แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มานั่งนี่ มานั่ง น่ากลัวฝนจะขัดคอ
เมื่อเช้านี้ พูดให้ฝรั่งฟังถึงมูลเหตุที่ทำให้เรา ต้องมีธรรมะ ต้องมีธรรมะ นี่เป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะรู้ อะไรเป็นมูลเหตุที่ทำให้ต้องมีธรรมะ ที่จริงบวชมาก็เพื่อจะศึกษาให้รู้เรื่องเหล่านี้ มันก็คือเรื่องประโยชน์ของธรรมะนั่นแหละ หรือคุณค่าของธรรมะ ที่ทำให้เราได้รับประโยชน์จากธรรมะ และทำให้เราจำเป็นที่จะต้องมี ธรรมะ
ถ้าว่าเกี่ยวกับการศึกษา มันก็ต้องเป็นการศึกษาเพื่อดับทุกข์ ถ้าไม่ดับทุกข์จะศึกษาไปทำไม เดี๋ยวนี้ในโลกก็มีการศึกษาอย่างมหาศาล แต่ก็ดับทุกข์ไม่ได้ ความทุกข์ในโลกจึงมีมากขึ้น คุณต้องสังเกตในข้อนี้ดูบ้าง โลกนี้มีการศึกษา อย่างที่เรียกว่า ท่วมหัว ท่วมหู ท่วมโลก หนังสือที่พิมพ์กันขึ้นถ้ามาแผ่กระจายก็คงจะเต็มโลกเหมือนกัน แต่แล้วโลกมันก็ยังมีปัญหา ยังหาความสงบสุขไม่ได้ และก็เป็นปัญหาที่คนเพียงคนเดียวมันแก้ไม่ได้ แล้วมันก็มีปัญหาที่ว่า ทำความเข้าใจ ตกลงกันไม่ได้ มันก็เลยยิ่งแก้ไม่ได้ยิ่งขึ้นไปอีก อย่างนี้เราเรียกว่าเพราะมันขาดสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ธรรมะ คือการที่ คือการกระทำที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ ฉะนั้นคนที่พึ่งบวชทั้งหลายเหล่านี้ พึ่งบวชนี้ รู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ คืออะไร คือการกระทำที่ถูกต้อง แก่ความเป็นมนุษย์ เพื่อแก้ปัญหาของมนุษย์ได้โดยครบถ้วน เพื่อแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ ดับทุกข์ของมนุษย์ได้ การปฏิบัติที่ถูกต้อง ในทำนองนั้นนะเรียกว่า ธรรมะ
ไอ้โดยหลักใหญ่ๆ เราจำกัดความของธรรมะว่า ธรรมะ คือ ธรรมชาติ ธรรมะ คือ กฎของธรรมชาติ ธรรมะ คือ หน้าที่ ตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะ คือ ผลที่ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ นี่ขยายออกไปเป็นส่วนๆชัดๆ มันก็เป็นอย่างนี้ ธรรมชาติคือสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ในภาษาบาลีเขาเรียกว่า ธรรมะ ทั้งนั้นเรียกว่า สังขารธรรม สังขตธรรม ก็คือธรรมะ ได้แก่ธรรมชาติทั้งหมดทั้งสิ้น ที่มีอยู่นอกตัวเรา ที่มีอยู่ในตัวเรา ก็เรียกว่าธรรมะ คือธรรมชาติ นี่ธรรมะก็คือ กฎของธรรมชาติ ที่ควบคุมธรรมชาติเหล่านั้นอยู่ ที่ไหนมีธรรมชาติ ที่นั้นก็มีกฎของธรรมชาติควบคุมอยู่
ทีนี้เมื่อกฎของธรรมชาติควบคุมอยู่ เราก็มีหน้าที่ ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามกฎของธรรมชาติ นี่ตัวธรรมะในความหมายที่สำคัญคือ หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ครั้นปฏิบัติแล้ว ก็ได้ผล ผลของการปฏิบัตินั้น ก็เรียกว่า ธรรมะ อีกนั่นแหละ นี่คือ ธรรมะ ๔ ความหมาย จำไว้เป็นหลัก สำหรับจะสะดวกในการที่จะศึกษาธรรมะให้ครบถ้วน ให้สมบูรณ์ ยิ่งๆขึ้นไป
ทีนี้ธรรมะ ๔ ความหมายนั้น สรุปความแล้ว มันคือระบบการปฏิบัติ คือหน้าที่ หน้าที่คือสิ่งที่ต้องปฏิบัติ ทั้งหมดนั้น กล่าวไว้อย่างถูกต้อง ทั้ง ๔ ความหมายนั่นกล่าวไว้อย่างถูกต้อง สำหรับมนุษย์ เพื่อความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง เพื่อทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของมนุษย์นั้นเอง ทั้งที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนเอง และเป็นไปเพื่อประโยชน์ผู้อื่น คือสังคม นี่ จำ กำหนด จดจำไอ้ข้อความ ที่เป็นบทนิยาม ของคำว่าธรรมะ อย่างนี้ ไว้ให้ดีๆ จะมีประโยชน์มาก การที่รู้แต่เพียงว่า ธรรมะ คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น มันไม่พอ บางทีก็ไม่รู้ว่า สอนอย่างไรด้วยซ้ำไป ก็มันอยู่ที่คำสั่งสอนไม่มาอยู่ที่เรา เดี๋ยวนี้เราระบุว่า ธรรมะคือ ระบบปฏิบัติที่ถูกต้อง ต่อความเป็นมนุษย์ สำหรับความเป็นมนุษย์ ทุกขั้นทุกตอน แห่งวิวัฒนาการของมนุษย์นั้น ทั้งเพื่อตนเองและทั้งเพื่อผู้อื่น อย่างนี้มันครบหมด ครบถ้วน เราจะต้องรู้เรื่อง ธรรมะ ๔ ความหมาย ๔ ความหมาย แล้วก็ปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามกฎของธรรมชาติ หรือธรรมะ ที่เป็นกฎของธรรมชาติ ซึ่งจะมองเห็นได้ด้วยตนเอง พิสูจน์ได้ด้วยตนเอง กระทำได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องฝากไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือสิ่งอะไรๆที่มองไม่เห็นตัว
