แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เริ่มถอดความ ท่านที่เป็นนักศึกษาและเพื่อนสหธรรมิกทั้งหลาย ผมก็ขอถือโอกาสนี้ ถวายข้อคิดนึกหรือความรู้บางอย่างบางประการ นอกหลักสูตรตามเคย พูดกันที่นี่ก็ถือว่าเป็นแบบวัดป่า พระเถื่อน สงวนไว้ซึ่งเสรีภาพที่จะพูดอะไรได้ ตามอิสระ และบางทีก็ตามที่จะนึกออก ผมก็ขอเรียนท่านทั้งหลายว่าอย่างนี้ว่าตามที่จะนึกออก เพราะมันไม่เป็นหลักสูตร เรื่องที่เคยคิดเคยนึก เห็นว่ามีประโยชน์ที่จะมาบอกกล่าวกัน ก็จะเอามา แม้ที่สุดแต่ ข้อที่ว่า เป็นเพื่อนสหธรรมิกด้วยกัน ท่านบางคนอาจจะคิดว่าแตกต่างกันโดยอายุโดยอะไรต่างๆ มากมายจะเป็นเพื่อนกันอย่างไร ขอให้เลิกความคิดชนิดนั้นเสีย เรายังเป็นเพื่อนประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกันอยู่ในพระพุทธศาสนา แม้แต่ในรูปของแบบการศึกษา เราก็เป็นเพื่อนกัน ถือว่า การศึกษาเป็นการปฏิบัติส่วนหนึ่ง สงเคราะห์อยู่ในการปฏิบัติธรรม ก็เป็นเพื่อนปฏิบัติธรรม เป็นเพื่อนสหธรรมิกปฏิบัติธรรมะร่วมกัน ถ้าจะเลยไปถึง คำว่าเป็นบุตรตถาคตด้วยกัน นี่ก็เข้าใจว่าคงไม่มีใครปฏิเสธ คงไม่มีใครนึกถึงความแตกแยกหรือความเหลื่อมล้ำ และขอให้สนใจคำๆ นี้ไว้ด้วย มันจะป้องกันปัญหาได้มาก คือว่าเราถือว่า เราเป็นบุตรตถาคตด้วยกัน มีหน้าที่สนองพระพุทธประสงค์ แก่พระพุทธบิดาร่วมกัน เราก็มีหรือควรจะมี สิทธิจะพูดจาอะไรกันได้อย่างอิสระ ตอนนี้นึกออกว่า ผมควรจะพูดถึงคำว่า ตถาคตเป็นเรื่องพิเศษ เรามักจะเข้าใจคำว่า ตถาคต คำนี้หมายถึงพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ตรัสถึงพระองค์เอง จึงไม่ค่อยจะพบในบาลี ตรงกับตรัสภาษาคนธรรมดาว่าเรา เรา อหํ เรามาบัญญัติกันเอาเองว่าหมายถึง พระพุทธเจ้า ให้คำอธิบายว่า มาอย่างพระพุทธเจ้า ไปอย่างพระพุทธเจ้า ก็เลยเป็นตถาคต แต่ผมมาสังเกตเห็น เงื่อนงำอะไรบางอย่างแปลกออกไปว่า คำว่าตถาคตนั้น ไม่ได้หมายถึงพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ และก็ไม่ได้มีความหมายเป็นสัตว์ทั่วไป โดยเฉพาะ ว่าสัตว์มาอย่างไร ไปอย่างนั้น ในคำอธิบายอันตคาหิกทิฏฐิสิบในโรงเรียน ใช้คำว่า ตถาคต ตถาคตตายแล้วมีอีกหรือไม่ ตถาคตตายแล้วไม่มีอีกหรือไม่ ใช้คำว่าตถาคต มักจะอธิบายกันว่าสัตว์ ผมเห็นว่าคำว่าตถาคตนี่มิได้หมายถึงเฉพาะพระพุทธเจ้า และก็ไม่อาจจะหมายถึงสัตว์ทั่วไปด้วย เมื่อก่อนผมเรียน หรือเป็นครูก็สอนอย่างนั้นแหละ สอนอย่างที่ครูเคยสอน แต่เดี๋ยวนี้มีความเห็นว่าควรจะพิจารณากันใหม่ คำว่าตถาคต เอาตามตัวหนังสือเลย ตถาหรือตถะก็ได้ ตถาก็ได้ คำเดียวกันแหละ แล้วก็ คตะผู้ถึงตถา ผู้ถึงซึ่งตถา ผู้ถึงซึ่งตถาก็คือผู้ถึงซึ่งธรรมะที่เป็นเช่นนั้นเอง คือไม่มีตัวตน ปราศจากความหมายแห่งตัวตน ในพระบาลีมีไวพจน์ มีไวพจน์หลายคำว่า ตถา อวิตถา อนัญญถา คือเป็นอย่างนั้นไม่ผิดจากอย่างนั้น ไม่เป็นโดยประการอื่นจากความเป็นไปอย่างนั้น แล้วก็ระบุไปยังอิทัปปัจจยตา คือเป็นไปตามกฏอิทัปปัจจยตานั่นแหละ เรียกว่าตถา เมื่อถึงซึ่งธรรมะในระดับที่เป็นเพียงอิทัปปัจจยตา ไม่มีตัวตน แล้วก็สิ้นกิเลส สิ้นอาสวะ ดังนั้น จึงเชื่อว่า คำๆ นี้ หมายถึงพระอรหันต์ ไม่ใช่หมายถึงเฉพาะพระพุทธเจ้า และก็มิได้หมายลงมาถึงสัตว์ทั่วไป เพราะว่าสัตว์ทั่วไปมิได้ถึงซึ่งตถา ตถาคือธรรมะสูงสุด ธรรมะคงที่ ธรรมะเหนือเหตุเหนือปัจจัย แต่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายท่านถึงสิ่งซึ่งที่เรียกว่า ตถา และก็เลยได้นามว่า ตถาคต เค้าเงื่อนทางมหายาน เท่าที่สังเกตดู ดูเหมือนจะมุ่งอธิบายอย่างนี้เหมือนกัน ในเรื่องอันตคาหิกทิฏฐิวัตถุสิบ ที่ว่าตถาคต โหติ ตถาคโต ปรมฺมรณา ตถาคตคำนั้นไม่ได้แปลว่าสัตว์ แต่แปลว่าผู้ที่ถึงที่สุดแห่งการปฏิบัติในศาสนานั้นๆ แล้ว ถ้าใช้ในพระพุทธศาสนาก็หมายถึงพระอรหันต์ แม้จะใช้ในศาสนาอื่น เขาก็มีพระอรหันต์ตามแบบของเขา ขอให้เข้าใจด้วยว่า คำว่าอรหันต์นี้ในศาสนาอื่นเขาก็มีใช้เป็นพระอรหันต์ตามแบบบัญญัติของเขา คือผู้ใดถึงที่สุดแห่งการปฏิบัติพรหมจรรย์ของเขา ของเขา ตามลัทธิ แล้วก็เรียกว่าถึงตถา แล้วก็เลยเป็นพระอรหันต์ตามแบบของเขา ที่นี่มันเกิดเป็นปัญหากลางบ้านขึ้นมาคือทั่วไปหมด ที่สงสัยว่าตถาคตผู้ที่ถึงตถาแล้ว ตายแล้วจะมาเกิดอีกหรือไม่ เป็นเหตุผลที่ชัดเจนดีมาก ถ้าเป็นคนธรรมดาก็ไม่ต้องถาม ถ้าเป็นพระพุทธเจ้ามันก็แคบ แคบไป เลยเอาว่าผู้ที่เป็นพระอรหันต์ถึงที่สุดจบพรหมจรรย์แล้ว ตายแล้วจะมีอีกหรือไม่ ผมก็อยากจะถือเอาความหมายคำว่าตถาคต คือผู้ถึงซึ่งตถา ได้แก่พระอรหันต์ทั่วไป ถ้าเป็นทิฐิของความสงสัย ก็ว่าพระอรหันต์ตายแล้วมีอีกหรือไม่ หรือว่าไม่มี อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้น คำว่าบุตรตถาคต ควรจะหมายถึงลูกของพระอรหันต์มากกว่า มันก็ยิ่งกว้างออกไป ความหมายยิ่งกว้างออกไป เป็นบุตรตถาคต เป็นลูกของพระอรหันต์ ขอฝากไว้ให้ไปคิดดู ว่ามันเงื่อนงำทางธรรมะ ทางอัตถะนั้น มันก็มีซับซ้อนหลายชั้น ดังนั้น วันนี้ คำบรรยายวันนี้ก็อยากจะพูดถึงเรื่อง ในความซับซ้อนของเรื่อง หรือของถ้อยคำ หรือของปัญหาแต่ละปัญหา ความลึกลับซับซ้อนของเรื่อง แต่ละเรื่องของธรรมะ แล้วก็จะพูดถึงเรื่องที่สำคัญที่สุด คือเรื่องหรือสิ่งที่เรียกว่า ธรรมนั่นเอง ธรรมะนั่นเอง เรื่องนี้ถือว่าสำคัญที่สุด เพราะเป็นเรื่องที่เราต้องปฏิบัติให้ถึงที่สุด และเป็นเรื่องที่เราจะต้องทำตามพระพุทธประสงค์ว่าจงประกาศธรรมะพรหมจรรย์ แสดงธรรมให้งดงามเบื้องต้น งดงามท่ามกลาง งดงามเบื้องปลาย เป็นสิ่งยังผูกพันเราทั้งหลายอยู่ ดังนั้น ก็จะต้องสนใจเรื่องธรรมะนี่ให้เป็นพิเศษ เป็นเรื่องกว้างใหญ่ครอบคลุมเรื่องทั้งหมดจะเป็นการดี ส่วนที่เราจะต้องศึกษาและปฏิบัติก็มี ส่วนที่เราจะต้องเผยแผ่ตามพระพุทธประสงค์นั้นก็มี เรามาสนใจเรื่องคำว่า ธรรมะกันเป็นพิเศษโดยเฉพาะในวันนี้ ไอ้คำว่าธรรมหรือธรรมะนี่ เมื่อเราเรียนนักธรรม เรียนบาลี เราก็สอนกันว่า ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าคือผู้สอน ธรรมะคือสิ่งที่นำมาสอน สังฆะคือสิ่งที่ผู้ที่รับคำสอน ธรรมะก็เลยกลายเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า พอเราเรียนบาลีขึ้นมา เราก็รู้ตามรากของศัพท์ว่า ธรรมะแปลว่าสิ่งที่ทรงไว้ สิ่งที่ทรงไว้ซึ่งผู้ปฏิบัติไม่ตกไปในที่ชั่ว ที่จริงก็แปลว่า สิ่งที่ทรงไว้ แล้วทำไมไม่เฉลียวใจนึกถึงว่ามันทรงตัวเองมันบ้างล่ะ ถ้าจะถือเอาความหมายคำว่า