แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ปุถุกิเลเส ชเนตีติ ปุถุชฺชนา ทิธัมโม สักกัจจัง โสตัพโพติ ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาในพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ และวิริยะ ความพากเพียร ของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งแก่เราทั้งหลาย กว่าจะยุติด้วยเวลาพระธรรมเทศนาเป็นปุพพาปรลำดับ สืบต่อจากธรรมเทศนาในตอนเย็น คือเรื่องอันเกี่ยวกับพระอรหันต์ ด้วยว่าวันนี้เป็นวันพระอรหันต์หรือวันมาฆบูชา ทุกเรื่องได้พูดกันเกี่ยวกับพระอรหันต์ แต่บัดนี้เพื่อจะขยายความให้เข้าใจกว้างไกลออกไป ก็จะพูดถึงเรื่องที่ตรงกันข้ามจากพระอรหันต์ นั่นก็คือ เรื่องของบุถุชน เรามาศึกษาเรื่องของบุถุชนกันให้เป็นที่เข้าใจ แล้วแก้ไขความเป็นบุถุชนนั้นให้ลดลง ให้หายไป นี่เป็นการตามรอยพระอรหันต์อย่างยิ่ง เป็นการทำตามพระอรหันต์อย่างยิ่ง โดยทั่วไปก็พูดกันได้ ว่าพระอรหันต์เป็นผู้ดับทุกข์สิ้นเชิง บุถุชนก็ยังหนาแน่นไปด้วยความทุกข์ ทำอย่างไรจะให้บุถุชนเบาบางจากความทุกข์และเป็นพระอรหันต์ในที่สุด ดังที่กล่าวมาแล้วว่า จุดหมายปลายทางมันอยู่ที่นั่น มันต้องไปที่นั่น บัดนี้จะได้กล่าวถึงเรื่องของบุถุชน ขอให้ตั้งใจฟังให้ดีๆ ใครรู้สึกตัวว่าเป็นบุถุชนมาก ก็ขอให้ฟังให้มากสักหน่อย ฟัง พยายามตั้งใจฟังให้รู้เรื่องบุถุชน ทำไมจึงได้เรียกว่าบุถุชน ซึ่งแปลว่าคนที่หนา บุถุ แปลว่า หนา บุถุชน ก็ว่าคน บุถุชนก็แปลว่า คนหนา คำว่าหนาในที่นี้ก็หมายถึงมาก มากนั้นก็มีความหมายหลายอย่าง ในที่นี้หมายถึงมากในการที่จะหุ้มห่อ ในการที่จะปิดบัง ในการที่จะทำสิ่งที่ไม่ควรทำ เป็นต้น ก็เรียกว่ามันคนหนา เหมือนที่เขาพูดว่าเงินหนา ก็หมายความว่าเงินมันมาก นี่บุถุชน คนหนา ก็คือกิเลสมันมาก บทแสดงอรรถแห่งบุถุชนมีอยู่สิบบทด้วยกัน มันไม่ใช่มีแต่เพียงสิบ มันมีมากกว่านั้น แต่ว่าเอามากล่าวเพียงสักสิบบท ดูก็จะพอแล้ว พอที่จะเข้าใจว่าบุถุชนนั้นเป็นอย่างไร บทแรก มีบาลีว่า (นาทีที่ 6.28-6.35) ปุถุ กิเลเส ชเนนตีติ ปุถุชนา ตามตัวหนังสือก็แปลว่า ยังกิเลสให้เกิดขึ้นเป็นอันมาก ดังนั้น จึงชื่อว่าบุถุชน คือหนาไปด้วยกิเลส คำว่ากิเลสก็เป็นที่เข้าใจกันอยู่ว่าหมายถึงอะไร ในที่นี้จะสรุปเอาแต่ใจความ กิเลสโดยทั่วไปก็คือ ราคะ โทสะ โมหะ เมื่อมีอารมณ์มากระทบทางตา ทางหู เป็นต้น จนเกิดความยินดี มันก็เกิดกิเลสประเภทราคะ แล้วมันเปลี่ยนไปหรือมันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีก็เกิดกิเลสประเภทโทสะ คือมันไม่รู้จริงในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร มันก็หลงพะวงอยู่ในสิ่งนั้นๆ มันก็เกิดกิเลสประเภทโมหะ กิเลสประเภทราคะหรือโลภะ มีลักษณะอาการ คือดึงเข้ามาหาตัว กิเลสประเภทโทสะหรือโกธะ ก็มีอาการผลักออกไปจากตัว กิเลสประเภทโมหะนั้นวิ่งอยู่รอบๆ ทุกคนสังเกตความรู้สึกมันมีลักษณะอาการอย่างไร ก็จะสามารถเข้าใจเรื่องกิเลสหรือเรียกชื่อกิเลสได้ถูกต้อง รู้ว่าตัวเองมีกิเลสประเภทไหน บุถุชนคือผู้ทำกิเลสให้เกิดขึ้นเป็นอันมากก็หมายความว่าเขาไม่มีความรู้อะไรเสียเลยที่จะปฏิบัติต่ออารมณ์ที่มากระทบ ไม่มีสติสัมปชัญญะที่จะเกิดความรู้สึกอันถูกต้องขึ้นมาทันแก่เวลา กิเลสมันก็เกิด ครั้นกิเลสมันเกิดได้ทีหนึ่งแล้ว ทุกกิเลสพอมันเกิดได้ทีหนึ่งแล้ว มันก็สะสมความเคยชินที่จะเกิดอีกไว้ จะเกิดอีกโดยง่าย จะเกิดอีกซ้ำๆ โดยง่ายไว้ แล้วมันก็เป็นกิเลสที่เป็นตัวเคย ความเคยชิน เก็บอยู่ในสันดานส่วนลึก เรียกว่า อนุสัย ความเคยชินแห่งกิเลสนี่ก็จัดเป็นกิเลสได้ดังที่คนทั่วไปเขาเรียกว่ากิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน ที่จริงมันก็เป็นเพียงความเคยชินแห่งกิเลสที่จะเกิดง่าย ที่จะเกิดเช่นนั้นอีก เรียกให้ถูกก็จะเรียกว่าอนุสัย ทีนี้เมื่อมันมีมากเข้าๆ มันก็มีแรงดันที่จะไหลออกมาได้ง่ายและได้เร็วขึ้นจากสันดานนั่น มีอะไรมากระทบหน่อยมันก็ออกมา เหมือนกับน้ำในตุ่มที่มีรูรั่ว ถ้าใส่น้ำลงไปมากมันก็เบ่งแรง มันก็ออกมาแรง นี่มันก็แล้วแต่ว่า อนุสัยมีมากหรือน้อย อนุสัยมีมากกิเลสมันก็จะเกิดขึ้นได้ใหม่โดยเร็วและโดยแรง และมากมาย บุถุชนมีมาก ทั้งกิเลส ทั้งอนุสัย และทั้งอาสวะ คือกิเลสที่จะทะลักออกมา จำกันได้ง่ายๆ ว่ากิเลสที่เกิดขึ้นในการกระทบด้วยอารมณ์นั้นก็เรียกชื่อตรงๆ กันว่ากิเลส ความเคยชินที่จะเป็นเช่นนั้นอีก เก็บไว้ในสันดานนี้เรียกว่า