แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านอาจารย์อบรมพระภิกษุราชภัฎ ในจังหวัดสุราษฎรธานี ครั้งที่ ๑ ณ บริเวณลานหินโค้ง สวนโมกข์ไชยา วันที่ ๒๔ กันยายน ปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ เวลา ๑๙.๓๐ น.
ผมขอแสดงความยินดี อนุโมทนาต่อพระราชภัฎที่ลาบวชทั้งหลาย ขอแสดงความยินดีในการที่ท่านทั้งหลายได้รับโอกาส ได้มีโอกาสที่ได้บวช และที่จะได้ฝึกฝนพระธรรมในพระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์หลายอย่างหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ จะเป็นผู้สืบอายุพระศาสนา ไม่เคยบวช ไม่ค่อยจะรู้หน้าที่ในการที่จะช่วยสืบอายุพระศาสนา ถ้าเคยบวช เคยได้ยินได้ฟัง ได้เล่าเรียนรู้ รอบรู้ก็สามารถที่จะสืบอายุพระศาสนา ไม่ว่าจะยังคงอยู่เป็นบรรพชิต หรือแม้ที่สุดแต่จะออกไปครองเรือน ฆราวาสผู้ครองเรือนก็มีหน้าที่ที่จะต้องสืบอายุพระศาสนาด้วยเหมือนกัน และก็ได้เป็นมาแล้วตลอดเวลา สำหรับการบวชนี้ ถ้าว่าโดยเนื้อแท้นั้นก็เป็นเรื่องของผู้ต้องการจะสละความเป็นอยู่อย่างวิสัยโลก ออกไปสู่ชีวิตแบบที่สูงกว่าธรรมดาโลกในขั้นปลาย ในเบื้องปลายแห่งชีวิตทั้งนั้น นี่เป็นธรรมเนียม อายุมากกันแล้วก็บวช เพื่อแสวงหาความสุขในบั้นปลายแห่งชีวิตจากการบวช
แต่บัดนี้ มันก็เกิดมีขนบธรรมเนียมประเพณีขึ้นในประเทศไทยเรา ให้คนหนุ่มบวชชั่วคราว นั้นก็ไม่ขัดแย้งอะไรกัน ไม่ได้เป็นการฝืนคำสั่งสอนหรืออะไรทำนองนั้น เพราะว่าจะได้ศึกษาสิ่งที่จะทำให้เป็นมนุษย์อย่างถูกต้องต่อไป แม้จะสึกออกมาเป็นฆราวาสก็จะเป็นมนุษย์ที่ไม่มีปัญหาโดยทุกทิศทุกทาง มันดีอย่างนั้น และอีกทางหนึ่งเท่าที่เราทราบมา แม้ในประเทศอินเดีย ก็มีระเบียบให้คนหนุ่มออกไปอยู่ในลักษณะที่เป็นการฝึกฝนอย่างยิ่ง คือไปเข้าอาศรมในทางศาสนา ฝึกฝนเรื่องทางกาย ทางวาจา ทางใจ ชนิดที่สูงขึ้นไปกว่าธรรมดา จนอาจารย์ผู้เป็นหัวหน้าผู้ฝึกบอกว่า เอาพอแล้วคุณ กลับไปได้ แล้วกลับไปบ้าน ได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตกลับมา คือ มีความรู้พอตัวที่จะดำเนินชีวิต เป็นมนุษย์ที่ดีที่สุด เขาเรียกว่าเป็นบัณฑิต เดี๋ยวนี้ก็ยังมีระเบียบอย่างนี้ใช้อยู่ แม้ว่าจะไม่มากมาย เพราะว่าการศึกษาสมัยใหม่มันเข้ามาแทรกแซงแล้ว ก็เป็นเรื่องบัณฑิตอย่างแบบใหม่ไปหมด แต่แบบเก่าเขาก็เรียกว่าบัณฑิตด้วยเหมือนกัน นี่ก็หมายความว่า คนหนุ่มออกไปศึกษาฝึกฝนเรื่องที่ควรจะศึกษาฝึกฝน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ให้เป็นมนุษย์ที่ดีที่สุดที่จะดีได้นั่นเอง นั่นแหละคือความประสงค์มุ่งหมาย ถ้าสมมติว่าจะไปเป็นพ่อบ้าน ก็จะไปเป็นพ่อบ้านที่ดี จะไปเป็นพลเมือง ก็ไปเป็นพลเมืองที่ดี จะไปเป็นอะไรก็ตาม จะไปเป็น หน้าที่ตำแหน่งใดในโลกนี้ก็จะเป็นได้อย่างดี เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่าเคยฝึกฝนสิ่งที่ควรจะฝึกฝน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับตัวเอง คือ บังคับกาย วาจา ใจ ได้สำเร็จ เป็นผู้คล่องแคล่วในการที่จะบังคับจิต ซึ่งจะบังคับกาย บังคับวาจาด้วย ไม่ให้เกิดโทษขึ้นมาเพราะเหตุนั้น ดังนั้นคนชนิดนี้จึงมีประโยชน์ แม้ในความเป็นฆราวาส
สำหรับเรื่องการบวชนี่ เราจะถือเอาความมุ่งหมายอย่างนี้เป็นหลัก สำหรับพระราชภัฎทั้งหลาย แต่ถ้าโดยหลักทั่วไปมันหมายถึงบวชเลย บวชไปเลย อย่างนั้นมันก็อีกเรื่องหนึ่ง ไปหมด เว้นหมด จากความเป็นฆราวาส ไปเป็นบรรพชิตจนตลอดชีวิต นั้นมันก็อีกเรื่องหนึ่ง ถ้าทำได้ ก็ทำ ก็ทำและทำต่อไป ถ้าทำไม่ได้ จำเป็นจะต้องสึก ก็ต้องลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาสนั่น ก็ทำให้ดีที่สุด รู้สึกว่า สามสี่เดือนนี่ยังน้อยไป ยังมีการฝึกที่น้อยไป แต่เมื่อมันมีธรรมเนียมบวชเพียงสามสี่เดือนก็พยายามใช้เวลาให้ดีที่สุด ในการที่จะฝึกฝนปรับปรุงตัวเองให้ได้รับประโยชน์สมตามความมุ่งหมาย ผมอยากจะใช้คำรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือจะเป็นฆราวาส คำรวมกันคำนั้นก็คือว่า การชนะโลก ชนะโลก ไม่พ่ายแพ้แก่โลก ชนะโลก อยู่อย่างบรรพชิตไปก็เป็นการชนะโลกโดยเด็ดขาดสูงๆ ขึ้นไป แต่ว่าแม้จะออกไปเป็นฆราวาสก็ต้องมีการชนะโลก ตามสมควรแก่อัตภาพของตนของตน ถ้าพ่ายแพ้แก่โลกมันก็คือความวินาศ แม้ฆราวาสนั่นแหละ ฆราวาสที่พ่ายแพ้แก่โลก ก็หมายความว่า พ่ายแพ้แก่กิเลส ก็ทำไปในลักษณะที่ทำตัวเองให้ต่ำ ตกต่ำ ตกต่ำ ตกต่ำไปกว่าระดับความเป็นมนุษย์ที่ควรจะเป็น อย่างนี้ก็เรียกว่าไม่ชนะโลก หรือพ่ายแพ้แก่โลก ฉะนั้น แม้ว่าเราจะลาสิกขาเป็นฆราวาส ก็จะต้องมีหลักว่าจะออกไปเป็นผู้ชนะโลก ไม่ให้โลกครอบงำย่ำยีเรา เสียหายหมด แต่จะกระทำสิ่งทุกสิ่งให้เป็นไปเพื่อความเจริญรุ่งเรืองสวัสดีมีชัยแก่ชีวิตจิตใจ ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น นี่แหละคือ ชนะโลก เพราะฉะนั้นเราจึงมีการบวชได้แม้ชั่วคราวและเพื่อฝึกฝนการชนะโลก ซึ่งจะต้องศึกษากันเสียแต่บัดนี้
อยากจะพูดว่า การที่มาอยู่อย่างนี้ อบรมอย่างนี้ ฝึกฝนอย่างนี้ เรื่องกินเรื่องอยู่เรื่องใช้เรื่องสอย เรื่องอะไรต่างๆ นี้ ล้วนแต่ฝึกเพื่อชนะโลก ที่จะบังคับกิเลสได้ จะไม่ปล่อยให้กิเลสครอบงำย่ำยี และไปทำในสิ่งที่ไม่ควรจะทำ เช่น อบายมุข เป็นต้น และว่าจะได้ฝึกฝนการเป็นอยู่อย่างต่ำ ซึ่งเป็นธรรมชาติหรือใกล้ชิดกับธรรมชาติที่สุด ตัวอย่างประจักษ์อยู่เดี๋ยวนี้แล้วว่า เดี๋ยวนี้เรากำลังนั่งกลางดิน เราไม่ต้องนั่งบนตึก บนเก้าอี้ บนอะไรที่มันมีราคาเป็นล้านๆ เหมือนที่เขาทำกันอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ นั้นไม่เป็นการศึกษาในส่วนนี้ เดี๋ยวนี้เรานั่งกลางดิน ถ้าใครยังไม่ทราบก็ควรจะทราบเถอะ ว่าพระพุทธเจ้านั้นท่านก็ประสูติกลางดิน เมื่อตรัสรู้ก็ตรัสรู้กลางดิน นั่งกลางดินตรัสรู้ ไม่ได้ตรัสรู้ในมหาวิทยาลัยอะไรที่ไหน แล้วท่านก็สอน ส่วนมากเมื่อนั่งกลางดิน เมื่อเดินทางไปก็ได้ ถ้าว่ากุฎิ วิหารที่ใช้อาศัยอยู่ก็เป็นพื้นดิน นี่สอนกลางดิน อยู่กลางดิน ปฏิบัติงานกลางดิน แล้วในที่สุดก็นิพพานกลางดิน นี่ช่วยเอามือคลำดิน เอามือลูบดิน ให้มีความรู้สึกนึกถึงพระพุทธเจ้า ว่าแผ่นดินนี้เป็นที่ประสูติ เป็นที่ตรัสรู้ เป็นที่สั่งสอน เป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่ปรินิพพาน แผ่นดินโคนต้นไม้ มีแถมเข้ามาหน่อยว่าโคนต้นไม้ ประสูติก็โคนต้นไม้ ตรัสรู้ก็โคนต้นไม้ สอนโดยมากก็เรื่องใต้ต้นไม้ ก็นิพพานในที่สุดก็ใต้ต้นไม้ แต่ไม่สำคัญเท่ากับกลางดิน
เราจงพยายามดำรงชีวิตใกล้ชิดกับแผ่นดินให้มากเท่าที่จะมากได้ เพราะว่ามันเป็นการใกล้ธรรมชาติอย่างธรรมชาติ คุ้นเคยกับธรรมชาติ เมื่อคุ้นเคยกับธรรมชาติแล้วมันก็ง่ายในการที่จะศึกษาปฏิบัติธรรมะและรู้ธรรมะ เพราะว่าธรรมะนี้มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ช่วยเข้าใจกันไว้ดีๆ ว่า มองในแง่หนึ่งแล้วจะเห็นได้ทันทีว่า ธรรมะเป็นเรื่องของธรรมชาติ ธรรมะ คือ ตัวธรรมชาติทั้งหลาย ตัวธรรมชาติทั้งหลาย เป็นรูปธรรม นามธรรม สังคตธรรม อสังคตธรรม อะไรก็ตาม ที่เป็นตัวธรรมชาตินั่นแหละ เรียกว่า ธรรม ในภาษาบาลี เรียกธรรมเฉยๆ ทีนี้ตัวกฎของธรรมชาติ ในฐานะที่เป็นสัจธรรม มันก็เป็นกฎของธรรมชาติ จะดับทุกข์ หรือจะเกิดทุกข์ หรือจะอะไรก็ตาม มันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ กฎของธรรมชาตินี้ในภาษาบาลีก็เรียกว่า ธรรม คำเดียวกันอีก
ทีนี่ก็มาถึงหน้าที่ที่จะต้องประพฤติปฎิบัติให้ดับทุกข์ได้ มันต้องปฎิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ซึ่งเราจะต้องฝึกกันอยู่เสมอ ฝึกทำหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎธรรมชาติ หน้าที่อันนี้ก็เรียกในภาษาบาลีว่า ธรรม คำเดียวกันอีกแหละ แต่หมายถึงปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรม ในที่สุดมันได้ผลมา ตามควรแก่การปฏิบัติ จะเป็นเรื่องโลกก็ดี เป็นเรื่องธรรมะ เป็นมรรคผลนิพพานก็ดี ผลของการปฏิบัติตามหน้าที่นี้ ก็ยังเรียกโดยบาลีว่า ธรรม ธรรมคำเดียวกันอีก นั่นแหละขอให้รู้เถอะว่า ธรรมะทั้งสี่ความหมายนี้มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ตามธรรมชาติธรรมดาทั่วไปเรียกว่า สภาวธรรม กฎของธรรมชาติเรียกว่าสัจธรรม หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เรียกว่า ปฏิบัติธรรม ผลที่ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ เรียกว่า ปฏิเวธธรรม ทั้งสี่อย่างนี้ในภาษาบาลีเรียกว่า ธรรมคำเดียว ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ฉะนั้นเราจะมาอยู่ ทดลองเป็นอยู่ อย่างใกล้ชิดกับธรรมชาติที่สุด อย่างว่ามาพักค้างอยู่ที่นี่ ก็ฝึกฝนอะไรหลายๆอย่าง ที่ให้มันลดลงไปอยู่ในระดับธรรมชาติ จะเป็นการฉันอาหารก็ดี การอยู่ก็ดี การทุกอย่างแหละ เราจะมีลักษณะชนิดที่ใกล้ชิดธรรมชาติ นั่งกลางดิน โคนต้นไม้ ใกล้ชิดธรรมชาติ ยิ่งกว่าจะนั่งจะอยู่จะเรียนบนตึกราคาเป็นล้านๆ มันยิ่งไกลธรรมชาติ เดี๋ยวนี้เรามาฝึกฝน การที่จะเอาชนะความรู้สึกต่างๆ ซึ่งเป็นกิเลส ซึ่งล้วนแต่ตีตนออกห่างจากธรรมชาติ เพราะว่ากิเลสมันต้องการสวยงาม สนุกสนาน เอร็ดอร่อย ผิดธรรมชาติ ไกลธรรมชาติ ทีนี้ก็มาฝึก มาฝนการชนะกิเลสโดยการเป็นอยู่ให้ใกล้ชิดธรรมชาติ
