แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านอาจารย์เริ่มกล่าวอบรมธรรมะ: สมาชิกธรรมจาริณีทั้งหลาย ในโอกาสครั้งสุดท้ายนี้ จะพูดเป็นการสรุป ซึ่งเรียกว่า พูดสรุปไว้ในคำคำเดียว คือคำว่า “ธรรม” ที่เรามานี่เราก็มาศึกษาธรรม ดังนั้นเราก็จะต้องเอาธรรมไปปฏิบัติ แล้วเราก็จะได้รับผลของสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” คิดดูเถอะ ธรรมชาติทั้งหลาย ทั้งปวง ก็มีชื่อเรียกว่า “ธรรม” ธรรม คือธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ ซึ่งมีอำนาจที่สุด สูงสุด ก็เรียกว่า “ธรรม” หรือ “พระธรรม” หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฏของธรรมชาติ ก็ยังคงเรียกว่า “ธรรม” สำหรับปฏิบัติ เมื่อได้รับผลอะไรขึ้นมา ก็ยังคงเรียกว่า “ธรรม” ในฐานะเป็นผลที่ได้รับ
ความทุกข์เกิดมาจากอะไร ก็แปลว่าเกิดมาจากขาดธรรม ขาดธรรมะ จะดับทุกข์ได้ด้วยอะไรก็ด้วยธรรมะ สิ่งต่างๆ เป็นไปโดยอำนาจของอะไรก็แปลว่าโดยอำนาจของธรรมะ ที่เป็นกฎของธรรมชาติ ฉะนั้นไม่มีอะไรที่จะไม่เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” เพราะฉะนั้น ขอให้มองให้ดีๆ ให้เข้าใจ ให้เห็นชัดว่าสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” นั้นน่ะ คือทั้งหมด ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ยกเว้นอะไร
แต่ถ้าธรรม สำหรับศึกษา สำหรับปฏิบัตินี่ เราหมายเฉพาะส่วนที่เป็นหน้าที่ หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องปฏิบัตินั่นแหละ เรียกว่า “ธรรม” ในที่นี้ คือธรรมที่จะต้องปฏิบัติ ก่อนจะปฏิบัติ มันก็ต้องมีการศึกษา เพราะฉะนั้นเราจึงมีการศึกษาให้รู้ธรรมะ และก็ปฏิบัติธรรมะ แล้วเราก็มีๆๆธรรมะ แล้วเราก็ใช้ธรรมะที่มีให้เป็นประโยชน์ ในที่สุดเราก็ได้รับประโยชน์ของการมีธรรมะ ประโยชน์ของการมีธรรมะ นั่นแหละคือสิ่งที่ต้องการ มันเป็นความสงบสุข ทั้งส่วนตัวบุคคลและสังคมด้วย เดี๋ยวนี้เราเรียกกันสั้นๆว่ามาศึกษาธรรมะ แล้วก็มีการปฏิบัติธรรมะ ฝึกฝนอยู่อย่างดีที่สุด ตลอดเวลาที่บวช จะสักกี่วันก็ตาม จะต้องตั้งใจทำอย่างดีที่สุดในการศึกษาธรรมะ และก็ปฏิบัติธรรมะ ด้วยความตั้งอกตั้งใจ ความพยายาม ให้สำเร็จประโยชน์ เมื่อเป็นดังนั้น มันก็ต้องมีความอดกลั้น อดทน อย่างยิ่ง ถ้าไม่มีความอดดกลั้นอดทน มันก็ปฏิบัติไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงมีความอดกลั้นอดทนตลอดเวลาที่ปฏิบัติ และการอดกลั้นอดทนนั้นเอง เป็นการศึกษาชั้นสูงสุด เป็นการรู้ถึงที่สุด เป็นการได้รับผลถึงที่สุด ยิ่งกว่าที่จะเพียงแต่เรียนท่องจำ หรือจดไว้ นั่นมันยังไม่แน่
ขอแนะว่าในระหว่างที่บวช ก็มีการฝึกหลายๆอย่าง บางคนอาจจะเข้าใจว่าทำเป็นพิธี ถ้าทำเป็นพิธี มันก็ไม่ได้อะไรนอกจากได้ทำพิธีแล้วมันก็เลิกกัน แต่ว่าถ้าทำด้วยใจจริง ไม่ใช่ทำพอเป็นพิธี มันก็มีมากอย่างแหละ ตามที่รู้ๆกันอยู่แล้น่ะวว่า เรื่องการกินก็ดี การอยู่ก็ดี เรื่องการปฏิบัติทุกอย่าง นับตั้งแต่ไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิอะไรก็ดี นั่นทั้งหมดนั้นน่ะ มันเป็นการปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติได้เสร็จ ดี ตามนั้น มันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในภายในใจของเรา ไอ้สิ่งที่ไม่พึงปรารถนาที่มีอยู่แต่ก่อนนั้นน่ะ มันก็หลุดออกไป มันก็เหลืออยู่แต่สิ่งที่จะมีประโยชน์และควรปรารถนา แหละจะได้มีไว้ประจำตัว สำหรับประพฤติฏิบัติดำเนินชีวิต เรื่อยไปจนตลอดชีวิตน่ะ ถ้าทำได้อย่างนี้นับว่าถูกต้อง
ชั่วที่บวชไม่กี่วันนี้ ศึกษาอย่างเพียงพอ ค้นคว้าอย่างเพียงพอ ทดลองอย่างเพียงพอ แล้วก็ปฏิบัติเรื่อยไปจนตลอดชีวิต ก็นับว่าเป็นชีวิตที่ปราศจากปัญหา เป็นชีวิตที่มีความสงบสุข และก็ปราศจากปัญหาโดยประการทั้งปวงมีความเป็นมนุษย์ที่เต็มเปี่ยม ถ้ายังมีความทุกข์ใดใดเหลืออยู่ เรียกว่าความเป็นมนุษย์ยังไม่เต็มเปี่ยม จะต้องทำจนไม่มีปัญหา หรือไม่มีความทุกข์ใดใดรบกวน คนโง่อาจจะเห็นว่ามากเกินไป ไม่ต้องการถึงขนาดนั้น นั่นมันเป็นเรื่องของคนโง่ ก็แล้วแต่ แต่ถ้าเป็นวิญญูชน มีสติปัญญา เขาก็จะคิดว่าเกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งที ก็จะประพฤติกระทำให้ได้รับประโยชน์จากความเป็นมนุษย์ ถึงที่สุด เต็มที่ แล้วความเป็นมนุษย์ของคนๆนั้นมันก็เต็ม แล้วมันก็ได้รับผลจากความเป็นมนุษย์ที่เต็ม นั้นแหละ คิดดูเถอะ
เดี๋ยวนี้ยังมีปัญหาชนิดที่รบกวนจิตใจ ไม่มีความสงบสุข เป็นเรื่องของกิเลสที่เกิดขึ้นอย่างที่กล่าวแล้วเมื่อวานนี้ มันก็มีปัญหา ทีนี้ก็พูดเรื่องกิเลสอีกนิดหน่อยว่า เมื่อทำผิดในขณะแห่งผัสสะ อย่างที่กล่าวเมื่อวานโดยละเอียดแล้วนั่นแหละ ทำผิดเมื่อผัสสะ มันก็เกิดตัณหา นั่นก็คือกิเลสทุกชนิดแหละ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ๓ ชนิดเป็นแม่บท กิเลสนี้แจกออกไปได้หลายร้อยหลายพันน่ะ แต่ถ้าว่าสรุป ตัวเหตุ ตัวต้นเหตุ ก็มีเพียง ๓ คือ โลภะ โทสะ โมหะ บางทีก็เรียกว่า ราคะ โทสะ โมหะ บางทีก็เรียกว่า ราคะ โกรธะ โมหะ