อนุสัย พอมีแรงกดดันมากที่จะไหลออกมาอีกนี้เรียกว่าอาสวะ แล้วจะได้เคยได้ยินคำว่า สิ้นกิเลส สิ้นอนุสัย สิ้นอาสวะ นั่นแหละคือความเป็นพระอรหันต์ และทีนี้มันตรงกันข้าม บุถุชนนี่ เลี้ยงกิเลส ทำกิเลส ให้เกิดขึ้นเป็นอันมาก นึกว่ามันเกิดง่าย เกิดมาก ดูตัวเราเองว่า กิเลสเกิดง่ายๆ เกิดได้ง่าย เกิดได้มาก เกิดได้เร็วอย่างไร ถ้ามันยิ่งเป็นอย่างนั้นมากก็คือความเป็นบุถุชนมันมาก เรียกว่าบุถุชนมันเกิดกิเลสหรือทำกิเลสให้เกิดได้ ได้ง่าย ได้มาก ได้เร็วที่สุดของมนุษย์ นี้ความหมายหนึ่ง บุถุชนคือผู้ที่ทำกิเลสให้เกิดขึ้นมาก ทีนี้ความหมายที่สอง (นาทีที่ 12.20-12.27) ปุถุ อวิหัสสะ สักกายทิฏฐิกาติ ปุถุชนา แปลความว่า มีสักกายะ ที่ไม่ได้กำจัดนั้นมากมายนัก มีสักกายะ หรือสักกายทิฏฐิ ทิฐิว่ากายนี้ของกู สักกายะ กายแห่งตน พอโกรธขึ้นมาก็ของกู สักกายทิฏฐิคือความคิด ความเห็นว่ากายนี้ของกูนั้นมันมากนัก อะไรๆ มันก็เป็นของกูไปเสียหมด โดยทั่วไปก็นึกเอาเองว่า บุตร ภรรยา สามี เงินทอง ข้าวของ เกียรติยศ ชื่อเสียง อะไรต่างๆ มันมีความหมายเป็นของกูๆๆ รอบด้าน มันก็กลุ้มอยู่ด้วยสิ่งที่เป็นของกู เรียกว่ามีสักกายทิฏฐิที่ไม่ได้กำจัดอยู่มากมายนัก บางทีจะไม่เคยกำจัดกันเลย ตั้งแต่เกิดเป็นทารกขึ้นมาจนใหญ่จนโต ไม่ได้รับคำชี้แจงสั่งสอนให้กำจัดสักกายทิฏฐินี้ มีแต่เพิ่มมากขึ้น เพราะช่วยกันสนับสนุนกันเสียอีก เด็กทารกเกิดมาจากท้องของมารดา ไม่มีความรู้สึกได้ว่า ตัวกูหรือของกู แต่ครั้นเกิดมาแล้วโดยธรรมชาติมันก็ให้เกิดความรู้สึกว่าตัวกูอยู่เหมือนกัน แล้วคนที่แวดล้อมอยู่ทุกๆ คนก็ช่วยส่งเสริมให้มันเกิดตัวกูมากยิ่งขึ้นไปอีก ที่ว่าธรรมชาติส่งเสริมให้เกิดตัวกูของกูนั้นเป็นไปตามหลักของธรรมชาติ ที่เรียกว่า อิทัปปัจยตา ปฏิจจสมุปบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือเมื่อทารกนั้นรู้จักอร่อย รู้จักพอใจ รู้จักสนุกสนาน ถ้ามันยังเล็กเกินไป ยังไม่รู้เรื่องนี้ก็ยังไม่เกิด ครั้นทารกเมื่อรู้จักความเอร็ดอร่อย หรือความสวยความงามที่เอามาล่อให้ดู หรือความอบอุ่นนิ่มนวลที่ช่วยกันประคบประหงม ทะนุถนอม รวมๆ แล้วก็เรียกว่า อารมณ์ที่น่ายินดีก็แล้วกัน เด็กทารกได้เสวยอารมณ์ชนิดนี้แล้ว ก็พอใจๆ เมื่อยังไม่มาก็หิวที่จะได้ เมื่อมาแล้วก็พอใจ เมื่อยังไม่มาก็อยากที่จะได้ ก็เกิดเป็นตัณหา อยากที่จะได้ แต่ครั้นได้แล้วก็พอใจ มันก็เกิดเป็นตัณหาที่อยากที่จะมีอีก อยากที่จะรักษาไว้ อยากจะมีมากๆ ล้วนแต่เป็นเรื่องของความอยาก ตามธรรมชาติความรู้สึกที่เป็นความอยากนี้ เมื่อมีเต็มที่แล้วมันก็ปรุงขึ้นมาให้เป็นความรู้สึกว่ามีผู้อยาก มีผู้อยากคือกูผู้อยาก เรื่องนี้พูดมาหลายครั้งหลายหนจนบางคนอาจจะเบื่อก็ได้ คือให้รู้ความที่ว่า ความอยากมันเกิดก่อน ไอ้ตัวผู้อยากนั้นมันเกิดทีหลัง ไอ้นักศึกษาวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ ของเขาก็อันนี้ก็คงจะเห็นว่าบ้า ทำไมเกิดความอยากก่อนเกิดตัวผู้อยาก นี่ก็เพราะว่าไอ้ตัวผู้อยากนั้น มันไม่ใช่ตัวตนจริงๆ มันเป็นเพียงความรู้สึก ความรู้สึกเมื่อมีกูผู้อยากนี่จะเกิดทีหลังความอยาก ระวังให้ดี คอยสังเกตดูให้ดี ให้ศึกษาดูให้ดี ถ้ามันเกิดความอยากเต็มที่ ความอยาก ความรู้สึกอยาก หรือเจตสิกที่อยากนี่ จะปรุงให้เกิดความรู้สึกที่ว่ามีตัวผู้อยากคือฉัน ฉันผู้อยาก กูผู้อยากขึ้นมา นี่เด็กทารกนั้น ก็เริ่มมีสักกายทิฏฐิได้โดยธรรมชาติ แต่ทีนี้มันยังมีอีกทางหนึ่งคือการเกี่ยวข้อง สัมพันธ์กันกับผู้เลี้ยง ซึ่งจะเป็นพี่เลี้ยงหรือเป็นบิดามารดา หรือใครก็ตามซึ่งเป็นผู้เลี้ยง ไอ้คนเลี้ยงเหล่านี้มันพูดกรอกหูเด็กทารกอยู่เสมอว่า ของหนูๆ นั่นก็ของหนู นี่ก็ของหนู อะไรก็ของหนู หรือแสดงโดยทางอื่นไม่ใช่คำพูดก็ได้ แสดงให้เห็นว่ามันเป็นของหนู ไอ้ทารกนั้นมันก็โง่ ก็หลง ในความรู้สึกว่าของตนเพิ่มขึ้น ทั้งที่ธรรมชาติมันก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่าของตนน่ะ อยู่ส่วนหนึ่งแล้ว ทีนี้บุคคลผู้แวดล้อมข้างเคียงทุกคน ล้วนแต่คอยยุ คอยบอกว่าของตนๆ เราไม่เห็นบิดามารดาหรือคนเลี้ยงคนไหนที่จะบอกไอ้ลูกทารกเล็กๆ ว่าไม่ใช่ของมึง ไม่ใช่ของมัน มันมีแต่จะพูดให้ว่าของมันๆ ทั้งนั้น เหมือนกับสอนให้โง่ สอนให้ยึดถือว่าเป็นของตน นี่สักกายทิฏฐิก็ก่อขึ้นมา ความรู้สึก ความคิด ความเห็น ความเข้าใจ ความสำคัญมั่นหมายว่าตัวตน ตัวตน มันก็ก่อขึ้นมา มันก็เลยเป็นปัญหาขึ้นมา