แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จะได้วิสัชนา พระธรรมเทศนาของพระผู้มีประภาค เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาคือความเชื่อ ในวิริยะความพากเพียร ของท่านทั้งหลาย ที่เป็นพุทธบริษัท เพื่อให้เจริญงอกงามก้าวหน้า ตามทางแห่งพระศาสนา ของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย จนกว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนานี้ เป็นพระธรรมเทศนา ปรารภมาฆบูชา ดังที่ท่านทั้งหลายก็ทราบกันเป็นอย่างดีแล้ว วันมาฆบูชาเป็นวันแทนที่ระลึก แด่พระอรหันต์ หรืออีกอย่างหนึ่งว่าเป็นวันของพระสงฆ์ เพราะเป็นวันที่พระสงฆ์สาวก ที่เป็นพระอรหันต์ได้มาประชุมพร้อมกัน ครั้งแรกมีจำนวนพันสองร้อยห้าสิบรูป ดังที่ได้ทราบกันอยู่แล้ว พระธรรมเทศนาในโอกาสนี้ ให้จึงเป็นพระธรรมเทศนาที่จะบรรยายถึงความเป็นพระอรหันต์ หรือการปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์สิ้นเชิง เพราะว่าพระอรหันต์นั้น คือผู้ที่ไกลจากกิเลส ก็คือหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง ทีนี้การปฏิบัติสำหรับดับทุกข์สิ้นเชิง ที่เราเรียกว่าประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์นั้น ก็จะต้องมีการเริ่มต้น เรียกว่าเงื่อนต้นในการประพฤติ แล้วก็ถึงที่สุด ได้รับผลเป็นวิมุตติ เพราะว่าผลสุดท้ายของพรหมจรรย์นั้นคือวิมุตติแปลว่าความหลุดพ้น แต่ก่อนที่จะถึงความหลุดพ้นอันเป็นผลสุดท้ายนั้น ก็จะต้องมีการเริ่มต้นในการประพฤติปฏิบัติ ทีนี้ปัญหามีอยู่ว่า อะไรเป็นการเริ่มต้น เงื่อนต้นในการประพฤติพรหมจรรย์นั้น เราจะเอาอะไรเป็นตัวการเริ่มต้นในการประพฤติ ปฏิบัติ นี่คือสิ่งที่จะได้พิจารณากันในโอกาสนี้ ว่าอะไรเป็นเงื่อนต้นของการประพฤติพรหมจรรย์ หรือของการปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ ก็แสดงกันไปต่าง ๆ บางคนก็บอกว่า ให้เอาศีลเป็นเงื่อนต้น เป็นอาทิพรหมจรรย์ คือต้องมีศีล ต้องมีศีลให้บริสุทธิ์เสียก่อน แล้วก็มีสมาธิ มีปัญญา ไปตามลำดับ หมายความว่าต้องมีศีล เอาศีลเป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ แต่ลองสังเกตให้ ให้ดีว่า ถ้าเริ่มต้นด้วยศีล อยู่ดี ๆ เริ่มต้นด้วยศีลขึ้นมานี่ ก็อาจจะเป็นศีลที่มีตัวตน พูดง่าย ๆ ว่าศีลของฉัน หรือจะพูดให้เป็นภาษาที่ฟังแล้ว จำง่าย ๆ ก็คือว่าเป็นศีลของกู ก็อาจจะยกตนข่มผู้อื่นด้วยศีลว่าเรามีศีลบริสุทธิ์กว่าผู้อื่น ผู้อื่นมีศีลไม่บริสุทธิ์ ผู้อื่นยังผิดศีลข้อนั้น ผิดศีลข้อนี้ เรามีศีลบริบูรณ์แล้ว ก็อาจจะเป็นได้ ถ้าอยู่ดี ๆ เริ่มต้นขึ้นมาด้วยศีล บางคนบอกว่าต้องเริ่มต้นด้วยสมาธิ อันนี้ก็ไม่แน่ว่าอยู่ดี ๆ เริ่มต้นด้วยสมาธิ ก็อาจจะเป็นสมาธิของฉัน ฉันมีสมาธิ ฉันปฏิบัติสมาธิ คนอื่นไม่มีสมาธิ ฉันมีจิตตั้งมั่น ฉันมีสมาธิมากกว่าคนอื่น อย่างนี้ก็เป็นการยกตนข่มผู้อื่น ก็มี ไม่ ก็ไม่สามารถที่จะก้าวต่อไป เพื่อความดับทุกข์ได้ เพราะก็ติดอยู่แต่ความรู้สึกว่าเป็นตัวเราที่มีสมาธิมากกว่าผู้อื่น บางคนก็บอกว่าให้เริ่มต้นด้วยปัญญา อันนี้ก็ยังไม่แน่ อาจจะเป็นปัญญาของฉัน ปัญญาของกู ปัญญาสำนักนี้ เริ่มต้นด้วยปัญญา คนอื่นสำนักอื่นไม่มีปัญญา อย่างนี้ก็เป็นได้ นี่แสดงว่าถ้าจะเริ่มต้นด้วยศีลอย่างเดียว หรือสมาธิอย่างเดียว หรือว่าปัญญาอย่างเดียวนี่ก็ยังไม่ปลอดภัย ยังรับประกันไม่ได้ว่าจะเป็นเงื่อนต้นของการประพฤติพรหมจรรย์ เพราะอะไร เพราะถ้ายังเห็นว่าเป็นตัวตนอยู่ ยังเห็นว่าเป็นตัวเราของเราอยู่นี่ ก็เหมือนเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ตรัสรู้ เจ้าลัทธิทั้งหลายก็เห็นว่าเป็นตัวตน ยังเห็นว่าเป็นอัตตา ตัวเราของเรา ที่นั่งอยู่นี่คือตัวฉัน และมีตัวฉันตลอดไป เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นว่าเป็นตัวตน ก็ต้องการที่พึ่ง ถ้ารู้สึกว่ามีตัวตนแล้วก็ต้องการที่พึ่ง ต้องการที่อิงอาศัย ก็ ก็ยึดเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาเป็นที่พึ่งของตัวตน ก็เล็งไปยังสิ่งที่เรียกว่าความสุข ฉะนั้นถ้ามีตัวตนก็ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่าความสุข อันเกิดจากกิน กาม เกียรติ เป็นต้นนี่ มาเป็นให้ เป็นที่อาศัยของตัวตน เมื่อต้องการความสุข คนก็ที่รู้สึกว่ามีตัวตนนั้นก็วิ่งออกแสวงหาความสุข เมื่อได้ความสุขมาก็คิดว่าความสุขนี่เป็นความสุขของฉัน ฉันอุตส่าห์แสวงหาความสุข เมื่อได้มาแล้วก็รีบบริโภค อย่างตะกละตะกลาม หมายความว่า เขากลัวว่าความสุขนั้นจะหายไป หรือว่าถูกผู้อื่นแย่งชิงไป ก็บริโภคความสุขนั้นด้วยจิตใจที่กระวนกระวาย แต่เมื่อความสุขมันไม่เที่ยงตาม เพราะว่าความสุขนั้นเป็นสังขาร มีสภาพปรุงแต่งก็ไม่เที่ยง เมื่อความสุขไม่เที่ยง โทษของมันก็ปรากฏ ก็คือความทุกข์ โทษหรืออาทินวะของความสุขก็คือมันไม่เที่ยง