แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
(เสียงผู้ชาย) อบรมนักศึกษาจาก มศว.บางเขน มศว.ปทุมวัน มศว.ประสานมิตร และจากวิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา ณ ลานหินโค้ง วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ เวลา ๙ นาฬิกา ๓๐ นาที
(เสียงท่านพุทธทาส) นิสิตนักศึกษา ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย การบรรยายในครั้งนี้จะได้บรรยายโดยหัวข้อว่า สิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา บาลีว่าธรรมทั้งปวง ธรรม คือแปลว่า สิ่ง นี้สิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา ในฐานะที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา เราจะใช้เวลาไม่มากมายอะไร แต่จะพูดถึงสิ่งซึ่งเป็นหัวใจของพุทธศาสนา คือ หลักการที่ว่า ทุกสิ่งนั้นมิได้เป็นตัวตน ตามธรรมชาติมิได้เป็นตัวตน เมื่อไปยึดถือเอาเป็นตัวตน มันก็เปลี่ยนรูป เป็นของหนักขึ้นมา แล้วก็ขบกัดผู้ที่ยึดถือว่าเป็นตัวตนนั่นแหละ ให้มีความทุกข์มีความลำบาก ใจความมันก็มีเท่านี้ ว่าทุกสิ่ง ตามธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมชาตินั้นมิใช่ตัวตน แต่พอถ้าจิตใจของใครมันโง่ ไปทำความรู้สึกเป็นตัวตนขึ้นมา มันก็มีปัญหาใหญ่หลวงแหละคือมีความทุกข์ ฉะนั้นเราจะพูดถึงเรื่องหัวใจของพุทธศาสนา ในเวลาอันไม่นานนี่ แต่ท่านทั้งหลายจะต้อง ตั้งใจฟังให้ดีๆ ให้กำหนดข้อความให้ดีๆ คือให้เข้าใจและใช้เป็นประโยชน์ได้ โดยเข้าใจความหมายของคำว่า ทุกสิ่งมิใช่ตัวตน จงทำให้เป็นเวลาที่สำคัญที่สุดที่จะฟังเรื่องอันสั้นๆ นี้ ด้วยจิตใจ ด้วยสติสัมปชัญญะทั้งหมด ให้เข้าใจให้ถึงที่สุด โดยทำในใจว่าหัวใจพุทธศาสนามีว่าทุกสิ่งมิใช่ตัวตน มีเท่านั้นล่ะ ทุกสิ่งไม่ใช่ตัวตน
ทีนี้จะต้องปฏิบัติต่อสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร นั้นมันก็มีเรื่องยืดยาวไป แต่มันก็รวมอยู่ในความหมายสั้นๆ ว่า ต้องปฏิบัติให้ถูกต่อความที่สิ่งนั้นมิใช่ตัวตน มันยืนหลักว่าทุกสิ่งมิใช่ตัวตนไว้เรื่อยไป อย่างที่เคยบอกมาบ้างแล้วว่า พุทธศาสนาเดิมแท้เขามีอยู่ พุทธศาสนาที่ปรุงใหม่แยกออกไปเป็น นิกาย นิกาย นิกายตั้งหลายนิกาย ที่เป็นใหญ่ๆ นิกายใหญ่ๆ เป็นหลักเป็นประธานก็มีตั้ง ๑๘ นิกาย อย่างนี้ เรื่องนี้ไม่ต้องรู้ก็ได้ เพราะต้องการให้รู้แต่เพียงว่า แม้จะแยกออกไปเป็นกี่นิกาย กี่นิกายก็ตามที แต่เรื่องที่เป็นหัวใจของคำสั่งสอนนั้นจะตรงกันในข้อนี้ ข้อที่ว่าทุกสิ่งมิใช่ตัวตน นี้คำอธิบายปลีกย่อยเรื่องประกอบอะไรต่างๆ มีอีกมากมายไปตามแบบแผนนิกายของตน ของตน มันก็ต่างกันเป็นธรรมดา แต่หัวใจของคำสั่งสอนที่จะดับทุกข์ได้มันตรงเป็นประโยคเดียวกันหมดว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา มิใช่ตัวตน ถ้าเข้าใจสิ่งนี้ ปฏิบัติสิ่งนี้ ได้รับผลจากสิ่งนี้ ก็เป็นอันว่าจบเรื่อง การได้ฟังอย่างนี้คือได้ฟังทั้งหมดในพุทธศาสนา การได้ปฏิบัติอย่างนี้ ก็ปฏิบัติทั้งหมดในพุทธศาสนา คือปฏิบัติอย่างให้รู้ว่าไม่มีตัวตน ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งปวงอย่างที่ไม่มีตัวตน นั่นน่ะเป็นการปฏิบัติทั้งหมดในพุทธศาสนา ถ้าได้รับผลจากการปฏิบัตินี้ ก็เป็นการได้รับผลทั้งหมดทั้งสิ้นในพุทธศาสนา หรือมรรคผลนิพพานทั้งหมดทั้งสิ้นในพุทธศาสนา ฉะนั้นขอให้ตั้งใจฟังให้ดี แม้ว่าจะอยู่ในชั้นเยาว์วัย อายุยังน้อย ได้ยินได้ฟังมาน้อย ได้ศึกษามาน้อย ก็ไม่เป็นไร ขอแต่ให้สนใจฟังให้ดีในข้อนี้ ให้เข้าใจให้ได้
คำว่าตัวตน ตัวตน นั้นเป็นสิ่งที่มิได้มีอยู่จริง ตัวตนเป็นสิ่งที่มิได้มีอยู่จริง แต่จิตมันปรุงความคิดว่าตัวตนขึ้นมาด้วยจิต จิตมันก็รู้สึกอย่างนั้น มันก็เลยมีตัวตนขึ้นมา สำหรับจิตนั้น นี่ตัวตนเป็นสิ่งที่มิได้มีอยู่จริงโดยธรรมชาติ แต่กลายเป็นมีอยู่จริงเพราะจิตมันคิดว่าอย่างนั้น ทุกอย่างมันสำเร็จด้วยจิต ฉะนั้นจะต้องรู้ข้อนี้ไอ้ข้อที่ว่า จิต นี้มีอยู่ เป็นตัวเรื่อง เป็นตัวของเรื่อง แต่จิตนั้นก็มิใช่ตัวตน จิตนั้นอาจจะคิดว่าตัวตนก็ได้ มิใช่ตัวตนก็ได้แล้วแต่ไอ้สิ่งที่มาแวดล้อมให้จิตคิด ทีนี้ตามธรรมชาติของจิตนี่ ถ้ามันมีความรู้สึกประเภทหนึ่ง คือความยินดียินร้ายขึ้นมาแล้ว แล้วมันก็จะปรุงความคิดต่อไปว่าเป็นตัวตน คือผู้ยินดียินร้ายนี้จะเกิดเป็นตัวตนขึ้นมา ในการบรรยายครั้งที่แล้วเรื่องรอยของพระธรรมนั้น ก็ได้บอกแล้วว่า หัวใจการปฏิบัติทั้งหมดนั้น คือการมีสติสัมปชัญญะ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ ถ้าท่านยังจำประโยคนี้ได้ดี เข้าใจประโยคนี้ได้ดี ก็เข้าใจเรื่องต่อไปนี้ได้โดยง่าย ในครั้งที่แล้วมาได้เน้นแล้วเน้นอีกเน้นเล่า เน้นแล้วเน้นเล่าว่าหลักปฏิบัติมีอยู่ว่า มีสติสัมปชัญญะ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ ขอย้ำใจความอีกครั้งหนึ่งว่า เรามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ข้างนอกมันก็มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ๖ เหมือนกัน ข้างใน ๖ ข้างนอก ๖ เป็นคู่ปรับกัน พอมันถึงกันเข้า ยกตัวอย่างเช่น ตาถึงกันเข้ากับรูปข้างนอก ก็มีผัสสะ แล้วก็มีเวทนาคือความรู้สึก พอใจหรือไม่พอใจนั่นแหละ คือตัวความยินดียินร้ายนั่นแหละ สุขเวทนาก็ยินดี ทุกขเวทนาก็ยินร้าย เมื่อมีความยินดี ยินร้ายแล้ว มันจะปรุงไปตามลำดับ เป็นความรู้สึกว่ามีตัวตน คือตัวกูผู้มีความยินดี ยินร้าย นั่นเอง ยกตัวอย่างง่ายๆ สักเรื่องหนึ่งเช่นว่า ถูกยุงกัด พอยุงกัด แล้วก็เจ็บปวด มันก็ยินร้ายสิ เพราะเจ็บปวดมันก็ยินร้าย ไอ้ความรู้สึกยินร้ายมันจะปรุง ให้เกิดความรู้สึกว่า ตัวกู ถูกยุงกัดแล้วก็เจ็บ ตัวกูเจ็บ ตัวกูเป็นทุกข์ ไอ้ความรู้สึกว่า ตัวกู ตัวกูนี่ มันเป็นเพียงความรู้สึกนะไม่ใช่ตัวตนจริง ที่จริงก็มีอยู่แต่ร่างกาย แล้วถูกยุงกัด แล้วก็มีความรู้สึกที่ตรงนั้นอะ ตรงที่ยุงกัดนั่นแหละเป็นความเจ็บแก่ระบบประสาท ที่มีอยู่ในร่างกายตามธรรมชาตินี้เท่านั้นเอง ถ้าเรารู้ความจริงข้อนี้ เราก็จะรู้ว่า มีแต่ยุงกัด แล้วก็ ปรากฎที่ระบบประสาทที่ตรงนั้นคือ ความเจ็บ แล้วก็รู้สึกได้ด้วยจิต ว่าเป็นความเจ็บ เรื่องมีเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้จิตธรรมดาสามัญ จิตของปุถุชนนั้น ไอ้ความรู้สึกเจ็บ หรือรู้สึกไม่ชอบใจเป็นโทมนัสขึ้นมานี่ มันปรุงต่อไปจนเกิดความรู้สึกว่าตัวกู ตัวกูถูกยุงกัด แล้วก็เจ็บ ยุงมันกัดกู มัน มันเป็นความรู้สึกว่ายุงมันกัดกู ที่แท้มันมีแค่เพียงว่ายุงมันมากัดเจาะที่ตรงนั้น แล้วมันก็มีความรู้สึกเจ็บที่ตรงนั้น ตามหน้าที่ของระบบประสาท ที่มันจะรายงานว่ามันเจ็บที่ตรงนั้น ซึ่งจะเป็นยุงหรือเป็นอะไรก็ตาม มันไม่ได้มีตัวกู มันมีแต่เนื้อหนังธรรมดา ถูกยุงเจาะแล้วก็รู้สึกเจ็บ โดยระบบประสาทเป็นผู้รายงานว่าเจ็บ ถ้ารู้สึกเพียงเท่านี้ก็ไม่มีตัวกู เดี๋ยวนี้มันไม่รู้สึกเพียงเท่านั้น ไอ้ที่รู้สึกเจ็บ ไม่พอใจ มันปรุงความคิด ปรุงความคิดแท้ๆ ความคิดปรุงแต่งแท้ๆ นั่นน่ะ กูเป็นกู กูถูกยุงกัด กูก็โกรธเพราะถูกยุงกัด กูเจ็บเพราะถูกยุงกัด ไอ้คำ คำว่าความเจ็บมันก็เกิดขึ้น มันมิได้เป็นเพียงความรู้สึกแก่ระบบประสาทตามธรรมชาติเสียแล้ว ถ้าถือว่าเป็นความรู้สึกแก่ระบบประสาทตามธรรมชาติมันก็มีเท่านั้นแหละ มันก็มีความรู้สึกที่สมมติ เรียกว่าความเจ็บ แต่ไม่ใช่ตัวกูเจ็บ ไม่ใช่เจ็บของกู แต่คนทั่วไป คนปุถุชนทั่วไปมันไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น มันปรุงขึ้นมาเป็นความคิดว่า “กูถูกยุงกัด” กูมันก็เกิดขึ้น กูซึ่งไม่เคยมี ซึ่งไม่มี ไม่รู้อยู่ที่ไหน มันก็มาเกิดขึ้นมาเป็นตัวกูถูกยุงกัด แล้วก็เป็นทุกข์ นี่ตัวอย่างที่จะแสดงให้เห็นว่า ตัวกูนี่ไม่ใช่เป็นของจริงจังอะไร มิได้มีอยู่อย่างที่เรียกว่า มีอยู่ตลอดกาล มันก็คือเขา เขาเชื่อ เขาคิด เขานึกก็ต้องตัวกูมีอยู่ตลอดกาล ที่จริงตัวกูเป็นเพียงความรู้สึกที่พึ่งเกิดชั่วขณะ ชั่วขณะที่มีความยินดียินร้าย นี่ถ้าว่าได้รับการประคบประหงม หรืออะไรก็ตามที่ตรงนั้นอะ ให้เกิดความสบาย สนุกสบายขึ้นมา มันก็ควรจะรู้สึกแต่เพียงว่า ตรงนั้นมันเกิดความรู้สึกสบายขึ้นมา ตามระบบประสาท ตามหน้าที่ของระบบประสาท มิได้มีตัวกู ผู้อร่อย ผู้สบาย แต่เดี๋ยวนี้มันไม่รู้อย่างนั้น พออร่อยหรือสบาย มันก็ปรุงเป็นความคิดว่ากูอร่อยหรือสบาย นี้เรียกว่า โทสะ เอ้อ, อภิชฌา มันเกิดขึ้น ความยินดีมันได้เกิดขึ้น รู้จักเปรียบเทียบเป็นคู่ๆ ว่าความยินดีให้เกิดตัวกูอย่างไร ความยินร้ายให้เกิดตัวกูอย่างไร เกิดตัวกูแล้วก็เหมือนกันแหละ มันเป็นตัวกูสำหรับจะยินดียินร้าย ความรู้สึกที่ไม่พอใจทำให้เกิด ยินร้าย ความรู้สึกพอใจทำให้เกิด ยินดี ถ้าเราไม่เกิดยินดียินร้าย ตัวกูไม่มีทางเกิด นี่ประโยคที่สำคัญที่สุด ถ้าเราไม่รู้สึกยินดียินร้าย ตัวกูจะไม่เกิดได้ ความรู้สึกว่าตัวกูจะไม่เกิดได้ ตัวกูซึ่งเป็นของลมๆ แล้งๆ น่ะ ไม่อาจจะเกิดได้ ขอให้เข้าใจอย่างนี้ จนจับได้ว่า อ้าว, ไอ้เรื่องตัวกูนี่มันเป็นเรื่องมายา เหลว คว้าง มันมิได้มีตัวตนอยู่จริง เป็นแต่เพียงความรู้สึกเท่านั้น ความรู้สึกเท่านั้น แต่ว่าไอ้ความรู้สึกเท่านั้นน่ะ มันไม่ใช่ มันไม่ใช่เท่านั้น มันมิได้หยุดอยู่เท่านั้น มันปรุงแต่งความคิดอย่างอื่น ต่อไปอีกมากมาย ยืดยาว เมื่อตัวกูเจ็บ เกิดเป็นตัวกู รู้สึกว่าตัวกูเจ็บขึ้นมา ความคิดมันจะเกิดต่อไปว่า กูจะฆ่ายุงหรือกูจะทำอะไรต่อไปที่เกี่ยวการฆ่ายุง จะต้องไปหายามาฆ่ายุง จะต้องทำอะไรทุกอย่าง แล้วบางทีก็พาลโกรธไอ้สิ่งต่างๆ ต่อไปอีก ในกรณีที่เป็นความสบาย ที่ตรงเนื้อหนังตรงนั้นก็เหมือนกัน ถ้ามันมีความรู้สึกเป็นตัวกู กูสบาย กูสบายขึ้นมาแล้ว มันก็คิดต่อไป จะมี จะหา จะยึดครองจะหามาไว้ให้มาก จะสะสมให้มาก จะทำอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อได้ปัจจัยแห่งความสบายมาให้มากก็คิดต่อไป ยืดยาวไป ไม่ค่อยมีที่สิ้นสุด นั่นน่ะเป็นเรื่องของปัญหา หรือเป็นเรื่องของความทุกข์
ขอให้มองให้เห็นตรงจุดสำคัญที่สุดว่าถ้าไม่มีความรู้สึกยินดียินร้าย แล้วสิ่งที่เรียกว่าตัวกูจะไม่เกิด เมื่อตัวกูไม่เกิด ความรู้สึกว่าตัวกูไม่เกิด ก็ไม่เกิดความรู้สึกปรุงแต่งต่างๆ ต่อไปอีก หยุดกันแค่นั้น มันก็ไม่มีตัวกูแล้วก็ไม่มีตัวกูที่ถูกยุงกัด มีว่ายุงมันกัดรู้สึกเจ็บปวดที่ตรงนั้นตามระบบประสาทบอกให้รู้เสร็จแล้วมันก็เลิกกัน ไม่ต้องเป็นทุกข์เป็นร้อนให้มาก ถ้าจะไล่ยุงก็ไล่ได้จะเป็นไรไป แต่ไม่ต้องถึงกับเป็นทุกข์ เป็นร้อน โมโห โทโส เป็นไฟขึ้นมาในจิตใจ จัดการอย่างไรอย่างหนึ่งให้ยุงมันไปเสีย เอ้า, ถ้าสมมติว่าจะเอากันให้ถึงขนาดตบยุง ก็อย่าตบด้วยจิตที่โมโห โทโสให้เป็นทุกข์ ปัดไปตามธรรมดายุงมันก็ไป เอาอย่างควาย เอาอย่างควาย ควายมันมีหาง มีพวงหางแกว่งไป แกว่งมา ถ้าเหลือบมันมากัดที่ตรงไหนมันรู้สึกปวดที่ตรงนั้น มันก็แกว่งไปอย่างนั้นแหละ ก็ไล่ไปอย่างนั้นแหละ เรียกว่าหางแกว่งไปแกว่งมา คอยไล่ยุงอยู่เรื่อย หรือว่าจะคอยไล่ตรงที่รู้สึกเจ็บปวด ไม่มีเจตนาจะฆ่าจะอะไรนัก นี่เกี่ยวกับยุง ตัวอย่างที่ว่ามีความเจ็บปวดขึ้นมาเกี่ยวกับยุง แล้วมันจะเกิดตัวกู แล้วมันจะเกิด โทสะ เกิดโกรธะ เกิดกิเลสกันยืดยาว หรือว่าถ้าเอร็ดอร่อย สบายที่ตรงไหน ความอร่อยนั้นจะเกิดตัวกู เพราะความคิดไม่ค่อยจะเป็นไปอย่างยืดยาวที่เรียกว่า ความยึดมั่นถือมั่นในความอร่อย ในบุคคลผู้อร่อย ในสิ่งที่ให้ความอร่อย นี่มันเป็นเรื่องไปมากมายอย่างนี้ นี่เป็นความทุกข์
ฉะนั้นถ้าอย่ามีความรู้สึกทำนองนี้ มันก็จะไม่ ไม่ต้องมีความทุกข์ อะไรก็เป็นไปตามนั้นแหละ เป็นไปตามธรรมชาตินั่นแหละ แล้วก็ไม่ต้องมีความทุกข์ก็แล้วกัน ถ้ามันสวยเข้ามาทางตาก็เฉย คือไม่ต้องยินดี ยินดี พอใจ ให้มันเกิดตัวกู ว่ากูได้นั่นได้นี่ ไม่สวยเข้ามาทางตา ก็ไม่ต้องเกิด โมโห โทโสว่าไม่สวย ไพเราะเข้ามาทาง หู ก็ต้องไม่เกิดตัวกู ว่ากูกำลังไพเราะกำลังเป็นสุขด้วยความไพเราะ รู้สึกว่าไพเราะนั่นได้ แต่ไม่ต้องเป็นตัวกูผู้มี ผู้ได้ความไพเราะ จมูกได้กลิ่นหอม ก็ ก็ ก็กลิ่นหอมเท่านั้นแหละ ก็ตามนั้นแหละ ก็พอใจ เพียงว่ามันเป็นกลิ่นหอมแต่ไม่พอใจถึงขนาดจะมีตัวกูผู้พอใจ ผู้ได้กลิ่นหอมแล้วก็หลงรักในกลิ่นหอม ถ้ากลิ่นเหม็น มันก็กลิ่นเท่านั้น ตามระบบประสาท เสนอรายงานมาว่าอย่างนี้กลิ่นเหม็น ก็เท่านั้นแหละ จะจัดการอย่างไรก็จัด แต่ไม่ต้องโกรธ ไม่ต้องโกรธ ไม่ต้องอึดอัดขัดใจ จะหลีกหนีไปก็ได้ จะทำอะไรก็ได้
ทีนี้ลิ้นได้รสอร่อยก็รู้ว่า โอ, มันเป็นความอร่อย จะรู้สึกอร่อยก็ได้ แต่ให้มันหยุดอยู่เพียงแค่นั้น อย่าให้อร่อยนั้น ปรุงเป็นตัวกูผู้อร่อยขึ้นมา ถ้าไม่อร่อย อ๋อ, นี่มันก็อย่างนี้เอง รสมันอย่างนี้ ไม่ต้องโกรธว่า กูโชคไม่ดี ได้กินของไม่อร่อยอย่างนี้ก็โกรธ ไม่ต้อง อ้าว, สมมติว่ากินขนมอันนี้มันไม่อร่อย ก็คิดเสียมันเป็นอย่างนี้เอง นี่ขนมอย่างนี้ ขนมอันนี้ หรือเวลาอย่างนี้ เวลาที่เราไม่ค่อยสบาย กินไม่อร่อย หรือว่ากินผลไม้ เผอิญมันจืดชืดไป ส้มมันไม่หวาน แตงโมมันไม่หวาน เอ้า, ก็ถือมันอย่างนี้เอง มันอย่างนี้เอง จะต้องโกรธ จะต้องขัดใจไปทำไม ป่วยการให้เป็นบ้าเอง เมื่อ เมื่อจะกินต่อไปก็ได้ ไม่กินก็ได้ ก็ไม่ต้องขัดใจ นึกเสียว่า ไอ้ลูกนี้หรือคราวนี้มันมีอย่างนี้ มีอย่างชนิดนี้ รสชาติมันอย่างนี้ คือจืดอย่างนี้ เอา, ก็กินไปสิ ก็กินไปตามที่รู้สึกว่ามันเป็นอย่างนี้ ในกรณีนี้ ไม่ต้องขัดใจ นี่เรียกว่าทางลิ้น ทางผิวหนังได้รับสัมผัสนิ่มนวล โดยเฉพาะความรู้สึกเกี่ยวกับกามอารมณ์ มันก็พอใจยินดีสุดเหวี่ยงตามธรรมดาของสัตว์ อย่างนี้มันจะเกิดตัวกูเข้มข้น เกิดตัวกูเข้มข้น ตัวกูได้สิ่งนั้น ตัวกูมีสิ่งนั้น ตัวกูเอร็ดอร่อย อย่างนั้น มันก็ปรุงเป็นความคิด ต่อ ต่อ ต่อไปอีกมากมายนั่นแหละ จะแสวงหาต่อไป จะสะสมไว้ให้มาก จะไปปล้น ไปจี้ ไปขโมยเอามาไว้ให้มากหรือว่าจะขยันทำงาน เอาเงินซื้อหามาไว้ให้มากก็ได้ทั้งนั้นแหละ มันเป็นเรื่องยืดยาวต่อไป ความรู้สึกอันนี้ก็เรียกว่า เป็นความทุกข์ นี่ถ้าไม่อร่อย มันกระด้าง มันตรงกันข้ามก็อย่างนั้นเอง ไม่ต้องโกรธ ไม่ต้องขัดใจ ไม่ต้องอึดอัดขัดใจ เราก็เราอยู่ปกติ นี้คู่สุดท้ายคือ ใจ ใจ ใจกับธรรมารมณ์ ความรู้สึกคิดนึกอันใด เรื่องใดเกิดขึ้นในใจ ก็รู้ว่า โอ้, มันปรุงขึ้นมาตามธรรมชาติเช่นนั้นเอง ไม่ต้องยึดถือเป็นตัวตน หรือว่าเป็นตัวตนแก่เรา หรือแก่มัน ควรจะทำอย่างไรก็ทำไป แล้วเรื่องเหล่านี้ ส่วนมากมันก็มาจากความจำในอดีต สัญญาในอดีต ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอะไรต่างๆ ที่สัญญาในอดีตปรุงขึ้นมาใหม่ หวนไปรักใหม่ หวนไปโกรธใหม่ หวนไปเกลียดใหม่ หวนไปกลัวใหม่ อย่างนี้ก็รุนแรงมาก ก็ขอให้รู้ว่านั่นมันเป็นอย่างนั้น เป็นการปรุงแต่งตามธรรมชาติ ในจิตในใจเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ตัวกูมีอยู่ หรือตัวกูเป็นอย่างนั้น นี้ก็ไม่เกิดตัวกูอีกเหมือนกัน แปลว่าเมื่อมีการกระทบเข้ามาทั้ง ๖ ทาง ทั้ง ๖ ทาง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ รู้สึกทันท่วงทีว่ามันอย่างนั้น ตาม ตามธรรมชาติ ตามลักษณะของธรรมชาติจะต้องรู้สึกอย่างนั้น อย่าไปเลยเถิดเป็นว่า รัก หรือ เกลียด หรือ ยินดี หรือ ยินร้าย ถ้าทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่า คนนั้นน่ะป้องกันความยินดียินร้ายในโลกไว้ได้ หรือว่านำออกไปเสียจากกรณีที่มาเกี่ยวข้องกับเรานี่ได้ อย่างบา เอ้อ, อย่างคำสอนที่เป็นหลักว่า มีสติสัมปชัญญะ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ ใจความสำคัญมันก็อยู่ที่ มีสติสัมปชัญญะ ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะมันทำไม่ได้ ก็ต้องไปฝึกให้มีสติสัมปชัญญะตามแบบที่เรียกว่าฝึกกรรมฐานน่ะ แบบที่ทำให้มีสติสัมปชัญญะ มีสติมาก มีสติเร็ว มีความรู้สึกสัมปชัญญะลึก มีสติสัมปชัญญะมากและเร็วและลึกอย่างนี้แล้ว มันก็ไม่ยินดียินร้าย คือไม่เกิดอภิชฌาและโทมนัส เมื่อไม่เกิดยินดียินร้าย มันไม่ ไม่มีความรู้สึกที่จะปรุงให้เป็นตัวกูของกูขึ้นมา มันก็ไม่มีความทุกข์เลย พระอรหันต์ก็มีสติสมบูรณ์ในการที่จะไม่รู้สึกยินดียินร้าย จึงไม่อาจจะเกิดตัวกูของกูได้อีกต่อไปก็ไม่มีความทุกข์เลยโดยประการทั้งปวงเรียกว่าเป็น โลกุตระ ไม่ต้องมีความทุกข์เพราะโลกนี้หรือเพราะเรื่องต่างๆ ในโลกนี้อีกต่อไป ท่านอยู่เหนือโลก เหนืออำนาจของโลก เหนือการปรุงแต่งของโลก ใจความมันมีอยู่อย่างนี้ พูดมายืดยาว แต่ใจความมันนิดเดียวว่า ถ้ามันโง่คือมันไม่มีสติสัมปชัญญะแล้ว มันก็จะยินดียินร้ายในสิ่งที่มากระทบ ครั้นยินดียินร้ายแล้วมันก็จะเกิดความรู้สึกประเภทตัวกู ประเภทตัวกูเกิดขึ้นเมื่อไรแล้วก็เป็นของหนัก เป็นของขบกัด เป็นของเผารน เป็นของผูกพัน หุ้มห่อ ครอบงำ ล้วนแต่เป็นความทุกข์ทั้งนั้นแหละ นี่ระวังอย่ายินดียินร้ายเท่านั้นแหละ มันก็จะไม่เกิดตัวกูชนิดนั้น
ทีนี้ก็ดูกันในส่วนลึกว่ามันเกิดได้จากสิ่งทุกสิ่งที่มีอยู่รอบตัวเราในโลกมีกี่ร้อยอย่างพันอย่าง เข้ามาให้เกิดยินดียินร้ายได้ทั้งนั้น แต่ถ้าจะสรุปให้สั้น มันจะเหลือเพียง ๕ อย่าง ๕ อย่างเรียกว่า ขันธ์ ๕ ขันธ์ทั้ง ๕ เช่น ร่างกายนี่ พอทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งได้ คือรู้โผฏฐัพพะที่นิ่มนวล เอร็ดอร่อยได้ คนนั้นก็เข้าใจว่า ตัวกูได้ เอาร่างกายนั่นแหละเป็นตัวกู เช่นถูกตีเจ็บ ว่าตัวกูเจ็บเพราะร่างกายนั่นเป็นตัวกู โง่เองเซไปโดนต้นไม้หัวโน มันก็ถือว่าร่างกายนั่นแหละเป็นตัวกู เซไปโดนต้นไม้หัวโนกลายเป็นตัวกู ไม่ใช่เป็นเรื่องของร่างกาย มันปราศจากสติสัมปชัญญะแล้วไปโดนไม้เข้าแล้วมันก็หัวโนตามธรรมชาติ ตามธรรมชาติ มันจะไม่รู้สึกว่าตามธรรมชาติ มันจะรู้สึกว่า ตัวกู ตัวกู เสมอไป หรือว่าเรามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ใช้การได้ดี ในร่างกายนี้มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ๕ อย่างนะที่ใช้การได้ดี เพราะว่ามีตัวกู มีของกู มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของกู ที่ดีแล้วก็หลงรักหลงพอใจ ทั้งหมดนี้เรียกว่า เอารูปเป็นตัวตน หรือเป็นของของตน บางทีเอากายเป็นตัวตน โดยคิดว่ากายเป็นผู้ทำ หรือกายเป็นผู้ถูกกระทำ อย่างนี้เขาเรียกว่าเอากายเป็นตน