ไอ้เด็กทารกถ้ามันเดินไปชนโต๊ะ ชนเก้าอี้ มันก็โกรธ จะชกต่อย ตี เตะ เก้าอี้ ในฐานะที่เป็นตัวตนอีกอันหนึ่ง มาทำอันตรายตัวตน คือตัวกู นี่ไอ้เด็กมัน มัน มันรู้สึกได้ตามธรรมชาติอย่างนี้ ทีนี้ผู้เลี้ยง พ่อแม่ หรือพี่เลี้ยงก็ตาม ช่วยกันสนับสนุนเข้าไปอีก คือช่วยไปตีเก้าอี้นั้นอีกทีหนึ่ง ให้ ให้ ให้สมกับที่ว่า เด็กมันโกรธอยู่แล้ว ก็ไปตีเก้าอี้ให้ทีหนึ่ง ความรู้สึกว่าตัวตนมันก็เจริญขึ้นในสันดานของเด็ก ทั้งหมดนี้เรียกว่า สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่ากายนี้ของตน เป็นชั้นต้นๆ เป็นชั้นหยาบๆ เป็นชั้นแรก หรือเป็นชั้นบุถุชน สักกายทิฏฐินี้มีหลายชั้น ชั้นละเอียด ประณีต ข้างบนโน้นก็ยังมี แต่เดี๋ยวนี้มันเริ่มตั้งต้นด้วยสักกายทิฏฐิชั้นหยาบที่สุดขึ้นมาแล้ว ตั้งต้นมีสักกายทิฏฐิ ทุกๆ คราวที่มีความอยากก็จะเกิดความรู้สึกว่าผู้อยากคือตัวกู นั่นก็เป็นสักกายทิฏฐิ มันก็เพิ่มมากขึ้นๆ มันแล้วแต่ว่าสิ่งแวดล้อมนั้นมันมีมากน้อยเท่าไหร่ แต่ตามปกติมันก็มีมาก มีมาก เด็กก็ได้รับสักกายทิฏฐินี่หรือก่อสักกายทิฏฐินี้ขึ้นไว้มาก ยังไม่ได้ขจัดออกไป เหลืออยู่มากนัก เหลืออยู่มากนัก บาลีจึงมีว่า (นาทีที่ 20.58-21.01) อวิหัตตะ สักกายทิฏฐิกา เป็นผู้มีสักกายทิฏฐิอันไม่ได้กำจัดมากนัก ที่ไม่ได้กำจัดมากนัก คำว่ามากนัก นั่นคือคำว่าปุถุ หรือปุถุชน มากนักนั่นคือคำว่าปุถุ ยังมีสักกายทิฏฐิอันไม่ได้กำจัดมากนัก ดังนั้นมันจึงถือว่าบุถุชน บุถุชน นี่รู้จักความเป็นบุถุชนของเราเองได้ ด้วยการศึกษาจากลูกเด็กๆ ลูกทารก ซึ่งธรรมชาติก็ช่วยให้เกิดความรู้สึกเป็นตัวตนตามสัญชาตญาณเป็นของตน และคนข้างเคียงผู้แวดล้อมก็ช่วยส่งเสริมให้รู้สึกอย่างนั้นยิ่งขึ้นไปอีก มันจะมีมากสักเท่าไหร่ ขอให้ลองคิดดู ทีนี้ข้อที่สามมีบาลีว่า (นาทีที่ 22.12-22.22) ปุถุ สัตถารานัง มุคุลโลกิกา ติปุถุชนา มันยังต้องมุ่งหาครูมากนัก ปุถุ น่ะมากนัก (นาทีที่ 22.33-22.37) สัตถารานัง มุคุลโลกิกา มันเป็นบุคคลที่ต้องมุ่งหาครูมากนักจึงได้ชื่อว่าบุถุชน นี่พูดให้เป็นเรื่องของธรรมชาติไปเลยว่าบุถุชนนั้นน่ะ คือบุคคลที่ยังจะต้องมีครู หรือใช้ครู หรือหาครูมาช่วยมากนัก ถ้าเป็นพระอรหันต์เสียแล้ว ก็ไม่ต้องการครูเลย แต่ยังเป็นบุถุชนอยู่ยังจะต้องหาครูมามากมาย มาแวดล้อม มาช่วยชี้แจง สั่งสอนเรื่องนั้นเรื่องนี้เรื่องโน้น เป็นเรื่องๆ ไป ฉะนั้นคนที่ยังต้องใช้ครูอีกมากนักนั่นแหละคือบุถุชน ยิ่งต้องใช้ครูมากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งเป็น ยิ่งเป็นบุถุชนมากเท่านั้น ฟังดูก็น่าขัน เราอยากจะมีครูมากๆ มาช่วยสอนมากๆ จะได้เรียนเร็ว เรียนมากเรียนเร็ว แต่ลักษณะอย่างนั้นเขาเรียกว่าลักษณะของบุถุชน จะต้องหาครูมามากๆ จะต้องมุ่งหน้าหาครูมากๆ หรือข้อความนี้อาจจะหมายความได้อย่างหนึ่งว่า บุถุชนแล้วมันก็มุ่งที่จะหาครูให้มาก ให้แปลกออกไปดังนิสัยของเด็กๆ ที่ชอบเอาอย่าง เห็นตัวอย่างแล้วก็ทำตามอย่าง แล้วมันก็อยากจะมีให้มากให้แปลกออกไป ไปดูหนัง ไปดูละคร ไปดูอะไรมา มันก็จำเอามาเป็นครูทั้งนั้น นี่ลักษณะของบุถุชนความหมายหนึ่ง เราจะจัดการกันอย่างไรกับตัวเราเอง ที่ไม่ต้องมีลักษณะเหมือนกับว่าต้องหาครูมาเป็นฝูงๆ ทีนี้ข้อต่อไปมีบาลีว่า (นาทีที่ 24.47-24.54) ปุถุ สัพพะคตีหิอาวุตา ติปุถุชนา เขาถูกห่อหุ้มอยู่ด้วยคติต่างๆ นานา มากนัก คำว่า คติ ในที่นี้ก็หมายถึง ลัทธิ ลัทธิ แต่บาลีเรียกว่า คติ (นาทีที่ 25.16-25.19) สัพพะคตีหิอาวุตา อาวุตาแปลว่า หุ้มห่อ เขามีลัทธิหุ้มห่อมากนัก ชื่อว่าบุถุชน ขอให้สังเกตดูว่าเรานี่ถูกสั่งสอนอบรมให้เชื่อกี่อย่าง มันไม่ใช่กี่อย่าง มันกี่สิบอย่าง หรือมันกี่ร้อยอย่าง ให้เชื่อย่างนั้น ให้เชื่ออย่างนี้ ให้เชื่ออย่างโน้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางของไสยศาสตร์ เป็นเรื่องทางไสยศาสตร์ ประเภทไสยศาสตร์ มันเชื่อไปหมดจนไม่รู้ว่าอะไรจะเป็นที่พึ่งได้ เด็กๆ ได้รับการสั่งสอนให้ไหว้จอมปลวก หรือให้ทำพิธีอย่างนั้นอย่างนี้ ให้กลัวแม้แต่จิ้งจก ตุ๊กแก มันก็ล้วนแต่เป็นคติ หรือเป็นลัทธิหนึ่งๆ เป็นเรื่องที่สืบกันมา สอนสืบๆ กันมา เป็นเวลานมนานทีเดียวนี่ มันถูกห่อหุ้มอยู่ด้วยคติ หรือด้วยลัทธิมากนัก ฉะนั้นขอให้ช่วยตัดทิ้งไปเสียบ้างเถิด ไอ้ลัทธิหรือคติเหลือเฟือมากมาย ช่วยขจัด แกะ ทิ้ง สลัดไปเสีย ให้มันเหลือแต่เรื่องดับทุกข์เรื่องเดียวก็พอ นี่ความเป็นบุถุชนมันก็จะได้ลดลง