แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เริ่มถอดความ ท่านนักศึกษาในฐานะสหธรรมิกทั้งหลาย ก่อนอื่นทั้งหมด ผมขอแสดงความยินดีในการมาของท่านทั้งหลายสู่สถานที่นี้ในลักษณะเช่นนี้ เพื่อประโยชน์อย่างนี้โดยใจความสำคัญก็คือ เป็นการร่วมมือกันให้เกิดประโยชน์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอันเป็นหน้าที่ของเรา เดี๋ยวนี้เรามานั่งกันกลางดิน ซึ่งดูจะกลายเป็นเรื่องลักษณะเฉพาะของสวนโมกข์ไปแล้ว มันก็ไม่เจตนามันก็เหมือนกับเจตนา คือว่าเราจะจัดให้มีการนั่งกันอย่างอื่นมันก็ได้เหมือนกัน แต่รู้สึกว่ามันไม่มีประโยชน์เท่ากับการนั่งกลางดิน เมื่อนั่งลงกลางดิน มันมีจิตใจต่างไปจากที่จะนั่งบนอาสนะ หรือบนเก้าอี้ บนอะไร เป็นพิเศษกว่าธรรมชาติ นั่งกลางดินนี่ช่วยให้นึกถึงพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ในความหมายที่ว่า ท่านประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน สอนกลางดิน อยู่กลางดิน นิพพานกลางดิน มันจะเป็นบังเอิญหรืออะไรก็สุดแท้ แต่เรื่องมันก็ได้เป็นไปอย่างนั้นแล้ว จนเรียกว่าพระศาสดานี่มีชีวิตแบบกลางดิน แล้วท่านก็ทำอะไรได้บ้างก็ลองคิดดู ฉะนั้นเมื่อเรานั่งกลางดินก็ขอให้ทำจิตใจถึงแผ่นดินเอามือลูบดิน เอามือลูบดิน แล้วก็นึกถึงข้อที่พระองค์ได้ประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน สอนกลางดิน อยู่กลางดิน นิพพานกลางดิน ความรู้สึกอันนี้มันแตกต่างจากความรู้สึกของประชาชน ชาวบ้านทั่วๆ ไป ซึ่งเขาจะรู้สึกเป็นอย่างอื่นว่า พระพุทธเจ้ายังอยู่บนกุฏิวิหารอย่างปราสาทราชวัง ดูภาพเขียนที่เขาเขียนกันเถอะ มันเป็นเรื่องที่กลับตาลปัตรกันอยู่ ประชาชนควรจะรู้จักพระพุทธเจ้าในฐานะมีชีวิตอยู่กลางดิน
เราช่วยกันเปิดเผยความข้อนี้ให้เข้าใจกันอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนเพียงพอ ผมว่าจะดี ไม่อย่างนั้นมันเข้าใจผิดกันอยู่ ทีนี้มันก็จะได้เป็นแนวความคิด หรือเป็นหลักสำหรับปฏิบัติ เราก็จะเป็นอยู่อย่างที่เรียกว่ากลางดิน เท่าที่จะมากได้ แม้ที่สุดแต่จะเป็นการเรียนการศึกษาอะไรก็เถอะ จะนึกถึงข้อเท็จจริงที่ว่าพระศาสดาจะทุกองค์ด้วยซ้ำไปในโลกนี้ตรัสรู้กันกลางดินทั้งนั้นแหละ จะใช้คำว่าตรัสรู้ หรือว่าเป็นพระศาสดาก็แล้วแต่ แต่ว่าท่านเป็นกันกลางดิน จะของทุกศาสดาด้วยซ้ำไป ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มา เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่มีอิทธิพล การเป็นเกลอกับธรรมชาติ มันเป็นสิ่งที่มีอิทธิพล ดังนั้นในระหว่างที่พักอยู่ที่นี่ ผมขอแนะนำให้พยายามเป็นเกลอกับธรรมชาติให้มากที่สุด แล้วก็จะได้รับอะไรจากธรรมชาติก็คือรับธรรมะนั่นเอง เพราะว่าธรรมะนั้นมันเป็นเรื่องของธรรมชาติทั้งนั้น ที่ผมมาใคร่ครวญดูแล้วก็จำกัดความหมายไว้ ๔ ความหมายว่า ธรรมะคือตัวธรรมชาติ ธรรมะคือตัวกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือผลที่ได้รับมาจากการปฏิบัติหน้าที่ รู้สึกว่าเป็นที่พอใจของนักคิดที่จะใช้สำหรับคิด สำหรับศึกษา ธรรมะมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติในหลายแง่ หลายมุม หรือทุกแง่ทุกมุม ภาษาบาลีเราก็ใช้คำๆ เดียวกันเสียด้วย ธรรม ธรรมะเฉยๆ แปลว่า ธรรมชาติ คือธรรมดา ไม่ใช่ว่ามันจะมองไปในแง่ประหยัดทางเศรษฐกิจ แต่ถ้ามองไปในแง่ที่ว่ามันเป็นเรื่องทางจิตใจที่เข้าถึงธรรมชาติ แม้ว่าเราจะอยู่ในเมืองหลวง ในสถานที่ศึกษาแบบใหม่ รูปแบบใหม่อะไรก็ตาม ก็ควรจะไม่ลืมธรรมชาติ พยายามที่จะเข้าถึงธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ที่จริงมันก็ยังคงเป็นธรรมชาตินะ แต่มันเป็นธรรมชาติที่ถูกตกแต่ง ถูกกลบเกลื่อน ถูกปรับปรุง หรือถูกปิดบังอะไรกันมากเกินไป เราเอากันโดยธรรมชาติล้วนๆ มันจะมองเห็นไอ้เรื่องของธรรมชาติได้มากขึ้น ลึกซึ้งขึ้น เรื่องความเกิดแก่เจ็บตายนั่นแหละไม่ใช่เรื่องอะไร หรือแม้แต่เรื่องอิทัปปัจจยตาเป็นกฏของธรรมชาติซึ่ง ครอบงำควบคุมสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอยู่ มันก็จะมองเห็นได้จากการที่เป็นเกลอกับธรรมชาติ รู้จักความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ นี่ข้อแรกที่ว่าขอเสนอให้พยายามเป็นเกลอกับธรรมชาติใช้คำอย่างนี้ก็เพื่อกันลืม มันจะมันลืมยากเป็นเกลอกับธรรมชาติแล้วก็จะรู้จักธรรมชาติ คือสิ่งซึ่งยังเป็นไปตามธรรมชาติ ปราศจากการเข้ามาเกี่ยวข้องของมนุษย์ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย นี่มันเป็นตัวธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีอะไรเคลือบ เคลือบ หรือคลุม หรือปิดบังอะไร ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามธรรมชาติ
ขอแสดงความยินดีต้อนรับในการมาของท่านทั้งหลาย แล้วก็สนองความประสงค์ตามที่กำหนดมาว่าจะมีการพูดจาตามเวลาที่สมควร ทีนี้ก็จะทำสิ่งนั้นคือการพูดจาตามเวลาที่สมควร ข้อนี้ก็อีกเหมือนกันแหละต้องทำความเข้าใจ ต้องทำความเข้าใจ ผมจะพูดจาคือควรจะพูดจาเฉพาะเรื่องที่ท่านทั้งหลายควรจะได้ฟังตามความคิดของผมเอง ควรจะได้ฟังเรื่องอะไร ไม่พูดกันโดยหลักวิชาการนะ ซึ่งมันก็เป็นการกลายเป็นเอามะพร้าวขายสวนไปเสีย จะพูดในข้อปลีกย่อย หรือข้อที่ยังซับซ้อนซ่อนเงื่อนเกี่ยวกันอยู่กับวิชาการ มันก็คือการขยายความหมายของวิชาการออกไปในส่วนที่มันยังลึกซึ้งหรือซับซ้อน ตามที่ผมได้ผ่านมา คือตลอดเวลาที่ผ่านมามันก็ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการใคร่ครวญ อัตถะ ความหมาย แม้แต่พยัญชนะ ข้อธรรมะเหล่านั้นเพื่อให้มันสมบูรณ์ เรามีกันทั้งอัตถะและทั้งพยัญชนะ เรื่องอัตถะที่เรียนในโรงเรียนนั้น หรือแม้ในมหาวิทยาลัยนั่นมันก็ยังไม่สมบูรณ์ ทางพยัญชนะอาจจะสมบูรณ์หรืออาจจะมากเกินไปก็ได้จนเฝือ แต่ทางอัตถะที่ลึกลับซับซ้อนนี้มันยังมีอยู่อีกมาก อยากจะขอถวายไอ้ความรู้ในส่วนที่ว่าเราจะมีวิธีการตีความหมายของพยัญชนะ หรือขยายขอบเขตแห่งอัตถะออกไปให้มากเท่าที่จะมากได้ แต่ก็ไม่ถึงกับเฟ้อ คือเอาเพียงเท่าที่สำเร็จประโยชน์ ผมก็จะเลือกเอามาบางข้อบางเรื่องไม่ใช่เป็นเค้าโครงอะไรมากมาย เป็นเรื่องๆ เหมือนจะเป็นเรื่องเบ็ดเตล็ดก็ได้ แต่ว่ามันเป็นเรื่องๆ แต่ละเรื่องมันก็จะต้องสมบูรณ์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็นึกถึงข้อที่พระองค์ทรงจะเรียกว่าบังคับก็ได้ ขอร้องก็ได้ อ้อนวอนก็ได้ให้แสดงธรรมพร้อมทั้งอัตถะ พยัญชนะ มีความงามเบื้องต้น ความงามท่ามกลาง และความงามเบื้องสุดท้าย นั่นแหละเป็นส่วนสำคัญ เพราะนั่นแหละเป็นเหตุให้สำเร็จประโยชน์ แม้แต่ว่าจะศึกษาก็ต้องศึกษาให้ครบบริบูรณ์ทั้งสามสถานนั้นเหมือนกัน มันได้ความงดงามมาตั้งแต่การศึกษา มันหมายถึงการเผยแผ่ก็จะสามารถทำให้มันงดงามทั้งสามสถาน สามกาลนี้ เบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย จำคำสามคำนี้จะมุ่งไปในทางเป็นเวลา เป็นกาละก็ได้ จะมุ่งหมายไปในทางรูปธรรมเป็นเทศะก็ได้ กาละ เทศะ ถูกต้องตามกาลเทศะ ทั้งเบื้องต้น ทั้งท่ามกลาง ทั้งเบื้องปลาย ไอ้คำว่ากัลยาณนั้นโดยมากก็จะแปลกันว่างาม แต่มีความหมายมากกว่านั้นถ้ามาใช้กับเรื่องอย่างนี้ ก็จะแปลว่ามันงดงาม มีความหมายกว้างกว่างามสักหน่อยคืองดงาม ใช้งดงามทางรูป ทางลักษณะ ทางอัตถะ ทางความหมาย ทางอะไรได้หลายอย่าง ให้มันงดงามทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย การเรียนในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัยอะไรก็ตามมันจะต้องนึกถึงข้อนี้ ขอให้มันมีความงดงามถูกต้องมาเสียตั้งแต่เมื่อยังเรียน จะเป็นเบื้องต้น จะเป็นท่ามกลาง จะเป็นเบื้องปลาย ถ้าสมมติว่าครูไม่สอนในรูปนี้ เราก็ทำเอาเอง เราก็จะต้องตั้งข้อสังเกตเอาเองว่าให้มันมีความงดงามในสามสถานนี้ได้อย่างไร
ตั้งแต่แรกๆ เรียนมาทีเดียว ตั้งแต่แรกเรียนมาทีเดียว จะไม่เอาเท่าตัวหนังสือเท่าที่ครูสอน เราจะแยกเอาเองให้มันออกไปเป็นระดับ ให้มันเป็นชั้น ให้มันเต็มตามที่มันจะต้องทราบ จะต้องรู้ จะต้องปฏิบัติ จะต้องมี คำว่าสามสถานในที่นี้เป็นคำที่ผมอยากจะถวายให้แง่คิดเป็นเรื่องแรก เป็นเรื่องแรก คำว่าสามสถานของการแสดงธรรม เท่าที่ผมนึก และเคยนึกมาเรื่อยๆ มันก็หลายอย่าง หลายประการเหลือเกิน คำว่าสามสถานนั้นน่ะ จนในที่สุด ผมคิดเอาเอง วางหลักเกณฑ์เอาเองว่าสามสถานนั้นคืออะไรบ้าง ซึ่งเข้าใจว่าท่านบางรูปก็คงจะได้เคย อาจจะเคยได้ยินคำที่ผมพูดอย่างนี้มาบ้างแล้ว มันมีคำแปลก คำท้ายเติมเข้ามา ชื่อว่าทางวิญญาณ สามสถานนั้นคือทางวัตถุ หรือทางรูปธรรม แล้วก็ทางจิต แล้วก็ทางวิญญาณ อย่างแรกเราเรียกเป็นทางวัตถุก็ได้ มันจะกินความได้ดีด้วย ทางรูปธรรมเรียกเป็นทางวัตถุ มันมีความงดงามทั้งทางวัตถุ และทางรูปธรรมนี่ในเบื้องแรก นี้มันมีความงดงามในท่ามกลางก็คือทางจิต สุดท้ายคือทางวิญญาณ ไอ้คำว่าทางวิญญาณนี่ ผมจำเป็นที่จะต้องใช้คำนี้ ทั้งที่เขาไม่ค่อยจะใช้กัน และแม้ในบาลีก็เอาไปรวมกับคำว่าจิต เมื่อพูดถึงเรื่องโรค เรื่องโรค ในบาลีจะมีทางโรค ทางกาย แล้วก็โรคทางใจ คือเจตสิก ไม่มีคำว่าวิญญาณ แต่รวมคำว่าวิญญาณเข้าไว้ในนั้นด้วย โรคทางร่างกายแท้ๆ นี่ก็อย่างหนึ่ง เรื่องทางจิตมันก็เป็นเรื่องโรคเกี่ยวกับจิตโดยตรง และเกี่ยวกับสติปัญญาความรู้ความสามารถของจิต จิตไม่สมประกอบอย่างใดนั้นเรียกว่า โรคจิตโดยตรง แต่ความไม่รู้ ความโง่เง่า ความหลงในทางสติปัญญานั้นเป็นโรคไม่ใช่ทางจิต จะเรียกว่าทางอะไรก็ไม่ ไม่ทราบผมเรียกขึ้นมาว่าทางวิญญาณ เพราะคำว่าวิญญาณนี่ แม้ในบาลีเองก็ใช้หลายความหมาย คำว่าวิญญาณหมายถึง ความรู้ก็มี หมายถึงพระนิพพานก็เคยมี ตั้งรูปศัพท์ แปลว่าสิ่งที่ต้องรู้ หรือควรจะรู้ ถ้าการรู้แจ้งทางตา ทางหูนี่ก็วิญญาณธรรมดา เขาเรียกว่าสิ่งที่ต้องรู้กันอย่างแจ่มแจ้ง อย่างถึงที่สุดอีกก็หมายถึงพระนิพพานก็มี พระนิพพาน คำว่าวิญญาณเป็นนามนามที่ใช้เล็งถึงพระนิพพานก็ยังมี ก็เป็นเรื่องสติปัญญาสูงสุด ดังนั้นเราจึงขอยืมเอามาใช้ในความหมายที่สาม เพื่อมันจะเข้ารูปกันได้กับคำที่เขาใช้พูดกันอยู่ทั่วไปในเรื่องทางศีลธรรม หรือในทางปรัชญาว่าเรื่องทางวัตถุ คือ Matter หรือ Material เรื่องทางจิต Psycho, Psychic เรื่องทาง Spiritual Spiritual ยังไม่มีคำแปลในภาษาไทยที่ใช้ตรงกัน และก็ไม่ค่อยจะแปลกันด้วย คือคำว่า Spiritual เราขอยืมมาใช้ในทางวิญญาณ คำๆ นี้มันก็แปลว่าจิต หรือวิญญาณอยู่บ้างแล้ว แม้คำนี้จะแปลว่าเหล้ามันก็หมายถึงหัวใจสาระของเหล้ามากกว่าที่จะหมายถึงตัวเหล้า