ธรรมะคือสิ่งที่ทรง ทรงไว้ แล้วก็ทั้งทรงไว้ทั้งตัวมันเองและทรงไว้ทั้งตัวผู้ปฏิบัติด้วย นี่นึกขึ้นมา ที่นี่จะพิจารณาคำว่า ธรรมะที่เรามักจะบอกเด็กๆเล็กๆว่า คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี่ ผมว่าไม่ปลอดภัย ไม่ถูกเรื่อง ไม่ปลอดภัย ถ้าเขาโตขึ้น เขาศึกษากว้างขวางออกไป เขาเกิดไปรู้ไว้ว่า ธรรมะคำนี้ใช้พูดกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด ธรรมะ ธรรมะนี่พูดกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด ในความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งที่ใช้กันอยู่ในสมัยนั้น และแม้กระทั่งพระพุทธกาลนั่นเอง คำว่าธรรมะก็ได้ใช้กันอยู่นอกพุทธศาสนา คือในลัทธิไหนศาสนาไหนก็ได้ ใช้คำว่าธรรมะร่วมกัน ดังนั้นจึงมีคำกล่าวชัดในบาลีว่าธรรมะ ธรรมะนี้หมายถึงคำสอนที่เป็นระบบของลัทธิหนึ่งๆ เท่านั้น เช่นคนเขาจะถามกันว่า ท่านชอบใจธรรมะของใคร ท่านชอบใจธรรมะของพระสมณโคดม หรือชอบใจธรรมะของนิครณฐนาฏบุตร หรือของสัญชยเวลัฏฐบุตร เป็นต้น ซึ่งเป็นชาวลัทธิคู่แข่งขันกับพระพุทธเจ้า ประชาชนก็ใช้คำว่า ธรรมะกันในลักษณะอย่างนี้ ฉะนั้นเราจะมาพูดว่า ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มันก็อยู่ในวงจำกัด คือมันจะถูกนิดเดียว ความหมายของธรรมะมันยังกว้างไปกว่านั้นมากมายนัก พูดอย่างเอาเปรียบว่าธรรมะหมายถึงทุกสิ่ง ไม่ยกเว้นอะไร นั่นแหละถูกที่สุด ถือตามหลักทั่วๆ ไป สิ่งที่เป็นสังขตะหรืออสังขตะก็เรียกว่าธรรมะ สิ่งที่เป็นรูปหรือเป็นนาม พ้นจากรูปจากนามก็เรียกว่าธรรมะ สิ่งเป็นกุศล เป็นอกุศล เป็นอัพยากฤตก็เรียกว่าธรรมะ มันเลยไม่มีอะไร นอกไปจากความหมายของคำๆ นี้ ก็เลยว่าทุกสิ่งคือธรรมะ แต่ถ้าอย่างนี้ มันไม่มีประโยชน์ มันก็ต้องพูดอยู่ในขอบเขตที่จำกัด ถ้าใช้ประโยชน์ได้ ได้ทราบและได้สังเกตเห็นนักเลงดีทางภาษา พวกฝรั่ง ฝรั่งคนหนึ่งเขาพยายามจะศึกษาคำว่าธรรมะแปลว่าอะไร จะดีหรือถูกต้อง หรือใช้เป็นหลักได้ ปรากฏว่าได้คำแปลมาตั้ง ๓๒ คำ แล้วก็ยังรู้สึกว่าไม่หมด ไม่หมดความหมายของคำว่าธรรมะ จะแปลว่าอะไรก็ตามเถอะ อย่างที่เรารู้กันอยู่ ลองนึกดูเถอะ จะแปลว่าคำสั่งสอนก็ได้ จะแปลว่าธรรมชาติก็ได้ จะแปลว่าประพฤติปฏิบัติอะไรก็ได้ ๓๒ คำก็ยังไม่หมดความหมายของธรรมะ เลยยอมแพ้ ตกลงกันว่า อย่าแปล ให้ใช้คำว่าธรรม ธรรมะนั่นแหละเข้าไปในภาษาอังกฤษเลย ฉะนั้นคำว่าธรรมะหรือธรรมิก ธรรมิกก็ดี ธรรมะก็ดี เข้าไปอยู่ในปทานุกรมของภาษาอังกฤษ เพราะมันแปลไม่ได้ นี่ต้องรู้ไว้ แต่ถ้าจะจำกัดออกมาให้เป็นประโยชน์ ใช้พูดจากันในขอบเขตที่จะฟังกันได้ง่ายๆ และมันก็มีทางที่จะทำได้ แปลอย่างเอาเปรียบ มันก็ว่าทุกสิ่ง ทุกสิ่งคือธรรมะหมด ไม่ว่าอะไร ภาษาฝรั่งก็ดูจะหายากคำว่าคำเดียวจะให้หมายถึงทุกสิ่ง มักจะแปลว่า thing thing คือสิ่ง สิ่ง สิ่งอะไรก็ได้ นี่ผมมาสังเกตดูตลอดเวลาที่ยาวนานหลายสิบปี ว่ามันควรจะจำกัดความกันว่าอย่างไร ในที่สุดไปชอบใจความหมายที่เขาใช้กันอยู่ในอินเดีย ปทานุกรมเด็กๆ ในอินเดีย ธรรมะแปลว่าหน้าที่ ทีแรกก็งงเหมือนกัน ชักจะไม่ชอบหรือคัดค้านเหมือนกัน แปลว่าหน้าที่ แปลว่า duty แต่ในที่สุดก็เห็นด้วย เพราะเป็นคำที่จำกัดกะทัดรัด เหมาะสมที่สุดที่จะเอามาใช้สำหรับศึกษาหรือปฏิบัติหรืออะไรก็ตาม แต่ยังรักไอ้ความหมายที่ว่า ธรรมะนี่ มันหมายถึงทุกสิ่ง ยังรักอยู่ที่จะแปลว่าทุกสิ่ง ก็เลยแบ่งเอาเองว่า ทุกเรื่องทุกสิ่ง ที่เกี่ยวกับธรรมชาติ ถ้ามันเกี่ยวกับธรรมชาติ แล้วก็เป็นธรรมะ เพราะธรรมะในภาษาบาลีคำนี้ก็แปลว่าธรรมชาติก็ได้ เป็นคำเดียวกัน ธรรมะเฉยๆไม่ต้องธรรมชาติ ธรรมะเฉยๆแปลว่าธรรมชาติได้ มีใช้อยู่มากมายหลายแห่ง ก็เลยมานึกแยกออกเป็น ๔ ความหมาย ๔ ความหมาย ธรรมะคือตัวธรรมชาติทั้งหลาย ธรรมชาติทั้งหลายก็เป็นธรรมะ จะเป็นรูปธรรม นามธรรม เป็นสังขตะ เป็นอสังขตะ กุศล หรืออะไรก็ตาม ธรรมชาติที่มีอยู่ตามธรรมชาตินั่นแหละคือธรรมะในความหมายที่ ๑ ว่าตัวธรรมชาติ นี่ความหมายที่ ๒ ว่ากฎของธรรมชาติ เพราะในตัวของธรรมชาติย่อมมีกฎของธรรมชาติประจำอยู่ ที่มันเป็นกฎของธรรมชาติก็เรียกว่าธรรมะ ถ้าจะเรียกด้วยคำที่ใช้กันอยู่โดยมากก็คือ สัจจะ สัจจธรรมะ สัจจธรรมะ เมื่ออย่างที่ ๑ คือตัวธรรมชาติแล้วเราเรียกว่าสภาวธรรมะ สภาวธรรมะคือตัวธรรมชาติ ตัวที่ ๒ เรียกว่าสัจจธรรมะคือกฎของธรรมชาติ แล้วที่นี่ความหมายที่ ๓ เมื่อมันมีกฎบังคับอยู่เหนือชีวิต ก็เกิดหน้าที่ที่จะต้องทำให้ถูกตามกฎของธรรมชาติ ความหมายที่ ๓ จึงได้แก่หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติคือธรรมะในความหมายที่ ๓ ความหมายที่ ๔ คือผลจากหน้าที่ หน้าที่คือปฏิปัตติธรรม ผลของการปฏิบัติคือปฏิเวธธรรมรู้สึกว่า มีความหมายดี มีขอบเขตดี เสนอไปแก่ผู้รู้หลายคน ท่านก็เห็นด้วย ธรรมะ ๔ ความหมายนี้จะมีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมกับโลกสมัยปรมาณู ที่เราจะตอบแก่พวกนักวิทยาศาสตร์ในยุคปรมาณูนี่ ธรรมะคือ ๔ อย่าง นี้แล้วเขาก็จะไม่มีทางแย้งหรือว่าจะมืดมัวอะไร มันพอจะเข้าใจได้ว่าธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ แล้วก็ผลที่เกิดจากหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เป็นสภาวธรรม เป็น สัจจธรรม เป็นปฏิปัตติธรรม เป็นปฏิเวธธรรม ถ้าเราจะใช้มันให้กว้าง กว้างกันอย่างนี้ มันก็จะได้ความอย่างนี้ แต่ที่นี้เราไม่จำเป็นจะต้องเกี่ยวข้องกันทั้งหมด มันก็เกี่ยวข้องแต่ส่วนที่จำเป็น มันก็คือความหมายที่ ๓ ที่เรียกว่า หน้าที่ หน้าที่ เลยทำให้นึกขึ้นมาได้ว่า ในปทานุกรมที่เขาใช้กันอยู่ในอินเดีย ธรรมะที่แปลว่าหน้าที่นี้คงจะมีเหตุผลมาก มาแต่ดั้งเดิมโบราณ ดึกดำบรรพ์ เพราะว่าพระศาสดาองค์ไหนของศาสนาไหนก็สอนเรื่องหน้าที่ทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าเป็นเพียงคำสอนเฉยๆ แล้วไม่รู้ว่าสอนอะไร ถ้าถามว่าสอนอะไร ก็ไปดู สอนเรื่องหน้าที่ ที่มนุษย์จะต้องทำ ถ้ามันยังต่ำอยู่ ไปถึงหน้าที่ทำมาหากิน ถ้ามันสูงขึ้นมา ก็มีหน้าที่ดับทุกข์ดับกิเลส นั้นเลยเป็นหน้าที่ เลยผมถือเอาเองว่า มนุษย์คนแรกในอินเดียที่พูดภาษานี้ เริ่มสังเกตเห็น สิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ หน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต เขาก็เรียกมันว่าหน้าที่ หน้าที่ แต่เรียกเป็นภาษาแขก ภาษาอินเดีย ภาษาดึกดำพรรพ์ ก็คือคำว่าธรรมะนั่นเอง