แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นักธรรมนั้น เริ่มเรียนนวโกวาทนี่ ถึงหมวดไหนแล้ว ธรรมะ อยากจะพูดเรื่อง ที่มีในนวโกวาท ที่สำหรับให้เรียนนั่นแหละ หมวด ๓ ที่เรียกว่า อปัณณกปฏิปทา นี่ คงจะนึกออกเพราะว่าก็มีอยู่ ๓ ข้อ อินทรียสังวร โภชเน มัตตัญญุตา ชาคริยานุโยค ๓ ข้อนี้ ฟังดูผิวๆ เผินๆ มันก็ ไม่ ไม่เท่าไร แต่ในพระบาลีแท้ๆ นั้น ว่า เป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ ผู้ใดปฏิบัติอยู่ในธรรมะ ๓ ประการนี้ การเกิดของผู้นั้น ชื่อว่า เตรียมเพื่อความสิ้นอาสวะ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสูงสุด แต่คงจะยากที่จะมองเห็นในความสำคัญหรือ ความวิเศษของไอ้ ธรรม ๓ ข้อนี้ ธรรมะ ๓ ข้อนี้ จึงอยากจะพูด อินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์ โภชเน มัตตัญญุตา รู้ประมาณในการบริโภค ชาคริยานุโยค ประกอบความเพียรของผู้ตื่นอยู่เสมอ ถูกหรือไม่ อ้า, ถูก ทีนี้ก็จะอธิบาย อ้า, ความสิ้นอาสวะนั้น หมายถึงความเป็นพระอรหันต์ อาสวะคือ กิเลส หรือความเคยชินแห่งกิเลส ที่สะสมไว้ใน สันดาน สันดาน คือ พื้นฐานของจิต โดยหลักทั่วไปก็มีว่าเมื่อเราเกิดกิเลสครั้งหนึ่ง เช่นเกิดโลภะ โทสะ โมหะ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เกิดขึ้นมาครั้งหนึ่ง มันก็มีอนุสัย คือ ความเคยชินที่จะเกิดเช่นนั้นอีกนี่ เก็บไว้ครั้งหนึ่ง เกิดกิเลสกี่ครั้งก็เก็บไว้เท่านั้นครั้ง ถ้าเกิดกิเลสประเภทโลภะ ก็มันจะเก็บความเคยชินที่จะเกิดโลภะ เรียกว่าราคานุสัย ถ้าเกิดความ กิเลสประเภท ความโกรธ โทสะหรือโกรธะ มันก็สะสมความเคยชินที่จะโกรธ หรือที่จะโทสะนั้นไว้ ที่สะสมไว้นั้นเรียกว่า อนุสัย ถ้าเกี่ยวกับความโกรธก็เรียกว่า ปฏิคานุสัย ถ้าเกิดกิเลสประเภทโมหะ มันก็สะสมอนุสัย สำหรับจะโมหะ เรียกชื่อว่า อวิชชานุสัย ดังนั้น จำชื่ออนุสัยทั้ง ๓ อย่าง ราคานุสัย ปฏิคานุสัย อวิชชานุสัย ให้ อ้า, อนุสัยที่สะสมไว้ในสันดาน คือ เพิ่มมากขึ้น อาจจะเกิดได้ง่ายขึ้น อาจจะเกิดได้เร็วขึ้น นี่เรียกว่าสะสมไว้ในสันดาน แล้วมันก็จะไหลออกมาอีก คือ เป็นความโลภ เป็นความโกรธ เป็นความหลงอีก ที่มันจะไหลออกมานี้ ก็เรียกว่า อาสวะ เรียกว่า อาสวะ เรียกชื่อใหม่เป็นกาม กามาสวะ คือ ออกมาเป็นความใคร่ทั้งหลาย ก็พวกโลภะ ราคะ นั่นอีกแหละ ภวานุสัย ออกมาเพื่อจะเป็นนั่นเป็นนี่ อวิชชานุสัยออกมาสำหรับจะไม่รู้อะไร สำหรับจะโง่หนักขึ้น นี่เรียกว่า อาสวะ เขามักจะเรียกกันว่า เครื่องดองในสันดาน ก็ได้เหมือนกันแหละ แต่อาจจะเข้าใจผิด คล้ายๆ ว่า เป็นของเป็นดุ้น เป็นก้อน เป็นของตายตัว ที่จริงมันเป็นเพียงความเกิดแห่งกิเลส ซึ่งเป็น ไอ้ ส่วนประกอบของจิต เป็นพวกเจตสิกธรรม เครื่องประกอบของจิต แล้วมันก็จะเกิดขึ้นได้โดยง่าย มันไม่ได้ไปเกิดอยู่ที่นั่นตลอดเวลา แต่มันจะเกิดใหม่คือ จะออกมานี่อยู่ พร้อมอยู่เสมอ มันควรจะถามตัวเองว่า ทำไมที่เราจึงได้ รัก รัก เร็ว เร็วจนควบคุมไม่ทัน ทำไมจึงได้โกรธ โกรธเร็วจนควบคุมไม่ทัน ทำไมจึงได้สะเพร่า โง่เง่า หลงใหลอะไรจนควบคุมไม่ค่อยจะทัน นี่ก็เพราะว่ามันสร้างความเคยชินที่จะเป็นเช่นนั้น เพิ่มไว้ เพิ่มไว้ในสันดาน เราเคยรัก เคยโกรธ เคย อ้า, โง่ เคยโลภ โกรธ หลง มาเรื่อยๆ แล้วมันก็สะสมความเคยชินที่จะเป็นเช่นนั้นไว้มาก ฉะนั้น ในตอนหลังๆ มานี่ จึงรัก เร็ว โลภเร็ว จนควบคุมไม่อยู่ จึงโกรธเร็ว ประทุษร้ายผู้อื่นเร็ว ควบคุมไม่ทัน แล้วก็ยังโง่ หรือสะเพร่า หลงใหล มัวเมาเร็ว มันหนักมากจนไม่เชื่อฟังใคร นี่เรื่องกิเลสนี่ ช่วยกันสนใจให้ดี ถ้าว่ามันควบคุมกิเลสไม่ได้ หรือละกิเลสไม่ได้ นี้ก็แปลว่า ไม่มีสาระอะไรสำหรับคนนั้น สำหรับบุคคลคนนั้น ที่บวชเป็นพระเป็นเณรเสียด้วยแล้ว ยังควบคุมไม่ได้เสียเลย ก็ยิ่งร้ายหนักขึ้นไปอีก จะพูดถึงราคานุสัย ความเคยชินที่จะรักหรือที่จะโลภเป็นข้อแรก ทำไมมันจึงเห็นแก่จะกินของอร่อย พอเห็นของอร่อยมา ก็มีจิตใจผิดปกติ แล้ว มันก็จะแสดงออกมาหลายๆ อย่าง หลายๆ ทาง อย่างเช่นว่า ถ้าเป็นของที่มันทิ้งอยู่กลางบ้าน มันก็จะขโมย มันจะขโมย มันจะเอาไปด้วยความโลภ หรือแม้แต่ว่าเราบวชแล้วนี่ เราก็ยังจะต้องมีปัญหา เรื่องที่จะพอใจ โลภ หรือราคะ เมื่อเห็นในสิ่งที่ยั่วราคะ มันก็มีราคะขึ้นมาทันที สิ่งที่เป็นส่วนยั่วความโลภมันก็โลภขึ้นมาทันที แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ฉันอาหารอย่างนี้ ในที่เลี้ยงฉันอาหาร พอเห็นอาหารอร่อย มันก็จิตใจ มันก็หวั่นไหวไปหมดแล้ว นี่มันก็เป็นเหตุให้ไม่เอื้อเฟื้อในวินัย ที่จะทำผิด หลายๆ ประการ เกี่ยวกับ เสขิยวัตรบ้าง อะไรบ้าง ตลอดถึงว่ามันจะเอาเปรียบ มันจะตักเอามากกว่าผู้อื่น เกินส่วนที่ควรจะได้ หรือว่ามันจะกินมูมมาม มูมมามไม่สมกับเป็นพระ มันมีบ่อย บาง บางทีก็มีบางองค์มูมมาม มูมมาม หรือบางทีก็ตักมาก อะไรดีตักหมดนี่ นั่นนะเพราะ ไอ้ความเกิดขึ้นรวดเร็วของอนุสัยประเภทราคานุสัย ซึ่งมีอยู่ในจิตใจเขาเรียกว่า สันดาน คือ พื้นฐานของจิต ไม่ใช่ตัวจิตเอง แต่ว่าคล้ายๆ กับเป็นที่สะสมไอ้ อะไร อะไรของจิตนี่เรียกว่าสันดาน ในสันดาน ถ้าว่าเป็นเรื่องของโทสะ หรือโกรธะ โกรธง่าย ฉุนเฉียว เพื่อนว่านิดหนึ่ง ก็ฟังเป็นมาก เป็นเรื่องใหญ่โต เอาไปโกรธ เอาไปแค้นได้มากมาย นี่เพราะมันสะสม ไอ้ ปฏิคานุสัยไว้มาก มันก็คิดพยาบาท คิดแก้แค้น ทำในสิ่งที่ไม่ควรกระทำ อย่างพระอย่างนี้มันไม่ควรกระทำ เหมือนกับไอ้เด็กอันธพาลทำ มันเคยมี โกรธขึ้นมา เอายางตาตุ่มมาใส่ในอาหารของเพื่อน หรือเอาสลอดมาใส่ในอาหารของเพื่อน เพราะความโกรธ เพื่อนกินเข้าไปถ่ายเกือบตาย แล้วมันก็ดีใจนี่ เพราะมันมีโทสะ ประทุษร้าย บางทีก็เอาหมามุ่ยมาใส่ในน้ำอาบของเพื่อน ด้วยความโกรธ ด้วยความโลภยังได้ ด้วยความโกรธ ขัดใจเขา โลภไม่ได้อย่างใจ หรือด้วยความโง่ความหลง เป็นอวิชชานุสัยไปก็ได้ นั่นแหละมันเป็นเหตุให้เสียหายหมด ไอ้ความเป็นพระนะไม่เหลือ เพราะมันทำอย่างอันธพาล เด็กๆ ลูกเด็กๆ อันธพาล ไม่ ไม่มีการศึกษา นี่เรียกว่า ไม่รู้เรื่องของอาสวะ หรืออนุสัยที่สะสมไว้ ไม่คอยอดกลั้น บีบคั้นเอาไว้ ถ้าคอยบีบคั้นเอาไว้ ไม่เป็น ไม่เป็นไปอย่างนั้น มันลดนะ อนุสัยที่เราเก็บไว้มากๆ มากๆ ก็ คราวนี้อดกลั้นได้ บังคับไว้ไม่ทำ อย่างนี้มันจะลด ที่เคยจะสำหรับจะรักง่าย โลภง่ายมันก็ลด ที่เคยจะโทสะ โกรธง่าย ประทุษร้ายง่าย มันก็ลด ที่จะโง่ ที่จะสะเพร่า ที่จะมัวเมาหลงใหลมันก็ลด ถ้าบังคับกิเลสไว้ได้ทีหนึ่งนะ อนุสัยก็ลดลงไปหน่วยหนึ่ง ดังนั้น ถ้าเราบังคับกิเลสวันหนึ่งหลายๆ เรื่องหลายๆ ครั้ง อนุสัยมันก็ลด มันก็เปลี่ยนนิสัย เราก็จะเปลี่ยนนิสัยได้ สมตามที่ว่าบวชมานี้ จะขัดเกลานิสัยอย่างไร จะเลิกละนิสัยที่ไม่ถูกต้องไม่สมควร