ทีนี้ในกรณีอย่างอื่น รู้สึกว่า กายของตนถูกกระทำ ก็เอากายเป็นของตน แล้วอะไรๆ ที่มันเกี่ยวกับกายหรือในการกระทำนั้น มันก็กลายเป็นของตนไปหมด นี่เราเอากาย เอารูป กาย (นาทีที่ 29:19) เอารูปขันธ์น่ะเป็นของตนกันอยู่ วันหนึ่งๆ ไม่รู้จักกี่ครั้ง ถ้ามีดบาดมือ มันก็คิดว่า กูถูก ถูกมีดบาดมือ ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องตามธรรมดาของธรรมชาติที่ว่า มีดมันบาดมือโดยเหตุที่มันเป็นเช่นนั้นนะ อะไรๆ ที่เป็นกาย เป็นของกาย ก็มาเป็นกู เป็นของกูไปหมด อย่างนี้เรียกว่าเอารูปขันธ์เป็นตัวตน ทีนี้เมื่อมีการสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจใดๆ ก็ตามนี่ มันเกิดเป็นเวทนาขึ้นมา รู้สึกเป็นสุขคือพอใจขึ้นมา รู้สึกเป็นทุกข์คือไม่พอใจขึ้นมา มันก็โง่ไปว่า กูเป็นสุข กูเป็นทุกข์ ไม่ได้คิดว่ามันเป็นอย่างนั้นๆ ตามกฎของธรรมชาติ เกิดความรู้สึกอย่างนั้นตามกฎของธรรมชาติ อย่างนี้เรียกว่าเอาเวทนาเป็นตัวตน เอาเวทนาเป็นตัวตน เวทนาก็เป็นตัวตน เป็นของหนักขึ้นมา
นี้ในกรณีต่อไปเรียกว่าสัญญา ความจำได้หมายรู้หรือความสำคัญมั่นหมายว่าอะไรเป็นอะไร จำอะไรได้หมายมั่นอะไรได้ ก็เอาตัวไอ้ความจำได้หมายมั่นได้นั่นแหละว่าเป็นตัวตน คือเป็นกูจำได้ กูสำคัญมั่นหมายได้ อย่างนี้เรียกเอาสัญญาเป็นตัวตน ทีนี้ถ้าความจำดีก็ยิ่งพอใจในสัญญา เป็นตัวตนที่ดี ถ้าจำไม่ดี จำเลว หรือลืมก็โกรธ เป็นสัญญาที่ไม่ดีคือตัวกู ที่เป็นสัญญามันไม่ดี มันเอาสัญญาเป็นตัวกูบ้าง เป็นของกูบ้าง อย่างนี้เรียกว่า เอาสัญญาเป็นตัวตน
ทีนี้เมื่อเกิดเวทนา เกิดสัญญา เกิดออกมาตามลำดับ หรือความยินดียินร้ายเป็นต้นแล้ว มันเกิดความคิดอย่างนั้น ความคิดอย่างนี้ ความคิดไปเป็นลำดับๆ ไป มันก็ไม่ได้รู้สึกว่า นี่ความคิดนี่ มันเป็นผลของไอ้สิ่งเหล่านั้นปรุงแต่งขึ้นมา ไม่คิดอย่างนั้น ไม่รู้สึกอย่างนั้น ไม่มองเห็นอย่างนั้น กลับเป็นว่า กูคิดน่ะ กูคิดน่ะ แล้วก็ความคิดของกู มันจะรู้สึกอย่างนี้เสมอ อย่างนี้เรียกว่าเอาสังขารน่ะเป็นตัวตน สังขารขันธ์เป็นตัวตน ทีนี้วิญญาณ วิญญาณที่มีอยู่ประจำ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตาเห็นอะไรได้ หูฟังเสียงอะไรได้ จมูกได้กลิ่นอะไรได้ ลิ้นรู้รสได้ ผิวหนังมีวิญญาณรู้สัมผัสได้หรือใจรู้สึกต่ออารมณ์ได้ เอาแต่ละอย่างๆ นี่ ซึ่งเป็นความรู้แจ้ง ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจว่า เอาความรู้แจ้งนั้นน่ะมาเป็นตัวตน จนถึงกับพูดว่า กูเห็น กูได้ยิน กูได้ฟัง กูได้ดม กูได้ลิ้มรส กูได้สัมผัสผิวหนัง กูได้รู้สึกคิดนึก เอาวิญญาณที่เกิดอยู่ทางอายตนะทั้ง ๖ นั้น เป็นตัวตน นี่เรียกว่า เอาวิญญาเป็นตัวตน หมดแล้วเรื่องมันหมดแล้ว มันมีเพียง ๕ เรื่องเท่านั้นแหละ อะไรๆ ที่จะเข้ามาในรูปแห่งตัวตนน่ะ มันก็เข้ามาใน ๕ กองนี้ กองใดกองหนึ่งน่ะ ที่ท่านแยกเป็น ๕ กอง เรียกว่า ขันธ์ ๕ คือรูปขันธ์ กองรูป เวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาขันธ์ กองสัญญา สังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ ถ้าเข้าใจ ถ้าท่านผู้ฟังเหล่านี้เข้าใจ ต่อไปก็จะมองเห็นได้เองว่า อะไรเข้ามากระทบตน เป็นขันธ์กองไหน อะไรเกิดขึ้นเป็นขันธ์กองไหน อะไรดับไปเป็นขันธ์กองไหน
ฉะนั้นความรู้แจ้ง รู้จัก ดีที่สุดต่อขันธ์ทั้ง ๕ นั่นแหละเป็นประโยชน์มาก จะรู้จัก สงเคราะห์เป็นขันธ์ทั้ง ๕ แต่ละขันธ์ๆ แล้วก็จะเห็นเป็นแต่เพียง ขันธ์ เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีความที่จะเป็นตัวกูหรือเป็นของกู ไม่มีทางที่จะเป็นตัวตนหรือเป็นของตน ไม่มีทางที่จะเป็น อัตตาหรืออัตตนียา ถ้าเรียกเป็น บาลี คำพูดนั้นก็มีว่า อัตตา ตน อัตตนียา ของตน ทีนี้ถ้ามันโกรธจัดขึ้นมา ตัวกูของกู ก็เรื่องเดียวกันแหละ อัตตาหรืออัตตนียา อยู่ในรูปตัวตนหรือของตนก็ได้ อยู่ในรูปตัวกูหรือของกูก็ได้ เมื่อมีรู้สึกเป็นอัตตา เป็นอัตตนียาแล้วเป็นความทุกข์ทันที เพราะมันเป็นการหิ้วของหนัก ในทันทีที่เกิดความรู้สึกว่าตัวตน อย่างนั้นมันก็หิ้วตัวเอง หิ้วตัวตนซึ่งเป็นของหนัก ตัวตนเป็นของหนักก็เป็นความทุกข์เพราะตัวตน แล้วก็ยึดถือเอาไอ้ที่เป็นของตนมา ไอ้ของของตนก็มาเป็นของหนัก มันก็หนักก็หิ้วของของตน หิ้วตัวเองก็หนัก หิ้วของของตัวเองก็หนัก นี่คือตัวความทุกข์ จึงกล่าวไว้เป็นหลักที่สำคัญในข้อหนึ่งว่า เมื่อไรมีความยึดถือ ยึดมั่นถือมั่น เมื่อนั้นก็เป็นทุกข์ ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะความยึดมั่นถือมั่น ฉะนั้นระวังอย่าให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นคือปรุงเป็นตัวกู