แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ อาตมภาพจะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนา เป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป ตามทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษปรารภเหตุอาสาฬหบูชา ดังที่ท่านทั้งหลายก็ทราบได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว เราควรจะกระทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ สมแก่อภิลักขิตสมัยในลักษณะเช่นนี้ อภิลักขิตสมัยที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ ขอให้ฟังดูให้ดี
คำว่าอภิลักขิตสมัยก็มีความหมายมากอยู่แล้ว
อภิ แปลว่าอย่างยิ่ง
ลักขตะ แปลว่าควรกำหนดหรือพึงกำหนด
สมัย ก็เวลา
เวลาที่ควรทำความกำหนดในใจให้มากเป็นอย่างยิ่ง เพราะเหตุใด ก็เพราะเหตุว่าเป็นวันที่ระลึกสำคัญที่สุดวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา
วันวิสาขบูชาเป็นวันพระพุทธเจ้า มีเหตุการณ์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า
วันอาสาฬหบูชา วันพระธรรม มีเหตุการณ์เกี่ยวกับพระธรรม
วันมาฆบูชาเป็นวันพระสงฆ์ มีเหตุการณ์เกี่ยวกับพระสงฆ์
เราก็เลยได้วันครบทั้ง ๓ วัน คือวันพระพุทธ วันพระธรรม และวันพระสงฆ์
บัดนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา เป็นวันของพระธรรม ได้เวียนมาครบรอบถึงเข้าอีกในวันนี้ มาถึงแล้ว ฉะนั้นควรจะเตรียมจิตใจทำความระลึกนึกคิดให้เหมาะสมกับวันอันสำคัญนี้ ไม่ควรจะทำความเข้าใจเหมือนลูกเด็กๆ หรือชาวบ้านทั่วไป ว่าวันนี้เป็นเพ็ญเดือน ๘ นั้นมันเป็นการนับวันนับปฏิทินอย่างหนึ่งเท่านั้นว่าวันนี้เป็นวันเพ็ญเดือน ๘ คนทั่วไปเขาก็รู้ และก็ต้องรู้ว่าวันนี้ไม่ใช่วันสำหรับจะเวียนเทียนกันให้สนุกตามความรู้สึกของลูกเด็กๆ ลูกเด็กๆ เขาจำได้เพราะว่าวันนี้เป็นวันที่เวียนเทียน พุทธบริษัทจะมีความคิดนึกมากกว่านั้นนั่นคือเป็นวันเพ็ญ ถ้าว่าเป็นวันเพ็ญ ก็ต้องเป็นวันเพ็ญที่เพ็ญขึ้นมาในหัวใจของคนทุกคนเป็นพิเศษในวันเช่นวันนี้ ถ้าชอบความหมายของคำว่าเพ็ญคือสว่างไสว แจ่มแจ้ง เบิกบานถึงที่สุด ก็ขอให้วันนี้เป็นวันเพ็ญเป็นพิเศษในหัวใจของมนุษย์
ทีนี้ก็ระลึกต่อไปถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า วันนี้เป็นวันที่พระพุทธเจ้าท่านทำอะไรในหน้าที่ของท่านอย่างสูงสุด วันนี้เป็นวันที่พระพระพุทธเจ้าท่านทำอะไรในหน้าที่ ตามหน้าที่ของท่านอย่างสูงสุด พระพุทธเจ้ามีหน้าที่อย่างไร บางคนอาจจะยังไม่ทราบ ขอให้ทำความเข้าใจว่าพระพุทธเจ้านั้นมีหน้าที่คือปลุก ผู้ปลุกคนให้ตื่นจากหลับคือกิเลส นั่นแหละจะเป็นเพ็ญขึ้นมาที่สว่างไสว แจ่มแจ้งขึ้นมา
ถ้าหน้าที่จะดับทุกข์เป็นหน้าที่ของคนทุกคน แต่ถ้าหน้าที่ที่จะปลุกคนทั้งโลกให้ตื่นนี่ คนอื่นมันทำไม่ได้ มันทำได้แต่พระพุทธเจ้า จึงยกไว้ให้เป็นหน้าที่ของพระพุทธเจ้า ทำหน้าที่ปลุกคนให้ตื่น สัตว์โลกหลับอยู่ด้วยอำนาจของกิเลสโดยเฉพาะก็คืออวิชชา
คนในโลกหลับอยู่ด้วยความหลับแห่งกิเลส เรียกว่ากิเลสนิทรา กิเลสนิทรา จำไว้ดี ๆ เพราะบางทีมันจะได้แก่เราเอง ซึ่งมันยังหลับอยู่ด้วยกิเลสนิทรา โดยมากก็เป็นอย่างนี้ถ้าไม่ได้ศึกษาอะไรมามันก็หลับอยู่ด้วยกิเลสนิทราด้วยกันทั้งนั้น มันก็ทนทุกข์ทรมานไปตามเรื่องของคนที่หลับ พระพุทธเจ้ามีหน้าที่สูงสุดคือปลุกคนเหล่านี้ให้ตื่นขึ้นมาจนกลายเป็นคนตื่น หลับด้วยกิเลสนิทรานี่ อธิบายกันง่ายๆว่ามันถือไสยศาสตร์
ไสยศาสตร์ แปลว่าศาสตร์สำหรับคนหลับ พุทธศาสตร์ มันศาสตร์สำหรับคนตื่น คิดดูให้ดี ถ้าถือไสยศาสตร์น่ะมันเป็นศาสตร์สำหรับคนหลับ เพราะคำว่าไสยะๆ มันแปลว่าหลับ มันไม่รู้ว่าจะดับทุกข์ของมันอย่างไรโดยตนเอง มันก็ต้องพึ่งผีสางเทวดาอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งมันเองก็ไม่รู้ว่ามันจะช่วยได้อย่างไร แต่ก็ถือกันไปอย่างหลับๆ นี่ก็เรียกว่าเป็นคนหลับเหมือนกัน หลับด้วยกิเลสนิทราอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็มาปลุก คือมาชี้ให้เห็นว่าความทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ความดับทุกข์เป็นอย่างไร ทางให้ถึงความดับทุกข์เป็นอย่างไร คนเหล่านี้จึงตื่นจากหลับ รู้จักช่วยตัวเอง เราจึงถือว่าพระพุทธองค์เป็นผู้ปลุกอย่างยิ่ง แต่เรียกว่ากันตรงๆ ก็ว่าเป็นผู้สอนธรรมะ สอนธรรมะนั่นแหละคือการปลุก ปลุกให้ตื่นจากความไม่รู้ จากอวิชชา ความไม่รู้ตามที่เป็นจริง ขอให้สนใจกันเป็นพิเศษ
วันนี้เป็นที่ระลึกตรงกับวันนั้น คือเป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่เรียกว่าปฐมเทศนาคือเทศนาครั้งแรกที่สุด มีผู้ฟังแล้วสามารถปฏิบัติตามก็ดับทุกข์ได้ พระธรรมก็ปรากฏขึ้นมาในโลก เป็นแสงสว่างในโลก
เลยกล่าวได้ต่อไปอีกว่า วันนี้เป็นวันสำคัญที่สัตว์โลกทั้งหลายได้รับประโยชน์สูงสุด สัตว์โลกทั้งหลายไม่เคยได้รับประโยชน์สูงสุดและก็หลับอยู่ด้วยกิเลสนิทรา วันนี้ได้รับการปลุกเป็นครั้งแรกและก็ตื่นกันทั้งเทวดาและมนุษย์ ในพระบาลีว่าอย่างนั้น ฟังแล้วเข้าใจได้รับประโยชน์กันทั้งเทวดาและมนุษย์ เทวดานั้นก็ตามที่ได้ฟังกันอยู่แล้วทราบกันอยู่แล้วว่าอยู่ในสวรรค์มากมาย เหลือที่จะกล่าวได้ว่ามีเท่าไหร่
แต่ในที่นี้อยากจะอธิบายเพิ่มเติมว่าเทวดานี้มันก็ไม่ดีกว่ามนุษย์ มันเพียงแต่ว่าไม่รู้จักเหงื่อ มนุษย์น่ะมันรู้จักเหงื่อ มันต้องอาบเหงื่อมันจึงจะมีกินมีใช้ คนไหนมันไม่รู้จักเหงื่อมันมีกินมีใช้แล้วก็ให้มันเป็นเทวดา คือผู้ที่ไม่รู้จักเหงื่อ แล้วทีนี้มาเปรียบเทียบกันทีว่าใครมันจะโง่กว่ากัน คนหนึ่งมันโง่จนไม่รู้จักเหงื่อมันจะฉลาดได้อย่างไรเล่า
นี่ขอให้เข้าใจว่าในเทวโลกก็เต็มไปด้วย โลภะ โทสะ โมหะ มีกิเลสเหมือนกัน ไม่ใช่ไม่มีกิเลส แต่มันมีบุญกุศลอะไรพิเศษ ทำให้ไม่รู้จักเหงื่อ สนุกสนาน ร่าเริง เพลิดเพลินกันไปตามแบบของเทวดา แต่แล้วมันก็ต้องมานั่งร้องไห้อยู่บ่อยๆ เหมือนกัน คือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายยังบีบคั้นอยู่ เดี๋ยวก็มีความโลภอยากได้นั่นนี่ เดี๋ยวก็โกรธขัดใจแล้วมันก็ตายนะ เป็นเทวดานี้โกรธไม่ได้นะ พอโกรธแล้วมันหมดความเป็นเทวดา เอาล่ะ เป็นอันว่าเทวดามีอยู่ในลักษณะที่ไม่รู้จักเหงื่อ แต่แล้วมันก็น่าหัวเราะที่ว่าทั้งคนที่รู้จักเหงื่อและไม่รู้จักเหงื่อมันก็ยังมีความทุกข์ เพราะความเกิด แก่ เจ็บ ตาย นี่จึงไม่ยกเว้นแม้แต่เทวดา ก็ต้องได้ยินได้ฟังคำสอนอันนี้