จึงขอบอกกล่าวว่า ตลอดเวลาที่อยู่ที่นี่ จงพยายามเป็นอยู่อย่างใกล้ชิดธรรมชาติ อย่างน้อยที่สุดว่า ฉันข้าวด้วยมือ อย่างนี้มันเหมือนกับพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าฉันอาหารด้วยพระหัตถ์ ด้วยมือ ไม่มีช้อนส้อมตลอดเวลา และไม่มีอะไรๆ อีกมากเหมือนอย่างที่เรามี พระพุทธเจ้าไม่เคยใช้รถยนต์ พระพุทธเจ้าไม่มีอะไร แม้ที่สุดแต่ว่าคีมตัดเล็บสวยๆ สะดวกๆ เหมือนที่เราใช้กันอยู่นี่ พระพุทธเจ้าไม่เคยมี ไม่เคยรู้จักแล้วเป็นว่าเราจะให้มันง่าย ให้มันต่ำลงไป มีการกินการอยู่การใช้การปฎิบัติต่างๆ ให้มันใกล้ชิดธรรมชาติ ผลที่สุดมันก็กล่าวได้ว่า มีชีวิตอยู่ได้โดยแทบจะไม่ต้องใช้เงิน แทบจะไม่ต้องใช้เงิน ไม่ต้องใช้เงินเลยก็ยังอยู่ได้ บางองค์ก็ปฏิบัติอยู่อย่างไม่ต้องใช้เงินเลย แม้แต่ค่าถ่านไฟฉายก็ไม่ซื้อ ให้มันได้มา ก็ได้มาตามที่ว่า ไม่ ไม่มีการใช้เงิน เอากันอย่างนั้น อย่างนี้ก็เป็นการฝึกอย่างแรง ซึ่งจะเอาไปใช้ได้สำหรับเมื่อออกไปเป็นฆราวาส มันก็จะใช้เงินน้อยที่สุด จะสามารถเป็นอยู่ได้อย่างใช้เงินน้อยที่สุด หรือในบางอย่างบางกรณีโดยมากไม่ต้องใช้เงินเลย นี่เรียกว่ามันเอาชนะโลก เอาชนะกิเลส เอาชนะปัญหาในโลก ฉะนั้นขอให้เห็นว่า เป็นการฝึกที่มีค่า ยิ่งกว่าที่จะไปสอบไล่ได้เกียรติบัตร ปริญญาบัตร ประกาศนียบัตรอะไรไปเสียอีก ขอให้ได้ธรรมะตามหลักเกณฑ์ของพระพุทธเจ้ามาอยู่กับเนื้อกับตัว เรื่อยๆ ไปจนตลอดเวลา และก็จะติดเป็นสันดาน และก็จะเป็น เป็นอยู่ได้โดยง่ายในโลกนี้ โดยไม่ต้องมีความทุกข์ ให้เป็นอยู่อย่างที่เรียกว่าชนะโลก ชนะโลก อย่าให้ต้องร้องไห้ อย่าให้ต้องฆ่าตัวตาย เพราะพ่ายแพ้แก่ปัญหาในโลก
นี่เรียกว่าการบวชแบบนี้ การบวชแบบพระราชภัฎที่จะบวชชั่วคราว ไม่ใช่บวชตลอดไป เพียงแต่อีกความหมายหนึ่ง แม้จะบวชชั่วคราวก็ยังได้อะไรมหาศาล มากมายมหาศาล ที่ได้รับการฝึกฝน ได้รับความรู้สำหรับจะเป็นผู้ปฏิบัติอยู่อย่างชนะโลก ชนะโลก ช่วยจำไว้คำหนึ่งด้วย ถ้าเราเป็นผู้ชนะโลก เราก็จะอยู่ในโลกสบาย สงบเย็นเป็นสุขไม่มีปัญหาอะไร ถ้าเป็นผู้พ่ายแพ้แก่โลก มันก็คือพ่ายแพ้แก่กิเลส มันเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน ถูกบีบคั้น ถูกอะไรด้วยกิเลส ด้วยสิ่งที่เรียกว่ากิเลส และเอาชนะมันไม่ได้ บางทีก็ยิ่งประชด ยิ่งทำให้มันเลว ให้มันชั่วหนักขึ้นไปอีก อย่างนี้มันก็เป็นเรื่องฉิบหายหมดพินาศหมด ไม่มีอะไรเหลือในการที่จะดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ ทั้งหมดนี้เราจะเรียกสั้นๆ ว่า การบวชแบบนี้ คือ บวชแบบชั่วคราว ทีนี้ถ้าจะถามว่าทำไม ทำไมจะต้องบวช เนื่องจากอะไร ก็บอกมาแล้วเป็นคร่าวๆ ข้างต้นแล้วว่า เพราะมันยังขาดผู้ที่มีคุณธรรม ยังขาดความเป็นผู้มีคุณธรรม สำหรับจะเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ชายนี่ก็จะเป็นพ่อบ้านที่ดี คุณธรรมสำหรับความเป็นพ่อบ้านที่ดี มีอยู่หลายอย่างหลายประการ ก็เพราะยังขาดคุณธรรมข้อนั่นแหละ เราจึงต้องออกมาฝึกฝน แม้ในระหว่างที่เรียกว่าบวช คือ ฝึกฝนการบังคับตัวเอง ฝึกฝนกำลังจิต ให้มีกำลังจิตเข้มแข็งมากพอ ให้มีความอดกลั้นอดทน ไม่ทำอะไรทุกอย่างที่มันเป็นการบีบคั้นกิเลส ไม่ให้กิเลสมันบีบคั้นเรา พ่อบ้านที่ดีไม่ใช่ง่าย จะต้องมีความรู้เพียงพอ จะต้องมีสติสัมปชัญญะเพียงพอ จะต้องมีความอดกลั้นอดทนเพียงพอ มีสมาธิเพียงพอ ตามสมควรแก่กรณี ฉะนั้นอย่าเห็นว่าบวชสามสี่เดือนนี่มันจะพอ ผมคิดว่ามันจะได้เพียงเค้าเงื่อน เพียงเค้าเงื่อน สำหรับศึกษาต่อไป นี่ก็นับว่าดีที่สุดแล้ว โอกาสสามเดือนสี่เดือนนี่ศึกษาให้รู้เรื่องราว ให้รู้เหตุผล ให้รู้เค้าเงื่อนของการที่จะเป็นมนุษย์ผู้ชนะโลก แล้วก็จะต้องศึกษาฝึกฝนต่อไป แม้กลับออกไปเป็นฆราวาสแล้ว มันก็ยังต้องทำอยู่นั่นแหละ ต้องทำการศึกษาฝึกฝนต่อ
นี่ไม่ต้องพูดถึงธรรมะหมด ทั้งหมดในพระศาสนา เพียงแต่ธรรมะชั่วความเป็นฆราวาสสำหรับความเป็นฆราวาสที่สมบูรณ์ก็ยังต้องศึกษากันถึงขนาดนี้ เผอิญว่ามันมาตรงกันกับเรื่องของพระธรรม ที่จะอยู่อย่างในเพศบรรพชิต มันก็มีธรรมะมากมายหลายอย่างหลายประการ บางทีมันก็ตรงกันเลย บรรพชิตก็ใช้ธรรมะนั้น ฆราวาสก็ใช้ธรรมะนั้น ศึกษาฝึกฝนให้มองเห็น ให้เข้าใจ ได้รวบรวมเข้าไว้ นี่เรียกว่าเพราะเหตุที่ว่าเรายังขาดคุณสมบัติสำหรับจะเป็นมนุษย์ที่ดี หรือจะพูดให้ชัดลงไปว่าสำหรับผู้ชายที่จะเป็นพ่อบ้านที่ดี เพราะเหตุมันขาดสิ่งเหล่านี้ เราจึงต้องทำ คือทำการศึกษา แต่ถ้าไม่มาบวช ก็ไม่รู้จะไปศึกษาที่ไหน อย่างไร และไม่สะดวก และไม่ครบถ้วน ไม่บริบูรณ์เหมือนกับว่ามาบวช ศึกษาอย่างเป็นพระ นั่นก็ศึกษาส่วนนั้น แต่ว่าคุณธรรมเหล่านี้มันไปใช้ได้แม้เมื่อลาสิกขาไปแล้ว สัจจะ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ เข้าใจว่าเคยเรียนกันมาแล้ว อย่างนี้พระก็ใช้ พระก็ใช้อย่างยิ่ง จึงจะก้าวหน้าในหน้าที่การงานการปฏิบัติ มีสัจจะ มีทมะ มีขันติ มีจาคะ และธรรมะหมวดนี้มีชื่อว่า ฆราวาสธรรม หมายความว่า ฆราวาสธรรมจำเป็นจะต้องมีธรรมะเหล่านี้ หรือจะให้ดีกว่านั้นก็เป็นธรรมะสำหรับฆราวาสจะใช้ยกตนเองจากระดับต่ำขึ้นไปสู่ระดับสูง หรือพ้นจากความเป็นฆราวาส เอาสิ ถ้าฆาราวาสต้องการจะเจริญในทางจิตใจเหนือความเป็นฆาราวาสก็ใช้ฆราวาสธรรมนี่แหละ ศึกษาดู มันจะช่วยฆราวาสพ้นจากความเป็นฆราวาส ไม่ใช่ว่าสำหรับจะจมอยู่ในความเป็นฆราวาสนั้นมันไม่ไหวหรอก มันไม่ได้มีแผนการหรือหลักการอะไรที่จะให้คนจมอยู่ในความเป็นฆราวาส มีแต่จะให้สูงขึ้นมา สูงขึ้นมา จนพ้นจากระดับนั้นมีจิตใจสูงกว่าระดับนั้น นี่คำว่า ฆราวาสธรรม ควรจะมีความหมายอย่างนี้ ไม่ใช่สำหรับจมอยู่ในฆราวาส แต่จะหลุดออกไปได้จากความเป็นฆราวาส
