แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พูดเรื่องบวชกันมาพอสมควรแล้ว ทีนี้ก็จะพูดถึงเรื่องธรรมะกันต่อไป การบวชนั้นก็เพื่อเรียนธรรมะ เพื่อปฏิบัติธรรมะ เพื่อรับผลของธรรมะ แล้วก็เพื่อช่วยประกาศสอนธรรมะต่อๆ กันไปอีกด้วย เราจึงรู้ว่า มีหน้าที่ที่สมบูรณ์จริงๆ นั้น ๔ ขั้นตอน คือว่า เรียนธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ ได้รับผลของธรรมะ และยังมีแก่ใจสอนผู้อื่น เป็นการสืบธรรมะ ส่วนเรื่องวินัยนั้น เป็นส่วนประกอบ คือ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเป็นอยู่ ให้เป็นภิกษุที่ถูกต้องที่สะดวกแก่การที่จะเล่าเรียนธรรมะ ตามหน้าที่เหล่านั้น แล้วก็เพื่อเข้ากันได้เป็นหมู่เป็นคณะ สามัคคีปรองดองกันด้วยดี จึงมีคำคู่กันว่า ธรรมะกับวินัย ธรรมะมาก่อนคำว่าวินัย ก็เพราะมันเป็นตัวการ ตัววินัยนี้ก็เป็นตัวประกอบให้อยู่ได้ เพื่อเรียน เพื่อศึกษา เพื่อปฏิบัติธรรมะนั่นเอง พูดถึงวินัยกันสักหน่อย ในฐานะที่ว่าแฝดกันอยู่กับธรรมะ คือว่าวินัยจะช่วยให้เรามีการเป็นอยู่ที่ถูกต้อง เหมาะสม สำหรับจะปฏิบัติ จะศึกษาและปฏิบัติธรรมะ ศึกษาดูจากตัวพระวินัยนั่นเอง ก็จะเห็นได้ว่ามีอะไรบ้าง อยู่อย่างถูกต้อง อ้า, ตามแบบของภิกษุ มีวินัย ข้อใหญ่ที่สุดอย่างไร ข้อรองลงไปอย่างไร ข้อเล็กๆ น้อยๆ เป็นอย่างไร พิจารณาดูตามนั้นแล้ว ก็จะเห็นได้เองว่าช่วยให้เราอยู่ได้ เป็นภิกษุที่เหมาะสม ที่มีความเหมาะสม ที่จะเรียนจะปฏิบัติ จะได้รับผลของการปฏิบัติ และจะได้สั่งสอนสืบๆ ต่อๆ กันไป ทีนี้ อีกทางหนึ่งก็ว่าเมื่อมันหลายคนเข้า มาอยู่กันหลายคนเข้า มันก็ต้องมีระเบียบมีวินัยเพื่อจะอยู่กันได้ มิฉะนั้นแล้วก็จะทะเลาะวิวาทกัน แตกแยกกัน ทำลายหมู่ ทำลายคณะ เลยล้มละลายหมด ฉะนั้น วินัยที่เป็นส่วนตัวให้อยู่ถูกต้อง ส่วนตัวบุคคลนั้นก็มี วินัยที่จะให้อยู่กันเป็นผาสุกหรือเป็นสังคมเป็นหมู่สงฆ์ ให้เกิดเป็นหมู่สงฆ์ที่อยู่กันได้มากๆ ข้อนี้เป็นความจำเป็นเพราะว่า มันก็มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น ตามธรรมดามันมากขึ้น ก็จะต้องมีระเบียบวินัยสำหรับคนที่จำนวนมากจะอยู่กันอย่างไร จึงจะไม่กระทบกระทั่งกัน นั่นก็เป็นวินัยและยังมีผลไปถึงว่าจะสืบอายุ พระศาสนาได้ด้วย ถ้าภิกษุแต่ละรูปมีวินัย แล้วมันก็จะอยู่ ธรรมะหรือศาสนานั่นนะ ก็จะอยู่ยืนยาวเป็นพันปี พันปี เพราะว่าภิกษุมีความถูกต้องในการเป็นอยู่ส่วนตัว ในการเป็นอยู่เป็นหมู่เป็นคณะแล้วก็สามัคคีกันทำหน้าที่ของตน ของตน เพื่อให้พระศาสนายืนยาวไปตลอดกาลนาน และวินัยนั้นก็มีพิเศษอยู่บ้าง คือว่าให้รับผิดชอบตัวเอง ให้ลงโทษตัวเอง็นหมู่เป็นคณะแล้วก็สามัคคีกันใน ให้โจทก์ฟ้องตัวเอง ให้แสดงอาบัติเอง เรียกว่า ทรงบัญญัติพระวินัยไว้นี้ อ้า, สำหรับผู้ดี สำหรับสุภาพบุรุษ ไม่ใช่สำหรับผู้เลว ผู้คดโกง แต่ถึงอย่างนั้นก็อยู่มาได้เป็นพันๆ ปีดูสิ ให้ภิกษุรับผิดชอบตัวเอง เช่น ลงปาติโมกข์นี่ก็เพียงแต่อ่านสิกขาบทให้ฟัง ว่ามีอะไรบ้างและใครต้องสิกขาบทไหน ก็ต้องแสดงตัวเองนั้นนะออกมา นี่คือ เป็นระเบียบวินัยของผู้ดี ไม่ใช่ผู้อันธพาล ถ้าผู้อันธพาลมันก็ปกปิดเสีย หลบซ่อนเสีย ไม่แสดงตัวมันก็เป็นเน่าเฟะไปหมด ทีนี้วางไว้ในลักษณะเป็นของผู้ดี ซึ่งจะไม่ปกปิด อ้า, ความชั่วของตัวเอง ก็ทำเสียให้มันถูกต้อง ถ้าทำผิดพลาดไป ก็ทำเสียให้มันถูกต้อง ได้แก่ การแสดงอาบัติต่างๆ นั้นนะ ถ้าอาบัติปาราชิกก็แสดงเสีย ด้วยการสึกออกไปเสีย อาบัติสังฆาทิเสส ก็ทำตามระเบียบสังฆาทิเสส นอกนั้นก็ทำตามระเบียบปาจิตตีย์ทุกกฎไปตามเรื่อง แต่ล้วนแต่ว่าผู้นั้นเป็นผู้ที่รับผิดชอบตัวเอง เปิดเผยตัวเองขึ้นมา แล้วก็มีระเบียบให้ทำปวารณา ให้ผู้อื่นตักเตือนตนได้ นี่ก็เป็นระเบียบของผู้ดี ถ้าเป็นผู้ไพร่ มันไม่ยอมให้ใครตักเตือน แล้วมันจะโกรธ มันจะทำร้ายเอาด้วย นี่ก็ให้มันเป็นระเบียบ อ้า, ของสุภาพบุรุษ ที่จะให้คนตักเตือนได้ เรียกว่า ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ยังกันและกันให้ออกจากอาบัติได้ เมื่อทำได้อยู่อย่างนี้ พระศาสนาก็ยืนยาวตลอดมาเป็นพันๆ ปี คณะสงฆ์จึงตั้งอยู่ได้มาเป็นพันๆ สองพันกว่าปี นี้เป็นต้น นี้เป็นส่วนวินัยที่ทำให้ภิกษุนั้นดำรงตนอยู่ได้ และทำให้หมู่แห่งภิกษุนั้นตั้งอยู่ได้ ก็พร้อมเพรียงกัน สามัคคีกันทำหน้าที่ของตนๆ เพื่อสืบอายุพระศาสนาไว้ ไอ้ตอนนี้ก็เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายและทุกคน เพื่อภิกษุเองก็ได้รับประโยชน์ เพื่อชาวโลกทั่วไป สัตว์ทั้งหลายก็พลอยได้รับประโยชน์ นี่เพียงว่าสงฆ์หมู่สงฆ์ตั้งมั่นลงอย่างมั่นคงแน่นแฟ้นในโลกนี้ ก็ทำกิจการได้จนถึงที่สุด ไม่ต้องใช้อาชญา อย่างกับทางโลก ซึ่งต้องจับมาเฆี่ยน มาตี มาใส่คุก มาใส่ตารางนี่ ภิกษุไม่เลวถึงขนาดนั้น รู้จักรับผิดชอบตัวเอง เมื่อ เมื่อเป็นคนเสีย คนอะไรก็ รังเกียจตัวเอง ก็ลาออกไปเสีย ก็ละออกไปเสีย มันก็อยู่อย่างถูกต้องเรื่อยๆ มา ส่วนวินัย ส่วนวินัย ธรรมะวินัย ส่วนวินัยก็คือเพื่อให้อยู่ได้ทั้งโดยบุคคลและโดยหมู่คณะ และโดยกิจการงานที่จะต้องทำเพื่อการสืบอายุพระศาสนา นี่เป็นเรื่องวินัย ทีนี้ ครั้นอยู่ได้แล้ว ครั้นอยู่ได้แล้ว มันก็มีเรื่องธรรมะ เรื่องธรรมะ ที่จะต้องเรียน ศึกษา รู้ให้เข้าใจแล้วก็ปฏิบัติ และก็ได้รับผลเป็นความสุข เป็นประโยชน์เป็นกำไรส่วนตน และก็ยังเห็นแก่ผู้อื่น สอนสืบๆ ไป เป็นการทำประโยชน์ผู้อื่นและเป็นการสืบอายุพระศาสนานั้นด้วย ฉะนั้น ขอให้ทุกๆ รูปมองเห็นข้อเท็จจริงเหล่านี้ ว่ามันมีอยู่อย่างนี้ แล้วจะได้ทำตัวให้มันเข้ารูปเข้ารอยกัน ก็จะได้สำเร็จประโยชน์ คือ จะอยู่ได้ ศึกษาเล่าเรียนได้ ประพฤติปฏิบัติได้ มีความสุขได้ สืบอายุพระศาสนาได้ ผมพูดอย่างนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า เฉพาะผู้ที่จะอยู่ตลอดไป ที่พูดนี้รวมทั้งแม้ผู้ที่จะลาสิกขา ก็จะต้องจัด ต้องปรับตัวเองให้เข้ารูปเข้ารอยอันนี้ ถ้าจะต้องลาสิกขา ก็เตรียมธรรมะไว้ให้พอ สำหรับจะลาสิกขา เอา เอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ อย่างการครองเรือนก็ได้ ทีนี้มาถึงตัวธรรมะแล้วมันก็ ก็เหมือนกันแหละ จะเป็นฆราวาส หรือเป็นพระ ก็มีปัญหาจะต้องละกิเลสอย่างเดียวกัน มันต่างกันอยู่หน่อยที่ว่า ถ้าเป็นพระนะ มันสะดวก มันสะดวกที่จะปฏิบัติธรรมะ ถ้าเป็น อ้า, บรรพชิตนะ มันสะดวกที่จะปฏิบัติธรรมะ ถ้าเป็นฆราวาสมันมีข้อรบกวนขัดข้องมาก แต่ก็ยังต้องทำ ต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อมาเป็นพระไม่ได้ตลอดไป จะต้องกลับออกไปเป็นฆราวาส ก็ต้องเตรียมไปให้พอ สำหรับไปต่อสู้ในชีวิตฆราวาส ทีนี้ ก็จะบอกให้มองเห็นว่า มันมีเรื่องที่จะต้องปฏิบัติอย่างเดียวกันแหละ เพราะว่าถ้าเป็นกิเลสแล้วมันก็เหมือนกันแหละ โลภะ โทสะ โมหะ ของพระ หรือของฆราวาส มันก็เหมือนกันแหละ ถ้ามันเกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมา มันก็เป็นความทุกข์เหมือนกันแหละ ฉะนั้น ข้อปฏิบัติเพื่อดับทุกข์มันจึงเหมือนกัน ทั้งของ อ้า, ฆราวาส และของพระ ของบรรพชิต อย่าลืมว่ามันเพียงแต่ว่า ถ้าเป็นบรรพชิต มันสะดวก สะดวกมาก ในการศึกษาและการปฏิบัติ ถ้าเป็นฆราวาสมันมีอะไรรบกวน มีอะไรขัดข้องบ้าง มันก็ไม่ค่อยสะดวก แต่ถึงอย่างนั้น มันก็ต้องทำ เพราะว่ายังมีกิเลสและยังมีความทุกข์อยู่นั่นเอง เราจึงถือเป็นหลักว่ามันมีกิเลสที่ไหน เมื่อไร ต้องจัดการที่นั่น และเมื่อนั้นแหละ ไม่ว่าเป็นพระ ไม่ว่าเป็นฆราวาส ให้ถือหลักให้แน่นอนลงไปว่าถ้ากิเลสมันเกิดอย่างไร ที่ไหน เมื่อไร ก็จะต้องดับกิเลสกัน อย่างนั้น เมื่อนั้น ที่นั้น ฉะนั้น เรื่องตอนนี้จึงเป็นเรื่องที่เหมือนกัน เรื่อง เช่นเรื่องอริยสัจทั้ง ๔ นี้ ก็ใช้ทั้งพระ ทั้งฆราวาส เรื่องปฏิจจสมุปบาท ก็ใช้ทั้งพระ ทั้งฆราวาส ซึ่งล้วนแต่จะต้องรู้ และจะต้องปฏิบัติให้ได้ ฉะนั้น ความรู้ในส่วนนี้ เหมือนกันเลย เหมือนกันเลย ความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไรมันเหมือนกันเลย บางทีฆราวาสจะมีเหตุให้ได้เกิดทุกข์ มีเรื่องสำหรับให้เกิดทุกข์มากกว่าพระเสียอีก แต่แล้วมันก็ยิ่งจะต้องดับ มันจะต้อง จะต้อง หาทางแก้ไข ไม่ใช่ให้วิ่งหนี คือให้อยู่อย่างต่อสู้กับความทุกข์ เอาชนะความทุกข์ให้ได้ นี่เป็นความมุ่งหมาย บางทีจะพูดผิดๆ กันว่า บวชนี่หนีทุกข์ มันพูดหลับตาพูด มันยังมีกิเลส ยังมีความทุกข์ ทั้งที่บวชแล้วนั่นแหละ ถ้ามันไม่สำเร็จในการปฏิบัติ มันก็ยังมีความทุกข์ ไม่ว่าจะบวช หรือว่าจะไม่บวชก็ตาม ฉะนั้น การบวชนี้ก็เพื่อเผชิญหน้ากันกับความทุกข์ จะทำได้ดีกว่าเพราะว่าเรา มันอยู่ในเพศที่สูงกว่าที่สะดวกกว่า มีศีลมีวินัยอะไรมากกว่า มันก็สะดวกกว่า ฉะนั้น ก็ขอให้รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์เสียในระหว่างที่บวชนี้ ถ้าจะต้องสึก ต้องลาสิกขาก็เตรียมไปสำหรับที่จะได้ใช้ต่อสู้ในเมื่อลาสิกขาแล้ว แล้วก็หลักเกณฑ์ก็ยังคงเดิม ทีนี้ ที่ว่าหลักเกณฑ์ยังคงเดิมนั้นอย่างไร เมื่อถามขึ้นมาว่าไอ้ความทุกข์มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ตามหลักปฏิจจสมุปบาท มันก็กล่าวไว้ยืดยาว แต่ใจความสั้นๆ ของมันก็ว่า