แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นะโมตัสสะ ภควโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภควโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภควโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
ณ บัดนี้ อาตมาภาพจะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาเป็นปุพพาปรลำดับ คือสืบต่อจากธรรมเทศนาที่ได้วิสัชขนาแล้วในตอนเย็น คือเรื่องเกี่ยวกับพระธรรมในทุกแง่ทุกมุม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญจำเป็นที่ท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทจะต้องรู้ จะต้องเข้าใจ และต้องปฏิบัติให้ได้เต็มตามความหมาย จะได้มีความเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริง คือได้รับผลแห่งความเป็นพุทธบริษัท
เรื่องเกี่ยวกับพระธรรมมีมากมายหลายแง่หลายมุมเพราะคำว่าพระธรรมนั้นหมายถึงทุกสิ่ง นี่เมื่อกล่าวตามศัพทศาสตร์คือเรื่องเกี่ยวกับภาษาอันกว้างขวาง โดยเฉพาะภาษาบาลีด้วยแล้ว คำว่าธรรม หมายถึงทุกสิ่ง นี่ก็ขอให้ทราบไว้ด้วยและจะได้เข้าใจได้ว่ามีอยู่บางสิ่งหรือบางความหมายที่เราจะต้องประพฤติปฏิบัติให้สมบูรณ์
จะพูดถึงคำว่าธรรมหมายถึงทุกสิ่งกันก่อน ภาษาบาลีคำว่าธรรม หมายถึงสิ่งที่ทรงตัวเองอยู่ได้ตามธรรมชาติ แตกเป็นสิ่งที่ดีเรียกว่ากุศลก็มี สิ่งที่ไม่ดีเรียกว่าอกุศลก็มี สิ่งที่มิได้กล่าวว่าดีหรือไม่ดี คือเป็นอัพยากฤตอย่างนี้ก็มี ท่านทั้งหลายคงจะเคยได้ยินคำว่ากุศล อกุศล อัพยากฤต กันมาแล้วเป็นส่วนมาก ขอให้ทราบว่าทั้ง ๓ คำนั่นแหละกินความหมดถึงทุกสิ่งทุกอย่างในที่ทุกหนทุกแห่งทุกกาลเวลาไม่มีอะไรเหลือ เพราะว่าสิ่งทั้งหลายจะเป็นอะไรก็ตาม ย่อมกล่าวบัญญัติได้ใน ๓ ความหมายนี้ คือสิ่งที่ดีก็หมายถึงสิ่งที่มนุษย์รู้จักกันในฐานะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เป็นความดี เป็นความสุข ทีนี้สิ่งที่ตรงกันข้ามก็เรียกว่าสิ่งไม่ดี ไม่มีประโยชน์ เป็นทุกข์ เป็นอกุศล ที่นี้ก็ยังเหลืออีกสิ่งหนึ่งซึ่งไม่กล่าวว่าเป็นอะไร คือไม่กล่าวว่าดีหรือไม่ดี ไม่ต้องกล่าวว่าดีหรือไม่ดี พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้บัญญัติว่าดีหรือไม่ดี นี้ก็มีอยู่พวกหนึ่งคือ ธรรมชาติประเภทหนึ่งเป็นอยู่เองตามธรรมชาติ เช่นก้อนหิน แผ่นดิน ต้นไม้ ต้นไร่ มีอยู่ตามธรรมชาติ เหล่านี้ไม่ได้บัญญัติว่าดีหรือไม่ดี ที่บัญญัติว่าดีหรือไม่ดีนั่นมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณค่าหรือความหมายที่สำเร็จประโยชน์แก่บุคคลผู้เข้าไปเกี่ยวข้อง สิ่งใดให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์เป็นความสุขก็เรียกว่าดี สิ่งใดให้โทษให้ความทุกข์แก่ทุกฝ่ายหรือฝ่ายใดก็ตามเรียกว่าไม่ดี นี่มันยังมีสิ่งที่ไม่เป็นอย่างนั้นในในในชั้นพื้นฐานที่สุด ก็หมายถึงแผ่นก้อนหิน พื้นโลก อะไรก็ตามที่ไม่ต้องบัญญัติว่าดีหรือไม่ดี ที่นี้ที่สูงสุดก็คือพระนิพพาน พระนิพพานมีความหมายเป็นที่ดับแห่งคุณค่าสำหรับยึดถือ จะถึงพระนิพพานได้ก็ต้องมีจิตใจชนิดที่ไม่หลงสิ่งนั้นว่าดี ไม่หลงสิ่งนี้ว่าชั่ว ดีหรือชั่วไม่มีความหมาย ทำให้จิตใจมันว่างไป ถ้ายังดีหรือยังมีสุขก็เรียกว่าดีมันก็ดีอยู่เพียงเท่านี้ ถ้าจะให้สูงยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็คือไม่มีความหมายว่าสุข ว่าทุกข์ ไม่มีความหมายว่าดีว่าชั่ว ไม่มีความหมายว่าบุญว่าบาป ไม่มีความหมายว่าได้ว่าเสียว่ากำไรว่าขาดทุน ว่าหญิงว่าชายหรืออะไรก็ตามทุกคู่ไปเลยอย่างนี้ หมดความหมายที่จะบัญญัติว่าดีหรือไม่ดี คือมันเหนือขึ้นไปจากดีจนถึงว่าง จำกันง่ายๆ ก็ว่า ชั่วหรือทุกข์นี่อันดับต่ำสุดเลวสุด สูงขึ้นไปก็คือสุขหรือดี อันนั้นก็อันดับหนึ่ง สูงไปกว่านั้นก็คือว่าง ไม่มีความหมายแห่งชั่วหรือดี โดยเฉพาะจิตใจของพระอรหันต์ จะเข้าใจได้ก็ต้องเปรียบเทียบกับจิตใจในขั้นต้นคือของปุถุชนคนธรรมดา ซึ่งไม่ค่อยจะรู้อะไรทำอะไรผิดพลาดเพราะความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวเป็นกิเลศหนาแน่น ทำให้เกิดความโลภความโกรธความหลง ก็ทำอะไรไปตามความเห็นแก่ตัว นี่เรียกว่าเลวมาก ที่สูงขึ้นไปก็หมดความเห็นแก่ตัวชั้นหยาบๆ นั่น ไม่ทำชั่วได้อีกต่อไป ก็ทำแต่ความดี ทำแต่ฝ่ายที่เรียกว่าดีแล้วก็มีความสุข แล้วก็พอใจในความสุข พอใจอยู่ในความสุข เรียกว่าเสวยสุขอยู่ในความพอใจ นี่ก็เป็นชั้นสูง ชั้นสูงอยู่มากทีเดียวถ้ามาเทียบกับธรรมดาสามัญแล้วก็สูงมากทีเดียว มันเป็นชั้นสวรรค์ชั้นพรหมไปโน่น มีความรู้สึกพอใจและเป็นสุข
ทีนี้มันยังมีอะไรสูงไปกว่านั้นอีก คนทั่วไปคิดว่ามันควรจะพอแล้วถ้ามีแต่ความรู้สึกที่พอใจและเป็นสุข มันยังมีอีกชั้นหนึ่ง อีกชั้นเหนือไปจากนั้น ไอ้ดีๆ ชั่วๆ สุขๆ ทุกข์ๆ เป็นชั้นที่อยู่ในโลก ทีนี้อารมณ์ให้เกิดความรู้สึกดีชั่วสุขทุกข์ มันเป็นเรื่องเหนือโลก เหนือไปจากโลกเรียกว่า โลกุตตระ ไม่ให้ความสำคัญหรือความหมายหรือคุณค่าใดได้แก่สุขหรือทุกข์ มันเลยว่างไป มันว่างไป มันเป็นถึงกับว่าไม่เสวยอารมณ์ใดๆ มีจิตว่างไม่เสวยอารมณ์ใดๆ ที่เห็นกันได้ง่ายๆ ก็ว่าถ้ามันมีความสุขจิตมันก็ต้องเสวยความสุข จิตมันต้องทำงานนิดหนึ่ง คือเสวยความสุข คิดดูดีๆ เสวยความสุข มันจะต้องเหมือนทำการออกแรงชนิดหนึ่งคือเหนื่อย ถ้าไม่ต้องเสวยความสุขจะเป็นอย่างไรนี่ขอให้เข้าใจ
เขยิบขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งว่าให้นั่งเสวยความสุข เสวยความสุข รู้สึกต่อความสุข รู้สึกคุณค่าของความสุข ความสุขครอบงำจิตใจอยู่อย่างนี้ มันก็เป็นระดับหนึ่งชนิดหนึ่งมันไม่สูงสุด ถ้าสูงสุดจิตมันอยู่เหนือความรู้สึก ไม่จำเป็นจะต้องรู้สึกว่าสุขหรือทุกข์ มันก็ไม่ไม่มีอาการที่เรียกว่าเหมือนกับเหนื่อย คือมันไม่ต้องเหนื่อย นี่เรียกว่าว่างและพ้นไป คือพ้นไปจากโลกนี้ พ้นจากระดับโลกนี้ไปมีความว่าง ความว่างนี้ก็จัดเป็นอัพยากฤตด้วยเหมือนกัน คือไม่ดีไม่ชั่ว ความว่างชนิดนี้ไม่ดีไม่ชั่ว ขอให้เข้าใจไว้
