะ พอใจในทางกาม พูดง่ายๆก็พอใจในเรื่องทางเพศนั่นแหละ เพศตรงกันข้ามนั่นแหละ ถ้าจิตมันน้อมไปในเรื่องเพศตรงกันข้ามเมื่อไรก็เรียกว่า กามฉันทะ เป็นนิวรณ์ข้อที่ 1 ลองคิดดูว่าใครบ้างที่มันไม่มีนิวรณ์ข้อนี้ มันก็มีได้ทั้งเด็ก ทั้งหนุ่มทั้งสาว ทั้งแก่ทั้งเฒ่า
นิวรณ์ข้อที่ ๒ เรียกว่าพยาบาท คือความรู้สึกที่ไม่ชอบ โกรธแค้น อึดอัดขัดใจ นั่นนี่โน่นไปเรื่อย จนกระทั่งไม่รู้ว่าจะโกรธอะไร มันก็ยังมีความโกรธ คือความไม่ชอบ ความอึดอัดขัดใจ ถ้ายิ่งถ้ามีศัตรูผู้อาฆาตเป็นประจำแล้วยิ่งไปกันใหญ่ ความคิดจะน้อมไปในทางนั้นมันก็มีได้มาก นี่เป็นนิวรณ์ตัวที่ ๒
นิวรณ์ตัวที่ ๓ ก็จิตมันหดหู่ คือจิตมันฟุบมันแฟบ มันละเหี่ยละห้อย มันเศร้า มันมึนชา มันง่วงเหงาหาวนอน มันไม่สดใส แจ่มใสร่าเริง นี่นิวรณ์ตัวที่ ๓
ทีนี้นิวรณ์ตัวที่ ๔ ตรงกันข้าม มันฟุ้ง มันฟุ้งซ่าน มันฟุ้งมันเฟ้อ มันก็เลยเหมือนกับเป็นบ้าอยู่กลายๆอย่างนั้นน่ะ ถ้ามันฟุ้งซ่าน คือนิวรณ์ตัวที่ ๔
นิวรณ์ตัวที่ ๕ คือความลังเล จะเรียกว่าความสงสัยก็ได้ เรียกว่าความลังเลมันถูกกว่า คือความไม่แน่ใจในเรื่องความปลอดภัยของตัวเอง เราไม่แน่ใจว่ามันจะเป็นสุขตลอดไป มันจะไม่มีปัญหา มันจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่แน่ใจในสุขภาพอนามัยของตนเอง ไม่แน่ใจในทุกเรื่องทุกอย่างที่มันเกี่ยวข้องอยู่กับตนเองว่ามันจะปลอดภัย บางทีมันก็ไปถึงขนาดว่าไม่แน่ใจในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าจะเป็นที่พึ่งได้จริงอย่างนี้มันก็ไม่แน่ใจ หรืออะไรๆ ที่เรามีอยู่นี้มันจะวิปลาสสูญหายไป มันไม่แน่ใจว่าจะปลอดภัย นี่ความไม่แน่ใจความลังเลอย่างใดอย่างหนึ่ง หงุดหงิดๆ อยู่นี่ ครอบงำอยู่เกือบจะตลอดเวลา เรียกว่ามันสะดุ้งน้อยๆ อยู่ในข้างในตลอดเวลา มันกลัวจะเกิดเป็นอันตรายเป็นเสียเป็นหายอะไรขึ้นมา อย่างนี้เรียกว่าความไม่แน่ใจว่าปลอดภัย ว่าแน่ใจว่าเป็นสุขนั้นมันไม่มี ทีนี้มันก็รบกวนอยู่ตลอดเวลารวมเป็น ๕ ตัวแล้ว
ของเหล่านี้เกิดอยู่ทุกวันก็ยังไม่รู้จัก แล้วจะไปรู้จักไอ้ธรรมะหรือพระนิพพานที่สูงขึ้นไปกว่านั้นน่ะมันยาก ฉะนั้นไปรู้จักไอ้นิวรณ์ทั้ง ๕ กันเสียให้ดีๆก่อนเถิด รู้จักนิวรณ์จนเกลียดน้ำหน้านิวรณ์นั้นน่ะจิตมันจะน้อมไปในทางตรงกันข้าม จิตมันจะสามารถน้อมไปในทางตรงกันข้ามคือไม่มีนิวรณ์ นิวรณ์เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับมนุษย์ทั่วไปตลอดเวลา แล้วก็บ่อยๆ วันหนึ่งบ่อยๆ ก็ยังไม่รู้จัก ขอให้รู้จักนิวรณ์มากขึ้นกว่าปีเก่า แล้วมันจะเกลียดนิวรณ์มากขึ้น แล้วมันก็อยากจะไม่มีนิวรณ์ อยากจะดับนิวรณ์นี้มากขึ้น มันจึงจะไปทำสมาธิได้ หรือไปปฏิบัติธรรมะอะไรได้ เพราะว่ามันมีมูลเหตุอันสำคัญคือว่ามันเกลียดนิวรณ์ มันไม่อยากจะมีนิวรณ์ มันอยากจะมีชีวิตที่สดชื่นแจ่มใส เยือกเย็น ปรุโปร่งอยู่ตลอดเวลา ไอ้นิวรณ์นี้มาทำให้ไม่เป็นอย่างนั้น มาทำให้อย่างที่ว่าน่ะ คิดทางกามบ้าง ทางโกรธแค้นบ้าง ทางซบเซาบ้าง ทางฟุ้งซ่านบ้าง ทางลังเลบ้าง มันน่าอะไรดี มันน่าประหลาดหรือว่าน่าเศร้าที่ว่ามันเรื่องที่มีอยู่กับเนื้อกับตัวจริงๆ ยังไม่รู้จัก แล้วจะไปรู้จักเรื่องมรรคผลนิพพานได้อย่างไร
ทีนี้ก็รู้จักให้สูงขึ้นไปก็รู้จักกิเลส กิเลสคือ โลภะ โทสะ โมหะ นี่เข้มข้นกว่านิวรณ์ นิวรณ์นั่นมันเนือยๆ มันไม่ต้องมีเหตุปัจจัยอะไรก็ได้ มันขึ้นมาจากอนุสัยที่สะสมไว้ ส่วนกิเลสนั้นมีเหตุมีปัจจัยมากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เกิดสัมผัสขึ้นมาแล้วมันโง่มันมีอวิชชา มันก็ปรุงแต่งให้เวทนา โง่ตัณหา โง่อุปาทานภพชาติเป็นทุกข์ นี่อย่างนี้เรียกว่ากิเลส คือยกตัวอย่างว่าตาเห็นรูป เกิดจักษุวิญญาณทางตาขึ้นมา เกิดเป็น ๓ อย่างขึ้นมาแล้วคือตาอย่างหนึ่ง รูปอย่างหนึ่ง จักษุวิญญาณอย่างหนึ่ง ๓อย่างนี้ทำงานร่วมกันอยู่คือ จักษุวิญญาณ รู้สึกที่รูปโดยทางตา กิริยาอย่างนี้เรียกว่าผัสสะ ทีนี้ในขณะแห่งผัสสะนั้นมันโง่ มันยังไม่ได้ศึกษามาเพียงพอ มันโง่ มันมีอวิชชาเป็นผู้บงการ มันก็ผัสสะด้วยความโง่ ผัสสะด้วยอวิชชา มันก็ทำให้เกิดเวทนาโง่ คือเวทนาสำหรับจะหลงรักบ้าง เวทนาสำหรับจะหลงเกลียดบ้าง คือจะเป็นสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง เป็นเวทนาโง่ ครั้นเวทนาโง่อย่างนี้เต็มอยู่ในใจแล้วมันก็เกิดตัณหาความอยากที่โง่ ถ้าเป็นสุขเวทนามันอยากได้อยากเอา ถ้าเป็นทุกขเวทนามันอยากจะฆ่ามันอยากจะทำลาย ถ้าเป็นอทุกขมสุขเวทนามันยังโง่ต่อไปอีก มันโง่ต่อไปเท่าเดิม นี่มันเกิดโลภะ โทสะ โมหะ ขึ้นมาได้อย่างนี้ ถ้ามองเห็นชัดเจนอย่างนี้ รู้จักกิเลสอย่างนี้ก็จะเกลียดกิเลสเป็นอย่างยิ่ง แล้วก็อยากจะฆ่ากิเลส อยากจะดับกิเลสเสียโดยเร็ว ที่มันเกิดตัณหาแล้วมันก็เกิดอุปาทานยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่อยากว่ามีตัวกูขึ้นมา เป็นผู้อยาก อยากจะได้มาเป็นของกู มันเป็นตัณหาอย่างนี้แล้วมันก็มีภพมีชาติแหละ คือความพร้อมที่จะให้เป็นตัวกูออกมาอาละวาด ทำนั่นทำนี่ คิดนั่นคิดนี่ พูดนั่นพูดนี่ แล้วในที่สุดมันก็ยึดถือเอาสิ่งต่างๆมาเป็นตัวกูของกู ก็ได้เป็นทุกข์ ความเกิดของธรรมชาติก็ยึดเอาเป็นความเกิดของตัวกู ก็เป็นทุกข์ ความแก่ของธรรมชาติก็ยึดเอามาเป็นความแก่ของกู ก็เป็นทุกข์ ความตายเป็นของธรรมชาติก็ยึดเอาความตายมาเป็นของกู หรือว่าสิ่งต่างๆ ที่เป็นของธรรมชาติตามธรรมชาติก็ยึดเอามาเป็นของกู โดยไม่รู้สึกตัว มันก็มีลูกของกู เมียของกู ผัวของกู บ้านของกู เรือนของกู เรือกสวนไร่นาของกู อะไรมันก็เลยเป็นทุกข์อย่างเหมือนกับว่าท่วมทับ ท่วมทับทีเดียว นี่รู้จักกิเลสขึ้นมาทีไรก็ร้อนเป็นไฟที่นั่น ให้มากจนเกลียดกิเลส
ทีนี้ก็รู้จักต่อไปถึงอาสวะว่าพอมันเกิดกิเลสทีหนึ่งแล้ว มันจะเกิดอนุสัยหน่วยหนึ่งเสมอ พอมันเกิดกิเลสทีหนึ่ง หน่วยหนึ่งมันจะเกิดอนุสัยขึ้นมาหน่วยหนึ่ง คือความเคยชินที่จะเกิดกิเลสเช่นนั้นอีก เช่นเราโลภครั้งหนึ่ง มันก็เกิดอนุสัยโลภเรียกว่าราคานุสัยขึ้นมาสำหรับจะโลภต่อไปอีก ให้ยิ่งขึ้นไปอีก โกรธครั้งหนึ่ง มันก็เกิดอนุสัยโกรธคือปฏิฆานุสัยที่จะโกรธได้ง่ายๆ ยิ่งขึ้นไปต่อไปอีก ถ้ามันโง่เป็นโมหะขึ้นมาครั้งหนึ่ง มันก็เกิดอวิชชาอนุสัยสำหรับจะโง่เช่นนั้นต่อไปอีก ก็คือมันจะให้เกิดความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้นน่ะ ถ้าเกิดโลภเพราะมันชินที่จะโลภ เกิดโกรธก็ชินที่จะโกรธ เกิดหลงก็เคยชินที่จะหลง ความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้นน่ะก็เรียกว่าอนุสัย อนุสัยมากขึ้นในสันดาน ก็คือจะเกิดขึ้นมาโดยง่ายในสันดาน แต่เขามักจะใช้คำว่านอนเนื่องอยู่ในสันดานนั้นก็ใช้คำอุปมามากเกินไป มันเป็นไปอย่างนั้นไม่ได้หรอก มันเกิดดับ เกิดดับเหมือนกัน แต่ว่ามันเกิดง่าย มันเหมือนกับว่ามีพร้อมอยู่เสมออย่างนั้น ถ้ามีความเคยชินมากมันก็เกิดง่าย มันพร้อมที่จะเกิดอยู่เสมอ ส่วนนี้เรียกว่าอนุสัย กิเลสประเภทอนุสัยเป็นอย่างนี้
ทีนี้เมื่อสะสมความเคยชินอนุสัยไว้มาก ไว้มากมันจะดันออก มันจะดันออกมาเป็นการกระทำอย่างนั้นอีก ที่จะไหลออกมาเป็นการกระทำอย่างนั้นอีกนี้เรียกว่า “อาสวะ” อาสวะ ฉะนั้นเราจึงโลภง่าย โกรธง่าย หลงง่ายเป็นอาสวะไหลออกมา เมื่อมันจะไหลออกมาเป็นการกระทำซ้ำภายนอกอีกนี่ก็เรียกว่า อาสวะ นิวรณ์นั่นเกิดตามธรรมชาติ ไม่เจตนาก็มี กิเลสเกิดโดยเจตนาโดยตรง เกิดกิเลสแล้วก็สร้างอนุสัยความเคยชินไว้ อนุสัยความเคยชินมีมากก็จะดันออกมาเป็นอาสวะ ฉะนั้นรู้จัก ๔ คำนี้ให้ดีๆ ว่า นิวรณ์ กิเลส อนุสัย อาสวะ ถ้ารู้จักเรื่องนี้ดีแล้วก็จะรู้จักโคตรเหง้าของกิเลสอย่างง่ายดายในการที่จะศึกษาเรื่องกิเลสต่อไปข้างหน้า