ระวังให้ดีดี คำพูดนี่มันใช้บางทีก็ใช้แทนกันจนเข้าใจผิดว่าเป็นอย่างอื่น มันมีเพียง ๓ อยากจะรู้ว่าเป็นกิเลสประเภทไหนใน ๓ ประเภทนั้นน่ะ ก็ให้สังเกตกิริยาอาการของมัน ถ้ามันเป็นความรู้สึกที่จะดึงเข้ามาหาตัว เอาเข้ามาเป็นของตัว เรียกดึงเข้ามานี่ มันก็เป็นกิเลสประเภทโลภะ หรือราคะ ทั้งนั้นเลย จะมีกี่อย่างก็ตามใจ และมันมีรายละเอียด ต่างๆๆ กันหลายชื่อ แต่ชื่อสรุปรวมก็เรียกว่า โลภะ หรือบางทีก็ ราคะ แปลว่าเอาเข้ามา ยึดถือไว้ กอดรัดไว้
ถ้าว่าความรู้สึกนั้น มันมีลักษณะผลักออกไป ตีให้ตาย ทำลายเสีย อย่างนี้กิเลสนั้นก็มีชื่อว่า โทสะ หรือบางทีก็ใช้คำว่า “โกรธะ” แทน โทสะ ประทุษร้าย ก็หมายความว่า ทำให้พินาศไป หรือผลักออกไป มันตรงกันข้ามกับโลภะ ที่ดึงเข้ามา
ทีนี้ถ้าว่ามันเป็นความรู้สึกประเภทที่ไม่มีการกระทำอย่างนั้น และมันไม่รู้ว่าอะไรกันแน่ แต่มันมีความยั่วยวน หลงใหล มัวเมา หรือเป็นเหตุให้สงสัยอยู่ ข้องใจอยู่ นี่มันก็เป็นกิเลสประเภทสุดท้าย คือประเภทโมหะ มีลักษณะเหมือนกับวิ่งเวียนอยู่รอบๆ อารมณ์นั้น หรือสิ่งนั้น
ย้ำอีกทีว่า โลภะ ข้อที่ ๑ มันดึงเข้ามา โทสะข้อที่ ๒ มันผลักออกไป โมหะที่ ๓ เวียนอยู่รอบๆ รู้จักสังเกตอาการทั้ง ๓ นี้แล้ว ก็จะรู้จักแยกคัดจัดพวกกิเลสทั้งหลายเป็นพวกๆ ไป ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องถามใครก็ได้ ถ้ามันไม่รู้ มันก็ต้องจดชื่อ แล้วก็ต้องท่องจำ มันก็จด ท่องจำท่องจำ เดี๋ยวมันก็ลืม แต่ถ้ามันมีหลักอย่างนี้ไว้แล้ว มันก็ไม่รู้จักลืม ดึงเข้ามาหาตัว เรียกว่า โลภะ ผลักออกไปจากตัว เรียกว่า โทสะ วิ่งวนเวียนอยู่รอบๆ เรียกว่า โมหะ
เมื่อเราโง่ หรือเผลอ หรือ ไม่มีสติ ในขณะแห่งผัสสะแล้ว มันก็จะเกิด เวทนาโง่ แล้วเกิดตัณหาโง่ คือกิเลสทั้ง ๓ นี้ ถ้าจะมองดูในรูปของตัณหาก็ว่า มันอยากเอาเข้ามา มันอยากผลักออกไป มันเวียนอยู่รอบรอบด้วยความอยากชนิดใดชนิดหนึ่ง นี่ถ้าในปฏิจสมุปบาท เรียกว่า “ตัณหา” เป็นขณะแห่งกิเลส แต่ถ้าในเบญขันธ์ ก็เรียกว่า “สังขารขันธ์ สังขารขันธ์” เป็นความคิดปรุงแต่งขึ้นมา เป็นความโลภ เป็นความโกรธ เป็นความหลง คือ เป็น โลภะ โทสะ โมหะ อย่างที่กล่าวแล้ว
ทีนี้ เกิดกิเลสชื่อใดก็ตาม จะโลภะก็ตาม โทสะก็ตาม โมหะก็ตาม เกิดกิเลสนี้ ครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วครั้งหนึ่ง มันไม่สิ้นสุดเพียงเท่านั้น มันเก็บเชื้อแห่งความเคยชินที่จะเกิดเช่นนั้นน่ะ ไว้ด้วย ฟังดูให้ดีว่า เกิดกิเลสชื่อใดครั้งหนึ่ง มันจะสร้างความเคยชินที่จะเกิดเช่นนั้นอีก ไว้หน่วยหนึ่ง หน่วยหนึ่ง ทุกครั้งไป ก็เป็นการสะสมความเคยชินที่จะเกิดกิเลสชื่อนั้น ชื่อนั้น ไว้ในใจ ความเคยชินแห่งกิเลส นี่ก็เรียกว่า “อนุสัย ๆ” เช่น รักครั้งหนึ่ง มันก็มีความเคยชินที่จะรักครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ได้ง่ายขึ้น เพราะมันสร้าง มันเก็บความเคยชินนี้ไว้ เช่น โกรธครั้งหนึ่ง มันก็มีความเคยชินที่จะโกรธอีก เป็นครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ง่ายขึ้น เพราะมันเก็บความเคยชินนี้ไว้ มันโง่ หรือมันสะเพร่า ครั้งหนึ่ง มันก็มีความเคยชินที่จะโง่ หรือสะเพร่าครั้งต่อไป มากขึ้น ๆ ส่วนที่เก็บไว้เป็น ความเคยชินสำหรับจะเกิดกิเลสเช่นนั้นอีก อย่างนี้เราเรียกว่า “อนุสัย”คือว่านอนอยู่ในสันดาน นอนอยู่ในสันดาน
คำนี้ไม่อยากพูด เพราะมันฟังดูแล้ว มันเป็นคล้ายเป็นของเที่ยง มันนอนนิ่งอยู่ในสันดาน คล้ายเป็นของเที่ยง มันไม่ใช่เช่นนั้น มันเกิดดับ มันเกิดดับ อนุสัยมีอยู่ มันก็หมายความว่า ความเคยชินน่ะมันมีอยู่ ความเคยชินที่จะเกิดน่ะ มันมีอยู่ เมื่อมีอนุสัยอย่างนี้แล้ว มันก็มีหน้าที่ต่อไป คือจะไหลกลับออกมา ถ้าเก็บอนุสัยนี้ไว้มากเข้า มากเข้า มากเข้า มันก็มีความอัดหรือดัน ที่จะไหลกลับออกมา กิริยานี้ เราจะเปรียบได้เหมือนกับว่า เอาน้ำใส่ตุ่มที่มีรูรั่วนิดๆ รูรั่วนิดๆ เอาน้ำใส่ลงไป ยิ่งมากเท่าไร มันก็จะมีแรง แรงดันที่จะออกมาตามรูรั่วน่ะ มากเท่านั้น ถ้าใส่เต็มตุ่ม มันก็จะถึงกับพุ่งปรี๊ดออกมาเลย แต่ถ้าว่าน้ำมันมีน้อย มันก็ออกมาเนือยเนือย
ทีนี้ถ้าอนุสัยมันมีมากในสันดาน มันก็กลับออกมาสำหรับจะเกิดกิเลส เมื่อสัมผัสอีก ได้อีกแต่ทีนี้ถ้าว่าไม่มีอะไรมาสัมผัส ไม่มีอะไร อารมณ์อะไรมาสัมผัส มันก็ดันออกมา เหมือนกับขึ้นควันกรุ่นกรุ่น อย่างนี้เราเรียกว่า “นิวรณ์ นิวรณ์” คนที่ไม่รู้จักนิวรณ์น่ะ คือคนโง่ที่สุด แล้วการสอนที่โง่ที่สุด มันก็ไม่สอนนิวรณ์นี่ให้เป็นสิ่งที่รู้จักกันเสียในชีวิตประจำวัน มันจะไปสอนกันว่า ต่อเมื่อจะทำสมาธิน่ะ จึงจะมีนิวรณ์มารบกวน อย่างนั้นน่ะ เป็นคำสอนที่ หลับตาพูด นิวรณ์มันจะคอยเกิด มันจะเกิดของมัน โดยไม่มีอารมณ์ข้างนอกมากระทบ ไม่มีเจตนา แต่ถ้าว่าอนุสัยมันมีความกดดันมาก มันก็เหมือนจะขึ้นควันบางๆ ฉุยๆ ออกมา เป็นนิวรณ์ทั้ง ๕ มีกามฉันทะ นี่ก็พวกโลภะ พยาบาทก็เป็นพวกโทสะ ถีนมิทธะ อุทธัจจะ กุกกุจจะ วิจิกิจฉา ก็เป็นพวกโมหะ
นิวรณ์เกิดได้ โดยไม่ต้องมีเหตุปัจจัย โดยไม่ต้องมีจตนา ก็เป็นความกดดันออกมาอย่างน้อยๆ รั่วออกมาอย่างน้อยๆ ถ้ารั่วออกมาเป็นเต็มที่ เป็นกิเลสเต็มที่ เดี๋ยวนี้มันรั่วออกมาอย่างน้อยๆ เหมือนควันกรุ่นกรุ่น ยังไม่ลุกโพลง เป็นกามฉันทะเมื่ออายุมันถึงขนาดมีความรู้สึกทางเพศได้ มันก็มีกามฉันทะได้เต็มที่ มีขึ้นมาได้จากภายในจิตใจ โดยไม่ต้องมีเหตุปัจจัยภายนอกก็ได้ ถ้ามีเหตุปัจจัยภายนอกเข้ามา มันก็ปรุงเป็นกิเลสโดยสมบูรณ์ เดี่ยวนี้ ไม่ต้องมีเหตุปัจจัยภายนอก มันก็ปรุงได้แต่เพียงเป็นนิวรณ์