ตามเรื่องราวที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์นั้นมีว่าเทวดาได้ยินได้ฟังว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมในวันนี้แล้ว ก็บอกต่อๆ กันไปถึงเทวดาทุกชั้น ทุกชั้นเทวดาจนถึงชั้นพรหมโน่น เทวดาพวกกามาวจรนี้ ๖ ชั้นและชั้นรูปพรหมอีก ๔ ชั้น ชั้นอรูปพรหม ชั้นรูปพรหม ๑๖ ชั้น ชั้นอรูปพรหมอีก ๔ ชั้น รวมเป็นกี่ชั้นก็นับเอาเอง นี่บอกต่อๆ กันไป รู้จนถึงชั้นสูงสุดที่เรียกว่าภวัคคพรหม ภวัคคพรหมนั้นคือพรหมชั้นสุดท้าย ถ้ามันไปเลยนั้นไปมันก็นิพพาน มันก็เป็นเรื่องนิพพาน มรรคผลนิพพาน เรื่องของมีตัวมีตนนี้มันไปสุดอยู่แค่ภวัคคพรหม
นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย นี่เป็นอบาย ๔ ชั้น ถ้าเป็นมนุษย์ธรรมดา ๑ ชั้น เป็นสวรรค์กามาวจร ๖ ชั้น เป็นรูปพรหม ๑๖ ชั้น เป็นอรูปพรหม ๔ ชั้น รวมกันจะได้สัก ๓๑ ชั้น
นี่พวกที่ยังหลับอยู่นั่น ถ้าไม่ได้ยินได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็จะยังคงหลับอยู่ด้วยกิเลสนิทรา วันนี้ได้ยินได้ฟังคำสอนเป็นพิเศษ แม้ว่าจะไม่ได้ฟังคราวเดียวกันทุกคน แต่ก็กล่าวได้ว่าได้ทรงแสดงขึ้นแล้วในโลก มีอยู่แล้วในโลก แพร่หลายไปในโลก ทั้งเทวโลกและมนุษย์โลก จึงถือว่าเป็นวันที่ชาวโลกทุกโลกได้รับประโยชน์สูงสุดจากพระพุทธเจ้า ทีนี้ก็จะใช้คำอีกคำหนึ่งว่าเป็นวันที่ชาวโลกได้รับระบบชีวิตใหม่ ระบบชีวิตใหม่ ชาวโลกได้รับระบบชีวิตใหม่ ก่อนนี้มันมีชีวิตหลับ เดี๋ยวนี้มันจะมีชีวิตตื่นกันแล้ว ฉะนั้นใครยังหลับอยู่ก็ช่วยรู้สึกตัวกันสักหน่อย ขยับขยายให้ดีหน่อย จะได้ตื่นให้สมกับว่าวันนี้มันเป็นวันที่ต้องตื่น ได้รับระบบชีวิตใหม่
คำว่าใหม่นี้แปลกประหลาดมากนะ ในพระบาลีนั้นมีกล่าวว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่า อนนุสฺสุเตสุ ปุพฺเพสุ แม้พระองค์เองก็ไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องนี้มาแต่ก่อน เพิ่งมาตรัสรู้เฉพาะขึ้นด้วยพระองค์เองเป็นของใหม่ ไม่เคยได้ยินได้ฟังใครพูดเรื่องนี้กันมาแต่ก่อน แต่พระองค์ได้มาตรัสรู้ขึ้นได้ด้วยพระองค์เอง เป็นของใหม่ คือเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ นี่เป็นของใหม่ ฉะนั้นก็นำมาแสดงแก่ชาวโลก ก็ต้องนึกคิดพิจารณากันถึงเรื่องชีวิตใหม่นี้ให้ดีๆ โลกได้รับความรู้ใหม่ เป็นเรื่องระบบการดำรงชีวิตกันอย่างใหม่ อย่าให้มีความทุกข์เกิดขึ้นได้
โลกนี้ถ้ามันปล่อยไปตามประสาโลกนั้นมันก็คือความทุกข์ ในโลกมีทุกข์ มีโลกก็ต้องมีทุกข์ นี่เรียกว่ามันคู่กันกับโลก ถ้าได้ระบบชีวิตใหม่ดำเนินชีวิตใหม่ แม้อยู่ในโลกก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะมันสามารถถอนจิตใจ ดำรงจิตใจ ยกจิตใจ ขึ้นมาเสียจากโลก ไม่จมอยู่ในโลก ไม่จมอยู่ในเหยื่อของโลก คือความสุข สนุกสนาน เอร็ดอร่อย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งเป็นเรื่องสำหรับคนที่ยังไม่รู้อะไร มันก็หลงกันไป นี่เรียกว่ามันจมโลก มันก็ต้องมีความทุกข์อย่างชาวโลก ทีนี้อยู่ในโลกแล้วก็ไม่หลงเหยื่อในโลก ฉะนั้นก็เลยไม่จมอยู่ในโลก นี่เป็นของใหม่ขึ้นมา
ความรู้อันนี้ท่านเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นเรื่องแรกแล้วจึงค่อยทรงแสดงเรื่องอริยสัจ เปิดเผยแก่มนุษย์ด้วยเรื่องมัชฌิมาปฏิปทาก่อน อย่าไปสุดโต่งเรื่องอัตตกิลมถานุโยคและกามสุขัลลิกานุโยค แล้วก็อยู่ตรงกลางเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา นี่สิ่งที่สอนสิ่งแรกหรือเรื่องแรกที่สุด เราควรจะสนใจคำว่ามัชฌิมาปฏิปทากันเป็นอย่างยิ่ง ดูยังจะไม่ค่อยจะสนใจ
ต้องขออภัยที่จะกล่าวว่า ท่านก็สนใจเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กันเป็นการใหญ่ แต่แล้วอาจจะไม่สนใจเรื่องคำว่ามัชฌิมาปฏิปทาเสียเลยก็ได้ ที่จริงมันจะสำคัญกว่าเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไปเสียอีก มัชฌิมาปฏิปทา มันทำให้คนเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้เป็นพระธรรมอยู่ในตัว ทำให้คนเป็นพระพุทธ ทำให้คนเป็นพระสงฆ์ ให้ดับทุกข์ได้โดยประการทั้งปวง เรียนรู้เรื่องมัชฌิมาปฏิปทาโดยตรง แล้วก็จะดับทุกข์ได้ ครั้นดับทุกข์ได้แล้วจึงจะรู้
พระพุทธเป็นอย่างนี้ พระธรรมเป็นอย่างนี้ พระสงฆ์เป็นอย่างนี้ รู้เรื่องมัชฌิมาปฏิปทาให้ถูกต้องครบถ้วน ปฏิบัติได้ถึงที่สุด ดับทุกข์ได้สิ้นเชิง จึงจะรู้จักพระพุทธเจ้าพระองค์จริงว่า คือ บุคคลที่ไม่มีความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ แล้ววิเศษประเสริฐตรงที่รู้ได้เอง ไม่ต้องฟังจากคนอื่น รู้ได้เอง แล้วมันก็วิเศษ สอนผู้อื่นอีก รู้เองดับทุกข์เองแล้วยังสอนผู้อื่นอีกในการที่จะดับทุกข์ได้อย่างนี้ ฉะนั้น ผู้ใดดับทุกข์ได้สิ้นเชิง ผู้นั้นจะรู้จักพระพุทธเจ้าถึงที่สุด ไม่อย่างนั้นก็รู้จักแต่พระพุทธรูป พระพุทธบาท พระอัฐิธาตุกันไปก่อนเถิด ต่อเมื่อดับทุกข์ได้สิ้นเชิง รู้ความไม่มีทุกข์โดยประการทั้งปวงแล้ว จึงรู้จักพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ดังนั้น พระองค์จึงตรัสว่าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม เห็นธรรมคือความดับทุกข์ได้สิ้นเชิง ทุกข์เป็นอย่างไร ดับทุกข์สิ้นเชิงเป็นอย่างไร เห็นโดยประจักษ์อย่างนี้เรียกว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า อย่างที่พระองค์ตรัสว่าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดไม่เห็นธรรม ผู้นั้นไม่เห็นเรา แม้จะจับแข้งจับขาจับจีวรของเราไว้ ไปไหนไปด้วยกันอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่ชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า
นี้มันก็ได้แก่คนทั้งหลายในอินเดียสมัยโน้น ในอินเดียในท้องสมัยกับพระพุทธเจ้า เขาไม่เลื่อมใสพระพุทธเจ้ากันก็มีมากเหมือนกัน ประกาศตนเป็นศัตรูกับพระพุทธเจ้าก็มีมาก ผู้หญิงที่สามีเขาไปบวชเสียเขาก็ด่าพระพุทธเจ้านี้ก็มีอยู่มาก ว่าเป็นคนที่ทำให้คนเป็นม่าย คบไม่ได้ อย่ามาที่นี่อย่างนี้เป็นต้น พวกผู้หญิงเขาก็ด่าพระพุทธเจ้าว่าอย่างนี้ นี่ก็แสดงว่าในครั้งพุทธกาลก็มีคนที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจธรรมะ ไม่เห็นพระพุทธเจ้า แม้จะเดินสวนทางกันอยู่เกือบจะทุกวัน เพราะว่าพระพุทธเจ้าก็ไปบิณฑบาตทุกวัน
