แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมเทศนาเนื่องในเทศกาลมาฆบูชา ครั้งที่ 3 แสดง ณ ลานหินโค้ง สวนโมกข์ฯ ไชยา วันที่ ๖ มีนาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ เวลา ๓.๐๐ นาฬิกา
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาในพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ ให้วิริยะความเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป ในธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ก็จะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาเป็นสุภาปาระลำดับ สืบต่อเนื่องจากธรรมเทศนา ที่ได้แสดงแล้วในยามต้นแห่งราตรี นั้นก็คือ ปรารภการที่วันนี้เป็นวันมาฆปุรณมีหรือเรียกว่าวันมาฆบูชาและเป็นวันที่ระลึกแก่พระอรหันต์ ก็ได้แสดงธรรมเกี่ยวกับพระอรหันต์ในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้เข้าใจกันอย่างทั่วถึง และก็ยังได้กล่าวถึงเรื่องที่ตรงกันข้าม คือ เรื่องของปุถุชนว่ามีลักษณะอย่างไร ซึ่งเป็นเหตุให้เข้าใจ เรื่องของพระอรหันต์ได้ยิ่งขึ้น บัดนี้จักได้แสดงลักษณะแห่งพระอรหันต์โดยเฉพาะให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีกวาระหนึ่ง พระอรหันต์นั้นเป็นผู้ถึงที่สุดของความเป็นมนุษย์ เป็นยอดสุดของมนุษย์ จึงได้อยู่เหนือปัญหาทุกประการ ไม่มีไฟกิเลสไม่มีไฟทุกข์ที่คอยเผาผลาญให้เดือดร้อนกระวนกระวาย ทีนี้ก็จะได้กล่าวถึงเรื่องการกระทำของท่าน นี่แหละใช้เป็นหลักได้สำหรับคนทั่วไป ท่านเป็นนักศึกษาและเป็นผู้รู้และได้รับปริญญาตามแบบของพระพุทธเจ้า คำว่าปริญญา ปริญญานี่ ได้ตรัสไว้ชัดเจนว่า ได้แก่อะไร ซึ่งตรัสไว้ตั้งสองพันกว่าปีแล้ว ในโลกปัจจุบันเดี๋ยวนี้เขาก็มีปริญญาและมีการให้ปริญญา ซึ่งคนเขากำลังหลงใหลยึดถืออยากจะได้กันเป็นส่วนใหญ่ส่วนมาก ปริญญาเดี๋ยวนี้เป็นแผ่นกระดาษ ซึ่งให้แก่ผู้ที่สอบไล่ได้ ส่วนปริญญาของพุทธเจ้าก็จะให้แก่พระอรหันต์นั้น ไม่ได้เป็นแผ่นกระดาษ ไม่ได้เป็นการแต่งตั้งหรือต้องประกาศแก่ผู้ใด ตรัสไว้เป็นหลักเฉพาะตายตัวว่า ปริญญานั้นมีอยู่สามอย่าง สามอย่างคือ ราคะคะโย ความสิ้นไปแห่งราคะ โทสะคะโย ความสิ้นไปแห่งโทสะ โมหะคะโย ความสิ้นไปแห่งโมหะนี้คือ ปริญญาสามอย่าง พระอรหันต์ทุกองค์ได้รับปริญญานี้ คือความสิ้นราคะ โทสะ โมหะ ก็ควรจะพิจารณาดูว่าท่านก็มีการเรียนและมีการได้รับปริญญา แต่มันคนละแบบคนละอย่างคนละเรื่อง ได้ปริญญาเมื่อสิ้นราคะ โทสะ โมหะ แต่สมัยนี้รับปริญญาเพื่อจะสร้างราคะ โทสะ โมหะ ให้มันมากขึ้นกว่าเดิม เพราะว่าถ้าได้รับปริญญาอย่างสมัยนี้แล้ว มันก็จะทำอะไรในการที่จะหาประโยชน์ให้ได้มากกว่าเดิม มันตรงกันข้ามอย่างนี้ เราจะพิจารณาดูว่าพระอรหันต์ท่านเรียนอย่างไร? ข้อนี้พระพุทธองค์ตรัสเรียกว่า มีปริญเญยยธรรมคือสิ่งที่ควรเรียน ปริญเญยยธรรมสิ่งที่ควรเรียน ครั้นเรียนจบแล้วก็ได้รับปริญญา คือ ความสิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ อะไรเป็นปริญเญยยธรรม ? ในที่บางแห่งก็ทรงระบุเบญจขันธ์ ขันธ์ห้า นั่นแหละเป็นสิ่งที่ควรเรียน ในบางกรณีก็ตรัสระบุอายตนิกธรรมห้าหมวด ได้แก่ อายตนะภายใน อายตนะภายนอก วิญญาณ ผัสสะ เวทนา ใครจะเรียนเรื่องขันธ์ห้าโดยตรงก็ได้ ใครจะเรียนเรื่องธรรมมะซึ่งเนื่องกันอยู่กับอายตนะห้าหมวดนี้ก็ได้ เบญจขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เราจำกันได้แต่ชื่อแล้วก็พูดกันถึงแต่ชื่อ แล้วก็ไม่รู้จักไอ้ตัวเบญจขันธ์ที่เกิดดับอยู่อย่างไรในแต่ละวัน โดยใจความสั้นๆ ก็คือว่า เมื่อใดรูปธรรมมันทำหน้าที่ เมื่อนั้นเรียกว่ามีรูปขันธ์เกิดขึ้น เช่นว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันทำหน้าที่ ตาทำหน้าที่เห็นรูป หูทำหน้าที่ได้ยินเสียง จมูกทำหน้าที่ส่งกลิ่น ลิ้นทำหน้าที่รู้รส กายทำหน้าที่ทางผิวหนัง อย่างนี้เรียกว่ารูปธรรมภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และรูปธรรมภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มันถึงกันเข้าเป็นคู่ๆ รูปธรรมอยู่ในหน้าที่อย่างนี้เรียกว่า รูปเกิด เกิดเป็นเบญจขันธ์ ส่วนรูปเกิดรูปขันธ์นั่นเอง เพราะอายตนะภายในและอายตนะภายนอกถึงกันเข้าก็เกิดวิญญาณ นั่นก็คือเกิดวิญญาณขันธ์ แล้วก็เกิดผัสสะซึ่งทำให้เกิดเวทนาเป็นเวทนาขันธ์ แล้วก็เกิดสัญญา ความรู้สึกหมายมั่นในเวทนานั้น เรียกว่าสัญญาขันธ์ ครั้นแล้วก็เกิดความคิดนึกต่างๆ ไปตามอำนาจของสัญญา นี้ก็เรียกว่าสังขารขันธ์ ตอนไหนเป็นขันธ์ไหน ตอนไหนเป็นขันธ์ไหน ช่วยศึกษาไว้ให้ดีสังเกตไว้ให้ดี เพราะว่าเบญจขันธ์ทั้งห้านี้แต่ละอย่างๆ มันเกิดขึ้นแล้วดับไป เกิดขึ้นแล้วดับไป วันหนึ่งไม่รู้กี่พวกหรือไม่รู้กี่ชุด เกิดทางตา แล้วก็เกิดทางหู แล้วก็เกิดทางจมูก เกิดทางลิ้น เกิดทางผิวกาย เราไม่เคยศึกษาให้เข้าใจจนจับมันได้ว่า อย่างไรเป็นรูปขันธ์ อย่างไรเป็นเวทนาขันธ์ อย่างไรเป็นสัญญาขันธ์ อย่างไรเป็นสังขารขันธ์ อย่างไรเป็นวิญญาณขันธ์ ต่อไปนี้ควรจะมีวิธีสำหรับศึกษากำหนดขันธ์แต่ละขันธ์ ในแต่ละวันนี้ให้มากยิ่งๆ ขึ้นไป กล่าวรั้งให้เป็นตัวอย่างอีกครั้งหนึ่งว่า ในกรณีของตา เมื่อตาซึ่งเป็นอายตนะภายในถึงกันเข้ากับรูปซึ่งเป็นอายตนะภายนอก ซึ่งก็มีอยู่ทุกวัน มันก็เกิดวิญญาณขันธ์คือความรู้แจ้งทางตา เมื่อไรตาทำหน้าที่เห็นรูปมันก็เกิดความรู้แจ้งทางตาคือวิญญาณขันธ์ อันเป็นไปทางตา เมื่ออายตนะภายใน อายตนะภายนอกและวิญญาณทำงานร่วมกันอยู่อย่างนี้ คือมีการเห็นอย่างนี้ เรียกว่าสัมผัสทางตา ถ้ามีสัมผัสอย่างนี้แล้ว ก็เกิดเวทนา ความรู้สึกสบายหรือไม่สบาย เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เนื่องจากการที่เห็นรูปนั้น ความรู้สึกนี้เรียกว่าเวทนาขันธ์ ขอให้กำหนดไว้ง่ายๆ ว่าเมื่อตาเห็นรูปแล้วเกิดความรู้สึกใดๆขึ้นมา เป็นความพอใจหรือไม่พอใจก็ตามนี้เรียกว่าเวทนาขันธ์ เวทนาขันธ์เกิดแล้ว ก่อนหน้านี้มิได้มีเดี๋ยวนี้ก็เกิดแล้ว เวทนาขันธ์เกิดแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิดสัญญาขันธ์ สำคัญมั่นหมายในสิ่งที่ได้รู้สึกนั้น ถ้าเวทนาเป็นสุขก็สำคัญว่าเป็นสุข เวทนาเป็นทุกข์ก็สำคัญว่าเวทนาเป็นทุกข์ สำคัญมั่นหมายเวทนาและที่เกิดของเวทนา และสิ่งที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับเวทนา เช่นถึงกับรู้ว่าเป็นเวทนาชนิดไหน เป็นเวทนาขันธ์ด้วยกันทั้งนั้น เมื่อเวทนาเป็นไปอย่างถึงที่สุดอย่างนี้แล้ว มันก็เกิดความคิดเกี่ยวกับเวทนานั้น คิดจะได้ คิดจะเอา หรือ คิดจะฆ่าหรือคิดจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเวทนานั้น นี่เรียกว่าสังขารขันธ์ ส่วนวิญญาณขันธ์นั้นไป ไป ไปเกิดอยู่แล้วข้างหน้า เมื่อตากระทบกับรูป เกิดวิญญาณขันธ์ทางตา และเกิดวิญญาณขันธ์ทางตารู้สึกทางตา นับดูให้ดีก็จะเห็นได้ว่าวิญญาณขันธ์ มันเกิดก่อนเวทนา สัญญา สังขาร แต่ว่าวิญญาณขันธ์ยังมีโอกาสที่จะเกิดได้อีก เช่นรู้สึกเป็นสุขต่อสุขเวทนา นี่วิญญาณขันธ์ทางมโนก็ได้เกิดขึ้นในเวทนานั้นๆ หรือถ้ามันไปกำหนดที่ตรงไหน แม้ที่เป็นความคิดความนึก ก็เรียกว่ามีมโนวิญญาณขันธ์ด้วยเหมือนกัน ท่านวางลำดับไว้ ซึ่งชวนให้เกิดปัญหาว่า รูปก่อนแล้วก็เวทนาแล้วก็สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่พอเรื่องมันดำเนินไปจริงๆ นั้น มันก็เกิดรูป แล้วก็เกิดวิญญาณ แล้วก็เกิดเวทนา แล้วก็เกิดสัญญา แล้วก็เกิดสังขาร ศึกษาเบญจขันธ์หรือขันธ์แต่ละอย่าง ละอย่างนี้ ให้เห็นตามที่เป็นจริงว่า มันเป็นอยู่อย่างนี้ มันเป็นอยู่อย่างนี้ มันมีลักษณะอย่างนี้ มันเกิดขึ้นอย่างนี้ และมันดับไปอย่างนี้ แล้วมันเกิดขึ้นอีกอย่างนี้ นี่เรียนกันเหมือนกับว่าเรียน กอ ขอ กอ กา แจกรูปไปเลย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วก็แจกรูปไปเลยว่า มันเกิดเป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ ให้รู้จักทุกลักษณะทุกอาการทุกขณะที่เกิดและดับ รู้เบญจขันธ์ในลักษณะอย่างนี้ ทีนี้ก็ดูลักษณะที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น คือความที่เบญจขันธ์นี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นอนิจจังก็คือมันไม่เที่ยง เดี๋ยวเกิดเดี๋ยวดับ เกิดแล้วก็เปลี่ยนแปลงไปจนกว่าจะดับ เห็นความไม่เที่ยงของขันธ์แต่ละขันธ์ เมื่อไม่เที่ยงก็เป็นทุกข์ คือ มีการต่อสู้ดิ้นรนในความไม่เที่ยงนั้น หรือว่าพิจารณาดูแล้วน่าเกลียดเหลือประมาณเพราะมันเป็นเรื่องไม่เที่ยง มันหลอกลวงเป็นมายาที่หลอกลวง นี้ก็เรียกว่าเป็นความรู้เรื่องทุกข์เกี่ยวกับเบญจขันธ์ แล้วก็รู้สึกว่าทั้งไม่เที่ยงทั้งเป็นทุกข์นี้ เป็นของที่มิใช่ตน มิใช่เป็นตัวตน มิใช่มีตัวตน เบญจขันธ์นั้นมิใช่ตน แต่ละขันธ์ละขันธ์ ก็ได้ความชัดแจ้งลงไปว่าแต่ละขันธ์ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา ลองศึกษาอยู่อย่างนี้ กำหนดอยู่อย่างนี้ ทั้งวันทั้งคืนดูบ้างแล้วผลอะไรจะเกิดขึ้น ผลอะไรจะเกิดขึ้นแก่จิตใจก็จะเข้าใจได้เอง นี่เบญจขันธ์เป็นปริญเญยยธรรม คือธรรมที่ควรรู้ควรศึกษา นี้พวกหนึ่ง โดยเอาเบญจขันธ์เป็นบทเรียน ทีนี้ก็ยังมีอีกพวกหนึ่งซึ่งจะเรียกว่า อายตนิกธรรม คือสิ่งที่เป็นไปทางอายตยะ หรือเป็นเรื่องของอายตนะ เรื่องนี้ก็มีห้าหมวดด้วยกัน หมวดละหกๆ ห้าหมวดด้วยกัน หมวดทีแรก หมวดที่หนึ่งก็คืออายตนะภายในมีอยู่หก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หมวดที่สอง อายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ หมวดที่สาม คือ วิญญาณทางตา วิญญาณทางหู วิญญาณทางจมูก วิญญาณทางลิ้น วิญญาณทางกาย วิญญาณทางใจ เป็นหกด้วยเหมือนกัน แล้วก็มีผัสสะ ผัสสะทางตา ผัสสะทางหู ผัสสะทางจมูก ผัสสะทางลิ้น ผัสสะทางกาย ผัสสะทางใจ ก็เลยได้ผัสสะหก แล้วก็เกิดเวทนาหก เวทนาที่เกิดแต่สัมผัสทางตา เวทนาที่เกิดแต่สัมผัสทางหู เวทนาที่เกิดแต่สัมผัสทางจมูก เวทนาที่เกิดแต่สัมผัสทางลิ้น เวทนาที่เกิดแต่สัมผัสทางกาย เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางใจ เลยได้เป็นห้าหมวด หมวดละหกละหก เรียกสั้นๆ อีกทีก็ว่า อายตนะภายในหก อายตนะภายนอกหก วิญญาณหก ผัสสะหก เวทนาหก ก็จะ ก็จะเรียนได้อย่างเรียน กอ ขอ กอ กา คือแจกรูปให้เหมือนกับเรียน กอ ขอ กอ กา แจกรูปไปให้เข้าใจ ให้คล่องแคล่ว ให้ชัดเจน ให้แจ่มแจ้ง ว่ามีธรรมะอยู่ห้าหมวด หมวดละหกอย่างนี้ นี่ก็เป็นปริญเญยยธรรม คือ ธรรมที่ควรศึกษา ในที่สุดก็น้อมไปรู้ มีความรู้ดำเนินไปจนถึงกับรู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของอายตนิกธรรมทั้งห้าหมวดนี้ ห้าหมวดหมวดละหก มันเป็นสามสิบ อายตนิกธรรมจึงมีสามสิบ เพราะมีห้าหมวด หมวดละหก ในสามสิบนี้แต่ละอย่างๆ ถูกพิจารณาเห็น โดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำนองเดียวกับที่พิจารณาเบญจขันธ์ นี่จะสะดวกอย่างไหนก็เลือกเอาว่าจะพิจารณาเบญจขันธ์หรือจะพิจารณาอายตนิกธรรมหกหมวด ถ้ามีเวลาเมื่อไหร่ก็พิจารณาไม่ว่าที่บ้าน ไม่ว่าที่วัด ไม่ว่าที่ไหน แม้ที่สุดแต่นั่งถ่ายอุจจาระอยู่ ก็มีจิตสงบพอที่จะพิจารณาได้เหมือนกัน นี่เรียกว่าเอาจริงกันเลย ทุกเวลา ทุกสถานที่ ทุกโอกาส ก็มีการพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในเบญจขันธ์ทั้งห้าหรือในอายตนิกธรรมทั้งสามสิบ หกหมวดหมวดละห้า พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นแจ่มแจ้งขึ้นมา ตามลำดับตามที่เป็นจริงอย่างไร มันเกิดดับอย่างไร เห็นการเกิด เห็นการตั้งอยู่ เห็นการดับไป เพราะเป็นญาณคือความรู้หนึ่ง หนึ่ง หนึ่ง