อนุสัยส่วนที่ส่วนเป็นโลภะ คือ ราคานุสัย มันก็ทำให้นิวรณ์ ไอ้พวกกามฉันทะ กรุ่นออกมา อนุสัยประเภทโทสะ คือปฏิคานุสัย ปฏิคานุสัย คือพวกโทสะ มันก็ปรุงเกิดเป็นพยาบาทนิวรณ์ออกมา ทีนี้ อนุชานุสัย พวกโมหะทั้งหลาย มันก็ให้เกิด ถีนมิทธะ อุทธัจจะ กุกกุจจะ วิจิกิจฉา ออกมา นี่มันครบชุด ครบคู่ของมันอย่างนี้ ทุกคนจะต้องสังเกตเห็นนิวรณ์ของตนที่เกิดอยู่ เกิดอยู่ได้ทุกวัน ให้รู้สึก แหละให้รู้จัก แหละให้รู้จักรังเกียจนิวรณ์ เพราะว่าถ้านิวรณ์ เข้ามาทีไร มันก็สูญเสียความเยือกเย็นแห่งจิตใจ ชีวิตนี้ไม่เยือกเย็น มันร้อนรุ่มบ้าง มันหวั่นไหว โยกโคลงบ้าง มันมืดมนบ้าง มันแล้วแต่ ฉะนั้นศึกษาเรื่อง “นิวรณ์” เป็นเบื้องต้น ให้รู้จักว่ามีอยู่ และมีอยู่ตั้งแต่มาเมื่อไร รู้ได้ก็ยิ่งดี เดี่ยวนี้มีอยู่ทุกวัน รู้ได้ก็ยิ่งดี จะได้จงเกลียดจงชัง ประพฤติปฏิบัติ เพื่อกำจัดสิ่งเหล่านี้เสีย ถ้าไม่รู้จักนิวรณ์ ก็คือคนโง่ที่สุด ไม่รู้จักอันตราย ที่รบกวนอยู่ตลอดเวลา ในระหว่างที่ปฏิบัติ หรือบวชนี่ ตั้งใจกำหนดศึกษาให้ดูดีๆ เวลาไหนมีนิวรณ์อะไรเกิดขึ้นรบกวน เวลาไหนมีนิวรณ์อะไรเกิดขึ้นรบกวน เดี๋ยวมันก็จะพบมากจนรำคาญตัวเอง จึงจะเกิดความคิดที่ว่าจะกำจัดนิวรณ์ คือละกิเลส
นี่คือ หลักสำคัญในพระพุทธศาสนา ที่ว่าจะต้องประพฤติ กระทำลงไปที่ของที่มีอยู่จริง ไม่ใช่ของสมมติขึ้น ถ้าเราเรียนในห้องเรียน หรือเรียนอย่างเรียนจดจดนี่ นี่มันเป็นของสมมติขึ้น ว่านิวรณ์อย่างนั้นอย่างนี้ อย่างนี้เป็นการเรียน ข้างนอก เรียนภายนอก แต่ถ้ารู้จักนิวรณ์จริงๆ คอยสังเกตศึกษาอยู่ว่าเป็นอย่างไร แม้จะไม่รู้จักชื่อ เรียกชื่อมันไม่ถูกก็ยังได้ ยังไม่เป็นไร แต่รู้ว่ามันมีนิวรณ์อย่างไรในจิตใจ นี่เรียนจากของจริงในภายใน เรียนจากที่ตัวมันเองจริงๆ ขอให้รู้ไว้ แล้วก็มีการศึกษาอย่างนี้ตลอดไป จนตลอดชีวิต จะได้ประกาศตัวเป็นข้าศึก เพื่อจะทำลายนิวรณ์ นี่เรียกว่า “อนุสัย” ที่เก็บไว้ อัดไว้ อยู่ในสันดานน่ะ มันส่งขุยเป็นควันกรุ่นขึ้นมาเป็นนิวรณ์
ทีนี้ในกรณีอื่น ที่มันมีกิเลสเกิดโดยตรง ก็หมายความว่ามันมีเหตุมากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจอีกแหละ มันก็มีผัสสะโง่ แล้วก็เกิด เวทนา ตัณหา อุปาทาน อย่างที่พูดมาแล้วเมื่อวานน่ะ ถ้าอย่างนี้มันจะออกมาเป็นรูปกิเลสออกมาเป็นรูปกิเลส เต็มตัว เต็มตัว ไม่ใช่ ไม่ใช่เพียงนิวรณ์ มันจะเป็นกิเลสที่สมบูรณ์เต็มตัว เรียกว่า โลภะ โทสะ โมหะ ต่อไปตามเดิม กิเลสที่ไหลออกอย่างนี้ เราเรียกชื่อกันว่า “อาสวะ อาสวะ” ถ้ามีอนุสัย มันก็ต้องมีอาสวะ ถ้าหมดอาสวะ ก็ต้องหมายความว่าหมดอนุสัย
ก็มีวิธีปฏิบัติที่เรียกว่า “กรรมฐาน” หรือ “วิปัสสนา” โดยเฉพาะ ครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการน่ะ มันก็จะละลายอนุสัย คือบรรเทาอนุสัยในสันดานให้ลดลง ลดลง เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยแท้จริงครั้งหนึ่ง ความโลภ ความโกรธ ความหลง โลภะ โทสะ โมหะ นี่ก็ลดลง ลดลง ลดลง ตามสมควรแก่การเห็นมากน้อยเท่าไร หรืออีกทางหนึ่ง ถ้าต่อนี้ไป เราบังคับกิเลสได้ เช่นกิเลสสำหรับจะให้ สำหรับโลภ กิเลสโลภเกิดขึ้น จะเกิดขึ้น เราบังคับไว้ ไม่ให้เกิดขึ้น สิ่งที่มาจะทำให้เกิดความโลภมากระทบแล้ว เราบังคับไว้ได้ ไม่ให้ความโลภเกิดขึ้น สิ่งที่มันยั่วให้โกรธมา เราไม่โกรธได้ ไม่ให้ความโกรธเกิดขึ้น สิ่งที่ให้โง่ ให้สะเพร่า ให้หลงใหลมา เราก็ไม่โง่ ไม่สะเพร่า ไม่หลงใหล อย่างนี้ มันจะเป็นการบรรเทานิวรณ์ด้วยเหมือนกัน ความเคยชินที่จะโลภ มันจะลดลง ลดลง หน่วยหนึ่ง หน่วยหนึ่ง ทุกคราวที่เราบังคับความโลภได้ ความเคยชินที่จะโกรธ หรือโทสะนี่ ลดลง ลดลง หน่วยหนึ่ง หน่วยหนึ่ง ทุกทุกคราวที่เราบังคับโทสะที่จะเกิดได้ ที่จะโง่ จะสะเพร่า เป็นโมหะ มันก็ลดลงหน่วยหนึ่ง หน่วยหนึ่ง ทุกคราวที่เราบังคับไว้ได้ ไม่ให้โง่ ไม่ให้สะเพร่า ไม่ให้หลงใหล
การมีสติในประจำวัน ทั่วๆไปไม่ให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง มันจะลดความเคยชินที่เรียกว่า “อนุสัย” ลงไปด้วย ลงไปด้วย น่ะมันดีอย่างนั้น ดังนั้นการบวชนี่ มันเป็นโอกาสมากกว่าที่ไม่บวช ที่จะศึกษาเรื่องนี้ ที่จะต่อสู้กับเรื่องนี้ ทำให้ดีให้มันได้ผลเป็นที่พอใจ ให้มันมั่นคง ชัดเจน แจ่มแจ้ง แล้วมันก็จะเป็นประโยชน์ ไปจนตลอดชีวิต นี่ฟังให้ดีๆว่า อนุสัย ความเคยชินแห่งกิเลส เก็บไว้ข้างใน ออกมาเป็นนิวรณ์ได้เอง ถ้ามีเหตุปัจจัยมาเกี่ยวข้อง มันก็มีกิเลสสมบูรณ์ขึ้นมาอีก ถ้าลดนิสัยได้ ลดนิสัยได้ มันก็จะไม่มีสิ่งที่ว่าเหล่านั้น คือพวกนิวรณ์ก็ลดลง พวกกิเลสก็เกิดยาก ฉะนั้นเราจึงเป็นบุคคลชนิดใหม่ หมายความว่า ก่อนนี้มันโกรธ มันโลภง่าย โกรธง่าย หลงง่าย เดี๋ยวนี้มันโกรธยาก โลภยาก โกรธยาก หลงยาก ไอ้สิ่งทั้ง ๓ นี้มันเป็นความร้อน หรือเหมือนกับไฟ ถ้ามันลดลงไปได้เท่าไร มันก็เย็นเท่านั้น ชีวิตนี้มันก็เย็น ชีวิตนี้มันก็เย็น