ก็เป็นอันว่าจะต้องเห็นธรรมะคือความดับทุกข์ได้สนิทสิ้นเชิง แล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาใหม่ เหมือนกับ เหมือนกับยิ่งกว่าเกิดใหม่ ไม่รู้จะพูดว่าอะไรดี มันไม่เกิด มันกลายเป็นไม่เกิด จะเรียกพูดว่าเกิดใหม่ก็ยังน้อยไป แต่จำเป็นที่จะต้องพูดว่ามีระบบชีวิตใหม่ มีการเป็นอยู่อย่างใหม่ที่ไม่ต้องเป็นทุกข์
เดี๋ยวนี้คนโดยมากมันมีความทุกข์ มันไม่รู้จักละอายแมว แมวมันไม่เป็นทุกข์ คนมันก็เป็นทุกข์ แล้วมันก็ไม่รู้จักละอายแมว แล้วมันยังจะดูถูกแมวที่ไม่เป็นทุกข์เสียอีก คนมันคิดเก่ง มันก็เลยได้เป็นทุกข์มากตามความคิดด้วยอวิชชา แมวมันไม่ได้คิดนี่ มันจะมีอวิชชาหรือไม่มีอวิชชาก็ไม่รู้ แต่มันคิดไม่เก่งมันก็เป็นทุกข์ไม่ได้ มันไม่มีปัญหามากเหมือนคน
เรื่องข้าวเรื่องของ เรื่องเงินเรื่องทอง เรื่องบุตรภรรยาสามี เรื่องได้เรื่องเสีย เรื่องแพ้เรื่องชนะ เรื่องสารพัดเรื่อง ซึ่งคนมันเป็นทุกข์ แต่แมวมันคิดไม่เป็นมันไม่เป็นทุกข์ แต่คนมันก็ไม่ละอายแมวที่ว่าแมวมันไม่เป็นทุกข์ ถ้าละอายแมวกันเสียบ้าง ก็คงจะปรับปรุงกันใหม่ จัดแจงกันใหม่ ขวนขวายกันใหม่ให้มีความทุกข์ลดลง ลดลง ลดลง เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าได้จริง พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
สาวกทั้งหลายก็ควรจะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน รู้เรื่องดับทุกข์และก็ตื่นจากหลับคือกิเลส และก็เบิกบานคือมีความไม่ทุกข์ จะเรียกว่าความสุขก็ตามใจ แต่ไม่ควรจะเรียกว่าความสุข เพราะมันจะหลอกขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เรียกว่าไม่มีความทุกข์และก็เบิกบาน มันก็เบิกบานเหมือนกับดอกไม้บาน แต่มันบานพิเศษที่ไม่รู้จักโรย ดอกไม้บานแล้วมันรู้จักโรย แต่ถ้าเบิกบานด้วยการตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าแล้วเป็นความเบิกบานที่ไม่มีโรย ไม่มีร่วงโรยอีกต่อไป นี่จึงขอเรียกว่าเป็นชีวิตใหม่ เอาล่ะ,ขอให้จำคำว่ามัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทา ท่องไว้ให้ขึ้นใจและก็รู้ความหมายให้ดีๆ แล้วดำเนินชีวิตตามนั้นให้ได้ นี่จึงจะไม่เสียทีที่เป็นพุทธบริษัทผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แล้วมาประชุมกันทำพิธีอาสาฬหบูชา ฉลองความสำเร็จของพระพุทธเจ้าในการประกาศพระพุทธศาสนา
พูดถึงคำว่ามัชฌิมาปฏิปทากันต่อไป
คำว่า มัชฌิมา แปลว่า อยู่ตรงกลาง
ปฏิปทา แปลว่าการปฏิบัติ
ปฏิปทานี่ยืมมาจากคำว่าเดิน ชาวบ้านเดิน คนเดิน อะไรเดินนี่ก็เรียกว่าปฏิปทา เอาคำๆ นี้มาใช้เป็นชื่อของระบบการปฏิบัติ เพราะว่าการปฏิบัติน่ะ มันเหมือนกับการเดินคือจิตใจมันเดิน จิตใจมันเดินจากความทุกข์ไปสู่ความดับทุกข์ จึงเรียกว่าปฏิปทา แปลว่าการเดินไปตามลำดับ ไต่เต้าไปตามลำดับ
ทีนี้มัชฌิมา มัชฌะนี่กลาง อิมะแปลว่ามี มีในท่ามกลาง มีในท่ามกลางก็คือมันอยู่ตรงกลาง
คำนี้เป็นคำที่ควรจะเข้าใจให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นจะไม่ได้รับประโยชน์จากคำๆ นี้ อยากจะให้นึกคำๆ หนึ่งซึ่งคนเขาพูดกันติดปาก คือคำว่ามัธยัสถ์ๆน่ะ เข้าใจว่าทุกคนนี้เคยได้ยินคำว่ามัธยัสถ์ แต่ก็น่าหัวเราะที่ว่ามันมีความหมายไปในทางขี้เหนียวโดยมาก มัธยัสถ์น่ะ จริง จริงหรือเปล่าลองคิดดู คนที่เคยได้ยินได้ฟังคำว่ามัธยัสถ์น่ะ ถือเอาความหมายของคำๆ นี้อย่างไร มันถือเอาประหยัดหรือขี้เหนียวเสียอีก มันไม่ถูก มันไม่อยู่ตรงกลาง ฉะนั้น ถ้าจะมัธยัสถ์แล้วก็ต้องอยู่ตรงกลาง ไม่ขี้เหนียวและก็ไม่สุรุ่ยสุร่าย และก็อยู่ตรงกลาง พอถูกต้อง พอดี นั่นแหละเรียกว่ามัธยัสถ์ ฉะนั้น ขอให้รู้จักมัธยัสถ์กันเสียบ้าง อย่าให้มันกลายเป็นขี้เหนียวหรือประหยัดจนเกินไป ถือคำว่ามัธยัสถ์ก็ได้ แทนคำว่ามัชฌิมาก็ยังได้ เพราะว่าความหมายมันเดียวกัน
มัธยะมันก็กลาง สถะ มันแปลว่าอยู่ มัธยะ+สถะ ก็แปลว่ามันอยู่ที่ตรงกลาง มีในท่ามกลาง ตั้งอยู่ตรงกลาง
เดี๋ยวนี้กำลังถือเอาความหมายนี้ผิด เพราะว่าไปนิยมคำว่าอยู่ดีกินดี ถือว่าอยู่ดีกินดีนั้นน่ะคือถูกต้องหรือตรงกลาง ถ้าถือถูกต้องอย่างนั้นก็ดีไป ทีนี้กลัวเสียว่ามันจะถือกินดีอยู่ดีอย่างไม่มีขอบเขต มันกินดีอยู่ดีของกิเลส มันไม่มีขอบเขต มันก็จะกินดีอยู่ดีเรื่อยไปจนไม่มีขอบเขต ใครชอบคำว่ากินดีอยู่ดี ระวังนะ ไปศึกษาสอบสวนเสียดีๆ ว่ากินดีอยู่ดีนั้นมันต้องอยู่ตรงกลาง เดี๋ยวนี้กิเลสมันไม่ยอมอยู่ตรงกลาง มันจะปีนขึ้นไปเรื่อย ไปหาที่ที่เกินอยู่เรื่อยไป
ฉะนั้น เปลี่ยนคำใหม่ เปลี่ยนคำใหม่เสียดีกว่าให้เป็นคำว่ากินอยู่พอดี กินอยู่พอดี ท่านทั้งหลายจงถือหลักให้ถูกต้องว่ากินอยู่พอดี อย่าใช้คำว่ากินดีอยู่ดี กิเลสมันจะได้โอกาสและมันก็จะกินไม่มีขอบเขต ดี ดี ดี ดี เรื่อยไป อย่าไปบูชากินดีอยู่ดี จะตกนรกไม่ทันรู้ ถ้ากินอยู่แต่พอดีนี่จะรับประกันได้ว่าปลอดภัย ถ้ากินอยู่แต่พอดี นี่จะเข้ากับคำว่ามัชฌิมาปฏิปทา ถ้าเกิดจะถามขึ้นมาว่าเท่าไหร่เรียกว่าพอดี พอดี มันวัดยาก มันก็วัดยาก มันก็ตอบได้ว่าพอดีนั้นคือไม่เกิดปัญหายุ่งยากลำบากขึ้นมา ไม่เกิดความทุกข์ขึ้นมา ไม่เกิดความเดือดร้อนใดๆ ขึ้นมา ไม่กระทบกระทั่งใคร ตัวเองก็ไม่เดือนร้อน ผู้อื่นก็ไม่เดือดร้อน มันถูกต้องไปหมด อย่างนี้ก็เรียกว่าพอดีได้
ดูตามตัวหนังสือกันต่อไปอีก พอดี พอดี นี่ มันมีความหมายไกลออกไปอย่างไรอีก พอดี ในแง่โลกๆ นี่ ก็จะพูดว่าไม่ขาดไม่เกิน ไม่ขาดจนรู้สึกลำบาก ทนทรมาน ไม่เกินจนเป็นบ้า หลงไปเลย นี่ไม่ขาดไม่เกิน ไม่ตึงไม่หย่อน
ถ้าตึงมันก็ไม่ไหว มันอยู่ด้วยความเครียด ถ้าหย่อนมันก็อยู่ด้วยความโง่ ความโลเลไร้สาระ อย่าให้เป็นเรื่องตึง อย่าให้เป็นเรื่องหย่อน
มีคำอีกคำหนึ่งซึ่งพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสใช้เรียกเหมือนกันว่าไม่เปียกแฉะและไม่ไหม้เกรียม เปียกแฉะคือจมอยู่ในกามารมณ์ เปรียบด้วยของเปียกแฉะ ไหม้เกรียมก็จนเป็นการทรมานตัวให้ลำบากโดยไม่รู้ตัว มันควรจะได้เท่านี้ควรจะพอมันก็ไม่พอ
ความโง่นั่นแหละมันทำให้ทำมากเกินกว่าเหตุจนทำความลำบากให้แก่ตัวเอง คำพูดนี้ฟังดูมันกำกวมชอบกล คนทุกคนน่ะ มันรักตัวเอง ไม่อยากให้ตัวเองลำบาก แต่มันก็ทำเรื่องที่ให้ตัวเองลำบากโดยไม่จำเป็นอยู่บ่อยๆ ข้อนี้ดูให้ดีนะมันมีอยู่ทุกคน มันไม่ต้องทำ มันไปทำเข้าในสิ่งที่ไม่ต้องทำ มันทำให้ตัวเองลำบาก
บ้านนอกคอกนาเรามีคำพูดคำหนึ่งว่ายักกระดูก ยักกระดูก นั้นน่ะมันใช้ไม่ได้ คือมันไปทำตัวเองให้ลำบากเสียเปล่าๆ โดยไม่จำเป็นจะต้องทำ เดี๋ยวนี้คนยักกระดูกมันก็ยังหาดูได้ ก็เรียกว่าคนทำตัวเองให้ลำบากนั้นมันยังมีอยู่ อย่างนี้เรียกว่ามันเกินแล้ว มันตึงแล้ว มันไหม้เกรียมได้ นี้อย่าให้ขาด อย่าให้เกิน อย่าให้ตึง อย่าให้หย่อน อย่าให้เปียกแฉะและก็อย่าให้ไหม้เกรียม