เรื่องดีเรื่องชั่วนี้อยู่แต่ในโลก อยู่แต่ในขอบเขตของการรู้สึก เสวยว่าต้องการ นี่คนเราตามธรรมดาสามัญมันก็ต้องการจะเสวยความสุข แต่ถ้าว่ามันหนัก เสวยความสุขมากเข้ามากเข้า มันก็รู้สึกเบื่อหรือเหนื่อยได้เหมือนกัน ดังนั้นมันจึงเขยิบเลื่อนชั้นไปสู่ความว่าง มองดูก็น่าขบขันหรือน่าหัวว่าทีแรกก็ว่าเป็นทุกข์ ต่อมาละความทุกข์ได้เป็นความสุข ต่อมาละความสุขกลายเป็นความว่าง คือไม่ทุกข์ไม่สุข หรือถ้าจะเรียงลำดับให้ชัดไปอีกทีหนึ่ง ทีแรกทีเดียวมันก็ไม่ดีไม่ชั่วไม่สุขไม่ทุกข์ แล้วมันทำผิดจนเป็นทุกข์ ต่อมาไม่ทำผิดก็เป็นสุข สูงขึ้นไปก็ไม่ทำให้เป็นสุขหรือเป็นทุกข์อีก คือให้สงบหรือว่าง ที่ว่าพระนิพพานเป็นสุขก็เพราะความสงบ ไม่มีความสุขใดยิ่งไปกว่าความสงบ ถ้ายังต้องเสวยสุขเสวยทุกข์อยู่ ยังไม่ใช่ความสงบ จะเปรียบเทียบด้วยตัวอย่างอีกอย่างหนึ่งก็ว่า ไม่มีจะกินก็เป็นทุกข์ ได้มากินกินกินก็เป็นสุข แต่มันยังต้องเหนื่อยเพราะต้องกิน ถ้าไม่ต้องกินมันก็ดีกว่า แต่มันก็จะต้องจัดเป็นความสุขอีกชนิดหนึ่ง ถ้าจะให้เรียกความสุขก็เป็นความสุขอีกชนิดหนึ่ง ไม่เหมือนความสุขที่ต้องกิน ที่ต้องกินอยู่ทุกวัน ความสุขที่เกิดมาจากการที่ไม่ต้องกินนั้นมันเป็นความสุขชนิดอื่น ถ้าเรียกโดยแท้จริงแล้วก็เรียกว่าไม่สุข ไม่สุขและไม่ทุกข์ เหมือนจะให้กินของอร่อย กินของอร่อยไม่หยุด อย่างนี้มันก็ตายเหมือนกัน มันก็จะนึกหาถึงเรื่องที่ว่าพักผ่อนหรือไม่ต้องกิน ความสุขเหมือนกับน้ำหวาน กินหวาน กินเข้าไปกินเข้าไปกินเข้าไปเดี๋ยวก็กินไม่ได้เรียกหาน้ำจืด น้ำจืดก็เป็นของที่มีรสสูงสุดกว่าน้ำหวานเพราะเหตุอย่างนี้ ใครๆ ก็ลองคิดดูว่าให้กินแต่น้ำหวานอยู่เรื่อยมันก็ตาย มันกินไม่ไหวก็เรียกหาน้ำจืด หรือเมื่อต้องกินน้ำจืดอยู่เรื่อยๆ ไปมันก็เรียกหาหยุดว่างไม่ต้องกิน
นี่รู้จักความสงบกันเสียบ้างเถิด ความหมายของคำว่าสงบนี่มันสูงสุด ไอ้สงบชั่วคราวอย่างสงบอย่างเรื่องของชาวบ้านนั้นมันไม่ใช่ความสงบ อย่างสงครามสงบนี่มันคือเตรียมสงครามมากกว่า สงบโดยแท้จริงนั่นมันไม่มีผู้อยากผู้ต้องการอะไร จิตไม่อยากไม่ต้องการอะไรจิตนั้นจึงจะสงบ ถ้าจิตมันอยากดี อยากดิบ อยากดี อยากสวย อยากรวย อยากมีอำนาจอะไรอยู่มันก็ยังไม่สงบ แต่ว่าอยากสงบ มันก็เรียกว่ายังไม่สงบ มันต้องไม่อยากแม้แต่ความสงบ ไม่อยากสงบ ไม่อยากอะไรเลยนั่นแหละจึงจะเรียกว่าเป็นความสงบ ความหมายมันละเอียดอย่างนี้ เป็นเรื่องที่ควรจะเข้าใจไว้ว่าบรรดาสิ่งทั้งหลายนั่นน่ะมันมีอยู่เพียง ๓ อย่าง คือ ชั่ว ดี แล้วก็กล่าวไม่ได้ว่าชั่วหรือว่าดี แล้วมันก็น่าสนใจอยู่ที่ว่า ไอ้ที่ว่าไม่ชั่วไม่ดีนี่ มันหมายถึงในระยะเริ่มแรก ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกันเลย เช่น ก้อนหิน ก้อนดิน ต้นไม้ ต้นไร่ ธรรมชาติทั้งหลายเหล่านี้ไม่ไม่เรียกว่าชั่ว ว่าดี มันจะชั่วหรือจะดีก็ต่อเพราะเมื่อมนุษย์ไปเกี่ยวข้องเข้า ถ้าทำความเจ็บปวดให้แก่มนุษย์ก็เรียกว่าไม่ดี ทำความสุขสบายให้แก่มนุษย์ก็เรียกว่าดี ทีนี้ถ้าจะให้ยิ่งไปกว่านั้นอีกมันก็เป็นไม่ชั่วไม่ดี เพราะว่าจิตของมนุษย์นั้นไม่ให้ความหมายไม่ให้คุณค่าแก่สิ่งเหล่านั้นว่าชั่วหรือดี จิตเหล่านี้ชนิดนี้เรียกว่าจิตหลุดพ้น หลุดพ้นจากโลกนี้ หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นโดยประการทั้งปวง
เอาหละเป็นอันว่า คำว่าธรรม ธรรม ธรรมะในภาษาบาลี ธรฺมในภาษาสันสกฤต แปลเป็นไทย เป็นภาษาไทยเรียกว่าพระธรรมหรือธรรม ธรรม ธรรมคำนี้ถ้าเป็นเรื่องของภาษา ถ้าเป็นเรื่องของภาษา โดยเฉพาะภาษาบาลี หมายถึงทุกสิ่งอย่างที่ว่ามาแล้ว สิ่งที่ชั่วก็เรียกว่าอกุศล สิ่งที่ดีก็เรียกว่ากุศล สิ่งที่พ้นชั่วพ้นดีไปก็เรียกว่าอัพยากฤต เราควรจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่าอัพยากฤตกันไว้บ้าง หมายถึงสิ่งที่ยังไม่ ที่ไม่มีค่า ไม่มีความหมายที่จะออกฤทธิ์อะไรแก่จิตใจ จิตใจถึงระดับนี้แล้วว่างหรือเฉยได้ในสิ่งทั้งปวง ดังนั้นก็ให้มีความสุขอะไรก็เป็นสุขไปหมดนี่ ก็อย่าเพิ่งคิดว่าสูงสุด มันยังมีสูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งคือว่าง ว่างไม่ต้องสุขไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องสุขไม่ต้องทุกข์ คือว่างหรือเป็นอิสระ นี่พระนิพพานคืออิสระ คือหลุดพ้น ก็เพราะว่าไม่ต้องสุขไม่ต้องทุกข์ ไม่ถูกบีบคั้นอยู่ด้วยค่าของความสุขหรือของความทุกข์ เรียกว่า ขอพ้นจากความมีค่าหรือหาค่ามิได้ เรามารู้เรื่องของธรรมชาติทั้งหลายว่ามีอยู่ ๓ ประเภทดังนี้
ทีนี้คำว่าพระธรรม พระธรรมน่ะมันมีความหมายใช้ได้ต่อไปอีกถึงกับว่าไอ้ความรู้เรื่องนี้ก็เรียกว่าพระธรรม หน้าที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็เรียกว่าพระธรรม ทีนี้ระบุให้ละเอียดลงไปก็หมายความถูกต้อง หมายความถูกต้องเรียกว่าพระธรรม ถ้าไม่ถูกต้องก็ไม่เรียกว่าพระธรรม หรือว่าพระธรรมที่พระธรรมที่ไม่ถูกต้อง มันคนละอย่างกัน ความหมายที่ต้องการโดยแท้จริงคือความถูกต้อง ความถูกต้อง คนโง่ในโลกไม่อาจจะรู้จักความถูกต้อง เพราะว่าเขาจะเอาแต่ใจของเขา ใจของเขาชอบอย่างไรรักอย่างไรก็เรียกว่าอย่างนั้นเป็นความถูกต้อง นั่นมันความถูกต้องของคนโง่ ที่เป็นความถูกต้องโดยแท้จริงมีความหมายว่าไม่เบียดเบียน ไม่เบียดเบียนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นั่นแหละเป็นความถูกต้อง ถ้าจะตัดสินอะไรว่าเป็นความถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ก็จงดูที่ว่ามันไม่เกิดความเบียดเบียนแก่ฝ่ายใด จะเอาตามที่คนนั้นว่า คนนี้ว่า จะอ้างอะไรพระคัมภีร์คำแปลอะไรก็ไม่ไม่ไม่จริง มันจริงอยู่ที่ว่ามันต้องไม่เบียดเบียนแก่ฝ่ายใดเท่ากับเป็นความถูกต้อง ถ้าเป็นความเบียดเบียนแก่ฝ่ายใดหรือทุกฝ่ายก็เรียกว่าไม่ถูกต้อง