ขอให้เรารู้จักให้ร้อน แล้วก็กำจัดต้นเหตุนั้นเสีย มันก็เย็น เป็นชีวิตเย็น ตามความหมายแห่งนิพพาน ซึ่งแปลว่าเย็น แต่ยังไม่ถึงนิพพานสูงสุด เต็มที่ สมบูรณ์ หรอก มันเป็นนิพพานเริ่มต้น นิพพานในระยะแรก นิพพานในปัจจุบัน พลางๆ นิพพานชิมลอง พลางๆ ก็ยังดีว่าขอให้มีเถิด มันจะเป็นปัจจัยแก่พระนิพพานโดยสมบูรณ์ ในเวลาต่อไป เป็นมนุษย์เย็น ธรรมดาเป็นมนุษย์ร้อน ร้อนก็โง่ พอโง่แล้วก็ทำให้เกิดความร้อนได้ทุกอย่าง ได้หลายหลายอย่าง ถ้าว่ามันมีความรู้ ไม่โง่ มันก็ควบคุมไอ้สิ่งเหล่านี้ได้ แล้วมันก็ไม่ร้อน หรือไม่ร้อนมาก ไม่ร้อนจนเดือดร้อน เป็นผู้ชาย ก็เรียกว่า “นิพพุตโต” เย็นแล้ว เป็นผู้หญิง เรียกว่า “นิพพุตตา” ก็ว่าเย็นแล้ว นิพพุโตก็ได้ นิพพุตตาก็ได้ เป็นคนที่เย็นแล้ว มีชีวิตเยือกเย็น
ตามธรรมดาสามัญน่ะ มันร้อนน่ะ อะไรนิด อะไรนิดหนึ่งก็โกรธ ไอ้อะไรนิดหนึ่งก็โลภ หรือรัก อะไรนิด อะไรนิดหนึ่งก็สะเพร่า หรือโง่ นั่นน่ะมันร้อน มันร้อนไปหมด ลองนึกดู ว่าเราเคยเป็นไหม หรือว่าเราสังเกตดู คนรู้จักเราบางคน มันเป็นอย่างนั้นไหม มันร้อนสียตลอดเวลา เหมือนกับคนบ้า บ้าอย่างนี้ ยิ่งกว่าบ้าไอ้อาระวาดเสียอีกนะ คือมันร้อนรุมอยุ่ทั้งวันทั้งคืน ทั้งหลับทั้งตื่น ไอ้บ้าร้อน ไอ้บ้าอาละวาดนั้นน่ะ มันก็เป็นคราวคราว หรือว่าไม่เท่าไรมันก็หาย แต่ถ้าบ้าชนิดที่มีกิเลสสุมอยุ่เรื่อย มันเป็นบ้าตลอดเวลา ไม่เย็น เพราะฉะนั้นจึงทำการควบคุมกิเลสน่ะ มีอะไรมาให้โลภ ก็อย่าโลภ แล้วก็ลดนิสัยแห่งความโลภ อะไรมาให้รักก็อย่ารัก แล้วก็ลดนิสัยแห่งความรัก ให้หลง ให้สะเพร่า ก็ไม่โง่ ไม่หลง ไม่สะเพร่า มันก็ลดนิสัยแห่งความโง่ หรือโมหะ
เรื่องนี้ บางคนอาจจะเห็นว่าไม่สำคัญอะไร ไม่เห็นได้เงิน ได้ทองอะไร นั่นน่ะความโง่มันอยู่ที่ว่า ที่เราหาเงินหาทองมา ก็เพื่อจะหาความสงบสุข เดี๋ยวนี้ได้ความสงบสุขโดยแท้จริง มันไม่เอา เพราะมันไปหลงผิด ไอ้ความสงบสุขนี่ ไม่ได้หมายถึงความสงบสุขที่แท้จริง หมายถึงการได้อย่างกิเลสได้ คือได้อันเดียว อร่อยทางตา หู จมุก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นเหยื่อของกิเลส แล้วมันก็คิดว่านั่นคือความสุข เหมือนที่คนโดยมากเดี๋ยวนี้ นักศึกษา นักเรียน คนหนุ่มทั้งหลายนี้ ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เพื่อจะได้ตำแหน่งงานที่ดี ได้มีเงินมาก แล้วก็ไปซื้อหาสิ่งสนุกสนานเอร็ดอร่อยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็ว่านั่นน่ะดีที่สุดแล้ว ได้สิ่งที่ดีที่สุดแล้ว ได้อย่างคนโง่ที่สุด คือได้อย่างกงจักรมาเป็นดอกบัว เป็นคนโง่ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ไอ้สิ่งที่เอามารุมให้ร้อนน่ะ กลับเห็นเป็นความสงบสุข แล้วมันไม่รู้สึก ความจริงของสิ่งที่มันรุนให้ร้อน เช่น เด็กหญิงโง่คนหนึ่ง เห็นว่าความรักเป็นของสุข ก็บูชาไอ้ความรัก จนเป็นบ้าตลอดเวลา จนมันตายไปในที่สุด จนเป็นความคลั่ง มันเป็นบ้าตลอดเวลา ก็จะฆ่าตัวตาย เพราะว่ามันบูชาผิด มันเห็นกงจักเป็นดอกบัว
ถ้ามันเห็นว่าไอ้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความกลัว อะไรนี่ เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ไม่เอา ต้องการจะอยู่อย่างปรกติธรรมดาสามัญที่สุด คือเย็นนั่นน่ะ แล้วมันก็ไม่ต้องเป็นอย่างนั้น นี่เราเรียกว่าคนมันลืมหูลืมตาแล้ว มันจะเข้าแห่งกระแสธรรมของพระนิพพานแล้ว เป็นพระโสดาบันแล้ว เริ่มเป็น อริยะบุคคลแล้ว อย่างนี้
แต่ถ้ามันหลับตา หลับอะไรมากมาย หลงใหลบูชาความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความวิตกกังวล ความอาลัยอาวรณ์ ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตนรัก อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หึงหวง เป็นต้น นี่มันเป็นหลับตา เป็นปุถุชนมากเกินไป มันก็จะเป็นโรคประสาท เพราะเหตุนั้น หรือมันจะเป็นโรคจิต เป็นบ้า เพราะเหตุนั้น หรือมันจะต้องฆ่าตัวเองตาย เพราะเหตุนั้น นี่ธรรมดาของปุถชน โดยสมบูรณ์ แต่ถ้ามันรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นอย่างนี้ คือฝ่ายโง่ ฝ่ายหลง ฝ่ายทนทุกข์ทรมาน ฝ่ายวัฎสงสาร ก็เกลียด ก็เบื่อหน่าย ระอา ก็หันมาฝ่ายตรงข้าม คือฝ่ายพระนิพพาน แล้วมันทำให้เย็น มีความเย็น ตามความหมายของนิพพาน มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น คือว่าควบคุมกิเลสมากขึ้น ๆๆ มันก็มีความเย็นมากขึ้น ๆๆ การประพฤติทางกาย ทางวาจา ทางใจ มันก็ไม่ร้อน
นี่เรียกว่าเราเปลี่ยน เปลี่ยนชีวิตจิตใจใหม่ มาเป็นชีวิตที่จะอยู่ด้วยความไม่ร้อน และไม่ร้อนยิ่งๆ ขึ้นไป จนเย็นสนิท จนเป็นระดับสูงสุด คือหมดกิเลส เป็นพระอรหันต์ บรรลุนิพพาน แม้ว่ายังจะทำไม่ได้เดี๋ยวนี้ ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องสนใจ เพราะมันเป็นความประเสริฐที่สุดในความเป็นมนุษย์ แล้วปลายทางมันมีอยู่ที่นั่น ปลายทางมันมีอยุ่ที่นั่น ถ้ายังไม่ไปที่นั่น เรื่องมันยังไม่จบ เรื่องมันยังไม่จบ มันเวียนว่ายไปไม่รู้จักจบ ถ้ามันไปที่นั่น มันจะจบลงด้วยความเย็นสนิท เย็นสนิท แล้วที่ว่ามันจะต้องดับ มันก็ดับไป ตามธรรมชาติ ตามธรรมดา ร่างกาย ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ก็ดับไปตามธรรมดา จิตนี่มันก็หลุดพ้นแล้วจากความทุกข์ทั้งปวง หลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง ถ้าเดินมาฝ่ายนี้ ก็เรียกว่า ฝ่ายโพธิ หรือฝ่ายนิพพาน ถ้าไปฝ่ายโน้น มันก็เรียกว่า ฝ่ายกิเลส หรือฝ่ายวัฎสงสาร เดี๋ยวนี้มันมีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจเรา โดยมาก มันก็เป็นกิเลส หรือวัฎสงสาร ที่มันเกิดขึ้นในจิตใจ เดี๋ยวเกิด เดี๋ยวเกิด เดี๋ยวเกิด เวียนว่ายอยู่ในกิเลส ในผลของกิเลส ในความทนทุกข์ทรมานทางจิตใจ เสียเปรียบอยู่ตลอดเวลา เพราะมันโง่ มันไปบูชาเหยื่อล่อของกิเลส คือความสวยสดงดงาม สนุกสนาน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไปบูชาสิ่งนั้น