หรือปรุงเป็นของกูขึ้นมา ระวังอย่าให้มีการกระทำที่โง่เขลาในจิตในใจ ปรุงเป็นตัวกูหรือของกูขึ้นมา เป็นตัวตนหรือของตนขึ้นมา ระวังอย่าให้มีการปรุงอย่างนี้ มันก็ไม่มีการหิ้วของหนัก เมื่อไม่มีการหิ้วของหนัก มันก็ไม่รู้สึกหนัก คือมันไม่เป็นทุกข์ พอมีตัวตนในอะไร ก็จะต้องเป็นทุกข์ในเรื่องนั้นเพราะเหตุนั้น อย่างที่ฉันจะกล่าวไว้ ง่ายๆ ว่า คนโง่นั้น คนปุถุชน คนโง่นั้นน่ะ มีอะไรอะ มีเงิน ก็ต้องเป็นทุกข์เพราะเงิน มีควายก็ต้องเป็นทุกข์เพราะควาย มีนาก็ต้องทุกข์เพราะนา มีบ้านเป็นทุกข์เพราะบ้าน มีเรือกสวนเป็นทุกข์เพราะเรือกสวน มีเงินก็เป็นทุกข์เพราะเงิน นี่มันน่า มันน่า น่าละอาย คนโง่น่ะ มีอะไรจะต้องเป็นทุกข์เพราะเหตุนั้น มีบุตรก็เป็นทุกข์เพราะบุตร มีภรรยาก็เป็นทุกข์เพราะภรรยา มีสามีก็เป็นทุกข์เพราะสามี นี่สำหรับคนโง่ที่มีแต่จะปรุงอะไรๆ ขึ้นมาให้เป็นตัวตน เป็นของตนอยู่อย่างง่ายดาย อย่างรวดเร็ว และอย่างตลอดเวลา
ขอให้สนใจเรื่องนี้ซึ่งเป็นเพียงเรื่องเดียว เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามธรรมชาติ ธรรมดานั้นมันไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของตน แต่เกิดความรู้สึกเป็นตนของตนขึ้นมาได้ ก็ในขณะที่มันโง่ ที่มันโง่ มันไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา หรือว่ามันไม่ได้เคยยินได้ฟังจากท่านผู้รู้ผู้ใด มันปล่อยไปตามอำนาจของ อวิชชา คือธรรมชาติที่ปราศจากความรู้อันถูกต้อง มีแต่ความไม่รู้ แล้วมันก็จะต้อง ปรุงอย่างนี้เสมอไป นี่ขอให้สนใจเป็นพิเศษ ในฐานะเป็นหัวใจของพุทธศาสนา มีการปรุงเป็นตัวกูของกู เมื่อไรมีความทุกข์เมื่อนั้น จะไม่ให้ปรุงอย่างนั้นก็ต้องมี สติสัมปชัญญะ จะมีสติสัมปชัญญะ มันก็ต้องฝึกฝน ฝึกฝนทางจิต ที่เรียกว่าทำกรรมฐาน ทำภาวนา ทำอะไรก็ตาม เป็นการฝึนฝนทางจิต จนรู้จักควบคุมจิต รู้ทันเวลาที่มีอะไรมากระทบ ไม่เปิดโอกาสให้ปรุงเป็นตัวตนของตน เรื่องมันก็จบ มันก็ไม่มีความทุกข์ ถ้ามีโอกาสมีเวลาก็ไปฝึก สมาธิ ภาวนา แบบที่มันทำให้มีสติสัมปชัญญะ มันมีอยู่ว่า มีเป็นแบบ มีอยู่ศึกษาแล้วปฏิบัติ อยู่เป็นประจำ เราก็จะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น คือจะไม่หลง คิด นึก ปรุงแต่งเป็นตัวตน แล้วโดยทั่วไป โดยทั่วไป ก็คือใน ในเวลาที่มีผัสสะ ในขณะที่มีผัสสะ ในกรณีที่มีผัสสะ ผัสสะคือมีอะไรมากระทบตา มีอะไรมากระทบหู มีอะไรมากระทบจมูก มีอะไรมากระทบลิ้น มีอะไรมากระทบผิวหนัง มีอะไรมากระทบจิตใจ ตอนนั้นเรียกว่ามีผัสสะ พอมีผัสสะแล้วมันไม่มีปัญญา มันก็มีความโง่ มันก็ปรุงไปตามแบบความโง่ มันก็เกิดเวทนาออกมา สำหรับยินดี เวทนาออกมาสำหรับยินร้าย ทั้งนั้นทุกคู่ไป พอเกิดความยินดียินร้ายแล้วก็เกิดตัวตน ก็เป็นทุกข์ไปตามแบบของตัวตน ฉะนั้นขอให้ทุกคนระวังตลอดเวลาในชีวิตประจำวันเมื่อมีผัสสะ เมื่อไม่มีผัสสะไม่มีอะไรมากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่มีเรื่อง ไม่มีเรื่อง ว่างสบาย พอมีอะไรมากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ระวังให้ดีเถอะ มันจะมีความยินดี หรือมิเช่นนั้นก็มีความยินร้าย พอยินดียินร้าย ก็เกิดตัวกูของกู แล้วก็เป็นล้มลุกคลุกคลาน ตามแบบที่มีตัวกูของกู นี้เป็นใจความสำคัญ แต่รายละเอียดปลีกย่อยหรือคำพูดที่จะพูดให้ชัดเจนกว่านี้ก็จะรู้ได้เอง
ขอให้จำใจความสำคัญให้ได้ว่า ถ้ามียินดียินร้ายเมื่อไร มันก็ปรุงเป็นตัวกูของกูเมื่อนั้น แล้วความคิดแห่งตัวกูของกู มันก็เป็นไปอย่างที่เรียกว่าสุดเหวี่ยงของมัน ทุกข์แล้วทุกข์อีก ทุกข์แล้วทุกข์เล่า ตัวกูอย่างนี้เกิดทุกทีก็เป็นทุกข์ทุกที เกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกที ตัวกูเกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกที ตัวกูไม่เกิดก็ไม่เป็นทุกข์ทุกที ตัวกูไม่เกิดทุกทีก็ไม่เป็นทุกข์ทุกที มันมีอะไรมากระทบทำให้ตัวกูน่าจะเกิด แต่แล้วรู้สึกตัวธรรม ควบคุมไว้ได้ไม่เกิดมันก็ไม่เป็นทุกข์ นี่แหละ ตัวกูเกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกที ตัวกูไม่เกิดทุกทีก็ไม่เป็นทุกข์ทุกที เรื่องก็เป็นหลักง่ายๆ สั้นๆ อย่างนี้ นี้ถ้าเราระวังผัสสะให้ดี ในชีวิตแต่ละวัน ละวันน่ะ อย่าให้โง่ในเวลาที่มีผัสสะ แล้วมันก็จะรู้ โอ้, มันเช่นนั้นเอง มันเช่นนั้นเอง มันอย่างนั้นเอง ตามธรรมชาติมันอย่างนั้นเอง ไม่ต้องยินดียินร้าย ฉะนั้นจะต้องศึกษาที่ตัวความยินดียินร้าย ที่เกิดอยู่เป็นประจำวันเป็นปกติของคน ของตนเองโดยเฉพาะนั่นแหละ ถ้าจะศึกษาธรรมะก็ต้องศึกษาที่ตรงนี้ เหมือนกับ เหมือนกับศึกษาในพระไตรปิฎกทั้งหมดแหละ ถ้าศึกษาตรงนี้ตรงที่ชีวิตมีผัสสะนี่ ศึกษาให้รู้จักว่ามันจะเกิดความทุกข์อย่างไร มันจะไม่เกิดความทุกข์อย่างไร ให้รู้แจ้งชัดและควบคุมไว้ ให้มันไปในหนทางที่ไม่เกิดทุกข์ ไม่เกิดตัวกูของกูนั่นคือ รู้ทั้งหมด ปฏิบัติทั้งหมด ได้ผลทั้งหมด ที่เป็นที่น่าพอใจ ทั้งหมดนี้เรียก เขาเรียกว่าหัวใจของพระพุทธศาสนา พูดให้สั้นต่อไปอีกว่ารู้จักควบคุมผัสสะ การกระทบ ไม่ให้เกิดความรู้สึกยินดียินร้าย เท่านี้เอง ควบคุมผัสสะทุกครั้งทุกกรณีที่มากระทบไม่ให้เกิดยินดียินร้าย โดยรู้มันเช่นนี้เองตามธรรมชาติ เช่น ยุงกัด มันก็มีความรู้สึกเช่นนี้เองตามธรรมชาติก็ไม่ต้องยินร้าย หรือได้รับการประคบประหงม อบนวดอะไรต่างๆ มีสบายขึ้นมา ก็ว่ามันก็เช่นนี้เองตามธรรมชาติ ไม่ต้องยินดี เมื่อต้องการความปกติ ก็ทำไปตามที่ว่ามันไม่ต้องยินดียินร้าย ถ้ายินดียินร้ายมันก็ผิดปกติแล้ว มันก็มีความทุกข์แล้ว ช่วยไม่ได้ ฉะนั้นถ้าใครต้องการจะได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา หรือจะให้พระพุทธศาสนามาช่วยได้คุ้มครองได้ ก็จงศึกษาเรื่องนี้ รู้สึก รู้จักเรื่องนี้ คือรู้จักเรื่องของผัสสะ ควบคุมผัสสะไว้ให้ได้ มีสติสัมปชัญญะควบคุมผัสสะไว้ให้ได้ ไม่ยินดียินร้าย และไม่เกิดตัวกูของกู ก็เลยปลอดภัย ถ้าทำได้อย่างนั้นเด็ดขาดไปเลย ไม่กลับไปกลับมาก็เป็นพระอรหันต์ ถ้าทำได้เป็นส่วนมากก็เป็นพระอริยบุคคลรองๆ ลงมา ถ้าทำไม่ได้เลยก็เป็น ปุถุชนธรรมดา หน้าโง่ไปตามเดิม มันจะต้องดิ้นรนต้องเจ็บปวดทุกครั้งทุกคราวที่มันมีความยินร้าย หลงใหลลิงโลดไปทุกคราวที่มีความยินดี ฉะนั้นจึงเรียกว่ามันเหมือนกับว่าเกิดใหม่ เป็นคนที่มีสติปัญญา วิชาความรู้ รู้จักจัด รู้จักทำ ไม่ให้จิตนี้เป็นทุกข์ได้ เรามีความรอบรู้ในการระมัดระวัง กักหรือทำไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นในจิตได้ จิตใจก็เป็นจิตใจ ก็มีร่างกาย มีระบบประสาท มีอะไรเนื่องถึงกันอยู่ ซึ่งจะปรุงแต่งจิตหรือจะถูกควบคุมโดยจิต นี่ถ้าจิตได้ศึกษามีความรู้ดีแล้ว จิตก็ไม่ไปหลงโง่อะไรให้เป็นตัวตนขึ้นมา ก็ไม่มีความทุกข์ คือจิตจะไม่ไปหลงโง่ยินดีหรือยินร้ายในอะไรขึ้นมา มันก็ไม่เกิดตัวตน หรือของตน มันก็ไม่เป็นทุกข์ จิตนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน ร่างกายก็ไม่ใช่ตัวตน ระบบประสาทก็ไม่ใช่ตัวตน ความรู้สึกต่างๆ ก็มิใช่ตัวตน เป็นเพียงธรรมชาติตามธรรมชาติ เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวตน ก็เลยไม่มีตัวตน ในชีวิตนี้ในอัตภาพนี้ เป็นมีแต่กายกับจิต หรือสิ่งที่รู้สึกกับจิต เรียกว่ามีกายกับจิตก็พอ ไอ้สิ่งที่รู้สึกกับจิตมันก็นับรวมเป็นจิต แต่เขาเรียกว่า เจตสิก จิต มีเจตสิก ผสมอยู่ด้วยทุกๆ เรื่อง แต่เจตสิกก็ไม่ใช่ตัวตน จิตก็ไม่ใช่ตัวตน ร่างกายก็ไม่ใช่ตัวตน อุปกรณ์ที่ให้เกิดความรู้สึกต่างๆ เช่น ระบบประสาทอย่างนี้ก็มิใช่ตัวตน เป็นเพียงธรรมชาติที่มีความสามารถในการจะรู้สึกต่อสิ่งต่างๆ อย่างนั้นเอง เป็นอันว่าไม่มีตัวตน ทั้งหมดทั้งทั้งกะบิ ทั้งชีวิตทั้งกะบิ ไม่มีตัวตน
นี่เรื่องไม่มีตัวตนในพระพุทธศาสนา เป็นอย่างนี้ พระพุทธศาสนามีคำสอนซึ่งเป็นหลักเป็นหัวใจว่า สิ่งทั้งปวงมิใช่ตัวตน ก็อย่างที่ว่านี้ ร่างกายนี้ก็ไม่ใช่ตัวตน จิตนี้ก็ไม่ใช่ตัวตน ความคิดนึกของจิตก็ไม่ใช่ตัวตน สิ่งที่มีความรู้สึกทางประสาท อายตนะก็ไม่ใช่ตัวตน แต่ถ้ามันมีการทำผิด เกิดโง่ไปยินดียินร้ายในอะไรเข้า ตัวตนมันก็เกิดขึ้นมา ลมๆ แล้งๆ อย่างเป็นมายาที่สุด แต่ว่าไอ้เป็นมายาที่สุดนี่กลับมีพิษร้ายที่สุด กัดเอาเจ็บปวดเหลือประมาณ มีความทุกข์เพราะเอาความเกิดมาเป็นของตน ก็มีปัญหา ตลอดชีวิต มีความทุกข์เพราะเอาความแก่มาเป็นของตน ไม่ปล่อยให้เป็นความแก่ของธรรมชาติ มันก็เป็นทุกข์เพราะความแก่ เอาความเจ็บมาเป็นของตน ไม่ปล่อยให้เป็นความเจ็บของธรรมชาติ มันก็เป็นความทุกข์ มีความทุกข์เพราะความเจ็บ ความตายตามธรรมชาติของธรรมชาติก็เอามาเป็นความตายของตน มันก็มีความทุกข์ เนื่องด้วยความตายหรือปัญหาทุกๆ อย่าง ที่เกี่ยวกับความตาย