ในทางศาสนาเราไม่มามัวเถียงกันเรื่องคำว่าถูกต้อง หรือคำว่าดีว่าชั่วนี้มันมีความหมายอย่างไร ไม่เหมือนกับทาง Philosophy สมัยใหม่ ที่บัญญัติหาความหมายของคำว่าดีว่าความถูกต้องกันจนตายจนเกือบตายก็ไม่ตกลงกันได้ เพราะมันใช้เหตุผลมากมายต่างๆ นานา เราเป็นพุทธบริษัทในพระพุทธศาสนา ถือความหมายของคำว่าถูกต้องคือไม่เบียดเบียนใคร ไม่มีใครจะต้องเดือดร้อนเพราะเหตุนี้ ตัวเองก็ไม่เดือดร้อน ผู้อื่นก็ไม่เดือดร้อน ทั้งโลกก็พลอยไม่เดือดร้อน นี่เรียกว่าเป็นความถูกต้อง
ธรรมะในความหมายที่แคบเข้ามาก็คือความถูกต้อง ธรรมะคือความถูกต้อง เมื่อมีแล้วไม่มีใครเดือดร้อนมันจึงเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง พอมาถึงตอนนี้ก็อยากให้จำความหมายของคำว่าธรรมะไว้ว่าความถูกต้อง จะได้เหลือแคบเข้ามา สำหรับจะรู้และจะปฏิบัติได้ และก็จำกัดความหมายไว้ชัดเจนว่า การประพฤติกระทำที่เป็นความถูกต้อง ถูกต้องนี่ก็พูดไม่มีประโยชน์อะไร ต้องเป็นความถูกต้องที่การประพฤติและกระทำ เป็นระบบที่ประพฤติและกระทำลงไป จะหมายถึงระบบเรียนรู้กันได้ความรู้และการประพฤติกระทำตามความรู้อย่างถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของตนทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการ ทั้งเพื่อตนเองและเพื่อผู้อื่น นี่มันค่อนข้างจะยืดยาดสักหน่อยแต่เป็นความหมายที่ดีมาก เพื่อจะรู้ไว้เป็นหลักว่าสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ธรรมะหรือพระธรรมนั่น คือระบบแห่งความรู้และการปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการ เช่นตั้งแต่เกิดจนตาย ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนเองและเป็นไปเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ความหมายมันกล่าวไว้หมด ให้มันชัด ให้มันหมดอย่างนี้
อันแรกก็คือ ความรู้และการกระทำตามความรู้ ถ้าความรู้เฉยๆ ไม่สำเร็จประโยชน์ ต้องเป็นการกระทำ นี่มันต้องรู้มันจึงจะกระทำ รู้อย่างถูกต้องมันจึงกระทำอย่างถูกต้อง เราจึงพูดเสียใหม่ว่าระบบความรู้และการปฏิบัติที่ถูกต้อง ทีนี้ถูกต้องแก่อะไร ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ เพราะว่าเรามันเกิดมาเป็นมนุษย์กันแล้วมันไม่มีปัญหาอย่างอื่นแล้ว มันมีแต่ปัญหาอย่างของมนุษย์ ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ ทีนี้มนุษย์มันมีหลายขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ ตั้งเกิดตั้งแต่เกิดมาจนจะแก่เฒ่าเข้าโลงนี่ก็เป็นวิวัฒนาการ หรือว่าตั้งแต่เป็นคนป่าเถื่อนที่สุดค่อยๆ วิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์ที่เจริญนี่ก็คือวิวัฒนาการล้วนแต่มีขั้นตอน ความถูกต้องนี้ต้องถูกต้องทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการของมนุษย์ และความถูกต้องนั้นต้องเป็นประโยชน์ทั้งเพื่อแก่ผู้นั้นและผู้อื่นด้วย หมายความว่าทั้งโลก นี่คือธรรมะ ธรรมะ มีฐาอยู่ในฐานะที่จะช่วยคุ้มครองโลก โดยการกระทำอย่างถูกต้องของสมาชิกทุกคนทุกคนที่รวมกันอยู่ในโลกนี้ ทุกคนในโลกนี้ประพฤติกันอย่างถูกต้องแล้วมันก็เกิดความถูกต้องแก่โลก แล้วโลกนี้มันก็มีความถูกต้อง มันก็มีสันติภาพอันถาวรแท้จริง ขอให้จำคำว่าธรรมะนี่ ในความหมายที่จะใช้กันเป็นหลักปฏิบัติก็คือความถูกต้อง
เอ้า, ทีนี้ก็อยากจะระบุให้ชัดมาว่าถ้าความถูกต้อง มันอยู่แต่ความถูกต้อง มันไม่มาอยู่ในคน มันก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรเหมือนกัน ดังนั้นควรจะมีหน้าที่สำหรับทำความถูกต้อง คนเรามีหน้าที่สำหรับความ ทำความถูกต้อง ถูกต้องแก่ความรอดชีวิต รอดจากความทุกข์ ถูกต้องอย่างแรกทำให้รอดชีวิตอยู่ได้ ถูกต้องอย่างที่สูงขึ้นไปก็คือทำให้ดับทุกข์สิ้นเชิงทางจิตทางใจ ไม่ใช่รอดชีวิตอยู่เฉยๆ เต็มไปด้วยความทุกข์ เดี๋ยวนี้มนุษย์ในโลกหลงใหลในเรื่องกินเรื่องอยู่ เรื่องเล่นเรื่องหัว เรื่องสนุกสนานเพลิดเพลิน เพื่อประโยชน์แก่ชีวิตชนิดนั้น แล้วมันมีความถูกต้องหรือไม่ก็ลองคิดดู จะมองเห็นว่ามันเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว มันก็แย่งชิงกันจนเป็นสงคราม เป็นมหาสงครามทำลายโลกนั่นเอง
ทีนี่มันก็มีความหมายขึ้นมาอีกทีหนึ่งว่า ธรรมะนั้นคือหน้าที่ หน้าที่ หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามความถูกต้องนั่นเอง เมื่อได้ทำหน้าที่แล้ว ก็ทำหน้าที่อย่างถูกต้องแล้ว ความถูกต้องมันก็ช่วย มันก็ช่วยในความหมายอย่างว่ามาแล้วว่าช่วยให้อยู่ไม่ตาย แล้วก็ช่วยให้ดับทุกข์ทั้งปวงได้ นั่นคือความถูกต้อง ดังนั้นความถูกต้องมันจึงตกอยู่เป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องประพฤติกระทำ ไม่ใช่ถูกต้องอยู่แต่ความถูกต้อง แต่มันเกิดเป็นภาระหน้าที่แก่สิ่งที่มีชีวิต ไม่ว่าชีวิตระดับไหน มีหน้าที่ที่จะต้องทำความถูกต้อง แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ต้องมีภาระทำหน้าที่เป็นความถูกต้องแล้วก็รอดชีวิตอยู่ แม้แต่ต้นไม้ต้นไร่มันก็ต้องการความถูกต้องมันจึงรอดชีวิตอยู่ ฉะนั้นความถูกต้องเป็นปัจจัยสำคัญแก่ชีวิตทั้ง ๓ ระดับ คือ ระดับต้นไม้ต้นไร่ ระดับสัตว์เดรัจฉาน และระดับคน มันจึงมีหน้าที่ที่จะต้องทำความถูกต้อง ดังนั้นเราจึงพูดเสียได้เลยว่า ธรรมะคือหน้าที่สำหรับสิ่งที่มีชีวิต ธรรมะคือหน้าที่สำหรับสิ่งที่จะมีชีวิต ไม่ทำหน้าที่มันก็ตาย นี่เป็นความหมายสุดท้ายที่จะต้องยึดถือปฏิบัติกันอย่างจริงจัง ธรรมะคือหน้าที่ที่สิ่งที่มีชีวิตจะต้องประพฤติปฏิบัติอย่างถูกต้อง