เพราะฉะนั้น ขอให้มีสติตั้งไว้ให้เพียงพอ เมื่อไรสิ่งสนุกสนาน งดงาม เอร็ออร่อย ทางหู ทางตา ทางจมูก ทางกาย ทางใจเกิดขึ้น จงรู้จักมันให้ดีๆๆ นี่มันอย่างนั้น นี่มันเรื่องอย่างนั้น กูไม่เอากับมึง อะไรควรทำ อย่างถูกต้อง ก็ทำไป แต่ไม่เอากับสิ่งเหล่านั้น ที่จะเกิดกิเลส เกิดความทุกข์ขึ้นมา เผาลน มันก็ทำยาก ขั้นต้นจะรู้สึกว่าทำยาก แต่เมื่อทำไป ทำไป จนเกิดความคุ้นเคย มันก็ไม่ยาก มันก็ค่อยๆ ง่ายขึ้น ง่ายขึ้น เพราะเราก็รู้มากขึ้น เราก็ชำนาญมากขึ้น เราได้ปฏิบัติธรรมะนี่ ง่ายขึ้น ชำนาญขึ้น ความยากมันก็ลดลงไป เหมือนกับเราจะหัดขี่รถจักรยานน่ะ พอจับขี่แล้ว มันก็ล้ม เราก็รู้สึกว่ายาก แทบว่าจะไม่สามารถทำได้ แต่เมื่อล้มหลายๆ หนเข้า ล้มหลายๆ หนเข้า การล้มน่ะมันสอนให้เอง มันสอนให้รู้จักทำความสมดุล ไม่ล้มได้ทีละนิด ทีละนิด โดยไม่รู้สึกตัว มันไม่ค่อยล้ม แล้วมันก็ไม่ล้มไปเปะปะ เปะปะ แล้วมันก็ดีขึ้น ดีขึ้น จนเรียบ มันมีความยากเป็นลำดับ ๆ ว่าแต่อย่างนั้น ในการปฏิบัติธรรมะ เพื่อจะละกิเลส ละนิสัย สันดานเดิมของปุถุชน เข้ามาสู่ขอบเขตของพระอริยะเจ้า
เกิดมาเป็นคนนี่ ธรรมดามันก็เกิดมาเป็นปุถุชน ไม่รู้อะไร พอเผชิญแต่ความทุกข์ เผชิญกับความทุกข์เรื่อยไป เรื่อยไป ความทุกข์มันสอนให้ ทุกทีที่เป็นทุกข์ ถ้าเป็นคนปรกตินะ มันก็จะฉลาดขึ้นทุกทีที่เป็นทุกข์ มีคามทุกข์ในเรื่องอะไร ก็จะฉลาดในเรื่องนั้น จนไม่เป็นทุกข์อีก เรื่องอื่นมา เผลอไปเป็นทุกข์ ก็ฉลาดในเรื่องนั้น จนไม่เป็นทุกข์อีก ไอ้ความทุกข์ทุกทุกชนิด มันก็ค่อยๆ หมดไป เพราะรู้ว่าเป็นอย่างไร ละมันอย่างไร นี่ชีวิตของปุถุชน ก็คือคนที่กำลังศึกษาด้วยลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ เป็นเดิมพัน ให้ประสบกันกับความทุกข์ แล้วก็ค่อยๆ รู้ความดับทุกข์ยิ่งๆ ขึ้นไป จนในที่สุดเอาชนะได้ ก็เข้ามาสู่ความเป็นอริยะ ความเป็นปุถุชนลดลงไป เข้ามาสู่ความเป็นอริยะชน มากขึ้น มากขึ้น จนถึงที่สุด คือเป็นพระอรหันต์ เรื่องมันก็จบกัน ไม่ต้อง ๆม่ต้องทำหน้าที่อย่างนี้อีก ปัญหามันหมดแล้ว ความทุกข์ มันหมดแล้ว ก็เรียกว่า คนจบ จิตจบ หน้าที่จบ พรมจรรย์จบ จบสิ่งที่จะต้องเล่าเรียนศึกษาเล่าเรียนฝึกฝนแล้ว ก็อยู่ด้วยความผาสุก เป็นตัวอย่างที่ดี ให้คนในโลกเขาได้ถือเอาเป็นตัวอย่าง นี่ประโยชน์ส่วนตนก็ได้รับ ประโยชน์เพื่อผู้อื่นก็ได้ทำให้เกิดมีขึ้นมา แล้วจะเรียกว่าอะไร จะไม่ให้เรียกว่า คนที่ประเสริฐที่สุด แล้วจะให้เรียกว่าอะไร
นี่คนที่เกิดมาไม่เสียชาติเกิด ได้รับสิ่งที่ประเสริฐที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้รับ นี่ขอให้เรายึดถือไว้เป็นหลักประจำใจไว้ให้ดีๆ อย่าคิดว่าเราเกิดมาเพียงเท่านี้ เราโง่ เราฉลาดน้อยนี้ เราทำไม่ได้ เราไม่เอาใจใส่ ถ้าอย่างนั้นมันก็ยิ่งโง่เข้าไป หนักเข้าไป โง่มากขึ้นไป แล้วก็ไปทนทุกข์มาก ยิ่งกว่าเก่า แล้วในที่สุด มันโง่จนถึงขนาดฆ่าตัวตาย ไม่ต้องสงสัย นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมะ ธรรมะ” คือความถูกต้อง การทำหน้าที่ที่ถูกต้อง เรียกว่า “ธรรมะ” ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของเรา ซึ่งมีลักษณะอย่างนี้ แล้วก็ถูกต้องทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ ถูกต้องตั้งแต่เป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น เป็นหนุ่มสาว เป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้เฒ่า ถูกต้องทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ แม้กระทั่งเพื่อประโยชน์ตนเองก็ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ผู้อื่น คือสังคม ก็ถูกต้อง มันถูกต้องหมดอย่างนี้
จำบทนิยามนี้ไว้ให้ดีๆ มันช่วยได้มากว่า ธรรมะคือการปฏิบัติหน้าที่ ที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของตน ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ ทั้งเพื่อตนเอง และเพื่อผู้อื่น มันยาวอยู่น่ะ คนอวดดีจำไม่ได้ ลองว่าสิ (ธรรมจาริณีว่าตามท่านพุทธทาสว่า ธรรมะ คือการปฏิบัติหน้าที่ ที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นตอนแห่งพัฒนาการ ทั้งเพื่อประโยชน์ตน แหละประโยชน์ผู้อื่น) ถ้าว่าทีเดียวจำได้ ก็นับว่าเก่ง เป็นคนที่มีความจำดีมาก สังเกตดีมาก นั่นล่ะคือธรรมะ ธรรมะ นี่ไม่ใช่สำหรับเรียนหรือสำหรับจด แต่ก็เรียนหรือจด ไว้ช่วย สำหรับการปฏิบัติ ตัวธรรมะจริงๆ คือการปฏิบัติหน้าที่ จึงใช้คำว่า “หน้าที่ที่ถูกต้อง” “การทำหน้าที่ที่ถูกต้อง” เพราะเรารู้น่ะ แล้วก็มีการทำหน้าที่ที่ถูกต้อง ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของเรา ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ ทั้งเพื่อประโยชน์ตนเอง แหละประโยชน์ผู้อื่น