ฉะนั้นการบวชของเราก็เลยเป็นการฝึกฝนครบถ้วน เพื่อจะอยู่เป็นฆราวาสไป เพื่อจะอยู่เป็นบรรพชิตก็ได้ จะเป็นฆราวาสก็ได้ แล้วก็ขอพูดถึงอานิสงส์ใหญ่หลวงของการบวชเสียเลย ว่าการบวชนี่จะต้องได้อานิสงส์รวบยอดใหญ่ๆ น่ะสามประการ คือตัวเราเองได้ คือ ประการที่แรก ประการที่สองญาติทั้งหลายมีบิดามารดา เป็นต้น หรือผู้มีพระคุณทั้งหลายพลอยได้ และประการที่สามก็คือ พระศาสนาหรือโลกทั้งปวงนี่พลอยได้ ข้อแรกที่ว่า เราผู้บวชจะพลอยได้ ก็เหมือนอย่างที่ว่ามาแล้วตลอดเวลานั่นน่ะ ถ้าบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง แล้วมันก็ได้ผลอย่างที่ว่าสำหรับตัวเรา เป็นการได้ในสิ่งที่ดีที่สุด ที่มีค่ามากเหลือที่จะตีค่ากันได้ ได้สิ่งที่ดีจนเหลือการที่จะตีค่า เขาเรียกว่า หาค่ามิได้ หมายความว่า อยู่เหนือการตีค่า ฉะนั้นขอให้เราบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง แล้วก็จะได้รับสิ่งที่อยู่เหนือการตีค่า นี่ขอให้อุตสาหะ อดกลั้น อดทน ทำให้ได้ มันคุ้มค่ากันเหลือเกิน ทีนี้ที่บิดามารดาหรือผู้มีพระคุณทั้งหลายจะพลอยได้รับนั่นน่ะ มันก็เป็นสิ่งผูกพันมนุษย์สิ่งหนึ่งด้วยเหมือนกัน เรามีบิดามารดาเป็นเจ้าหนี้บุญคุณ เราเป็นหนี้บุญคุณ เราต้องตอบแทน การตอบแทนอย่างอื่นนั้นไม่ๆๆดีเท่าหรือไม่สูงเท่าการบวชในพระพุทธศาสนา ซึ่งจะดึงจะจูงบิดามารดามาใกล้ชิดกับศาสนามากขึ้น สมัยก่อนเขาใช้คำพูดว่า เป็นญาติในพระศาสนามากขึ้น ก็ถูกล่ะเพราะมาเกี่ยวข้องกับพระศาสนามากขึ้น ทั้งทางวัตถุ ทั้งทางจิตใจ ก่อนนี้พ่อแม่ไม่ค่อยเข้าวัด พอลูกมาบวชอยู่ในวัด ก็เข้าเช้าเข้าเย็น และก็จะศึกษาอะไรอีกหลายๆ อย่าง และถ้าว่า ลูกสามารถก็ยิ่งดีใหญ่ คือจะไปช่วยแนะนำสั่งสอนชักจูงชี้แจง ป้องกันอะไรให้บิดามารดารู้ธรรมะมากขึ้น และปลอดภัยจากกิเลสมากขึ้น นี่เป็นการตอบแทนพระคุณอย่างสูงสุด คือเราทำให้บิดามารดาปลอดภัยจากกิเลสมากขึ้น ขอให้ช่วยนึกไว้ด้วย ถ้ามีความกตัญญูต่อบิดามารดา ขอให้ช่วยนึกไว้ด้วย ว่าเราได้บวชทั้งทีนี่เรายังมีหน้าที่ส่วนหนึ่งคือ จะทำให้บิดามารดาปลอดภัยจากกิเลสมากขึ้น สบายมากขึ้น มีความผาสุขในทางธรรมะมากขึ้น ข้อนี้อย่าลืม ข้อนี้อย่าลืม เพราะมันทำได้พร้อมกันไปในตัว ถ้ามีเวลามีโอกาสก็ชี้แจงแนะนำ หรือแม้แต่ทำตัวอย่างที่ดีให้ดูอยู่ทุกวัน มันก็เหลือเกินแล้ว ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบให้เป็นตัวอย่างอยู่ทุกวันๆ บิดามารดามาเห็นเข้าก็พอใจ ยิ่งกว่าจะพอใจ มีความศรัทธาประสาทะเลื่อมใสในธรรมะในศาสนายิ่งขึ้น ฉะนั้นคำว่าบวชเพื่อทดแทนพระคุณบิดามารดานี่เป็นสิ่งที่มีเหตุผล ไม่ใช่คำพูดเหลวไหล และไม่ใช่คำพูดอ้างกันสนุกๆ มันต้องเป็นเรื่องที่เป็นไปได้จริงๆ ญาติทั้งหลาย แม้แต่ญาติห่างๆ อะไรก็ตาม ไม่ต้องเฉพาะบิดามารดาหรอก ขอให้ได้รับประโยชน์จากการบวชของเราด้วย นี่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ข้อที่สอง
ข้อที่สาม นั้นว่าให้พระศาสนาได้รับประโยชน์ ให้โลกทั้งโลกได้รับประโยชน์ พระศาสนาได้รับประโยชน์ก็คือ มีคนบวชสืบอายุพระศาสนา บวชกี่วัน กี่เดือน กี่ปี มันก็สืบอายุพระศาสนา เท่านั้นวัน เท่านั้นเดือน เท่านั้นปี ขออย่างเดียวคือว่า ให้มันบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง สอนสืบๆ กันไปจริง แล้วทำอย่างนี้ สุดความสามารถ เอ้า, บวชสามเดือนเสร็จไป ทีนี้สึกไปเป็นฆราวาสก็ทำอย่างนี้อีกแหละ ยังคงทำอย่างนี้อยู่อีกแหละ ยังใช้ธรรมะที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา ให้เป็นประโยชน์แก่ทุกคน ตามธรรมชาติของพระธรรม ซึ่งจะช่วยผู้ที่มีธรรมะนั่นแหละให้รอดจากความทุกข์ทั้งปวง นี่คือพระศาสนาได้รับการสืบอายุพระศาสนาจากเราผู้กำลังบวชอยู่ และจากเราผู้แม้จะลาสิกขาออกไปแล้ว ก็เพราะว่าเราไปเป็นอุบาสก อุบาสิกา เป็นฆราวาสที่ดี ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่พระศาสนาอยู่ตลอดเวลา นี่พระศาสนาได้รับประโยชน์คือมีผู้สืบอายุพระศาสนา แต่ถ้าบวชไม่จริง บวชเหลวไหล มันไม่มีผลตรงกันข้าม ก็ขอให้กลัวให้มาก อย่าไปข้องแวะเลย