ดังนั้น จะต้องรู้เรื่องอนุสัยว่ามันมีความเลวร้ายอย่างนี้ แล้วก็จะเตรียม อ้า, สำหรับแก้ไข ผ่อนคลาย บังคับจิต การที่ทำให้อนุสัย หรืออาสวะเบาลง เบาลง ลดลง ลดลงนั่นแหละ เป็นไอ้ คุณสมบัติของความเป็นพระ เป็นบรรพชิต เป็นสมณะ เพราะว่าการทำอย่างนั้นนะ มันทำให้ อาสวะ บรรเทาลง บรรเทาลง ถ้ามันบรรเทาอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป ไม่เท่าไร มันก็ต้องหมดแหละ หมดกิเลส หมดอาสวะ นั่นเป็นเรื่องสูงสุด เป็นเรื่องเป็นพระอริยเจ้า ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นพระอริยเจ้า มันก็เป็น อ้า, สัตบุรุษ ที่ดีอยู่ในบ้านเรือน มีอนุสัยน้อย มีอาสวะน้อย ก็เป็นอันว่าไอ้การเกิดมานั้น เป็นการเกิดที่ดี เป็นการได้ที่ดี ในธรรม ๓ ประการนี้ มีพระพุทธภาษิตกล่าวไว้ชัดอย่างนั้นเรียกว่า อปัณณกปฏิปทา ปฏิบัติแล้ว การเกิดของผู้นั้นก็ชื่อว่า ปรารภแล้วเพื่อความสิ้นอาสวะ อ้าว, ทีนี้ก็จะพูดถึงตัวธรรมะ ๓ ข้อนั้นที่ว่า ปฏิบัติแล้วจะเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ
ข้อที่ ๑ อินทรียสังวร อินทรียสังวร คำว่าอินทรีย์ในที่นี้หมายถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เรียกว่าอินทรีย์ อินทรีย์ซึ่งแปลว่าความยิ่งใหญ่ หรือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ นั่นก็เพราะว่า ไอ้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ มันเป็น ไอ้ ทั้งหมดของไอ้สิ่งที่จะเกิดเรื่องเกิดราว มันเป็นใหญ่ตามหน้าที่ของมัน ตาก็ทางตา หูก็ทางหู จมูกก็ทางจมูก ในหน้าที่ของมันนั้น มันมีความเป็นใหญ่ มีความยิ่งใหญ่ ถ้าเรียกว่าอินทรีย์ อินทรีย์ ทั้ง ๖ นี้ ถ้าเรียกว่าอินทรีย์ ก็หมายถึงความยิ่งใหญ่ ถ้าเรียกว่าอายตนะ ก็หมายถึง เครื่องติดต่อของความรู้สึก คือ มันจะรู้สึกได้ ติดต่อได้ ก็เรียกว่าอายตนะ ถ้าเพ่งไปในทางที่มันมีหน้าที่ติดต่อกับไอ้คู่ของมันนะ ก็เรียกว่าอายตนะ แต่ถ้าไปเพ่งถึงความที่มันมีอำนาจมาก ก็เรียกว่าอินทรีย์ อินทรีย์ ๖ แต่เดี๋ยวนี้ก็เรียกว่าอินทรีย์ อินทรียสังวร อินทรียสังวร ก็หมายถึงไอ้ความที่มันสำคัญ ที่ว่าถ้ามันได้คู่ของมันเมื่อไร มันก็มีเรื่อง เช่น ตามันก็ได้รูปเข้ามา มันก็มีการเห็น มีการเห็น แล้วมันก็เกิดเรื่อง ได้ใหญ่โต ถ้าว่ามันไม่มีสติปัญญา การเห็นของบุคคลที่ไม่มีสติปัญญา มันมีเรื่องราวเป็นไป เป็นไปจนเกิดมีความทุกข์ ถ้าเอาตามพระบาลีก็ว่า ในตัวอย่างทีแรกเรื่องรูปนะ มันมี ๖ อย่าง นี่เอาอย่างแรกเรื่องรูป เมื่อรูปมากระทบตา หรือตากระทบรูป มันก็เกิดจักษุวิญญาณคือ การเห็นทางตาขึ้นมา การรู้แจ้งทางตาขึ้นมา เป็นการเห็นทางตา คือ การรู้แจ้งทางตา เรียกว่าจักษุวิญญาณ ให้ตากับรูปถึงกันเข้า เกิดจักษุวิญญาณ ๓ อย่าง ๓ ประการ ทำงานอยู่อย่างนี้ คือ จักษุวิญญาณรู้สึกต่อรูป โดยอาศัยตา เป็นเครื่องมืออย่างนี้ ให้เรียกว่าผัสสะ ผัสสะ คือ การกระทบ กระทบของอะไร ก็กระทบของ ไอ้จักษุวิญญาณ รู้สึกอยู่ที่รูปโดยอาศัยตา ประสาทตา เป็นเครื่องมือ มันเกิดการที่ถึงกันเข้านั่นแหละ ก็เรียกว่าผัสสะ เรื่องในตัวเราแท้ๆ แต่เราไม่เคย ได้ฟัง ได้ยิน ไม่เคยศึกษา มันก็ยังไม่รู้ รู้แต่ว่าเรามี ไอ้สิ่งสำคัญนี่ ๖ ๖ อย่าง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ละอย่างสำคัญ ในหน้าที่ของตน ก็พอจะนึกออกได้เองกระมังว่า ตาก็มีความสำคัญในการที่จะเห็นรูป แล้วก็มีเรื่องไปตามแบบของรูป หูก็มีความสำคัญในการจะได้ยินเสียง แล้วเกิดเรื่องเกิดราว เนื่องจากเสียงนั้น จมูกเมื่อได้กลิ่น ก็เกิดเรื่องเกิดราวเกี่ยวกับการได้กลิ่น ลิ้นได้รส ก็มีเรื่องเกี่ยวกับรส ผิวหนัง เรื่องกาย ร่างกาย ผิวกายนี่ ได้กระทบกันเข้ากับสิ่งที่มากระทบ มันก็เกิดเรื่องเกิดราวไปตามแบบของร่างกาย ที่ได้สิ่งมากระทบ ทีนี้ใจได้ธัมมารมณ์ คือ ความรู้สึกแก่ใจ ทางใจเกิดขึ้น มันก็มีเรื่องมีราว ไปตามแบบของเรื่อง ทางจิตใจนี่ นี่เรื่องตัวเราแท้ๆ แต่ถ้าเราไม่เคยได้ยิน ได้ฟัง เราก็ไม่รู้เรื่อง ควรจะรู้เรื่องเสีย ถ้าไม่รู้เรื่องแล้วมันก็เรียกว่า แย่มาก เพราะว่ามันเป็นเรื่องของตัวเอง เกิดอยู่ในตัวเอง เป็นไปในตัวเอง อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แล้วยังไม่รู้ นี่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนี้ เรียกว่าอินทรีย์ ท่านว่าให้สังวรนะ สังวรในที่นี้ก็หมายความว่า มีสติควบคุม เช่นว่า เมื่อตา ตัวอย่างนะ ทางตา ตาเห็นรูปแล้ว เกิดจักษุวิญญาณแล้ว จักษุวิญญาณ ทำงานอยู่ที่รูปนั้น โดยอาศัยตา มันก็เกิดผัสสะ ทางตา ผัสสะทางตา นี่อันนี้ถ้าว่า ไม่มีสติปัญญามาควบคุมผัสสะนั้นนะ มันจะปรุงต่อไป จน จนได้เกิดความทุกข์แหละ เพราะว่าเมื่อมันไม่มีสติปัญญา มาควบคุมผัสสะ มันก็เป็นผัสสะโง่ ผัสสะมืดบอด ผัสสะโง่ ผัสสะมืดบอดก็ทำให้เกิดเวทนาเกิดความรู้สึกขึ้นมา เป็นสุขเวทนาก็มี ทุกขเวทนาก็มี อทุกขมสุขเวทนาก็มี เป็น ๓ ประการนี้ เรียกว่า เวทนา ถ้ามาจากผัสสะโง่ ก็เป็นเวทนาโง่ คือ เวทนาที่ ให้เกิดความหลงใหล เมื่อเวทนามันโง่ มันก็ปรุงแต่งต่อไปให้เกิดความอยากหรือตัณหา ก็เป็น ความอยากที่โง่ อ้า, ความต้องการหรือความอยาก ด้วยสติปัญญา ไม่เรียกว่าตัณหา เดี่ยวนี้เป็นความอยากด้วยความโง่ ความไม่มีสติปัญญา จึงเรียกว่า ตัณหา ความอยากที่มาจากอวิชชา เพราะปราศจากสติปัญญา มีแต่อวิชชาอยู่ตามธรรมชาติ มันก็เป็นเวทนาโง่ เวทนาโง่ให้เกิดตัณหา ถ้าน่ารักน่าพอใจ ก็อยากได้ อยากเอา ถ้าไม่น่ารัก ไม่น่าพอใจ ก็อยากจะทำลายเสีย ถ้าว่าไม่รู้ว่าอะไรดี มันก็สงสัยวนเวียนอยู่นั่นแหละ วนไปวนมาอยู่นั่นแหละ นี่คือตัณหา มีความอยากรุนแรง ตามแบบของธรรมชาติเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นในใจแล้วมันก็จะปรุงแต่งให้เกิด ความคิดผิดๆ ว่ามีตัวกู ผู้อยาก กูผู้อยาก ความรู้สึกว่า กู ผู้อยากนี่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ก็ยึดถือว่าตัวกูเป็นผู้อยาก อยากมาเป็นของกู อย่างนี้ก็เรียกว่าอุปาทาน ยึดถือ ตัณหาให้เกิดอุปาทาน ตัณหา คือ ความอยาก ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวกู ผู้อยากเอามาเป็นของกู อย่างนี้เรียกว่าตัณหา ให้เกิดอุปาทาน พออุปาทานแล้วก็เป็นผู้ถือของหนักแหละ แต่ก็ยังแยกให้ละเอียด เป็นเครื่องศึกษา ให้ละเอียดว่า มันเกิด ภพ ถ้าเกิดความรู้สึกว่าตัวกู เพื่อเป็นของกูแล้วมันเกิด ภพ คือความมีแห่งตัวกู ขึ้นมาแล้ว มันก็เกิดเป็น ชาติ ความเป็นเช่นนั้น มีการสมมติว่า บุคคลเช่นนั้น หรือผู้เป็นเช่นนั้น หรือจิตที่เป็นเช่นนั้น เรียกว่าเป็นชาติ แล้วมันก็จะเป็นทุกข์ด้วยยึดเอาสิ่งต่างๆ รอบด้านมาเป็นของกู เอาความเกิดตามธรรมดามาเป็นของกู เอาความแก่ตามธรรมดามาเป็นของกู เอาความเจ็บไข้ตามธรรมดามาเป็นของกู เอาความตายตามธรรมดามาเป็นของกู ก็เลยทุกข์ เป็นทุกข์กันใหญ่ เพียงแต่มันเกิดความรู้สึกว่ามีตัวกูนี่แล้ว มันก็หนักเสียแล้ว มันหนัก มันร้อนแล้ว มันมืดแล้ว มันกลุ้มไปแล้ว เพราะเพียงแต่มีความรู้ว่า มีความรู้อย่างผิดๆ นะ ความโง่นะ ว่ามีตัวกู ของกูแล้วมันก็หนักแล้ว ก็ทรมานแล้ว เหมือนกับจิตนี่แบกของหนักไว้แล้ว หรือว่าจิต หรือว่าจิตนี่ถูกลนด้วยไฟแล้ว หรือว่าจิตนี่ถูกครอบด้วยของครอบมืดมิดไปหมดแล้ว หรือว่าถูกผูกพัน หุ้มห่อ ทิ่มแทง อะไรต่างๆ นี่ นั่นนะคือ ความทุกข์ เพราะว่าเขาสำรวม อินทรีย์ไว้ไม่ได้ อินทรีย์คือ ตานั่นแหละ ไม่มีการสำรวมที่ถูกต้องจนเกิดผัสสะโง่ เวทนาโง่ เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดทุกข์ นี่เรื่องเป็นอย่างนี้ ถ้าเรารู้เรื่องนี้ เราก็จะคอยศึกษา ให้ทันท่วงทีได้ แล้วก็จะ ควบคุมได้ อ้า, ถ้าไม่รู้สึกตัว มันก็ควบคุมไม่ได้ แต่โดยที่มันเป็นเรื่องที่เกิดอยู่กับเราทุกคน ทุกคน เป็นอย่างนี้อยู่ทุกคน หรือทุกวัน มันก็จะต้องรู้จักกันเสียบ้าง ทางตาเป็นอย่างนี้ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เป็นอย่างนี้ เหมือนกันนะ โดย โดย โดยลักษณะเหมือนกัน มันผิดกันแต่เพียงว่า ที่ตาบ้าง ที่หูบ้าง ที่จมูกบ้าง ที่ลิ้นบ้าง ที่ผิวกายบ้าง ที่ใจบ้าง ถ้ามีสติปัญญาควบคุมได้ทั้ง ๖ อย่าง ๖ ทางนี่ ก็รอดตัว ที่จะไม่ต้อง ไม่ต้องเกิดการปรุงแต่งจนเป็นทุกข์ขึ้นมาในภายในใจ ยกขึ้นมาเป็นข้อแรกว่า อินทรียสังวร สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ระวังรักษา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ควบคุมไว้เป็นอย่างดี ไม่ให้เกิดความรู้สึก อ้า, เลวๆ นะ เช่น รู้สึกรัก รู้สึกโกรธ รู้สึกเกลียด รู้สึกกลัว รู้สึกอะไรขึ้นมา แต่ว่าถ้าสรุปสั้นๆ ก็ไม่ให้ความรู้สึกเป็น โลภะ หรือ ราคะ ไม่ให้เกิดความรู้สึกเป็นโทสะ หรือโกรธะ ไม่ให้เกิดความรู้สึกเป็นอวิชชา หรือความโง่ ความหลง ขึ้นมา ถ้าเรามองจนเห็นว่า โอ้ มัน มันเกิดอย่างนี้ มันเสียหายหมด เสียหายแก่ความเป็นมนุษย์ของเราหมด ถ้ามันเกิดมาได้ถึงขนาดนี้ก็ ไอ้ความเป็นมนุษย์ของเราก็เสียหายหมด ทีนี้เราก็ป้องกันรักษา ไอ้ความเป็นมนุษย์ของเรา โดยการป้องกันรักษาทางอินทรีย์ ทั้ง ๖ นั้นเอง ถ้าเราควบคุมอินทรีย์ ถ้าเราควบคุมอินทรีย์ทั้ง ๖ ไว้ได้ มันก็เท่ากับควบคุมความเป็นมนุษย์ของเราไว้ได้ คือ ควบคุมรักษาความเป็นมนุษย์ของเราให้อยู่ในลักษณะที่ถูกต้อง นี่จงคิดดูว่า พระพุทธเจ้า ได้ยกเอาธรรมะข้อนี้มาเป็นข้อแรก ใน ๓ ข้อ ที่ให้ปฏิบัติ ระวังสังวรไว้ด้วยดีนะ เพื่อความสิ้นอาสวะ อ้าว, ทีนี้ก็พูดกันไปถึงไอ้ผลร้ายของมันที่มันเกิดอยู่ คุณไปสังเกตดูเองเถิด ความเลยร้ายต่างๆ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่เกิดขึ้น แล้วก็เบียดเบียนกันเป็นการใหญ่โตนี่ มันก็เพราะไม่ระวังสังวร คือไม่สำรวมได้ในอินทรีย์เหล่านี้ ไม่ให้หลงรัก ไม่ให้หลงโกรธ ไม่ให้หลงมัวเมา สำรวมระวังอย่างละเอียด ขึ้นมาอีกก็คือว่า สำรวมตา ไม่ให้มันไปหลงเจาะจงเอาสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งกิเลสนั้น เช่นว่า เรื่องสวยงาม เรื่องสวยงาม ถ้าไปแยก เป็นส่วนๆ ก็เรียกว่าแยกถือเป็นส่วนๆ ให้เห็นสวยงามเป็นส่วนๆ ถ้าไม่แยก เอาทั้งหมดทั้งกลุ่ม ก็ถือเอาทั้งหมดทั้งกลุ่ม นี่เราจะไม่เข้าไปหลงใหล ถือเอาโดยแยกส่วน หรือว่า โดยทั้งหมดทั้งกลุ่ม เรื่องเสียงก็เหมือนกัน แยกฟังเสียงเฉพาะส่วน ว่าไพเราะ หรือไม่ไพเราะ เรียกเป็นเสียงทั้งหมดว่าไพเราะ หรือไม่ไพเราะ มันมีส่วนย่อย และส่วนรวม ต้องรู้เท่าทัน ทั้งส่วนย่อยและทั้งส่วนรวม ควบคุมไว้ได้ทั้งส่วนย่อยและส่วนรวม แล้วมันก็ไม่มีเรื่องร้ายเกิดขึ้น ให้รู้จักตา หู จมูกลิ้น กาย ใจ ให้ดีว่าไม่ใช่มันมีมาสำหรับให้เราใช้ อ้า, เพื่อให้เกิดความทุกข์ เราก็ใช้ตา ใช้หู จมูก ลิ้น นี่เพื่อ ตามชอบใจเรา แต่แล้วมันผิด คือมันโง่ มันก็เป็นไปเพื่อความทุกข์ นี่จะต้องใช้ให้มันถูกต้อง ให้มันไม่ให้เกิดความทุกข์ เรียกว่าต้องระวัง สังวร สำรวม นี่เราไม่ได้รับคำสั่งสอนอย่างนี้ เราไม่เคยคิดนึกในเรื่องนี้ เราก็ปล่อยไปตามเรื่องตามราว ปล่อยไปตามเรื่องตามราว มันก็เลยเป็นไปตามบุญตามกรรม มันจึงเกิด ไอ้ความรู้สึกชนิดเลวร้าย ทำให้เป็นทุกข์ขึ้นมาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรักบ้าง ความโกรธบ้าง ความเกลียดบ้าง ความกลัวบ้าง ความอาลัยอาวรณ์ ความวิตกกังวล ความอิจฉาริษยา ความหึงความหวง ความหวงยังอ่อนกว่าความหึง หวงเฉยๆ มันก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามันหึง ถึงขนาดไม่ให้ใครมาแตะต้องนี่ มันก็เดือดร้อนมาก เป็นความทุกข์ร้อนแก่จิตใจมาก ศึกษาดูให้ดี ครบทั้ง ๖ ๖ เรื่อง เรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ เรื่อง มันเกิดทุกข์อย่างไร ผมพูดครั้งเดียวจำไม่ได้ ก็ต้องไปทบทวน ทบทวนใหม่ จำไว้ให้ดีๆ หรือหาอ่านจากหนังสือหนังหาว่า ที่ไม่ควบคุม ไอ้ อินทรีย์ทั้ง ๕ แล้ว มันเกิดทุกข์อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ทางตา อินทรีย์ทางตา อายตนะภายนอก คือ อารมณ์ รูป เกิดจักษุวิญญาณ ๓ ประการ ทำงานกันอยู่ เรียกว่า ผัสสะ ถ้าขณะนั้น โง่ เป็นผัสสะโง่ เป็นผัสสะหลับ ก็คลอดความรู้สึกที่โง่ หรือสำหรับจะโง่ สำหรับจะหลง จะ เอ่อ, เป็นอวิชชา นี่เวทนา ชนิดนั้นก็ทำให้เกิดตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ จนเป็นทุกข์ รู้ไว้สักทีหนึ่งก่อนว่า ฝ่ายผิดมันเป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นไอ้ ฝ่ายสำรวมได้ ระวังได้ มันก็มีสติปัญญามา คือ ระลึกได้ในขณะที่มีผัสสะ มันก็รู้ว่า เอ่อ, จะเป็นอย่างนี้เอง จะเป็นอย่างนี้เอง จะเป็นตามธรรมชาติอย่างนี้เอง พอมีเวทนาขึ้นมาก็ เอ่อ, เวทนา อย่างนั้นเอง เป็นตามธรรมชาติเช่นนั้นเอง จะไม่ไปหลงกับมัน เห็นเป็นของเช่นนั้นเอง ไม่รัก ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่กลัวอะไรแล้ว มันก็ได้ แล้วก็มีสติปัญญารู้ว่า ควรทำอย่างไรในกรณีนี้ในการเห็นครั้งนี้ จะทำอย่างไร ถ้าต้องทำก็ทำ ไม่มีเรื่องที่ต้องทำก็ไม่ต้องทำ ก็เลิกกันไป มันก็ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้น ถ้าจะต้องทำอย่างไรก็ทำให้ถูกต้องตามเรื่องตามราว ให้ได้รับประโยชน์ นี่เรียกว่าสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างแท้จริงเป็นอย่างนี้ ขอให้รู้เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่มันเป็นอยู่ตามธรรมชาติ ที่มันทำหน้าที่ของมันตามธรรมชาติ แล้วทำให้เกิดอะไรขึ้นมาในจิตใจ ในสันดานนะ จนกระทั่งเกิดเป็นอนุสัยเป็นอาสวะ อย่างที่กล่าวแล้ว นี่คือข้อแรก ถ้าผู้ใดปฏิบัติแล้ว มันก็เป็นการปฏิบิติที่เป็นไปเพื่อ บรรเทาอาสวะ ลดอาสวะ ลดอาสวะ ข้อ ๑ ข้อที่ ๑