อันนี้เป็นความหมายครอบหมด มหาศาลเลย ไม่ยกเว้นอะไร ทำได้อย่างนี้ คือเป็นธรรมะถึงที่สุด นี่ขอให้สนใจ ธรรมะ ธรรมะ นี้ มันหมายถึงทุกอย่าง ทุกอย่าง แต่ว่าอย่างที่สำคัญที่สุดนั้น คืออย่างนี้ ธรรมะ ชนิด หรือประเภท หรืออย่าง ที่สำคัญที่สุดก็คือ การปฏิบัติหน้า ที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของตน ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ ทั้งประโยชน์ตน แหละประโยชน์ผู้อื่น นี่คือธรรมะ ธรรมะ
ถ้าได้ทำอย่างนี้แล้วก็คุ้มค่า ไอ้การเสียสละ บวช บวชกี่วัน กี่อะไรนี่ ถ้ามันได้เข้าถึงข้อนี้ ได้รู้ข้อนี้ ได้ปฏิบัติข้อนี้ แล้วมันก็คุ้มค่า เกินค่า ได้ผลเกินค่า ถ้ามิฉะนั้น มันก็จะไม่ได้ผลอะไร หรือว่าขาดทุน เสียเวลาเปล่าๆ ก็เป็นได้ เพราะมันไม่รู้ เพราะมันไม่ถูกต้อง เพราะมันไม่ลืมหูลืมตาว่าอะไรเป็นอะไร
นี่ต้องฟังให้ดีดี ฟังให้เข้าใจ ว่าครูบาอาจารย์เขาอบรมสั่งสอนอย่างไร ฟังให้เข้าใจ ฟังให้ถูกต้อง จนกระทั่งให้เกิดการทำหน้าที่ที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของตน ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ ทั้งเพื่อประโยชน์ตนเอง แหละเพื่อประโยชน์ผู้อื่น มันก็จะเป็น คำที่ยาวรวมเข้าด้วยกันแล้ว เป็นคำนิยาม ความหมายของคำว่า “ธรรมะ” เพราะฉะนั้นจึงหวังว่า ที่บวชทุกคนนี้ คงจะได้รู้จักคำนี้ และเข้าถึงคำนี้ ตามมาก ตามน้อย ตามสติปัญญา ความสามารถของตน ของตน
ทีนี้ก็จะแสดงความจำเป็นที่จะต้องมีธรรมะ ธรรมะ พอพูดมาถึงตอนนี้แล้ว ทุกคนคงจะเข้าใจได้เองแล้ว ธรรมะคือหน้าที่ ธรรมะคือหน้าที่ ธรรมะคือหน้าที่ ไม่ใช่อักษรเขียนไว้ในกระดาษ ไม่ใช่เขียน หรือแหล่งอยู่บนธรรมมาสน์ หรือไม่ใช่สมุด หนังสือ หนังหา อะไร แต่ว่าธรรมะนั้นคือหน้าที่ เมื่อได้ปฏบัติหน้าที่ เมื่อนั้นคือธรรมะ ที่เป็นครูก็ดี ที่เป็นนักเรียนก็ดี ทั้งหมดนี้ อาจจะได้ยินได้ฟังมาแต่เพียงว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ผู้ที่เป็นครูก็มักจะสอนลูกศิษย์เพียงเท่านั้น ว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่เป็นลูกศิษย์ ก็ได้ยินแต่เพียงว่า ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วไม่ได้บอกว่าสอนอย่างไรสักที ก็เลยเหลวหมด ไม่ได้รับประโยชน์อะไร ทีนี้บอกให้รู้เสียหน่อย “ธรรมะ ธรรมะ” คำนี้ มันเกิดก่อนพระพุทธเจ้า มีอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด หมายความว่าก่อนพระพุทธเจ้าองค์นี้เกิด เขาก็มีธรรมะ ธรรมะ พูดอยู่แล้วในประเทศที่พระพุทธเจ้าเกิดนั่นแหละ
ทีนี้พอพระพุทธเจ้าเกิด ก็ตรัสรู้หน้าที่สูงสุด สูงกว่าหน้าที่ที่เขาพูดกันอยู่แต่ก่อน เขาพูดกันอยู่แต่ก่อนหน้าที่การทำมาหากิน ถูกต้องในทางสุขภาพอนามัย การคบหาสมาคมอะไร เป็นต้น หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องปฏิบัตินั้น คือธรรมะ ทีนี้ไม่พอ มันยังมีความทุกข์ในใจ ก็มีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์บางคน สอนหน้าที่ให้มันสูงขึ้นไป ถึงเรื่องทางจิตใจ แต่แล้วก็ปรากฏว่ายังไม่พอ จนพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ท่านได้ตรัสรู้ และได้ค้นพบเรื่องที่สูงขึ้นไป สำหรับดับทุกข์ทางด้านจิตใจ นี่อย่างคำว่า เคยเรียนพุทธประวัติมาแล้ว ทุกคนเหล่านี้ เคยเรียนพุทธประวัติมาแล้ว ก็จะรู้ว่า ผู้สอนคนสุดท้าย ผู้สอนพระพุทธเจ้าคนสุดท้าย ก็คืออุทกดาบสรามบุตร ก็สอนได้เพียงขั้น เนวะสัญญาณาสัญญาญตนะ ทำจิตใจให้เสมือนหนึ่งว่า ตายแล้วก็ไม่ใช่ เป็นอยู่ก็ไม่ใช่ ไม่มีความทุกข์อะไรเลย ไม่พอ ไม่พอ ท่านไม่เอา ท่านสละสำนักนี้ ไป ไปค้นหาของท่านเอง จนพบว่า ถ้าจะดับทุกข์สิ้นเชิงกันจริงๆ แล้ว ต้องรู้ ความลึกซึ้ง ลึกลับสูงสุดของธรรมชาติ ว่าความทุกข์นี่มันเกิดมาจากจิตยึดถืออะไร ว่าเป็นตัวตน หรือว่าเป็นของตน พิสูจน์ได้ทุกเมื่อ เมื่อใดมีความยึดถือว่าตัวตน ว่าของตน แล้วจะเป็นทุกข์ จะเป็นคนยาจกข็ญใจ เป็นราชา มหากษัตริย์ จักรพรรดิ อะไรก็ตาม เป็นเทวดาในสวรรค์ก็ตาม ถ้ามันมีความยึดมั่นถือมั่นในใจ ว่าตัวตน ว่าของตนแล้ว มันจะต้องเป็นทุกข์
ดังนั้นจะต้องหาวิธีกำจัดความรู้สึกชนิดนี้เสีย ป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นมาได้ ถ้ามันเกิดขึ้นมาได้ แล้วก็ทำลายเสีย ไม่มีความรู้สึกหมายมั่น ยึดมั่นว่าตัวตน ว่าของตน อยู่ในจิตใจ แล้วก็ไม่เป็นทุกข์ เมื่อละความยึดมั่น ถือมั่น ว่าตัวตนเสียได้ จิตใจก็หลุดพ้น หลุดพ้นจากความทุกข์ หรือจากความยึดมั่น ถือมั่นนั่นแหละ แล้วก็ลุถึงไอ้ความว่าง ที่ไม่มีความทุกข์ ที่เรียกว่า “นิพพาน นิพพาน” เดี๋ยวนี้จิตไม่อาจจะลุถึงนิพพาน ก็เพราะว่ามันไปติดเป็นตัวตนบ้าง เป็นของตนบ้าง ก็ได้ศึกษาจนรู้ว่า มันไม่มีอะไร ที่จะเป็นอย่างนั้นได้ คือว่าไปยึดถือว่าตัวตน ว่าของตน แล้วจะไม่เป็นทุกข์นั้นไม่มี ไปยึดถือแล้ว จะเป็นทุกข์ทั้งนั้น