ให้รู้จักเรื่องกิเลสเพียงพอที่จะกำจัดกิเลสได้ จึงเป็นสิ่งที่ควรจะสนใจ ว่ากิเลสนี้มันมีเป็น ๔ ระดับหรือ ๔ ประเภท ๔ ชั้นอยู่อย่างนี้ เราควรจะรู้จักมันให้ดีกว่าปีเก่า ให้มากกว่าปีเก่า ให้ยิ่งกว่าปีเก่า โดยที่ว่ามองดูเมื่อนิวรณ์เกิดขึ้นให้รู้จักว่านิวรณ์อย่างไร เมื่อกิเลสเกิดขึ้นให้รู้จักว่ากิเลสอย่างไร เมื่ออนุสัยมีขึ้น ความเคยชินมีขึ้น ก็ให้รู้ว่ามันมีอย่างไร แล้วมันจะไหลออกมาก็ให้รู้ว่ามันจะออกมาเป็นอาสวะอย่างไร มีสติในที่ทุกสถาน ก็จะควบคุมสิ่งเหล่านี้ไว้ได้ ชีวิตนี้มันก็จะเย็น จะเป็นสุขมากขึ้น คือมีนิพพานที่นี่ อย่างชนิดที่นี่เดี๋ยวนี้ได้ง่ายขึ้น จนกว่าจะมีนิพพานชั้นสูงสุดหรือชั้นที่สมบูรณ์
เอ้า, ทีนี้เรื่องถัดไปอีก ที่จะต้อง ที่ขอร้องนะ ให้รู้จักขึ้นให้มาก ให้ทำให้ดีขึ้นกว่าปีเก่า รู้จักให้มากขึ้นกว่าปีเก่า ทำให้ดีขึ้นกว่าปีเก่าก็คือ “รู้จักความจริง” รู้จักความจริง เป็นคำพูดที่น่าห่วงแหละ ที่เรียกว่าความจริงที่สุด แต่คนจะไม่ค่อยเห็นว่าเป็นความจริง คือคำว่า เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง ถ้าเป็นบาลีว่า “ตถตา” ไม่มีอะไรที่จะไม่เป็นเช่นนั้นเอง คือมันต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน แล้วมันต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นเช่นนั้นเอง นี่คนไม่เห็นเช่นนั้นเอง มันก็อยากจะให้เป็นไปตามที่มันต้องการ มันเป็นไปไม่ได้ มันก็นั่งร้องไห้บ้าง โกรธ ขัดใจบ้าง อะไรบ้าง เป็นทุกข์ทรมานอยู่ เพราะมันไม่เห็นเช่นนั้นเอง เรื่องเงินเรื่องทอง เรื่องข้าวเรื่องของ เรื่องลูกเรื่องเมีย เรื่องหลานเรื่องเหลน เรื่องอะไรต่างๆ ทุกเรื่องแม้แต่เรื่องหมาเรื่องแมว มันจะเป็นเช่นนั้นเองตามเหตุตามปัจจัยของมัน นี่คนมันไม่รู้ มันจะให้เป็นไปตามความต้องการของเขาเรื่อยไป ให้ตรงกับที่เขาต้องการเรื่อยไป มันก็เป็นไปไม่ได้ มันก็ต้องรับโทษ คือเป็นทุกข์ ก็ต้องหลั่งน้ำตาบ้าง ขนาดหนักเข้าไปก็ต้องฆ่าตัวตาย อย่างเบาหน่อยก็เป็นบ้าเป็นโรคประสาทไม่รู้จักหาย เพราะมันไม่รู้จักความจริงที่เรียกว่า ตถตา แปลว่าความเป็นเช่นนั้นเอง เพราะฉะนั้นจะต้องศึกษาให้เข้าใจ ให้คล่องแคล่วให้ว่องไวในคำว่าเช่นนั้นเอง หรือตถตานะ พออะไรเกิดขึ้นมาแล้วจะได้ตถตาเช่นนั้นเองทัน จะต้องไม่เป็นทุกข์ ไม่เข้าไปแผดเผาในจิตในใจ ไม่ไปทิ่มแทงในจิตใจ เพราะความรู้เรื่องตถตาน่ะมันกันเอาไว้ มีความรู้เรื่องตถตาให้เพียงพอ ถ้ามันเผลอไป มันเป็นทุกข์เสียแล้วก็ต้องเรียกตถตากลับมาใหม่ ถ้ามันผิดพลาดด้วยเหตุใด ทำไม่ทัน หรือว่าไม่รู้เท่าถึงการณ์อะไรมันผิดพลาดกันจนเกิดความทุกข์เสียแล้ว ก็ต้องเรียกตถตานี่กลับมาใหม่ กลับมาใหม่ให้รู้ว่า เอ้า, มันเช่นนั้นเอง ยกเลิกหมด เป็นอิสระทันที ยกเลิกหมด มีจิตใจที่สูงกว่าปัญหาเหล่านั้น มันไม่มีความทุกข์กันเสียก่อน มีจิตใจผ่องใสแจ่มใส เป็นอิสระเสียก่อน แล้วจึงมาค่อยคิดว่าจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร ก็แก้ไขไปตามนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้เรียกว่าแก้ไขปัญหานี้โดยธรรมะของพระพุทธเจ้า ถ้าไปโกรธเสียแล้วก็ทำไปตามความโกรธ ความอะไรตามธรรมเนียมคนโง่เป็นปุถุชนนั้นน่ะ อย่างนั้นเราเรียกแก้ไขตามแบบของปุถุชน มันจะไม่มีทางสำเร็จ ถ้าจะแก้ไขตามแบบของพระพุทธเจ้ามันก็จะต้องตถตาเช่นนั้นเอง ปัดกวาดทิ้งออกไปหมด ให้จิตใจโล่ง จิตใจเป็นอิสระปกติเสียก่อน คือไม่ทุกข์กันเสียก่อน แล้วก็ไม่ทุกข์ตลอดไป แล้วมีสติปัญญาเป็นอิสระแล้วก็มาคิดว่าจะทำอย่างไร จะแก้ไขปัญหาข้อนี้อย่างไร นี่เรียกว่าเห็นตถตา เห็นตถตา ความจริงที่สุดของสิ่งทั้งปวงคือมันเป็นเช่นนั้นเอง ฟังดูคล้ายกับพูดเล่น แต่กลับเป็นความจริงชั้นสูงสุด พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าตถตา แปลว่าความเป็นเช่นนั้น หรือเรียกให้ยาวไปว่า “อวิตถตา” ไม่ผิดไปจากความเป็นเช่นนั้น หรือบางทียาวออกไปอีกว่า “อนัญญถตา” ไม่เป็นโดยประการอื่นนอกจากประการนั้น “ธัมมัฏฐิตตา” คือเป็นการตั้งอยู่ตามธรรมชาติ ธรรมดา “ธัมมนิยามตา” นี้มันเป็นกฎตายตัวของธรรมดา อิทัปปจจยตาปฏิจฺจสมุปฺปาโท นี่มันเป็นอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท คือการที่เมื่อมีเหตุปัจจัยอย่างใดแล้วมันก็เกิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมา สิ่งทั้งหลายจะต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยเรียกว่า อิทปฺปจฺจยตาปฏิจฺจสมุปฺปาโท แต่ว่าทั้งหมดนั้นน่ะทุกคำๆ มาสรุปรวมเหลือเป็นคำแรกคำเดียวว่า ตถตา เห็นตถตา ผู้ใดถึงซึ่งตถา ผู้นั้นเรียกว่าเป็นตถาคต ตถาก็คือตถตา ตถาก็แปลว่าเป็นเช่นนั้น ตถตาก็แปลว่าความเป็นเช่นนั้น ผู้ใดถึงซึ่งความเป็นเช่นนั้นคือเห็นแจ้งโดยประจักษ์แล้วผู้นั้นเรียกว่าตถาคต ตถาแปลว่าเช่นนั้น คตแปลว่าถึงแล้ว ตถาคตแปลว่าถึงแล้วซึ่งความเป็นเช่นนั้น คือเห็น คือรู้จัก คือตรัสรู้ซึ่งความเป็นเช่นนั้น มันก็ไม่มีความทุกข์ มันก็หัวเราะเยาะสิ่งทั้งหลายได้ มันจะเกิดขึ้นมาอย่างประหลาดมหัศจรรย์อย่างไรมันก็หัวเราะเยาะได้ มันก็หัวเราะเยาะได้ คิดดูให้ดี มันต้องไม่มีความทุกข์ให้ละอายแมว เพราะแมวมันก็ไม่ได้เป็นทุกข์เพราะเหตุอย่างนี้ แล้วคนจะมาเป็นทุกข์เพราะเหตุอย่างนี้ มันก็เรียกว่าน่าละอายแมว ถ้ารู้จักละอายแมวกันเสียบ้างก็จะไม่กล้าทำอย่างนั้น คือจะไม่กล้าทุกข์กันง่ายๆ ปล่อยให้ความทุกข์ครอบงำกันง่ายๆ นี่อย่าเป็นทุกข์ให้ละอายแมว มนุษย์มีจิตใจสูง ควรจะเห็นตถตา บังคับควบคุมจิตไว้ได้โดยที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ เอาละขอให้ปีใหม่นี้เห็นตถตาให้มากกว่าปีเก่า
ข้อต่อไปก็ว่า “มี” ฟังให้ดีๆ เดี๋ยวจะ บางคนจะไม่เชื่อแล้วจะตกใจว่า มีพระพุทธเจ้าเป็นพ่อให้มากกว่าปีเก่า มีพระธรรมเป็นแม่ให้มากกว่าปีเก่า มีพระสงฆ์เป็นพี่น้องให้มากกว่าปีเก่า พระพุทธเจ้าเป็นพ่อ บันดาลให้พระธรรมปรากฏออกมา พระธรรมเป็นแม่คือกฎเกณฑ์แห่งปฏิจจสมุปบาท สร้างสรรค์สิ่งทั้งปวงให้เกิดขึ้นมา พระสงฆ์เป็นพี่น้องคือเป็นพี่น้องออกมาจากพ่อแม่เดียวกัน มีพระสงฆ์เป็นพี่เป็นน้องให้มากขึ้น เป็นพี่เป็นน้องอย่างเลวก็ยังดียังอยู่ไกลๆ หน่อย มากหน่อยก็ยังดี แต่ขอให้มีลักษณะเป็นพี่เป็นน้องกับพระสงฆ์ให้มันมีขึ้นมาบ้าง มีพระพุทธเจ้าเป็นพ่อให้มากกว่าปีกลาย มีพระธรรมเป็นแม่ให้มากกว่าปีกลาย มีพระสงฆ์เป็นพี่เป็นน้องให้มากกว่าปีกลาย นี่คือปีใหม่ ที่เรียกว่าปีใหม่แท้ ที่แล้วมา มีพระพุทธเจ้าเป็นพ่อน้อยเกินไป ไม่ได้ทำให้เกิดแสงสว่างแห่งธรรมะขึ้นในจิตใจเพราะมันโง่เอง มันไม่อาจจะรับเอาพระพุทธเจ้าเป็นพ่อ ทีนี้ก็มีพระธรรมเป็นแม่ ถ้าพระธรรมเป็นแม่ มันก็สร้างสรรค์ไปในความถูกต้อง ในทางแห่งความถูกต้อง มันไม่มีผิดพลาด จะมาทุกข์ทรมานอยู่อย่างนี้ มีพระสงฆ์เป็นพี่ ก็คือเป็นตัวอย่างที่ปฏิบัติดูให้ดี ปฏิบัติดูให้เป็นตัวอย่าง ให้เดินตามให้ดีๆ เพราะว่ามาก่อนเกิดก่อน เราเกิดมาทีหลังก็เหมือนกับน้อง จะน้องแท้ๆ หรือน้องห่างๆ หรือน้องไกลลิบก็ยังดี ขอแต่มันเดินตามทางแห่งพระสงฆ์ที่ได้เดินเป็นตัวอย่าง พระพุทธเจ้านี่ท่านก็เปิดเผยธรรมะออกมา พระธรรมก็ถูกเปิดเผยแล้ว มีการปฏิบัติแล้ว พระสงฆ์ก็คือผู้ที่รับธรรมะแล้ว ปฏิบัติแล้ว ดับทุกข์ได้แล้ว ทำตนเป็นสักขีพยานว่าไอ้ธรรมะนี้ปฏิบัติได้ อย่าเห็นว่าเป็นสิ่งเหลือวิสัยเลย อาการอย่างนี้ขอเรียกว่ามีพระพุทธเป็นพ่อ พระธรรมเป็นแม่ พระสงฆ์เป็นพี่ ซึ่งเรามันยังมีกันน้อยเกินไปเกือบจะหาไม่พบ ขอให้พยายามอย่างยิ่งให้มีลักษณะอาการอย่างนี้เกิดขึ้น แล้วก็ให้มันมากขึ้นๆ ทุกปีๆ