หนึ่ง ญาณเห็นการเกิด ญาณเห็นการตั้งอยู่ ญาณเห็นการดับไป เห็นตามที่เป็นจริงอย่างนี้แล้วก็จะเกิดนิพพิทาคือความเบื่อหน่าย เรียกว่านิพพิทาญาณ ญาณเบื้องต้นนี้จะมีมาตามลำดับจนถึงนิพพิทาญาณ นี้เรียกว่าตอนหนึ่งกี่ญาณ กี่ญาณ ก็รวมเรียกว่านิพพิทาญาณ หลังจากนั้น หลังจากนิพพิทาก็เกิดวิราคะ ความเบื่อหน่าย ความคลายกำหนัด แล้วก็มีการบรรลุมรรคผล มรรคสี่ผลสี่กระทั่งบรรลุนิพพาน ตอนนี้เรียกว่านิพพานญาณ นับตั้งแต่วิราคะขึ้นไปจนถึงมรรคผลและนิพพาน เรียกว่า นิพพานญาณ กำหนดได้ง่ายๆ เป็นว่าญาณทั้งหลายจะมีอะไรก็ตามใจ แบ่งได้เป็นสองขั้นตอนหรือสองชุด ชุดแรกมีการเห็นมาตามลำดับ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตามาตามลำดับ จนเกิดนิพพิทาหรือความเบื่อหน่าย ในตอนนี้เรียกว่าธรรมฐิติญาณ ธรรมฐิติญาณ เห็นสิ่งที่ตั้งอยู่ตามที่เป็นจริงอย่างไร เรียกว่า ธรรมฐิติญาณ หลังจากนั้นก็เป็นนิพพานญาณ คือ วิราคะ แล้วก็วิมุตติ แล้วแต่จะแยกออกเป็นกี่ตอนกี่ญาณก็รวมกันแล้วก็เรียกว่า นิพพานญาณ สรุปความได้สั้นๆ ง่ายๆ ว่าญาณนี้มันมีสอง คือสองชุด ชุดธรรมฐิติญาณกับชุดนิพพานญาณ ชุดธรรมฐิติญาณ คือ ญาณรู้ตามที่เป็นจริงในสังขารทั้งปวงมาตามลำดับจนเกิดนิพพิทา ทีนี้หลังจากนิพพิทาก็เกิดวิราคะไปตามลำดับจนเป็นการบรรลุมรรคผล นี่พระอรหันต์ก็ศึกษาปริญเญยยธรรม คือเบญจขันธ์บ้าง อายตนิกธรรมบ้าง แล้วแต่โอกาสแล้วแต่บุคคล ท่านจึงสมบูรณ์ด้วยธรรมฐิติญาณและนิพพานญาณ เพราะการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นน่ะเหมือนกันหมดแหละ แม้เราที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ยังไม่เป็นอริยะเจ้าใดใด ก็เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ แล้วก็เห็นเหมือนกัน แต่มันไม่ลึกพอ ไม่รุนแรงพอ ที่จะถอนไอ้ความยึดมั่นถือมั่น ถ้ามันลึกหรือแรงพอถึงขนาดหนึ่งก็เป็นพระโสดาบัน แล้วก็ดูอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ต่อไปแรงขึ้นๆ ก็จะบรรลุสกิทาคามี แล้วก็เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นแหละ ในลักษณะนั้นแหละให้มันลึกขึ้นรุนแรงขึ้น เป็นอนาคามีกระทั่งเป็นพระอรหันต์ จำได้ง่ายๆ สั้นๆ ว่า จะเป็นพระโสดาบันหรือจะเป็นพระอรหันต์ ก็สุดแท้ ล้วนแต่จะมีการเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างเดียวกัน ต่างกันก็แต่ว่าอย่างหนึ่งมันแรง มันรุนแรงมันลึกซึ้ง อย่างหนึ่งมันไม่รุนแรงไม่ลึกซึ้ง ถ้าไม่รุนแรงไม่ลึกซึ้งเอาเสียเลยมันก็ไม่ได้บรรลุอะไร ไม่ว่าจะดูอยู่หรือเห็นอยู่หรือรู้สึกอยู่ พอเป็นเค้าเงื่อนเท่านั้นเอง ปุถุชนก็ไม่ใช่ว่าจะไม่รู้จักหรือไม่เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็เห็นอย่างผิวเผิน บางทีมันก็พูดได้ พูดได้เป็นคำพูดมากมายแต่การเห็นนั้นมันผิวเผิน ก็ยังเป็นปุถุชน เว้นเสียแต่ว่าเห็นหนักเข้าลึกเข้ามากเข้า มันก็จะเป็นพระอริยะเจ้าด้วยการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นลึกถึงที่สุดแล้วก็เป็นพระอรหันต์ ราคะ โทสะ โมหะก็สิ้นไป ท่านก็เลยได้รับปริญญาในการศึกษาของท่าน คือศึกษาเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในเบญจขันธ์ทั้งห้าก็ได้ ในอายตนิกธรรมทั้งห้าหมวดหรือสามสิบอย่างก็ได้ ก็เป็นพระอรหันต์ในที่สุด ทีนี้ก็มาพิจารณากันถึงคุณสมบัติหรือลักษณะของท่านที่มีอยู่มากมายหลายชื่อ แต่ละชื่อก็แสดงความหมายอยู่ในตัว อย่างชัดแจ้ง คำแรกข้อแรก เช่น อุกขิตตะปะลิโค อุกขิตตะปะลิโค อุกขิตตะปะลิโค ฟังยากฟังรุงรัง ภาษาบาลีแต่ถ้าฟังหลายๆ หนเข้ามันก็ชินไปเอง อุกขิตตะปะลิโค แปลว่า มีลิ่มสลักอันถอนแล้ว ลิ่มสลักในที่นี้หมายถึงอวิชชา ถอนลิ่มสลักได้แล้ว ถอนอวิชชาได้แล้ว ไม่มีอวิชชามาเกี่ยวข้องในการเป็นอยู่ ไม่มาเกี่ยวข้องโดยเฉพาะในผัสสะ ไม่มีอวิชชามาเกี่ยวข้องในผัสสะในขณะแห่งผัสสะ ก็ไม่เกิดความหลงไม่เกิดความหลงใดใด ในเรื่องเกี่ยวกับผัสสะ เป็นผัสสะที่ไม่มีอวิชชา มันก็ต้องมีวิชชาแทน คือรู้ตามที่เป็นจริงของธรรมชาติจิต ที่มันก็รู้อะไรได้ตามธรรมชาติของจิต ขออย่างเดียวแต่ว่าอวิชชาอย่ามาครอบงำ ถ้าอวิชชามาครอบงำจิตเสียแล้ว จิตมันก็จะเห็นไปตามอำนาจของอวิชชา คือเห็นผิดหมด นี่ท่านไม่มีอวิชชาเพราะถอนอวิชชาได้ ท่านก็เลยพ้นจากอำนาจของอวิชชา คำต่อไป มีว่า สังกินนะปะริโข สังกินนะปะริโข สังกินนะปะริโข ฟังยากจังเลย แปลว่า มีเครื่องล้อมอันกระจัดกระจายแล้ว ภาษาธรรมดาก็ว่าพังทลายกำแพงล้อมออกได้หมดแล้วไม่มีอะไรล้อมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ใดใดหรือเป็นธรรมะใดใดที่มีลักษณะคุ่มรุมแวดล้อมจิต ท่านกระทำให้กระจัดกระจายพังทลายไปหมดแล้ว อุปมาเหมือนทำลายกำแพงเมืองหมดแล้วเมืองนั้นมันก็หมดความปลอดภัย อยู่ในอำนาจของผู้ทำลาย พระอรหันต์เป็นผู้ทำลาย สิ่งแวดล้อมคือกิเลสน้อยใหญ่ต่างๆ ที่แวดล้อมออกไปได้ คำต่อไป มีเรียกว่า อัพพุฬเหสิโก อัพพุฬหะเหสิโก เป็น อัพพุฬเหสิโก (0.32.27) แปลว่า ถอนเสาระเนียดได้แล้ว เสาระเนียดคือหลักใหญ่ๆ ที่ปักลงไปเป็นเครื่องยึดมั่นรอบสิ่งใด เหมือนกับครอบจับช้าง ล้วนแต่ประกอบขึ้นด้วยเสาระเนียดคือเสาใหญ่ๆ เสาระเนียดในที่นี้ได้แก่ ตัณหา ซึ่งมันฝังมันดูดดื่มลงไปในอารมณ์ใดใด รุนแรงเหมือนขนาดเป็นเสาระเนียด ถอนเสาระเนียดคือตัณหาได้หมด ก็ไม่มีอะไรที่จะผูกพันจิตใจให้ติดอยู่ในสิ่งใด ก็เป็นจิตอิสระ คำต่อไปเรียกว่า นิรักขะโล ถอนลิ่มสลักแล้ว ถอนลิ่มสลัก ลูกสลักต่างๆ ได้หมด ลิ่มสลักในที่นี้ท่านระบุไว้ว่า ได้แก่ โอรัมภาคิยสังโยชน์ ในสังโยชน์สิบประการ ห้าประการแรกเรียกว่า สังโยชน์เบื้องต่ำ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ ที่จริงตามหลักทั่วไปท่านก็ถอนได้ทั้งสิบ คือทั้งหมด เดี๋ยวนี้ยกมากล่าวเฉพาะที่มันเป็นเบื้องต้น ที่มันเป็นเรื่องของปุถุชนที่มีสังโยชน์เบื้องต่ำห้าปะการเหล่านี้ ถ้าท่านถอนได้ถึงห้าประการเหล่านี้แล้วมันแน่นอนว่าจะถอนได้หมด เป็นผู้หมดตัณหา เป็นผู้หมดโอรัมภาคิยสังโยชน์ แล้วมันก็แน่นอนที่จะบรรลุพระอรหันต์ เป็นพระอนาคามีแล้วก็เป็นพะอรหันต์ คำต่อไป โอปันนะถะโช (35.19) แปลว่า ลดธงลงได้แล้ว ธงในที่นี้คือ มานะทิฐิ มานะ สำคัญตนว่าเป็นตน สำคัญตนว่าดีกว่า สำคัญตนว่าเสมอกัน สำคัญตนว่าเลวกว่า ความสำคัญใดใดทุกอย่างนี่เรียกว่ามานะ เปรียบเหมือนกับธงที่ยกขึ้น ยกขึ้นประกาศตน มีอำนาจมีอะไรก็ตาม เขาเรียกว่ายกธงขึ้นมา ปุถุชนคนธรรมดายกธงทั้งนั้นแหละ มีอะไรดีสักนิดหนึ่งก็อวด ระวังให้ดีมันจะมีการอวดแม้ในการประพฤติธรรมะ ในการประพฤติพรหมจรรย์ พอได้ทำอะไรเข้าสักหน่อยก็เที่ยวอวดคน รักษาศีลก็อวดคน ทำสมาธิก็อวดคน นี่เรียกว่า ยกธง ยกธง พระอรหันต์ท่านลดธง ไม่ยกธงไม่ชักธง คือมานะทั้งหลายได้หมดสิ้นแล้ว พิจารณาดูให้ดีก็พอจะเข้าใจได้ว่า ต่างจากปุถุชนอย่างไร ต่างจากปุถุชนอย่างไร ทีนี้ก็มีคำที่ประพันธ์เอาไว้เป็นคำกลอน เคยเอามาแสดงบ้างแล้วแต่ยังอยากจะแสดงอีกเพราะว่ามันไพเราะดี ลักษณะหรือคุณสมบัติของพระอรหันต์ที่ใช้แทนกันได้ไม่ว่าคำไหนหมายถึงพระอรหันต์ทั้งนั้น คำแรกว่า สุขิโน วต อรหนฺโต (สุขิโน วะตาระหันโต) พระอรหันต์ท่านมีความสุขแบบนิรามิสสุข แต่ท่านก็มิได้พอใจหลงใหลในความสุข แต่เพราะเหตุที่มันไม่มีความทุกข์มันมีแต่ความสงบ มีความสะอาด มีความสว่าง ซึ่งทำให้จิตรู้สึกเป็นความสุข จิตต่างหากรู้สึกเป็นสุขไม่ใช่พระอรหันต์รู้สึกเป็นสุข แต่เดี๋ยวนี้มันพูดอย่างภาษาคน ภาษาสมมุติ จึงได้พูดว่าพระอรหันต์ทั้งหลายท่านมีความสุขหนอ สุขิโน วต อรหนฺโต (สุขิโน วะตาระหันโต) พระอรหันต์ทั้งหลายท่านมีความสุขหนอ ตณฺหา เตสํ น วิชฺชติ (ตัณหา เตสัง นะ วิชชะติ) ตัณหาของท่านเหล่านั้นไม่มี ตัณหาของพระอรหันต์เหล่านั้นไม่มี ตณฺหา เตสํ น วิชฺชติ (ตัณหา เตสัง นะ วิชชะติ) เพราะตัดตัณหาได้แล้ว
อสฺมิมาโน สมุจฺฉินฺโน (อัสสะมิมาโน สมุจชิโน) ถอนอัสมิมานะได้แล้ว อัสมิมานะคือความสำคัญมั่นหมายว่า เรามีเราเป็นเราอยู่ ซึ่งเป็นความรู้สึกธรรมดาสามัญของปุถุชนเต็มขั้น ปุถุชนเต็มที่ ในความรู้สึกว่าตัวกูมีอยู่นี่มันมีอยู่ อย่างนี้เรียกว่า อัสมิมานะ อัสมิมานะนี่พระอระหันต์ท่านถอนขึ้นหมดแล้ว ในบทอื่นที่กล่าวไว้ที่อื่นก็ว่า อัสมิมานัสสะ วินะโย เอตัง เว ปะระมัง สุขัง การถอนอัสมิมานะเสียได้นั้นเป็นสุขอย่างยิ่ง นี่พูดภาษาคนภาษาสมมติสัตว์ มีคนและมีความสุข
โมหชาลํ ปทาลิตํ (โมหะชาลังปะทาลิตัง) ข่ายคือ โมหะ ท่านทำลายได้หมดสิ้นแล้ว นี่หมายความว่าปุถุชนคนธรรมดานั้นติดอยู่ในข่าย เหมือนปลาติดอยู่ในแหในอวน หรือว่านกมันติดอยู่ในข่าย ตาข่าย นี่เป็นธรรมดาของปุถุชน ติดอยู่ในอารมณ์ ติดอยู่ในผัสสะ ติดอยู่ในเวทนา พระอรหันต์ท่านทำลายข่าย ข่ายที่รวบรัดอยู่นั้นน่ะ ได้หมดสิ้น ถ้าจะสมมติเป็นภาพพจน์เป็นอุปมาเอาเองก็ว่าเหมือนปลาสักตัวหนึ่งติดอยู่ในอวน แต่ปลาตัวนั้นเป็นปลาพิเศษกว่าปลาทั้งหลาย มันกัดอวนขาดหมดกระจุยกระจายมันออกมาได้ นี่เรียกว่าโมหชาลัง ปทาลิตัง ทำลายข่ายคือโมหะได้หมดสิ้น
อเนชนฺเต อนุปฺปตฺตา (อเนชัน เต อนุปัตตา) ถึงแล้วซึ่งความไม่หวั่นไหว ปุถุชนคนธรรมดายังหวั่นไหวในเองนั้นเรื่องนี้สารพัดเรื่อง ล้วนแต่หวั่นไหวไปด้วยความรักความโกรธความเกลียดความกลัว เพราะว่าปุถุชนมีตัวตนยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ก็กลัวสิ่งที่จะมาทำอันตรายตัวตนไปเสียทุกอย่าง ทั้งหลับและทั้งตื่นด้วยซ้ำไป หลับแล้วมันก็ยังฝันในเรื่องของอันตรายตัวอันตราย นี้เรียกว่าความหวั่นไหว พระอรหันต์ท่านถึงแล้วซึ่งความไม่หวั่นไหวว่า อะเนชัง ถึงแล้วซึ่งความไม่หวั่นไหว เป็นผู้ไม่หวั่นไหว
จิตฺตํ เตสํ อนาวิลํ (จิตตัง เตสัง อนาวิลัง) จิตของท่านเหล่านั้นไม่ขุ่นมัว จิตของปุถุชนคนธรรมดายังจะต้องขุ่นมัวไม่มากบ้างน้อยบ้างตามเรื่อง เพราะมีอวิชชาเข้าไปกวนเข้าไปปรุงแต่ง ก็มีความขุ่นมัว เหมือนกับน้ำที่มันมีตะกอน ขุ่นข้นอยู่ด้วยตะกอน ถ้ามันไม่มีตะกอนน้ำนั้นมันก็ไม่อาจจะขุ่นข้นได้อีกต่อไป
โลเก อนุปลิตฺตา เต (โลเก อนุปลิตตา เต) ท่านเหล่านั้นไม่ข้องติดอยู่ในโลก คำนี้หมายถึงติดของเหนียว ติดตัง เหมือนกับว่ายางเหนียวสำหรับดักนก นกมาจับเข้ามันก็ติดตังเหนียว ในโลกนี้เต็มไปด้วยตังเหนียว ปุถุชนก็ติดอยู่ในตังเหนียว พระอรหันต์ท่านหลุดออกมาได้ เรื่องปุถุชนติดอยู่ในตังเหนียวนี่ มีอุปมาอยู่ในที่บางแห่งใน ในบาลี ว่าลิงตัวหนึ่งมันเที่ยวไปในที่ที่นายพรานเขาเอายางเหนียวตังเหนียวไปวางดักไว้ ลิงตัวนั้นมันโง่ มันเห็นตังเหนียวมันไม่รู้ว่าอะไร มันก็ลองเอามือไปจับดู มือมันก็ติด ติดดึงออกไม่ได้ ลิงก็เอามืออีกข้างหนึ่งมาช่วยปลด ช่วยปลดมือที่ติดตังเหนียว มันก็ติดเข้าไปอีกข้างหนึ่ง ที่นี่มันเอาตีนมาถีบกดตังเหนียว ตีนมันก็ติดไปอีกข้างหนึ่งอีกสองข้าง ในที่สุดมันก็เอาปากกัด ปากมันก็เลยติดตังเหนียว แล้วก็ติดครบทั้งห้าไม่มีทางดิ้น นี่ปุถุชนเราคิดดูเถอะว่ามันมีอาการมีลักษณะเหมือนกับติดตังเหนียวอยู่ทั้งห้า ทั้งมือทั้งตีนทั้งปากติดอยู่ในตังเหนียว ซึ่งเป็นของละเอียดละเอียดมองเห็นยากเพราะมันเป็นเรื่องทางนามธรรม ไม่เหมือนตังเหนียวที่เขาดักนกดักลิง นั้นมันเป็นเรื่องวัตถุธรรมเขาเห็นได้ง่าย แต่นี่พระอรหันต์ท่านไม่ติดอยู่ในโลกซึ่งเต็มไปด้วยตังเหนียว โลกนี้เต็มไปด้วยตังเหนียว นับไม่หวาดไหวว่ามีกี่ร้อยอย่างพันอย่าง ล้วนแต่เป็นตังเหนียว พระอรหันต์ท่านหลุดออกไปได้ หลุดพ้นออกไปได้ ไม่ติดอยู่ในตังเหนียว คือไม่ติดอยู่ในเหยื่อใดใดของโลกนั้นเอง
พฺรหฺมภูตา อนาสวา (พรัมมะภูตา อนาสะวา) จึงเป็นผู้ประเสริฐสิ้นอาสวะ ไม่มีอาสวะ พรัมมะภูตา เป็นผู้ประเสริฐ อนาสะวา ไม่มีอาสวะใดใดซึ่งเป็นกิเลส ที่จะไหลกลับออกมา
นี่เรื่องของพระอรหันต์ แต่ละบทแต่ละข้อมีความหมายมาก ขอให้เอาไปคิดนึกดูตามเวลาสมควรแก่เวลาที่จะคิดนึกข้อไหนก็ได้ กล่าวทวนอีกครั้งหนึ่งว่า ท่านถอนลิ้มสลักอวิชชาเสียได้ ทำลายสิ่งที่แวดล้อมกระจัดกระจายหมด ถอนเสาระเนียดคือหลักที่ปักล่ามนั้นน่ะเสียได้ ถอน เอ่อ, ลดธง ลดธง ลดธง ลงเสียได้ ไม่ชักธง คือไม่โอ้อวด แล้วก็เป็นผู้มีความสุข ตัณหาของท่านไม่มี ถอนอัสมิมานะเสียได้ ทำลายข่ายคือโมหะเสียได้ ถึงแล้วซึ่งความไม่หวั่นไหว จิตของท่านไม่ขุ่นมัว ไม่ติดอยู่ในตังเหนียวในโลก จึงเป็นผู้ประเสริฐ เป็นสัตว์ประเสริฐ ไม่มีอาสวะ เพียงเท่านี้มันก็เหลือที่จะบูชาแล้ว ใคร่ครวญดู
เอ้าทีนี้ก็จะพูดถึงเรื่องที่ยังเกี่ยวข้องกันไป พูดถึงความรู้สึก พระอรหันต์ไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวตนหรือไม่มีตัวตน นี่คงจะแปลกคงจะฟังยาก เราก็สอนกันว่าไม่มีตัวตนไม่ใช่ตัวตน เห็นความไม่ใช่ตัวตน นี่คงเป็นเรื่องของนักเรียนเป็นเรื่องของปุถุชนที่จะเรียนไปตามลำดับ เห็นว่าไม่มีตัวตน แต่พระอรหันต์เลยขึ้นไปอีก ไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวตนหรือไม่มีตัวตน ท่านหมดความรู้สึกเสียทั้งสองอย่าง คือว่าทั้งบวกและทั้งลบ ทั้งเกี่ยวกับตัวตน หรือจะขยายความให้ชัดออกไปว่า ท่านไม่มีความรู้สึก คือไม่รู้สึกว่ามีหรือไม่มีผู้ที่ดีกว่าตน หรือเสมอกันหรือเลวกว่า ท่านไม่มีความรู้สึกว่ามีผู้ที่ดีกว่าตน หรือไม่มีผู้ที่ดีกว่าตน ข้อนี้มันอยู่ที่ว่าท่านไม่มีตนสำหรับจะไปเปรียบเทียบ ดังนั้นจิตนั้นจึงไม่รู้สึกว่ามีหรือไม่มีผู้ที่ดีกว่าตน ไม่รู้สึกว่ามีหรือไม่มีผู้ที่เสมอกันกับตน ไม่มีความรู้สึกว่ามีหรือไม่มีผู้ที่เลวกว่าตน มันยกหมดไปทั้งชุดทั้งกะบิเลย เพราะว่ามันไม่มีตัวตน นี่ เราอาจจะเข้าใจกันเอาเองว่า ท่านต้องมีความรู้สึกว่าไม่มีตัวตน หรือไม่มีใครที่ดีกว่าเลวกว่าอะไรทั้งนั้นแหละ เพราว่าไม่มีตัวตนเสียอย่างเดียวเท่านั้นแหละ ว่าง แล้วก็ทำให้รู้สึกว่า ว่างนั้น มันก็คือไม่ทั้งมีและไม่ทั้งไม่มี ไม่รู้สึกว่ามี และไม่รู้สึกว่าไม่มี นี่ต้องระวังให้ดีดี แล้วคำพูดนั่นมันกำกวมได้ ที่เราใช้พูดจากันอยู่ในหมู่ปุถุชนเรามันก็อย่างหนึ่ง แต่ถ้าพูดอย่างพระอริยะเจ้า สำนวนธรรมะล้วนๆ ฝ่ายโลกุตระแล้ว มันถอนเสียหมด ทั้งฝ่ายมีและฝ่ายไม่มี มีหลักธรรมหมวดอื่นที่แสดงไว้เป็นหลักว่า คนที่ไม่รู้นั่น บางคนก็ถือว่าสิ่งทั้งปวงมี บางคนก็ถือว่าสิ่งทั้งปวงไม่มี นี่ล้วนแต่เป็นคนที่ไม่รู้ ส่วนคนรู้นั้นหุบปากหุบปากเลยไม่พูดว่ามีหรือไม่พูดว่าไม่มี มันเป็นการยึดมั่นถือมั่นสุดโต่งไปกันคนละทาง พวกหนึ่งสุดโต่งไปในทางมี ก็เรียกว่ายึดมั่นถือมั่น พวกหนึ่งสุดโต่งไปในทางไม่มีไม่มีอะไรเลย ก็เรียกว่ามันก็ยึดมั่นถือมั่น แต่พระอรหันต์ท่านมีความรู้สึกอย่างถูกต้องในสิ่งทั้งปวง จนรู้สึกว่าไม่ควรจะพูดว่ามีหรือไม่มี นี่ระวังให้ดี เรามักจะยึดถือในด้านที่มีในทางที่มี แม้ที่เป็นสัมมาทิฐิ สัมมาทิฐิอย่างโลกียะ เป็นสาสวะ มีผลแก่ขันธ์ที่ยังยึดถือว่าตัวตนนี่ นี่จะยึดถืออย่างมั่นคงหมายมั่นว่ามี มีบุญมีบาปมีนรกมีสวรรค์มีอะไรก็ตามมันมีไปตามที่บัญญัติในขั้นต่ำ ถ้าบรรลุถึงคุณธรรมสูงสุดเป็นพระอรหันต์แล้วจะไม่พูดว่ามี จะไม่พูดว่าไม่มี มีแต่การเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัยไปตามกฎของอิทัปปัจจยตา ซึ่งมองดูก็เห็นได้ว่าจะพูดว่ามีก็ไม่ได้ เพราะมันกำลังเปลี่ยนไปตามกฎอิทัปปัจยตา จะพูดว่าไม่มีก็ไม่ได้เพราะมันยังมีการเปลี่ยนไปตามกฎอิทัปปัจยตา ทางที่ดีที่สุดก็คือหุบปากเสีย ไม่ยึดถือว่ามี ไม่ยึดถือว่าไม่มี นั้นแหละคือความหลุดพ้นที่แท้จริง ในข้อนี้ยังเข้าใจ อาจจะยังเข้าใจไขว้เขวกันอยู่บ้าง เพราะมันจะยึดถือทางใดทางหนึ่งและส่วนใหญ่ก็ยึดถือว่ามี ยึดถือว่ามี อะไรอะไรก็มี เพราะความยึดถือเห็นสิ่งทั้งปวงเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ หรือควรจะยึดถือ จึงยึดถือไปหมด ตั้งแต่เงินทองข้าวของ ทรัพย์สมบัติอะไรก็ตามก็ยึดถือ แล้วก็วาง วาง เลื่อนขึ้นไป ไปยึดถือไอ้ธรรมะ ศีล สมาธิ ปัญญา และในครั้งสุดท้ายก็ยังจะยึดถือนิพพาน ยังถือนิพพานว่ามีอยู่เป็นของตน เรื่องความยึดถือนี่ละเอียดมาก ละเอียดมากขอให้ศึกษาให้ดีดี สังเกตให้ดีดี แล้วก็พูดกันเสียให้ถูกต้อง มันไม่ควรพูดว่ามี มันไม่ควรพูดว่าไม่มี ควรพูดแต่เพียงว่ามันมีแต่กระแสอิทัปปัจจยตา ที่ปรุงแต่งกันไป ไหลเวียนกันไป จะเอาเป็นตัวตนที่ตรงไหนก็ไม่ได้ แต่จะพูดว่าไม่มีอะไรเสียเลยก็ไม่ได้เพราะมันยังมีอาการแห่งอิทัปปัจยตา ทีนี้ถ้าเป็นพุทธบริษัทก็รู้เรื่องนี้และพูดจาให้ถูกต้อง อย่าไปยืนยันเป็นว่ามีเป็นว่าไม่มี ซึ่งมันแสดงว่ายังไม่มีความเห็นแจ้ง ถึงที่สุดยังไม่รู้จักสิ่งต่างๆถึงที่สุด ยังไม่รู้จักเบญจขันธ์ถึงที่สุด ไม่รู้จักอายตนิกธรรมถึงที่สุด มันก็พูดไปตามความรู้สึกบางอย่างก็ว่ามีบางอย่างก็ว่าไม่มี มันจะต้องพูดอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอในสองคำนี้คือว่ามีหรือไม่มี แต่ถ้าพูดอย่างความรู้สึกของพระอรหันต์ท่านก็ไม่พูดว่ามีหรือไม่มี เพราะเห็นอยู่ว่าไอ้ที่มันมีก็เพียงแต่ความเปลี่ยนแปลงตามกฎของอิทัปปัจจยตา ว่างจากตัวตน และเมื่อไม่มีการยึดถือในสิ่งใดว่าเป็นตัวตนก็ไปเรียกเสียอีกอย่างหนึ่งว่าว่างจากตัวตน ว่างจากตัวตน นั่นแหละถูกต้อง ถูกต้องกว่าที่จะไปพูดว่ามีหรือไม่มี ในโลกนี้สิ่งทั้งปวงมีก็ไม่ถูก สิ่งทั้งปวงไม่มีก็ไม่ถูก ในชั้นสูงน่ะ ในชั้นธรรมะชั้นสูง พูดได้แต่ว่ามีแต่กระแสแห่งอิทัปปัจจยตา ส่วนตัวตนนั้นพูดว่ามีก็ไม่ถูก