เมื่อมันไม่เที่ยงก็เป็นความทุกข์ เมื่อกลายเป็นความทุกข์คนก็คิดว่าความทุกข์นี้เป็นความทุกข์ของฉัน ฉันมีความทุกข์ ก็ คร่ำครวญเป็นทุกข์ว่าความทุกข์นี้เป็นความทุกข์ของฉัน ก็จะแก้ปัญหาบางคนก็แก้ปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย นี่เรียกว่าเป็นมากก็ถึงกับฆ่าตัวตาย แต่บางคนเขาไม่ฆ่าตัวตาย เขากลับไปแสวงหาความสุขใหม่เพื่อกลบเกลื่อนความทุกข์อันนั้น ไปแสวงหาความสุขอย่างอื่นอีก แล้วก็เสวยความสุขนั้นว่าเป็นความสุขของฉัน เมื่อความสุขมันไม่เที่ยงก็กลายเป็นความทุกข์ เมื่อกลายเป็นความทุกข์ก็เสียใจ ร้องไห้ คร่ำครวญ ว่าฉันเป็นทุกข์ วิธีดับทุกข์ก็ไปแสวงหาความสุขใหม่อีก เมื่อได้ความสุขมาก็รีบเสวยความสุขอย่างกระวนกระวาย เมื่อความสุขเปลี่ยนแปลงกลายเป็นความทุกข์ เพราะว่าความสุขมันไม่เที่ยง ก็โศกเศร้าเสียใจอีก ก็ไปแสดงหาความสุขอีก วนเวียนอยู่อย่างนี้เป็นวัฏสงสาร นี่เพราะอะไร เพราะเขาเห็นว่าเป็นตัวตน แม้ว่าเขาจะปฏิบัติศีล ปฏิบัติสมาธิ ปฏิบัติปัญญาขึ้นมา ดังที่กล่าวในตอนต้น มันก็เป็นศีลเพื่อที่จะได้ความสุข อย่างเอามาบริโภคตามที่เขาต้องการด้วยอำนาจของกิเลส แม้ว่าจะปฏิบัติสมาธิก็เพื่อจะได้ความสุข มาเสวยสุขด้วยอำนาจของกิเลส หรือจะเจริญปัญญาก็เพื่อจะมีโอกาสแสวงหาความสุข ซึ่งเป็นอามิสสุขแล้วก็กลายเป็นความทุกข์ แล้วก็แสวงหาความสุข วนเวียนอยู่อย่างนี้ นี่เพราะอะไร เพราะเขาไม่เห็นถึงสิ่งที่สำคัญที่สุด คือความรู้สึกว่ามีตัวตนนั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าอย่างไรเสีย เราจะมาพิจารณาในอีกด้านหนึ่งว่า ในการปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ เป็นพระอริยะบุคคล เป็นพระอริยะเจ้านั้น พระพุทธองค์ท่านเริ่มด้วยการปฏิบัติเพื่อละสังโยชน์ ทั้งสาม คือละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส นี่ถือว่าเป็นเงื่อนต้นของการประพฤติพรหมจรรย์ เพราะฉะนั้นเงื่อนต้นของการประพฤติพรหมจรรย์ อาตมาภาพขอระบุไปยังการละสักกายทิฏฐิ ละวิจิกิจฉา ละสีลัพพตปรามาส เพราะว่าเมื่อใครละสังโยชน์ทั้งสามได้นี้ เรียกว่าได้เป็นพระโสดาบัน เรียกว่าเป็นถึงอมตัทวารัง อาหัจจะ นี่ว่ามาหยุดอยู่ที่ประตูแห่งอมตะ เป็นนิยโต เป็นผู้เที่ยงแท้ ไม่เวียนกลับไปเป็นปุถุชนอีก นี่ก็คือการปฏิบัติเพื่อละสังโยชน์ทั้งสาม เริ่มต้นด้วยสักกายทิฏฐิ ถ้ายังไม่ละสักกายทิฏฐิ ไม่ละความรู้สึกว่าเป็นตัวเราของเรา ก็ยังมีวิจิกิจฉา คือยังลังเล สงสัย ไม่แน่นอน ต่อการดับทุกข์ เมื่อยังมีตัวตนอยู่ เมื่อรู้สึกว่าเป็นตัวตนอยู่ ข้อวัตรปฏิบัติทั้งหลาย ต่อให้อุกฤษฏ์ รุนแรงสักขนาดไหนก็ตาม ก็ดับทุกข์ไม่ได้ เพราะมันเป็นการปฏิบัติของตัวตน เรียกว่าเป็นสีลัพพตปรามาสไปหมด เพราะอย่างงนั้น เรายังจะเห็นได้ว่า ในครั้งพุทธกาลนั้น เมื่อมีความยึดถือว่าเป็นตัวตนแล้วก็ทรมานตนด้วยข้อวัตรปฏิบัติ ที่หนักแน่น เข้มแข็ง อุกฤษฏ์ ถึงขนาดว่าจะต้องเสียชีวิต แต่แล้วก็ไม่สามารถจะดับทุกข์ได้ เพราะไม่สามารถจะทำลายความรู้สึกว่าเป็นตัวตน คือละสักกายทิฏฐิยังไม่ได้ ดังจะได้กล่าวในตอนต้นแล้วว่า เมื่อยังเห็นว่าเป็นตัวตนอยู่ก็ยังต้องแสวงหาความสุขด้วยอำนาจของกิเลส ครั้นว่าความสุขมันไม่เที่ยง ก็หวังความสุขให้เที่ยงแท้ต่อตายแล้ว ฉะนั้นพวกนี้จึงถือว่าเมื่อตายแล้วเราจะเสวยความสุขเป็นนิรันดร นี่การที่ยังเห็นว่าเป็นตัวตนอยู่นี่มีโทษมากมายถึงอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อเริ่มด้วยการละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เมื่อมีการปฏิบัติเพื่อละสักกายทิฏฐิอยู่นั้น ถ้ามองไปยังกาย วาจา ของบุคคลนั้น กาย วาจา ของบุคคลนั้นก็จะเป็นศีลที่บริสุทธิ์ ศีลที่บริสุทธิ์นั้นมีเมื่อมีการปฏิบัติเพื่อละสักกายทิฏฐิอยู่ในภายใน เมื่อภายในปฏิบัติเพื่อละสักกายทิฏฐิอยู่ ถ้ามองไปยังกาย วาจา ของผู้นั้น กาย วาจา ของผู้นั้นก็จะเป็นศีลที่บริสุทธิ์ ในขณะที่ปฏิบัติเพื่อละสักกายทิฏฐิอยู่ในภายใน ถ้ามองไปยังจิตของผู้นั้น ก็จะเป็นสมาธิที่บริสุทธิ์ ในขณะที่ปฏิบัติเพื่อละสักกายทิฏฐิอยู่ในภายใน ถ้ามองไปยังทิฏฐิของผู้นั้น ก็จะเป็นปัญญาที่บริสุทธิ์ เป็นปัญญาที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นศีล สมาธิ ปัญญานั้น มันมองไปยังกาย จิต และทิฏฐิ ในขณะที่มีการปฏิบัติเพื่อละสักกายทิฏฐิอยู่ในภายในนั่นเอง ทีนี้เมื่อละสักกายทิฏฐิอยู่ในภายใน คือปฏิบัติเพื่อละสักกายทิฏฐิอยู่ในภายในนั้น จะเรียกว่าเราเริ่มต้นด้วยศีลก็ได้ หรือเริ่มต้นด้วยสมาธิก็ได้ เริ่มต้นด้วยปัญญาก็ยังได้ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า เมื่อมีศีลก็ย่อมมีปีติปราโมทย์ เมื่อมีปีติปราโมทย์ก็ย่อมมีความ ย่อมมีความสงบรำงับ มีปัสสัทธิคือมีความสงบรำงับ เมื่อมีปัสสัทธิก็มีสุข