ทีนี้ข้อต่อไปก็ว่า มีการปฏิบัติที่ดีขึ้นทุกปี จะยกข้อแรกว่า “มีปากอย่างใจอย่าง” ปากอย่างใจอย่างได้ดีกว่าทุกปี ข้อนี้ถ้าฟังไม่ดีก็คล้ายกับสอนให้เป็นคนโกหก แต่ไม่ได้ต้องการ ไม่ต้องการจะสอนให้เป็นคนโกหก จะสอนให้ว่าแม้ปากจะพูดเหมือนที่ชาวบ้านเขาพูดๆ กัน เราก็ไม่มีจิตใจอย่างนั้น เมื่อพูดว่าตัวฉัน ปากพูดว่าตัวฉัน แต่จิตใจไม่มีตัวฉัน ไม่ใช่ตัวฉัน ไม่ใช่ของฉัน ที่ชาวบ้านเขาพูดกันอย่างไร เป็นผัวเป็นเมีย เป็นลูกเป็นหลานเป็นเหลน เป็นเงินเป็นทอง เป็นข้าวเป็นของ เป็นอะไรก็ให้มันพูดไปตามที่เขาพูด แต่จิตใจไม่ได้ยึดถือเอาอย่างนั้น ไม่ได้ยึดถือเอาความหมายอย่างนั้น คือไม่ได้ยึดถืออะไรเลย อย่างนี้เรียกปากพูดไปอย่าง แต่จิตใจนั้นอยู่อย่างหนึ่ง คือจิตใจไม่เป็นทุกข์ ถ้าว่าปากกับใจเหมือนกัน มันก็ต้องเป็นทุกข์แหละ เพราะพูดอย่างนั้นมันพูดสำหรับยึดถือเป็นตัวตนบ้าง เป็นของตนบ้าง มันก็ต้องเป็นทุกข์ แม้แต่พูดว่าฉันว่าท่านว่าคุณว่าอะไรนี้ มันถ้าว่ามันมีความคิดยึดถืออย่างนั้นมันก็ต้องมีปัญหาแหละ ทีนี้ไม่มีความยึดถือว่าตัวว่าตนว่าของตนมันก็ไม่มีปัญหาอะไร นี่เรียกว่ารู้ธรรมะจนเห็นแจ้งความไม่ใช่ตนแล้ว แต่ปากก็ยังต้องพูดกับคนโง่ๆทั่วไปว่าตน ว่าตนว่ากูว่าสูว่าอะไรอยู่ เพราะต้องพูดกับคนโง่ ปากมันก็ต้องพูดไปตามแบบภาษาคนโง่ แต่ในจิตใจอยู่ในสภาพของคนฉลาด เห็นแล้วว่าไม่ใช่ตนก็เลยไม่มีความรู้สึกยึดถือว่าตน
พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่าตถาคตก็พูดโดยโลกียโวหาร โวหารที่ชาวบ้านพูดกัน แต่ไม่ได้ยึดถือความหมายอย่างนั้น นี่พระพุทธเจ้าท่านยังตรัสว่าอย่างนี้ พอเป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็ยังต้องพูดภาษาที่ชาวบ้านเขาพูดกันแหละว่า มีฉันมีตนมีแกมีอะไรเหมือนกับที่เขาพูดกัน แต่จิตไม่ยึดถือความหมายอย่างนั้น ไอ้เรานี่มันยึดถือความหมายอย่างนั้นมากเกินไปกว่าเสียอีก กว่าปากพูดไปเสียอีก ก็เลยต้องเป็นทุกข์ รู้จักทำจิตใจให้เห็นความจริง ไม่ยึดถือ แม้ว่าปากจะต้องพูดไปตามประสาของคนยึดถือที่มีอยู่ในโลก ก็ยึดถือ ให้คนในโลกเขายึดถือกันแล้วก็พูด เขาพูดปากกับใจตรงกัน มีกิเลสพูดตามกิเลส เราไม่ได้มีกิเลส แต่ปากก็พูดกับคนมีกิเลส โดยภาษาของคนมีกิเลส มันก็อยู่ในโลกได้ ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็พูดกันไม่รู้เรื่อง นี่คำว่าปากอย่างใจอย่างนี่วิเศษ ปฏิบัติแล้วจะไม่เป็นทุกข์ คือไม่ยึดถือความหมายอย่างที่ปุถุชนคนธรรมดาเขายึดถือแล้วพูด เราพูดด้วยภาษาของคนพวกนั้น แต่ยึดถือความไม่มีตัวไม่มีตน คือความไม่ยึดถือนั่นเอง ขอให้ปากอย่างใจอย่างยิ่งกว่าปีที่แล้วมา
ทีนี้ก็ว่าให้มีสติเมื่อผัสสะยิ่งกว่าปีที่แล้วมา มีสติเมื่อมีผัสสะให้มันยิ่งกว่าปีที่แล้วมา ถ้าไม่มีสติเมื่อผัสสะมันต้องเป็นทุกข์ มันก็เหมือนกับว่าตาเห็นรูป เกิดจักษุวิญญาณ ๓ ประการนี้เรียกว่าผัสสะ ถ้าสติไม่มาในขณะแห่งผัสสะมันเป็นผัสสะโง่ ถ้าสติมันมาในขณะแห่งผัสสะมันเป็นผัสสะฉลาด ผัสสะฉลาดมันก็ไม่โง่ แล้วมันก็ไม่หลงในเวทนาว่าสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา มันก็ไม่โง่เพราะมันมีสติปัญญามา