ลดลงเท่าไหร่มันก็เอียงไปเป็นพระอริยะเจ้ามากเท่านั้น ไม่ไม่อาจจะเอามาเจีย เจียระไนรายชื่อให้มันครบทุกอย่างได้ ไปดูเอาเองก็แล้วกัน จะเชื่ออะไรกี่อย่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มันไม่มีเหตุผล มันเป็นแต่คติ ลัทธิที่ถูกมอบให้หรือถูกกระทำให้ หรือถูกหลอกให้เชื่อ ยึดถือไว้ด้วยความกลัว แม้ที่สุดแต่ว่า ไม่เอาขันรองน้ำ กลัวฟ้าจะผ่าอย่างนี้ มันก็กลัว แล้วมันก็เชื่อ แล้วมันก็ยากที่จะหายไป พอได้ยินเสียงจิ้งจกร้อง ก็ว่าจิ้งจกเขาทัก ว่าไอ้สิ่งนี้ไม่ควรทำ สิ่งที่กำลังคิดจะทำอยู่นั้น ไม่ ไม่ควรทำ มันก็เชื่อ มันก็เชื่อ เพราะมันมีความกลัว มันกลัวจะตาย มันกลัวจะเสียหายในเรื่องนั้นเรื่องนี้ นี่ทุกคนช่วยคิดบัญชีดูให้ดี ว่าได้ถือเอาคติหรือลัทธิไว้กี่อย่าง หรือกี่สิบอย่าง หรือกี่ร้อยอย่าง มากเท่าไหร่ก็เป็นบุถุชนมากเท่านั้น จะต้องแกะออกๆๆ ในเรื่องอันเกี่ยวกับลัทธิทางไสยศาสตร์ ถ้าเป็นเรื่องพุทธศาสตร์ มันมีเรื่องเดียวนะ ดับทุกข์นะ กำจัดตัณหา กำจัดอุปาทานอย่างเดียวเท่านั้น ดับทุกข์ ไม่มีลัทธิอื่นใด แต่ถ้าเป็นเรื่องไสยศาสตร์แล้วมันมีมากจนนับไม่ไหว นี่บุถุชนไม่ว่ายุคนี้หรือยุคไหนมันมีความเขลาตกไปเป็นทาสของไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์ในเมืองไทยนี่รับมาจากอินเดียทั้งนั้นแหละ เรื่องของไสยศาสตร์ทุกเรื่อง ดูชื่อเรื่อง ชื่อคน ชื่ออะไรต่างๆ มันเป็นภาษาอินเดียทั้งนั้นแหละ คนในอินเดียมันก็เต็มไปด้วยไสยศาสตร์เหมือนกัน ทั้งๆ ที่มีพุทธศาสตร์คอยกำจัดอยู่มันก็ยังเต็มไปด้วยไสยศาสตร์ เพราะว่าคนปัญญาอ่อนมันทำอะไรไม่ได้ คนปัญญาอ่อนนั้นมันเหมาะสำหรับไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์เหมาะสำหรับคนปัญญาอ่อน ถ้ามีปัญญากล้าแข็งแล้วมันไม่เอาหรอกเรื่องไสยศาสตร์น่ะ ถ้ายังปัญญาอ่อนอยู่ ก็ต้องกลัว ก็ต้องพึ่งไสยศาสตร์ ดังนั้นรีบทำปัญญาให้มันกล้าแข็งขึ้นเร็วๆ สิ รีบศึกษาให้รู้ รีบปฏิบัติให้รู้ คิดนึกให้รู้ ศึก ใคร่ครวญอยู่ตลอดเวลา มันก็จะรู้ตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร ควรจะเชื่อถือได้อย่างไร ในเรื่องอะไร จึงจะมีความเบาบางแห่งการถือลัทธิต่างๆ นานา ดูแล้วก็น่าเวียนหัว บทต่อไปมีว่า (นาทีที่30.45-30.53) ปุถุนานาภิสังขาเร อภิสังคะโรนตีติ ปุถุชนา เขาปรุงแต่งซึ่งอภิสังขารนานาชนิดมากเกินไป อภิสังขารในการปรุงแต่ง ความคิดที่เป็นการปรุงแต่งให้เกิดความคิดใหม่ๆ ชนิดที่เป็นเรื่องไม่รู้ เป็นเรื่องงมงาย มันไม่ต้องปรุงมันก็มาปรุง การปรุงแต่งทางกาย ทางวาจา ทางใจ นี่ก็เรียกว่าอภิสังขารเหมือนกัน แต่นั้นมันยังไม่เท่าไร มันไม่สู้กระไรนัก ที่มันปรุงแต่งออกไปในทางความคิดเห็น ความเชื่อ ที่ปรุงแต่งไกลออกไป ไกลออกไป มีความคิดใหม่ๆ ซึ่งเป็นการปรุงแต่งสำหรับให้งมงายมากออกไป หรือมีความทุกข์มากออกไป ยกตัวอย่าง อยากอิสระเหมือนคนที่กรุงเทพฯ มันโง่มาก มันปรุงแต่งมากเกินไป มันอยากจะมีบ้านอย่างนั้น อย่างนี้ จนดูบ้านที่สร้างขึ้นมาไม่รู้ว่ารูปร่างจะไปทางไหน หลังเดียวไม่พอต้องเอาหลายหลัง รถยนต์คันเดียวไม่พอต้องเอาหลายคัน รถยนต์ราคาแสนขี่ไมได้ ต้องเอารถ เอารถยนต์ราคาล้าน นี่พวกกรุงเทพฯ เขาโง่กันถึงขนาดนี้ เรียกว่ามีการปรุงแต่งมากเกินไป เขาก็เป็นบุถุชนมากกว่าเรา ซึ่งมีแต่จอบแต่เสียมแต่ควายแค่ตัวหนึ่งเท่านั้น ให้จำไว้เป็นหลักง่ายๆ ว่า ไอ้ที่ปรุงแต่งออกไปโดยไม่จำเป็น โดยไม่จำเป็น ไปด้วยความโง่ ไม่ใช่การแก้ไขให้ดีขึ้น แต่การขยายปัญหามันมากออกไป แต่ถึงอย่างนั้นก็ ก็ ก็ยังต้องระวังนะ จะมีกระต๊อบอยู่สักหลัง ทำพอดีๆ ก็แล้วกัน อย่าปรุงแต่งนั่นอย่าปรุงแต่งโน่น ปรุงแต่งให้มันผิดไปจนดูเป็นเรือนของคนบ้านี่ ไอ้คนจนนี่ ก็ยังมีส่วนที่จะปรุงแต่ง แต่เพราะว่าเขายากจน เขาก็ปรุงแต่งน้อย ไม่เหมือนคนมั่งมี ความคิดที่จะปรุงแต่งนั้นน่ะมันเป็นธรรมชาติหรือเป็นสัญชาตญาณอยู่เหมือนกัน เมื่อได้ประกอบกันเข้ากับอวิชชาแล้ว มันก็ปรุงแต่งชนิดที่ไม่ต้องปรุงแต่ง ไม่จำเป็นจะต้องปรุงแต่ง เช่นว่า ถ้าใช้รถยนต์ราคาแสนได้ ทำไมจะต้องไปใช้รถยนต์ราคาล้าน หรือในบ้านเรือน ในที่อยู่ที่อาศัย มีแต่เครื่องใช้จำเป็น เท่านี้ๆ ก็พอแล้ว ทำไมจะต้องไปเอาเครื่องใช้ เครื่องอะไรที่ไม่จำเป็นมาประดับประดาให้มันมาก ล้วนแต่แพงๆ ทั้งนั้น ความคิดปรุงแต่ง และขอให้มองมาใกล้ๆ ตัว มันลึกลงไปใกล้ๆ ตัว อาตมาก็นึกอยู่ อยู่เสมอในเรื่องนี้ ว่าทำไมจะต้องทำไอ้ถนน