แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นครูบาอาจารย์ เป็นนักศึกษา และเป็นผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายครั้งนี้อาตมาจะบรรยายเรื่องที่เรียกกันได้สั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า หัวใจของพุทธศาสนา ท่านก็ได้เคยได้ยินคำนี้มาแล้ว ได้ยินได้ฟังมาแล้วว่าหมายถึงอะไร ก็มีอยู่ในลักษณะต่าง ๆ กันว่าเรื่องอริยสัจบ้าง เรื่องคาถาอัสสชิบ้างหลาย ๆ อย่าง แต่บัดนี้อาตมาจะพูดอย่างรวบรัดให้ชัดเจน ให้เป็นที่เข้าใจได้ว่ามันเป็นอย่างไร โดยอาศัยพระพุทธภาษิตที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้นั่นแหละเป็นหลัก ถ้าจะพูดอย่างตามตัวหนังสือก็เหมือนกับกำปั้นทุบดินก็พูดได้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราบัญญัติแต่เรื่องความทุกข์กับความดับทุกข์เท่านั้น ถ้าไม่เกี่ยวกับความทุกข์และไม่เกี่ยวกับความดับทุกข์แล้วไม่ใช่เรื่องที่เราบัญญัติ อย่างนี้ก็พอจะจัดได้สักชั้นหนึ่งก่อนว่า เรื่องความดับทุกข์นั่นแหละเป็นหัวใจของพุทธศาสนา
ทีนี้ความดับทุกข์จะดับได้อย่างไร อ้าว, ยังไม่รู้ ก็เลยพูดให้ชัดไปเลยเสียว่า ความไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวตนของตน นั่นแหละเป็นความดับทุกข์ จะพูดให้สั้นก็ว่า ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ขยายความออกไปก็ว่า ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตนหรือเป็นของ ๆ ตน เป็นตนข้างในก็คือเป็นตน เป็นของข้างนอกก็คือของตน ที่เรียกกันโดยทั่ว ๆ ไปว่าเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น ทีนี้ก็มีปัญหาที่จะต้องบอกให้ทราบว่าคนเป็นอันมากแม้ที่เป็นนักปราชญ์ ที่เรียกกันว่าเป็นนักปราชญ์ก็คัดค้านว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะมาพูดกับคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุวชนทั้งหลายด้วยยิ่งไม่ต้องพูด คนทั่วไปก็ไม่ต้องพูด ไว้พูดแต่เพียงกับคนไม่กี่คนที่จะบรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์จึงจะพูดเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นอย่างนี้ไปเสีย แต่อาตมาก็ยังยืนยันว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องพูดแก่ทุกคนทุกระดับตามสมควรแก่สถานะของเขา เป็นว่าเราจะพูดเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นที่ทำให้บุคคลเป็นพระอรหันต์นั่นแหละแก่ทุกคน เพราะว่ามันเป็นเรื่องเดียวเท่านั้นที่จะดับทุกข์ได้
ถ้ามีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดโดยความเป็นตนของตน มันก็เป็นทุกข์เพราะความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง เหมือนกับว่าถืออะไรไว้ในมือ จับอะไรไว้ในมือมันก็หนักมืออย่างนั้น เป็นต้น เข้าใจกันได้ง่าย ๆ อย่างนี้ แม้จิตที่ไม่ยึดมั่น ไม่แบก ไม่ถือ ไม่กุม ไม่จับอะไรไว้โดยความเป็นตัวตนของตนนั่นนะ เรียกว่า จิตไม่ยึดมั่นถือมั่น มันเลยเป็นจิตที่อิสระหรือฟรี ที่อิสระไม่มีอะไรรบกวน ไม่มีอะไรเป็นความหนักโดยเป็นความดับทุกข์ แม้จะได้เคยได้ยินมาจากเรื่องพระยส (ยะ-สะ) ว่า ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี่ก็ลองคิดดูให้ดีว่า ตัณหานั้นทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นอีกทีหนึ่งจึงจะเป็นทุกข์ ตัณหานั่นแหละเป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่น แล้วเมื่อยึดมั่นถือมั่นจึงจะเป็นทุกข์ ดังนั้น ถ้าพูดว่าเป็นทุกข์เพราะความยึดมั่นถือมั่นนี่มันใกล้ชิดกว่าที่จะพูดว่าตัณหาคือความอยาก แล้วถ้าถอยหลังกลับมา ความอยากมันก็มาจากอวิชชา คือมันโง่ มันเกิดความอยากโดยที่สิ่งทั้งปวงไม่ต้องอยาก ไม่ควรจะไปอยาก มันเป็นเช่นนั้นเอง แต่มันมีความโง่มีอวิชชาแล้วมันก็อยาก พอเกิดความอยากขึ้นเต็มที่ในจิตใจแล้วมันก็คลอดไอ้ความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งออกมาทันทีว่า มีผู้อยาก คือ ตัวกูผู้อยาก ยึดมั่นตัวกูเป็นผู้อยาก แล้วยึดมั่นสิ่งที่อยากเอามาเป็นของกู อย่างนี้เรียกว่า ความยึดมั่นถือมั่นเต็มที่ ถ้าจิตรู้สึกอย่างนี้มันก็คือความทุกข์ จะเปรียบกับไฟไหม้ จะเปรียบกับน้ำท่วม จะเปรียบกับถูกตี ถูกแทง ถูกอะไรก็ได้ทั้งนั้นแหละ เพราะมันไปยึดมั่น มีความยึดมั่น แล้วความยึดมั่นนั่นแหละมันกัดหัวใจ มันกัดเอา แล้วขอให้มองเห็นว่าถ้ามีความอยากด้วยความโง่ ความต้องการด้วยความโง่ นี่เรียกว่า ความอยาก มีความอยากชนิดนี้เมื่อไหร่ก็จะปรุงเป็นความรู้สึกว่ามีตัวตนผู้อยากขึ้นมาทันที แล้วก็ได้เป็นทุกข์เพราะความรู้สึกมีตัวตนผู้อยาก อยากอย่างร้อนรนกะวนกะวายเพราะความโง่ มีความทุกข์เพราะความยึดมั่นถือมั่น ความยึดมั่นถือมั่นมาจากความอยากด้วยความโง่ ความโง่นี้ก็มาจากอวิชชา คือไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่รู้สิ่งต่าง ๆ ทุกสิ่งว่าเป็นไปตามธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติเช่นนั้นเอง ถ้ามันเกิดมา มันก็ไม่ได้เรียนรู้ธรรมชาติเรื่องกฎธรรมชาติ พออะไรอะไรอร่อยน่ารักมันก็อยากก็พอใจ พออะไรไม่อร่อยไม่น่ารัก มันก็โกรธขัดใจ มันก็เลยได้เป็นทุกข์ นี่ถ้าถูกใจ น่ารักน่าพอใจ ยึดมั่นถือมั่น มันก็เกิดอุปาทานตัวกูอยากจะได้ นี่ถ้าว่ามันไม่ถูกใจ มันขัดใจมันก็เกิดตัวกูว่าอยากจะทำลายเสีย มันก็เป็นอุปาทาน เป็นความยึดมั่นถือมั่นด้วยกันทั้งนั้น