พูดว่าไม่มีก็ไม่ถูก แต่ว่าในการศึกษาเล่าเรียนในขั้นต้นๆ นี่เราก็จะสอนกันไปในทางว่าไม่มี ที่จริงควรจะพูดเสียให้ถูกนะ คำว่าอนัตตา อนัตตา น่ะ ซึ่งพูดกันอยู่ได้ ด้วยกันทุกคนนั้น พูดเสียให้ถูกคือแปลเสียให้ถูก อนัตตาว่าไม่ใช่ตน ถ้าแปลว่าไม่มีตนมันผิดอยู่ มันไปพูดว่ามีหรือไปบัญญัติหมายมั่นเป็นมี มันแปลคำว่าอนัตตาว่ามันไม่ใช่ตน อนัตตาไม่ใช่ตน อย่าไปแปลว่าไม่มีตัวตน ซึ่งมันเป็นการผิดจากความจริงและผิดจากความหมายของคำคำนี้ อนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังเป็นทุกข์ อนัตตาไม่ใช่ตนนี้ถูก เป็นอันว่าพะอรหันต์ท่านไม่ติดอยู่ในบัญญัติอย่างที่คนธรรมดาสามัญเขาบัญญัติ โดยสมมติสัจจะ ท่านมีปรมัตถสัจจะ ไม่มีสมมติสัจจะเหมือนอย่างชาวโลกทั่วๆ ไป ชาวโลกมีความรู้สึกอย่างไร ตรงๆกันก็พูดอย่างนั้น ตรงๆกันก็ไม่มีใครค้าน ก็กลายเป็นภาษาของชาวโลกขึ้นมา เช่นชาวโลกจะรู้สึกว่าดีว่าชั่ว แม้คำสั่งสอนในทางศาสนา ถ้าสั่งสอนในระดับต่ำก็สอนว่าดีหรือว่าชั่ว แล้วก็เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ดีก็ยึดถือไปตามดี ชั่วก็ยึดถือไปตามชั่ว แต่ถ้ามันไม่ชั่วหรือไม่ดี มันก็ไม่มีที่จะยึดถือ มันไม่มีทางที่จะยึดถือ นี่โดยปรมัตถสัจจะมันไม่มีดี มันไม่มีชั่ว มีแต่กระแสแห่งอิทัปปัจจยตา ไอ้คำพูดที่รุนแรงที่สุดที่เคยได้ยินก็คำพูดว่า ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์นี่ ข้อนี้เคยบอกมาบ้างแล้ว เคยกล่าวมาให้ได้ยินมาบ้างแล้วก็ยังจะเตือนให้ระลึกนึกไว้เป็นหลัก เมื่อจะมายึดถืออะไรแล้ว มันก็ต้องมองเห็นว่า ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ ไปยึดถือเข้าไม่ได้ ไปยึดถือความดี ความดีมันก็กัดเอาแบบหนึ่ง ไปยึดถือความชั่ว ความชั่วมันก็กัดเอาอีกแบบหนึ่ง เพราะไปยึดถือไปหมายมั่น ให้เป็นของเป็นคู่ๆขึ้นมา ถ้าพูดโดยสมมติสัจจะ มันก็มีดีมีชั่วมีเป็นคู่ๆ ตามที่ประชาชนชาวโลกเขารู้กันอยู่ มีได้มีเสีย มีแพ้มีชนะ มีหญิงมีชาย มีกำไรมีขาดทุน มีเป็นคู่คู่ คู่คู่อย่างนี้ ในโลกนี้เขาเรียกว่า สมมติสัจจะคือมันจริง เท่าที่ผู้ไม่รู้มันรู้ มันไม่ได้จริงเด็ดขาดถึงที่สุด จำคำว่าดีว่าชั่วนี้เป็นหลัก ดีก็เป็นสังขาร ชั่วก็เป็นสังขาร ทั้งดีทั้งชั่วก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่พูดอย่างนี้มันรู้สึกว่าเป็นอันตราย ถ้าเด็กๆหรือคนเขลามันฟังไม่เข้าใจ แล้วมันก็จะทำชั่ว ถ้ามันถูกใจมันมันก็ไม่ทำดี หรือมันเข้าใจผิดไปว่าเขาสอนไม่ให้ทำดีแล้ว ให้ทำชั่วก็ได้ อาจจะต้องรู้จักกาลเทศะสำหรับจะพูดโดยเฉพาะ จะสอนเด็กๆ นี่ยังต้องสอนเรื่องว่ามีชั่วมีดี ให้เว้นชั่วให้ทำดี ในบทโอวาทปาติโมกข์ก็ว่าไม่ทำบาปทั้งปวงทำกุศลให้ถึงพร้อม มันก็เท่ากับไม่ทำชั่วแล้วก็ทำดี นี่เป็นบทบัญญัติ บัญญัติในสมมติภาษาคน มีชั่วมีดี ที่มันเป็นตัวอย่างง่ายๆ สักอันหนึ่งเพื่อความเข้าใจง่าย เดี๋ยวนี้ก็กำลังมีการโฆษณาอย่างใหญ่หลวง ว่าให้กินผักอย่ากินเนื้อ เรียกว่าลัทธิมังสวิรัติ ไม่กินเนื้อแล้วก็กินผัก นี่เพราะเขาไปยึดถือหมายมั่นว่ามีเนื้อและมีผัก ถ้าพูดว่ามีเนื้อและมีผักมันก็จริงอย่างสมมติ สมมติให้เป็นเนื้อ สมมติให้เป็นผัก มันก็จริงอย่างสมมตินั่นแหละ มันไม่จริงอะไรไปกว่านั้นได้ แต่ถ้าโดยปรมัตถสัจจะแล้ว มันไม่มีผักมันไม่มีเนื้อ มันมีแต่ธาตุตามธรรมชาติ คำนี้ช่วยจำไว้ด้วย มันไม่มีเป็นคู่ตรงกันข้ามขนาดนั้น มันมีแต่เป็นธาตุตามธรรมชาติ นี่จึงไม่มีความรู้สึกว่ากินเนื้อหรือกินผัก รู้สึกแต่เพียงว่าจะต้องกินอาหารที่ถูกต้องที่ไม่ให้โทษที่มีปะโยชน์ แต่ไม่บัญญัติว่าเนื้อหรือผัก ไอ้เนื้อก็ตามผักก็ตามถ้ากินถูกต้องมันก็ไม่มีโทษอะไร ถ้ากินผิดแล้วมันก็ให้โทษกันทั้งเนื้อและทั้งผักแหละ นี่สมมติสัจจะมันก็มีเนื้อมีผัก เป็นคู่เปรียบกัน ปรมัตถสัจจะมันก็ไม่มีเนื้อไม่มีผัก มันมีแต่ธาตุตามธรรมชาติ เดี๋ยวนี้เขากำลังโฆษณากันเรื่องสมาคมกินผักไม่กินเนื้อนี่ เป็นสมาคมใหญ่โตในโลกที่มีสาขาทั่วโลก เราก็รู้ไว้เสียว่านั่นมันเป็นเรื่องที่จริงอย่างสมมติ ถ้าจริงอย่างปรมัตถ์แล้ว มันไม่ต้องมีเนื้อมีผัก มันมีแต่ธาตุตามธรรมชาติ ธาตุใดไม่ให้โทษกินแล้วเป็นประโยชน์ก็กินก็แล้วไป ธาตุใดมันให้โทษมันก็กินไม่ได้หรือไม่ควรจะกิน นี่ความหมายมั่นสุดโต่งหรือสุดเหวี่ยงอย่างนี้ มันเป็นเรื่องของปุถุชน ถ้าเป็นเรื่องของพระอรหันต์ท่านก็ไปอีกทางหนึ่ง จนถึงกับว่ามันไม่มีไอ้คู่ที่ตรงกันข้าม มันมีแต่กระแสแห่งอิทัปปัตจยตา มีแต่สิ่งที่ไหลไปตามกระแสแห่งอิทัปปัตจยตา ไม่มีการแยกเป็นคู่เปรียบเทียบกันเป็นคู่ว่าดีว่าชั่ว ว่าได้ว่าเสีย ว่าสุขว่าทุกข์ ว่าบุญว่าบาป ว่านรกว่าสวรรค์อะไรก็ตาม มันจะไม่แยก ให้จิตหลุดพ้นจากความหมายเหล่านี้ ถอนความยึดถือในสิ่งทั้งปวงเสียได้ แล้วจึงจะเป็นพระอรหันต์ ถ้ายังมีได้มีเสีย มีดีมีชั่ว มีบุญมีบาป มีสุขมีทุกข์ มีนรกมีสวรรค์อะไรอยู่ เป็นพระอรหันต์ไม่ได้ ความรู้สึกนั้นมันยังต่ำหรือมันยังเป็นเรื่องของคนไม่รู้ หรือเป็นเรื่องของคนที่รู้อย่างสมมติโดยสมมติสัจจะ คือมันยังเกี่ยวเนื่องกันอยู่กับตัวตน มันต้องมีตัวตนมีความหมายแห่งตัวตนนั้นมันจึงจะมีความหมายว่าดีว่าชั่ว ว่าบุญว่าบาป ว่าสุขว่าทุกข์ ว่าได้ว่าเสีย ว่าแพ้ว่าชนะ ว่ากำไรว่าขาดทุนอะไรก็ตาม กี่คู่กี่คู่นี่มันเนื่องอยู่กับความรู้สึกว่ามีตัวตน ซึ่งจะเป็นอย่างนั้นซึ่งจะเป็นอย่างนี้ ถ้าจิตใจมันหลุดพ้นจากความยึดถือเหล่านี้ทั้งหมดแล้ว มันไม่มีไอ้ที่เป็นคู่ๆเหล่านั้น นี่เรียกว่าหลุดพ้น หลุดพ้นนี่มันจะสบายสักเท่าไหร่ก็ขอให้ลองคิดดู ทีนี้เราพูดกันถึงเรื่องของพระอรหันต์ก็ต้องพูดกันให้หมด แต่ถ้าพูดตามธรรมดาแล้ว เหล่านี้ไม่ควรจะพูดก็ได้ จะพูดกับเด็กๆ ก็ไม่ควรจะพูดเดี๋ยวก็จะเข้าใจผิด