ในวัดนี่ทำไมจะต้องทำถนน ในวัดนี่จะต้องสร้างกุฎิหลังนั้นสร้างกุฏิหลังนี้ มันเป็นเรื่องของการปรุงแต่งเหมือนกัน ซึ่งมันทำให้มากขึ้นแล้วมันเกิดปัญหาทีหลัง ถ้ามันทำแต่เท่าที่จำเป็น มันก็มีเรื่องน้อย มีปัญหาน้อย นี่โลกนี้มันเต็มไปด้วยการปรุงแต่งทางความคิด มีการกระทำ มีปรุงแต่งวัตถุ วัตถุจึงแปลกออกมา แปลกออกมา แปลกออกมา อย่างที่ไม่น่าเชื่อ เรื่องอวกาศ เรื่องอิเลคโทรนิคส์ เรื่องคอมพิวเตอร์อะไรก็ตาม มันก็แปลกออกมา แปลกออกมา อย่างไม่น่าเชื่อ แล้วก็มันมีเรื่องที่ทำให้น่าหลงใหล น่าสนใจ ซึ่งมันจะต้องเป็นการลงทุนที่มาก แล้วก็ไม่ต้องคิดกันในเรื่องนั้น เอาผลเป็นที่ถูกใจนิดๆ หน่อยๆ ก็พอแล้ว ยิ่งทำมันก็ยิ่งยุ่ง ยิ่งปรุงแต่งด้วยอวิชชา คือไม่ใช่สิ่งที่ควรจะปรุงแต่งแล้วมันก็ยิ่งยุ่ง โลกนี้มันก็เป็นโลกของบุถุชนไปทั้งหมด คือไปสร้าง หรือปรุงแต่ง ที่มันไม่ต้องปรุงแต่งนั้นน่ะ มันมากเกินไป ปรุงแต่งอภิสังขารนานาชนิดให้มากเกินไป เรื่องของบุถุชน ทีนี้ข้อต่อไป มันมีว่า (นาทีที่ 36.26-36.31) ปุถุนานา โอเคหิ วีหันตีติ ปุถุชนา เขาถูกกระแสน้ำนานาชนิดพัดพาไปมากนัก จำไว้มันมีคำว่า มากนัก มากนัก ไปทุกๆ บทแหละ นี่กระแสน้ำนานาชนิดพัดพาไปมากนัก กระแสน้ำในที่นี้ หมายถึง กิเลสที่จะพัดพาจิตไปสู่ความทุกข์ กิเลสนี่เปรียบอุปมาเหมือนกระแสน้ำ เพระว่ามันอันตราย เพราะว่ามันมีกำลังมากมาย มันพัดพาเอาไปได้ มีกระแสน้ำนานาชนิด ก็หมายความมีกระแสกิเลสนานาชนิดพัดพาไปมากนัก หรือว่าจะลึกนัก หนานักก็ได้เหมือนกัน ดูว่ามันมีกิเลสอะไรเกิดขึ้นแต่ละวัน แล้วมีกิเลสซับซ้อน มีกิเลสส่งเสริม มีกิเลสเกิดสัมพันธ์กันอีกเท่าไหร่ อีกกี่อย่าง ความคิดที่มันแตกแยกออกไป เพื่อประโยชน์แก่กิเลสนี่ มันก็เป็นกระแสน้ำทั้งนั้น คำว่า น้ำนี่ ในความหมายหนึ่งมันก็ดี คือ กินได้ ขาดน้ำก็ไม่ได้ แต่มันตาย และมันตายนะ แต่ถ้ามันเป็นกระแสชนิดที่พัดพาให้หมุนหายไปโดยตั้งตัวไม่ติด มันก็อันตรายอย่างยิ่ง ไอ้น้ำที่กินได้หรือขาดไม่ได้กลายเป็นอันตรายไปเสียอย่างนี้ ก็มองเห็นในข้อนี้ที่ว่าไม่ระวังให้ดี พลัดลงไปในกระแสน้ำแล้วก็จมน้ำตาย นี่กระแสกิเลสมากมาย กำลังพัดพาไปมากมายนักสำหรับบุถุชน บุถุชน ทีนี้ข้อต่อไป (นาทีที่ 38.52-39.00) ปุถุนานา สันตาเปหิ สันตัปปันตีติ ปุถุชนา เผาตัวเองอยู่ด้วยไฟนานาชนิดมากมายนัก ถ้าเข้าใจก็น่ากลัวนะ ถ้าไม่เข้าใจก็เป็น พูดเป็นเรื่องเล่นๆ นะ เผาตัวเองอยู่ด้วยไฟนานาชนิดมากมายนัก ก็จะไม่เชื่อ ก็จะไม่ ไม่เชื่อว่าเรานี่กำลังเผาตัวเองอยู่ด้วยไฟนานาชนิดมากมายนัก ก็ยังสบายดี ยังเดินได้ กินได้ ยังหายใจอยู่ ไฟ ไฟก็มันในที่นี้ก็คือไฟกิเลส อีก นั่น นั่น อีก หรือผลของกิเลส แผดเผาให้ร้อนอยู่ มันหมายถึง แผดเผาอยู่ๆ บทต่อไปมันมีว่า (นาทีที่ 39.50-39.55) ปุถุนานา ไปราเหหิ ปริไดหันตีติ ปุถุชนา ตอนนี้หมายถึง เร่าร้อนกระวนกระวาย เมื่อถูกไฟไหม้แล้วน่ะมันเร่าร้อนกระวนกระวาย ในความหมายต้นน่ะมันว่า มีไฟเผาอยู่ ในความหมายถัดมา มันก็มีความเร่าร้อนอยู่นานาชนิดมากมายนัก ร้อนอกร้อนใจอยู่ด้วยอะไรบ้าง แล้วมันเกิดความรู้สึกอย่างไรนี่ ขอให้สังเกตดู สังเกตดู เดี๋ยวนี้มันมักจะไม่เอาใจใส่ว่ามันมีกิเลสอย่างไร ก็แกล้งปล่อย แกล้งทำลืม แล้วมันสนุกนี่ เรื่องของกิเลสมันสนุกนี่ ทั้งที่มันเป็นไฟเผาให้เร่าร้อน นั่นน่ะมันสนุก มันมีอัสสาทะ คือ เสน่ห์ ไอ้ความทุกข์ ความชั่ว หรือกิเลสนั้น มันมีอัสสาทะคือเสน่ห์มากพอๆ กันกับที่จะทำให้คนโง่ หรือคนหลง จมลงไปในกองไฟเหล่านี้ได้ ทีนี้บทต่อไปมีว่า กำหนัด ร้อยรัด จมมิด จมลึก เกี่ยวข้อง เกี่ยวพัน ผูกพัน อยู่ในกามคุณทั้งห้ามากนัก เกี่ยวข้องอยู่ในกามคุณทั้งห้ามากนัก นี้กริยาที่เรียกว่าเกี่ยวข้องน่ะมันมีอยู่หลายๆ คำ หลายๆ อย่าง ว่า กำหนัด แล้วก็ผูกพัน จมอยู่ จมลึกอยู่ ข้องเกี่ยวอยู่ ติดข้องอยู่ หลายคำแต่ว่าความหมายมันคล้ายๆ กันแหละ เหมือนกับถูกเย็บติด ให้เย็บให้ติดอยู่กับสิ่งนั้นๆ น่ะ เป็นชื่อของกิเลส มีจิตที่ถูกเย็บด้วยด้ายให้ติดอยู่กับกามคุณมากนัก ด้ายใน ในที่นี้ก็คือกิเลส ตัณหา มันเย็บจิตใจของคนนี้ให้ติดอยู่ในปัญจกามคุณมากนัก ปุถุ แปลว่า มากนัก หนานัก มากนัก กามคุณคือ วัตถุแห่งกาม คุณ ก็แปลว่า คุณ นี่แหละ แปลว่า ค่า แปลว่า ความหมาย คำว่า กามคุณ ก็แปลว่า มีค่าสำหรับกาม มีคุณค่าสำหรับกาม มีความหมายสำหรับกาม และก็มีฤทธิ์ มีเดช ที่จะครอบงำจิตใจ ที่เรียกว่าห้าก็คือที่เป็นไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ยกเว้นทางใจเสีย จึงเหลือห้า อา อารมณ์ที่มากระทบอายตนะทั้งห้านี้ ชนิดที่เป็นที่ตั้งแห่งความพอใจ กำหนัด ยินดี ก็เรียกว่า กามคุณทั้งห้า ร้อยรัดไว้ด้วยกิเลส แม้ที่ไม่น่ารัก มันก็ร้อยรัดนะ ถ้าน่ารัก น่าพอใจ มันก็ร้อยรัด ให้หลงใหล ติดอยู่ แต่ถ้าไม่น่ารัก ไม่น่าพอใจมันก็ร้อยรัด ให้เกลียด ให้ชัง ให้โกรธ ให้อะไรอยู่เหมือนกัน มันเป็นการร้อยรัด นั่นกามคุณทั้งห้า มาในรูปของน่ารัก น่าพอใจ ก็ร้อยรัด แต่พอมันเปลี่ยนแปลง มันก็เปลี่ยนเป็นไอ้เครื่องขัดเคือง โกรธแค้น อาฆาต ริษยา มันก็เป็นไอ้เครื่องร้อยรัดด้วยเหมือนกัน ร้อยรัดไว้ในฝ่ายตรงกันข้าม อันหนึ่งเป็นฝ่ายบวก อันหนึ่งเป็นฝ่ายลบ เพราะนั้นมันก็ยังร้อยรัดอยู่ด้วยกัน นี่บุถุชน มันติดพันอยู่ในกามคุณทั้งห้ามากนัก นี้บทสุดท้ายก็มีว่า (นาทีที่ 44.44-44.59) ปุถุ ปัญจะหิ นีรเนหิ อาวุตา นิวุตา โอปุตา ปิหิตา ปะติชะนา ปะติปุชิตา ติ ปุถุชนา เขาถูกนิวรณ์ทั้งห้า อาวุตา หุ้มห่อแล้ว นิวุตา ครอบคลุมแล้ว โอปุตา ทับถมแล้ว ปิหิตา ปิดไว้แล้ว ปะติชะนา ปกคลุมอยู่แล้ว (นาทีที่ 45.20) ปะกุชิตา สุมอยู่บนกะลาหัว ขออภัยที่พูดคำหยาบคาย (นาทีที่ 45.27) โกกกระโดกนี่ เพราะว่าความหมายมันอย่างนั้น แล้วมันจะไปอ้อมค้อม ไม่พูด มันก็ไม่ได้รู้เรื่องกัน ถ้าพูดแล้วมุ่งหมายให้ตรงตามความหมายแล้วมันก็ต้องใช้คำอย่างนั้น เช่นปะ (นาทีที่ 45.42) ปะติปุชิตานี่ มันสุมอยู่บนกะลาหัว จึงได้พูดคำอย่างนี้ออกมาว่าบุถุชนนั้นมีนิวรณ์ทั้งห้า สุมอยู่บนกะลาหัวมากนัก นิวรณ์ทั้งห้าก็เคยได้ยิน ได้ฟังกันมาแล้ว มา ก็มา มาคิดนึกดูเองว่ามันสุมกะลาหัวอย่างไร ห้า, ข้อนี้หมายความว่า มันมีอยู่เรื่อยไป มันมีอยู่เรื่อยไป เมื่อเราอยากจะมีจิตใจโปร่ง เย็น จิตใจเกลี้ยง จิตใจสงบเย็นนี่ มันไม่เป็นอย่างนั้น มันมีนิวรณ์เข้ามาแทรกแซง เช่น บางคราวก็รู้สึกไปในทางกาม คือทางเพศ ความรู้สึกในทางเพศมากรุ่นอยู่ในใจ แล้วก็มันรุนแรงเหมือนกับมาสุมกะลาหัว ทีนี้บางทีมันก็มีความรู้สึกขัดเคือง คือไม่ชอบใจ บางทีก็ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าไม่ชอบใจอะไร แต่อารมณ์มันเสีย มันก็รู้สึกขัดเคืองอยู่ตลอดเวลาที่นิวรณ์ตัวนี้มันมากวน ทีนี้บางทีก็มีนิวรณ์ชื่อ ถีนมิทธะ คือความอ่อนเพลียแห่งจิตใจ ความถอยกำลังแห่งจิตใจ มีจิตใจชนิดที่มึนชา ซึมเซาไปทีเดียว แม้แต่ง่วงนอน มันก็รวมอยู่ในข้อนี้ แม้แต่เมาอาหารการกิน จนมึน จนซึม มันก็รวมอยู่ในข้อนี้ รู้ รู้ไว้เถิดว่า คำว่า ถีนมิทธะนี่ มันมีความหมายกว้างไปทุกอย่าง ทุกชนิดที่ทำให้จิตใจถอยกำลังลงไป นี้มันมีมากนัก ทีนี้ก็ถัดไปนิวรณ์คือ อุทธัจจกุกกุจจะ นี้มันตรงกันข้าม นี้มันทำให้แฟบ เออ, มันทำให้ฟุ้ง ถีนมิทธะ ทำให้แฟบ อุทธัจจกุกกุจจะ ทำให้ฟุ้ง ทำให้ฟู บางทีจิตใจมันก็ฟูเกินไป ฟุ้งเกินไป จนเป็นฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านจนนอนไม่หลับ หรือฟุ้งซ่านจนเป็นบ้า แต่มันไม่ถึงอย่างนั้น ไม่ได้ถึงกับเป็นบ้า ที่เรียกว่านิวรณ์ นิวรณ์นี้ไม่ต้องถึงกับเป็นบ้า เพียงแต่มันรบกวนความสงบสุขแห่งจิตใจเท่านั้นแหละ และข้อสุดท้ายคือ วิจิกิจฉา ได้แก่ความไม่แน่ใจ ไม่แน่ใจจน จนพอใจ หรือจนเป็นสุข ขอให้พิจารณาตัวเองอย่างเที่ยงธรรม อย่างไม่ไม่ ไม่เข้าข้างตัว มีใครบ้างไหมที่เป็นคนธรรมดานี่ มันแน่ใจไปทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเป็นเรื่องของตน ใครแน่ใจในความ ในทางเศรษฐกิจ มีความแน่ใจว่าเรามันมีเศรษฐกิจมั่นคง ใครแน่ใจในทางสุขภาพว่าเรามีสุขภาพมั่นคง แน่ใจในทางสังคม ว่าจะซื่อตรงต่อกัน บุตร ภรรยา สามี อะไรก็ตาม จะซื่อตรงต่อกัน นี่มันก็เป็นความไม่แน่ใจที่เกิดอยู่ตลอดเวลา หากแต่ว่าถูกกลบเกลื่อนไว้จึงไม่ค่อยรู้สึก ทีนี้ไอ้ความแน่ ไม่แน่ใจที่รุนแรงไปกว่านั้น ก็คือไม่แน่ใจว่ากำลังทรัพย์ กำลังสติปัญญา วิชาความรู้ของเรา เพียงพอแน่นอนที่จะช่วยเราให้ถึงที่สุดได้ บางทีก็พาลพาโลไปถึงพระพุทธเจ้า ไม่แน่ใจว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นจะดับทุกข์ได้จริง ไม่แน่ใจในพระธรรมว่า พระธรรมนั้นสามารถดับทุกข์ได้จริง ไม่แน่ใจในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบโดยแท้จริง มันมีมากมายหลายสิบอย่าง หลายร้อยอย่าง สำหรับจะไม่แน่ใจ แต่ว่ามันทำ ทำเฉยๆ ลืมๆ เลือนๆ ไปเสียอย่างนั้น ความไม่แน่ใจนี้ รู้สึกว่าจะเป็นนิวรณ์ที่ใหญ่กว่านิวรณ์อันไหนหมด ถึงกับเอาไปเรียงไว้เป็นตัวสุดท้าย มันละเอียด เห็นยาก รู้สึกยาก ไม่เหมือนเป็นเรื่องกามารมณ์ หรือเรื่องพยาบาท เรื่องจิตฟุ้งซ่าน หรือจิตห่อเหี่ยว ความไม่แน่ใจนี้มันลึกซึ้ง มันแนบเนียน มันกระทบกระทั่งโดยไม่ให้ความรู้สึกชัดแจ้ง ก็เลยมีความไม่แน่ใจชนิดที่อยู่ใต้สำนึก อยู่ใต้สำนึก ถ้าว่าเราจะได้ศึกษาให้รู้จักนิวรณ์ทั้งห้า จนรังเกียจ เกลียดชังกันจริงๆ แล้ว การศึกษาและการปฏิบัติธรรมะนี้จะดีกว่านี้มาก จะดีกว่านี้มาก เดี๋ยวนี้เราไม่รู้จักแม้แต่นิวรณ์ที่รบกวนอยู่ตลอดเวลา ตลอดวัน ตลอดเดือนปีชีวิต นิวรณ์นั้นมันก็คือกิเลสนี่แหละ แต่มันไม่รุนแรงถึงขนาดที่จะเรียกว่าไฟ ไม่เรียกว่าไฟ แต่เรียกว่านิวรณ์ คือกั้นจิตใจไว้ไม่ให้ประสบกับความพักผ่อน ความสบาย ความเยือกเย็น เป็นของไม่ ไม่ขบกัด เจ็บปวด รุนแรงแต่รบกวนตลอดเวลา เมื่อฤดูที่แมลงหวี่มันชุมมาก มันมาตอม มาตอมตา ตอมหู เดี๋ยวเข้าไปในลมหายใจ เดี๋ยวเข้าปาก แต่ไม่ ไม่ใช่ทำให้ตาย อย่างนี้มันลักษณะของนิวรณ์ คือมันทำให้ยุ่งยาก ลำบาก เดือดร้อน รำคาญไปหมด เรารู้จักกิเลสน้อยๆ กิเลสประเภทนิวรณ์ กิเลสไม่เต็มขนาดมาตรฐาน บางทีก็ใต้สำนึกก็มี ว่ามันมีอยู่รบกวนความสงบแห่งจิตใจนี้มากนักก็คือบุถุชน มีมากนักก็คือบุถุชน อันเป็นเรื่องของอนุสัยที่ว่ามีกิเลสแล้วเก็บความเคยชินไว้ในสันดานเรียกว่า อนุสัย ทีนี้มันเป็นไอ้ ไออุ่นน้อยๆ ของอนุสัยที่ ที่ออกมาโดยไม่ต้องเจตนา ไม่ต้องมีอารมณ์อะไรก็ได้ ไม่มีเจตนาอะไรก็ได้ มีความรู้สึกเป็นนิวรณ์ แล้วก็ทำให้จิตใจสูญเสียความสงบเย็น นี่ถ้าเป็นบุถุชนมันก็มีมากนัก คือ ปฏิกิริยาจากอนุสัยในสันดาน ถ้ามันออกมาเป็นกิเลส เป็นอาสวะ มันก็รุนแรงเท่าเดิม และมันก็เป็นราคะ โทสะ โมหะ เท่าเดิม ฉะนั้นต้องเป็นไปด้วยเจตนามีอารมณ์ประกอบอย่างยิ่ง เป็นไฟเลย แต่ทีนี้มันไม่ถึงขนาดนั้นได้นี่มันก็เป็นได้แต่เพียงนิวรณ์ รบกวนความสงบสุข แต่โดยเหตุที่มันมีได้ตลอดวันตลอดคืน มันก็เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจไม่น้อยกว่ากิเลส เป็นสิ่งที่ว่ามันมีเป็นของประจำจิตใจของบุถุชน บางคนเข้าใจผิดอย่างน่าหัว น่าหัว คือเขาเข้าใจว่านิวรณ์นี้จะเกิดต่อเมื่อเราตั้งใจจะทำกัมมัฏฐาน ฟังดูให้ดี นิวรณ์นี้มันจะเกิดต่อเมื่อเราตั้งใจจะทำกัมมัฏฐาน จะตั้งใจจะทำกัมมัฏฐาน ไอ้นิวรณ์มันก็มากวน ว่ามันเพิ่งเกิดเมื่อตั้งใจจะทำกัมมัฏฐาน ที่จริงนิวรณ์นี้มันเกิดอยู่ตลอดเวลา บางทีก็ใต้สำนึกด้วยซ้ำไป ไม่แสดงความรู้สึกชัดแจ้ง แต่มันมีการรบกวน รู้สึกว่าถูกรบกวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความไม่แน่ใจ ความไม่แน่ใจในความปลอดภัยแห่งชีวิต ทรัพย์สมบัติ เศรษฐกิจอะไรก็ตาม มันรู้สึกเป็นห่วงอยู่เสมอว่าไอ้เรื่องร้ายๆ น่ะ มันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ นั่นแหละคือความรบกวนแห่งนิวรณ์อันสุดท้าย หรือวิจิกิจฉา จำชื่อของมันไว้ดีๆ จะได้รู้จักตัวมันให้ชัดแจ้ง แล้วจะได้ป้องกันควบคุมไว้ตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะเมื่อจะทำกัมมัฏฐาน กามฉันทะ ความคิดที่ครุ่นไปทางกาม พยาบาทความคิดที่ครุ่นไปในทางไม่ชอบใจ ถีนมิทธะ ความคิดที่มันละเหี่ยละห้อย มันตกต่ำลงไป อุทธัจจกุกกุจจะ ความคิดที่มันฟุ้งซ่านที่มันเกินธรรมดา วิจิกิจฉา คือความไม่แน่ใจในสิ่งที่ควรจะแน่ใจ ตลอดเวลาที่เป็นบุถุชนอยู่ มันก็ยังจะสะดุ้งอยู่ด้วยความไม่แน่ใจนี้เรื่อยๆ ไป มันไม่เกี่ยวกับไปทำกัมมัฏฐานแล้วจึงจะเกิดนิวรณ์ แต่มันเกิดอยู่ทั่วไป รบกวนความสงบสุขอยู่ทั่วไป ถ้าเราไปทำกัมมัฏฐานแล้วมันขับไล่นิวรณ์นี้ไปจากจิตใจ เราก็ได้ความสบายใจ ความสงบเย็นแห่งจิตใจเต็มที่ เพราะนิวรณ์ไม่รบกวน เหมือนว่านอนอ่านหนังสือสบาย แมลงหวี่ไม่มากวน ไม่มาเข้าหู เข้าตา เข้าปาก เข้าจมูก มันไม่ใช่เรื่องตาย แต่มันเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ น่าเกลียดชัง ลำบาก นี่ข้อนี้ก็น่าสนใจนะ ที่ว่ามีนิวรณ์หุ้มห่อ ปิดบัง ท่วมทับ หรือสุมกะลาหัวมันมากเกินไป จึงเป็นบุถุชน เพียงแต่เกลี้ยงเกลาจากนิวรณ์เหล่านี้มันก็พ้นความเป็นบุถุชนนะ เดี๋ยวนี้มันมีมากนัก มันมากเกินไป มีบ้างตาม ตามธรรมดาเล็กๆ น้อยๆ บ้างก็ยังดีนะ ยังเป็นบุถุชนที่ดีนะ ถ้ามันมากเกินไปมันหนานักแล้ว มันเป็นบุถุชนชั้นต่ำที่สุด ชั้นเลวที่สุด ควรจะละอาย เมื่อพูดถึงหิริและโอตตัปปะ ที่ควรจะละอายกันแล้ว