ดังนั้นเรา จึงศึกษาเป็นพิเศษ เรื่อง ความไม่ยึดมั่น ถือมั่น เพื่อให้เห็นว่าทุกสิ่ง ทุกอย่าง ทุก ประการ มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตามความหมายของคำนั้นนั้น ซึ่งไปหาศึกษาเอาเอง มันมีรายละเอียด ลึกซึ้งมาก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนิจจัง คือเปลี่ยนเรื่อย ไหลเรื่อย ทุกขัง คือ ทรมานแก่บุคคลผู้เข้าไปยึดถือเอา หรือว่ามันจะทรมานใจแก่บุคคล แม้เพียงแต่ว่ามองเห็นความจริงข้อนี้ ก็รู้สึกเกลียด รู้สึกเป็นทุกข์แล้ว หรือว่ามันเป็นอนัตตา คือเอาอะไรมาเป็นตัวตนไม่ได้ ไปเอาอะไรเป็นตัวตนเข้าที่ไหน สิ่งนั้นมันจะกัดเอาอย่างเจ็บปวด ก็เลยไม่ยึดถืออะไรด้วยประการทั้งปวง ว่างจากความยึดถือ ว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ แล้วมันก็เป็นนิพพาน
ถ้าให้ดีที่สุด ก็ศึกษาเรื่องนี้ ศึกษาเรื่องนี้ แล้วลองพยายามทำจิต ไม่ให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนดูสิ จะได้จิตใหม่ ที่สว่างไสว โล่ง โถง เป็นอิสระ ไม่มีความทุกข์เลย ระหว่างที่บวชนี่ มีโอกาสฝึกได้ถึงอย่างนี้ แล้วก็ฝึกไว้ให้พอรู้เรื่อง รู้ไว้สำหรับฝึกต่อไป แม้ว่าจะลาสิกขา ออกไปเป็นฆราวาสตามเดิม มันก็ยังมีทางทำได้ตามสมควร ตามสมควรแก่ฐานะของตน หน้าที่การงานของตน การเป็นอยู่ของตน วันหนึ่งคืนหนึ่ง ก็มันมีเวลาที่จะสงบจิตสงบใจ ไม่มากก็น้อย ฉะนั้นขอให้ทุกคน รู้ว่าธรรมะนั้น คือหน้าที่ ที่จะดับความทุกข์โดยสิ้นเชิง แหละที่ต่ำลงมาอย่างนี้ คือว่าเพื่อให้รอดชีวิต
สรุปความใหม่สั้นๆ อีกทีว่า ธรรมะนี้เพื่อความรอด ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่นั้นเพื่อความรอด รอดชีวิต แหละรอดจากความทุกข์ สิ่งที่เรียกว่า “ธรรมะ” นั่นคือหน้าที่ หน้าที่นั้นเพื่อความรอด ความรอดนั้น มีทั้งที่รอดตาย แหละรอดจากความทุกข์ รอดตาย แต่ถ้าเป็นทุกข์ทรมานอยู่ ตายเสียดีกว่า แล้วมันก็ไม่ต้องทุกข์ รอดตาย มีอาหารการกินดี มีร่างกาย สุขภาพอนามัยดี มีการคบหาสมาคมดี นี่ก็รอดตาย อยู่เป็นผาสุกทางร่างกาย ทางโลก ทางวัตถุ แต่จิตใจนี่ถูกรบกวนอยู่ด้วย โลภะ โทสะ โมหะ ต้องทำลายไอ้สิ่งรบกวนนั้นอีกทีนึง ให้มันรอดจากกิเลส รอดจากการเบียดเบียนของกิเลสอีกทีหนึ่ง นี่รอดจากความทุกข์ แล้วต้องรอดชีวิตด้วย แล้วรอดจากความทุกข์ด้วย มันเป็น ๒ ชั้นอยู่ ดูให้ดีๆ
ที่บูชาเงินกันนักนั้นน่ะ ไอ้เงินนั้นมันช่วยได้แต่เพียงรอดตายเท่านั้นน่ะ มันไม่รอดจากความทุกข์ได้หรอก เพราะฉะนั้นอย่าไปหลงบูชาเงินกันนัก ก็แสวงหาตามสมควร มีไว้ตามสมควร ตามพอดี พอดี เรื่องเงิน แล้วก็สนใจเรื่องดับกิเลส ดับกิเลส แล้วก็จะไม่มีความทุกข์ ให้มีเงินเป็น เป็นอะไร มหา มหาเศรษฐี กี่ร้อยเท่า กี่พันเท่า ถ้ายังมีความทุกข์แล้ว แล้วมันดียังไง มันจะดีอะไร แล้วมหาเศรษฐี มันก็มีการฆ่าตัวตายอยู่บ่อยๆเหมือนกัน เป็นเทวดาในสวรรค์ ถ้ามันมีความทุกข์ แล้วมันจะดีอะไร ถ้าพูดกันตามที่รู้ๆ กันอยู่ เทวดานั้นมันก็ยึดมั่นถือมั่น เป็นทุกข์ แล้วมันก็หนักกบาลอยู่ด้วยความทุกข์ ต้องไม่มีความยึดมั่นถือมั่นอะไร เอ้อ, ที่เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์
นี่หน้าที่ที่จะต้องทำให้แจ่มแจ้ง ให้ปรากฎ รอดทั้ง ๒ อย่างแล้วมันก็ดี รอดชีวิต แหละรอดความทุกข์ เรียกว่า “หน้าที่” หน้าที่ หน้าที่ นี่จำเป็นสำหรับสิ่งที่มีชีวิต เรานี้ก็เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งน่ะ สัตว์เดรัจฉาน ก็เป็นสิ่งที่มีชีวิตชนิดหนึ่ง ต้นไม้ต้นไร่เหล่านี้มันก็เป็นสิ่งที่มีชีวิตชนิดหนึ่ง บรรดาสิ่งที่มีชีวิตทุกชนิด ต้องทำหน้าที่ มิฉะนั้นจะต้องตาย จึงต้องทำหน้าที่ชั้นต้นที่สุดก่อน คือรอดชีวิต ต้นไม้มันรอดชีวิต เขียวสดอยู่สล้างไปนี่ เพราะมันทำหน้าที่ถูกต้อง ดูดน้ำ ดูดอาหาร ปรุงอาหารด้วยแสงแดด เลี้ยงลำต้น ขยายลำต้น ขยายใบ ดอก ลูก มันก็รอดชีวิต เพราะมันทำหน้าที่ถูกต้อง ถ้ามันไม่ทำหน้าที่ หรือไม่อาจจะทำหน้าที่ มันก็ตายเท่านั้นเอง นี่สัตว์เดรัจฉานก็เหมือนกัน ต้องทำหน้าที่ให้ถูกต้อง อาหารการกิน การเป็นการอยู่ แล้วก็รอดตาย แต่เดี๋ยวนี้เราเป็นมนุษย์นะ มันยิ่งกว่าต้นไม้มาก มันดีกว่าต้นไม้ มันสูงกว่าต้นไม้ มันดีกว่าสัตว์เดรัจฉาน มันสูงกว่าสัตว์เดรัจฉาน หน้าที่มันจึงสูงขึ้นไป เพราะว่าเรามีจิตใจสูงกว่า รู้จักความทุกข์ มีกิเลสแหละความทุกข์มากกว่า ถึงต้องทำหน้าที่สูงขึ้นไป ถ้าไม่ทำหน้าที่ส่วนนี้ มันก็เหมือนกับสัตว์เดรัจฉาน มันเหมือนกับต้นไม้ มันไม่มีประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้นจะต้องสนใจว่า จะระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กันอย่างไร จะไม่เกิดกิเลส และจะไม่เกิดนิวรณ์ จะไม่เกิดอนุสัยและไม่เกิดนิวรณ์ จะไม่เกิดกิเลส ที่จะไปสะสมไว้เป็นอนุสัย และจะไม่เป็นนิวรณ์ และจะไม่เกิดความทุกข์อีก นั่นเรื่องก็มีเท่านี้
เพราะฉะนั้นขอให้ทุกคน ทำหน้าที่ของตน ของตน ให้ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของตน อยู่ทุกเวลานาที ยกตัวอย่างเลยว่า ตื่นนอนเช้าขึ้นมาจะต้องทำหน้าที่อะไร ทำหน้าที่เก็บที่นอนกันก่อน ก็เก็บอย่างดี อย่างถูกต้อง อย่างเป็นธรรมะ คือทำด้วยสติสัมปชัญญะ เก็บที่นอนอย่างมีสติ อย่างมีสติสัมปชัญญะ แล้วก็ไปล้างหน้า อย่างมีสติสัมปชัญญะ จะหยิบขันมา ก็มีสติสัมปชัญญะ จะล้างหน้า จะถูหน้า จะทำอะไร ทุกตอน ทุกขั้นตอน ทำด้วยสติสัมปชัญญะ แล้วเรียกว่า “ธรรมะ” ไปหมด เลยปฏิบัติธรรมะตลอดเวลาที่ล้างหน้า ทีนี้จะไปไหน จะไปห้องส้วม ไปถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ ก็ทุกขั้นตอนที่ย่างเข้าไป ก็ทำไปด้วยสติสัมปชัญญะ เรียกว่า มีธรรมะตลอดเวลา ก็เลยมีความพอใจว่า ได้ปฏิบัติธรรมะอยู่ตลอดเวลา ทีนี้จะไปไหน จะมาอาบน้ำ ทุกๆ ขั้นตอน มีความถูกต้อง ปลอดภัย ตลอดเวลา จะไปรับประทานอาหาร ถูกต้องอยู่ทุกขั้นตอน นับตั้งแต่หยิบจานมา ตักข้าวใส่ปาก เคี้ยวอยู่ ทุกขั้นตอน ถูกต้องด้วยสติสัมปชัญญะ มีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา
เดี๋ยวนี้คนธรรมดาไม่ได้ทำอย่างนี้ มันทำไปน่ะ มันทำเหมือนสัตว์เดรัจฉานทำกินก็กิน นั่งแล้วก็นอน มันไม่ได้มีสติสัมปชัญญะอย่างมนุษย์ ที่ถูกต้องและสมบูรณ์ เดี๋ยวนี้มันจะมีสติสัมปชัญญะในทุกการกระทำ จะล้างจานก็ล้างด้วยสติสัมปชัญญะ มันจะเป็นการปฏิบัติธรรมะ แหละพอใจ แหละมีความสุขมีสติสัมปชัญญะอยู่เมื่อล้างจาน เมื่อกวาดบ้าน เมื่อถูเรือน เมื่อล้างส้วมก็ได้ มีสติสัมปชัญญะทำ แล้วก็เป็นธรรมะ แล้วก็พอใจ
ที่นี้สรุปความว่าพอใจแล้วก็เป็นสุข พอใจแล้วต้องเป็นความสุข ความพอใจให้เกิดความสุข ความสุขเกิดมาจากความพอใจ ถ้าความพอใจมันผิด เป็นความพอใจของคนอันธพาลก็พอใจ มันก็มีความสุขอย่างอันธพาล มีความสุชอย่างผิดๆ ถ้ามันพอใจอย่างถูกต้องของสัตวบุรุษ มันจะมีความสุขอย่างถูกต้องของสัตบุรุษ พอใจน้อย มีสุขน้อย พอใจมาก มีสุขมาก พอใจต่ำ มีสุขต่ำ พอใจสูง มีสุขสูง โดยสมควรแก่ความพอใจ
ทำความพอใจให้เกิดขึ้น เรียกว่า “พอใจ” แก่ตนเอง อันนี้ก็เป็น หลักจริยธรรมธรรมสากลทั่วไป จริยธรรมสากลทั่วไป เพราะมีคำว่า “พอใจตนเอง” สอนให้ทำจนมีความพอใจได้ในตนเอง ไม่เกลียดตัวเอง คนบางคนเขาดูตัวเองแล้ว มันเกลียดตัวเอง อิดหนาระอาใจ ต่อตัวเอง เพราะมันมีความที่ไม่น่าพอใจ ถ้าพอใจแล้ว มันก็ยินดีตัวเอง เคารพตัวเอง นับถือตัวเอง มันก็มี ความสุขที่แท้จริง ยกมือไหว้ตัวเองได้ นึกถึงตัวเองทีไร ก็ยกมือไหว้ตัวเองได้ ทีนี้ ไม่ว่าที่ไหน ไม่ว่าเมื่อไร มองดูตัวเองแล้ว รู้สึกพอใจ ยกมือไหว้ตัวเองได้ นี่คือสวรรค์ที่แท้จริง
สวรรค์ต่อตายแล้วน่ะไม่ต้องพูดถึงหรอก ไม่ต้องยกเลิกหรอก แต่ไม่ต้องพูดถึง เพราะมันขึ้นอยู่กับสวรรค์นี้ สวรรค์ที่ยกมือไหว้ตัวเองได้ สรรค์ที่นี่ ยกมือไหว้ตัวเองได้ สวรรค์ทั้งหลาย ถ้ามีมันขึ้นอยู่กับสวรรค์นี้ทั้งหมด ฉะนั้นขอให้ทำจนยกมือไหว้ตัวเองได้เถอะ มันจะได้สวรรค์ทั้งหมด ที่มันจะมีกี่ชนิดก็ตามใจ นรกก็เหมือนกัน ถ้ามันเกลียดน้ำหน้าตัวเองเมื่อไร มันก็เป็นนรกทันที นรกต่อตายแล้ว จะมีกี่ขนิด กี่อะไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับนรกนี้ นรกที่นี่ ที่มันเกลียดน้ำหน้าตัวเอง เพราะมันทำผิด ทำชั่ว ทำเลว จนเกลียดน้ำหน้าตัวเอง เพราะฉะนั้น เรื่องนรก เรื่องสวรรค์นั้นน่ะ ขอให้มองเห็นชัดที่นี่ และเดี๋ยวนี้ อย่างนี้ ก็จะรู้จักนรกจริงๆ รู้จักสวรรค์จริงๆ แล้วก็จะรู้จักนรกจริงๆ ได้ มีสวรรค์แท้จริงได้ ด้วยการกระทำชนิดนี้ คือปฏิบัติหน้าที่ของตน ของตน จนยกมือไหว้ตัวเองได้ พิจารณาดูตัวเองทีไร เมื่อใดแล้ว ไม่มีทางที่จะเกลียดตัวเอง มีแต่ทางที่จะพอใจตัวเองจนยกมือไหว้ได้
นี่ พอค่ำลงจะนอนแล้วนี้ หน้าที่ต่างๆ ทำมาอย่างนี้มาตลอดเวลาแล้ว พอค่ำลงจะนอน ก็คิดบัญชีดูซักทีก็ได้ มันก็พบแต่ความถูกต้องของตนเอง พอใจตนเอง ยกมือไหว้ตัวเองครั้งสุดท้าย แล้วจึงนอน การยกมือไหว้ตัวเองในลักษณะอย่างนี้ นั่นแหละคือไหว้พระพุทธ ไหว้พระธรรม ไหว้พระสงห์ ไหว้บิดา มารดา ครูบาอาจารย์ อะไรทั้งหมดทั้งสิ้น รวมอยู่ในคำว่า “ยกมือไหว้ตัวเองได้” เรื่องมันก็น้อยดีน่ะ ทำจนยกมือไหว้ตัวเองได้ พอค่ำลงก็ปิดบัญชี มีบวกทั้งนั้น ไม่มีลบเลย เกลียดน้ำหน้าตัวเอง ว่าเป็นลบ ไม่มีเลย พอใจตัวเอง เคารพตัวเอง นับถือตัวเองได้ นี่เป็นบวก คงเป็นบวก คือเป็นฝ่ายถูกต้อง เป็นฝ่ายที่นำไปสู่ความหลุดพ้นในขั้นสุดท้ายโน่น ขอให้มีสวรรค์ชนิดแท้จริงอยู่ตลอดเวลา ที่นี่และเดี๋ยวนี้ เพราะอำนาจ ของสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมะ ธรรมะ ธรรมะ” ฉะนั้น ธรรมะ คือหน้าที่ที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการ ทั้งเพื่อผู้อื่น มีความหมายอย่างนี้
เอาละเป็นอันว่า วันนี้เราได้พูดกันถึงเรื่องว่า จะต้องรู้จักธรรมชาติของกิเลส ของอนุสัย ของอาสวะ แหละของนิวรณ์ ให้เพียงพอ จนรู้จักกับการแก้ไขป้องกัน หรือละวาง อะไรก็ตามกับสิ่งเหล่านี้ และถือว่านี่เป็นหน้าที่ชั้นสูง สูงขึ้นไปจากหน้าที่เพียงรอดตาย แต่เราก็มีหน้าที่ทั้ง ๒ ชั้น ๒ ระดับ หลีกไม่ได้ แล้วทำหน้าที่เพื่อรอดตายก่อน เป็นพื้นฐาน หน้าที่รอดตาย แล้วก็หน้าที่สุดยอด ก็คือความไม่มีทุกข์ ควบคุมตัว คุมกิเลสได้ บรรเทากิเลสได้ ทำลายล้างกิเลสได้ นี่คือหน้าที่สุดท้าย แล้วก็มีชิวตอยู่ด้วยความพอใจ ในความถูกต้องของตน นึกถึงตนเองเมื่อไร เป็นยกมือไหว้ตนเองได้เมื่อนั้น ก็จะเรียกได้ว่า เป็นผู้มีความทถูกต้อง คือเป็นสุข ผาสุก สะดวกสบาย ทั้งทางกาย แหละทางจิต อยู่ตลอดทุกทิพาราตรี
การบรรยายนี้สมควรแก่เวลาแล้ว ขอฝากความหวังไว้ว่าท่านทั้งหลายจะได้นำไปพินิจ พิจารณา รีบศึกษา รีบปฏิบัติ รีบค้นคว้า รีบทดลอง ขวนขวาย ในการปฏิบัติ ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป สุดความสามารถของตนของตนอยู่ ทุกทิวาราตรีกาลเทอญ