ฉะนั้นธรรมะก็ได้เป็นคำพูดคำแรกที่เกิดขึ้นมาในโลก โดยบุคคลที่มองเห็นสิ่งที่เรียกว่า หน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต ก็บอกทุกคนให้สนใจเรื่องหน้าที่ ต่อมาก็มีครูบาอาจารย์ที่เขยิบเรื่องหน้าที่ให้มันสูงขึ้น สูงขึ้น สูงขึ้นก็เป็นเรื่องทางจิตใจ ทางจิตใจก็สูงขึ้น สูงขึ้นจากความเป็นเพียงสมาธิ มาเป็นเรื่องของปัญญา เป็นมรรคผล เป็นนิพพาน การปฏิบัติพรหมจรรย์นี่ก็คือหน้าที่ คำสอนของพระพุทธเจ้า ก็สอนเรื่องหน้าที่ ธรรมะคือเรื่องหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติเพื่อความรอด ที่เราใช้คำๆ นี้ เนื่องลงไปหมด เนื่องลงไปถึงปฐมเหตุนั้นเลย ก็แปลว่าหน้าที่ทุกชนิดสำหรับสิ่งที่มีชีวิต คือธรรมะ ผมก็เลยขอร้องให้ทุกคนสนใจความหมายของคำว่าธรรมะ ธรรมะ ให้กว้างที่สุด ให้ลึกที่สุด ให้ถูกกับความจำเป็นของคนในโลกเราที่สุด แม้ให้แปลธรรมะว่าหน้าที่ หน้าที่ มันมีไม่รู้กี่ระดับ รับไม่ไหว แต่ถ้าว่า ประมวลกันได้เป็นหมวดใหญ่ๆแล้ว มันก็มี ๒ ระดับ หน้าที่เพื่อรอดตายหน้าที่อันแรก หน้าที่อันที่ ๒ หน้าที่เพื่อพ้นทุกข์ รอดตายแต่มีความทุกข์มันไม่ไหว แต่เป็นหน้าที่พื้นฐาน หน้าที่อันแรก หน้าที่ทั่วไป ต้องมีหน้าที่เพื่อให้รอดตายกันก่อน มันจึงมีหน้าที่ทำมาหากิน บริหารร่างกาย ครั้นมีชีวิตอยู่ได้แล้ว มันก็มีหน้าที่ที่จะต้องขจัดความทุกข์ออกไป ต้นเหตุของความทุกข์คือกิเลส จะต้องขจัดออกไป จึงมีหน้าที่ที่จะดับกิเลส ดับทุกข์ โดยเป็น ๒ ระดับเพื่อความรอด ความรอดมีอยู่ ๒ ระดับเท่านั้นแหละ เอาไปใช้ในศาสนาไหนก็ได้ คำว่าความรอดมี ๒ ระดับ แม้ภาษาวิทยาศาสตร์ก็พูดได้ว่ามันรอด ๒ ระดับ รอดชีวิตและรอดจากสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ในชีวิต โดยใช้ได้แม้แก่สัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานก็ต้องมีธรรมะของสัตว์เดรัจฉาน ธรรมะของสัตว์เดรัจฉานคือหน้าที่เพื่อทำให้รอดก็เลยไปถึงต้นไม้ต้นไร่ พฤกษาชาติทั้งหลายด้วยก็ได้ เมื่อพฤกษาชาติทั้งหลายมันมีหน้าที่ที่จะต่อสู้เพื่อความรอด ถ้าศึกษาพฤกษศาสตร์ในแง่ชีววิทยา จะพบว่าทำงานมากเหลือเกิน ทำงานมากทั้งวันทั้งคืนเพื่อความรอดชีวิต บางทีจะทำงานมากกว่ามนุษย์เสียอีก กลางคืนมันก็จะไม่ได้พักผ่อนด้วยซ้ำไป เพราะเขารู้กันว่า ต้นไม้นี่มันก็ระบายคาร์บอนไดออกไซด์มาตลอดคืน ระบายออกสิเจนออกมาตลอดวัน มันก็ทำงานทั้งคืนทั้งวัน เพราะไม่อย่างนั้นมันจะเอามาแต่ไหนระบาย มันก็น่าสนใจที่ว่ามันทำหน้าที่เหลือประมาณ เพื่อความรอด ดูดน้ำ ดูดอาหาร ได้แสงแดด ก็ผลิตเป็นธาตุที่จะหล่อเลี้ยงลำต้นมีความเจริญงอกงาม มีความเจริญงอกงาม ในเวลากลางคืนก็ระบายคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างนี้เป็นต้น ก็ทำงานกันอย่างน่าเลื่อมใส มนุษย์เสียอีกยังมีเรื่องพักผ่อนเสียมาก เอาละ, เป็นอันว่า ธรรมะแปลว่าหน้าที่ หน้าที่นั้นเพื่อความรอด ความรอดนั้นมี ๒ ระดับ คือรอดชีวิตกับรอดจากความทุกข์ ธรรมะคือหน้าที่ ก็อยู่ในความหมายที่ ๓ ของ ๔ ความหมายที่ว่ามาแล้ว เราว่ามันมี ๔ ความหมาย ความหมายที่ ๓ คือหน้าที่ เอาความหมายที่ ๓ มาเป็นความหมายสำคัญที่สุดของคำว่าธรรมะ ซึ่งจะต้องใช้ในทุกกรณี ในทุกเวลา ในทุกสถานที่
แล้วก็มาถึงคำว่า ธรรมะ ความหมายของธรรมะว่า หน้าที่เพื่อความรอด ที่นี้ก็พบคำบัญญัติของบางคณะ บางหมู่บางคณะที่เขาสนใจ เขาเป็นพวกฝรั่ง พวกชาวต่างประเทศที่ชอบทำ definition ให้แก่คำ เอามารวมกันเข้า เท่าที่เขาพูดกัน ได้เป็นบทนิยามยาวๆ บทหนึ่งว่า ธรรมะคือระบบการปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา ทั้งเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน บทนิยามนี้ดีมาก จะใช้ในทางศาสนาหรือไม่ใช่ศาสนา ธรรมะคือระบบปฏิบัติ ไม่ใช่เพียงเรียนๆพูดๆ เรียนๆ คือระบบ ตัวระบบปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ สำหรับมนุษย์ พูดกันสำหรับมนุษย์ มันต้องถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ แล้วมันขอบเขต ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการ วิวัฒนาการตั้งแต่เกิดจนตาย หรือจะวิวัฒนาการตามยุคตามสมัยของมนุษย์แรกมี มนุษย์ป่าเถื่อน มนุษย์เจริญแล้วก็ตาม ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา ทั้งเพื่อประโยชน์ตนเองและประโยชน์ผู้อื่น คือสังคม ถ้าเราจะยึดถือความหมายบทนิยามนี้แล้วมันก็จะง่าย ในการที่จะเผยแผ่ธรรมะ สั่งสอนธรรมะ ให้ถูกตรงตามพระพุทธประสงค์ และก็ได้มีผู้ได้คิดได้นึกกันอย่างทั่วถึง เกิดบทนิยามนี้ขึ้นมา พวกเราก็ควรจะรับเอาไว้สำหรับใช้เป็นหลักประพฤติ ปฏิบัติ กระทำ ต่อสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ ในธรรมะชนิดที่พูดกันกว้างๆ อย่างในบาลี ว่าเป็น ปริยัติธรรม ปฏิปัตติธรรม ปฏิเวธธรรม ในที่สุดมันสำคัญอยู่ที่ปฏิปัตติธรรม ถ้ามีแต่ปริยัติธรรมมันก็ไม่ได้สำเร็จประโยชน์อะไร ถ้าไม่มีปฏิปัตติธรรม ปฏิเวธธรรมก็เกิดขึ้นไม่ได้ ฉะนั้นจึงสนใจพุ่งตรงไปยังปฏิบัติธรรม จึงใช้คำว่า ระบบปฏิบัติที่ประพฤติกระทำกันอยู่ ไม่เล็งถึงการศึกษาวิชาล้วนๆ แต่ให้มาอยู่ที่การปฏิบัติ ตามหลักการศึกษานั้นๆ โดยระบุเจาะจงลงไปเลยว่า ธรรมะคือระบบการปฏิบัติ เพื่อให้มันกระชับเข้าและถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ มนุษย์ควรจะเป็นอย่างไร ควรจะได้อะไร ควรจะรอดได้อย่างไร แล้วก็ต้องทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ เพราะมนุษย์ไม่ได้อยู่ซ้ำที่ ไม่ได้คงที่ มันเปลี่ยนเรื่อย ก็เลยต้องถูกต้องทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ และต้องเพื่อทั้งตนเองและเพื่อผู้อื่นด้วย เพราะว่ามนุษย์อยู่คนเดียวไม่ได้ อย่าเพ่งเล็งธรรมะว่าเป็นทางรอดของคนๆ เดียว มันพูดอย่างเอาเปรียบ หรือว่าผู้ที่บรรลุนิพพานไปคนเดียวก็ได้ นิพพานไปคนเดียวก็ได้ แต่ว่าอยู่ในโลกนี้อยู่ไม่ได้ มันต้องมีเพื่อนอยู่ด้วยกันมากๆ มันต้องมีการประพฤติกระทำที่ทำให้อยู่กันได้มากๆ มันอยู่ในขอบเขตของธรรมะที่จะต้องประพฤติปฏิบัติกันทั้งนั้น ที่นี่ในความหมายที่มันสั้นหรือรัดกุมที่สุดในขอบเขตจำกัดที่สุด มันก็ยังมีอยู่อีกความหมายหนึ่ง เพื่อจะได้พูดกันสั้นๆ ง่ายๆ ค่อนข้างเป็นของศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา ก็คือความหมายของคำอังกฤษที่ว่า Religion Religion คำว่า Religion ที่แปลกันว่า ศาสนา ศึกษาคำว่า Religion ดูก็ปรากฏว่า มันมี ๒ ความหมาย(นาทีที่ 32:48 : reg reg reg ) ความหมายหนึ่งแปลว่าปฏิบัติ ระบบปฏิบัติ ความหมายหนึ่งแปลว่าผูกพัน ผูกพัน บางยุคบางสมัยเขาเคยใช้ในความหมายใดความหมายหนึ่ง มาถึงสมัยยุคคนสำคัญ Augustine หรืออะไรจำชื่อได้ว่าอย่างนี้ เขาเลยรวบเอาเสียทั้ง ๒ ความหมาย ชื่อนี้ไม่แน่นะ เท่าที่จำได้ ได้มีมาถึงยุคคนนี้แล้วเขาก็รวบเสียทั้ง ๒ ความหมายว่า การปฏิบัติที่ทำให้เกิดความผูกพัน การปฏิบัติที่ทำให้เกิดความผูกพัน ผูกพันระหว่างอะไร ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ที่เขาหมายถึงพระเจ้าอย่างบุคคล ตามลัทธิศาสนาที่มีพระเจ้า แต่เราขอใช้คำว่า สิ่งสูงสุดไม่ใช้คำว่าพระเจ้า ฉะนั้นก็เลยว่า การผูกพันระหว่างมนุษย์กับสิ่งสูงสุด ชาวพุทธมีสิ่งสูงสุดเป็นพระนิพพาน คือความดับทุกข์ ที่ทำให้เกิดความผูกพันกันระหว่างมนุษย์กับสิ่งสูงสุด นั่นแหละคือธรรมะ คือธรรมะ ธรรมะนี่เอาความหมายให้มันค่อนข้างศักดิ์สิทธิ์หรือรัดกุมเข้ามาในแง่ของการพูดจาในรูปแบบนี้ เรื่องนี้ก็สำคัญอยู่ ที่จะต้องรู้ อย่าเข้าใจว่า Religion ตามที่พวกฝรั่งเขามุ่งหมาย มันผูกพันมนุษย์กับพระเจ้า แต่เราชาวพุทธยอมไม่ได้ เพราะเราไม่มีพระเจ้าชนิดนั้น แต่เรามีสิ่งสูงสุดเหมือนกันคือการบรรลุมรรคผลนิพพานหรือความดับทุกข์ ก็สภาพของนิพพานนั่นแหละสิ่งสูงสุด ผูกพันมนุษย์ กับสภาพของนิพพานนั่นแหละ คือ Religion ดังนั้น พุทธศาสนาก็เป็น Religion แต่พวกฝรั่งบางพวกไม่ยอม ไม่ยอม ไม่ยอมว่าพุทธศาสนาเป็น Religion เพราะว่าพุทธศาสนาไม่มีพระเจ้า นั่นมันโง่เอง ไปโทษใคร มันโง่เองที่พูดว่า พุทธศาสนาไม่มีพระเจ้า ผมก็เลยยืนยันว่าเราก็มีพระเจ้า แต่ไม่ใช่อย่างของคุณ คุณมีพระเจ้าอย่างบุคคล มีพระเจ้าอย่างบุคคล มีความรู้สึกอย่างบุคคล ตามเรื่องของพระเจ้า ที่เรามีพระเจ้าอย่างมิใช่บุคคล มิใช่บุคคล เป็นกฎของธรรมชาติ เป็นสิ่งสูงสุดที่จะต้องเชื่อฟัง จะต้องประพฤติตาม แล้วก็บรรลุถึงสิ่งสูงสุดที่เป็นผลคือนิพพาน นิพพาน เราก็มีพระเจ้าตามแบบของเรา คือพระเจ้าที่มิใช่บุคคล แต่เป็นธรรมะ เป็นธรรมะสูงสุด มีเรื่องที่น่าสังเกตหรือจดจำไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่เขามาเล่าให้ผมฟังว่า ที่ประเทศอินโดนีเซีย รัฐบาลก็มีกฎหมายให้เงินช่วย เงินช่วย subsidy ให้แก่ประชาชนของประเทศ แต่มีข้อจำกัดว่า จะเป็นประชาชนของประเทศนั้นต้องนับถือศาสนา ที่นี่เขาเกิดถือตามคำอธิบายนั้นว่าศาสนาต้องมีพระเจ้า ก็เลยจัดให้พวกชาวพุทธที่อยู่ในอินโดนีเซีย ไม่มีศาสนา เป็นผู้ไม่มีศาสนา ก็ไม่เป็นพลเมืองของประเทศ ก็ไม่มีส่วนที่จะได้รับเงินช่วยเหลือ และก็มีผู้เอาหลักเกณฑ์อันนี้ เรามีพระเจ้า ชาวพุทธเรามีพระเจ้า แต่ไม่ใช่อย่างบุคคล มีความหมายอย่างเดียวกันคือเป็นสิ่งสูงสุดที่มนุษย์จะต้องเข้าถึง มีศาสนาได้ มี Religion ได้ ดังนั้นเรามีสิทธิที่จะเป็นพลเมืองและควรได้รับ ได้รับเงินช่วยเหลือ ได้ยินแล้วก็ตกลง รัฐบาลตกลงว่า ชาวพุทธทั้งหลายมีศาสนา และก็เป็นพลเมืองโดยสมบูรณ์ และก็ได้รับเงินช่วยเหลือ นี่เรื่องมันก็เกี่ยวข้องกันยุ่งไปหมดเลย ไม่ใช่เฉพาะเรื่องธรรมะในวัด ในปฏิบัติอย่างเดียว มันเป็นเรื่องการเมืองเรื่องอะไรไปได้หลายๆแห่ง ฉะนั้นอยากจะให้ขอ ขอให้เตรียมๆ กันไว้บ้าง ถ้าเขาถามว่าในพุทธศาสนามีพระเจ้าไหม ก็ขอให้ระวังไว้ให้ดี ตอบให้ถูกตามความเป็นจริง พระเจ้าคือสิ่งสูงสุด สิ่งสูงสุดของเราไม่ใช่พระเจ้าอย่างในศาสนาที่มีพระเจ้า แต่มีพระเจ้าตามแบบของชาวพุทธคือ สิ่งสูงสุดที่อยู่เหนือสิ่งใด ที่กำกับควบคุมสิ่งทั้งหลายทั้งปวงคือ กฎของธรรมชาติ สัจธรรมเป็นพระเจ้าในฐานะเป็นสิ่งสูงสุด ที่จะสร้างโลก ควบคุมโลก อะไรก็ตาม แล้วก็สูงสุด สุดท้ายเป็นผลของการปฏิบัติก็คือ พระนิพพานเป็นสิ่งสูงสุด เรามีสิ่งสูงสุดในแง่ของการศึกษา ในแง่ของการปฏิบัติ ในแง่ที่เป็นผลของการปฏิบัติ เรามีสิ่งสูงสุด ธรรมะคือสิ่งที่ทำให้เกิดการผูกพันกันกับมนุษย์และสิ่งสูงสุด ความหมายนี้สู้ได้ ใครจะคัดค้านอย่างไรสู้ได้ ลองไปคิดดูเถอะ ธรรมะนี่คือสิ่งที่จะทำให้เกิดการผูกพัน คือถึงกันเข้า ระหว่างมนุษย์กับสิ่งสูงสุด เราก็มีสิ่งสูงสุดตามแบบของเรา เขาก็มีสิ่งสูงสุดตามแบบของเขา เราก็มีส่วนที่จะเป็นศาสนาหรือ Religion ด้วยกัน เราก็มีธรรมะเป็นศาสนาในความหมายของ Religion มันก็ปฏิบัติและผูกพันกันระหว่างมนุษย์กับสิ่งสูงสุด ขอให้รู้จักธรรมะในแง่ที่เป็นผล ที่จะให้ผลชั้นเลิศไว้ในอย่างนี้ด้วย สำหรับคำถามที่ว่า ธรรมะคืออะไร ต้องมีไว้หลายแง่หลายมุมที่ผมเรียกว่าความหมายอันซับซ้อน ความหมายอันซับซ้อนของเรื่องๆ เดียวของคำๆ เดียวของปัญหาข้อเดียว มันมีความซับซ้อนอย่างนี้ ที่นี่ก็จะมาถึงคำว่า ธรรมะคือสิ่งที่ทรงผู้ปฏิบัติ ก็อย่าลืมว่าต้องทรงตัวเองด้วย จึงจะมีอำนาจสูงสุดเด็ดขาดอยู่ในตัวเอง ตั้งตนเองอยู่ได้โดยตัวเองในตัวมันเอง แล้วก็ทรงผู้ปฏิบัติธรรมะไว้ไม่ให้ตกลงไปในที่ชั่ว ดังความหมายที่เราสอนกันอยู่ในโรงเรียน คราวนี้จะให้มันเป็น practical หรือเป็นอะไรให้มากขึ้น ก็จะใช้คำว่า หน้าที่ในภาษาไทยแทนดีกว่า เพื่อคนทั้งหลายจะฟังออกว่า ธรรมะคือหน้าที่ ธรรมะคือหน้าที่ ขอฝากไว้ด้วย ฝากไว้เอาไปคิดไปพิจารณาว่า ให้เข้าใจว่า ธรรมะคือหน้าที่ จะได้สอนธรรมะให้เป็นที่พอใจ เป็นที่สนใจแก่ผู้ฟัง ผู้ฟังยินดีที่จะศึกษา จะปฏิบัติตามธรรมะคือหน้าที่ ไม่พูดบาลีกันแล้วพูดไทยกันหมด ธรรมะก็คือหน้าที่ เป็นตัวยืนโรง แต่มันเนื่องไปถึงคำสอนเรื่องหน้าที่ และผลของหน้าที่อยู่ด้วยเป็นธรรมดา เราพูดถึงคำว่าหน้าที่ หน้าที่ เราจะต้องรู้เรื่องหน้าที่ทั้งหมด คำสอนเรื่องหน้าที่ การปฏิบัติเรื่องหน้าที่ ผลที่เกิดมาจากหน้าที่ ทั้ง ๓ สิ่งนี้รวมอยู่ในคำๆ เดียวว่าหน้าที่ หน้าที่ จะพูดให้เด็กๆ เข้าใจได้ง่าย นักเรียนวันอาทิตย์เด็กๆ จะบอกเขาว่า ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เขาก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไร เพราะไม่รู้ว่าสอนอย่างไร ถ้าบอกว่าสอนเรื่องหน้าที่เสียเลยจะดีกว่า แต่ว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เขาก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไร เพราะไม่รู้ว่าสอนอะไร จะบอกธรรมะคือ สิ่งที่ผู้ทรงปฏิบัติไม่ตกลงไปในที่ชั่ว มันก็ยังยากเกินไปกว่าที่เด็กๆ เหล่านั้นจะเข้าใจ แล้วมันก็ยังขาดความหมายสำคัญที่ว่า ธรรมะนี่มันทรงตัวมันเองไว้อย่างพระเจ้า