พุทธศาสนาไม่ได้ฝากไอ้ปัญหา หรืออะไรต่างๆไว้กับสิ่งที่มองไม่เห็นตัว แต่ฝากไว้กับสิ่งที่มองเห็นตัว ที่จะต้องประพฤติ กระทำ ให้ถูกต้อง อยู่ตลอดเวลา นี่ธรรมะ ธรรมะคำเดียว มีคำอธิบายอย่างนี้ มนุษย์คืออะไรก็ไม่รู้เสียแล้ว ถ้าจะรู้เรื่องที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์มันก็ยากนะ เพราะว่ามนุษย์คืออะไร มันก็ไม่รู้เสียแล้ว มันต้องเรียนจนกระทั่งว่า มนุษย์ตามธรรมชาติ นั้นคืออะไร มนุษย์ตามธรรมชาติ นั้นเป็นอย่างไร ก็มีอะไรที่มากระทำให้มันถูกต้องตรงกับเรื่องหรือธรรมชาติของมนุษย์นั้นๆ
นี่ก็สอนไว้ให้เป็นหลัก กล่าวไว้เป็นหลัก สำหรับเอาไปคิดนึกไปศึกษาไปไตร่ตรอง ไปศึกษาธรรมชาตินั้นอีกทีหนึ่ง ธรรมะที่พูดกันหรือธรรมะที่เป็นหนังสือ นี่มันเป็นเพียงบันทึก คำพูด ที่กล่าวถึงสิ่งนั้นๆ เราต้องกำหนด จดจำเอาไป เอาไปใช้ศึกษาสิ่งนั้นๆโดยตรง
สิ่งนั้นๆอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ตัวปัญหาทั้งหมดของมนุษย์ ปัญหาหรือไอ้ผลของปัญหานี่มันเกี่ยวกันมนุษย์ มันก็อยู่ที่ตัวของมนุษย์นั่นแหละ ไอ้ความทุกข์ก็ดี เหตุให้เกิดความทุกข์ก็ดี มันก็อยู่ที่ตัวมนุษย์นั่นแหละ โดยเฉพาะข้างในจิตใจของมนุษย์นั่นแหละ ความทุกข์ มันเกิดที่อื่นไม่ได้ มันเกิดได้รู้สึกได้ที่จิตใจ ถ้าที่อื่นมันไม่มีความรู้สึก มันก็คือไม่มี เพราะมีจิตใจจึงมีความรู้สึก ความรู้สึกนั้นเป็นทุกข์ ความรู้สึกนั้นก็เป็นปัญหาขึ้นมาที่จะต้องแก้ไข ฉะนั้นคำสอน คำอธิบายต่างๆนานา ก็เพื่อให้เรารู้จัก สอนวิธีให้เรารู้จักมองข้างในแก้ปัญหาข้างใน กลายเป็นหนังสือ ๒ เล่ม หนังสือข้างนอกที่เราอ่านหรือเราฟังนั่นก็เล่มหนึ่ง หนังสือข้างในที่เราจะต้องสอดส่องด้วยจิตใจ นี่อีกเล่มหนึ่ง เรียนหนังสือเล่มนอก เพื่อรู้จักอ่านหนังสือเล่มใน นี่การศึกษาข้างนอกนั้นนะ เพื่อจะให้สามารถศึกษาข้างใน ศึกษาข้างนอกนั้นมันไม่พอ มันก็ต้องศึกษาข้างใน ซึ่งเป็นตัวเหตุการณ์โดยตรง คือเรื่องของจิตใจมีความทุกข์ที่จิตใจมีความสุขที่จิตใจ อะไรๆทุกอย่าง มันขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า จิตใจ
ถ้ามีการปฏิบัติถูกต้อง มันก็ไม่มีความทุกข์ ถ้าปฏิบัติต่อจิตใจไม่ถูกต้อง มันก็ต้องมีความทุกข์ ก็เท่านั้น สนใจในสิ่งที่เรียกว่า จิตใจ ซึ่งมันเป็นที่รวมที่ตั้งแห่งความรู้ แห่งการศึกษาแห่งการปฏิบัติแห่งความสุขแห่งความทุกข์ หรือทุกๆเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตทั้งหลาย มันก็อยู่ที่สิ่งที่เรียกว่าจิตใจ ฉะนั้นเราจึงต้องมองข้างใน เราไม่มีความรู้ก็มองไม่ได้ เราจะต้องศึกษาหาความรู้ เพื่อจะมองข้างในให้ได้ นี่คืออ่านหนังสือเล่มในให้ออก อ่านหนังสือเล่มนอกออกเพื่อจะไปอ่านหนังสือเล่มใน อีกทีหนึ่ง นี่ขอให้ทุกคนอย่าได้ประมาท อย่าได้เหลาะแหละหลุกหลิกเหลิงเจิ้ง ยกหูชูหาง อะไรให้มันมากไปเลย มันยังอีกมากนัก มันยังไกลอยู่มันยังอีกมากนัก ที่จะเข้าถึงไอ้ตัวปัญหาหรือดับทุกข์ได้โดยแท้จริง ฉะนั้นคำพูดที่ต้องพูดอยู่เสมอ กับผู้บวชใหม่ ก็คือว่า อย่าประมาทเลย อย่าประมาทเลย อย่าเหลาะแหละ หลุกหลิก อย่ายกหูชูหาง อย่าอะไร ให้มันมากไปเลย สงบเสงี่ยม สำรวม ระวังจิตใจและการเป็นอยู่ทั้งหมดให้มันถูกต้อง จิตใจมันก็จะถูกต้อง คือมันจะเหมาะสำหรับที่จะอ่านตัวเองออก ศึกษาตัวเองได้ เข้าใจตัวเองได้ จงพูดจาปรึกษาหารือกันแต่เรื่องอย่างนี้ อย่าต้องเล่นหัว ด้วยเรื่องอย่างอื่นเลย ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ที่สุด ด้วยความระมัดระวัง อย่าให้เวลาเสียไปเปล่า อย่าพูดกันเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า อย่าไปพูดเรื่องที่มัน ไม่มีประโยชน์ ถ้าพูดเรื่องไม่มีประโยชน์ ก็ไปนอนเสียดีกว่า ทั้งที่ไอ้เรื่องนอนนี่ก็เป็นเรื่องเลว เลวพอใช้อยู่แล้ว เป็นเรื่องใช้ไม่ได้อยู่แล้วไอ้เรื่องนอนนี่ แต่ก็ยังดีกว่า พูดกันด้วยเรื่องที่มันไร้สาระ หรือเป็นการพูดตามอำนาจของกิเลสยกหูชูหาง ไปตามเรื่อง แล้วก็ได้ทะเลาะวิวาทกระทบกระทั่งกัน อย่างนี้ไม่ต้องมี
ตามวินัย กำหนดไว้ว่าจะต้องอดทนทำอย่างนี้ อย่างน้อย ๕ ปี ๕ พรรษา ๕ ปี จึงจะปล่อยให้ใช้ความคิดนึกของตัวได้ คือปล่อยกันอิสระได้ ต้องอยู่กับครูบาอาจารย์ หรือ อยู่กับระเบียบปฏิบัติที่เข้มงวด อย่างน้อย ๕ ปี จากนั้นจึงจะเป็นนิสัยมุตตกะเที่ยวไปตามลำพังได้ เดี๋ยวนี้อย่าพึ่ง ให้พยายามสนใจขวนขวายศึกษาให้เข้าถึงธรรมะ จากภายนอก คือธรรมะในหนังสือ และก็ให้ถึงธรรมะในภายในคือในชีวิต จิตใจในเนื้อในตัว เพราะว่าสำคัญอยู่ที่สิ่งๆเดียว คือ จิตเท่านั้นแหละ มันจะค่อยๆรู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ธรรมะนั้นคืออะไร จะมีประโยชน์อย่างไร
ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ธรรมะมีสำหรับแก้ปัญหา คำว่าแก้ปัญหาก็คือ ดับทุกข์ได้ ดับทุกข์ได้ เพราะความทุกข์นั้นมัน เป็นปัญหา ทำไมมันเป็นปัญหา เพราะมันทนอยู่ไม่ได้ มันรบกวนจนทนอยู่ไม่ได้ มันจึงเป็นปัญหาที่ต้องจัดการ จัดการคือให้มันหมดไป ให้มันมีความสว่างไสวแจ่มแจ้งรู้สึกสงบเย็นอะไรขึ้นมาปกติ คือหมดปัญหา ถ้ามีปัญหามันก็คือไม่ปกติ
ฉะนั้นขอให้สนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ แรกบวช ให้มันเข้าร่องเข้ารอย ให้มันเดินไปตามจุด ของการที่จะต้องทำ พูดถึงปัญหากันสักที เอ้า, ว่าปัญหานี่มันมาจากธรรมชาติที่เราควบคุมไม่ได้ นี้ก็พวกหนึ่ง ธรรมชาติแวดล้อมเรานะ ตามธรรมชาตินั้นนะที่เราควบคุมมันไม่ได้ เช่นว่ามันจะเกิดอะไรลงมา จะเกิดน้ำท่วม หรือจะเกิดไอ้พายุ หรือมันจะเกิดอะไร กระทั่งว่ามันจะเกิดมาจากไอ้สิ่งที่มนุษย์สร้างกันขึ้นมาเอง เครื่องอาวุธ เครื่องอะไรต่างๆที่เค้ากำลังประดิษฐ์ขึ้นมาจะทำลายโลก นี้ก็เรียกว่ามันอยู่ในพวกที่เราบังคับไม่ได้ ถ้ามันมาถึงเข้า เราก็หัวเราะเยาะว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง ถ้ามันตายก็ตาย ถ้ามันไม่ตายก็ดิ้นรนต่อสู้ต่อไปเป็นธรรมชาติที่บังคับไม่ได้ อ้อนวอนผีสาง เทวดา ที่ไหนอย่างไรเท่าไหน มันก็เป็นไปไม่ได้ มันก็มองเห็นว่า มันเป็นเช่นนั้นเองตามธรรมชาติ ในโลกนี้ แล้วเราก็มีจิตใจชนิดที่เห็นเป็นของเช่นนั้นเอง ก็เลยไม่ต้องเป็นทุกข์เหมือนกัน นี่เรียกว่าความรู้เรื่องนี้มันช่วยได้ ความรู้ไอ้ทั้งปวง มันเป็นเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง ถ้าพระเจ้ามีจริงก็อ้อนวอนพระเจ้า อย่าให้เป็นเช่นนั้นเองได้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีใครเคยประสบความสำเร็จ โลกมีปัญหายิ่งขึ้นทุกที จนเค้าลืมพระเจ้ากันจะหมดแล้ว
นี่เรียกว่าปัญหาข้อแรก คือมีตามธรรมชาติเป็นไปตามธรรมชาติ เช่นนั้นเอง ก็มีอยู่พวกหนึ่ง ซึ่งเราก็ไม่ต้องเสียใจ หรือก็ไม่ต้องกลัว ถ้ามันไปกระทบกันเข้าก็ไม่ต้องกลัว หัวเราะเยาะว่าเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง ขอให้ทุกคนจำไว้ ถ้าสิ่งที่มันเป็นไปตามธรรมชาติ ที่ป้องกันแก้ไขต่อสู้ไม่ได้ มันก็เช่นนั้นเอง หัวเราะเยาะให้กลับไปดีกว่า ไม่ต้องมาเป็นทุกข์ ร้องห่มร้องไห้ อะไรอยู่ เช่นมันจะต้องเจ็บ จะต้องไข้ จะต้องตาย อะไรอย่างนี้ก็มันเช่นนั้นเอง ถ้าเป็นทุกข์ มันก็เป็นทุกข์เสียเวลาเปล่าๆ รู้สึกว่ามันเช่นนั้นเอง ไม่ต้องเป็นทุกข์ ถ้าตายก็ตาย ตายโดยไม่ต้องเป็นทุกข์นั่นนะถูกต้อง ถ้าว่าระเบิดปรมาณูมันจะลงมาอย่างที่เค้าพูดๆกัน ก็หัวเราะเยาะไล่กลับไป ไม่ต้องมีความทุกข์ นี่ข้อแรก ที่ว่าปัญหามันเกิดจากธรรมชาติ ที่อยู่นอกเหนือการบังคับบัญชาของเรา มันก็ต้องไล่กลับไปด้วย เช่นนั้นเอง ภาษาบาลีเรียกว่า ตะ-ถะ-ตา ตถาตา แปลว่า เป็นเช่นนั้นเอง ศึกษาให้รู้ในข้อนี้ก็รู้ธรรมะชั้นลึกด้วยเหมือนกัน จัดว่ารู้ธรรมะชั้นลึกด้วยเหมือนกัน รู้ความเป็นเช่นนั้นเองของสิ่งทั้งปวงแล้วไม่เป็นทุกข์
ทีนี้ ปัญหา พวกที่ ๒ มันมีอยู่ในข้อที่ว่า เราไม่มีความรู้พอที่จะต่อสู้หรือป้องกัน การเกิดขึ้นแห่งความทุกข์ หรือว่าเราไม่มีความรู้พอที่จะ จะร้องว่าเช่นนั้นเอง ก็รวมอยู่ในข้อนี้ แต่ว่าโดยทั่วไป มันก็ มันไม่มีความรู้ที่จะควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไว้ให้ถูกต้อง ทุกคน มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนี้ จำไว้ให้ดีๆ เป็นแม่บทของการศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนา เรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่แล้วกันกับ รูป เสียง รส กลิ่น โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่อยู่ข้างนอก อยู่ข้างใน ๖ อยู่ข้างนอก ๖ นี่เป็นจุดตั้งต้นของการศึกษาธรรมะ อะไรๆมันขึ้นอยู่กับไอ้ ไอ้สิ่งทั้ง ๖ นี้ปฏิบัติผิดในสิ่งเหล่านี้ ต่อสิ่งเหล่านี้ มันก็เป็นทุกข์ ปฏิบัติถูกต้องต่อสิ่งเหล่านี้ ในสิ่งเหล่านี้ มันก็ไม่เป็นทุกข์