เพราะโง่และทำผิดในขณะแห่งผัสสะ สิ่งที่เรียกว่าผัสสะนั่นคือ การถึงกันเข้าระหว่างอายตนะภายใน และอายตนะภายนอก อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอายตนะภายในมีอยู่สำหรับรู้สึกและติดต่อในฝ่ายใน อายตนะภายนอกคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ที่จะเข้ามากระทบอายตนะภายใน เรียกว่าข้างนอก ถ้ามาถึงกันเข้า ก็เรียกว่าผัสสะ ถ้าโง่เมื่อผัสสะต้องเกิดทุกข์แน่ เพราะมันปรุงเป็นเวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ทุกข์ไปเลย ถ้ามันไม่โง่ มันฉลาดทันกัน เมื่อ เมื่อ เมื่อมีผัสสะนั้นนะ มันก็รู้ว่าควรทำอย่างโร ควรทำอย่างไรก็ทำไป โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ จะเอาชนะความทุกข์ได้เสียอีก ดังนั้น ขอให้สนใจเป็นหลักใหญ่ที่ว่าความทุกข์มันเกิดขึ้นเพราะมีการกระทำผิด เมื่อมีผัสสะนั่นเอง เอาตัวบาลีกันก่อน เอาคำที่เป็นบาลีกันก่อน คือ พระพุทธเจ้าท่านก็มานั่งซ้อม คล้ายกับว่า ซ้อมเล่นอยู่ลำพังพระองค์เอง คือพูดกับพระองค์เอง ไอ้ที่ ไอ้ที่เข้าใจว่ามีอยู่คนเดียว พระพุทธเจ้าท่านก็บอกขึ้นมาว่า บอกตัวเอง ในสิ่งที่ได้ตรัสรู้แล้ว ยังเอามาพูด ยังเอามาบอกแก่ตัวเอง นี่ขอให้สนใจกันบ้าง จะได้ไม่ประมาท ได้ตรัสบอกกันกับตัวเองว่า อาศัยตาด้วย อาศัยรูปด้วย ถึงกันเข้าแล้ว เรียกว่าเกิด ก็เกิดจักษุวิญญาณ เกิดจักษุวิญญาณขึ้นมา เห็นรูปโดยทางตานั่นแหละ นี่เมื่อตาถึงเข้ากับรูป หรือหูถึงกันกับเสียง จมูกถึงกันกับกลิ่น คู่ไหนก็ตามใจ เมื่อคู่นั้นมันถึงกันเข้าแล้ว มันก็จะเกิดวิญญาณ สิ่งที่เรียกว่าวิญญาณ ทางตา ทางหู ทางจมูก เกิดวิญญาณสำหรับรู้สึกต่อสิ่งนั้น ทางอายตนะนั้นๆ นั่นนะคือ ผัสสะ ผัสสะแปลว่ากระทบ มันก็คือมีวิญญาณเกิดขึ้น รู้สึกอยู่ต่อสิ่งนั้นๆ โดยอายตนะ ทางอายตนะภายใน เป็นจักษุวิญญาณ รู้สึกรูปอยู่โดยทางตา โสตะวิญญาณ รู้สึกเสียงอยู่โดยทางหู ฆานวิญญาณรู้จักกลิ่นอยู่โดยทางจมูก อย่างนี้เป็นต้น ไม่ใช่เรื่องเหลวไหล ไม่ใช่เรื่องพูดเล่น ฉะนั้น ควรจะเข้าใจอย่างยิ่ง ควรจะทบทวนให้ชัดเจนอย่างยิ่ง อย่าว่ารู้ก็ได้ ไม่รู้ก็ได้อย่างนั้นไม่ถูก ให้เข้าใจเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ว่าสำคัญ เป็นเรื่องหลักฐานของธรรมะ ครั้น ครั้นเกิดผัสสะแล้ว มันโง่ เพราะไม่มีสติ ที่จะเอาปัญญามาในขณะแห่งผัสสะนั้น มีแต่ความไม่รู้ ความไม่รู้ ตามธรรมชาติก็เรียกว่าไม่รู้ ซึ่งก็เรียกว่าอวิชชา มันก็มีแต่อวิชชา มันก็สัมผัสกันด้วยอวิชชา จักษุวิญญาณ สัมผัสรูปทางตาโดยอวิชชา วิญญาณทางหู สัมผัสเสียงโดยทางหูโดยอวิชชา วิญญาณทางจมูก สัมผัสกลิ่นโดยทางจมูกด้วยอวิชชา ด้วยอวิชชา คือ เวลานั้นมันปราศจากความรู้ที่ถูกต้อง มันจึงเรียกว่า อ้า, ผัสสะโดยอวิชชา เรียกว่าอวิชชาสัมผัส อปัจจยวิชชา นี่มันโง่ ในสัมผัสนั้นแล้วมันก็เป็นเวทนา รู้สึก สุขทุกข์ พอใจไม่พอใจอย่างโง่ อย่างยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา สมมติว่าเห็นรูปสวยก็ยินดี เห็นรูปไม่สวยก็ยินร้าย มันเกิดเวทนาโง่อย่างนี้ขึ้นมา แล้วมันก็ต้องการ ต้องการจะตามความรู้สึก ถ้าว่าสวย หรือดีมันก็อยากได้ ไม่สวยมันก็อยากจะไม่ได้ อยากจะทำลาย อยากจะหนี อยากจะ อะไรก็ตาม ซึ่งเป็นความยินร้าย มันจึงเกิดความยินดียินร้ายขึ้นมา แล้วมันก็อยาก ไปตามเรื่อง ยินดีก็จะเอา ยินร้ายก็จะทำลาย อย่างนี้ก็เรียกว่า เกิดความคิดนึกขึ้นมา เป็นตัณหาอยากอย่างโง่เขลา อยากได้ อยากเอาก็ชนิดหนึ่ง อยากไม่ได้ไม่เอาอยากทำลายเสียก็ชนิดหนึ่ง ก็เลยลึกไปจนนึกว่ามีความอยากเป็นตัณหา พอมีความอยากเป็นตัณหา มันก็ปรุงให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาลมๆ แล้งๆ แต่ว่ามันเกิดขึ้นมาอย่างรุนแรงในใจคือ ตัวกูผู้อยาก ความอยากเกิดขึ้นก่อน แล้วก็ปรุงเป็นความรู้สึกคิดนึกว่าตัวกู ผู้อยาก ตัวกูผู้อยาก อยากได้ อยากเอา อยากเป็น อยากมี ไปตามเรื่องของความโง่ พอถึงตอนนี้ก็มีความวุ่นวายกระสับกระส่าย และเป็นทุกข์ เขาเรียกความยึดมั่นถือมั่น ให้เกิดเป็นตัวกูของกู สำหรับเป็นความหนักแก่จิตใจ เป็นความทุกข์แก่จิตใจ นี่เรียกว่าทำผิด ทำผิด ทำผิดต่อกฎ อ้า, อิทัปปัจจยตา คือว่า ทำผิดต่อความดับทุกข์ มันไปทำถูกต่อความที่จะเป็นทุกข์ คือ มันถูกสำหรับจะเป็นทุกข์ อิทัปปัจจยตามันก็เป็นไปเพื่อเป็นทุกข์สำหรับผู้นั้น กรณีนั้น อันนี้เป็นความรู้ อันละเอียดอ่อนในลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ในทางจิตใจ เป็นกฎของธรรมชาติตามธรรมชาติในทางจิตใจ ให้ศึกษาสังเกตไว้ให้ดีๆ ให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง และมีสติรู้ทัน ทุกเวลาทุกเหตุการณ์ที่มันได้เกิดขึ้นแก่เรา นี่เกิดทุกข์เป็นอย่างนี้ ทีนี้ ถ้าว่ามันมีปัญญาศึกษาอบรมไว้ พอมี มีผัสสะขึ้นมา สติเกิดขึ้น เอาปัญญามาควบคุมผัสสะ มาจัดการกับผัสสะ อย่าให้เป็นผัสสะโง่ แต่ให้เป็นผัสสะฉลาด คือ รู้แจ้ง เหมือนกับลืมหูลืมตาไม่หลับ ไม่โง่ มันก็เลยเดินกันคนละทาง แยกกันเดินคนละทาง อย่างแรกที่กล่าวมาแล้วก็เดินไปในทางเป็นทุกข์ตามกฎอิทัปปัจจยตา แต่ถ้าเดินมา โดยวิชชาโดยปัญญามันก็เดินมาในฝ่ายที่จะไม่เป็นทุกข์ คือ ไม่ ไม่ ไม่ไปเกิดความอยาก ไม่ไปเกิดตัวกูผู้อยาก ไม่ทำไปตามความอยาก มันก็ไม่เกิดทุกข์ นี่เรียกว่า มันถูกต้องตามกฎของอิทัปปัจจยตา ฝ่ายที่จะไม่ให้เกิดทุกข์ ฉะนั้น จึงไม่เป็นทุกข์ในกรณีอย่างนี้ คนๆ เดียวกันนั่นแหละ ในบางกรณีมันพลาดพลั้งเผลอไป มันโง่เมื่อผัสสะ มันก็ต้องเป็นทุกข์ แต่ถ้ามันมีสติปัญญา ไม่โง่ไม่เผลอเพราะผัสสะ ความคิดมันก็ไม่ปรุงแต่งไปในทางที่จะเป็นทุกข์ แล้วมันก็ไม่เป็นทุกข์ มีอยู่อย่างนี้ มันถูกฝ่ายอิทัปปัจจยตา สำหรับจะไม่เป็นทุกข์ ไอ้อย่างโน้น มันถูกสำหรับอิทัปปัจจยตาฝ่ายที่จะเป็นทุกข์ มันมีกฎเกณฑ์ตายตัวอย่างนี้ ที่ถามว่าเป็นทุกข์เพราะอะไร ตอบได้หลายขั้นตอนนะ เป็นทุกข์เพราะว่าอยาก เพราะยึดมั่นถือมั่น จึงเป็นทุกข์นี่ใกล้ชิดที่สุด ไอ้ความอยากความยึดมั่นถือมั่น มันมาจากความโง่เมื่อผัสสะ อ้าว, แต่ว่ามาจากความโง่เมื่อผัสสะก็ได้ แล้วทำไมจึงโง่เมื่อผัสสะเล่า ก็เพราะมันมีอวิชชา มันมีอวิชชา จุดต้นๆ ตั้งต้นที่สุดก็คือ อวิชชา ทำให้ผัสสะโง่ จะได้เกิดทุกข์ ผัสสะโง่จะเกิดตัณหาเกิดอุปาทานแล้วจะได้เกิดทุกข์ ฉะนั้นเราจงพยายามให้รู้เรื่องนี้ เข้าใจเรื่องนี้ซึ่งมีเรื่องเดียวเท่านั้นนะ พระพุทธเจ้าตรัสเอง คล้ายกับซ้อมความจำ หรือว่าคล้ายๆ กับเด็กๆ ท่องสูตรคูณอย่างนั้นแหละ กันลืม หรือจะมา เอามาตรัสเล่นให้มันคล่องปากนี่ก็สุดแท้ แต่ในบาลีมันมีปรากฏชัดว่า วันหนึ่งพระพุทธเจ้าได้นั่งตรัสเรื่องนี้ เรื่องอิทัปปัจจยตาอยู่ลักษณะอย่างนี้ ทีนี้ ภิกษุรูปหนึ่งแอบมาข้างหลัง มาแอบฟังอยู่เมื่อไรก็ไม่รู้ มาแอบฟังพระพุทธเจ้าท่องสูตรอิทัปปัจจยตานี่ พระพุทธเจ้าทรงเหลียวไปเห็นเข้า อ้าว อ้าว อ้าว อยู่นี่ ดีแล้ว ดีแล้ว จงจำเอาไป จงจำเอาไป จงเอาไปเรียน เอาไปศึกษา นี่เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ รวมทั้งเงื่อนปลายด้วย ถ้ามันเป็นเงื่อนต้น เพราะมันตั้งต้นไปจนถึงปลายคือ เป็นตัวพรหมจรรย์ทั้งหมด จงรู้อย่างนี้ จงรู้เรื่องนี้ รู้เรื่องพรหมจรรย์ว่า มันเป็นอย่างนี้ ที่ทุกข์เกิดขึ้นมาเพราะอย่างนี้ ทุกข์ไม่เกิดขึ้นมา เพราะอย่างนี้ นี่เราทบทวนเสียให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง ทุกข์เกิดขึ้นมาเพราะอย่างนี้ เหตุอย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้ เป็นลำดับขั้นตอนมาอย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้ ให้เกิดทุกข์ ถ้าไม่เกิดทุกข์มันเดินคนละทาง อย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น มันก็ไม่เกิดทุกข์ นี่ธรรมะที่เป็นหัวใจของธรรมะ เพื่อเรียนรู้เรื่องนี้เท่านั้น เพื่อเรียนรู้เรื่องไม่ให้มีความทุกข์ ไม่ให้เกิดความทุกข์ ก็เรียกว่าธรรมะ ธรรมะสำหรับดับทุกข์ เรียนให้รู้เรื่อง ก็เรียกว่าเรียนอย่างวิชาความรู้ ทีนี้ปฏิบัติลงไปตามหลักวิชานั้นๆ คือว่า ควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้ถูกต้องอยู่เสมอ นี่เป็นตัวการปฏิบัติ แล้วก็ได้ผลเป็นความไม่ทุกข์ นี่ก็เรียกว่าความรู้ เรียกว่าปริยัติ เมื่อเป็นความรู้ เรียกว่าปริยัติ เมื่อปฏิบัติลงไปเรียกว่าปฏิบัติ เมื่อได้ผลมาเรียกว่าปฏิเวธ ไอ้คำเหล่านี้จะจำไว้ได้ก็ดี แต่ก็ไม่จำเป็น รู้แต่ว่าเรียนแล้วปฏิบัติได้ผลของการปฏิบัติ ถ้าเรียกให้เป็นบาลี ไพเราะๆ หน่อยก็เรียกปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ทีนี้ เรื่องของตนมันก็เสร็จ เห็นแก่ผู้อื่นก็สอนผู้อื่นก็สอนอย่างเดียวกันนี้ สอนให้รู้อย่างรู้ปริยัติ สอนให้ปฏิบัติอย่างเป็นปฏิบัติ แล้วก็ได้รับผลมาเป็นปฏิเวธ นี่ขอให้รู้ว่าเรื่องมันเป็นอย่างนี้แหละ เรื่องมันเป็นอย่างนี้แหละ เรียกว่าเรื่องธรรมะ คือ เรื่องความทุกข์และความดับทุกข์ ถ้าว่าจะแยกซอยออกไปอีก มันก็ให้แยกให้เห็นว่าเป็นเรื่องความทุกข์กับมูลเหตุของความทุกข์ ให้เห็นว่า ความดับทุกข์และวิธีที่จะให้เกิดความดับทุกข์ เป็นเรื่องอริยสัจ ๔ ที่จริงมันเป็นเรื่องทุกข์กับดับทุกข์ ถ้าจะพูดสั้นที่สุดคือเรื่องดับทุกข์ ถ้าไม่มีทุกข์จะเอาอะไรมาดับเล่า มันก็ต้องมีทุกข์ จึงเป็นเรื่องดับทุกข์ เมื่อพูดว่าดับทุกข์มันก็เป็นทั้งเรื่องทุกข์และเรื่องดับทุกข์ อ้า, ถ้าเมื่อพูดว่าความทุกข์ มันก็มีเหตุของความทุกข์ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องมีเหตุ มันจึงจะเกิดได้ ดังนั้น มันก็ต้องพูดถึงเหตุของความทุกข์ด้วย คือ อวิชชา หรือตัณหา หรืออุปาทาน แล้วแต่จะมองกันจุดไหน มันเป็นสายยาวไปให้ติดต่อ ให้ออกไป ออกไป ออกไป ทยอยกันไป จะมองที่ตรงไหน มันก็ถูกทั้งนั้นแหละ อ้า, แต่ต้นแรก ต้นเงื่อนแรก ต้นเงื่อนแรกก็คือ อวิชชา และผัสสะโง่ เวทนาโง่ ตัณหาโง่ อุปาทาน เกินโง่ ก็ได้เป็นทุกข์ นี่เรื่องธรรมะ ส่วนนี้เป็นเรื่องของธรรมะ เรียนเรื่องความทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับทุกข์ เรื่องวิธีให้ได้ความดับทุกข์ แล้วทุกข์ทั้งหมดนั้น มันตั้งอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับสิ่งที่คู่กันนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีสิ่งที่คู่กัน คือ รูป เสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ แล้วมันก็มีวิญญาณ เกิดขึ้นตามคู่นั้นๆ แล้วก็มีผัสสะตามคู่นั้นๆ มีเวทนาตามคู่นั้นๆ มีตัณหาตามคู่นั้นๆ แล้วก็มีอุปาทาน มี อ้า, ภพ มีชาติ มีความทุกข์ เรารู้จัก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่าง แล้วก็รู้อายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ก็ ๖ อย่าง แล้วก็รู้วิญญาณทางตา วิญญาณทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ ๖ อย่าง แล้วสัมผัส อาศัยไอ้สิ่งที่จะสัมผัส สัมผัสทางตา สัมผัสทางหู สัมผัสทางจมูก สัมผัสทางลิ้น สัมผัสทางกาย สัมผัสทางใจนี่ แล้วก็มีเวทนาที่เกิดทางจักษุสัมผัส เกิดทางโสตะสัมผัส คือ เวทนาที่เกิดจากทางตา เกิดจากทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ๖ ทั้งนั้นเลย แล้วก็มีตัณหา ตัณหา มันอยาก ก็อยากในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ก็ ๖ ๖ ๖ ทั้งนั้น มันล้วนแต่ ๖ ๖ ๖ ไปทั้งนั้น เพราะว่าต้นเดิมมันมี ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันมี ๖ ทุกอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้อง มี ๖ ด้วย ทั้งนั้นเลย จึงมีอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ วิญญาณ ๖ ผัสสะ ๖ เวทนา ๖ ตัณหา ๖ พอไปถึงอุปาทานแยกอย่างอื่นแล้วไม่ต้อง ๖ เป็นภพ อุปาทาน เป็นภพ เป็นชาติ เป็นชรา มรณะ โสกะ เทวะ เป็นทุกข์ แล้วแต่จะ จะนับอย่างไร แต่ว่าตอนต้นๆ นี้ จะมี ๖ ๖ ๖ ซึ่งน่าสนใจ ควรจะเข้าใจไว้ให้ดีๆ จะรู้จักควบคุมจิตใจไม่ให้เกิดความทุกข์ตามหลักธรรมะนี้ถือว่า ต้องปฏิบัติถูกต่อสิ่งนั้นเท่านั้นแหละจึงจะไม่เกิดทุกข์ มีคำตรัสไว้อย่างน่า น่าอัศจรรย์ คือว่าน่า น่าประหลาดใจ น่าตกตะลึงที่ว่า มันไม่ใช่เรื่องของกรรมเก่าหรอกที่เกิดความทุกข์ หรือสุข นี้ไม่ใช่เรื่องของกรรมเก่าหนหลัง ไม่ใช่ มันเกิดเพราะทำผิด หรือทำถูกที่นี่ เกี่ยวกับอายตนะ เกี่ยวกับสิ่ง ๖ ๖ ๖ ๖ เหล่านี้ ถ้าทำผิดทำถูก ผลมันก็ต่างกัน ทำผิดก็เป็นทุกข์ ทำไม่ผิดก็ไม่เป็นทุกข์ ฉะนั้น อ้า, การที่จะเป็นสุข หรือจะเป็นทุกข์ ไม่ได้เกี่ยวกับผีสางเทวดา พระเป็นเจ้า หรือกรรมเก่าหรืออะไร ไม่ๆ มันเกี่ยวกับการทำผิด หรือการทำถูกต่อสิ่งเหล่านี้ ฉะนั้น ขอให้สนใจศึกษาเท่าที่พูดมานี้ มันมีเท่านี้ เรื่องมันมีเท่านี้ ใจความสำคัญมันมีเท่านี้ แต่ปลีกย่อยมันก็ออกไปได้มากมายมหาศาลแหละ ดังนั้น จะเรียนธรรมะ จะเรียนธรรมะ ให้เรียนที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ ที่เรียนในนวโกวาท มันก็เรียนเพื่อมารู้จะเรียนทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียนธรรมะในหนังสือ จากหนังสือก็เพื่อเอาความรู้ มาเรียนในทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันต้องเรียนทุกอย่างที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้รู้จักทุกข์กันที่นี่ ให้รู้จักดับทุกข์กันที่นี่ อย่าเตลิดเปิดเปิง อย่าฟุ้งซ่าน อย่าเมามาย สนใจเรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้เข้าใจว่ามันเป็นอย่างไร แล้วมันมีคู่ปรับ คู่จับของมันคือ รูป เสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ นั้นเป็นอย่างไร พอมาถึงกันเข้าแล้วมันก็เกิดวิญญาณ ตามคู่ เป็นคู่ๆไปอย่างไร พอวิญญาณทำหน้าที่อยู่ทางอายตนะนี้ ก็เรียกว่าผัสสะ ก็มีตามชื่อ ๖ ๖ ๖ ๖ ในภายใน ถ้าเกิดเวทนา ก็ทาง ๖ อ้า, ทางอายตนะ ๖ เกิดตัณหา อาศัยอายตนะภายนอก มีชื่อตามอายตนะภายนอกก็ ๖ รูปตัณหา สัททตัณหา อ้า, รูปตัณหา สัททตัณหา รสตัณหา โโFผฏฐัพพะตัณหา ธัมมตัณหา ไม่ยาก ว่าที่จริงไม่ยากที่จะเข้าใจหรอก แต่ว่าเรามันไม่เอาจริง ถ้าเราเอาจริงไม่เท่าไหร่จะเข้าใจ สนใจเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้เพียงพอ สนใจเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ให้เพียงพอ เป็น ๖ คู่ แต่ละคู่ก็ถึงกันเข้าเกิดวิญญาณ วิญญาณ ๖ ๖ ทาง นะ สังเกตที่ว่ามันเกิดอย่างไร เมื่อตาเห็นรูป เกิดจักษุวิญญาณอย่างไร เมื่อหูฟังเสียงเกิดโสตวิญญาณอย่างไร เมื่อจมูกได้กลิ่นเกิดฆานวิญญาณอย่างไร ศึกษาจากของจริง ในหนังสือ ในนวโกวาทก็เขียนไว้อย่างนั้นแหละ แต่นั่นเป็นตัวหนังสือ เพียงแต่อ่านแล้วจำได้ยังไม่รู้จักตัวจริง ก็ต้องมาศึกษาให้รู้จักลงไปที่ตัวจริง ถึงจะเรียกว่าเรียนธรรมะ ผมบอกว่าเรียนธรรมะนะ ไม่ใช่เรียนในหนังสือ เรียนหนังสือ เรียนหนังสือ อ้า, เรียนในหนังสือมันก็เป็นหนังสืออยู่นั่นแหละ แต่ถ้าเรียนธรรมะตัวจริง จึงต้องเรียนที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เนื้อที่ตัวในชีวิตจิตใจ จึงจะพบธรรมะ เรียนธรรมะ ต้องเรียนที่ตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ อย่างที่ว่ามานี้ ครบทุกเรื่องทุกราว ทุกแง่ทุกมุม ก็เรียนรู้ธรรมะ นี่เรามักจะเพียงแต่ท่อง ไอ้ที่เขียนไว้ในหนังสือ จำได้ แล้วก็สอบไล่ได้ ตามความจำ มันก็ไม่ถึงตัวธรรมะ ฉะนั้น พยายามให้มันเข้าถึงตัวธรรมะ คือ ตัวความจริงที่มีอยู่ในชีวิต ในจิตใจ ใน อ้า, สำเร็จเป็นความทุกข์ สำเร็จเป็นความสุข สำเร็จเป็นไม่ทุกข์ ไม่สุข แล้วแต่ เรารู้ว่ามันปรุง ปรุงกันอย่างไร มันจึงเกิดความทุกข์ขึ้นมา นับตั้งแต่โง่เมื่อผัสสะ มีเวทนาโง่ มีตัณหาโง่ มีอุปาทาน มีภพ มีชาติ มีชรา มรณะ โสกะ ที่สวดมนต์กันนั้น ก็ดีแล้ว นั้นนะเป็นหลัก สำหรับทางหนังสือ แล้วเอาหลักนั้นนะ มาจับเข้ากับของจริงที่มีอยู่ในตัวเรา ทางกาย ทางใจ ทาง ไอ้ ตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ นี่ คือ เรียนที่ตัว กายและใจ เรียกว่านามรูป นามและรูป คือกายกับใจ เรียนที่นั่น ธรรมะแท้จริงอยู่ที่นั่น เรื่องความทุกข์ มันก็อยู่ที่ตัวความทุกข์ เรื่องความดับทุกข์ มันก็อยู่ที่ตัวความดับทุกข์ มันต้องดูที่นั่นทั้งนั้นนะ เราจะเห็นอะไรก็ต้องเห็นที่ตัวสิ่งนั้นจริงๆไม่ใช่เห็นที่เขียนไว้ในหนังสือ เป็นตัวหนังสือ นี่ผมว่า หัวใจของธรรมะ เข้าถึงหัวใจของธรรมะ ปฏิบัติให้ได้ ก็สำเร็จประโยชน์ นี่เอาธรรมะเป็นเรื่องดับทุกข์โดยตรง เรื่องวินัยเป็นเครื่องช่วยให้มีความเป็นอยู่ ให้ง่ายต่อการดับทุกข์ มันเป็นเครื่องช่วยให้มีความดับทุกข์ได้โดยง่ายขึ้น มันไม่ ไม่ได้มุ่งหมายจะดับทุกข์โดยตรงหรอกเพราะมันเป็นเรื่องการเป็นอยู่ เรื่องการเตรียมเนื้อเตรียมตัว เรื่องการอยู่กันเป็นหมู่เป็นคณะ แล้วก็เพื่อจะสืบอายุพระศาสนาอีก อีกส่วนหนึ่งต่างหากโน่น วินัยเป็นอุปกรณ์ให้รู้ธรรมะได้โดยง่าย นี่คือคำว่าธรรมะวินัย เราพูดเรื่องการบวชกันมาหลาย หลายเวลาแล้ว ทีนี้ก็มาพูดเรื่องสิ่งที่จะต้องทำในเมื่อบวชก็คือ ธรรมะวินัย ต้องเรียนให้รู้ ต้องปฏิบัติให้ได้ ต้องได้รับผลของการปฏิบัติ และถ้าจะให้สมบูรณ์ ก็ต้องเผยแผ่สั่งสอนต่อๆ ไปอีกชั้นหนึ่ง นี่เรียกว่าสมบูรณ์ที่สุด เพียงแต่ได้รับประโยชน์ส่วนตนแล้วไม่เผยแผ่ ไม่สั่งสอนต่อไปนั้น เรียกว่ายังไม่สมบูรณ์ ถ้าสมบูรณ์ในพรหมจรรย์แล้วก็ให้ครบทั้ง ๔ เรียนให้รู้ ปฏิบัติให้ได้ ได้รับผลของการปฏิบัติด้วย แล้วก็สอนสืบๆ ต่อๆ กันไป ก็เป็นพรหมจรรย์ที่สมบูรณ์ สมบูรณ์ เนื้อ เนื้อ เนื้อเรื่องวันนี้ก็พูดอย่างนี้ พูดเท่านี้
ทีนี้ ต่อไปก็ใครมีปัญหาอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ เกี่ยวกับเรื่องบวช เกี่ยวกับเรื่องเรียน เกี่ยวกับเรื่องปฏิบัติธรรมะ เกี่ยวกับไอ้ดับทุกข์นี่ ใครมีปัญหาอย่างไร บอกไปวันก่อนแล้วว่า มีปัญหาจริง ปัญหาจริง ไม่ใช่ปัญหาประดิษฐ์ขึ้น โดยไม่ใช้ประโยชน์อะไรได้ เป็นปัญหาจริงที่มีอยู่ในเนื้อในตัวจริงๆ ใครมีปัญหาอย่างไรว่ามา ไม่มีปัญหา ผู้ไม่มีปัญหาโดยแท้จริงมีแต่ พระอรหันต์เท่านั้น ไม่มีปัญหา ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์ก็ยังมีปัญหา แต่เรากลับจับปัญหาไม่ได้ เอาตัวปัญหามา ขึ้นมาไม่ได้ ต้องมีสติ เอาความรู้มาในขณะแห่งผัสสะ เมื่อไรเรียกว่าขณะแห่งผัสสะ ต้องเข้าใจ เข้าใจชัดเจน เมื่อไรเรียกว่าผัสสะ หรือขณะแห่งผัสสะ ในขณะนั้น