เมื่อมีสุขก็มีสมาธิ เมื่อมีสมาธิน้อมจิตที่เป็นสมาธิไปพิจารณาสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็จะเห็นตามที่เป็นจริง เรียกว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ ็H็็ฏฯฯฯฯเกฟหกดเมื่อเห็นตามที่เป็นจริงก็เกิด นิพพิทา คือความเบื่อที่จะยึดมั่นถือมั่น ก็เกิดวิราคะ ความจางคลาย และวิมุตก็คือความหลุดพ้น เพราะฉะนั้นเราจะเรียกว่าการเริ่ม การประพฤติพรหมจรรย์นี้ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์นี้ เริ่มต้นจากศีลก็ได้ แต่เป็นศีลที่มีการละสักกายทิฏฐิอยู่ในภายใน มันจึงมีปิติปราโมทย์ มีปัสสัทธิ มีสุข มีสมาธิ ไปตามลำดับ หรือจะเริ่มจากสมาธิก็ได้ แต่เป็นการ สมาธิที่มีการละสักกายทิฏฐิอยู่ในภายใน ดังที่ตรัสว่า สมาธิง ภิกขเว ภาเวถะ สมาหิโต ยถาภูตัง ปชานาติ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิเถิด เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วย่อมเห็นตามที่เป็นจริง อันนี้แสดงว่าเริ่มต้นด้วยสมาธิก็ได้ ฉะนั้นใครจะปฏิบัติเริ่มต้นด้วยสมาธิก็ได้ แต่จงเป็นสมาธิที่มีการละสักกายทิฏฐิอยู่ในภายใน ไม่ใช่สมาธิลอย ๆ ดังที่กล่าวในตอนต้น หรือว่าจะเริ่มต้นด้วยปัญญาก็ได้ แต่จงเป็นปัญญาที่มีการละสักกายทิฏฐิอยู่ในภายใน ดั่งพุทธภาษิตว่า ปัญญายะ ปริสุชติ คนบริสุทธิ์ได้เพราะปัญญา หรือ ปัญญาหิเสดฐากุสะลาวะทันติ นักขัดตะราชาริวะตาระกานัง สีลังสิรึจาปิสะตันจะทัมโม อันวายิกาปัญยะวะโดภะวันติ ซึ่งแปลว่า ปัญญานี้ประเสริฐสุด เหมือนกับว่า ดวงดาวนั้นเป็นประธาน ดวงจันทร์นั้นเป็นใหญ่ในดาวแห่งดาวนักขัตฤกษ์ทั้งหลาย ทั้งศีล ศิริ และสิ่งทั้งหลายนั้น ล้วนตาม ตามหลังปัญญามาทั้งสิ้น อันนี้แสดงว่าเริ่มต้นจากปัญญาก็ได้ แต่จงเป็นปัญญาที่มีการละสักกายทิฏฐิอยู่ในภายใน ทีนี้ถามว่าอะไรเล่าคือสักกายทิฏฐิ สักกายทิฏฐินั้นคืออะไร สักกายทิฏฐิก็คือการเห็น ความเห็นว่าเป็นตัวตน มีความเห็นว่าเป็น ว่าเป็นตัวเราของเรา ทรงแสดงว่าก็คือการเห็นรูปว่าเป็นตัวเรา เห็นเวทนาว่าเป็นเรา สัญญาว่าเป็นเรา สังขารว่าเป็นเรา วิญญาณว่าเป็นของเรา ที่แท้จริงรูปนี้ก็มิได้เป็นของเรา รูปคือ ดิน น้ำ ไฟ ลม นี่ ที่แท้จริงก็คือการประกอบกันของ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุดินก็เป็นอนัตตา ธาตุน้ำก็เป็นอนัตตา ธาตุไฟก็เป็นอนัตตา ธาตุลมก็เป็นอนัตตา สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ก็สักแต่ว่าธาตุ เวทนาคือความรู้สึก ความเสวยความรู้สึก ก็เป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุ มีปัจจัย สัญญาคือความจำ ก็เป็นสักว่าตุตามธรรมชาติ เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย สังขาร การนึก คิด ปรุงแต่งเป็นเรื่องราว นี่ก็เกิดขึ้นตามเหตุ ตามปัจจัย ไม่ใช่ของสัตว์บุคคล ตัวตน เรา เขา วิญญาณนั้นก็คือ วิญญาณทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุ มีปัจจัย เช่นตาเห็นรูป เกิดจักขุวิญญาณ การรวมกันของธรรมสามประการชื่อว่าผัสสะ เกิดเวทนา เกิดสังขาร เกิดวิญญาณ ไปตามลำดับ เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นว่าขันธ์ ๕ นี้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้ ไม่ใช่ตัวเราของเรา เกิดขึ้นเป็นขณะ ขณะหนึ่ง เมื่อมีผัสสะ หรือมีการสัมผัสทาง อายตนะ คือทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉะนั้นจึงกล่าวว่าขันธ์ ๕ นั้น ไม่ใช่ตน นี่ตรัสว่าเห็นขันธ์ ๕ ด้วยความเป็นตน เห็นว่า ขันธ์ ๕ ในตน เห็นตนในขันธ์ ๕ เห็นว่าตนมีขันธ์ ๕ นี่ คือเข้าใจว่าขันธ์ ๕ นี่ว่าเป็นตัวเราของเรา พระองค์จึงตรัสว่า กล่าวโดยสรุปแล้วอุปาทานในขันธ์ ๕ นี่ คือตัวทุกข์ เพราะฉะนั้นไม่ว่าที่ไหนก็ตามถ้าตรัสว่าเป็นทุกข์แล้ว แสดงว่ามีขันธ์ ๕ ที่มีอุปาทานแล้วทั้งสิ้น ถ้าหากว่าจะมีความทุกข์อยู่ที่ไหน ก็แสดงว่าต้องมีการยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ นี้ว่าเป็นตัวเรา ของเราเสียก่อน ถึงจะเป็นทุกข์ ถ้ายังไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ด้วยความเป็นตัวเราของเราแล้วก็ยังไม่เป็นทุกข์ ที่จริงขันธ์ ๕ นี่ก็มิได้เกิดอยู่ตลอดเวลา ขันธ์ ๕ ก็จะเกิด ในขณะที่มีการสัมผัส คือเมื่อตาไปเห็นรูป เกิดการเห็นทางตา รูปตาก็ทำหน้าที่ก็เกิดขึ้น นี้เรียกว่ารูปขันธ์ก็เกิดขึ้น แล้ววิญญาณก็เกิดขึ้น และก็มีความรู้สึกที่เกิดขึ้น ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น แล้วก็ปรุงแต่งนึกคิดเป็น เอ่อ, แล้วก็มีสัญญาคือมีการสัญญาสำคัญมั่นหมาย ก็ปรุงแต่งนึกคิดเป็นเรื่องราว ไปคราวหนึ่ง คราวหนึ่ง เรียกว่าขันธ์ ๕ ทำหน้าที่เป็นครั้งคราว และเกิดได้ทั้งหกทางคือทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ ทีนี้ก็ไปยึดถือเอาขันธ์ ๕ นี้ว่าเป็นตัวเรา ไม่บางทีก็ยึดถือรูป บางทีก็ยึดถือเอาเวทนา บางทีก็ยึดถือสัญญา บางทีก็ยึดถือสังขาร บางทีก็ยึดถือเอาวิญญาณ นี่ว่าเป็นตัวเรา ของเรา สักกายทิฏฐิก็จึงมี เพราะฉะนั้นวิธีละสักกายทิฏฐินี่เป็นเรื่องที่สำคัญ อาตมาอยากจะเอามาแสดงวิธีละสักกายทิฏฐิก็คือที่ตรัสไว้ว่า ให้มีสัมปชัญญะในทั้ง ๔ อย่างนี้ คือ ๑ มีสัมปชัญญะในอิริยาบถ คำว่าสัมปชัญญะนี่คือความหมายว่ารู้ตัว ทั่วอยู่ คำว่าสัมปชัญญะ ต้องมี ก็ต้องมีคำสามคำ อาศัยกัน คำว่าปัญญา คำว่าสติ คำว่าสัมปชัญญะ คำว่าปัญญานั้นคือ ความรู้ที่รู้ทั่ว รู้ไว้ทั้งหมด แต่เมื่อมีเกิดเหตุการณ์ขึ้นเฉพาะหน้า มีสติดึงปัญญาส่วนหนึ่งมาใช้ในการแก้ปัญหา ปัญญาส่วนที่ดึงมาใช้ในการแก้ปัญหา จนกระทั่งว่าแก้ปัญหาได้หมดนั้นแหละคือ สัมปชัญญะ ส่วนสตินั้นคือความไว ที่จะเอาสัมปชัญญะเอามาใช้ในการทำหน้าที่ ฉะนั้นถ้าเราจะกล่าวว่าสัมปชัญญะ ใช้ในการแก้ปัญหาก็แสดงว่ามีทั้งสติ มีทั้งปัญญา รวมอยู่แล้ว อุปมาว่าเหมือนเรามี เครื่องป้องกันตัว มีอาวุธ มีมีด มีหอก มีดาบ มีปืน หลาย ๆ อย่าง เรียกว่าเรามีปัญญาคือมีความรู้ มีสิ่งที่ป้องกันตัวมาก ทีนี้ครั้นผู้ร้ายมันเข้ามาประชิด เราก็ไม่สามารถจะเอาอย่างอื่นมาทันก็ดึงมีดสั้นออกมา แล้วต่อสู้คนร้ายนั้น ทำให้คนร้ายนั้นพ่ายแพ้ไปได้ หรือว่าถึงตายได้ ก็แสดงว่ามีดสั้นนั่นแหละคือสัมปชัญญะ ที่เราดึงมาใช้ทันท่วงทีในขณะนั้น ฉะนั้นสัมปชัญญะ ที่พระพุทธองค์ตรัสสอนว่าให้มีสัมปชัญญะในอิริยาบถ ก็คือให้เรามีสติรู้เท่าทัน รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ในอิริยาบถ เช่นกายคตาสติ ให้เห็นความเป็นไปของอิริยาบถทั้งหลาย ว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา ว่าเป็นไป สักว่าเป็นไปตามธรรมชาติ ที่ ดังที่พระเดชพระคุณท่านอาจารย์ท่านแสดงว่า แม้ว่าจะเดินหนอ ย่างหนอนี่ มันก็มีอยู่หลายหนอ แต่หนอที่สำคัญที่สุด เป็นวิปัสสนาก็คือว่า ที่เดินนี้ไม่ใช่ตัวเราของเรา ที่ก้าวย่างไปนี้ สักแต่ว่าธาตุเท่านั้นหนอ นี่คือมี สัมปชัญญะ ในอิริยาบถชั้นสูง ที่จะดับทุกข์สิ้นเชิง ก็คือว่าเราต้องมีสัมปชัญญะในอิริยาบถว่า ไม่ใช่ตัวเราของเรา สักว่าเป็นอิริยาบถของธรรมชาติเท่านั้น ข้อต่อมาก็มีสัมปชัญญะในสัญญา คือเมื่อมีความจำได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีสัญญาต่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นี่ ก็ให้มีสัมปชัญญะ คือให้สักว่าเป็นสัญญาจำได้ อย่าให้เลยไปถึงเป็นสัญญาสำคัญมั่นหมาย ยกตัวอย่างว่า เมื่อมีใครมาด่าเรา ก็ให้มีแต่สัญญาว่านี่เป็นการด่า อย่าให้ให้ความหมายยึดถือในความหมายของคำด่าว่าเขาด่าเราอย่างนั้น ด่าเราอย่างนี้ ด่าอย่างคำอย่างนั้น เจ็บปวดอย่างนี้ ด่าอย่างนี้ทำให้เราเสียหาย เสียหน้าอย่างนี้ อย่างนี้กลายเป็นสัญญาสำคัญมั่นหมาย ให้มีสัมปชัญญะแค่สัญญาจำได้ว่า สักแต่ว่าเป็นสัญญาเท่านั้นหนอ อย่าให้กลายเป็นสัญญาสำคัญมั่นหมาย ทีนี้เราโดยมาก พอมีสัญญาสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมาก็ไม่หยุดอยู่แค่สัญญาจำได้ ก็กลายเป็นสัญญาสำคัญมั่นหมาย ไปยึดมั่นถือมั่นในความหมายของสิ่งนั้น กลายเป็นว่าเราได้ เราเสีย เราพอใจ เราไม่พอใจ ถ้าให้มีสัมปชัญญะในสัญญา ก็หยุดอยู่แค่สัญญาจำได้ ฉะนั้นก็ไม่เกิดเป็นสักกายทิฏฐิ ขึ้นว่าเป็นตัวเราของเรา ก็แค่ว่าเป็นธรรมชาติเท่านั้นเอง ทีนี้ต่อมา มีสัมปชัญญะในเวทนา เมื่อเกิดเวทนาขึ้นทั้งหกทาง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เกิดความรู้สึก ก็ให้มีสติสัมปชัญญะ รู้ว่ามันเป็นเพียงความรู้สึกของธรรมชาติ เท่านั้นหนอ อย่าไปเพลินในเวทนา ไม่ว่าสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา อย่าไปเพลินในสุขเวทนาด้วยการเพลิดเพลิน สรรเสริญ หมกมุ่น ว่าแหมดีจริง อร่อยจริง สวยจริง พร่ำสรรเสริญ ยกย่องอยู่แล้วก็หมกมัวเมาหมกมุ่นอยู่แต่ในสิ่งนั้น ก็ให้รู้สึกว่ามันเป็นเพียงสุขเวทนาเท่านั้นหนอ หรือถ้าเป็นทุกขเวทนาก็ไม่ไปเพลินอึดอัด ขัดใจ เสียใจ ร้องไห้ คร่ำครวญ ก็เห็นว่ามันเป็นเพียงทุกขเวทนาเท่านั้นหนอ แล้วก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้าหยุดไว้แค่เวทนาตรงนี้ได้ ก็แสดงว่าไม่เกิดสักกายทิฏฐิขึ้นมา เรียกว่าไม่เพลินในเวทนา มีสัมปชัญญะต่อเวทนา ก็ให้เห็นว่าเวทนาก็สักว่าเป็นเวทนาของธรรมชาติ ย่อมมีความรู้สึกตามประสาทสัมผัสของธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวเราของเรา ต่อมาคือให้มีสัมปชัญญะในวิตก วิตก มีสัมปชัญญะในวิตก ให้เปลี่ยนเป็นจากอกุศลวิตก มีสัมปชัญญะมาทัน เปลี่ยนเป็นกุศลวิตก เช่นว่าเมื่อมีกามวิตกเกิดขึ้น ก็ให้มีสัมปชัญญะมาทัน เปลี่ยนเป็นเนกขัมวิตก คือวิตก หรือตรึก ในการที่จะออกไปจากกาม ไม่ได้ไปปรุงแต่งกามวิตกนั้นต่อไปจนกลายเป็นความทุกข์ แต่ก็จะเปลี่ยนไปเป็นเนกขัมวิตก คือดำริ คิด ตรึก ไปในทางที่จะออกจากกาม คือความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทั้งหลาย หรือว่าเมื่อมีพยาปาทะวิตก ก็ให้เปลี่ยนไปเป็นอัพยาปาทะวิตก คือวิตกไปในความไม่พยาบาท หรือเกิดวิหิงสาวิตก ก็เปลี่ยนเป็นอวิหิงสาวิตก คือวิตกไปในการไม่เบียดเบียน ด้วยความโง่เขลา รู้เท่าไม่ถึงการณ์ มีสัมปชัญญะในอิริยาบท ให้รู้ว่าเป็นเพียงอิริยาบทเท่านั้นหนอ ให้มีสัมปชัญญะในสัญญา รู้ว่าเป็นแต่เพียงสัญญาจำได้ ไม่ใช่ อย่าให้เป็นสัญญาสำคัญมั่นหมาย มีสัมปชัญญะในเวทนา คือรู้ว่าเป็นแต่เพียงความรู้สึกที่เกิดขึ้น ทางประสาทสัมผัสทั้งหกทาง อย่าเพลินในเวทนาทั้งหลาย ความเพลินในเวทนานั้นเป็นอุปาทาน เมื่อไปเพลินไปดีอกดีใจ หรือไปเสียอกเสียใจต่อเวทนาเหล่านั้นเข้า ก็ยึดมั่นถือมั่น เป็นอุปาทานก็เกิดภพ มีความเสวยว่าเป็นนั่นเป็นนี่ก็เกิดชาติ ก็เกิดทุกข์ ก็เกิดเป็นตัว เป็นสักกายทิฏฐิที่แน่นหนาขึ้นมา และก็ให้เปลี่ยนวิตก มีสัมปชัญญะ เปลี่ยนจากอกุศลวิตก เป็นกุศลวิตก มีกามวิตก เปลี่ยนเป็นเนกขัมวิตก พยาบาทวิตกเปลี่ยนเป็นอัพยาปาทะวิตก วิหิงสาวิตกเปลี่ยนเป็นอวิหิงสาวิตก เป็นต้น นี่คือการปฏิบัติเพื่อละสักกายทิฏฐิเหมือนกัน ทีนี้สิ่งที่สำคัญที่สุด ที่เราจะไปยึดถือให้เกิดความรู้สึกเป็นตัวตนนี่ ที่สำคัญที่สุดถ้าเล็งไปยังเวทนา คือความรู้สึก เสวยความรู้สึก อันเกิดทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น นี้ขอให้เราทุกคนจงพิจารณาว่า สิ่งที่เราปรารถนาที่สุดในโลกนี้ ไม่มีอะไรเกินไปกว่าความสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือสุขเวทนา ที่อุตส่าห์ประกอบอาชีพ ศึกษาเล่าเรียน อยู่ทุกวันนี้ ก็เพื่อต้องการสิ่งเดียวแค่นั้นก็คือสุขเวทนา ฉะนั้นสุขเวทนาจึงเป็นยอดปรารถนาของสัตว์ปุถุชนทั้งหลาย ต้องการให้ได้มาซึ่งสุขเวทนา ทุกอย่างที่ประพฤติกระทำอยู่ในชีวิตประจำวันนั้น ต้องการอย่างเดียวคือสุขเวทนาเป็นยอดปรารถนาของมนุษย์ พระพุทธองค์ท่านทรงเห็นความจริงข้อนี้ ว่าสัตว์ทั้งหลาย หลงใหล พอใจอยู่ ในสุขเวทนา จึงได้สอนให้พวกเราทั้งหลายเจริญสมาธิวิปัสสนา สมาธินั้นก็คือการประพฤติ กระทำ เพื่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าปีติ และสุข สมาธิในทุกรูปแบบ ถ้าเป็นสมาธิที่ถูกต้อง จะต้องผ่านปีติ และสุขด้วยกันทั้งสิ้น แต่ปีติและสุขนี้ ไม่ใช่ปีติและสุขอันเกิดจากกาม แต่เป็นปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ พระอริยะเจ้าสรรเสริญว่าเป็นสุขที่เลิศ ดีกว่าสุขอันเกิดจากกาม ปุถุชนที่เขาปรารถนาความสุขนั้น เขาก็ปรารถนาความสุขที่เกิดจากกาม คือจากรูป จากเสียง จากกลิ่น จากรส จากการสัมผัสทางผิวกาย ครั้นได้สัมผัสสิ่งที่เรียกว่ากาม ก็พออก พอใจ หลงใหล ชื่นชมอยู่ เรียกว่าปรารถนาความสุขอันเกิดจากกาม แต่เมื่อมาเจริญสมาธิก็จะเกิดปีติสุข แต่มันเป็นสุขที่ยิ่งกว่าความสุขจากกาม เป็นความสุขที่เกิดจากสมาธิ สงบเย็น เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราต้องการความสุขที่เลิศไปกว่ากาม ก็จงเจริญสมาธิเถิด เมื่อเจริญสมาธิมีกายรำงับ มีปีติ มีสุข ก็จะเป็นความสุข ในปัจจุบัน ในทิศธรรมนี้ ฉะนั้นในอานิสงส์ของสมาธิภาวนาข้อ ๑ ว่า ได้ความสุขในปัจจุบัน ฉะนั้นสมาธิให้ผลเป็นปีติ เป็นสุข แต่ว่าพระพุทธองค์ท่านไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ ก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้ หรือว่าพวกในลัทธิอื่นนั้นน่ะ เวลาเจริญสมาธิเข้าฌาณ เข้าสมาบัติ ก็ไปเสวยปีติ และสุข เมื่อปีติ และสุขไม่เที่ยง ก็เข้าสมาธิใหม่ เข้าฌาณใหม่ และก็เสวยปีติสุข ครั้นปีติสุขไม่เที่ยง ก็เข้าฌาณใหม่ เริ่มต้นใหม่ พอไปเสวยปีติสุขอยู่ พอมันไม่เที่ยง ก็เข้าฌาณใหม่ ไปเสวยปีติและสุขอีก พวกนี้จึงเรียกว่าเข้าฌาณนานนับเดือน ไม่เขยื้อนเคลื่อนกายา คือไปเสวยปีติสุข ก็ได้รับผลเป็นความสุขเหมือนกัน แต่ว่าพระพุทธองค์ของเราท่านไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ ท่านมองให้เห็น มองเห็นลงไปในปีติและสุขนั้นว่ามันไม่เที่ยง เมื่อเห็นความไม่เที่ยงของปีติและสุข ก็เกิดความจางคลายในความยึดถือ เมื่อเกิดความจางคลาย ก็เกิดความดับ คือดับความยึดถือ แล้วก็เป็นปฏินิสสัคคะ คือสลัดคืนความยึดถือออกไป นี่คือวิปัสสนา วิปัสสนาคือเห็นความไม่เที่ยงของความสุข อันเกิดจากสมาธินั้นอีกทีหนึ่ง ฉะนั้นอาตมาอยากจะสรุป สมาธิวิปัสสนาทั้งหมดว่า สมาธินั้นให้ผลเป็นปีติกับสุข ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดถ้าเป็นสมาธิที่ถูกต้องแล้ว ก็จะมีปีติและสุขเกิดขึ้น ส่วนวิปัสสนานั้นคือ เห็นลงไปในปีติและสุข อีกทีหนึ่งว่าสุขก็ไม่เที่ยง เพราะโดยธรรมชาตินั้นสุข สังขารทั้งหลาย ย่อมไม่เที่ยงอยู่แล้ว