เมื่อเราจะพูดเรื่องอะไรให้ครบทั้งสามชั้นก็ควรจะพูดอย่างนี้ว่า เรื่องทางวัตถุ เรื่องทางจิต เรื่องทางวิญญาณ ดังนั้นจึงอยากจะลงสันนิษฐานว่าที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าจงแสดงธรรมให้ไพเราะทั้งสามสถาน เบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย ผมว่าหลักเกณฑ์อันนี้ใช้ได้ เรื่องทางวัตถุ หรือทางกายเป็นเบื้องต้น ว่ากันเต็มที่เลยให้มันหมดเปลือกไปเรื่องในทางฝ่ายวัตถุ พอถึงเรื่องทางจิตก็หมายถึงจิตโดยเฉพาะ ตั้งแต่จิตธรรมดาถึงจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นสมาธิเป็นฌาน เป็นสมาบัติ นี่อยู่ในแค่ขอบเขตของคำว่าเรื่องทางจิต ทีนี้เรื่องทางปัญญา ทางวิปัสสนา เห็นแจ้งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อิทัปปัจจยตา อะไรก็ตาม นี่จึงเป็นเรื่องทางวิญญาณจะเรียกว่าทางสติปัญญาก็ได้ ถ้าพูดกันตามธรรมดาๆ ก็คนธรรมดาก็พูดเรื่องว่า เรื่องทางกายโว้ย เรื่องทางจิตโว้ย เรื่องทางสติปัญญา เรื่องทางวิญญาณโว้ย ถ้าเราทำได้ครบสามอย่างนี้แล้วมันก็หมดเหมือนกัน มันก็หมดได้เหมือนกัน ฉะนั้นจึงอยากจะถวายความคิดเห็นว่าถ้าเราจะศึกษาเรื่องอะไรก็ศึกษาให้มันครบในสามระดับนี้ แล้วเราจะได้เอามาพูดเอามาแสดงได้โดยง่าย ให้ครบกันทั้งสามระดับนี้ นี่ก็เรียกว่าแง่หนึ่ง ที่แสดงธรรมให้เป็นกัลยาณในที่สามสถาน
ทีนี้ชุดอื่นก็จะอาศัยตามอรรถกถา งามในเบื้องต้นคืองามในเรื่องของวิชาความรู้ งามในท่ามกลางก็คืองามในเรื่องของการปฏิบัติ หรือการกระทำ และงามในสุดท้ายก็คืองามในผลที่ได้รับจากการกระทำ นี้มันเป็นเรื่องที่กว้างขวาง ครอบงำอยู่ทั่วโลก ที่จะต้องมีความรู้ และมีการกระทำ และมีการได้ผลของการกระทำ ถ้ามันไม่ครบทั้งสามนี้ มันยังไม่สำเร็จประโยชน์ ความรู้ต้องสมบูรณ์ การกระทำต้องสมบูรณ์ ผลที่ได้รับมาก็ต้องสมบูรณ์ ถูกต้อง ถูกต้อง ให้มันถูกต้องทั้งสามกาละ ก็คือถูกต้องทั้งเรื่องของความรู้ เมื่อเรียนให้รู้ และถูกต้องเมื่อประพฤติ กระทำ และถูกต้องเมื่อได้รับผลของการกระทำ แล้วมันก็เกี่ยวข้องกันอย่างที่จะแยกกันไม่ได้หรอก ถ้าความรู้มันไม่ถูก การกระทำมันก็ไม่ถูก การกระทำไม่ถูก ผลของมันก็ไม่ถูก นี่ต้องนึกถึงเรื่องของสามอย่างนี้เสมอ จะพูดเรื่องอะไรออกไปให้สำเร็จประโยชน์ก็ต้องพูดให้ครบ ความถูกต้องสามอย่างนี้ ซึ่งจะเรียกเป็นบาลีว่า เรื่องปริยัติ เรื่องปฏิบัติ เรื่องปฏิเวธ ไอ้ว่าคำปฏิเวธนั้นน่ะ ไม่ ไม่ต้องเล็งถึงมรรคผล นิพพาน โดยส่วนเดียวหรอก มันเป็นเรื่องของผลทั่วๆ ไปที่ได้รับก็แล้วกัน เพราะเมื่อได้รับผลมามันย่อมมีความรู้สึก รู้แจ้ง แล้วก็จับในเรื่องผลที่ได้รับ เพราะฉะนั้นสามสถานในชุดที่สองนี้ ก็คือเรื่องความรู้ เรื่องการกระทำ ผลของการกระทำ
ทีนี้ที่เราจะพูดกันโดยมาก ชุดหนึ่งก็คือ เรื่องของ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือไตรสิกขา ถ้าว่าเบื้องต้นก็คือศีล ท่ามกลางคือสมาธิ เบื้องปลายคือปัญญา นี่ก็จะถือเป็นหลักทั่วๆ ไปกันอยู่แล้ว สำหรับคำว่า สิกขา ผมนึกเอาเองว่า ถอดรูปเอาอย่างนักเรียนไวยากรณ์ง่ายๆนี่ก็ สะ กับ อิกขะ สะ กับ อิกขะ เป็นสิกขา ทีนี้คำว่า สะ นั้นน่ะ คำว่า สะ นั้นน่ะดูตามตำราเถอะ มันดิ้นได้มากน่ะ คำว่า สะ น่ะ แต่ว่า ที่จะใช้ในกรณีทั่วไปนี่มัน สะ ที่เป็น สะกะ สะกะ ที่แปลว่า เอง นั่น เอง ถ้าถือเอาความหมายของ สะ ว่า เอง แล้วมาเข้ากับ อิกขะ มันก็ได้ความชัดแหละ ไอ้การศึกษานี่ ไม่ว่าศึกษาอะไรนะต้องทำเอง ต้องทำเอง คือเห็นเอง เห็นเอง ด้วยตนเอง โดยตนเอง เพื่อตนเอง มันต้องครบ ถ้ามันจะเห็นเอง อย่างเดียวมันไม่พอ มันต้องด้วยตนเอง โดยตนเอง เพื่อตนเอง ข้อนี้สำคัญมาก เพื่อประโยชน์อันแท้จริงตรงต่อความประสงค์มุ่งหมายของตนเอง เห็นอย่างนี้แล้วก็คือหมดแหละ เห็นหมดแหละ
ไอ้ความหมายของคำว่า สิกขา รวมทั้งกระทำตามความเห็น ตามความที่เห็น มันกว้างกว่าที่จะพูดว่าเรียน เรียนหนังสือ หรือเรียนนั่นน่ะ สิกขา อย่างนั้นมันแคบเกินไป แล้วมันไม่ลึกพอ ไม่ลึกพอ คือมันมัวแต่ฟังครูบอก ฟังครูสอนแล้วจดไว้ แล้วเรียกว่า สิกขา อย่างนี้ไม่พอ มันต้องถึงขนาดที่ว่าเห็นเอง เห็นด้วยตนเอง เห็นเพื่อตนเอง โดยตรง โดยเฉพาะ โดยเฉพาะแก่ประโยชน์ของตน ให้มันถูกต้อง นี่ถ้าว่าจะมีศีลมันก็เห็นเอง ปฏิบัติเอง รู้ได้เอง เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง สมาธิก็เหมือนกัน คำว่า สิกขา สิกขานี่ เป็นคำไว้ตรงกลาง แล้วก็สิกขาในส่วนศีล สิกขาในส่วนสมาธิ สิกขาในส่วนปัญญา มันก็เลยได้ครบสามเหมือนกัน สามสถานเหมือนกัน เบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย คำว่าศีลนี้เป็นรากฐานให้ความสะดวกแก่สมาธิ สมาธิก็เป็นรากฐานให้ความสะดวกแก่ปัญญา แล้วมันก็จะต้องอยู่ด้วยกัน ถ้ามันแยกกันแล้วมันล้มละลายแหละ คือถ้าไม่มีรากฐานทางศีล จิตก็เป็นสมาธิได้โดยยาก ถ้าไม่มีรากฐานทางจิตที่ถูกต้องปัญญาก็เกิดยาก