พุทธบริษัททุกคนควรจะรู้ความจริงข้อนี้ให้ชัดแจ้งเป็นหลักพระพุทธศาสนา มิฉะนั้นจะพลัดออกไปนอกทางของพระพุทธศาสนาก็ไปสู่ที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนา เช่น ไสยศาสตร์เป็นต้น เรื่องไสยศาสตร์นี้ก็เป็นสิ่งที่ควรจะรู้จักไว้ว่ามันตรงกันข้ามคนละอย่างกับพุทธศาสตร์ นี่พุทธศาสตร์มันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ตามกฎแห่งเหตุผล แล้วมันก็ต้องการจะแก้ไขที่เหตุนั้น ดังนั้น จึงต้องทำเองไม่รอให้ใครที่ไหนมาช่วย ถ้าเป็นเรื่องไสยศาสตร์มันง่ายกว่านั้น คือมันคิดหาที่พึ่งข้างนอก อ้อนวอนให้พระเจ้าช่วยแล้วก็ทำพิธีกันต่าง ๆ นานาตามแบบไสยศาสตร์ มันก็สบายใจไปพักหนึ่ง แต่ความทุกข์มันดับไม่ได้โดยเด็ดขาด นี่พุทธศาสตร์ แปลว่า ศาสตร์ของคนตื่น ไสยศาสตร์ แปลว่า ศาสตร์ของคนหลับ จะยกตัวอย่างง่าย ๆ กันเดี๋ยวนี้ก็ได้ว่า อย่ามาเอาพระเครื่องมาแขวนคอว่าศักดิ์สิทธ์ แล้วจะช่วยเรา บนบานสานกล่าวให้พระเครื่องศักดิ์สิทธิ์ช่วยเรา อย่างนี้เป็นไสยศาสตร์ เอาพระเครื่องมาแขวนคอเป็นไสยศาสตร์ แต่ถ้าเอาพระเครื่องมาแขวนคอด้วยความรู้ว่า พระพุทธเจ้าท่านรู้ความดับทุกข์ แล้วท่านสอนไว้ แล้วดับทุกข์ตามนั้นได้จริง เราชอบใจคำของพระพุทธเจ้า ยินดีจะปฏิบัติตาม ขอบคุณพระพุทธเจ้า และจะระลึกนึกถึงอยู่เสมอจึงเอามาแขวนคอ ถ้าเอาพระเครื่องมาแขวนคอด้วยความรู้สึกอย่างนี้ก็เป็นพุทธศาสตร์ ศาสตร์ของคนตื่น คือมิได้หลับ มันต่างอยู่ ตื่นและหลับ ถ้าทำอย่างไม่มีเหตุผลงมงายไป ก็เป็นไสยศาสตร์คือหลับ ถ้าทำอย่างถูกต้องตามความจริงของธรรมชาติก็เรียกว่าพุทธศาสตร์ นั่นคือตื่น ทุกอย่างจะเป็นไปอย่างนี้หมด ถ้าทำไปโดยงมงายโดยปราศจากเหตุผล ให้ผู้อื่นมาช่วยอย่างนี้ล่ะเป็นไสยศาสตร์ มีพิธีรีตองมาก ถ้ารู้ว่าความทุกข์มันเกิดขึ้นเพราะเราทำผิด โง่เอง ทำผิดเองเกี่ยวกับความคิดในจิตใจ ทำขึ้นใหม่ให้ถูกเถอะแล้วมันก็จะดับทุกข์เองด้วยตนเอง อย่างนี้คือพุทธศาสตร์ ขอให้นักศึกษาทั้งหลายเริ่มเข้าใจสิ่งทั้งสองนี้ว่ามันต่างกันอย่างไร ใครเคยเป็นไสยศาสตร์อยู่ก็เลื่อนชั้นตัวเองให้เป็นพุทธศาสตร์เสียจะได้เข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนาได้โดยง่าย
หัวใจของพุทธศาสนาก็คือความรู้ที่ถูกต้อง แล้วก็ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวตนของตน คำว่าไม่ยึดมั่นถือมั่น ความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละเป็นจุดสำคัญของเรื่องนี้ ถ้าจะพูดกันสำหรับเรียนรู้ ๆ เรียนอย่างวิชาความรู้ ก็รู้เรื่องนี้ คือรู้เรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้าจะเป็นการปฏิบัติลงไปด้วยกาย วาจา ใจ ก็ปฏิบัติเพื่อความไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้าเป็นผลของการปฏิบัติ ได้รับผลของการปฏิบัติ ก็ได้รับเป็นผลออกมาเป็นความไม่ยึดมั่นถือมั่น ดับทุกข์สิ้นเชิง จึงสรุปว่า จะรู้ก็ดี จะปฏิบัติก็ดี จะรับผลของการปฏิบัติก็ดี มันต้องเป็นเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น มันจึงจะถูกหัวใจของพุทธศาสนา เช่น คนธรรมดาสามัญไปยึดมั่นถือมั่นเป็นธรรมดา ยิ่งโลกสมัยนี้ยิ่งยึดมั่นถือมั่นมาก เพราะว่าประดิษฐ์ไอ้สิ่งที่ทำให้หลงรักหลงพอใจนั้นมันมากกว่าแต่ก่อนจึงกล้าพูดว่าคนสมัยนี้มีความยึดมั่นถือมั่นมากกว่าคนโบราณดึกดำบรรพ์ จึงมีความยึดมั่นถือมั่นที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์นี้มากกว่า ดังนั้นจึงมีความทุกข์มากกว่าที่จะเป็นความทุกข์น้อย ๆ อย่างจะเป็นโรคประสาทนี่จะเป็นกันเสียทุกคน ถ้าไม่มีความทรมานใจด้วยความยึดมั่นถือมั่นแล้วมันก็ไม่เป็น เด็กวัยรุ่น เด็กทารก วัยรุ่นก็ยึดมั่นถือมั่น เพราะว่าถูกแวดล้อมให้ยึดมั่นถือมั่นในบิดามารดา ยึดมั่นถือมั่นในอาหาร ยึดมั่นในสิ่งที่สวยงาม ล้วนแต่เขาเอาเข้ามาให้ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน ว่าเป็นของตน แล้วเขาก็จะต้องเป็นทุกข์กับความยึดมั่นถือมั่น คือจิตใจผิดปกติแล้ว ถ้าจิตใจปกติ คือเป็นอิสระ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร คือไม่ไปเป็นทาสของอะไร ถ้าไปพอใจหรือไม่พอใจในสิ่งใดก็เป็นทาสของสิ่งนั้น คือสิ่งนั้นจะเกิดทำให้ความรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ แล้วก็หนักด้วยกันทั้งนั้น ยึดไว้ด้วยความรู้สึกว่าเป็นสุข มันก็เป็นทาสของความสุข รู้สึกว่าเป็นทุกข์มันก็เป็นทาสของความทุกข์
เด็ก ๆ เล็ก ๆ ก็ควรจะได้รับการสั่งสอนเรื่องการไม่ยึดมั่นถือมั่นตามสมควร ตามสมควร คือ เท่าที่เด็กจะทำได้ เช่นว่าตุ๊กตาที่เขารักมากที่สุดมันหายหรือมันตกแตก เด็กเขามีความยึดมั่นถือมั่นเขาก็ร้องไห้อย่างกับจะตาย นั่นแหละเป็นส่วนของความยึดมั่นถือมั่น ถ้ามันไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นมันก็ไม่ต้องร้องไห้ ดังนั้น เรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นนี้ควรสอนแม้แก่เด็ก ๆ แม้แก่ลูกเด็ก ๆ ที่พูดว่าไม่ควรเอามาสอนนั้นว่าเอาเองตามชอบใจ คือไม่มีหลักเกณฑ์อะไรแล้วยังด่าคนอื่นด้วย อาตมาก็เคยถูกด่าว่าเอาความไม่ยึดมั่นถือมั่นมาสอนชาวบ้านธรรมดา มาสอนเด็ก ๆ ก็ไม่เป็นไร แต่ยังยืนยันว่าไอ้เรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นนี่ควรสอน แม้ตั้งแต่ลูกเด็ก ๆ ขึ้นไป ถ้าตุ๊กตาตกแตก มันก็บอกให้เขาคลายความยึดมั่นถือมั่นว่า มันเช่นนั้นเองแหละ ๆ ถ้ามันหายมันก็เช่นนั้นเองแหละ
ถ้าเป็นเด็กวัยรุ่นมีเรื่องยึดมั่นถือมั่นมากขึ้นจนถึงจะเกิดลักขโมยเมื่อหาไม่ได้ตามชอบใจ หรือเกิดตีรันฟันแทงเมื่อขัดใจก็เพราะยึดมั่นถือมั่น ถ้าเขาคลายความยึดมั่นถือมั่นเหล่านั้นเสียก็จะไม่มีเรื่องมาก ทีนี้มาคนหนุ่มคนสาว ก็มีความยึดมั่นถือมั่นรุนแรงขึ้นไปอีก เพราะว่าเรื่องทางเพศมันแทรกเข้ามาอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของการยึดมั่นถือมั่น ดังนั้นจึงเป็นทุกข์หนักมหาศาล จนกระทั่งต้องมีการฆ่าตัวตาย ฆ่าตัวเองตาย ฆ่าคนเกี่ยวข้องตาย ฆ่ากันตายหมดทั้งกลุ่มอย่างนี้ก็มี นี่เพราะว่ามันมีความยึดมั่นถือมั่นรุนแรงขึ้นมา ถ้าเขาเห็นมันว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง ๆ ก็ไม่ต้องมีอาการที่เรียกว่าผิดหวังหรืออกหักหรืออะไรชนิดที่ทำลายตัวเอง ควรจะได้รับความรู้เรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นไว้พอสมควร จะได้ไม่โง่มาก จะไม่ต้องทำผิดมากถึงขนาดนั้น
