แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้วันอาทิตย์ก็มีการพูดกันตามเคย เรื่องที่จะพูดมันก็ เอ่อ, มีความมุ่งหมายอย่างที่พูดแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ก่อน ก็พูดโดยความหวังว่า จะให้ผู้บวชได้รับประโยชน์เต็มตามที่ควรจะได้ในการบวชนั่นเอง ขอให้ผู้บวชทุกคนมีเจตนาเต็มที่ในการที่จะได้รับอะไรๆ ให้เต็มตามความมุ่งหมายของการบวช เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่เราก็รู้กันอยู่แล้วว่า เราบวชเอง เรารับผิดชอบในการบวชของเราเอง จะได้อะไรคุ้ม คุ้มกัน หรือไม่คุ้มกัน มันก็อยู่ที่ผู้นั้นเอง ดังนั้น ขอให้มองถึงข้อนี้ให้มาก แล้วก็พยายามอย่างยิ่ง พยามอย่างที่สุดที่จะให้ได้รับอะไรๆ มากเต็มที่ อ้า, สมกับความมุ่งหมายของการบวช ถ้าคนแก่บวชอย่างแบบสมัยโบราณนั้นก็บวชเพื่อหาความสุขบั้นปลายแห่งชีวิตในการบวช เดี๋ยวนี้เราก็บวชอย่างแบบปัจจุบันนี้ เพื่อออกไปดำรงชีวิตในเรื่องของฆราวาสอีก ดังนั้น จะต้องมีอะไรต่างกันบ้าง แม้ที่สุดแต่ว่ามันอยู่ตรงกลาง คือว่า เราจะศึกษาดูให้มากที่สุด ถ้าเหมาะโอกาส หรือเป็นที่พอใจก็จะบวชกันเลยไม่คิดสึก อย่างนี้ก็มีมากไม่ใช่ไม่มี ทีแรกก็บวชตามประเพณี ก็เป็นที่พอใจก็ทำต่อไปจนไม่คิดจะสึก ผมเองก็อยู่ในพวกนั้นแหละ อยู่ในพวกนั้น ขอให้รับเอาสิ่งที่ควรจะได้รับไว้ให้มาก ถ้าว่าโดยแท้จริงการบวชนั้นก็เพื่อหาความสะดวกในการจะปฏิบัติธรรมะ หรือจะศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ อยู่อย่างที่เรียกว่า ดีกว่าฆราวาสนะ แต่โดยเนื้อแท้แล้วมันก็เป็นโอกาสที่จะให้สะดวกในการศึกษาธรรมะให้มากยิ่งขึ้นไป ในการปฏิบัติธรรมะให้ยิ่งขึ้นไปได้ถึงที่สุดนี้มันมีโอกาสยิ่งกว่าฆราวาส ดังนั้น เมื่อได้บวชเข้ามาแล้วก็จะพยายามให้มันสำเร็จประโยชน์ตามนั้น แม้มันจะได้ไปถึงไหน เท่าไร ก็ค่อยว่ากันทีหลัง แต่ว่าในชั้นนี้จะต้องพยายามให้ถึงที่สุด จะถือโอกาสเรียน และประพฤติปฏิบัติทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ โดยมุ่งหมายจุดปลายทางก็ได้ จะดับทุกข์สิ้นเชิง ทีนี้ข้อที่กังวลหรือว่าเกรงอยู่ก็คือว่า ไม่เข้าใจ แล้วก็ทำเล่นๆ ทำเล่นๆ กับการบวช เอาตามสบายใจ นี้ก็มีอยู่มากไม่ใช่น้อยนะ บวชแล้วก็ทำเล่นๆ แล้วก็ตามสบายใจ ไม่รับผิดชอบตัวเอง ไม่รับผิดชอบอะไรของใคร ถ้ามีความรับผิดชอบตัวเอง รับผิดชอบความเสียสละของบิดามารดา ผู้คลอดผู้เลี้ยงเรามาด้วยความยากลำบาก แล้วก็ควรจะไม่ต้องเหลวไหล คือ จะทำกันอย่างดีที่สุด ไอ้เรื่องเบ็ดเตล็ดเล็กๆ น้อยๆ มันก็มี เรื่องที่เป็นชั้นหัวใจอย่างยิ่งนั่นมันก็มี แต่มันก็เกี่ยวข้องกันแหละ ไอ้เรื่องทำให้ถูกต้องในขั้นทั่วๆ ไป แม้จะเป็นเรื่องเบ็ดเตล็ดเล็กน้อยนั่นนะมันก็มีประโยชน์แก่เรื่องใหญ่ มันเป็นอุปกรณ์แก่เรื่องใหญ่ เพราะใครๆ ก็พอจะมองเห็นว่าเรื่องใหญ่มันก็ตั้งต้นไปจากเรื่องน้อย เรื่องเล็กนะ คือว่าเรื่องเล็กมันรวมกันเข้า หลายๆ เรื่อง มันก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้น เราอย่าบกพร่อง แม้ในเรื่องเล็กน้อยเลย ตามพระบาลีว่า สำรวมระวังในปาติโมกข์ เห็นโทษโดยความเป็นโทษ แม้ที่เล็กน้อยที่สุด แม้ที่เล็กน้อยที่สุด อย่างพูดทางวินัยที่ว่า อาบัติทุกกฎ แล้วอย่าเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย ให้เป็นเรื่องใหญ่โตทำลายความเป็นมนุษย์ได้ คือว่าจากเรื่องเล็กมันก็ค่อยลาม ลามไปถึงเรื่องใหญ่ คือว่าทำไม่ดีทำชั่วนั้นได้มากขึ้น มากขึ้นๆ เพราะเห็นเป็นเรื่องเล็ก โดยมากก็เป็นกันอย่างนี้ กว่าจะรู้สึกตัวมันก็เลย เลยเวลาที่จะแก้ไขได้ เพราะฉะนั้น จะต้องเห็น เห็นว่าเป็นอันตราย อ้า, แม้ในโทษอันมีประมาณน้อย อนุมัติเตสุ วัชเชสุ ภยทัสสวี คำบาลีว่าอย่างนั้น เห็นโทษโดยความเป็นโทษแม้ที่มีประมาณเล็กน้อย นี่คือสิ่งที่เรียกกันว่า ความไม่ประมาท ความไม่ประมาท สำหรับผู้ไม่ประมาทนนั้น ไม่มีอะไรเป็นเรื่องเล็กน้อย มันเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความเสียหายได้ด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ในวันนี้ก็จะไม่พูดอะไรมาก นอกจากตักเตือนว่าอย่าเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย มันจะล้มละลายหมดแหละ ขอให้สนใจมากๆ เถิด ถ้าเกิดเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อยแล้วมันก็ทำเล่นๆ แล้วมันก็ค่อยๆ เสื่อม เสียหายไป เสียหายไป จนเสียนิสัย เสียนิสัย แล้วมันก็ไม่มีอะไรเหลือ ดังนั้น เราจะต้องทำให้ดีที่สุด แม้ในเรื่องเล็กน้อย แล้วมันก็สร้างนิสัย สร้างนิสัยที่ดี คือ ไม่มีอะไรเป็นเรื่องเล็กน้อย เรื่องเล็กน้อยก็มีค่าเต็มที่ตามความเล็กน้อย แต่แล้วมันก็ประกอบกันเข้าเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้น เราไม่ดูถูกเรื่องเล็กน้อย ก็จะต้องทำจริง ทำให้ดีที่สุด เรื่องบิณฑบาต เรื่องกวาดวัด เรื่องแสดงอาบัติ เรื่องทำวัตรสวดมนต์ อะไรเหล่านี้ เรื่องทำกิจทั่วๆ ไป ของส่วนรวม เหล่านี้มันเป็นหลักพื้นฐาน ถ้าพื้นฐานมันดีมันมั่นคง มันก็ ข้างบนมันก็ดี และขอเติมสักหน่อยหนึ่งว่า ถ้าทำอะไรแล้วก็ขอให้มีความสุขจากการทำสิ่งนั้น ให้พอใจ ให้เป็นสุขจากการทำสิ่งนั้นที่กำลังกระทำอยู่ ยกตัวอย่างแม้เรื่องเล็กน้อยที่สุด คือ กวาดวัดนี่ กวาดวัด บางคนเห็นเป็นเรื่องของไอ้นักโทษ ของคนใช้ หรือของอะไรไป ภิกษุสงฆ์ผู้มีเกียรตินี่จะทำอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าอย่างนี้มันก็ผิดกันหมดแหละ คือโดยวินัยมันก็มีอยู่แล้ว คือมันจะต้องทำการกวาด รักษาความสะอาด แต่เท่านั้นไม่พอ ขอให้ทำจนรู้สึกพอใจและเป็นสุขด้วย เมื่อกวาดวัดนั้นก็พอใจว่าถูกต้องตามวินัย นี่ก็พอใจ แล้วก็มองดูให้ดีว่า การกวาดวัดนั้นมัน มัน มันกวาดหัวใจด้วย ในหัวใจนั้นมันเต็มอยู่ด้วยความเห็นแก่ตัว ถ้าเป็นปุถุชนเต็มขั้นในหัวใจนั้นก็เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว บวชแล้วกวาดวัด มันก็กวาดหัวใจด้วย คือ กวาดความเห็นแก่ตัวให้ค่อยลด ละ ไปจากหัวใจนี่ ดังนั้น เราจึงมีคำพูดว่า กวาดวัดนั้น คือ กวาดหัวใจของผู้กวาดนั้นด้วย มันจะลดความเห็นแก่ตัว ลดความเห็นแก่ตัว แล้วก็พอใจ แล้วก็พอใจ แล้วก็เป็นสุข เป็นสุข ไม่รู้จักเหนื่อย ไม่รู้จักเบื่อระอา ให้รู้จักว่า ใจมันสะอาดขึ้น ดีขึ้น เป็นสุขมากขึ้น นี้เป็นสุขตลอดเวลาที่กวาดวัด นี่มันก็เป็นเคล็ด หรือมันเป็นศิลปะ ในความหมายของศิลปะในทางธรรมะมันก็เป็นการปฏิบัติธรรมะ ดังนั้น ก็ขอให้กวาดวัดด้วยจิตที่เป็นสมาธิ มีสมาธิอยู่ที่ไม้กวาด ที่ไม้กวาดแตะดิน ไม้กวาดแตะดิน แล้วพาไป ให้อันนั้นเป็นอารมณ์ของสมาธิ ลองทำดู ลองทำดู จะปรากฏผลในทางจิตใจ ในทางจิตใจ จะมีผล อ้า, เป็นการทำสมาธิ คือ มีจิตกำหนดอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วก็เป็นสมาธิทั้งนั้น แล้วก็จะให้ความพอใจ และให้ความสุข แล้วก็ให้เปลี่ยนนิสัย จากที่ไม่ขยัน หรือไม่ หรือเกียจค้านนะ จากที่เกียจค้านมาเป็น ไม่เกียจค้าน ก็พอใจตัวเองได้ขั้นหนึ่ง พอใจตัวเองได้ขั้นหนึ่ง อย่างที่เคยพูดว่า ยกมือไหว้ตัวเองได้หน่อยหนึ่ง นี่ยกตัวอย่างไว้แต่เรื่องที่ว่า ต่ำต้อยที่สุด คือ การกวาดวัด แต่เรื่องมันไม่ใช่เรื่องต่ำต้อยที่สุด มันเป็นเรื่องกวาดกิเลส