ก็เกิดยาก แล้วเราจะถือเสียว่าเป็นกฏเกณฑ์ของธรรมชาติที่มันให้กันมาอย่างนี้ ถือว่าพระพุทธเจ้าท่านค้นพบความจริงของธรรมชาติแล้วเอามาบอก ไม่ใช่ว่าท่านจะตั้งอะไรได้ บัญชาบังคับธรรมชาติว่าเอาเองได้ มันต้องถูก ตรงตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นมันอยู่ในจำพวกที่เรียกว่าทรงแสดง เทสิโต ปญฺญตฺโต ปญฺญตฺโต เทสิโต สองคำนี้มันไกลกันลิบ ถ้าบัญญัติ ท่านบัญญัติก็ได้ไม่บัญญัติก็ได้ ถ้าไม่ได้บัญญัติขึ้นเหมือนกับไม่มี เรื่องเกี่ยวกับวินัยเหล่านี้เป็นเรื่องบัญญัติ เฉพาะเหตุการณ์ เฉพาะอะไรไป แต่เทสิโตนี้ไม่ใช่บัญญัติ แต่มองเห็นความจริงของธรรมชาติแล้วมาแสดง ธรรมชาติมันต้องการ ให้มีความถูกต้อง เกื้อกูลกันโดยพื้นฐานว่ามีศีล คือปกติทางกาย แล้วก็ได้สมาธิ คือปกติทางจิต เมื่อปกติทางจิตแล้วมันง่ายที่ปัญญามันจะโผล่ออกมา นี่เป็นเรื่องของธรรมชาติจัดไว้ให้ จะต้องทำให้สำเร็จประโยชน์
เรื่องอริยมรรคมีองค์แปดนั่นว่าเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา แต่พอถึงคราวอธิบายในสูตรบางสูตรกลับจะไม่ค่อยพูดถึงเรื่องศีล โดยใช้คำพูดตัดบทไปเสียว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่เองแล้ว สัมมาวาจา สัมมาสังกัปโป สัมมาอาชีโว ถือว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่เองแล้ว เลยพูดกันถึงแต่เรื่องสมาธิซึ่งจะต้องเป็นไปอย่างถูกต้องตามสัมมาทิฐิ ในกรณีที่พระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงอย่างรวบรัด ซึ่งตามปกติทรงแสดงโดยอัฏฐังคิกมรรค ในกรณีรวบรัดท่านจะใช้คำเพียงสองคำว่า ธมฺมโส จ วิปสฺสโน จ ไม่พูดถึงศีลเลย เพราะถือว่ามันรวมอยู่ในนั้น มันรวมอยู่ในนั้น เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าจะมองให้เห็นความถูกต้องทางศีลน่ะมีรวมอยู่ในชีวิต เขาจึงบอกให้กระทำแต่ในส่วนสมถะ และวิปัสสนา มีค่าเท่ากันกับอริยมรรคมีองค์แปด สูตรชนิดนี้พบมาก มากมายเหมือนกัน แต่ไม่ค่อยจะสนใจกันเอง เมื่อจะต้องแสดงด้วยอัฏฐังคิกมรรค ก็ทรงแสดงว่าเป็นวิธีบำบัดทุกข์ กำจัดทุกข์ แต่เมื่อแสดงอย่างย่อจะใช้คำว่า ธมฺมโส จ วิปสฺสโน จ แทนที่จะตรัสถึงอริยมรรคมีองค์แปด
นี่เราก็รู้ว่ามันมีอยู่เองตามธรรมชาติถึงกับในที่บางแห่งแม้ในชั้นบาลีก็อธิบายว่า เมื่อตั้งใจจะทำสมาธิ ความตั้งใจจะทำอะไรโดยจริงจัง นั้นน่ะ นั่นน่ะคือตัวศีลแหละ ฉะนั้นจึงตั้งใจทำสมาธิเลย ความที่สำรวมทุกสิ่ง ทุกอย่าง เพื่อจะทำสมาธินั้นน่ะ มันเป็นตัวศีล อื่นๆมันเข้ามาไม่ได้นี่ เพราะการสำรวมที่จะทำมันป้องกันอยู่หมด เมื่อมีศีลได้ตั้งแต่เมื่อจะทำสมาธิ เดี๋ยวนี้มันน่าหัวที่ว่าพอจะทำสมาธิก็เรียกกันมารับศีลก่อน รับศีลก่อน ให้มีศีลแล้วทำสมาธิ มันเหมือนกับเล่นตลก ศีลมันมีได้เพราะการรับ รับศีลโดยพิธีรับศีล แต่ที่จริงศีลมันมีอะไรมากกว่านั้น คือความพร้อมของร่างกายที่อยู่ในสภาวะที่ถูกต้อง เหมาะสม อ่อนโยนไปตามกิจกรรมที่ควรจะกระทำ เรียกว่าพอตั้งใจจะทำอะไรความตั้งใจหรือการบังคับให้กระทำนั่นมันเป็นศีล มันแฝดเข้ามาในสมาธิ ตั้งใจจะทำสมาธิมันมีศีล เลยอาจจะเล่นอะไร เอาเปรียบ เอาคำว่าอนันตริยะ หรือคำว่า อนันตริกะ มาใช้กับคำว่าศีลบ้างก็ได้ อนันตริกศีล คือศีลที่เกิดขึ้นมาเองทันที ติดขึ้นมาทันทีในเมื่อตั้งใจจะทำสมาธิ หรือจะตั้งใจจะทำอะไรที่ดีๆสักอย่างหนึ่งก็แล้วกัน ที่ในบาลีเรียกว่า อนันตริกสมาธินั่นก็คือ เมื่อตั้งใจทำวิปัสสนา เมื่อลงมือคิด เมื่อลงมือพิจารณา พิจารณาธรรม อนันตริยสมาธิก็เกิดขึ้นเองทันทีตามธรรมชาติเสียเป็นอัตโนมัติ นี้ถือว่าเป็นสมาธิชั้นเลิศเสียด้วยนะในบทสวดรัตนสูตร ตั้งใจทำวิปัสสนา อนันตริยสมาธิก็จะเกิดตามขึ้นมา ตามสมควร พอตั้งใจจะทำสมาธิ อนันตริยศีล อนันตริกศีล อนันตริกศีลก็มีขึ้นมาเองตามสมควร
การที่พูดว่าตั้งใจทำ การพิจารณาวิปัสสนาก็แล้วกัน มันเป็นเคล็ดลับอยู่ ที่เรียกว่านิกายเซน นิกายเซนน่ะ มันคือเคล็ดลับอันนี้ มันจึงพูดถึงแต่เรื่องให้ทำปัญญา รุกปัญญา บีบคั้นปัญญาออกมา สมาธิและศีลแฝดอยู่ในนั้น รวมอยู่ในนั้น ไม่ต้องแยกเป็นสามเรื่อง ต้องทำถึงสามเรื่อง หรือสามขั้นตอน เมื่อทำเพียงว่าทำปัญญาพิจารณาอย่างลึกซึ้ง ไอ้สมาธิก็เรียกออกมาเอง แล้วสมาธิก็เรียกศีลเอามาเอง ที่จะแปลกกันอยู่ระหว่างนิกายเซนกับนิกายของพวกเราก็จะอยู่ที่ตรงนี้ นิกายเซนเขาควบสมาธิกับวิปัสสนาเข้าด้วยกันเป็นเรื่องเดียวเสีย แล้วก็ล้อเลียนไอ้การทำสมาธิอย่างตัวแข็ง มาก นี่เรื่องศีล สมาธิ ปัญญา มันเป็นสามเรื่องก็จริง แต่มันติดกันอยู่อย่างเหลือประมาณ มันเนื่องกันอยู่อย่างเหลือประมาณอย่างแยกกันไม่ออก แต่ว่ามันแสดงอาการให้เห็นชัดทั้งสามอย่างก็ได้ ไม่เห็นชัดทั้งสามอย่างก็ได้ แต่มันต้องมี มันต้องมีในรูปของศีลถูกต้องทางกาย สมาธิถูกต้องทางจิต ปัญญาวิปัสสนาถูกต้องทางปัญญา เราจะเอามาแยกให้เป็นเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย มันก็ได้ มันจะง่ายขึ้นบ้าง แต่ว่าในการกระทำจริงๆมันไม่แยกกัน ในการปฏิบัติหน้าที่ การงานจริงๆ มันไม่อาจจะแยกกัน เราจะแยกออกมาปฏิบัติศีลกันเสียอย่างเดียว