ทีนี้เป็นหนุ่มเป็นสาวก็ยิ่งมีความยึดมั่นถือมั่นรุนแรงตามเรื่องของคนหนุ่มสาว ควรรู้จักควบคุม รู้จักป้องกัน รู้จักบรรเทา อย่าให้วัยหนุ่มสาวกลายเป็นวัยที่บ้าคลั่งที่สุด แล้วก็ทำในสิ่งที่ไม่ควรจะทำก็ทำได้มากที่สุด ทีนี้เป็นพ่อบ้านแม่เรือนก็มีความยึดมั่นถือมั่นไปในทางทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง อะไรทางนั้น มันก็ต้องมีความทุกข์เกี่ยวกับทรัพย์สมบัติ หิวอยู่ตลอดเวลา หายไปก็เป็นทุกข์เดือดร้อน ไม่มีความรู้สึกว่าเช่นนั้นเอง หาเอาใหม่ได้ ระวังให้ดี อย่าทำให้มันผิด ๆ หรือโง่เขลาซึ่งทำลายทรัพย์สมบัติด้วยอบายมุขเป็นต้น นี่เขาก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่น จนถึงกับว่าเป็นการทนอยู่ในกองทุกข์ มิฉะนั้นการเป็นพ่อบ้านแม่เรือนก็เป็นเหมือนกับการตกนรกทั้งเป็น กี่เรื่อง ๆ มันก็เข้ามาสุมอยู่ในจิตใจสำหรับจะให้เป็นทุกข์
ทีนี้ต่อไปถึงคนเฒ่าคนแก่ ยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตน ยึดมั่นถือมั่นเรื่องความดี เรื่องบุญเรื่องกุศล ก็หนักอกหนักใจไปตามแบบของคนแก่ ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดก็เป็นความปล่อยว่าง เป็นความหลุดพ้นได้เหมือนกัน ตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ ขึ้นไปจนถึงคนแก่คนเฒ่าจะต้องรู้เรื่องความยึดมั่นถือมั่นให้พอสำหรับจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นมาเป็นทุกข์ เป็นความรักบ้าง ความโกรธบ้าง ความเกลียดบ้าง ความกลัวบ้าง ความวิตกกังวลบ้าง ความอาลัยอาวรณ์บ้าง ความอิจฉาริษยาบ้าง ความหึงความหวงอะไรต่าง ๆ นานาล้วนแต่เป็นเรื่องทำลายความสงบสุขของจิตทั้งนั้น จึงควรจะรู้จักขจัดออกไปเสีย จึงควรจะให้การศึกษาตามสมควรแก่ระดับ ระดับเด็ก ระดับวัยรุ่น ระดับหนุ่มสาว ระดับพ่อบ้านแม่เรือน หรือระดับคนเฒ่าคนแก่นั้นควรจะได้รับการศึกษาไปตามระดับ อย่างเด็ก ๆ ก็รับการศึกษาจากบิดามารดาที่บ้านที่เรือนให้รู้จักว่ามันเป็นเช่นนั้นเองเสียบ้าง อย่าไปหัวเราะ อย่าไปร้องให้ หรืออย่าไปกระหายชนิดที่เรียกว่าอย่างโง่เขลา เด็กนั้นก็จะมีความทุกข์น้อยเข้า จะมีใจคอปกติและก็จะทำอะไรได้ดี ถ้าจะเรียนหนังสือก็จะเรียนได้ดี ถ้าความยึดมั่นถือมั่นมารบกวนอยู่อย่างนี้มันก็เรียนไม่ได้ดี หรือบางทีมันถึงกับเรียนไม่ได้ สำหรับนักศึกษาโดยเฉพาะจะต้องมีการกระทำที่ไม่เป็นความยึดมั่นถือมั่น คือรู้ว่ามันเป็นอย่างไรต้องการอะไรก็ทำให้ถูกเรื่องของมัน ในการเรียนหรือการศึกษา ก็มีสติปัญญารู้ว่าต้องเรียนอย่างไร แล้วก็เรียนไปอย่างสติปัญญามันเชื้อเชิญ อย่าให้กิเลสตัณหามาทำให้มืด โดยเฉพาะเรื่องคำว่า ความหวัง ๆ ระวังให้ดี มักจะสอนกันให้เด็ก ๆ ตั้งความหวังและหวังกันไว้ให้มาก ๆ ถ้าอย่างนี้มันผิดหลักพุทธศาสนาซึ่งต้องการให้มีสติปัญญาและก็ทำไปอย่างถูกต้องอย่างมีสติปัญญา อย่าไปหวังให้มันกัดหัวใจ ลงมือหวังเมื่อไรมันก็กัดด้วยความผิดหวังเมื่อนั้น เพราะว่าเราหวังแล้วมันก็ไม่ได้ตามที่เราหวัง คือมันผิดหวังอยู่ตั้งนานกว่าจะได้อย่างหวังหรือมันก็ไม่ได้เลยก็มี ก็ไม่ต้องไปหวังให้มันผิดหวัง อยู่อย่างคนไม่ผิดหวังเสียดีกว่า ทำหน้าที่การงานศึกษาเล่าเรียนไปด้วยสติปัญญาอย่างนี้ ในการเรียนการศึกษา
แม้การบริหารร่างกายก็ทำไปด้วยความไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นทำให้ถูกต้องตามเรื่องตามหลักของการบริหารร่างกาย ถ้ายึดมั่นถือมั่นมันก็ทำเกินไปจนเป็นอันตราย การที่จะคบหาสมาคมกันก็อย่าทำด้วยความยึดมั่นถือมั่น มันจะหลับตา คือมันจะเป็นคนหลับตาหรือเหมือนกับตาบอด ทำให้ถูกต้องตามเรื่องตามราว พอเหมาะพอดีด้วยสติปัญญาที่มีอยู่อย่างไร ศึกษาในทางของสติปัญญา ต้องควบคุมการกระทำให้ดำเนินไปในร่องรอยของสติปัญญา ไม่ต้องให้มันเป็นความยึดมั่นถือมั่นอย่างหลับหูหลับตา เรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีก็เหมือนกัน ขนบธรรมเนียมประเพณีก็เป็นของดีเพราะว่าไม่ต้องคิดอีกเขาคิดมาให้สำเร็จรูปแล้ว แต่ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นมันจะพลาดมันจะเลยเถิด มันจะโง่ลงมาทั้งที่ขนบธรรมเนียมเขาทำไว้ดี แต่นั่นมันก็พูดยาก ขนบธรรมเนียมบางอย่างต้องตีความหมายก็มี ตีเองได้ก็ดี ถ้าตีเองไม่ได้ก็ถามครูบาอาจารย์หรือศึกษาเรื่องเหตุผลของมัน นี่จึงจะเรียกว่าเป็นนักศึกษาเป็นนักเรียนเป็นนักศึกษาให้รู้เรื่องเหล่านี้
ทีนี้มีคำอยู่ ๒ คำที่อยากจะที่จะขอร้องให้จำกันไว้ให้ดี ๆ อยากจะให้จำกันไว้ดี ๆ ว่า มีคำพูดอยู่ ๒ คำซึ่งมันครอบคลุมความหมายต่าง ๆ ไว้หมดเป็น ๒ ฝ่าย คำแรกคือคำว่า อุปาทาน แปลว่า ความยึดมั่นถือมั่น อีกคำหนึ่งคือคำว่า สมาทาน แปลว่า ถือเอาไว้อย่างดี ถือเอาไว้อย่างถูกต้องหรืออย่างดี อุปาทาน แปลว่า ยึดมั่นถือมั่น ถือไว้อย่างเครียดอย่างหลับหูหลับตา ก็คืออย่างยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละ อุปาทาน ก็แปลว่ายึดมั่นถือมั่น สมาทาน ก็แปลว่าถือไว้อย่างดี อุปาทานในภาษาชาวบ้านนั้นแคบน้อยเกินไป เป็นโรคอุปาทานก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเข้าใจผิดหมายมั่นเกินพอดี ก็ถูกแล้ว นั่นก็เป็นอุปาทานเหมือนกันแต่ยังไม่เต็มความหมาย
อุปาทาน คือ หมายมั่นด้วยความโง่ ด้วยความไม่รู้ ด้วยความงมงาย แต่ถ้าสมาทานก็ไม่ทำอย่างนั้น รับถือเอาไว้อย่างถูกต้อง อย่าทำด้วยอุปาทานแต่ทำด้วยสมาทาน คือ ถือเอาไว้อย่างดี รับเอามาอย่างดี แม้แต่การเล่าเรียนนั้นน่ะก็ไม่ต้องอุปาทานหมายมั่นให้มันกัดหัวใจ สมาทานถือเอาไว้อย่างดี ทำไปพอดี ทำไปอย่างถูกต้องด้วยสติปัญญา อย่างนี้เรียกว่าเรามีการศึกษาด้วยสมาทาน แต่ถ้าทำอย่างหลับหูหลับตา งมงาย เคร่งครัดจนเป็นโรคประสาทอย่างนี้ เรียกว่ามันอุปาทาน ศึกษาด้วยอุปาทาน มันอุปาทานในการศึกษา มันกัดเอา บางทีมันถึงกับตายก็ได้ ทุกอย่างจงกระทำด้วยสติปัญญาพอเหมาะพอดีถูกต้องก็เรียกว่า สมาทาน ถ้าทำอย่างงมงายโง่เขลาก็ทำอย่างเคร่งครัด ชักเครียดก็เป็นเหตุให้เกิดตัวตนรุนแรงขึ้นมา นี่ส่วนหนึ่งมันก็เป็นทุกข์ เกิดตัวตนขึ้นมาแล้วมันก็ทำไปตามแบบมีตัวตนคือจะไปข่มผู้อื่นที่เรียกว่าจะไปยกตนข่มท่าน มีความยึดมั่นถือมั่นเคร่งครัดเกินไปมันมีตัวตนขึ้นมาสำหรับยกตัวตนข่มท่าน ดังนั้น จะพูดตามแนวที่เราจะต้องประพฤติกระทำตามหลักธรรม เช่นว่าจะให้ทาน จะทำบุญทำทาน จะให้ทาน ก็จงสมาทานในการให้ทาน อย่าอุปาทานในการให้ทาน มันจะเกินไปแล้วมันก็จะผิดพลาดได้ทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วมันก็จะทำมากจนถึงกับบ้าบุญหมดเนื้อหมดตัวเลย ทำกันจนหมดเนื้อหมดตัวเลยก็ได้ จะไม่มีอะไรจะกินเอาก็ได้ถ้าทำด้วยอุปาทาน แล้วมันก็ไม่เลือก มันก็ทำบุญอย่างไม่ต้องเลือก อย่างนี้มันเป็นเรื่องทำผิดแล้ว สมาทานมีสติปัญญาควบคุมอยู่ ทำให้ถูกต้อง ทำให้พอดี ทำให้ควร ทำในที่ที่ควรกระทำ ในเวลาที่ควรจะทำ ในลักษณะที่ควรกระทำ อย่างนี้มันก็เป็นสมาทาน นี่เรียกว่าจะทำบุญทำทาน
ทีนี้จะรักษาศีล ๆ ก็รักษาศีลด้วย สมาทาน สมาทานศีล เราได้ยินคำว่าสมาทานศีลกันอยู่เป็นหลักแล้ว ไม่มีใครใช้คำว่าอุปาทานศีล แล้วก็มีคนโง่บางจำพวกมีอุปาทานในศีลมากเกินไป ยึดมั่นถือมั่นมากเกินไป อยากให้เป็นของที่พิเศษศักดิ์สิทธิ์เกินกว่าธรรมดา คนเหล่านี้จะทำชนิดที่เป็นพิธีรีตองทั้งนั้น รักษาศีลด้วยอุปาทานจะเป็นเรื่องอย่างพิธีรีตองเสียโดยมาก ไม่ได้มุ่งหมายจะให้ขจัดสิ่งที่ไม่ดีที่มีอยู่ในร่างกายในจิตใจนี้ออกไป เพราะมันมืดด้วยความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน คนเหล่านี้รักษาศีลจนตายเปล่าก็ไม่มีศีล ถ้าจะให้มีศีลก็ต้องทำด้วยสมาทาน รู้ว่ารักษาเพื่ออะไร และก็ให้มันเป็นเพื่อสิ่งนั้นเพื่อให้รับประโยชน์ คือ กำจัดขัดเกลาความไม่ถูกต้องทางกาย ทางวาจา ทางมารยาท ตลอดถึงการสังคมอะไรด้วย ที่มันจะต้องประพฤติทางกายทางวาจา ให้มีแต่ความถูกต้อง นี่เขาก็จะมีศีล และศีลนั้นจะคุ้มครองได้จริง ให้อยู่โดยผาสุกได้จริง
ทีนี้สูงขึ้นไปจะทำสมาธิ ถ้ามีอุปาทานในการทำแล้วมันก็เคร่งครัด มันก็งมงาย มันก็เป็นเรื่องขลังเรื่องศักดิ์สิทธิ์เรื่องปาฏิหาริย์ชนิดที่ทำให้เป็นคนบ้า ถ้าว่าทำสมาธิเป็นบ้านี่ก็ขอให้รู้เถอะว่ามันทำด้วยอุปาทาน เพราะมีอยู่มากเหมือนกันที่ทำสมาธิวิปัสสนาแล้วเป็นบ้า เพราะมันทำด้วยอุปาทาน ให้ขลังให้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา มีฤทธิ์มีเดชขึ้นมา มีปาฏิหาริย์ขึ้นมา แล้วก็ทำสักว่าพิธีเท่านั้น มันรู้จักเพียงแค่พิธีเท่านั้นมันก็ทำ ทำแล้วก็คิดว่าจะได้ผลอย่างนั้น ถ้าทำด้วยสมาทานแล้วก็ทำให้ถูกวิธี เช่น ทำจิตให้มันสงบลงไป เมื่อจิตสงบแล้วก็ใช้จิตนั้นมาดูให้เห็นความจริงของสิ่งทั้งปวงว่าเป็นอย่างไร มันก็เห็นความจริงของสิ่งทั้งปวง มันก็ไม่ต้องมีปัญหาเพราะสิ่งทั้งปวง มันไม่หลงรัก หลงโกรธ หลงเกลียด หลงกลัว วิตกกังวลในสิ่งใด เรียกว่า ทำโดยสมาทาน
ทีนี้ถ้าว่าจะทำของเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปกว่านั้น น้อย ๆ กว่านั้นเช่นว่า สวดมนต์ไหว้พระ จะอธิษฐานจะอะไรต่าง ๆ ก็อย่าทำด้วยอุปาทาน จะไหว้พระสวดมนต์ก็อย่าทำด้วยอุปาทาน แต่ทำด้วยสมาทานคือทำพอดี ทำถูกต้อง ทำได้รับผลอยู่ตลอดเวลา ไม่งมงาย ไม่เคร่งครัด งมงายเพราะความโง่ มีความโลภเกินไป สวดมนต์สักหน่อยแล้วก็จะแลกเอานั่นแลกเอานี่ แลกเอาสวรรค์วิมานบ้าง แลกเอาความเก่ง ความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์อะไรบ้าง บางทีก็อธิษฐานด้วยการกระทำอย่างนี้ไว้ให้สอบไล่ได้บ้าง แล้วมันก็ไม่เรียนให้ถูกเรื่อง มันก็ต้องสอบไล่ตกเป็นธรรมดา
ในข้อปฏิบัติประเภทธุดงค์ คือ เป็นอยู่อย่างมักน้อย อย่างสันโดษนั่นแหละ ก็อย่าทำโดยอุปาทาน มันจะเคร่งครัดจนเป็นเรื่องงมงาย อย่างจะกินอยู่แต่พอดี จะนุ่งห่มแต่พอดี จะใช้สอยแต่พอดี จะบำบัดโรคภัยไข้เจ็บแต่พอดี คือไม่เกินไป ทำอยู่ในระดับที่พอดี จะเป็นการป้องกันด้วยและเป็นการแก้ไขด้วยนี้ก็ต้องทำด้วยสมาทาน อย่าทำด้วยอุปาทาน มันจะโง่หนักเข้าแล้วมันจะเป็นโรคทางจิตใจเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างอีกสักเรื่องหนึ่งว่า การกินผักหรือมังสวิรัติ เดี๋ยวนี้ก็เป็นที่นิยมกันขึ้นมาก นิยมกินผักกันขึ้นมาก ก็ระวังกันให้ดีอย่าทำด้วยอุปาทาน จงทำด้วยสมาทานคือมีสติปัญญากระทำ อย่าทำด้วยความยึดมั่นถือมั่นมันจะเป็นศีลภัตรปรามาส (นาทีที่ 33:42) คือจะไม่เป็นสิ่งที่เป็นศีลและวัตรขึ้นมาได้ จิตเป็นของสกปรก เป็นของงมงาย เป็นของมืดบอดไปเสีย มันไม่ได้ทำด้วยสติปัญญา มันทำด้วยความงมงาย แล้วมันก็จะมีตัวตนเกิดขึ้นสำหรับดูถูกผู้อื่น ลบหลู่ข่มเหงผู้อื่น นั่นเรียกว่ายกตนข่มท่านขึ้นมาทีเดียว ทีนี้ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นไปอีกมันก็ไม่กินทั้งเนื้อและทั้งผัก ไม่ทำความสำคัญว่าเนื้อ ไม่ทำความสำคัญว่าผัก ทำความสำคัญแต่เพียงว่าอาหารที่จำเป็นแก่การเยียวยาอัตภาพแล้วก็รับประทาน อย่างนี้ก็ยิ่งต้องทำด้วยสมาทาน จะทำด้วยอุปาทานไม่ได้จะไม่สำเร็จ จะต้องทำด้วยสมาทาน สติสัมปชัญญะ รู้สึกผิดชอบชั่วดี กระทำไปด้วยจิตที่ไม่ยึดมั่นว่าเนื้อ ไม่ยึดมั่นว่าผัก เลยกลายเป็นคนที่ไม่กินทั้งเนื้อไม่กินทั้งผัก กินแต่อาหารที่ถูกต้อง พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้
อะไรที่จะทำให้ดีนั้นน่ะ อย่าทำด้วยอุปาทานมันจะเกินไปจนเป็นบ้า แต่จะทำด้วยสมาทาน ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแล้วก็อยู่ในระดับที่พอดี เดี๋ยวนี้เรามีเรื่องปัจจัย ๔ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย เครื่องบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ แล้วก็ต้องปฏิบัติกับสิ่งเหล่านี้ด้วยจิตใจที่ลืมหูลืมตา มีสติปัญญา สัมปชัญญะ อย่าทำด้วยอุปาทาน ถ้าทำด้วยอุปาทานมันจะโง่ เมื่อโง่มันก็อยากจะกินดีเกินไป อยากจะนุ่งห่มแต่งตัวหรูหราเกินไป อยากจะอยู่บ้านเรือนที่เป็นวิมาน ทีนี้อะไร ๆ มันก็จะให้เป็นไปในทางกิเลสตัณหาไปเสียทั้งหมด ไอ้ปัจจัย ๔ มันก็ไม่ เขาก็เลยไม่เป็นปัจจัยที่จะบำรุงรักษาให้เกิดความสุข มันกลายเป็นเครื่องทำให้วินาศ วินาศแล้วมีปัญหาเกิดขึ้น แล้วทำผิด แล้วก็ต้องวินาศเพราะการกินอยู่ การนุ่งห่ม การอยู่อาศัย การเยียวยารักษาโรค ที่เรียกว่าปัจจัย ๔ นั้นเอง ที่จริงปัจจัย ๔ นั้นจำเป็นที่จะต้องมีแต่ว่าต้องทำให้ถูกต้อง อย่ากระทำให้เลยเถิดด้วยความงมงายยึดมั่นถือมั่น