ทีนี้ถ้าจะพูดให้กว้างขวางเป็นระบะการศึกษา เป็นวิชาการเป็นอะไรก็ยังพูดได้อีกว่า ธรรม ธรรมะนี่คือธรรมชาติทั้งปวง ก้อนหินดินทรายนี่ก็ตามธรรมชาติทั้งปวงเรียกว่าธรรม กระทั่งมีชีวิตจิตใจ กระทั่งมีความคิดความนึก กระทั่งมีความรู้สติปัญญา ล้วนแต่เป็นธรรมชาติทั้งนั้น ธรรมะคือธรรมชาติในความหมายที่หนึ่ง ทีนี้ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ ความหมายที่สอง ในตัวธรรมชาติย่อมมีกฎของธรรมชาติสิงสถิตย์อยู่ ควบคุมอยู่ นี่เรียกว่ากฎของธรรมชาติก็เรียกว่าธรรมะเหมือนกัน ทีนี้มันก็มีหน้าที่ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ถ้าไม่ปฏิบัติมันก็ตาย ธรรมะคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติในความหมายที่สาม ครั้นปฏิบัติหน้าที่แล้วมันก็ได้รับผลของการปฏิบัติ แล้วแต่ปฏิบัติอย่างไรย่อมเกิดผลขึ้นตามสมควรแก่การปฏิบัติ แล้วก็ปฏิบัติถูกต้องมันก็ได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ นี่คือผลจากหน้าที่ก็เรียกว่าธรรมะเหมือนกัน ถ้าไม่เรียกธรรมะไปเสียทั้งหมดเล่า ก็ได้บอกแล้วข้างต้นว่าคำนี้เป็นคำประหลาด เป็นคำแปลกประหลาดที่สุดของภาษาบาลี คือหมายถึงทุกสิ่งอย่างที่กล่าวมาแล้วไม่ยกเว้นอะไร มันหมายถึงทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร ฉะนั้นตัวธรรมชาติทั้งหลายก็เรียกว่าธรรมะ ตัวกฎของธรรมชาติทั้งหลายก็เรียกว่าธรรมะ หน้าที่ตามกฎธรรมชาตินั้นๆ ก็เรียกว่าธรรมะ ผลที่ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ก็เรียกว่าธรรม ธรรมะเหมือนกัน ถ้าพิจารณาดูใน ๔ ความหมายนี้ ก็พอเห็นได้เหมือนกันว่าหมายความถึงทุกสิ่งทุกอย่างไม่ยกเว้นอะไร เข้ากันได้หลักข้างต้นว่า ธรรมะหมายถึงทุกสิ่งคือส่วนชั่วส่วนดี ส่วนไม่ชั่วไม่ดี หมายถึงทุกสิ่งเหมือนกัน จะกล่าวอย่างนั้นก็ได้ จะกล่าวอย่างนี้ก็ได้ หมายความว่าธรรมะคือทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร แล้วจะไปทำมันทุกสิ่งทำไม เราก็ทำแต่ที่ควรจะทำหรือจำเป็นที่จะต้องทำ มันจึงมาตกอยู่ที่ความหมายที่ ๓ คือหน้าที่อันถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ก็ได้รับผลเป็นความสงบสุข ถ้าถูกยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ก็ได้รับผลเป็นความว่าง คือเห็นว่าธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวงไม่มีอะไรที่ควรยึดถือว่าเป็นตัวตนของตน มันก็ไม่เลยเลยไม่ยึดถือสิ่งใดโดยความเป็นตัวตนของตน มันก็ได้รับผลสุดท้ายคือความว่างจากปัญหา ว่างจากความทุกข์ ว่างจากทุกสิ่งทุกอย่าง ว่างจากดีว่างจากชั่ว ว่างจากสุขว่างจากทุกข์ ว่างจากบุญว่างจากบาป ในขั้นนี้ มาถึงตอนนี้ ต้องเข้าใจถูกต้อง ถ้าเข้าใจผิดก็เป็นอันตราย อาตมาเคยถูกด่าอยู่หลายปี พวกนักปราชญ์ในกรุงเทพฯ น่ะเขาด่าเรื่องความว่างเรื่องจิตว่าง ว่าทำให้ไม่รับผิดชอบอะไร นั่นมันก็เพราะว่าไม่เข้าใจในความหมายนี้ จะต้องนึกถึงที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า จะให้ถึงที่สุดมันต้องถึงความว่าง เพียงชั่วหรือทุกข์มันก็ยุ่งยากที่สุด ดีหรือสุขมันก็ยุ่งยากน้อย แต่ก็ทำให้หลงใหลมาก หยุดไม่ได้เหมือนกัน หยุดไม่ได้เหมือนกัน ต้องกินเรื่อย ต้องดื่มเรื่อย คือดื่มความสุขนั่นแหละ ทีนี้จะสูงขึ้นไปมันก็ต้องถึงความว่างแล้วก็หยุดหรือจบไม่ต้องดื่มไม่ต้องกิน นี่ความว่างเป็นในระดับสุดท้ายซึ่งเรียกว่าพระนิพพาน มีคำกล่าวไว้ว่านิพพานเป็นความว่างอย่างยิ่ง นิพพานเป็นของว่างอย่างยิ่งเพราะมันไม่มีการปรุงแต่งอะไรเลย ไม่มีสิ่งปรุงแต่ง ไม่มีการปรุงแต่ง และไม่มีการเสวยผลอะไรซึ่งก็เป็นการปรุงแต่งด้วยเหมือนกัน มันก็เลยว่าง นี่บอกให้ทราบล่วงหน้า มันยังไปไม่ถึงหรอก มันยังไปไม่ถึงหรอก ก็บอกให้ทราบล่วงหน้าว่ามันมีอยู่อย่างนี้ ถ้าเราจะไปให้ถึงที่สุดของธรรมะแล้ว ต้องไปถึงความว่าง นี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับก็คือพระนิพพานอันว่างจากสิ่งปรุงแต่งทั้งปวง เรายังทำไม่ได้เดี๋ยวนี้แต่ควรจะรู้ไว้เพื่อมันจะได้เดินไม่ผิดทาง ไม่หลงทาง ไม่หันเหออกนอกทาง จากชั่วเดินไปสู่ดี จากดีเดินไปสู่ว่าง ใครชอบไม่ชอบก็ตามใจ ความจริงมันมีอยู่อย่างนี้ จากความทุกข์หรือความชั่วไปสู่ความสุขหรือความดี จากความสุขหรือความดีก็ไปสู่ความว่าง เมื่อนั้นจึงจะหมดปัญหา ผู้ที่ถึงความว่างนี่เรียกว่าพระอรหันต์ พระอรหันต์หรือตถาคตก็มี คำอธิบายบางแห่งเรียกว่าตถาคตก็มี เรียกพระอรหันต์ว่าตถาคต เป็นพระอรหันต์ก็ถึง ถึงจุดปลายทาง จบเรื่องที่มนุษย์จะต้องประพฤติกระทำ ดังนั้นจึงมีคำเรียกสำหรับพระอรหันต์ว่าเป็นผู้จบหน้าที่ จบหน้าที่ จบกิจพรหมจรรย์คือจบหน้าที่ ถ้ายังเป็นปุถุชนอะไรอยู่อย่างนี้ยังไม่จบหน้าที่ ยังมีหน้าที่ที่จะต้องกระทำ
ทีนี้จะทำให้ถูกต้องไปตามลำดับให้เป็น ให้เป็นเหมือนว่าเดินทางอย่างถูกต้องไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างถูกต้อง ก็คือทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ทำหน้าที่อยู่อย่างถูกต้อง มีธรรมะคือหน้าที่ มีหน้าที่คือธรรมะอยู่ที่เนื้อที่ตัวตลอดเวลา บางคนฟังไม่ออกก็คงจะไม่ปรารถนาที่จะมีธรรมะอยู่ที่เนื้อที่ตัวตลอดเวลา ที่จริงคำพูดอย่างนี้เป็นคำพูดที่ถูกต้องที่สุด เป็นคำพูดที่จำเป็น ที่แสดงถึงสิ่งที่จำเป็นที่สุดที่จะต้องประพฤติกระทำให้ได้ คือการกระทำให้ชีวิตนี้ประกอบอยู่ด้วยความถูกต้องทุกเวลาทุกวินาที ทุกสถานที่ คือทุกกระเบียดนิ้ว ให้มีความถูกต้องอยู่ทุกวินาทีทุกกระเบียดนิ้ว ให้มีชีวิตอยู่อย่างถูกต้องอย่างนี้ ไม่มีความทุกข์และก็ไม่มีความสุขด้วย เหนือความสุขขึ้นไปอีก