ถ้าในแง่ของธรรมะ ภาษาธรรมะก็ว่าไม่พัวพันอยู่ในกาม ไม่ทำตนให้ลำบาก พูดอย่างภาษาการเมืองก็ว่าไม่ขวาจัด ไม่ซ้ายจัด ขวาจัดมันก็เครียด ซ้ายจัดมันก็หย่อนไป อยู่อย่างเจ้าสำราญมันก็เกินไป อยู่อย่างลำบากมันก็เกินไป บางคนอยู่อย่างลำบากอดกลั้นอดทน อดกลั้นอดทน ตายแล้วทิ้งไว้เยอะแยะไม่รู้ว่าให้ใครดี ตัวเองอยู่อย่างลำบาก มันก็ลำบาก ก็อยู่อย่างลำบาก อยู่อย่างเจ้าสำราญ ก็สำราญสำเริงเกินไป จนเงินไม่พอใช้อยู่เสมอ นี้ก็มันเรียกว่าไม่พอดีหรือไม่อยู่ตรงกลาง ขอให้สนใจคำว่าพอดีหรืออยู่ตรงกลางไว้ในลักษณะอย่างนี้
ทีนี้มีธรรมะระดับสูงสุดอีก ธรรมะระดับโลกุตตระ มีคำว่าอยู่ตรงกลาง อยู่ตรงกลางน่ะ มีอีกชั้นหนึ่ง อีกกลุ่มหนึ่งต่างหาก ตรงกลาง มัชฌิมาปฏิปทาก็คือว่า ไม่สัสสตะ ไม่อุจเฉทะ
สัสสตะมันก็มีตัวตนยั่งยืน เป็นตัวกู อุจเฉทะมันก็ว่าไม่มีตัวกู ไม่มีตัวตน ไม่มีอะไรเสียเลย นี่ดูให้ดีว่าเรื่องนี้ยังมีความเกี่ยวข้องกันอยู่กับคนทุกคน คนพวกหนึ่งมันถือว่าตายแล้วเกิด มันก็บ้าเกินไป พวกถือว่าตายแล้วไม่เกิดมันก็บ้าเท่ากัน
ถ้าตายแล้วเกิดมันก็เหวี่ยงสุดไปทางเกิด ตายแล้วไม่เกิดมันก็เหวี่ยงสุดมาทางไม่เกิด ฉะนั้น ถ้ามันอยู่ตรงกลางถูกต้อง มันก็ว่าแล้วแต่อิทัปปัจจยตา ถ้าเหตุปัจจัยสำหรับให้เกิดมี มันก็เกิด ถ้าเหตุปัจจัยไม่มีให้เกิด มันก็ไม่เกิด ก็แล้วแต่อิทัปปัจจยตา อย่าไปพูดอย่างโง่ๆ ว่าตายแล้วเกิดบ้าง ตายแล้วไม่เกิดบ้าง ต้องพูดว่าแล้วแต่อิทัปปัจจยตา คือแล้วแต่เหตุแล้วแต่ปัจจัย นี่เป็นมัชฌิมาชั้นสูงสุดไปอยู่ที่อิทัปปัจจยตา
แล้วถ้าให้มันสูงสุดกว่านั้นอีกมันก็ยังเป็นไปได้คือว่าสุญญตา ไม่มีตัวตนนั่นแหละกลางที่สุด มันไม่มีตัวตน มีอะไรก็มีไป แต่ไม่มีตัวตน ไม่มีความหมายแห่งตัวตน ไม่ยึดถือว่าตัวตน มันไม่มีตัวตนที่เกิดมาแล้ว ไม่มีตัวตนที่เกิดอยู่ ไม่มีตัวตนที่จะเกิดอีกต่อไป นี่เป็นสุญญตา อย่างนี้กลาง กลางเหลือประมาณ กลางที่สุดเลย เป็นสุญญตา เป็นนิพพาน นั่นแหละกลางถึงที่สุดมันเป็นอย่างนั้น
อาตมาเข้าใจเรื่องนี้และก็สอนเรื่องนี้ ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นครูสอนนักธรรม เมื่อเกือบ ๖๐ ปีมาแล้ว สอนเรื่องนี้ สอนอย่างนี้ สอนว่าอย่าพูดว่าตายแล้วเกิด อย่าพูดว่าตายแล้วไม่เกิด พูดว่าแล้วแต่เหตุปัจจัย ถ้าปัจจัยมีก็เกิด ปัจจัยไม่มีก็ไม่เกิด สอนอย่างนี้ แต่ว่าเดี๋ยวนี้ ๖๐ ปีมาแล้วนี้ก็ยังถูกด่า มีคนด่าลับหลัง ด่าในหนังสือพิมพ์ ด่าอาตมาว่าสอนว่าตายแล้วสูญนี่ คงเห็นหลายๆคน คงจะได้เห็นได้อ่านว่ามีคนด่าอาตมาว่าสอนธรรมะว่าตายแล้วสูญ มันจะเป็นเรื่องของนายปุ่น ของคนอื่นที่เอาไปพูดเอาเอง ว่าตายแล้วสูญ แล้วคนๆนั้น มันเกลียดอาตมา มันก็เอามายัดให้เป็นคำพูดของอาตมาว่าสอนคนว่าตายแล้วสูญ นี่เป็นพยานไว้ด้วย อาตมาสอนเรื่องนี้อย่างนี้ ตั้งแต่คนที่มันว่านั้นมันยังไม่เกิด คนนั้นมันยังไม่เกิดที อาตมาได้สอนว่าตายแล้วเกิดไม่ได้ ตายแล้วสูญก็ไม่ได้ ก็แล้วแต่อิทัปปัจจยตา นี่คำว่ากลางๆ มันเป็นอย่างนี้ รู้จักกันไว้ด้วย เป็นพยานกันไว้ด้วยว่า
ถ้าว่าถามว่าตายแล้วเกิดหรือไม่ ก็บอกว่าแล้วแต่เหตุปัจจัย ถ้าปัจจัยมีก็เกิด ปัจจัยไม่มีก็ไม่เกิด นี่ถูกอย่างธรรมดาเท่านั้นแหละ ถูกอย่างสามัญธรรมดา ถ้าถูกอย่างแท้จริง มันก็ต้องไปถึงว่ามันไม่มีคน มันไม่มีคน มันไม่มีคนที่เกิดมาแล้ว ไม่มีคนที่เกิดอยู่นั่งอยู่ที่นี่ แล้วมันก็ไม่มีคนจะตายแล้วเกิดใหม่อีกต่อไป คือมันไม่มีคนนั่นเอง มันก็ว่างโดยประการทั้งปวง นั่นแหละคือมัชฌิมาปฏิปทาอย่างยิ่ง คำอธิบายอย่างนี้ก็มีในพระบาลี แต่ว่าเขาไม่ค่อยเอามาพูดกัน เขาไม่เอามาสอนกัน จึงเชื่อว่าท่านทั้งหลายส่วนมากนี้ไม่เคยได้ยินว่ามัชฌิมาปฏิปทาสูงสุดนั้นอยู่ที่สุญญตา
วันนี้เป็นวันมัชฌิมาปฏิปทา ความสำคัญของวันนี้มีความสำคัญรวมอยู่ที่คำว่ามัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติสายกลาง ดับทุกข์ นำไปสู่ความว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ ว่างจากตัวตนโดยประการทั้งปวง นั่นแหละคือมัชฌิมาปฏิปทา และผลสุดท้ายจบลงด้วยคำว่าสุญญตา แล้วกลางที่สุด เข้าใจความหมายของคำว่าว่างเสียก่อนสิ ถ้าว่างแล้วมันก็ไม่มีซ้าย ไม่มีขวา ไม่มีหน้า ไม่มีหลัง ไม่มีตึง ไม่มีหย่อน ไม่มีขาด ไม่มีเกิน ไม่มีเปียกแฉะ ไม่มีไหม้เกรียม ไม่มีอย่างนั้น ไม่มีอย่างนี้ ไม่มีอย่างอื่น นั่นแหละคือกลางที่สุดเลย แล้วกลาง กลางครอบงำไปสากลจักรวาลด้วย
นี่มัชฌิมาปฏิปทามีความหมายตั้งแต่ต่ำที่สุด จนถึงสูงที่สุดอย่างนี้ ขอให้เข้าใจไว้ด้วย เดี๋ยวนี้เราก็จะเอาประโยชน์จากมัชฌิมาปฏิปทา ให้สมกับที่ว่าวันนี้มันเป็นวันมัชฌิมาปฏิปทา พอดี พอดี ไม่มีอะไรจะพอดีเท่ากับความว่าง ถ้ามันยังไม่ถึงความว่างแล้ว ความพอดีนั้นไม่ถึงที่สุด ถ้าเมื่อถึงความว่างโดยประการทั้งปวงมีความพอดีรอบด้าน ถูกต้องรอบด้าน ไม่มีความทุกข์รอบด้าน มัชฌิมาปฏิปทาเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพรหมจรรย์ ตัวพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนา ตัวแท้ของพระพุทธศาสนาคือมัชฌิมาปฏิปทา ปฏิบัติสายกลางประกอบไปด้วยองค์ ๘
ทีนี้พูดถึงการปฏิบัติแล้ว พอจะปฏิบัติให้เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ก็ต้องศึกษาเรื่องการปฏิบัติที่ประกอบไปด้วยองค์ ๘ ที่เรียกว่าอัฏฐังคิกมรรค มรรคมีองค์ ๘ หรืออริยอัฏฐังคิกมรรค มรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ นั่นแหละตัวพรหมจรรย์ตัวแท้ของพระพุทธศาสนา เราเรียกกันว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ หรือเรียกว่ามรรคมีองค์ ๘
แต่คนสะเพร่า หรือก็จะต้องขออภัยว่าคนมันไม่สังเกต คนโง่มันไม่สังเกต มันจะพูดว่ามรรค ๘ ก็เลยเลิกกันไม่รู้จะเดินอย่างไร ถ้ามรรคมันตั้ง ๘ องค์ ๘ ทาง มรรค ๘ ทางจะเดินอย่างไร มรรคมีทางเดียวแต่ว่าประกอบไปด้วยองค์ ๘ ทั้ง ๘ องค์ประกอบกันเข้าเป็นทางๆ เดียว นี่จำให้ดี อย่าไปพูดว่ามรรค ๘ น่ะ แมวมันจะหัวเราะ เพราะว่าแมวมันก็ไม่ได้พูดว่ามรรค ๘ คนน่ะมันไปพูดว่ามรรค ๘ มันควรจะพูดว่ามรรคมีองค์ ๘ หนทางเส้นเดียวสำหรับบุคคลเดียว เดินไปสู่จุดหมายปลายทางแห่งเดียว นั่นจึงเรียกว่า เดียว เดียว เอกายนมรรค มรรคสำหรับทางเดินคนเดียว สู่จุดหมายอันเดียว สำหรับคนเดียวเดินไป คือมันเดินแทนกันไม่ได้นั่นแหละ ให้รู้จักว่าทางเส้นเดียว ประกอบไปด้วยองค์ ๘ องค์ๆ ในที่นี้หมายถึงส่วนที่ช่วยให้สำเร็จ