นี่ถ้าเป็นพุทธบริษัทมันมีหลักในการช่วยตัวเองอย่างนี้ ปฏิบัติถูกต้อง หรือ ปฏิบัติผิด ถูกต้องก็ไม่เป็นทุกข์ ผิดก็ต้องเป็นทุกข์ ฉะนั้นจึงมีข้อความชัดเจนในพระบาลีว่า สุขหรือทุกข์นี่ มิใช่เป็นผลของกรรมเก่า คุณอาจจะเคยได้ยินได้ฟังมาว่า ชาวบ้านเค้าพูดไปว่า หลักพุทธศาสนาว่าอะไรๆล้วนแต่เป็นผลของกรรมเก่า นั่นมันผิดเลย ผิดจังๆเลย ผิดกับพระพุทธภาษิตในพระบาลี ที่ตรัสว่า ไอ้สุขหรือทุกข์นี่มันมิได้เป็นผลของกรรมเก่า แต่มันเป็นผลของการปฏิบัติผิดหรือปฏิบัติถูกต่อธรรมะ ต่อกฎของอิทัปปัจจยตา เมื่อสุขหรือทุกข์นี้ไม่ได้เป็นผลมาจากการดลบันดาลของไอ้พระเจ้า ของ อี-ศะ-วะ-ระ อีศวร อี-ศะ-วะ-ระ นั้นก็แปลว่า พระเจ้า อิศรเหตุเพราะเหตุแห่งอีศวร ไม่ใช่ ไม่ใช่เพราะเหตุดลบันดาลนิมิตอะไรของอีศวรแต่เป็นผลของการปฏิบัติผิดหรือปฏิบัติถูกต่อสิ่งนั้นๆต่อธรรมะต่ออิทัปปัจจยตา แล้วก็ว่าจะถือว่าไม่มีเหตุก็ไม่ได้ สุขทุกข์จะถือว่าไม่มีเหตุ ไม่มีต้นเหตุ ไม่มีมูลเหตุก็ไม่ได้ แต่มันมีมูลเหตุในภายในในภายใน คือปฏิบัติผิดปฏิบัติถูกต่อธรรมะ ไม่ใช่เหตุภายนอกกรรมเก่าหรือว่าพระเป็นเจ้าที่ไหนบันดาล อย่างนี้นะมันไม่มี มันมีแต่การปฏิบัติผิดหรือปฏิบัติถูกต่อสิ่งนั้นๆ
ดังนั้นเราก็ต้องมีความรู้ เรื่องที่จะต้องปฏิบัติ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ให้ดีๆให้เพียงพอให้ครบถ้วนให้ถูกต้อง และความทุกข์จะไม่เกิดขึ้น นั้นถ้าเราปฏิบัติถูกต้องอยู่ตามกฎอิทัปปัจจยตา ไม่มีอะไรมาทำให้เป็นทุกข์ได้หรอก ถ้าสมมติว่าผลกรรมเก่าจะตามมา หรือผีสางเทวดาพระเจ้าที่ไหนจะดลบันดาล เราดำรงตนอยู่อย่างถูกต้อง ตามกฎของอิทัปปัจจยตา ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ ไม่มีทางที่จะเป็นทุกข์
หรือว่าถ้าว่าสิ่งเหล่านั้นมันจะทำให้เป็นสุข ก็ไม่เป็นสุขได้ถ้าเราปฏิบัติผิดต่อกฎของอิทัปปัจจยตา นั้นจงศึกษาเหตุ ปัจจัยทั้งหลายให้ดีๆ ปฏิบัติให้ถูกต้องตามเหตุเหล่านี้ ปฏิบัติผิดจะเป็นทุกข์ ปฏิบัติถูกจะไม่เป็นทุกข์ มันก็มีเท่านี้
เรื่องที่จะต้องศึกษาให้รู้ ให้เข้าใจเกี่ยวกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นนะเค้าเรียกว่าเรื่องอิทัปปัจจยตา ของข้างนอกคือรูปเป็นต้น มากระทบของข้างในคือตาเป็นต้น มันก็เกิดผัสสะ ถ้าในขณะผัสสะมันโง่ มันก็เกิดเวทนาโง่สำหรับจะหลงรัก หลงอยาก หลงโกรธ หลงเกลียด หลงกลัว มันก็เกิดอุปปาทาน มีตัวกู ผู้รัก ผู้โกรธ ผู้เกลียด ผู้กลัว แล้วมันก็ต้องเป็นทุกข์แหละช่วยไม่ได้ไม่มีอะไรช่วยได้
แต่ถ้ามีสติ ปัญญา รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นอะไร สิ่งนั้นเป็นธรรมชาติไม่ควรจะยึดถือ หมายมั่นเป็นตัวตน มันก็ไม่เกิดผัสสะโง่ ไม่เกิดเวทนาโง่ ไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดอุปปาทาน แล้วมันก็ไม่เป็นทุกข์ นี่แหละความรู้สูงสุดในพระพุทธศาสนา เรื่องอิทัปปัจจยตาหรือเรื่องปฏิจจสมุปบาท รู้สำหรับควบคุมการปรุงแต่งภายในจิต หรือกระแสการปรุงแต่งของจิต อย่าให้ผิดอย่าให้เป็นอวิชชา แต่ให้เป็นวิชชาเป็นปัญญาเป็นแสงสว่าง เป็นสติสัมปชัญญะ แล้วก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ เมื่อไม่ต้องเป็นทุกข์แล้วมันก็ควรจะพอใจแล้ว จะเอาอะไรกันนัก
นี้เรียกว่าเพราะเราไม่รู้เราจึงเป็นทุกข์ เพราะเราไม่รู้เราจึงปฏิบัติผิดไม่ถูกแล้วก็เป็นทุกข์ ถ้ารู้เสียก็ปฏิบัติถูกและไม่เป็นทุกข์ นั้นปัญหาข้อที่ ๒ ที่ว่าเพราะเราไม่รู้เรารีบทำให้รู้เสีย อย่าประมาท อย่ามัวประมาท อย่ามัวหลงใหลอะไรอยู่ รีบทำให้รู้ทำให้เข้าใจในเรื่องเหล่านี้เสีย
ที่ปัญหาที่ ๓ มาที่ว่าเราบังคับจิตไม่ได้ ทั้งที่เรารู้ รู้อยู่นี่ เราบังคับจิตไม่ได้ให้มันคงอยู่ในความถูกต้องไม่ได้ นี้มันต้องแก้ด้วยฝึกฝนการบังคับจิต การทำสมาธิ การทำวิปัสสนา นี่จะช่วยให้เราบังคับจิตได้ในที่สุด ก็ศึกษาสมาธิ ภาวนาไปตามลำดับตามลำดับ ทีละนิด ทีละนิด ทีละนิด จนกว่าจะสมบูรณ์ ถ้าเราฝึกสำเร็จอย่างนี้แล้ว ต่อไปเราก็บังคับจิตได้ บังคับให้อยู่ในร่องรอยที่ถูกต้องได้ บังคับให้ปล่อยวาง ให้ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดใดได้
นี่ ขอให้รู้ว่าปัญหามันมีอยู่อย่างนี้นะ ปัญหาของมนุษย์เรา ข้อที่ ๑ มันเป็นธรรมชาตินอกเหนือวิสัยควบคุมไม่ได้ เอ้า, ก็เช่นนั้นเองไล่กลับไปเช่นนั้นเองไม่ต้องเป็นทุกข์ ปัญหาที่ ๒ เกิดมาจาก ความที่เราไม่รู้เรื่องนั้นโดยแท้จริง เอ้า, ก็ศึกษาให้รู้ นี้ปัญหาที่ ๓ มาจากการที่เราไม่บังคับจิตได้ ไม่สามารถจะบังคับจิตให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ต้องฝึกฝน ศึกษา อบรมจิต ด้วยวิธีของสมาธิ ภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เรียกว่า อานาปานสติ ๑๖ ขั้น ถ้าฝึก Coach ทั้ง ๑๖ ขั้นแล้ว เราก็จะมีความรู้ที่ควรจะรู้ แล้วก็เรามีความสามารถที่จะบังคับจิตได้ตามที่ควรจะบังคับอย่างไร ถ้าไม่เคยปฏิบัติมันก็ไม่รู้ แต่ถ้าไปปฏิบัติเข้าก็จะรู้ เอ้อ, นี่มันเป็นเรื่องของการบังคับจิต เพื่อทำจิตให้มี สติ สมาธิ มีสัมปชัญญะ มีปัญญา มีญาณทัศนะ มีทุกอย่างที่มันเกี่ยวข้องกัน นั้นจึงขอให้สนใจเรื่อง การทำสมาธิ วิปัสสนา นั่นหละไว้ให้เต็มที่ ตามโอกาสที่ควรจะศึกษาและปฏิบัติได้
อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ เป็นเรื่องไม่สำคัญไร้สาระ และบางทีจะคิดว่าเรา อีกไม่กี่วันก็จะสึก จะลาสิกขา ไปเป็นฆราวาส จะมาศึกษาเรื่องสมาธิอยู่ทำไม นั่นนะคือความคิดที่มันผิด กลับกันกับความเป็นจริง เพราะว่าแม้เราจะกลับออกไปเป็นฆราวาส ปัญหาทั้ง ๓ นี้ก็ยังคงมีอยู่นะ ในชั้นนี้ฆราวาสหรือพระไม่ต่างกันหรอก จะมีความทุกข์ เพราะเหตุ ๓ อย่างนี้เสมอ
เราต้องเผชิญกับธรรมชาติที่เราบังคับไม่ได้ ต่อสู้ไม่ได้ ฆราวาสก็มีบรรพชิตก็มี เราไม่รู้สิ่งที่ควรจะรู้ ฆราวาสก็มีบรรพชิตก็มี เราบังคับจิตไม่ได้ ฆราวาสก็มีบรรพชิตก็มี เราจึงศึกษาธรรมเสียให้เพียงพอ นี่เป็นโอกาสที่จะฝึกฝนได้มากในระหว่างที่เป็นบรรพชิตเป็นนักบวชนี่ มันสะดวกที่จะศึกษา อบรม ฝึกฝน ก็ทำเสียให้พอ การรู้จักทำสมาธินั้น จะเป็นประโยชน์ตลอดชีวิต นะบอกให้รู้อย่างนี้ นั้นสนใจเรื่องจะทำสมาธิให้ได้ ตามที่จะทำได้มากที่สุด อย่างไร และจะใช้เป็นประโยชน์ได้จนตลอดชีวิต การบังคับจิตไว้ให้ได้นี่มีประโยชน์จนตลอดชีวิต ถ้าบังคับจิตไม่ได้มันก็จะต้องเป็นทุกข์จนตลอดชีวิต ที่มันรักษาไว้ในร่องรอยไม่ได้ ฉะนั้นอย่าเห็นเป็นเรื่องครึคระงมงายพ้นสมัยไม่จำเป็น เรื่องบังคับจิตให้ได้นี่ คือเรื่องทำสมาธินี่ จำเป็นตลอดกาลตลอดที่มีชีวิต ออกไปเป็นฆราวาส มันก็พบกับสิ่งที่ไม่อยู่ในวิสัยที่จะบังคับได้ บางทีก็เป็นเรื่อง คน คน กันนี่แหละ มันบังคับไม่ได้ มันเหลือวิสัยที่จะบังคับได้ มันก็ต้องเช่นนั้นเองกันบ้าง ก็เป็นธรรมชาติภายนอกมันก็เช่นนั้นเองกันบ้าง หรือมันเป็นเรื่องของบ้า หลังส่วนรวมที่ว่ามันจะล้างผลาญโลกนี้กันด้วยอาวุธปรมาณูอย่างนี้ ก็เตรียมตัวไว้หัวเราะเยาะอาวุธปรมาณู ไม่ต้องเป็นทุกข์ เมื่อเป็นสิ่งที่ต่อต้านไม่ได้บังคับไม่ได้มันก็ตาย ก็คือตาย แต่ไม่เป็นทุกข์ไม่เป็นทุกข์โดยเด็ดขาด นี้ใครจะรับประกันได้ว่า โลกนี้จะไม่มีสงครามปรมาณู บังคับไม่ได้ ถ้ามันมีมาจริงๆก็หัวเราะเยาะ ถ้าตายก็ตายอย่างไม่มีความทุกข์ ดับ ดับ ดับ ไปเงียบๆ เงียบๆ เหมือนกับไฟดับเท่านั้น นี่ขอให้รู้ไว้ถึงขนาดนี้ว่าในโลกนี้มันมีเรื่องที่บังคับไม่ได้อยู่เหนือวิสัยที่จะบังคับได้ เป็นปัญหาอยู่ เป็นพื้นฐาน โดยพื้นฐาน เป็นข้อแรกโดยพื้นฐาน เราจะอยู่เป็นฆราวาส หรือจะอยู่เป็นบรรพชิต หรือจะกลับไปเป็นฆราวาส ปัญหานี้มันก็ยังมีอยู่นั่นแหละ มองดูเถอะ
ทีนี้ปัญหาที่ว่า เราจะต้องรู้สิ่งที่ควรรู้ นี้ก็เหมือนกันอีก ฆราวาสมันก็ต้องรู้สิ่งที่ควรรู้ ไม่เช่นนั้นมันจะต้องร้องไห้ต้องเป็นทุกข์มากเกินไป แม้เด็กๆมันก็จะต้องมีความรู้เรื่องนี้ มันจึงจะร้องไห้น้อยหน่อย เด็กที่มันโง่มันก็ร้องไห้จะเอานั่นเอานี่ เมื่อไม่ได้มันก็ร้องไห้จะเอานั่นเอานี่ เมื่อสูญหายไปแตกสลายไปมันก็ร้องไห้ นี้มันเป็นความโง่เต็มไปด้วยความโง่ เรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นนะเป็นเรื่องที่สำคัญ เค้ามักจะพูดกันว่าเด็กๆไม่ต้องรู้ ไว้คนแก่ คนอายุมาก จึงจะศึกษาเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น พอผมก็เอาเรื่องเหล่านี้มาสอนโดยทั่วๆไป คนทั่วๆไปเค้าก็หาว่าทำผิดแล้ว ความจริงนะมันทำถูกที่สุดที่จะสอนเรื่องสำคัญที่สุด คือเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น แม้แต่เด็กๆก็ควรจะรู้จักความไม่ยึดมั่นถือมั่น เพื่อว่าเมื่อของตกแตกเสียหาย ของรักตกแตกสูญหายก็ไม่ต้องร้องไห้ หรือเมื่อสอบไล่ตกก็ไม่ต้องร้องไห้ไม่ต้องฆ่าตัวตาย หรือเมื่อผิดหวังใดใด ก็ไม่ต้องร้องไห้ไม่ต้องฆ่าตัวตาย คนหนุ่ม คนสาว มีกำลังใจรุนแรง รวดเร็ว มันก็ฆ่าตัวตายได้ง่าย ถ้ามันรู้เรื่องนี้มันก็ไม่ต้องฆ่าตัวตาย ทีนี้พ่อบ้านแม่เรือนลูกหลานเต็มไปหมด มีภาระมากยึดมั่นถือมั่นมากเกินไป จนเป็นโรคประสาทจนต้องตาย กลุ้มใจขึ้นมาก็ฆ่าตัวตาย เพราะว่าเรื่องในครอบครัวมันเป็นไปไม่ได้อย่างนี้ก็มี ก็ฆ่าตัวตายเพราะมันไม่รู้เรื่องนี้ คนแก่คนเฒ่าจะเข้าโลงแล้วก็ไม่รู้จะไปทางไหน ยึดมั่นถือมั่นเรื่องเบื้องหลังอะไรอยู่ไม่มีที่สิ้นสุด มันก็หาความสงบสุขไม่ได้ มันก็ต้องตายไปอย่างทนทรมาน คือด้วยความไม่อยากตาย