อาตมาคิดว่าละอายเรื่องมีนิวรณ์นี้กันให้มากๆ เถิดมันจะกู้ขึ้นมาได้ ให้พ้นจากการบีบคั้นของนิวรณ์ นี่รวมความแล้วก็มีอยู่สิบหัวข้อตามที่มีในพระบาลี มันเป็นบุถุชน เพราะมันหนามากนักด้วยสิ่งสิบประการนี้คือมันหนานักในการให้กิเลสเกิด มันหนานักในการที่เห็นแก่ตัว สักกายทิฏฐิมันหนานัก เพราะว่ามันเป็นผู้ที่จะต้องหาครูมาอีกมาก มันหนานักในการที่ว่ามีคติ หรือลัทธิงมงาย แวดล้อมมากนัก และมันหนานักด้วยการปรุงแต่งในสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องปรุงแต่งออกไปเรื่อยๆ แล้วมันก็หนานักด้วยกระแสน้ำที่พัดพา แล้วมันหนานักด้วยไฟที่ไหม้จิตใจ แล้วมันก็หนานักด้วยความร้อนที่เกิดจากไฟนั้น แล้วก็มันมีกามคุณห้า กำหนัด ผูกพัน ทับถม เกี่ยวข้อง แล้วมันก็หนานักไปด้วยนิวรณ์ทั้งห้า ที่หุ้มห่อปกคลุม ผูกพัน (นาทีที่ 1.00.04) ปะติกุฉิตา นี่ ลักษณะคือเหมือนกับสุมกะลาหัวอยู่ตลอดเวลา ปิดอยู่ข้างบน (นาทีที่ 1.00.12) ปะติกุฉิตา นี่ความเป็นนิวรณ์ เอ้ย, ความเป็นบุถุชนด้วยเหตุผลสิบประการนี้ ขอร้องให้สังเกตให้รู้จักไอ้ความเป็นบุถุชน ซึ่งท่วมทับอยู่ด้วยสิ่งเหล่านี้ แล้วทีนี้ก็คำนวณ คืบไกลออกไปถึงความเป็นพระอรหันต์ ว่าท่านปราศจากสิ่งเหล่านี้โดยประการทั้งปวง เอามาวางคู่กัน เทียบกันดูว่า มันเต็มไปด้วยสิ่งเหล่านี้ กับที่มันไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย นั่นแหละคือความแตกต่างระหว่างบุถุชนกับพระอรหันต์ ให้มันเป็นเรื่องทางจิตใจ มันเป็นเรื่องความสัตย์จริงของชีวิต เป็นเรื่องที่มันเกี่ยวข้องกันอยู่กับความเป็นมนุษย์ ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่ควรจะศึกษา ก็เพราะว่าการเกิดมาเป็นมนุษย์ทีหนึ่งนี้ มันจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ คือมีชีวิตชนิดที่ปราศจากสิ่งเหล่านี้ ไม่เป็นบุถุชนที่หนาไปด้วยสิ่งเหล่านี้ มันมีสิ่งเหล่านี้เบาบางพอสมควร ถ้ามันหมดเอาเสียเลยมันก็เป็นพระอรหันต์ เช่นว่า ไม่มีนิวรณ์เลยนี้มันพูดได้ว่า เพราะมันไม่มีอนุสัยอยู่ในสันดานเลย ไอกรุ่นของอนุสัยไม่ ไม่ขึ้นมา ก็เพราะว่ามันไม่มีอนุสัยอยู่ในสันดานเลย มันก็เท่ากับเป็นพระอรหันต์ เดี๋ยวนี้มันมีขุย แสดง ปากรูว่าใน ในรูนั้นมีตัวอยู่มากนัก ขุยเหล่านี้แสดงออกมาให้เห็นว่าในภายในนั้นมีอนุสัย ความเคยชินแห่งกิเลสเก็บไว้มากนัก เป็นไอระเหยขึ้นมาน้อยๆ อยู่ตลอดเวลา เรียกว่านิวรณ์ เป็นเสนียดจัญไรที่สุดของชีวิต ถ้าชีวิตนี้อย่ามีนิวรณ์รบกวน ก็จะเป็นชีวิตที่ประเสริฐมีแต่ความสงบเย็น อาตมาก็พูดแต่เรื่องบุถุชนแล้ววันนี้ คราวนี้ไม่ต้องพูดเรื่องอื่น พูดแต่เรื่องบุถุชน มันเป็นอย่างนี้ๆๆ สำหรับจะได้เอาไปเปรียบเทียบกับความเป็นพระอรหันต์ ซึ่งมันตรงกันข้าม บางทีจะต้องใช้คำอื่นที่มีความหมายยิ่งกว่าตรงกันข้าม หรือตรงกันข้ามหลายๆๆ เท่าตัว แล้วก็จะรู้สึกเคารพ บูชา รักใคร่ ในพระอรหันต์ แล้วก็อยากจะทำตามพระอรหันต์ดังในบทสวดปัจจเวกขณ์อุโบสถ องค์อุโบสถทั้งแปดนั้นมันมีคำว่าเราจะเดินตามพระอรหันต์ จะทำตามพระอรหันต์ ทั้งวัน วันหนึ่งคืนหนึ่งนั้น นี่แม้แต่คอยกำจัดนิวรณ์ในชีวิตประจำวันเท่านั้นนะ ก็เป็นการเดินตามรอยพระอรหันต์อย่างยิ่งด้วยเหมือนกัน แต่คิดดูให้ดีนะบางทีมันจะยากกว่ารักษาอุโบสถก็ได้นะ การที่จะกันไม่ให้มีนิวรณ์ทั้งห้าเกิดขึ้นเลยในจิตใจจะเป็นสิ่งที่ทำยากกว่าการเดิน กว่าการรักษาอุโบสถแปดประการก็ได้ เพราะว่านิวรณ์มันเป็น ไอ้สิ่งที่ละเอียดอ่อน เกือบจะไม่มองเห็น ไม่เห็นตัว จับตัวไม่ได้ กำจัดมันยาก ต้องอบรมจิตใหม่ ต้องตั้งจิตใหม่ กันเสียใหม่ คือ ทำกัมมัฏฐาน ทำภาวนา กำหนดอารมณ์เป็นกัมมัฏฐาน ถ้าทำสำเร็จ นิวรณ์เตลิดหนีไปไหนหมด ไม่มีๆ เหลืออยู่ ฉะนั้นอย่างน้อยก็พยายามทำกัมมัฏฐานเพื่อจะขับไล่นิวรณ์ประจำวัน ในชีวิตประจำวันก็ยังดีมาก จะได้พบชีวิตใหม่ที่สงบเย็น ขอให้รู้เรื่องนี้อย่างแท้จริงถึงที่สุด แล้วก็กำจัดสิ่งที่ควรกำจัดอยู่ ป้องกันสิ่งที่ป้องกันได้อยู่ ก็จะได้ชื่อว่าเป็นพุทธบริษัทที่ถูกต้องเดินตามรอยพระอรหันต์ การบรรยายนี้ก็พอที่จะเข้าใจในบุถุชน เข้าใจใน ในสิ่งที่เรียกกันว่าบุถุชน ก็ขอให้ความเข้าใจนี้มีกำลังพอที่จะให้ทุกๆ คน ตั้งใจที่จะชำระชะล้างความเป็นบุถุชนให้ก้าวหน้าขึ้นมาตามทางธรรม คำสั่งสอนของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า และก็เป็นสุขอยู่ทุกทิพาราตรี เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้