มันก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไร จะปฏิบัติสมาธิอย่างเดียวโดยไม่ต้องสนใจเรื่องปัญญา มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ต้องปฏิบัติปัญญาให้สมบูรณ์ รวบเอาศีลและสมาธิเข้ามาไว้ด้วย ตามหลักก็คือว่า ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ บริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ไม่เคยพูดว่าบริสุทธิ์ได้ด้วยศีลหรือบริสุทธิ์ได้ด้วยสมาธิ ไอ้ความข้อนี้เพราะปัญญามันรวบเอามาแล้วทั้งศีล ทั้งสมาธิ เมื่อตั้งใจพิจารณาอย่างยิ่งเท่านั้นแหละ ไอ้ร่างกายก็เป็นศีลอัตโนมัติขึ้นมาพร้อมไปหมด ไม่มีทางจะผิดศีล ขาดศีล ละเมิดศีลอะไรได้ แต่แล้วเราก็ยังแยกศีลออกไปเป็นพื้นฐานอันแรกเบื้องต้น เพื่อศึกษา เพื่อศึกษามากกว่า ไอ้ขั้นของการปฏิบัตินี่มันไม่ค่อยจะแยกกันได้ เพราะมันทำงานพร้อมกัน ทำงานพร้อมกัน เหมือนกับอริยมรรคมีองค์แปดทำงานพร้อมกันอย่างนั้น แต่เราจะแยกมาศึกษาทีละข้อ ละข้อมันก็ได้เหมือนกัน นี่เรียกว่าความงามสามสถาน ความงามในส่วนศีลเบื้องต้น ในส่วนสมาธิท่ามกลาง ในส่วนปัญญาขั้นสุดท้าย เมื่อมีการศึกษาก็ควรจะศึกษามาให้ครบ ให้มันครบสำหรับที่มันจะเป็นพื้นฐานเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย นี่โดยหลักที่จะพบได้จากพระบาลีบ้าง อรรถกถาบ้างเอามาแยกดูมันก็จะได้อย่างนี้
ทีนี้เราก็มีหลักอื่นๆ อีกหลายอย่างที่จะใช้เป็นองค์ประกอบ เรื่องนี้คือเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย ไปคิดเอาเองก็แล้วกัน ถ้ามิฉะนั้นมันอาจจะติดขัด ผมเคยสังเกตว่าเราจะต้องคิดถึงความรู้ หรือการปฏิบัติก็ตาม ของคนอันธพาล พื้นฐานปุถุชนทั่วไป นี่ก็รูปแบบหนึ่งแหละ แล้วก็มาถึงกัลยาณชน แต่ยังไม่ใช่พระอริยเจ้าเป็นท่ามกลาง นี่ก็มาถึงพระอริยเจ้า หรืออริยชนมันก็เป็นเบื้องปลาย ฉะนั้นจะเรียนอะไร ต้องเรียนเผื่อคนทั้งสามคนนี้ไว้ด้วยเสมอไป ว่าจะต้องพูดกันกับปุถุชนหรืออันธพาลด้วยซ้ำไปก็พูดกันอย่างหนึ่ง พูดกับกัลยาณชนมันต้องอีกอย่างหนึ่ง ถ้าพูดกับอริยชนมันก็ต้องอีกอย่างหนึ่ง ถ้าคิดถึงการเผยแผ่สั่งสอนศาสนาออกไปทั่วโลก ทั่วโลกละก็ปัญหานี้มีมากที่สุด ปัญหาที่ว่ามันจะต้องจัดชั้นให้เป็นสามชั้น สำหรับคนไม่รู้แล้วเป็นคนอันธพาลด้วย คือคนที่จะมีทิฐิไปทางของกิเลสพวกหนึ่ง นั่นแหละคือพวกที่มากมายที่สุดในโลก คนที่อยู่ตรงกลางๆ พอดี กำลังจะน้อมไปได้ นี่ก็พวกหนึ่งซึ่งมันก็ไม่สู้มาก พวกอริยชนหรือพวกสัตบุรุษนี้ยิ่งหายาก ฉะนั้นศึกษาธรรมะ ศึกษาเรื่องความดับทุกข์ เรื่องอะไรเหล่านี้ก็จะต้องนึกถึงเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลายของหมู่คนที่จะเป็นผู้ฟัง หรือเป็นผู้ปฏิบัติตาม มิฉะนั้นแล้วจะสอนกันอย่างไร เหมือนการบรรยายภาพที่โรงหนังที่ตึกหลังนั้น รูปภาพนั้นวางไกลตัวไม่ได้ ไม่อาจจะวางไกลตัวเป็นบันทึกเสียงแล้วก็เปิดฟังมันทำไม่ได้ แม้ว่าพยายามจะทำมันทำไม่ได้ คือมันใช้กันไม่ได้สำหรับทุกคน เด็กๆ มาต้องพูดแบบหนึ่ง ผู้ใหญ่มาพูดอีกแบบหนึ่ง ไอ้คนโง่พูดอีกแบบ คนฉลาดพูดอีกแบบ เลยทำตายตัวไม่ได้ นี่เป็นตัวอย่างที่ว่าจะต้องให้เป็นชั้น เป็นธรรมดาเป็นชั้น มันหลีกไม่พ้นที่จะมีชั้น เรื่องชนชั้นเป็นสิ่งต้องมีอยู่ กรรมมันปรุงแต่ง กฎแห่งกรรมมันปรุงแต่ง เท่าที่เป็นตัวอย่างนี้ก็คงจะพอแล้วสำหรับให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่าไอ้คำตรัสสำคัญของพระพุทธเจ้าที่ว่าให้แสดงธรรมความงดงามในเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลายนี้ เราจะต้องสนองพระพุทธประสงค์อย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทีนี้จะสนองพระพุทธประสงค์ให้สำเร็จได้อย่างไร ได้อย่างไร นั่นแหละไปว่าเอาเอง นี่ผมจึงขอถวายความคิด หรือข้อสังเกต หรืออะไรเท่าที่ผ่านมาแล้วให้ฟัง เพื่อจะได้ไปปรับปรุงเอง ขยับขยายเอง คิดหาให้มันกว้างขวางออกไปเอง นี่ก็เรียกว่าข้อหนึ่งแล้วที่ถวายความคิดเห็นแนวทางสำหรับที่จะขยายเรื่องราวออกไปให้สมบูรณ์ จากพยัญชนะเพียงคำเดียวไปเป็นอัตถะ อัตถะนั้นจะต้องแบ่งแยกเป็นประเภทออกไปให้เพียงพอ เพื่อว่าเราจะได้เตรียมการศึกษาของเราให้เข้ารูป เหมาะสมกับกิจการงานในเบื้องหน้า หลังจากจบการศึกษาแล้ว ก็มีแผนการที่ทำไว้ให้มันครบถ้วน สะดวก สะดวกดายในการที่จะปฏิบัติ
ทีนี้อีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องคำว่านิพพาน นิพพาน ทำไมผมจึงเอาเรื่องนี้มาพูด เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่มีปัญหาอยู่ตลอดเวลาที่ประชาชนส่วนใหญ่ แม้ในหมู่อุบาสกอุบาสิกาก็มีแต่พระนิพพานในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นเทอญทั้งนั้น เวลาไปที่ไหนมันก็พบแต่ว่าพระนิพพานอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นเทอญทั้งนั้น อย่างนี้มันผิดเหลือที่จะผิดต่อพระพุทธประสงค์ที่ตรัสสอนเรื่องนิพพาน ถ้าไม่มีเรื่องนิพพานพุทธศาสนาก็ไม่มีค่าอะไรหรอก ขอให้ทราบในส่วนใหญ่กันเสียก่อนว่าพุทธศาสนามีค่าสูงสุด ก็เพราะก็มีเรื่องนิพพานคือ ดับทุกข์ได้ ดับทุกข์ได้ เอาล่ะ, แม้ว่าก่อนพุทธศาสนาเขาใช้คำว่า นิพพาน นิพพานกันมาก่อนแล้วมันก็ได้ แต่เขาเอาสิ่งที่ดับทุกข์ไม่ได้ถึงที่สุดมาพูด ดังนั้นมันก็ไม่ยุติ พระพุทธเจ้าจะต้องตรัสรู้เลยต่อไปอีก ต่อไปอีก จนดับทุกข์ได้สิ้นเชิง แต่ถึงอย่างไรก็ดี มันก็มีความเกี่ยวเนื่องกันโดยความหมายของคำว่านิพพาน นิพพาน ไอ้นิพพานในจากที่แสดงไว้ในพรหมชาลสูตร กามารมณ์สูงสุดเป็นนิพพาน หรือฌานทั้งหลาย แต่ละอย่าง ละอย่างเป็นนิพพาน แม้ตัวเรื่องมันจะต่างกันแต่ความหมายมันเหมือนกัน คือมันสงบระงับไอ้ความเดือดพล่าน เร่าร้อนของจิตใจได้ก็เรียกว่านิพพาน แต่ใจความสำคัญมันอยู่ที่ว่า ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ได้มีอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นเทอญเลย มันต้องว่ากันทีหลังในบ้านเรานี้ น่าเสียดาย มันน่าเศร้า แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรก็ในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นเทอญน่ะ มันไม่เป็นสันทิฏฐิโก มันไม่เป็นอกาลิโก มันไม่เป็นอะไรหลายๆ อย่าง อยากจะปรารภเรื่องนี้ แล้วก็ขอให้เตรียมตัวสำหรับศึกษา และพูดกันเสียใหม่ให้เป็นนิพพานที่เป็นสันทิฏฐิโก อกาลิโก ให้จนได้
บทไวพจน์ของนิพพานก็พอถึงก็พูดกันอย่างนี้ สนฺทิฏฐิกํ อกาลิกํ เอหิปสฺสิกํ โอปนยิกํ ปจฺจตฺตํ เหมือนกันกับคำว่าบทของธรรมะ นี่ผมก็อยากจะถวายความรู้แง่มุมต่างๆ ที่เกี่ยวกับคำว่านิพพานนั้นน่ะให้ไปพิจารณา ไอ้คำว่านิพพาน นิพพานนี่ไม่เกี่ยวกับความตายเลยแม้แต่สักนิดเดียว นี่ผมพูดอย่างนี้ก่อนจะจำไปด้วย ว่าผมพูดว่านิพพาน นิพานทั้งหลายไม่เกี่ยวกับความตายเลยสักนิดเดียว แล้วก็ไม่เห็นด้วยกับที่อธิบายสอนกันอยู่ในหลักสูตรนักธรรมว่าอนุปาทิเสสนิพพาน ตายแล้วยังจะบรรลุ จะบรรลุไปทำไมตายแล้ว นิพพานทั้งหลายไม่เกี่ยวกับความตาย
เราศึกษาความหมายทางพยัญชนะกันก่อน คือให้ทราบว่าคำว่านิพพาน นิพพานนั้นน่ะ มันแปลว่าเย็น ไม่ใช่แปลว่าดับ ถ้าจะแปลว่าดับ ต้องแปลว่าดับแห่งความร้อน ไม่ใช่ดับแห่งอย่างอื่น ดับแห่งความร้อน ความร้อนมันดับลงไปนั่นน่ะคือ นิพพาน คำว่านิพพานนี่ใช้ได้กับสิ่งที่มีความร้อน สิ่งใดมีความร้อน สิ่งนั้นเอาคำว่านิพพานมาใช้ได้ เช่นในบาลีสูตรหนึ่งที่พูดอุปมาด้วยเรื่องช่างทอง เมื่อเขาหลอมทองให้เหลวคว้างแล้วก็จะต้องเอาน้ำราดให้เย็น คำๆนี้ในบาลีจะใช้คำว่า นิพฺพาเปยฺย นิพฺพาเปยฺย ทำให้มันนิพพาน ช่างทองก็จะต้องทำให้ทองที่เหลวคว้างในเบ้านั่นน่ะให้เป็นนิพพานเสียคือให้เย็นอย่างนี้ นี่แสดงว่าชาวบ้านธรรมดา ธรรมดาเขาใช้คำว่านิพพานกันอย่างนี้ แล้วที่บางแห่ง บางสูตร ข้าวต้มยังร้อนต้องรอให้นิพพานจึงจะกินได้ ถึงแม้คำทั่วไปที่เราได้ยิน ได้ฟังอยู่เสมอ แต่เราไม่ค่อยจะสนใจ อย่างคำว่าท่านดับไฟเหมือนการดับแห่งไฟ ปชฺโช ตสฺเสว นิพฺพานํ ปชฺโช ตสฺเสว นิพฺพานํ นิพฺพานํ คือดับ ปชฺโช ตสฺเสว แห่งไฟ การดับแห่งไฟ กิริยาดับแห่งไฟ เขาเรียกว่านิพพานเต็มๆอย่างนี้เลย รูปเดียวกันนี้เลย ในบางสูตรพบเรื่องทำให้สัตว์เดรัจฉานหมดพยศร้ายทุกๆ ชนิด จนไม่มีอันตรายเหลืออีกต่อไป สัตว์เดรัจฉานตัวนั้นก็ใช้คำว่า นิพพุโต หรือนิพพานเหมือนกัน
ทีนี้มันก็มาถึงคน ถ้ามันเย็นลงไปได้ในลักษณะใดก็ต้องเรียกว่านิพพุโต นิพพุตะ เหมือนกัน ในอรรถกถาธรรมบทหรืออะไรที่กล่าวถึง ชายหญิงศากยะคนหนึ่งเห็นพระสิทธัตถะเดินผ่านไปร้องขึ้นมาว่าบุรุษนี้เป็นลูกของใคร แม่ของเขาก็นิพพาน พ่อของเขาก็นิพพาน เป็นสามีของหญิงใดหญิงนั้นก็นิพพาน ใช้คำว่านิพฺพุโต นิพฺพุตา นิพฺพุตา นูน สา มาตา คำว่านิพพุตะ นั้นน่ะแปลว่าเย็น ไม่ได้แปลว่าตาย ก็เย็นอย่างเย็นอกเย็นใจ ที่เราพูดอย่างภาษาธรรมดา ธรรมดา ภาษาเย็นอกเย็นใจนั้นน่ะ ไม่มีความร้อนใจแม้แต่สักนิดนั่นน่ะคือนิพพุตะ ทีนี้ต่อให้เป็นคำว่าปรินิพพุตะผมสะดุดอ่านพบในบาลี ปรินิพฺพุโต โส ภควา ปรินิพฺพานาย ธมฺมํ เทเสติ พระผู้มีพระภาคนั้นปรินิพพุตะแล้วทรงแสดงธรรมเพื่อปรินิพพาน ถ้าตายแล้วจะแสดงได้ พระผู้มีพระภาคนั้นปรินิพพานแล้ว ปรินิพฺพุโต โส ภควา ปรินิพฺพานาย ธมฺมํ เทเสติ ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อนิพพาน หรือแม้แต่คำว่าปรินิพพุโต มันก็เลยไม่ได้หมายถึงตายเลย แต่หมายถึงเย็น ท่านเป็นคนเย็น เย็นตามความหมายเป็นรูปของนิพพานแล้ว แล้วก็ท่านแสดงธรรมเรื่องความเย็น เย็นรอบ เย็นเต็มรูป เราจะเอาความหมายคำนี้ว่าเย็น ในภาษาธรรมดาชาวบ้านพูดโดยภาษาคนก็แปลว่าเย็น ในภาษาธรรมะสูงสุดก็แปลว่าเย็น คนทั่วไปเมื่อเย็นอกเย็นใจ นั่นน่ะก็เรียกนิพพุตะ นิพพุตะไม่ได้ตาย และต้องการอย่างยิ่งเป็นคำที่พูดกันอยู่ในประชาชนทั่วไปเป็นภาษากลางบ้าน ถ้าไม่อย่างนั้นเจ้าหญิงศากยะคนนั้นก็จะไม่พูดอย่างนี้ ไม่พูดว่าบุรุษนี้เป็นลูกของใคร แม่ของเขาก็นิพพุตา
ในสูตรบางสูตรเรียกฌานแต่ละอย่าง ละอย่างว่านิพพานระดับหนึ่งก็มีเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ในพุทธศาสนา หรือถ้าจะให้เป็นพุทธศาสนาก็เป็นนิพพานที่ไม่ใช่ถึงที่สุด เป็นนิพพานชั่วขณะ เป็นนิพพานชั่วสมัย แต่ แต่ไม่ค่อยผ่านสายตา เลยไม่ค่อยได้เอามาพูดกัน เพราะว่าในฌานในสมาธิมันก็มีความเย็น คือไม่ร้อนเพราะกิเลส เลยสรุปความว่าเย็นคือนิพพาน สอุปาทิเสสบุคคลเก้า นี่ไม่ค่อยสนใจกัน มันมีอยู่สูตรหนึ่ง นวกนิบาต ทางพุทธนิกาย สอุปาทิเสสบุคคลเก้า คือเว้นพระอรหันต์เสีย ก็เหลือแต่พระโสดาบันสาม สกิทาคามีหนึ่ง อนาคามีห้า รวมเป็นเก้า เก้านี่เรียกว่าสอุปาทิเสสบุคคล ไม่เย็นถึงสนิท ยังมีส่วนที่เป็นกิเลสเหลือ ต่อเป็นพระอรหันต์จึงจะเย็นสนิท ทีนี้เป็นพระอรหันต์แล้ว สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ มันสิ้นกิเลส สิ้นอาสวะ ดับกิเลสอะไรหมดแล้ว แต่อินทรีย์ยังไม่เย็น ส่วนอนุปาทิเสสนิพพานธาตุนั่น อินทรีย์เอง เวทนาทั้งหลายกลายเป็นของเย็น พบคำอธิบายในสูตรๆ หนึ่งว่า เมื่อเผาหม้อในเตาเผาหม้อ หม้อแดงอยู่ในเตานั่น พอเขี่ยออกมามันก็กลายเป็นหม้อสีดำ สีแดงค่อยหายไปเป็นหม้อสีดำ แต่อย่าไปจับมันนะระวังมือ จะต้องรออีกระดับหนึ่ง ระดับหนึ่งจนเย็นสนิท ไอ้ดำๆนั่นน่ะ ไปจับเข้าจับได้ ไปจับได้นี่ ทำนองว่าเป็นอุปมาของนิพพานธาตุสองอย่าง จะพูดว่าเป็นพระอรหันต์ใหม่ หรือพระอรหันต์เก่ามันก็ดูน่าเกลียด แต่อาการมันคล้ายๆ อย่างนั้น พระอรหันต์ใหม่ มีพระอรหันต์ที่บรรลุสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ นี่ยังมีอินทรีย์ที่ยังไม่สนิท ยังสะดุ้ง ยังสะดุ้งต่ออารมณ์ได้ แต่มันจะไม่ใช่เกี่ยวกับกิเลสไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้สะดุ้ง แต่เพราะมันยังไม่เย็นสนิท นี่เราจะไปดูกันในแง่ไหน แง่ไหน นิพพานนี่เรื่องเย็นทั้งนั้น ไม่ได้เรื่องดับ ดับ ไม่ได้เกี่ยวกับความดับ ไม่ได้เกี่ยวกับความหมายของการดับ คือตายไป สูญหายไป สลายไปไม่เกี่ยวกันเลย เท่าที่ผมสังเกต ศึกษามา เดี๋ยวนี้จะพูดเสียใหม่ว่า นิพพานทุกความหมายไม่เกี่ยวกับความตาย ช่วยจำไปด้วย ไปค้านดู ไปหาเรื่องค้านกัน นิพพานทุกความหมายไม่เกี่ยวกับความตาย จะเป็นนิพพานในความหมายไหนก็ตาม จะมีความหมายว่าเย็น เย็น
ทีนี้ประชาชนทั่วไปเขาไม่ได้ศึกษาเรื่องเหล่านี้ ได้ฟังเรื่องนิพพานแล้วเห็นเป็นของยาก ก็เลยผลัดเพี้ยนไปว่าในอนาคตกาล มันก็เป็นการผลัดที่ไม่รู้จักจบ ผลัดเพี้ยนกันไม่รู้จักจบ เพราะไม่รู้เรื่องนี้เสียเลย ถ้าเราจะสงสารญาติโยมของเราในเรื่องเกี่ยวกับนิพพาน แล้วช่วยกันอธิบายเสียใหม่ว่า ไอ้นิพพานไม่เกี่ยวกับความตาย นิพพานมันเกี่ยวกับความเย็น เพราะฉะนั้นทำให้เย็นขึ้นมาเท่าไรก็เป็นนิพพานเท่านั้น เป็นอย่างถาวร หรือเป็นอย่างเด็ดขาด เมื่อใดไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์เกิดอยู่ในใจเมื่อนั้นอยู่กับนิพพานตามธรรมชาติ แต่คำนี้คงจะแปลก ว่านิพพานตามธรรมชาติ เราจะหาที่มาในบาลีโดยตรงมันก็หายากเหมือนกัน แต่มีใจความ มีเนื้อความพอที่จะทำความเข้าใจกันได้ว่า เมื่อมันไม่มีอุปาทาน มันก็เป็นสันทิฏฐิกนิพพาน เมื่อใดไม่มีอุปาทานเกิดขึ้น รบกวน เป็นทุกข์ เมื่อนั้นก็มีสันทิฏฐิกนิพพาน สันทิฏฐิกนิพพาน นิพพานในฐานะที่บุคคลผู้นั้นรู้จักได้เอง แล้วก็จะเป็นพวกสมยนิพพาน สมยะ คือชั่วสมัย สามายิกะ แปลว่า ชั่วสมัย ชั่วเวลา สมะ สมยะ เป็นสามายิกะแปลว่าชั่วสมัย ในบาลีหาหลักฐานได้เพียงว่า ท่านพูดถึงนิพพานที่รู้สึกได้เองชั่วสมัย
ทุกคนถ้าคอยสังเกตดูให้ดี ไอ้เวลาที่จิตมันว่างจากกิเลสตัณหา อุปาทานมันมีนะ นี่ขอให้ทุกองค์นี่พิจารณาเรื่องนี้เป็นพิเศษ จะมีหรือไม่มีเอ้า,เถียงกันดู เวลาที่จิตมันว่างจากกิเลสตัณหาอุปาทาน หรือความทุกข์มันมี แต่มันน้อย หรือว่ามี มันก็เหมือนกับไม่มี เพราะเราไม่คิดว่ามันจะมี เพราะไม่เคยสนใจว่ามันจะมี ถึงมันจะมีขึ้นมาบ้างแล้วก็ปล่อยไปเฉย แต่จะไม่คิดดูบ้างเสียเลยหรือว่า เวลาสบายใจที่สุดมันมี เวลาที่สบายใจที่สุดจิตเกลี้ยงที่สุด เบาสบายที่สุดว่างที่สุดนั้นมันมี ทีนี้ผมมันคิดในแง่กลับว่า ถ้ามันไม่มีเวลาที่ว่างจากกิเลสบ้างแล้ว มันเป็นบ้าตายหมดแล้ว ไม่มีใครเหลืออยู่ได้ ถ้าว่ายี่สิบสี่ชั่วโมงมันเป็นเรื่องกิเลสเผาลนทั้งยี่สิบสี่ชั่วโมงมันเป็นบ้า หรือมันตายแล้ว มันอยู่ไม่ได้หรอก ฉะนั้นเวลาที่มันว่างจากกิเลสเผาลนมันต้องมีอยู่บ้าง อย่างน้อยก็ชั่วเวลาที่มันหลับสนิท หรือแม้ไม่หลับสนิท ตื่นๆ อยู่นี่แหละ ในบางกรณีมันไม่ได้เกิดกิเลสขึ้นมาเป็นความทุกข์เผาลน สัมผัสทางตา ทางหู ทางจมูก นี่สัมผัสหกนี่ ในบางครั้งมันเป็นเพียงสัมผัส อะไรนะ สักว่าสัมผัส ไม่เป็นความรู้สึกก็มีเหมือนกัน เดี๋ยวจะคิดว่าเราก็ลืมตาอยู่เสมอ หูก็ฟังอยู่เสมอ แล้วทำไมจะไม่มีเวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพล่ะ เรื่องสัมผัสสังเกตดูให้ดี เพียงแต่ตากระทบรูปอย่างนี้ เรียกว่าปฏิฆสัมผัส คือมีอาการมากระทบเฉยๆ พอกระทบแล้วมันเกิดวิญญาณขึ้นที่นั่นเป็นสัมผัส เกิดสัมผัสในความหมายของการกระทบนั้นอีกทีหนึ่ง นี่สัมผัสนี้จึงจะเป็นสัมผัสที่จะเกิดเวทนา ตัณหา อุปาทาน ถ้ามันมีแต่อวิชชา สัมผัสชนิดสับโขกเล่นเปล่าๆ มันก็มี คือตาเห็นรูป หูฟังเสียง ก็ไม่มีความหมายอะไร ไม่เกิดกิเลสอะไร นี่มันก็มีอยู่ลักษณะหนึ่ง ก็แปลว่าเรามีเวลาว่างจากกิเลสได้เหมือนกัน แม้ว่าตาเห็นรูปอยู่ หูฟังเสียงอยู่ จมูกได้กลิ่นอยู่มันเป็นเพียงปฏิฆสัมผัส