ทีนี้ที่ว่าประโยชน์จะได้แก่สัตว์โลกนี่ มันเป็นการมองเห็นที่ได้ไม่ยากนัก ถ้าศาสนามันยังมีอยู่ในโลก โลกนี้มันก็ปลอดภัย ฉะนั้นการที่บวชนี่เป็นการทำให้พระศาสนายังมีอยู่มีในโลก คนที่อยู่ในโลกก็พลอยได้รับประโยชน์จากพระศาสนาหรือจากพระธรรม นี่มันเป็นอนุภาพอันศักดิ์สิทธิ์ของพระธรรม เพราะถ้ามีอยู่ในโลก และก็คุ้มครองโลก ฉะนั้นถ้าเราทำให้มันมีอยู่ในโลก โลกก็พลอยได้รับประโยชน์ สัตว์โลกทั้งโลกพลอยได้รับประโยชน์จากการที่เราสืบอายุพระศาสนาไว้ในโลก เรื่องนี้ไม่ใช่เล็กน้อย ถ้ามองเห็นแล้วก็จะเกิดกำลังใจมหาศาล ในการที่จะประพฤติให้ดีที่สุด ให้เป็นการบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง แล้วก็เผยแผ่สอนต่อๆกันไปจริงๆ ทุกคนทำการเผยแผ่ได้ ไม่ต้องเป็นพระนักเทศน์ ผู้บรรยายอันมีชื่อเสียงหรอก ขอแต่ให้เราปฏิบัติธรรมะอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วแสดงให้ผู้อื่นเห็น นั่นแหละเป็นการเผยแผ่ที่ประเสริฐที่สุด คือเขาเห็นแล้ว เขาพอใจ เขานับถือ เขาอดรนทนอยู่ไม่ได้ เขาก็ต้องทำตาม ทีนี้ถ้าเราเผยแผ่อย่างหุบปาก หุบปากเงียบ แสดงธรรมะอยู่ที่เนื้อที่ตัวอย่างยิ่งอยู่ตลอดเวลา คนเห็นค่าก็เสื่อมใส จะเสื่อมใสยิ่งกว่าคนที่พูดมากเสียอีก เป็นการเผยแผ่ด้วยการทำตัวอย่างให้ดู เป็นผู้มีความสุขให้ดู ว่าอยู่อย่างนี้ อยู่อย่างนี้ มันมีความสุข แล้วคนเขาก็พากันทำตาม ทำตามนี่ การเผยแผ่อย่างลึกซึ้งคือการเผยแผ่อย่างนี้ ซึ่งได้เป็นมาแล้วตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ในครั้งพุทธกาลน่ะ การเผยแผ่ด้วยการเป็นผู้มีความสุขให้ดูเที่ยวไปในโลก ให้ชาวโลกได้เห็น ตัวอย่างของผู้ที่เอาชนะความทุกข์ได้ก็หันมานับถือพุทธศาสนากันมากมาย ไม่ได้มีการเทศน์วิทยุหรือพิมพ์หนังสือมากมายมหาศาลอย่างเดี๋ยวนี้ในครั้งพุทธกาล แต่ก็ได้ทำการเผยแผ่มาอย่างประสบความสำเร็จ ฉะนั้นขออย่าได้ท้อถอยว่า เราไม่มีอะไรต่ออะไรจะไปเผยแผ่อย่างไรได้ เราปฏิบัติธรรมะให้ดู นั่นแหละคือ การยอด นั่นแหละคือยอดสุดของการเผยแผ่ การเผยแผ่ขั้นสุดยอด คือ การปฏิบัติธรรมะให้ดู มีความสุขให้ดู
เอาละเป็นอันว่า การบวชของเราน่ะมีโอกาสที่จะได้รับอานิสงส์ประเสริฐที่สุดถึงสามประการ ตัวเราเป็นเหมือนกับว่าเกิดใหม่ได้สิ่งที่ดีที่สุด เกิดใหม่ในอริยชาติ แล้วก็ญาติทั้งหลายบิดามารดาเป็นต้นก็พลอยได้รับธรรมะกุศลมหาศาล และพระศาสนาและโลกทั้งปวงก็พลอยได้รับการสืบต่ออายุและการอยู่กันอย่างสงบสุข มันเกินค่านะ แม้ว่าจะต้องอดทน อดกลั้นอยู่ไปตลอดชีวิตก็ยังเกินค่า ทีนี้ได้บวชสามเดือนทำได้อย่างนี้มันก็เรียกว่าได้ผลมหาศาลเหมือนกัน เป็นไอ้เรื่องที่จะต้องตัดสินเอาเองละ ในที่สุด มันก็จะต้องพูดว่า ต้องจริง คำเดียว เพื่อจะได้รับประโยชน์ตามนั้น ตามที่พูดมานั้นน่ะ ได้ก็ด้วยในสิ่งที่เรียกว่า จริง จริง คำเดียว คือขอให้บวชจริง บวชจริงๆ เคารพระเบียบวินัยของการบวชจริงๆ ไม่ใช่การบวชเล่นๆ บวชหลอก บวชลวงอะไร บวชจริง แล้วก็ปฏิบัติจริง มอบกายถวายชีวิตให้แก่การปฏิบัติเลยเรียกว่า ปฏิบัติจริง เอ้า, เรียนจริงก่อน บวชจริง แล้วก็เรียนจริง อะไรที่มีเรื่องที่จะต้องเรียน ก็เรียนจริงๆ เรียนอย่างที่เรียกว่าพอใจ แล้วก็ปฏิบัติจริง ปฏิบัติสุดกำลังความสามารถ ครั้นปฏิบัติจริงมันก็ได้ผลจริง ได้ผลจริงนี่เป็นการตอบแทนมหาศาล และก็เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นก็แนะนำสั่งสอนไปตามที่จะทำได้ เรารู้เท่าไรเราก็มีสิทธิที่จะบอกกล่าวสั่งสอนแก่ผู้อื่นเท่านั้นแหละ แม้จะไม่สูงสุดหรือหมดทั้งพระศาสนา ก็เอาเท่าที่เรารู้ เราเข้าใจ เราปฏิบัติได้ เรามีความชอบธรรมที่จะพูด จะบอก จะสอนไปตามที่เรามีอยู่ อย่างนี้ไม่มีทางติเตียนน่ะ ผมอยากจะพูดว่าแม้บวชวันเดียวก็สอนได้ แม้เพิ่งบวชได้วันเดียว แต่ถ้ามีความรู้จริง ที่ปฏิบัติได้จริงและปฏิบัติอยู่ ก็บอกได้ บอกตามที่เราทำได้ เท่าที่เราทำได้ ฉะนั้นไม่ต้องท้อใจว่าจะสอนใครไม่ได้ มันมีการสอนได้ด้วยการทำให้ดู แล้วก็พูดตามที่รู้อยู่เท่าไร
ทีนี้มีหมวดธรรมะที่อยากจะฝากไว้ ฝากไปให้ ฝากไปเลยในคราวเดียวกันว่า ไอ้หมวดธรรมะเล็กๆ หมวดหนึ่งในนวโกวาท ที่เรียกว่า อปัณณกปฏิปทา นี่เข้าใจว่าเคยผ่านกันมาแล้วทั้งนั้นเพราะบวชมาหลายๆ วันแล้วแหละ ตั้งครึ่งพรรษาแล้วมันคงจะผ่านธรรมะนวโกวาทมาตามสมควร อปัณณกปฏิปทา อินทรียสังวร โภชเน มัตตัญญุตา ชาคริยานุโยค พระพุทธเจ้าทรงแสดงอานิสงส์ไว้ ในพระบาลีข้อนี้ว่า ตัสสะ โยนิ อาสวักขญาณ อารัถถะ ผู้ใดประพฤติปฏิบัติสามอย่างนี้ การเกิดหรือกำเนิดของบุคคลนั้น ปรารภความสิ้นอาสวะแล้ว มันเป็นหมวดธรรมะที่ประหลาด ที่แสดงไว้ดูใกล้ๆ ก็ไม่ ไม่ ไม่ ไม่เท่าไรละ แต่ทรงแสดงไว้ว่าสิ้นอาสวะ แต่แล้วในที่สุด มันก็มาตรงกับเรื่องของฆราวาสอย่างยิ่ง ถ้าฆราวาสประพฤติ ปฏิบัติธรรมหมวดนี้อยู่ก็การเป็นการปรารภเพื่อการสิ้นอาสวะด้วยเหมือนกัน ไม่เร็วก็ช้า ขอให้สนใจเป็นพิเศษเถิดว่า อินทรียสังวร สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าให้ผิดพลาดได้จากการที่ว่า ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ รับอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นธรรมดา ดังนั้นมันต้องมีการรับอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ถ้าเราไม่มีสติปัญญา ไม่มีธรรมะ ไม่มีความรอบรู้แหละอันนั้นแหละมันจะเป็นเหตุให้ทำผิด ให้เกิดกิเลสและเป็นทุกข์ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือมีสติปัญญา ศึกษามาในเรื่องของความรู้ว่ามันเป็นธรรมชาติเช่นนั้นเอง ไม่ใช่ตัวตนอะไรที่ไหน แล้วก็ว่ามันเป็นสิ่งที่จะต้องควบคุมให้ถูกต้อง การดูด้วยตา การฟังด้วยหู การดมด้วยจมูก การลิ้มด้วยลิ้น การสัมผัสด้วยผิวหนัง การรู้สึกด้วยจิตใจ นี่จะต้องมีสติปัญญามาทันเวลาที่มีการกระทบ อย่าไปรักไอ้ที่มันน่ารัก อย่าไปโกรธเกลียดที่มันน่าโกรธน่าเกลียด หรือแม้ที่มันน่ากลัว ถ้าไปรักไปโกรธไปเกลียดไปกลัวแล้วมันล้มละลายแล้ว จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว จิตใจไปเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้นเสียแล้ว ถ้ามีสติปัญญาพอ มันก็จะรู้ว่าไอ้น่ารักมันก็สักว่าน่ารักแหละ ถ้าไปรักมันก็หลงโง่ เป็นทาสของมัน จะไปโกรธไปเกลียดก็เหมือนกันก็ไม่ต้อง แล้วก็มีจิตใจอยู่ตรงกลาง เป็นอิสระ มีจิตใจอยู่ตรงกลาง ไม่รัก ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่กลัว ไม่อะไรหมด ถ้ามีสติควบคุมได้อย่างนี้ ก็เรียกว่าสำรวมอินทรีย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไว้ได้ แล้วคุณก็ลองคิดดูเถิดว่า มันจะมีประโยชน์กี่มากน้อย เดี๋ยวนี้ที่มันฆ่าฟันกันตาย มันฆ่าตัวเองตาย ยิงตัวเองตาย ยิงเมียตาย ยิงลูกตาย มันก็ล้วนมาแต่จาก มาแต่การที่สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไว้ไม่ได้ ถ้าสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไว้ได้ เรื่องเหล่านี้มันก็ไม่มี มันก็ไม่มี นี่คิดดู ฉะนั้นขอให้เห็นชัดและถือไว้เป็นของเคร่งครัดว่า แม้ไปเป็นฆราวาสแล้วก็จะต้องสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อฆราวาสสำรวมอยู่อย่างนี้ การปฏิบัติของเขาเป็นไปซึ่งสิ้นกิเลสตามสมควรแก่เหตุการณ์ ตามสมควรแก่กรณี นี่ข้อที่หนึ่งว่า สำรวมระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ทีนี้ข้อที่สอง โภชเน มัตตัญญุตา รู้ประมาณในการบริโภคน่ะ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยนะ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยนะ ที่จะใครเห็นว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อยนะมันวินาศทุกคนเลย ไอ้คนที่มันต้องวินาศทางเศรษฐกิจ หรือวินาศทาง ทำชั่วหรือทุจริตอะไรต่างๆ นานา ก็เพราะว่ามันไม่รู้จักประมาณในการบริโภค มันอยากกิน อยากเล่น อยากมี อยากใช้ อย่าให้เกิน เกิน เกิน ฐานะของตน ท่านสอนให้รู้ความพอดี คือ ไม่น้อย ไม่ขาด และไม่เกิน ฉะนั้นคำว่าการบริโภค รู้ประมาณในการบริโภค คำว่า การบริโภค คำเดียวนี้มันขยายเนื่องออกไปถึงว่า การที่จะหามาบริโภค การที่จะเก็บไว้บริโภค และการจะใช้จ่ายบริโภค การที่จะแจกปันไปให้เพื่อนฝูงได้พลอยบริโภค หรือการจะเสียสละตามหน้าที่ของมนุษย์ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ มันก็อยู่ในคำว่าบริโภค บริโภคไปหมด ฉะนั้นรู้จักความถูกต้องดีกว่า ในเรื่องทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการบริโภค การหามาก็ดี การเก็บไว้ก็ดี การใช้สอยก็ดี การจะเจียดไปช่วยเหลือผู้อื่นก็ดี ล้วนแต่รวมอยู่ในคำว่าบริโภคของบุคคลนั้น ฉะนั้นต้องทำให้ถูกต้องนะ ว่าจำเป็นไม่จำเป็นสำหรับฆราวาส แม้พระก็จำเป็น พระที่ไม่ถูกต้องในการบริโภคนั้นน่ะกิเลสก็ครอบงำ เดี๋ยวก็อยู่ไม่ได้ เดี๋ยวก็ทำผิด ทั้งที่อยู่ได้น่ะ ก็ทำสิ่งที่ไม่ควรจะทำ ยิ่งเป็นฆราวาสด้วยแล้ว ยิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่มีความถูกต้องเกี่ยวกับการบริโภค เพราะว่าการบริโภคมันเป็นของธรรมดาสามัญจำเป็นที่สุดสำหรับมนุษย์ มนุษย์จะอยู่โดยการไม่บริโภคไม่ได้ มันก็ต้องมีการบริโภคที่ถูกต้อง คือ รู้ความพอดี นี่ข้อที่สอง ลองเป็นอยู่อย่างนี้มันลดกิเลส มันลดกิเลส ฉะนั้นธรรมะข้อนี้มันก็เป็นการปรารภเพื่อความสิ้นอาสวะแม้แต่ของฆราวาส
ทีนี้ข้อสุดท้ายที่ว่า ชาคริยานุโยค ประกอบความเพียรของบุคคลผู้ตื่นอยู่เสมอ คำว่า ตื่น ในที่นี้ไม่ใช่ตื่นตูม ไม่ใช่แตกตื่น เป็นการตื่นจากหลับ จากกิเลส จากความโง่ จากอวิชชา เป็นผู้ตื่นอยู่ ตรงกันข้ามกับคนหลับ มันทำอะไรไม่ได้ ถ้าคนมันตื่นอยู่มันก็ทำอะไรได้ ฉะนั้นเราเป็นคนตื่นอยู่ แต่มันมีความตื่นจากกิเลส จากอวิชชา ดังนั้นมันจึงไม่ใช่เพียงแต่ว่าตื่นอยู่อย่างนี้ มันต้องมีจิตใจสดใส แจ่มใส ชุ่มชื่น เบิกบาน เยือกเย็นน่ะ มีจิตใจชนิดนั้นจึงเรียกว่า ตื่นอยู่ ด้วยความตื่นที่ถูกต้อง ไม่หลับด้วยกิเลส ด้วยอวิชชา ส่วนการจะนอน ถึงเวลานอนนั้นก็นอน ก็คงนอนนะ ไม่ใช่ว่าจะไม่นอน ไอ้นอนตามธรรมดาก็นอนก็หลับไปตามธรรมดาที่ควรจะมี แต่อย่าให้มันมาก เวลาที่มันตื่นอยู่มากกว่าตามธรรมดา เวลาจะนอนก็มีสตินอนจนตลอดเวลานอน ตื่นมาก็เลยมีสติรับช่วงกันต่อไปใหม่ มันก็เลยมีสติเป็นเครื่องตื่นอยู่ตลอดเวลา สตินั่นแหละเป็นเครื่องตื่น เมื่อไรมีสติอยู่เมื่อนั้นเชื่อว่าตื่นอยู่ เมื่อไรขาดสติเมื่อนั้นเชื่อว่าหลับ อย่างนี้จำเป็นไหม