หรือพูดกับคนโง่ก็ไม่ควรจะพูด เพราะพูดแล้วมันจะเข้าใจผิด เดี๋ยวนี้เรามาถือระดับว่าเราไม่ได้โง่ เราไม่ใช่คนโง่ เราก็ควรจะรู้ความจริงอย่างของคนที่ไม่โง่คือคนฉลาด ความจริงประเภทนี้เป็นความจริงชั้นปรมัตถ์ ถ้าเป็นความจริงของชาวบ้านธรรมดาก็เรียกว่าเป็นความจริงสมมติ หรือสมมติสัจจะ ในคำสองคำนี้ก็มีความหมายมีความสำคัญที่จะต้องรู้ไว้ว่า มีสมมติสัจจะ มีปรมัตถสัจจะ ถ้าถืออย่างสมมติสัจจะมันก็มีนั่นมีนี่เป็นคู่ตรงกันข้าม แล้วก็ยินดีข้างหนึ่งยินร้ายข้างหนึ่งเสมอไป นี่มันไม่ ไม่หลุดพ้น แต่ถ้าเข้าถึงปรมัตถสัจจะแล้วมันเป็นธาตุตามธรรมชาติเสมอกันหมดถ้าเป็นสิ่งของ ถ้าเป็นกิริยาอาการ มันก็เป็นการไหลไปตามกระแสแห่งอิทัปปัจจยตาเหมือนกันหมดนี่ ทั้งดีทั้งชั่วก็ไหลไปตามกระแสอิทัปปัจจยตา ทั้งสุขทั้งทุกข์ ทั้งบุญทั้งบาป ก็ล้วนแต่ไหลไปตามกระแสแห่งอิทัปปัจจยตา มันจึงไม่หลุดพ้น คือมันไม่เป็นอิสระ ฉะนั้นกว่าจะถอนไอ้ความยึดถือเหล่านี้เสียได้น่ะยังอีกไกล ยังอีกนานเท่าไหร่ ลองคำนวณดูเอง คำนวณดูตนเอง คำนวณดูความรู้สึกของตนเองว่า กว่าจะถอนความรู้สึกว่าดีว่าชั่วเป็นต้นเสียได้นี้ จะยังอีกนานสักเท่าไหร่ จะถอนได้ทันตาเห็นไหม? จะมีนิพพานในปัจจุบันกาลไหม? ถ้ามันถอนสิ่งเหล่านี้ไม่ได้แล้วมันไม่มีนิพพานในปัจจุบันกาลหรอก จะต้องรู้ว่า มีสังขารมีวิสังขาร มีสิ่งปรุงแต่งมีสิ่งที่ไม่ปรุงแต่ง มีสิ่งที่ยึดถือมีสิ่งที่ไม่ยึดถือ ก็หมุนไปในทางที่ไม่ปรุงแต่งไม่ยึดถือ นั่นแหละจะเป็นความจริง จะเข้าถึงความจริงได้ง่ายเข้า ถ้าเราเป็นพุทธบริษัทมันก็ต้องถือตามหลัก ที่สวดท่องอยู่ทุกวันว่า เป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน ฉะนั้นสาวกของท่านก็เป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน นี่เราจะรู้กันหรือยัง? เราจะตื่นกันหรือยัง? เราจะเบิกบานกันหรือยัง? ถ้าเรายังไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดโดยความเป็นอย่างไร ก็ต้องตกเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้นไม่หลุดพ้นไม่เป็นอิสระเลย ความเป็นพุทธบริษัทมันตายด้านหรือมันติดตันไปยึดมั่นอยู่ที่ความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่หลุดพ้นออกไปได้จากความหมายซึ่งหลอกลวงเหล่านั้น ดังนั้นจึงต้องศึกษาเรื่องอิทัปปัจจยตาให้มากสักหน่อย ให้เห็นอิทัปปัจจยตา ให้เห็นว่าทุกอย่างไหลไปตามกระแสอิทัปปัจจยตา ไม่มีดีไม่มีชั่ว ถ้ามีดีมีชั่วเป็นเรื่องสมมติ เป็นเรื่องสมมติไว้พูดกันในหมู่คนที่ไม่อาจจะรู้ถึงความเหนือดีเหนือชั่ว ฉะนั้นในบ้านในเมืองในโลกนี้ยังจะต้องพูดเป็นดีเป็นชั่วกันต่อไป กันต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นในเรื่องโลก เรื่องของโลกมันก็ถือหลักเป็นสมมติสัจจะ คือ จริงอย่างสมมติ ถ้าเป็นเรื่องเหนือโลกพ้นโลกขึ้นไปมันก็ถือความจริงชนิดที่เป็นปรมัตถสัจจะ คือจริงแท้ จริงเด็ดขาด เมื่อเข้าถึงความจริงแท้จริงเด็ดขาดเหล่านี้แล้วจะไม่มีความทุกข์ใดใดเหลืออยู่เลย คือมันไม่มายึดมั่นในสิ่งใดใด ไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดใด จึงไม่อาจจะเกิดความทุกข์ขึ้นมาจากสิ่งใดใด นั่นแหละเรียกว่าหลุดพ้นโดยแท้จริง เดี๋ยวนี้มันมายึดมั่นในทางชั่วในทางดี มันต้องกระโดดโลดเต้นไปตามความหมายนั้น ถ้าดีมันก็อยากได้ใจเต้นระรัว และบางทีมันก็ไม่ใช่ดีจริง เช่นว่าเงินเดี๋ยวนี้มันก็ไม่ใช่ดีจริง แต่คนก็หลงใหลในเรื่องเงิน อยากได้เงินจนถึงกับโกงเงิน นี่คือความที่ยึดมั่นถือมั่นในเรื่องตัวตนที่มันยังมีอยู่มาก อาชญากรรมความผิดความบาปทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ มันก็มาจากความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนเป็นของตน ตนจะหามาบำรุงบำเรอตน แม้จะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แม้ไม่ถูกต้องตามธรรมวินัย มันก็จะเอาอยู่นั่นแหละ เพราะมันมีความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งมีกำลังมากเกินไป นี่คือคนธรรมดา แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็มีจิตใจอยู่เหนือนั้น เหนือโลก เหนือสมมติในโลก เหนือบัญญัติในโลก โดยจิตใจของท่าน ท่านจึงพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง แต่ทีนี้มันมาจำเป็นตรงที่การพูดจา ถ้าจะต้องมาพูดจากับชาวบ้านชาวโลกธรรมดาปุถุชนท่านก็ต้องพูดภาษาชาวบ้านนั่นเอง ภาษาปุถุชนนั่นเอง มันจึงจะฟังถูก ยกตัวอย่างเรื่องนิพพานน่ะ ถ้าพูดกับชาวบ้านทั่วๆไปก็ต้องพูดว่านิพพานเป็นสุขอย่างยิ่งแหละ ชาวบ้านเขาจะได้สนใจ ถ้าพูดว่านิพพานเหนือสุขเหนือทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ใครจะสนใจ เพราะชาวบ้านเขารู้แต่เรื่องสุข สุขเป็นของดีต้องการจะได้ความสุข ฉะนั้นจะเอาของที่สูงสุดประเสริฐเช่นนิพพานมาพูดมาเสนอ ก็ต้องพูดว่าป็นสุขที่สุดหรือดีที่สุดนั่นแหละ นี่พูดภาษาโลกว่านิพพานดีที่สุดนิพพานเป็นสุขที่สุด ถ้าจะพูดภาษาปรมัตถ์คือภาษาความจริงแล้วก็จะไม่พูดอย่างนั้น ก็พูดไปตามภาษาปรมัตถ์หรือสมมติอย่างปรมัตถ์ ว่ามันไม่สุขไม่ทุกข์ มันเหนือสุขเหนือทุกข์ เหนือดีเหนือชั่ว เหนือบุญเหนือบาป เหนือได้เหนือเสีย เหนือแพ้เหนือชนะ เหนือกำไรเหนือขาดทุน ไม่มีแต่อย่างเดียว ถ้าชาวบ้านฟังถูกก็ดี แต่นี่มันฟังไม่ถูก มันก็ต้องเลยผสมกับชาวบ้านพูดภาษาชาวบ้าน พูดอย่างมีตัวตน เช่นพูดว่านิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ก็พูดเพื่อให้เข้ากันกับจิตใจของบุคคลที่ยังยึดถือในความสุขอยู่ ถ้าพูดในสวรรค์มีความสุข คนก็อยากได้สวรรค์ แตกตื่นในสวรรค์ ทำบุญไปสวรรค์ เพราะคิดว่าจะมีความสุขอย่างที่ตนเคยรู้จักและสุขยิ่งๆขึ้นไป ทีนี้พระนิพพานมันไกลไปกว่านั้นอีก มันก็ยิ่งเป็นการสมมติ พูดตามสมมติของชาวบ้าน หนักขึ้นไปอีกว่านิพพานก็เป็นสุข ทั้งที่นิพพานนั้นมันไม่ปรากฏแก่ผู้ที่ยังมีตัวตน มันจะถึงได้ก็เฉพาะผู้ที่มีความรู้สึกไม่มีตัวตนไม่ใช่ตัวตน นี้พูดเรื่องพระอรหันต์ พูดขึ้นมาจนถึงเรื่องปรมัตถสัจจะ มันก็เป็นเรื่องสุดหรือสูงสุด แล้วก็สงสัยอยู่ว่าจะฟังถูกหรือไม่ถูก จะได้ประโยชน์หรือไม่ได้ประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังทั้งหลาย นี่ความรู้สึกอยู่ในใจ แต่ถ้าฟังถูกก็เป็นบุญเป็นกุศล เอาไหว้อีกแล้ว เอาบุญเอากุศลกันอีกแล้ว มันไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยง มันจะมาหาบุญมาหากุศลหนักขึ้นไปอีก นี่ไปไปมามามันก็ไม่พ้นจากสมมติสัจจะ มีดีมีชั่ว มีบุญมีบาป มีสุขมีทุกข์ พูดกันไปตามภาษาชาวบ้านแต่จิตใจอย่ายึดถือ แม้พระพุทธเจ้าก็ท่านพูดตรัสภาษาชาวบ้านนั่นแหละ แต่ท่านไม่ได้ยึดถือความหมายอย่างเดียวกับชาวบ้าน ประชาชนทั่วไปชาวโลกเขาพูดกันด้วยถ้อยคำอย่างไรความหมายอย่างไร ท่านก็พูดด้วยถ้อยคำอย่างนั้นมีความหมายอย่างนั้น แต่ท่านไม่ยึดถือในความหมายของมัน ไม่ได้ยึดถืออย่างเดียวกับที่ชาวบ้านยึดถือ ดีก็อย่างนั้นชั่วก็อย่างนี้ด้วยความรู้สึกซึ่งเป็นคู่คู่ตรงกันข้ามเสมอ ท่านเห็นเป็นสิ่งเสมอกันหมดในบรรดาสังขารทั้งหลาย จะเป็นบุญเป็นบาปหรือมิใช่บุญมิใช่บาป หรือไม่มีบุญไม่มีบาป อะไรอย่างนี้มันก็ภาษาชาวบ้าน ภาษาของพระอรหันต์จึงพูดไม่ได้ จึงใช้คำว่า จะพูดว่ามีก็ไม่ถูก จะพูดว่าไม่มีก็ไม่ถูก จะพูดว่าได้ก็ไม่ถูก ไม่ได้ก็ไม่ถูก ว่าดีก็ไม่ถูกว่าชั่วก็ไม่ถูก มันไม่ถูกทั้งนั้น มันมีแต่กระแสแห่งอิทัปปัจจยตา สำหรับสิ่งเหล่านี้ซึ่งเป็นสังขารเป็นสังขตธรรม ตกอยู่ใต้อำนาจของอิทัปปัจจยตา ขอให้เรารู้ ข้อเท็จจริงอันนี้กันไว้ ซึ่งจะทำให้รู้จักพระอรหันต์ได้ลึกยิ่งขึ้นไปอีก จะได้เข้าใจเรื่องของพระอรหันต์ได้โดยง่าย และมีโอกาสที่จะได้บรรลุพระอรหันต์กันบ้าง ถ้าพยายามศึกษาให้ถูกให้ตรง แล้วให้จริงให้เป็นคนจริง จริงต่อความจริง ปากพูดว่าถือธรรมะแต่ใจบูชาเงิน ทั้งเช้า ทั้งคืนทั้งวันข้าพเจ้าชอบธรรมะ แต่พอเช้าขึ้นมาก็หิวข้าว พอเย็นลงก็หิวข้าว ได้กินข้าวนั่นดีกว่าธรรมะ อย่าให้มันเป็นอย่างนี้ มันไม่ซื่อตรง แล้วก็ถือธรรมะเพราะเข้าใจรู้จักธรรมะว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐอย่างไร มันจึงจะพ้นออกไปจากอำนาจในโลก อำนาจของโลก อำนาจดึงดูดในโลก ที่ทำให้ติดอยู่ในโลก ซึ่งเต็มไปด้วยดีด้วยชั่วด้วยบุญด้วยบาปด้วยสุขด้วยทุกข์ เรื่องได้เรื่องเสีย เรื่องกำไรเรื่องขาดทุน เรื่องแพ้เรื่องชนะ โอ๊ย นับไม่หวาดไหว นี่เป็นเรื่องของคนที่เอาความรู้สึกของกิเลสหรือจิตใจที่มีกิเลสเป็นประมาณ เอาจิตใจที่มีอวิชชาเป็นประมาณแล้วมันก็ได้ผลอย่างนี้ นั่นแหละ คือนั่นแหละ คือไม่หลุดพ้น ไม่หลุดพ้นไปจากความหลอกลวงของสิ่งต่างๆ ในโลก มีคำเรียกตามแบบของชาวโลกมีความหมายตามแบบของชาวโลก นั่นแหละคือ ปุถุชน นั่นแหละคือปุถุชน ถ้ารู้ความจริงจนไม่หลงใหลไปตามสมมติบัญญัติเหล่านั้นแล้ว นั่นแหละจะเป็นพระอรหันต์ พ้นจากสมมติ พ้นจากบัญญัติ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นโดยประการทั้งปวง นี่พูดเรื่องพระอรหันต์ก็ต้องพูดอย่างนี้ มันอาจจะไม่น่าฟังหรือไม่ชวนฟัง หรือฟังไม่ถูกหรือบางทีก็เข้าใจผิดเพราะทำไปอย่างผิดเป็นอันตราย ก็นึกได้อีกอย่างถึงข้อที่ว่า อาจารย์ก่อนก่อนน่ะ เขาไม่ให้สอนเรื่องนี้ไม่ให้พูดเรื่องนี้ อย่าเอาเรื่องนี้มาพูดมาสอนชาวบ้าน แต่เขาก็ไม่ได้ให้เหตุผลว่าทำไมจึงไม่ควรเอามาสอน อาตมาค่อยสังเกตเห็นเองว่า โอ้ ถ้าเขาเข้าใจผิดแล้วมันฉิบหายหมดเลย ไอ้เรื่องไม่ชั่วไม่ดีไม่บุญไม่บาปไม่สุขไม่ทุกข์นี่ ถ้าเกิดเข้าใจผิดกันแล้วมันฉิบหายหมดเลย มันจะมีผลดีต่อเมื่อเข้าใจถูก ดังนั้นเราจะต้องพยายามทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เพราะมันหลีกไม่พ้น เพราะมันดักหน้าอยู่ นี่ การที่จะประพฤติปฏิบัติให้หลุดพ้นไปจากกองทุกข์ ให้หลุดพ้นไปจากโลกหรือบรรลุถึงนิพพานน่ะ มันดักอยู่ข้างหน้าซึ่งจะต้องไปให้ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องพยายามดิ้นรนขวนขวายศึกษากันให้เต็มที่ ให้เข้าใจให้ได้ แล้วให้หลุดออกไปได้จากโลกนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยสมมติ เต็มไปด้วยบัญญัติ เต็มไปด้วยวัตถุ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ เอาแล้วเป็นอันว่าวันนี้เราก็ได้พูดเรื่องพระอรหันต์กันอย่างเต็มที่ อย่างสุดเหวี่ยงที่จะพูดได้แล้ว ตั้งแต่ตอนเย็นมานั้นน่ะก็พูด ตอนค่ำก็พูด นี้ก็เป็นการพูดอีกเป็นครั้งสุดท้ายของมาฆบูชา วันมาฆบูชา เราจะไม่พูดเรื่องอะไรอื่น นอกจากจะพูดเรื่องที่เกี่ยวกับพระอรหันต์ซึ่งเป็นเจ้าของมาฆบูชา มาฆปุรณมี อย่างที่ได้ทราบกันอยู่แล้ว ที่ได้พูดแล้วในตอนเย็น มาวันนี้เป็นวันอุทิศเพื่อพระอรหันต์ เป็นที่ระลึกแก่พระอรหันต์ ชวนกันฉลองชัยชนะของพระอรหันต์ ซึ่งเอาชนะกิเลสและมารร้ายได้ เรื่องมันก็เรียกว่าสมบูรณ์แล้ว อาตมารู้สึกว่าสมบูรณ์แล้วสำหรับที่จะเอามาพูดกันให้ถึงที่สุด ก็ควรจะได้ยุติกันไว้สักที การบรรยายนี้การแสดงธรรมเทศนานี้ก็เป็นการสมควรแก่เวลา สมควรแก่เหตุการณ์ สมควรแก่หน้าที่ของพุทธบริษัทแล้ว อาตมาก็ไม่บกพร่องในหน้าที่ ผู้ฟังก็ไม่บกพร่องในหน้าที่ ต่างฝ่ายต่างไม่บกพร่องในหน้าที่ ก็ควรจะมีปีติปราโมทย์ มีธรรมปีติ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสมาธิ เมื่อมีธรรมปีติแล้ว จิตก็เป็นสมาธิสงบเยือกเย็นเอง หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะได้รับประโยชน์อันนี้ โดยสมควรแก่สติปัญญาของตนของตนด้วยกันทุกคน ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้