ทีนี้ข้อที่ ๒ โภชเน มัตตัญญุตา มีหลักเสริมขึ้นมาอีกข้อหนึ่งว่า ให้รู้ความพอดี ในการบริโภค นี่ให้ถือเป็นหลักไว้ส่วนหนึ่ง คำว่าโภชเนนี่ โดย โดยตามปกติก็หมายถึงสิ่งที่จะกินทางปากนั่นแหละ แต่ภาษาบาลี หมายถึงจะกินทางไหนก็ได้ กินทางตา ทางหู ทางอะไรก็ได้ ของใช้สอย ก็เรียกว่าของบริโภคเหมือนกัน ของกินก็เรียกว่าของบริโภค ของใช้สอยก็เรียกว่าของบริโภค อ้า, ของมีไว้ เพื่อประโยชน์แก่ตนเองนั่นแหละ ก็เรียกว่าของบริโภค ดังนั้น เราจะมีปัจจัย ๔ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไม้สอย อ้า, เครื่องบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ ๔ อย่างนี้ เป็นของที่จะต้องบริโภค กินทางปากก็เรียกว่าบริโภค กินทางตา หูจมูก ลิ้น กาย ร่างกายอะไร ก็เรียกว่าบริโภค มันมีความจริงตามธรรมดาอยู่ว่า มากไปก็ให้โทษ น้อยไปก็ให้โทษ เท่าไรพอดี นั่นแหละจึงจะไม่ให้โทษ แต่ถ้าเราสำรวมอินทรีย์ไม่ได้ สำรวมอินทรีย์นี่ นี่ข้อที่ ๑ไม่ได้ เราก็ต้องกินมากตามกิเลสตัณหา จะกินน้อยนั้นมัน มันไม่มี ถ้าเราไม่มีความรู้ เราไม่ ไม่ ไม่สำรวมระวังอินทรีย์ ไม่สำรวมอินทรีย์ มันก็ต้องกินมาก มีมาก อะไรมาก มากๆ จนกลายเป็นมัวเมา การบริโภคมากนี่มัน โดยเฉพาะอาหารนี่ก็คิดดูเถิด มันก็ต้องมีปัญหาความยุ่งยากเกิดขึ้น มันจะเปลืองมาก มันจะมีโรคภัยไข้เจ็บมาก มันจะเกิดปัญหาเป็นความอ้วน ที่ทำให้เกิดความยุ่งยากลำบาก อย่างนี้เป็นต้น เครื่องนุ่งห่ม ถ้ามันมีมากเกินมันก็เหมือนกับคนบ้า ที่อยู่อาศัยเครื่องใช้ไม้สอยก็เหมือนกัน ถ้ามันเกินไปมันก็เหมือนกับคนบ้า เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ หยูกยา สำหรับบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บ ถ้ามันมีมากเกินต้องการ มันก็เหมือนกับบ้า มันก็จะให้ใช้ผิดๆไปในทางอื่น ที่มันเกินความจำเป็น เกินความต้องการ ดังนั้น เราจะต้องดูว่าเท่าไรพอดี เท่าไรพอดี ก็คือเท่าที่มันจะไม่เกิดโทษ มันจะมีแต่ประโยชน์ล้วนๆ นั่นแหละคือ พอดี คำว่าพอดี หรือคำว่าถูกต้อง ในทางธรรมะนี้เขาวางหลักไว้ตายตัวว่า เท่าที่มันเกิดประโยชน์ มันไม่เกิดโทษแก่ตนเองหรือแก่ผู้อื่น นั่นแหละคือ พอดี คือ ถูกต้อง ถ้ามันเกิด โทษแก่ตนเอง หรือแก่ผู้อื่น หรือแก่อะไรก็ตาม มันก็เรียกว่ามันไม่ถูกต้อง ไม่พอดี ทำไปอย่างเกินไป หรือไม่พอดี มันก็เป็นเรื่องของกิเลสไปทันที ถ้าทำอย่างถูกต้อง และเหมาะสม มันก็เป็นเรื่องของสติปัญญา ทำถูกต้องเป็นเรื่องของสติปัญญา ทำไม่ถูกต้องเป็นเรื่องของกิเลสตัณหา เป็นเรื่องของความไม่รู้ มันมีผลตรงกันข้าม ความพอดีนี่ มันจะต้องเลยไปถึงว่า แสวงหาก็พอดี ได้มาก็พอดี เก็บไว้ก็พอดี กินอยู่ใช้สอยก็พอดี จะแบ่งปัน แจกปันให้แก่ผู้อื่นก็พอดี นี่เรียกว่ามันเป็นความพอดีได้รอบด้านรอบตัวทุกอย่างแหละ สำหรับความพอดี ฉะนั้น เราต้องรู้ประมาณ ถ้าหาเกินพอดี มันก็มักจะประสบความล้มเหลว มันเกินความสามารถ เกินกำลัง เกิน แล้วมันก็จะล้มละลายเสียมากกว่า ได้มาก็ถูกต้องและพอดี เก็บไว้ก็ถูกต้องและพอดี กินอยู่ใช้สอยก็ถูกต้องและพอดี แจกปันเพื่อนฝูงก็ถูกต้องและพอดี นี่ การใช้ทรัพย์สมบัติให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเองโดยแท้จริงนั้น มันขึ้นอยู่กับความถูกต้องและพอดี เดี๋ยวนี้ พวกเราดูเถิด เพื่อนฝูงของเรา ญาติพี่น้องของเรา ดูจะไม่ค่อยรู้จักความพอดี ทำผิดพลาดเรื่องความพอดี จนเกิดปัญหายุ่งยาก เมื่อเกินฐานะของตนไป มันก็สร้างปัญหา สร้างหนี้สิน สร้างอะไรต่างๆ หลายๆ อย่าง ไม่ถูกต้อง เป็นอยู่อย่างอดอยาก น้อยไปมันก็ไม่ถูกต้อง เป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟื่อยมากไป มันก็ไม่ถูกต้อง จงบังคับความรู้สึก ให้ถูกต้องพอดี แล้วก็ทำไปอย่างถูกต้องและพอดี ถ้าทำอยู่อย่างนี้ มันป้องกันกิเลสอยู่ในตัว เมื่อป้องกันกิเลส มันก็ป้องกันอนุสัย ป้องกันอาสวะอยู่ในตัว มันจึงเป็นการบรรเทากิเลส บรรเทาอนุสัย บรรเทาอาสวะ อยู่ในตัว เพราะเรารักษาความถูกต้องและพอดีไว้ได้ อย่าเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อยกันเสียโดยมาก โดยมาก โดยทั่วๆ ไป จะเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่สนใจว่าถูกต้องและพอดี เอาตามความต้องการ เอาตามกิเลสตัณหา เหมือนกับคนเมา ไม่รู้ความถูกต้องและพอดี นี่ก็เป็นข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด ให้มีความถูกต้องเกี่ยวกับสิ่งที่จะต้องบริโภคใช้สอยอย่างนี้ ได้อย่างนี้ อยู่ในระเบียบอย่างนี้ มันจะลด ลดกิเลส ลดความเคยชินแห่งกิเลส ลดน้ำหนักของกิเลสที่จะไหลกลับออกมา กำหนดไว้ว่า เป็นข้อที่ ๒ ถ้าทำแล้วมันจะเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ
ทีนี้ข้อที่ ๓ เรียกว่า ชาคริยานุโยค ประกอบความเพียรของบุคคลผู้ตื่นอยู่เสมอ คำว่า ตื่น อ้า, ในที่นี้มันฟังยาก ฟังยาก อาจจะฟังผิดว่า ไม่ต้องนอนแค่นั้น ไม่ต้องหลับไม่ต้องนอนกัน ก็บ้าเลย คำว่าตื่นนั้น มันหมายถึงความมีสติสัมปชัญญะ มีสติปัญญา สติสัมปชัญญะ อยู่เสมอ ถ้าคนมันหลับ มันก็ไม่มี ไม่มีสติปัญญาอะไร เพราะมันหลับ จะเกิดเรื่องอะไรขึ้นมันก็ ไม่รู้ มันก็เสียหายหมด ที่เรามีสติปัญญาอยู่ตลอดเวลานั่นแหละ เรียกว่าเป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ แล้วก็เอาความหมายให้ถูกต้อง เอาความหมายให้ถูกต้อง ที่ว่าความตื่นอยู่เสมอนะ แม้ไม่หลับแต่ถ้างัวเงีย งัวเงีย แม้จะไม่หลับ ก็ใช้ไม่ได้ มันมีผลเท่ากับหลับ เพราะฉะนั้น ต้องแจ่มใสอยู่เสมอ จงนึกถึงเวลาที่เราแจ่มใส มีจิตใจแจ่มใสสดชื่น รื่นเริงด้วยก็ได้ แต่ในทางถูกต้อง มีจิตใจแจ่มใสอยู่เสมอนั่นแหละ ถ้าจะต้องหลับก็หลับไปเลย แต่จะให้งัวเงีย ครึ่งหลับครึ่งตื่นนี่ไม่มี ดังนั้น เวลาไหนก็ตาม เวลาที่ ยังไม่ได้ฉันอาหาร ก็สดชื่นแจ่มใส ฉันอาหารแล้วก็สดชื่นแจ่มใส ไม่ ไม่ ไม่งัวเงียมึนชา เพราะกินเข้าไปมาก แล้วมันก็ชวนให้ง่วงนอน เหลือที่จะบังคับได้ มันก็เลยไปนอน ถ้าอย่างนี้เรียกว่ามันหลับแล้ว มันเป็น เป็นเหมือนกับคนหลับแล้ว ไม่ใช่เหมือน คนตื่นแล้ว รักษาจิตให้ปราศจากนิวรณ์ อยู่เสมอนั่นแหละเรียกว่า ตื่นอยู่เสมอ นิวรณ์ ๕ ก็ได้ยินได้ฟัง กันมาแล้ว กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ๔ อย่างนี้เรียกว่านิวรณ์ ถ้าพอครอบงำจิตแล้ว มันก็ทำจิตให้งัวเงีย ให้ซึมเซา ไม่แจ่มใส ไม่สว่างไสว ไม่สดชื่นรื่นเริง ฉะนั้น ทำจิตให้สดชื่นรื่นเริงอยู่เสมอ อย่าให้มันมีเวลาที่ว่าแม้แต่ง่วงนอนนี่ก็ไม่ต้อง ถ้าจะง่วง จะ จะต้องนอนก็นอนเท่านั้นแหละ แต่ถ้ายังไม่ใช่เวลานอน ยังไม่ควรจะนอน ก็ต้องไม่มีอาการที่เรียกว่าง่วงนอน บางคนนั่งหาว หวอดๆ นอนก็ไม่นอน ก็นั่งหาวอยู่นั่นแหละ อย่างนี้มันสดชื่นแจ่มใสไม่ได้ เราจะทำจิตให้เหมือนกับว่า เวลาที่สบายที่สุด ผ่องใส แจ่มใส สดชื่น รื่นเริง ไม่ให้มีที่มันงัวเงีย ถ้าทำสมาธิก็ทำสมาธิไปเลย ถ้าหลับก็หลับไปเลย ถ้าไม่สมาธิ มันก็ต้องสดชื่นแจ่มใส รื่นเริง ซึ่งมันไม่ใช่ง่ายนะ คุณฟังให้ดีๆ นะ ไม่ใช่ง่ายนะ ที่จะทำจิตให้สดใส แจ่มใส รื่นเริงอยู่เสมอนี่ไม่ใช่ง่าย มันก็จะมีเวลางัวเงีย เพราะง่วงนอน เพราะเหนื่อยอ่อน หรือเพราะอะไรก็ไม่รู้ บางทีร่างกายมันไม่ผิด แต่มันผิดปกติอย่างนี้เป็นต้น ผู้ที่จะมีจิตใจแจ่มใสได้ตลอดเวลา ที่ไม่หลับ ที่ไม่หลับนะ ต้องเป็นผู้ที่มีระมัดระวัง มีความระมัดระวัง สังวรดี ควบคุมจิตใจดี มีความฉลาดรู้เท่าทันจิตใจดี เรียกว่าอย่าให้มีเวลาที่มึนชา มัวซัว งัวเงีย ซบเซา ก็แล้วแต่ เวลาที่เหนื่อยก็เป็นธรรมดาที่จิตใจไม่ค่อยปกติ แต่ก็ประคับประคองไว้ ไม่ต้องให้ซบเซา ไม่ต้องให้งัวเงีย ไม่ต้องให้ซบเซา เหนื่อยก็มีสติสัมปชัญญะที่จะเหนื่อย เหนื่อยด้วยสติสัมปชัญญะ มันก็ยังสดชื่นแจ่มใส เดี๋ยวมันก็หาย ลองอธิษฐานจิตว่า เราจะดำรงจิตไว้ในลักษณะนี้ อ้า, ไม่ให้มีที่ เรียกว่างัวเงีย ซบเซา ตลอดวันนี่ ซึ่งไม่ใช่เวลานอนนะ จะทำอะไรอยู่ก็ตามแต่ ขอให้มันสดชื่นแจ่มใส พร้อมที่จะคิดจะนึก ที่จะเล่าเรียน จะศึกษา จะเรียนนักธรรม เรียนอะไร อย่างนี้ก็ตาม จิตต้องผ่องใส แจ่มใส สดชื่น แล้วก็เรียนได้ดี ถ้ามันงัวเงีย มันง่วงนอน มันก็จะเรียนไม่ได้ แล้วเดี๋ยวมันก็จะไปนอนเสียจริงๆ ถ้าอย่างนี้มันเพิ่ม อ้า, เพิ่มให้เกิดนิวรณ์ เพิ่มให้เกิดกิเลส ในทางที่จะซบเซา เป็นพวก อ้า, โมหะนะ มากขึ้น ทำให้มีโมหะมากขึ้น คล้ายๆ กับว่าส่งเสริมโมหะ ให้อาหารแก่โมหะ สนับสนุนแก่โมหะ มันก็เป็นคนที่ไม่มีจิตแจ่มใส เมื่อไม่มีจิตแจ่มใสก็ไม่เห็นธรรมะได้หรอก รู้ไว้เถิดว่า ถ้าจิตไม่แจ่มใส จะไม่มีทางเห็นธรรมะ เห็นความจริงของธรรมชาติ หรือของธรรมะได้ เพราะฉะนั้น จะต้องทำให้แจ่มใส สดชื่น แจ่มใสไว้เสมอ เป็นฐานสำหรับรองรับ สติปัญญาที่มันจะเกิดขึ้น ความรู้แจ้ง หรือสติปัญญามันจะเกิดขึ้นเฉพาะเมื่อจิตมันเหมาะสม คือ สดชื่นแจ่มใส สมควรแก่ อ้า, ความรู้ สมควรแก่หน้าที่ของจิตนี่ รักษาจิตไว้อย่างนี้ ถ้านั่งมันง่วง ก็ไปเดินเสียบ้าง ถ้าจะแก้ด้วยอย่างอื่นไม่ได้ ก็ไปอาบน้ำอาบท่า ให้มันดึงจิตกลับมา ให้อยู่ในสภาพ ที่ผ่องใสอยู่ต่อไป นี่เป็นข้อที่ ๓ ว่า ชาคริยานุโยค ประกอบความเพียรของบุคคลผู้ตื่นอยู่เสมอ ไม่ใช่ให้ไปอดหลับอดนอน ไอ้อยู่ธุดงค์ตลอด ตลอดเวลา ไม่ ไม่ ไม่นอนเลยนั้น นั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ อีกเรื่องหนึ่ง อีกอันหนึ่ง อีกข้อหนึ่ง ไม่ใช่ข้อนี้ ข้อชาคริยานุโยคนี่ มันหมายถึงจิตใจสดใส แจ่มใสอยู่เสมอ ถ้าจะเอาไปรวมกันก็ได้ ถ้าสมมติว่าถือธุดงค์ ไม่นอนนะ เนสัชชิกังคัง เนสัชชิกังคะ ไม่นอน ก็ต้องไม่นอนอยู่ด้วยจิตใจที่แจ่มใส ไม่ใช่ไปนั่งง่วง นั่งง่วง นั่งมึนชา นั่งซบเซาอะไรอยู่ นี่มันกลายเป็น ๒ อย่างรวมกัน ทั้งชาคริยานุโยค และเนสัชชิกังคะ สมาทาน ไม่นอน แล้วก็ตื่นอยู่ด้วยความรู้สึกที่สดชื่นแจ่มใส แต่อย่างนี้มันทำไม่ได้ติดต่อกันไปเป็นวันๆ หลายๆ วัน มันทำได้เฉพาะบางวัน ส่วนชาคริยานุโยคนี่ทำได้ อย่างทุกวัน ติดต่อกันทุกวัน เพราะว่าถึงเวลานอนก็นอน นอนอย่างมีสติสัมปชัญญะ ที่เขามักจะอธิบายควบคู่กันไว้ด้วยกันเสมอ เรื่องนอนอย่างราชสีห์ สีหไสยา นอนอย่างราชสีห์ มีเรื่องเขียนไว้ชัด ในอรรถกถาก็มี ในบาลีก็มี ราชสีห์เข้ามาสู่ที่ที่จะนอน ที่หน้าถ้ำ ที่ลาน ที่ อ้า, หน้าถ้ำ หรือในถ้ำ มันก็กำหนดที่ที่จะนอน คล้ายๆ ว่า ทำพื้นที่ให้ดี เดินวนไปวนมา วนไปวนมาก่อนแต่จะนอน ทำพื้นที่สำหรับจะนอนให้เรียบให้ดี แล้วก็กำหนดนะ กำหนดทิศ ทิศทางต่างๆ ทิศเหนือ ทิศใต้ คล้ายๆ ว่า เรากำหนดทิศเหนือ ทิศใต้ อะไรเป็นอะไรทางไหน กำหนดไว้อย่างแจ่มแจ้ง ทางไหนเป็นต้นไม้ ทางไหนเป็นไอ้ หิน เป็นไอ้ ทางไหนเป็นน้ำ เป็นอะไร กำหนดอย่างนี้ด้วย แล้วจึงนอน ถ้าเป็นเรา เป็นคนนี่ ก็จะกำหนด กำหนดว่าที่นอนมันอยู่ตรงไหนอย่างไร ข้างซ้าย ข้างขวา ข้างล่าง ข้างหัว ข้างเท้า เป็นอย่างไร กำหนดให้รู้ เพื่อจะไม่งัวเงีย เพื่อจะไม่ ไม่หลงลืม แล้วราชสีห์ก็นอน นอนตะแคง นอนตะแคง ข้างขวา คือ เอาข้างขวาลง แล้วก็เท้านั่นก็เหลื่อมกันพอสมควร ถ้าเท้ามันซ้อนกัน มันก็อยู่ไม่ได้ เท้าก็เหลื่อมกันพอสมควร ไอ้คำว่านอนตะแคงข้างขวานี่ ผมเข้าใจเอาเอง เดาเอาเองว่ามันคงจะเป็นความรู้เรื่องสรีรศาสตร์ ถ้าเป็นคนนอนตะแคงข้างขวานะ หัวใจมันอิสระ มันไม่ถูกทับ หัวใจมันลอยตัว มันไม่ถูกทับ เพราะว่าหัวใจมันอยู่ข้างซ้าย มันก็ต้องมีประโยชน์ดีกว่าที่จะนอนข้างซ้าย คือ นอนทับหัวใจ วางมือ ราชสีห์ก็วางมือ วางเท้า วางหาง วางหัว เอาไว้ในที่ที่กำหนด กำหนดไว้อย่างนั้น อ้า, กำหนดเม็ดกรวด หิน ใน ในอรรถกถาใช้คำว่าหอระดานด้วยซ้ำไป จะกรวดสีเหลือง ก็อยู่อย่างนั้น อย่างนั้น แล้วก็นอน หลับ พอตื่นขึ้นมา เห็นว่า อ้าว, มือ เท้า ไม่ได้อยู่ที่เดิม หาง หัว อะไร ไม่ได้อยู่ที่เดิม ราชสีห์ก็ด่าตัวเองว่า ไอ้ชาติหมา ไม่ใช่ราชสีห์เสียแล้ว นอนอย่างหมาเสียแล้ว มันก็ด่าตัวเอง ทีนี้มันก็ลงโทษตัวเอง ไม่ ไม่ลุกขึ้น ไม่ออกจากถ้ำไปหากิน ไม่ไป ลงโทษตัวเอง นอนอีก ตั้งต้นนอนใหม่อีก เตรียมอย่างเดิม นอนใหม่อีก แล้วกำหนดอย่างเดิมกันอีก แล้วก็นอนอีก พอตื่นขึ้นมา คราวนี้เห็นว่าเรียบร้อย ทุกอย่างเรียบร้อยเหมือนเดิมหมด ก็ดีใจ ก็ดีใจ ลุกขึ้น แผ่สีหนาท ร้องบันลือ อย่างราชสีห์ แล้วก็ออกไปหากิน ออกไปหากิน นี่ในคัมภีร์ ก็เขียนเรื่อง นอนอย่างราชสีห์ ไว้อย่างนี้ ภิกษุก็อาศัยหลักเกณฑ์อย่างนี้ นอนอย่างนี้ ดังนั้น ที่จะนอนดิ้น นอนยกขา นอนผ้าหลุด นอน ไอ้ อย่างนี้ มันมีไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่มีไม่ได้ ถ้าจะประพฤติชาคริยานุโยค เมื่อนั่ง เมื่อนอน เมื่อยืน เมื่อเดิน ก็รู้สึกตัว เมื่อหลับมันก็ตลอดเวลาที่หลับ มันก็ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร เมื่อตื่นขึ้นมามันก็เข้ารูปเดิม มันก็เหมือนกับรู้สึกตัวแม้เวลาหลับ ก็เรียกว่ามีสติสัมปชัญญะ ทุก ทุกอิริยาบถ ผู้ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ มันควบคุม เอ่อ, ความเจริญแห่งกิเลส แห่งอนุสัย แห่งอาสวะ ลดปริมาณของอนุสัยของอาสวะลงเรื่อยๆ ได้ผลทำนองเดียวกับ ไอ้ ๒ อย่างข้างต้นนะ คืออินทรีย์สังวร โภชเน มัตตัญญุตา อันนี้เป็นชาคริยานุโยค ให้ผลประสมประสานกันดี ถ้ามีอินทรีย์สังวรดี จิตใจก็แจ่มใสผ่องใส ถ้ามีโภชเน