ละกิเลส ละความเห็นแก่ตัว อย่างที่พูดแล้วในวันก่อนว่า เราทำงาน สมัครทำงานโดยไม่ต้องหวังอะไรตอบแทน แม้แต่ว่า ใครจะมาขอบใจ ขอบใจ สักคนหนึ่งก็ไม่มี นี่ฝึกฝนการทำงานโดยไม่หวังอะไรตอบแทน มันก็ลดนิสัยที่เป็นความเห็นแก่ตัว ก็เห็นแก่ธรรมะ ถ้าไม่เห็นแก่ตัว ก็เห็นแก่ธรรมะ คือ ความถูกต้อง จำไว้ดีๆ ธรรมะคือ ความถูกต้อง พระพุทธเจ้าสอน ก็สอนเรื่องความถูกต้องทั้งนั้นแหละ รู้แต่เพียงว่า ธรรมะ คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้ยังไม่พอ ต้องรู้ว่าท่านสอนความถูกต้องคือ หน้าที่ที่ถูกต้อง ที่จะต้องกระทำอย่างถูกต้อง ธรรมะ คือ หน้าที่ที่ถูกต้อง ถ้ามันไม่รู้จะทำอย่างไร มันก็ต้องเรียน แล้วมันก็หมายถึงการศึกษาด้วย ธรรมะ คือ ความรู้และการปฏิบัติที่ถูกต้อง ถูกต้องกับอะไร ถูกต้องต่ออะไร ถูกต้องต่อความเป็นมนุษย์ ฟังให้ดีๆ มันถูกต้องต่อความเป็นมนุษย์ของบุคลนั้น คือ บุคคลที่มีธรรมะ ต้องมีความเป็นมนุษย์ แล้วก็สร้างความถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของตนให้มันมากขึ้น ขอฝากคำพูดไว้เป็นประโยคสั้นๆ สักประโยคหนึ่งว่า ค่าของคนก็อยู่ที่ความเป็นมนุษย์ของคนนั้นคือ คุณค่า อันสูงสุดของเราก็อยู่ที่ความเป็นมนุษย์ของเรา มากหรือน้อย ถ้าเรามีความเป็นมนุษย์น้อย มันก็ ก็ ก็ไม่มีค่าอะไร ต้องมีความเป็นมนุษย์มาก ค่าของเราก็คือ ความเป็นมนุษย์ของเรา เราก็เป็นมนุษย์ให้มากให้เต็มที่ที่จะเป็นได้ นี่ก็จำไว้ด้วยว่า เขาว่าค่าของมนุษย์อยู่ที่เกียติยศ ชื่อเสียง ความร่ำรวย ความมีหน้ามีตา อำนาจวาสนา นั้นมันเป็นเรื่องของชาวบ้านที่ยังโง่เขลา ถ้าเป็นเรื่องของธรรมะโดยแท้จริง มันอยู่ที่ความเป็นมนุษย์ของเขานั่นแหละ พูดแล้วเหมือนกับกำปั้นทุบดิน ว่าค่าของคนก็อยู่ที่ความเป็นคนของคนนั้นนั่นเอง มันเป็นมากหรือน้อยนั่นแหละมันคือ ค่าของคน ไม่ใช่เรื่องรวย เรื่องสวย เรื่องมีเกียรติ เรื่องหรูหรา เรื่อง ไอ้นั้นมันเรื่องหลอกลวง เรื่องสมมติ ดังนั้น ขอให้ยึดให้เป็นหลักอย่างยิ่งว่า เราจะมีความเป็นมนุษย์มาก เป็นค่าของเรา เป็นราคาของเรา แต่นี่เราบวชก็เพื่อศึกษาเรื่องต่างๆ เพื่อความเป็นมนุษย์นั่นเอง เป็นยอดมนุษย์ สูงสุดก็คือ เป็นพระอรหันต์ ถ้ายังไม่ถึงนั้น ก็รองๆ ลงมา แม้แต่ว่าจะเป็นปุถุชน ก็ขอให้เป็นปุถุชนชั้นดี คือ กัลยาณปุถุชน ก็จะไม่เสียที จะไม่ จะไม่ขาดสิ่งที่ควรจะได้ ขอให้เป็นกัลยาณปุถุชน เป็นอริยะชนจนกระทั่งสูงสุดเป็นพระอริยเจ้า อย่าทำเล่นๆ ขอร้องทุกองค์ ทุกองค์ ทุกคน ทุก ไม่ยกเว้น ว่า อย่าทำเล่นๆ อย่าทำหวัดๆ เล่นๆ ตามความพอใจของตน ซึ่งนั้นมันคือ ความโง่ นั้นมันคือ กิเลสนั่น ที่ทำให้ ทำอะไรเล่นๆ เหลาะแหละ เหลาะแหละ เหลาะแหละ ความเหลาะแหละ ความเหลาะแหละต้องไม่มีในสมณะ จะต้องเป็นคนจริง สุดที่จะจริงได้ในความเป็นสมณะของตน ขอให้ทุกคนอย่ามีอะไรที่กล่าวได้ว่า มันเป็นเรื่องเล่นๆ เหลาะๆ แหละๆ มีปมด้อยแล้ว อย่างนี้แล้วมันก็ไปชักชวนคนอื่นให้ ให้เป็นอย่างนั้นด้วย นี่ระวังให้ดี ถ้าใครมาเหลาะแหละเล่นๆ มาชักชวนให้ทำอย่างนั้นด้วยก็อย่าเอากับมัน ต้องเอาฝ่ายข้างอริยเจ้าที่ท่านสอนไว้ ว่าไม่มีอะไรเป็นเรื่องเล่นๆ เป็นเรื่องเหลาะแหละ มีแต่เรื่องตั้งอกตั้งใจทำอย่างยิ่งเต็มที่ ให้เป็นความถูกต้อง เป็นความดี เป็นความจริงสุดที่จะทำได้ นี่เรียกว่าเป็นสมณะ แล้วก็มีความเป็นสมณะให้ถึงที่สุด โดยทั่วไปเขาพูดไว้กว้างๆ ว่าเป็นคนดี เป็นคนดี ให้ดี ให้มีความดี เป็นคนดี ให้มีความดี เหมือนกับที่เกลือมีความเค็มนั่น ถ้าเกลือมันไม่เค็มแล้วมันจะเป็นเกลือไปได้หรือ ดังนั้น