จนกระทั่งแม้เป็นฆราวาสก็จะต้องมีความรู้เรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่นอย่างเพียงพอ จะไม่ต้องบ้าดี บ้าได้ บ้าบุญ บ้าอะไร จนหลงใหล ไอ้เรื่องบ้าดีนั้นนะ บางทีจะเป็นบ้าที่ร้ายกว่าบ้าตามธรรมดา ก็มันเข้าใจได้ยาก เพราะใครๆเขาสอนว่า เป็นสิ่งที่ควรได้ ควรมี ควรสะสม ควรอะไรต่างๆ ก็เลยบ้าดี บ้าบุญ บ้ารวย บ้าสวย บ้าเกียรติยศ อำนาจ วาสนา ก็เป็นเรื่องบ้า ไม่ได้อย่างใจก็ยินดีฆ่าตัวตาย เลยไม่มีประโยชน์อะไรในการที่เกิดมา นั้นขอให้รู้ไว้ว่า รู้ไว้บ้างว่ามันเป็นอย่างนี้
ที่เรื่องบังคับจิตไม่ได้ ระหว่างฆราวาสนั่นแหละ เป็นปัญหามากที่สุด เพราะว่า ฆราวาสมีเรื่องมากมีเรื่องมากกว่า นักบวชหลายร้อยหลายพันเท่า นั้นการที่ต้องบังคับจิตมันก็มีมากกว่า มีมากกว่าผู้บวช ฆราวาสมีเรื่องที่จะต้องบังคับจิตมากกว่าอยู่ที่วัดเป็นนักบวช ซึ่งมีเรื่องน้อยมีเรื่องที่บังคับจิตน้อย ฆราวาสมันอยู่ท่ามกลางไอ้ความแวดล้อมของสิ่งทั้งหลายมากมาย ล้วนแต่ถ้าบังคับจิตไม่ได้แล้วก็จะต้องเป็นทุกข์ การบังคับจิตให้ได้จึงจำเป็นสำหรับฆราวาส ก็ขอให้ฆราวาสสนใจเรื่องบังคับจิตกันบ้าง ตามที่โอกาสหรือเวลามันจะอำนวย จะศึกษาสมาธิ ภาวนากันบ้าง คือการ บังคับจิตขึ้นมาทีละน้อย ทีละน้อย จนสามารถบังคับจิตได้พอสมควร เอาว่าพอสมควรก็แล้วกัน จะบังคับจิตได้ทุกอย่าง ถึงที่สุดมันอาจจะมากเกินไป เอาแต่เพียงพอสมควร ไม่ต้องร้องไห้บ่อยนัก ไม่ต้องกินยาตาย ไม่ต้องโดดน้ำตายมันก็ยังดีนะ นี่เรียกว่า บังคับจิตได้ ปัญหาที่เกิดเพราะบังคับจิตไม่ได้มันก็จะหมดไป หมดไป
นี่เลือกขึ้นมาพูด ๓ เรื่อง เพื่อความสะดวก เพื่อความง่าย ในการที่จะเข้าใจ ที่จะศึกษา ว่าเราต้องต่อสู้กันกับธรรมชาติที่เราบังคับมันไม่ได้ เราต้องต่อสู้กับความโง่ ความไม่รู้ของเราเอง จึงทำให้เป็นทุกข์ เจ็บปวด ทนทรมาน แล้วเราก็ต้องต่อสู้กับการที่เราบังคับจิตไม่ได้ ผลร้ายมันเกิดขึ้นมาหลายอย่าง หลายประการ เพราะเหตุนั้น เราก็ต่อสู้ให้ได้ จึงหวังว่าทุกคนนี้ จะเข้าใจเรื่องนี้ แล้วก็จะไม่ประมาท ไม่ประมาทเกี่ยวกับเรื่องนี้ แล้วก็จะยอมให้เวลาไม่เสียไปเปล่าๆ จะใช้เวลาเกี่ยวกับเรื่องที่ว่านี้ ให้ได้ ให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้
เมื่อเราทำวัตรสวดมนต์นี่มันก็มีเรื่องที่ ทำให้รู้ ไอ้สิ่งเหล่านี้ได้มาก เอ้า, ขอให้พยายามสวดมนต์ด้วยความเข้าใจความหมายของเรื่องที่สวด ก่อนหน้านี้ ตอนแรกๆเราทำไม่ได้ เพราะเรายังทำไม่ได้ เราต้องระมัดนะวังอ่านให้ถูก อะไรให้ถูก มันก็ไม่ค่อยจะมีสมาธิ ถ้าเราสวดมนต์หลายวัน หลายสิบวันเข้ามันก็สวดคล่อง จิตใจมันก็มีโอกาสที่จะกำหนดความหมายของคำที่สวด ตอนนี้ก็ ก็กำหนดได้ นี่มันก็ทำให้ได้ยินได้ฟังเรื่องที่ว่า บังคับไม่ได้ เรามีความเกิดเป็นธรรมดา เรามีความแก่เป็นธรรมดา ตายเป็นธรรมดา เราก็ไม่เป็นทุกข์เพราะเรื่องเหล่านี้ แต่เราก็จะมีความรู้เรื่อยๆไปศึกษาเรื่อยๆไปจนว่าจะอยู่เหนืออิทธิพล ของสิ่งเหล่านี้ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ไม่ต้องทำให้เรามีความทุกข์อีกต่อไป นั้นเราจะวิเศษประเสริฐที่สุดกันตอนนั้นแหละ เป็นพุทธบริษัทสมบูรณ์กันตอนที่ว่า อยู่เหนืออำนาจของความ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ทำให้เป็นทุกข์ได้ หรือว่าทำให้ได้ยินได้ฟัง ไอ้ของใหม่ๆ แปลกๆออกไปในการสวดมนต์ แล้วมันยังมีความลับอย่างยิ่งอยู่ข้อหนึ่งว่า เมื่อเราสวดตอนแรกๆนั้น เราจับความหมายไม่ค่อยได้หรอก พอเราจำได้คล่องเราสวดได้คล่อง เราก็จับความหมายได้มากเข้า มากเข้า ลึกเข้า ลึกเข้า กว้างขวางเข้า ฉะนั้นอย่าเข้าใจว่าการสวดมนต์แล้วมันจะย่ำเท้าอยู่อย่างนั้น ถ้าการทำวัตรสวดมนต์ทำไปด้วยความตั้งใจโดยแท้จริง แล้วมันจะขยายออก ขยายออก ก็จะมีความรู้กว้างขวาง ลึกซึ้ง ในคำที่สวดในเรื่องที่สวดนั่นแหละ ตอนแรก บวช ตอนแรกสวดนั่นมันยังงงไปหมดหละ แม้แต่จะจำก็ยังจำไม่ได้ มันก็สวดไม่ได้ก็มีปัญหา อึกอัก อึกอัก ตอนที่จะสวดให้ได้
ครั้นสวดได้แล้วมันก็จะได้มีโอกาสศึกษา ศึกษาเนื้อหา เนื้อความของเรื่องที่สวด การศึกษาเห็นชัดว่าเป็นอย่างไรแล้วก็ขอให้กำหนดให้ละเอียด ให้กว้างขวางออกไป ลึกซึ้งออกไป สุขุมประณีตออกไป นี่มันจะช่วยได้ให้เกิดความสว่างไสวแจ่มแจ้งในสิ่งที่เราไม่รู้ ในสิ่งที่เราไม่รู้ เราจะได้รู้ยังไงละ
ทีนี้พอมาถึงไอ้เรื่องบังคับจิตได้ มันก็เป็นการบังคับอยู่ในตัวนะ เราบังคับไม่นอนขี้เกียจอยู่ ให้มาสวดมนต์นี่ก็บังคับได้ แล้วมานั่งสวดมนต์เราก็บังคับให้สวดอย่างดีที่สุด ไม่ให้มานั่งเหม่อๆลอยๆ นี่ก็เป็นการบังคับจิตได้ เป็นการทำสมาธิพร้อมกันไปในตัวในการสวดมนต์นั้น แล้วเพิ่มพูนปัญญา ปัญญาความรู้พร้อมกันไปในตัว ในการที่ทำวัตรสวดมนต์นั้น มันก็แก้ปัญหาได้หมด ด้วยการฝึกฝนเพื่อจะแก้ปัญหา ๓ อย่าง ๓ ประการนั้นได้หมด