มัตตัญญุตาดี จิตใจก็ผ่องใสแจ่มใส ถ้ามีชาคริยานุโยคดี จิตใจก็ผ่องใสแจ่มใส มันรวมกำลังกันทั้งหมดสำหรับจะผ่องใส มันก็เลยได้ผล อยู่ด้วยความที่มีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา กิเลสจะเจริญงอกงามพลุ่งพล่านออกมาไม่ได้ เมื่อกระทำอยู่อย่างนี้ ท่านว่า ผู้นั้นปรารภซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะ การเกิดของผู้นั้น มีการปรารภเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ คุณสังเกตดูให้ดีเถิด ว่าเพียงเท่านี้ เพียงหมวด ๓ หมวดนี้หมวดเดียวเท่านั้นนะ มันก็เป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะแล้ว ถ้าจะจริงหรือไม่จริง ก็ลองสังเกตดูตัวเอง ว่าเรายังมัวซัว ซบเซา แล้วก็ฉุนเฉียว โกรธง่าย อยู่หรือไม่ ถ้ามันยังมีอย่างนั้นละก็ จะต้องเสียใจให้มาก ถึงกับด่าตัวเองว่า ไอ้ชาติหมา หรืออะไรก็ตามใจ มันจะได้เปลี่ยนแปลง เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา จะได้รักษาเครดิตของบรรพชิต ของสมณะ ให้ดีที่สุดไว้ เท่าที่จะทำได้ แล้วสิ่งต่างๆ มันเป็นไปแต่ในทางที่ถูกต้อง ในทางดีนะ เป็นไปในทางถูกต้อง ไม่ต้องสงสัย เป็นการบรรเทาอาสวะ ลด ลด บรรเทาอาสวะ อยู่ตลอดเวลา ทั้งในเวลาตื่น ทั้งในเวลาหลับ มันมีความถูกต้องที่เป็นการบรรเทาอาสวะอยู่ตลอดเวลา เราก็เลยมีความก้าวหน้า ในพรหมจรรย์ ในพรหมจรรย์ ในการประพฤติพรหมจรรย์ มีความก้าวหน้า เพราะเหตุนี้ ดังนั้น จึงขอให้สนใจ ให้ดีเป็นพิเศษ สำหรับการปฏิบัติด้วยนี่ ไม่ใช่เรียนไป สอบไล่ได้อย่างเดียวนี่ มัน มันไม่ ไม่พอ มันไม่ดีเท่าไรหรอก จะต้องปฏิบัติได้ด้วยจะดีมาก ดังนั้น ใน ใน ในสิ่งที่ต้องเล่าเรียนหลายๆ สิ่ง ธรรมะหลายๆ หมวดที่ต้องเรียนนะ มันก็มีบางหมวด ถึงมีความสำคัญมาก อย่างหมวดนี้ ถ้าดูผิวๆ สังเกตดู เผินๆ ผิวๆ ก็ไม่เห็นสำคัญอะไร แต่ไปพบในพระบาลีว่า ถ้าทำอย่างนี้ ไอ้กำเนิดของเก่านั้น จะปรารภความสิ้นอาสวะ ผมก็ตกใจ สนใจ พิเศษ แล้วก็มาคิดดู เอ่อ, มันจะเป็นได้อย่างไร เพียงแต่ว่า สำรวมอินทรีย์ มีโภชนา มีการบริโภคพอดี และมีการตื่นอยู่เสมอ เรามันเคยชินกันแต่พูดเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา เรื่องปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วจะสิ้นอาสวะ นี้มันแปลก ข้อความนี้มันแปลก ตรงที่ท่านเอามากล่าวไว้ในลักษณะคล้ายๆ กับว่า เป็นอยู่อย่างธรรมดา สามัญ ให้ถูกต้องสักหน่อยเท่านั้นแหละ มันจะเป็นการปฏิบัติเพื่อความสิ้นอาสวะได้เหมือนกัน ฉะนั้น ธรรมะประเภทนี้ซึ่งมีแต่บางหมวดนะ สนใจให้มากเป็นพิเศษ แล้วก็ปฏิบัติด้วย ปฏิบัติด้วย ไม่ใช่เรียนเพียงแต่จำได้ ตอบคำถามได้ สอบไล่ได้ แล้วก็เลิกกัน อย่างนั้นมันก็ไม่มีอะไร มันก็เลิกกันจริงๆ เหมือนกัน เรียนพอสอบไล่ได้ แล้วก็เลิกกัน โดยมากเป็น เสียอย่างนั้น ขอให้มีความเข้มแข็ง บังคับตัวเองให้ได้ คือ ให้มันประพฤติปฏิบัติให้ได้ ไม่ยอมแพ้ไม่ท้อถอย เอาเกียรติยศของความเป็นมนุษย์นี่ เป็นหลักประกันว่าต้องทำได้ ต้องทำได้ ต้องไม่เหลือวิสัยนี่ เอาละเป็นอันว่าเราพูดกันถึงธรรมะหมวด ที่มีชื่อว่า อปัณณกปฏิปทา นะ ซึ่งฟังดูแล้วคล้ายกับผิวเผิน ไม่เจาะดิ่งลงไปยังไอ้ความสิ้นอาสวะ เว้นไว้ต่อเมื่อได้พิจารณาดู ใคร่ครวญดู เอามาพิจารณาดู โอ้, ก็จะมองเห็นว่ามันเกี่ยวเนื่องกันอยู่ในส่วนลึก ในส่วนลึก คือ การที่เราทำจิตใจให้พร้อมอยู่เสมอที่จะรู้แจ้งเห็นแจ้ง ในทางธรรม การบรรลุธรรมจะมีได้เฉพาะต่อเมื่อจิตใจมันเหมาะสมอย่างนี้เท่านั้นแหละ จิตใจแจ่มใส สดชื่น แคล่วคล่องว่องไว ถ้าไม่มีจิตใจอย่างนี้ ไม่มีทาง ไม่มี ไม่มี ไม่มีหวัง เตรียมจิตใจไว้ให้ดีๆ สำหรับจะได้รับเอาผลอันสูงสุดที่มันจะเกิดขึ้น ตามที่เราหวังอยู่ คือ ความสิ้นไปแห่งอาสวะ แม้ว่ามันจะไม่ได้สิ้นไปหมด เพียงแต่มันบรรเทา บรรเทาลดลงเท่านั้น ก็เป็นการวิเศษ ประเสริฐอย่างยิ่งแล้ว จะเผชิญกับสิ่งต่างๆ ในโลกได้ โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ อะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ จะมีความถูกต้องทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่เสมอ แม้เป็นฆราวาส ก็จะมีความถูกต้องในการที่จะกิน จะอยู่ จะหา จะมี จะแจกปัน อะไร ก็จะมีความถูกต้อง แล้วเขาก็มีจิตใจชนิดสงบ เยือกเย็น สดชื่น แจ่มใส พร้อมที่จะรู้แจ้งไอ้สิ่งที่ลึกซึ้งอยู่เสมอ ก็เลยสรุปผลว่าทั้งชาติเกิด ชาติที่เกิดมาทั้งชาตินั้นนะ เป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ อยู่ในตัวมันเอง อยู่ในตัวมันเอง คิดดูให้ดูสิ ฟังดูให้ดี ถ้าเราเป็นอยู่อย่างถูกต้องแล้ว มันจะมีลักษณะเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะอยู่ในตัวมันเอง อยู่ในตัวมันเอง ตลอดเวลาทั้งวัน ทั้งคืน ทั้งหลับ ทั้งตื่น ก็ผลดีที่สุดแล้ว นี่ขอให้เข้าใจไว้อย่างนี้ สำหรับธรรมะหมวดนี้ ซึ่งผมเห็นว่าอาจจะมองข้ามกันไปเสีย ทั้งที่มันอยู่ในวิสัย และเหมาะสมที่จะประพฤติ ปฏิบัติได้ แล้วมันก็จะประพฤติปฏิบัติได้จริงเหมือนกัน มันก็จะได้คนดี อ้า, คือ มีอานิสงส์มาก ในการที่จะมีชีวิตอยู่ ขอให้กำหนดจดจำไปดีๆ ถ้ากลัวลืมก็ไปบันทึก ไปจดไว้ ไปเขียนไว้ อย่า อย่าให้ลืม แล้วก็คอยตักเตือนตนให้ปฏิบัติอยู่เสมอ เอาละ เรื่องสำหรับ บรรยายนี่หมดแล้ว ทีนี้ ก็จะเป็นเวลาสำหรับ ถามปัญหา หรือตอบปัญหา
ท่านพุทธทาส : อ้าว, ใครมีปัญหาอะไร ว่ามาเลย
ผู้ถาม : มีปัญหา อยู่ ๒ ปัญหา ที่จะเรียนถาม ปัญหาแรกคือ สังเกตว่า ตัวผมเอง เวลาทำงาน เป็นงานกวาดวัด หรืองานอะไรก็ตาม มักจะมองคนอื่นอยู่เสมอว่า คนอื่นทำไมไม่ทำ ซึ่งถ้ามันเกิดขึ้นบ่อยๆ แล้วก็ คิดไปว่าทำไมเขาไม่ทำ ทำให้เราเกิดความไม่ปกติในจิตใจ แล้วก็กว่าจะละสิ่งนั้นได้ก็ต้องใช้เวลา คล้ายๆ ว่าการที่มีความคิดอย่างนี้เป็นการเพ่งโทษคนอื่น แล้วก็มีผลทำให้เรามีจิตใจไม่ปกติด้วยหรือไม่ ถ้าหากว่าจะให้ละสิ่งนี้ได้ ควร ควรจะทำอย่างไรบ้าง