ทีนี้พระพุทธองค์เอาความสุขที่เลิศ เลิศกว่ากามนั้นน่ะ มาเห็นอยู่เฉพาะหน้าว่า แม้แต่ความสุขที่เลิศกว่ากามนั้นก็ไม่เที่ยง นับประสาอะไรกับความสุขอย่างอื่น หรือว่าความทุกข์อย่างอื่น ซึ่งเป็นผลจากความไม่เที่ยงของความสุขนั้น ก็ล้วนแต่ไม่เที่ยง เหลวไหล ไร้สาระ ด้วยประการทั้งปวง ฉะนั้นเมื่อเห็นชัดอยู่เฉพาะหน้าว่า ความสุขที่เกิดจากสมาธินี้ก็ยังไม่เที่ยง นี่คือวิปัสสนา เห็นความไม่เที่ยงของความสุข ฉะนั้นในการเจริญสมาธินั้น จะไม่มีเรื่องของความทุกข์ เรื่องของกิเลสอย่างอื่น แต่เป็นเรื่องของปีติ ของสุข แล้วมาเห็นปีติ และสุขว่าไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา ถ้าเป็นเรื่องของอานาปานสติ 16 ขั้นนั้นก็เห็นอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออกว่า แม้แต่สุขก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นเพียงปรากฏการณ์อันหนึ่งของธรรมชาติ ซึ่งเราเห็นอยู่เฉพาะหน้าจริง ๆ ฉะนั้นการเจริญสมาธิ วิปัสสนา ถ้าเป็นไปถูกต้อง ก็จะเกิดปีติ และสุข และเห็นความไม่เที่ยงของปีติและสุขนี่อีกทีหนึ่ง อันนี้ก็จะเป็นการละสักกายะทิฐิอย่างยิ่งอยู่ในตัวมันเอง นี่คือการปฏิบัติเพื่อละสักกายะทิฐิในวิธีหนึ่ง ทีนี้ต่อไปการปฏิบัติเพื่อละสักกายะทิฐิ ก็คือว่าเราต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา อยู่โดยพื้นฐาน ศีล สมาธิ ปัญญา ที่มีอยู่โดยพื้นฐาน หมายความว่าในชีวิตประจำวันนี้ แม้ยังรู้สึกว่าเป็นตัวตนอยู่ แต่ก็จงมีศีล ก็คือไม่ทำเรื่องที่วุ่นวายให้เกิดขึ้นมากนัก บางคนไปทำเรื่องวุ่นวายให้เกิดขึ้นมาก เรียกว่าศีลไม่บริสุทธิ์เอามาก ๆ ก็จะเป็นการยาก เพื่อจะปฏิบัติในการดับทุกข์ต่อไป ฉะนั้นเราจงมีศีลที่เป็นประจำวันนี้ให้บริสุทธิ์ ให้มีศีลที่บริสุทธิ์ ให้มาก เช่นว่าศีล ๕ ศีล ๘ ศีลอะไรก็ตาม พยายามให้อย่าไปสร้างเรื่องที่ทำให้เกิดความยุ่งยาก วุ่นวาย ทั้งแก่ตนเอง ทั้งแก่ผู้อื่น นี้เรียกว่าเรามีศีลอยู่โดยพื้นฐานเป็นชีวิตประจำวัน และมีสมาธิอยู่โดยพื้นฐานคือมีจิตเป็นสมาธิตามสมควร ไม่ฟุ้งซ่านจนเป็นโรคประสาท เหล่านี้เป็นต้น คือมีสมาธิอยู่โดยธรรมชาติในชีวิตประจำวันนี่ หรือว่าใครจะไปฝึกปฏิบัติสมาธิก็แล้วแต่ แต่ให้มีสมาธิอยู่เป็นประจำวัน แม้ว่าจะยังรู้สึกเป็นตัวตนอยู่ก็ มีสมาธิตามสมควร แล้วก็มีปัญญาในการดำเนินชีวิต ให้มีความสุขตามสมควร แม้ว่ายังเป็นปัญญาที่ยังเป็นตัวตนอยู่ก็ตาม ทีนี้เมื่อมีศีล สมาธิ ปัญญา โดยพื้นฐานดีแล้ว ต่อไปนี้ก็ใช้ศีล สมาธิ ปัญญา ให้มันเป็นหนึ่งเดียว เรียกว่าเป็นไตรสิกขา แล้วก็ทำหน้าที่ในขณะแห่งการสัมผัสนั่นเอง พอมาถึงขั้นนี้สติปัญญาเจริญมากขึ้น อาตมาอยากจะแสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติ ระบบการปฏิบัติธรรมะ ที่ได้สังเกตว่ามีอยู่สักสี่ระบบ มีอยู่สักสี่พวก แล้วพวกไหนล่ะจะเป็นพวกที่ปฏิบัติเพื่อละสักกายะทิฐิ หรือละสังโยชน์ต่อไปตามลำดับ คือพวกที่หนึ่งนั้น พวกนี้มีความเห็นว่า ฉันมีกายกับจิต คือพวกนี้มีความเห็นว่าเป็นตัวตน ว่าฉันนี่มีกายกับจิต มีกายของฉัน จิตของฉัน อยู่ตลอดเวลา คือฉันนี่มีกายกับจิต ยกเอาฉันขึ้นมาก่อน ว่าฉันมีกายกับจิต พวกนี้มีความเห็นว่า ถ้ากายดีแล้ว จิตก็ดีเอง เพราะฉะนั้นก็บำรุงบำเรอแต่ร่างกายอย่างเดียว แสวงหาวัตถุ ทุกๆ อย่างบำรุงกายอย่างเดียว เพื่อว่าเมื่อกายดีแล้ว จิตก็ดีเอง นี้พวกที่หนึ่ง พวกนี้ก็ยังเห็นว่าเป็นตัวตน ก็ยังแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ทีนี้พวกที่สองก็ยังเห็นว่าฉันนี่มีกายกับจิต ฉันมีกายกับจิต กายเป็นของฉัน จิตเป็นของฉัน แต่ถ้าจิตดีแล้ว กายก็ดีเอง หมายความว่าถ้าจิตเป็นสมาธิ หรือว่าจิตดีซะอย่างแล้วทุกอย่างก็ดีหมด นี้พวกหนึ่ง พวกนี้ก็ดับทุกข์ไม่ได้เพราะยังเห็นว่าเป็นฉัน ทีนี้พวกที่สามก็มีความเห็นว่า ฉันมีกายกับจิต กายของฉัน จิตของฉัน แต่พวกนี้แยกกันเสียระหว่างกายกับจิต คือมีความคิดเห็นว่าถ้าฉันยังอยู่บ้านอยู่เรือน ยังมีครอบครัว มีลูก มีสามี มีภรรยา อยู่อย่างนี้ ฉันก็ปฏิบัติแต่ทางกาย ไม่สามารถจะปฏิบัติทางจิตได้ เรื่องของทางจิตนั้นเอาไว้เมื่ออายุหกสิบ ปลดเกษียณอายุแล้วค่อยไปปฏิบัติทางจิตที่วัด ตอนนี้ฉันปฏิบัติทางกายอยู่ที่บ้าน ใครจะปฏิบัติทางจิตก็ต้องไปวัด พวกนี้แยกกายกับจิตออกจากกัน พวกที่ไปปฏิบัติทางจิตอยู่ที่วัดก็คิดว่าฉันกำลังปฏิบัติทางจิต คนที่อยู่ทางโลกนั้นก็ยังหมกมุ่นอยู่ในกิเลส ตัณหา สู้ฉันไม่ได้ ฉันมาอยู่สำนักปฏิบัติทางจิตแล้ว ก็ยกตนข่มผู้อื่นอยู่เหมือนกัน ฉันกำลังปฏิบัติทางจิตอยู่ในสำนัก กำลังทำสมาธิในทางจิตใจอยู่ ใครอย่ามาส่งเสียงรบกวน ฉันกำลังปฏิบัติทางจิตอยู่ ฉันทิ้งทางโลก ทางกายมาแล้ว นี่แยกกันเสียระหว่างกายกับจิต พวกนี้ก็รู้สึกว่ามีอยู่มากเหมือนกัน พวกนี้ก็ยังดับทุกข์ไม่ได้ เพราะยังเห็นว่าเป็นฉันอยู่ ยังมีฉันที่อยู่บ้าน ยังมีฉันที่จะต้องไปอยู่วัด แยกกันเสียอย่างนี้ ส่วนพวกที่สี่นี่ พวกนี้น่ะจะเป็นพวกที่ละเสียซึ่งสักกายทิฏฐิได้ ก็คือพวกที่สี่ เห็นว่าร่างกาย จิตใจนี้ ไม่ใช่ของเรา ก็เป็นไปของเป็นธรรมชาติ กายกับจิตนี้เป็นธรรมชาติ เป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ เป็นขันธ์ ๕ ตามธรรมชาติ กายกับจิตทำหน้าที่เป็นขณะ ขณะ ขณะ ทำหน้าที่ร่วมกัน คือเมื่อตาเห็นรูป เกิดจักขุวิญญาณ นี่คือกายกับจิต ทำหน้าที่ร่วมกัน เรียกว่าผัสสะ เมื่อหูได้ยินเสียง เกิดโสตวิญญาณ คือวิญญาณทางหู อันนี้คือกายกับจิตทำหน้าที่ร่วมกัน ก็เรียกว่าผัสสะ เมื่อจมูกเกิดกลิ่นเกิดฆานวิญญาณ คือวิญญาณการได้กลิ่นทางจมูก นี่คือกายกับจิตทำหน้าที่เป็นขณะ ขณะ ขณะหนึ่ง อย่างไม่ใช่ตัวตน ปัญหามันจึงเกิดขึ้นอยู่ที่ว่า เมื่อกายกับจิตทำหน้าที่ร่วมกันเป็นขณะ ขณะ เรียกว่าผัสสะแล้วเกิดเวทนาความรู้สึก ตรงนี้อย่าให้ผัสสะนั้นมีอวิชชา หรือถ้าเป็นเวทนาแล้ว ก็อย่าเพลินในเวทนาทั้งหลาย ด้วยอำนาจของอวิชชานี่ ความทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น ฉะนั้นพวกที่สี่นี่ ไม่เห็นว่าเป็นตัวตน ไม่เห็นว่าเป็นหญิงเป็นชาย ไม่เห็นว่าเป็นคนรวยคนจน ไม่เห็นว่าเป็นบรรพชิต หรือเป็นคฤหัสถ์ แต่เห็นว่ามันเป็นเพียงการทำหน้าที่ของกายกับจิต กายก็ไม่ใช่ฉัน จิตก็ไม่ใช่ฉัน ทำหน้าที่เป็นขณะขณะ เมื่อเกิดการสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นผัสสะ เป็นเวทนาของธรรมชาตินี่ ก็ไม่มีอวิชชาลงไป ทำอยู่อย่างนี้ จะเรียกว่าจะไม่เกิดความรู้สึกว่าเป็นตัวฉัน ก็เรียกว่าถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ต้องมีปัญญาอย่างยิ่งถึงจะเห็นอย่างนี้ได้ ต้องมีศีล ต้องมีสมาธิ นี่คือศีล สมาธิ ทำหน้าที่ร่วมกันในขณะแห่งการสัมผัสนั่นเอง ศีล สมาธิ อันนี้เป็นไตรสิกขา และเป็นศีล สมาธิ ปัญญาที่ทับลงไปบนผัสสะนั่นเอง เรียกว่า อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา สิ่งที่แท้จริงแล้วพระพุทธองค์สอนให้เราประพฤติ ปฏิบัติใน อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา ต้องอาศัยกันเป็นหนึ่งเดียว ไม่ใช่ศีล สมาธิ ปัญญา ที่แยกกันอยู่ ดังได้กล่าวในตอนต้น อันนั้นเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ที่แยกกันอยู่ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่แยกกันอยู่นั้น ยังดับทุกข์สิ้นเชิงไม่ได้ ต้องเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ที่อาศัยกันเป็นหนึ่งเดียว และใช้ในขณะแห่งการสัมผัส ไม่มีอวิชชาลงไปในขณะแห่งการสัมผัส เพราะมีสติปัญญา รู้เท่าทัน ไม่เพลินในเวทนาทั้งหลาย มีสัมปชัญญะในอิริยาบท มีสัมปชัญญะในสัญญา มีสัมปชัญญะในเวทนา มีสัมปชัญญะในวิตก ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ทีนี้ต่อไปก็คือว่า เมื่อทำอยู่อย่างนี้ มีศีล สมาธิ ปัญญา อยู่อย่างนี้ ก็จะละสังโยชน์ตัวต่อไป เช่นกามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา นี่ไปตามลำดับ ขอให้ไปศึกษารายละเอียดในอีกทีหนึ่ง แต่ว่าต้องอาศัยศีล สมาธิ ปัญญานี้ ให้เข้มข้น ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ก็จะละสังโยชน์ไปตามลำดับ จนกระทั่งว่าเป็น พระสกิทาคามี อนาคามี และเป็นพระอรหันต์ในที่สุด นี่คือการปฏิบัติที่เรียกว่า เป็นการปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ เริ่มต้นจากการละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ไปตามลำดับ ทีนี้ดังภาษิตที่ยกมาเป็นนิกเขปบทว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง กุสะลัสสูปะสัมปะทา สะจิตตะปะริโยทะปะนัง เอตัง พุทธานะ สาสะนัง นั้น คือว่าเราจะไม่ทำบาปทั้งปวง ทำกุศลให้ถึงพร้อม ชำระจิตให้ขาวรอบ คำว่าไม่ทำบาปทั้งปวงนี่ หมายถึงบาป อกุศลทุกชนิด เราจะไม่ไป จะไม่ไปแสวงหามา หรือไม่ไปประกอบ ไม่ไปทำให้มันเกิดขึ้นมา สิ่งที่เรียกว่าบาปทุกชนิดไม่ทำ เวลาจะทำกุศลทุกชนิด กุศลก็คือสิ่งที่มันจะตัด ตัดบาปนั่นเอง เมื่อเราสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น เราสามารถดำริคิดไปในทางกุศลก็ได้ ไปในทางอกุศลก็ได้ ถ้าดำริคิดไปในทางอกุศลชื่อว่าบาป ถ้าคิดไปในทางที่ตรงกันข้ามก็เป็นกุศล ในขณะเดียวนั้นจะดำริคิดไปในทางกุศลด้วย อกุศลด้วย ย่อมทำไม่ได้ ฉะนั้นวิธีที่จะตัดเสียซึ่งบาปก็คือ ดำริคิดกระทำไปในฝ่ายกุศลเสีย เช่นเมื่อตาเห็นรูป ถ้าดำริคิดไปในทาง กามสังกัปปะ มันก็จะไม่ดำริคิดไปในทางเนกขัมมสังกัปปะ เพราะฉะนั้นวิธีที่จะดับเสียซึ่งบาปอกุศลทั้งหลายก็คือ ในกรณีนี้ก็คือไม่ดำริคิดไปในทางกาม แต่ดำริคิดไปในทางเนกขัมมะชื่อว่าเป็นกุศล เมื่อเป็นกุศลก็ต้องย่อมตัดบาปได้ ทีนี้จิตก็ย่อมขาวรอบ คือเป็นนิพพาน เพราะฉะนั้นกุศลนั้นก็คือ สิ่งที่จะตัดเสียซึ่งบาปนั่นเอง ถ้าบาปหมายถึงของหนัก ถ้าบาปคือกิเลสเป็นของหนัก กุศลก็คือสิ่งที่จะทำลายของหนัก ตัดของหนัก สจิตตปริโยทปนัง ก็เป็นนิพพาน ก็คือไม่มีของหนัก ถ้าบาปหมายถึงความเร่าร้อน กุศลก็คือสิ่งที่ตัดเสียซึ่งความเร่าร้อน นิพพานก็แปลว่าไม่มีความเร่าร้อน ถ้าบาปหมายถึงสิ่งเสียดแทง กุศลก็คือสิ่งที่ตัดเสียซึ่งความเสียดแทง นิพพานก็แปลว่าปราศจากสิ่งเสียดแทง ถ้าบาปเป็นความสกปรก กุศลก็คือสิ่งที่จะตัดความสกปรก นิพพานก็แปลว่าไม่สกปรก ถ้าบาปคือความทุกข์ กุศลก็แปลว่าสิ่งที่ดับเสียซึ่งความทุกข์ นิพพานก็คือหมดทุกข์ ฉะนั้นสิ่งที่พระพุทธเจ้าแสวงหามากที่สุดนั้น ก็คือกุศลนี่เอง สิ่งที่จะตัดเสียซึ่งบาป ก็พบว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นเป็นกุศล เพราะว่าถ้าหากว่าดำริคิดกระทำไปในอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้ว เป็นสัมมัตตะแล้ว มิจฉัตตะ คือการดำริคิดกระทำไปในฝ่ายมิจฉาก็จะไม่เกิดขึ้น นี่คือกุศลในพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าท่านทรงออกบวชนั้นก็เพื่อแสวงหาอยู่ว่าอะไรคือกุศล ก็พบว่าอริยะมรรคมีองค์ ๘ นั้นเองเป็นกุศล ฉะนั้นการ สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง ก็คือไม่ทำฝ่ายมิจฉา หรือมิจฉัตตะทั้งหมด กุสะลัสสูปะสัมปะทา ก็คือเจริญอริยะมรรคมีองค์ ๘ ให้เต็มที่ สะจิตตะปะริโยทะปะนัง ย่อมถึงความเป็นผู้มีจิตขาวรอบ คือเป็นพระอรหันต์นั่นเอง เพราะฉะนั้นพระอรหันต์นั้นก็ถึงได้ด้วยการเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ค่อย ๆ เข้มข้นขึ้น เข้มข้นขึ้น ไปตามลำดับ อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่เราสรุปว่าเป็นศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง นี่คือสิ่งที่จะปฏิบัติเพื่อละเสียซึ่งสักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวเราของเรา ละเสียซึ่งวิจิกิจฉาไม่มีความลังเลสงสัยอีกต่อไป เพราะเมื่อปฏิบัติย่อมได้รับผลดับทุกข์ได้จริง แล้วก็ละเสียซึ่งสีลัพพตปรามาส การยึดวัตรปฏิบัติ ลูบคลำวัตรปฏิบัติ แต่ว่าไม่เป็นไปเพื่อการดับทุกข์ นี่เรียกว่าเป็นเงื่อนต้นในการประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหมด แล้วก็จะละสังโยชน์ไปตามลำดับจนกระทั่งว่าเป็นพระอรหันต์ในที่สุด นี่ก็คือการปฏิบัติ เพื่อความเป็นพระอรหันต์ในอีกแง่มุมหนึ่ง ที่อาตมาภาพนำมาแสดงในคืนนี้ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลาแล้ว เราจงเริ่มต้นในการประพฤติปฏิบัติด้วยการเห็นอนัตตา แม้เพียงความเข้าใจในเบื้องต้น ยังละความรู้สึกว่าเป็นตัวเราของเราไม่ได้ แต่จงเข้าใจความเป็นอนัตตา โดยเห็นว่ามันเป็นสักแต่ว่าธาตุ แม้เพียงความเข้าใจก่อน อย่าเห็นว่าเป็นตัวฉัน ตัวตนของเรายืนโรงไปตลอดเวลา ให้เห็นว่ารูปนี้ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือกายกับจิตนี้เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เราสมมติไปเองว่าเรา ให้เห็นว่า ร่างกาย จิตใจนี้ ไม่ดี ไม่ชั่ว แต่แล้วก็ทำหน้าที่ไปตามธรรมชาติ ร่างกายก็มีระบบการทำงาน ระบบเรื่องการย่อยอาหาร ระบบการหายใจ ระบบการเคลื่อนไหวต่าง ๆ นี้ก็เป็นไปตามธรรมชาติ ธรรมชาติมันทำของมันเอง โดยไม่ต้องมีเราเป็นผู้กระทำ จิตใจก็เหมือนกัน ความรู้สึกนึกคิดทั้งหมดนั้น ก็เป็นการกระทำของธรรมชาติ ธรรมชาติมีระบบประสาท มีระบบต่าง ๆ เช่นระบบในการเห็น ระบบในการฟัง ระบบในการดม ระบบในการชิม ระบบการสัมผัส ระบบของการรู้สึกนึกคิดทั้งหมดนั้น เป็นการทำหน้าที่ของธรรมชาติ ฉะนั้นจึงไม่มีเราที่จะเป็นหญิง เป็นชาย เป็นคนรวย เป็นคนจน เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เป็นบรรพชิต หรือเป็นคฤหัสถ์ นี่ในชั้นลึกมองให้เห็นอย่างนี้แล้วก็มีอยู่แต่ผัสสะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ชั่วขณะ ชั่วขณะ ชั่วขณะ แล้วผัสสะนั้นก็ไม่เป็นผัสสะของคนจน ไม่เป็นผัสสะของคนรวย ไม่ใช่ผัสสะของผู้หญิง ไม่ใช่ผัสสะของผู้ชาย แต่เป็นผัสสะของ ตาตามธรรมชาติ หูตามธรรมชาติ จมูกตามธรรมชาติ ลิ้นกายใจตามธรรมชาติ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ตามธรรมชาติ แล้วเกิดวิญญาณขึ้นตามธรรมชาติ เกิดการสัมผัสขึ้นตามธรรมชาติ เกิดเวทนาขึ้นตามธรรมชาติ ก็มีอยู่เท่านี้เอง เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นอยู่อย่างนี้แม้โดยความเข้าใจ ก็ระมัดระวังให้มีปัญญาอย่างนี้มาอยู่เสมอ ก็จะละเสียซึ่งสักกายทิฏฐิ ในเบื้องต้น ก็จะเข้าสู่กระแสของความดับทุกข์สิ้นเชิงต่อไป ก็จะเป็นพระอรหันต์ได้ในที่สุด ธรรมเทศนาที่แสดงมาก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติพระธรรมเทศนาไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้