ปัญหาเกิดจากธรรมชาติ ปัญหาที่เกิดจากความไม่รู้ของเรา ปัญหาที่เกิดจากการบังคับจิตไม่ได้ นี่ขอให้เห็นเป็นเรื่องที่มีค่าอย่างยิ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์ แล้วเราควรจะได้รับ ได้รู้ ได้สามารถ ในการที่จะทำอย่างนั้นให้ได้เสียตั้งแต่ในระหว่างที่บวช บวชนี่ออกมาหาสิ่งที่ประเสริฐที่สุดสำหรับจะกลับไปใช้ เมื่อลาสิกขาไปเป็นฆราวาสอีกครั้ง ฉะนั้นอะไร อะไร ที่มันจะใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ก็รีบสนใจ ศึกษา รวบรวมเอาไว้ เอาไปใช้ให้ได้ ก็จะไม่เสียทีบวช ถ้าอย่างนั้นก็จะไม่คุ้มค่า ไม่คุ้มแม้แต่ค่าผ้าเหลืองที่เอามา ซื้อหามาบวช ไม่คุ้มแม้แต่ค่าผ้า อย่าว่าจะคุ้มถึงเรื่องอื่นๆที่ต้องใช้จ่ายมากมายเลย หรือว่าชีวิตมันก็เปลืองเข้าไป เปลืองเข้าไป แต่ละวัน ละเดือน ละปี เปลืองเข้าไป มันก็ไม่คุ้มค่า ขอให้สนใจ สนใจแต่เรื่องที่จะทำให้มันคุ้มค่า ให้ชีวิตมันคุ้มค่า ให้การเป็นมนุษย์มันคุ้มค่า ให้การบวชมันคุ้มค่า ให้มันมีกำไร เรียกว่า มีกำไรในทางธรรมะ
นี่เรียกว่าวันนี้เราพูดกันถึงเรื่องปัญหาของมนุษย์ ที่มนุษย์จะต้องสะสาง ๑ สามารถเผชิญหน้ากับเรื่องของธรรมชาติ ที่มันอยู่เหนือการบังคับของเรา แต่มันไม่ทำให้เราเป็นทุกข์ได้ เราเผชิญหน้าได้อย่างนี้ ไอ้ปัญหาที่เกิดมาจากความไม่รู้เราก็ทำให้มันรู้เสีย ก็เอาชนะได้ และปัญหาที่เราบังคับจิตไม่ได้ให้คงที่อยู่ไม่ได้ก็ฝึกฝนจนบังคับจิตได้
ในวันหลังๆเราจะพูดกันถึงเรื่องนี้เป็นพิเศษ ในตอนแรกๆนี้ก็พูดถึงเรื่องที่มันเป็นเค้าเงื่อนเกี่ยวข้องโยงใยกันอยู่ ในสิ่งที่เรียกว่า ชีวิต หรือความเป็นมนุษย์ หรือความมีปัญหาอยู่ในโลกนี้มันโยงใยกันอย่างไร ให้มันรู้ ให้มันแจ่มแจ้ง แล้วก็ค่อยหยิบขึ้นมาเฉพาะจุด เฉพาะเรื่อง เฉพาะปัญหา มาศึกษาให้ละเอียดให้สิ้นเชิง เช่น ว่าเรื่องบังคับจิตให้ได้ นี่ ยังจะต้องพูดกันอีกมาก ถ้าบังคับจิตได้ก็บังคับโลกนี้ได้ โลกนี้จะมาในแง่ไหนเราไม่เป็นทุกข์ ถ้าเราบังคับจิตได้ อย่างนี้ก็เรียกว่าบังคับโลกได้ คือโลกทั้งหลายไม่สามารถจะทำให้เป็นทุกข์ได้ มันแกร่งถึงอย่างนั้น
เอาละ, เป็นอันว่าช่วยกันรู้จักปัญหาให้แท้จริงเสียก่อน อย่าพูดแล้วลืมไปพูดแล้วเลิกกัน พูดแล้วก็หายไปในอากาศ ขอให้คำที่พูดนี้มันไปอยู่ในห้วงสำนึกในการศึกษาของคุณ และก็ไม่ใช่อยู่ในสมุดที่จดไว้ มันต้องกลายไปเป็นอยู่ในห้วงนึกคิดเป็นสมุดเล่มข้างในอีกเล่มหนึ่งที่ไปอยู่ในเล่มนั้น แล้วก็ไม่มีวันลืมไม่มีวันเลือน ศึกษาทุกสิ่ง ออกมาจากภายใน แก้ปัญหาเหล่านั้นให้ได้ ปัญหาก็จะหมดไป
เอาละ, เรื่องที่จะพูดวันนี้ก็มีเท่านี้ ทีนี้เวลาที่เหลือต่อไปนี้ ใครจะถามปัญหาอะไรบ้างก็ได้ เพราะมันก็พูดกันมา หลายวันแล้ว ใครมีปัญหาก็ถามได้เลย ปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องความทุกข์ความดับทุกข์ที่เกี่ยวกับธรรมะ ที่เกี่ยวกับชีวิต ที่เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ของเรานั้นนะ ปัญหาอะไรมีอยู่ก็ถามได้
ไอ้เวลาที่เราสงบจิตก่อนนอนก็ดี ตื่นนอนใหม่ๆก็ดี อะไรก็ดี มันมีเวลาว่างสักขณะ ขณะ เมื่อไหร่ก็พยายามใช้ให้เป็นประโยชน์ คือนึกตรึกตรองเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้
มีปัญหาอยู่ในความรู้สึกแล้วหลับไป หลับไป ตื่นขึ้นมาบางทีคำตอบออกมาด้วย อย่างนี้ก็มีได้ไม่ใช่มีไม่ได้ เพราะในขณะที่หลับมันปรับปรุงตัวมันดี จิตใจมันสามารถที่จะพบคำตอบหรือให้คำตอบอะไรก็ได้ ถ้าเรามีปัญหาที่มีประโยชน์ ปัญหาที่มีประโยชน์นะที่จำเป็นไว้ประจำใจอยู่ แล้วก็ต้องการคำตอบอยู่ ทำจิตให้ดีๆเมื่อไร มันก็ตอบมาเอง หรือแม้ที่สุดบางอย่างบางเรื่องนอนหลับไปแล้วมันตื่นขึ้นมาก็ตอบได้เองก็มี นี่คุณอาจจะไม่เคย ไม่เคยทราบ ผมบอกให้ทราบว่ามันมีได้ นั้นสำรวมร่างกาย จิตใจ วาจา เป็นอยู่ให้ถูกต้อง อย่างถูกต้องของความเป็นพระเป็นเณร นี้อย่าให้ติเตียนตัวเองได้ ให้ยกมือไหว้ตัวเองได้อยู่เสมอ ร่างกายจิตใจชนิดนี้มันจะตอบปัญหาได้เอง แม้กระทั่งเวลาหลับไปตื่นขึ้นมา คำตอบมาหมดแล้ว หรือเมื่อไรจิตมันตั้งมั่น มั่นคง กลมกลืนกันดี กลมกล่อมกันดี ปัญหามันก็ออกมาได้ ตอบปัญหาออกมาได้เอง โดยเฉพาะเวลาเดินไปบิณฑบาต อย่าเดินเล่น อย่าเดินคุย อย่าเดินสรวลเสเฮฮา เดินด้วยสติสัมปชัญญะ บางทีไอ้คำตอบของปัญหาก็ผุดออกมา เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องคาดคะเน เป็นเรื่องที่เคยเผชิญมาแล้ว