ท่านพุทธทาส : ไอ้ความคิดอย่างนั้นนะเป็นโทษ ไม่ส่งเสริมพรหมจรรย์ คือ มีความเห็นแก่ตัว แล้วก็เกิดความไม่ยอม ก็มีความรู้สึกไปทำนองว่า ตัวเสียเปรียบ ถ้าจะสละได้ ละได้ ก็จะเป็นผลดีมาก ที่จะบรรเทาความเห็นแก่ตัว ไอ้การเพ่งโทษผู้อื่นนั้น มันมีมูลมาจากความเห็นแก่ตัว เราเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวอย่างต่ำๆ ที่สุดเลย ไม่ถึงกับว่าเห็นแก่ประโยชน์ของตัว มันเห็นแก่ตัว ชนิดมีไอ้ความรู้สึก ที่เป็นโทษ มันอยู่ในข้อที่ว่าต้องสละออกไป ทำตรงกันข้าม เอาว่าเขาไม่ทำ เขาจงมีความสุข ความสุขเถิด เขาจงมีความสุข ความสุขเถิด เราต้องการจะข่มขี่กิเลสของเรา เรากำลังฝึกฝนบทเรียนที่ทำงาน เพื่อประโยชน์ผู้อื่นโดยไม่หวังอะไรตอบแทน หวังให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่น ให้เขาคอยได้รับ เรากวาด ให้เตียน ให้สบาย เขาก็พลอยได้รับประโยชน์ อุทิศให้ ถ้าอย่างนี้มันจะบรรเทา ความอิจฉา ริษยา ความเห็นแก่ตัว อะไรต่างๆ นาๆ เป็นอุปกรณ์แก่พรหมจรรย์อย่างยิ่ง เป็นอุปกรณ์แก่การประพฤติพรหมจรรย์อย่างยิ่ง มันเป็นความรู้สึกธรรมดาๆ ที่จะเกิดขึ้นแก่คนธรรมดา ผู้ยังมีความเห็นแก่ตัว แต่แล้วมันก็แก้ไขได้ โดยตั้งใจเสียใหม่ ตั้งใจเสียใหม่ เราเป็นผู้ให้ ไม่ได้เป็นผู้รับ มันก็ไม่ต้องมีความรู้สึกได้เปรียบ เสียเปรียบ อิจฉา ริษยา หรืออะไร ก็ไม่ต้องมี ผมก็ได้เคยพูดแล้ว เมื่อคราวก่อนๆ โน้น ว่า เราฝึกบทเรียน เสียสละ เสียสละ เสียสละอย่างเดียว ที่ทำเหน็ดเหนื่อยนี้ไม่ต้องผลตอบแทนอะไร แม้แต่ความขอบใจ หรือความสรรเสริญเยินยอ อะไรจากใครก็ไม่ต้องการ ไม่ต้องการให้ใครมาตอบแทน ถ้าเราทำอย่างนี้ มันเป็นการขูดเกลากิเลสของเราอย่างลึกซึ้ง ขูดเกลาความเห็นแก่ตัวอย่างลึกซึ้ง ก็ไปจัดการเสียใหม่ให้มันถูกต้อง ยินดีฝึกบทเรียนที่จะขูดเกลาความเห็นแก่ตัว เป็นของธรรมดาที่คุณปรารภมานี่ เป็นของธรรมดาที่มันจะต้องมีอย่างนั้น นี่ต้องเอาชนะ ให้ได้ เอาชนะให้ได้ ใครมีปัญหาอะไรอีก ของคุณนะ ๒ ข้อ มีอะไรอีก
ผู้ถาม : อีกปัญหาหนึ่งคือ เรื่องการทำสมาธิ ก็คือเวลาในการไปนั่งสมาธิ ก็ไปนั่งที่หนึ่ง แต่ว่าช่วงเวลาก็ประมาณสัก สามสิบนาที แต่ใจส่วนใหญ่มันก็ควบคุมไม่ค่อยได้
ท่านพุทธทาส : ปัญหาอย่างไร มีปัญหาอย่างไร ปัญหามีว่าอย่างไร
ผู้ถาม : ทีนี้พอทำเสร็จ ก็ไปอ่านหนังสือ ช่วงอ่านหนังสือนี้จะอ่านได้ นานมาก อ่านได้บางที ๒ ชั่วโมงติต่อกันก็อ่านได้ คล้ายๆ ว่า คือ ที่อ่านหนังสือได้นี่เพราะว่ามีสมาธิ หรือว่า เพราะอะไร
ท่านพุทธทาส : หลายอย่าง ไอ้หนังสือมันถูกใจ หรือมันถูกกับไอ้ เรื่องอะไรกัน มันก็อ่านสนุกเพลิดเพลิน อ่านทั้งวันทั้งคืนก็ได้ พูดถึงการทำสมาธินั้น มันต้องพยายาม ให้เวลา กับมันอย่างเพียงพอ โดยทำให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ถ้ามีเรื่องอื่น เช่น เรื่องเรียนนักธรรม มันก็แบ่งกันไปตามเรื่อง ก็ทำได้พอสถาน พอประมาณ ไม่ใช่จะทำไม่ได้เสียเลย แบ่งให้เป็นบทเรียนน้อยๆ สั้นๆ เล็กๆ แล้วทำให้ได้ ทีละตอน ทีละตอน เอาจริงกับมัน สำเร็จประโยชน์ได้ ด้วยการทำซ้ำ ซ้ำอยู่เรื่อย ทำซ้ำอยู่เรื่อย จนกว่า จะทำได้ เหมือนการฝึกหัด ไอ้ อะไรที่ยากๆ ฝึกหัดกายกรรม หรือกีฬาอะไรที่มันยากๆ มันต้องซ้ำ ซ้ำๆ สำเร็จเพราะการซ้ำทั้งนั้น มันทำซ้ำ แล้วก็คอยสังเกตข้อบกพร่อง ข้อติดขัด คอยสังเกต มันก็ค่อยๆ เห็น ค่อยๆ รู้แจ้ง ไอ้ข้อติดขัดมันก็จะลดลงไปเอง ลดลงไปเอง ถ้ายังจะต้องเล่าเรียนอย่างอื่นอยู่ ก็เล่าเรียนไปตาม ไอ้ โอกาส ตามสมควร แบ่งเวลากัน ถ้าทำจิตให้มีพื้นฐานเป็นสมาธิ ได้บ้างแล้ว อะไรๆ มันก็จะดีหมด การเล่าเรียนก็จะดี การคิดนึกอะไรก็จะดี การมีชีวิตในประจำวันก็จะดี เพราะพื้นฐานทางจิตใจมันดี ทุกคนควรฝึกสมาธิ แม้ในขั้นต้นๆ เพียงแต่บังคับจิต ให้อยู่ในอำนาจ คือ การกำหนดลมหายใจ อ้า, เป็นต้น ได้มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น จิตจะอยู่ในอำนาจ เพราะสติก็จะมีมากขึ้น เพราะมันกำหนดจิตนั้น อ้า, กำหนดอารมณ์นั้น มันกำหนดด้วยสติ แล้วก็เป็นการฝึกสติอยู่ในตัว พร้อมกันกับฝึกสมาธิ สัมปชัญญะ สติ สมาธิ ถ้ารู้อะไรเพิ่มขึ้น มันก็เป็นปัญญา ทำสมาธิเถิด มันก็จะได้สติ ได้สัมปชัญญะ ได้สมาธิ ได้ปัญญา เพิ่มขึ้นๆ เพราะว่าเราไม่ต้องมีอะไรอื่นที่ไหน ไม่ต้องมี ไม่มีข้อผูกพันอะไรอื่นที่ไหน ก็ทำอันนี้ให้เต็มที่ ทำสิ่งที่เป็นหน้าที่โดยตรงนี่ให้มันเต็มที่ เต็มที่ แล้วมันจะค่อยๆ สอนให้เอง ค่อยๆ สอนให้เอง ว่าทำโดยไม่รู้สึกตัว มันจะสอนให้ทำไปได้ เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นๆ อ้าว, ใครมีปัญหาอะไรอีก
ผู้ถาม : กราบนมัสการท่านอาจารย์ครับ ผมมีปัญหาไม่เข้าใจอยู่ว่า คือ เมื่อเวลามีโอกาสแล้วนี่นะ ผมพยายามที่จะควบคุมเวทนาตนเอง ให้เป็นเวทนาที่มีวิชชาประกอบด้วย
ท่าพุทธทาส : ให้มีตั้งแต่ขณะผัสสะ ให้มีวิชชา ปัญญา เข้ามาควบคุมตั้งแต่ขณะผัสสะ จะ จะได้ผลดีที่สุด
ผู้ถาม : ปัญหาต่อไปก็คือว่า เมื่อเผอิญว่าปัญหานั้นนะครับ จำเป็นที่จะต้องเข้าไปแก้ไข เข้าไปปรับปรุงตามที่สมควรแล้วนี่ ปรากฏว่าเกิดปัญหาว่า ไม่ทราบว่าจะวางจิตอย่างไร เกิดความลังเลสงสัยว่าจะเข้าไปแก้ไขดีหรือไม่ หรือว่าปล่อยให้มันเป็นไปตามที่มันเป็นอยู่อย่างนั้น
ท่านพุทธทาส : อ้าว, จะพูดอะไรกันอีกเล่า ถ้า ถ้า มันต้องถือหลักว่า จะแก้ไข จะปรับปรุง จะควบคุม มีสติมาทันในเวลาผัสสะนั้นดีมาก ถ้ามาทันในเวลา เวทนาก็ยัง ยังใช้ได้ แต่ถ้ามันเกิดตัณหาแล้วมันก็ยากหน่อย ที่สติจะมาลด ไอ้ กำลังของตัณหา มันจะมักจะเลยไปเป็นทุกข์ ไปเป็นทุกข์ แต่ แต่ว่า ถึงอย่างไรก็ดี แม้ในขณะที่เป็นทุกข์อยู่ สติมา สติมา มันก็ยังมีประโยชน์ ยังมีประโยชน์กว่าที่มันไม่มาเสียเลย เมื่อเวลาเป็นทุกข์อยู่ สติมา ก็รู้ อ้าว, นี่ก็เป็นอย่างนี้ นี้ก็เป็นอย่างนี้ ก็ยังดี ยังดีกว่าที่ไม่มา เอาเสียเลย พอสักว่ามีผัสสะ ก็สะดุ้ง สะดุ้งถึง ไอ้ สติ ถึงปัญญา มันเหมือนกับว่า ตามธรรมชาตินะ ถ้าว่า แมลงหรืออะไร มันบินมา จะเข้าตา เข้าหูนี่ เราปัดได้ทันที โดยไม่ต้องรู้ว่า เป็นแมลงอะไร มาจากไหน ยังไม่ต้องรู้ แต่ว่าปัดออกไปได้ทันทีก่อน ให้มันปลอดภัยทีก่อน แล้วจะไปดู หรือไม่ไปดูก็ได้ ว่ามันเป็นแมลงอะไร มาจากไหน ในขณะแห่งผัสสะนะ พอกระทบอารมณ์เท่านั้นแหละ มันมีเรื่องวุ่นวายกระทบอารมณ์ นึกถึงสติ สติระลึกถึงปัญญา ที่ว่าเราจะไม่หลงใหล จะไม่ปล่อยให้เกิดความหลงใหล ยินดียินร้าย ที่ว่าเป็นไอ้ ขั้นลึก ก็ว่า มันจะรู้สึกไอ้ความเป็นเช่นนั้นเอง ความเป็นเช่นนั้นเอง ตามธรรมชาติ แล้วจะไม่ยินดี จะไม่ยินร้าย จะทำใจคอให้ปกติไว้ก่อน แล้วก็ดูต่อไปว่ามันจะมีอะไรเกิดขึ้น มันก็เป็นผัสสะที่เตรียมพร้อม เตรียมพร้อมให้ที่จะไม่เกิดเวทนาสำหรับหลอกให้หลง ทางนี้ไม่มีปัญหาอะไรบ้างเหรอ
ผู้ถาม : ถ้าเกิดดูการกระทบทางอายตนะเกิดขึ้นนี้ จะสามารถนำมาพิจารณาในรูปของ ขันธ์ ๕ ได้หรือไม่ เพื่อให้เห็นว่า มันไม่เที่ยง มันเพียงอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น
ท่านพุทธทาส : ไหนคุณว่าใหม่ ว่าใหม่ ฟังไม่ทัน ว่าใหม่ ช้าๆ ดังๆ หน่อย
ผู้ถาม : เมื่อขณะที่มีการกระทบทางอายตนะเกิดขึ้น จะสามารถนำมาพิจารณาในแนวขันธ์ ๕ เพื่อให้เห็นความไม่เที่ยง ของขันธ์ ๕ เห็นความไม่ใช่ตัวตน มันอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ได้หรือไม่