เราต้องศึกษาให้รู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาให้คล่องแคล่วอยู่เสมอนี่เรียกว่าปัญญา ปัญญา พอมีผัสสะมากระทบ สติก็ไปเอาปัญญามา คือระลึกได้ถึงปัญญา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ระลึกได้อย่างนี้เรียกว่าสติไปขนเอาปัญญามา ครั้นเราขนเอาปัญญามาแล้วก็เอามาคลุมอยู่ที่ตรงนั้นเป็นสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม รู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่ด้วยปัญญา สติไปขนเอาปัญญามา ทำเป็นสัมปชัญญะคุมเชิงอยู่ มันก็ผิดไม่ได้ มันจะรู้สึกผิดไม่ได้ คิดผิดไม่ได้ อะไรผิดไม่ได้ นี่สติเป็นผู้ระลึกได้ เอามา มันมีลักษณะเป็นพวกสมาธิ ไปเอาปัญญามา แล้วก็มาเป็นสัมปชัญญะ รู้สึกตัวทั่วพร้อมคุมเชิงอยู่ ผัสสะก็ผิดไม่ได้ เวทนาที่จะให้เกิดปัญหาก็เกิดไม่ได้ ไม่เกิดเป็นเวทนาที่จะหลอกให้โง่ ให้หลงรัก หลงโกรธหลงเกลียด หลงกลัวหลงวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์อะไรนี่มันก็มีไม่ได้นี่ เพราะมีผัสสะที่ฉลาด เรียกว่ามีสติเมื่อผัสสะ ให้ผัสสะมันฉลาด ขอให้เรามีสติในขณะแห่งผัสสะให้มากกว่าปีที่แล้วมา ถ้าปีที่แล้วมามันน้อยเกินไปมันต้องเป็นทุกข์เพราะผัสสะ อะไรเกิดขึ้นก็เป็นทุกข์ ไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่แหละถ้าสติไม่มาทันในขณะแห่งผัสสะ แล้วต้องรับเข้าไปด้วยความเป็นทุกข์อย่างยิ่งทั้งนั้นเลย ฉะนั้นขอให้มีสติในขณะแห่งผัสสะนี่ให้มันมากกว่าปีที่แล้วมา เรามีผัสสะกันด้วยความโง่เพราะขาดปัญญา ขาดวิชชา เขาเรียกว่าอวิชชาสัมผัส คือ สัมผัสด้วยอวิชชา อย่างนี้มันปรุงไปในทางเป็นทุกข์ แต่ถ้ามีสติเอาปัญญามาทันในขณะแห่งสัมผัส มันเป็นวิชชาสัมผัส สัมผัสด้วยวิชชา อย่างนี้มันจะปรุงไปในทางที่ไม่เป็นทุกข์ หรือมิเช่นนั้น ยิ่งกว่านั้นมันจะไม่ปรุงเอาเสียเลย มีสติให้ทันในขณะแห่งผัสสะให้มากกว่าปีที่แล้วมา
ทีนี้ก็ข้อถัดไปก็ว่า “อยู่เหนือของคู่” อยู่เหนือของคู่ พูดสั้นไปหน่อยว่าอยู่เหนือของคู่ พูดให้เต็มความหมายก็ว่า ให้อยู่เหนืออิทธิพลของสิ่งที่เป็นคู่ อยู่เหนืออิทธิพลของสิ่งที่เป็นคู่ อย่าให้โง่ไปอยู่ใต้ความหมาย ใต้อิทธิพลของสิ่งที่เป็นคู่ สิ่งที่เป็นคู่นี่มันไม่ใช่หมายถึงเรื่องเพศเรื่องคำโสกกะโหลกหยาบคายอะไรไม่ใช่ คำว่าคู่ คู่ในที่นี้มันหมายถึงตรงกันข้าม มันตรงกันข้ามแล้วก็เรียกว่าคู่ เพราะเราไม่รู้จักสิ่งนั้นคือไม่เห็นตถตา ไม่เห็นว่าเช่นนั้นเอง มันก็โง่ มันก็เห็นว่าเป็นต่างกันเป็นสองฝ่ายเสมอ ตามความรู้สึกของประสาทที่ยังโง่อยู่ คือถูกใจมันก็รู้สึกไปอย่าง ไม่ถูกใจมันก็รู้สึกไปอีกอย่างหนึ่ง มันเกิดเป็นของคู่ขึ้นมาอย่างนี้ ถ้าเกิดถูกใจมันก็ว่าดีสินี่อันหนึ่ง ไม่ถูกใจมันก็ว่าชั่วสิ มันก็ได้ดีกับชั่วขึ้นมาคู่หนึ่ง ดีกับชั่วเกิดขึ้นมาคู่หนึ่ง นี่มันก็ยังมีสุขหรือทุกข์คู่หนึ่ง ได้เสียคู่หนึ่ง แพ้ชนะคู่หนึ่ง ขาดทุนกำไรคู่หนึ่ง เป็นคู่ๆ คู่ๆ อย่างนี้นับไม่หวาดไม่ไหวเลยในเรื่องของมนุษย์เป็นคู่ๆ ความหมายฝ่ายหนึ่งเป็นไปด้วยความพอใจ ต้องการจะได้จะเอา อีกฝ่ายหนึ่งไม่พอใจไม่อยากจะได้ไม่อยากจะเอา มันก็ทรมานใจ นี่ถ้าเห็นว่ามันเช่นนั้นเอง ดีก็เช่นนั้นเอง ชั่วก็เช่นนั้นเอง มันก็ไม่เกิดความโง่ที่จะเอาหรือไม่เอาขึ้นมา มันเลยเฉยได้ มันอยู่ตรงกลาง อย่างนี้เรียกว่าไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของคู่ ไม่มีอะไรมาให้รู้สึกว่านี่ดีนี่ชั่ว มันเช่นนั้นเอง คนโบราณเขามีความรู้เรื่องนี้ดี เขาก็พูดว่าทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ อัปรีย์แปลว่าไม่น่ารัก เพราะไปยึดถือเข้ามันกัดเอา ไอ้ชั่วมันก็กัดอย่างชั่ว ไอ้ดีมันก็กัดอย่างดี ทั้งชั่วทั้งดีมิใช่ความสงบ ฟังถูกไหม ทั้งชั่วทั้งดียังมิใช่ความสงบ ต้องขึ้นอยู่เหนืออิทธิพล เหนืออำนาจอะไรของความชั่วและความดีทั้งคู่นะจึงจะเป็นความสงบ ถ้าดีก็อยากได้ เป็นทาสของสิ่งที่อยากได้ ถ้าชั่วก็อยากจะทำลาย ไปเสียเวลาที่ทุกข์ร้อนที่จะต้องทำลายหรือแม้แต่จะวิ่งหนีก็ตามเถอะ มันก็ยังเป็นเรื่องเดือดร้อนอยู่นั่นแหละ ชั่วและดีเป็นของที่ไม่สงบ เป็นของที่ทำให้ยุ่ง พูดคำรุนแรงก็ว่าบ้าเหมือนกันทั้ง ๒ อย่าง ไม่หลงชั่วไม่หลงดี ไม่บ้าชั่วไม่บ้าดี ก็ถึงความว่างหรืออยู่ตรงกลางนั่นแหละเป็นธรรมะ เป็นนิพพาน