นี่จึงว่ามันมีอะไร เป็นตัวตน มันจะมีความทุกข์เพราะเหตุนั้น มีบุตรก็เพราะเป็นทุกข์เพราะยึดถือว่าเป็นบุตรของตน มีภรรยาก็เป็นทุกข์เพราะยึดถือว่าเป็นภรรยาของตน มีสามีก็ยืดถือสามีว่าของตน มีวัวควาย ไร่นา ก็ยึดถือวัวควายไร่นาของตน มีเกียรติยศชื่อเสียงก็ยึดชื่อเสียงของตน มันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นว่าของ ว่าตัวตนหรือว่าของตนด้วยกันทั้งนั้น ถ้าไอ้ความรู้สึก ตัวตนของตนไม่เกิด ของใหม่ๆ ของมายาเหล่านี้ ไม่มาเกิดในจิตใจ จิตใจก็สงบสุขอยู่ ตามธรรมชาติ อยู่ตามธรรมชาติ ของเดิมนั้นน่ะ ไม่โง่ แล้วก็ไม่ฉลาดอะไร แต่มันไม่มีการปรุงแต่งนะ ถ้าพอโง่หรือฉลาดก็ตามมันก็มีการปรุงแต่ง โง่ก็ปรุงแต่งไปตามแบบโง่ ฉลาดก็ปรุงแต่งไปตามแบบฉลาด ปรุงแต่งแบบโง่ก็มีตัวตนเกิดขึ้นมาเป็นทุกข์ ปรุงแต่งแบบฉลาดก็คือปรุงแต่งไม่ให้มีความรู้สึกว่าตัวตน ระงับความรู้สึกว่าตัวตนเสีย มันก็ไม่เป็นทุกข์ ฉะนั้นขอให้เราทุกคนรู้จักหัวใจของพระพุทธศาสนาสั้นๆ ว่า ทุกอย่าง ทุกสิ่ง หรือ ธรรมทั้งปวง ไม่ใช่ตัวตน พอได้เกิดขึ้นในลักษณะใดก็ตาม อย่าได้หลงยินดียินร้าย แล้วเกิดตัวตน มีสติสัมปชัญญะควบคุมตน อย่าให้ยินดียินร้ายในสิ่งใด มันก็ไม่เกิดความทุกข์เพราะสิ่งนั้นๆ ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลาย เข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาซึ่งมีอยู่เพียงสั้นๆ ว่า สิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา มีสติให้เห็นเป็นอนัตตาอยู่ในทุกๆ กรณี มีหน้าที่อะไรจะทำไปก็ทำด้วยสติปัญญา ไม่ทำด้วยกิเลสตัณหาของตัวกู ไม่ต้องมีตัวกูเข้ามาให้เป็นทุกข์ ก็ทำได้ จะศึกษาเล่าเรียน ก็ศึกษาเล่าเรียนด้วยสติปัญญาที่ถูกต้อง อย่าทำไปด้วยความหวัง ด้วยกิเลสตัณหาว่า ของกู ว่าตัวกู มันจะเป็นทุกข์ มันจะเป็นบ้าตายหรือเป็นโรคประสาทเสียตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน เราดำรงชีวิตชนิดที่ฉลาด ทันเวลาอยู่เสมอ ไม่ปรุงเป็นความคิดว่าเป็นตัวกูของกูขึ้นมา สมมติว่าสอบไล่ได้มันก็ว่าถูกแล้ว กูทำอย่างนั้น มันก็สอบไล่ได้อย่างไร อย่างที่เรียกว่าสอบไล่ได้ ทีนี้สอบไล่ตก ก็มันก็ถูกแล้วเพราะมันทำอย่างนั้น ก็มันทำได้อย่างนั้นเท่านั้น มันก็สอบไล่ตก ก็ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องร้องไห้ สอบไล่ได้ก็ไม่ต้องดีใจเหมือนกับคนบ้า เป็นคนปกติอยู่ทั้งสอบไล่ได้และสอบไล่ตก แล้วก็เรียนให้ดีอย่างยิ่งด้วยสติปัญญา เรื่อยๆ ไป มันก็จะจบการศึกษาเข้าสักวันหนึ่งเป็นแน่นอน ตลอดเวลาไม่เป็นทุกข์ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วมันจะเหมือนกับคนบ้า เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ คือยินดียินร้าย เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้อยู่เช่นนี้ตลอดไป มันเป็นความระหกระเหิน เป็นชีวิตที่หาความปกติสุขไม่ได้ เราไม่ต้องการ เราต้องการจะเป็นมนุษย์ที่ดีกว่านั้น เราจึงมีวิธีควบคุมจิตใจไม่ให้ระหกระเหิน ด้วยความยินดีหรือยินร้าย แล้วมันก็ไม่เกิดตัวกูของกู แล้วก็ไม่มีความหนัก ซึ่งเป็นความทุกข์แต่ประการใด
นี่แหละคือหัวใจของพระพุทธศาสนา ใช้เวลาสั้นๆ เพียงเท่านี้พูดก็หมดแล้ว แต่ส่วนการปฏิบัตินั้นมันแล้วแต่ว่า จะปฏิบัติได้เพียงเท่าไร มันอาจจะตลอดชีวิตปฏิบัติไม่ได้ มันก็ได้เหมือนกัน แต่ถ้าเป็นคนตั้งใจดี ระมัดระวังดีไม่ต้องตลอดชีวิต มันจะปฏิบัติได้ภายในครึ่งชีวิต หรือภายในเวลาอันสั้น มันจะรู้จักควบคุมจิตใจไม่ให้เป็นทุกข์ได้เป็นแน่นอน นี่ขอให้ท่านทั้งหลาย รู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่าชีวิต รู้จักควาทุกข์ของชีวิต รู้จักความไม่มีทุกข์หรือความดับทุกข์ของชีวิต รู้ว่าแม้แต่ชีวิต ชีวิตนี้ก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ประกอบขึ้นมาด้วยร่างกายซึ่งมิใช่ตัวตน จิตใจซึ่งมิใช่ตัวตน ความรู้สึกคิดนึกซึ่งมิใช่ตัวตน อุปกรณ์ของความรู้สึกคิดนึกซึ่งก็มิใช่ตัวตน อะไรๆ มันจึงมิใช่ตัวตน นี่แหละคือชีวิต จึงไม่ได้ยึดถือว่าชีวิตของกู ก็เลยไม่ต้อง ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องรัก ไม่ต้องโกรธ ไม่ต้องเกลียด ไม่ต้องกลัว เหมือนพระอรหันต์นั่นแหละ ท่านไม่ต้องมีความรัก โกรธ เกลียด กลัว วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์อะไร ส่วนปุถุชนนี่จะเต็มไปด้วยความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หึงหวง เหล่านี้เป็นต้น คนดีมีเมื่อไม่เกิดตัวกู คือสงบสุขเป็นพระนิพพาน ถ้าว่ามันปรุงเป็นตัวกูของกู มันก็เป็นวัฏสงสาร เต็มไปด้วยความเร่าร้อน มันก็อยู่ในกองไฟ หรืออยู่ในกะทะน้ำเดือด
การบรรยายสมควรแก่เวลาแล้ว ของร้องท่านทั้งหลายว่า ข้อความสั้นๆ นี้ สำคัญที่สุด ขอให้อยู่กับจิตใจ ในความจำ ในความรู้อยู่ตลอดเวลา จะคุ้มครองไม่ให้เกิดความทุกข์ได้ จนตลอดชีวิตและมีความสุขอยู่ทุกทิพพาราตรีกาลเทอญ
[T1]ไม่แน่ใจว่าฟังถูกต้องหรือไม่