พูดกันง่ายๆ ก็ว่าการเดินทางสมัยโบราณโน้น มันไม่มีรถยนต์ ไม่มีเรือไฟ ไม่มีอย่างนี้นะ การเดินทางก็ต้องเดินข้ามทวีปเข้าไปในป่าฝ่าดงไป ทางเดินนั้นถ้าจะให้สำเร็จประโยชน์ ก็ต้องมีส่วนประกอบที่ถูกต้อง มีส่วนที่ประกอบถูกต้องครบถ้วน เช่นว่าทางเดินนี้มันแนวทางให้สังเกตเห็นได้ มันจะได้เดินไปถูก แล้วก็ให้รู้ว่าทางเดินนี้ มันหาเครื่องคุ้มครองป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายได้ มีสะพานข้ามคลอง มีที่พักร้อน มีอาหารหาได้ในระหว่างทาง ทุกอย่างครบถ้วนแล้วคนเดินทางนั้นมันก็ปลอดภัย นี้เรียกว่าหนทางเส้นเดียว ทางเดียวประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญๆ อีกหลายอย่าง แต่ถ้าสำหรับหนทางที่จะไปสู่ความดับทุกข์แล้ว พระพุทธองค์ตรัสว่ามีองค์ประกอบ ๘ องค์ ๘ องค์ ๘ องค์
ทีนี้จำคำว่า ๘ องค์ พวกที่สวดมนต์ได้ก็รู้แล้ว ๘ องค์อย่างไร สวดบทอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็สวดได้ ทีนี้เอามาแต่ใจความ เอามาแต่ใจความว่า ๘ องค์ๆ นี่ คือความถูกต้อง ๘ ประการ มันต้อง ถูกต้องๆ ๘ ประการ
ถูกต้องทีแรกก็ถูกต้องทางทิฏฐิ ความคิดเห็น ความเห็น ความเห็นหมายถึงความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อหรืออุดมคติที่ยึดถือไว้อะไรก็ตาม นี่ลงในคำว่าทิฏฐิ มันถูกต้อง ถูกต้องที่จะดับทุกข์ มันคือมันรู้ว่าทุกข์เป็นอย่างไร ดับทุกข์เป็นอย่างไร โดยวิธีใด มีเห็นอย่างนี้แล้วมันก็ไม่ไปสู่ไสยศาสตร์ มันก็ไม่ไปสู่ศาสตร์ของคนหลับ และมันก็มาสู่ศาสตร์ของคนตื่น มันจึงสำเร็จประโยชน์ นี่ขอให้รู้ไว้ว่าอันแรกที่สุด สำคัญที่สุดที่จะนำไปได้ นั่นก็คือสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง ความรู้ถูกต้อง ความเข้าใจก็ถูกต้อง ความเชื่อก็ถูกต้อง อุดมคติที่ยึดถือไว้มันก็ถูกต้อง มันก็เลยถูกต้องไปหมด
ถูกต้องในที่นี้หมายถึงดับทุกข์ได้ ถ้าดับทุกข์ไม่ได้ไม่มีความถูกต้อง ถ้าจะถามว่าถูกต้องคืออะไร คืออย่างไรแล้ว มันก็ต้องรู้ว่ามันดับทุกข์ได้ อย่าไปเถียงกันให้เสียเวลาว่าถูกต้องเพราะคนนั้นว่าเพราะคนนี้ว่า เพราะอาจารย์คนนั้นว่าคนนี้ว่า อย่างนี่ป่วยการ ดูว่ามันดับทุกข์ได้หรือไม่ ถ้ามันดับทุกข์ได้มันก็ถูกต้อง นี้องค์แรก
องค์ที่ ๒ สัมมาสังกัปปะ ความปรารถนาถูกต้อง เขามาแปลกันว่าความดำริ ถ้าว่าความดำริก็ได้เหมือนกัน ความดำริมันถูกต้องคือมันต้องการอะไรอยู่เหมือนกัน แต่ที่แท้มันคือความใฝ่ฝัน ความตั้งใจ ความปรารถนา ความมุ่งหมายนั่นน่ะ มันถูกต้อง เรียกว่าสัมมาสังกัปปะ คือต้องการด้วยสติปัญญาแล้วก็ใช้ได้ ถ้าต้องการด้วยอวิชชา ด้วยกิเลสแล้วมันก็ผิดหมด มันต้องการด้วยสติปัญญาคือต้องการด้วยสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิเป็นเหตุให้รู้ว่า ต้องการอะไร ต้องการอย่างไร ต้องการเท่าไหร่ ต้องการเมื่อไหร่ ต้องการเพียงไหน เหล่านี้มันก็ถูกต้องเพราะมันมีสัมมาทิฏฐิ นี่ ๒ องค์มาก่อนอย่างนี้ เป็นพวกปัญญา
สังเกตให้เห็นชัดเจนว่าพระพุทธเจ้าท่านทรงแนะทางดับทุกข์ไว้อย่างครบถ้วนนั้น ท่านยกเรื่องของปัญญามาก่อน ปัญญาต้องมาก่อนแล้วศีลและสมาธิก็จะตามมา อย่าไปยึดมั่นถือมั่นเรื่องศีล เพราะว่ามันเรียนรู้ตั้งแต่เด็กๆ เล็กๆ เขาพูดกันว่า ศีล สมาธิ ปัญญา มันก็คิดว่าศีลมาก่อน นั่นมันลูกเด็กๆ ถ้าคนโตแล้วมันก็จะต้องรู้ตามหลัก อัฏฐังคิกมรรคนี้ว่าปัญญาต้องมาก่อน แล้วมันจึงจะเกิดศีล มันจึงอยากจะรักษาศีล อยากจะทำสมาธิ
ปัญญาต้องมาก่อนมันจึงคิดจะดับทุกข์ มันจึงคิดอยากจะมาวัด แล้วมันจึงรักษาศีลได้ถูกต้อง ถ้าปัญญาไม่มาก่อนแล้ว มันรักษาศีลอย่างงมงาม มีศีลอย่างงมงาย รักษาศีลจนตาย มันก็ไม่มีศีล คำนี้น่ากลัวไหม รักษาศีลจนตาย มันก็ไม่มีศีลได้ เพราะว่ามันไม่รู้จักศีลอย่างถูกต้อง เพราะมันไม่มีสัมมาทิฏฐิมาก่อน เราจะต้องมีสัมมาทิฏฐิ รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างถูกต้องมาก่อนแล้วก็มันก็จะทำไปถูกต้อง อย่างจะมาวัดมาสวนโมกข์นี่ มันก็ต้องมีสติปัญญารู้ก่อนว่ามาทำไม จะได้รับประโยชน์อะไร มันต้องมีปัญญาที่ถูกต้องมาก่อน มันจึงชวนให้มา ถ้าไม่มีปัญญาอย่างนี้มาก่อน มันก็ไม่มา หรือมันก็มาโดยไม่ได้อะไร
ทีนี้ต่อไปก็เป็นพวกศีล ปัญญาเสร็จไปแล้วก็ศีล สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สัมมาวาจานี่มันมีความสำคัญ เพราะว่าคนเราอยู่ในโลกนี่ มันติดต่อกันด้วยคำพูด คำพูดนี่มีความสำคัญมากที่ทำให้อยู่กันในโลกได้ ถ้าพูดกันไม่ได้มันก็อยู่กันไม่ได้ในโลกนี้ ถ้าไม่มีการพูดจาที่รู้เรื่องกันได้มันก็อยู่กันไม่ได้ ฉะนั้นถ้ามันไม่มีการพูดจาสั่งสอนกันได้มันก็จะเหมือนกับสัตว์แหละ คนจะเท่ากันกับสัตว์
เดี๋ยวนี้ที่ว่าคนมันดีกว่าสัตว์ เหนือกว่าสัตว์อะไรต่างๆ ก็เพราะว่าคนมันพูดได้ มันสอนกันได้ เพราะมันพูดได้ สัตว์มันพูดกันไม่ได้ มันก็ไม่ต้องสอนกันเพราะมันก็โง่เท่าเดิมอย่างไรล่ะ ที่คนมันฉลาดขึ้นทุกยุค ทุกชั่วอายุคนเพราะมันพูดได้ มันสอนกันได้ ตั้งแต่แรกเป็นคนป่า มนุษย์มันก็พูดได้ มันก็ถ่ายทอดความรู้ที่รู้แล้วให้คนทีหลังรู้โดยไม่ต้องไปเสียเวลาค้นคว้า มันก็รู้เพิ่มเติม เพิ่มเติม เพิ่มเติม มาถึงบัดนี้มันก็รู้อะไรมาก นั่นประโยชน์ของการพูดจาที่มันพูดกันได้ มีความสำคัญอย่างนี้ ทีนี้เราต้องระวังการพูดจานี่ อย่าให้มันกลายเป็นพิษเป็นภัยเป็นโทษขึ้นมา คือพูดแต่ที่ควรพูด พูดแต่ที่มันถูกต้อง อย่าพูดชนิดที่ว่าเท็จ พูดเท็จน่ะ คือตั้งใจจะเอาประโยชน์ของผู้อื่นแล้วก็เอาวาจานี้เป็นเครื่องหลอกลวง หรือว่าพูดหยาบคายไม่น่าฟัง ไม่สำเร็จประโยชน์อะไร แล้วก็พูดยุยงให้แตกสามัคคีกัน นินทากันอะไรอย่างนี้ มันเป็นวาจาที่ใช้ไม่ได้ แม้วาจาที่เพ้อเจ้อ วาจาที่เพ้อเจ้อ ไม่มีประโยชน์อะไรก็เสียเวลาเปล่า มีวาจาที่ถูกต้องอย่าให้ประกอบด้วยโทษ ไม่เสียหายแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
เอ้า,ทีนี้ก็สัมมากัมมันตะ มีการงานชอบ การกระทำทางร่างกายถูกต้อง ไม่กระทบกระทั่งใคร เพราะมันต้องอยู่ร่วมกัน ต้องไม่มีการกระทบกระทั่งกัน เพราะฉะนั้นจึงไม่ประทุษร้ายกัน อย่าประทุษร้ายชีวิตร่างกายของผู้อื่น อย่าประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของผู้อื่น อย่าประทุษร้ายของรักของผู้อื่น