ถ้าเป็นเกลือมันก็ต้องมีความเค็ม ถ้าเป็นคนมันก็ต้องมีความเป็นคน คือ ความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง นั่นแหละ คือ ความดี ความดีหรือความถูกต้องนี้ หมายถึงมีประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ถ้าความผิด หรือความชั่วนั้น มัน มันไม่มีประโยชน์แก่ใครเลย แล้วยังทำอันตรายแก่ทุกฝ่ายด้วย นี่เราเป็นนักบวชในพุทธศาสนา ถือเอาความหมายของคำๆ นี้ ตามที่มีใช้กันอยู่ในพุทธศาสนาก็แล้วกัน เรื่องความดี คือ อะไร ความถูกต้อง คือ อะไร เดี๋ยวนี้นักปรัชญาสมัยใหม่พูดกันไม่รู้จบ ไม่รู้จะไปจบลงที่ตรงไหน ยุติไม่ค่อยได้ ที่เขาเรียกว่า เป็น philosophyระวังให้ดี มันไม่รู้จักจบ ดังนั้น ถ้าเราเป็นชาวพุทธมันรู้จักจบ ดี ก็มีประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ไม่ทำอันตรายผู้ใด ชั่ว ก็เป็นโทษแก่ทุกฝ่าย ดังนั้น รู้จักดี รู้จักชั่วด้วยตนเอง ด้วยจิตใจของตนเอง มองเห็นด้วยตนเอง มันก็สำเร็จประโยชน์นะ ที่จะรู้จักดีรู้จักชั่ว แล้วก็เกลียดไอ้ที่ไม่ดี หรือชั่ว หรือผิด ให้อย่างยิ่ง แปลว่าต้องเกลียด กันอย่างยิ่ง ไม่ใช่เกลียดเล็กๆ น้อยๆ หรือว่าให้อภัย ให้อภัยตัวเองอยู่เรื่อย มันต้องเกลียดอย่างยิ่ง โดยถือหลักว่า กิเลส กิเลสนะ แม้นิดหนึ่งก็น่ารังเกียจนะ เรียกว่าของเหม็น ของเหม็น เหมือนอุจจาระนะ นิดหนึ่งก็น่ารังเกียจ คือ เหม็น บางทีน้อยจนมองไม่เห็นว่าอยู่ที่ไหน เท่าไร แต่มันมีกลิ่นเหม็น นี่เรียกว่าอุจจาระ แม้น้อยก็มีกลิ่นเหม็น น่ารังเกียจ ให้ถือว่ากิเลส หรือความชั่ว ก็เหมือนกันนะ แม้นิดหนึ่งจนมองไม่เห็น ก็น่ารังเกียจอย่างยิ่ง ถึงมองไม่เห็น ก็รู้ว่ามันมี เพราะมัน มันแสดงบทบาทออกมา เป็นความชั่ว เป็นความทุกข์นี่ มันแสดงบทบาทออกมา เป็นอันรู้ได้ เหมือนอุจจาระ แม้ไม่มองเห็นแต่ถ้าได้กลิ่นก็รู้แน่ว่ามันมีแน่ มีแน่ มีอยู่แน่ จะค้นหาหรือไม่ค้นหาก็ตามใจ มันมีอยู่แน่ บางทีนิดจนค้นไม่พบก็ได้ แต่มันก็มีอยู่ นี่เราจงตั้งใจให้ถูกต้อง ว่าขึ้นชื่อว่าบาป ว่าอกุศล ว่าความชั่ว ว่าความทุกข์ แล้วก็ อย่าต้องมีกันเลย อย่ามีเลยโดยประการทั้งปวง ทีนี้ จะพูดถึงธรรมะ ธรรมะหัวข้อธรรมะที่จะช่วยให้สำเร็จประโยชน์ตามนั้น สักหมวดหนึ่ง สักหมวดหนึ่ง เดี๋ยวนี่คงจะเรียน อ้า, นวโกวาทกันบ้างแล้ว ในหนังสือนวโกวาทนั้นเอง จะมีธรรมะ เป็นหมวดๆ แล้วก็มีหมวดที่เรียกว่า ฆราวาสธรรม ธรรมะสำหรับฆราวาส คือ สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ ๔ อย่างนั้น จำให้แม่น สัจจะ คือ ความจริงใจ ทมะ คือ บังคบตนเอง ขันตี อดกลั้นอดทน จาคะ คือ สละสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตน ๔ ประการนี้ เรียกว่า ธรรมะสำหรับฆราวาส แต่อย่าเข้าใจผิดๆ ตามที่เขาสอน บางคนสอนผิดๆ ว่าสำหรับฆราวาส จะเป็นฆราวาสอย่างดักดาน ฆราวาสธรรมนี้ ไม่ใช่สำหรับฆราวาสจะได้เป็นฆราวาสอย่างดักดานอยู่ที่นั่น สำหรับฆราวาสจะถอนตนขึ้นมาให้พ้นจาก ความเป็นฆราวาสขึ้นมาเป็นพระอริยเจ้า ใช้ธรรมะ ๔ ประการนั้น แล้วก็ถอนตนจากความเป็นฆราวาสนั้นให้สูงขึ้นมา สูงขึ้นมา สูงขึ้นมาจนเป็นพระอริยเจ้า ฆราวาสธรรมแม้ใช้นี้ แม้ฆราวาสธรรมนี้ก็ใช้ได้ในหมู่ภิกษุ บรรพชิตนี่ จะใช้ถอนจากความเป็นฆราวาสมาสู่ความเป็นบรรพชิตให้ถึงที่สุด เราจะต้องมีธรรมะ ๔ ประการนี้ ข้อแรก ต้องมีความจริงใจ มีความจริงใจ ในอะไร ก็ในความเป็นภิกษุของตนนั่นแหละ ให้มีความจริงใจ ในความเป็นบรรพชิต ของตนนั่นแหละ เป็นพระก็ได้ เป็นเณรก็ได้ ต้องมีความจริงใจเป็นข้อแรก ที่เคยพูดเสมอเมื่อบวช เมื่อพิธีบวช หรือ อ้า, อบรมสั่งสอนอะไร