จำเป็นสำหรับฆราวาสไหม มันจำเป็นเท่ากันเลย ไม่ว่าจะเป็นพระ หรือจะเป็นฆราวาส ต้องมีสติเป็นเครื่องตื่นอยู่อย่างนี้มันจึงจะทำอะไรไม่ผิด ก็เลยมีผลเป็นว่า ถ้าตื่นอยู่อย่างนี้มันไม่เกิดกิเลสได้ มันบรรเทากิเลส มันลดกิเลส มันก็เป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ ตัสสะ โยนิ อาสวักขญาณ อารัถถะ โยนิ ของเขา ปรารภเพื่อความสิ้นอาสวะแล้ว ฉะนั้นขอจำกัดความ คำว่าอาสวะก็แปลว่า ไอ้สิ่งเศร้าหมองที่ไม่ควรจะมีทุกๆ ชนิดเลย ทุกๆ ชนิดเลย ฆราวาสก็มีอาสวะอย่างฆราวาส บรรพชิตก็มีอาสวะอย่างบรรพชิต ใครๆ ก็มีอาสวะตามแบบของตน เหมือนกันหมดแหละ อาสวะคือเครื่องเศร้าหมองแก่จิตใจ แก่นิสัยสันดาน สติปัญญา ทำให้เศร้าหมอง ก็เรียกว่าอาสวะทั้งนั้น ฉะนั้นขอให้ศึกษาให้ดีที่สุด ถ้าอย่างไรๆ ก็ต้องได้ธรรมะหมวดนี้ สามข้อนี้ ติดไปกับชีวิตตลอดเวลา เรียกว่า อปัณณกปฏิปทา ก็จะเป็นภิกษุบรรพชิตที่ดีตลอดเวลา ถ้าจะกลับออกไปเป็นฆราวาสก็จะดีที่สุด ดีที่สุด จนถึงกับพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ปรารภความสิ้นอาสวะ เรื่องเรียนนักธรรมนั้นก็ขอให้เรียน รู้เรื่องนั้นๆ ให้ดีๆ แล้วทำความเข้าใจดีๆ แล้วกำหนดจดจำดีๆ แล้วเอาไปใช้สำเร็จประโยชน์ นี่แหละการที่เราบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง สอนต่อๆ กันไปจริงๆ นี่ อย่างน้อยก็ขอให้เป็นไปใน อปัณณกปฏิปทา สามประการนี้เถิด มันเหลือ เหลือ เหลือประมาณแล้ว เรียกว่าประโยชน์เหลือหลาย เหลือที่จะกล่าวแล้ว สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่มีผลถึงความเป็นพระอรหันต์แล้ว รู้ประมาณในการบริโภคนี้อยู่อย่างกิเลสไม่ครอบงำย่ำยีได้ ตื่นอยู่เสมอเป็นการป้องกันไม่ให้มีความผิดพลาดได้ จำเป็นที่สุดแม้แต่ฆราวาส ฉะนั้นช่วยจำให้ดีว่า เรียนนักธรรมตรี หมวดสาม เรื่อง อปัณณกปฏิปทา มันมีเรื่องเนื้อหาสาระมากมายถึงอย่างนี้
เอ้า, ทีนี้เวลายังเหลืออยู่อีกบ้างก็จะพูดถึงว่า ฆราวาสนี่ไม่ใช่ว่าจะมีธรรมะต่ำๆ เตี้ยๆ โง่ๆ เง่าๆ อย่างฆราวาส มันมีเรื่องที่น่าอัศจรรย์ที่ว่า ฆราวาสกลุ่มหนึ่งไปทูลถามพระพุทธเจ้า ไปขอร้องให้ทรงแสดงธรรมะที่เป็นประโยชน์แก่ฆราวาส พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรื่องสุญญตา สุญญตัป ปฏิสังยุตตา สุตตันตา คือบทสูตรทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุญญตา คือ ความว่าง เดี๋ยวนี้เขาไม่ ไม่เอามาสอนไม่ได้เรื่องความว่าง ฆราวาสมาสอนไม่ได้ แต่ทำไมพระพุทธเจ้าตอบอย่างนั้น สอนอย่างนั้น นี่เพราะว่าเราไม่ค่อยจะเข้าใจเรื่องนี้ ความว่างนี่มันกินความมาก แต่ว่าสรุปแล้วมันก็คือว่า ไม่มีอะไรจะยึดถือโดยความเป็นตัวตนหรือเป็นของตน ถ้าจิตไม่ยึดถือ จิตก็ว่าง ความว่างของจิตที่ไม่ยึดถืออะไรโดยความเป็นตัวตน มองอีกทางหนึ่งคล้ายกับว่าสูงไปสำหรับฆราวาส แต่มองอีกทางหนึ่งก็รู้ว่า ไอ้เหตุการณ์ที่เลวร้ายทั้งหลายมันมาจากความยึดถือว่าตัวตนว่าของตนทั้งนั้น มันแม้จะเป็นฆราวาสก็น่าจะบรรเทาความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตนของตนนี้ ให้มากเท่าที่จะมากได้ มันไม่มีเสียหาย มันไม่มีเสียหลาย อย่าเข้าใจผิดว่าเมื่อไม่ยึดมั่นแล้ว จะไม่ทำอะไร จะไม่ทำประโยชน์อะไร มันไม่ทำด้วยความยึดมั่นถือมั่น แต่มันทำด้วยสติปัญญา จะทำการทำงานทำมาหาเลี้ยงชีวิตก็เถอะ ขอให้ทำด้วยสติปัญญา อย่าทำด้วยความยึดมั่นถือมั่น มันเป็นทุกข์ตลอดเวลา ถ้ายึดมั่นถือมั่นพอสักว่าจะทำก็เป็นทุกข์แล้ว ทำอยู่ก็เป็นทุกข์แล้ว ทำได้แล้วก็ยังเป็นทุกข์อยู่ เพราะมีความยึดมั่นถือมั่น มันหนักอยู่บนจิตใจ มันกดทับจิตใจตลอดเวลา แล้วให้รู้ว่าไอ้ธรรมะสูงนี้ต้องใช้แม้แก่เด็กๆ ความไม่ยึดมั่นถือมั่นนี่ให้ใช้ให้มีแม้แก่เด็กๆ เพราะเด็กๆ ก็มีปัญหาอย่างเดียวกัน เด็กคนไหน ขี้โกรธ ขี้โมโห ดื้อ เด็กคนนั้นมันมีความยึดมั่นถือมั่นมาก ถ้ามันลดความยึดมั่นถือมั่นได้ มันจะดื้อลดลง มันจะโมโหน้อยลง มันความขี้โกรธน้อยลง มันจะร้องไห้น้อยลง เมื่อของแตกของหายมันไม่ร้องไห้ เมื่อมันสอบไล่ตก มันก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ มันเรียนใหม่ได้ เรียกว่าแม้แต่เด็กๆ ก็ยังมีเรื่องที่เป็นทุกข์ เพราะความยึดมั่นถือมั่น เราเห็นเด็กๆ ที่มันดื้อบิดามารดา ไม่รู้คุณของบิดามารดา ไม่รู้สมัครสมานสามัคคีในหมู่เพื่อนฝูง เพราะมันมีความยึดมั่นถือมั่น คือ ความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวนี่เป็นเหตุให้เกิดอาชญากรรมมากมายมหาศาลทั่วทุกไปทุกอย่าง ถ้าลดความเห็นแก่ตัวลงไปได้ มันก็เกือบไม่มีเรื่องราวอะไร มีความโลภก็เพราะเห็นแก่ตัว มีความโกรธก็เพราะเห็นแก่ตัว มีความโง่ก็เพราะเห็นแก่ตัว เรียกว่า โลภะ โทสะ โมหะ นี่มันเกิดขึ้นมาเพราะว่าความเห็นแก่ตัว คือจิตที่มันยึดมั่นถือมั่นเป็นอุปาทาน ฉะนั้นเราอย่าทำอะไรด้วยอุปาทาน ทำด้วยสติปัญญา มีหลักจำง่ายๆ ว่า ถ้าเราจะถือศีลนี่ อย่าถือด้วยความยึดมั่นถือมั่น มันจะเป็น สีลัพพตปรามาส มันจะไม่ได้ผลและมันจะบ้า ถ้าถือศีลก็ถือด้วยสติปัญญา เรียกว่า สมาทาน สมาทานศีล สมาทานธุดงค์ สมาทานสมาธิ สมาทาน แปลว่า ถือเอาอย่างดี ถือเอาด้วยสติปัญญา แต่ถ้าถือด้วยอุปาทาน ด้วยความยึดมั่นถือมั่น เป็นเรื่องผิด เป็นเรื่องโง่ เป็นเรื่องหลง เป็นเรื่องมืด เป็นเรื่องที่ให้ผลร้าย ฉะนั้นอย่าได้ทำอะไรด้วยอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นด้วยความโง่ แต่ทำอะไรก็ทำด้วยสมาทาน คือ ดำเนินไปด้วยสติปัญญา เรื่องนี้การศึกษาในโลกก็ยังสอนกันอยู่ ผิดๆ หรือขัดกับหลักอันนี้ ก็เขาสอนให้เด็กยึดมั่นถือมั่น ให้มุมานะ ให้หวังอย่างยิ่ง ให้ทะเยอทะยานอย่างยิ่ง และก็จะได้ดี อย่างนี้มันผิดหลักธรรมะหมด เราจะสอนให้เด็กรู้จักทำแต่พอดีด้วยสติปัญญา ทำไปตามสบาย นอนหลับสนิท ไม่ต้องเป็นโรคประสาทตั้งแต่เล็ก ฉะนั้นอย่าทำด้วยความยึดมั่นถือมั่น ด้วยอุปาทาน แต่ทำด้วยสติปัญญาถูกต้องเรียกว่า สมาทาน ถ้าใครถือศีลอย่างอุปาทานแล้ว ไม่มีผลอะไร นอกจากยกหูชูหาง ข่มผู้อื่น มันไม่ได้มีผลอะไร ถ้าถือศีลด้วยสมาทานจะให้ผลดีตามความมุ่งหมายของศีลทุกๆ ประการ อย่างนี้ รู้ไว้ว่า เรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้น จำเป็นสำหรับทุกคน แม้ที่สุดแต่ลูกเด็กๆ อย่าให้เขาต้องเป็นเด็กดื้อ โกรธเก่ง ร้องไห้เก่ง เห็นแก่ตัวเก่ง อันนี้เป็นเรื่องยึดมั่นถือมั่นทั้งนั้น เมื่อเด็กๆ ก็ต้องได้รับการฝึกฝนอย่างนี้ ผู้ใหญ่ก็ไม่ต้องพูดถึงหรอก ขอให้รู้ไอ้หลักลึก ที่เป็นใจความสำคัญของพระพุทธศาสนา คือเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือสุญญตา ตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสสอน เรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นนี่ สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ นี่ ผมสำรวจดูในพระบาลี พระไตรปิฎก มีผู้มาทูลถามตั้งเก้ารายสิบราย เรื่องอะไรเป็นไอ้บทสรุปของพระพุทธศาสนา ซึ่งตรัสว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ แต่แล้ว แต่แล้วฆราวาสทั้งนั้นเลย ในเก้ารายสิบรายที่มาทูลถามนั้นเป็นฆราวาสทั้งนั้นเลย กระทั่งเป็นพระอินทร์ ไม่มีพระบรรพชิตไปทูลถามเลย นี่แสดงว่าในครั้งกระโน้น ฆราวาสน่ะเขามีการปฏิบัติธรรมะในระดับสูงเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่ทิ้งไว้แต่ให้เป็นเรื่องของพระโดยส่วนอย่างเดียว
เอาละ เป็นอันว่าเราได้มารู้เรื่องว่าเหตุการณ์เลวร้ายทั้งหลายมันมาจากความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเป็นเหตุให้เห็นแก่ตัว แล้วก็มีโลภะ โทสะ โมหะ สารพัดอย่าง ทำให้เกิดความยุ่งยากลำบาก ในที่สุดนี้ก็พูดกันสักข้อหนึ่งว่าฆราวาสธรรมอีก ว่าฆราวาสธรรม ๔ ประการนั่นแหละ สำหรับฆราวาสยกตัวขึ้นมาจากความเป็นฆราวาสมาเป็นพระอริยะบุคคล เป็นพระอริยะเจ้า ไม่ใช่ให้ฆราวาสจมปลักอยู่ในความเป็นฆราวาสโดยธรรมะสี่ประการนั้น ฉะนั้นเราต้องสอนเรื่องนี้กันให้ถูกต้อง แล้วจงปฏิบัติเรื่องนี้กันให้ถูกต้อง ก็จะเป็นผู้เดินถูกทาง เกิดมาเดินถูกทาง นี่แค่ ถ้าไม่ได้มาบวช ไม่ได้มาเรียน ไม่ได้มาศึกษาเรื่องเหล่านี้ มันจะเหมือนกับคนหลับตา เดินไม่ถูกทาง พอมีความรู้เรื่องนี้พอสมควรแล้ว มันก็กลายเป็นเดินถูกทาง เพื่อว่าเราจะได้ไม่หลงทางของมนุษย์ ฟังดูมันก็น่าหัว เป็นมนุษย์ที่ไม่หลงทางของความเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์โง่มันก็หลงทางของความเป็นมนุษย์นั่นเอง มันเป็นมนุษย์ไม่ได้ และมันก็ไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ มันไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้นี่ มันน่าละลายสักเท่าไร ฉะนั้นเราก็อย่าเป็นผู้หลงทางของความเป็นมนุษย์ ให้เราได้เดินทางถูกหนทางของความเป็นมนุษย์ตามลำดับๆ มา เหมือนอย่างที่ว่ามาแล้ว ฉะนั้นในการบวชของเรานี้ แม้จะบวชระยะสั้นก็ขอให้สำเร็จประโยชนในการที่จะได้ไม่หลงทางของมนุษย์ มีอะไรๆ ที่ต้องศึกษาและปฏิบัติเหมือนอย่างที่กล่าวมาแล้ว นี่คือข้อความที่ผมหวัง จะพูด และตั้งใจจะพูดให้พระราชภัฎทั้งหลาย
สรุปความว่า ขอแสดงความยินดีในการที่ได้มีโอกาสบวชเป็นราชภัฎ แล้วตั้งใจอย่างแน่วแน่มั่นคงที่จะศึกษาธรรมะที่เหมาะสมแก่ความเป็นราชภัฎ และก็จะได้ผลทั้งว่าจะอยู่ต่อไปมันก็อยู่ได้ ลาสิกขาออกไปมันก็ยังได้รับผลเต็มที่ ดีที่สุดกว่าที่จะไม่ได้เรียนรู้หรือไม่ได้ศึกษาอบรมอย่างนี้เลย เอาล่ะเป็นอันว่าเราได้พยายามกันอย่างดีที่สุดแล้ว ในการที่จะชำระปัญหาต่างๆ ของความเป็นมนุษย์นี่ให้มันหมดสิ้นไป ผมก็ขอยุติการบรรยายในวันแรกนี่ไว้เพียงเท่านี้ ขอให้กำหนดใส่ใจไปทุกข้อ ถ้ากลัวจะลืมก็จดไว้ แล้วไปใคร่ครวญต่ออีกโดยละเอียด ก็จะสำเร็จประโยชน์ตามความประสงค์มุ่งหมายของการอบรมนี้ทุกๆ ประการ ขอยุติการบรรยายในวันนี้.