ฟังดูสิ มันมีความหมายกว้างครอบจักรวาล ไม่ประทุษชีวิตร่างกายของผู้อื่น มันมีไม่รู้กี่ร้อยอย่างกี่พันอย่าง ถ้าการกระทำนั้นเป็นการประทุษร้ายชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่นแล้วเลิกหมด กว้างขวางไม่มีข้อแก้ตัว การที่จะใช้อุบายอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างไหน มันก็ไม่พ้นไปจากการประทุษร้ายชีวิตร่างกายของผู้อื่น มันก็ขาดศีล ฉะนั้นขอให้เรารู้ว่าจะไม่ต้องประทุษร้ายกระทบกระทั่งแม้แต่เล็กน้อยแก่ชีวิตและร่างกายของผู้อื่น
แล้วไม่ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติ มันก็หมายความว่าไม่เอาทรัพย์สมบัติของเขามาเป็นของเรา หรือแม้แต่ประทุษร้ายให้เสียหายเปล่าๆ ก็ไม่ทำทั้งนั้น
และไม่ประทุษร้ายของรักของบุคคลอื่น ทำลายของรักของบุคคลอื่น ทำลายน้ำใจ นี่ไม่ได้เอามาหรอก แต่ว่าทำลายน้ำใจ อย่างนี้มันก็ผิดในส่วนนี้ เรียกว่าประทุษร้ายความรู้สึกในจิตใจ โดยประทุษร้ายต่อสิ่งซึ่งที่เป็นที่รักที่พอใจของบุคคลอื่น เว้นหมดก็เป็นศีล ส่วนศีลถูกต้อง เป็นสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ อ้าว,ไปสัมมากัมมันตะ
ทีนี้ก็มาถึงสัมมาอาชีวะ มีการดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง คำว่าดำรงชีวิต นี้มันหมายความกว้างหมด มีการเป็นอยู่ เป็นอยู่อย่างถูกต้อง มีทรัพย์สมบัติ มีเกียรติยศชื่อเสียง มีอะไรๆ ที่มันจำเป็นจะต้องมี แล้วก็มีอย่างถูกต้องจำเป็นที่จะต้องใช้ ก็ใช้อย่างถูกต้อง จำเป็นที่จะต้องเก็บรักษา ก็ต้องเก็บรักษาอย่างถูกต้อง แม้ที่สุดแต่ว่าจะทำให้งอกเงยเป็นผลประโยชน์มากออกไป ก็กระทำอย่างถูกต้อง ถ้าว่าถูกต้องก็เหมือนกับที่กล่าวมาแล้ว คือมันไม่ประทุษร้ายใครให้เดือดร้อน ไม่ประทุษร้ายตัวเองให้เดือนร้อน ไม่ประทุษร้ายผู้อื่นให้เดือนร้อนก็เรียกว่าถูกต้อง
และก็อยากจะพูดซ้ำกับที่พูดเมื่อวานว่าขอให้มีปัจจัยอย่างปัจจัย ปัจจัย ๔ น่ะ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรคนั่นน่ะ ขอให้มีอย่างปัจจัย อย่าได้มีอย่างเป็นเหยื่อของกิเลส กินอาหารเป็นอาหารเลี้ยงชีวิต แต่อย่าเป็นเหยื่อของกิเลสคือหลงใหลในความเอร็ดอร่อย
มีเครื่องนุ่งห่มเพียงปกปิดร่างกาย กันความยากลำบากที่จะเกิดขึ้น แล้วก็อย่าใช้เป็นเครื่องประดับประดาอวดกิเลส ก็มีที่อยู่อาศัยเครื่องใช้ไม้สอยเท่าที่ควรจะมี เดี๋ยวนี้มันมีกันเกินไปจนลำบาก อย่างว่าไม่ต้องมีทีวี ก็เอาที่ดินที่บ้านไปค้ำประกันกับธนาคารมาซื้อทีวี อย่างนี้เกินหรือไม่เกินลองคิดดู มันยังไม่ต้องมีหรือมันไม่ต้องมีก็ไม่เป็นไร อย่างนี้เครื่องใช้ไม้สอยก็เป็นเครื่องทำความวินาศทางจิตใจให้แก่บุคคลนั้นเสียแล้ว
บ้านเรือนหลังเดียวไม่พอ ต้องเติมต่อออกไปหลายหลัง มีบ้านหลายหลัง มีบ้านหลายแห่ง รถยนต์คันเดียวไม่พอต้องมี ๕ คัน ๑๐ คัน มันก็เป็นเครื่องใช้ไม้สอยชนิดที่ทำอันตรายเจ้าของทั้งนั้น ยารักษาโรคก็เพื่อรักษาโรคเถิด อย่าเพื่อการส่งเสริมกิเลส เดี๋ยวนี้ใช้ เขาใช้วิชาการ วิทยาการทางการแพทย์ เพื่อส่งเสริมกิเลสกันเสียมาก ของที่ขายดีในนามของหยูกยานี่ แต่มันไม่ใช่หยูกยา มันเป็นเครื่องส่งเสริมกิเลสตัณหา อย่างนี้มันก็มีเป็นส่วนมาก อย่างนี้ไม่ใช่สัมมาอาชีโวแล้ว มันอยู่อย่างที่ว่าปัจจัยมิใช่ปัจจัยแก่ชีวิตแล้ว สิ่งเหล่านั้นกลายเป็นเหยื่อของกิเลสสำหรับทำชีวิตให้อยู่ในความเร่าร้อน อยู่ในความทุกข์ ไม่เรียกว่าปัจจัยแล้ว ถ้าเรียกว่าปัจจัยก็ช่วยให้เกิดเป็นความดับทุกข์ เป็นความเยือกเย็น เอ้า,นี่เรื่องของศีลนะ วาจาถูกต้อง การงานถูกต้อง อาชีวะ ดำรงชีวิตถูกต้อง นี่ ๓ อันนี้เป็นศีล ๓ อันที่เหลือเป็นสมาธิ
ทีนี้สัมมาวายามะ คนเรามันมีความพากเพียรพยายามจะได้สิ่งที่ควรจะได้ นี่เป็นนิสัย เป็นสัญชาตญาณเสมอ อย่าใช้ธรรมะนี้ธรรมชาติอันนี้ให้มันผิด คือให้มันพยายามพากเพียรแต่ในทางที่ควรพยายามพากเพียร คือพยายามดับทุกข์นั่นแหละ แต่จะกระจายออกไปเป็นว่า
แต่รวม ๔ อย่างแล้วก็คือพยายามดับทุกข์นั่นเอง จงให้พยายาม ให้ความพยายามทั้งหมดนั่น เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ ก็เรียกว่าพยายามชอบ ความเพียรชอบ สัมมาวายามะ คำว่า วายามะ เป็นคำเดียวกับคำว่าพยายาม บาลีเป็น วายาม สันสกฤตเป็น วฺยายาม
ทีนี้สัมมาสติ ระลึกชอบ จิตนี้มันมีหลักสำหรับดำรงจิต ระลึกประจำอยู่ให้เป็นความถูกต้อง คือจะต้องมีสติควบคุมชีวิตนี้อยู่ ถ้าไม่มีสติ ลองคิดดู มันจะทำอะไรได้ ถ้าไม่มีสติ แม้จะลุกขึ้น นั่งลง จะเดินมันก็เดินไม่ได้ มันก็ไม่รู้จะเดินอย่างไร ไม่มีสติมันก็ทำอะไรไม่ได้ มันก็กินอาหารทางจมูก มันไม่มีสติ ฉะนั้นที่มันทำอะไรได้ถูกต้อง ถูกต้องอยู่ทุกอย่างทุกประการ จะกินข้าว จะอาบน้ำ จะถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะอะไรก็เพราะมันมีสติตามธรรมชาติ นี่เรียกว่ามีสติอยู่ตามธรรมชาติ
ทีนี้สตินี้มันต้องดีกว่านั้น ต้องมากกว่านั้น สำหรับจะก้าวไปไกล สูงขึ้นไปสู่ความดับทุกข์ เป็นเรื่องของมรรคผลนิพพาน ต้องมีสติที่จะระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดใดๆ ขึ้นมา ยังสำคัญอยู่ในส่วนที่ว่ามีชีวิตอยู่ในโลกนี้ มันมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งจะต้องสัมผัสกับรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ที่เข้ามากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าไม่มีสติแล้วมันก็โง่ มันก็รับอารมณ์เหล่านั้นผิดๆ ได้เปรียบข้างฝ่ายสัญชาตญาณฝ่ายต่ำคือกิเลส มันจะน้อมไปในทางต่ำ มันจะรู้สึกอย่างต่ำ มันจะคิดอย่างต่ำ มันจะต้องการอย่างต่ำๆ มันจะยึดมั่นถือมั่นโดยไม่รู้ความเป็นจริง จะต้องมีสติอย่าให้มันผิดพลาดได้ในสิ่งเหล่านี้
จะต้องมีสติที่มีแบบฝึกหัดชัดเจนก็คือสติปัฏฐาน ๔ อานาปานสติ ๑๖ ขั้น เป็นเรื่องสติปัฏฐาน ๔ ฉะนั้นถ้าใครฝึกฝนครบถ้วนนั้นแล้วก็มีสติสมบูรณ์ จะไม่มีอะไรผิดพลาดตามธรรมชาติ การปรุงแต่งคิดนึกรู้สึกในจิตนี้จะไม่มีความผิดพลาด เพราะว่าสติมันไปเอาปัญญาความรู้มาควบคุมการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีสมาธิ อำนาจที่จะสกัดกั้นไม่ให้เป็นไปในทางผิด มีแต่เป็นไปในทางถูกต้อง มีอำนาจรุนแรง ถึงกับจะขจัดความผิดพลาดออกไปเสียได้ นี้เรียกว่ามันเป็นเรื่องของสติ ในการคุ้มครองป้องกันก็เป็นเรื่องของสติ ในการต่อสู้ก็เป็นเรื่องของสติ ในการรักษาก็เป็นเรื่องของสติ ในการที่จะก้าวหน้าก็เป็นเรื่องของสติ เป็นเรื่องทำความเจริญเรื่อยๆ ไปจนถึงผลสุดท้ายมันก็เป็นเรื่องของสติ เราจึงต้องมีสติที่ถูกต้อง