แล้วก็จะทรงผู้ปฏิบัติทั้งหลายไว้ไม่ให้ตกไปในความชั่วด้วย ก็เลยเอาความหมายว่าหน้าที่ หน้าที่ ธรรมะคือหน้าที่ คำว่า หน้าที่นั้นต้องปฏิบัติไม่ใช่เรียนรู้เฉยๆ แล้วก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ มันก็มีความรู้สำหรับจะปฏิบัติ แล้วก็มีผลที่เกิดมาจากปฏิบัติ ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่ ที่นี่ก็จะบอกเด็กๆ ต่อไปว่าหน้าที่เพื่ออะไร หน้าที่เพื่อความรอด มันไม่ใช่หน้าที่อย่างไม่มีความหมาย มันเลื่อนลอย ถ้าคำว่าหน้าที่ มันเพื่อความรอดทั้งนั้น เพื่อความรอดของมนุษย์ เพื่อความรอดของสัตว์เดรัจฉาน เพื่อความรอดของต้นไม้ เป็นหน้าที่เพื่อความรอด เราเอาความหมายที่ว่า หน้าที่คือสิ่งที่ทำความรอด รอดทุกชนิดที่เราต้องการ นั่นแหละคือ ทรงผู้ปฏิบัติไว้ ไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว หน้าที่ทรงผู้ทำหน้าที่ไว้ไม่ให้ตกไปที่ชั่ว ธรรมะก็ทรงผู้ปฏิบัติธรรมะไว้ไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว เป็นเรื่องเดียวกัน ต่างกันแต่ภาษา ขอให้ลองสังเกตดูว่าความหมายมันลึกลับซับซ้อน หรือซ้อนกันอยู่หลายๆ ชั้นอย่างนี้ เราจะถือเอาแต่ตัวพยัญชนะไม่สำเร็จประโยชน์ คำโบราณว่าพยัญชนะไม่สำเร็จประโยชน์ อัตถะสำเร็จประโยชน์ จะต้องเข้าถึงอัตถะคือความหมาย เข้าถึงให้ถูกต้อง ให้ครบถ้วน ให้เพียงพอ แล้วก็มาใช้ให้ถูก รวมกับเรื่องที่จะต้องมี เอาละ ที่นี้ก็ได้ยุติกันทีว่า ไอ้ความหมายที่สำคัญที่สุดที่มันจะเรียกว่าประยุกต์ ประยุกต์ได้ที่สุดนั้น ธรรมะคือหน้าที่ จะใช้คำอย่างอื่นก็ได้ แต่ไม่ประยุกต์ที่สุด ไม่ impeccable ไม่ practical เหมือนกับคำว่า ธรรมะแปลว่าหน้าที่ เราเห็นด้วยกับปทานุกรมในอินเดียที่เป็นเจ้าของภาษา ที่เขาแปลธรรมะว่าหน้าที่ ทีนี้หน้าที่ก็เพื่อความรอด ความหมายเดียวกับธรรมะ เราจึงต้องมีธรรมะ ต้องการความรอด รอดตาย แล้วก็รอดจากปัญหาทั้งหลาย คือความทุกข์ ธรรมะก็เลยเป็นเครื่องช่วยให้พ้นจากความตายและความทุกข์ เห็นอยู่ชัดๆ เสนอฝากไปเพื่อไปพิจารณา และจะได้ไปกลั่นกรองขึ้นมาเป็นคำสั่งสอน ลูกเด็กๆ เล็กๆ หรือคนแก่คนเฒ่า อะไรก็ตาม มันไม่พ้นไปจากหลักเกณฑ์เหล่านี้ จงทำหน้าที่เพื่อความรอด
ที่นี้ขอถวายความหมายของคำว่า หน้าที่อันซับซ้อน หน้าที่ หน้าที่ เรื่องเกี่ยวกับหน้าที่อันซับซ้อน ช่วย ช่วยฟังให้ดีๆ แล้วจำไปวิจารณ์ดูและอาจจะใช้เป็นประโยชน์ได้ ก็ได้ความมาแล้วในตอนต้น ว่าธรรมะเป็นหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ ก็เลยขยายออกไปได้ว่า การปฏิบัติหน้าที่คือการปฏิบัติธรรมะ ผมพูดเรื่องนี้มาสัก ๑๕ ปี ไม่มีใครสนใจกี่คน แต่ได้ความว่าเดี๋ยวนี้สนใจกันมากขึ้น ถึงกับเอาไปพิมพ์แจก ไปพิมพ์เป็นหลักการ เตือนใจว่าธรรมะคือหน้าที่ การทำหน้าที่ของตนของตนนั่นแหละคือการปฏิบัติธรรม (นาทีที่ 46:45-46:56 ไม่มีเสียง)(นาทีที่ 46:57-47:16 ข้อความซ้ำดังนี้ “ผมพูดเรื่องนี้มาสัก ๑๕ ปี ไม่มีใครสนใจ แต่ได้ความว่าเดี๋ยวนี้สนใจกันมากขึ้น ถึงกับเอาไปพิมพ์แจก ไปพิมพ์เป็นหลักการ เตือนใจว่าธรรมะคือหน้าที่ การทำหน้าที่ของตนของตนนั่นแหละคือการปฏิบัติธรรม”) หรือปฏิบัติพระศาสนาเลย เอากันอย่างนี้เลย มันได้มาเป็นเรื่องเดียวกันเสียไม่ต้องไปวัดไปบ้านอะไรกันอีก อยู่ที่ไหนก็ทำหน้าที่ จะไปวัดหรือไปบ้านก็ต้องทำหน้าที่ ทำหน้าที่นั่นคือการปฏิบัติธรรมะหรือปฏิบัติพระศาสนา ศาสนาอยู่ที่การทำหน้าที่ ขอให้ทุกคนนึกอย่างนี้ แล้วก็จะชอบ พอใจธรรมะ จะชอบพระศาสนายิ่งๆ ขึ้นไป หน้าที่ก็แบ่งเป็น ๒ ประเภทอีกตามธรรมะ เพื่อความรอด ๒ ความหมาย หน้าที่เพื่อจะบริหารชีวิตให้รอด แล้วก็หน้าที่เพื่อจะดับทุกข์ที่จะเกิดขึ้นแก่ชีวิต ที่นี้หน้าที่อันแรกเป็นพื้นฐานของสิ่งที่มีชีวิต คือการประกอบการหาเลี้ยงชีพนั่นเอง ทุกคนมันต้องหาเลี้ยงชีพ คนก็ต้องหา สัตว์ก็ต้องหา ต้นไม้ต้นไร่ก็ต้องหา หาเลี้ยงชีพเพื่อดำรงชีพ ถ้ารู้ว่าการทำหน้าที่เพื่อดำรงชีพเป็นธรรมะ เขาก็จะชอบ ชอบหน้าที่ หรือชอบธรรมะ พอใจในธรรมะ แล้วมันมีเคล็ดลับตรงที่ว่า ถ้าพอใจแล้วมันจะมีความสุข อันนี้ขอฝากไว้ไปคิดดูดีๆ ว่าความสุขทั้งหลายมาจากความพอใจในความหมายที่ต่างๆ กัน พอใจเล็กๆ น้อยๆ พอใจต่ำๆ พอใจสูงๆ พอใจกว้างขวาง พอใจอย่างกิเลส พอใจอย่างไม่มีกิเลส ใช้คำว่าพอใจคำเดียวได้ รวมกันหมด ถ้าพอใจอย่างกิเลส ก็มีความสุขอย่างกิเลส พอใจอย่างไม่มีกิเลส ก็มีความสุขอย่างไม่มีกิเลส พอใจน้อยก็สุขน้อย พอใจมากก็สุขมาก ฉะนั้นถ้าว่า เขารู้ว่า ไอ้หน้าที่การงานที่ทำอยู่เป็นธรรมะ เขาก็จะพอใจว่าได้ปฏิบัติธรรมะ ไม่ต้องแก้ตัวไม่มีเวลามาวัด ไม่มีเวลามาปฏิบัติธรรมะที่วัด อยู่ที่บ้านนั่นแหละปฏิบัติธรรมะทุกอิริยาบถ มันมีธรรมะเมื่อปฏิบัติหน้าที่ และจะพูดอย่างโอหัง ถึงกับว่า ในโบสถ์ไม่มีธรรมะ ถ้าไม่มีการทำหน้าที่ มีโบสถ์ไว้ให้ตุ๊กแกมันร้อง หรือมีโบสถ์ไว้สำหรับไปนั่งสั่นเซียมซี ไปขออะไรก็ไม่รู้ ไปทำไสยศาสตร์ไม่มีการปฏิบัติหน้าที่ ฉะนั้นในโบสถ์ไม่มีธรรมะ ไอ้ที่ไถนาอยู่โครมๆ กลางนา นั่นน่ะมีธรรมะ ที่นั่นมีธรรมะ ในโบสถ์ไม่มีธรรมะ เอากันอย่างนี้เลย ถ้าไม่มีการทำหน้าที่อันอย่างถูกต้อง ไม่มีธรรมะหรอก ฉะนั้นในโบสถ์มันเป็นหน้าที่ เป็นสถานที่ที่ต้องทำหน้าที่อันสูงชั้นสูง เพื่อประโยชน์แก่มรรคผลนิพพานทางจิตใจ ถ้าไม่ทำไปเสียหมด โบสถ์นั้นก็เอาไว้ให้ตุ๊กแกมันร้อง มันก็เลยไม่มีธรรมะ ขอให้ประชาชนของเรารู้ เมื่อทำหน้าที่ ที่ไหน เมื่อไร เท่าไรละก็ มีธรรมะ ขอให้พอใจ มีธรรมะแท้จริง ธรรมะแท้ แท้จริงคือหน้าที่ แล้วพอใจ ถ้าเกิดความพอใจแล้วเป็นสุข แน่นอนมันช่วยไม่ได้ ถ้ามีความพอใจแล้วมันเป็นสุข ฉะนั้นเขาจึงเป็นสุข เมื่อกำลังทำหน้าที่นั่นเอง อาบเหงื่ออยู่เลย ถีบสามล้ออยู่เลย แจวเรือจ้างอยู่เลย กวาดถนนอยู่เลย เหงื่อไหลไคลย้อย มีการทำหน้าที่และก็มีธรรมะ พอใจและเป็นสุขได้ แต่ก็ต้องรู้จักคิด ถ้ารู้ความจริงข้อนี้ คิดให้ถูกมันจึงจะพอใจได้ มีฟลุค บังเอิญก็มีเหมือนกัน ผมสังเกตเห็น ไอ้คนแจวเรือจ้าง คนถีบสามล้อบางคน แจวเรือจ้างมันร้องเพลงไปพลาง แจวเรือจ้างไกล ได้ค่าจ้างนิดเดียว แต่ร้องเพลงเป็นสุขตลอดเวลาที่แจวเรือจ้าง นั่นมันบังเอิญของมัน มันยอมรับสภาพแล้วมันก็พอใจ ถ้ากรรมกรทั้งหลายรู้จักว่าทำหน้าที่เป็นธรรมะ แล้วคงจะไม่เกี่ยงงอนกับนายทุนมาก จนเกิดเป็นปัญหาเหมือนที่เกิดอยู่เวลานี้