ท่านจึงมีหลักว่านิพพานนั้นน่ะอยู่เหนือชั่วเหนือดี เหนือสุขเหนือทุกข์ เหนือบุญเหนือบาป เหนือได้เหนือเสีย เหนือทุกคู่แหละความหมายของนิพพาน เดี๋ยวนี้มนุษย์เรามันอยู่ใต้อำนาจของความรู้สึกที่เป็นคู่ ดีก็รู้สึกอย่าง ชั่วก็รู้สึกอย่าง แล้วก็ยุ่งกันไปหมด ไอ้เรื่องดีเรื่องชั่ว เรื่องได้เรื่องเสีย เรื่องแพ้เรื่องชนะ จิตใจต้องเป็นอิสระจากเหล่านี้ จากของคู่ๆ เหล่านี้เป็นจิตใจเกลี้ยง เกลี้ยง แล้วก็มีจิตใจที่มีปัญญา รู้ว่าต้องทำอย่างไรกับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งในที่สุดก็รู้ว่าไม่ต้องไปยึดถือกับสิ่งเหล่านี้ ทำอะไรชนิดที่ไม่เกิดความทุกข์ก็แล้วกัน ดีก็ทุกข์ตามแบบดี ชั่วก็ทุกข์ตามแบบชั่ว นี่ถ้ายึดถือนะ ถ้าไม่ยึดถือไม่มีอะไรจะเป็นทุกข์หรอก ดีก็ไม่เป็นทุกข์ ชั่วก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะมันไม่มีความหมายว่าดีว่าชั่ว เป็นมนุษย์ก็เป็นทุกข์ไปตามแบบมนุษย์ เป็นเทวดาก็เป็นทุกข์ไปตามแบบเทวดา เป็นพรหมชั้นสูงสุดก็เป็นทุกข์ไปตามแบบพรหมชั้นสูงสุด มีตัวกูยิ่งกว่าใคร มีตัวกูใหญ่กว่าใคร ยิงตัวตายมากกว่าใคร นี่มีความรู้สึกชนิดที่ไม่ถูกลวงด้วยของเป็นคู่ พูดอย่างภาษาจริยธรรมสากลก็ว่าไม่มีความรู้สึกเป็น positive หรือเป็น negative เราไม่มี positive ไม่มี negative มีแต่ว่างหรือเป็นกลาง มันไม่บวกมันไม่ลบ มันก็ไม่มีปัญหาอะไร ไม่มีความรู้สึกเป็น pessimist หรือเป็น optimist คือมองรู้สึกแต่ในแง่ดีบ้าง มองแต่รู้สึกแง่ร้ายบ้าง ไม่รู้สึกทั้ง ๒ อย่าง ไม่มีดีไม่มีร้าย ไม่มีดีไม่มีร้าย ไม่ต้องสะดุ้งหวาดเสียวต่อที่ร้าย แล้วก็ไม่ไปหลงทะเยอทะยานเสียว่าดี ไม่มีความหมายว่าชั่วว่าดี ไม่มีบวกไม่มีลบ นั่นแหละคือความที่อยู่เหนือของคู่ อยู่เหนืออิทธิพลของสิ่งที่เป็นคู่ อยู่เหนือความหมายของสิ่งที่บัญญัติไว้ว่าเป็นคู่ๆ นี่ขอให้มีมากกว่าปีเก่า ถ้าปีเก่ามันโง่ มันไปหลงของคู่ๆ มากไปแล้วก็ปีนี้ให้มันน้อย ปีใหม่ให้มันน้อยลงกว่าปีเก่าก็จะเรียกว่าปีใหม่ได้
ทีนี้อันสุดท้ายก็จะพูดว่า “ตายเสียก่อนตาย” ตายเสียก่อนตาย คนไม่เข้าใจ ฟังแล้วตกใจ เขาเรียกว่าชวนให้ฆ่าตัวตาย ไม่ได้ชวนให้ฆ่าตัวตาย แต่ให้ฆ่าตัวกู ความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูว่าของกูน่ะให้ตายเสียก่อนแต่ร่างกายตาย ชีวิตยังไม่ตายร่างกายยังไม่ตาย แต่ความโง่ ยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูว่าของกูน่ะขอให้ตายไปเสียก่อนเถอะ ความยึดมั่นว่าอะไรว่าเงินทองของกู บุตรภรรยาสามีของกู ลูกหลานเหลนของกู อะไรของกูของกูนั่นแหละ ไอ้กู กู กูทั้งหลายให้มันตายไปเสียหมด ก่อนแต่ที่ร่างกายนี้มันจะตาย ร่างกายนี้มันก็ต้องตายเองตามธรรมชาติแหละ เมื่อแก่ชราหมดเหตุหมดปัจจัยมันก็ตายเอง แต่ความเป็นทุกข์ มันไม่ได้อยู่ที่ความตายของร่างกายนี้ มันอยู่ที่ตัวกูเกิดขึ้น ตัวความรู้สึกยึดถือว่าตัวกูบ้างของกูบ้างเกิดขึ้นตามความโง่ หลงยึดถือของคู่นั่นมันก็เกิดขึ้น มันก็เป็นทุกข์ ความโง่ว่าตัวกูว่าของกูนั้นหมดไปเสียก่อนจะสิ้นชีวิต ชีวิตที่เหลืออยู่ก็จะเยือกเย็นเป็นพระนิพพาน ถ้าความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูตายไปเสียหมดแล้ว สิ้นไปหมดแล้วก็เป็นพระอรหันต์ แล้วก็จะอยู่กับนิพพานตลอดเวลาที่เหลือแห่งชีวิต นี่ไม่ใช่พูดว่าอวดดีหรืออะไรให้เป็นพระอรหันต์กันง่ายๆ ได้ไม่ใช่ แต่บอกว่าหนทางมันมีอย่างนั้น หนทางที่มันจะไปได้น่ะมันต้องทำลายกิเลสอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนว่าของตนเสียก่อน ให้มันตายเสียก่อนไอ้ตัวกู ตัวกูในความรู้สึกยึดถือตายเสียก่อน แล้วร่างกายยังไม่ได้ตาย ก็อยู่เป็นร่างกายที่เยือกเย็น เสวยรสของพระนิพพานไปจนกว่าว่าร่างกายนี้มันหมดเหตุหมดปัจจัยมันก็ต้องตายเหมือนกันแหละ มันก็ต้องตาย แต่ให้มันตายทีหลัง อย่างนี้เรียกว่าตายเสียก่อนตาย ตั้งไว้เป็นปริญญาของสวนโมกข์ สวนโมกข์ให้ปริญญาว่าตายก่อนตาย ใครประพฤติปฏิบัติได้ก็ให้ปริญญาตายก่อนตาย แล้วก็มีแต่ความสุขสงบเย็น เป็นชีวิตที่อยู่กับพระนิพพาน สนใจคำว่าตายก่อนตายเสียให้ถูกต้อง แล้วก็จะรอดตัว ตายเสียก่อนตายให้ถูกต้อง ตัวกู ตัวกู ยกหูชูหางอยู่ทั่วๆ ไปน่ะเรียกว่าอัตตา อัตตาทั้งนั้นแหละ ตายเสียก่อนเถิด ร่างกายยังอยู่ เสวยความสุขที่เกิดจากความว่างจากตัวกู ความสุขที่เกิดมาจากความว่างตัวตน ไม่มีตัวตน จิตใจไม่ยึดถืออะไรเป็นตัวตนนั่นเป็นความสุขคือพระนิพพาน คงจะมีเวลาเหลือสำหรับจะพบกับพระนิพพาน อยู่กับพระนิพพานจนกว่าร่างกายจะแตกดับ
เอาละนี่คือสิ่งสุดท้ายที่สำหรับพูดในตอนนี้ว่า จะต้องทำให้มีมากกว่าปีเก่า จึงจะเป็นปีใหม่ที่มีความหมายอันถูกต้อง ทบทวนอีกทีว่า ตั้งแต่พูดแรกพูดมาว่า ทบทวนอีกทีนะ สมรสทางวิญญาณกับวาณี ตรีรัตน์ สุญญตา ให้มากกว่าปีเก่า มีการศึกษา ศึกษา ศึกษา คือมองดูตัวเอง รู้จักตัวเอง บังคับตัวเอง เคารพตัวเอง พอใจตัวเอง เป็นสวรรค์ที่นี่ ที่นี่ให้มันมากกว่าปีเก่า ได้สวรรค์แท้จริงอยู่ที่นี่ พอใจตัวเองอยู่ทุกเวลานาที แล้วก็ว่าคลำให้ดีกว่าปีเก่า ให้พบธรรมะที่แท้จริงที่กำจัดอวิชชาความไม่รู้ได้ คือให้หายตาบอด แล้วก็ให้มีนิพพานสำหรับคนธรรมดาสามัญคือชีวิตเย็น ชีวิตเย็นนั้นให้มันมากกว่าปีเก่า ก็ให้รู้จักกำพืด กำพืด กำพืดแห่งกิเลส คือกิเลสชั้นนิวรณ์ กิเลสชั้นกิเลส กิเลสชั้นอนุสัย กิเลสชั้นอาสวะนี้ให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง จนเกลียดมันเหลือที่จะเกลียด อยากจะให้มันหมดไปไม่ให้มันมีอยู่ แล้วก็ให้รู้จัก ตถตา ความจริงสูงสุดว่าทุกสิ่งเป็นเช่นนั้นเอง คือตามเหตุตามปัจจัยของมันนั่นเอง อย่าไปโง่ไปฝืนไปบังคับมัน ซึ่งมันบังคับไม่ได้ แล้วจะมันจะตบหน้าเอา หรือมันจะกัดเอา คือจะเจ็บปวดเองเป็นทุกข์เอง เพราะมันไปโอหังกับไอ้ความจริงอันประเสริฐว่า ตถตา เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง ระวังให้มาก แล้วก็มีพระพุทธเป็นพ่อ มีพระธรรมเป็นแม่ มีพระสงฆ์เป็นพี่ให้มากกว่าที่แล้วมา แล้วก็มีปากอย่างใจอย่าง จิตไม่ยึดถือ แม้ปากจะพูดอย่างยึดถือ จิตก็ไม่ยึดถือนี่ให้มันมากกว่าปีเก่า มีสติเมื่อมีผัสสะให้เร็วให้ทันให้มันมากกว่าปีเก่า แล้วก็อยู่เหนืออิทธิพลของสิ่งที่เป็นคู่ๆ ความหมายของสิ่งที่เป็นคู่ๆ นั้นน่ะให้มากกว่าปีเก่า มีแต่ความว่างหรือเช่นนั้นเอง ไม่มีของคู่ๆ ว่าดีว่าชั่ว ว่าสุขว่าทุกข์ ว่าบุญว่าบาป ว่าได้ว่าเสีย ว่าแพ้ว่าชนะ กี่คู่ๆ ก็ตามใจ ไม่มาอยู่เหนือจิตใจเรา เราเลยเป็นอิสระ และข้อสุดท้ายก็ให้ตายเสียก่อนตายนี้ยิ่งขึ้นๆ ให้มากกว่าปีเก่า แล้วเราก็จะได้รับสิ่งที่ใหม่ ใหม่ที่สุด ใหม่อย่างยิ่งที่พระพุทธศาสนาจะมีให้ ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติธรรมดาแล้วก็เป็นคนธรรมดา เป็นปุถุชนธรรมดา เป็นคนโง่ เป็นคนหลง เป็นคนอย่างนั้นไม่มีประโยชน์อะไร เกิดมาก็จะเหมือนกับไม่ได้เกิด แต่ถ้าเราได้พบกับสิ่งเหล่านี้แล้วก็เรียกว่าเกิดมาไม่เสียทีเกิด ได้พบพระพุทธศาสนา ได้รู้ถึง ได้เข้าถึงสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้จะถึงจะมี ก็เลยว่าดีกว่าปีเก่า
การบรรยายในตอนนี้ในชุดนี้ก็เรียกว่าเป็นเรื่องสมบูรณ์เรื่องหนึ่งแล้ว แล้วมันรู้สึกเหนื่อยแล้วด้วย ฉะนั้นก็ต้องขอยุติการบรรยายในตอนนี้ไว้ทีหนึ่ง จึงขอยุติการบรรยายในตอนนี้ ให้ทุกคนซ้อมความจำไว้ดีๆ เอาสิ่งเหล่านี้ไปคิดนึกศึกษา ไปปฏิบัติให้ได้ ให้ใหม่ ให้แปลก ให้ยิ่งขึ้นไปกว่าที่แล้วๆ มา จะมีความสุขอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเป็นแน่นอน ขอยุติการบรรยายเพียงเท่านี้