อันสุดท้ายก็มาถึงสมาธิ มีสมาธิถูกต้อง สมาธินี้คือกำลังใจที่ปักมั่นลงที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรียกว่าสมาธิ ถ้าพูดอย่างครอบจักรวาล ในวงการของพุทธบริษัททั้งหมด ก็จะพูดได้ว่า สมาธิคือเอกัคคตาจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์
เอากันมาตั้งแต่สัญชาตญาณรากฐานพื้นเดิมเลย ว่าสัตว์ทั้งหลายมันต้องการความไม่มีทุกข์ ต้องการความดับทุกข์ที่มันเรียกว่าความสุขน่ะ ชีวิตทุกชนิดมันต้องการความไม่มีทุกข์นี้เป็นอารมณ์ ในความหมายของคำว่านิพพาน ตามมาก ตามน้อย ตามสูง ตามต่ำ ก็แปลว่าตามสัญชาตญาณแท้ๆ มันก็ต้องการความดับทุกข์เป็นอารมณ์อยู่แล้ว
ทีนี้สัมมาสมาธิมันทำจิตเป็นสมาธิยิ่งขึ้นไปกว่าธรรมชาติธรรมดา มีความต้องการที่จะดับทุกข์สิ้นเชิงเป็นอารมณ์ ฉะนั้นเราจึงพูดได้เป็นครอบจักรวาลตั้งแต่ต้นจนปลายว่า สิ่งที่เรียกว่าสมาธินั้นคือเอกัคคตาจิตที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เอกัคคตาจิตคือจิตที่รวบรวมกำลังเป็นจิตเดียว อันเดียว มุ่งหมายอย่างเดียว เอกัคคะแปลว่ามียอดอันเดียว จิตมันฟุ้งซ่านไปในทิศต่างๆ มันไม่เรียกว่าเอกัคคะ พอความฟุ้งซ่านไปในทิศต่างๆ มารวมเป็นจุดเดียวก็เรียกว่า เอกัคคะ เอกัคคตา ความมียอดเป็นอันเดียว จิตที่มียอดสรุปเป็นอันเดียวนี้เรียกว่าเอกัคคตาจิต และก็มีนิพพานเป็นอารมณ์ เพราะมันมุ่งต่อความดับทุกข์สิ้นเชิงเป็นอารมณ์ สมาธิที่กล่าวคราวเดียวหมดอย่างถูกต้องโดยประการทั้งปวงก็ต้องกล่าวว่า สมาธินั้นคือเอกัคคตาจิตที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์
แม้ว่าเราจะมาแยกเป็นขั้นตอนต่ำๆ ทำกำหนดลมหายใจขั้นต้นเหล่านี้ มันก็เพื่อรวบรวมผลสุดท้ายดับทุกข์สิ้นเชิงเป็นพระนิพพานทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าสมาธิวิธีไหน แบบไหน ชั้นไหน มันมุ่งหมายเพื่อจะมีพระนิพพานเป็นผลสุดท้าย เพื่อว่าสมาธินี้จะเป็นปัจจัยแก่ปัญญา แก่ญาณ แล้วมันก็จะเกิดญาณ เกิดปัญญา คือ รู้ถึงพระนิพพาน
เมื่อพูดเพียงเท่านี้ มันก็จะมองเห็นได้ว่า ๘ องค์นี้มันเป็นส่วนเหตุ ทางเดินสายกลางนี้เป็นเพียงส่วนเหตุ มีอยู่ ๘ องค์ ๘ ถูกต้อง แล้วมันมีส่วนผลอีก ๒ องค์ คือสัมมาญาณะ กับ สัมมาวิมุตติ
สัมมาญาณะมีความรู้ถูกต้องเกิดขึ้นมาหลังจาก ๘ นี้แล้วก็มี ๙ คือสัมมาญาณะ รู้ถูกต้อง ทีนี้รู้ถูกต้อง รู้จักสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริงว่าไม่มีอะไรที่ควรยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละ แล้วก็มีสัมมาวิมุตติ คือหลุดพ้นโดยประการทั้งปวงครบ ๑๐ นี้เรียกว่า ๑๐ ความถูกต้อง สัมมัตตะ ความถูกต้อง ถ้าจะกล่าวตัวพุทธศาสนาให้สมบูรณ์ต้องกล่าวทั้ง ๑๐ แต่ถ้ากล่าวเฉพาะเรื่องปฏิบัติแล้วกล่าวเพียง ๘ จึงกล่าวว่ามัชฌิมาปฏิปทา การปฏิบัติสายกลางประกอบอยู่ด้วยองค์ ๘ ครั้นแล้วมันให้เกิดผล ๒ คือ สัมมาญาณะกับสัมมาวิมุตติ เรื่องมันก็จบ ถ้าจะพูดถึงพรหมจรรย์ให้ครบทั้งเหตุและทั้งผลแล้วก็ต้องพูดว่า ๑๐ คือสัมมัตตะ ๑๐ เพิ่มอีก ๒ แต่ถ้าพูดถึงพรหมจรรย์เฉพาะส่วนที่เป็นการปฏิบัติแล้วพูดเพียง ๘ ก็พอ เดี๋ยวนี้วันนี้พระพุทธองค์ทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทาประกอบด้วยองค์ ๘ ก็หมายความว่าทรงแสดงเรื่องการปฏิบัติโดยตรง
เอาสัมมาญาณะไปฝากไว้ในสัมมาทิฏฐิก็ได้ แต่ที่จริงสัมมาญาณะนั้นมันมากกว้างไกลไปกว่าสัมมาทิฏฐิ และสัมมาวิมุตตินี่ก็เอาไปฝากกับคำว่านิโรธในอริยสัจ นิโรธอริยสัจเป็นสัมมาวิมุตติ ตรัสความถูกต้อง ๑๐ ประการนี้ไว้ในฐานะเป็นเครื่องจำกัดความทุกข์ ทุกอย่างโดยสิ้นเชิง
อาศัยพระพุทธองค์เป็นกัลยาณมิตรแล้ว สัตว์ที่มีความเกิด จะพ้นจากความเกิด สัตว์ที่มีความแก่เป็นธรรมดา จะพ้นจากความแก่ สัตว์ที่มีความเจ็บเป็นธรรมดา จะพ้นจากความเจ็บ สัตว์ที่มีความตายเป็นธรรมดา จะพ้นจากความตายเป็นธรรมดา พระบาลีตอนนี้อธิบายไปถึงสัมมัตตะ ๑๐ เมื่อปฏิบัติครบถ้วนทั้ง ๑๐ แล้ว ที่มีความเกิด ก็พ้นจากความเกิด ที่มีความแก่ พ้นจากความแก่ พ้นจากความเจ็บ พ้นจากความตาย
เดี๋ยวนี้เรามาสวดมนต์กันท่อนเดียว สวดมนต์ครึ่งท่อน ว่ามีความเกิดเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเกิดไปได้ ว่ามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ก็นั่งร้องไห้โฮๆ อยู่ ว่ามันไม่พ้นความเกิด แก่ เจ็บ ตายไปได้ ที่จริงพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนอย่างนั้น ท่านสอนให้มีหนทางที่จะพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย โดยมีพระพุทธองค์เป็นกัลยาณมิตร ครั้นอาศัยพระพุทธองค์เป็นกัลยาณมิตรแล้วจะมีการประพฤติปฏิบัติครบถ้วน ๘ ประการในส่วนที่เป็นเหตุ แล้วได้รับผล ๒ ประการในส่วนที่เป็นผลเรียกว่าสัมมัตตะ ๑๐
ที่จริงน่าจะเอาเรื่องนี้มาพูดกันให้สมบูรณ์ นี่พูดไว้เพียงส่วนเหตุเป็นเพียง ๘ องค์เท่านั้น ให้มันครบ ๑๐ องค์ ในบาลีบางแห่งเรียกองค์ทั้ง ๑๐ นี้ สัมมัตตะ ๑๐ นี้ว่าเป็นยาถ่าย วิเรจนะ เป็นยาถ่าย กินเข้าไปแล้วถ่าย ถ่ายกิเลสหมด ถ่ายความทุกข์หมด หรือในที่บางแห่งเรียกว่าเป็น วมฺมนะ, วมนะเป็นยาสำรอก สำรอกให้อาเจียน ให้อาเจียนออกมา กินเข้าไปแล้วมันสำรอกอาเจียนยาพิษหรือเอาพิษทั้งหลายออกมาหมด บางแห่งเรียก โธวนะ น้ำที่รดแล้วไม่ตาย นี่เลียนแบบในศาสนาพราหมณ์ เขาเรียกว่าโธวนะ ไปอาบน้ำ ทำพิธีอาบน้ำรดน้ำแล้วไม่ตายนี่ พระพุทธเจ้าปฏิเสธน้ำเช่นนั้น แต่ตรัสว่าสัมมัตตะ ๑๐ นี่เป็นน้ำโธวนะ รดลงไปแล้วชำระบาปหมด ล้างบาปสิ้นเชิงแล้วก็ไม่ตาย
นี่ขอให้สนใจไว้ว่ามัชฌิมาปฏิปทานี้ ทรงแสดงไว้เฉพาะส่วนที่เป็นเหตุสำหรับปฏิบัติ ครั้นปฏิบัติแล้วจะได้รับผลอีก ๒ ประการคือ สัมมาญาณะกับสัมมาวิมุตติ ควรจะเอามาพ่วงกันเข้าไว้ด้วย ให้เป็นความรู้ที่สมบูรณ์ เราก็มาพูดกันต่อไปให้มันสมบูรณ์ ให้มันเป็นสัมมัตตะ ๑๐ อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นส่วนเหตุ ทั้ง ๘ นี้กลมกลืนเป็นอันเดียวกันเหมือนกับเชือก ๘ เกลียว ฟั่นเป็นเชือกเกลียวเส้นเดียวแล้วเรียกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ เมื่อฟั่นกันเป็นเชือกเส้นเดียว ๘ เกลียวนั้นน่ะ ก็ยกเอาสัมมาสมาธิเป็นหลัก สมาธิ สมาธิเป็นตัวประธาน สัมมาสมาธิเป็นหลัก และ ๗ องค์ที่เหลือนั้นเป็นบริขาร เป็นบริวารของสัมมาสมาธิ ถ้าสมาธิได้ ๗ องค์ที่เหลือเป็นบริวารแล้วได้ชื่อเต็มยศเลยว่าอริยสัมมาสมาธิ มีบริขาร ๗ ชื่อยาวเฟื้อยเลย อริยสัมมาสมาธิ มีบริขาร ๗ สมาธิที่เป็นไปเพื่อวิเวก เพื่อนิพพานนี่ได้อาศัยองค์ ๗ ประการมีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น เป็นบริวาร รวมกันเป็นอริยสัมมาสมาธิ นี่ตัวที่จะตัดกิเลสคือมันทำให้เกิดสัมมาญาณะแล้วก็เกิดสัมมาวิมุตติ รู้จักทำให้ครบถ้วนทั้ง ๘ แล้วให้ประสานเป็นอันเดียวกัน มีสัมมาสมาธิเป็นตัวแกนกลาง เป็นตัวแกนนำ นอกนั้นก็เป็นส่วนประกอบ เช่นสัมมาทิฏฐิ ก็นำไปข้างหน้า สัมมาสังกัปปะก็ปรารถนาก็ให้ถูกต้อง สัมมาวาจา กัมมันโต อาชีโว ก็ให้มันมีการกระทำที่ถูกต้องทางกาย ทางวาจา สัมมาสติเป็นต้น ก็ถูกต้องทางจิต มันก็เลยเป็นความถูกต้องที่สมบูรณ์ เป็นอริยสัมมาสมาธิ มีบริขาร ๗ หรือจะมีสูตรอะไรสูตรนี้ที่เน้นคำว่า
เอเสว มคฺโค นตฺถญฺโญ ทางนี้เท่านั้นที่จะรอดได้ ทางอื่นไม่มี
เอเสว มคฺโค ทางนี้เท่านั้น นตฺถญฺโญ, อญฺโญ มคฺโค นตฺถิ ทางอื่นไม่มี
เมื่อพูดอย่างนี้ท่านหมายถึงอริยสัมมาสมาธิ มีบริขาร ๗ ถ้าว่าองค์ทั้ง ๘ มันไม่รวมเป็นอันเดียวกัน เป็นสมังคีอย่างนี้แล้ว ยัง ยังไม่อาจจะเป็นทางนี้ทางเดียวเท่านั้น คือมันแยกกระจายกันอยู่ มันไม่เป็นหนทางขึ้นมาได้ พอมันมากลมกลืนกันหมดครบทั้ง ๘ มีสัมมาสมาธิเป็นแกน มีอีก ๗ อย่างนั้นเป็นบริวาร และนี่ก็จะเรียกว่า เอโส, เอเสว มคฺโค, เอโสเอว มคฺโค นี้เท่านั้น ทางนี้เท่านั้น นตฺถญฺโญ, นตฺถิ อญฺโญ มคฺโค ทางอื่นไม่มี ขอให้จำไว้ ว่าวันนี้เป็นวันที่พระองค์ทรงแสดงสิ่งสำคัญที่สุด ที่ทรงยืนยันว่าทางนี้เท่านั้น ทางอื่นไม่มี ทางนี้เท่านั้น ทางอื่นไม่มี เอเสว มฺคโค นตฺถญฺโญ ทางนี้เท่านั้น ทางอื่นไม่มี นี่คุณค่าของอริยมรรคมีองค์ ๘ มันมีอย่างนี้
วันนี้เป็นวันที่ทรงแสดงอริยมรรคมีองค์ ๘ และก็เป็นครั้งแรกและก่อนเรื่องใดๆ ก่อนแสดงอริยสัจ เรื่องแรกที่แสดงก็คือเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ และก็ประกอบด้วยคำประกอบ ๒ คำว่า อย่าไปทางซ้าย อย่าไปทางขวา ให้อยู่ตรงกลาง อริยมรรคมีองค์ ๘ มีความสำคัญอย่างนี้
ครั้นทรงแสดงเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้ว ครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว ทรงย้ำแล้วย้ำอีกว่านี่รู้เองไม่ได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน แสดงว่าเป็นของใหม่ แม้แก่พระพุทธองค์ อย่าว่าแต่เป็นของใหม่แก่พวกเราเลย มันก็ยังเป็นของใหม่แม้แก่พระองค์เอง เพราะพระองค์ตรัสว่านี้ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน เป็นของใหม่ที่ค้นพบเอง ตรัสรู้เฉพาะเอง อภิสมฺพุทฺโธ รู้พร้อมเฉพาะ สมฺมาสมฺพุทฺโธ อภิสมฺพุทฺโธ รู้พร้อมเฉพาะด้วยตนเองครบถ้วน แล้วจึงทรงแสดงอริยสัจเป็นลำดับต่อมา นี่ตัวพรหมจรรย์แท้ๆ ที่ทรงแสดงเปิดเผยเป็นครั้งแรกคือเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ นี่ขอให้สนใจไว้อย่างนี้
ส่วนเรื่องอริยสัจเป็นอย่างไรนั้น ค่อยบรรยายกันในโอกาสหลัง ในการบรรยายครั้งหลัง ครั้งนี้ขอยืนยันให้สนใจเรื่องอัฏฐังคิกมรรค ความถูกต้อง ๘ ประการ รวมกันเรียกว่าอริยอัฏฐังคิกมรรค ฟั่นเป็นเกลียวเดียวกันแล้วก็เรียกว่าอริยสัมมาสมาธิ มีบริขาร ๗ นี้ทางนี้เท่านั้น ทางอื่นไม่มี
เอาล่ะ,สรุปความสั้นๆ กันทีว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ หมายความว่าความเป็นกลาง อยู่ตรงกลาง ถูกต้องพอดี อยู่ตรงกลาง ไม่มีใครชอบคำว่าเกินดี ใครชอบบ้าง หรือขาดดีก็ไม่มีใครชอบ มีแต่คนชอบว่าพอดี เกินดีมันน่าเกลียด ขาดดีมันก็ใช้ไม่ได้ มันต้อง พอดี พอดี
ถ้าเกินดีมันก็บ้า บ้า ยิ่งดียิ่งบ้า ยิ่งดียิ่งบ้า ก็คือมันเกินดี มันเกินดีไปเสีย มันยิ่งดีก็ยิ่งบ้า เดี๋ยวนี้โลกเรานี้ยังไม่อยู่ในลักษณะที่พอดี ทั้งโลก ทั้งโลกไม่อยู่ในความถูกต้องพอดี มันเดือนร้อนระส่ำระสายทั่วกันไปทั้งโลก ถ้าถามว่ามันเอียงไปทางไหน โลกมันเอียงไปทางซ้าย ทางเปียกแฉะ มนุษย์โลกทั้งโลกกำลังเอียงไปในทางเปียกแฉะ ส่วนที่เอียงไปทางไหม้เกรียมนั้นมันมีบางครั้งบางคราวนิดๆหน่อยๆ เมื่อมันโง่ไปบ้าง มันทำตนให้ลำบาก ในเมื่อไม่ควรจะทำตนให้ลำบาก นี่มันก็มีอยู่แต่มันเรื่องนิดๆ หน่อยๆ แต่ว่าทั้งโลกนี่มันเอียงไปในทางกามสุขัลลิกานุโยคคือเปียกแฉะ หาเหยื่อให้แก่กิเลส ส่งเสริมกิเลส กิเลสหรือความรู้สึกตามธรรมดา ที่มีอยู่ตามธรรมดา มันไม่ชอบใจ มันส่งเสริม มันหาหยูกยามาส่งเสริมกิเลส หาการกระทำมาส่งเสริมกิเลส มาคิดมาค้นหาเครื่องมือเครื่องใช้การปฏิบัติต่างๆ มาส่งเสริมกิเลส อย่างที่เขาทำกันทั่วไปแล้วขายแพงๆน่ะ นี่เรียกว่ามันโลกปัจจุบันนี้มันอยู่ในลักษณะที่เปียกแฉะเกินเปียกแฉะ แล้วจะเอาความพอดีมาแต่ไหน ตั้งต้นกันเสียใหม่ให้มีความถูกต้องพอดี อย่าไปหลงใหลในสิ่งที่เป็นเหยื่อส่งเสริมกิเลสเลย ดำรงตนให้อยู่ในความถูกต้อง มันเป็นการขจัดปัดเป่าป้องกันกิเลสอยู่โดยอัตโนมัติในตัวมันเอง เป็นอันว่าพอแล้ว
เรามารู้เรื่องนี้กันในวันนี้ว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นคือความถูกต้อง ๘ ประการอันประเสริฐ อันประเสริฐนี้หมายความว่าดับทุกข์ได้ เป็นของบุคคลประเสริฐ เป็นการทำบุคคลให้ประเสริฐ อริยมรรคมีองค์ ๘ ควรจะสนใจให้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดยิ่งกว่าชีวิต ถ้าชีวิตไม่มีความถูกต้องมันก็คือความทุกข์ ถ้าชีวิตมันมีความถูกต้องมันก็ไม่มีความทุกข์ แล้วความถูกต้องนั้นมันก็อยู่ที่อริยมรรคมีองค์ ๘ ฉะนั้นเราจงมีอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นชีวิตกันเถิด ก็จะสมกับที่ว่าเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จงเป็นบุคคลผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เพราะอาศัยคำสั่งสอนเรื่องนี้ เรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ ด้วยกันจงทุกคน
การบรรยายเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ ในโอกาสนี้ ก็พอสมควรแก่เวลา หวังว่าท่านทั้งหลายทุกคน ที่มาจากที่ใกล้ที่ไกลอะไรก็ตามนี่ จงได้สนใจเรื่องนี้ ให้มีความเข้าใจในเรื่องนี้ ให้สำเร็จประโยชน์แก่การอุทิศตนเป็นพุทธบริษัท เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า จงได้เป็นบุคคลผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยสมควรแก่สถานะแห่งตนๆ จงทุกๆ คนเถิด ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้
ที่มา เทศนา ปี 2529 มัชฌิมาปฏิปทา