ต้องมีสตินำเอาความรู้มาควบคุมผัสสะ ให้เป็นผัสสะฉลาด ให้เป็นผัสสะลืมหูลืมตา อย่าเป็นผัสสะโง่ ดังนั้น เพื่อจะมีความรู้ เราก็ต้องศึกษา ศึกษาความรู้ ทำสมาธิ ทำวิปัสสนา ให้ได้ความรู้แท้จริงเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นนะคือ ความรู้ สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เพราะมีเหตุปัจจัยเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย อาการอย่างนั้นมีลักษณะแห่งความทุกข์ หรือน่าเกลียด หรือมีการทนทุกข์ เพราะความต้องเปลี่ยนแปลง และเมื่อมันไม่เที่ยง และเปลี่ยนแปลงเป็นทุกข์อย่างนี้ ก็เรียกว่า ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา อันนี้ก็เป็นหลักสำคัญที่ว่า จะต้องเอามาใช้ในขณะแห่งผัสสะ สติเอาความรู้อันนี้ มาควบคุมจิตใจให้รู้อย่างนี้อยู่ แล้วผัสสะมันก็จะไม่ ไม่ปรุงไอ้ ความโง่ออกมา อวิชชาไม่ครอบงำผัสสะ ผัสสะจะได้บอกเวทนาให้ถูกต้องตามที่เป็นจริงอย่างไร ฉะนั้น ก็เลยมีความรู้ในขณะแห่งผัสสะ มีความรู้ในขณะแห่งผัสสะ สติระลึกได้นี่มันเป็นเพียงการที่ขนเอาปัญญาความรู้มาในขณะแห่งผัสสะ แล้วก็มีสติ เอาความรู้มาควบคุมผัสสะอยู่ นี่เรียกว่ามีสัมปชัญญะ ปัญญาที่มาถึงเข้าแล้วก็เปลี่ยนรูปเป็นสัมปชัญญะ คอยคุมอยู่ ให้มันเดินไปแต่ในทางที่ถูกต้อง ถ้าไม่มีอันนี้มาคุมอยู่ มันก็เดินไปผิด คือ มันปรุงแต่งไปในทางผิดๆ จนเกิดความทุกข์ เราจะต้องรู้จักสังเกต ว่าเรานะมันมีความทุกข์ เมื่อไร อย่างไร ที่ไหน คือก็มีความทุกข์ แต่ว่ามันไม่สังเกตมันก็ไม่เห็นเหมือนกัน รู้สึกว่าไม่สบายใจ ไม่สบายใจ วุ่นวาย นี่รู้สึกว่าเมื่อใดมันวุ่นวาย วุ่นวายใจ คือ มีความทุกข์แล้ว มันไปโง่อะไรเข้าแล้วในผัสสะเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ จับให้ได้ว่ามันโง่อย่างไรในกรณีนี้ แล้วก็เลิกโง่เสีย ก็จะหายทุกข์ ทุกข์ที่กำลังรบกวน เดือดร้อนกระวนกระวายอยู่ก็จะระงับไป ทีหลังก็ระวังอย่าให้เป็นอย่างนี้ ให้มีสติที่ถูกต้องอยู่เสมอในการ อ้า, รับอารมณ์ สัมผัสอารมณ์ พูดว่าสัมผัสอารมณ์ก็ได้ รับอารมณ์ก็ได้ รู้สึกอารมณ์ก็ได้ อารมณ์มากระทบก็ได้ เรื่องเดียวกันแหละ คือว่า ตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น แล้วเกิดวิญญาณ รู้สึกอยู่นั้นเรียกว่าอารมณ์มากระทบทางตา กระทบทางหู กระทบทางจมูก เป็นต้น ไม่ต้องไปเรียน อ้า, ที่ไหน มันไม่มีให้เรียนหรอก มันมีให้เรียนแต่ที่มันมีอยู่จริง ที่มันมีอยู่จริง อาจจะรู้สึกได้จริงในเนื้อในตัวของเรา นี่มันจึงเรียนเหมือนกับเรียนวิทยาศาสตร์ เรียนที่ของจริง ลงไปบนของจริง ไม่ใช่เรียนอย่างภาษาปรัชญา ซึ่งต้องมีสมมติฐาน สำหรับคำนวณ คำนึง คำนวณ อ้า, อย่างนั้นไม่ใช่พุทธศาสนา ไม่ใช่วิธีเรียนพุทธศาสนา การจะเรียนพุทธศาสนาต้องเรียนลงไปที่ของจริง ตรงๆ ลงไปที่ของจริง พลิกดูกลับไปกลับมา เป็นอย่างไร มันจะให้เกิดอะไร อย่างไรนี่ เรียนเป็นของจริง เรียนธรรมะ เรียนพุทธศาสนา มันมีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ แล้วมันก็จะเผชิญหน้ากับวิถีทางวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ หรืออะไรก็ตาม มันจะทนได้ เมื่อเขาจะเอาวิทยาศาสตร์เข้ามาจับ มันทนได้ มันมีให้ดู ไม่ต้องการอะไรมากมาย เท่ากับไม่เป็นทุกข์ก็แล้วกัน ไม่เป็นทุกข์ก็แล้วกัน แต่นิพพานนั้นนะอาจจะไม่รู้อะไร อย่างไร ที่ไหนก็ได้ แต่เอาใจความสำคัญให้ได้ก่อนว่าไม่เป็นทุกข์โดยเด็ดขาด ไม่มีความทุกข์อีกต่อไป คือ นิพพาน ไม่ต้องมีทุกข์ มีร้อน ก็เย็น เย็นตลอดไป อ้าว, ทีนี้ลาสิกขากลับไปเป็นฆราวาส มันก็มีเรื่องล่อ เรื่องหลอก เรื่องยั่ว เรื่องยวนมากทางเดิมนั่นแหละ ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้รับการล่อหลอก ยั่วยวน ก็เอาเข้าไป มันก็ได้ ได้เป็นทุกข์ ร้อนเป็นไฟ ไม่มีความเย็น ทำผิดทางจิตใจเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้แล้วมีแต่ความร้อนรุมเป็นไฟ ไม่มีความเย็น แล้วก็จะพาลร้อนไปถึงผู้อื่น ผู้อยู่ข้างเคียง ร้อนไปถึงบุตร ภรรยา เพื่อนฝูงด้วยก็ได้ เพราะมันเหมือนกับว่าคนบ้า เมื่อความทุกข์มันเกิดขึ้นครอบงำแล้ว มันมีอาการเหมือนกับคนบ้า ทำอะไรเปะๆ ปะๆ ให้ผู้อื่นพลอยร้อนได้ด้วย มีธรรมะไว้ให้เพียงพอ แล้วก็ควบคุมไว้ให้ได้ อย่างน้อยก็ให้มันเย็นๆ เหมือนกับอย่างเมื่อบวชอยู่นี่ก็ยังดี ถึงจะไม่มากกว่านั้น มันเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่เดี๋ยวนี้เราไม่รู้ แล้วก็ยอมแพ้ เรามักจะถือว่าเหลือวิสัย เช่นว่าถ้าออกไปเป็นฆราวาสแล้ว มันก็ต้องสูบบุหรี่ อย่างนี้เป็นต้น คิดดูว่ามันโง่สักเท่าไหร่ ว่าถ้าออกไปเป็นฆราวาสแล้วมันต้องทำนั่นทำนี่ ตามแบบที่เขาทำๆ กัน เว้นไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่า มันโง่ เกินโง่ มันต้องรู้ดี รู้ผิด รู้ถูก รู้ดี รู้ชั่ว รู้ควร สมควร ไม่ควร อะไรก็รู้ มันก็ต้องทำได้ ถ้ากำลังใจพอ เข้มแข็งพอ มันก็ห้ามได้ทั้งนั้น ให้ยิ่งกว่าบุหรี่มันก็ได้ เรื่องบุหรี่ควรจะถือว่าเป็นเรื่องพิสูจน์ในขั้นต้นเท่านั้น แต่มันก็มีโทษพอที่จะทำให้มองเห็นได้ ทีนี้เราก็ไม่มอง เราก็ทำตามๆ กันไป อย่างในสังคมเขาเชื่อกันว่าต้องสูบ สูบแล้วสบาย อารมณ์ดี นี่เป็นเรื่องพูดผิดๆ ไปเอากับมันเข้า มันก็เลยติด เป็นทาส เป็นทาสของบุหรี่ไป ต้องลำบาก ด้วยเรื่องนี้ เรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งเพิ่มขึ้น เช่น ถ้ามันติดเหล้า ติดไอ้ ละคร ติดกามารมณ์ ติดอะไรเข้าไปอีก มันก็หลายเรื่อง มันก็ได้จบกันเท่านั้น ฉะนั้น หาความรู้ไว้ให้พอสำหรับที่จะอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ ชนะสิ่งเหล่านี้ให้ได้ อย่าไปอยู่ใต้อำนาจของมัน แม้นี้ก็เรียกว่าธรรมะที่ดับทุกข์ด้วยเหมือนกัน แม้จะไปอยู่ในฆราวาสที่บ้านก็เป็นธรรมะเครื่องดับทุกข์ด้วยเหมือนกัน แล้วก็อยู่ในโลกโดยไม่ต้องหนีโลก ชนะโลก อยู่ในโลกโดยที่โลกนี้ทำอะไรให้เป็นทุกข์ไม่ได้นี่เรียกว่า ชนะโลก อยู่ในโลก ชนะโลก ไม่พ่ายแพ้แก่โลก ใครทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่า การบวชนี้ได้ผลเกินคาด ได้ผลเกินคาด ใครมีปัญหาอะไรบ้าง ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อไรก็จดไว้สิ เดี๋ยวมันลืมเสีย เดี๋ยวเอามาถาม ถ้าไม่จดไว้มันลืมเสียได้จริงๆ เหมือนกัน เอาเรื่องที่พูดนี้ไปคิดนึก ใคร่ครวญ ทบทวน มันคงจะเกิดปัญหาบ้าง จะพูดเรื่องหลักธรรมะอีกกี่ครั้ง กี่สิบครั้งมันก็ต้องพูดเรื่องนี้เท่านั้นแหละ มันไม่มีเรื่องอื่น เรื่องอย่างที่ว่ามานี้ เรื่องธรรมะ มันมีเท่านี้ เกิดทุกข์อย่างนี้ ไม่เกิดทุกข์อย่างนี้ มันมีเท่านี้ จะพูดให้มาก ให้ยาวมันก็เป็นเรื่องประกอบ เป็นเรื่องคำอธิบาย ขยายความ เรื่องฝอย เรื่องอะไรออกไป เรื่องหัวใจมีเท่านี้ ความทุกข์เกิดเพราะทำผิดเมื่อผัสสะ เพราะโง่เมื่อผัสสะ เพราะไม่มีวิชา เมื่อผัสสะ ถ้ามีวิชชา มีปัญญาเสียเมื่อผัสสะ ความทุกข์เกิดไม่ได้ ไม่มีปัญหาอะไรเลย ตรงไหน ยังข้องใจ ยังไม่เข้าใจ ยังสงสัยก็ถามได้ จำเอาไปคิดทบทวน อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ วิญญาณ ๖ ผัสสะ ๖ เวทนา ๖ ตัณหา ๖ อะไรบ้าง เอาไปทบทวน เกิดอย่างไร เกิดในลำดับต่อกันอย่างไร ไปสนทนาธรรมกันบ้าง มันจะได้เข้าใจยิ่งขึ้น แล้วมันจะเกิดปัญหาได้ อย่าไปสนทนาสรวลเสเฮฮาเรื่องอื่นเลย ผิดวินัย ผิดอะไรหลายอย่าง ผิดธรรมะ ผิดวินัย สนทนาปรึกษาไต่ถามกันแต่เรื่องธรรมะ แต่เรื่องธรรมะคือ มีประโยชน์ อย่าพูดกันเรื่องไม่มีประโยชน์ นี่ผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เป็นจุดตั้งต้น และเป็นทั้งหมดเลย แต่ต้นตลอดจนปลายนี่ คือ เรื่องที่ว่านี้ ถ้ามีสติทันในเวลาผัสสะทุกทีไป มันก็ไม่เกิดความทุกข์ ไม่เกิดความทุกข์ จนชินเป็นนิสัย เป็นนิพพานไป ไม่ต้องตายนะ นิพพานนี่ไม่ต้องตาย แต่เป็นอยู่โดยไม่ต้องเป็นทุกข์เลย เป็นนิพพานไปเลย นี่เป็นเรื่องจุดสุดท้าย ก็ในเรื่องนี้ ในเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในเรื่องนี้ ถ้าทำผิดเรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นทุกข์ เป็นนรกที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าทำถูกได้รับความสุขก็เป็นสวรรค์อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่คือ นรกและสวรรค์ ชนิดที่พระพุทธเจ้าพบใหม่ ที่เขาพูดกันอยู่เดิมก่อนนั้นนะ นรกอยู่ใต้ดิน สวรรค์อยู่บนฟ้า อย่างนั้นๆ เขาพูดกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า นรกที่พระพุทธเจ้าพบใหม่อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อทำผิด สวรรค์อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อทำถูก แต่ท่านก็ไม่ได้ไปทะเลาะกับพวกนั้น ไม่ได้ไปยกเลิกที่เขาเชื่อกันอยู่ก่อน ไม่ต้องไปเถียงกันให้เสียเวลา ขอให้สนใจนรกสวรรค์อย่างนี้บ้าง มันอยู่ใกล้ดี มันแน่นอนกว่า เมื่อชีวิตเป็นของร้อนขึ้นมาก็เป็นนรก เมื่อชีวิตสงบเย็นก็ยังเป็น เป็นสุขดี ก็เป็นสวรรค์ ถ้ามันว่างไปมันเย็นไปถึงที่สุดก็เป็นนิพพาน นรกเป็นลบ สวรรค์เป็นบวก นิพพานเป็นไม่ลบไม่บวก เอาละ ถ้าไม่มีปัญหาก็ปิดประชุม คราวหลังเอาปัญหามาบ้าง