ผมไปเดินบาตร บิณฑบาตแรกๆมาอยู่ทีนี้ เดินไป ๑ ชั่วโมง กลับ ๑ ชั่วโมงนี่ ต้องผ่านป่านี้ไปสุดบ้าน หมู่บ้านทางนู้น ระหว่างที่เดินผ่านป่าผ่านนี้จิตใจกลมกล่อมเป็นสมาธิ ก็คิดคำตอบได้เอง หรือความคิดใหม่ๆก็เกิดขึ้นมา กลัวจะลืมก็เขียนใส่ฝ่ามือไว้ โดยเอาดินสอใส่กระเป๋าไปด้วยมีกระดาษด้วย ถ้าคิดอะไรออกก็เอาขึ้นมาก็เขียน ใส่เศษกระดาษถ้าไม่มีเศษกระดาษเขียนใส่ฝ่ามือ มาถึงวัดก็รีบลอกรีบคัดรีบบันทึกให้มันสมบูรณ์ มิฉะนั้นมันก็จะลืมเสีย นี่บอกให้รู้ว่าแม้เวลาไปบิณฑบาตจิตก็เป็นสมาธิดีกว่าเวลาธรรมดาก็ได้ แม้ที่สุดจะมานั่งอยู่ในส้วมในฐานจิตก็รวมกำลังดีเหมือนกัน บางทีก็คิดอะไรออกได้ในเมื่อนั่งอยู่ในส้วมบนฐานส้วมนั้นนะมันก็มีได้ ฉะนั้นระวังให้เวลามันเป็นประโยชน์อย่าประมาทอย่าหลงใหล อย่าเพ้อเจ้ออย่าเหลิงเจิ้ง ควบคุมจิตให้ถูกต้อง มีความเป็นพระเป็นเณรอย่างถูกต้อง เป็นโอกาสที่จะให้ธรรมะกระจายขยายตัวออกมาได้ คือมันมีความเป็นสมาธิโดยไม่รู้สึกตัว แล้วมันก็เกิดคำตอบของปัญหาต่างๆขึ้นมา นี่ก็ขอให้รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วย ปัญหาต่างๆก็จะค่อยๆหมดไป
เอาสิ ใครมีปัญหาอะไรก็ว่าไป ถ้าวันนี้ไม่มีวันหลังก็เตรียมมาสิ อะไรที่มันเป็นปัญหาที่จำเป็นที่สำคัญ ที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์ ดับทุกข์ได้เตรียมมา เป็นเวลาที่จะสนทนา เรียกว่าอบรมสั่งสอนด้วย สนทนาด้วย ตอบปัญหาด้วย ในเวลาอย่างนี้
(55:49) ถาม:
กระผมมีปัญหาเรื่องการทำสมาธิว่า ในการเริ่มทำสมาธิจะต้องเตรียมตัวพื้นฐานนั้น เพราะว่าเท่าที่ทำๆมา ทำไปเรื่อยๆมันก็สงบดี ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รู้จะ ไม่ทราบว่ามีการเตรียมตัวอะไรไหม
ตอบ :
ศึกษาเรื่องของสมาธิให้เพียงพอ ศึกษาโดยหนังสือหรือโดยอะไรก็สุดแท้ ให้เข้าใจเรื่องสมาธิอย่างถูกต้อง แล้วก็ลองทำดู พอทำดูจะไม่สำเร็จจะฟุ้งซ่านแล้วก็ไม่ยอมแพ้ ทำอีก ทำอีก ทำอีก ทำอีก ทำอีก ไม่ยอมแพ้ ไอ้ความฟุ้งซ่านหรืออะไรอุปสรรคนั้นจะค่อยๆหายไปเอง ค่อยเข้ารูปเข้ารอยแล้วทำไปได้ อย่างนี้เป็นธรรมดาที่สุด จะทำครั้งแรกทีเดียวให้สำเร็จให้ควบคุมสมาธิได้นั้นมันเป็นไปไม่ได้ บังคับจิตให้เป็นสมาธินี่ยาก ลำบาก แต่ไม่เหลือวิสัย คือทำเรื่อยๆไป มันก็ค่อยๆได้ บางทีขี่รถจักรยานจะลำบากเสียกว่ากระมัง ขี่รถจักรยานที่มันล้มเก่งมันจะลำบากกว่าทำสมาธิ แต่เราขี่กันได้ ทำจนขี่รถจักรยานได้ เพราะว่าเรามันทำจริง เพราะว่าเราทำอีก เพราะว่าเราทำอีก หกล้มก็ทำอีก หกล้มก็ทำอีก ถ้าหกล้มครั้งแรก เลิก มันก็เลิกกันมันก็ไม่ต้องได้ การทำสมาธินี้เหมือนกัน ครั้งแรกมันก็จะไม่ได้อย่างว่านั่นล่ะ จะไม่ได้อย่างว่า บังคับจิตให้กำหนดลมหายใจ ออก เข้า ออก เข้า ออก เข้า นี่มันยังทำไม่ได้ แต่ถ้าทำให้มันหลายครั้งเข้า บังคับให้จริงจังเข้า มันก็ต้องได้
นั้นคำตอบในที่นี้ก็คือว่า พยายามทำอีก แล้วมันจะสอนในตัวเอง ไอ้การขี่รถจักรยานแล้วล้มนะ ไม่มีใครสอนได้ อย่าพูดให้โง่ ไอ้ที่มาสอนคนให้ขี่จักรยานได้นั้นมันเป็นพูดไม่จริง เพราะว่าไอ้การล้มนั้นแหละมันสอน การล้มนั่นแหละมันสอน คนไหนจะมาสอนได้ ฉะนั้นขอให้ทำ การกระทำนั้นมันก็สอน ฉันก็สอนได้แต่ให้เพียงให้กระทำเท่านั้น ถ้าเป็นปัญหาเล็กน้อยก็พอจะบอก ให้แก้ไขได้ แต่ว่าที่จะสอนกันให้เป็น ให้สำเร็จนั้นมันคือตัวการกระทำ นั่นเอง กระทำไป กระทำไป ไม่ยอมแพ้ และก็ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องครัด ไม่ต้องโกรธ ไม่ต้องอะไรหมด ทำไปอย่าง ใจเย็นๆ บางทีต้องทำเหมือนอย่างกับทำเล่น ทำไปคือจะไปเกิดความเครียดครัด ขึ้นมา แล้วมันก็ค่อยสอนให้ สอนให้ สอนให้ จนทำได้
นี่สรุปความว่าไอ้เรื่องสมาธินี้ ต้องศึกษามันให้เข้าใจแจ่มแจ้ง แล้วจึงทำ พอทำแล้วมันไม่ได้ก็ต้องทำอีก ไม่ได้ทำอีก ไม่ได้ทำอีก มันก็ค่อยๆได้ ค่อยๆได้ ไม่เชื่อก็ไปลองดู
อย่าว่าแต่ขี่รถจักรยานแม้แต่พายเรือนะ ใครไม่เคยพายเรือ ลองไปลงพายเรือดูซิ ทั้งที่เห็นๆอยู่ว่าพายอย่างนั้น พายอย่างนั้น ก็พายไม่ได้หรอก มันก็ต้องพาย เก้ๆกังๆ กันไปหลายๆวัน แล้วก็ค่อยๆได้ ค่อยๆได้ ค่อยๆได้
พายเรือจิตนี้ก็เหมือนกัน ก็ต้องค่อยๆทำไปหลายๆ หลายๆวัน ค่อยรู้เท่า ค่อยรู้เท่า ค่อยรู้เท่า ก็ค่อยๆได้ ขี่รถจักรยานจิต นี่ก็เหมือนกัน ค่อยๆทำไปสอนกันไปในตัว เวลาก็พอสมควรแล้ว วันนี้ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้