ที่นี้เราก็เอากันให้หมดเลย บรรดาหน้าที่ทั้งหลายเป็นธรรมะหมด หน้าที่ประเภทแรก ประเภทที่ ๑ คือรอดชีวิต เพื่อรอดชีวิต เมื่อทำอะไรเพื่อความรอดแห่งชีวิต แล้วก็เป็นธรรมะหมด เอาว่ามาสิอะไร ให้มันต่ำที่สุดอย่างไรก็ ก็เป็นธรรมะหมด จะต้องกินอาหาร กินอาหารคือการปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติธรรมะเพื่อความรอด ถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ ก็คือการปฏิบัติหน้าที่เพื่อความรอด ต้องมีสติสัมปชัญญะ ทำ ทำ ทำอาการเหล่านั้น ถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ จะแต่งเนื้อแต่งตัวไปทำงาน หรือจะช่วยล้างจาน กวาดบ้านถูเรือนก็ตาม ก็เป็นธรรมะไปหมด เมื่อทำหน้าที่ที่ไหนก็เป็นธรรมะไปหมด แต่ต้องมีสติสัมปชัญญะ รู้ในเรื่องนี้ มันก็เลยทำทุกๆ หน้าที่ทุกเรื่องด้วยสติสัมปชัญญะ หรือด้วยธรรมะ เรียกว่าด้วยสติสัมปชัญญะถูกกว่าที่จะเรียกว่าทำด้วยสมาธิ ถ้ามันมีสติสัมปชัญญะ มันก็ทำเป็นสมาธิอยู่เอง มันจะล้างจาน จะช่วยล้างจาน จะเช็ดจาน จะถูบ้าน กวาดเรือน มันมีสติทำ มีสติกระทำ มันก็เลยมีธรรมะอยู่ในทุกเรื่อง ทุกอิริยาบถ ทุกชนิดของการงานนี่ขอให้เขามองเห็น ตื่นนอนขึ้นมา เอ้า, ล้างหน้า ล้างหน้าต้องสติสัมปชัญญะ ทำดีที่สุดเป็นการปฏิบัติธรรมะ ในการที่จะล้างหน้า จะไปอาบน้ำ ดีที่สุดด้วยสติสัมปชัญญะ ถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะด้วยสติสัมปชัญญะ กินข้าวด้วยสติสัมปชัญญะ แต่งตัวด้วยสติสัมปชัญญะ เดินทางไปทำงานด้วยสติสัมปชัญญะ ที่ออฟฟิศ ทั้งที่ทำงาน ที่ไร่ที่นาอะไรก็ตาม ด้วยสติสัมปชัญญะ เสร็จ กลับด้วยสติสัมปชัญญะ มาบ้านมาทำอย่างเดียวกัน อีก จนกว่าจะถึงเวลานอน ก็ต้องนอน ก็ต้องนอน การนอนก็เป็นการทำหน้าที่ เพื่อชีวิตรอด ก็เลยเป็นการปฏิบัติธรรมะทั้งหลับทั้งตื่น คนอยู่ด้วยธรรมะอย่างนี้จะเป็นอย่างไร พูดในแง่ของจิตใจ มันก็เป็นสุข เป็นสุข เป็นสุข เป็นสุขอยู่ทุกอิริยาบถ ไม่ต้องใช้เงินเลย ความสุขที่แท้จริงทำได้โดยไม่ต้องใช้เงิน ต้องเติมคำว่าแท้จริงเข้าไปด้วยนา สุขที่แท้จริงไม่ต้องใช้เงิน ถ้าความเพลิดเพลินที่หลอกลวงกินเงินไม่หวาดไม่ไหว ไม่มีขอบเขต ประชาชนของเราไปเอาความเพลิดเพลินที่หลอกลวงมาเป็นความสุข หากเขาไม่มีความสุขเมื่อกำลังทำงาน อดทนทำงานเหงื่อไหลไคลย้อยเก็บสตางค์ได้ไปซื้อหาความเพลิดเพลินที่หลอกลวง ช่วยบอกความจริงแก่คนเหล่านั้นให้ทีเถอะว่า เขาทำงานเหลือประมาณ เหนื่อยเหลือประมาณ รวบรวมเงินได้ แล้วไปซื้อความเพลิดเพลินที่หลอกลวง ส่วนความสุขที่แท้จริง ที่จะหาได้เมื่อกำลังทำงานอาบเหงื่อเขามองไม่เห็น ก็เลยไม่ได้ ถ้าใครมองเห็นได้ มันก็อิ่มมีความสุขเสียแล้ว มันจะไปหลงความเพลิดเพลินที่หลอกลวงทำไม ให้เขารู้ความจริงเรื่องนี้ เขาจะเว้นอบายมุขได้ เว้นกามารมณ์ สถานเริงรมย์ ไม่ต้องไปทำอะไรอย่างที่เงินไม่พอใช้ เดี๋ยวนี้มัน สิ่งยั่วยวนมันขยายตัวเต็มที่ เหมือนกับวิ่ง ผมฟังวิทยุเมื่อคืนวานมันมีสถานตัดผมที่เปลือยกายกันทั้งสองฝ่าย แล้วตัดผม คิดแพงด้วย ไม่เคยทราบเรื่องไม่เคยได้ยินอย่างนี้ มีโฆษณาเอามาพูดกันทางวิทยุ ในกรุงเทพฯ เรียกว่าไอ้วิธีการ ยั่วยวนมันมีมาก เร็ว เหมือนกับวิ่ง แล้วคนจะทนไหวเหรอ คนก็ต้องเป็นทาสของความยั่วยวนนี้ หาเงินได้เท่าไรไปซื้อความเพลิดเพลินหลอกลวงหมด ส่วนความสุขอันแท้จริงที่จะหาได้เมื่อกำลังทำงาน ไม่รู้เรื่องแล้วก็ไม่ได้ ไปสอนให้เขามีสติสัมปชัญญะ เมื่อทำหน้าที่ทุกอย่าง ความเป็นธรรมะคือ ทำเพื่อรอด แล้วก็พอใจ ชอบใจธรรมะ ว่าตรงตามพระพุทธประสงค์ ให้ปฏิบัติธรรมะเป็นพุทธบูชา ก็เลยได้ความอิ่มอกอิ่มใจเมื่อทำหน้าที่แม้จะเหงื่อไหลอยู่ท่วมตัวก็เย็นเหมือนกับรดน้ำมนต์ ถ้ามันมีความรู้เรื่องนี้ ถ้าไม่มีความรู้เรื่องนี้ มันก็เกลียด เหงื่อไหลท่วมตัว มันก็แช่งชักหักกระดูกผีสางเทวดาที่ไหนก็ไม่รู้ แช่งโชคชะตาราศีไป ไม่มีความสุข รวบรวมเงินได้ด้วยความยากลำบาก ได้มาเท่าไรก็ไปซื้อความเพลิดเพลินที่หลอกลวงหมด ฉะนั้นความสุขแท้จริงไม่ต้องใช้สตางค์ กลับทำให้สตางค์เหลือ เพราะมันไม่ต้องใช้สตางค์ แล้วมันทำงานอย่างเพลิดเพลิน ก็ทำได้มาก มันก็ได้เงินมาก แล้วเงินมันก็เหลือ เพราะไม่เอาไปซื้อหาความเพลิดเพลินที่หลอกลวง มันอยู่กับความสุขที่แท้จริง แต่เรื่องนี้มันต้องศึกษากันมากหน่อย ต้องช่วยกันอบรมสั่งสอนให้มากหน่อย ให้คนเหล่านั้นรู้ว่า ไอ้ความพอใจในการปฏิบัติธรรมะนั่นแหละโดยไม่รู้สึกตัว มารู้สึกตัวเสียทีเป็นการปฏิบัติธรรมะแล้วก็พอใจว่าเป็นความสุขที่แท้จริง แล้วก็อิ่มอยู่ด้วยความสุขชนิดนี้ทุกอิริยาบถ เพราะว่าทุกๆ อิริยาบถมันเป็นการทำงาน ตื่นนอนขึ้นมา จะอาบน้ำ จะกินข้าว จะถ่ายอุจจาระปัสสาวะ จะทำอะไร จะเคลื่อนไหวอะไร มันก็เป็นการงานหมด รู้ว่าเป็นธรรมะหมด เป็นเพื่อความรอดหมด แล้วก็อิ่มด้วยความสุขทุกอิริยาบถ ทุกสถานที่ทั้งวันทั้งคืนทั้งหลับทั้งตื่นไม่ต้องใช้เงินเลย บทสวดในรัตนสูตรที่สวดเจริญพระพุทธมนต์บ้านเรือน มีอยู่ตอนหนึ่งที่ว่า เมื่อปฏิบัติอย่างนั้นแล้วได้นิพพานมาบริโภคอยู่เปล่าๆ ลทฺธา มุธา นิพฺพุตึ ภุญฺชมานา เมื่อปฏิบัติตามหลักที่ว่านั้น จะได้นิพพานมาบริโภคอยู่เปล่าๆ ผมใช้เป็นหลักที่ยืนยันว่า ถ้าพระนิพพานแล้วไม่ต้องใช้เงิน ได้เปล่า ก็มาเข้ากันได้กับข้อนี้ที่ว่า เมื่อทำจิตใจให้พอใจเป็นสุขอยู่ด้วยธรรมะ กิเลสเกิดไม่ได้ ความทุกข์เกิดไม่ได้ ได้นิพพานมาบริโภคอยู่เปล่าๆ เกิดกันทุกคนเลย แต่เดี๋ยวนี้มันไม่รู้นี่ แล้วมันก็ทำงาน ทำหน้าที่อย่างเหงื่อไหลไคลย้อยกันอยู่โดยมากทุกคน แต่ มันไม่รู้ มันไม่รู้ว่าเป็นการปฏิบัติธรรมะ ไม่มีความพอใจ และไม่มีความสุข เดี๋ยวนี้ทำงานเท่าเดิม แต่ขอเปลี่ยนเสียหน่อย ก็มารู้ว่าไอ้นี่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ คือปฏิบัติธรรมะ มีสติสัมปชัญญะ ทำให้ดีที่สุด มีสมาธิในการทำ ก็จะเป็นความสุข เกิดจากความพอใจที่ได้ทำ เราก็เลยมีความสุข ไม่ต้องเพิ่มงาน ความเหน็ดเหนื่อยที่มีอยู่ แต่เดิม นั้นแหละมาเปลี่ยนให้มันเป็นการปฏิบัติธรรมะ เป็นหน้าที่ไปเสียให้หมด ทุกคนทำ จะเป็นราชามหากษัตริย์ เป็นข้าราชการ เป็นพ่อค้า เป็นชาวไร่ชาวนา เป็นกรรมกรก็ตาม เป็นกรรมกรยิ่งจะต้องรู้จักธรรมะชนิดนี้ เพื่อปลอบใจตัวเอง ให้มันยอมรับสภาพที่ว่าต้องเป็นไปตามกรรม อย่าไปคิดว่า มันจะเสมอกันทุกคนได้ มันเรื่องบ้า เรื่องที่ให้เสมอภาคกันหมดทุกคน ทุกชนิดการงานนั้นเป็นไปไม่ได้ เป็นเรื่องบ้า มันต้องเป็นไปตามกรรม แต่แล้วก็มีทางแก้ปัญหาว่ามันจะมีกรรมอย่างไร