ก็มีว่าจริงๆ จริงๆ คือ ให้บวชจริง ให้เรียนจริง ให้ปฏิบัติจริง ให้ได้ผลจริง ให้สอนสืบๆ กันไป จริงๆ ถ้ามันจริงอย่างนี้ก็เรียกจริงที่สุดต่อความเป็นพระ เป็นเณรของตน เริ่มมีพรหมจรรย์อย่างเต็มที่ นี่เรียกว่ามีความจริง คือ จริงใจ ในความเป็นบรรพชิต อ้า, ของตน ถ้ามันยังไม่จริง หรือมันยังจริงน้อย ก็ช่วยคิดเสียใหม่ ให้มันจริง ถึงที่สุด ไม่ต้องเป็นคนหลอกลวง หลอกตัวเอง หลอกบิดามารดา หลอกประชาชน ว่าเป็นบรรพชิตแล้วมันก็ไม่ได้เป็นนี่ อย่างนี้ก็เรียกว่าหลอกกันนี่ ก็ต้องให้จริง ไม่มีความหลอก สมัครทั้งชีวิตจิตใจทั้งหมด ทั้งเนื้อทั้งตัว ทั้งชีวิตจิตใจ เพื่อความเป็นบรรพชิต คือ พระ หรือ เณรก็ตามเถิด ที่แท้จริง ถ้าฆราวาสใช้ ฆราวาสก็เป็นฆราวาสที่ดีที่แท้จริง เป็นบรรพชิตใช้ ก็เป็นบรรพชิตที่ดีที่แท้จริง สมาทานความจริง อ้า, ของตนของตน ในการที่เป็นภิกษุ หรือสามเณรนี้ เรียกว่ามีธรรมะข้อแรก ทีนี้มันจะจริงอยู่เช่นนั้นได้ ก็ต้องมีข้อที่ ๒ ข้อที่ ๒ เรียกว่า ทมะ ทมะ แปลว่า การบังคับตัวเอง ฝึกฝนตัวเอง คำว่า ทมะนั่น แปลว่า ข่ม หรือบังคับ คือ บังคับจิตให้มันจริง อยู่ได้ และจริงตลอดไป คือ เมื่อความจริงมันรวนเร แล้วก็ต้องมีการบังคับจิต ที่รวนเรนั้นนะ ให้จริงอยู่ได้ ดังนั้น ต้องมีการบังคับจิต ฝึกฝนจิตเป็นตัวพรหมจรรย์ ที่สำคัญอยู่ที่นี้ อยู่ที่การบังคับจิตบังคับตัวนี้แหละ ถ้าไม่อย่างนั้นมันล้มเหลวหมดแหละ ข้อที่ ๑ ให้จริง ข้อที่ ๒ บังคับให้มันจริงอยู่ได้ มันก็ต้องมีความเจ็บปวดบ้างเป็นธรรมดา เมื่อจะทำอะไรให้ดีให้จริง มันก็ต้องมี มีการบังคับ เมื่อมีการบังคับ มันก็ต้องมีการเจ็บปวด ทางกายบ้าง ทางจิตบ้าง ทางวิญญาณบ้าง ก็แล้วแต่แหละ มันต้องมีความเจ็บปวด ทีนี้จะทำอย่างไร มันก็ต้องมีธรรมะข้อที่ ๓ ข้อที่ ๓ คือว่า อดทน อดกลั้น อดทนให้ได้ ทนการบีบคั้นของกิเลสนั่นแหละ เป็นใจความสำคัญ ทนร้อน ทนหนาว ทนเจ็บ ทนไข้ ทนเขาด่า เขาว่า มันก็ดี ก็เป็นการอดทน แต่ว่าอดทนที่สูงสุด คือ อดทนต่อการบีบคั้นของกิเลส ที่จะดึงไปหาความชั่ว ความทุกข์ ความตกต่ำนั่น เราอดทนต่อการบีบบังคับของกิเลส เจ็บก็เจ็บ ฉันไม่ยอมเปลี่ยน ถึงขนาดที่เรียกว่า ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตา นี่ก็เป็นคำโบราณที่เขากล่าวไว้ ในบาลีก็ดูจะไปพบ ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตา หมายความว่า แม้น้ำตาจะไหลก็ไม่ยอมสูญเสียในเรื่องการประพฤติปฏิบัติตามหลักพรหมจรรย์ ดังนั้น ขอให้มอง กันให้มากๆ ว่า ถ้าจะเอาพรหมจรรย์ไว้ได้ มันก็ต้องอดทน อดทน อดทน อ้า, คำว่าอดทน หรือขันตีนี้ มีกล่าวถึงไว้มากนะ ว่าเป็นกำลังของผู้บำเพ็ญพรต ผู้จะปฏิบัติพรหมจรรย์นั้นนะ ต้องมีขันตีเป็นกำลังต่อสู้ข้าศึกคือ กิเลส เราเคยชิน แต่เล็กๆ มา เคยชินต่อการที่จะไม่อดกลั้นอดทน คือ หลบหลีกไปเสีย หนีไปเสีย สลัดทิ้งเสีย ไม่อดกลั้นอดทน ไม่บรรลุความสำเร็จ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว การงานไม่เคยสำเร็จ ไม่ว่าเด็ก ไม่ว่าผู้ใหญ่ คือว่า สลัดหน้าที่กันง่ายๆ ไม่มีความอดกลั้นอดทน ทีนี้ ความ อ้า, การบีบคั้นของกิเลสนั้น มันเจ็บปวดถึงจิตใจโน่น เช่น ไม่ได้ทำอะไรตามกิเลสนี่มันเจ็บปวดมากนะ ไปสังเกตดูเถิด แต่อย่าไปยอมแพ้มัน อย่าไปยอมแพ้มัน รักษาความถูกต้องไว้ให้ได้ ไม่ให้พ่ายแพ้แก่กิเลสนั่นแหละ นั่นแหละ คือ อดทน คำว่าขันตี หรืออดทน อดทนนี้ มันยังแปลได้อีกอย่างหนึ่งคือ แปลว่า สมควร หรือความสมควร ก็อธิบายเองก็ได้ว่าสมควรแก่ความเป็นมนุษย์ ถ้าไม่อดกลั้น อดทน มันก็ไม่มี ความสมควรแก่ความเป็นมนุษย์ เรามีขันตี อดกลั้นอดทน ไม่มีอะไรทำผิดพลาดเสียหาย มีแต่จะก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป มันก็มีความสมควรแก่ความเป็นมนุษย์ ฟังดูให้ดีๆ เป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง ตามความหมายของคำว่า มนุษย์ มีความสมควรที่จะเรียกว่ามนุษย์ เพราะว่า มีความอดกลั้น อดทน พอไม่มีความอดกลั้นอดทนต่อสิ่งเหล่านี้ พังทลายหมด เสียหายหมด ความเป็นมนุษย์จะอยู่ไม่ได้ เพราะไม่อดกลั้นอดทนในการที่จะรักษาความเป็นมนุษย์ อ้า, ของตนไว้ให้ได้ นี่ข้อ ๓ ต้องอดทน เพราะว่าการบังคับตัวเองนั้น ต้องเกิดการเจ็บปวด เมื่อการเจ็บปวดก็จะต้องอดกลั้นอดทน ทีนี้ ถ้ามันมากเกินก็ทนไม่ไหว เราก็มีทางที่จะบรรเทา ลด ลดสิ่งที่จะต้องอดกลั้นอดทน มันก็มีไอ้ มีช่องระบายความกดดัน เช่น เครื่องจักรที่มีความกดดันมาก เขาก็ต้องมีเซฟวาล์ว ให้มันระบายความกดดันที่เกินขนาดออกไปเสียได้ มันก็ไม่ระเบิด นี้ก็เหมือนกันแหละ เราก็มีการประพฤติกระทำที่เป็นการระบายออก ระบายออก ซึ่งอำนาจของกิเลส มันก็บีบคั้นน้อยลง มันก็ไม่ต้องอดกลั้น อดทน จนถึงกับตาย หรือจนถึงกับ บางทีก็ไม่ต้องถึงกับน้ำตาไหล มันจะพอดีๆ สำหรับจะอยู่ได้ นี่ขอให้มีการกระทำชนิดที่เป็น จาคะ แปลว่า สละ สละสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตัวเรา อะไรเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในจิตในใจ ในเนื้อในตัวเรา ก็รีบสละ ทำการสละ ทำลายความเห็นแก่ตัว เหมือนอย่างที่กล่าวแล้วว่า แม้แต่การ การกวาดวัดนั้นนะ กวาดวัด มันก็กวาดความเห็นแก่ตัวออกไปด้วยทีละน้อย ทีละน้อย นี่คือ จาคะ ที่สละสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตน ให้ออกไปเสียจากตน เพราะฉะนั้น จงยินดีที่จะกระทำทุกอย่าง ทุกอย่าง ที่มันจะระบายความเห็นแก่ตนออกไปเสียจากตน ก็เหลืออยู่ในสภาพที่พอปฏิบัติได้ แล้วก็พยายามละกันต่อไป ด้วยสัจจะ ด้วยธรรมะ ตามแบบที่มีอยู่อย่างไร นี่ ขอให้สนใจ ให้เข้าใจ แล้วก็ให้คล่องปาก คล่องใจ คือ พูดได้ถูกต้อง คิดนึกได้ถูกต้อง แล้วก็ให้ประพฤติกระทำได้อย่างถูกต้อง คล่องปาก คล่องใจ คล่องเนื้อ คล่องตัว สิ่งที่เราจะต้องทำนี่ จะต้องทำให้คล่องอย่างนี้ ทีนี้ มันก็ได้ ต้องการจะละกิเลสข้อไหน มันก็ได้ เอาไปจับเข้าที่ตรงไหนมันก็ชนะที่ตรงนั้น มันก็ละได้ ชนะได้ มันก็ดีขึ้น ดีขึ้น ในการเข้ามาสู่ชีวิตพรหมจรรย์ นักบวชนี้ก็ดีขึ้น ดีขึ้น ดีขึ้นจริง มาบวชนี้มันมีโอกาสที่จะประพฤติปฏิบัติได้ง่าย ได้สะดวกกว่าไม่บวช ครั้นบวชมาแล้ว ก็ถือโอกาสนี้ประพฤติปฏิบัติให้เกิดผลอย่างที่กล่าวมาแล้ว เรื่องธรรมะ ๔ ประการนี้ มันมีชื่อแปลกๆ มันมีชื่อแปลกที่เรียกว่าฆราวาสธรรม ธรรมะของฆราวาส บางคนก็มาสอนหนักไปในทางที่ว่าเป็นฆราวาสให้ดักดาน จมกับความเป็นฆราวาส หรือก้าวหน้าเพียงความเป็นฆราวาส ผมว่าข้อนี้ไม่ถูก แต่ต้องเป็นธรรมะสำหรับฆราวาสถอนตนขึ้นมา ถอนตนขึ้นมา จนพ้นจากความเป็นฆราวาสนะ มาเป็นพระอริยเจ้ากับเขาด้วยเหมือนกัน ถึงจะถูกต้องตามความมุ่งหมาย หรือถูกต้องตามข้อเท็จจริงของธรรมะ ๔ ประการนี้ เพราะว่าธรรมะ ๔ ประการนี้ ช่วยให้เป็นอย่างนี้ได้จริง คิดดูสิ นี่ขอให้คิดดู ดังนั้น ธรรมะนี้ประพฤติได้แม้ที่อยู่เป็นพระ อยู่เป็นพระ ประพฤติฆราวาสธรรมได้ เมื่อกลับสึกออกไปก็ยิ่งประพฤติฆราวาสธรรมให้ยิ่งขึ้นไป เพื่อจะถอนตัวให้พ้นจากความเป็นฆราวาส หรือบางทีมันประสบผลสำเร็จในการประพฤติเมื่อยังบวชอยู่นี้ มันจะไม่สึกก็ได้ ถ้ามันจะสึกไปก็ไม่เป็นไร มันก็อย่าทิ้ง อย่าสลัดไอ้ธรรมะข้อนี้ นี่ขอให้ยึดถือเป็นหลัก