แต่จะลดลงมาอยู่ที่ความสุขก็ได้ มันความถูกต้องชั้นความสุข ถ้าถูกต้องชั้นความทุกข์มันก็ได้ความทุกข์ ถ้าถูกต้องชั้นความสุขมันก็ได้ความสุข ถ้าถูกต้องชั้นว่างชั้นเหนือสุดมันก็ได้ว่าง ได้หลุดพ้นอยู่เหนือ เหนือสิ่งทั้งปวงว่าเหนือสิ่งทั้งปวง ไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น นี้ถ้าผู้ใดชอบที่จะรู้เรื่องมีธรรมะอยู่ที่เนื้อที่ตัวทุกเวลาทุกสถานที่ เราก็จะได้พูดกัน เหมือนอย่างที่พูดมาบ้างแล้วในตอนเย็นบนภูเขา เดี๋ยวนี้ก็มาขยายความให้ชัดแจ้งยิ่งขึ้นไปอีกว่า เราจะมีชีวิตอย่างที่ถูกต้อง หรือพูดอีกทีหนึ่งให้ดีกว่าก็พูดว่าเราจะมีชีวิตอย่างที่ไม่มีความทุกข์ เพราะว่ามีแต่ความถูกต้องมันยังไม่รู้ความหมาย พูดให้ชัดไปเลยว่าไม่มีความทุกข์เลยโดยประการทั้งปวง ไม่ทุกข์อย่างชาวโลก ไม่ทุกข์อย่างพวกเทวดา ไม่ทุกข์อย่างพวกพรหม ไม่ทุกข์โดยประการทั้งปวงเป็นนิพพาน ไม่ทุกข์อย่างนิพพาน ดับทุกข์สิ้นเชิงโดยประการทั้งปวง เป็นความไม่ทุกข์ ดับทุกข์ที่สุด อย่างชนิดหรือชั้นที่เป็นพระนิพพาน
พูดถึงพระนิพพานมันยังไกล แต่เรายังอาจจะดึงเอามาใช้ได้ เอาความหมายมาใช้ได้ในบางส่วน จะได้มีนิพพานชิมลอง นิพพานล่วงหน้า นิพพานตัวอย่าง ชิมลองไปก่อนก็ยังดีกว่าที่จะไม่รู้สึกเสียเลย ผู้ใดอยากรู้จักพระนิพพาน นั่นทำนองนี้แล้วก็จะต้องสังเกตให้มาก สังเกตให้มากในเวลาบางคราวจิตใจของเราไม่สุขไม่ทุกข์ พอใจในความว่างหรืออยากจะอยู่ในความว่าง มันก็มีเหมือนกัน เมื่อกิเลสไม่เกิดมันก็ว่าง คนเราไม่ได้มีกิเลสเกิดตลอดเวลา มันมีเวลาที่กิเลสมิได้เกิดมิได้เกิด มันอยู่ตามธรรมชาติเดิมของมัน กิเลสไม่เกิด ด้วยเหตุอะไรก็ตาม ด้วยเหตุที่สามารถควบคุม หรือด้วยเหตุที่มันมันมันมันเป็นของมันเองก็ตาม เมื่อกิเลสยังไม่เกิด กิเลสใดๆ ไม่เกิด ขอให้รู้สึก ขอให้จับให้ได้ บางเวลาบางครั้งบางโอกาส ที่บ้านที่เรือนที่ห้วยหนองทะเลอากาศภูเขาอะไรที่เที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ถ้ามีเวลาใดไม่เกิดกิเลส ก็รู้เถิดว่านั่นน่ะมีความหมายของนิพพาน ว่างจากกิเลส ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่ยึดถือเอาโดยความเป็นของตน แต่มันน้อย น้อยมากที่คนจะไม่มีความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ สมมติว่าไปตากอากาศ สบายดีพอใจในการไปตากอากาศ แต่แล้วมันก็ยึดจับเอาไอ้ความสุขที่เกิดมาจากการตากอากาศนั้นมาเป็นความสุขมาเป็นของตนอีก มันก็เลยไม่ว่าง น้อยคนที่ว่าพอความสุขเกิดขึ้นแล้วจะไม่จับฉวยมาเป็นของตน ฉะนั้นการที่ไปตากอากาศสบายอกสบายใจดีกว่าอยู่ที่บ้าน มันยังมีโอกาสที่จับฉวยเอาเป็นของตน มีความสุขเอามาเสวยมาดื่มมากินอยู่ เหมือนที่กล่าวแล้วว่าถ้ายังต้องดื่มอยู่ มันก็ยังเหนื่อยเพราะดื่มเพราะกินนั่นเอง ดังนั้นจิตเสวยอารมณ์ใดๆ อยู่ มันก็ต้องเหนื่อยเพราะเสวยอารมณ์นั้นๆ ถ้ามันว่างจากการเสวยอารมณ์โดยประการทั้งปวงนั่นแหละมันจึงจะเป็นว่าง ว่างจากความทุกข์ ว่างจากกิเลส ว่างจากการปรุงแต่งนานาชนิด ว่างจากตัวตน จิตว่างจากความหมายแห่งตัวตนไม่ยึดถืออะไรว่าเป็นตัวตน ไม่ยึดถือตัวเองว่าเป็นตัวตน ไม่ยึดถือจิตที่รู้สึกคิดนึกอะไรอยู่ได้นั่นว่าเป็นตัวตน นี่มันว่างถึงขนาดนี้ นี่มันว่างจากตัวตนยิ่งกว่าตาย ไอ้ตายนี่มันไม่ใช่ว่างถึงที่สุด เดี๋ยวนี้มันไม่ยึดถือ ไม่มีความยึดถือ ไม่มีการปรุงแต่งอยู่ในจิตนั้น เรียกว่าจิตนั้นน่ะถึงซึ่งความว่าง ถ้าเผอิญมันมีแสดงตัวออกมาว่างรีบจับฉวยให้ได้ ให้เข้าใจให้ได้นั่นแหละจะเรียกว่ารู้จักสิ่งแสวง รู้จักแสวงหาสิ่งที่มีค่าที่สุด จะพูดอุปมาก็เหมือนอย่างว่าถ้าพระนิพพานน่ะแลบ แลบ แลบออกมาเห็นสักนิดจับฉวยเอาให้ได้ คือเวลาที่เราว่าง ว่าง ว่างโดยประการทั้งปวง จิตเป็นอย่างไรก็คือจิตมันว่าง ถ้าเผอิญมันมีจิตว่างอย่างนี้ได้บ้างก็จับฉวยเอาให้ได้เพื่อเป็นความรู้ความเข้าใจ สำหรับจะมาเป็นต้นเงื่อนสำหรับศึกษาต่อไป ประพฤติปฏิบติต่อไปให้มันว่างได้เป็นอันถาวร มันว่างเองชั่วคราว หรือเราจะพยายามทำให้ถูกวิธี มันเกิดว่างขึ้นมาชั่วคราว ก็จับฉวยเอาความหมายให้ได้ รู้จักให้ได้ ก็เหมือนกับว่าเขาเคย เขาเคยพูดกันไว้เปรียบคำเทียบไว้ว่าเหมือนกับว่า คอยจับเอาพระนิพพาน ถ้าเผอิญว่าจะโผล่แลบออกมาให้เห็น จับฉวยเอาให้ได้ นี่ถ้าคนเรามีชีวิตอย่างนี้ ต้องการอย่างนี้ มันก็ง่ายที่จะรู้จักพระนิพพาน คอยสังเกตดูตัวเองว่าไม่มีกิเลสรบกวนเลยนั้นมันเป็นอย่างไร กิเลสประเภทนิวรณ์เล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่รบกวน กิเลสเต็มรูปแบบคือโลภะ โทสะ โมหะ ก็ไม่รบกวน เรียกว่ามันว่างจากกิเลสนี่มันเป็นอย่างไร มันก็เคยแลบออกมาให้เห็นบ้างเหมือนกัน แต่คนโง่มันไม่รู้จัก แล้วจะทำอย่างไรเล่า มันไม่รู้จักมันก็ไม่คิดที่จะจับฉวยเอาให้ได้ ฉะนั้นขอให้ตั้งอกตั้งใจกันใหม่ ที่จะคอยจับฉวยเอาสิ่งนี้ให้ได้ถ้ามันมีขึ้นมา เพราะว่าอีกไม่กี่ปีก็จะตายแล้ว ถึงคนจะยังหนุ่มๆ อยู่ก็อีกไม่กี่ปีมันก็ต้องตายเหมือนกัน มันมันมันใกล้ความตาย เวลาที่จะให้ทำหน้าที่นี้มันจะหมด ฉะนั้นรีบรีบทำหน้าที่เสียให้ดีที่สุด ศึกษาจากภายในว่าเมื่อกิเลสเกิดขึ้นมันเป็นอย่างไร เมื่อนิวรณ์กำลังกำลังรบกวนจิตใจอยู่ จิตใจเป็นอย่างไร นั่นแหละคือนรก เมื่อกิเลสเผาผลาญอยู่นั่นแหละคือความเป็นนรก นรกที่แท้จริง นรกที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไอ้นรกต่อตายแล้วอย่าเพิ่งพูดถึงเลย ถ้านรกต่อตายแล้วมันจะมีกี่ขุมกี่ขุมมันก็ขึ้นอยู่กับนรกที่นี่ ที่จะเกิดกิเลสแล้วเผาผลาญจิตใจเป็นนรกจริงๆ กันก่อน แล้วก็เหลือซากเหลือรอยไว้สำหรับไปนรกต่อตายแล้ว ถ้ามันมี นี่ถ้าพูดว่าถ้ามันมี ถ้านรกต่อตายแล้วมีมันขึ้นอยู่กับนรกนี่ นรกที่นี่ นรกเดี๋ยวนี้ นรกในความรู้สึกเดี๋ยวนี้ สวรรค์ก็เหมือนกัน ถ้ามันมี มันขึ้นอยู่กับสวรรค์ที่นี่และเดี๋ยวนี้ คือทำความถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง จนพอใจ จนยกมือไหว้ตัวเองได้นี่เป็นสวรรค์แท้จริง ที่นี่และเดี๋ยวนี้ สวรรค์ต่อตายแล้วถ้าจะมีก็ขึ้นอยู่กับสวรรค์นี่ ถ้าสวรรค์ที่นี่มันมี สวรรค์ที่ตายไปแล้วมันก็ต้องมี แต่เราไม่ต้องเอามาพูดให้เสียเวลา พูดกับของจริงที่มันมีจริงกันอยู่ดีกว่า นรกจริง สวรรค์จริง ที่มีอยู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ดังนั้นขอให้พุทธบริษัททั้งหลายรีบ รีบใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ให้ทันแก่ความตายที่มันจะต้องมาโดยแน่นอน ให้ได้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับเสียก่อนแต่ที่จะตาย