ฉันก็เปลี่ยนให้เป็นการปฏิบัติธรรมะไปเสียให้หมด แล้วก็มีความสุข มีความพอใจ พวกกรรมกรก็จะพอใจในการทำงาน ไม่เกี่ยง ไม่เกี่ยงงอนไม่เรียกร้อง ไม่ต่อสู้ อะไรกันอย่างที่กำลังทำกันอยู่ เพราะไม่ยอมรับสภาพของความเป็นกรรมกร เรื่องนี้ผมก็อยากจะฝากไว้อีกทีหนึ่งที่ว่าเลิกวรรณะ เลิกวรรณะนั้น ระวังให้ดีนะ พูดให้ดีถูกต้องนะ วรรณะโดยชาติกำเนิดเลิกได้ วรรณะโดยชาติ โดยกำเนิดเลิกได้ แต่ถ้าวรรณะโดยหน้าที่การงานนั้น เลิกไม่ได้ เลิกไม่ได้ ไม่มีใครเลิกมันได้ พระพุทธเจ้าก็ไม่เลิก เลิกไม่ได้ ยังยอมรับเมื่อทำหน้าที่อย่างไร ก็เป็นวรรณะอย่างนั้น แต่ชาติกำเนิดเกิดในวรรณะไหนจะเป็นอะไรนั้น เลิกได้ เลิกได้ เพราะฉะนั้นเราก็จึงมีวรรณะที่ต่างกัน บทสวดปัจจเวก เววณฺณิยมฺหิ อชฺฌูปคโต อันนั้นน่ะ เราถึงวรรณะแตกต่างกันแล้วนะ มีวรรณะต่างจากผู้อื่นแล้ว จะต้องปฏิบัติให้ถูกตามวรรณะของตัว นี่ยืนยันว่าไม่ได้เลิกวรรณะ แต่มันมีวรรณะของบรรพชิต วรรณะของเพศบรรพชิต นี่แสดงว่า วรรณะโดยการงานนั้นเลิกไม่ได้ วรรณะโดยชาติกำเนิดนั้นเลิกได้ มีประโยชน์ กรรมกรก็เป็นวรรณะตามหน้าที่การงาน เขาก็ยอมรับสภาพ อันนั้นเขาก็พอใจ รู้ว่าการทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำเป็นการปฏิบัติธรรมะเพื่อความรอด เขาพอใจ เขาพอใจ มันก็จะร่วมมือกันได้กับนายทุน เดี๋ยวนี้ปัญหาใหญ่มหาศาลของโลก มองให้ดี มันมีอยู่ระหว่างที่นายทุนกับกรรมกร มันรักกันไม่ได้เท่านั้นแหละ มันคิดฆ่ากันอยู่ทุกวัน คิดล้างผลาญกันอยู่ทุกวัน ระหว่างนายทุนกับกรรมกร ถ้ากรรมกรก็ยอมรับสภาพอันนี้ นายทุนก็มีเมตตากรุณา ให้ส่วนแบ่งส่วนเฉลี่ยให้พอสมควรกัน เหมือนกับเศรษฐีครั้งพุทธกาลเลี้ยงทาสเลี้ยงบริวารอย่างลูกอย่างหลาน ทำงานได้ผลมาเก็บไว้สำหรับหล่อเลี้ยงโรงทาน ทั้งเศรษฐีและทั้งทาสกรรมกรกลายเป็นผู้ตั้งโรงทาน หล่อเลี้ยงโรงทาน มันก็อยู่กันได้ ทาสอย่างนี้ไม่ต้องเลิก แล้วเลิกมันก็ไม่เอา มันไม่เลิก เพราะมันอยู่กับนาย นายอย่างนี้ดีกว่าอยู่อย่างส่วนตัว แต่กรรมกรที่อาฆาตมาดร้ายกับนายทุน นายทุนก็ดักซับ นายทุนที่ซับไปได้ทุกอย่าง เพราะว่ามันก็ไม่ยอมรับสภาพที่ว่า เรามีวรรณะอย่างนี้ ก็ต้องทำหน้าที่อย่างนี้ หน้าที่ของเราอาบเหงื่อ หน้าที่ของเขาไม่อาบเหงื่อ ก็ช่างหัวเขาสิ พวกเทวดาไม่รู้จักเหงื่อ พวกอย่างนี้รู้จักเหงื่อ มันก็เป็นหน้าที่ด้วยกัน ถ้าเมื่อไหร่นายทุนกับกรรมกรเข้าใจกันได้ ไอ้โลกนี้ก็เปลี่ยนสภาพไม่มีการต่อสู้กันระหว่างขวา ระหว่างซ้าย ระหว่างนายทุนกับกรรมกร ชนกรรมาชีพ ยอมรับสภาพหน้าที่ ตามภูมิ ตามชั้นของตน ไม่ต้องเสมอกัน ตั้งแต่พระราชา มหากษัตริย์ จักรพรรดิ สูงสุดลงต่ำมาจนกระทั่งว่า คนขอทานนั่งขอทานอยู่ ก็ยอมรับสภาพนั้น ขอทานให้ดี ขอทานให้เป็นการปฏิบัติธรรมะ ไม่เท่าไหร่ก็พ้นจากความเป็นคนขอทานนั้น แก้ปัญหาได้ด้วยหน้าที่ หน้าที่ ฉะนั้นจึงถือว่าหน้าที่เท่ากับพระเจ้า เรามีพระเจ้าเป็นหน้าที่ช่วยให้รอดก็คือธรรมะนั่นแหละเป็นพระเจ้า ช่วยให้รอด อย่าไปอวดดีว่าไม่มีพระเจ้า มันมีพระเจ้าตามความหมายของพุทธศาสนา ไม่มีพระเจ้าตามความหมายของไสยศาสตร์ เป็นอันว่า มีสติสัมปชัญญะ รู้สึกตัวอยู่ทุกอิริยาบถที่เคลื่อนไหว เอาว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ปฏิบัติธรรมะเพื่อความรอด เรียกว่าเคล็ดก็ได้ เรียกว่าเคล็ดลับก็ได้ เรียกว่าศิลปะก็ได้ มันทำให้เกิดความงดงามขึ้นมาได้ในการปฏิบัติ เพื่อความรอดของตัว แล้วก็เชื่ออยู่ว่า เราปฏิบัติธรรมะคือความถูกต้อง ธรรมะคือถูกต้อง แก่ความเป็นมนุษย์ของเรา เราพอใจ แล้วก็ยินดี ทำอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา ทั้งวันกระทั่งหลับก็เป็นด้วยสติสัมปชัญญะอย่างนี้ พอถึงเวลา สมมติว่าจะนอนก็นึกถึงว่าวันนี้ทำอะไรบ้าง วันนี้ทำหน้าที่ทุกอย่างถูกต้องหมดเลย มีแต่ความถูกต้อง ความพอใจ พอใจในความถูกต้อง ยกมือไหว้ตัวเองได้ เมื่อนั้นเป็นสวรรค์ ผมขอยืนยันว่า ไอ้ความหมายนี้ใช้ได้ เมื่อไรยกมือไหว้ตนเองได้เมื่อนั้นเป็นสวรรค์อันแท้จริงนี้ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ สวรรค์ต่อตายแล้วนั่น ขึ้นอยู่กับสวรรค์นี้นะ สวรรค์ที่ต่อตายแล้ว ที่เขาพูดกันอย่างไร กี่อย่าง กี่อย่างก็ตาม มันขึ้นอยู่กับสวรรค์นี้ คือทำหน้าที่จนยกมือไหว้ตัวเองได้ พูดเสียใหม่ว่า เมื่อทำหน้าที่จนยกมือไหว้ตัวเองได้ เมื่อนั้นคือสวรรค์อันแท้จริง ทุกคนมีสิทธิ มีโอกาสที่จะมีสวรรค์อันแท้จริงได้ทั้งนั้นเลย แต่เขาไม่รู้จัก แต่เขา ก็เลยไม่ได้ ทำความพอใจให้เกิดขึ้นทุกอิริยาบถที่จะเคลื่อนไหวไป เพื่อหน้าที่ เพื่อธรรมะ อย่างน้อยพอเสร็จจบวันสิ้นวันมาใคร่ครวญดู คิดบัญชีดู โอ้, มันมีแต่ความดี ความถูกต้อง ยกมือไหว้ตัวเองได้เป็นสวรรค์ นั่งพักอยู่ในสวรรค์สักพัก ค่อยนอนก็ได้ เป็นสวรรค์ที่แท้จริง ไอ้สวรรค์ที่พูดว่าอยู่ข้างบนฟ้า อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ จะได้ต่อตายแล้วนั้นน่ะ มันเป็นเรื่องอย่าพูดดีกว่า มันพิสูจน์ไม่ได้ แต่สวรรค์ของเราพิสูจน์ได้ ยังท้าทายได้ว่า สวรรค์อย่างอื่นจะมีกี่ชนิด มันขึ้นอยู่กับสวรรค์นี้ คือการกระทำที่ทำให้ยกมือไหว้ตัวเองได้ แล้วชื่นใจตัวเอง ความเคารพตัวเอง ชื่นใจตัวเอง คำนี้ดูจะเป็นจริยธรรมสากล self respect ฝรั่งเขาพูดกันมากที่สุด จะมีความหมายแค่ไหนก็ไม่ทราบ แต่เขาพูดกันมานานแล้ว เรื่องเคารพตัวเอง พอใจตัวเอง เคารพตัวเอง แล้วเป็นสุขอยู่ในตัวเอง เขาพูดกันมานาน ในฐานะเป็นจริยธรรมสากลด้วยซ้ำไป ก็มาเข้ากับหลักที่ว่า นี่เป็นหลักในพระพุทธศาสนา ประพฤติธรรมะถูกต้อง พอใจตัวเอง ชื่นใจตัวเอง นั่นแหละคือสวรรค์ที่แท้จริง ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่หลอกลวงพิสูจน์ได้ทุกเมื่อ ไม่ใช่สวรรค์โฆษณาชวนเชื่อ แต่เป็นสวรรค์ที่แท้จริง นี่เราจะเปิดทางสวรรค์กันบ้าง ก็น่าจะชักชวนกันมาขณะนี้ แล้วมันก็จะรวมอยู่ในหลักที่ว่า แสดงธรรมให้ไพเราะงดงาม ทั้งเบื้องต้น ทั้งท่ามกลาง และเบื้องปลาย นี่คือสวรรค์ชั้นหนึ่ง ชนิดหนึ่ง เลือกใช้ให้เหมาะ เมื่อเบื้องต้นก็ได้ ท่ามกลางก็ได้ เบื้องปลายก็ได้ เพราะมันทำให้ตัวเองมีคุณค่า สูงได้เป็นชั้นๆๆๆ หลายชั้น ความพอใจก็มีหลายชั้น สอนให้รู้ว่า ทำหน้าที่นั้นคือการปฏิบัติธรรมะ ช่วยให้ตัวเองรอดในทุกความหมาย ในเรื่องทำมาหากิน บริหารชีวิตก็ทำถูกต้อง ในเรื่องปฏิบัติธรรมะ ละกิเลส บรรลุมรรคผลนิพพานก็ทำถูกต้อง เรียกว่าหน้าที่ หน้าที่โดยเสมอกัน