ถ้าจิตมันทำความรู้สึกในผลของการสัมผัสนี้อีกทีหนึ่งเป็นอธิวจนสัมผัส นี่จะเกิดเวทนา ถ้าในเวลานั้นมันมีอวิชชา หรือมันไม่มีวิชชาก็แล้วกัน ถ้าอย่างนี้ต้องเป็นทุกข์ช่วยไม่ได้ แต่ถ้ามันเป็นเพียงปฏิฆสัมผัส มันก็จะทุกข์ต่อ ฉะนั้นอย่าไปถือว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง ทุกวินาทีเรามีกิเลส หรือจะมีพวกอาจารย์บางพวกเขาสอนว่าเรามีกิเลสอยู่ตลอดเวลานะ ผมไม่ไปเถียงกับเขาหรอก คือไม่ต้องการจะมีการเถียง แต่เรามีข้อสังเกต หรือมีความเชื่อ หรือว่าคนเราไม่ได้มีกิเลสอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้มีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา มันมีว่างจากกิเลส จากความทุกข์เมื่อไร เมื่อนั้นคือนิพพานชั่วขณะ นิพพานสามายิกตามธรรมชาติ แล้วอันนี้คือการพักผ่อนที่เพียงพอ เราไม่เป็นโรคประสาท เราไม่เป็นบ้าและตาย เพราะมันมีการพักผ่อน การที่ว่างเว้นจากกิเลส และความทุกข์บ้าง บางเวลาตามสมควร และก็รอดตายอยู่ได้เพราะอันนี้ เพราะพระนิพพานชนิดนี้ ที่เราไม่ตาย ไม่เป็นบ้า ไม่เป็นโรคประสาท รอดอยู่ได้เพราะพระนิพพานชนิดนี้ คือการที่จิตว่างจากกิเลส และความทุกข์ได้โดยธรรมชาติอย่างเพียงพอ ในยี่สิบสี่ชั่วโมงมันก็มี ต้องมีรวมกันแล้วก็หลายชั่วโมงเหมือนกัน แต่ไม่รู้สึกตัว เพราะไม่สนใจว่ามี และไม่ได้สอนว่านิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ พอเราบอกว่านิพพานต้องที่นี่และเดี๋ยวนี้ไม่มีใครเชื่อ และไม่มีใครคิดตาม ผมเองยืนยันว่านิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้มีอยู่ ซ้อนอยู่ หรือซ่อนอยู่ หรือซ้อนอยู่เบื้องหลัง ที่เวลาที่เราไม่เกิดกิเลสและความทุกข์นั่นน่ะเป็นเหตุให้เราไม่เป็นบ้า หรือไม่เป็นโรคประสาท ถ้าไม่เช่นนั้นจะต้องเป็นโรคประสาท แล้วก็เป็นบ้าเหมือนที่เป็นๆ กันอยู่ บางคนที่มันร้อนอกร้อนใจมีปัญหารบกวนจิตใจ ไม่มีว่างเว้นจนเป็นโรคประสาท จนเป็นบ้าและตาย แต่ว่าคนโดยมากไม่ได้เป็นอย่างนั้น คนโดยมากควรจะขอบใจพระนิพพานชนิดนี้ที่ได้หล่อเลี้ยงชีวิตไว้ให้ ถ้าใครไม่ขอบใจนิพพานชนิดนี้ผมจัดว่าเป็นคนเนรคุณ คนเนรคุณอย่างยิ่ง นิพพานที่มันช่วยชีวิตให้รอดอยู่ได้ ไม่ต้องเป็นโรคประสาท ไม่ต้องเป็นบ้า ถ้าเราไม่สนใจเอง ไม่สนใจที่จะดูจะสังเกต จะศึกษาเห็นว่ามันมีอยู่จริง นี่คือนิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ มันยิ่งกว่าที่นี่และเดี๋ยวนี้ คือมันมีอยู่โดยไม่รู้สึกตัว ไม่ต้องรอต่ออนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นเทอญ รอกันกี่หมื่นชาติ กี่แสนชาติเขาก็รอ ผมพูดอย่างนี้มากเข้าบางคนต้องการเกิด ต้องการนิพพานในปัจจุบันกาล ถ้าดูให้ดีมันก็มีอยู่ในชีวิต มันซ่อนอยู่ในชีวิตที่เป็นส่วนระบายถ่ายเทไม่ให้ชีวิตมีความกดดันตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง แล้วสบายอยู่ได้ นี่ก็ต้องเรียกว่านิพพาน คือเย็นไม่มีไฟ เรียกว่าไม่มีราคะ โทสะ โมหะ เผาลน พูดกันอย่างนี้ง่ายๆ ก็ว่าเวลาที่เราไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะ เผาลนมันมีอยู่น่ะ นั้นน่ะมันทำให้รอดจากการเป็นบ้า หรือต้องตาย หรือเป็นโรคภัยไข้เจ็บชนิดที่ต้องตาย มันอยู่ ซ่อนอยู่อย่างซ่อนอยู่แล้วให้คนรอดชีวิตอยู่ได้
บางทีสัตว์เดรัจฉานจะได้รับประโยชน์อันนี้มากกว่าคน เพราะมันสมองของสัตว์เดรัจฉานคิดไม่เก่ง ปรุงกิเลสไม่เก่ง มันมีเวลาที่ว่างจากกิเลสได้มากกว่า แต่มันก็ไม่มีวิชา ไม่มีปัญญาที่จะขยายให้กลายเป็นเรื่องสมบูรณ์ เป็นเรื่องเรียบร้อยเด็ดขาดไปได้ มนุษย์มีสติปัญญาคิดได้ดีกว่ามากกว่าแต่กลับไม่สนใจ ขอให้สนใจศึกษาคำว่า นิพฺพุตา นูน สา มาตา นิพฺพุโต นูน สา ปิตา นิพฺพุตา นูน สา ภริยา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะต้องให้ชาวบ้านญาติโยมของเรารู้ว่ามันมีคำว่าเย็น มีคำว่านิพพานชนิดที่นี่และเดี๋ยวนี้ในปัจจุบันนี้ ส่วนนิพพานในอนาคตกาลจะเป็นประโยชน์กับใคร แล้วเราตายกันอีกกี่ชาติ มุ่งหมายให้เย็น และเย็นยิ่งขึ้นไป ภาษิตพังเพยโบราณเขาว่า คนบ้าๆ ชอบของไกล คนฉลาดชอบของใกล้ เหมือนของที่ควรจะได้หรืออยู่กับเนื้อกับตัว มันอาจจะเป็นเหมือนว่าพลิก พลิก ขึ้นศักราชกันใหม่ มาสอนเรื่องนิพพานที่อยู่กับเนื้อกับตัว แล้วก็สอนเรื่องว่าทำอย่างไรจะไม่เกิดกิเลส หรือทำอย่างไรกิเลสที่เกิดขึ้นแล้วจะถูกระงับไป นั่นน่ะคือการทำกรรมฐาน ถ้าโยมเขาชอบทำกรรมฐานทำวิปัสสนา ทำอะไรก็บอกให้เขารู้ว่ามันเพื่อฝึกสติให้เพียงพอที่จะมีสติรู้เท่าทัน เมื่ออารมณ์มากระทบ ให้กระทบเฉยๆ ไม่ปรุงแต่งเป็นเวทนา ตัณหา อุปาทาน เพราะเรามีปัญญา มีวิชชา เกิดขึ้นทันควันโดยสติ สติทำให้เกิดปัญญา วิชชาขึ้นมาทันทีทันควันที่อารมณ์มากระทบ การทำกรรมฐานก็คือฝึกสติให้เร็ว มีสมาธิให้พอ มีปัญญาให้พอ และให้สติเอาปัญญาที่ได้ศึกษาอบรมนั้นมาทันเวลา คือนึกได้ทันเวลามาเป็นสัมปชัญญะคุมอยู่ไม่ให้ปรุงแต่งเป็นกิเลสได้ คำว่าสติกับสัมปชัญญะ นวโกวาทนักธรรมเปรียญเราเรียนกันน้อยเกินไป เราเรียนเรื่องนั้นกันน้อยเกินไป จนกระทั่งไม่รู้ว่าสัมปชัญญะคืออะไร