อาตมาก็มีความมุ่งหมายอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านก็มีความมุ่งหมายอย่างนี้ อาตมาก็สืบทอดความประสงค์ พระพุทธประสงค์ของพระพุทธองค์ เพื่อที่แสดงให้มนุษย์เพื่อนมนุษย์ทราบเรื่องนี้ แล้วก็จะดับทุกข์ได้ รวมความว่ามันอยู่ที่ศึกษาความถูกต้องนี่แล้วปฏิบัติให้เพียงพอ แล้วก็ดับทุกข์ได้ ความถูกต้องนั้นก็เรียกว่าธรรมะหรือพระธรรม หน้าที่ที่จะต้องทำความถูกต้องก็เรียกว่าธรรมะหรือพระธรรม ในที่สุดมันมาสำคัญอยู่ที่ว่าทำหน้าที่หรือไม่ทำหน้าที่ ถ้าไม่ทำหน้าที่มันก็ไม่มีธรรมไม่มีธรรมะ มันก็ต้องเป็นทุกข์ ถ้าทำหน้าที่มันก็มีธรรมะ มันก็ขจัดความทุกข์ออกไปได้ หรือป้องกันไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้นมา จงรับเอาหน้าที่นี้เป็นหน้าที่ประจำตัว ประจำชีวิต คือทำให้มันถูกต้องทางกาย ทางวาจา ทางใจ ทุกเวลา ทุกสถานที่ และก็รู้ว่าไอ้หน้าที่ หน้าที่นั่นแหละมันจะช่วยให้รอดหน้าที่ หน้าที่นั่นแหละมันจะช่วยให้รอด ถ้าไม่ทำหน้าที่แล้วใครจะช่วยล่ะ สัตว์เดรัจฉานมันก็ทำหน้าที่ทุกอย่างทุกประการที่จะทำให้รอด มันจึงรอดอยู่ได้ แล้วคนจะโง่กว่าสัตว์เดรัจฉานอย่างไร ไม่ทำหน้าที่ด้วยตนเองแล้วจะให้ใครมาทำหน้าที่ บางทีจะละอายแก่ต้นไม้ ต้นไม้ทุกต้นไม่มีปัญหาทำหน้าที่ถูกต้อง มีชีวิตอยู่รอด รอดอยู่ได้โดยปกติ แต่ว่ามันเป็นขั้นต่ำ มันเป็นเป็นขั้นต่ำไม่ใช่ขั้นของมนุษย์ ขั้นของมนุษย์ต้องสูงขึ้นมา แต่ก็ต้องทำหน้าที่ให้ถูกต้องอยู่อย่างสม่ำเสมอเหมือนต้นไม้ไร่ เหมือนสัตว์เดรัจฉาน ถ้ามันรอดชีวิตอยู่ได้มันก็เรียกว่ามันมีความถูกต้อง แต่ที่ให้มันมีความถูกต้องขนาดดับกิเลสดับทุกข์ในชั้นสูงนั่นมันคงทำไม่ได้ เพราะมันไม่ไม่มีจิตใจชนิดที่จะเกิดกิเลสได้ สัตว์เดรัจฉานมันก็มีจิตใจคล้ายๆ มนุษย์ แต่ไม่ไม่ถึงระดับมนุษย์ มันไม่มีความรู้สึกชนิดที่ว่าจะเป็นแยกแยะเรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องบุญ เรื่องบาปอะไรได้ ไม่เหมือนกับมนุษย์ สัตว์เดรัจฉานพูดกันไม่ได้ สอนกันไม่ได้ มันก็รู้แต่ตามที่ธรรมชาติกำหนดให้หรือตามสัญชาตญาน มันจึงไม่มีปัญหาเรื่องกิเลส เรื่องความทุกข์เหมือนกับเรา แม่ไก่ลูกมันตาย มันก็ไม่มีความทุกข์ร้อนอะไร มันก็ไปต่อไป แต่ถ้าคนลูกตายอย่างนี้บางทีจะนั่งร้องไห้อยู่ที่นั่น อยู่ข้างศพนั่นนี่เพราะว่าจิตใจมันไม่เท่ากันมันไม่ระดับเดียวกัน แต่ความมุ่งหมายก็เหมือนกันแหละคือต้องการจะดับทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ต้องการจะรอดด้วยกันทั้งนั้น เมื่อรอดไม่ได้ถึงระดับสูงสุด ก็รอดในระดับแรกระดับต่ำคือรอดตาย รอดตายอยู่ได้ก็มีธรรมะที่ทำให้รอดตาย รอดจากกิเลสและความทุกข์ก็มีธรรมะที่จะรอดจากกิเลสและความทุกข์ นี่ขอให้เรามีธรรมะสำหรับรอด จะมีได้ก็เพราะการทำหน้าที่ ถ้าไม่มีการทำหน้าที่มันก็ไม่มีไม่มีธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ ธรรมะคือหน้าที่ ขอให้รู้จักหน้าที่ว่าเป็นธรรมะ ว่าธรรมะเป็นหน้าที่ หน้าที่เป็นธรรมะ เป็นสิ่งเดียวกัน พอได้ทำหน้าที่แล้วก็พอใจ พอใจว่าได้ทำหน้าที่ เมื่อรู้สึกว่าทำหน้าที่อย่างถูกต้องมันก็ยิ่งพอใจกันไปอีก และมีความสุข มีความสุข มีความพอใจตัวเอง มีความเคารพนับถือตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเองได้ เป็นความสุขถึงที่สุด เป็นสวรรค์ชั้นสูงสุด คือไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ สวรรค์ที่เกี่ยวกับเพศกับกามารมณ์ยังไม่ใช่สวรรค์สูงสุด สวรรค์ชั้นสูงสุดไม่เกี่ยวกับเพศไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ ซึ่งเขาสมมติเรียกว่าพรหมโลก จะดีได้ที่สุดก็ถึงพรหมโลกชั้นสูงสุดเรียกว่าภวัคคพรหม ภว แปลว่าภพ อัคคะ แปลว่ายอดหรือสุด ภวัคค แปลว่าสุดยอดของภพ บรรดาภพทั้งหลายไปสุดยอดอยู่ที่พรหมชั้นภวัคคพรหม พรหมขั้นสุดท้ายขั้นสูงสุด นั้นก็ยังมีความสุข ยังยึดติดในความสุข ยังมีตัวตนสำหรับเสวยความสุข ไม่ใช่นิพพาน ภวัคคพรหมก็ไม่ใช่นิพพาน ต่ำลงมาก็มีตัวตนมากขึ้น ต่ำลงมาเป็นสวรรค์ที่มีเพศ มีกามารมณ์นี่ก็ยิ่งต่ำ ไม่ดีกว่ามนุษย์สักเท่าไหร่