สำหรับดำเนินชีวิต เรียกว่า สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ โดยชื่อนี้ก็พูดคล่องปากไม่มีวันลืม สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ เตือนตนไว้เสมอไป มันก็ได้รับผล คือ ความมั่นคงในพรหมจรรย์ คือ มันเป็นพรหมจรรย์มากขึ้นๆ ไม่ใช่ให้ฆราวาสเป็นฆราวาสจมปรักความเป็นฆราวาสตายด้านอยู่ที่นั่น แต่ให้ฆราวาสถอนตนขึ้นมา ถอนตนขึ้นมา ถอนตนขึ้นมา เป็นฆราวาสชั้นดีชั้นเลิศ แล้วก็เข้าไปในเขตของพระอริยเจ้า เมื่อเป็นได้ดังนี้ ไอ้การบวชนี้มันก็ถูกต้อง การบวชนี้ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง คือ มีเหตุผลควรแก่ ควรแก่การที่จะประพฤติกระทำ ขอให้ประพฤติกระทำอย่างที่ว่ามองเห็นอยู่ว่ามันมีประโยชน์อย่างไร มันมีเหตุผลแสดงอยู่เต็มที่ว่า ควรกระทำ แล้วก็กระทำ นี่ขอให้คำนวณดูด้วยว่า สำหรับผู้ที่ไม่เคยคิดอย่างนี้ นั่นจะอยู่ในสภาพอย่างไร สำหรับผู้ที่ไม่เคยรู้อย่างนี้ มันจะอยู่ในสภาพอย่างไร มันไม่ได้บวช มันไม่ได้ยิน มันไม่ได้ฟัง มันไม่ได้เห็นแสงสว่างที่จะส่องทางให้เดินไปตามลำดับคือ มันไม่ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น จึงถือว่า ไม่ได้บวชนั้น มันยังดิบ มันยังดิบ หรือมันยังหลับอยู่มาก นี่มันจะต้องแก้ไขข้อนี้ว่า ให้มันพ้นจากความดิบ ให้มันพ้นจากความหลับ ให้มันพ้นจากความมืด นำไปสู่แสงสว่าง คือ มีแสงสว่างส่องอยู่ในตัวเองด้วยกันทุกคน ลองคำนวณดูว่า ไอ้การบวชนี้ จะมีอานิสงส์สักเท่าไร อานิสงส์ของการบวช ถ้าจะตีราคากันแล้ว ควรจะตีสักเท่าไร กี่หมื่น กี่แสน กี่ล้าน กี่โกฏิ นั่นลองคิดดู เขาจึงพูดแสดงอานิสงส์ว่า มันมีค่า ที่ตี ตีค่าไม่ได้ มันเกินกว่าการที่จะตีค่า เลยยกไว้อยู่เหนือการตีค่า ใช้คำแปลกๆ ว่า หาค่าบ่มิได้ไปเสียก็มี หาค่าบ่มิได้ นั่นคือ ไม่อาจจะตีค่า ไม่อยู่ในวิสัยแห่งการตีค่า จึงพูดว่าหาค่ามิได้ ภาษาไทยก็ดี ภาษาฝรั่งก็ดี พูดตรงกันหมด สำหรับสิ่งที่มันตีค่าไม่ได้ ก็เรียกว่าหาค่าไม่ได้ทั้งนั้นแหละ คือ มันไม่เกี่ยวกับค่า มันไม่อาจจะตีค่า นี่เป็นสิ่งที่ทำได้ เราเกิดมาชาติหนึ่ง แล้วจะทำให้ชีวิตมีค่าถึงขนาดนี้ มีค่าจนตีค่าไม่ได้ขนาดนี้ มันเป็นสิ่งที่ทำได้ ดังนั้น ควรจะถือเอา ควรจะถือเอาโอกาสนี้ได้ประพฤติกระทำอย่างนี้ ให้ชีวิตมันสูงค่า จนเหนือการตีค่าอย่างนี้ นั่นแหละก็เรียกว่า อะไร ไม่เสียชาติเกิด นี่เป็นคำที่ฟังให้หยาบก็หยาบ ฟังให้สุภาพก็ดี มันไม่เสียชาติเกิด บางทีก็พูดว่า ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และพบพระพุทธศาสนา เขาได้เกิดมาเป็นมนุษย์ได้พบพระพุทธศาสนาแล้วก็ได้ทำ ทำให้ชีวิตินี้มีค่าสูงจนตีค่าไม่ได้ ขอให้พอใจ ขอให้ยินดี ในระบบอย่างนี้ ซึ่งเรียกว่าได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ เรามันเกิดมาแล้วนี่ จะปฏิเสธการเกิดไม่ได้ มันเกิดมาแล้ว มันต้องรับผิดชอบในการที่ได้เกิดมาแล้ว แล้วก็ต้องรับผิดชอบในการที่ว่าให้การเกิดนี้ มันมีประโยชน์ที่สุด ให้การกำเนิดมานี้ให้มีประโยชน์ที่สุด การที่มันจะมีประโยชน์ที่สุดได้ มันก็อยู่ที่การจัด การทำ เราจะต้องจัด จะต้องทำ เราจะต้องปรารภขึ้นมา เอามาจัด เอามาทำ ให้ดีสุด แล้วมันก็สำเร็จประโยชน์ นี่ขอให้จับใจความตามที่ได้พูดมาแล้วนี่ ๑ ชั่วโมงเต็มนี้ว่า เราจะต้องมีชีวิต อ้า, ชนิดที่มันเป็นการสร้างสรรค์ สร้างสรรค์เพื่อความสูงยิ่งขึ้นไปตามลำดับตลอดเวลา ข้อระเบียบปฏิบัติต่างๆ ที่มีอยู่วางไว้นั้นนะ ไม่ใช่สำหรับให้ลำบากเล่น หรือทรมานกันเล่น หรือเป็นคนโง่ หลับหูหลับตา ทำไปด้วยหวังผลเลิศ มันไม่ใช่อย่างนั้น มันไม่ใช่สำหรับคนโง่มีไว้หวังผลเลิศ แต่คนมีปัญญา คนฉลาดนี่จะต้องทำ จะต้องทำให้มันสมกัน แล้วจะทำเวลาอื่นนั้น โอกาสมันไม่ดีเท่ากับเวลาบวช คุณก็ลองนึกดู ถ้าอยู่ที่บ้าน เราก็ทำงานบ้าน ทำงานอะไรไปตามเรื่องของบ้าน ไม่มีโอกาสที่จะมานั่งคิดอย่างนี้ นั่งปรารภกันอย่างนี้ แล้วก็มาตั้งใจทำกันอย่างนี้แล้วมันไม่มี เดี๋ยวนี้บวชแล้วก็เป็นโอกาสที่ได้คิดอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ ทำกันอย่างนี้ มีความมุ่งหมายอย่างนี้ แล้วก็ขอให้มันเป็นการกระทำที่ดำเนินไปเรื่อยๆ ทุกวัน ทุกวันๆ คือ การประพฤติวัตรปฏิบัติให้ถูกต้องของบรรพชิตนั่นเอง แม้ที่สุดแต่จะบิณฑบาต ก็ด้วยความถูกต้องและพอใจ ว่ามัน มันดำเนินชีวิตชนิดที่ไม่ฟุ่มเฟือย อ้า, เป็นการอาศัยผู้อื่นเป็นอยู่ แล้วก็ตอบแทนเขาด้วยสิ่งซึ่งเกินค่า ทำความดีลงไปในโลกนี้เกินค่า แล้วก็รับอาหาร ข้าวปลาอาหารของชาวโลก มากินมาบริโภค มันก็ยังเป็นกำไรแก่ผู้ถวาย หรือผู้ให้ แล้วเราก็มีส่วนที่ว่าเป็นผู้ที่ทำให้เขาได้กำไร จึงกลายเป็นผู้สร้างสรรค์ ไม่ใช่ผู้ทำลาย เรื่องกวาดวัดนี้ ก็ขอให้กวาดหัวใจด้วย ให้ความเห็นแก่ตัวน้อยลงไป น้อยลงไป น้อยลงไป ถ้ามันหมดสิ้นจริงๆ ก็เป็น พระอรหันต์ มันคงไม่ถึงนั้นนะ เอาแต่เพียงว่าให้มันมีน้อยพอสมควรแก่การเป็นมนุษย์ที่ดี เป็นสุภาพบุรุษ เป็นสัตบุรุษ เป็นมนุษย์ที่ดีกันก็พอแล้ว ความเห็นแก่ตัวน้อยแล้วมันก็ไม่เป็นไอ้เครื่องระรานผู้อื่น ไม่มีอะไรเกะกะระรานผู้อื่น ไม่กระทบกระทั่งผู้ใด มีแต่สิ่งที่จะช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกันไปทั้งนั้น ความเห็นแก่ตัว เป็นศัตรูอันร้ายกาจของมนุษย์ โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันนี้ ระส่ำระสายเดือดร้อนอยู่ทั่ว ทุกหัวระแหง ทุกแขนงการงาน ทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง ทางอะไร ทำไปไม่สำเร็จ เพราะความเห็นแก่ตัวเป็นข้าศึก เห็นแก่ตัวคอยเอาเปรียบท่าเดียว ไอ้สิ่งที่จะกระทำมันก็ล้มละลายหมด ต่างคนต่างแย่งกันเห็นแก่ตัว มันก็เลยทำให้ส่วนรวม หรือโลกนี่ปั่นป่วนหมด ดังนั้น ขูดเกลาความเห็นแก่ตัวเถิด จะได้ประโยชน์ ทั้งทางโลก และทั้งทางธรรม มาวัดปฏิบัติใดๆ ตามแบบของบรรพชิตที่ให้มีอยู่นี้ก็เพื่อการทำลาย ความเห็นแก่ตัวทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ถือโอกาส มันถูกต้องแล้ว มันเหมาะสมแล้ว มันเป็นโอกาสแล้ว ก็ถือโอกาสที่จะประพฤติปฏิบัติ ก็ปฏิบัติกันจนจังตรงๆ เจาะจงลงไปก็คือ ธรรมะ ๔ ประการ อย่างที่กล่าวแล้ว สำหรับฆราวาสถอนตัวขึ้นมาจากหล่มแห่งความเป็นฆราวาส สำหรับผู้ที่จะดำเนินตนกันไปในทางที่สูงจากฆราวาสก็ใช้ธรรมะ ๔ ประการนี้ ดังนั้น หวังว่า สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ จะก้องอยู่ในหู จะก้องอยู่ในใจ จะคล่องปาก คล่องใจ อยู่ที่เนื้อที่ตัว แล้วก็มีวันคืนที่ล่วงไป ล่วงไปอย่างถูกต้อง เป็นวันคืนที่ว่ามันสร้างความเจริญรุ่งเรืองในทางธรรมะไปตามลำดับ ตามลำดับ แล้วก็ไม่เสียทีที่เกิดมา และก็ไม่เสียทีที่ได้บวช ได้บวช ได้บวช และวันนี้ ก็ขอบรรยายเพียงเท่านี้ มันก็เหลือหลายแล้ว ไม่ค่อยสบายด้วย พูดมากก็ดูจะไม่ได้ จึงขอพูดเพียงเท่านี้ แต่เพียงเท่านี้ มันก็อมใจความไว้ทั้งหมด ไอ้ถ้อยคำย่อๆ อมใจความถ้อยคำโดยพิสดารไว้ทั้งหมด ดังนั้น หวังว่าจะได้รู้จักขยายความออกไปจนเต็มตามความหมาย หรือว่า จะย่อความให้สั้นเข้ามา สำหรับจดจำได้ง่าย มันก็ทำได้ เวลาจะใช้ก็ขยายความออกไปให้เต็มที่ เต็มความหมายมันก็สำเร็จสมตามความประสงค์ วันนี้ ก็ขอพูดกันเพียงเท่านี้