ทีนี้จะพูดถึงหน้าที่การงาน เรามีหน้าที่การงานอะไรก็ทำหน้าที่การงานนั้นด้วยสมาทานอีกนั่นแหละ คือมีสติปัญญาอย่างพอดีถูกต้องกระทำไป อย่าอุปาทานหมายมั่นด้วยความโง่จนหน้ามืด เดี๋ยวก็คิดหาทางทุจริตคดโกง มันก็หาผู้ร่วมมือในทางทุจริต หน้าที่การงานนั้นแทนที่จะเป็นเครื่องช่วยให้รอดก็กลายเป็นเครื่องทำให้วินาศ จงทำหน้าที่การงานด้วยสมาทาน คือสติปัญญาที่ถูกต้อง อย่าทำโดยอุปาทานยึดมั่นถือมั่นด้วยกิเลสตัณหา ทุกคนมีหน้าที่การงาน การงานโดยหลักใหญ่ ๆ สำหรับจะรอดชีวิตอยู่ได้นี้ก็มีอยู่พวกหนึ่ง ต้องทำให้ถูกต้อง แม้การงานสำหรับบริหารให้เกิดความปกติ เป็นการบริหารประจำวันก็ต้องทำให้มันถูกต้อง แม้แต่การงานที่เล็กน้อยที่สุดแต่ว่าจะต้องกินข้าว จะต้องอาบน้ำ จะต้องถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ ก็จงทำด้วยสติสัมปชัญญะ สมาทานสติสัมปชัญญะ มีปัญญากระทำ แล้วก็จะเกิดความสุขความพอใจอยู่ตลอดเวลา แม้ขณะนั่งถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะอยู่ ก็ยังมีความรู้สึกที่พอใจในความถูกต้อง นี้ก็เป็นความสุขที่สะอาด เป็นความสุขที่ไม่เกี่ยวกับความโง่ความเขลา ไม่เจออุปาทาน ไม่ต้องใช้เงิน ไอ้ความสุขที่แท้จริงนั้นไม่ต้องใช้เงิน คือทำให้มันเกิดความถูกต้องขึ้นมา แล้วพอใจในความถูกต้อง แล้วเป็นสุขอยู่เมื่อกำลังกระทำนั้นเอง เป็นสุขแท้ สุขจริง สุขไม่หลอกใคร แล้วก็สุขอย่างที่ไม่ต้องใช้เงิน ไอ้ที่ต้องใช้เงินนั้นมันเป็นเพียงความเพลิดเพลินที่หลอกลวงทั้งนั้นแหละที่ต้องใช้เงินมาก ๆ จนไม่พอจนต้องโกง จนต้องวินาศไปเพราะความคดโกงนั้น อย่างนั้นไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ความสุขที่แท้จริงต้องเป็นคุณ ต้องเป็นประโยชน์ และก็ไม่ต้องใช้เงิน พูดได้อย่างนี้ว่าไม่ต้องใช้เงินก็ได้ เพราะเราทำความพอใจในหน้าที่ที่กำลังกระทำ หน้าที่ที่ทำให้เกิดเงินนั่นแหละ เราไม่ต้องไปพอใจในเงิน พอใจในหน้าที่ที่กำลังกระทำว่าเป็นการปฏิบัติธรรมะ มีธรรมะอยู่ แล้วก็พอใจแล้วก็เป็นสุขเสียเมื่อกำลังกระทำหน้าที่หรือกระทำการงาน ส่วนเงินที่มาทีหลังก็ไม่รู้จะใช้อะไร ไม่ค่อยจะใช้ ไม่ค่อยจะรู้ว่าจะใช้อะไรเพราะมันเป็นสุขเสียแล้ว เป็นสุขเสียทุกอิริยาบถทั้งวันทั้งคืนเสียแล้ว เงินมันก็เหลือ จึงพูดได้ว่าถ้าเป็นความสุขที่แท้จริงแล้วจะทำให้เงินเหลือ ถ้าทำให้เงินเปลืองไม่พอใช้ก็เป็นความเพลิดเพลินที่หลอกลวง ไม่ใช่ความสุข นี่เรียกว่าถ้ามันอุปาทานแล้วมันก็ทำผิดหมด ถ้าเป็นสมาทานแล้วมันก็ถูกต้องเสมอ ให้เราดูกันไปทุกเรื่องก็จะดี
คือว่าทีนี้ก็มาถึงเรื่องพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรียกว่าเรามีติสรณคมน์ มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณคมน์ ก็อย่าถือเอาด้วยอุปาทาน ๆ ให้เป็นวัตถุของขลังศักดิ์สิทธิ์ช่วยกันอย่างไม่มีเหตุผลอ้อนวอนแล้วก็ได้ เราจะรู้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร พระธรรมเป็นอย่างไร พระสงฆ์เป็นอย่างไร รู้จักให้ดีที่สุด พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างไรแล้วดับทุกข์ได้ แล้วก็พอใจนับถือท่านผู้สอนอย่างถูกต้องแล้วดับทุกข์ได้ พระธรรมก็เหมือนกันคือคำสอนที่ดับทุกข์ได้ ไม่ใช่ขลัง ไม่ใช่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่สำหรับอ้อนวอนขอร้องบนบาน พระสงฆ์ก็เหมือนกัน ก็คือผู้ที่ปฏิบัติได้ตามหลักเกณฑ์เหล่านั้น ดับทุกข์ได้เห็น ๆ อยู่ รู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างนี้แล้วก็พอใจ ยินดีที่จะปฏิบัติตาม อย่างนี้เรียกว่า สมาทานในการถือพระรัตนตรัยหรือถือสรณคมน์ ถ้าอุปาทานมันก็เห็นเป็นของศักดิ์สิทธิ์พิเศษจนถึงกับว่าอะไร อ้อนวอนมาได้ ไปกราบไหว้ กราบไหว้แล้วก็ขอ ขอร้องอะไรก็ได้ อย่างนี้มันผิดแล้ว มันไม่เป็นพระรัตนตรัยที่ถูกต้องตามหลักของพุทธศาสนาแล้ว มันจึงมีการถือพระรัตนตรัยอย่างสมาทาน อย่าถืออย่างอุปาทานเลย
ทีนี้ก็มาถึงศาสนา เรามีพุทธศาสนาก็จงมีด้วยสมาทาน ลืมหูลืมตาเข้ามาเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา อย่าหลับตาเข้ามาเกี่ยวข้องมันจะกลายเป็นไสยศาสตร์ไปเสีย ทีนี้ศาสนาสำหรับอ้อนวอน มีพระเจ้าสำหรับอ้อนวอน มีอะไรที่เป็นศักดิ์สิทธิ์สำหรับอ้อนวอน แล้วก็อ้อนวอน แล้วก็ขอให้ได้ตามที่ต้องการ อย่างนี้ไม่ใช่ศาสนาที่ถูกต้อง เป็นความงมงาย เป็นไสยศาสตร์มันก็หลอกให้พอใจได้นิดหนึ่ง ๆ แล้วก็ไม่รู้จักจบ จะต้องขอร้องอ้อนวอนกันอย่างไม่รู้จักจบ แล้วก็หลอกให้พอใจได้นิดหนึ่ง ๆ อย่างนี้มันไม่พอ มันจะมีความเข้าใจต่อพระศาสนาว่าดับทุกข์ได้จริงอย่างนั้น ๆ แล้วก็ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ แล้วก็ดับทุกข์ได้จริง รู้สึกด้วยตนเองอยู่อย่างนี้จึงเรียกว่ามีศาสนาอย่างถูกต้อง
ทีนี้ก็จะพูดถึงประเทศชาติกันบ้าง เพราะว่าเราจำเป็นที่ต้องมีประเทศชาติแล้วก็ได้รับคำสั่งสอนให้รักชาติ ถ้าว่ารักชาตินี้ก็ขอให้เป็นเรื่องของสมาทานด้วยสติปัญญา อย่าให้เป็นเรื่องหลงชาติ หลงชาตินั้นเป็นเรื่องบ้าชนิดหนึ่ง ถ้าหลงชาติแล้วก็จะทำอะไรนอกลู่นอกทาง ผิดจากคลองธรรมที่ควรจะทำ ตามแบบของคนหลงชาติแล้วมันจะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากขึ้น ๆ ไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม แม้แต่จะรักชาติก็จงรักด้วยสติปัญญาในรูปแบบของการสมาทาน ถือเอาไว้อย่างดีที่สุดในจิตใจ
ทีนี้ก็ว่ามองดูไปที่ชีวิต ชีวิตของตนเอง ๆ ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายมันก็หลงใหลในชีวิตตามแบบของสัญชาตญาณเห็นแก่ตนเอง เห็นแก่ตนตามแบบของสัญชาตญาณ มันก็มีชีวิตชนิดที่เป็นปัญหา มันเป็นชีวิตชนิดที่ก่อให้เกิดปัญหา ถ้ามีชีวิตอย่างยึดมั่นถือมั่นด้วยความโง่เขลางมงายเท่าไร มันก็เห็นแก่ตัวจัดมากเท่านั้น แล้วมันก็ทำผิดมากเท่านั้น แล้วมันก็เดือดร้อนกันมากเท่านั้น แม้แต่จะมีชีวิตก็จงมีอย่างสมาทาน อย่ามีด้วยอุปาทาน อย่ามีอย่างอุปาทาน ความดีความชั่วก็เหมือนกัน ไม่ต้องอุปาทาน ความดีก็เป็นความดีให้เกิดผลเป็นความสงบสุข แต่ไม่ต้องไปอุปาทานจนบ้าดี ช่วยจำไว้ด้วยว่า คำว่า บ้าดี ใช้ไม่ได้ มีความดีอย่างถูกต้องตามปกติแล้วก็ใช้ได้ แต่ถ้าบ้าดีแล้วก็ทำผิดหมด จะทำผิดพลาดหมด ชั่วก็เหมือนกัน ไม่ต้องไปอุปาทานให้เป็นทุกข์ ไม่ทำก็แล้วกัน ถ้าทำความชั่วมาแล้วก็ละเสียก็ไม่ทำอีกต่อไป ตั้งหน้าทำแต่ความดี ความถูกต้อง แต่ก็ไม่ต้องอุปาทาน มีแต่สมาทานเท่านั้น แต่ถ้าเมื่อบุญกุศลที่ต้องการกันก็อย่าต้องการหรืออย่ามีด้วยอุปาทาน มันจะกัดเอาเหมือนกัน มันจะเป็นเหตุให้ฆ่าตัวตายก็ได้เหมือนกัน ถ้ามีอุปาทานแม้แต่ในบุญในกุศลแล้วก็จะเป็นทุกข์ตลอดเวลาว่าไม่มีอะไรก็มาทำบุญทำกุศลให้สมอยาก นี้มันเป็นเรื่องอุปาทานมากเกินไปแล้ว บุญก็เป็นบุญ กุศลก็เป็นกุศล เมื่อเราอยากจะมีบุญมีกุศลก็ทำไปให้ถูกวิธี อย่าอุปาทาน ถ้าอุปาทานมันจะกัดเอา คือมันจะทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาด้วยเหตุนั้น
เอ้า, เรื่องสุดท้ายก็คือนิพพาน แม้แต่เรื่องนิพพาน พระพุทธเจ้าก็สอนไม่ให้มีอุปาทานว่านิพพาน ไม่มีอุปาทานว่านิพพานเป็นตัวตนของนิพพาน หรือนิพพานจะเป็นของเรา ไม่มีอุปาทานแม้ในนิพพาน มองเห็นชัดอยู่ว่าเป็นความดับทุกข์อย่างไร เมื่อประสงค์ก็ทำให้มันเกิดขึ้นมา มีจิตว่างจากกิเลสเป็นนิพพานน้อย ๆ อยู่ทุกวัน ๆ จนกว่าจะหมดจากกิเลส ก็จะเป็นนิพพานที่สมบูรณ์ แม้อย่างนั้นนิพพานก็เป็นนิพพานก็สักว่าเป็นนิพพาน ตั้งอยู่ปรากฏอยู่ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ อย่ายึดถือหมายมั่นเป็นตัวกูเป็นของกู เพราะว่ากูมีนิพพาน กูได้นิพพานแล้วก็ดูถูกคนอื่น นี่ความยึดมั่นถือมั่นมันนำไปสู่ความเห็นแก่ตัว แล้วมันก็ยกตนข่มท่านอย่างนี้เสมอไป จะเห็นว่า แม้เรื่องสุดท้ายเรื่องสูงสุด คือพระนิพพาน ก็อย่าได้มีอุปาทานในนิพพาน สมาทานนิพพาน สมาทานการปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพานอย่างนี้มันถูกต้อง
เอาล่ะ ทีนี้ก็จะพูดถึงตัวสิ่งที่เรียกว่า ความยึดมั่นถือมั่นโดยเฉพาะ ไอ้ความยึดมั่นถือมั่น นี่มันยืมคำพูดทางวัตถุมาใช้เป็นคำพูดทางจิตใจ ยึดมั่นถือมั่นที่เรารู้กันทั่วไปตั้งแต่เด็ก ๆ ก็คือมือไปจับอะไรเข้าไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ยอมปล่อย อย่างนี้เรียกว่ายึดมั่นถือมั่น ทีนี้พอมาถึงเรื่องจิตใจ สำหรับจะยึดมั่นด้วยจิตใจ ไม่ต้องเกี่ยวกับมือ แต่ทำอาการเหมือนกับมือไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วจนงมงาย จนมืดบอด จนเกินพอดีไปหมด นี่เรียกว่าจิตมันไปยึดมั่นถือมั่น เข้ามาให้หนักบนอะไรบนศีรษะของมันจนเป็นทุกข์ ไม่ต้องไปยึดมั่นสิ่งใดมาไว้ให้หนัก ให้เป็นความทุกข์ อยู่ด้วยกันมีด้วยกันก็ได้ใช้ เกี่ยวข้องอุปโภคบริโภคอะไรไปได้โดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น มันเป็นความ ไอ้ความยึดมั่นถือมั่นนี่มันเป็นความรู้สึกที่มีตามสัญชาตญาณของสัตว์หรือสิ่งที่มีชีวิต แต่มันน้อย มันยังน้อย มันยังไม่ถึงกับขนาดที่จะเป็นทุกข์มากมาย ไอ้ความยึดมั่นถือมั่นนี้มันเป็นไอ้สิ่งที่มางอกงามพอกพูนมากขึ้นเมื่อโตขึ้นมา ๆ อย่างเป็นเด็กก็มีความยึดมั่นถือมั่นน้อย ความทุกข์ก็มีน้อย พอเป็นวัยรุ่นเป็นหนุ่มสาวก็ยึดมั่นถือมั่นมาก มันก็มีปัญหามากมีทุกข์มาก
ทีนี้สัญชาตญาณแห่งความยึดมั่นถือมั่นนั้นมันมีเพราะว่ามันต้องรักชีวิต มันต้องเห็นแก่ชีวิต มันก็ต้องต่อสู้หรือทำอะไรต่าง ๆ เพื่อประโยชน์แก่ชีวิต แต่ถ้าว่าเพียงเท่านั้นมันไม่เป็นไรแต่เดี๋ยวนี้มันมากเกินไปเพราะว่ามีอุปาทานเข้าไปส่งเสริม เราจงรู้จักสัญชาตญาณในระดับนี้ที่ไม่ได้รับการศึกษาอบรมฝึกฝน แล้วเราก็จะได้ศึกษาฝึกฝนอบรมสัญชาตญาณพวกนี้ให้อยู่ในกรอบของความถูกต้อง เป็นความรู้ใหม่เกิดขึ้นมาว่าควรทำอย่างไร ก็ทำไปอย่างนั้น ความรู้อันนี้เรียกว่าภาวิตญาณ (นาทีที่ 49:59) คือ ความรู้ที่อบรมแล้ว ที่พัฒนาแล้ว ก็เป็นสัญชาตญาณที่เปลี่ยนตัวมาเป็นภาวิตญาณ (นาทีที่ 50:18) คือความถูกต้อง ถ้าปล่อยไปตามเดิมเป็นสัญชาตญาณอย่างสัตว์ มันก็จะมีกิเลสตัณหามากขึ้น ๆ เป็นอุปาทานจนเป็นทุกข์จนถึงกับตายไปด้วยอุปาทานนั้น
ทีนี้ก่อนแต่ที่สัญชาตญาณมันจะลุกลามขยายตัวถึงขนาดนั้น เรามีความรู้ในหลักกระทำในหลักพระพุทธศาสนาควบคุมสัญชาตญาณเหล่านั้น อบรมให้มันกลายเป็นแต่ภาวิตญาณ (นาทีที่ 50:49) รู้ว่าควรทำอย่างไร คือรู้ว่าทำอย่างไรเป็นความทุกข์ ทำอย่างไรไม่เป็นความทุกข์ ไม่ปล่อยไปอย่างโง่เขลาตามแบบของสัญชาตญาณว่ากูจะเอา กูจะได้ กูจะกิน กูจะมี กูจะชนะ กูจะอะไรต่าง ๆ เป็นเรื่องของความยึดมั่นถือมั่นด้วยความโง่ที่เรียกว่าอวิชชา ที่รู้โดยหลักทั่วไปว่า ชีวิต สิ่งที่มีชีวิตเขามีความรู้ตามแบบสัญชาตญาณที่เกิดเองได้ มันมีความรู้สึกว่ามันมีตัวตนเป็นหลัก แล้วมันก็จะทำไปตามแบบมีตัวตนคือเห็นแก่ตน มันก็ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อตนอยู่ แล้วมันไม่รู้ว่าขอบเขตเป็นอย่างไร ที่ถูกที่ควรเป็นอย่างไรแล้วมันก็ทำผิด ไม่รู้ว่าถ้ามันไม่มากไปกว่านั้น มันก็เหมือนกับสัตว์เดรัจฉานทั่ว ๆ ไปนั่นแหละ มันมีสัญชาตญาณที่จะต่อสู้ที่จะเป็นอยู่ พอจะรอดชีวิตอยู่ได้แต่มนุษย์เราจะเป็นเพียงเท่านั้นไม่ได้ ต้องดีกว่านั้น ต้องรู้จักปรับปรุงให้ถูกต้องว่าจะทำอย่างไร ทำเท่าไร ทำเมื่อไร ทำโดยลักษณะอย่างไร และไอ้สิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั้น จะหมดความทุกข์ลงไปทุกที จะอยู่ในสภาพปกติที่เรียกกันใหม่ว่าความสุขก็ได้ ที่จริงเรียกว่าความปกติดีกว่า ไอ้เรื่องความทุกข์ก็ไม่ไหว ไอ้เรื่องความสุขก็ไม่ไหว ความปกติไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์นั้นสบายกว่า