ถ้าจะถือเป็นเรื่องภพ เรื่องโลก เรื่องสถานที่นั้นก็ได้ แต่ที่จริงเป็นเรื่องที่มีอยู่ในจิตใจ พื้นฐานแห่งจิตใจ ระดับความรู้สึกแห่งจิตใจ ถ้ามันยังหลงใหลในเรื่องเพศในเรื่องกามารมณ์มันก็ยังต่ำมาก ถ้ามันไปพอใจหลงใหลในความสุขที่ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ ไม่เกี่ยวกับเพศ ไม่เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ก็เรียกว่าสูงสุด แต่มันก็ยังมีตัวตน ยังดับตัวตนไม่ได้ มันก็เป็นพรหมที่มีตัวตน ยึดถือในตัวตน ในพระบาลีมีความข้อความหลายแห่งแสดงไว้ชัดเจนว่า พวกพรหมยิ่งสูงเท่าไหร่ยิ่งกลัวตายมากเท่านั้น เพราะว่ามันเสวยความสุขที่เป็นสุขแท้จริงเหลือประมาณ มันยินดีในความสุขมันเลยกลัวตาย คือกลัวจะไม่ได้เสวยความสุข มนุษย์เรานี่ยังกลัวตายน้อยกว่าพวกพรหม เพราะว่าเราอยู่ด้วยความสุขความทุกข์กระโดดโลดเต้น ส่วนพวกพรหมมันอยู่ด้วยความสุขชนิดละเอียดประณีตที่สุดถึงที่สุด เป็นความสุขโดยแท้จริงตลอดเวลา มันเลยกลัวตาย น่าหัว น่าหัว ที่พวกพรหมมันก็กลัวตายยิ่งกว่ามนุษย์ ก็เพราะหลงติดในความสุข สิ่งที่เรียกว่าความสุข บางเวลาเราก็อาจจะมีได้นะ ไม่ต้องรอต่อตายแล้ว ไม่ต้องไปที่โลกชนิดนั้นแหละ อยู่ที่ในโลกนี้บางเวลาจิตใจก็ลุ่มหลงในกาม บางเวลาก็เบื่อระอา แต่บางเวลาก็อยากจะอยู่อย่างไม่มีอะไรรบกวน ขอให้สังเกตไว้ให้ดีๆ ถ้าเมื่อไหร่อยากจะมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีอะไรรบกวนในจิตใจนั่นแหละมันสูงขึ้นไปมากแล้ว มันสูงขึ้นไปมากทีเดียว แต่มันไม่แน่นอน มันกลับกระโดดลงมาต่ำอีก นี่เรียกว่ามันยังไม่แน่นอน ถ้ามันสูงขึ้นไปอย่างแน่นอนไม่กลับมาอีกไม่เท่าไรมันก็บรรลุมรรคผลนิพพาน ฉะนั้นสนใจเรื่องจิตของตนเองนั่นแหละไว้ให้ดีๆ ว่ามันมีลักษณะอย่างไร เปลี่ยนแปลงอย่างไร เดี๋ยวกระโดดโลดเต้นอย่างไร เดี๋ยวอยากสงบสุขอย่างไร แล้วก็ระลึกนึกถึงตัวอุปมาง่ายๆ ว่ามัน เดี๋ยวมันอยากกินน้ำหวาน กินน้ำหวานมากเข้ามันก็อยากกินน้ำจืด กินน้ำจืดหนักเข้ามันก็ไม่ต้องการจะกินน้ำอะไรนั่นน่ะ มันจะมีความหมายอย่างนี้ เดี๋ยวนี้อวิชชาความโง่ ความหลง ความเขลา มันครอบงำจิตใจอยู่ จิตใจมันจึงหลง เปลี่ยนอารมณ์เรื่อย เปลี่ยนเรื่องเรื่อย ไม่รู้จักเบื่อหน่าย ไม่รู้จัก ไม่รู้จักต้องการจะหยุด ไม่ต้องการจะหยุด ไม่รู้จักความต้องการจะหยุด มันก็เปลี่ยนวนเวียน วนเวียน วนเวียนเป็นวัฏสงสาร อยากมีสุขอย่างนั้น อยากมีสุขอย่างนี้ อยากมีกระทั่งว่าผู้หญิงอยากเกิดเป็นผู้ชาย ผู้ชายอยากเกิดเป็นผู้หญิง มันก็เป็นเรื่องที่ไม่รู้อะไร เรียกว่าเป็นอวิชชา ถ้ามันมีรู้จริง มีความรู้จริง มันก็ไม่มีความหมายเรื่องเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชาย มันเป็นมนุษย์หรือเป็นคนที่มีความทุกข์ แล้วก็ดับความทุกข์เสียให้ได้นั่นแหละมันก็จะดีที่สุดในการเกิดมาเป็นมนุษย์ ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดของความเป็นมนุษย์ คือดับทุกข์เสียให้ได้
เอาหละ, อาตมาก็ได้แสดงให้รู้เรื่องสิ่งที่เรียกว่าธรรม ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ พอสมควรแล้ว ก็ขอให้ท่านทั้งหลายประพฤติปฏิบัติให้ได้ กระทำหน้าที่อะไรก็ขอให้รู้สึกว่าปฏิบัติธรรมะ มีสติรู้สึกระลึกว่าเราได้ปฏิบัติธรรมะและพอใจเพราะได้ปฏิบัติธรรมะ จะบอกให้สังเกตอีกเรื่องหนึ่งอีกอย่างหนึ่งคือว่า ก่อนนี้เราไม่รู้เรื่องธรรมะหรือไม่มีธรรมะ ไม่มายุ่งมาเกี่ยวกันเลย เราก็ทำงานตามธรรมชาติตามหน้าที่ แต่แล้วมันเหนื่อยและเป็นทุกข์ เพราะว่างานนี้มันเหนื่อย ไม่ทำก็ไม่มีอะไรจะกิน ไปทำเข้ามันก็เหนื่อย มันก็มีคนเรียนลัดไปขโมยดีกว่า มันมีอยู่ที่ว่ามันต้องทำหน้าที่อยู่แล้ว จะจะจะเกี่ยวกับธรรมะหรือไม่เกี่ยวกับธรรมะ คนหรือสัตว์มันก็ต้องทำหน้าที่อยู่แล้วคือหากิน ทีนี้มันเป็นทุกข์เพราะการหากิน ทีนี้ธรรมะเข้ามา อย่าให้ต้องเป็นทุกข์เพราะการทำมาหากิน เพราะฉะนั้นถ้าใครเกิดวุ่นวายเบื่อหน่ายยุ่งใจเพราะหน้าที่การงานที่ทำอยู่ นั่นก็ให้รู้ตัวไว้เถิดว่าธรรมะไม่พอ ถ้าธรรมะพอมันก็จะเห็นเป็นเรื่องหน้าที่ เป็นเรื่องที่มนุษย์จะต้องฟันฝ่าให้ลุล่วงไป มันก็ได้ผล เพราะรู้สึกว่าได้ทำหน้าที่ที่ควรทำ ถึงมันเหนื่อยมันก็เช่นนั้นเอง มันไม่มันมีความรู้เรื่องธรรมะเข้ามาช่วยให้เห็นว่าไอ้ความเหนื่อยก็เช่นนั้นเอง เหงื่อออกมาก็กลายเป็นน้ำมนต์อาบเย็นไปเลย ไม่ต้องโกรธแค้นขัดใจ ก็ทำงานสนุกทุกอย่างไป ก็เรียกว่ารอดตัว คือทำหน้าที่โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ ถ้ามิฉะนั้นก็ทำหน้าที่อะไรเหนื่อย เหนื่อยมันก็โกรธมันก็ขัดใจและเป็นทุกข์ ได้ธรรมะเข้ามา ช่วยให้เห็นว่าธรรมะนี่เป็นผู้ช่วย เป็นผู้ช่วยให้รอด เหมือนพระเจ้าที่จะช่วยให้รอด ฉะนั้นคนก็เลยทำงานสนุกพอใจในการทำงาน ไม่ต้องไปปล้นจี้ขโมยเรียนลัดรวยลัด นี่มนุษย์มันจะได้รับประโยชน์จากธรรมะคือธรรมะช่วยให้ทำงานสนุก หรือว่ามีธรรมะไปเสียตั้งแต่แรกแล้วมันก็ต้องไม่เป็นไม่ต้องเป็นทุกข์ คือถ้ามันเป็นทุกข์มาแล้วในการทำงานมันก็ธรรมะเข้ามาเห็นว่าไอ้งานหน้าที่นั่นเป็นธรรมะที่จะช่วยให้รอด เป็นพระธรรมทีเดียวแหละที่ช่วยให้รอด ก็เลยพอใจที่จะเหนื่อย รักที่จะเหนื่อย สนุกสนานในการที่จะเหน็ดเหนื่อยในการทำงานหรือการทำหน้าที่ มันก็เลยทำได้มาก กระทั่งทำไปได้ถึงที่สุดที่ควรจะทำได้ นี่เรื่องมันก็เลยหมดปัญหา ถ้าว่าเราไม่อยากทำงาน ไม่รู้ว่าเป็นหน้าที่ไม่อยากทำงาน แต่ความยากจนมันบังคับให้ทำให้ต้องทำ มันคือตกนรกนั่นเอง มันคือตกนรกนั่นเอง รู้จักปลดเรื่องนรกนั้นออกไปโดยละเอาไอ้งานหรือหน้าที่นั้นมาเป็นธรรมะ เป็นพระธรรมที่จะช่วยให้เรารอด หน้าที่คือธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ ลูกเด็กๆ เมืองไทยนี่ได้รับคำสั่งสอนจากโรงเรียนว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่ถ้าลูกเด็กๆ ในอินเดียครูสอนว่าธรรมะหน้าที่ .....