มันก็ช่วยตัวเองให้รอด แล้วก็ตรงตามพระพุทธประสงค์ คือใช้เป็นเครื่องบูชาพระพุทธเจ้าได้ด้วย การปฏิบัติหน้าที่ หรือการปฏิบัติธรรมะนี่ ใช้บูชาพระพุทธเจ้าได้ด้วย เพราะว่าตรงตามพระพุทธประสงค์ เราช่วยยกฐานะทางจิตใจของเพื่อนมนุษย์ ของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งของมหาชนส่วนใหญ่ ที่ยังไม่รู้จักความหมายของคำว่า ธรรมะให้ดีๆเถอะ ถ้าเราช่วยให้เขามีธรรมะในลักษณะอย่างนี้ขึ้นมาได้เมื่อไร ก็เป็นโลกพระศรีอาริยเมตไตรยเมื่อนั้น มันก็หมดปัญหา โลกที่หมดปัญหา แต่นี่ไม่รู้จักธรรมะ ไม่รู้จักหน้าที่ แล้วยังเกลียดเสียด้วยว่า เหงื่อขึ้นมา ออกมา ไปขโมยดีกว่า ถ้าทำงานมันเหนื่อยขึ้นมา เหงื่อออกขึ้นมา มันจะคิดไปว่าขโมยดีกว่า ไปเป็นอันธพาลดีกว่า จะมาทนอย่างนี้อยู่ทำไม ถ้ามันนึกเสียใหม่ให้ถูกต้องว่า โอ๊ะ, มันหน้าที่ มันคือธรรมะ จะต้องผ่านอันนี้ไป ไถนาอยู่โครมๆ เป็นการปฏิบัติธรรมะตลอดเวลา หรือทำงานหน้าที่อย่างอื่น ก็เหมือนกัน ตลอดเวลาที่ทำหน้าที่เป็นการปฏิบัติธรรมะอยู่ตลอดเวลา โลกนี้ก็เป็นโลกของธรรมะทั้งหมดทั้งโลก มันก็ไม่มีปัญหา มันก็มีเหลือปัญหาสุดท้ายอยู่ว่า ทำอย่างไรจึงจะมีความรู้ข้อนี้ ก็ช่วยบอกกันสิ ถ้าทำอย่างไรจึงจะปฏิบัติได้ ก็มีสติ ฝึกสติ ฝึกสมาธิ ให้รู้ ให้เข้าใจ ให้มีคุณธรรมอันนี้พอ ที่จะมีสติเมื่อทำหน้าที่ สติเป็นความตื่น สติเป็นความตื่นอยู่คือไม่หลับ ด้วยอวิชชา เขาก็ฝึกสติให้ตื่นอยู่ด้วยความรู้อันนี้ มีปัญญาศึกษาเรื่องนี้แล้วก็มีปัญญา แล้วก็มีสติไปเอาความรู้เรื่องนี้มาทันเวลา ที่จะทำหน้าที่ ก็เลยรักการทำหน้าที่ มีสัมปชัญญะก็คือมีปัญญาควบคุมอยู่ตลอดเวลาที่ทำหน้าที่ สติไปเอาสัมปชัญญะ ไปเอาปัญญามาทำเป็นสัมปชัญญะ ควบคุมอยู่ตลอดเวลาที่ทำหน้าที่ แล้วทำหน้าที่ทุกอย่างด้วยสติ สัมปชัญญะและสมาธิ แม้แต่จะล้างจาน จะกวาดบ้าน จะถูบ้าน อาจจะทำได้ด้วยสติ สัมปชัญญะ ปัญญา สมาธิ ส่วนเรื่องอื่นๆ มันตามมาเอง เรื่องขันติ ความอดทนวิริยะ ความเพียร มันตามมาเอง ขอให้มันมีสติ มีปัญญาถูกต้อง และก็สติขนเอาปัญญามาควบคุมชีวิต ให้ปฏิบัติหน้าที่อยู่อย่างถูกต้อง มันสำเร็จด้วยการมีสติ สัมปชัญญะ ไอ้ปัญญามันรวมอยู่ในสัมปชัญญะ เราไม่ต้องออกชื่อบ่อยนักก็ได้ ถ้ามีสติไปนำเอาปัญญามา มาเป็นสัมปชัญญะ ควบคุมชีวิตอยู่ให้ทำหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ มันก็ถูกต้อง เมื่อถูกต้องก็สำเร็จประโยชน์ แม้จะทำไม่สำเร็จประโยชน์ก็ควรจะพอใจ ว่าได้ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว ในบางกรณีมันไม่สำเร็จตามความมุ่งหมาย ก็ไม่เป็นไร มันเช่นนั้นเอง ธรรมะสูงสุดในพระพุทธศาสนามีอยู่บทหนึ่งว่า ตถตา ตถตา ตถาตา มันเช่นนั้นเอง เช่น ชาวนาจะทำนาแล้ว บางปีไม่ได้ข้าวเลย ไม่มีผล ไม่มี มันก็เช่นนั้นเอง สี่ห้าปีได้ข้าว ก็เก็บไว้บ้างสิ ปีไหนทำนาไม่ได้ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์เดือดร้อนอะไร มันเช่นนั้นเอง ฉะนั้นการงานที่ผิดพลาดไป ไม่ได้ผลตามที่มุ่งหมาย เป็นเช่นนั้นเอง แล้วก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ เมื่อมีปัญญาก็รู้จักเก็บหอมรอมริบไว้เพื่อแก้ปัญหา เมื่อสำเร็จประโยชน์ ก็รวบรวมทรัพย์สมบัติอะไรไว้ สำหรับเป็นทุน สำหรับเป็นหลักทรัพย์ดำเนินงาน ก็ไม่ต้องเสียใจ แต่ว่ามันมีความผิดพลาดขึ้นมาบ้างในบางกรณี แต่มันจะมีแต่ถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ เก้าเรื่องสิบเรื่องจะผิดสักเรื่อง คือไม่ได้ตามที่ต้องการมีสักเรื่อง ทั้งที่เราทำถูกแล้ว ปฏิบัติถูกแล้ว มันก็มีเหมือนกันที่ไม่ได้ผลตามที่ต้องการ นั้นไปเล็งผลทางวัตถุมากเกินไป แต่ถ้าเล็งทางจิตใจ แล้วได้ผลทุกเรื่องไม่มีอะไรที่ล้มเหลว ไม่ได้ผลเป็นเงินเป็นทอง มันก็ได้ความรู้ ได้สติปัญญาเป็นความรู้ ซึ่งแพงกว่าเงินทองเสียอีก ฉะนั้นทุกเรื่องเป็นผลดีทั้งนั้น เรียกว่าขอให้มองให้ดีมันจะมีแต่เรื่องได้ไม่มีอะไรเสีย คำว่าเสียไม่มีแก่ผู้ที่ปฏิบัติธรรมะ หาเงินได้ก็อย่างนั้น ไม่ได้เงินก็อย่างนั้น มีแต่ความรู้ ที่จะหัวเราะเยาะในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงมันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอย่างนี้ นี่มันใกล้พระอรหันต์เต็มทีแล้ว ไม่ต้องยินดียินร้ายอะไรให้ขึ้นๆลง มันขึ้นๆลงๆอยู่ในโลกมันเหนื่อยเปล่าๆ เป็นอันว่า เราสามารถที่จะมีสวรรค์อยู่ทุกอิริยาบถ ถ้าเก่ง เก่งถึงขนาดจะมีสวรรค์อยู่ทุกอิริยาบถ คือพอใจในการกระทำที่ถูกต้อง มันจะมีผลสำเร็จเป็นเงินเป็นทองหรือไม่ ช่างหัวมัน พอใจในการกระทำที่ถูกต้องเป็นสวรรค์แล้ว เป็นสวรรค์ สามารถจะมีสวรรค์อยู่ได้ทุกๆ อิริยาบถ ฉะนั้นทุกเรื่องมารวมอยู่ที่คำว่าหน้าที่คำเดียวไม่ต้องแยกเป็นหลายเรื่อง จะศึกษา เอ้า,ยังเรียนอยู่ ก็เป็นหน้าที่ จะปฏิบัติก็เป็นหน้าที่ ก็ได้รับผลของการปฏิบัติ ก็เป็นผลของหน้าที่ เราเรียนกันแต่เรื่องหน้าที่ให้พอ คือเรียนเรื่องธรรมะ ธรรมะให้พอ มีความหมายว่าเป็นหน้าที่
นี่ผมก็ขอถวายสิ่งที่เคยศึกษา เคยสังเกต เคยพิสูจน์ มาตลอดเวลา ว่ามันมีอย่างนี้ทุกเรื่องทุกคำ ทุกปัญหา มันมีความหมายสลับซับซ้อน ซ้อนกันกันอยู่หลายๆ ชั้น ลึกกันอยู่เป็นหลายๆ ชั้น ขอให้ตั้งหน้าตั้งตา ศึกษาสังเกตต่อไป อย่ายุติเอาง่ายๆ ว่าพอแล้ว หรือแม้แต่ว่าถูกต้องแล้ว นี่ก็อย่าเพิ่ง ต้องทบทวนดูหลายๆ หนว่าถูกต้องจริงๆ แล้วมันก็จะพอแล้ว ก็ต่อเมื่อได้ปฏิบัติแล้ว เตรียมตัวสำหรับจะปฏิบัติหน้าที่ของบุตรตถาคตในอนาคต ถ้าจะให้ชีวิตนี้มีประโยชน์มากที่สุด จงทำตามพระพุทธประสงค์ ทำตามพระพุทธประสงค์ ทำตนเป็นผู้เปิดเผยสิ่งที่ลึกลับ แจ่มแจ้งแก่ประชาชน แก่มหาชน ที่ว่าเหมือนกับเปิดของที่ปิด หงายของที่คว่ำ จุดตะเกียงไว้ให้คนเขาได้เห็นอะไรๆ ที่ควรจะเห็น ก็จะเป็นบุตรตถาคตโดยสมบูรณ์ ในวันนี้ผมไม่มีพูดเรื่องอะไร พูดแต่ได้สังเกตดูว่า ความหมายมันซ้ำซ้อนลึกลับซ้ำซ้อนกันอยู่หลายๆชั้น แม้แต่ความหมายของคำว่าธรรมะ ธรรมะเพียงคำเดียว ลึกลับซ้ำซ้อนกันอยู่ แล้วแต่จะมองในแง่ไหนหรือจะมองในชั้นไหน ระดับไหน ขอได้โปรดนำไปพิจารณา ให้มันคล่องแคล่ว ทุกความหมายทุกชั้น แล้วจะใช้เป็นประโยชน์ทันเวลาทันท่วงทีที่เหตุการณ์มันเกิดขึ้น การปฏิบัติหน้าที่ของบุตรตถาคตมันก็จะง่ายขึ้นมันอยู่ในวิสัยที่ทำได้แน่นอน ผมขอยุติการบรรยายในวันนี้ไว้เพียงเท่านี้ ยังไม่ค่อยแข็งแรง มันเหนื่อยเร็ว พูด ๓ ชั่วโมงไม่ได้แล้วเดี๋ยวนี้