ถ้าไม่เชื่อก็ขอให้ไปลองคิดดูเรื่อย ๆ ไปก่อนก็ได้ว่าไอ้ความสุขนี้ก็เหนื่อย ไปยุ่งกับมันก็เหนื่อย ความทุกข์ไปยุ่งกับมันก็เหนื่อย ความปกติไม่ไปยุ่งกับอะไรนี่สบาย นี่มันไปสูงสุดอยู่ที่ความไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นสุขเป็นทุกข์ ไม่ยึดมั่นโดยความเป็นดีเป็นชั่ว ไม่ยึดมั่นโดยความเป็นได้เป็นเสีย ไม่ยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นผู้แพ้หรือผู้ชนะ หรือว่าได้เปรียบหรือว่าเอาเปรียบ หรือว่ามั่งมีหรือว่ายากจน ไม่มีความยึดมั่นที่เป็นคู่ ๆ เหล่านั้นโดยประการทั้งปวง และอยู่ตรงกลางที่เรียกว่า ปกติภาวะ เป็นความหมายของพระนิพพาน เหนือสุข เหนือทุกข์ เหนือได้ เหนือเสีย เหนือบุญ เหนือบาป เหนือทุกอย่าง นั่นนะคือจุดสูงสุดของวิวัฒนาการของจิต ถ้ามันวิวัฒนาการไปถูกต้องตามฝ่ายธรรมะแล้วมันก็จะไปที่นั่น ก็อยู่เหนือปัญหาโดยประการทั้งปวง แต่ถ้าปล่อยไปตามไอ้สัญชาตญาณเดิม ๆ มันไปถึงนั่นไม่ได้ แล้วมันจะกลับไปอีกทางหนึ่งซึ่งไปมีความทนทุกข์ทรมาน แล้วก็จะไม่มีค่าอะไร บางทีก็จะตายเปล่าอย่างไม่มีค่าอะไรถ้ามันทำไปอย่างโง่เขลา สัญชาตญาณมันเป็นของที่ติดมาในสันดาน เป็นสมบัติดั้งเดิมด้วยกันทุกคน เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา ต้องทำให้เป็นภาวิตญาน (นาทีที่ 54:27) ขึ้นมา แล้วก็จะไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ได้พบพระพุทธศาสนา
ทีนี้ก็ดูคำว่ายึด คำว่ายึด เป็นคำที่เข้าใจยากแหละถ้าเป็นเรื่องฝ่ายนามธรรมฝ่ายจิตใจ ถ้าเป็นเรื่องภายนอกเป็นเรื่องร่างกายเหมือนกับมือจับยึด นี่ก็เรียกจับยึด ทีนี้ใจจับยึดด้วยอะไร ใจก็ไม่มีมือ เป็นเรื่องของนามธรรมล้วนแต่เป็นจิตใจกันไปหมด คือเกิดความรู้สึกหมายมั่นลงไปในสิ่งใดนั่นล่ะเรียกว่า ยึด มีความรู้สึกว่าอะไร มีความรู้สึกว่าตัวตน มีความรู้สึกว่าของตน คือมีความรู้สึกว่าผู้ยึด และมีความรู้สึกว่าถูกยึดเป็นของตน ตัวตนเป็นผู้ยึด ของตนเป็นสิ่งที่ถูกยึด เป็นเพียงความรู้สึกเกิดขึ้นในใจอย่างรุนแรงนั่นแหละเรียกว่ายึด ยึดถือหรือยึดมั่นถือมั่นโดยทางจิตใจ ถ้าพยายามสังเกตให้ดี ศึกษาเรื่องนี้ให้เข้าใจแล้วจะมีประโยชน์ที่สุดที่จะเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา แล้วก็รู้เรื่องพระพุทธศาสนาดีที่สุด
จะต้องพูดถึงเรื่องลำดับการปรุงแต่งของจิต จะยกตัวอย่างการปรุงแต่งทางตา เมื่อตาเห็นรูป ๆ เกิดความรู้สึกทางตา เรียกว่า จักษุวิญญาณ ตาด้วย รูปที่ตาเห็น ด้วย การเห็นทางตาด้วย ๓ อย่างนี้กำลังทำงานกันอยู่ คือจักษุวิญญาณ รู้สึกต่อรูปโดยอาศัยตา ทำงานอยู่อย่างนี้เรียกว่า ผัสสะ ผัสสะนี้ประกอบด้วยองค์ ๓ คือ อายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ ถ้าฟังยากจำยากก็ยกตัวอย่างเช่นว่า ตากับรูป และก็การเห็นทางตา คือจักษุวิญญาณ กำลังรู้สึกอย่างนี้เรียกว่าผัสสะ ทีนี้เกิดผัสสะแล้วไม่มีปัญญา ไม่มีสติปัญญามาเหมือนสัตว์เดรัจฉานทั่วไป มีผัสสะแล้วมันก็ต้องเกิดเวทนา ในบางกรณีก็พอใจก็หลงรัก บางกรณีไม่พอใจก็หลงโกรธหลงเกลียด ทีนี้บางกรณีก็ยังบอกไม่ถูกว่าจะเป็นอย่างไรแน่มันเกิดเวทนาโง่ ที่จริงน่ะไม่ต้องไปหลงรักหลงเกลียด ไม่ต้องไปหลงอะไรหมดแหละ เห็นอยู่ว่ามันเป็นอย่างไร ๆ ก็มันเป็นไป แล้วเราควรจะทำอย่างไรเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นก็ทำให้ถูกต้อง เดี๋ยวนี้มันเป็นเวทนา คือ พอใจไม่พอใจ หรือไม่รู้ว่าจะพอใจหรือจะไม่พอใจก็เกิดความอยาก ๆ ไปตามความรู้สึกอันนั้น ถ้าพอใจก็จะเกิดความอยากได้ ไม่พอใจก็เกิดอยากทำลายไม่รู้ว่าเป็นอะไรแน่ก็เกิดความสงสัยพะวงอยู่กับสิ่งนั้น อย่างนี้เรียกว่าความอยาก มันโง่มันจึงอยาก ไม่ต้องไปอยาก เพราะว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง ถ้ามีปัญญาก็จะไม่เกิดความพอใจหรือไม่พอใจ เกิดแต่ความรู้ว่าควรทำอย่างไรกับสิ่งเหล่านั้นก็ทำไปได้ เดี๋ยวนี้มันเป็นเรื่องของสัญชาตญาณที่ยังโง่อยู่ มันก็ไปรัก พอใจ เกิดความโลภ เกิดความกำหนัด ทีนี้ถ้าว่ามันไม่พอใจมันก็เกิดความโกรธหรือเกิดโทสะขึ้นมา ถ้าไม่รู้ว่าอย่างไรแน่มันก็มีความโมหะหลงใหล สงสัย กังวลวิตกอยู่กับสิ่งนั้น อย่างนี้เรียกว่ามันเกิดความอยาก ถ้าความอยากอย่างนี้เกิดขึ้นในใจเต็มที่แล้ว มันจะปรุงความรู้สึกอันหนึ่งขึ้นมาเรียกว่า อุปาทาน ตัณหาให้เกิดอุปาทาน
นี่จำไว้ง่าย ๆ ว่าคำบาลี ตัณหาให้เกิดอุปาทาน ใคร ๆ เราก็ว่าความอยากเป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวกูผู้อยาก นี่เห็นไหมไอ้ตัวตน ตัวตนที่ไม่ใช่ของจริง มันเกิดขึ้นได้โดยความรู้สึก ๆ นั่นแหละคือยึดมั่นถือมั่น หมายมั่นในความรู้สึกว่ามีตัวกูผู้อยาก นี่มันเกิดตัวตน ตัวตนที่เป็นผู้อยาก แล้วก็ยึดถือให้สิ่งที่มันอยากมันต้องการนั้นน่ะเป็นของตนหรือจะมาเป็นของตน ความรู้สึกว่าตนว่าของตนมันก็เกิดขึ้นมาอย่างนี้ ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายรู้สึกยึด ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายรู้สึกว่าถูกยึด ๆ รู้สึกว่ามีตนผู้อยากผู้ต้องการ แล้วก็หมายมั่นจะให้มีสิ่งสนองความอยากหรือสนองความต้องการ มันจึงยึดให้อีกฝ่ายหนึ่งให้เป็นตนขึ้นมาสำหรับจะถูกยึด ความรู้สึกเป็นตนสำหรับจะยึดนั้นก็มีอยู่ส่วนหนึ่ง ความรู้สึกที่จะเป็นของตนสำหรับมาถูกยึดนั้นก็มีอยู่อีกอย่างหนึ่ง มันจึงมีความยึดทั้งที่เป็นตัวตนและทั้งที่เป็นของตนก็เลยเหมือนกับคนบ้า ไอ้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมันยึดถือว่าเป็นตัวตนไม่ได้เพราะมันมีเหตุปัจจัยของมันเอง มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมันเองจะเอามาให้เป็นของตนก็ไม่ได้ แม้จิตนี้ก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยมีความรู้สึกคิดนึกอย่างนี้คือรู้สึกโง่ ๆ เขลา ๆ ขึ้นมาว่าตัวตน มันก็เป็นตัวตนที่แท้จริงไม่ได้ ทั้งตัวตนและทั้งของตนนั่นเป็นของไม่จริง เป็นมายาเป็นเพียงความรู้สึกเท่านั้น ถ้ารู้สึกขึ้นมาแล้วนั่นแหละเรียกว่ายึด ๆ คือพฤติของจิตประกอบไปด้วยอวิชชา ความโง่เขลา ปรุงแต่งไปจนเกิดความรู้สึกอย่างนั้น คือรู้สึกว่าตัวตน รู้สึกว่าของตน เป็นความรู้สึกเหนือความรู้สึกทั้งหลาย