(นาทีที่ 0:56:19 )สำหรับไปอินเดียธรรมะแปลว่าหน้าที่ ไม่ใช่ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในเมืองไทย ไอ้ตัวธรรมะแท้ๆ มันก็ไม่ได้แปลว่าคำสั่งสอน มันแปลว่าทรงไว้ ทรงไว้ไม่ตกไปในความชั่ว ธรรมะคือสิ่งที่ทรงไว้ไม่ให้ตกไปในความชั่ว มันคือหน้าที่ที่เราจะต้องทรงตัวเองไว้ไม่ให้ตกไปในความชั่ว ฉะนั้นทรงตัวเองไว้ไม่ให้ตกไปในความชั่วหรือความทุกข์ได้ก็เป็นธรรมะคือสิ่งสูงสุด เดี๋ยวนี้มันเป็นหน้าที่ ก็ทำหน้าที่นั้นด้วยความพอใจ ให้พอใจทุกขั้นตอน ยกตัวอย่างหน้าที่เรื่องการเป็นอยู่เพื่อรอดชีวิต จะต้องทำงานหาอาหารมาเลี้ยงชีวิต และจะต้องกินอาหาร และจะต้องถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ จะต้องอาบน้ำ จะต้องนุ่งผ้า จะต้องแต่งตัว อะไรก็เป็นเป็นหน้าที่ทั้งนั้น เห็นเป็นธรรมะให้เสียให้หมด แล้วก็พอใจยิ้มกริ่มอยู่ตลอดเวลา ที่กินอาหารที่อาบน้ำที่ถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ ที่นุ่งผ้า ที่แต่งตัว หรือแม้สุดแต่ว่าจะช่วยล้างจาน จะช่วยถูบ้าน ก็ทำด้วยความพอใจ นั่นแหละสนุกเพราะว่าเป็นธรรมะ ก็เลยปัญหาหมด คือมีความสุขอยู่ทุกวินาทีทุกวินาทีแต่เช้าจนค่ำ แต่ค่ำจนเช้า มีแต่ความสุขอยู่ทุกวินาทีถ้าทำใจได้อย่างนี้ จะทำใจได้อย่างนี้ก็ต้องเข้าใจไอ้คำว่าธรรมะให้มากพออย่างที่กล่าวมาแล้ว พอทำหน้าที่ก็นึกถึงธรรมะ ถือโอกาสเจริญกรรมฐาน เอาหน้าที่การงานเป็นอารมณ์ของสมาธิ หน้าที่เป็นธรรมะ ธรรมะเป็นหน้าที่ หน้าที่เป็นอารมณ์ของสมาธิ เจริญธรรมานุสติ ธรรมานุสติ ระลึกถึงธรรมะ ธรรมานุสติแปลว่าระลึกถึงธรรมะ มีมานุสติอยู่ตลอดเวลาที่ทำงาน แม้แต่จะช่วยเขาล้างจานถูบ้านกวาดขยะก็เป็นธรรมะและมีความสุข มีความสนุก มีความพอใจ เมื่อพบแต่ความสนุกและความพอใจ ไม่ต้องไปทำอบายมุขใดๆ ไม่ต้องไปกินเหล้า ไม่ต้องไปเล่นการพนัน ไม่ต้องทำอะไรที่เขาทำกันโดยอ้างว่าจะเพื่อความสุข นั้นเป็นเพียงความเพลิดเพลินที่หลอกลวง เดี๋ยวนี้คนในบ้านในเมืองเรานี่ ในโลกนี้มันหลงใหลในความสุขที่หลอกลวง หาเงินไปซื้อหาความสุขเพลิดเพลินที่หลอกลวง ไอ้ความสุขที่แท้จริงนี่ไม่ต้องใช้เงินแม้แต่บาทเดียว คือความพอใจเมื่อทำหน้าที่ พอใจเมื่อทำหน้าที่ แล้วเป็นสุขเพราะความพอใจนั้นเมื่อทำหน้าที่ มันก็เลยอิ่มอยู่ด้วยความสุข แล้วมันจะดิ้นรนไปหาอะไรอีกล่ะ แม้แต่เรื่องเพศเรื่องกามารมณ์มันก็จะหน่ายจะจางจากตาไป เพราะมันมีความสุขอย่างสงบแทนอยู่แล้ว หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะรู้จักใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ต่อไปข้างหน้านี้ให้เต็มไปด้วยความสุขด้วยความพอใจ คือเต็มไปด้วยธรรมะในลักษณะที่ว่ามานี้ พอจะทำการงานก็มองเห็นการงานนั้นเป็นธรรมะว่าจะช่วยให้รอด ถ้าเป็นชาวนาแบกคันไถจูงควายไปถึงน่ะวางลงแล้วกราบควายกราบคันไถเสีย ให้สาสมที่มันเป็นธรรมะเป็นหน้าที่เป็นธรรมะที่จะช่วยให้รอด ก็ไถนาให้สนุกจนลืมกินข้าวกินน้ำเลยเพราะ ประพฤติธรรมะอยู่กับการไถนา จะทำงานอย่างอื่นก็เหมือนกัน จะค้าขาย จะทำราชการ หรือจะทำอะไรก็สุดแท้ เป็นกรรมกรถีบสามล้อก็ควรจะไหว้รถสามล้อนั่นแหละบ่อยๆ เป็นอุปกรณ์แห่งการปฏิบัติธรรมะ ใครจะว่าบ้าก็ไม่เป็นไร เราไม่มีความทุกข์ เรามีแต่ความก้าวหน้าในทางธรรมะก็แล้วกัน พอเข้ามาในห้องทำงาน พนมมือให้แก่ห้องทำงานเป็นอุปกรณ์แห่งการปฏิบัติธรรมะ แล้วก็ทำงานให้สนุกแต่เช้าจนเย็น เวลาที่พักผ่อนก็พอใจว่ามันการพักผ่อนมันต้องพักผ่อน มันก็เป็นการเป็นหน้าที่เหมือนกัน หน้าที่ที่จะต้องพักผ่อนเพื่อจะมีแรงมาทำงานต่อไป ดังนั้นเมื่อพักผ่อนก็ดีเมื่อทำงานก็ดี มันก็กลายเป็นธรรมะไปหมดจึงมีธรรมะอยู่ที่เนื้อที่ตัว มีธรรมะอยู่ที่ชีวิตจิตใจ แสดงออกมาทางกาย ทางวาจา ทางใจ ทุกอย่างครบถ้วนทุกประการ มีธรรมะเป็นตัว ถ้าอยากจะมีตัวมีตนกันบ้างและขอให้มีธรรมะนี่แหละเป็นตัว พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อตฺตทีปา อตฺตสรณา ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา มีตนเป็นที่พึ่ง นั่นคือมีธรรมะเป็นที่พึ่ง นั่นสามารถเอาธรรมะมาเป็นตัว เอาตัวเป็นธรรมะ มีแต่ตัวของธรรมะ ไม่ใช่มีตัวกูของกูของกิเลส ไอ้ตัวกูของกูนี่เป็นของกิเลส ตัวตนของกิเลส อย่าต้องมีเลย มีตัวตนของธรรมะคือหน้าที่ ทำหน้าที่ อยู่ด้วยความรู้สึกว่าธรรมะคือหน้าที่ ช่วยให้รอด ให้รอด รอดชีวิต และรอดจากความทุกข์ และบรรลุมรรคผลนิพพานเรื่องจบ
วันนี้เป็นวันพระธรรม วันอาสาฬหบูชา เป็นวันพระธรรม พระพุทธเจ้าได้เปิดเผยพระธรรมเป็นวันแรก เป็นสิ่งแรกในวันนี้ จึงเรียกว่าเป็นวันพระธรรม คือเรื่องอริยสัจ และเรื่องอริยอัฏฐังคิกมรรค เป็นวันพระธรรม เราก็มานั่งปรึกษาหารือกัน จะเรียกให้หยาบคายว่านั่งสุมหัวกันก็ได้ พูดกันเรื่องพระธรรม สนใจเรื่องพระธรรม ปรึกษาหารือเรื่องพระธรรมว่าทำอย่างไรพระธรรมจึงจะมาเป็นชีวิตจิตใจและเป็นชีวิตของพระธรรมและดับทุกข์ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้กันทุกคน โลกนี้ก็เป็นโลกของพระธรรมไม่มีความทุกข์เลย อาตมาอยากจะบอกความลับอะไรสักอย่างหนึ่งว่า ถ้าอยากจะทำบุญให้ได้บุญมากๆ แล้วทำได้ง่ายมาก คือหลอกคนให้พอใจพระธรรม ไม่ต้องลงทุนสักสตางค์เดียว หลอกคนให้พอใจพระธรรม นี่จะได้บุญมากกว่าสร้างวัดสร้างโบสถ์สร้างอะไรต่างๆ หลอกคนให้พอใจพระธรรมนั่นแหละได้บุญมาก จงหลอกลูกหลอกหลานหลอกลูกเด็กๆ เล็กๆ ให้พอใจในพระธรรมให้ยึดถือพระธรรม คนแก่ๆ ก็เหมือนกัน หลอกให้เข้าไปปฏิบัติพระธรรม พอใจพระธรรม ยึดถือพระธรรม และก็รอดตัวไปเลย การทำบุญได้บุญสูงสุดโดยไม่ต้องลงทุนแม้สตางค์เดียวคือหลอกคนรับพระธรรม ถือพระธรรม ปฏิบัติพระธรรม หลอกคนให้รักพระธรรม
การบรรยายนี้ก็เรียกว่าสมควรแล้วกับที่วันนี้เป็นวันพระธรรม อาตมาก็ได้พูดเรื่องพระธรรมมาชั่วโมงกว่าแล้ว สมกับที่เป็นวันพระธรรม มันเหลืออยู่แต่หน้าเป็นหน้าที่ของท่านทั้งหลายที่จะทำให้มันมีขึ้นมา หวังว่าจะได้รับเอาไปโดยเฉพาะที่มาจากที่ไกล ถ้ารับเอาไปได้แล้วก็จะคุ้มค่ามา คุ้มค่าที่อุตส่าห์มาไกลเหน็ดเหนื่อยมากเปลืองมาก ให้ได้เข้าใจคำว่าพระธรรมคือหน้าที่ หน้าที่คือพระธรรม ไปทำหน้าที่การงานอยู่ด้วยความรู้สึกว่าพระธรรม พระธรรม พระธรรม แล้วก็ลุล่วงไปด้วยดีทุกการทุกงาน ไม่มีอะไรขัดข้องเสียหาย
ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้