ท่านพุทธทาส : โอ้, ถ้าว่าศึกษาไว้ก่อน รู้ว่าขันธ์ ๕ คืออะไร อย่างไรแล้วก็ได้ ในขณะที่มันมี การกระทบนั่นนะ มันจะมีเรื่องของขันธ์ ๕ ครบถ้วนอยู่ในนั้นด้วยเหมือนกัน เช่น การกระทบรูป กระทบทางรูป มันก็เกิด อ้า, รูปขันธ์ จะเกิดวิญญาณ รู้แจ้งตามอายตนะขึ้นมา ก็เกิดวิญญาณขันธ์ แล้วต่อมาก็เกิดเวทนา เวทนาขันธ์ เกิดความหมายมั่นในเวทนาขันธ์ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ จึงได้เกิดสัญญาขันธ์ คือ ความคิดที่จะกระทำอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้ารู้อย่างนี้ก็ได้ แต่ว่า มันไม่ต้องมาเสียเวลา หรือมันไม่อาจจะอำนวยให้ คิดมากถึงอย่างนี้ มันก็ปฏิเสธกันเสียเพียงแค่ในขั้น อายตนะภายนอก อายตนะภายใน วิญญาณนั่นแหละ ผัสสะนั่นแหละ หรือว่ามันอย่างนั้นเอง มันเป็นเช่นนั้นเอง หรือว่าไอ้สิ่งเช่นนั้นเองมาอีกแล้ว เราจะรู้จักมันให้ดี จะไม่ปล่อยให้เกิดความปรุงแต่งความยินดี ยินร้ายขึ้นมาได้ มันก็เป็นการคุ้มครองขันธ์ทั้ง ๕ อยู่ในตัว ไอ้ที่เราจะมาแจกให้เห็นเป็นขันธ์ ๕ มีอยู่ตอนไหนๆ นั่นนะมันเป็นเรื่องการศึกษา ในเรื่องการปฏิบัติ มันไม่ได้ทำ ในการรับอารมณ์ ปรุงแต่ง ไปจนถึงความทุกข์นั้น มันเป็นปฏิจจสมุปบาทครบอยู่ในนั้น เป็นเรื่องขันธ์ ๕ ครบอยู่ในนั้น หรือจะให้เป็นเรื่องอริยสัจ ๔ ครบอยู่ในนั้น ก็ยังได้ เดี๋ยวนี้เหตุให้เกิดทุกข์มันมาแล้ว แล้วมันก็จะเกิดทุกข์ มีสติสัมปชัญญะป้องกันไว้ได้ มันก็เป็น อ้า, พวก มรรค ดำเนินไม่ให้ถึง ไม่ถึง ดำเนินให้ถึงความดับทุกข์ แล้วเมื่อทุกข์ไม่เกิด มันก็เป็นความดับทุกข์ อย่างนี้เรียกว่า ธรรมะสัมพันธ์กัน ธรรมะสโมทานกัน ต้องศึกษาเป็นพิเศษอีกส่วนหนึ่ง ถ้าศึกษาเรื่องขันธ์ ๕ เข้าใจมาดี แล้วก็จะสามารถจัดให้เข้าไปในกระแสปรุงแต่งอันยืดยาวนั้นได้ดี ที่จะเรียกว่าอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท นะ ตั้งแต่กระทบทางอายตนะ แล้วปรุงแต่งเป็นผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปทาน ภพ ชาติ จนเกินทุกข์ ยืดยาวนี้ ในกระแสนั้นนะมีครบ มีปฏิจจสมุปบาท มีขันธ์ ๕ มี ถ้าจะแยกเป็นพิจารณาขันธ์ ๕ นั่น มัน มันจะต้อง รู้ว่าเป็นขันธ์อะไรเสียก่อน ขันธ์อะไรกำลังรบกวนอยู่ เป็นความสำคัญมั่นหมายกำลังรบกวนอยู่ เป็นสัญญาขันธ์ ก็จะพิจารณาสัญญาขันธ์ โดยไตรลักษณ์นี่ ถ้ามันเป็นการปรุงเป็นความคิดนึก เป็นตัณหาอยู่ คือ เป็นสังขารขันธ์อยู่ มันก็พิจารณาความรู้สึกอย่างนั้น โดย โดยเป็นไตรลักษณ์ ก็ได้เหมือนกัน มันเฉพาะ แยกเป็นขันธ์ ๕ เป็นดุ้นๆ แต่ในกรณีทั่วไปนี้ มัน มัน ไม่ต้องไปแยกถึงขนาดนั้น มีอย่างที่ว่า กระทบแล้วเกิดวิญญาณ เกิดผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ทุกข์ เป็นทุกข์ จะถามซ้ำ ถามซักให้ละเอียดก็ได้ ไม่เป็นไร ถ้าไม่มีก็คนอื่น ใครมีอีก ใครมีปัญหาอีก ต้องการปัญหาจริงๆ ที่มีอยู่จริงๆ ที่รบกวนอยู่จริงๆ ที่ทำให้เกิดความยุ่งยากลำบากใจอยู่จริงๆ ปัญหาอย่างนั้นนะดี มีประโยชน์ มันจะต้องคิดเข้ารูปนะ คือว่า คุณมาเพื่อจะแสวงหาความรู้ แล้วผมก็พยายามที่จะให้โอกาสตามที่จะมี แล้วเป็นหน้าที่ของคุณ ที่จะต้องตั้งปัญหา หรือตั้งเรื่องตั้งราวอะไรขึ้นมาสำหรับจะได้รับความรู้ ถ้าให้ผมพูดข้างเดียวก็พูดได้แต่หลักทั่วไป ไม่ทราบปัญหาเฉพาะคน จึงให้มีการถามปัญหาเฉพาะคนอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากการบรรยายทั่วไป ถ้าจะคุยกันเองบ้างก็ได้ อย่าคุยเรื่องอื่น ก็คุยเรื่องธรรมะ สนทนาเรื่องธรรมะ อย่าพูดเล่นหัวหยอกเย้าอย่างอื่น ซึ่งทำให้เกิดเรื่องเกิดราว ส่งเสริมกิเลส ไม่ดี ถ้าจะสนทนากันก็จงสนทนาธรรมะ พูดธรรมะ ถ้าไม่อย่างนั้นไปนอนเสียดีกว่า ทั้งที่ไอ้เรื่องนอนนั้นก็เป็นเรื่องที่เสียหาย วันนี้ยังดีกว่า วันที่แล้วๆ มา คือยังมีปัญหาบ้าง ไม่เปล่าเหมือนที่แล้วๆ มา
ผู้ถาม : ในการพิจารณาขันธ์ ๕ นี้ จะ ดู เห็น เข้าใจหรือว่าจะใช้โยนิโสมนสิการอยู่
ท่านพุทธทาส : ต้องศึกษาให้รู้ว่าอย่างไรเรียกว่าขันธ์อะไร ที่เราพิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นจึงจะเป็นโยนิโสมนสิการ เอามาทำในใจเกี่ยวกับขันธ์ ๕ ให้รู้ตามที่เป็นจริง โยนิโสมนสิการ นั้นแปลว่า พิจารณา คือ การทำในใจถึงต้นเหตุ โยนิโส แปลว่าโดยต้นเหตุ โยนิโสแปลว่า โดยต้นเหตุ ถึงต้นเหตุ มนสิการ ทำในใจ คือ พิจารณาให้ลึกๆ ถึงต้นเหตุ แล้วผลของมันก็ปรากฏอยู่ การพิจารณาถึงขนาดนั้น เรียกว่าโยนิโสมนสิการ ได้ยินได้ฟังมา ก็เอามาทำโยนิโสมนสิการ ได้อ่าน ได้อะไรมา ก็เอามาทำ โยนิโสมนสิการ หรือคิดเรื่องอะไรขึ้นมาได้สักเรื่องหนึ่ง ก็เอามาทำโยนิโสมนสิการ ฉะนั้น จะเอาเรื่องอะไรมาพิจารณาให้ถึง ไอ้ต้นเหตุของมัน ก็เป็นโยนิโสมนสิการ พิจารณาเรื่องรูปโดยโยนิโสมนสิการ พิจารณาเรื่องเวทนาโดยโยนิโสมนสิการ ทั้ง ๕ ขันธ์ แต่ละขันธ์ ละขันธ์ ถ้าจะพิจารณา ก็พิจารณาชนิด โยนิโสมนสิการ
ผู้ถาม : อาจารย์ครับ เวลาฟังเทศน์ มันจะมีความง่วง ทั้งๆที่รู้ว่า ควรจะระงับ พอเริ่มง่วงขึ้นมาจะระงับมันไม่อยู่ มันก็เผลอหลับไป พอรู้ตัวแล้วมันก็หลับไปแล้ว
ท่านพุทธทาส : มันก็เสร็จแล้ว จบเรื่องแล้ว เกี่ยวกับการฝึกสมาธิเหมือนกัน ถ้ามีสมาธิก็ไม่ง่วงไม่หลับ จะจ้อง จะฟัง หรือถ้าอยากจะฟังมากเป็นนักศึกษา อยากจะรู้ อยากจะได้ยินได้ฟังมาก มันก็ไม่ง่วงไม่หลับเหมือนกัน แต่มันก็มีเหตุอื่นได้เหมือนกัน บางที เช่น กินข้าวมามาก อิ่มเกินไป พอมาฟังเทศน์ มันก็ง่วงทั้งนั้นแหละ นั่นมันเป็นเหตุอื่น ถ้าฟังเข้าใจจับใจ แล้วจะไม่ง่วง จะไม่ จะไม่เคลิ้ม คือ จะฟังแล้วสนุกสนานยิ่งขึ้น ดังนั้น พยายามทำให้เกิดความพอใจในเรื่องที่ฟังนั้นเสียก่อน โดยเชื่อว่ามันต้องมีประโยชน์แน่ๆ ต้องฟังให้รู้เรื่องให้จนได้ นี่ ฉันทะมันก็จะเกิดขึ้น วิริยะมันจะเกิดขึ้น
ผู้ถาม : นิวรณ์ ๕ นอกจากทำสมาธิไม่ให้มันเกิดขึ้น แล้วยังมีอย่างอื่นที่ไม่ให้นิวรณ์เกิดขึ้น ได้หรือไม่
ท่าพุทธทาส : นิวรณ์มันเกิดขึ้นตามธรรมชาติของมัน ถ้าทำสมาธิมันก็กำจัดนิวรณ์ไปได้ ถ้าทำสมาธิได้ก็หมายความว่านิวรณ์ไม่มี ถ้านิวรณ์ยังมีก็ยังไม่เป็นสมาธิ มันมีพร้อมกันไม่ได้ นิวรณ์ กับ สมาธิ ความรู้สึก ๕ ประการณ์นั้นนะ แยกแยะศึกษาดูให้ดี ให้รู้จักดีทั้ง ๕ ๕ อย่างนั้น ก็จะรู้ได้ว่า ความที่จิตไม่เป็นสมาธิ จึงได้โอกาสแก่นิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่ง นิวรณ์นั้นเป็นเครื่องรบกวน เป็นเครื่องรบกวน ความสงบสุขของคนทั่วไป แล้วก็เป็นประจำวันด้วย เราจะสลับ อ้า, ขับไล่มันไปได้ด้วยการทำสมาธิ ถ้าจะทำสมาธิเพื่อไปบรรลุมรรคผลนิพพานนั่นก็เรื่องหนึ่ง เดี๋ยวนี้ เอาเพียงว่าขับไล่นิวรณ์ที่มารบกวนกูอยู่ทุกเวลานี่ก็ได้ ก็ยังได้ ขับไล่ถีนมิทธะ ก็คือ ไอ้นั่นแหละ ชาคริยานุโยค ขับไล่ถีนมิทธะโดยเฉพาะ อ้าว, สามทุ่ม ไม่มีปัญหาแล้วก็ปิดประชุม สามทุ่มแล้ว นิมนต์ นิมนต์