เรื่องนี้มันก็พูดยาก แต่อาจจะพูดได้โดยการยกตัวอย่างหรือการเปรียบเทียบ เช่นว่า คนใช้หรือคนมีหน้าที่กวาด มันไม่กวาด มันไม่กวาดตามที่เคยกวาด มีหน้าที่กวาดแล้วไม่กวาด มันรกรุงรังอยู่ พอเราออกมาเห็นเข้าไอ้ความรู้สึกประเภทตัวตนมันเกิดขึ้นว่า ไอ้นั่นมันไม่นับถือ ๆ เรามันไม่เชื่อฟังเรา มันลบหลู่คำสั่งของเรา นี่มันก็เกิดตัวตนขึ้นมาอย่างรุนแรงแล้วก็ต้องการจะทำลายฝ่ายที่ไม่ทำตามความต้องการของตน ที่จริงมันก็ไม่ได้ต้องการความสะอาดอะไรนักหรือมันจะต้องการความสะอาดบ้างก็เป็น ความรู้สึกที่น้อยกว่า เป็นความรู้สึกที่น้อยกว่าความรู้สึกที่ว่าไอ้นี่น่ะมันลบหลู่กู มันลบหลู่ตัวตนของกู หรือว่า คนทำงานไม่ถูกต้องตามที่ต้องการ ไม่ทำความพอใจให้ ความรู้สึกมันเกิดไปในทางว่า ตัวตนมันถูกลบหลู่ ที่จริงมันก็ไม่ได้นึกถึงไอ้ตัวสิ่งนั้น ๆ หรือคุณค่าของสิ่งนั้น ๆ นักหนา แต่มันมีความรู้สึกว่าตัวตนนี่ถูกลบหลู่ มันก็เลยโกรธขึ้นมา แม้แต่คนรับใช้ทำหน้าที่ไม่ถูกต้องตามความต้องการของตัว ทำอาหารไม่ถูกต้องตามความต้องการ คืออะไร ๆ ที่มันมาแสดงอยู่ว่ามันไม่เป็นไปตามที่ตนต้องการ มันกลายเป็นว่ามันมาลบหลู่ตัวกู ตัวกูรู้สึกว่าถูกลบหลู่แล้วมันก็เดือดจัด แล้วเรื่องมันก็เกิดมาก งั้นดูให้ดีเรื่องตัวตนนี่มันมีอยู่อย่างรุนแรงที่สุดแต่มันก็ลึกลับที่สุด ปัญหาต่าง ๆ มันเกิดมาจากความรู้สึกว่าตัวตนนี่มันถูกลบหลู่ ถูกดูหมิ่น ไม่ได้รับการเทิดทูน ถ้ามันเกิดตัวตนแล้วมันเกิดความรู้สึกที่ทุกสิ่งน่ะสนองความต้องการและเทิดทูน ทีนี้มันมีอะไรแสดงว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้น มันก็โกรธ ๆ เป็นฟืนเป็นไฟ ถ้ามันสนองความต้องการอย่างนั้นมันก็หลงรัก
เราจะมารู้จักในสิ่งที่ว่าตัวตนไว้ให้ดี ๆ เพราะตัวตนนี้ไม่ได้มีตัวจริงล่ะ เป็นเหมือนกับผีต่างหาก คือเกิดมาจากความรู้สึกตัวตน ความรู้สึกที่ว่าตัวกู ๆ ของกูนี่เกิดมาจากความอยากคือตัณหา ตัณหาซึ่งเกิดมาจากอวิชชาหรือความโง่อีกต่อหนึ่ง จุดตั้งต้นมันอยู่ที่อวิชชาหรือความโง่จนทำผิดในสิ่งที่มาเกี่ยวข้องจนเกิดความอยาก จนความอยากรุนแรงก็เกิดตัวกูผู้อยาก เมื่อไม่ได้ตามความต้องการมันก็ต้องการจะทำลาย มันจึงมีการทำลายกันทั้งในลวงในโลก ถ้าทำถูกอกถูกใจมันก็หลงรัก หลงพอใจ หรือว่าเป็นพรรคพวก เพราะฉะนั้นไอ้ความรู้สึกว่าตัวตนหรือของตนนั่นแหละเป็นมูลเหตุแห่งความทุกข์ที่เป็นมูลเหตุแห่งปัญหาทั้งหลาย ถ้าจะมองในแง่ความเป็นทุกข์มันก็เป็นมูลเหตุแห่งทุกข์ ถ้ามองในแง่เป็นปัญหามันก็สักว่าเป็นปัญหานานาชนิดเกิดขึ้นเพราะตัวตน เพราะมีความยึดถือว่าตัวตนเกิดขึ้นมาในจิตใจก็เลยใช้อำนาจทุกอย่างที่ตัวมี บันดาลไปให้ได้ตามความต้องการของตัวตน โดยไม่ต้องรู้ว่าผิดหรือถูกอย่างไร นี่คือสิ่งที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา คือสิ่งที่เรียกว่าความยึดมั่นถือมั่นซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มีแต่ทุกข์โทษโดยประการทั้งปวงโดยส่วนเดียว ให้เกิดโลภะ ให้เกิดโทสะ ให้เกิดโมหะ แล้วก็มันทำลายประหัตประหารรอบด้าน ไม่ใช่ทำลายเฉพาะใคร ดูให้ดี นี่ขอให้รู้จักหัวใจของพุทธศาสนาว่ามันเป็นเรื่องความยึดมั่นถือมั่น มีผู้มาทูลถามพระพุทธเจ้าว่าอะไรเป็นใจความทั้งหมดของพรหมจรรย์ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ความรู้ หรือการปฏิบัติ หรือผลของการปฏิบัติที่ไม่เป็นความยึดมั่นถือมั่น พูดอีกทีก็คือถ้ารู้เรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นก็คือรู้หมดทุกเรื่องเลย ถ้าปฏิบัติเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นก็เป็นการปฏิบัติถูกต้องทั้งหมดเลย ถ้าได้รับผลเป็นความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่นถึงที่สุดแล้ว คือไม่มีความทุกข์ด้วยประการทั้งปวง มีพระนิพพานอยู่ที่ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ดังนั้นจึงถือว่า ความไม่ยึดมั่นถือมั่นนี้เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
แม้ว่าการบรรยายนี้มันจะย่อไปชั่วเวลาจำกัด แต่ก็ได้องค์ใจความทั้งหมดทั้งสิ้นที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาไว้แล้ว ขอให้ท่านผู้ฟังทั้งหลายจงเอาไปพิจารณาคิดนึกดูให้ดีแล้วก็จะมองเห็นกว้างออกไป ๆ โดยรอบจนเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างว่า ข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนานั้นจะมีกี่ร้อยกี่พันอย่างก็ล้วนแต่เป็นไปเพื่อกำจัดเสียซึ่งความยึดมั่นถือมั่น เป็นอันว่าอาตมาได้พูดถึงหัวใจของพุทธศาสนามาพอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอแสดงความหวังว่าท่านทั้งหลายจะนำไปคิดนึกศึกษาและประพฤติปฏิบัติ และอยากจะบอกว่าถ้าได้รับความรู้ได้รับความเข้าใจในเรื่องนี้เรื่องเดียวเท่านั้นแหละ คุ้ม ๆ ที่ได้มาสวนโมกข์ที่ต้องเหนื่อยและต้องแพง ถ้าได้รับความรู้เรื่องนี้เรื่องเดียวเท่านั้นแหละคุ้มเพราะเป็นเรื่องหัวใจของพุทธศาสนา ไปศึกษาเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นและปฏิบัติตนให้อยู่ด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น คืออยู่ด้วยความปกติ ๆ ๆ หวังความปกติเถอะ อย่าไปหวังความสุขสนุกสนานอะไรเลย มันเป็นเรื่องหลอกลวง ความปกติเท่านั้นเป็นเรื่องไม่หลอกลวง เป็นเรื่องจริง ขอให้สนใจในเรื่องจริงและเข้าถึงเรื่องจริงให้มากขึ้น แล้วก็อยู่เป็นสุขทุกทิพาราตรีกาลด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ
จะกลับวันนี้แล้วหรือ ก็ถือโอกาสลาและส่งกันเสียเดี๋ยวนี้เลยจะได้ไม่ต้อง ๆ ลำบากอีกหน ถือว่าลากลับแล้วก็ถือว่าส่งผู้ลากลับให้กลับไปด้วยความพอใจในการปฏิบัติถูกต้องในชีวิต